พระอนุรักษ์ รัฐธรรม  สอนคน ชี้ธรรม นำปัญญา ตามคำสอนพระศาสดา คนต้นแบบเมืองนคร

ผู้ที่มีจิตสำนึกที่ดี ดำเนินชีวิตที่ดีงาม ย่อมได้รับการกล่อมเกลาจิตใจ ถูกปลูกฝังคุณธรรมตั้งแต่วัยเด็ก โดยยึดหลักคำสอนทางศาสนาเป็นแนวทางในการใช้ชีวิต เป็นหนทางในการค้นพบความสุข ทางนครศรีสเตชั่นได้รับเกียรติจากพระอาจารย์อนุรักษ์ รัฐธรรม มาบอกเล่าเกี่ยวกับโครงการค่ายเรียนรู้คุณธรรมจริยธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน โดยใช้ต้นทุนที่มีอยู่คือ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร มาเป็นรากฐานในการสอนธรรมะ สอนคน ชี้ธรรม นำปัญญา ตามคำสอนพระศาสดา

สนใจศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาตั้งแต่วัยเด็ก

            พระอาจารย์อนุรักษ์ เล่าให้ฟังว่า ได้รับการปลูกฝังเกี่ยวกับพระพุทธศาสนามาตั้งแต่วัยเด็ก ทางบ้านพาไปวัดเป็นประจำ การที่มีโอกาสได้ไปวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารครั้งแรกเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต ซึ่งในตอนที่ท่านไปนั้นตรงกับช่วงที่ทางวัดจัดงานใหญ่พอดี ขากลับได้รับหนังสือที่ทางวัดแจกให้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ เนื้อหาอ่านเข้าใจง่าย มีรูปภาพประกอบเหมาะสำหรับเด็ก

การไปวัดในครั้งนั้นทำให้พระอาจารย์รู้สึกประทับใจมาก ตั้งแต่นั้นมาจึงเริ่มศึกษาประวัติพระพุทธเจ้า ตั้งปณิธานว่าสักวันหนึ่งจะต้องบวชให้ได้ หลังจากเรียนจบระดับชั้นประถมศึกษา พระอาจารย์มีโอกาสได้บวรเป็นสามเณรเกือบ 4 ปี จนได้นักธรรมชั้นเอก

หลังจากสึกออกมาได้ศึกษาต่อจนจบระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จากนั้นทำงานค้าขายเปิดร้านขายของชำอยู่ที่กรุงเทพมหานคร จนถึงเวลาที่พระอาจารย์เห็นสมควรแล้วว่าต้องตอบแทนพระคุณพ่อแม่ เดิมทีคุณพ่อของพระอาจารย์อนุรักษ์บวชเป็นพระภิกษุ ซึ่งท่านมรณภาพไปแล้ว ด้วยเหตุนี้พระอาจารย์จึงตัดสินใจเดินทางกลับมาบวชที่วัดมะม่วงปลายแขน จ. นครศรีธรรมราช

เมื่อบวชเป็นพระภิกษุได้หนึ่งพรรษา พระอาจารย์ค้นพบว่าการสวดมนต์และการปฏิบัติธรรม ทำให้จิตใจสงบ ไม่สับสนวุ่นวาย หลังจากนั้นเป็นต้นมาได้บวชมาเรื่อยๆ จนกระทั่งได้มาจำพรรษาที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร มีโอกาสได้ศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (สถาบันการศึกษาของสงฆ์) ปัจจุบันพระอาจารย์บวชมานานกว่า 10 พรรษา

คติการใช้ชีวิตของท่าน คือ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ต้องทำให้ดีที่สุด ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงเกิดคำถามขึ้นว่า จะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากสิ่งที่ได้เรียนรู้และศึกษามา

โครงการค่ายคุณธรรมจริยธรรม โดยใช้ต้นทุนที่มีของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

พระอาจารย์เริ่มทำโครงการให้ความรู้ทางพระพุทธศาสนาตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 ด้วยความที่พระอาจารย์มีโอกาสได้เป็นวิทยากรอบรมให้แก่นักเรียนและเยาวชน จึงเห็นว่าการนำธรรมะไปเผยแผ่กับเยาวชน ซึ่งเป็นอนาคตของชาติเป็นเรื่องที่ดีและมีประโยชน์ เพราะเยาวชนที่เติบโตโดยมีคุณธรรมจะช่วยให้สังคมเจริญไปในทิศทางที่ดีงาม

พระอาจารย์อนุรักษ์จึงได้เชิญชวนพระภิกษุรูปอื่นให้มาร่วมเป็นวิทยากร ก่อตั้งเป็นค่ายคุณธรรมจริยธรรมที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร สถานที่แห่งนี้ไม่เพียงแต่เป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญทางศาสนาพุทธ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการจัดอบรมค่ายคุณธรรมอีกด้วย สามารถเรียนรู้หลักธรรมผ่านทุกสิ่งทุกเรื่องราวที่อยู่ในวัด มีความพร้อมทั้งในเรื่องสถานที่ อาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ

เมื่อพูดถึงค่ายคุณธรรม จริยธรรม ส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยมีใครสมัครใจเข้าร่วม คิดว่าเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ พระอาจารย์ให้ความเห็นว่า การจัดกิจกรรมนั้นต้องมีความน่าสนใจ ไม่ทำให้เด็กรู้สึกเบื่อหน่าย กิจกรรมทั้งหมดของค่ายถูกคิดค้นโดยพระอาจารย์อนุรักษ์ ซึ่งท่านให้ความเห็นว่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็ก ต้องรู้ว่าเด็กมีความต้องการอะไร สนใจเรื่องอะไร

ทุกกิจกรรมต้องให้เด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วม แน่นอนว่าโครงการค่ายคุณธรรม จริยธรรมมีหลักสูตรการจัดฝึกอบรมและรูปแบบกิจกรรมไว้อยู่แล้ว บางครั้งพระอาจารย์ใช้วิธีให้เยาวชนเสนอความคิดเพื่อออกแบบกิจกรรมที่ต้องการจะทำ เพื่อเพิ่มความสนุกสนาน และมีช่วงเวลาให้เด็กๆ ได้ผ่อนคลาย

นอกจากการฝึกปฏิบัติธรรมแล้ว กิจกรรมถามตอบและการเล่าเรื่องเป็นวิธีที่ช่วยกระตุ้นให้เด็กได้คิดวิเคราะห์และคิดตาม เพื่อให้ตระหนักถึงการทำความดีละเว้นความชั่ว ดำรงชีวิตอย่างมีศีลธรรม ไม่ได้มีเฉพาะเด็กและเยาวชนเท่านั้นที่สามารถเข้าร่วมโครงการค่ายคุณธรรมนี้ได้ ไม่ว่าวัยใดก็สามารถเข้าร่วมได้ เพราะผู้ใหญ่เองก็ต้องหาที่พึ่งพิงทางใจเช่นกัน

เรียนรู้หลักธรรมผ่านพระบรมธาตุเจดีย์ จุดศูนย์กลางที่เชื่อมโยงจิตใจเด็กและเยาวชนให้เข้าถึงธรรมะมากขึ้น

