บรรยากาศงาน OTOP ภูมิภาค ความสุขผลิบานทั่วไทย ชวนมาช็อป มาชิมสินค้าของดีระดับ5ดาว

นครศรีสเตชชั่นแนะนำที่เที่ยวครั้งนี้  เราจะชวนพี่ๆน้อง ๆ และนักท่องเที่ยวทุกท่านไปเที่ยวกันที่ งานOTOPภูมิภาค นครศรีธรรมราช ที่จัดขึ้นวันที่ 19-25กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา วันนี้ทางแอดมินเลยเก็บภาพบรรยากาศมาให้ทุกคนชมกันค้า ภายในงานจะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย…

 

งานOTOPภูมิภาค ความสุขผลิบานทั่วไทย ครั้งนี้จัดขึ้นที่ตังหวัดนครศรีธรรมราช ณ ลานตลาดเสาร์-อาทิตย์ ถนน พัฒนาการคูขวาง เป็นงานที่รวบรวมของกิน ของใช้ เครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์ความงาม น้ำมัน สมุนไพรนวดต่างๆไว้ที่งานนี้งานเดียว และไม่เพียงแต่เป็นสินค้าจังหวัดนครศรีธรรมราชเท่านั้น ยังมีอีกหลากหลายจังหวัดทั่วประเทศไทยที่มาออกบูธขายของ นำสินค้าOTOPของดีระดับ5ดาวประจำจังหวัดตนเองมาอวดคุณสมบัติ ความอร่อยกันที่งานนี้ เรียกได้ว่ามางานนเดียวเที่ยวทั่วไทยเลยก็ว่าได้ค่ะ

ทางผู้จัดงานได้มีมาตรการเรื่องป้องกันโรคระบาดอย่างเคร่งครัดมากๆเลยทีเดียวค่ะ  มีการวัดอุณหภูมิก่อนเข้างาน และที่สำคัญมากๆ ต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนโควิด19 (อย่างน้อย 2 เข็ม) กับเจ้าหน้าที่ทุกครั้ง และนอกจากนี้ภายในงานยังมีการแสดงจากหลากหลายภูมิภาคในประเทศไทย มีการสาธิตและการแสดงทางวัฒนธรรม พร้อม ไฮไลท์พิเศษกับการแสดงแสงเสียงในระบบ Multimedia อีกด้วย ไม่เพียงเท่านี้ ผู้ที่มาร่วมชม ช้อป ชิม กับกิจกรรมภายในงาน ซื้อสินค้าครบ 500 บาท สามารถลุ้นรับโชคกับรางวัลพิเศษในทุกวันและรางวัลใหญ่ประจำสัปดาห์ รวมมูลค่ากว่า 100,000 บาท แอดมินการันตีความปังอลังการของงานแน่นอนค่า

งานจะจัดขึ้นในเต้นท์โดมมีแอร์ และแบ่งที่เป็นโซนต่างๆให้ง่ายต่อการเลือกชมและลือกซื้อสินค้า นอกจากนี้ภายในงานมีพ่อค้าแม่ค้าขนของดีมาสาธิตกันเห็นๆถึงสรรพคุณที่ดีเลิศจากสินค้าOTOPของจังหวัดตนเอง ไม่ธรรมดากันใช่มั้ยคะ และภายในงานยังมีของกินเพียบ คนมาจากทุกๆจังหวัด อาธิเช่น ผลไม้ตามฤดูกาลจากเชียงราย อโวคาโดสดๆ เสาวรสลูกโตๆ น้ำพริกหนุ่ม แคปหมู มาจากทางสงขลา คือไข่ครอบำเนื้ออวบๆเด้งๆ ชาชักจากยะลา ข้าวยำน้ำบูดูจังหวัดปัตตานี หมูยอไร้แป้งอุบลราชธานี น้ำมันนวดจากนครศรีธรามราช ผลติภัณฑ์เสริมความงามจากไข่มุกสงขลา เครื่องจักรสานจังหวัดชัยภูมิ ผ้ายก ผ้าทอจากจังหวัดต่างๆ ข้าวสีออแกนิคจากนครปฐม พ่อค้าเเม่ค้าในงานเป็นกันเอง น่ารัก แนะนำทุกอย่างดีมากเลย พูดคุยเป็นกันเอง แอดมินเดินเพลินเลยค่า

 

สินค้าของดีจากหลากหลายภูมิภาค หลากหลายจังหวัดในประเทศไทย นำสินค้ามาให้เลือกช้อปในราคาไม่แพง รวบรวมไว้ที่ งานOTOP ภูมิภาค ประจำปี2564 งานนี้งานเดียวเท่านั้น หากใครที่พลาดงานครั้งนี้ แอดมินรวบรวมมาให้ทุกคนชมแล้ว งานหน้าห้ามพลาดที่จะไปอุดหนุนสินค้าOTOPของดีระดับ5ดาวกันเยอะๆน้า

บรรยากาศในงาน แอดมินเก็บรูปมาฝากค่า..

 

Malong มาลอง ไวน์กระเจี๊ยบและลูกหว้า ของดี ตำบลการะเกด อำเภอเชียรใหญ่

     เราไปเที่ยวที่ไหนก็ต้องซื้อของฝากของที่ระลึกติดไม้ติดมือกลับไปด้วย และสินค้าของดีของขึ้นชื่อของแต่ละจังหวัดก็มีแตกต่างกันออกไป บางสินค้าผลิตหรือแปรรูปมาจากสิ่งที่มีอยู่ในหมู่บ้านในชุมชน แปรรูปเพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนและแปรรูปเพื่อไม่ในทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมากสูญเสียไปอย่างไร้ประโยชน์

ถ้าพูดถึงผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่แปรรูปจากผลไม้ ที่สามารถซื้อไปเป็นของฝาก หรือซื้อกับไปดื่มฉลอง สังสรรค์ เนื่องในโอกาสต่างๆ ก็ต้องหนีไม่พ้นไวน์ผลไม้นะคะ ถ้าจังหวัดเชียงใหม่มีไวน์สตอเบอรี่เป็นของขึ้นชื่อ จังหวัดนครศรีธรรมราชเราก็มีไวน์ขึ้นชื่อเหมือนกันนะคะ วันนี้แอดจะพาทุกท่านไปรู้จักกับ Malong ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากกระเจี๊ยบและลูกหว้า ผลไม้ในท้องถิ่น ตำบลการะเกด อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช

 

คุณบุญมาก ประธานวิสาหกิจชุมชนบางขี้หมู เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะเกิดขึ้นเป็นไวน์กระเจี๊ยบ ทางวิสาหกิจชุมชนได้ผลิตแยมกระเจี๊ยบขึ้นมาก่อน และเมื่อผลิตแยมกระเจี๊ยบแล้วมีน้ำกระเจี๊ยบเหลือเป็นจำนวนมากจึงไม่อยากจะทิ้งให้น้ำกระเจี๊ยบเสียประโยชน์ไปเปล่าๆ จึงนำน้ำกระเจี๊ยบที่เหลือมาทำเป็นน้ำกระเจี๊ยบสดขาย แต่ด้วยน้ำกระเจี๊ยบสดมีอายุการเก็บรักษาไว้ทานนั่นได้ไม่นาน จึงต้องคิดหาวิธีทำให้การเก็บรักษาของน้ำกระเจี๊ยบให้นานกว่าเดิม จึงเกิดการประชุมหาวิธีกันในกลุ่มวิสาหกิจ และได้ข้อสรุปกันว่าจะผลิตไวน์กัน เริ่มศึกษาและทดลองผลิตไวน์กระเจี๊ยบจนสำเร็จผล และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จึงคิดจะหาผลไม้ท้องถิ่นมาผลิตไวน์เพิ่มอีก และได้เห็นลูกหว้าที่เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่มีผล ที่ใกล้จะสูญพันธุ์จึงนำลูกหว้ามาแปรรูปผลิตเป็นไวน์ลูกหว้า เพื่อที่จะได้อนุรักษ์ลูกหว้าผลไม้ท้องถิ่นของชุมชน และเพื่อเป็นเจ้าแรกที่แรกที่ผลิตไวน์ลูกหว้า และได้รับการรับรองมาตรฐานโดยกรมสรรพสามิตอีกด้วยนะคะ

รสชาติของไวน์กระเจี๊ยบและไวน์ลูกหว้ามีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ และในปัจจุบันนี้มีไวน์สัปปะรดเพิ่มขึ้นมาอีกด้วย ไวน์สัปปะรดจะมีสีและรสชาติที่ออกไปทางไวน์ขาว จากการที่แอดมินได้ลองชิมนะคะ ไวน์กระเจี๊ยบจะมีรสชาติดื่มง่ายค่ะเหมาะกับผู้หญิงรสชาตินุ่มนวลและเบาบาง ส่วนไวน์ลูกหว้าจะมีรสชาติและรสสัมผัสที่หนักแน่นกว่าแอดมินเลยคิดว่าไวน์ลูกหว้าน่าจะเหมาะกับผู้ชายหรือคนไหนที่ชอบดื่มแบบเข้มๆค่ะ

