Skip to content

ใครแต่ง ? ตำนานพระธาตุเมืองนคร

ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับที่ใช้ตั้งสมมติฐานว่าใครแต่งนี้ คือ “ฉบับกระดาษฝรั่ง” สำนวนนี้ถูกคัดมาจากหนังสือกระดาษฝรั่งเขียนเส้นหมึกในหอพระสมุดวชิรญาณ คัดมาจากหนังสือเก่าอีกทอดหนึ่งโดยถ่ายการสะกดคำตามต้นฉบับ และถูกพิมพ์ออกเผยแพร่หลายครั้ง ครั้งที่ได้เคยชวนอ่านและทบทวนกันแล้วทาง Nakhon Si sTation Platform (NSTP) เป็นฉบับที่คัดมาจากหนังสือรวมเรื่องเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๕ โปรดดู https://nakhonsistation.com/ต้นฉบับ-ตำนานพระธาตุเมื/

การตั้งคำถามว่า “ใครแต่ง ?” ต่อตำนานพระธาตุฯ ในฐานะสิ่งสืบทอดเป็นคติชนท้องถิ่น แน่นอนว่าไม่ได้มุ่งเป้าไปที่การชี้ตัวของผู้แต่งชนิดที่เค้นเอาว่าชื่อเสียงเรียงนามกระไร แต่คิดว่าจากโครงเรื่องและองค์ประกอบของเนื้อหาจะสามารถทำให้ภาพของผู้เขียนบีบแคบลงได้ในระดับหนึ่ง จนทำให้เห็นความจำเป็นบางประการที่อาจจะเป็นตัวกำหนดทิศทางในการแต่ง ดังจะลองยกข้อสังเกตมาชวนกันพิจารณา ดังนี้

ตำนานพระธาตุ มีวิธีการเริ่มเรื่องในแต่ละฉากคล้ายบทละคร คือตั้งนามเมือง ออกพระนามของกษัตริย์และชายา โดยตัวละครที่ปรากฏมาจากการยืมจากทั้งวรรณคดี ชาดก และบุคคลในประวัติศาสตร์ ในที่นี้เนื่องจากฝ่ายกษัตริย์ต่างออกพระนามคล้ายกันคือ “พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช” (ยกเว้นเมืองทนทบุรีและชนทบุรี) จึงยกเฉพาะฝ่ายสตรีเป็นข้อสังเกต เช่น

๑. เมืองทนทบุรี (เมืองที่ประดิษฐานพระธาตุ)

ระบุว่ามี “นางมหาเทวี” เป็นพระอัครมเหสีของท้าวโกสีหราช
น่าจะมีต้นเค้าจาก “นางมหาเทวี” ชื่อพี่สาวของพระเจ้าช้างเผือกแห่งเมืองเมาะตะมะ จากเรื่องราชาธิราช

๒. เมืองชนทบุรี (เมืองที่แย่งชิงพระธาตุ)

ระบุว่ามี “นางจันทเทวี” เป็นอัครมเหสีของอังกุศราช
น่าจะมีต้นเค้าจาก “นางมหาจันทเทวี” มเหสีพระยาอู่ กษัตริย์พระองค์ที่ ๘ ของหงสาวดี มีพระธิดาองค์เดียวคือ “ตะละแม่ท้าว” อัครมเหสีของราชาธิราช กษัตริย์พระองค์ที่ ๙ จากเรื่องราชาธิราช ในเรื่องนี้เรียกนามนี้ว่า “มุชีพ” ส่วนอีกประเด็นคือ “จันทเทวี” เป็นอิสริยยศด้วยอย่างหนึ่งของทางหงสาวดี

๓. เมืองมัธยมประเทศ (เมืองที่ขอแบ่งพระธาตุ)

ระบุว่ามี “นางสันทมิตรา” เป็นอัครมเหสีของพระยาธรรมโศกราช
น่าจะมีต้นเค้าจาก “นางอสันธิมิตรา” อัครมเหสีของพระเจ้าอโศกมหาราช

๔. ฝ่ายตะวันตก

ระบุว่ามี “นางจันทาเทวี” เป็นอัครมเหสีของพระยาศรีไสณรง 
น่าจะมีต้นเค้าจาก “นางจันทาเทวี” หนึ่งในมเหสีของบุเรงนองแห่งตองอู ยายของนัดจินหน่องประการหนึ่ง
“นางจันทาเทวี” ในสุวรรณสังขชาดกประการหนึ่ง และ “นางจันทาเทวี” ในสังข์ทองอีกประการหนึ่ง

๕. เมืองหงษาวดี

ระบุว่า “ท้าวเจตราช” เป็นพระราชบุตรของพญาศรีธรรมโศกราชกับนางสังขเทพ
น่าจะมีต้นเค้าจาก “เจ้าเจตราช” ผู้ครองเมืองเจตราช จากกัณฑ์ประเวศน์ เวสสันดรชาดก

ความจริงพิจารณาเท่านี้ก็น่าจะพออนุมานได้แล้ว
ว่าผู้แต่งควรมีความเกี่ยวเนื่องกับความเป็น “มอญ” จากรอยที่ทิ้งไว้

เพื่อคลี่ขยายให้ชัดขึ้น เราต้องลองมาพิจารณาเนื้อความของตำนานที่อาจจะเป็น “รอยมอญ” กันต่อไป ในที่นี้จะขอยก ๒ ตำแหน่งที่อาจส่งความเกี่ยวเนื่องกัน

