ตำนานพระธาตุเมืองนคร เขียนขึ้นเมื่อไหร่ ?

ตำนานพระธาตุ

ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช เป็นพื้นความรู้ที่ควรค่าแก่การเรียนรู้ศึกษาให้รอบด้าน เพราะนอกจากจะให้คุณค่าทางวรรณศิลป์แล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์เพื่อสกัดเอาภาพสะท้อนทางประวัติศาสตร์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาของเมืองนครศรีธรรมราช รวมถึงอำนาจครอบงำความเชื่อและวิถีคิดของคนท้องถิ่น ณ จุดเวลาหนึ่งได้เป็นอย่างดี การทำความเข้าใจตำนานพระธาตุ จึงควรก้าวให้พ้นจากการพิสูจน์จริงเท็จ ถอยออกมามองให้เห็นความหมายแฝงซึ่งซ่อนปนอยู่ในเนื้อหาแต่ละวรรค 

Nakhon Si sTation Platform (NSTP) ได้นำเสนอต้นฉบับตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับกระดาษฝรั่งไปแล้ว (สามารถติดตามอ่านได้ที่ https://nakhonsistation.com/ต้นฉบับ-ตำนานพระธาตุเมื/ )และมีความพยายามที่จะส่งเสริมให้เกิดพื้นที่ร่วมเรียนรู้เกี่ยวกับนครศรีธรรมราชอย่างต่อเนื่อง ผ่านการกระตุ้นความสนใจด้วยข้อสังเกตที่อาจมีแรงบันดาลใจมาจากสภาวการณ์ทางสังคมปัจจุบัน คำถามในหัวหรือพิรุธบางประการในหลักฐานที่เคยคุ้นชินกันอยู่แล้ว 

ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช เขียนขึ้นเมื่อไหร่ ? เป็นส่วนของคำถามที่เกิดขึ้นในหัว ซึ่งความจริงก็ไม่ถูกนักที่จะเค้นเอาคำตอบจากสิ่งที่สืบเนื่องกันเป็นมุขปาฐะ แต่ด้วยว่าเมื่อคำพูดถูกถ่ายทอดเป็นงานเขียน ย่อมทิ้งร่องรอยให้คิด ให้พอชวนตั้งคำถามอยู่ได้บ้าง

เขียนเมื่อไหร่ ?

๑.พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ได้ตั้งข้อสันนิษฐานเอาไว้เป็นประเดิมด้วยการอาศัยศักราชท้ายสุดที่ปรากฏในปีพุทธศักราช ๒๑๙๗ ว่า “สันนิษฐานว่าแต่งในแผ่นดินพระนารายณ์ ศักราชในที่สุดบอกปีในปลายแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง”

๒.หากใช้ศักราชสุดท้ายเป็นเหตุผลในการสันนิษฐาน มีข้อให้คิดได้อย่างหนึ่งว่าอาจเขียนขึ้นในปี พ.ศ.๒๑๙๗ ในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททองนั่นเอง เพราะช่วงท้ายของตำนานตั้งแต่ พ.ศ.๑๘๖๑ เรื่อยไป เป็นการเขียนในลักษณะเรียงลำดับเหตุการณ์ผู้ปกครองประหนึ่งแสดงทำเนียบเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ได้แก่

“อยู่มาพระศรีมหาราชาถึงแก่กรรม ศักราช ๑๘๖๑ ปี โปรดให้ข้าหลวงออกมา เป็นศรีมหาราชาแต่งพระธรรมศาลา ทำระเบียงล้อมพระมหาธาตุ และก่อพระเจดีย์วัศสภ มีพระบัณฑูรให้พระศรีมหาราชาไปรับเมืองลานตกา ศรีมหาราชาถึงแก่กรรมเอาศพมาไว้วัศศภ แล้วเอามาก่อเจดีย์ไว้ในพระเดิม ๙ ยอด

เมื่อศักราชได้ ๑๙๑๙ ปี โปรดให้หลวงศรีวราวงษมาเป็นเจ้าเมืองมาทำวิหารฝ่ายอุดรพระธาตุ ทักษิณพระโพธิมณเฑียร ก่อพระสูง ๗ ศอก หล่อพระสำมฤฐองค์หนึ่งไว้ปัจจิม เมียหล่อองค์หนึ่งไว้ฝ่ายบูรรพ์ชื่อว่าเพหารเขียน แล้วอุทิศข้าหญิงชายไร่นาไว้สำหรับรักษาพระ โปรดให้หลวงพิเรนทรเทพมาเป็นเจ้าเมือง พระทิพราชาน้องพระญาสุพรรณเป็นปลัด ศึกอารู้ยกมาตีเมืองแล้วไปตีเมืองพัทลุงได้ ทิพราชาเป็นแม่ทัพไปตีได้คืนเล่า

เมื่อศักราช ๒๐๓๙ ปี โปรดให้พระยาพลเทพราชมาเป็นเจ้าเมือง เกนให้ตกแต่งทำกำแพงกำชับไว้ แล้วเข้าไปกรุงไปทางเมืองสระ

เมื่อศักราช ๒๑๔๑ ปี โปรดให้พระยาศรีธรรมราชะเดชะมาเป็นเจ้าเมือง อุชงคนะให้ลักปหม่าหนาเป็นแม่ทัพเรือมารบเสียขุนคำแหงปลัด ณ รอปากพระญา ข้าศึกรุกเข้ามาถึงตีนกำแพงฝ่ายอุดร พระยาศรีธรรมราชออกศึกหนีไป

เมื่อศักราช ๒๑๔๔ ปี โปรดให้พระรามราชท้ายน้ำมาเป็นเจ้าเมือง เอาขุนเยาวราชมาเป็นปลัด รู้ข่าวศึกอุชงคนะจึงพระยาให้ขุดฝ่ายบูรรพ์แต่ลำน้ำท่าวังมาออกลำน้ำฝ่ายทักษิณ

เมื่อศักราช ๒๑๗๑ ปี ศึกอุชงคนะยกมา พระญาก็ให้ตั้งค่ายคูฝ่ายอุดร แลแต่งเรือหุมเรือหายพลประมาณห้าหมื่นเศษ รบกันเจ็ดวัดเจ็ดคืนขุนพัญจาออกหักทัพกลางคืนศึกแตกลงเรือศึกเผาวัศท่าโพเสีย พระญาถึงแก่กรรม พระญาแก้วผู้หลานก่อพระเจดีย์บรรจุธาตุไว้ในพระธรรมศาลา

ศักราช ๒๑๙๗ ปี มีพระบรรทูลโปรดให้พระญาบริบาลพลราชเจ้าเมืองตะนาวศรีมหานครมาเป็นเจ้าพระญานครศรีธรรมราช เดชไชยอภัยพิรีบรากรมพาหุเจ้าพระญานครศรีธรรมราช”

ซึ่งในปีท้ายที่สุดนี้ก็อาจเป็นข้อพินิจในประเด็นที่ว่า “ใครเขียน” ดังจะได้อธิบายต่อไป ส่วนหลักฐานประกอบที่น่าสนใจอีกประการคือ ในช่วงก่อนปีท้ายสุดที่มีการลงศักราชไว้นั้น มีเหตุการณ์สำคัญมากเกิดขึ้นในเมืองนครศรีธรรมราช นั่นคือ กรณียอดพระธาตุหักในปีพุทธศักราช ๒๑๙๐ แต่ไม่มีการระบุไว้ทั้งที่เกี่ยวข้องกับตำนานโดยตรง อาจด้วยจงใจอำพรางลางเมืองเพราะต้องการดำรงพระเกียรติยศของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ผู้ซึ่งยังคงดำรงอำนาจเหนือนครศรีธรรมราชอย่างสมบูรณ์อยู่ในขณะนั้น

๓.อาจต้องขอให้ลองสังเกตจากสิ่งต่อไปนี้

๓.๑ แผนผังการวางตำแหน่งศาสนสถานสำคัญตามขนบของอยุธยาตอนต้น คือ เจดีย์ประธานอยู่ตำแหน่งกลาง ทิศตะวันออกเป็นพระวิหารหลวง ทิศตะวันตกเป็นพระอุโบสถ

๓.๒ ตำแหน่งปัจจุบัน เจดีย์ประธานคือพระบรมธาตุเจดีย์ พระวิหารหลวงคือวิหารพระธรรมศาลา พระอุโบสถเป็นมุขของพระระเบียงคดที่ถูกดัดแปลงตัดช่องผ่ากลางให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพระระเบียง

๓.๓ องค์พระบรมธาตุเจดีย์ยังคงตำแหน่งเดิมเช่นเดียวกันกับวิหารพระธรรมศาลา ยกเว้นตำแหน่งพระอุโบสถด้านทิศตะวันตก ที่กล่าวถึงการดัดแปลงไปแล้วในข้อที่ ๒

๓.๔ ตำแหน่งที่ควรจะเป็นพระอุโบสถมีหลักฐานระบุว่าเป็น “พระธรรมรูจี” ตามใบบอกของพระยาสุขุมนัยวินิต ข้าหลวงเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลนครศรีธรรมราช เรื่อง ส่งรายงาน ศก ๑๑๖ ลงวันที่ ๔ ตุลาคม ร.ศ.๑๑๗ กราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย กรณีบูรณะศาสนสถานต่างๆ รอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ความว่า

“พระธรรมรูจี ต่อพระระเบียงด้านตะวันตก ทำแล้วยาว ๖ วา กว้าง ๑ วา ๓ ศอก สูง ๓ วา ๔ ห้อง พระพุทธรูป ๘ องค์ ๑ หลัง” 

๓.๕ คำว่า “ต่อ” และ “ทำ” ชี้ไปในประเด็นว่า “สร้าง” ไม่ใช่ “บูรณะ” ก็จริง แต่พบว่าในใบบอกฉบับเดียวกันมีการกล่าวถึงวิหารพระธรรมศาลาก่อนในลักษณะเดียวกัน ความว่า “พระธรรมศาลา เป็นมุขต่อพระระเบียงด้านตะวันออกพระบรมธาตุ” ซึ่งพระธรรมศาลามีประวัติการสร้างในปีพุทธศักราช ๑๙๑๙ ก่อนการบูรณะในครั้งนี้ ก็พอจะเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า พระธรรมรูจีนี้ มีมาก่อน การ “ต่อ” และ “ทำ” จึงเป็นการ “บูรณะ” ไม่ใช่ “สร้าง”

ภาพถ่ายองค์พระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช จากทิศตะวันตก
สังเกตเห็นอาคารตรงกับองค์พระบรมธาตุมีช่องประตู

๓.๖ หลักฐานแสดงการมีมาก่อนของพระธรรมรูจีคือภาพถ่ายในปีพุทธศักราช ๒๔๔๒ ที่ยังคงใช้ประตูด้านทิศตะวันตกเป็นทางเข้าออก 

๓.๗ ตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ไม่ได้กล่าวถึงส่วนที่เป็น “พระธรรมรูจี” ไว้ และจากความสำคัญของแผนผังตามขนบอยุธยาที่ต้องมีพระอุโบสถด้านทิศตะวันตกของเจดีย์ประธานแต่ไม่ได้มีการกล่าวถึงการใช้สอยพื้นที่ดังกล่าวเลยในตำนานข้างต้น จึงอาจพอสันนิษฐานได้ว่า

“ตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชแต่เดิมอาจมีการถ่ายทอดต่อในลักษณะมุขปาฐะ ต่อมาเมื่อมีการเขียนบันทึกไว้ จึงอ้างอิงจากโบราณสถานที่ยังพบเห็นอยู่ เมื่อพระธรรมรูจีได้ถูกดัดแปลงเป็นส่วนหนึ่งของวิหารพระระเบียงคดไปแล้ว จึงไม่ได้กล่าวถึง จึงเป็นไปได้อีกทางหนึ่งว่า ตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช (ฉบับกระดาษฝรั่ง) น่าจะมีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในยุคหลังจากปีพุทธศักราช ๒๔๔๑ แต่ไม่เกินการพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี ๒๔๗๑”

ทั้งนี้ อาจต้องพึ่งการวิเคราะห์จากหลักฐานและข้อสังเกตอื่นๆ ประกอบ ทั้งสำนวนที่ใช้ เทียบกับสำนวนของเอกสารโบราณอื่นที่ระบุเวลาในการเขียนและร่วมสมัย การขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณที่เคยเป็น “พระธรรมรูจี” ว่าในปี ศก ๑๑๖ นั้น “สร้าง” หรือ “บูรณะ”

