คุณ ทานตะวัน​  เขียวน้ำชุม ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ สร้างจิตสำนึกอนุรักษ์

การพาตนเองกลับไปสู่ธรรมชาติ นอกจากเป็นวิธีที่ช่วยเยียวยาจิตใจได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังเป็นการย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์เราเดินทางมาไกลแค่ไหน วิถีชีวิตของเราต้องพึ่งพาธรรมชาติมากน้อยเพียงใด การอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติที่เหลือน้อยลงทุกทีจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรตระหนัก อย่างที่คนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ได้พยายามถ่ายทอดความรู้แก่เด็กรุ่นใหม่ให้เห็นถึงความสำคัญของผืนป่า ผ่านรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ สร้างจิตสำนึกอนุรักษ์ คุณ ทานตะวัน​  เขียวน้ำชุม ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทาร์ซาน แอดเวนเจอร์ ทัวร์ จำกัด (เดินป่าหลังคาแดนใต้ Tarzan Adventure Team)

จากวิถีชีวิตชาวเมือง มุ่งหน้าสู่วิถีชีวิตธรรมชาติ

คุณทานตะวัน หรือครูแจง พื้นเพเดิมเป็นคนกรุงเทพมหานคร ชื่นชอบการทำกิจกรรมและการท่องเที่ยวตั้งแต่เด็ก สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านการจัดการโรงแรม เพราะคิดว่าตรงกับคาแร็กเตอร์ของตนเองขณะที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2 มีโอกาสได้ฝึกงานที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ควบคู่กับการทำงานพาร์ทไทม์ตามโรงแรม หลังจากเรียนจบได้ทำงานเป็น Event coordinator  ทำหน้าที่บริหารพื้นที่ในการจัดงานที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จนวันหนึ่งได้ไปเห็นโฆษณาที่ฉากหลังเป็นป่าเขา ทำให้คุณทานตะวันรู้ได้ในทันทีว่านี่คือ ตัวตนของตนเอง จึงตัดสินใจลาออกจากงาน เพื่อเดินทางสู่เส้นทางธรรมชาติ

คุณทานตะวันเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครกับทางชมรมนักนิยมธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มผู้รักธรรมชาติ นอกจากงานพื้นฐานในการให้ความรู้เรื่องธรรมชาติแก่คนทั่วไปแล้ว ทางชมรมมีการจัดกิจกรรมภาคสนามค่ายสำหรับเด็กและเยาวชนเพื่อเรียนรู้การดำรงชีพในป่า ซึ่งต้องผ่านการฝึกอบรม เรียนรู้ตั้งแต่ความรู้ขั้นพื้นฐาน องค์ประกอบต่างๆ ในธรรมชาติ การสื่อความหมายของธรรมชาติ จิตวิทยาเด็ก การตั้งแคมป์ ฯ  การฝึกอบรมทั้งหมดนี้ผู้ที่เป็นอาสาสมัครต่างสละเวลา แรงกาย แรงใจ และกำลังทรัพย์ เพื่อพัฒนาตนเองให้เป็นพี่เลี้ยงที่มีประสิทธิภาพ คอยให้ความช่วยเหลือแก่เยาวชนได้

การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ กับการสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์

คุณทานตะวัน เล่าว่า สำหรับตัวเองนั้นการทำค่ายครั้งแรกเป็นอะไรที่ยากมาก แม้จะได้รับการตอบรับที่ดีจากเยาวชน แต่ส่วนตัวคิดว่าต้องพัฒนาให้มากกว่านี้อีก จึงเดินป่าไปเรื่อยๆ และหาข้อมูลจากเว็บไซต์เพื่อการเดินป่าเพื่อเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ จนไปเจอกับภาพอุทยานแห่งชาติเขาหลวงแล้วเกิดความชื่นชอบอย่างมาก แม้ภาพที่เห็นนั้นดูสวยงามเพียงใด แต่คุณทานตะวันยังไม่กล้าที่จะเดินทางไป จนเมื่อโอกาสมาถึงและได้เดินป่าตามที่ตั้งใจกลับพบว่าเส้นทางยากกว่าที่คาดไว้ แม้การเดินทางในครั้งนั้นจะลำบาก แต่ก็พบว่าสภาพป่ายังคงสมบูรณ์ และมีความหลากหลายทางชีวภาพ หลังจากนั้นคุณทานตะวันตัดสินใจที่จะหลงหลักปักฐานอยู่ที่นครศรีธรรมราช เมื่อปักหมุดเส้นทางชีวิตมุ่งไปที่การเดินป่า คุณทานตะวันจึงใช้ประสบการณ์และทรัพยากรที่มีมาคิดวิเคราะห์ว่าจะทำอย่างไรให้คนอื่นที่อยากเดินป่า อยากสัมผัสใกล้ชิดธรรมชาติ แต่ไม่มีประสบการณ์ ไม่รู้ว่าต้องทำยังไง สามารถเดินป่าได้ อย่างการเตรียมตัวสำหรับมือใหม่ จำเป็นจะต้องเตรียมความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ อุปกรณ์ที่ใช้ต้องเหมาะสมกับการเดินป่า เช่น รองเท้า เป้ใส่สัมภาระ

