หงส์หามเต่า บนพระบรมธาตุเจดีย์เมืองนคร

หงส์หามเต่า
บนพระบรมธาตุเจดีย์เมืองนคร

แถบสีแดงบนองค์พระบรมธาตุเจดีย์
หลักฐานชี้ความสัมพันธ์ทางพระพุทธศาสนา
ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
.

มาลัยก้านฉัตร

แถบสีแดงที่ว่านี้เรียกว่า “มาลัยก้านฉัตร”
ปรากฏ ณ ตำแหน่งขอบล่างสุดของปล้องไฉน
เหนือพระเวียนที่เสาหารหน้ากระดาน
เมื่อสังเกตอย่างตั้งใจจะเห็นได้ชัดขึ้นว่า
คล้ายกับเป็นรูปของสัตว์ปีกในอากัปกิริยาต่างๆ วนไปโดยรอบ
.
พระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช มีลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นเมื่อเทียบกับเจดีย์รูปทรงเดียวกันในประเทศไทยโดยเฉพาะคาบสมุทรมลายู อาจเพราะการเป็นต้นแบบทางความคิดประการหนึ่ง นัยยะทางคติความเชื่อพื้นถิ่น และเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์บางประการ อาทิ การประดับเครื่องถ้วยชามเบญจรงค์และสังคโลก เสายูปะ การหุ้มปลียอดด้วยทองคำ และการประดับสาแหรกแก้วหรือพุ่มข้าวบิณฑ์ที่ส่วนยอดสุด จึงอาจกล่าวได้ว่าลักษณะพิเศษจำเพาะเหล่านี้เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญประการหนึ่งอันเป็นเอกลักษณ์
.

กัจฉปชาดก

เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๐ ข้าพเจ้าได้ร่วมสังเกตการณ์กับคณะสำรวจโครงสร้างภายในองค์พระบรมธาตุเจดีย์ด้วยเครื่อง GPR จึงได้เก็บข้อมูลรูปภาพ ณ ตำแหน่งมาลัยก้านฉัตรโดยรอบมาเพื่อศึกษา พบว่า ภาพเหล่านั้นเป็นตอนหนึ่งของนิทานปัญจตันตระ เรื่องหงส์หามเต่า หรือในพระพุทธศาสนารู้จักกันดีในชื่อ “กัจฉปชาดก”
.
ฉากสำคัญของเรื่องคือฉากที่มีหงส์สองตัวคาบกิ่งไม้อยู่ซ้ายขวา แล้วมีเต่าคาบกิ่งไม้อีกทอดหนึ่งตรงกลางลำ ซึ่งฉากนี้พบที่ผนังเชิงบันไดของวิหารจันทิเมนดุด ใกล้บุโรพุทโธ แถบชวากลาง ประเทศอินโดนีเซีย และฐานของมหาวิหารนาลันทา ประเทศอินเดีย
.
หากให้พระบรมธาตุเจดีย์เป็นตัวแทนของเมืองนครศรีธรรมราช มหาวิหารนาลันทาของอินเดีย และจันทิเมนดุดของชวา สังเกตวิธีการจับกิ่งไม้ของหงส์ ๓ พื้นที่ได้ว่า นครศรีธรรมราชใช้ปากคาบ อินเดียใช้ปากคาบ ชวาใช้กรงเล็บเหนี่ยว ซึ่งอาจชี้ว่า คตินี้นครศรีธรรมราชอาจรับมาจากแหล่งกำเนิดของคติโดยตรง และเป็นคติร่วมกันของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะพบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยมีนิทานนางตันไตเป็นวรรณกรรมท้องถิ่น จึงมักพบหน้าบันของศาสนสถานแสดงภาพตอนนกหรือหงส์คาบกิ่งไม้นี้อยู่ด้วย
.
ส่วนถ้าจะพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างจันทิเมนดุตกับพระบรมธาตุเจดีย์ อาจต้องศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “ราชวงศ์ไศเลนทร์” ผู้ก่อตั้งอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่ง ณ จุดเวลาหนึ่ง นครศรีธรรมราชเป็นส่วนหนึ่งของสมาพันธรัฐ เพราะกษัตริย์พระองค์หนึ่งในราชวงศ์ดังกล่าวนั้น เป็นผู้สร้างบุโรพุทโธกับทั้งจันทิเมนดุต โดยอาจใช้ภาพกัจฉปชาดกที่เป็นรอยร่วมกันนี้ประกอบการศึกษา
.
ความในกัจฉปชาดก ภาพ กับข้อสังเกตอื่น
อ่านเพิ่มเติมใน

ดร.สุรศักดิ์ ชูทอง ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและอนุรักษ์ทรัพยากร

ทรัพยากรธรรมชาติเปรียบเสมือนของขวัญล้ำค่าที่ธรรมชาติมอบให้ไว้แก่โลกใบนี้ และโดยเฉพาะกับสิ่งมีชีวิตทุกชนิดต่างก็ได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบต่าง ๆ ต้นไม้ คือหนึ่งในทรัพยากรธรรมชาติที่อาจเรียกได้ว่าเป็นจุดกำเนิดของความอุดมสมบูรณ์ของโลกใบนี้และมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าขะเป็นเกษตรกรรมรวมไปถึงการท่องเที่ยว ด้วยเหตุนี้เองที่การอนุรักษ์รักษาต้นไม้จึงเป็นหน้าที่สำคัญของคนต้นแบบในบทความนี้ที่งานของท่านมีส่วนสำคัญที่ช่วยต่อยอดนำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดนครศรีธรรมราชให้เติบโต หากทุกท่านพร้อมแล้วเราจะไปทำความรู้จักกับบุคคลต้นแบบท่านนี้กันให้มากขึ้น

จากเด็กที่อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติสู่ความสนใจในด้านการเกษตร

ดร.สุรศักดิ์ ชูทอง หรือ อาจารย์ขาว คือบุคคลต้นแบบที่เราจะมาทำความรู้จักกันในครั้งนี้ โดยในวัยเด็กของคุณขาวได้เติบโตและใกล้ชิดกับธรรมชาติเพราะบริเวณบ้านมีความใกล้ชิดกับป่ามากจึงได้ยินเสียงสัตว์ป่ามาตั้งแต่เด็ก และด้วยความที่ทางบ้านทำอาชีพเป็นชาวสวนจึงทำให้อาจารย์ขาวมีความคุ้นเคยกับอาชีพเกษตรกรรมมาตั้งแต่อายุยังน้อย ความคุ้นเคยนี้เองที่ทำให้ตั้งแต่การเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 อาจารย์ขาวจึงเลือกเรียนในด้านเกษตรกรรมที่โรงเรียนมาโดยตลอด

เมื่อจบการศึกษาในชั้นมัธยมต้นด้วยความที่ชอบและคุ้นเคยกับการเรียนเกษตรกรรมจึงทำให้อาจารย์ขาวเลือกที่จะขอทุนเรียนต่อด้านเกษตรกรรมในระดับ ปวช. ที่วิทยาลัยเกษตรกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช จวบจนเรียนจบจึงเบนเข็มไปเรียนเทคโนโลยีภูมิทัศน์และสอบเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ตามลำดับจนกระทั่งจบการศึกษาจึงกลับมาเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยจนถึงปัจจุบัน

โอกาสครั้งสำคัญกับการไปศึกษาต่อที่ประเทศจีนและการดูงานเรื่องการจัดการสวนที่เมืองจีน

อาจารย์ขาวได้พลโอกาสครั้งสำคัญในชีวิตเมื่อหน่วยงานจากทางประเทศจีนได้เข้ามาทำข้อตกลง MOU แลกเปลี่ยนบุคลากรกับหน่วยงานของอาจารย์ขาว ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้อาจารย์ขาวได้มีโอกาสไปศึกษาต่อที่ประเทศจีน และด้วยความโชคดีที่ทางอาจารย์ที่ปรึกษาของอาจารย์ขาวมีความชำนาญในเรื่องการบำรุงดูแลต้นไม้และสวน อาจารย์ขาวจึงได้โอกาสติดตามอาจารย์ที่ปรึกษาไปดูงานด้านการจัดการสวนสาธารณะที่มณฑลใหญ่ ๆ ในประเทศจีนเป็นประจำ ซึ่งนับว่านอกจากจะเปิดประสบการณ์ตรงให้กับอาจารย์ขาว การดูงานในแต่ละครั้งยังช่วยเสริมประสบการณ์ในเรื่องของการจัดการต้นไม้โดยเฉพาะต้นไม้ใหญ่ ๆ ซึ่งจะป็นประโยชน์ต่ออาจารย์ขาวในอนาคต

นอกเหนือจากประสบการณ์ดังกล่าว สิ่งที่อาจารย์ขาวยังได้รับกลับมานอกจากเรื่องของภาษาก็คือเรื่องของความขยันและความตรงต่อเวลาอันจะมีผลต่อการทำงานของอาจารย์ขาวด้วยเช่นกัน

การดูแลอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่คืองานสำคัญที่ต่อยอดสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

ในส่วนของงานของอาจารย์ขาวนอกเหนือจากการเป็นอาจารย์ประจำก็คืองานในแนวทางของการดูแลอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่งานในสาขาอาชีพนี้ถูกเรียกว่ารุกขกรรม โดยมีผู้ปฏิบัติงานที่เรียกว่ารุกขกรเป็นผู้ขับเคลื่อน โดยจุดเริ่มต้นมาจากที่จังหวัดนครศรีธรรมราชประสบภัยพิบัติด้านต้นไม้ใหญ่จากเมื่อครั้งที่พายุปลาบึกพัดถล่มจังหวัด ในครั้งนั้นทำให้ต้นไม้ใหญ่ทั่วจังหวัดกว่า 2 แสนต้นล้มลง แต่ด้วยหน่วยงานต่าง ๆ ไม่มีความรู้ในการจัดการต้นไม้ใหญ่เหล่านี้ทำให้ความช่วยเหลือมุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือคนโดยไม่มีใครช่วยเข้าไปดูแลต้นไม้เลย ผลคือทำให้ต้นไม้ส่วนใหญ่ถูกตัดทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย ในครั้งนั้นคุณหมอบัญชา พงษ์พานิชได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจึงประสานไปยังกลุ่ม big tree ให้ช่วยติดต่อไปยังอ.บรรจง สมบูรณ์ชัยซึ่งท่านเป็นหมอต้นไม้อยู่ที่เชียงใหม่ แต่เมื่ออ.บรรจงทราบจึงให้ทางคณะทำงานติดต่อมาที่อ.ขาว เพราะอ.ขาวเองก็มีความรู้และประสบการณ์ในด้านนี้ด้วยเช่นกัน จึงเป็นที่มาของการทำงานด้านการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่อย่างเต็มตัว

เพื่อความยั่งยืนอ.ขาวจึงพยายามจัดอบรมเพื่อสร้างคนให้เข้ามาทำงานในด้านนี้ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเมื่อทางคณะของอาจารย์ขาวได้รับงบประมาณจาก อบจ. จังหวัดในการสนับสนุนการอบรมสร้างทีมงานขึ้นมารวมถึงได้รับงบประมาณจากสำนักงานนวัตกรรมจากการคิดค้นต่อยอดแนวทางการสร้างนวัตกรรมการจัดการภัยพิบัติจากต้นไม้ใหญ่ นี่จึงเป็นจัดเริ่มต้นของงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่อ.ขาวมีส่วนร่วมบุกเบิกในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชนั่นเอง

รุกขกรรม อีกหนึ่งอาชีพที่เป็นตัวแปรสำคัญในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

รุกขกรรมอาจเป็นอาชีพที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จักมากนัก และน้อยคนจะรู้ว่าอาชีพนี้มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติรวมถึงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติได้อย่างไร โดยรุกขกรจะมีหน้าที่ตั้งแต่การคัดเลือก การดูแล รวมถึงการตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ด้วยศาสตร์ในการจัดการต้นไม้เหล่านั้นอย่าถูกต้อง ซึ่งนอกจากต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ เช่นวัดหรือสถานที่สำคัญ หน้าที่ของรุกขกรยังมีส่วนให้คำแนะนำในการปลูกและดูแลต้นไม้อย่างเหมาะสมตามสถานที่ที่ต้องการปลูกต้นไม้ใหญ่ ๆ เช่นริมถนน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดรวมถึงไม่เป็นอันตรายต่อทั้งคน สัตว์หรือสิ่งของที่อยู่บริเวณต้นไม้ใหญ่เหล่านี้ ดังนั้นในแง่ของความสำคัญรุกขกรจึงมีส่วนสำคัญในการเป็นตัวแปรในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติอยู่ไม่น้อยทีเดียว

ในปัจจุบันขอบเขตงานของรุกขกรยังครอบคลุมไปถึงการประเมินความเสี่ยงของต้นไม้ใหญ่ที่มีอายุมากว่าจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายจากการล้มรวมถึงการดูแลระบบรากและการฟื้นฟูต้นไม้ที่ทรุดโทรมให้กลับมาสมบูรณ์แข็งแรงอีกครั้ง

ทั้งทรัพยากรและเกษตรกรรม หากมีการพัฒนาต่อยอดจะช่วยสร้างรายได้ให้แก่ผู้คนอีกไม่น้อย

ด้วยความที่อาจารย์ขาวเติบโตมากับการเกษตร รวมถึงยังทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ อาจารย์ขาวจึงมองว่าทั้ง 2 สิ่งนี้หากได้รับการพัฒนาจะช่วยสร้างรายได้ให้กับประชาชนไม่น้อย อย่างในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติภายในจังหวัดนครศรีธรรมราชมีแหล่งทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์เพราะมีเขตอุทยานแห่งชาติทั้งทางบกและทางทะเลอยู่ถึง 5 แหล่งจึงมีต้นทุนทางธรรมชาติมหาศาล แต่สิ่งที่จำเป็นต้องพัฒนาคือทรัพยากรคนที่ต้องเรียนรู้แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้นให้ยั่งยืน

เช่นเดียวกับงานด้านการเกษตรที่จริง ๆ แล้วเกษตรกรบ้านเราสามารถผลิตผลผลิตได้ทุกอย่างแต่ไม่มีสิทธิ์กำหนดอะไรเลย เพราะในปัจจุบันทั้งต้นน้ำคือเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยและอื่น ๆ รวมถึงปลายน้ำอย่างราคาพืชผลถูกกำหนดโดยบุคคลอื่น ดังนั้นหากเกษตรกรอยากมีรายได้ที่ดีจึงจำเป็นต้องรู้จักการจับกลุ่มและเรียนรู้การขายสินค้าเกษตรของตนผ่านโลกออนไลน์โดยการสร้าง storytelling ที่ช่วยดึงดูดความสนใจของผู้ที่สนใจ โลกออนไลน์คือสิ่งที่จะเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรเหล่านี้ได้

ความในใจจากอาจารย์ขาวในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ

ในท้ายที่สุดนี้อาจารย์ขาวได้ให้แนวคิดของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเอาไว้ว่าการท่องเที่ยวจะมาได้ก็เพราะทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ได้รับการอนุรักษ์เอาไว้ อย่างเช่นต้นไม้ เพราะต้นไม้เป็นทุกอย่างของเรา ถ้าไม่มีต้นไม้เลยความอุดมสมบูรณ์ก็จะหมดไป และไม่เหลือสิ่งใดที่จะดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวเลย แต่หากเรายิ่งเห็นคุณค่าของต้นไม้ เห็นคุณค่าของพรรณไม้และพยายามอนุรักษ์และรักษามันเอาไว้ ท้ายที่สุดก็จะส่งผลบวกต่อการท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน

ชมคลิป VDO สัมภาษณ์

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร 092-6565-298 คุณเกียรติรัตน์ จินดามณี
<< ลงทะเบียนที่นี่  >>

คุณพิชญ์สินี ทัศน์นิยม สนับสนุน ส่งเสริม เพิ่มรายได้ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ

สนับสนุน ส่งเสริม เพิ่มรายได้ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ

ธุรกิจท่องเที่ยวเปรียบเสมือนแขนขาของระบบเศรษฐกิจ เครื่องยนต์นี้เป็นกลไกสำคัญตัวหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นและขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของไทยเดินหน้า แต่ด้วยวิกฤติโควิดที่ผ่านมาทำให้เครื่องยนต์ตัวนี้ดับลงและยังคงทำงานได้ไม่เต็มกำลังเหมือนเช่นในอดีต ในบทความนี้เราจะพาทุกท่านไปรับฟังแนวคิดของบุคคลต้นแบบผู้มีส่วนร่วมในการผลักดันและพัฒนาให้ธุรกิจท่องเที่ยวในจังหวัดนครศรีธรรมราชเดินหน้าไปได้ ผู้มีแนวคิดและวิธีการจัดการที่น่าสนใจและทันสมัยไปพร้อม ๆ กัน

จากเด็กสายวิทยาศาสตร์สู่การเบนเข็มเข้าสู่สายการท่องเที่ยว

คุณพิชญ์สินี ทัศน์นิยม หรือ คุณทิพย์ คือคนต้นแบบที่เราจะมาทำความรู้จักกันในวันนี้ ในสมัยเด็ก ๆคุณทิพย์มีความฝันที่อยากจะเป็นนักเขียนเพราะได้มีโอกาสอ่านหนังสือที่มาจากประเทศนอร์เวย์และมีความใฝ่ฝันที่อยากจะเดินทางไปที่ประเทศนี้สักครั้งด้วยเช่นกัน

