ผศ.สุพัฒน์ นาคเสน สืบสาน ถ่ายทอด โนรามรดกโลกทางวัฒนธรรม คนต้นแบบเมืองนคร

เมื่อไม่นานมานี้ทางองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ  (UNESCO) ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “โนรา” หรือ “มโนราห์” ศิลปะการแสดงพื้นบ้านของภาคใต้ เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ การสืบทอดโนราที่มีมาอย่างยาวนาน ทำให้เกิดคำถามว่า ต่อจากนี้อนาคตของโนราจะไปในทิศทางใด คนต้นแบบเมืองนครท่านนี้เป็นหนึ่งในบุคคลที่เข้าใจถึงแก่นแท้ของโนรา เป็นผู้ที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ดั้งเดิมสู่คนรุ่นใหม่ เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมที่มีคุณค่า ผศ.สุพัฒน์ นาคเสน สืบสาน ถ่ายทอด โนรามรดกโลกทางวัฒนธรรม

จากความชื่นชอบทางด้านนาฏศิลป์ สู่ศิลปะการแสดงโนรา

ผศ.สุพัฒน์ หรือที่ลูกศิษย์เรียกกันว่า “ครูพัฒน์” เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับโนราสมัยเรียนอยู่ที่วิทยาลัยนาฏศิลป์นครศรีธรรมราช ซึ่งครูพัฒน์มีความชื่นชอบทางด้านนาฏศิลป์อยู่แล้ว และมีโอกาสฝึกการร่ายรำโขนหลังจากเรียนจบได้เป็นครูสอนอยู่ที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ ในตอนนั้นครูพัฒน์ต้องการที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับเทริดมโนราห์เพิ่มเติม (เครื่องสวมศีรษะ ซึ่งศิลปินโนราถือว่าเทริดเป็นของสูง เป็นสัญลักษณ์ของครู) จึงได้ไปขอความรู้จากครูโนราท่านหนึ่ง ในตอนนั้นครูพัฒน์มองว่า คนที่จะมาสืบทอดศิลปะการแสดงมโนราห์นั้นมีจำนวนน้อยมาก จึงเกิดความคิดที่อยากจะศึกษาอย่างจริงจัง จากนั้นครูพัฒน์มีโอกาสได้ไปทำงานที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จัดอบรมเกี่ยวกับนาฏศิลป์ตามความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา หลังจากสอบบรรจุเข้ารับราชการครูได้ ครูพัฒน์หันมาสนใจโนราอีกครั้ง หาประสบการณ์โดยการฝึกร่ายรำกับครูโนราที่มีชื่อเสียงหลายท่าน จากนั้นเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำวิทยานิพน์เรื่อง “โนรา : รำเฆี่ยนพราย-เหยียบลูกมะนาว” เป็นการรำประกอบพิธีกรรมของโนราที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางไสยศาสตร์ การรำชุดนี้ต้องแสดงโดยนายโรงโนรา และแสดงเฉพาะในการประชันโรงเท่านั้น ปัจจุบันหาดูได้ยากมาก ครูพัฒน์ทำการวิจัยโดยศึกษาจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง การสัมภาษณ์ และฝึกร่ายรำกับนายโรงโนราผู้ทรงคุณวุฒิด้านโนราหลายท่าน ทางครูพัฒน์เองได้ผ่านการประกอบพิธีกรรมครอบเทริด และผูกผ้าใหญ่อย่างถูกต้อง ที่วิทยาลัยนาฏศิลป์นครศรีธรรมราช เพื่อต้องการสืบทอดการรำอันศักดิ์สิทธิ์นี้ไว้เป็นสมบัติของโนราสืบไป

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับโนรา สำหรับบุคคลทั่วไปที่สนใจ

ครูพัฒน์ให้ความเห็นว่า โนราเปรียบเหมือนแหล่งรวมองค์ความรู้ทางศิลปะอันหลากหลาย สามารถพิจารณาได้หลายประเด็น เช่น