การปลูกฝังคุณธรรมต้องเริ่มต้นกันตั้งแต่วัยเด็กเพื่อให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและคุณธรรม พระอาจารย์เน้นสอนให้เด็กๆ เห็นธรรมะที่แท้จริงผ่านธรรมชาติ เห็นความสำคัญของทุกสิ่งรอบตัว เห็นคุณค่าของชีวิต เมื่อเด็กเกิดความเข้าใจก็จะเคารพในตัวเองและผู้อื่น รู้ว่าชีวิตนี้เมื่อเกิดมาแล้วต้องทำความดี สร้างประโยชน์ให้แก่ตัวเองและผู้อื่น อย่างประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ นอกจากความเชื่อและความศรัทธาแล้ว อีกนัยหนึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามัคคีปรองดองกัน แต่ละคนมีบทบาทหรือความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันด้วยประเพณี มีความมุ่งมั่นแน่วแน่ในการน้อมถวายผ้าแก่พระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งผ้าที่ห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์เปรียบเสมือนการปกป้องดูแลพระรัตนตรัย

คนเราจะเกิดปัญญาได้นั้น ต้องเจอกับปัญหาก่อน อุปสรรคต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนล้วนเผชิญ เริ่มจากการยอมรับให้ได้และทำความเข้าใจในปัญหาเสียก่อน ความคิดและจิตใจคือสิ่งที่สำคัญที่ทำให้เกิดความสุข ใช้ชีวิตอย่างมีสติไม่ประมาท มีความอดทนที่จะต่อสู้กับปัญหา และมีความกล้าหาญในการนำพาตัวเองให้ชนะต่ออุปสรรคได้

ดูคลิปสัมภาษณ์ พระอนุรักษ์ รัฐธรรม ย้อนหลัง ได้ที่นี่

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ

คำอธิษฐาน บนยอดพระธาตุเมืองนคร

ส่วนยอดของพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเป็นเครื่องมหัฆภัณฑ์ ประกอบด้วยวัตถุห้อยแขวนประเภทเครื่องประดับชนิดต่างๆ ปลายสุดประดิษฐ์อัญมณี แก้ว และหินสีธรรมชาติเป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ประดิษฐานไว้ ส่วนปลีสวมด้วยแผ่นทองคำร้อยรัดเข้าด้วยกันเป็นรูปทรงกรวย ทั้งมีจารึกและไม่มีจารึก
.
ในส่วนจารึกเท่าที่มีการพบและอ่าน-แปลมีทั้งหมด ๔๐ แผ่น น้ำหนักรวม ๔,๒๑๗.๖ กรัม มีลักษณะเป็นทองคำแผ่นบางรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่ละแผ่นมีขนาดและน้ำหนักไม่เท่ากัน บริเวณขอบจารึกทุกแผ่นมีรอยเย็บต่อไว้ด้วยเส้นด้ายทองคำรวมเป็นผืนใหญ่ ปนอยู่กับแผ่นทองพื้นเรียบ ไม่มีอักษรจารึก และแผ่นทองที่เขียนด้วยเหล็กแหลมเป็นลายเส้นพระพุทธรูปและรูปเจดีย์ทรงต่างๆ สภาพโดยทั่วไปชำรุด มีรอยปะเสริมส่วนที่ขาดด้วยแผ่นทองขนาดต่างๆ บางตอนมีรอยการเจาะรูเพื่อประดับดอกไม้ ทอง และอัญมณี เป็นต้น
.
นอกจากนี้ในบริเวณแกนปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ซึ่งเป็นโลหะก็มีจารึกอยู่ช่วงใต้กลีบบัวหงาย ต่ำลงไปประมาณ ๑.๘๐ เมตร เป็นการจารึกรอบแกนปลีจำนวน ๒ บรรทัด แต่ปัจจุบันถูกหุ้มด้วยแผ่นไฟเบอร์กลาส เพื่อเสริมความมั่นคงให้แก่โครงสร้างยอดเจดีย์ จารึกดังกล่าวจึงถูกปิดทับไปด้วย จึงมีการอ่าน-แปลจารึกในบริเวณดังกล่าวจากภาพถ่าย กลุ่มจารึกแผ่นทองหุ้มปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์นี้ มีการจารด้วยอักษรขอมและอักษรไทย ข้อความส่วนใหญ่บอกถึงวันเดือนปีที่ทำการซ่อม, สร้างแผ่นทอง ระบุน้ำหนักทอง และถิ่นที่อยู่ของผู้มีศรัทธาพร้อมทั้งการตั้งความปรารถนาซึ่งนิยมขอให้ตนได้พบพระศรีอาริย์ และถึงแก่นิพพาน (ข้อมูลจากฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน))
.
บรรดาจารึกที่ปรากฏความปรารถนาเหล่านี้ มีจารึกหนึ่งควรแก่การยกมาศึกษาในวาระปีใหม่นี้อยู่มาก ด้วยอาจถือเอาเป็นพรปีใหม่ที่กล่าวและอธิษฐานนำโดยบรรพบุรุษชาวนครศรีธรรมราช
.
“…ขอให้สำเร็จสมบัติสามประการ
คือมนุษยสมบัติ แลสวรรค์สมบัติ
มีพระนิพพานสมบัติเป็นที่สุด
ตามประเพณีพระอริยเจ้า แต่ก่อนนั้นแล”

ความตอนนี้พบบนจารึกแผ่นทองหุ้มปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช ๑๘ (จ. ๕๒) เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง ๑๑.๓ เซนติเมตร ยาว ๖๘.๓ เซนติเมตร ใช้อักษรขอมธนบุรี – รัตนโกสินทร์ มี ๑ ด้าน ๓ บรรทัด อ่านและปริวรรตโดย ก่องแก้ว วีระประจักษ์ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๗ ได้ความทั้งหมดว่า

“ ฯ ศุภมัสดุ พระพุทธศักราชล่วงแล้วได้ ๒๓๗๗ พระวัสสา
จุลศักราชขึ้น เป็น ๑๑๘๗ ปี
เจ้าคุณมารดา เป็นอุปถัมภก
รักษาพระศาสนา ประกอบไปด้วย
อุตสาห รักษาพระไตรสรณคมน์
ด้วยศีลห้าเป็นนิตย์แลอุโบสถศีลเป็นอดิเรก
แลได้รักษาพระสงฆ์ แลสามเณร แลชีพราหมณ์
บุคคลรักษาศีลแลมีน้ำจิตศรัทธา
ได้ทำนุบำรุงพระเจติยสถานอันบรรจุพระบรมธาตุ
และพระระเบียงล้อมพระบรมธาตุ
ให้บริบูรณ์เสร็จแล้วยังมิได้เต็มศรัทธา
จึงเอาทองคำเนื้อเจ็ดหนักสามตำลึงสามสลึง
ตราส่งแผ่นหุ้มยอดพระบรมธาตุ
ให้มีผลานิสงส์เป็นอันมาก
ขอให้สำเร็จสมบัติสามประการ คือ มนุษยสมบัติแล
สวรรค์สมบัติ มีพระนิพพานสมบัติเป็นที่สุด
ตามประเพณีพระอริยเจ้า แต่ก่อนนั้น แล”