ชีวิตในวัยเด็กของคุณทิพย์เกิดมาในครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่แยกทางกัน แต่สำหรับตัวคุณทิพย์นั้นเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาที่ทำให้เกิดรอยแผลทางใจเลยแม้แต่น้อย ในทางตรงกันข้ามตัวของคุณทิพย์เองมองว่าเรื่องนี้ทำให้คุณทิพย์เองเข้าใจอะไรหลาย ๆ อย่างและใช้วิกฤติที่เกิดขึ้นเป็นโอกาสของตนเอง ส่วนหนึ่งที่ทำให้คุณทิพย์เองไม่ได้รู้สึกว่าตนเองมีปัญหาก็อาจเนื่องมาจากการได้รับความรักจากพี่ ๆ น้อง ๆ ทุกคนด้วยนั่นเอง

ตัวของคุณทิพย์เองเรียนหนังสืออยู่ในสายวิทยาศาสตร์มาโดยตลอดจนถึงมัธยมปลาย แต่จุดพลิกผันที่ทำให้ตนเองได้ก้าวเข้าสู่ทางเดินสายการท่องเที่ยวก็คือการสอบไม่ติดในคณะสายวิทยาศาสตร์จึงเบนเข็มให้ความสนใจศึกษาต่อในสาขาการโรงแรมและการท่องเที่ยวในชื่อหลักสูตรEnglish for service ที่ราชภัฏแห่งหนึ่งโดยหลักสูตรนี้เปิดในรุ่นที่คุณทิพย์เรียนเป็นรุ่นแรก และได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยทักษิณในหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์

แรงบันดาลใจที่ทำให้อยากเข้ามาทำงานที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

ในช่วงที่เรียนปริญญาตรีอยู่นั้น ทางสถาบันได้ส่งคุณทิพย์และนักศึกษาคนอื่น ๆ ไปฝึกงานตามโรงแรมในสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ซึ่งช่วยให้คุณทิพย์ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ล้ำค่าต่าง ๆ มากมาย แต่ที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่คุณทิพย์มากที่สุดก็คงจะเป็นการได้มีโอกาสฟังการบรรยายจากอาจารย์พิเศษที่ได้รับเชิญจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ส่วนตัวคุณทิพย์รู้สึกว่าอาจารย์พิเศษท่านนี้สมาร์ทและดูภูมิฐาน จึงต้องการที่จะเข้าทำงานที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยให้ได้ และในที่สุดเมื่อจบการศึกษาจึงได้เข้าทำงานที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสมดั่งที่ตั้งใจ

เติบโตในหน้าที่การงานและได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่จนท้ายที่สุดได้กลับมาพัฒนาจังหวัดบ้านเกิด

หน้าที่การงานในการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยของคุณทิพย์ถือได้ว่ามีความก้าวหน้ามาโดยลำดับ จากเจ้าหน้าที่ตำแหน่งเล็ก ๆ ในจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ตอนนั้นเป็นเพียงหน่วยย่อยในสังกัด ททท. สุราษฎร์ธานี คุณทิพย์ก็ได้รับโอกาสให้ขึ้นดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานที่เชียงใหม่ และที่เชียงใหม่ซึ่งเป็นเมืองหลักเมืองหนึ่งในด้านการท่องเที่ยว คุณทิพย์ได้รับประสบการณ์ในการทำงานที่ยอดเยี่ยมในเรื่องของแนวคิดในการทำงานต่าง ๆ และที่สำคัญคือได้พบเจอผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในขณะนั้นที่ให้การสนับสนุนการทำงานในทุกด้านอย่างเต็มที่ และเมื่อถึงวาระที่ต้องย้ายไปประจำจังหวัดอื่น คุณทิพย์ก็ได้ย้ายกลับสู่ภาคใต้ที่จังหวัดตรังและสตูล ซึ่งทำให้คุณทิพย์ได้เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นอันเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของแต่ละจังหวัดซึ่งส่งสมให้คุณทิพย์มีแนวคิดในการทำงานที่ดีก่อนที่คุณทิพย์จะได้รับโอกาสย้ายกลับมาประจำที่จังหวัดนครศรีธรรมราชอันเป็นบ้านเกิดในปี 2563 ที่ผ่านมา

การท่องเที่ยวในนครศรีธรรมราช โจทย์ใหญ่ที่คุณทิพย์ต้องการพัฒนาเพื่อแทนคุณบ้านเกิด

ที่นครศรีธรรมราชจังหวัดบ้านเกิดของคุณทิพย์นั้น คุณทิพย์มองว่าแท้จริงแล้วจังหวัดนี้ก็มีศักยภาพในด้านการท่องเที่ยวที่ไม่ด้อยไปกว่าที่อื่นเลย แต่สิ่งที่แตกต่างอาจจะเป็นในเรื่องของอัธยาศัยไมตรีและการเชื่อมโยงเส้นทางระหว่างเมืองกับสถานที่ท่องเที่ยวที่ยังแตกต่างจากจังหวัดใหญ่ที่คุณทิพย์เคยไปประจำอย่างเชียงใหม่ ในเรื่องของอัธยาศัยไมตรีนั้นคุณทิพย์มองว่าแท้จริงแล้วคนนครก็มีความจริงใจ แต่ทว่าผู้คนจะรับรู้ถึงความจริงใจของคนนครก็ต่อเมื่อได้คบหากันในระดับหนึ่งซึ่งอาจเป็นจุดอ่อนเพราะในเรื่องของการท่องเที่ยวความประทับใจแรกมีความสำคัญเสมอ นอกจากนี้ผู้นำท้องถิ่นเองก็ไม่ได้อยู่ในแวดวงการท่องเที่ยวทำให้ความเข้าใจในเรื่องการท่องเที่ยวอาจมีไม่เท่าจังหวัดอื่น ดังนั้นจึงต้องพยายามขายอัตลักษณ์ในเรื่องของความจริงใจควบคู่ไปกับการพยายามเขื่อมโยงสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เข้าด้วยกัน

ศรัทธานำการท่องเที่ยว อัตลักษณ์เด่นชัดของการท่องเที่ยวในนครศรีธรรมราช

ในเรื่องของสถานการณ์โควิดที่ผ่านมานั้น ในเรื่องของการท่องเที่ยวในนครศรีธรรมราชก็ได้รับผลกระทบในระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่แปลกก็คือในการระบาดของโควิดระลอกแรกนั้น กลับกลายเป็นว่านครศรีธรรมราชเป็นหมุดหมายของสายการบินต่าง ๆ ที่มีเข้ามาถึง 64 เที่ยวบินต่อวัน และจุดสำคัญของการเป็นหมุดหมายนี้ก็อยู่ที่การมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่สักการะอยู่ในพื้นที่ ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของคนทั่วประเทศนั่นเอง

ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้คุณทิพย์ต้องการพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดนครศรีธรรมราชโดยการนำความศรัทธานำและเชื่อมโยงไปยังสถานที่ท่องเที่ยวจุดต่าง ๆภายในจังหวัด โดยอาศัยการเล่าเรื่องราวเป็น storytelling เช่นความมงคล โชคลาภ ทั้งในเรื่องที่กิน การ shopping ครอบคลุมในทุกอำเภอ

ทุกพื้นที่มีของดี แต่การจะให้ภาพรวมเดินหน้าต่อไปได้ต้องอาศัยความใจกว้าง

ในช่วงของการเริ่มโปรโมทการท่องเที่ยวโดยนำความศรัทธานำการท่องเที่ยวนั้น สิ่งที่คุณทิพย์ต้องเผชิญก็คือในแต่ละท้องที่ก็มีของดีที่หลากหลาย แต่ในแง่ของการตลาดนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องหยิบของที่โดดเด่นที่สุดขึ้นมาเพื่อโปรโมทในขณะที่ของดีอื่น ๆ จะต้องเป็นเพียงตัวรองที่มาเสริมสิ่งที่โปรโมทนี้ ซึ่งการทำเช่นนี้นับว่าไม่ง่ายเลยเพราะต้องอาศัยความใจกว้างและความเข้าใจที่พร้อมจะมองเห็นประโยชน์ในภาพรวม การเชื่อมโยงจากสิ่งที่เด่นที่สุดไปสู่สิ่งที่รองลงมาก็มีความสำคัญเพราะคนที่เข้ามาท่องเที่ยวก็ใช่ว่สพวกเขาจะเข้ามาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพียงอย่างเดียว แต่ก็ต้องไปที่อื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ดังนั้นเมื่อเกิดความเข้าใจในภาพรวมก็ย่อมจะส่งผลให้ความพยายามที่ขะผลักดันนั้นราบลื่นและเกิดประโยชน์ร่วมกันในทุกภาคส่วนสมดั่งคำขวัญที่ว่า “นครแห่งอารยะ พุทธะรุ่งเรือง ฟูเฟื่องงานศิลป์ วิถีถิ่นหลากหลาย มากมายธรรมชาติ” อันเป็นการนำความศรัทธามาเชื่อมโยงไปสู่จุดเด่นด้านต่าง ๆ นั่นเอง

ธุรกิจท่องเที่ยวต้องปรับตัว เพื่อให้สามารถยืนหยัดอยู่บนสายธารแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ให้ได้