ในท้ายที่สุด แม้การสันนิษฐานทั้ง ๓ ข้อ จะมีส่วนเป็นไปได้ในข้อใดข้อหนึ่ง หรือเป็นไปไม่ได้ทั้งหมด ตำนานก็ได้ทำหน้าที่ของตำนานอย่างสมบูรณ์แล้ว นั่นคือการชวนคนอีกรุ่นหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เรียบเรียงและผู้ที่อ่านมาถึงวรรคนี้ มาจับเขาคุยกันอย่างจริงจัง ว่าเมื่อไหร่ ? เราควรจะเขียนตำนานฯ

____
ภาพจากปก : สำเนาภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หมายเลขกำกับ na๐๑d-img๐๐๐๐๑๓๒-๐๐๔๕

 

ชาวสวน ชาวไร่ ติดต่อบริการ Nakhonsistation ช่วยขาย ได้ที่ Line @nakhonsistation หรือโทร 0926565298

ต้นฉบับ ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช (ฉบับกระดาษฝรั่ง)

ตำนานพระธาตุ

ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชมีหลายฉบับ หลายสำนวน แต่ก็ล้วนแล้วมีโครงเรื่องในทำนองคล้ายกัน ในที่นี้จะขอยกเอาฉบับกระดาษฝรั่ง ที่ถูกเผยแพร่จนเข้าใจว่าส่งผลอย่างสำคัญต่อความทรงจำของผู้คนได้ในระดับหนึ่ง การให้ชื่อว่า “ฉบับกระดาษฝรั่ง” ด้วยว่าสำนวนนี้ถูกคัดมาจากหนังสือกระดาษฝรั่งเขียนเส้นหมึกในหอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งคัดมาจากหนังสือเก่าอีกทอดหนึ่งโดยถ่ายการสะกดคำตามต้นฉบับ ตำนานพระธาตุฉบับนี้ถูกพิมพ์ออกเผยแพร่หลายครั้ง ส่วนครั้งที่จะชวนอ่านและทบทวนเป็นฉบับที่คัดมาจากหนังสือรวมเรื่องเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๕ โดยการแบ่งเป็นตอนในต่อไปนี้ ไม่ได้มีหลักการใด เป็นเพียงเพื่อให้ง่ายต่อการอ่านก็เท่านั้น ส่วนการสะกดคำก็ยืนตามแบบของต้นฉบับดังกล่าวทุกประการ

ตอนที่ ๑

อาทิเดิมยังมีเมืองหนึ่งชื่อทนทบุรี เจ้าเมืองชื่อท้าวโกสีหราช มีพระอรรคมเหสีชื่อนางมหาเทวี มีพระราชบุตรีผู้พี่ชื่อนางเหมชาลา  ชายชื่อเจ้าทนทกุมาร และยังมีเมืองหนึ่งชื่อเมืองชนทบุรี อยู่ข้างฝ่ายทักษิณทิศ เจ้าเมืองชื่อท้าวอังกุศราช พระอรรคมเหสีชื่อว่าจันทเทวีและท้าวอังกุศราชมารบชิงพระทันตธาตุแก่ท้าวโกสีหราช ๆ ก็ขาดหัวช้างเสียเมืองแก่ท้าวอังกุศราช นางเหมชาลากับเจ้าทันตกุมารก็รับเอาพระทันตธาตุลงสำเภาไปเมืองลังกาเกิดลมร้ายสำเภาแตก เจ้าทันตกุมารกับนางเหมชาลาก็พาพระทันตธาตุ ซัดขึ้นที่หาดซ้ายแก้วชเลรอย ก็เอาพระธาตุฝังไว้ที่หาดทราย แล้วก็เข้าเร้นอยู่ในที่ลับ.

ยังมีพระอรหันต์องค์หนึ่ง ชื่อพระมหาเถรพรหมเทพ มาโดยนภากาศเห็นรัศมีพระธาตุช่วงโชตชนาการขึ้น พระมหาเถรก็ลงนมัศการพระธาตุ นางเหมชาลากับเจ้าทันตกุมารก็เล่าความแก่พระมหาเถร เหมือนกล่าวมาแล้วแต่หลัง และพระมหาเถรทำนายว่าในหาดทรายชเลรอยนี้เบื้องหน้ายังมีพระยาองค์หนึ่งชื่อพระยาศรีธรรมาโศกราชจะมาตั้งเป็นเมืองใหญ่ แล้วจะก่อพระมหาธาตุสูงได้ ๓๗ วา แล้วพระมหาเถรสั่งเจ้าสองพี่น้องไว้ ว่ามีทุกข์สิ่งใดให้เจ้าลำนึกถึงพระองค์ ว่าเท่านั้นแล้วพระมหาเถรก็กลับไป.

เจ้ากุมารทั้งสองก็พาพระธาตุนั้นไป ครั้นถึงท่าเมืองตรังก็โดยสารสำเภาไป ถึงกลางทเลใหญ่ ก็เกิดอัศจรรย์ใช้ใบสำเภาไปมิได้ ชาวสำเภาก็ชวนกันว่า เจ้าทั้งสองนี้ลงโดยสารสำเภาจึงเกิดอัศจรรย์ขึ้น และว่าจะฆ่าเจ้าทั้งสองนั้นเสีย เจ้าทั้งสองก็ลำนึกถึงพระมหาเถร ๆ ก็นิฤมิตเป็นครุทธ์ปีกประมาณข้างละ ๓๐๐ วา เสด็จมาในอากาศอัศจรรย์ก็หาย และพระมหาเถรบอกแก่ชาวสำเภาว่า พระญานาคพาบริวารขึ้นมานมัศการพระธาตุจึงเกิดอัศจรรย์ ว่าเท่านั้นแล้วพระมหาเถรก็เสด็จไป นายสำเภาก็ใช้ใบไปถึงเมืองลังกาทวีป เจ้าลังกาก็รับพระธาตุขึ้นไว้บนปราสาทแล้ว จึ่งตรัสภามเจ้าสองพี่น้องว่าจะกลับไปเมืองทนทบุรีเล่า เจ้าลังกาก็ให้แต่งสำเภาให้เจ้าสองพี่น้อง แล้วบรรทุกของให้เต็มสำเภา แล้วจึ่งแต่งราชสารไปถึงเจ้าเมืองทนทบุรี ว่าเป็นบุตร์ท้าวโกสีหราช ซึ่งทิวงคตในการสงครามนั้นกลับมาอยู่ในเมืองทนทบุรีเล่า อย่าให้ท้าวอังกุศราชทำอันตรายแก่เจ้าสองพี่น้อง ถ้าท้าวอังกุศราชทำอันตรายแก่เจ้าสองพี่น้องเห็นว่าเมืองทนทบุรี กับกรุงลังกาจะเป็นศึกแก่กัน แล้วเจ้าลังกาให้มหาพราหมณ์ ๔ คน พาพระบรมธาตุมาทนานหนึ่ง ให้ฝังที่เจ้าสองพี่น้องซ่อนพระทันตธาตุนั้น มหาพราหมณ์กับเจ้าสองพี่น้องก็ใช้สำเภามาถึงหาดทรายแก้ว มหาพราหมณ์ก็แบ่งพระธาตุเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งใส่ผอบแก้วแล้วใส่แม่ขันทองขึ้นฝังที่รอยเจ้าสองพี่น้องฝั่งพระธาตุแต่ก่อน ก่อพระเจดีย์สรวมไว้แล้วผูกภาพยนต์รักษาอยู่ ยังพระธาตุส่วนหนึ่งนั้น มหาพราหมณ์ก็พาไปเมืองทนทบุรี

ตอนที่ ๒

ยังมีเมืองหนึ่งชื่อหงษาวดี มีกำแพงสามชั้นอ้อมสามวันจึ่งรอบเมือง ประตูเมืองมีนาคราชเจ็ดหัวเจ็ดหางมีปราสาทราชมณเฑียร มีพระมหาธาตุ ๓๐๐๐ ยอดใหญ่ ๓๐ ยอด ต่ำซ้ายต่ำขวา กลางสูงสุดหมอก มีพระพุทธรูป ๔๐๐๐ พระองค์ เจ้าเมืองนั้นชื่อพระญาศรีธรรมาโศกราช มีพระอรรคมเหสีชื่อสังขเทพี มีบุตร์ชายสองคนๆ หนึ่งชื่อท้าวเจตราช อายุยืนได้ ๑๐๐ ปี ถัดนั้นชื่อเจ้าพงษ์กระษัตริย์ ยังมีบาคู ๔ คนบำรุงเจ้าเมืองนั้นอยู่ อยู่มาเกิดไข้ยุบลมหายักษ์มาทำอันตราย ไพร่พลล้มตายเป็นอันมาก พระยาก็พาญาติวงษ์และไพร่พลลงสำเภาใช้ใบมาตั้งอยู่ริมชเล.

ยังมีพราน ๘ คนๆ หนึ่งชื่อพรหมสุริยตามเนื้อมาตามริมทเล มาถึงหาดทรายชเลรอบพบแก้วดวงหนึ่งเท่าลูกหมากสง จึ่งพราน ๘ คนเอาแก้วไปถวายแก่พระญาแล้วกราบทูลว่าได้ที่หาดทรายนั้น กว้างยาวมีน้ำอยู่โดยรอบ พระญาก็ให้พรหมสุริยนำบาคูทั้ง ๔ คนมาดูที่นั้น บาคูทั้ง ๔ คนก็เขียนแผนที่นั้นไปถวาย พระญาให้แต่งสำเภาแล้ว จัดคนที่รู้คุณพระพุทธเจ้า ๑๐๐ หนึ่งกับบาคูทั้ง ๔ คน พาแผนที่ภูมิลำเนาไปถวายเจ้าเมืองลังกา ๆ ก็ยินดีหนักหนา จึ่งตรัสถามว่าพระสงฆ์ยังมีฤาหาไม่ บาคูกราบทูลว่าพระสงฆ์เจ้าไม่มี แลเจ้าลังกาว่ายังมีพระสงฆ์องค์หนึ่ง ชื่อพระพุทธคำเภียรเกิดวิวาทกันกับเพื่อนสงฆ์ เจ้าเมืองลังกาขอโทษกันเสีย เจ้ากูไม่ลงให้ก็ให้นิมนต์เจ้ากูไปเถิด พระพุทธคำเภียรก็ลงสำเภามาด้วยบาคูทั้ง ๔ คน ยังมีพระยาศรีธรรมาโศกราช ๆ ก็มีน้ำใจศรัทธาในการกุศลให้เกลี้ยกล่อมผู้คนซึ่งอยู่ดงป่าเข้ามาประชุมกันเป็นอันมาก แล้วพระยาศรีธรรมโศกราช เจ้าพงษ์กระษัตริย์แลพระพุทธคำเภียรบาคูทั้ง ๔ คน ปฤกษากันจะตั้งเมืองหาดทราย แล้วจะก่อพระเจดีย์แลพระพุทธรูปไว้ ครั้นสนทนากันแล้ว พอเกิดไข้ยุบลคนล้มตายเป็นอันมาก พระญากับพระพุทธคำเภียรบาคูทั้ง ๔ คนพาญาติวงษ์ช้างม้าหนีไปอยู่กระหม่อมโคก ณ หาดทรายชเลรอบนั้นแล เมื่อศักราชได้ ๑๐๙๘ ปี พระยาศรีธรรมาโศกราชก็สร้างการลง ณ หาดทรายชเลรอบ เป็นเมืองนครศรีธรรมราชมหานคร แล้วสั่งให้ทำอิฐทำปูนก่อพระธาตุครั้งนั้น แลยังมีพระสิหิงค์ล่องชเลมาแต่เมืองลังกามายังเกาะปินังแลพ้นมาถึงหาดทรายแก้วที่จะก่อพระมหาธาตุนั้น

ตอนที่ ๓

ครั้งนั้นยังมีพระยาธรรมาโศกราชองค์หนึ่ง เป็นเจ้าเมืองมัทยมประเทศ มีพระอรรคมเหษีชื่อนางสันทมิตราให้นักเทษถือราชสารมาถึงพระยาศรีธรรมาโศกราช ในราชสารนั้นว่าพระญาศรีธรรมาโศกราชก่อพระมหาธาตุ ๘๔,๐๐๐ พระองค์ แต่ยังมิได้พระบรมธาตุไปประจุ รู้ความไปว่าพระยาศรีธรรมาโศกราช ก่อพระมหาธาตุองค์หนึ่งสูง ๓๗ วา แล้วยกพระบรมธาตุขึ้นประจุพระบรมธาตุ แลเมืองมัทยมประเทศ พระธาตุ ๘๔,๐๐๐ ยังหาได้พระบรมธาตุไปประจุไม่ จะขอแบ่งพระธาตุไปประจุ ครั้นแจ้งในราชสารนั้นแล้ว พระญาก็ให้นักเทษสั่งสอน บาคูทั้ง ๔ คนเล่าเรียนสวดมนตร์ไหว้พระตามนักเทษเรียนมา แลปฤกษาว่าจะคิดฉันใด ที่จะรู้แห่งพระธาตุจะเอาขึ้นจะได้แจกประจุพระเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ พระองค์ พระญาให้เอาทองเท่าลูกฟักผูกคอม้าป่าวทั่วทั้งเมือง.