.
เมื่อตรวจสอบรูปการณ์และศักราชที่ปรากฏบนจารึกลานทองนี้แล้ว “เจ้าคุณมารดา” ผู้ศรัทธาถวายและเป็นเจ้าของคำอธิษฐานนี้ น่าจะคือ เจ้าจอมมารดานุ้ยเล็ก ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ธิดาเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พัด) กับทูลกระหม่อมหญิงใหญ่ (นวล) พระนัดดาในพระเจ้านครศรีธรรมราชกับหม่อมทองเหนี่ยว
.
ดังจะเห็นว่า ความมุ่งหวังสูงสุดในที่นี้ คือการได้พระนิพพานสมบัติ ตามคติของพระพุทธศาสนา โดยเจ้าคุณมารดาได้อ้างเอาบุญกุศลที่บำเพ็ญมาทั้งส่วนการปฏิบัติบูชา มีการรักษาศีลเป็นอาทิ และอามิสบูชา เช่นว่า การบำรุงพระภิกษุ สามเณร เถรชี การบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์และพระระเบียง เป็นเหตุแห่งผล
.
ในวาระแห่งการเปลี่ยนพุทธศักราชใหม่อย่างสากลนี้ ผู้อ่านท่านใดประสงค์จะให้ผลแห่งชีวิตเจริญไปอย่างที่สุดเช่นไร ก็ขอให้สมดั่งเหตุที่สั่งสมไว้มาตลอดปีเถิดฯ

ยอดพระธาตุหัก เหตุและปัจจัยแวดล้อมที่ไม่เคยถูกกล่าวถึง

ยอดพระธาตุ

“พระพุทธศักราชได้สองพันร้อยเก้าสิบพระพรรษาเศษได้สี่วัน

เมื่อยอดพระเจ้าหัก วันจันทร์ เดือนหก แรมสี่ค่ำ ปีมะเมีย

เพลาชายแล้วสองยาม สร้างตรหลบหกสู่ยอดพระเจ้าหั้นแล

เมื่อทำการนั้น เดือนสิบ วันศุกร์เพลาเช้าขึ้นถึงสิบชั้นเป็นสุดเอย[๑]

เมื่อยอดพระเจ้าหัก

ข้อความที่ยกมาข้างต้น เป็นการปริวรรตจารึกที่แกนปลีใต้กลีบบัวหงายพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช โดย ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และ เทิม มีเต็ม ก่อนที่จะวิเคราะห์เนื้อความในจารึก จะกล่าวถึงตำแหน่งที่พบจารึกตามการบันทึกไว้ในฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ว่าอยู่ในช่วงใต้กลีบบัวหงายต่ำลงไป ประมาณ ๑.๘๐ เมตร เป็นการจารึกรอบแกนปลีจำนวน ๒ บรรทัดแต่ปัจจุบันถูกหุ้มด้วยแผ่นไฟเบอร์กลาส เพื่อเสริมความมั่นคงให้แก่ โครงสร้างยอดเจดีย์ จารึกดังกล่าวจึงถูกปิดทับไปด้วย จึงมีการอ่านแปลจารึกในบริเวณดังกล่าวจากภาพถ่าย และตีพิมพ์ในวารสารศิลปากร ปีที่ ๓๗ ฉบับ ๔ (กรกฎาคม-สิงหาคม, ๒๕๓๗) ในบทความชื่อ “จารึกแผ่นทองหุ้มปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช[๒]

ต้นจารึกเป็นอักษรขอมอยุธยา ภาษาไทย มีด้านเดียว ๒ บรรทัด จารึกลงบนโลหะ กำหนดอายุสมัยในพุทธศักราช ๒๑๙๐ จัดเรียงบรรทัดใหม่เพื่อวิเคราะห์ความได้ ๔ บรรทัด ดังนี้

“พระพุทธศักราชได้สองพันร้อยเก้าสิบพระพรรษาเศษได้สี่วัน”

บรรทัดแรกบอกศักราชเป็นพุทธศักราช ถือเป็นประโยชน์อย่างมากในการกำหนดอายุของจารึก เพราะสามารถทำหน้าที่เป็นหลักฐานชั้นต้นอย่างดีหากเป็นจารึกที่ร่วมสมัย ศักราชที่ปรากฏนี้ยังสามารถใช้พิจารณาหาบริบทแวดล้อมอื่น เพื่อมาเติมเต็มภาพของเหตุการณ์ที่ขาดหายไปให้ชัดเจนขึ้น ผู้เขียนจึงใช้จุดเวลานี้ เป็นหลักในการศึกษาข้อมูลของประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในเมืองนครศรีธรรมราช เชื่อมโยงเหตุและความน่าจะเป็นที่นำไปสู่การทำให้ “ยอดเจ้าหัก” ทั้งสามารถใช้เทียบเคียงเพื่อลำดับเหตุการณ์ร่วมกับจารึกอื่นที่พบบนปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ ที่ระบุศักราชก่อนหน้า และภายหลัง ดังจะได้กล่าวต่อไป

ปีพุทธศักราช ๒๑๙๐ ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. ๒๑๗๓ – ๒๑๙๘) แห่งกรุงศรีอยุธยา ส่วนเมืองนครศรีธรรมราชนั้น เอกสารลายลักษณ์อักษรที่จะใช้เป็นข้อมูลหลักคือตำนานพระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช ขาดช่วงไปไม่มีการกล่าวถึงนามของผู้ครองเมือง 

แล้วใครครองเมืองนครตอนยอดพระธาตุหัก ?

หากพิจารณาช่วงเวลาใกล้เคียงกันก่อนหน้านี้ คือในรัชสมัยสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ (พ.ศ. ๒๑๗๒) มีการส่งขุนนางจากส่วนกลางคือออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นางามาซะ) มาเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช แล้วเกิดเหตุความขัดแย้งภายในระหว่างกลุ่มอำนาจท้องถิ่นกับกองอาสาญี่ปุ่น นำมาซึ่งการสู้รบระหว่างชาวเมืองกับทหารญี่ปุ่น จนผู้คนล้มตายและหลบหนีออกจากเมืองไปเป็นจำนวนมากจนเกือบจะเป็นเมืองร้าง ท้ายที่สุดเมืองนครศรีธรรมราชเป็นฝ่ายชนะและแข็งเมืองในปีพุทธศักราช ๒๑๗๕ จดหมายเหตุวันวลิต บันทึกว่า “ฝ่ายชาวนครศรีธรรมราช เห็นว่าตนเองหลุดพ้นจากชาวญี่ปุ่นแล้ว ก็ต้องการสลัดแอกจากการปกครองของสยาม จึงลุกฮือขึ้นเป็นกบฏและปฏิเสธไม่ยอมเคารพนับถือพระเจ้าแผ่นดินโดยฐานะกษัตริย์และเจ้านายที่ถูกต้องตามกฎหมาย[๓]” นำมาซึ่งการปราบปรามจากกรุงศรีอยุธยา ผลในครั้งนั้นอาจนำมาซึ่งการแต่งตั้งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชที่เป็นคนในอาณัติของกรุงศรีอยุธยา เพื่อให้เมืองนครศรีธรรมราชเสมือนตัวแทนของกรุงศรีอยุธยา ในการควบคุมดูแลหัวเมืองฝ่ายใต้ทั้งหมด