ตอนต้น

“ยังมีเมืองหนึ่งชื่อหงษาวดี มีกำแพงสามชั้นอ้อมสามวันจึ่งรอบเมือง ประตูเมืองมีนาคราชเจ็ดหัวเจ็ดหางมีปราสาทราชมณเฑียร มีพระมหาธาตุ ๓๐๐๐ ยอดใหญ่ ๓๐ ยอด ต่ำซ้ายต่ำขวา กลางสูงสุดหมอก มีพระพุทธรูป ๔๐๐๐ พระองค์ เจ้าเมืองนั้นชื่อพระญาศรีธรรมาโศกราช มีพระอรรคมเหสีชื่อสังขเทพี มีบุตร์ชายสองคนๆ หนึ่งชื่อท้าวเจตราช อายุยืนได้ ๑๐๐ ปี ถัดนั้นชื่อเจ้าพงษ์กระษัตริย์ ยังมีบาคู ๔ คนบำรุงเจ้าเมืองนั้นอยู่ อยู่มาเกิดไข้ยุบลมหายักษ์มาทำอันตราย ไพร่พลล้มตายเป็นอันมาก พระยาก็พาญาติวงษ์และไพร่พลลงสำเภาใช้ใบมาตั้งอยู่ริมชเล

ตอนปลาย

“ศักราช ๒๑๙๗ ปี มีพระบรรทูลโปรดให้พระญาบริบาลพลราชเจ้าเมืองตะนาวศรีมหานครมาเป็นเจ้าพระญานครศรีธรรมราช เดชไชยอภัยพิรีบรากรมพาหุเจ้าพระญานครศรีธรรมราช”

ในตอนต้น ตำนานกล่าวว่าเมื่ออพยพไพร่พลและญาติวงศ์ออกมาจากหงษาวดีแล้วไปตั้งอยู่ที่ “ริมชเล” ก่อนไข้ยุบลมหายักษ์ระลอกใหม่จะระบาดจนต้องยกย้ายไปกระหม่อมโคกแล้วสร้าง “นครศรีธรรมราชมหานคร” “ริมชเล” ที่แวะพักนั้น ในตำนานระบุว่าเป็นสถานที่สำคัญที่ทำการวางแผนสร้างบ้านแปงเมือง น่าเชื่อได้ว่าจะคือส่วนหนึ่งของตะนาวศรีที่มาปรากฏอีกครั้งในตอนปลาย

ดังได้เคยตั้งข้อสังเกตไว้ใน “ตำนานพระธาตุเมืองนคร (ฉบับกระดาษฝรั่ง) เขียนขึ้นเมื่อไหร่ ?” แล้วที่ https://nakhonsistation.com/ตำนานพระธาตุเมืองนคร-เข/ ว่าตอนปลายของตำนานอาจเป็นข้อพินิจได้ด้วยว่า “ใครแต่ง ?”

จากที่ช่วงท้ายของตำนานตั้งแต่ พ.ศ.๑๘๖๑ เรื่อยไปจนถึง ๒๑๙๗ เป็นการเขียนในลักษณะเรียงลำดับเหตุการณ์ผู้ปกครอง ประหนึ่งแสดงทำเนียบเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช โดยมีข้อสังเกตคือ ในช่วงก่อนปีท้ายสุดที่มีการลงศักราชไว้นั้น มีเหตุการณ์สำคัญมากเกิดขึ้นในเมืองนครศรีธรรมราช นั่นคือ กรณียอดพระธาตุหักในปีพุทธศักราช ๒๑๙๐ แต่ไม่มีการระบุไว้ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับตำนานโดยตรง อาจเพราะในช่วงท้าย วัตถุประสงค์ของการเขียนตำนานเปลี่ยนไปจากเดิมเล่าความของพระธาตุมาเป็นการแสดงทำเนียบเจ้าเมือง หรือด้วยเพราะอาจจงใจอำพรางลางเมืองเพื่อต้องการดำรงพระเกียรติยศของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ผู้ซึ่งยังคงดำรงอำนาจเหนือนครศรีธรรมราชอย่างสมบูรณ์อยู่ในขณะนั้น

แน่นอนว่า การที่พระญาบริบาลพลราช เจ้าเมืองตะนาวศรีมาครองเมืองนครศรีธรรมราช จึงต้องส่งอิทธิพลต่อการแต่งและเขียนตำนานพระธาตุนครศรีธรรมราชฉบับนี้อย่างไม่พ้นได้ ดังได้ยกตัวอย่างการให้ชื่อบุคคลในข้างต้นและเนื้อหาส่วนชี้ความสำคัญของเมืองตะนาวศรีแล้วในข้างท้าย (ส่วนการยืมคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนามาสร้างประกาศิตในต้นตำนานจริงว่าอาจเป็นอีกประการร่วมพิจารณา แต่จะขอยกไว้ค้นคว้าต่อเพิ่มเติมด้วยเห็นว่าเพียงพอต่อการตั้งสมมติฐาน)

“มอญตะนาวศรี” จึงอาจคือพลังขับในการแต่งตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับนี้ 

____

ภาพจากปก :
สำเนาภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ 
หมายเลขกำกับ na๐๑d-img๐๐๐๐๑๓๒-๐๐๙