จนเมื่อคุณทานตะวันมีลูก ก็อยากให้ลูกเข้าใจวิถีธรรมชาติ จึงเริ่มจัดกิจกรรมเดินป่าสำหรับเด็ก เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้แก่เด็กๆ โดยชักชวนเพื่อนๆ ของลูกมาเข้าร่วมกิจกรรม ให้เด็กๆ ได้มีโอกาสใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติ ตลอดระยะเวลา 8 ปี ในการดำเนินกิจกรรม กว่า 35 รุ่นที่เข้าร่วมโครงการ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีตั้งแต่เด็กปฐมวัยไปจนถึงผู้สูงอายุ กิจกรรมมีการไต่ระดับจากการเดินป่าเป็นการเดินขึ้นเขา คุณทานตะวัน เล่าว่า พวกเด็กๆ มีพลังอย่างล้นเหลือ แม้จะงอแงบ้างแต่ก็ยังคงก้าวเดินต่อไปเพื่อไปสู่จุดหมาย นอกจากเกิดความภูมิใจในตัวเองที่ทำได้สำเร็จแล้ว การเดินป่ายังเป็นฝึกทักษะในการจัดการอารมณ์ของตัวเองเช่นกัน เป็นการฝึกสติ สมาธิ ให้จดจ่ออยู่กับปัจจุบัน อยู่กับทุกย่างก้าว เป็นการทำสมาธิแบบเคลื่อนไหว กิจกรรมนี้จึงเหมาะกับเด็กๆ มากนอกจากนี้ยังมีกิจกรรมวิทยาศาสตร์โดยใช้ธรรมชาติสอน จัดที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครศรีธรรมราช  อำเภอพรหมคีรี

ท่องเที่ยวสีเขียว ภายใต้ BCG Model

การเดินป่า เป็นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เน้นเที่ยวแบบพอดี ไม่ใช่การบุกรุก เข้าป่าเพื่อเรียนรู้ ทำความเข้าใจ ซึ่งการท่องเที่ยวในรูปแบบ BCG Model  เป็นเรื่องที่คุณทานตะวันให้ความสำคัญ เป็นการรับผิดชอบของธุรกิจที่มีต่อสิ่งแวดล้อม โมเดลนี้เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ( Bioeconomy)  มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และระบบเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มุ่งแก้ไขปัญหามลพิษ เพื่อลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน ในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวชุมชน ผู้ประกอบการต่างเริ่มตื่นตัวและปรับตัวโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน พยายามหลีกเลี่ยงอะไรก็ตามที่เป็นการทำลายทรัพยากรทางธรรมชาติ อย่างเรื่องขยะเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก แต่สามารถเริ่มต้นจากตัวเราเองได้ ลดการใช้ ใช้ซ้ำ ทิ้งให้ถูกวิธี และกำจัดอย่างเหมาะสม

ปัญหาสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตบนโลกอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทรัพยากรทางธรรมชาติที่ลดลง เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ สภาพอากาศที่แปรปรวน ตลอดจนปัญหาอื่นๆ ที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็วที่สุด แน่นอนว่าต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน หากไม่สามารถชดเชยในสิ่งที่เสียไปได้ อย่างน้อยก็อย่าทำลาย เพื่อส่งต่อความอุดมสมบูรณ์ ความงามของธรรมชาติไปสู่คนรุ่นต่อไป รวมถึงสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นบนโลกใบนี้

ชมคลิป VDO สัมภาษณ์

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ

 