ปัญหาคือ ขณะนี้ยังไม่พบหลักฐานที่ระบุชื่อของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ที่เป็นผู้สืบทอดอำนาจของอาณาจักรอยุธยาในยุคดังกล่าว พบเฉพาะส่วนก่อนหน้าและตอนหลัง คือ ออกญาเสนาภิมุข (พ.ศ. ๒๑๗๒ – ๒๑๗๕) แล้วกล่าวถึงบุตรชายที่ตั้งตัวเองเป็นเจ้าเมืองในนามออกขุนเสนาภิมุข ภายหลังได้ตกล่องปล่องชิ้นไปเป็นเขยของเจ้าพระยานครคนเก่า ทั้งที่กินแหนงแคลงใจด้วยเหตุสงสัยในการเสียชีวิตของบิดา จนมีเหตุจลาจลให้ต้องหนีลงเรือไปอยู่เมืองเขมร ในพุทธศักราช ๒๑๗๖[๔] เจ้าพระยานครคนเก่านี้ อาจได้แก่พระยาแก้ว ผู้เป็นหลานพระรามราชท้ายน้ำ เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช (พ.ศ. ๒๑๔๔ – ๒๑๗๑) ซึ่งเป็นบุคคลสุดท้ายที่ตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวถึง ก่อนจะข้ามช่วงเหตุการณ์ยอดพระธาตุหัก ไปที่พระยาบริบาลพลราช เจ้าเมืองตะนาวศรี มาเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ในปีพุทธศักราช ๒๑๙๗[๕]

ดูเหมือนว่าตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช จะละความเอาไว้ถึง ๒๖ ปี คือระหว่างพุทธศักราช ๒๑๗๑ – ๒๑๙๗ ทั้งที่ในระหว่างนั้น มีเหตุการณ์เรื่องยอดพระธาตุหัก ซึ่งเกี่ยวข้องกับชื่อของตำนานโดยตรงแต่กลับไปปรากฏอยู่ในบันทึกอื่น 

“เมื่อยอดพระเจ้าหัก วันจันทร์ เดือนหก แรมสี่ค่ำ ปีมะเมีย

ก่อนจะกล่าวถึงรายละเอียดของบรรทัดนี้ ขอย้อนกลับไปวรรคก่อนหน้าที่ว่า “พระพุทธศักราชได้สองพันร้อยเก้าสิบพระพรรษาเศษได้สี่วัน” ซึ่งเศษของสี่วันนั้นตรงกับวันจันทร์ เดือนหก แรมสี่ค่ำ ปีมะเมีย ตามที่ปรากฏในวรรคนี้ ประเด็นคือ มีข้อพิจารณาอย่างหนึ่งเกี่ยวกับวิธีนับพุทธศักราช ในที่นี้จะเห็นว่าหากย้อนหลับไปสี่วัน วันขึ้นปีใหม่จะตรงกับ “วันขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนหก” ซึ่งตรงกับวัน “วิสาขปุรณมีบูชา”

“วิสาขปุรณมีบูชา” วันขึ้นปีใหม่ของเมืองนครศรีธรรมราช

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า “วันวิสาขบูชา” ถูกยกย่องให้เป็นวันสำคัญสากลมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ ตามมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา ทั้ง ๓ เหตุการณ์ของพระโคตมพุทธเจ้า คือการประสูติ ณ สวนลุมพินีวัน, ตรัสรู้  ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ เมื่อพระชนมายุ ๓๕ พรรษา และดับขันธปรินิพพาน ณ ควงไม้สาละ ในสาลวโนทยาน เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ เมื่อพระชนมายุ ๘๐ พรรษา ซึ่งทุกเหตุการณ์ล้วนเกิดขึ้นในวันเพ็ญ เดือน ๖ ทว่าต่างปีกัน ดังนั้น การรำลึกถึงความสำคัญเหล่านี้จึงเรียกให้พ้องไปตามกาลว่า “วิสาขปุรณมีบูชา” ซึ่งแปลว่าการบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ หรือเดือน ๖

ดังนั้น หากพุทธศักราชเป็นการสมมตินับเอาวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานเป็น พ.ศ. ๑ ตามอย่างประเทศศรีลังกาและพม่า หรือหลังจากเหตุการณ์นั้นแล้ว ๑ ปีตามอย่างประเทศไทย วันซึ่งจะเป็นหมุดหมายเปลี่ยนศักราช จึงควรเป็นวันวิสาขบูชา และใช้สืบเนื่องมาแต่โบราณก่อนจะปรับเปลี่ยนไปตามสากล

แล้วเมืองนครศรีธรรมราชเอาอย่างใคร ?

จารึกที่ฐานพระลาก วัดศรีทวี อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีข้อความระบุว่า “…วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ ปีกุน สัตตศก เพลาชาย ๓ ชั้น พุทธศักราชได้ ๒๒๗๗…”[๖] เมื่อสอบพุทธศักราชกับจุลศักราชแล้วพบว่า เป็นการนับศักราชมากกว่าพุทธศักราชปัจจุบัน ๑ ปีอย่างศรีลังกา ข้อนี้อาจแสดงให้เห็นการยึดถือระเบียบวิธีดั้งเดิมของแหล่งซึ่งเป็นต้นทางของพระพุทธศาสนาที่ประดิษฐานอยู่ ณ เมืองนครศรีธรรมราชและสยามประเทศ

อย่างไรก็ดี เมื่อย้อนไปสอบทานปีพุทธศักราชและปีนักษัตรกลับพบว่า พุทธศักราช ๒๑๙๐ ไม่ตรงกับปีมะเมีย ดังที่ระบุในจารึก

เหตุและปัจจัยที่นักษัตรกับปีเคลื่อนกัน

เหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองที่ระบุไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) คือเมื่อ จุลศักราช ๑๐๐๐ ปีขาล (พุทธศักราช ๒๑๘๑) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีลบศักราช เพื่อเสี่ยงพระบารมีแก้กลียุค แม้ในพระราชพงศาวดารจะระบุว่าพระเจ้าอังวะปฏิเสธที่จะใช้ตามพระราชสาส์นที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองส่งไป ในส่วนของเมืองนครศรีธรรมราช มีจารึกที่ระฆังวัดท้าวโคตร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุว่า “พุทธศักราชได้ ๒๑๘๓ ปีมะโรง เลิกว่าฉลู ตรีนิศก วันศุกร์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๔”[๗] คำว่า “ปีมะโรง เลิกว่าฉลู” เป็นหลักฐานยืนยันว่า เมืองนครศรีธรรมราชยอมรับอำนาจของกรุงศรีอยุธยาโดยสมบูรณ์ในฐานะเป็นขอบขัณฑสีมา จึงได้ย้อนปีนักษัตรขึ้นปี ๒ ปีตามพระราชประสงค์