ขอแนะนำเลยนะคะถ้ามาเที่ยวที่อำเภอเชียรใหญ่แล้วอย่าลืมแวะมาชิม แวะมาช็อป ซื้อกลับไปเป็นของฝาก สาย L คือพลาดไม่ได้เลยนะคะ แต่ถ้าหากไม่ดื่มไวน์ก็สามารถซื้อแยมกระเจี๊ยบแทนก็ได้นะคะ ผลิตภัณฑ์ของ Malong สามารถซื้อกลับไปฝากให้คนในครอบครัวได้ทั้งครอบครัว แยมกระเจี๊ยบสามารถทานได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ส่วนไวน์ก็สามารถซื้อมาเป็นของฝาก ของที่ระลึก หรือซื้อมาดื่มฉลอง สังสรรค์กันได้อย่างมีความสุขเลยค่ะ

 

ประมวลกิจกรรมงาน มาฆะ มานะ มานครฯ ย้อนร้อยธรรม นำเที่ยว ชิมช็อป

นครศรีสเตชชั่นแนะนำที่เที่ยวครั้งนี้  แอดมินจะชวนพี่ๆน้อง ๆ และนักท่องเที่ยวทุกท่านไปเที่ยวกันที่งานมาฆะในรูปแบบใหม่ คืองาน มาฆะ มานะ มานครฯ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่13-16กุมภาพันธ์2565 ที่ผ่านมา วันนี้แอดมินเก็บภาพบรรยากาศมาให้ได้ชมกัน จะมีกิจกรรมอะไรๆสนุกๆบ้างไปดูกันเลย…

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำงานนครศรีธรรมราชได้จัดงานมาฆะขึ้นมาในรูปแบบใหม่ แต่ยังคงConcept การเป็นเมืองแห่งวัฒนธรรม โดยรูปแบบของงานเป็นงานมินิมอล ย้อนยุค เหมาะแก่การไปถ่ายรูปสุดๆ นอกจากนี้ที่งานยังมีร้านอาหารเจ้าเด็ดเจ้าดังจังหวัดนครฯไปเปิดมากมาย งานนี้กำเงินไปได้ของกินอร่อยๆติดไม้ติดมือกลับบ้านกันแน่นอน

นอกจากนี้ในงานก็จะแบ่งเป็นโซนต่างๆ งานบรรยากาศสบายๆ ไม่แออัด ยังคงมาตรการเที่ยวแบบสนุก รักษาระยะห่าง ในงานยังมีที่ทานอาหารนั่งพื้นชิคๆเก๋สุดๆ ในงานยังมีกิจกรรมต่างๆและการแสดงโชว์ต่างๆ และมีนิทรรศการมากมายในงานอีกด้วยค่ะ

ในงานจะมีนิทรรศการผ้าพระบฏจัดแสดงให้ผู้เข้าร่วมงานเข้าไปชมกันค่ะ

ผ้าพระบฏ คือผ้าที่ชาวพุทธทั่วโลกสืบเนื่องกันมาหลายประเทศเช่นกับสมัยพุทธกาลในอินเดียมีตำนานเรื่องราวเกี่ยวกับการเขียนผ้าพระบฏกล่าวว่าพระเจ้าอาชาตศัตรูทูลขอพระพุทธฉายจากพระพุทธเจ้าเพื่อสักการบุชาแทนพระองค์ซึ่งพรุพุทธองค์ก็ได้โปรดประทานพระพุทธฉายประทับอยู่บนผ้าผืนหนึ่ง ซึ่งระบายด้วยสีต่างๆและมีการสืบต่อการทำภาพบนผืนผ้าเพื่อใช้เป็นเครื่องบูชาไปยังประเทศต่างๆที่นับถือพุทธศาสนา เช่น ทิเบต จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เนปาล พม่า ลังกาวี ไทย ลาว ตราบเท่าปัจจุบันนี้

นอกจากนี้ผ้าพระบฏมีลักษณะแนวนอนผืนยาว มีเขียนภาพพุทธประวัติ หรือเป็นผ้าสีเหลือง แดง ขาว แถบยาว แล้วผู้คนก็จะเทินไว้เหนือศีรษะเป็นผืนยาว แห่ไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ อันถือเอาธรรมเนียมมาแต่สมัยพญาศรีธรรมโศกราช ที่ริเริ่มไว้เมื่อ๘๐๐ปีที่แล้ว

ในงานยังแบ่งโซนอาหารและเครื่องดื่มไว้อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นงานรวมตัวร้านอาหารของเด็ด เจ้าดังในจังหวัดนครศรีธรรมราชเลยก็ว่าได้ค่ะ ไม่ว่าจะเป็นร้านโกปี๊ ขนมจีนป้าจู ขนมปะดาโพธิ์เสด็จ ร้านก๋วยเตี๋ยวเส้นปลาโกอ่าง ร้านขนมพื้นบ้านต่างๆ ตลอดจนงานแฮนด์เมด เรื่องถม เป็นต้น

และยังมีการออกบูธขายสินค้าของดีของชุมชนต่างๆในจังหวัดนครศรีธรรมราช ไม่ว่าจะเป็นชุมชนหัวไทร ชุมชนพรหมโลก โกโก้One More เป็นต้น เป็นบูธขายอาหารแปรรูป เช่นน้ำพริกของขึ้นชื่อกะปิปากพนัง ซูชิมันปูนา ปลาหวานแปรรูป ลูกตาลลอยแก้ว เป็นต้น

และทีเด็ดในงานนี้สำหรับแอดมินยกให้ ยำดอกดาหลา จากชุมชนพรหมโลกส่งเข้าประกวด ว้าวมากๆแอดมินไม่เคยกินยำดอกดาหลามาก่อน เป็นการยำโดยการใช้ดอกดาหลาซอย ใส่ด้วยน้ำยำสูตรเข้มข้นของชุมชน ใส่ถั่วลิสงคั่ว กุ้งแห้งตัวใหญ่ พริกสด หอมซอย น้ำมะนาวนิดหนึ่ง ยำให้เขากัน ก่อนจะเสิร์ฟ?อปด้วยกุ้งอีกที อื้อหือ รับรองลืมไม่ลงแน่นอน

นอกจากทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักนครศรีธรรมราชยังจัดกิจกรรมไว้ให้ทุกท่านได้ร่วมสนุกเพื่อลุ้นรับของรางวัลสุดน่ารักจากน้องมานะอีกด้วย

บรรยากาศงานมาฆะ มานะ มานครฯ สนุกแบบคงวัฒนธรรม งานไม่เล็กไม่ใหญ่เดินได้ทั่วถึง งานน่ารักๆแบบนี้ ขอขอบคุณทางการท่องเที่ยวจังหวัดนครศรีธรรมราชที่จัดงานดีด เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวให้กับนครสรีธรรมราช ปีหน้าหากมีงานดีดีแบบนี้อีก ทุกคนห้ามพลาดที่จะไปเที่ยวน้า

ชมคลิปกิจรรม

ตำนานพระธาตุเมืองนคร ฉบับจิตรกรรมศาลาประโชติศาสนกิจ

ตำนานพระธาตุเมืองนคร
ฉบับจิตรกรรมศาลาประโชติศาสนกิจ

 

ไม้คู่หนึ่งเกลียว ส่วนที่เหลือเป็นต้นเดี่ยวแบ่งฉาก

ว่าด้วยเรื่องทำพระธาตุ ที่ศรีธรรมราชมหานคร

.

วัดวังตะวันตก

วัดวังตะตก มีนานาเรื่องเล่าสำคัญเป็นของตัวเองอยู่ในมือ แต่เหตุใดไม่ร่ายเพิ่มเป็นตำนานประวัติศาสตร์ห้อยท้ายตำนานปรัมปราตามอย่างขนบการแต่งตำนานเหมือนสำนวนอื่นๆ ในท้องถิ่น เรื่องทำพระธาตุฉบับใดและเพราะเหตุใดที่จิตรกรเลือกใช้เป็นตัวแบบ สิ่งละอันพันละน้อยที่ปรากฎในภาพ แสดงสัญลักษณ์หรือเข้ารหัสความคิด-ความรู้ใดเอาไว้บ้าง

.

เหล่านี้ เป็นคำถาม

เพื่อกระตุ้นความสนใจส่วนตัว

.

ฟังว่าเป็นภาพวาดสีพาสเทลเมื่อราว 40 ปีก่อน ฝีมือครูอุดร มิตรรัญญา ได้ต้นเค้ามาจากคัมภีร์พระนิพพานโสตรไม่สำนวนใดก็สำนวนหนึ่ง ฉากต้นยกเมื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระขึ้นแสดง ฉากปลายทำรูปสองกษัตริย์ (พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชกับพระเจ้าอู่ทอง) ปันแดนที่ไม้แกวก

.