ยังมีเถ้าคนหนึ่งอายุได้ ๑๒๐ ปีว่ารู้แห่ง อำมาตย์เอาทองส่งให้แล้วเกาะตัวผู้เฒ่านั้นมาทูลแก่พระญา ๆ ก็ถามผู้เถ้ากราบทูลว่าเมื่อตัวข้าพเจ้ายังน้อย บิดาของข้าพเจ้าได้เอาดอกไม้ไปถวายที่นั้น พระญาก็ให้นำไปขุดลง พบพระเจดีย์มีภาพยนตร์รักษาอยู่เอาขึ้นมิได้ พระญาก็ให้นำเอาทองเท่าลูกฟักแขวนคอม้า ไปป่าวหาผู้รู้แก้ภาพยนตร์.

ครั้งนั้นยังมีบุรุษผู้หนึ่งชื่อนายจันที แลบิดานั้นไปเรียนศิลปะวิชชาเมืองโรมพิไสย ครั้นได้แล้วเอาน้ำหมึกสักไว้ที่ลำขาแล้วกลับมา พระอาจาริย์ใช้ภาพยนตร์มาตัดศีศะเอาไป อักษรอันนั้นข้าพเจ้าเขียนเรียนไว้ อำมาตย์ก็เอาทองให้แล้วพาตัวบุรุษมา พระญาก็ให้แก้ภาพยนตร์ จึ่งร้อนขึ้นไปถึงพระอินทร์ ๆ ก็ใช้พระวิศณุกรรมมายกพระธษตุขึ้น พระญาก็ปันไปเมืองมัทยมประเทศตามมีตรามาขอนั้น จึ่งพระวิศณุกรรมช่วยพระญาก่อพระเจดีย์ประจุพระบรมธาตุนั้นไว้ แล้วตั้งเมืองสิบสองนักษัตร์ขึ้นแก่เมืองนครศรีธรรมราช ปีชวดตั้งเมืองสายถือตราหนูหนึ่ง ปีฉลูเมืองตานีถือตราโคหนึ่ง ปีขาลเมืองกะลันตันถือตราเสือหนึ่ง ปีเถาะเมืองปาหังถือตรากะต่ายหนึ่ง ปีมะโรงเมืองไทรบุรีถือตรางูใหญ่หนึ่ง ปีมะเส็งเมืองพัทลุงถือตรางูเล็กหนึ่ง ปีมะเมียเมืองตรังถือตราม้าหนึ่ง ปีมะแมเมืองชุมพรถือตราแพะหนึ่ง ปีวอกเมืองบันท้ายสมอถือตราลิงหนึ่ง ปีระกาเมืองอุเลาถือตราไก่หนึ่ง ปีจอเมืองตะกั่วป่าถือตราสุนัขหนึ่ง ปีกุนเมืองกระถือตราหมูหนึ่ง เข้ากัน ๑๒ เมืองมาช่วยทำอิฐปูนก่อพระมหาธาตุขึ้นยังหาสำเร็จไม่ ภอไข้ห่าลงพระญาก็พาญาติวงษ์ลงสำเภาหนี ใช้ใบถึงกลางชเลผู้คนตายสิ้น เมืองนั้นก็ร้างอยู่ครั้งหนึ่ง

ตอนที่ ๔

เมื่อศักราชได้ ๑๑๙๖ ปี ยังมีพระญาองค์หนึ่งชื่อพระญาศรีไสณรงมาแต่ฝ่ายตะวันตก นางอรรคมเหษีชื่อนางจันทาเทวี น้องชายคนหนึ่งชื่อเจ้าธรรมกระษัตริย์ ได้เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช แลพระสิหิงค์มาประทักษิณพระธาตุแล้วอยู่ ๗ วันก็จากเมืองนครไปเมืองเชียงใหม่ พระยาศรีไสณรงถึงแก่กรรม ท้าวธรรมกระษัตริย์ผู้น้องได้เป็นเจ้าเมืองนั้น เมื่อศักราชได้ ๑๑๙๘ ปี ท้าวธรรมกระษัตริย์ถึงแก่ความตาย.

ยังมีพระญาองค์หนึ่งชื่อท้าวศรีธรรมาโศกราช เป็นเจ้าเมืองอินทปัตบุรีย์ น้องชายชื่อท้าวจันทภานู ๑ ชื่อท้าวพงษ์สุรา ๑ พาญาติวงษ์ไพร่พลช้างม้าหนีไข้ห่า ดั้นดงมาช้านานประมาณได้ ๘-๙ ปี มาถึงหาดทรายแก้วพบพรมสุริยทำไร่อยู่ นายเทียนบัณฑิตเป็นชีอยู่คนหนึ่ง แลพลพระยาศรีธรรมาโศกราชยกมาแต่อินทปัตนั้น ๓๐,๐๐๐ เกนตั้งค่ายลงมั่นแล้วเกนทำนาทำไร่ แลเกนทำอิฐปูนก่อกำแพงเมืองรอบแล้วก่อพระมหาธาตุขึ้นตามพระญาศรีธรรมาโศกราชทำไว้แต่ก่อน.

ครั้งนั้นยังมีผขาวอริยพงษ์อยู่เมืองหงษาวดีกับคน ๑๐๐ หนึ่ง พาพระบตไปถวายพระบาทในเมืองลังกา ต้องลมร้ายสำเภาแตกซัดขึ้นปากพนัง พระบตซัดขึ้นปากพนังชาวปากน้ำพาขึ้นมาถวาย สั่งให้เอาพระบตกางไว้ที่ท้องพระโรง แลผขาวอินทพงษ์กับคน ๑๐ คนซัดขึ้นปากพูนเดินตามริมชเล มาถึงปากพน้ำพระญาน้อยชาวปากน้ำพาตัวมาเฝ้า ผขาวเห็นพระบตผขาวก็ร้องไห้ พระญาก็ถามผขาว ๆ ก็เล่าความแต่ต้นแรกมานั้น แลพระญาก็ให้แต่งสำเภาให้ผขาวไปเมืองหงษาวดีนิมนตพระสงฆ์ ผขาวก็ลงสำเภาไปนิมนต์พระสงฆ์มา ๒ พระองค์ องค์หนึ่งชื่อมหาปเรียนทศศรี องค์หนึ่งชื่อมหาเถรสัจจจานุเทพฝ่ายนักเรียนทั้งสองพระองค์มาทำพระธาตุลงปูนเสร็จแล้วพระญาให้แต่งสำเภาไปนิมนต์พระสงฆ์เมืองลังกามาเสกพระมหาธาตุ

ตอนที่ ๕ 

ครั้งนั้นยังมีสำเภาลำหนึ่งซัดขึ้นปากน้ำพระญาน้อย ในสำเภานั้นมีแต่ศรีผึ้งกับกะแชงเต็มลำสำเภาแต่คนไม่มี พระยาก็ให้เอากะแชงมามุงรอบพระมหาธาตุ ศรีผึ้งนั้นให้ฝั้นเทียนสิ้น แล้วมีตราไปถึงเมืองขึ้นทั้ง ๑๒ นักษัตร์มาทำบุญฉลองพระธาตุ จึ่งปรากฏไปถึงท้าวพิไชยเทพเชียงภวา ผู้เป็นบิดาท้าวอู่ทองเจ้ากรุงศรีอยุธยา ท้าวอู่ทองยกไพร่พลยี่สิบแสนเจ็ดพันสามร้อย มาตั้งอยู่แม่น้ำแห่งหนึ่ง มีพระราชสารมาถึงพระญาศรีธรรมาโศกราช ๆ ก็จัดเอาพลเมืองได้ยี่สิบแสนเจ็ดพันสามร้อยเท่ากับพลท้าวอู่ทอง ยกไปตั้งทำเกเร ท้าวอู่ทองยกไปตั้งบางตภารทำเพหารอารามไปทุกแห่งจนถึงบางตพาร แลทหารทัพหน้าทั้งสองฝ่ายรบกัน ไพร่พลทั้งสองฝ่ายล้มตายเป็นอันมาก พระญาศรีธรรมาโศกราชดำริหในพระไทย ว่าตัวเรานี้ได้สร้างพระเจดีย์วิหารแลก่อพระพุทธรูปปลูกไม้พระศรีมหาโพธิ แลได้ยกพระมาลิกะเจดีย์ที่เมืองอินทปัตแลทำประตู ๒ ประตูจ้างคนทำวันพันตำลึงทอง แลพระบรรธมองค์หนึ่ง ทำด้วยสำมฤฐยาว ๔ เส้น พระเจดีย์สูงสุดหมอก อิฐยาว ๕ วา หนาวา ๑ พระระเบียงสูง ๑๕ วา ระเบียงสูงเส้นหนึ่ง หนาเสา ๙ ศอก แปย่อมหิน พระนั่งย่อมสำมฤฐ สูงละองค์ ๑๕ วา ตะกั่วดาดท้องพระระเบียงหนา ๖ นิ้ว บนปรางกว้าง ๒ เส้น เหลี่ยมเสาพระเจดีย์กว้างเหลี่ยมละ ๒ เส้น กะไดฉัตรหิน ๙ วา แม่กะไดเหล็กใหญ่ ๔ กำ ลูก ๓ กำ ขึ้นถึงปรางบน หงส์ทอง ๔ ตัวย่อมทองเนื้อแล้ว ๆ มาทำพระมาลิกะเจดีย์ ปลูกพระศรีมหาโพธิแลจำเริญพระมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช แล้วไปนิมนต์พระเมืองลังกา เมืองหงษา มาทำบุญฉลองพระธาตุ ได้จำแนกแจกทานเป็นอันมาก แลทำศึกกันรี้พลล้มตายก็จะเป็นนาระเวรไปเป็นอันมาก จะขอเป็นไมตรีนั่งอาศน์เดียวกันกับท้าวอู่ทอง เมื่อท้าวอู่ทองกับท้าวศรีธรรมาโศกราชจะเป็นไมตรีกันนั้น ท้าวอู่ทองขึ้นบนแท่นแล้ว พระญาศรีธรรมาโศกจะขึ้นไปมิได้ ท้าวอู่ทองก็จูงพระกรขึ้น มงกุฎของพระเจ้าศรีธรรมาโศกตกจากพระเศียร แล้วท้าวศรีธรรมาโศกสัญญาว่า เมื่อตัวพระองค์กับอนุชาของพระองค์ยังอยู่ให้เป็นทองแผ่นเดียวกัน ถ้าท้าวอู่ทองต้องประสงค์สิ่งใดจะจัดแจงให้ นานไปเบื้องหน้าให้มาขึ้นกรุงศรีอยุธยา ฝ่ายท้าวอู่ทองก็รับเป็นไมตรีแก่กันแลท้าวอู่ทองว่า ถ้าท้าวศรีธรรมาโศกราชต้องการสิ่งใดท้าวอู่ทองจะจัดให้มา เจรจาความกันแล้ว ต่างองค์ต่างยกไพร่พลคืนเมือง.

ท้าวศรีธรรมาโศกก็ตั้งอารามก่อพระเจดีย์ ปลูกพระศรีมหาโพธิรายทางมาจนถึงเมืองนคร ตั้งแต่นั้นทั้งสองภาราได้แต่งของบรรณาการตอบแทนกันมิได้ขาดปี เมื่อพระญาศรีธรรมาโศกถึงแก่กรรม เมื่อศักราช ๑๒๐๐ ปี พระญาจันทภานูเป็นเจ้าเมือง พระญาพงษาสุราเป็นพระยาจันทภานู ตั้งฝ่ายทักษิณพระมหาธาตุเป็นเมืองพระเวียง อยู่มาท้าวศรีธรรมาโศกถึงแก่กรรม พระญาจันทภาณูผู้น้องเป็นเจ้าเมือง ครั้งนั้นเจ้าเมืองชวายกไพร่พลมาทางเรือ มารบเอาเมืองมิได้ ชวาก็เอาเงินปรายเข้ากอไม้ไผ่แล้วกลับไป อยู่มาภายหลังชาวเมืองถางไม้ไผ่เก็บเงินชวากลับมารบอีกเล่า เจ้าเมืองแต่งทหารออกรบอยู่แล้วเจ้าเมืองพาญาติวงษ์ออกจากเมืองไปอยู่เขาแดง แลกรมการรบกับชวา ๆ ก็แตกไป ภายหลังชวายกไพร่มาทอดอยู่ ณ ปากน้ำ มีราชสารมาว่าเจ้าเมืองชวาให้เอาลูกสาวมาถวายให้เจ้าเมืองนครลงไปรับ พระญาก็แต่งไพร่พลลงไป ชวาก็จับตัวพระญาได้ นางอรรคมเหสีก็ตามพระญาไปถึงเกาะอันหนึ่งได้ชื่อว่าเกาะนาง โดยครั้งนั้นชวาก็ให้เจ้าเมืองผูกส่วนไข่เป็นแก่ชวา ๆ ก็ให้พระญาคืนมาเป็นเจ้าเมืองอยู่เล่า

.