ประกาศมหาสงกรานต์: ๒๑๐ ปี ท้องตราถึงพระยาศรีธรรมโศกราช

ประกาศมหาสงกรานต์:
๒๑๐ ปี ท้องตราถึงพระยาศรีธรรมโศกราช

ไม่มีวัฒนธรรมใดในโลกเกิดขึ้นอย่างโดดเดี่ยวปราศจากความเกี่ยวพันกับวัฒนธรรมอื่น เช่นเดียวกับ การถือกำเนิดโดยไร้หลักคิด คติ คุณค่าและความหมายแก่ผู้คน ก็ยอมรับว่าสิ่งนั้นเป็นวัฒนธรรมได้ยาก เพราะวัฒนธรรมเป็นเรื่องของคน คนจึงทำหน้าที่ตัดสินใจว่า วัฒนธรรมใดควรสืบทอดคงรูปอยู่ต่อ หรือยินยอมให้เลื่อนไหลพลวัตไปตามเหตุ ตามปัจจัย หมายความว่า บรรดาวัฒนธรรมที่ยังคงอยู่ในปัจจุบัน ล้วนเป็นผลจากการเลือกแล้วของผู้คนในอดีต ความยากง่ายของการศึกษาเรื่องวัฒนธรรม จึงอยู่ที่ ร่องรอยของหลักคิด คติ คุณค่าและความหมายแก่ผู้คนเหล่านั้น จะปรากฏเหลืออยู่ให้สืบความสักกี่มากน้อย

.

กัลยาณมิตรใน Facebook หลายท่าน แชร์และให้ความเห็นกรณีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ของเมืองนครศรีธรรมราชเปรียบเทียบกับเมืองอื่น ๆ ทำนองว่า สามารถเติมคุณค่าและขับเน้นความสำคัญของการมีพระพุทธสิหิงค์องค์สำคัญของท้องถิ่นและไทยได้อีก ในขณะที่การจัดสงกรานต์หลายแห่ง มีการแทงหยวกทำเบญจา รำโนราโรงดิน เหล่านี้คล้ายกับว่า วิถีอยู่-กินของชาวนครศรีธรรมราชและชาวใต้ ซึ่งเคยถูกทบทวนและเริ่มอนุรักษ์ผ่านงานสงกรานต์แต่แรกที่วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหารเมื่อสามสี่ปีก่อนต่อกันนั้น อาจเป็นเชื้อไฟส่องให้เห็นทางที่เราเคยผ่านมา จุดที่กำลังยืนร่วมกัน และอนาคตของมรดกทางวัฒนธรรมได้ดี ส่วนการเลือกทางเหล่านั้น ก็สุดแต่บริบทจะเอื้อ

.

เคยเขียนเรื่อง “บุญเดือนห้า เมืองนครศรีธรรมราช” เผยแพร่ไว้ในสารนครศรีธรรมราชความยาว ๕๐ หน้ากระดาษ A๔ ท้ายบทความนั้นคัดเอาจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๒ ส่วนที่เป็นท้องตราจากเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดีถึงพระยาศรีธรรมโศกราช ว่าด้วยการประกาศสงกรานต์ลงไว้ หยิบมาลงไว้อีกทีเพื่อจะได้เห็นได้ชวนกันพิจารณาในวงที่กว้างขึ้น แม้ว่าเป็นลักษณะของการสั่งการมาจากส่วนกลางถึงท้องที่ แต่ก็พอเห็นบทบาทของทั้งสองแห่งต่อสงกรานต์และภาพของมหาสงกรานต์ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ได้ดี (ทั้ง ๔ ฉบับคัดสำเนามาจากหอสมุดแห่งชาติ)

.

โครงของทั้งสี่ฉบับคล้ายกันต่างกันที่รายละเอียด คือตอนต้นระบุสถานะของหนังสือว่ามีมาจากใครถึงใคร “พระยาศรีธรรมโศกราช ชาติเดโชไชย มหัยสุริยาธิบดี อภัยพิริยะปรากรมพาหุ พระยานครศรีธรรมราช” เมื่อพุทธศักราช ๒๓๕๕ ได้แก่ “เจ้าพระยานครน้อย” ซึ่งถือเป็นสงกรานต์แรกในฐานะเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ถัดนั้นแจ้งฎีกามหาสงกรานต์ของพระโหราธิบดี ความเรียงไปตั้งแต่เวลาที่พระอาทิตย์ย้ายราศี นางสงกรานต์และกระบวนแห่พระเศียรท้าวกบิลมหาพรหม พิธีทักษิณาทาน ประกาศวันมหาสงกรานต์ วันเนา วันเฉลิงศกหรือพระยาวัน ทำนายข้าว นา ธัญญา-พลา-มังสาหาร และพิธีสรงพระมุรธาภิเษกในพระราชพิธีเผด็จศก ส่วนตอนท้ายเป็นความสั่งให้เผดียงแก่พระสงฆ์และราษฎร

.