ตำนานพระบรมธาตุ

ถ้าไม่นับบทละครตำนานพระบรมธาตุและเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับพุทธศักราช 2513 บทประกอบการแสดงแสงเสียง เรื่อง ตำนานพระบรมธาตุ ประจำปี 2537 และบทพากษ์ประกอบแสง สี เสียง มินิไลท์ แอนด์ ซาวด์ ในห้วงทศวรรษ 2550 แล้ว จิตรกรรมชิ้นนี้ถือเป็น “ภาคแสดง” ของทั้งเรื่องราวและเรื่องเล่าที่ว่าด้วยการ “ทำพระธาตุ” ผ่านภาพวาดที่น่าศึกษา และสำหรับเรื่องนี้ คงเป็นหนึ่งเดียวในนครศรีธรรมราช จึงไม่พักจะพรรณนาว่าล้ำค่าสักปานใด

.

กราบอนุโมทนากับจิตรกรผู้ล่วงลับอย่างที่สุด เสียดายที่ไม่มีโอกาสได้สนทนา-สัมภาษณ์ จึงถือเป็นหน้าที่ส่วนที่เหลือของผู้ชมโดยสมบูรณ์ ตามว่า The Death of the Author (แต่อันนี้ Death จริงใช่เพียงแค่เปรียบเปรย)

.

ในฉากมีอะไรให้ตื่นตาอยู่มาก จึงละเสียมาสังเกตของกั้นฉากทั้ง 27 ที่ทำเป็นไม้ยืนต้น ยังดูไม่ค่อยออกว่าเป็นต้นอะไร ในหนังสือ “คัมภีร์พระนิพพานโสตร ตำนานแห่งพระธาตุเมืองนคร นานาของดีกลางเมืองนคร” ยกว่ามี สะตอ ทุเรียน ขนุน เป็นพื้น

.

ไม้คู่เกลียวหนึ่ง

สังเกตเห็นไม้คู่เกลียวหนึ่ง ในท่ามกลางของกั้นอื่นๆ ที่เป็นต้นเดี่ยวทั้งหมด ฉากซ้ายมือหนังสือนั้นว่าเป็น “ฉากที่ 6 พระนางเหมชาลา พระทนธกุมารขึ้นฝั่งที่หาดทรายแก้ว” ส่วนทางขวาเป็น “ฉากที่ 7 พระนางเหมชาลา พระทนธกุมารได้รับความช่วยเหลือจากเรือพ่อค้า”

.

หากไม้เกลียวคู่นี้ถูกเข้ารหัส

และมาแสดง ณ เหตุการณ์ที่สองกษัตริย์ขึ้นหาดทรายแก้ว

มีข้อพิจารณาใดที่พอจะถอดความได้บ้าง ?

.

ตั้งแต่ฉากแรกมาจนถึงฉากทางซ้ายของไม้คู่นี้ เป็นเรื่องเดียวกันกับที่มีกล่าวในมหาปรินิพพานสูตร แล้วมาต่อกับตำนานพระเขี้ยวแก้วหรือทาฐาวังสะฝ่ายลังกา ส่วนถัดแต่ฉากไม้คู่ไป ว่าด้วยเหตุการณ์เรือแตก ร่ายไปจนทำพระธาตุบนหาดทรายแก้ว แล้วตั้งนครศรีธรรมราชเป็นกรุงเมือง

.

ไม่เคยอ่านต้นฉบับตำนานพระเขี้ยวแก้วของลังกา ผ่านตาเฉพาะในหนังสือ “มหาธาตุ” ของ ดร.ธนกร กิตติกานต์ ที่สรุปไว้ในตอนที่เกี่ยวข้องนี้ว่า สองกษัตริย์ (พระเหมชาลากับพระทนธกุมาร) เดินทาง “นำพระเขี้ยวแก้วไปถวายแด่พระเจ้าสิริเมฆวรรณแห่งลังกา” ในนั้นปราศจากอนุภาค “เรือแตก”

.

“ไม้คู่” แบ่งฉากตรง “เรือแตก” นี้

ต้นหนึ่งจึงอาจสื่อว่าข้างซ้ายเป็นของรับปฏิบัติมา

อีกหนึ่งบอกว่าขวาคือของเราที่ขอเคล้าด้วย

อาการเกลียวนี้จึงกำลังบอกตำแหน่งเริ่ม “เกี่ยวพัน”

.

ตำแหน่งไม้คู่

จึงอาจเป็นความพยายามของจิตรกร

ที่จะแสดงให้เห็นว่า “ตำนาน” นี้ มีต้นทางมา

กับการแตกเรื่องออกไปเป็นของท้องถิ่น

ทำนอง Oicotypification

เพื่อสร้างและอธิบายความหมาย

ขององค์พระบรมธาตุเจดีย์

(ในที่นี้จะยังไม่ขอกล่าวเพิ่ม)

.

เรื่องหาด “ทรายแก้ว” นี้ก็น่าสนใจ เพราะเพิ่งรู้ว่าแปลมาจาก “รุวันเวลิ” ชื่อเรียกมหาสถูปแห่งเมืองอนุราธปุระฯ

 

กาแฟปูนา ผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อ ตำบลตรอกแค อำเภอชะอวด

กาแฟปูนา เป็นกาแฟแบบไหน พอจะเดาออกกันมั้ยค่ะ ? จะเป็นนั่งดื่มกาแฟชมทุ่งนา ชมปูนา หรือกาแฟขี้ปูนาอารมณ์คล้ายๆกาแฟขี้ชะมด แล้วปูนาจะมาอยู่ในกาแฟได้อย่างไร? แล้วมันจะรสชาติอย่างไร? จะคาวหรือเปล่า?

วันนี้มาหาคำตอบของคำถามพวกนี้ไปพร้อมๆกันแอดมินนะคะ ถ้าพร้อมแล้วก็มาอ่านเรื่องราวของกาแฟปูนากันนะคะ

คุณสนั่น เจ้าของตลาดใต้ต้นปาล์มริมคลองตรอกแค เล่าให้ฟังว่า ในสมัยก่อนพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่รกร้างของครอบครัว ถูกละทิ้งไว้หลายปี จนคุณสนั่นมีแนวคิดที่จะปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงพื้นที่ตรงนี้ ปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นแหล่งเรื่องรู้ในการนำผลิตภัณฑ์ที่เหลือใช้มาทำให้เกิดประโยชน์และสร้างรายได้ และมีโฮมสเตย์ที่เน้นธรรมชาติ

 

กาแฟปูนาเกิดจาก คุณสนั่นได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวบ้านในบริเวณบ้านตรอกแค ได้พบว่าชาวบ้านจะนำไซไปวางตามท้องนา คูนา จะมีปูมีปลาติดมาตามไซ แต่ชาวบ้านต้องการแค่ปลาไม่ได้ต้องการปูนา คุณสนั่นเลยเกิดข้อสังสัยว่าแล้วชาวบ้านจะทำอย่างไรกับปูนาที่ติดด้วย ชาวบ้านได้บอกกับคุณสนั่นว่าปูนาที่ติดมากับไซจำเป็นต้องทิ้งเพราะไม่สามารถนำไปจำหน่ายได้

คุณสนั่นจึงขอปูนามาคิดวิธีแปรรูปปูนาเพื่อไม่ให้สูญเสียทรัพยากรธรรมชาติไปอย่างเสียประโยชน์ ช่วงแรกๆได้นำปูนามาแปรรูปเป็นน้ำพริกผงปูนาชนิดแห้งแบบซองสามารถพกพาได้ ส่วนต่อมาคุณสนั่นได้คิดค้นการแปรรูปเป็นกาแฟสดสูตรปูนา เป็นกาแฟสดที่มีส่วนผสมของปูนา 100% ไม่มีสารเคมีในการผลิต คุณภาพและรสชาติได้มาตราฐานอย่างแน่นอน คุณสนั่นฝากแอดมินมาการันตีค่ะ

 

จากที่แอดมินได้ลองชิมกาแฟปูนาแล้วนะคะ สิ่งที่เด่นขึ้นมาเลยจนแอดมินตกใจคือกลิ่นของกาแฟที่หอมมาก ไม่มีกลิ่นคาวของปูนา เป็นสิ่งที่น่าแปลกใจมากนะคะที่กาแฟไม่มีกลิ่นคาวของปูนา และรสชาติของกาแฟกับปูนาก็เข้ากันดี

ส่วนวิธีการทำนั้นปูจะต้องเป็นปูที่ออกไข่มาแล้วสี่รอบ โดยจะจับปูมาพักเพื่อล้างท้องก่อน 5 วัน จากนั้นให้ทานข้าวสวย 5 วัน และจากนั้นจึงนำไปทำความสะอาด และเอาส่วนที่ไม่ใช้ออก จากนั้นก็นำไปทำให้สุกแล้วนำมาคั่วกับเมล็ดกาแฟ จะมีทั้งแบบคั่วเข้มและคั่วกลาง

  ผลิตภัณฑ์กาแฟปูนา
  • แบบแก้วพร้อมดื่ม ราคา 40 บาท 
  • แบบซองสำหรับดริป 35 บาท
  • แบบถุง 200 กรัม 200 บาท