ส่วนจารึกแกนปลีใต้กลีบบัวหงายพระบรมธาตุเจดีย์ ระบุว่า “พระพุทธศักราชได้สองพันร้อยเก้าสิบ…วันจันทร์ เดือนหก แรมสี่ค่ำ ปีมะเมีย…” กลับมีปัญหาเพราะเมื่อคำนวณทั้งตามการนับศักราชธรรมดาและลบศักราช กลับไม่ตรงทั้ง ๒ วิธี กล่าวคือ

ธรรมดา            : พุทธศักราช ๒๑๙๐ ตรงกับจุลศักราช ๑๐๐๙ ปีกุน
ลบศักราช         : พุทธศักราช ๒๑๙๐ ตรงกับจุลศักราช ๑๐๐๙ ปีวอก

จึงดูเหมือนว่า ศักราชที่ปรากฏที่แกนปลีนี้ ใช้หลักการลบศักราชถึง ๒ ครั้ง คือย้อนกลับขึ้นไปถึง ๔ ปีนักษัตร ความคลาดเคลื่อนข้อนี้เป็นปัญหาที่ยังไม่พบข้อสรุป นอกจากการสันนิษฐานว่า อาจเป็นเพราะผู้จารึกที่รับข้อความให้จารึกซึ่งระบุศักราชที่ลบแล้ว แต่กลับลบซ้ำเป็นกำลัง

“เมื่อยอดพระเจ้าหัก” คำสำคัญที่ปราศจากการชี้เหตุ

ในบรรทัดที่สองซึ่งแยกออกมาใหม่นี้ มีเค้ามูลหลักที่ทำให้ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีนัยยะบางประการเร้นอยู่ คือการไม่ระบุสาเหตุที่ทำให้องค์พระบรมธาตุเจดีย์หักลง ทั้งส่วนของข้อเท็จจริงหรือแม้แต่จะตกค้างอยู่ในนิทานมุขปาถะเหมือนเรื่องเล่า “เจดีย์ยักษ์” ที่มีลักษณาการเดียวกัน แน่นอนว่าในชั้นนี้ อาจเพราะเจดีย์ยักษ์ไม่ได้ถูก “สร้างตรหลบหกสู่ยอด” อย่างองค์พระบรมธาตุเจดีย์ที่ได้รับการปฏิสังขรณ์ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา ๔ เดือน จึงดูเหมือนว่านิทานยักษ์สร้างพระเจดีย์แข่งกับชาวเมืองจะยังคงมีอิทธิพลต่อความรับรู้ของผู้คน ตลอดไปจนส่งผลให้การพิจารณาบูรณะเจดีย์ยักษ์จำต้องดำเนินการไปเสมือนหนึ่งไม่มีส่วนปลียอดมาแล้วแต่เดิม

แม้ว่าเหตุผลที่ทำให้เจดีย์ยักษ์ยอดหักจะเป็นเพียงนิทานปรัมปรา แต่ก็ได้ทิ้งร่องรอยประหนึ่งลายแทงแฝงไว้จนอาจเชื่อได้ว่า ยักษ์ที่เตะยอดเจดีย์นี้ น่าจะเป็นตัวแทนของคนหรือกลุ่มคนฝ่ายตรงข้ามกับคนพื้นเมือง

พระธาตุเคยทลายลงแล้วหนหนึ่งก่อนหน้าครั้งที่กำลังกล่าวถึงนี้

ในตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับกระดาษฝรั่ง[๘] เมื่อกล่าวถึงที่มาของพระบรมสารีริกธาตุแล้ว ก็ยกฉากการก่อ“พระเจดีย์” ครั้งแรกเพื่อสรวมพระบรมสารีริกธาตุ ถัดไปหลังที่สร้าง “เมืองนครศรีธรรมราชมหานคร” ณ หาดทรายแก้วแล้ว พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้มีรับสั่งให้ทำอิฐทำปูนก่อ “พระธาตุ” เป็นครั้งที่ ๒ หากเหตุการณ์ลำดับไปตามที่ตำนานระบุ ก็จะหมายความว่าองค์พระบรมธาตุเจดีย์ มีการประดิษฐานอยู่แล้วก่อนสร้างเมืองแต่อาจจะยังไม่แล้วเสร็จ พระมหากษัตริย์ผู้สถาปนาเมืองจึงได้ทำต่อ  จากนั้นพระองค์ถัดๆ ไปก็รับเป็นธุระ ดูเหมือนว่าในตำนานจะระบุถึงการก่อ “พระมหาธาตุ” ถึง ๕ ครั้งจึงแล้วเสร็จ 

“พระเจดีย์”“พระธาตุ” และ “พระมหาธาตุ” ทั้ง ๓ คำนี้เป็นการเรียกองค์พระบรมธาตุเจดีย์จากตำนานฉบับข้างต้น ส่วนปัจจุบันตกค้างเป็นภาษาพูดของชาวนครศรีธรรมราชเฉพาะคำว่า “พระธาตุ” ซึ่งหากเป็นไปตามพระวินิจฉัยของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ที่ว่าตำนานฉบับนี้เขียนขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พุทธศักราช ๒๑๙๙ – ๒๒๓๑) ก็เท่ากับว่าคำนี้ มีเรียกมาตั้งแต่ครั้งนั้นแล้วเป็นอย่างต่ำ

ตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อพระธาตุทลายลงว่า “ยังมีนายไทยผู้หนึ่งชาวกรุงศรีอยุธยา ใช้เรือมาทอดอยู่ปากน้ำนครศรีธรรมราช นายไทยวางว่าว ๆ นั้นก็ขาด นายไทยตามว่าวมาพบพระเจดีย์เดิม แล้วพบเจ้าไทยสององค์ องค์หนึ่งชื่อมหาเถรพุทธสาท องค์หนึ่งชื่อมหาเถรพรหมสุรีย์เที่ยวโคจรมา นายไทยก็เล่าความแก่เจ้าไทย ๆ ให้นำไปดูที่พระเจดีย์เดิม แล้วนายไทยก็ลงเรือไป ภายหลังเจ้าไทยทั้งสองพบพระมหาธาตุทลายลงเทียมพระบรรลังก์ รอยเสือเอาเนื้อขึ้นกินที่นั้น เจ้าไทยก็กลับไปอยู่อารามดังกล่าวเล่า”[๙]   ความตอนนี้ไม่ระบุศักราช แต่มีข้อกำหนดช่วงอายุสมัยในวรรคต้นว่านายไทยเป็นชาวกรุงศรีอยุธยา เหตุการณ์จึงน่าจะเกิดในยุคกรุงศรีอยุธยา คือระหว่างพุทธศักราช ๑๘๙๓ – ๒๓๑๐