ตอนที่ ๖

อยู่มายังมีพระมหาเถรองค์หนึ่ง ชื่อสัจจานุเทพ อยู่เมืองนครป่าหมาก รื้อญาติโยมมาอยู่เมืองนครศรีธรรมราชด้วยพระมหาเถรพรหมสุริย ขอที่ตั้งเขตอารามปลูกพระศรีมหาโพธิก่อพระเจดีย์ก่อกำแพงไว้ ให้ญาติโยมรักษาอยู่ตามพระญาอุทิศถวายไว้นั้น ได้ชื่อว่าวัศพเดิม อยู่มาลูกนายเทียนบัณฑิตผิดด้วยข้าสาวของพระญา ๆ ก็ให้จับฆ่าเสีย จึ่งลูกนายเทียนแล่นเข้าในวัศ พระมหาเถรไม่ให้ อยู่มาลูกนายเทียนไปดูงาน พระญารู้ก็ให้คนจับฆ่าเสีย พระมหาเถรรู้ก็เคืองใจ รื้อญาติโยมออกไปก่อพระวิหาร พระพุทธรูป ได้ชื่อว่าวัศหว้าทยาน แล้วไปตั้งอารามอยู่เขาน้อย พระมหาเถรถึงแก่กรรม พระญาก็ขึ้นไปแต่งการศพ ได้ชื่อว่าเขาคุมพนม แล้วพระญาก็คืนเมือง จึ่งพระญาชวาให้มาเอาส่วนไข่เป็ดไข่ไก่โดยพระญาผูกนั้น.

อยู่มายังมีเด็กคนหนึ่งพ่อแม่เข็ญใจอยู่ตำบลบ้านพเตียนเอาลูกใส่เปลไว้ร่มไม้กลางนา มีงูตัวหนึ่งเอาแก้วมาไว้ในเปล พ่อแม่นั้นได้แก้วตั้งชื่อลูกว่าพังพการ ครั้งเด็กโตใหญ่เลี้ยงโคกระบือได้ เด็กทั้งหลายก็มาเล่นด้วยพังพการ ๆ ให้ดาบไม้ภาเขคนละเล่ม วันหนึ่งพังพการชวรพวกเด็กวิดปลาแล้วให้สัญญาแก่กันว่า ถ้าปลาออกหน้าที่ผู้ใดจะตัดหัวเสีย ปลาวิ่งออกหน้าที่เด็กคนหนึ่ง พังพการก็เอาดาบภาเขตัดหัวเด็กนั้นขาดหาย พ่อเด็กไปบอกกรมเมือง ๆ ไปทูลแก่พระญา ๆ ก็เอาเด็กนั้นเป็นบุตร พระญาก็คิดแข็งเมืองกับชวา พระญาก็ให้ขุดคูรอบเมืองพระเวียง พระญาชวาให้มาเอาส่วนไข่พระญาก็ไม่ให้ พระญาชวายกทัพเรือมารบ พระญาก็ให้พังพการเป็นทหารออกรบ พังพการฆ่าพวกชวาเสียสามสิบคนสี่สิบคนทุกวัน พลชวาตายมากนัก แลจะได้เห็นตัวพังพการก็หาไม่ ชวาก็แตกหนีไป พระญาก็แบ่งเมืองให้พังพการฝ่ายหนึ่ง พระยามาถึงแก่กรรมก็เกิดไข้ห่า ชาวเมืองล้มตายหลบไข้ไปอยู่ตรอกห้วยตรอกเขา เมืองก็ร้างอยู่ช้านาน.

ยังมีศรีมหาราชาลูกนายนกกระทาสุรา กับคนทั้งหญิงทั้งชาย ๑๐๐ หนึ่ง มาตั้งอยู่สุดท่าน้ำชื่อว่าเมืองลานตกะ ก็เกิดลูกชื่อพระหล้า ๆ ก็เกิดลูกชื่อศรีมหาราชา เป็นผู้ใหญ่อยู่เมืองลานตกา ยังมีขุนศรีแปดอ้อมแสนเมืองขวางอยู่เมืองสระ มีพรานแปดคนตามเนื้อหลงมาพบพระเจดีย์เดิม จึ่งนายก็คืนไปบอกกับขุนศรีพลแปดอ้อมแสนเมืองขวาง เมืองสระนั้นขึ้นแก่เมืองนครศรีธรรมราชและเมืองสระนั้นเกิดไข้ห่า จึ่งแม่นางแอดรื้อมาตั้งเมืองสระนั้นมาพบเมืองแล้วมาตั้งทุ่งหลวงหรดีเมือง.

ยังมีนายไทยผู้หนึ่งชาวกรุงศรีอยุธยา ใช้เรือมาทอดอยู่ปากน้ำนครศรีธรรมราช นายไทยวางว่าว ๆ นั้นก็ขาด นายไทยตามว่ามาพบพระเจดีย์เดิม แล้วพบเจ้าไทยสององค์ องค์หนึ่งชื่อมหาเถรพุทธสารท องค์หนึ่งชื่อมหาเถรพรหมสุรีย์เที่ยวโคจรมา นายไทยก็เล่าความแก่เจ้าไทย ๆ ให้นำไปดูที่พระเจดีย์เดิม แล้วนายไทยก็ลงเรือไป ภายหลังเจ้าไทยทั้งสองพบพระมหาธาตุทยายลงเทียมพระบรรลังก์ รอยเสือเอาเนื้อขึ้นกินที่นั้น เจ้าไทยก็กลับไปอยู่อารามดังเก่าเล่า

.

ตอนที่ ๗

ยังมีผขาวอริยพงษ์อยู่กรุงศรีอยุธยา ใช้เรือมาทอดอยู่ปากน้ำพระญาแลมาพบเจ้าไทยทั้งสองพระองค์ แลผขาวอริยพงษ์นั้นว่าพบตำราพงษาวดารว่าเมืองนครผู้เถ้าผู้แก่แห่งผขาวมาทำพระมหาธาตุตกอยู่ช้านานแล้ว จึ่งพระมหาเถรบอกว่าเมืองร้างเสียช้านานแล้ว พระมหาธาตุก็ทำลายลงถึงบรรลังก์ ผขาวกับเจ้าไทยก็ชวนกันไปแผ้วถาง แล้วจดหมายกว้างยาวบรรลังก์พระมหาธาตุ แลพระพุทธรูปพระเจดีย์แลจังหวัดกำแพงเมือง แล้วผขาวอริยพงษ์ก็ลงเรือไปกรุงศรีอยุธยา นำเอาเรื่องราวขึ้นถวายพระเจ้าอยู่หัว ๆ รับสั่งให้นิมนต์ปเรียนทศศรีชาวหงษาวดี ซึ่งมาอยู่กรุงศรีอยุธยา มหาปเรียนทศศรีออกมากับนายแวงจำพระบรรทูล มาด้วยมหาปเรียน แล้วมีตรามาให้นิมนต์พระสงฆ์มาช่วยแต่งพระบรมธาตุ แลพระสงฆ์ทั้งหลายรื้อญาติโยมมารักษาพระบรมธาตุ ฟังพระบรรทูลแล้วกลับไปรื้อญาติโยม จึ่งนิมนต์พระมหาเถรสุทธิชาติพงษ์รื้อญาติโยมมาแต่ขนอม นายผ่องหัวพันคุมไพร่ส่วย พันไกรพลดานมาสร้างวัศมังคุด มหาเถรเหมรังศรีรื้อญาติโยมมาแต่โองตพานสร้างวัศขนุน นิมนต์มหาเถรเพชรมาแต่ยายคลังรื้อญาติโยมไพร่ส่วยพันศรีชนา มาสร้างวัศจันทเมาลี พระมหาเถรมังคลาจารรื้อญาติโยมมาแต่กุฎีหลวง สร้างวัศหรดีพระธาตุ พระมหาเถรโชติบาลมาแต่ปัตโวกเขาพระบาทกับนายมันทสุริชนาสร้างวัศอาคเณพระธาตุ พระมหาเถรอุนุรุทธ์รื้อญาติโยมมาแต่ยศโสทรสร้างวัดประดู่ พระมหาเถรพงษารื้อญาติโยมมาแต่เพชรบุรีย สร้างวัศตโนดพายัพพระมหาธาตุ จึ่งมหาปเรียนทศศรี ปลูกกุฎีอยู่พายัพพระมหาธาตุ จึ่งพระมหาเถรมงคลเอาไม้ศรีมหาโพธิใส่อ่างทองคำลงเรือสำเภารื้อญาติโยมมาแต่เมืองลังกา สร้างวัศพลับปลูกพระศรีมหาโพธิ ฝ่ายอุดรพระมหาธาตุปลูกลงทั้งอ่างทอง แล้วก่ออาศน์ล้อมรอบก่อพระพุทธรูปสามด้าน ฝ่ายปัจจิมก่อพระบรรธมองค์หนึ่งพระระเบียงรอบ ๒๘ ห้องชื่อว่าพระโพธิมณเฑียร จึ่งมหาปเรียนทศศรีแลผขาวอริยพงษ์นายแวงนิมนต์พระมหาเถรพุทธสาครวัศพระเดิมเป็นป่าแก้วตามพระบรรทูล พระเจ้าอยู่หัวให้นางแม่เรือนหลวงรับพระพุทธรูปมาใส่บาตรต่าง แลมีตราออกมาให้แม่เจ้าเรือนหลวง ๔๐ หัวงานเป็นข้าพระราชทานพระกันปัญญา จึ่งพระสงฆ์ทั้งหลายกับพระศรีมหาราชาเจ้าเมืองลานตกา ก็ชักชวนคนช่องห้วยช่องเขาออกมาแต่งพระมหาธาตุแต่ยอดลงมาถึงบรรลังก์ แล้วทำการฉลองพระธาตุ พระศรีมหาราชาสร้างวัดหรดีพระธาตุ พระมหาเถรมงคลประชาออกมาแต่กรุงศรีอยุธยา พระศรีมหาราชานิมนต์ให้อยู่อารามนั้น ๆ ชื่อกะดีจีนเก้าห้อง พระศรีมหาราชาก่อชุกชีแลวิหารแล้ว พระศรีมหาราชาถึงแก่กรรม ขุนอินทาราผู้ลูกกินเมืองลานตกาอยู่ เมียขุนอินทาราชื่อนางเอื่อย ลูกชายชื่อนายศรี ลูกหญิงชื่อนางราม มีพระราชโองการออกมาว่าให้ขุนอินทาราแต่งลูกเข้าไปถวาย ขุนอินทาราแต่งลูกหมอช้างเข้าไปแทน หมอช้างก็ตามลูกเข้าไปด้วย หมอช้างให้กราบทูลว่า ขุนอินทาราหาเอาลูกสาวเข้ามาถวายไม่ โปรดให้ข้าหลวงออกมาสืบ ๆ สมตามถ้อยคำหมอช้างกราบทูล จึ่งให้เอาขุนอินทาราไปตีเสียที่ประตูท่าชี แล้วเอาลูกเอาเมียผู้คนเข้าไปเป็นข้าหลวง นายศรีธนูลูกขุนอินทารานั้น โปรดให้เป็นนายศรีทนู ตั้งแต่นั้นมาเมืองนครศรีธรรมราชก็อันตรธานเป็นช้านาน หาผู้กินเมืองมิได้