จดหมายเหตุ รัชกาลที่ ๒
ชื่อ เรื่องท้องตราเจ้าพระยาอัครมหาเสนาถึงพระยาศรีธรรมโศกราช ประกาศมหาสงกรานต์
ปีวอก จัตวาศก จ.ศ. ๑๑๗๔ ฉบับ ณ วันเสาร์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ ปีวอกจัตวาศก
เลขที่ ๑๙ ประวัติ ได้มาจากกระทรวงมหาดไทย

หนังสือ เจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดี อภัยพิริยะปรากรมพาหุ สมุหพระกลาโหม มาถึงพระยาศรีธรรมโศกราช ชาติเดโชไชย มหัยสุริยาธิบดี อภัยพิริยะปรากรมพาหุ พระยานครศรีธรรมราช ด้วยทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า พระโหราธิบดีมีชื่อ ทำฎีกามหาสงกรานต์ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ศุภมัสดุ วรพุทธศาสนาสองพันสามร้อยห้าสิบห้าพระวัสสา กาลกำหนดเจตมาส สุกรปักข์ เอการัสมี ดิถีระวีวาร ตัสสทิวากาล เพลาเช้าย่ำรุ่งแล้วสองโมง บรมเทพทินกรเสด็จจากมีนราศีประเวศสู่เมษราศีทางโคณวิถีใกล้พระเมรุราช ขณะนั้นมีนางเทพดาองค์หนึ่ง ทรงนามชื่อว่าทุงษมหาสงกรานต์ มาแต่จาตุมหาราชิกา กระทำกฤษฎาพิมล ทรงพาหุรัดทัดดอกทับทิม ทรงเครื่องอาภรอันแล้วด้วยแก้วปัทมราช พระหัตถ์ขวาทรงสังข์ พระหัตถ์ซ้ายทรงจักร ภักษาหารผลอุทุมพร เสด็จโคจรยืนไปเหนือหลังครุฑหาหนะ เป็นมรรคนายกนำอมรคณะเทพดาแสนโกฏิ ประชุมชวนกันมารับพระเศียรท้าวกบิลมหาพรหม อันใส่พานทองประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธุลีที่เขาไกรลาสแดนพิมพานต์ประเทศ ขณะนั้นเทพยดาทำคารวะดุษฎี ชำระสุคนธวิเลปนะบูชายาควิธีอันควรด้วยดีตามวิสัยจารีตบุราณ แล้วก็แห่ทักษิณาวรรตเขาพระเมรุราชคำรบหกสิบนาที แล้วก็เชิญเข้าไปไว้ในถ้ำคันธุมาลีดังเก่า จึงเทพยุดาเจ้านำมาซึ่งลดาวัลย์อันชื่อชมนาด ใส่สุวรรณภาชน์ทอง เอาไปล้างน้ำในอโนดาตสระเจ็ดแถว เถาชุมนาดก็ละลายออกไปดังน้ำมันเนย แล้วพระเวษณุกรรมเทวบุตรจึงเนรมิตโรงอันหนึ่งชื่อภัควดี ให้หมู่เทพนิกรอัปษรกัญญาเข้านิสีทนาการพรั่งพร้อมกัน จึงสมาทานรักษาศีล เอาน้ำชมนาดเป็นทักษิณาทานแจกกันสังเวยทุกๆ พระองค์ ก็ชวนกันชื่นชมโสมนัส เดชกุศลได้กระทำนั้นก็บรรเทาโทษแห่งมหาสงกรานต์ให้อันตรธานสูญไป ความจำเริญฑีฆายุศม์สิริสมบัติก็มีแก่เทพยุดาทั้งปวง รวิวารเป็นวันมหาสงกรานต์ จันทวารเป็นวันเนา ภุมวารเป็นวันเฉลิงศก หรือพระยาวัน ครั้น ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เพลาบ่าย ๔ โมง สิ้นกปิถสังวัจฉระ เป็นกุกกุฏสังวัจฉระจุลศักราชขึ้นเป็น ๑๑๗๕ ปีระกานักษัตรเบญจศก เนาวันหนึ่งเป็นสงกรานต์ ๓ วัน ผลทำนายพสุสังกรานต์ อจีนตะสังกรานต์ สามัญสังกรานต์เป็นสามประการ อธิบายเป็นสามัญโลกทั่วทุกประเทศในสกลชมพูทวีป เกณฑ์พิรุณศาสตร์ พระจันทร์เป็นอธิบดี นาคราช ๔ ตัว บันดาลให้ฝน ๕๐๐ ห่า อุบัติดลยังเขาจักรวาล ๒๐๐ ห่า อรญิกาปิพิมพานต์ ๑๕๐ ห่า มหาสมุทร ๑๐๐ ห่า มนุษย์โลก ๕๐ ห่า ฝนต้นมือมัธยม กลางมือปลายมืออุดม เกณฑ์ธาราธิคุณลง ณ ราศมีนอโปธาตุ น้ำงามกว่าปีหลังศอกหนึ่ง นาลุ่มดี นาดอนทราม พอดีเหณฑ์ธัญญาหาร ออกเศษศูนย์ ชิวราภรณ์ข้าวกล้าในภูมินาได้ผล ๑๐ ส่วน เสียส่วนหนึ่ง ธัญญาหาร พลาหาร มังสาหารอุดม