  • สบู่กาแฟปูนา ก้อนละ 35 บาท

 

และภายในตลาดใต้ต้นปาล์มริมคลองตรอกแคนี้ ยังมีโฮมสเตย์ที่สามารถเข้ามาพักเพื่อซึมซับบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติได้อีกด้วยนะคะ

ภายในจะมีร้านกาแฟปูนา สัตว์ต่างๆที่ทางคุณสนั่นเลี้ยงไว้ มีทั้งกวาง ปู ปลา ไก่และเต่า เดินชมสัตว์ภายในบริเวณตลาดใต้ต้นปาล์มไปพร้อมกับบรรยากาศดีๆ และมีของสะสมของเก่าที่คุณสนั่นนำมาเก็บไว้สะสมให้ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมได้ชมกันด้วยนะคะ

พอได้มาเห็นของเล่นโบราณและของเก่าๆก็นึกถึงสมัยยังเป็นเด็กเลยค่ะ แอดมินของบอกเลยค่ะว่าตลาดใต้ต้นปาล์มริมคลองตรอกแคและกาแฟปูนาเป็นสิ่งที่ทุกคนห้ามพลาดนะเมื่อมาเที่ยวที่อำเภอชะอวดแล้ว แวะชิมชมช้อป ซื้อกลับไปเป็นของฝากกันนะคะ

 

และอย่าลืมเล่าเรื่องราวของกาแฟปูนาให้คนที่เราซื้อของไปฝากได้ฟังด้วยนะคะ รับรองว่ารสชาติของกาแฟจะอร่อยมากขึ้นอีกเท่าตัวเลยค่ะ เมื่อรู้ถึงเรื่องราวของกาแฟปูนา

ชมคลิป VDO

สาวชุม-หนุ่มสุวรรณ ตำนานรักพระลากเมืองนคร

สาวชุม-หนุ่มสุวรรณ
ตำนานรักพระลากเมืองนคร

 

บ้านนาพรุ

ในครั้งเมื่ออดีตกาล บ้านนาพรุ มีเศรษฐีคนหนึ่งที่มั่งคั่ง ร่ำรวยเป็นอย่างมาก ชาวบ้านจึงขนานนามกันว่า “เศรษฐีบ้านพรุ” ท่านกับภรรยามีบุตรสาวที่รักปานแก้วตาดวงใจ มีนามว่า “ชุม” สาวชุม จึงเป็นที่ หมายปองของชายหนุ่มทั้งหลายโดยรอบบริเวณนั้นรวมถึง “หนุ่มสุวรรณ” บุตรชายของเศรษฐีบ้านท้ายสำเภา  ผู้มีฐานะทัดเทียมกับเศรษฐีบ้านนาพรุ หนุ่มสุวรรณได้เจอกับสาวชุมครั้งแรก  ก็ได้หลงรัก และ   มีใจให้สาวชุม วันเวลาผ่านไปหลังจากนั้นทั้งสองก็รักกัน ด้วยความรักที่มีให้หนุ่มสุวรรณกับสาวชุมจึงได้ตกลงคบหากัน โดยเป็นที่ทราบกันของเศรษฐีทั้งสองฝ่าย ด้วยความรักที่มีให้กันเป็นเวลานาน  หนุ่มสุวรรณ จึงบอกกับบิดา มารดาว่า จะขอหมั้นหมายแต่งงานกับสาวชุมลูกเศรษฐีนาพรุ  ทางฝ่ายสาวชุมเมื่อทราบข่าว ถึงวันที่หนุ่มสุวรรณจะมาขอหมั้นหมายแต่งงานกับลูกสาว อันเป็นที่รัก ก็ได้ตอนรับเป็นอย่างดี  ด้วยเหตุที่ว่าหนุ่มสุวรรณเป็นคนดี มีคุณธรรมนำชีวิต เศรษฐีนาพรุ บิดา มารดา ของสาวชุมจึงตกลงกันยกสาวชุมเป็นคู่หมั้น หนุ่มสุวรรณ ก่อนแต่งงานสมรส

.

ไข้น้ำระบาด

หลังจากนั้นวันเวลาผ่านไปไม่นาน ได้เกิดโรคระบาดอย่างหนัก “ ไข้น้ำ ” หรือ ไข้ทรพิษ ขึ้นในแถบบ้านนาพรุและบริเวณใกล้เคียง ปรากฏว่าสาวชุม ได้ล้มป่วยลงด้วยโรคระบาด จนสุดความสามารถ ที่หมอทั้งหลาย จะพยายาม เยียวยารักษาให้หายได้ แต่ในความทุกข์  ของสาวชุมนั้น  หนุ่มสุวรรณ ซึ่งเป็นคนรัก ก็ยังคงเคียงข้าง ไม่ทิ้งไปไหน ไม่รังเกลียดคนรัก   แม้คนรักจะมีแผลอันน่าเกลียด มีร่างกายที่ซีดผอมจากพิษของโรคร้าย หนุ่มสุวรรณก็ดูแลเคียงค้างจนวินาทีลมหายใจสุดท้ายที่สาวชุม ซึ่งเป็นคนที่รักมาก ของตัวเองจากไป  จนทำให้หนุ่มสุวรรณนั้นเกิดความเสียใจ  ซึมเศร้า เป็นอย่างมาก เพราะรักแท้ที่มีให้กับสาวชุม หนุ่มสุวรรณจึงตรอมใจลง จนร่างกายป่วยไข้   และสิ้นชีพตามสาวชุมคนรักในเวลาแค่ไม่กี่วัน

.

สาวชุม หนุ่มสุวรรณ

การจากไปของชายหนุ่ม และ หญิงสาว คู่นี้ ได้สร้างความเสียใจแก่บิดา มารดาทั้งสองฝ่ายเป็นอย่างมาก เศรษฐีนาพรุกับเศรษฐีท้ายสำเภา จึงยกที่ดินส่วนหนึ่งสร้างวัด และให้นายช่างหล่อพระลากกลุ่มหนึ่ง มาสร้างพระพุทธรูป เพื่ออุทิศบุญกุศลให้บุตรธิดาทั้งสอง โดยได้หล่อพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร พระเกศรัศมียอดเปลวเพลิงไว้องค์หนึ่ง แต้มปาก ทาเล็บทั้งหมดให้เป็นสีแดง เพื่อเป็นพระพุทธรูปแทนตนของ “ สาวชุม ” บุตรสาวเศรษฐีบ้านนาพรุ และได้สร้างพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรอีกองค์หนึ่ง ทรงเครื่อง เพื่อให้เป็นพระพุทธรูปแทนตัวของ “หนุ่มสุวรรณ” เมื่อช่างหล่อพระได้ขัดสีตบแต่งเรียบร้อยแล้วเศรษฐีทั้งสองก็ได้นิมนต์ พระภิกษุมารับถวายพระพุทธรูป พร้อมกับอุทิศผลานิสงส์ให้ไปถึงสาวชุม และ หนุ่มสุวรรณ บุตรธิดาผู้วายชนม์

.

พระแม่ชุม

ภายหลังจากทำพิธีอุทิศพลานิสงส์ พระลาก พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร ที่เศรษฐีนาพรุ ได้สร้างถวายวัดนั้น  ได้เกิดปาฏิหาริย์ขึ้น ในตอนนั้นต่อหน้าผู้คนเป็นจำนวนมาก ที่พระพุทธรูป มีพุทธลักษณะเป็นตำหนิ เหมือนรอยแผลเป็นก่อนที่สาวชุม  จะเสียชีวิต เศรษฐี และชาวบ้านทุกคนที่อยู่ตรงนั้นต่างตกตลึง เมื่อเห็นพระพุทธรูป  มีพุทธลักษณะ เหมือนสาวชุม ด้วยความศรัทธาของชาวบ้านนาพรุ-บ้านท่าช้าง-บ้านท้ายสำเภา หลังจากนั้นชาวบ้านจึงเรียกพระลากองค์นี้ว่า แม่ชุม หรือ พระแม่ชุม

.

พระลากแม่ชุมวัดท่าช้าง อยู่คู่กับชาวนาพรุ-ท่าช้าง เป็นเวลายาวนาน มีการเชิญลงมาสรงน้ำในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ และ ในช่วงเทศกาลออกพรรษาของทุกปี พระลากแม่ชุมได้รับความศรัทธา นับถือ จากผู้คนในย่านอำเภอพระพรหม ว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ใน

.

ด้านความรัก = ถ้าใครได้มากราบไหว้บูชา จะสมหวังในความรักที่มั่นคง มีศุภผลดลบันดาลให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข คนที่เป็นโสดอยู่ ก็จะมาบูชาเพื่อหาเนื้อคู่ที่ดี เหมาะกับตน เนื่องจากพระพุทธรูปองค์นี้ เป็นตัวแทนแม่ชุม-พ่อสุวรรณ ที่ทั้งสองมีรักแท้ ไม่ทอดทิ้งกัน จนวันตายจาก ก็ต้องไปด้วยกัน

.