เพื่อกำหนดจุดเวลาให้แคบลง จึงต้องพิจารณาศักราชที่ปรากฏอยู่ตำแหน่งก่อนที่จะกล่าวถึงเหตุการณ์นี้ พบว่าตกอยู่ในมหาศักราช ๑๒๐๐ ซึ่งคือพุทธศักราช ๑๘๒๑ ส่วนตำแหน่งหลังบันทึกว่าเป็นพุทธศักราช ๑๘๑๕ ชั้นแรกจึงสรุปเป็นเบื้องต้นว่า ศักราชในตำนานฉบับนี้ อาจมีความคลาดเคลื่อนสับสน คือกระโดดไปมาไม่ลำดับ กับทั้งเหตุการณ์ “พระมหาธาตุทลายลง” ซึ่งอยู่ในระหว่าง พ.ศ. ๑๘๑๕ – ๑๘๒๑ นี้ มีคำชี้จุดเวลาคือ “นายไทยผู้หนึ่งชาวกรุงศรีอยุธยา” ทั้งที่จริงช่วงเวลาดังกล่าว กรุงศรีอยุธยายังไม่ได้สถาปนาขึ้น จึง       ชวนให้ส่อเค้าคิดไปว่าเป็นไปได้ที่การทลายลงครั้งนี้ อาจเป็นครั้งเดียวกันกับที่มีจารึกไว้รอบแกนปลี

สถานการณ์ภายในเมืองนครศรีธรรมราช

ก่อน “ยอดพระเจ้าหัก” ในปีพุทธศักราช ๒๑๙๐ 

ตอนท้ายของตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับกระดาษฝรั่ง มีการลำดับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในลักษณะย่อหน้าละใจความ ต้นย่อหน้าระบุปีพุทธศักราชกำกับไว้ ดังนี้

เมื่อศักราชได้ ๑๙๑๙ ปี โปรดให้หลวงศรีวรวงษมาเป็นเจ้าเมือง มาทำวิหารฝ่ายอุดรพระธาตุ ทักษิณพระโพธิมณเฑียร ก่อพระสูง ๗ ศอก หล่อพระสำมฤฐองค์หนึ่งไว้ปัจฉิม เมียหล่อองค์หนึ่งไว้ฝ่ายบูรรพ์ ชื่อว่าเพหารเขียน แล้วอุทิศข้าหญิงชายไร่นาไว้สำหรับรักษาพระ โปรดให้หลวงพิเรนทรเทพมาเป็นเจ้าเมือง พระทิพยราชาน้องพระญาสุพรรณเป็นปลัด ศึกอารู้ยกมาตีเมืองแล้วไปตีเมืองพัทลุงได้ ทิพยราชาเป็นแม่ทัพไปตีได้คืนเล่า

เมื่อศักราช ๒๐๓๙ ปี โปรดให้พระยาพลเทพราชมาเป็นเจ้าเมือง เกนให้ตกแต่งทำกำแพงกำชับไว้ แล้วเข้าไปกรุงไปทางเมืองสระ

เมื่อศักราช ๒๑๔๑ โปรดให้พระยาศรีธรรมราชะเดชะมาเป็นเจ้าเมือง อุชงคนะให้ลักปหม่าหนาเป็นแม่ทัพเรือมารบ เสียขุนคำแหงปลัด ณ รอปากพระญา ข้าศึกรุกเข้ามาถึงตีนกำแพงฝ่ายอุดร พระยาศรีธรรมราชออกรบศึกหนีไป

เมื่อศักราช ๒๑๔๔ โปรดให้พระรามราชท้ายน้ำมาเป็นเจ้าเมือง เอาขุนเยาวราชมาเป็นปลัด รู้ข่าวศึกอุชงคนะ จึงพระยาให้ขุดฝ่ายบูรรพ์ แต่ลำน้ำท่าวังมาออกลำน้ำฝ่ายทักษิณ

เมื่อศักราช ๒๑๗๑ ศึกอุชงคนะยกมา พระญาก็ให้ตั้งค่ายคูฝ่ายอุดร แลแต่งเรือหุมเรือพายพลประมาณห้าหมื่นเศษรบกันเจ็ดวันเจ็ดคืนขุนพัญจาออกหักทัพกลางคืนศึกแตกลงเรือศึกเผาวัศท่าโพเสีย พระญาถึงแก่กรรม พระญาแก้วผู้หลานก่อพระเจดีย์บรรจุธาตุไว้ในพระธรรมศาลา”[๑๐]

ดังจะพิจารณาได้ว่า ศตวรรษก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุยอดพระเจ้าหักนั้น เมืองนครศรีธรรมราชต้องประสบกับภัยสงคราม ตั้งแต่ศึกอารู้จนถึงอุชงคนะ ยืดเยื้อกินเวลาหลายขวบปี มีผลจากสงครามครั้งนั้นต่อผังเมืองในปัจจุบันให้พอเป็นที่ประจักษ์อยู่บ้าง คือถนนพัฒนาการคูขวาง ถนนที่ทอดทับตำแหน่งเดียวกันกับคูที่ “…ขุดฝ่ายบูรรพ์ แต่ลำน้ำท่าวังมาออกลำน้ำฝ่ายทักษิณ” ขวางไม่ให้กำลังพลของข้าศึกยกขึ้นประชิดเมืองได้โดยง่าย แม้ตอนท้ายของตำนาน จะทำหน้าที่คล้ายพงศาวดารเมือง แต่ก็ไม่ได้ระบุว่าข้าศึกเข้าเมืองแล้วกระทำอันตรายอย่างไรต่อทรัพยากรภายใน กับทั้งกระโดดไป ๒๖ ปี ข้ามเหตุการณ์ยอดพระเจ้าหักที่เป็นโจทย์นี้ไปกล่าวถึง “…เมื่อศักราช ๒๑๙๗ มีพระบรรทูลโปรดให้พระญาบริบาลพลราชเจ้าเมืองตะนาวศรีมหานครมาเป็นเจ้าพระญานครศรีธรรมราช เดชไชยอภัยพิรีบรากรมพาหุเจ้าพระญานครศรีธรรมราช…”

อย่างไรก็ดี ศึกครั้งนี้เป็นศึกติดพัน เพราะความมุ่งหมายของแขกสลัดมีมากกว่าการปล้นเอาสมบัติพัสถาน การจงใจเลียบชายฝั่งผ่านเมืองท่าที่มั่งคั่งอย่างปัตตานีและมะละกา อาจเป็นสัญญาณว่า นครศรีธรรมราชคือเป้าหมายเดียวที่พอพร้อมสำหรับความต้องการบางอย่าง และเป็นไปได้ว่าปัตตานีคือหนึ่งในพันธมิตรของแขกสลัด ดังที่เริงวุฒิ มิตรสุริยะ อธิบายไว้ว่า “…พ.ศ. ๒๑๗๓ ปัตตานีก็ทำการรุกรานเมืองพัทลุงและนครศรีธรรมราชโดยทันใด โดยเว้นไม่ยุ่งเกี่ยวกับเมืองสงขลา ที่ดูเหมือนจะประกาศตัวว่าขอออกจากพระราชอำนาจและอาณาจักรของอยุธยาไปแล้วด้วยเมืองหนึ่ง ในขณะที่นครศรีธรรมราชอ่อนแอนี้ ปัตตานีได้พันธมิตรจากยะโฮร์และโปรตุเกสร่วมด้วย อยุธยาจำต้องเกณฑ์ผู้คนจากนครศรีธรรมราชและพัทลุงออกต่อต้าน แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะปัตตานีได้…”[๑๑]