โควิดที่เกิดขึ้นทำให้พฤติกรรมการท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย แม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการแต่กระนั้นทางตัวของผู้ประกอบการเองก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตัวเองด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในเรื่องของเทคโนโลยีที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้นำร่องการนำแอพพลิเคชั่นมาประยุกต์ใช้กับการให้ข้อมูลการท่องเที่ยวต่าง ๆ สำหรับภาคเอกชนเองการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ก็มีความสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องของการทำการตลาดออนไลน์ ซึ่งผู้ประกอบการต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเรื่องนี้จึงจะช่วยทำให้ธุรกิจไปรอดและเดินหน้าต่อไปได้ โดยคุณทิพย์ได้ให้หลักการทางการตลาดที่น่าสนใจและควรค่าแก่การนำไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจก็คือ “หลักการตลาดไม่มีกลยุทธ์ตายตัว แต่กลุ่มเป้าหมายคือสิ่งตายตัว” หาให้เจอว่าใครคือคนที่ชอบของของเราและชอบเราตรงไหน เพื่อนำเสนอสิ่งที่ตรงใจพวกเขามากที่สุด นี่คือแนวคิดที่สร้างความสำเร็จในการทำงานของบุคคลต้นแบบในวันนี้

ชมคลิป VDO สัมภาษณ์

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร 092-6565-298 คุณเกียรติรัตน์ จินดามณี
<< ลงทะเบียนที่นี่  >>

เทศกาลเดือนหก วันเพ็ญ ปีใหม่ ทำขวัญพระธาตุ

เทศกาลเดือนหก
วันเพ็ญ ปีใหม่ ทำขวัญพระธาตุ

“พระพุทธศักราชได้สองพันร้อยเก้าสิบพระพรรษาเศษได้สี่วัน
เมื่อยอดพระเจ้าหัก วันจันทร์ เดือนหก แรมสี่ค่ำ ปีมะเมีย
เพลาชายแล้วสองยาม สร้างตรหลบหกสู่ยอดพระเจ้าหั้นแล
เมื่อทำการนั้น เดือนสิบ วันศุกร์เพลาเช้าขึ้นถึงสิบชั้นเป็นสุดเอย”

ข้อความนี้ เป็นการปริวรรตจารึกที่แกนปลีใต้กลีบบัวหงายพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช โดย ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และ เทิม มีเต็ม ก่อนที่จะวิเคราะห์เนื้อความในจารึก จะกล่าวถึงตำแหน่งที่พบจารึกตามการบันทึกไว้ในฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ว่าอยู่ในช่วงใต้กลีบบัวหงายต่ำลงไป ประมาณ 1.80 เมตร เป็นการจารึกรอบแกนปลีจำนวน 2 บรรทัดแต่ปัจจุบันถูกหุ้มด้วยแผ่นไฟเบอร์กลาส เพื่อเสริมความมั่นคงให้แก่ โครงสร้างยอดเจดีย์ จารึกดังกล่าวจึงถูกปิดทับไปด้วย จึงมีการอ่านแปลจารึกในบริเวณดังกล่าวจากภาพถ่าย และตีพิมพ์ในวารสารศิลปากร ปีที่ 37 ฉบับ 4 (กรกฎาคม-สิงหาคม, 2537) ในบทความชื่อ “จารึกแผ่นทองหุ้มปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช”

ต้นจารึกเป็นอักษรขอมอยุธยา ภาษาไทย มีด้านเดียว 2 บรรทัด จารึกลงบนโลหะ กำหนดอายุสมัยในพุทธศักราช 2190 จัดเรียงบรรทัดใหม่เพื่อวิเคราะห์ความได้ 4 บรรทัดข้างต้น ส่วนบรรทัดสำคัญซึ่งชี้ว่าเมืองนครศรีธรรมราช ใช้วันวิสาขปุรณมี เป็นวันขึ้นปีใหม่นั้น คือ 2 บรรทัดแรก ดังจะได้ขยายความต่อไป

“พระพุทธศักราชได้สองพันร้อยเก้าสิบพระพรรษาเศษได้สี่วัน
เมื่อยอดพระเจ้าหัก วันจันทร์ เดือนหก แรมสี่ค่ำ ปีมะเมีย

“พระพุทธศักราชได้สองพันร้อยเก้าสิบพระพรรษาเศษได้สี่วัน” และเศษของสี่วันนั้นตรงกับ “วันจันทร์ เดือนหก แรมสี่ค่ำ ปีมะเมีย” ประเด็นคือ มีข้อพิจารณาอย่างหนึ่งเกี่ยวกับวิธีนับพุทธศักราช ในที่นี้จะเห็นว่าหากย้อนหลับไปสี่วัน วันขึ้นปีใหม่จะตรงกับ “วันขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนหก” ซึ่งตรงกับวัน “วิสาขปุรณมีบูชา”

“วิสาขปุรณมีบูชา” วันขึ้นปีใหม่ของเมืองนครศรีธรรมราช

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า “วันวิสาขบูชา” ถูกยกย่องให้เป็นวันสำคัญสากลมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2542 ตามมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา ทั้ง 3 เหตุการณ์ของพระโคตมพุทธเจ้า คือการประสูติ ณ สวนลุมพินีวัน, ตรัสรู้  ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ เมื่อพระชนมายุ ๓๕ พรรษา และดับขันธปรินิพพาน ณ ควงไม้สาละ ในสาลวโนทยาน เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ เมื่อพระชนมายุ 80 พรรษา ซึ่งทุกเหตุการณ์ล้วนเกิดขึ้นในวันเพ็ญ เดือน 6 ทว่าต่างปีกัน การรำลึกถึงความสำคัญเหล่านี้จึงเรียกให้พ้องไปตามกาลว่า “วิสาขปุรณมีบูชา” ซึ่งแปลว่าการบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ หรือเดือน 6

ดังนั้น หากพุทธศักราชเป็นการสมมตินับเอาวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานเป็น พ.ศ. 1 ตามอย่างประเทศศรีลังกาและพม่า หรือหลังจากเหตุการณ์นั้นแล้ว 1 ปีตามอย่างประเทศไทย วันซึ่งจะเป็นหมุดหมายเปลี่ยนศักราช จึงควรเป็นวันวิสาขบูชา และใช้สืบเนื่องมาแต่โบราณก่อนจะปรับเปลี่ยนไปตามสากล

แล้วเมืองนครศรีธรรมราชเอาอย่างใคร ?

จารึกที่ฐานพระลาก วัดศรีทวี อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีข้อความระบุว่า “…วันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ปีกุน สัตตศก เพลาชาย 3 ชั้น พุทธศักราชได้ 2277…” พระครูเหมเจติยาภิบาลสอบพุทธศักราชกับจุลศักราชแล้วพบว่า เป็นการนับศักราชมากกว่าพุทธศักราชปัจจุบัน 1 ปีอย่างศรีลังกา ข้อนี้อาจแสดงให้เห็นการยึดถือระเบียบวิธีดั้งเดิมของแหล่งซึ่งเป็นต้นทางของพระพุทธศาสนาที่ประดิษฐานอยู่ ณ เมืองนครศรีธรรมราชและสยามประเทศ

อย่างไรก็ดี เมื่อย้อนไปสอบทานปีพุทธศักราชและปีนักษัตรกลับพบว่า พุทธศักราช 2190 ไม่ตรงกับปีมะเมีย ดังที่ระบุในจารึก

เหตุและปัจจัยที่นักษัตรกับปีเคลื่อนกัน

เหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองที่ระบุไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) คือเมื่อ จุลศักราช 1000 ปีขาล (พุทธศักราช 2181) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีลบศักราช เพื่อเสี่ยงพระบารมีแก้กลียุค แม้ในพระราชพงศาวดารจะระบุว่าพระเจ้าอังวะปฏิเสธที่จะใช้ตามพระราชสาส์นที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองส่งไป ในส่วนของเมืองนครศรีธรรมราช มีจารึกที่ระฆังวัดท้าวโคตร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุว่า “พุทธศักราชได้ 2183 ปีมะโรง เลิกว่าฉลู ตรีนิศก วันศุกร์ แรม 6 ค่ำ เดือน ๔” คำว่า “ปีมะโรง เลิกว่าฉลู” เป็นหลักฐานยืนยันว่า เมืองนครศรีธรรมราชยอมรับอำนาจของกรุงศรีอยุธยาโดยสมบูรณ์ในฐานะเป็นขอบขัณฑสีมา จึงได้ย้อนปีนักษัตรขึ้นปี 2 ปีตามพระราชประสงค์

ส่วนจารึกแกนปลีใต้กลีบบัวหงายพระบรมธาตุเจดีย์ ระบุว่า “พระพุทธศักราชได้สองพันร้อยเก้าสิบ…วันจันทร์ เดือนหก แรมสี่ค่ำ ปีมะเมีย…” กลับมีปัญหาเพราะเมื่อคำนวณทั้งตามการนับศักราชธรรมดาและลบศักราช กลับไม่ตรงทั้ง 2 วิธี กล่าวคือ