ด้านค้าขาย = พ่อค้า แม่ขาย ก็จะนิยมมาสักการะพระแม่ชุม เนื่องจากเชื่อว่า พระแม่ชุมเป็นบุตรีของเศรษฐี จึงมีความนิยมว่า ถ้าขอพรพระแม่ชุมแล้ว จะทำมาค้าขาย อะไรก็ดี และมีความมั่งคั่งมีอัตภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

.

ด้านเมตตา = ชาวบ้านจะมาบนบาน ขอให้พระแม่ชุมช่วยในด้านต่าง ๆ เช่น ขอโชคลาภ ขอให้สำเร็จในการงาน  ขอให้สอบผ่าน  ขอให้มีงานทำ ขอให้ของที่หาย ได้กลับคืนมา

.

ดังนั้นพระแม่ชุม แห่งวัดท่าช้าง จึงมีผู้ศรัทธาเข้ามาสักการะอยู่บ่อย ๆ เพราะเหมาะกับการบูชา แก่ผู้ที่ต้องการแสวงหาความมั่นคงในความรัก ผู้ที่ประกอบอาชีพค้าขาย รวมถึงผู้ที่ต้องการความอบอุ่นในครอบครัวให้บังเกิดผลประสบความสำเร็จดั่งปรารถนา เมื่อชีวิตส่วนตัว และชีวิตในหน้าที่การงานสมบูรณ์พร้อม ความสุขที่ยั่งยืนก็พร้อมที่จะบังเกิดขึ้น เป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่ที่ ปุถุชนพึงควรมี เพื่อจะก้าวหน้าไปทั้งทางโลก และ ทางธรรม ดั่งพระแม่ชุม วัดท่าช้าง และ พระพุทธเศรษฐีศรีสุวรรณ วัดท้ายสำเภา ซึ่งเป็นตำนาน พระลากคู่รัก เมืองนคร ที่อยู่คู่วัด คู่บ้าน คู่เมือง เสมอมา ถึงแม้ว่าจะอยู่คนละวัด แต่ดวงจิตที่ยังคงมั่นในรัก และผูกพัน ก็คงยังอยู่คู่กัน ให้เป็นที่กล่าวขวัญเป็นที่สักการบูชา ของลูกหลานชาวพระพรหมเป็นเวลาหลายร้อยปี สืบไป

ภาพและข้อมูลจาก Facebook : วัดท่าช้าง นครศรีธรรมราช

ตะลุยกินในงบ 200บาท ที่ตลาดนัดหมอจวน

นครศรีสเตชชั่นแนะนำที่เที่ยวครั้งนี้  เราจะพาพี่ๆน้อง ๆ และนักท่องเที่ยวทุกท่านไปตะลุยกินกันที่ ตลาดนัดหมอจวน ท่าศาลา นครศรีธรรมราช

มาทำความรู้จักกันว่า “ ทำไมถึงชื่อตลาดหมอจวน ” คุณป้าเพ็ญทิพย์ หรือ ป้าแดงเจ้าของตลาดเล่าให้เราฟังว่า คุณลุงของป้าแดงชื่อหมอจวน เปิดคลินิกอยู่ในตัวอำเภอท่าศาลา ตอนหลัง ป้าแดงไปซื้อที่ตรงตลาดและสร้างหมู่บ้านขึ้นมาและต่อมาสร้างเป็นตลาดขึ้นมา เลยเอาชื่อของคุณลุงมาตั้งเป็นชื่อตลาด เพราะในยุคนั้นคนท่าศาลาไม่มีใครไม่รู้จักหมอจวน และถ้าหากพูดถึง4แยกหมอจวน ถามใครที่ไหนต้องเป็นอันรู้จัก ก่อสร้างตลาดในปีพ.ศ.2535 และได้สร้างศูนย์อาหารให้พ่อค้าแม่ค้าเข้ามาขายข้าว แต่ช่วงนี้เป็นยุคโควิด ทำให้มีพ่อค้าแม่ค้าน้อยลง จวบจนปัจจุบันนี้ก็เปิดเป็นตลาดนัดหมอจวนมาโดยตลอด

ตลาดนัดหมอจวนเป็นอีกหนึ่งตลาดที่เป็นที่รู้จักในหมู่ชาวท่าศาลาและนักศึกษามหาวิทยาลัยมาก เพราะว่าตลาดนัดหมอจวนมีสินค้าหลากหลาย ราคาน่ารักให้นักช็อปปิ้งอย่างเราๆได้เลือกซื้อของตามใจชอบ ไม่ว่าจะเป็นโซนของกินเล่น ขนม อาหารหนัก ก๋วยจั๊บ ผลไม้ โซนของสด กับข้าว ผัดสด โซนเสื้อผ้ามือหนึ่ง และมือสอง โซนรองเท้ามือสอง และอีกมากมาย

และวันนี้แอดมินจะพานักช็อปปิ้งทุกคนไปตะลุยกินในงบ200บาทที่ตลาดนัดหมอจวน จะได้อะไรกันบ้างไปดูกันเลย

ร้านที่ 1 คือร้านเคบับไก่และเนื้อ

วันนี้เราสั่งเป็นเคบับไก่ 1ชิ้น ร้านนี้เป็นอีกร้านที่แอดมินต้องยกนิ้วให้กับรสชาติของเคบับ ถูกปากและอิ่มในชิ้นเดียว เพราะทางร้านให้ไก่เน้นๆผัดราดซอสจุกๆ ม้วนโตๆ สนนราคาอยู่ที่30บาทเท่านั้น

ร้านที่2 คือร้านขนมถังทอง

ขนมร้านนี้เป็นอีกหนึ่งเจ้าที่อร่อยมากๆและขายดีสุดๆ หากทุกคนไปตลาดช้า จะอดกินขนทถังทองร้านนี้แน่นอน ขนมถังทองร้านนี้มีหลายไส้ให้ได้เลือกทานกัน ทางเราเลยไม่พลาดที่จะจัดมา2ชิ้น ในราคา 20บาท

ร้านที่3 คือร้านเฉาก๊วยชากังราว

หากไปตลาดนัดหมอจวนไม่ได้ยินเสียงโฆษณาเฉาก๊วยน่าจะไปไม่ถึง เดินมาร้อนๆต้องดับร้อนด้วยเฉาก๊วยนมสดรากน้ำตาลแบบฉ่ำๆกันเลย เราก็จัดไป1แก้วแบบไม่ปล่อยให้พลาดกันเลย สนนราคาแก้วยละ25บาท

ร้านที่4 คือร้านก๋วยจั๊บ

เดินมานานๆเริ่มหิวแล้วแอดมินเลยมาหาของหนักๆไปกินที่ห้อง วันนี้เลยเลือกก๋วยจั๊บเจ้าประจำ ร้านนี้น่าจะเป็นร้านประจำของเด็กมหาลัยก็ว่าได้เลย ทางร้านมีเส้นให้เลือกเยอะมากๆและสามารถบอกได้ว่าจะใส่เครื่องอะไรบ้าง ให้กันแบบอิ่มใน1ถุง สนนราคาก๋วยจั๊บอยู่ที่ถุงละ 40บาท

ร้านที่5 คือร้านเครปไส้จุกๆ

มาต่อด้วยของหวาน มีของคาวต้องมีของหวานตามลำดับ เครปร้านนี้มีไส้เยอะมากให้เลือก ทางเราไม่พลาดเลยที่จะสั่ง3ไส้เน้นๆ สนนราคาแผ่นละ35บาท อิ่มกันในหนึ่งแผ่นเลย งบยังเหลือแอดมินพาไปต่อร้านต่อไปเลย

ร้านที่6 รองเท้ามือสอง

สวรรค์ของคนรักของมือสองแบบแอดมิน ไม่พลาดที่จะมาโซนรองเท้า ช่วงนี้อยากได้รองเท้าวิ่งซัก1คู่ไม่พลาดที่จะจัดคู่เด็ดๆ ในโซนนี้จะใช้เวลานานเป็นพิเศษ และแล้วเราก็ได้มา1คู่ ราคาคู่ละ50บาทนั่นเองค่ะ

เป็นอย่างไรกันบ้างคะทุกคน งบ200บาทที่ตลาดนัดหมอจวน ได้ของทั้งคาว หวานของกินเล่นและรองเท้า แบบจุกๆกันเลย หากทุกคนผ่านท่าศาลาหรืออยู่ในแถวท่าศาลา อย่าลืมแวะไปเที่ยวและอุดหนุนพ่อค้าแม่ขายกันด้วยนะคะ

  • ตลาดนัดหมอจวนจะเปิดบริการทุกวันพุธ
  • เวลา 15:00-19:00น.
  • พิกัด: สี่แยกโลตัส ติดกับปั๊มบางจาก

ชมคลิป

ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลโกโก้ จากสวนโกโก้ธวัชชัย ของดี อำเภอท่าศาลา

สวนโกโก้ธวัชชัย ผลิตภัณฑ์จากผลโกโก้ ของดี ตำบลสระแก้ว อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช

อำเภอท่าศาลาเป็นพื้นที่ที่ปลูกโกโก้เยอะที่สุดในจังหวัดนครศรีธรรมราช และถ้าหากมาเที่ยวอำเภอท่าศาลาแล้วยังไม่มีของฝากกลับไป วันนี้แอดมินก็ขอแนะนำผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปมาจากโกโก้ จากสวนโกโก้ธวัชชัยนะคะ

 

    เรามาทำความรู้จักกับประวัติความเป็นมาของสวนโกโก้ธวัชชัยกันนะคะ คุณธวัชชัย เสพย์ธรรม เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งด้านการปลูกและการหมักโกโก้โดยวิธีการโบราณจากรุ่นพ่อแม่ โดยภายในบริเวณรายล้อมไปด้วยต้นโกโก้ดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่ ปี 2535 จนปัจจุบันมีการเรียนรู้เพิ่มเติมและประยุกต์ใช้วิธีการหมักทั้งแบบโบราณ และแบบใหม่ปรับเปลี่ยนจนมีเทคนิคเอกลักษณ์ของตัวเอง และกลายมาเป็นเกษตรกรที่หันมาสนใจแปรรูปโกโก้รายแรกๆ ของท่าศาลา

พิกัด 8.7717,99.92276 บ้านเลขที่ 264 หมู่ 5 ตำบล สระแก้ว อำเภอ ท่าศาลา จังหวัด นครศรีธรรมราช   https://bit.ly/3swRqMl

 

    ภายในสวนจะมีต้นโกโก้ให้เห็นเป็นจำนวนมากค่ะ เป็นต้นโกโก้ที่มีอายุมากกว่า 20 ปี พี่จิ๋มเจ้าของสวนพาเดินชมต้นโกโก้ พร้อมพูดคุยกันถึงเรื่องโกโก้ การปลูกการดูแลการหมักและการแปรรูป สวนโกโก้ธวัชชัยแปรรูปแบบโฮมเมด ทำกันในครอบครัวตามกำลังและความสามารถของคนในครอบครัว ใช้ความใส่ใจความรักในโกโก้ทำด้วยความสุข และเมื่อแอดมินได้ลองชิมโกโก้ร้อนที่พี่จิ๋มทำให้ชิมทำให้แอดมินได้รู้สึกถึงความใส่ใจในทุกขั้นตอน และรู้สึกอบอุ่นเหมือนได้นั่งดื่มโกโก้ในสวนของบ้านตัวเอง โกโก้มีกลิ่นหอมมากถึงความใส่ใจในทุกขั้นตอน และรู้สึกอบอุ่นเหมือนได้นั่งดื่มโกโก้ในสวนของบ้านตัวเอง โกโก้มีกลิ่นหอมมาก

บริเวณหน้าบ้านจะเป็นลานตากเมล็ดโกโก้ ตากเมล็ดโกโก้ให้แห้งเพื่อที่จะนำมาแปรรูปต่อไป

   

การแปรรูป

  1. โกโก้นิปส์ (Cocoa nibs) เมล็ดโกโก้ที่ผ่านการหมักและตากเรียบร้อยแล้ว สามารถนำมาคั่วหรืออบที่อุณหภูมิประมาณ 150 องศาไม่เกิน 15 นาที จะได้เมล็ดโกโก้คั่วสุก ที่เรียกว่าโกโก้นิปส์ (Coca nibs)ถือเป็นโกโก้แท้100% สามารถรับประทานเป็นของขบเคี้ยวได้ทันที
  2. เปลือกหุ้มเมล็ดโกโก้ (Cocoa brew) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากเปลือกหุ้มเหม็ดที่ผ่านการตากและคั่วแล้ว สามารถนำมาใช้ทำชาสมุนไพร ให้กลิ่นหอม
  3. ผลิตภัณฑ์จากเนื้อโกโก้ (Coca liquor หรือ Coca mass) เป็นการนำเอาเมล็ดที่คั่วเรียบร้อนแล้วมาแกะหรือกะเทาะเปลือกออก จากนั้นนำมาทำการบด ด้วยครกหรือหินโม่บด จนกลายเป็นเนื้อเดียวกันได้ของเหลวที่เป็นโกโก้แท้100%สามารถนำมาเติมน้ำตาบออร์แกนิกส์ตามชอบเทลงพิมพ์กลายเป็นคราฟช็อคโกแลตหรือช็อดโกแลตโฮมเมด
  4. เนยโกโก้ (Cocoa butter) และโกโก้ผง (Cocoa powder) เกิดจากการนำเมล็ดโกโก้ที่คั่วและกะเทาะเปลือกแล้ว มาผ่านเครื่องแยกน้ำมันจะได้ผลิตภัณฑ์ส่วนที่เป็นของเหลวแยกส่วนที่เป็นน้ำมันออกมาเรียกว่าเนยโกโก้ ใช้ในส่วนผสมของอาหารและเครื่องสำอางค์ ส่วนที่เป็นเนื้อโกโก้จะกลายเป็นเนื้อสีน้ำตาลแยกออกมาจากน้ำมันนำไปผ่านการขึ้นละเอียดอีกครั้งกลายเป็นผงโกโก้นำไปเป็นส่วนประกอบของขนมต่างๆ

ผลิตภัณฑ์โกโก้โฮมเมดแบบนี้อาจจะมีรสชาติที่ต่างไปจากโกโก้หรือช็อคโกแลตที่หลายๆท่านเคยทาน แต่ถ้าหากลองเปิดใจซื้อมาลองชิมรับรองเลยค่ะ ว่าทุกท่านจะต้องติดใจไปกับรสชาติและความเป็นโฮมเมดของผลิตภัณฑ์โกโก้จากสวนธวัชชัย

เที่ยวสวนโกโก้แล้วอย่าลืมแวะขอพรไอ้ไข่วัดเจดีย์

    และเมื่อเราอิ่มกลายอิ่มท้องแล้ว ถ้าจะให้ครบจบเราต้องอิ่มใจด้วยนะคะ และสถานที่ใกล้สวนโกโก้ธวัชชัยที่จะทำให้ทุกท่านอิ่มใจพร้อมทั้งอิ่มบุญไปด้วยก็คือ วัดเจดีย์ (ไอ้ไข่) เป็นวัดชื่อดังที่ไม่มีใครไม่รู้จัก สายมูทั้งหลายอย่ารอช้านะคะ เริ่มเลยค่ะมาทำบุญและอาจจะขอพรหรือบนบานศาลกล่าวกับไอ้ไข่ แอบกระซิบว่าศักดิ์สิทธ์มากใครที่มาขอพรหรือบนบานส่วนมากจะได้ผลตามที่ขอ แต่หากได้รับผลตามที่ขอไว้ก็อย่าลืมกลับมาแก้บนตามที่บอกกับไอ้ไข่ไว้นะคะ และบางวันอาจจะได้ชมการแสดงมโนราห์ศิลปะการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์สวยงามของภาคใต้ค่ะ

ชมคลิป VDO

ภาษาช้างกลาง ความหมายและคุณค่าของท้องถิ่นนครศรีธรรมราช

ภาษาช้างกลาง
ความหมายและคุณค่า
ของท้องถิ่นนครศรีธรรมราช

โดย วรรณดี สรรพจิต

ภาษาเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่แสดงอัตลักษณ์ของคนแต่ละท้องถิ่น ซึ่งใช้แตกต่างกันไป บางคำใช้พูดเป็นสื่อให้เข้าใจกันระหว่างหมู่คณะ บางคำใช้พูดและเข้าใจกันเฉพาะในถิ่นหนึ่ง ๆ เท่านั้น สำเนียงใต้ของชาวช้างกลางก็ไม่ได้แตกต่างไปจากสำเนียงใต้ของคนอำเภออื่นในจังหวัดนครศรีธรรมราชเท่าใดนัก แต่ก็ถือได้ว่าอำเภอช้างกลางร่ำรวยทางภาษามาก ทั้งนี้เพราะในอดีตมีชนต่างชาติซึ่งส่วนมากเป็นคนจีนได้เข้ามาค้าขายทางน้ำ ได้นำภาษาจีนและมะลายูเข้ามาด้วย ประกอบกับในช่วงต่อมามีชาวปากพนัง หัวไทร เชียรใหญ่ย้ายถิ่นมาอยู่ร่วมมากที่สุด ได้นำเอาสำเนียงภาษาในถิ่นเดิมมาใช้ผสมกับสำเนียงของคนในถิ่น และที่สำคัญยังได้สมรสกันระหว่างคนต่างถิ่นด้วย ก่อให้เกิดภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ชองชาวช้างกลางโดยเฉพาะ ดังจะยกตัวอย่าง
.

คำที่แปลว่า “ตาย”

คำนี้ท้องถิ่นอื่นมีไม่มาก แต่ที่อำเภอช้างกลางมีมากมายได้แก่ “พลิกอีตุก, พลิกตุก, เพล้ง, แพล็ด,ปัดซิเหนียงเกียงกล้อง,ม่องเท่ง,ดับเกียง,เหมี่ยง, ปับปะชิค๊อง, พระยิ้ม (มักใช้พูดล้อเลียนกับคนที่ไม่ควรขึ้นต้นไม้ เช่น คนชราว่า เดี๋ยวตกลงมาพระยิ้มแหละ นั่นหมายถึงตายพระได้สวด)
.