ตอนที่ ๘

เมื่อศักราชได้ ๑๘๑๕ ปี มีพระโองการให้นายศรีทนูออกมากินเมืองนครศรีธรรมราช จึ่งมหาปเรียนทศศรีแลพระสงฆ์ทั้งหลาย ทำเรื่องราวให้ผขาวอริยพงษ์กับนายแวงเอาเข้าไปถวาย มีรับสั่งให้นายช่างเอาทองแดงหล่อยอดพระมหาธาตุปิดทองเต็มแล้ว ให้ผขาวอริยพงษ์รับออกมา ตรัสให้นายสามราชหงษ์ออกมาทำสารบาญชี ญาติโยมพระสงฆ์ทั้งปวง ให้ขาดจากส่วนจากอากรจากอาณาประชาบาล ให้เป็นเชิงเป็นตระกูลข้าพระ นายสามราชหงษ์ทำบาญชีข้าพระโยมสงฆ์ทั้งปวงอันรอมาอยู่นั้นทำพระระเบียงล้อมพระธาตุแล้วทำกำแพงล้อมพระระเบียงทั้งสี่ด้านแล้วทำที่พระห้องพระระเบียงให้แก่พระสงฆ์ผู้ต้องพระราชนิมนต์นั้น ได้แก่ มหามงคลแต่มุมอิสาน ๑๕ ห้อง ได้แก่โชติบาล ๑๒ ห้อง ข้างพระตูเหมรังศรีถึงธรรมศาลา แต่นั้นไปได้แก่มหาเถรสุทธิพงษ์ ๑๕ ห้องถึงมุมอาคเณ แต่นั้นไปได้แก่พระสังฆเถรเพ็ช ๑๗ ห้อง ได้แก่ขุนไชยกุมารเจ้าเมืองบันท้ายสมอพระประทานห้องหนึ่ง ได้แก่พระมหาเถรสรรเพ็ช ๖ ห้อง ได้แก่พระธรรมกัลญาณ ๙ ห้องถึงมุมหรดี แต่นั้นไปได้แก่ศรีสุดานเจ้าเมืองไทร ๕ ห้อง ได้แก่มหาเถรนั้นห้อง ๑ ได้แก่มหาเถรมังคลาจาร ๒ ห้อง ได้แก่นนทสารีย์ ๑๐ ห้องทั้งประตูด้วย ได้แก่นางชีแก้วห้อง ๑ ได้แก่พระยามิตร ๓ ห้อง ได้แก่ขุนไชยสุราเจ้าเมืองสาย ๔ ห้อง ได้แก่ราชาศรีเทวาเจ้าเมืองกะลันตัน ๖ ห้อง ได้แก่ขุนศรีพลแปดอ้อมแสนเมืองขวางเจ้าเมืองสระ ๔ ห้อง ได้แก่แม่นางอั่วทองนายรามสักส่วนพฤทธิบาท ๘ ห้องถึงมุมพายัพ แต่นั้นไปได้แก่ขุนแปดสระ เจ้าเมืองตรัง ๕ ห้อง ได้แก่ราชาพัทธยาเจ้าเมืองพัทลุง ๖ ห้อง ได้แก่ขุนจุลาเจ้าเมืองละงูห้อง ๑ ได้แก่ราชรัดหัวเมืองไสย ขุนอินทาราเจ้าเมืองเข้าด้วยห้อง ๑ ได้แก่นายสำเภาเสมียนขุนอินทาราเข้าด้วย ๓ ห้อง ได้แก่นายญีน้อยหัวพันส่วย ๒ ห้อง ได้แก่นายจอมศรี นายน้อยยอดม่วงห้อง ๑ ได้แก่นายดำหัวปากห้อง ๑ ได้แก่นางเจ้าเรือนหลวงห้อง ๑ ได้แก่มหาปเรียนทศศรีผขาวอริยพงษ์นายพุทธศร ๑๐ ห้อง ได้แก่มหาเถรอนุรุทธ ๓ ห้อง ได้แก่ขุนคลองพล ๓ ห้องถึงมุมอิสานเข้ากัน ๑๖๕ ห้อง พระพุทธรูป ๑๖๕ พระองค์.

แลจึ่งมหาปเรียนทศศรีแลพระสงฆ์ทั้งหลาย แลผขาวอริยพงษ์แลนายสามราชหงส์ ก็ให้วัดกำแพงรอบพระระเบียงทั้งสี่ด้านให้แก่พระสงฆ์ทั้งทั้งปวง กำแพงฝ่ายบูรรพ์ ๔ เส้น ๑๓ วา แต่มุมอิสานไปได้แก่พงไพลโพธิมณเฑียร เส้น ๖ วา ได้แก่นายรัตนในโชติบาลเส้น ๔ วา ได้แก่นายรัดมหาเถรเหมรังศรีถึงพระธรรมาศาลา ๙ วา ได้แก่มหาเถรสุทธิชาติพงษ์วัศมังคุด ๑๙ วา ได้แก่เพหารหลวง ๙ วาจนมุมอาคเณ ด้านทักษิณได้แก่สังฆเถรเพ็ชเส้น ๒ วา ได้แก่เจ้าเมืองบันทายสมอ ๙ วา ได้แก่มหาเถรสรรเพ็ช ๑๙ วา ได้แก่มหาเถรธรรมกัลยาเส้น ๒ วา จนมุมหรดี ด้านปัจฉิมได้แก่เพหารหลวง ๘ วา ได้แก่ศรีสุดานเจ้าเมืองไทร ๙ วา ได้แก่มหาเถรราชเสนา ๕ วา ได้แก่มหาเถร ๒ วาได้แก่มหาเถรมังคลาจาร ๔ วาได้แก่มหานนทสาริย ๑๙ วา ได้แก่กัลยามิตร ๑๒ วาทั้งประตูด้วย ได้แก่ขุนไชยสุรา ๙ วาประตูข้างหนึ่งด้วย ได้แก่ราชาศรีเทวาเจ้าเมืองกะลันตัน ๙ วา ได้แก่ขุนศรีพลแปดอ้อม แสนเมืองขวางเจ้าเมืองสระ ๙ วา ได้แก่อั่วทองนายรามส่วนพฤทธิบาท ๑๒ วาจนมุมพายัพ แต่ด้านอุดรไปได้แก่ขุนแปดสันเจ้าเมืองตรัง ๘ วา ได้แก่ราชาพัทธยาเจ้าเมืองพัทลุง ๑๐ วา ได้แก่ขุนจุลาเจ้าเมืองลงู ๘ วา ได้แก่นายญีน้อยหัวปากส่วย ๔ วา ได้แก่นายจอมศรีนายน้อยยอดม่วง ๒ วา ได้แก่นายดำหัวปากส่วย ๒ วา ได้แก่นางแม่เจ้าเรือนหลวง ขุนอินทาราช่วยด้วย ๕ วา ได้แก่มหาเถรอนุรุทธ ๙ วา ได้แก่ขุนคลองพล ๔ วาจนมุมอิสาน เข้ากันทั้งสี่ด้านเป็นกำแพงเท่านี้ ๑๗ เส้นกับวาหนึ่ง

ตอนที่ ๙

จึ่งพระสงฆ์ทั้งหลายร้องฟ้องว่าจะขอที่ภูมิมีสัตไว้สำหรับญาติโยมทำเป็นนาจังหันสำหรับอาราม สำหรับพระระเบียง จึ่งขุนอินทาราและพระสงฆ์ทั้งหลาย ก็ทำกระบวนให้นายสามราชหงษ์แลผขาวอริยพงษ์เข้าไปถวาย จึ่งมีพระบรรทูลตรัสให้หาขุนอินทาราแลพระสงฆ์เข้าไป จึ่งขุนอินทาราแลพระสงฆ์เข้าไป จึ่งมีพระบรรทูลตรัสให้ขุนรัตนากร คุมคนสามร้อยมารั้งเมืองนครศรีธรรมราช จึ่งมีพระบรรทูลตรัสให้ขุนอินทาราเป็นศรีมหาราชา ศรีมหาราชาก็ทูลด้วยกิจพระสาสนาแลพระสงฆ์ให้เจ้าคณะ ถวายขบวนแลปาญชีพระสงฆ์ทั้งหลาย ก็ทูลด้วยที่ภูมิมีสัตขอให้ญาติโยมพระสงฆ์ทั้งหลาย แลมีพระบรรทูลให้นายสามจอมจำพระบรรทูลออกมาด้วย ศรีมหาราชาให้ทำสารบาญชีที่ภูมิมีสัตทั้งสองฝ่ายชเลแดนไว้แก่พระสงฆ์เจ้าให้ญาติสร้างสวนไร่นาดินป่า สำหรับพระห้องพระระเบียงและพระสงฆ์เมื่อมหาศักราชได้ ๑๕๕๐ ปีนั้น จึ่งศรีมหาราชาแลนายสามจอมแจกดินป่า ณ หัวปากนายคำ ให้แก่พระมหาธาตุเจ้า ๑๕๐ เส้น ฝ่ายบูรรพ์ให้อำแดงสาขาพยาบาล ๙ เส้น แลให้นายศรีรักพยาบาล ๕ เส้น ริ้วหนึ่งเป็นนาจังหันวัดให้แก่นายทองไสหัวปาก ในโพธิมณเฑียร วัดให้พระกัลปนา เป็นนาจังหันในหัวสิบหมวดนายทองไสยพยาบาล ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่พระเดิม แลมหาเถรพุทธสาคร บัณฑิตเพียนพยาบาล ตำบลสตกเมือง เป็นนา ๒,๐๙๙ กะบิ้ง ให้วัดภูมิมีสัต ให้แก่พระระเบียงมหาเถรสุทธิชาติพงษ์วัดภูมิมีสัต ให้แก่พระมหาเถรเหมรังศรี ให้นายแพงนายวัวพยาบาล อำแดงทาน้องมหาเถรเหมรังศรี สร้างเป็นนาจังหัน ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่มหาปเรียนทศศรีสำหรับพระระเบียง ๑๐ ห้อง ให้นายพุทธศรพยาบาลฝ่ายทักษิณต่อแดนด้วยพระธรรมศาลา ฝ่ายตวันออกต่อแดนด้วยพระกัลปนาฝ่ายตะวันตกทลาหลวง ฝ่ายสตีนแม่น้ำเป็นแดน เป็นนา ๑๑ เส้น กับริ้วหนึ่ง แลฝังศิลาไว้เป็นแดนทั้งสี่ทิศ ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่อุโบสถ ๖ เส้น ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่มหาเถรสังฆเถรเพ็ช เป็นนาจังหันตำบลปัจฉิมหรดี เมืองนาขวางเจ็ดริ้ว ให้แก่พระธรรมศาลาเป็นนา ๘ เส้น เป็นนาจังหันมหาเถรเหมรังศรีตำบลท่ากะสัง ให้แก่มหาสังฆเถรเพ็ชตำบลท่าชาก เป็นนาจังหันเข้าพระเป็นนา ๑๗ เส้น ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่นายน้อยทองสุก ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่พงไพลตำบลโพธิมณเฑียร ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่มหาเถรโชติบาลให้นายรัดพงษ์พญา ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่พระเดิม เป็นนาจังหันพระมหาเถรพุทธสาคร ตำบลตรอกเมืองเป็นนา ๑๑ เส้นกับริ้วหนึ่ง ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่พระระเบียง เป็นนาจังหันพระมหาเถรธรรมราชแลมหาเถรเพ็ช ให้วัดภูมิมีสัตให้เป็นนาเชิงคดีเป็นนา ๒ เส้น ฝ่ายอาคเณเมืองเป็นนาเชิงคดีสงฆ์ให้เจ้าคณะ ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่พระระเบียง เป็นนาจังหันพระมหาเถรธรรมกัลยา ให้บาคูรัดพยาบาล

.