ธรรมดา            : พุทธศักราช 2190 ตรงกับจุลศักราช 1009 ปีกุน
ลบศักราช         : พุทธศักราช 2190 ตรงกับจุลศักราช 1009 ปีวอก

จึงดูเหมือนว่า ศักราชที่ปรากฏที่แกนปลีนี้ ใช้หลักการลบศักราชถึง 2 ครั้ง คือย้อนกลับขึ้นไปถึง 4 ปีนักษัตร ความคลาดเคลื่อนข้อนี้เป็นปัญหาที่ยังไม่พบข้อสรุป นอกจากการสันนิษฐานว่า อาจเป็นเพราะผู้จารึกที่รับข้อความให้จารึกซึ่งระบุศักราชที่ลบแล้ว แต่กลับลบซ้ำเป็นกำลัง

ย้อนกลับมาที่เรื่อง “ปีใหม่”

 

ขอทำความเข้าใจให้ตรงกันเรื่อง “ปีใหม่” ก่อนว่า
“ปี” กำหนดชั่วโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่ง
ใช้เวลาราว 365 วัน หรือ 12 เดือน
เมื่อยึดเอาดวงอาทิตย์ฉะนี้ จึงเรียก “สุริยคติ”
.
จึงหมายความว่าเมื่อโลกเริ่มต้นวนอีกครั้ง
ก็จะเท่ากับว่ากำลังเริ่ม “ปีใหม่” เนื่องต่อกันไป
.
แต่ก่อนมีหมุดหมายกำหนดวันขึ้นปีใหม่หลายระลอก
ได้แก่ แรมค่ำหนึ่ง เดือนอ้าย, ขึ้น 1 ค่ำเดือนห้า
1 เมษายน และ 1 มกราคม ที่ใช้อยู่เป็นปัจจุบัน
.
จะเห็นว่ามีทั้งการยึดทั้งตามสุริยคติและจันทรคติ
ซึ่งเป็นการยึดโยงกับสิ่ง “นอกโลก”
.
ตานี้ย้อนกลับมาในโลก
อันมีศาสนาเป็นเครื่องยึดโยงจรรโลงใจ
หมุดหมายของวันขึ้นปีใหม่
ที่ตรงกับเหตุการณ์สำคัญของศาสนาใด
ก็จะแปรผันตรงกับศักราชในศาสนานั้น
.
เช่นว่า อิสลามคติ ที่ใช้เดือนมุฮัรรอม
ประกอบกับการมองเห็นดวงจันทร์
เป็นวันจบปีจบเดือนเริ่มฮิจเราะห์ศักราชใหม่
หรือ พุทธคติ ก็เปลี่ยนพุทธศักราช
โดยใช้วันเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เป็นอาทิ
.

“…ครั้นถึงเทศกาลเดือนหก
วันเพ็ญ ปีใหม่ ทำขวัญพระธาตุ…”

 

ข้อความนี้คัดจากเอกสารเลขที่ 164
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ (ท่าวาสุกรี)
ซึ่งพระครูเหมเจติยาภิบาลได้กำหนดนับจัดหมวดใหม่เป็น
พงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช หมายเลข 2
.
มีข้อบ่งชี้บางประการถึงอิทธิพลของพระพุทธศาสนา
ที่แพร่และเจริญอยู่ในดินแดนนี้
คือการใช้วันขึ้นปีใหม่เป็นวันเพ็ญ เดือนหก

.

“วิสาขปุรณมีบูชา”
จึงคือวันขึ้นปีใหม่ของเมืองนครศรีธรรมราช

 

ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า “วันวิสาขบูชา”
ถูกยกย่องให้เป็นวันสำคัญสากล
มาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2542
ตามมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ
เพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญยิ่ง
ทั้ง 3 เหตุการณ์ของพระโคตมพุทธเจ้า
คือการประสูติ ณ สวนลุมพินีวัน,
ตรัสรู้ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ
และดับขันธปรินิพพาน ณ ควงไม้สาละ
ในสาลวโนทยาน เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ
.

ความน่าสนใจอีกประการนอกจากคำตอบว่า ชาวนครศรีธรรมราช ใช้วันใดเป็นหมุดหมายขึ้นปีใหม่ คือการค้นคว้าเพิ่มเติมว่ามีการเฉลิมฉลองกันอย่างไรในเมืองนี้
.

ทำขวัญพระธาตุ

แน่นอนว่ามี “ทำขวัญพระธาตุ” แล้วอย่างหนึ่งตามจารึกข้างต้น ในภาพปกซึ่งคัดต้นฉบับจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ปรากฏเสาต้นไม้เพลิงและมีคำอธิบายเขียนไว้กำกับต้นฉบับว่า “พระเจดีย์พระมหาธาตุ (คราวมีงาน)” แต่ไม่ระบุว่างานอะไร อาจกล่าวโดยกว้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองในวาระใดวาระหนึ่ง
.
จึงเป็นเรื่องของอนาคตที่คงต้องอาศัยหลักฐานประกอบเพื่อทำหน้าที่ให้ปากคำจนจิ๊กซอว์ภาพนี้ต่อกันบริบูรณ์

คุณ อดุลชัย รักดำ สนับสนุน ส่งเสริมเทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยวในยุคดิจิทัล

ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศควบคู่ไปกับภาคการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศ แต่จากวิกฤติโควิดที่ผ่านมาทำให้ภาคการท่องเที่ยวหยุดชะงักและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไม่น้อยเลยทีเดียว เมื่อโควิดกำลังจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ภาคการท่องเที่ยวจึงต้องได้รับการฟื้นฟูไม่เพียงแต่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นการต่อลมหายใจให้กับทั้งผู้ประกอบการและผู้ที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยวให้กลับมายืนได้ด้วยตนเองอีกครั้ง คนต้นแบบที่เราจะพาไปทำความรู้จักนี้เป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยผลักดันและฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งผ่านการร่วมเป็นคณะทำงานต่าง ๆ ภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้อย่างไรเราจะพาไปฟังในมุมมองของคนต้นแบบในวันนี้กัน

จากความคิดยึดเป็นอาชีพที่สองสู่การก้าวเข้าสู่ภาคการท่องเที่ยวเต็มตัว

คุณอดุลชัย รักดำ หรือ คุณยุทธ์ คือคนต้นแบบที่เราจะพาไปทำความรู้จักกันในวันนี้ พื้นเพเดิมของคุณยุทธ์เติบโตมาในพื้นที่จังหวัดตรัง ได้เข้าศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาที่ตรังก่อนจะย้ายไปเรียนต่อในกรุงเทพมหานครที่โรงเรียนวัดสระเกศและก้าวไปศึกษาต่อในระดับชั้นอุดมศึกษาในสายบริหารที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยอยู่นั้นคุณยุทธ์เคยทำงานในภาคการท่องเที่ยวมาก่อนโดยการเข้าร่วมเป็น staff ที่บริษัทรุ่งเรืองทัวร์ในตำแหน่งผู้ช่วยมัคคุเทศก์โดยเหตุผลที่เข้ามาทำงานนี้ก็เพราะอยากมองหาอาชีพที่สองให้กับตนเอง

ด้วยความชอบในภายหลังจึงเข้ารับการอบรมมัคคุเทศก์รุ่นที่ 1 อย่างจริงจังที่ราชภัฏสวนดุสิตในขณะนั้นจนได้รับบัตรประจำตัวมัคคุเทศก์จึงเริ่มต้นเป็นมัคคุเทศก์ตั้งแต่ปี 2528 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งในระหว่างนี้คุณยุทธ์ก็ได้มีโอกาสเข้าร่วมการอบรมเพิ่มเติมที่มหาวิทยาลัยศิลปากรด้วยเช่นกัน

ในช่วงโควิดที่ผ่านมาทำให้ธุรกิจภาคการท่องเที่ยวซบเซาคุณยุทธ์จึงได้มีโอกาสได้มีส่วนร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบภาคการท่องเที่ยวมากขึ้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชรวมถึงได้เคยเข้าร่วมโครงการอบรมมัคคุเทศก์ที่นครศรีธรรมราชกับทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในพิธีแห่ผ้าขึ้นธาตุ

เสน่ห์ของการเป็นมัคคุเทศก์ที่คุณยุทธ์อยากนำเสนอ

คนภายนอกอาจสงสัยว่าอาชีพมัคคุเทศก์มีเสน่ห์ที่น่าสนใจอย่างไร แต่สำหรับในมุมมองของคุณยุทธ์นั้น การเป็นมัคคุเทศก์มีเสน่ห์ตรงที่การได้พบปะผู้คนมากมายทำให้ต้องฝึกให้ตนเองเป็นคนที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อทั้งตัวเองในเรื่องเวลา รับผิดชอบต่อการจัดการค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในแต่ละทริปและที่สำคัญที่สุดคือการรับผิดชอบต่อชีวิตของผู้อื่นที่มาร่วมคณะทัวร์กับเรา สิ่งเหล่านี้คือเสน่ห์ของมัคคุเทศก์ที่คุณยุทธ์ต้องการสื่อออกมาให้คนภายนอกได้รับรู้