คำที่แปลว่า “หมด”

พวกเราพูดกันหลายคำ เช่นว่า แหม็ด, เกลี้ยงแผ็ก, แวววับ แหม็ดฉ๊าดคือหมดไม่เหลือ
.

คำที่หมายถึง ยุยง, แหย่, แยง,แทง, ทิ่ม, ยุให้รำตำให้รั่ว พูดให้สองฝ่ายทะเลาะกัน

คนช้างกลางพูดคำเดียวว่า “ยอน” เช่นประโยคว่า “แกอย่ายอนให้เขาแตกกัน” นั่นหมายความว่า อย่ายุยง แต่ถ้าพูดว่า “วันนี้ไปยอนบึ้ง” หมายถึงว่า ไปแยงในรูของตัวบึ้งเพื่อดึงไข่บึ้งมากิน (บึ้งคือแมงมุมชนิดหนึ่งที่ชื่อ ทารันทูล่า ภาษาไทยเรียกว่า บึ้ง ตัวโตมาก เป็นสัตว์มีพิษ แต่ไม่ร้ายแรงนัก ยกเว้นคนแพ้พิษมีมากในอำเภอช้างกลาง )

.

คำที่หมายถึง “สวยมาก”

เช่น “เฉ้งวับ สวยเฉ้ง”
.

คำนามที่ไม่ค่อยมีพูดในท้องถิ่นอื่น เช่น

“นายหมรูน” (อ่านว่า หมฺรูน)
คือคนที่ขึ้นไปตีผึ้งบนต้นไม้ หรือหน้าผา เรียกว่า นายหมรูน
.

“ม็อง”

คือคบเพลิงที่ทำด้วยต้นลังตังช้าง(ตะรังตังช้างเป็นภาษามลายู) สำหรับใช้ควันไล่ตัวผึ้งออกจากรัง
.

“โคร๊ะ”

คือภาชนะใส่รังผึ้ง
.

“ไม้ตรี”

คือไม้กวาดตัวผึ้งและใช้สำหรับแซะรังผึ้ง
.

“ชะนั่งได้”

คือเครื่องมือดักปลาที่ด้านในมีเงี่ยงดัก ปลาเข้าแล้วออกไม่ได้
.

“หนะหวายพวน”

คือส่วนที่เป็นหนามยาวของหวายพวน บางเส้นยาวถึง ๒ เมตร เป็นหนามแหลมทวนทางปลาย ถ้าแหย่เข้าไป เวลาดึงออกตัว “หนะหวาย” จะกระชากสิ่งกีดขวางขาดกระจุยได้ หวายพวนเป็นหวายป่าขนาดใหญ่และยาวมาก ในเพลงยาวเรื่องโองการขับผีของนายเอียด สันตจิต ใช้ “หนะหวายพวนขับผี” ตอนหนึ่งว่า “….กูจะคุ้ย กูจะควัก กูจะชักเอาหัวใจ แล้วเอาหนะหวายพวนเส้นใหญ่ยอนเข้าไปในปาก กูจะชากเอาลิ้น กูจะกินเอาตับ กูจะสับเอาฟัน….”
.

“เหล็กดอกบอน”

คือเครื่องมือเจาะฝีมือภูมิปัญญาท้องถิ่น
.

“ขวานถาจีน”

ขวานของพวกคนจีนที่ใช้สับกระดูกชิ้นใหญ่ของวัว ควาย หมูที่แล่เนื้อแล้ว
.

“เอ็นหมายุก”

คือเอ็นร้อยหวาย หลังข้อเท้า
.

“เฌอ”

ภาชนะใส่ของหนัก
.

“แสก”

คือ สาแหรกที่ทำจากหวาย มี ๔ สาย ด้านบนรวบปลายหวายเป็นหูสำหรับสอดไม้คาน ด้านล่างขัดกันเป็นสี่เหลี่ยมสำหรับวางกระจาด มี ๒ ชุด เพื่อให้สมดุลย์เวลาหาบหาม
.

“ม่า”

ภาชนะใช้ตักน้ำจากบ่อซึ่งทำด้วยกาบหมาก มาจากคำว่า “ทิม่า”ในภาษามลายู เดี๋ยวนี้ไม่มีให้เห็นแล้ว
.

“ตูด”

เครื่องมือเป่าที่ทำด้วยเขาควาย ใช้สำหรับเป่าเป็นสัญญาณบอกเวลา หรือเหตุการณ์ต่าง ๆบ่งหมายให้มาร่วมประชุม เวลาเป่าจะออกเสียง ปูด ๆ ดังกังวานออกไปไกล
.

“ครกบด”

เครื่องมือสำหรับโม่แป้ง ทำด้วยหินหรือปูนซีเมนต์ รูปทรงกลม ฐานข้างมีรางโดยรอบ ฝาบนเจาะเป็นรูใส่ไม้แขนไว้เพื่อใช้จับขณะบด ครกบดโดยทั่วไปมีขนาด ฐานครกประมาณ ๑.๕ – ๕.๕ ฟุต
.

“ลูกประ”

หรือลูกกระเกิดจากไม้ประ นำมาแปรรูปเป็นลูกประดอง ลูกประคั่ว เคยลูกประ มีมากที่เทือกเขาเหมน เขาหลวง รสออกหวานมันอร่อยลิ้น
.

“ไม้ตราด”

คือไม้กวาดที่ทำจากไม้ไผ่แก่จัด ตัดยาว ๒ เมตร ด้านโคนผ่าเป็นซีกเล็ก ๆ แล้วกรองด้วยหวาย ใช้สำหรับกวาดใบไม้ ใบหญ้า
.

“กุนหยี” คือดอกบานมิรู้โรย มาจากภาษามะลายูในคำว่า “เบอระกุนี”

ส่วนคำนามที่มาจากภาษาจีนก็มี โกปี้ เล่าเต้ง โอยั๊วะ ฯลฯ ที่มาจากภาษามลายู ได้แก่ ลังตัง ภาษามลายูว่า “ตะรังตัง” มี ๓ ชนิด คือลังตังไก่ ลังตังกวาง ลังตังช้าง
.

“มะม่วงหิมพานต์”

ที่นี่พูดได้หลายคำ เช่นว่า เม็ดท้ายล่อ, ย่าหมู,ย่าโห้ย, ยาร่วง,เม็ดม่องล่อ
.
ส่วนที่มาจากภาษาเขมร ก็มี เช่นชื่อปี ชวด ฉลู ขาล เถาะ มะโรง มะเส็ง มะเมีย มะแม วอก กา จอ กุน ชาวช้างกลางเรียกชื่อ ชวด หลู ขาล โถง โรง สิง เมีย แม วอก กา จอ กุน
.
คำกริยาที่ใช้พูดเฉพาะในถิ่น ตัวอย่างได้แก่

“สีน”

คือ ตัด หรือ หั่น เป็นชิ้น เช่นประโยคว่า “กูจะสีนด้วยมีดโต้” หรือบทโนราโกลนที่ว่า “ นั่ง ๆ ผันหน้าไปปลากออก แกงคั่วรอกสับให้เนียน ตัดตีนสีนเศียรผ่าหลอดท้าย เอาใส้โยน”
.

“กาศ”

คำกล่าวประกาศ อัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์
.

“แหม็ด”

คือ กด หรือหยิก เช่น “ฉันจะแหม็ดแกให้เจ็บจนตาย”
.

“แหม๊ด”

หมดเกลี้ยงไม่เหลือ เช่น “แกงนี้หรอยเกินกินจนแหม๊ดฉาด”
.

“ขบ”

กัด
.

“สี”

ทา หรือขยี้
.

“ชังกั้ง”

คำพูดแผลง ๆ เรียกว่าพูดชังกั้ง
.

“ล้มยักหาย”

คือล้มหงายหลัง
.

“น้ำพ่ะ”

ฝนตกติดต่อกันนาน ๆ จนน้ำนองตลิ่ง เรียกว่า “น้ำพ่ะ” คำนี้มาเพี้ยนมาจากภาษามลายูว่า ““เบอรฺพะ”
.
คำพูดแสดงคุณลักษณะ เรามักใช้คำพูดของชาวกะเหรี่ยงเข้าประกอบ เช่น

“จั๊วะ”

ขาว เรามักพูดว่าขาวจั๊วะ คำว่าจั๊วะ เป็นภาษากะเหรี่ยง
.

“ปื๊ด”

ดำ คือดำปื๊ด
.

“แจ๊ด”

แดง
.

“จ๋อย”

คือสี เหลือง
.

“ปื๋อ”

คือสีเขียว
.