  • โนราเป็นสัญลักษณ์ของการสื่อสาร โดยใช้ร่างกายเพื่อแสดงการร่ายรำ ซึ่งการร่ายรำก็สามารถเจาะลึกลงไปได้อีกว่า จะรำอย่างไรให้ท่วงท่าดูสวยงาม ซึ่งต้องอาศัยสมาธิ มีจังหวะที่สม่ำเสมอ รู้จักวิธีการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างถูกต้อง
  • โนราเป็นสัญลักษณ์ของดนตรี ความงาม ความไพเราะ ความเหมาะสมของจังหวะที่สอดคล้องกับเครื่องดนตรี การบรรเลงท่วงทำนองมีทั้งจังหวะช้าและเร็ว เมื่อฟังแล้วเกิดความรู้สึกไปตามจังหวะเพลง
  • โนราเป็นสัญลักษณ์ของวรรณศิลป์ บทกวี ภาษากลอน มีการร้องขับบทเป็นกลอนสด ซึ่งต้องอาศัยทักษะการเปล่งเสียงให้มีความไพเราะ ใช้เสียงอย่างเหมาะสมตามบทกลอน ซึ่งกลอนโนรามีหลายรูปแบบ
  • โนราเป็นสัญลักษณ์ของหัตถศิลป์ ชุดโนราประกอบด้วยงานศิลป์หลายแขนงที่มีความประณีต เช่น “เทริดโนรา” มีโครงสร้างทำด้วยโลหะ ทองเหลือง หรือไม้ไผ่สาน ตกแต่งรายละเอียดด้วยการปั้นรักติดเป็นลวดลาย ลงรักปิดทอง ประดับตกแต่งด้วยกระจกสีหรือวัสดุอื่นที่เหมาะสม “เครื่องทรงโนรา” หรืออีกชื่อว่า เครื่องลูกปัดโนรา เครื่องแต่งกายของโนราที่มีการนำลูกปัดหลากสีสันมาร้อยเรียงกันเป็นลวดลายต่างๆ ที่สวยงาม

สติ สมาธิ และธรรมะ กับโนรา

ความเข้าใจของคนทั่วไปมักมองว่า โนราเป็นหนึ่งในศิลปะเพื่อความบันเทิง หากศึกษาให้ลึกถึงแก่นจะพบว่า ภายใต้ท่วงท่าการร่ายรำที่งดงามและบทร้องอันไพเราะนั้น โนราถือเป็นลักษณะทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่มีรากฐานจากความเชื่อ ได้เข้ามามีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตผู้คนทางภาคใต้ โดยเฉพาะการเจ็บป่วยที่มีการรักษาเยียวยาผ่านขั้นตอนของพิธีกรรม ครูพัฒน์ เล่าว่า โนรานั้นคู่กับการพิธีกรรม ซึ่งการทำพิธีกรรมต้องมีสมาธิจึงจะเกิดผล แต่ให้ระลึกเสมอว่า เราไม่ได้ทำด้วยพลังของเราเอง แต่เราเป็นเพียงสื่อกลางที่เชิญพลังของครูหมอโนรา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรานับถือ เพื่อรักษาเยียวยาอาการเจ็บป่วยที่มีลักษณะตามความเชื่อ เมื่อจิตเราสงบ มีสติ สมาธิ ก็จะเกิดการระลึกถึงครูบาอาจารย์ เกิดเป็นพลังในการประกอบพิธีกรรม ซึ่งการรักษาต้องใช้ประสาทสัมผัสหลายส่วนเพื่อให้สอดคล้องกับจังหวะท่วงทำนองที่กำลังดำเนินไป ส่วนของธรรมะกับโนรา ในอดีตมีความเชื่อว่าโนราสามารถติดต่อกับสิ่งที่อยู่นอกเหนือธรรมชาติได้ โดยผ่านพิธีกรรมบวงทรวง มีการสอดแทรกคำสอนต่างๆ เช่น พระคุณพ่อแม่ พระคุณครู การครองเรือน ปรัชญาการใช้ชีวิต เป็นต้น ผ่านบทกลอนที่ขับร้อง ซึ่งคนที่จะมาเป็นโนราได้ต้องมีความศรัทธาในตัวครูโนราทั้งครูที่มีชีวิตอยู่และครูบรรพชน