การจะเป็นมัคคุเทศก์ที่ดีได้นั้น คุณยุทธ์ให้ทัศนะที่น่าสนใจเอาไว้ว่าควรจะเป็นคนที่ช่างสังเกตพร้อมที่จะเรียนรู้และรับฟังคำชี้แนะ แนะนำจากผู้อื่นอยู่เสมอโดยในสายอาชีพนี้สามารถก้าวหน้าได้ใน 2 แนวทางคือการเป็นผู้ประกอบการ ผู้บริหารองค์กรเอง หรือจะเป็นในด้านของมัคคุเทศก์ก็ได้เช่นกัน

ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้ภาคการท่องเที่ยวเองก็ต้องมีการปรับตัว

ภาคการท่องเที่ยวในอดีตแตกต่างจากในปัจจุบันเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในส่วนของมัคคุเทศก์ที่มีเรื่องของการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้นเช่นการทำคลิปแนะนำการท่องเที่ยว การให้บริการด้านเทคโนโลยีแก่นักท่องเที่ยว สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ภาคการท่องเที่ยวต้องปรับตัวให้ทันกระแส ซึ่งจะช่วยสร้างความแตกต่างและความน่าสนใจให้กับธุรกิจมากขึ้น

ประสบการณ์ในด้านการทำงานเพื่อพัฒนาภาคการท่องเที่ยว

นอกเหนือไปจากการเข้าร่วมเป็นคณะทำงานในโครงการที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจัดขึ้น ตัวของคุณยุทธ์เองก็มีส่วนร่วมในโครงการที่น่าสนใจเพื่อพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวท้องถิ่นของจังหวัดนครศรีธรรมราชในโครงการการอบรมนักสื่อความหมายซึ่งได้งบประมาณโครงการมาจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดทำเครื่องมือสื่อสารโดยความร่วมมือกับกระทรวง DE ในการนำเทคโนโลยีเข้ามาต่อยอดภาคการท่องเที่ยว รวมถึงวิทยากรจาก ธกส. ที่เข้ามาให้ความรู้ในภาคการบริการและสินค้าผ่านระบบซอฟแวร์และนักเรียนรู้จาก DEPA เข้ามาช่วยต่อยอดในแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Line OA เป็นต้น โดยผู้เข้าร่วมอบรมแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มคือ

  • นักศึกษาภาควิชาท่องเที่ยวภายในพื้นที่
  • เยาวชนที่ทำ CSR ที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยว
  • มัคคุเทศก์ที่มีบัตรประจำตัว
  • ผู้ประกอบการที่มีสินค้าด้านการท่องเที่ยว

โดยทั้ง 4 กลุ่มจะเข้ามาทำการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ที่จำเป็น

เรียนรู้จากภูเก็ต sand box นำมาต่อยอดเพื่อพัฒนาภาคการท่องเที่ยวในจังหวัด

คุณยุทธ์ได้มีโอกาสเข้าร่วมในโครงการภูเก็ต sand box กับทางสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจึงทำให้ได้เห็นโมเดลการทำงานเพื่อฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวจากวิกฤติโควิดที่ผ่านมา โดยความร่วมมือกับ สสว. ช่วยนำร่องโครงการดังกล่าวขยายไปสู่เมืองท่องเที่ยวที่เป็นเมืองใหญ่ 10 เมือง โดยโครงการนี้จะเข้าไปช่วยในเรื่องของการ up-skill และ re-skill ให้กับผู้ที่ยังอยู่ในภาคการท่องเที่ยวเป็นการติดอาวุธให้กับบุคลากรในสายการท่องเที่ยวให้กลับขึ้นมาได้อีกครั้ง โดยการเรียนรู้การนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ในอาชีพที่ตนทำ

ความร่วมมือทุกภาคส่วนคือคีย์เวิร์ดสำคัญที่ช่วยพัฒนาการท่องเที่ยวให้เติบโต

สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมีหน้าที่เหมือนกับสภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมที่ทำหน้าที่เหมือนเป็นเลขาของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในการนำข้อมูลและปัญหาต่าง ๆ ที่ผู้ประกอบการและบุคลากรในสายการท่องเที่ยวมานำเสนอให้ทางกระทรวงได้รับทราบ โดยสภาจะมีตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามานั่งเป็นบอร์ดบริหารร่วมกันเพื่อช่วยผลักดัน ดูแลและเป็นสื่อกลางระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ สำหรับในจังหวัดนครศรีธรรมราชเองก็มีสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวประจำจังหวัดเข้ามาดูแลเฉพาะพื้นที่จังหวัด นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกันของสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวในจังหวัด สมาคมท่องเที่ยวขนอม และสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวลานชการวมถึงชมรมมัคคุเทศก์ประจำจังหวัดเข้ามาช่วยผนึกกำลังกันพัฒนาการท่องเที่ยวในจังหวัดให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

การท่องเที่ยวหลังโควิดกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังโควิดพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเช่นกัน โดยจากการเก็บข้อมูลพบว่าในช่วงหลังกลุ่มทัวร์มีขนาดเล็กลง นักท่องเที่ยวไม่นิยมมาเป็นคณะใหญ่แต่จะมาในรูปแบบของกลุ่มเล็ก ๆ และเน้นมาเป็นครอบครัวมากขึ้น นอกจากนี้ยังนิยมไปยังจุดที่มีความสะดวกและปลอดภัยมากขึ้น วิธีการท่องเที่ยวมีการเปลี่ยนแปลงไปและไม่ค่อยพบเห็น travel agency ไปรับนักท่องเที่ยวเหมือนดังแต่ก่อน พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของภาคการท่องเที่ยวที่ต้องเรียนรู้และปรับตัวด้วยเช่นกัน

ชุมชนจะพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างไรในความเห็นของคุณยุทธ์

ในตอนท้ายคุณยุทธ์ได้ให้ความเห็นในเรื่องของการพัฒนาการท่องเที่ยวของชุมชนเอาไว้อย่างน่าสนใจคือ นอกเหนือจากที่จะโปรโมทให้นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่มากขึ้นก็จะต้องสนใจในเรื่องที่ว่าจะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวซ้ำหรือเกิดการแนะนำบอกต่อให้ได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วหน่วยงานในส่วนของมหาวิทยาลัยเองคณาจารย์ที่เกี่ยวข้องต่างเข้ามาช่วยเป็นคณะทำงานในการขับเคลื่อนอยู่แล้ว จึงควรมีการเผยแพร่ข้อมูลสู่บุคคลภายนอกในการชูจุดแข็ง จุดเด่นของท้องถิ่นของตนเองให้ภายนอกรับรู้และเตรียมพร้อมในการเป็นเจ้าบ้านที่ดีของคนในชุมชนก็จะช่วยให้ชุมชนสามารถพัฒนาการท่องเที่ยวของตนได้อย่างแน่นอน

ชมคลิป VDO สัมภาษณ์

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ

ป้าคร ถานีทุ่งหล่อ ขวัญใจสาวกหนมบ้านเมืองนคร

ป้าคร ถานีทุ่งหล่อ
ขวัญใจสาวกหนมบ้านเมืองนคร

ใจหนึ่งไม่คิดว่าป้าครจะเป็นที่พูดถึงและรู้จักกันมากขนาดนี้ แต่อีกหนึ่งใจก็พอจะทำเนาได้ เพราะค่อนชีวิตของแกไม่เคยทำอย่างอื่นเลย ลงหลักปักฐานกับอาชีพนี้จนเป็นภาพจำติดตา บางคนถึงขั้นแซวว่าน้ำเสียงติดหู ส่วนถ้าแกไม่ออกปากว่า “ลงเฟซให้กัน” ผมคงไม่กล้าล่วงเกินด้วยความทรงจำส่วนตัว ที่มาพร้อมภาพและคำอธิบายจนถูกส่งต่อกันหลายแชร์ หลายไลก์ หลายความคิดเห็น ลองเข้าไปทวนไปส่องกันตรงโพสต์นี้ https://www.facebook.com/imvanpra/posts/10209819742846225

.

เริ่มหาบเริ่มคอน

กว่า 36 ปีแล้วที่สองบ่าของป้าครสลับกันหาบ “หนมบ้าน” เที่ยวเร่ขายไปตามสองข้างทางถนนราชดำเนิน เมืองนครศรีธรรมราช แกจำทุกความเปลี่ยนแปลงที่เคยผ่านตาและผ่านมาได้แม่นยำ รวมถึงคำยืนยันจุดเริ่มต้นของอาชีพนี้ ว่าเกิดขึ้นในพุทธศักราช 2529

.