ตอนที่ ๑๐

แลศรีมหาราแลนายสามจอมวัดที่ภูมิมีสัตให้แก่ ทั้งนี้ให้ญาติทั้งปวงพยาบาล แลให้พระยาคำแพงแลพระระเบียงทั้งนั้นด้วยแล้ว แลให้ขุนศรีพลเอาเชิงกุฎี ในวัดพระคูหาวัดลำพูนฉวางเมืองสระให้เอาจากมามุงพระธรรมศาลา ให้มหาเถรเหมรังศรีรักษา แลพระมหาเถรเหมรังศรีก็ร้องฟ้องว่านาซึ่งแจกนั้นน้อยนัก แลจะขอดินป่าตำบลบางนำเดิมนาตะโหนอีกเล่า จึ่งศรีมหาราชาแลนายสามจอมให้นายรัดปลัดศรีมหาราชาไปวัดดินป่า แลบางน้ำเดิมนาตะโหนอีกเล่า ให้แก่มหาเถรเหมรังศรี ๆ ก็ให้นายวัวอำแดงราอำแดงทา น้องมหาเถรเหมรังศรีสร้างเป็นนากำนันห้องแล้ว อำแดงเอื่อยให้แก่นายไส พี่พระมหาเถรเหมรังศรี ข้างหัวนอนอำแดงหราสร้างนั้นให้วัดภูมิมีสัตให้แก่อำแดงสัง สร้างเป็นนาจังหันพระเจดีย์ แล้วให้วัดภูมิมีสัตให้นายอุนจังหันเป็นนาพระกัลปนา ให้วัดภูมิมีสัตให้นายสามบุรักแลอำแดงใหม่รักษา ให้วัดภูมิมีสัตให้นายแผ่นหนาพระกัลปนา ให้วัดภูมิมีสัตให้มหาเถรเหมรังศรีให้นางเพงสร้างเป็นนาจังหัน ให้วัดภูมิมีสัตให้ในกัลปนาในหัวสิบนายหมู่สร้างเป็นนาจังหัน ๙ เส้น ๓ หมวดเป็นนาจังหันเจ้าคณะ แล้ววัดภูมิมีสัตตำบลท่าชี ให้แก่พระธรรมศาลา ให้นายอินสร้างเป็นนาเข้าพระแลจังหันพระมหาเถรเหมรังศรี ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่นายสามเพ็ชนายงัวด้วง อำแดงเอื่อยอำแดงบุนนองสร้างคลองแจระ เป็นนาจังหันสำหรับพระธรรมศาลา มหาเถรเหมรังศรี ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่นายอุ่นนายดำศรีสร้างตำบลพระกระเสด เป็นนาจังหันมหาเถรเหมรังศรี ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่ชาวลางตีนสร้างตำบลลมุ ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่มหาเถรมังคลาจาร แลมหาเถรนนทสารีย์สร้างตำบลยวนกระแลบทะ ให้นายเกิดสร้างพยาบาลสำหรับพระระเบียง ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่นายพุทธสรแลผขาวอริยพงษ์ตำบลพะเตียน สร้างเป็นนาจังหันปเรียนทศศรี ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่นายพุทธสรแลผขาวอริยพงษ์ สร้างตำบลท่าชี ๓ ริ้วเป็นนามหาปเรียนทศศรี ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่นายพุทธสรตำบลพายัพเมือง สร้างเป็นนาจังหันมหาปเรียนทศศรี ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่มหาเถรเพ็ช ตำบลท่าชีสร้างสำหรับพระระเบียง ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่นายคำสร้างตำบลฉลง ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่นายเทพตำบลพะเตียน สำหรับพระธรรมศาลา แลมหาปเรียนทศศรีเหมรังศรี ทั้งนี้ย่อมศรีมหาราชาแลนายสามจอมแจกดินป่าให้ทุกสังกัดทุกหมู่ จึ่งศรีมหาราชาแลนายสามจอมแจกทำบาญชีที่เชิงกุฎีวัดให้แก่แม่นางเจ้าเรือนหลวง แลหัวสิบชาวปทารพระกัลปนา แลวัดให้ผู้ครองเพณีแลพระสงฆ์อันขึ้นแก่เจ้าคณะแลพระสงฆ์ วัดนอกวัดเสศนารายทั้งหลายให้ทุกตำบลตามพระบรรทูลแล้ว ให้นายสามจอมเข้าไปถวายบังคม แล้วขบวนพระมหาธาตุและพระระเบียง แลโพธิมณเฑียรแลพระเดิมแลอาราม แลบาญชีแลญาติพระสงฆ์ แลที่ภูมิมีสัตทั้งปวง แลนายสามจอมทูลด้วยพระเจดีย์แลพระเพหาร แลขอประดิษฐานผู้คน แลญาติไว้เป็นข้าพระแลขอที่ภูมิมีสัต จึ่งมีพระราชโองการอนุโมทนาด้วยนายสามจอม จึ่งให้นายแวงจำพระบรรทูลไปมอบที่ภูมิมีสัต แลข้าพระไว้สำหรับพระนั้น แลห้ามราชการทั้งปวงนั้น มีพระราชโองการไว้สำหรับพระแลนายสามจอมได้ที่ภูมิมีสัตตำบลบ้านสนได้พระระเบียงได้กำแพงล้อมพระมหาธาตุด้วย แล้วพระศรีมหาราชาสร้างพระวิหารฝ่ายทักษิณพระมหาธาตุ แลก่อพระเจดีย์เพหารสูง ๗ วาปิดทองลงถึงอาศน์ ก่อพระพุทธรูปทั้งสี่ด้าน ๆ ละแปดพระองค์ เข้ากัน ๓๒ พระองค์ พระพุทธรูปประธานด้านละองค์เป็นพระ ๓๖ พระองค์ ได้ชื่อพระวิหารหลวง และพระมหาเถรเหมรังศรีสร้างพระธรรมศาลา ขุนศรีพบแปดอ้อมแสนเมืองขวาง เอาเชิงกุฎีวัศคูหาวัศฉวางวัศลำพูน เอาจากมามุงพระธรรมศาลา

ตอนที่ ๑๑

อยู่มาพระศรีมหาราชาถึงแก่กรรม ศักราช ๑๘๖๑ ปี โปรดให้ข้าหลวงออกมา เป็นศรีมหาราชาแต่งพระธรรมศาลา ทำระเบียงล้อมพระมหาธาตุ และก่อพระเจดีย์วัศสภ มีพระบัณฑูรให้พระศรีมหาราชาไปรับเมืองลานตกา ศรีมหาราชาถึงแก่กรรมเอาศพมาไว้วัศศภ แล้วเอามาก่อเจดีย์ไว้ในพระเดิม ๙ ยอด.

เมื่อศักราชได้ ๑๙๑๙ ปี โปรดให้หลวงศรีวราวงษมาเป็นเจ้าเมืองมาทำวิหารฝ่ายอุดรพระธาตุ ทักษิณพระโพธิมณเฑียร ก่อพระสูง ๗ ศอก หล่อพระสำมฤฐองค์หนึ่งไว้ปัจจิม เมียหล่อองค์หนึ่งไว้ฝ่ายบูรรพ์ชื่อว่าเพหารเขียน แล้วอุทิศข้าหญิงชายไร่นาไว้สำหรับรักษาพระ โปรดให้หลวงพิเรนทรเทพมาเป็นเจ้าเมือง พระทิพราชาน้องพระญาสุพรรณเป็นปลัด ศึกอารู้ยกมาตีเมืองแล้วไปตีเมืองพัทลุงได้ ทิพราชาเป็นแม่ทัพไปตีได้คืนเล่า.

เมื่อศักราช ๒๐๓๙ ปี โปรดให้พระยาพลเทพราชมาเป็นเจ้าเมือง เกนให้ตกแต่งทำกำแพงกำชับไว้ แล้วเข้าไปกรุงไปทางเมืองสระ.

เมื่อศักราช ๒๑๔๑ ปี โปรดให้พระยาศรีธรรมราชะเดชะมาเป็นเจ้าเมือง อุชงคนะให้ลักปหม่าหนาเป็นแม่ทัพเรือมารบเสียขุนคำแหงปลัด ณ รอปากพระญา ข้าศึกรุกเข้ามาถึงตีนกำแพงฝ่ายอุดร พระยาศรีธรรมราชออกศึกหนีไป.

เมื่อศักราช ๒๑๔๔ ปี โปรดให้พระรามราชท้ายน้ำมาเป็นเจ้าเมือง เอาขุนเยาวราชมาเป็นปลัด รู้ข่าวศึกอุชงคนะจึงพระยาให้ขุดฝ่ายบูรรพ์แต่ลำน้ำท่าวังมาออกลำน้ำฝ่ายทักษิณ.

เมื่อศักราช ๒๑๗๑ ปี ศึกอุชงคนะยกมา พระญาก็ให้ตั้งค่ายคูฝ่ายอุดร แลแต่งเรือหุมเรือหายพลประมาณห้าหมื่นเศษ รบกันเจ็ดวัดเจ็ดคืนขุนพัญจาออกหักทัพกลางคืนศึกแตกลงเรือศึกเผาวัศท่าโพเสีย พระญาถึงแก่กรรม พระญาแก้วผู้หลานก่อพระเจดีย์บรรจุธาตุไว้ในพระธรรมศาลา.

ศักราช ๒๑๙๗ ปี มีพระบรรทูลโปรดให้พระญาบริบาลพลราชเจ้าเมืองตะนาวศรีมหานครมาเป็นเจ้าพระญานครศรีธรรมราช เดชไชยอภัยพิรีบรากรมพาหุเจ้าพระญานครศรีธรรมราช

___

ภาพจากปก : ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หมายเลขกำกับ na๐๑d-img๐๐๐๐๑๓๒-๐๐๔๕

 

ชาวสวน ชาวไร่ ติดต่อบริการ Nakhonsistation ช่วยขาย ได้ที่ Line @nakhonsistation หรือโทร 0926565298

โรคระบาด ในตำนานพระธาตุเมืองนคร

โรคระบาด, ตำนานพระธาตุ

“…การหาหลักฐานทางโบราณคดีนั้น
ถ้าไม่มีอะไรดีกว่านิทาน ก็ต้องรับเอานิทานเข้าประกอบ
หนังสือนี้จึ่งอาจเปนประโยชน์ได้บ้างในทางโบราณคดี…”

พระนิพนธ์คำนำตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช
ในพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์

เป็นอย่างใจความสำคัญของพระนิพนธ์ในพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ที่ยกมาจากคำนำหนังสือตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับหลวงนรินทร (ม.ล. สำเนียง อิศรางกูร ณ อยุธยา) พิมพ์ในงานปลงศพนางเทพนรินทร (สงวน อิศรางกูร ณ อยุธยา) ผู้ภรรยา เมื่อปีมะโรง พ.ศ.๒๔๗๑ ว่า “นิทาน” (อาจ)เป็นประโยชน์(ได้บ้าง)ในทาง “โบราณคดี” ทั้งนี้ก็จนกว่าจะมีหลักฐานชั้นต้นอื่นใดที่ยอมรับกันในทางโบราณคดีมาประกอบการอธิบาย และแม้ว่าท้ายที่สุดแล้ว “นิทาน” จะไม่สามารถเป็นหลักฐานทางตรงในทางโบราณคดีได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า “นิทาน” ยังสามารถใช้เป็นกระจกสะท้อนภาพของชุดความคิดในทางคดีอื่น

ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชฉบับที่กล่าวถึง เป็นสำนวนร้อยแก้วโครงเรื่องคล้ายกับตำนานเมืองนครศรีธรรมราช แต่ส่งอิทธิพลต่อความรับรู้ของชาวนครศรีธรรมราชมากกว่า เป็นต้นว่า ในตำนานเมืองฯ เขียนชื่อบุคคลว่า “นางเหมมาลา” แต่ในตำนานพระธาตุฯ เขียนเป็น “นางเหมชาลา” ซึ่งแม้ว่า “มาลา” จะให้ความรู้สึกถึงความเป็นสตรีมากกว่า “ชาลา” แต่อย่างหลังนี้ กลับเป็นที่รู้จักและใช้กันต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น การสกัดให้เห็นภาพสะท้อนอื่นใดจากตำนานกลุ่มนี้ จึงควรเริ่มที่ “ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช”

ตำนานพระธาตุฯ มีหลายภาพสะท้อนความเป็นนครศรีธรรมราชในอดีตอยู่หลายด้าน แต่ที่จะสกัดออกมาในที่นี้ คือเรื่อง “โรคระบาด” ซึ่งแลดูทันเหตุทันการณ์กับสภาพปัจจุบัน อย่างน้อยที่สุดก็พลอยจะได้อาศัยเป็นกรณีเปรียบเทียบ

หาก “ยารักษาโรค” เป็น ๑ ในปัจจัย ๔ ของมนุษย์ 
ก็ย่อมแสดงชัดว่า “โรค” เป็นเหตุตั้งต้นแห่งปัจจัยนี้ 
และดูเหมือนว่าจะเป็นเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงอื่นด้วย ดังจะได้กล่าวต่อไป

อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ได้แบ่งช่วงเวลาในตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชไว้ในบทนำหนังสือตำนานพระธาตุและตำนานเมืองนครศรีธรรมราช (ฉบับกรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่พุทธศักราช ๒๕๖๐) ออกเป็น ๔ สมัย โดยจะขอคัดลำดับเรื่องราวในแต่ละสมัยมาแสดง ดังนี้ 

๑. สมัยก่อนสร้างเมืองนครศรีธรรมราช


กล่าวถึงพระเจ้าอังกุศราช เจ้าเมือง “ชนทบุรี” ยกทัพขึ้นเหนือเพื่อรบชิงพระทันตธาตุจากพระเจ้าโกสีหราชแห่งเมือง “ทนทบุรี” ท้าวโกสีหราชเสียเมืองและสิ้นพระชนม์ นางเหมชาลาเป็นพระราชธิดากับเจ้าทันตกุมารจึงนำพระทันตธาตุลอบหนีออกจากเมือง ลงสำเภาโดยมีเป้าหมายว่าจะไปเมืองลังกา ระหว่างทางเกิดพายุร้ายสำเภาแตก ทั้งสองขึ้นฝั่งได้และฝังพระทันตธาตุไว้ที่ “หาดทรายแก้วชเลรอบ” ส่วนตนเองก็แอบซ่อนตัวอยู่

ในช่วงเวลาต่อมา พระอรหันต์พรหมเทพเหาะผ่านมาแลเห็นรัศมีพระธาตุจึงลงมานมัสการ เยาวกษัตริย์ทั้งสองจึงออกมานมัสการและเล่าเรื่องความเป็นมาและที่จะเดินทางไป พระอรหันต์ได้ทำนายว่า สถานที่ตรงนี้ต่อไปภายหน้าจะมีกษัตริย์ทรงพระนามว่าพระยาศรีธรรมโศกราชจะมาตั้งขึ้นเป็นเมือง และพระอรหันต์ได้สนับสนุนให้ทั้งสองนำพระทันตธาตุลงเรือที่ท่าเรือเมืองตรังไปถึงเมืองลังกาได้อย่างปลอดภัย