.

ครั้น ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ๓ โมง ๖ บาท เสร็จการพระราชพิธีเผด็จศก พนักงานชาวเครื่องต้นจะได้ตั้งเครื่องพระมุรธาภิเษก ชีพ่อพราหมณ์จะได้ถวายน้ำกลดน้ำสังข์ ขอเชิญพระบาทสมเด็จบรมนาถบรมบพิตร พระพุทธิเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้าที่สรงสนานทรงเครื่องพระมุรธาภิเษกตามราชประเพณี สมเด็จบรมกษัตริย์สืบๆ มา เพื่อทรงพระจำเริญพระราชสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล เมทนีดลศัตรูกระษัย แลให้เผดียงพระสงฆ์ราชาคณะเจ้าอธิการและราษฎรให้รู้จงทั่วตามรับสั่ง ครั้นหนังสือมาถึงวันใดก็ให้กระทำตามจงทุกประการ

.

หนังสือมา ณ วันเสาร์แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ จุลศักราช ๑๑๗๔ ปีวอก จัตวาศก
วันพุธ เดือน ๕ ปีระกาเบญจศก หลวงเทพรามรฏก ขุนอักษรขาน ถือมาด้วยเรื่องมหาสงกรานต์

เทิม คัด / ศักดา พิมพ์ / อรรัตน์ ทาน ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓

.

จดหมายเหตุ รัชกาลที่ ๒
ชื่อ ท้องตราถึงพระยาศรีธรรมโศกราช เรื่องประกาศสงกรานต์ ปีจอ จ.ศ.๑๑๗๖ เลขที่ ๑
ประวัติ ได้มาจากกระทรวงมหาดไทย พ.ศ.๒๔๕๘

หนังสือเจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดีอภัยพิริยปรากรมพาหุ สมุหพระกลาโหม มาถึงเจ้าพระยาศรีธรรมโศกราชชาติเดโชชัยมหัยสุริยาธิบดีอภัยพิริยปรากรมพาหุพระยานครศรีธรรมราช ด้วยทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า พระโหราธิบดีโหรมีชื่อพร้อมกันทำดิถีมหาสงกรานต์ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ศุภมัศดุวรพุทธศักราช ๒๓๕๖ พระพรรษา การกำหนดเจตมาส กาฬปักษ์สัตมีดิถีฉันทวาร ทสทีวากรเพลาบ่าย ๓ โมง บรมทินกรเสด็จจากมีนประเวศสู่เมศราศี ทางโคณวิถีไกลพระเมรุมาช ขณะนั้นมีนางเทพธิดาองค์หนึ่งทงนามชื่อนางโคราคมหาสงกรานต์มาแต่จาตุมหาราชิกา กระทำกฤษฎาพิมล ทรงพาหุรัดทัดดอกปีบ ทรงเครื่องอาภรณ์อันแล้วด้วยแก้วมุกดา พระหัตถ์ขวาทรงธนู พระหัตถ์ซ้ายทรงพระขรรค์ ภักษาหารน้ำมันงา เสด็จนิสีทนาการนั่งเหนือหลังพยัคฆพาหนะ เป็นมัคนายก นำอมรคณาเทพยดาแสนโกฏิประชุมชวนกันมารับพระเศียรท้าวกบิลมหาพรหมอันใส่พานทอง ประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธุลีที่เขาไกรลาสแดนหิมะภารตะประเทศ ขณะนั้น เทพยดากระทำคารวะดุษฎีชำระสุคนธวิเลปนะชูชายาควิธี อันควรด้วยดีตามวิสัยจารีตบุราณ แล้วก็แก่ทักษิณาวัตรเขาพระเมรุราชคำรบหกสิบนาที แล้วก็เชิญเข้าไว้ในถ้ำคันธุลีดังเก่า จึงเทพยดาเจ้านำมาซึ่งลดาวัลย์อันช่อชะมุนาฏใส่สุวรรณภาชนะทองไปล้างน้ำในอโนดาษสระ ๗ ท่า เถาชะมนาฏก็ละลายออกไปไสดุจน้ำมัน ข้าวกล้าในภูมินาจะเกิดมีชาติดวงแล้งได้ผลกึ่งเสียกึ่ง เกณฑ์ธัญญษหารผลาหาร มัจฉมังสาหารมัธยมในปีจอ ฉศกนี้มีอาทิกวาร เดือน ๗ เป็นเดือนถ้วน พระสงฆ์ได้ลงกระทำอุโบสถกรรมเข้าพรรษาปวารณาออกพระวรรษาตามพระอาทิตย์พระจันทร์ถ้วนเป็นประธานโลก ตามขนบธรรมเนียมราชประเพณีสมเด็จพระบรมกษัตริย์สืบๆ มา ครั้น ณ วันพุธเดือน ๖ แรม ๙ ค่ำ เพลาเช้า ๓ โมง ๖ บาท เสร็จการพระราชพิธีเผด็จศก ให้พระยานครกรมการเผดียงพระสงฆ์ราชาคณะ เจ้าอธิการและอาณาประชาราษฎรให้ทั่ว ครั้นหนังสือมาถึงวันใดก็ให้ทำตาม หนังสือมา ณ วันอังคารเดือน ๕ ขึ้น ๓ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๖ ปีจอนักษัตร ฉศก

ชูศักดิ์ คัด / ศักดา พิมพ์ / วชิระ ทาน ๒๒ มกราคม ๒๕๑๓

.

จดหมายเหตุ รัชกาลที่ ๒
ชื่อ ท้องตราถึงเมืองนครศรีธรรมราช เรื่องประกาศสงกรานต์
ปีขาล สัมฤทธิ์ศก จ.ศ. ๑๑๘๐ ปีฉลู จ.ศ.๑๑๗๙
เลขที่ ๑๔ ประวัติ ได้มาจากกระทรวงมหาดไทย