สภาพของนครศรีธรรมราชขณะนั้นคงไม่ต่างไปจากสภาพของกรุงศรีอยุธยาก่อนเสียแก่พม่าเมื่อพุทธศักราช ๒๓๑๐ กลับกันเมื่อเมืองสงขลากลับมีอิทธิพลมากขึ้น ในปีพุทธศักราช ๒๑๘๕ สงขลาจึงเป็นกบฏต่อกรุงศรีอยุธยา แม้ว่าจะปราบปรามลงได้ แต่ก็เป็นกบฏอีกครั้ง พ.ศ. ๒๑๙๒ ได้บุกยึดเมืองนครศรีธรรมราชไว้เป็นการชั่วคราว และดึงเอาปัตตานี พัทลุง และไทรบุรีเข้าเป็นพันธมิตร[๑๒]

ทั้งนี้แต่ไม่ทั้งนั้น สถานการณ์ร่วมสมัยกับที่ระบุในจารึกแกนปลีว่ายอดพระบรมธาตุเจดีย์หักลงในพุทธศักราช ๒๑๙๐ ที่ยกมานี้ อาจเป็นเพียงข้อสังเกตหนึ่ง ที่จะทำให้พลอยโน้มเอียงใช้เป็นคำตอบถึงเหตุของการหักลงได้ จากที่โดยทั่วไป ความรู้สึกแรกเมื่อได้อ่านจารึกมักคิดอ่านไปเองเป็นเบื้องต้นว่าอาจเพราะถูกฟ้าผ่าตามธรรมชาติ จะได้มีความลังเลสงสัยเพิ่มขึ้นเป็นตัวเลือก เพราะหากพระบรมธาตุเจดีย์เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นนครศรีธรรมราช ปูชนียสถานมีชื่อนี้ก็ถือเป็นหมุดหมายเดียวของศัตรูที่จะเข้ายึดหรือทำลายเพื่อชัยชนะที่สมบูรณ์

ทว่าเมื่อตรวจสอบแผ่นทองคำที่มาจารึกในระบบฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย จากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) แล้ว พบว่าแทนที่เมื่อยอดหักแล้วศักราชในจารึกจะลำดับต่อไปจาก ๒๑๙๐ กลับมีแผ่นจารึกระบุปีก่อนหน้านั้น ๒ รายการ ได้แก่

“ศุภมัสดุ ศักราชได้เก้าร้อยเจ็ดสิบสี่ เดือนห้า ขึ้นเก้าค่ำ ปีชวด เถลิงศก วันจันทร์ชวด จัตวา พระมหาศรีราชปรีชญา เอาทองห้าตำลึงแลญาติอีกด้วยสัปปุรุษทั้งหลายช่วยอนุโมทนา เป็นทองหกตำลึง สามบาท สามสลึง ตีเป็นแผ่นสรวมพระธาตุเจ้า ในขณะออกญาพัทลุงมาเป็นพระยานครแลพระเจ้าพระครูเทพรักษาพระธาตุ”[๑๓]

รายการแรก ศักราชเก้าร้อยเจ็ดสิบสี่ ตรงกับพุทธศักราช ๒๑๕๕ ถัดไปอีก ๔ ปีปรากฏในรายการที่ ๒ คือ พ.ศ. ๒๑๕๙ ซึ่งทั้ง ๒ รายการร่วมสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พุทธศักราช ๒๑๕๔ – ๒๑๗๑) จึงดูเหมือนว่าเป็นไปไม่ได้ที่เมื่อข้าศึกยึดเอาสัญลักษณ์ประจำเมืองได้แล้วจะไม่ฉกฉวยเอาทรัพย์สินมีค่าไปใช้สอยประโยชน์ ข้อนี้สันนิษฐานต่อไปได้ว่า อาจเป็นอุบายเพื่อประโลมขวัญชาวเมืองในการสร้างความยอมรับให้มีแก่กลุ่มผู้ปกครองใหม่ โดยกระทำการปฏิสังขรณ์อย่างรวดเร็วแล้วเสร็จภายในระยะเวลาเพียงแค่ ๔ เดือนดังจะได้กล่าวต่อไป

            ข้อพินิจสำคัญอีกประการคือ จารึกแผ่นทองหุ้มปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราชอีกรายการหนึ่ง ปรากฏ ๒ ศักราชในลายมือที่ใกล้เคียงกัน

            ก่องแก้ว วีระประจักษ์ ปริวรรตแยกบรรทัดยกมาเฉพาะศักราชได้ว่า

            บรรทัดบนซ้ายจารึก (มหาศักราช) ๑๖๒๘” เท่ากับพุทธศักราช ๒๒๔๙

            บรรทัดล่างขวาจารึก “ศกพระแต่พ้นไปแล้ว ๒๑๕๙”[๑๕]

ความใกล้เคียงกันของตัวอักษรที่แม้ว่าจะมีระยะระหว่างจารึกถึง ๙๐ ปี แถมยังปรากฏบนแผ่นเดียวกันนี้ เป็นพิรุธบางประการที่อาจเชื่อได้ว่าการระบุศักราชก่อนหน้าเหตุการณ์ยอดหักซึ่งปรากฏอยู่เพียง ๓ รายการจากทั้งหมด ๔๐ รายการนี้ เป็นเพียงการบันทึกย้อนความทรงจำ ทั้งนี้เพื่อยืนยันสมมติฐานนี้ อาจต้องพึ่งการตรวจพิสูจน์ทางด้านอักษรศาสตร์ ซึ่งผู้เขียนไม่มีความสามารถในด้านนั้นเป็นการเฉพาะ

 “เพลาชายแล้วสองยาม สร้างตรหลบหกสู่ยอดพระเจ้าหั้นแล

เมื่อทำการนั้น เดือนสิบ วันศุกร์เพลาเช้าขึ้นถึงสิบชั้นเป็นสุดเอย

จากเหตุการณ์ยอดหักเมื่อต้นปีใหม่เดือนหก ถึงเมื่อสร้างแล้วเสร็จเดือนสิบ ระยะเวลาเพียงแค่ ๔ เดือนกับการปฏิสังขรณ์ครั้งยิ่งใหญ่นี้ แสดงให้เห็นถึงความมานะอย่างยิ่งยวดของผู้ได้รับหน้าที่ เพราะเสมือนการก่อขึ้นใหม่ตั้งแต่ตำแหน่งพระเวียนขึ้นไปจนถึงยอด ตามที่ ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ ได้สันนิษฐานว่า ตรงก้านฉัตรขององค์พระบรมธาตุแต่เดิมไม่มีเสาหานเช่นเดียวกับเจดีย์สุโขทัยและล้านนา แต่เมื่อส่วนยอดพังทลายลงมาถึงชั้นบัลลังก์ และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ จึงไม่ทำก้านฉัตรแบบเดิมแต่ออกแบบให้มีเสาหานช่วยพยุงตัวปล้องไฉนที่อยู่เหนือขึ้นไป แต่ก็ไม่ทำเสาหานทรงกระบอกแบบที่แพร่หลายในอยุธยา[๑๖]