“ปี๋”

คือเค็ม ถ้าพูดว่าเค็มปี๋ หมายถึงเค็มมาก
ห้าคำนี้ที่จริงเป็นภาษากะเหรี่ยง ใช้พูดกันทุกภาค ชาวช้างกลางนำมาใช้พูดด้วย เพื่อเป็นการเน้นในลักษณะนั้น ๆ เช่น แดงแจ๊ด เหลืองจ๋อย เค็มปี๋ฯลฯ เป็นต้น
.
นอกจากตัวอย่างที่ยกมาแสดงนี้แล้ว
ยังมีคำอื่น ๆ อีกมากมายที่ใช้พูด
ซึ่งสามารถประมวลเป็นพจนานุกรมภาษาถิ่นช้างกลางได้

กล้วยไข่กรอบแก้ว ของดี ของฝาก ผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อ ต.เกาะขันธ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช

กล้วยไข่กรอบ ใครไม่มานครฯแล้วไม่ได้ลองชิมลองทานถือว่าพลาดอย่างแรง !!

หากกล่าวถึง อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช หลายๆ อาจจะคิดถึง กระเป๋ากระจูด ซึ่งเป็นสินค้างานหัตกรรม สร้างอาชีพ ทำเงินให้กับชุมชนมากมายทว่า อ.ชะอวด ไม่ได้มีของดีเฉพาะผลิตภัณฑ์จากกระจูดเท่านั้น เพราะที่ ต.เกาะชันธ์ อ.ชะอวด ยังมีของดี ที่อยากเชิญชวนทุกท่านมาลองชิมลองทานกัน เรียกว่า ผู้ใหญ่ทานได้ เด็กทานดี มีประโยชน์ ซื้อกินเองก็อร่อย ซื้อเป็นของฝาก ก็โดนใจคนรับแน่นอน

 

ความเป็นมา กล้วยกรอบไข่แก้ว บ้านเกาะร้าว

คุณป้า กุศล สุกใส หรือ ป้าน้อย ประธานกลุ่มกล้วยไข่กรอบแก้วบ้านเกาะร้าว ได้เล่าถึงเรื่องราวความเป็นมาของกลุ่มกล้วยไข่กรอบแก้วบ้านเกาะร้าว เดิมก่อนที่จะเกิดเป็นกลุ่มกล้วยไข่กรอบแก้วบ้านเกาะร้าว เป็นกลุ่ม 60 พรรษามหาราชินี โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2536  และเมื่อปี พ.ศ.2542 ได้เกิดเหตุการณ์ฟองสบู่แตก ทางวิสาหกิจชุมชนจึงได้มีการแจ้งให้มีการจัดตั้งกลุ่มขึ้น

ในครั้งนั้นได้จัดตั้งกลุ่มถั่วเคลือบน้ำตาลแต่เนื่องด้วยขาดวัตถุดิบในการผลิตสินค้าจึงไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้  ต่อมาในปี พ.ศ.2542 มีสมาชิกกลุ่มทั้งหมด 20 คน ทางวิสาหกิจชุมชมจึงปรับเปลี่ยนมาทำผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากกล้วย เพราะเห็นว่าในหมู่บ้านทุกบ้านจะมีต้นกล้วย เลยเริ่มผลิตกล้วยฉาบ โดยได้ไปศึกษาดูงานจากกล้วยฉาบแม่แดง จังหวัดพัทลุง  นำมาปรับเปลี่ยนพัฒนาสูตรเป็นสูตรเฉพาะของกลุ่มกล้วยไข่กรอบแก้ว จากที่ใช้กล้วยน้ำหว้าในการทำกล้วยฉาบเลยเปลี่ยนมาใช้กล้วยไข่แทน และได้ขอ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) อย่างถูกต้องและในปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มทั้งหมด 60 คน

รางวัล และผลงาน กล้วยกรอบไข่แก้ว บ้านเกาะร้าว

  • ในปี พ.ศ.2544 ได้รับรางวัลกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรดีเด่นอันดับ 2 ของจังหวัดนครศรีธรรมราช
  • ปีพ.ศ.2545 และ ปีพ.ศ. 2562 ได้รางวัลกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรดีเด่นอันดับ 1 ของจังหวัดนครศรีธรรมราช
  • ส่วนปัจจุบันในปี พ.ศ. 2564 ก็ได้รับรางวัลกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรดีเด่นอันดับ 2 ของจังหวัดนครศรีธรรมราช
  • อีกหลายหลากรางวัล ที่เป็นเครื่องการันตี ทั้งความสด อร่อย และสะอาด

ขั้นตอนการผลิต กล้วยกรอบไข่แก้ว บ้านเกาะร้าว

ขั้นตอนที่ 1 จะเริ่มจากการปอกเปลือกกล้วยและนำมาล้างน้ำ หลังจากนั้นตั้งให้กล้วยสะเด็ดน้ำจนแห้ง

ขั้นตอนที่ 2 เมื่อกล้วยแห้งดีแล้วจึงนำมาสไลซ์เป็นแผ่นบางๆ ลงในกระทะ

ขั้นตอนที่ 3 ทอดกล้วยในกระทะ คนให้เข้ากันจนสุกทั่วทุกแผ่น

ขั้นตอนที่ 4 ตักกล้วยที่ทอดสุกแล้วขึ้นมาจุ่มน้ำตาล เมื่อจุ่มเสร็จก็นำไปทอดอีกครั้ง (หากกล้วยฉาบรสชาติปกติหรือรสชาติจืด ไม่ต้องนำกล้วยไปจุ่มน้ำตาล สามารถทอดจนสุกและทำตามขั้นตอนต่อไปได้เลย)

ขั้นตอนที่5 ตักกล้วยที่ทอดจนสุกแล้วขึ้นมาตั้งและพักไว้ให้เย็น หลังจากนั้นนำมาแพ๊คใส่ถุง เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำกล้วยไข่กรอบแก้ว

 

เห็นวิธีการทำกันแล้วเริ่มน้ำลายไหลกันแล้วใช่ไหมคะ ขนาดแอดมินได้ชิมกล้วยไข่ฉาบของคุณป้า ก็ยังติดใจจนต้องซื้อกลับมากินเพิ่มเลยค่ะ กล้วยไข่ฉาบสไลซ์แผ่นพอดีคำ น้ำตาลที่เคลือบอยู่มีรสชาติที่พอดีไม่หวานมาก บวกกับความมันของกล้วยไข่ กัดชิมคำแรกคือทั้งกรอบและรสชาติดี กินเพลินกินมันส์จนหยุดไม่อยู่เลย นึกงถึงภาพนั่งทำงาน นั่งเรียนออนไลน์ ดูซีรี่ย์ แล้วหยิบกล้วยไข่กรอบแก้ว เข้าปากไป ซิลเลย

กล้วยไข่กรอบแล้วมีให้เลือกหลายรสตามความชอบ ไม่ว่าจะเป็นรสดั้งเดิม รสหวาน รสเค็ม รสปาปริก้า ราคาของกล้วยไข่กรอบแก้วก็ไม่ได้แพงเลยนะคะ มีทั้ง ขนาดถุงเล็ก 20 บาท ขนาดถุงกลาง 60 บาท และขนาด 1 กิโลกรัมราคา 120 บาท เหมาะมากๆ เลยค่ะ สำหรับจะซื้อไปเป็นของฝาก หรือหากใครชอบเผือก ที่นี่เขาก็มีเผือกกรอบแก้วให้ได้ลอง รับรองถูกใจสายเผือกเช่นกันอย่างแน่นอนจ้า

 

คุณป้ายังฝากมาบอกอีกนะคะว่า ถ้าทุกท่านมีโอกาสได้มาเที่ยวที่อำเภอชะอวด เชิญชวนแวะมาซื้อกล้วยไข่กรอบแก้วไปเป็นของฝากกันเยอะๆนะคะ คุณป้าใจดีมาก มีแถมกล้วยไข่กรอบแก้วไปให้กับทุกท่านทุกออเดอร์ แบบว่าคุ้มค่าแน่นอนค่ะ

แวะอุดหนุน กล้วยกรอบไข่แก้ว บ้านเกาะร้าวแล้วแนะนำมานั่งทานกันต่อที่ อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใส

อีกหนึ่งสิ่งที่ไม่อยากให้ทุกท่านพลาดถ้าหากได้มาเที่ยวอำเภอชะอวด นั่นก็คือเข้าไปเที่ยว นั่งกินลมชมวิวพระอาทิตย์ตกที่อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใส อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใสมีวิวและทัศนียภาพที่สวยงามมากนะคะ โอบล้อมไปด้วยขุนเขา มีจุดที่ทุกท่านสามารถจอดรถไปนั่งปิกนิกนำอาหารและเครื่องดื่มไปนั่งทานได้ หรือจะนำกล้วยไข่กรอบแก้วไปนั่งทานไปพร้อมๆกับการชมวิว รับรองเลยค่ะว่าทุกท่านจะได้รับทั้งความอิ่มกายและอิ่มใจไปพร้อมๆกันแน่นอน อย่าลืมแวะมา ชม ชิม ช้อปกันที่อำเภอชะอวดกันเยอะๆนะคะ