“โนรา” มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

ในอดีต โนรา เปรียบเหมือนสื่อในการบอกเล่า ถ่ายทอด เรื่องราวต่างๆ คนที่เป็นโนราต้องเรียนรู้ในเรื่องของธรรมะและพิธีกรรม ต้องเป็นคนที่น่าเคารพ เป็นที่ศรัทธาของผู้อื่น ในส่วนของศิลปะการแสดง ครูพัฒน์ เล่าว่า โนราประกอบด้วยตัวละครหลัก 3 คน คือ นายโรง (โนราใหญ่) นางรำ และตัวตลก (นายพราน) เมื่อดูจากชื่อเรียกแล้ว หลายคนมักเข้าใจผิด อย่าง “นางรำ” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง นางรำผู้หญิง แต่เป็นตัวละครที่มีลำดับรองลงมาจากนายโรง สามารถจำแนกตัวละครโดยดูได้จากเครื่องแต่งกาย ซึ่งโนรามีการพัฒนารูปแบบการแสดงตามยุคสมัย ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่สั่งสมมาเรื่อยๆ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม ทำให้ต้องย้อนกลับมาถามว่า ทุกวันนี้โนรามีความสำคัญกับชีวิตผู้คนและสังคมอย่างไร สามารถนำไปประกอบวิชาชีพในรูปแบบใด

ในอนาคต ครูพัฒน์ให้ความเห็นว่า การที่โนราได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่จะอนุรักษ์ไว้อย่างไร ใครจะเป็นผู้รักษาไว้ คงเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับอนาคต ซึ่งศิลปินโนรานั้นมีส่วนสำคัญต่อหน้าที่นี้ ต้องตระหนักและรู้คุณค่าในสิ่งที่ทำ ส่วนนักวิชาการเองก็ต้องให้ความสำคัญกับมรดกภูมิปัญญานี้เช่นกัน ต้องถ่ายทอดข้อมูลให้ผู้อื่นรับรู้ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง สิ่งที่ครูพัฒน์กังวลคือ ความงดงามของโนราเริ่มลดลง ในขณะที่ความสนุกสนานเพิ่มขึ้น ครูพัฒน์มักจะนำคำสอนของครูที่ท่านเคารพนับถือนั่นคือ โนรายก ชูบัว ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (โนรา) ประจำปี 2530 ถ่ายทอดต่อไปยังลูกศิษย์ ให้เข้าใจถึงแก่นแท้ของโนรา รู้ถึงที่มาที่ไปอย่างเป็นเหตุเป็นผลนั่นเอง

การอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้คงอยู่สืบไปไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของชุมชนโนราทุกคนตั้งแต่ คนดู คนรักโนรา คนที่รู้เรื่องโนรา ผู้สนับสนุนโนรา ในการช่วยกันรักษาแก่นแท้ คงรูปแบบดั้งเดิมไว้ ควบคู่กับการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์เพื่อความอยู่รอด

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ

ประวัติอำเภอท่าศาลา ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

ประวัติอำเภอท่าศาลา
ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

 

เหตุที่ได้จั่วหัวว่าเป็น “ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค” นั้น ด้วยคัดมาจากหนังสือ “ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช” ซึ่งเข้าใจเอาจากคำนำในเล่มว่าเป็นข้อสั่งการจากกระทรวงมหาดไทยถึงจังหวัดทุกจังหวัด ให้รวบรวมและเรียบเรียงเหตุการณ์สำคัญ เอกสาร ความเป็นมา ภูมิประเทศ สถานที่และบุคคลสำคัญของจังหวัดต่าง ๆ เป็นสารบบ มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการท้องถิ่น ได้แก่ วิมล ดำศรี, วิเชียร ณ นคร, ประหยัด เกษม, สมพุทธ ธุระเจน และฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ เป็นคณะทำงาน โดยที่ น้อม อุปรมัย, กระจ่าง คีรินทร์นนท์ และขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นที่ปรึกษา

.