เจ้าเมืองลังกาไปประดิษฐานพระทันตธาตุไว้ในปราสาท และเมื่อทราบความประสงค์ของเยาวกษัตริย์ทั้งสองว่าต้องการเดินทางกลับบ้าน จึงทำหนังสือถึงเจ้าเมืองทนทบุรีห้ามทำร้ายเจ้าทั้งสอง พร้อมแต่งสำเภาให้ทรัพย์สมบัติกับพระสารีริกธาตุกลับไปด้วย ๑ ทะนาน เมื่อเดินทางผ่านมาถึง “หาดทรายแก้วชเลรอบ” ได้หยุดแวะและแบ่งพระสารีริกธาตุออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งฝังไว้ที่เดียวกันกับที่เคยฝังพระทันตธาตุ อีกส่วนหนึ่งได้นำกลับไปยังเมืองทนทบุรีของตน

๒. สมัยเมืองนครศรีธรรมราช ครั้งที่ ๑


กล่าวถึงการเกิด “ไข้ยุบลมหายักษ์” ที่เมืองใหญ่หงสาวดี พระเจ้าศรีธรรมโศกราชเจ้าเมืองจึงพาผู้คนพร้อมพระมเหสีและพระโอรส ๒ พระองค์ พระนามว่า เจตราช กับ พงษ์กษัตริย์ ลงสำเภาแล่นใบมาถึงริมทะเลแห่งหนึ่งจึงตั้งเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นที่นั้น

ครั้งนั้น พระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งในประเทศอินเดียทรงพระนามว่าพระเจ้าศรีธรรมโศกราชเช่นเดียวกัน (คือพระเจ้าอโศกที่รู้จักกันในประวัติศาสตร์) ได้ก่อพระเจดีย์ขึ้น ๘๔,๐๐๐ องค์ แต่ไม่มีพระธาตุจะบรรจุ จึงส่งทูตมายังเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อขอแบ่งพระธาตุไป

พระเจ้าศรีธรรมโศกราชแห่งนครศรีธรรมราช เมื่อแรกก็ไม่รู้จะหาพระธาตุได้จากที่ใด แต่ต่อมามีชายชราอายุ ๑๒๐ ปี พอจะทราบเรื่องการฝังพระธาตุโดยเยาวกษัตริย์ทั้งสองในอดีตจึงชี้สถานที่ “หาดทรายแก้วชเลรอบ” ที่อยู่ในตัวเมืองของพระองค์นั้น แต่ก็ต้องหาผู้มีวิชาอาคมจึงสามารถนำพระบรมธาตุขึ้นมาได้ และแบ่งให้แก่พระเจ้าศรีธรรมโศกราชผู้สร้างพระเจดีย์ให้มีพระธาตุบรรจุได้ครบทั้ง ๘๔,๐๐๐ องค์

ส่วนที่ “หาดทรายแก้วชเลรอบ” ภายในเมืองของพระองค์นั้นน โปรดให้สร้างเจดีย์พระธาตุขึ้นตรงที่ ๆ เคยฝังพระธาตุแต่ก่อน ขณะนั้นพระพุทธสิหิงค์ลอยน้ำมาจากลังกา มาทางเกาะปีนังแล้วมาถึงหาดทรายแก้วที่ก่อเจดีย์พระธาตุ

แต่การก่อเจดีย์พระธาตุยังไม่เสร็จก็เกิดไข้ห่าลง ผู้คนจึงอพยพลงสำเภาหนีแต่ก็ไม่พ้นตายกันหมด เมืองนครศรีธรรมราชจึงร้างไปเป็นครั้งที่ ๑

๓. สมัยเมืองนครศรีธรรมราช ครั้งที่ ๒ 


มีเรื่องราวสั้น ๆ ที่ปรากฏขึ้นมาโดยไม่แสดงความเกี่ยวข้องกับเรื่องราวตอนใด โดยตำนานพระธาตุฯ ได้กล่าวถึงตัวเลขศักราช ๑๑๙๖ พระญาศรีไสณรงค์กับน้องชื่อธรรมกษัตริย์ มาจากทิศตะวันตกมาเป็นเจ้าเมือง พระพุทธสิหิงค์จากลังกามาประทักษิณพระธาตุอยู่ ๗ วันแล้วไปเชียงใหม่ ครั้นพระยาศรีไสยณรงค์สิ้นพระชนม์ พระอนุชาก็เป็นเจ้าเมืองแทน ถึงศักราช ๑๑๙๘ เจ้าธรรมกระษัตริย์ก็สิ้นพระชนม์ 

เรื่องในตำนานจริง ๆ ควรจะเริ่มเมื่อกล่าวถึงท้าวศรีธรรมโศกราชเจ้าเมือง “อินทปัตบุรีย์” กับน้องชื่อจันทรภาณุ และท้าวพงษ์สุราหนีไข้ห่า มาถึงพระธาตุที่ก่ออิฐค้างไว้ จึงได้ก่อพระธาตุจนเสร็จและสร้างกำแพงเมืองโดยรอบ ให้ผ้าขาวชาวหงสาวดีไปนิมนต์พระสงฆ์จากลังกามาทำบุญฉลองพระธาตุ การเฉลิมฉลองพระธาตุทราบไปถึงพระราชบิดาของท้าวอู่ทองแห่งกรุงศรีอยุธยาจึงให้ท้าวอู่ทองยกทัพลงมา ท้าวศรีธรรมโศกราชก็ยกทัพขึ้นไป กองทัพหน้าของทั้งสองปะทะกันถึงล้มตายแถบบริเวณ “บางตะภาร” ท้าวศรีธรรมโศกราชรู้สึกรันทดใจจึงขออ่อนน้อมยอมเป็นไมตรี ทั้งสองทัพก็เลิกแล้วต่อกัน

ศักราช ๑๒๐๐ ท้าวศรีธรรมโศกราชสิ้นพระชนม์ จันทรภาณุได้เป็นเจ้าเมืองแทน โดยใช้พระนามว่า ศรีธรรมโศกราช และท้าวพงษ์สุราได้เลื่อนเป็นจันทรภาณุ กองทัพชวายกทัพมา เอาชนะเมืองนครศรีธรรมราชได้ ต้องยอมเป็นเมืองส่งส่วยไข่เป็ดแก่ชวา แต่ต่อมาไม่นานก็มีคนดีชื่อพังพการเข้ารับราชการทหาร คิดต่อสู้ชวาโดยการขุดคูรอบเมืองพระเวียงขับไล่ชวาไปได้ จึงได้รับส่วนแบ่งให้ครองเมืองครึ่งหนึ่ง ต่อมาท้าวศรีธรรมโศกราช สิ้นพระชนม์ ก็เกิดโรคระบาด คนตาย เมืองร้างไปเป็นครั้งที่ ๒ 

๔. สมัยเมืองนครศรีธรรมราช ครั้งที่ ๓


ตำนานเมืองฯ กับตำนานพระธาตุฯ กล่าวต่างกันเล็กน้อยในรายละเอียด โดยตำนานเมืองได้อ้างอิงไปถึงเรื่องเจ้านายเชื้อสายกษัตริย์ผู้แยกตัวออกมาจากส่วนกลาง ซึ่งก็ควรหมายถึงกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ก่อนปีการสถาปนากรุงอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓ มาตั้งศูนย์อำนาจอีกแห่งหนึ่งขึ้นที่เมืองเพชรบุรี โดยมีคำเรียกผู้ครองเมืองด้วยภาษาที่มีความหมายสูงสุดว่า “พระเจ้าอยู่หัว”

ตำนานเมืองฯ ได้กล่าวถึงพระนามกษัตริย์ แสดงถึงอำนาจส่วนกลางที่แยกมาตั้งอยู่ที่เมืองเพชรบุรี ว่า “พระพนมทะเลศรีมเหศวัสดิทราธิราช” กับพระอนุชาผู้ได้สืบอำนาจองค์ต่อมาพระนามว่า “รัตนากร” ทั้งสองพระองค์เป็น “พระเจ้าหลาน” ของ “พระปู่พระย่า” ที่มีอำนาจปกครองอยู่ที่ส่วนกลาง 

พระเจ้าอยู่หัวเมืองเพชรบุรีได้สนับสนุนให้มีการก่อตั้งบ้านเมืองต่าง ๆ ขึ้น ตามชายฝั่งอ่าวไทย ประมาณตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปถึงจังหวัดนครศรีธรรมราช 

เรื่องในตำนานเมืองฯ และตำนานพระธาตุฯ พอสรุปให้เป็นเรื่องเดียวกันได้ว่า เมื่อศักราช (พุทธศักราช) ๑๘๑๕ (ตามตำนานพระธาตุฯ) มีพระราชโองการจากกษัตริย์ส่วนกลาง สนับสนุนชาวพื้นเมืองสองพี่น้องแห่งบ้าน “จรุงสระ” หรือบ้าน “ท่าวัง” กับบ้าน “ลานตะกา” ให้ช่วยกันสร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นมาใหม่ มีลูกหลานทายาทครองเมืองสืบต่อกัน ๑ – ๒ คน ซึ่งตั้งแต่สมัยนี้เป็นต้นมา ได้มีการบูรณะก่อสร้างเสนาสนะ ปูชนียวัตถุ และปูชนียสถานภายในวัดพระมหาธาตุนครศรีธรรมราชอย่างต่อเนื่องไม่มีว่างเว้น

หลังจากนั้น ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ได้กล่าวถึงการแต่งตั้งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชจากส่วนกลางมาครองและการทำนุบำรุงวัดพระธาตุฯ ในปี พ.ศ. ๑๘๖๑, ๑๙๑๙, ๒๐๓๙, และปีสุดท้ายคือ ๒๑๙๓ ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยา โปรดให้พระยาบริบาลพลราช เจ้าเมืองตะนาวศรีมาเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช

ในท้ายของการวิเคราะห์โครงเรื่องเพื่อแบ่งยุคสมัยของเมืองนครศรีธรรมราชนี้ อาจารย์พิเศษฯ ได้ยกข้อวินิจฉัยของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์เกี่ยวกับจุดเวลาของการแต่งตำนานมาแสดงด้วยว่า คือสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา เพราะเป็นรัชกาลถัดจากศักราชสุดท้ายที่ตำนานกล่าวถึง

เมื่อพิจารณาจากการลำดับโครงเรื่องข้างต้นแล้ว อาจกล่าวได้โดยสรุปว่า เมืองนครศรีธรรมราชมีชาตะและมตะด้วยเหตุเดียวกันในแต่ละสมัย นั่นคือ “โรค” ในตำนานพระธาตุฯ กล่าวถึงโรคในทำนองโรคระบาดนี้ ด้วยชื่อเรียกเฉพาะว่า “ไข้ยุบลมหายักษ์” หรือ “ไข้ยุบล” (ตำนานเมืองฯ เรียก “ไข้ยมบน”) กับชื่ออย่างศัพท์โบราณว่า “ไข้ห่า” 

เป็นที่น่าสนใจว่าทั้งชื่อของไข้ยุบลมหายักษ์ ยุบล หรือห่า ล้วนไม่สื่อถึงอาการของโรคให้เข้าใจได้ทันที แต่กลับทำให้เห็นสภาพการณ์ว่าเป็นโรคระบาดที่มีผลทำให้ผู้คนล้มตายมาก “มหายักษ์” ให้ภาพว่าเป็นโรคอันใหญ่ อันยิ่งอันถอดไม่ออก ส่วน “ห่า” คือการแสดงให้เห็นว่าจำนวนคนป่วยคนตายจากไข้นี้มีมาก  

อาจารย์ดิเรก พรตตะเสน ได้อธิบายความหมายของชื่อไข้นี้ด้วยบทความ “ยมบน” ในวารสารรูสะมิแลว่า ไข้ยมบน (ใช้ตามตำนานเมืองฯ) มีความหมายเดียวกันกับ “พระยมเรียก” ที่เมื่อ “ยมบนทีไร ประชากรมนุษยภูมิตามแว่นแคว้นต่าง ๆ ตายผล็อยยเหมือนใบไม้ร่วงเป็นจำนวนพันจำนวนหมื่น” กับทั้งยังได้อธิบายต่อไปถึงอาการของไข้ว่าเป็นอย่างสำนวนมุขปาฐะชาวนครว่า “ขี้ทีรากที” หรือ “อหิวาตกโรค” นั่นเอง