บ้านทุ่งหล่อ

ที่น่าสนใจคือ ป้าคร ไม่ได้มีภูมิลำเนาในเขตตัวเมืองนครศรีธรรมราช ในที่นี้คือละแวกเทศบาลหรือตรงไหนสักที่ใกล้ๆ อย่างที่เคยคิด แกอยู่ “บ้านทุ่งหล่อ” ข้างสถานีรถไฟทุ่งหล่อ อำเภอร่อนพิบูลย์โน่นเลยครับ

แกเล่าให้ฟังต่อว่า มีแม่ค้ารวมกันราวสิบคน บ้านอยู่ติดๆ กัน แต่ละคนทำหนมบ้านกันเอง คนละอย่าง สองอย่าง สามอย่างว่ากันไป แล้ว “ปันกัน” ทั้ง “หนม” ทั้ง “เบี้ย”

.

รถผูก

แรกก่อนนั่งรถไฟกันมาลงสถานีปลายทางนครศรีธรรมราช แล้วแยกย้ายกันต่อรถสองแถว กระจายไปตามแต่ละพื้นที่ขายของใครของมัน แล้วก็นั่งรถไฟกลับ เดี๋ยวนี้มี “รถผูก” บริการรับ-ส่งถึงที่ สิริค่าเดินทางวันละ 60 บาท

.

“หนมบ้าน” ที่ว่านี้ ได้แก่ หนมชั้น หนมขี้มัน หมี่ผัด หม้อแกง เหนียวหน้าต่างๆ หนมปากหม้อ สาคู หนมโคหัวล้าน เหนียวห่อกล้วย หนมคุลา มัน-ถั่ว-ไข่นกกระทาต้ม และอีกนานามีตามแต่จะ “รวน” กันทำ จะยกเว้นเสียก็แต่ ”หนมโรง” ที่ป้าครบอกว่าไม่เคยขาย

.

หนมไหรมั้งอะนุ้ย ?

ทุกเช้า ราว 7 โมง ป้าครจะนั่งดับชะอยู่ตรงหน้าร้านข้าวขาหมูท่าม้าใกล้แยกศาลากลาง จากนั้นก็หาบขายไปรายทางมีพระธาตุเป็นหมุดหมาย ใครได้ยินเสียง “หนมไหรมั้งอะนุ้ย ?” อย่าลืมแวะอุดหนุนป้าครกันนะครับ หรือถ้าจะเที่ยวตามสืบ คงต้องแนะนำว่าควรจะเป็นก่อนบ่ายโมง เพราะแกบอกว่า “พอหวันช้ายกะขายหมดทุกวัน”

.

ผมกับป้าครเรียกว่ารู้จักกันก็คงจะไม่ถูกมากนัก เพราะเป็นแต่เห็นกันตอนแกนั่งดับร้าน หรือตอนผมไปทำอะไรที่พระธาตุ เคยยืมคานแกมาหาบถ่ายรูปครั้งหนึ่ง ตอนนั้นหนมกำลังจะหมดก็เลยเบาหน่อย วันที่ขอแกถ่ายรูปเป็นตอนที่ดับเสร็จใหม่ ๆ โอ้โห ยกไม่ขึ้นสิครับ หนัก และ หนักมากกกก ผมโอดครวญจนป้าแกยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ เหมือนจะพูดในใจว่า “รำโนราไปตะ อย่ามาเที่ยวราร่าเรื่องเพื่อน”

.

ป้าครจำตอนผมรำโนราที่พระธาตุได้ ก็เลยกลายเป็นใบเบิกทางให้กระแซะถามอะไรอีกหน่อยสองหน่อย แกย้ำว่าแม่ค้าในรุ่นแกมีอีกราวสิบคน ที่น่าแปลกคือผมไม่เคยเห็นใครเลยนอกจากแก อาจคงเพราะแต่ละคนกระจายกันไปขายและมีเส้นทางเป็นของตัวเอง ไว้หากพบใครจะลองสืบลองถามเพื่อมาปะติดปะต่อเรื่องราวของชาว “หาบคอน” ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

.

นึกไปถึงว่า หากมีกัลยาณมิตรกระซิบถามว่ามีอะไรของชุมชนน่าสนใจจะเป็นเป้าหมายในการส่งเสริมบ้าง ในหัวตอนนี้คือมีบ้านทุ่งหล่อกับเรื่องราวของป้าครและคณะแล้วหนึ่ง กับอีกหนึ่งที่ยังคิดและแก้กันไม่ตก คือ แม่ค้าดอกไม้วัดพระธาตุ ซึ่งมีหลายกลุ่ม หลายแนว กลุ่มกวักรถริมราชดำเนิน กลุ่มในวัดหน้าพระธาตุ กลุ่มลานจอดรถศาลาร้อยปี สามกลุ่มนี้ยืนและเดินไปมา ส่วนอีกกลุ่มนั่งตามซุ้มประตู มีหน้าร้านเล็กๆ บนเก้าอี้หัวล้าน ทุกกลุ่มคุ้นหน้าหมด แต่เมื่อวานได้คุยแค่กับกลุ่มหลังนิดหน่อย

.

ทั้งสอง บ้านอยู่ชายแพงออก(ชายกำแพงทิศตะวันออก) ตรงหลังวัดหน้าพระธาตุ แกบอกว่าช่วงนี้รายได้ลด ไม่ได้ตั้งใจจะซักอะไรมาก ที่ติดใจคงเป็นวิธีขาย คือซุ้มประตูนี้มี 2 เจ้า ลูกค้าซื้อเจ้าไหนจะไม่แย่งไม่ยื้อกัน ถ้าซื้อของเจ้าหนึ่งมาก เจ้าที่ได้มากก็จะไปซื้อของอีกเจ้ามาเติมของตัว

.

เพราะต่างตกลงกันว่า

แต่ละวัน จะ “ปันกัน-แบ่งกัน”

.

เป็นที่ทราบดีว่า แม่ค้าดอกไม้เป็นปัญหาในการจัดการบริเวณวัดดังที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างต่อเนื่อง ส่วนตัวสนใจปรากฏการณ์นี้มาก และถ้าความสนใจนี้ยังไม่ซาลง คิดว่าคงต้องหยิบจับมาศึกษาวิจัยกันจริงจัง เมื่อเรียนไปถึงชั้นปริญญาเอก

.

ส่วนเรื่องราวของป้าคร
ใจจริงยกให้แกเป็นขวัญใจสาวกหนมบ้านนะครับ
หากได้คุยกับแกเพิ่ม
ค่อยส่งข่าวครับฯ

คุณธนาวุฒิ ถาวรพราหมณ์ สร้างคน พัฒนาเมือง ส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชุมชน

หากจะมีใครสักคนที่ควรค่าแก่การยอมรับนับถือ เราอาจมีมาตรวัดในใจอยู่แล้วว่าเขาคนนั้นจะต้องเป็นผู้ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เขาคนนั้นจะต้องมีแนวความคิดที่น่าสนใจและสามารถแปรเปลี่ยนแนวความคิดนั้นออกมาเป็นรูปธรรมและส่งผลบวกต่อสังคมและชุมชนได้ คนเช่นนี้จึงควรค่าแก่การยอมรับนับถืออย่างไม่ต้องสงสัย เฉกเช่นบุคคลต้นแบบในวันนี้ที่มีแนวความคิดที่แตกต่างแต่น่าสนใจ สามารถทำออกมาได้จริงและยังประโยชน์ให้แก่ชุมชน บทความนี้เราอยากจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับชายผู้เป็นคนต้นแบบและกรอบความคิดแหวกแนวอันน่าทึ่ง หากพร้อมแล้วเราไปทำความรู้จักและเรียนรู้แนวความคิดดี ๆ ไปด้วยกัน

นายกเทศมนตรีนักพัฒนากับแนวความคิดที่จะพัฒนาเพื่อชุมชน

นายกปู หรือในชื่อจริงคือ คุณธนาวุฒิ ถาวรพราหมณ์ คือคนต้นแบบที่เราอยากให้ทุกท่านได้ทำความรู้จักกันในวันนี้ ในปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองปากพูน จังหวัดนครศรีธรรมราช ในวัยเด็กของท่านเกิดในครอบครัวที่มีคุณพ่อเป็นครูในขณะที่คุณแม่เป็นหัวหน้าสถานีอนามัยจึงทำให้นายกปูเติบโตมาพร้อมกับการถูกปลูกฝังให้ต้องช่วยเหลืองานต่าง ๆ แก่ชาวบ้านมาตั้งแต่เด็กและเติบโตมาท่ามกลางชุมชนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงทั้งเรื่องของการศึกษาและบริการด้านการแพทย์อย่างเพียงพอ ด้วยการปลูกฝังและสภาพแวดล้อมเช่นนี้จึงหล่อหลอมให้นายกปูมีความต้องการที่จะทำประโยชน์เพื่อสังคมในภายภาคหน้า