หนังสือดังกล่าว แบ่งเป็น 8 บท ได้แก่ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ลักษณะการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติความเป็นมา ประวัติเทศบาลในจังหวัดนครศรีธรรมราช บุคคลสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และทำเนียบนามผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

.

ส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำเภอปากท่าศาลานั้น ปรากฏอยู่ในบทที่ 3 “ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช” โดยจะได้คัดมาเผยแพร่ดังต่อไปนี้ (แบ่งวรรคตอนและย่อหน้าใหม่รวมถึงปรับคำบางช่วงตอนเพื่อสะดวกต่อการอ่าน แต่ยังคงสาระสำคัญไว้ตามต้นฉบับทุกประการ ประกอบกับในชั้นนี้จะยังไม่มีบทวิเคราะห์ข้อมูลใดๆ)

 

ท่าศาลา จากตำนานเมืองนครศรีธรรมราช

ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชระบุว่า เจ้าศรีมหาราชาบุตรพระพนมวังและนางเสดียงทอง เจ้าเมืองเวียงสระได้เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อยกไพร่พลเข้าตั้งอยู่ในเมืองเรียบร้อยแล้ว คิดจำทการซ่อมแซมพระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช จึงได้ส่งคนออกมาทำนาที่ทุ่งกระโดน (ตำบลท่าศาลา) ทุ่งหนองไผ่ (ตำบลท่าขึ้น) และทำนารักษาพระที่วัดนางตรา (ตำบลท่าศาลา) และให้คนเข้าไปอยู่บ้านกรุงชิง

.

ส่วนในทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราช ครั้งรัชกาลที่ 2 ระบุถึงท้องที่ต่าง ๆ ในอำเภอนี้ ได้ตั้งเป็นบ้านเมืองมาตั้งแต่สมัยแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา มีนายที่ปกครองหลายตำบล คือที่ตำบลไทยบุรี ออกหลวงไทยบุรีศรีมหาสงคราม ศักดินา 1,200 ไร่ ฝ่ายซ้ายที่ตำบลนบพิตำ นายที่ชื่อขุนเดชธานี ที่กลาย นายที่ชื่อขุนสัณห์ธานี

.

บรรดานายที่เหล่านั้น ปรากฏว่าที่ไทยบุรีเป็นแขวงใหญ่กว่าที่อื่น นายที่มีตราประจำตำแหน่งเป็นรูปโค เครื่องยศมีช้างพลาย 1 จำลอง 1 ทวน 1 ขวด 1 แหลน 20 ปืนนกสับหลังช้าง 1 กระบอก ปืนนกสับเชลยศักดิ์ 6 กระบอก ปืนกระสุนนิ้วกึ่งเชลยศักดิ์ 1 กระบอก หอกเขต 15 ทวนเท้า 6 และได้รับพระราชทานไพร่เลวที่ไทยบุรี ได้รับพระราชทานค่าคำนับฤชาภาษีส่วย มีกรมการคือขุนราชบุรี เป็นรองนายที่ หมื่นเทพบุรี เป็นสมุห์บัญชี หมื่นบาลบุรี เป็นสมุห์บัญชี หมื่นสิทธิสารวัด เป็นสารวัตร เมืองท่าสูง เมืองเพ็ชรชลธี ขึ้นไทยบุรี และบ้านเปียน บ้านปากลง บ้านกรุงบาง ซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขาตำบลนบพิตำ ชาวบ้านได้หนีสักเมื่อครั้งรัชกาลที่ 2 เข้าไปตั้งบ้านเรียนหลบซ่อนอยู่ บัดนี้กลายเป็นหมู่บ้านและตำบลนบพิตำ

.