ในขณะเดียวกันก็มีการสันนิษฐานเกี่ยวกับไข้นี้อีกกระแส อาจารย์ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ได้ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจ ในหนังสือห่าลง จีนถึงไทย ตายทั้งโลก โดยได้เชื่อมโยงประวัติศาสตร์การเกิดโรคระบาดในรัฐโบราณเข้ากับประวัติศาสตร์โลกว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ สถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นนั้น ตรงกับปีที่มีการระบาดใหญ่ของความตายสีดำ (Black Death – กาฬโรค) ในยุโรปและก่อนหน้านั้นเล็กน้อยในมณฑลเหอเป่ย ประเทศจีน ทำให้โรคห่าที่พระเจ้าอู่ทองหนีมาจากเมืองอู่ทองนั้นอาจเป็นโรคเดียวกันโดยอาศัยการเชื่อมโยงกันของการค้าข้ามสมุทร

เช่นเดียวกันกับบริบทของนครศรีธรรมราช ในฐานะที่เป็นเมืองท่าสำคัญของคาบสมุทรมลายู ที่ปฏิเสธการมีปฏิสัมพันธ์กับเมืองท่าอื่นทั่วโลกไปไม่ได้ จึงเป็นไปได้ว่า “ไข้ยุบล” หรือ “ไข้ยมบน” ที่ปรากฏในตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชนั้น จะคือ “กาฬโรค” ด้วย


ดูคลิปย้อนหลังรายการ “รวมเรื่องเมืองนคร” ตอน โรคระบาด ในตำนานพระธาตุเมืองนคร ได้ที่นี่

ติดตามLive สดรายการ “รวมเรื่องเมืองนคร” ได้ทุกวัน พฤหัสษบดี เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น ได้ทางเพจ Nakhonsi Station ที่นี่นครศรีธรรมราช


 

ชาวสวน ชาวไร่ ติดต่อบริการ Nakhonsistation ช่วยขาย ได้ที่ Line @nakhonsistation หรือโทร 0926565298

ฅนต้นแบบเมืองนคร นพ. ปรานปวีณ์ โรจน์เจริญงาม นักสู้โควิดชุดกราวน์ ขวัญใจชาวนคร

            เมื่อเกิดวิกฤตการณ์โรคระบาด ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ชัดเจน และรวดเร็ว คือสิ่งที่ประชาชนต้องการที่จะทราบ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติและเตรียมพร้อมรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากแต่ว่าข่าวสารที่ถูกส่งต่อกันมาในโลกออนไลน์ บางส่วนก็เป็น Fake new หรือผู้ส่งสารขาดทักษะในการสื่อสารที่ดี สามารถสร้างความเข้าใจผิดและเกิดความเสียหายแก่สังคมได้ เมื่อประชาชนไม่เข้าใจ จึงไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรต่อ ทางนครศรีสเตชั่นมีโอกาสได้พูดคุยกับหมอพ้ง นพ. ปรานปวีณ์ โรจน์เจริญงาม นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช ผู้ที่ให้ความรู้และคำแนะนำแก่ชาวนครผ่านทางโซเชียลมีเดีย สื่อสารในสไตล์ที่เข้าถึงชาวบ้านให้สามารถเข้าใจสถานการณ์โควิด-19 ได้ง่ายขึ้น  มาทำความรู้จักฅนต้นแบบเมืองนครท่านนี้กัน

อีกหนึ่งบทบาทที่น่าสนใจของคุณหมอ กับการทำหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร

นพ. ปรานปวีณ์ โรจน์เจริญงาม

นพ. ปรานปวีณ์ โรจน์เจริญงาม พื้นเพเป็นคนกรุงเทพมหานคร ในวัยเด็กมีความตั้งใจอยากเป็นหมอ ได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงได้ย้ายมาอยู่ภาคใต้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในขณะที่กำลังศึกษาอยู่นั้นมีโอกาสฝึกงานที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช และได้ไปศึกษาต่อที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้นกลับมาทำงานที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี  คุณหมอได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราชที่มีการพัฒนาอยู่เรื่อยๆ จากวิสัยทัศน์ของท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลคนปัจจุบัน นพ. ทรงเกียรติ เล็กตระกูล ต้องการให้ รพ. มหาราช พัฒนาเป็นโรงพยาบาลศูนย์ชั้นนำ ที่เป็นเลิศด้านบริการทางการแพทย์ เป็นโรงพยาบาลเพื่อชาวใต้ ที่ผ่านมาทางโรงพยาบาลได้ดำเนินการสำเร็จไปแล้วหลายส่วน เช่น แผนกหัวใจและหลอดเลือด การผ่าตัดหัวใจ สวนหัวใจ สามารถทำได้ตลอด 24 ชม. แผนกกระดูกและข้อ มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ข้อสะโพกเทียม ผ่ากระดูกสันหลัง ผ่าส่องกล้อง

ด้วยความที่คุณหมอเป็นหมอผ่าตัด จึงมีโอกาสได้พูดคุยกับคนไข้ค่อนข้างน้อย ในช่วงปลายปีพ.ศ. 2562  จากการชักชวนของรองผอ. ฝ่ายการแพทย์  พญ. จันทรจิรา ก๋งอุบล คุณหมอมีโอกาสได้เข้ามาดูแลในส่วนของการร้องเรียนระหว่างผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย กับบุคลากรทางการแพทย์ ในส่วนงานหัวหน้ากลุ่มงานสุขศึกษา คุณหมอเห็นว่าประเด็นหลักที่ทำให้เกิดข้อขัดแย้งนั้นเกิดจากการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน คุณหมอจึงได้ไปอบรมเพิ่มเติมทางด้านนี้ และอยากที่จะสร้างภาพลักษณ์องค์กรให้ดูดีในสายตาคนคอน ให้ชาวนครรักโรงพยาบาล ในขณะเดียวกันก็อยากให้บุคลากรรู้สึกผูกพันธ์กับรพ. เช่นกัน

แล้วจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีความรู้เรื่องสุขภาพมากที่สุด จากสื่อที่มี เช่น แผ่นพับ วิทยุ ช่องทีวีท้องถิ่น คุณหมอคิดว่ามีกระบวนการจัดการค่อนข้างช้า เลยอยากใช้สื่อโซเชียลมีเดียอย่าง Live Facebook  ผ่านทางเพจ สุขศึกษา ร.พ.มหาราช เมืองคอน ในช่วงแรกเน้นการนำเสนอประเด็นง่ายๆ เกี่ยวกับสุขภาพ  ปัจจุบันเน้นเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 สื่อสารในภาษาที่ชาวบ้านเข้าใจได้ง่าย ในสไตล์สบายๆ เหมือนเพื่อนคุยกับเพื่อน

นำเสนอข้อมูลทางวิชาการที่เข้มข้น ในสไตล์ที่ผู้ฟังเข้าใจได้ง่าย เข้าถึงผู้ชมมากขึ้น

            รูปแบบการ Live ของคุณหมอเปลี่ยนไปตั้งแต่มีการแพร่ระบาด เพราะประชาชนตื่นตระหนก มีความสับสนในข้อมูลที่ได้รับ ไม่รู้ว่าอันไหนข้อมูลจริง สำหรับทางการแพทย์ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดก็จะเน้นที่การป้องกันเป็นหลัก จากที่คุณหมอได้ฟังข้อมูลมาก็พบว่า มีบางจุดของการนำเสนอของสื่อต่างๆ ที่ยังเป็นช่องว่างอยู่ นั่นคือ คำศัพท์ที่ยากเกินกว่าที่คนทั่วไปจะเข้าใจ คุณหมอเลยอยากที่จะเป็นตัวกลางในการนำคำพูดของอาจารย์หมอท่านอื่นๆ มาปรับให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย เพื่อรู้เท่าทันโควิด-19

งานนี้เลยกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันคุณหมอไปโดยปริยาย แฟนเพจจึงกลายเป็นเหมือนเพื่อน อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของคุณหมอที่ทำให้คนจดจำได้คือ เลือกใส่เสื้อผ้าตามสีของวัน มีคอนเซ็ปท์จากแนวคิดที่ว่า ผู้สูงวัยนิยมส่งสวัสดีทักทายกันในแอปพลิเคชั่นไลน์ ซึ่งคุณหมอได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า เป็นวิธีการป้องกันอัลไซเมอร์ที่ดีอย่างหนึ่ง เพื่อให้เห็นสไตล์การสื่อสารของคุณหมอ แม้กำลังอ่านตัวอักษรอยู่ก็ตาม เราได้ถอดคลิปบางส่วนจากการไลฟ์ของคุณหมอมาฝากกัน

            “ไวรัสสายพันธุ์นี้มีมีวิวัฒนาการไม่ต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่น มนุษย์พยายามคิดค้นวัคซีน ตามที่เห็นก็มีหลากหลายยี่ห้อ ทางฝั่งของโควิดก็ไม่ยอมแพ้เช่นกัน ยังคงพัฒนาสายพันธุ์ มีการกลายพันธุ์ อย่างต่อเนื่อง และแน่นอนในตอนนี้ถ้าใครตามข่าวสาร ในประเทศไทยเองก็มีเกือบจะครบทุกสายพันธุ์แล้วครับ แต่ที่แน่ๆ การพัฒนาของไวรัสตามมาด้วยการแพร่เชื้อที่เร็วขึ้น อาการรุนแรงขึ้น มีโอกาสเสียชีวิตมีมากขึ้น มาตรการการป้องกันที่ทุกคนปฏิบัติกันมา ต้องทำกันต่อไป อยู่ห่างไว้ ใส่แมสก์ป้องกัน หมั่นล้างมือ และรีบลงชื่อจองคิวฉีดวัคซีนกันนะครับ”

เรื่องสำคัญที่คุณหมออยากจะฝากถึงพี่น้องชาวนคร

มาดูในฝั่งของสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในจังหวัดนครศรีธรรมราชกันบ้าง ในช่วงนี้ยังวางใจไม่ได้ ถ้าดูจากตัวเลขสถิติในภาพรวมของผู้ติดเชื้อในประเทศไทย ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่รัฐบาลประกาศล็อคดาวน์ ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม แน่นอนว่าในจำนวนนั้นอาจมีบางส่วนเดินทางกลับนครศรีธรรมราช ฝ่ายปกครองท้องถิ่นมีคำสั่งให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ตรวจดูตามบ้านเรือนประชาชนในแต่ละพื้นที่

เพื่อให้ผู้ที่เดินทางเข้าจังหวัดเข้าสู่ระบบกักตัวอย่างถูกต้อง แต่ก็อาจมีบางส่วนที่ไม่หลุดรอดได้ จากตัวเลขจะเห็นว่าทิศทางของจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการหนักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในส่วนของวัคซีนก็ดำเนินการได้ช้ากว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ ประชาชนจึงต้องระมัดระวังตัวเองให้มากขึ้นกว่าเดิม งดการเดินทางที่ไม่จะจำเป็น ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง แม้ว่าได้รับการฉีดวัคซีนแล้วก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยนี้อย่างเคร่งครัด

แน่นอนว่าวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อแผนงานหลายอย่างที่คุณหมอได้วางแผนไว้ อย่างคอนเทนต์เกี่ยวกับสุขภาพที่อยากจะเชิญคุณหมอ คุณพยาบาล ทีมงานที่ทำงานและเชี่ยวชาญด้านโรคนั้นๆ โดยตรง  มาร่วมกันไลฟ์ผ่านทางเพจเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้แก่ประชาชนก็ต้องระงับไว้ก่อนชั่วคราว ในส่วนของทางรพ.มหาราชเอง ก็มีการพยายามที่จะพัฒนาแบบก้าวกระโดด เพื่อที่จะสามารถรักษาคนไข้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากที่สุด อยากที่จะเป็นที่พึ่งของชาวใต้ทุกคน โดยเฉพาะ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ให้สามารถเดินทางมารักษาได้อย่างสะดวก และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายหลายอย่าง

ไม่ว่าจะบทบาทไหนคุณหมอก็ทำอย่างเต็มที่ สำหรับบทบาทที่ต้องใช้ทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ คุณหมอเลือกใช้ภาษาที่ชาวบ้านเข้าใจได้ง่าย สามารถวิเคราะห์กลุ่มผู้ฟังได้ว่าเป็นกลุ่มใด ข้อมูลที่นำเสนอน่าจะประมาณไหน มีการปรับเปลี่ยนสไตล์การแต่งตัวให้กลมกลืนไปกับผู้ฟัง เป็นการนำเสนอข้อมูล ข่าวสารอย่างที่ประชาชนต้องการในภาวะวิกฤตเช่นนี้   

ดูคลิปย้อนหลังรายการ “ฅนต้นแบบเมืองนคร” ตอน นพ. ปรานปวีณ์ โรจน์เจริญงาม นักสู้โควิดชุดกราวน์ ขวัญใจชาวนคร ได้ที่นี่

ติดตามรายการ “คนต้นแบบเมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์เวลา ๑๙.๓๐ – ๒๐.๓๐ น. ทางเพจ Nakhonsi Station ที่นี่นครศรีธรรมราช