หนังสือ เจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดีอภัยพิริยปรากรมพาหุสมุหพระกลาโหมมาถึงพระยาศรีธรรมโศกราชชาติเดโชชัยมหัยสุริยาธิบดีอภัยพิริยปรากรมพาหุพระยานครศรีธรรมราช ด้วยทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่าพระโหราธิบดีหลวงโลกธีปโหรมีชื่อพร้อมกันหาฤกษ์ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายศุภมัศดุมวรพุทธศักราชสองพันสามร้อยหกสิบพระวัสสา กาลครั้นเจ็ดมาสสุกรปักษมีดิถี โสรวารตัสสทิวากาลเพลาบ่ายสองโมงแปดบาท บรมทินกรเสด็จโคจรจากมีนาประเวศสู่เมษาราศีทางโค ณ วิถีใกล้พระเมรุราช ขณะนั้นมีนางเทพธิดาองค์หนึ่งทรงนามชื่อมโหธรรมมหาสงกรานต์ มาแต่จาตุมหาราชิกากระทำกฤษฎาพิมล ทรงพาหุรัดทัดทอดสามหาว ทรงอาภรณ์อันแล้วไปด้วยแก้วนิลรัตน์ พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล พระหัตถ์ขวาทรงจักร ภักษาหารมังสังทราย เสด็จทรงนั่งไปเหนือหลังมยุรปักษาพาหนะเป็นมัคนายก นำอมรคณาเทพยุดาแสนโกฏมารับเศียรท้าวกบิลมหาพรหมอันอุสภสังวัจฉนิรจุลศักราชขึ้นอีกพันแปดร้อยสิบปีขาล นักษัตร สัมฤทธิศก เนาวันหนึ่ง เป็นวันสงกรานต์สามวัน ผลทำนายพสุวาจินตะสามัญสงกรานต์เป็นสามประการ อธิบายเป็นสามัญโลกทั่วทุกประเทศในสกลชมพูทวีป เกณฑ์พิรุณสารทพระเสาร์เป็นอธิบดีนาคราชสามตัวบันดาลให้ฝนสี่ร้อยห่า อุบัติดลยังเขาจักรวาลร้อยหกสิบห่า อรัญญิกหิมพานต์ร้อยยี่สิบห่า มหาสมุทรแปดสิบห่า มนุษย์โลกสี่สิบห่า ฝนต้นมืออุดม กลางมือมัธยม ปลายมือเป็นอวสาน เกณฑ์ธาราธิคุณลงปัควราศรีสิงหเตโชธาตุน้ำน้อยกว่าปีหลังสองศอก นาลุ่มดี นาดอนทรามพอดี เกณฑ์ธัญญาหารออกเศษศูนย์เป็นปาปะ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ผลส่วนหนึ่งเสียสิบส่วน เกณฑ์ธัญญผลามัจฉมังสาหารเป็นมัธยมเดือนแปดแรมค่ำหนึ่งพร้อมด้วยอาสาหพฤกษ์พระบวรชีโนรศมหานาคจะได้เข้าพระวัสสาตามพระอาทิตย์ พระจันทร์อันเป็นประธานแห่งโลกตามขนบธรรมเนียมประเพณีฯ สืบๆ มา ครั้นวันจันทร์ เดือนห้า ขึ้นแปดค่ำ เพลาเช้าสามโมงหกบาท เสร็จการพระราชพิธีเผด็จศก เจ้าพนักงานชาวพระเครื่องต้นจะได้ตั้งเครื่องมุรธาภิเษก ชีพ่อพราหมณ์จะได้ถวายน้ำกรด น้ำสังข์ ขอเชิญพระบาทสมเด็จพระบรมนาถ บรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัว เสด็จเข้าที่สรงสนานทรงเครื่องพระมุรธาภิเษกตามราชประเพณีสืบมา เพื่อทรงพระจำเริญราชศรีสวัสดิ์พิพัฒนมงคลเมทนีดลสกลศัตรูกระษัยนั้น ให้เจ้าเมืองกรมการเผดียงพระสังฆราชา ท่านเจ้าอธิการ แล้วป่าวร้องประกาศแก่อาณาประชาราฎรในแขวงจังหวัดเมืองนครให้จงทั่วเหมือนอย่างมหาสงกรานต์ทุกปี ครั้งหนังสือนี้มาถึงวันใด ก็ให้กระทำตาม

.

หนังสือมา ณ วันพฤหัสบดี เดือนสี่แรมห้าค่ำปีฉลูนพศก เมืองนครศรีธรรมราช

ตราพระคชสีห์วังหลวง นายช่วยถือมา ตรามหาสงกรานต์ ตราพระคชสีห์น้อยประจำผนึก วันพฤหัสบดี แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๕ ปีขานสัมฤทธิศก นายช่วยถือมา ตรา ๒ ฉบับ

ตรารูปคนถือปืนประจำครั่ง

.

ประเสริญ คัด ศักดา พิมพ์ วชิร ทาน ๒๘ มกราคม ๒๕๑๓

.

จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๒
ท้องตรา ถึงเมืองนครศรีธรรมราช เรื่องประกาศมหาสงกรานต์ ปีเถาะ เอกศก จ.ศ. ๑๑๘๑ เลขที่ ๑
วัน เสาร์ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๕ ปีเถาะ จ.ศ. ๑๑๘๑
ประวัติ กระทรวงมหาดไทย ถวาย หอวชิราวุธ พ.ศ. ๒๔๕๘

.