นายกปูจบการศึกษาระดับมัธยมที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศและเข้าศึกษาต่อทางด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตสงขลา ก่อนจะย้ายไปที่วิทยาเขตโคราช ซึ่งอุปนิสัยของนายกปูในวัยเรียนคือเป็นคนชอบมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนฝูงจึงเป็นแต้มต่อที่ทำให้นายกปูเป็นที่รู้จักของคนมากหน้าหลายตาอีกทั้งอุปนิสัยรักการเรียนรู้จึงทำให้นายกปูมีแนวความคิดที่จะเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต

ในช่วงปี 2537 รัฐบาลได้ยกสถานะสภาตำบลขึ้นมาเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล และในปี 2538ญาติของนายกปูได้ชักชวนให้นายกปูเข้ามาช่วยงานซึ่งตั้งแต่ปี 2538-2542 นายกปูได้ดำรงตำแหน่งเป็นรองนายก ก่อนจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองปากพูนจนถึงปัจจุบันด้วยแนวความคิดที่ต้องการจะหยิบยื่นโอกาสให้แก่ผู้ด้อยโอกาสเพราะเห็นความลำบากของคนเหล่านี้มาตั้งแต่เด็กนั่นเอง

ความคิดแหวกแนวสู่การพัฒนาชุมชนอย่างเห็นเป็นรูปธรรม

นายกปูเล่าว่าในช่วงที่มีการณรงค์ 5 ส. นั้น ทางนายกปูได้คิดหักมุมแนวทาง 5 ส.จนแตกต่างจากที่อื่น โดย 5 ส.ของนายกปูมีสาระดังนี้

– สกปรก: เพราะสีชุดข้าราชการเป็นสีกากีอันมีความหมายว่าฝุ่นซึ่งหมายถึงข้าราชการจะต้องทำตัวคลุกฝุ่นพร้อมที่จะช่วยเหลือชาวบ้านเสมอ

– ส้นตีน: ส้นเท้าเป็นส่วนเดียวในร่างกายที่ต้องแบกรับน้ำหนักตัว ซึ่งหมายถึงข้าราชการจะต้องพร้อมแบกรับภาระเพื่อสังคม

– ส้วม: ส้วมคือสิ่งที่ใช้ระบายความทุกข์อันหมายถึงข้าราชการจะต้องเป็นที่ระบายความทุกข์ให้แก่ประชาชน

– เสือก: ข้าราชการต้องพร้อมที่จะลงไปหาปัญหา หาข้อมูลของประชาชนไปเก็บสำรวจข้อมูลในทุกด้านของชาวบ้านเพื่อนำมาเป็นแหล่งอ้างอิงในการทำงานพัฒนาชุมชน

– สังคัง: ธรรมชาติของโรคนี้จะสร้างความคันที่ทำให้เกาได้ตรงจุด ข้าราชการจะต้องแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้ตรงจุดและอีกนัยหนึ่งจะหมายถึงสังฆังที่หมายถึงสงฆ์จึงต้องทำหน้าที่เผยแพร่เรื่องราวในด้านดี ๆ ให้แก่ประชาชน

ด้วยชุดความคิดเช่นนี้เองที่ทำให้การทำงานของนายกปูออกมาเป็นรูปธรรมและพัฒนาชุมชนไปในหลายมิติ

แนวความคิดในการพัฒนาเด็กคืออีกหนึ่งด้านที่น่าสนใจของนายกปู

นายกปูมีความเชื่ออยู่เสมอว่าไม่มีเด็กที่พัฒนาไม่ได้มีแต่การเรียนการสอนที่ไม่พัฒนาเพราะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนา IQ เพียงอย่างเดียว สำหรับนายกปูนั้นเด็กควรจะได้รับการปลูกฝังและพัฒนาไปที่ชุดความคิดหรือ Mind Set มากกว่า เพราะการพัฒนา Mind Set จะทำให้เด็กสามารถนำชุดความคิดที่ถูกปลูกฝังไว้นี้ไปใช้แก้ปัญหาในอนาคตได้ ซึ่งแนวทาการพัฒนา Mind set นั้นนายกปูเริ่มต้นตั้งแต่การพัฒนาในช่วงตั้งครรภ์ทั้งในเรื่องของอาหาร การดำรงชีวิตภายใต้แนวความคิด 3 อย่างคือการใช้ตรรกะศาสตร์ จริยศาสตร์และสุนทรียศาสตร์มาผสมผสานกัน

วิถีชุมชน ไอเดียนวัตกรรม และการสื่อสาร นำท่องเที่ยว กุญแจสำคัญของความสำเร็จ

ด้วยความที่ชอบสำรวจทั้งวิถีชาวบ้านและจุดต่าง ๆ ทั่วปากพูนจึงทำให้นายกปูรู้ข้อดีของจุดต่าง ๆ ที่ได้ทำการสำรวจมาและด้วยอุปนิสัยที่ชอบเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกันประกอบกับต้องการที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวในปากพูนทำให้นายกปูริเริ่มที่จะทำการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวแต่ไม่ใช้การท่องเที่ยวนำซึ่งในช่วงนำร่องช่วงปี 2551-2554 นายกปูสามารถนำนักท่องเที่ยวจากที่อื่นให้เข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ถึง 4 หมื่นคนเลยทีเดียว

แนวความคิดสุดแหวกแนวในการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยไม่ใช้การท่องเที่ยวนี้นายกปูเน้นที่จะขายวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ทรัพยากรทางธรรมชาติ รวมถึงของดีในด้านต่าง ๆของตัวจังหวัดเป็นจุดขายสำคัญเพื่อดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวให้เข้ามาชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ของดีในด้านต่าง ๆ รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติที่น่าสนใจ โดยนายกปูเน้นการเดินสายบรรยายและขายไอเดียให้กับองค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ เช่นการขายไอเดียให้แก่ สสส. เพื่อให้ทุกคนมาดูงาน ดูแนวความคิดการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวโดยไม่ใช้การท่องเที่ยวนำนี้ให้แก่ตัวแทนชุมชนต่าง ๆ ซึ่งจุดมุ่งหมายหลักคือการส่งต่อแนวความคิดเพื่อให้พวกเขากลับไปปรับปรุงและพัฒนาให้สอดคล้องกับชุมชนของพวกเขาในขณะเดียวกันคณะดูงานแต่ละคณะที่เข้ามานั้นก็มาพร้อมเม็ดเงินที่ผันกลับมาสู่ชุมชนและสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนไม่น้อยทีเดียว

การตลาดนำการผลิตและบริการ คือ กลยุทธสำคัญในการสร้างรายได้ให้ชุมชน

นายกปูกล่าวว่าจุดอ่อนของหน่วยงานราชการคือการทำการตลาด สำหรับความสำเร็จของนายกปูอยู่ที่การรู้จักการขายหรือก็คือการทำการตลาดนั่นเอง โดยนายกปูกล่าวว่าก่อนที่เราจะเสนอขายอะไรให้แก่ผู้ที่สนใจ เราต้องสร้างคุณค่าก่อนเสมอแล้วมูลค่าก็จะตามมาเอง เราต้องขายศรัทธาให้แก่ผู้ที่สนใจ สร้างสายสัมพันธ์และส่งต่อน้ำใจให้แก่ผู้ที่สนใจแล้วเราจะสามารถขายของได้เหมือนอย่างที่นายกปูทำสำเร็จกับการพัฒนาการท่องเที่ยวมาแล้ว

สำหรับโครงการในอนาคตตอนนี้นายกปูผลักดันโครงการ Feel Good Market เพื่อพัฒนาชุมชนโดยการนำการตลาดมาใช้เต็มรูปแบบภายใต้แนวความคิดการระเบิดความต้องการจากภายใน โดยโครงการนี้นายกปูได้ใช้ศักยภาพในด้านความคิดของกลุ่ม LGBT ในพื้นที่ให้มาเป็นคณะทำงานซึ่งกระแสตอบรับของโครงการนี้เป็นไปในทิศทางที่ดี

อีกหนึ่งโครงการคือ Smart City ที่จะพัฒนาแอปพลิเคชั่นแนะนำจุด Check point ที่เป็นของดีประจำจังหวัดนครศรีธรรมราชให้แก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาเพื่อการใช้งานจริง

มุมมองที่นายกปูอยากจะฝาก

ในช่วงท้ายนายกปูได้ฝากความเห็นไว้ว่าบ้านเมืองจะได้ดีขึ้นอยู่ที่ประชาชนเลือกคนแบบไหนให้เข้ามาทำหน้าที่แทนเรา โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาในทุกมิติของคนในประเทศ แม้จะเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดแต่ทว่าก็มีความแข็งแกร่งที่สุดในระบบราชการ

ในเรื่องของต้นทุนและศักยภาพนั้นทั้ง 2 สิ่งนี้มีอยู่ทุกที่แต่อยู่ที่ว่าเราจะใช้แนวความคิดอย่างไรเพื่อค้นหาและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ที่สุด พยายามสร้างศักยภาพ เชื่อมโยงและบูรณาการสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกันท้ายที่สุดมูลค่าก็จะตามมาเอง

ชมคลิป VDO สัมภาษณ์

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