การเร่งปฏิสังขรณ์ขึ้นไปใหม่อย่างรวดเร็วนี้ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ต่อสภาพจิตใจของผู้คนประการได้เป็นอย่างดี อาจเป็นการบูรณะครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดและเสร็จสิ้นด้วยระยะเวลาอันสั้นที่สุดเท่าที่เคยมีมาเมื่อเทียบกับระยะเวลาของการบูรณะในชั้นหลัง

พระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช เป็นวัตถุธาตุในโลกที่เป็นไปตามสามัญลักษณะทั้ง ๓[๑๗] ซึ่งคือกฎธรรมดาของสรรพสิ่งทั้งปวง แม้จะพยายามเฝ้าหวงแหนและพิทักษ์รักษาสักปานใด ก็ไม่มีเครื่องยืนยันว่าจะสามารถอยู่ยั่งมั่นคงสวนกระแสธรรมดาที่ว่านี้ได้ ฉันใดที่มนุษย์รู้จักดูแลสุขภาพกายและจิตเพื่อยืดอายุขัย พลังแห่งศรัทธาปสาทะ[๑๘]ของสาธารณชน ผนวกด้วยความรับผิดชอบขององค์กรภาครัฐทั้งองคาพยพ[๑๙] จึงเสมือนยาอายุวัฒนะแก้สรรพ[๒๐]โรค พร้อมไปกับการบำรุงกำลังแห่งองค์พระบรมธาตุเจดีย์ตราบเท่าที่วิทยาการทางเทคโนโลยีจะก้าวล้ำไปถึงก็ฉันนั้น


[๑] ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และเทิม มีเต็ม. (๒๕๓๗). “จารึกแผ่นทองหุ้มปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช”. ใน ศิลปากร ๓๗. ๔ (กรกฎาคม-สิงหาคม ๒๕๓๗) : ๒๐-๑๑๘.

[๒] https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/1321 สืบค้นเมื่อ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๒

[๓] ภัคพดี อยู่คงดี. “นครศรีธรรมราช ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๓ (ร่วมสมัยสุทัย – อยุธยา)”. ใน ประวัติศาสตร์ โบราณคดี นครศรีธรรมราช : น. ๙๓ – ๙๔

[๔] มานิจ ชุมสาย. ม.ล.. (๒๕๒๑). “เมื่อญี่ปุ่นมาเป็นเจ้าพระยานคร ใน พ.ศ.๒๑๗๒”. ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช :น. ๕๕๐ – ๕๕๑.

[๕] “ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช”. ใน รวมเรื่องเมืองนครศรีธรรมราช : น. ๙๕.

[๖] พระครูเหมเจติยาภิบาล. (๒๕๖๒). “คำอ่านจารึกฐานพระลาก (ปางอุ้มบาตร) วัดศรีทวี อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช”.

[๗] สุรเชษฐ์ แก้วสกุล. (๒๕๖๒) . “คำอ่านจารึกระฆังวัดท้าวโคตร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช”.

[๘] พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๑ ตามหนังสือกระดาษฝรั่งเขียนเส้นหมึก ต้นฉบับอยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณ (ปัจจุบันคือสำนักหอสมุดแห่งชาติ)

[๙] “ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช”. ฉบับกระดาษฝรั่ง.

[๑๐] เรื่องเดียวกัน

[๑๑] เริงวุฒิ มิตรสุริยะ. (๒๕๕๕). “สุลต่านลุ่มทะเลสาบสงขลา : ปฏิสัมพันธ์ของอำนาจจากท้องถิ่นถึงราชอาณาจักร จากสมัยอยุธยาตอนกลางถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น”. รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช ครั้งที่ ๖ (พ.ศ.๒๕๕๕). (นครศรีธรรมราช : มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช, ๒๕๕๕). หน้า ๑๒๙. 

[๑๒] ภัคพดี อยู่คงดี. “นครศรีธรรมราช ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๓ (ร่วมสมัยสุโขทัย – อยุธยา)”. ประวัติศาสตร์ โบราณคดี นครศรีธรรมราช. กรมศิลปากร.

[๑๓] ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และเทิม มีเต็ม. (๒๕๓๗). “คำปริวรรตจารึกแผ่นทองหุ้มปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช”. 

[๑๔] เรื่องเดียวกัน

[๑๕] ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และเทิม มีเต็ม. (๒๕๓๗). “คำปริวรรตจารึกแผ่นทองหุ้มปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช”.

[๑๖] เกรียงไกร เกิดศิริ. (๒๕๖๑). “พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช มรดกพุทธศาสนาสถาปัตยกรรม ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาเถรวาทแห่งคาบสมุทรภาคใต้”. กรุงเทพ. หน้า ๘๕.

[๑๗] คือไตรลักษณ์ ได้แก่ อนิจจลักษณะ ลักษณะไม่เที่ยง มีการแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา ทุกขลักษณะ ลักษณะทนอยู่ตลอดไปไม่ได้ ถูกบีบคั้นด้วยอำนาจของธรรมชาติทำให้ทุกสิ่งไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดไป และ อนัตตลักษณะ ลักษณะไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามต้องการได้

[๑๘] ปสาทะ หมายถึงความผ่องใส เป็นลักษณะของศรัทธา ในพระสุตตันตปิฎก ทีฑนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ หน้าที่ ๓๕๕ ยกแยกศรัทธาไว้ ๔ อย่าง หนึ่งในนั้นคือ ปสาทศรัทธา หมายถึง ความเชื่อ ศรัทธาที่เกิดจากการบรรลุธรรม

[๑๙] แปลว่า อวัยวะน้อยใหญ่ ในที่นี้หมายถึงทุกภาคส่วน

[๒๐] อ่านว่า สับ-พะ เป็นคำอุปสรรค มีสำเนียงอ่านอย่างใต้อีกอย่างหนึ่งว่า สอ – หรบ อาจเป็นที่มาของวัดสพ ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับวัดท้าวโคตรปัจจุบัน ด้วยว่าพระประธานในร่วมพื้นที่นั้น องค์หนึ่งพระนามว่า “พระสัพพัญญุตญาณมุนี” แต่ก่อนมักเขียนโดยให้พ้องเสียงอาจเขียนเป็น สรรพ แล้วมีผู้ออกเสียงว่า สอ – หรบ จนเป็นสพในที่สุด


จากปก : ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หมายเลขกำกับ CFNA๐๑-P๐๐๑๙๒๒๒-๐๐๒๑