หนังสือพระเจ้าอัคมหาเสนาบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุสมุหะพระกลาโหม มาถึงเจ้าพระยาศรีธรรมาราชชาติเดโชไชยมหัยสุริยาธิบดีอภัยพิริยปรากรมพาหุ พระยานครศรีธรรมราช ด้วยทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า พระโหราธิบดีหลวงโลกธีปโหรมีชื่อ ทำฎีกาทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายสุพมัศดุศักราชสองพันสามร้อยหกสิบเอ็ดพรรษา กาละครั้นเจตรมาสกาลปักษทุติยะ ดิถีรวีวาระตัดราตรีกาลเพลาย่ำค่ำแล้ว สองทุ่มแปดบาทบรมเทพทินกร เสร็จโคจรจากมีนยะประเวษสู่เมศราศีทางโค ณ วิถีใกล้พระเมรุราชขณะนั้นมีนางเทพธิดาองค์หนึ่งทรงนามชื่อทุงษมหาสงกรานต์ มาแต่จาตุมหาราชิกากระทำฤกษกาพิมลทรงพาหุรัตทัดดอกทับทิมทรงอาภรอันแล้ว ไปด้วยแก้วปัทมราช พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ ภักษาหารผลอุทุมพร เสด็จทรงไสยาสน์ไปเหนือหลังครุฑเป็นพาหนะ รวีวาระเป็นวันมหาสงกรานต์ จันทรวาระภูมวาระเป็นวันเนาว์ พุทวาระเป็นวันเถลิงศก ศรีพระยาวัน ครั้น ณ วันพุธ เดือนห้าแรมห้าค่ำ เพลาเข้าสองโมงแปดบาทสื้นพยัคสังวัจฉระเป็นสัสสะสังวัจฉรศักราชขึ้น เป็นพันร้อยแปดสิบเอ็ด ปีเถาะนักษัตรเอกศกเนาว์สองวัน เป็นวันมหาสงกรานต์สี่วัน พลทำนายพสุสงกรานต์ อาจินสงกรานต์ สามัญสงกรานต์ เป็นสามประการ อธิบายเป็นสามัญโลกทั่วทุกประเทศในสกลชมพูทวีป เกณฑ์พิรุณสารทพระอาทิตย์เป็นอธิบดี นาคราชสองตัว บัลดาลฝน สี่ร้อยห่า อุบัตดลยังเขาจักรวาลร้อยหกสิบ อรัญยิกาพิมพานร้อยยี่สิบห่า มหาสมุทรแปดสิบห่า มนุษย์โลกสี่สิบห่า ฝรตกมือกลางมืออุดมปลายมือ มัธยมเกณฑ์ธาราธิคุณลงปัศวราศรีซึ่งพระเตโชธาตุพินชนน้ำงามน้อยกว่าปีหลังศอกหนึ่ง นาลุ่มดีนาดอนทรามพอดี เกณฑ์ธัญญาหารออกเศษสองชื่อวิบัติ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ผลกึ่งเสียกึ่ง ธัญญาหารมัชมังสาหาร พลาหารมัธยมในปีเถาะ นักษัตรเอกศกนี้มีอธิมวาระเดือนเจ็ดเป็นเดือนถ้วนเดือนแปดแรมค่ำหนึ่ง พระบวรชิโนรถมหานาคจะได้กระทำชำระกุฎี ลงพระอุโบสถทวิกรรมเข้าพระพรรษาปวารณาออกพระพรรษาตามวินัยพุทธบัญญัติ ให้ชอบด้วยปีเดือน ค่ำวันเทศกาล ดูพระอาทิตย์ พระจันทร์เป็นประธาน แห่งโลกตามขนบธรรมเนียมประเพณีแผ่นดินสืบๆ มา ครั้น ณ วันพุธเดือนแรมห้าค่ำเพลาเช้าสามโมงหกบาท เจ้าพนักงานจะได้ตั้งเครื่องพระมลธาภิเศกชีพ่อพราหมณ์จะได้ถวายน้ำรดน้ำสังข์ ขอเชิญพระบาทสมเด็จพระบรมนาถบรมบพิธพระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จเข้าที่สรงสนามทรงพระมูรธาภิเศก เพื่อจะชำระพระองค์ตามพระราชประเพณีสืบๆ มา เพื่อทรงพระจำเริญพระราชศรีสวัสดิ์พิพัฒนมงคลเมทนีดลสกลศัตรูกระไสยนั้น ให้เจ้าเมืองกรมการพเดียงอาราธนาพระสงฆ์ราชาคณะ เจ้าอธิการและเป่าร้องอาณาประชาราษฎรให้รู้จักทั่ว

.

หนังสือมา ณ วัน เสาร์ เดือนห้า ขึ้นสองค่ำจุลศักราชพันร้อยแปดสิบเอ็ดปีเถาะเอกศก
(คนถือปืนประจำครั่ง) ตราพระคชสีห์น้อยประจำผนึก
วันจันทร์ ขึ้นสามค่ำ เดือนหก ปีเถาะเอกศก หมื่นสนิทข้าในกรมถือมาตรา ๓ ฉบับ
สุเทพ คัด / พิมพ์ / วชิระ ทาน ๒๗ ม.ค. ๒๕๑๓