เมื่อครั้งรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แขกเมืองไทรบุรีเป็นขบถตั้งแข็งเมือง เจ้าเมืองนครต้องยกทัพออกไปทำการปราบปราม ออกหลวงไทยบุรีศรีมหาสงคราม นายที่ไทยบุรี ได้ยกกองทัพไปช่วยเมืองนครทำการปราบปรามด้วย เดินทัพจากไทยบุรีไปยังนครศรีธรรมราช ทางที่ออกหลวงไทยบุรีเดินทัดนี้ ต่อมาชาวบ้านเรียกว่าทางทัพหลวงไทย เป็นทางด่วนสาธารณะกั้นเขตแดนระหว่างตำบลไทยบุรีกับตำบลกะหรอปัจจุบัน

.

นอกจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ความเป็นมาดังกล่าวข้างต้น อาจทราบได้จากโบราณสถาน วัดวาอารามต่าง ๆ ในท้องที่ เช่น วัดนางตรา และวัดโมคลาน ซึ่งเป็นโบราณสถานที่นักโบราณคดีประมาณอายุว่าสร้างในราว พ.ศ.1400 – 1800 เป็นวัดร้างไประยะหนึ่ง เนื่องจากภัยสงครามเมื่อครั้งพม่ามาตีเมืองนครศรีธรรมราชในสมัยรัชกาลที่ 1 เพราะที่ตั้งวัดอยู่ใกล้เส้นทางเดินทัพพม่า

.

อำเภอกลาย

พุทธศักราช 2430 ได้รวบรวมท้องที่ต่าง ๆ ตั้งเป็น “อำเภอกลาย” มี 10 ตำบล ได้แก่ ตำบลท่าศาลา ท่าขึ้น สระแก้ว กลาย ไทยบุรี กะหรอ นบพิตำ หัวตะพาน โมคลาน ดอนตะโก นายอำเภอคนแรกชื่อนายเจริญ ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ริมทะเลบ้านปากน้ำท่าสูง และย้ายไปตั้งที่วัดชลธาราม (วัดเตาหม้อ) ครั้งสุดท้ายย้ายมาตั้งที่ตลาดท่าศาลา ต่อมาในปี 2459 ได้เปลี่ยนชื่ออำเภอกลายเป็น “อำเภอท่าศาลา”

.

ท่าศาลา

ชื่ออำเภอนั้น ตั้งตามชื่อหมู่บ้านที่ตั้งที่ว่าการอำเภอท่าศาลา คือบ้านท่าศาลา บ้านท่าศาลานี้ตั้งอยู่ริมคลองท่าศาลา ซึ่งเป็นคลองเล็กแยกมาจากคลองท่าสูง เป็นท่าจอดเรือสินค้าจากต่างเมือง ที่ท่าเรือมีศาลาพักร้อนปลูกอยู่หนึ่งหลัง เดิมเป็นศาลาชั่วคราวมุงจาก ต่อมาปลูกเป็นเรือนไม้ทรงปั้นหยา มุงสังกะสี ครั้น พ.ศ.2510 ได้รื้อศาลานี้ปลูกใหม่เป็นทรงไทย มุงกระเบื้อง พื้นคอนกรีตเสริมเหล็กหินขัด กว้าง 6 เมตร ยาว 12 เมตร โดยบริษัท ท่าศาลาเหมืองแร่ จำกัด เป็นผู้อุทิศเงินในการก่อสร้างจำนวน 70,000 บาท ชาวบ้านเรียกว่า “ศาลาน้ำ” ตั้งอยู่ริมคลองท่าศาลาใกล้ท่าจอดเรือในสมัยก่อน แต่เดียวนี้ลำคลองตื้นเขินใช้เป็นท่าเรือไม่ได้แล้ว แต่ยังมีศาลาเป็นอนุสรณ์อยู่

___
คัดจาก

นครศรีธรรมราช, จังหวัด. (2527). ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช: จังหวัดนครศรีธรรมราช.