“เพลงบอก” ทอกหัวได บอกแตกบ้านไหน ซวยกันไปทั้งปี
- วันพระ สืบสกุลจินดา
- November 1, 2021
- 1:46 am
“เพลงบอก” ทอกหัวได
บอกแตกบ้านไหน ซวยกันไปทั้งปี
ผ่านหูบ่อยครั้งว่า “เพลงบอก” มีที่มาสองกระแส หนึ่งว่ามาจากกิริยาบอกศก บอกนักษัตร บอกลักษณะนางสงกรานต์ อีกข้างว่ามาจากนามเต็มคือ “กระบอก” ก่อนจะกร่อนเหลือ “บอก” ตามวิสัยชาวเรา แล้วเรื่องก็ห้วนอยู่เทียมนั้น
.
เพลงบอก
รศ.ประพนธ์ เรืองณรงค์ เล่าความไว้ในหนังสือตำนานการละเล่น และภาษาชาวใต้อย่างน่าสนใจหลายเรื่อง ที่เกี่ยวกับวรรคแรกท่านตั้งชื่อว่า “เพลงบอก การละเล่นที่กำลังจะสูญ”
.
เมื่อแรกไปรำโนราที่ปัตตานี ได้ยินลูกคู่รับบทเพลงทับเพลงโทนแบบเดียวกับที่ทอยเพลงบอก ตั้งข้อสังเกตไว้เดี๋ยวนั้นว่า เพลงบอกนี้ต้องแสดงความสัมพันธ์อะไรบางประการระหว่างชุมชนในรัฐโบราณเป็นแน่ รอยจางๆ ข้างปัตตานี อาจเป็นเค้าลางในประเด็นนี้ได้อย่างดี
.
“คณะเพลงบอกมีอย่างน้อย ๖-๗ คน
ประกอบด้วยแม่เพลง ลูกคู่
เครื่องดนตรีมี ฉิ่ง กรับ ปี่ ขลุ่ย และทับ”
.
วรรคนี้ของ รศ.ประพนธ์ฯ ทำให้ผุดภาพลูกคู่โนราขึ้นมาเทียบเคียง กับอีกอันคือเคยได้ยินว่ามีการแสดง “เพลงบอกทรงเครื่อง” เมื่อไม่นานมานี้ ทั้งภาพที่ผุดและข้อความที่ยกมา เข้าใจว่าคงออกรสไม่ต่างกันนัก เว้นเสียแต่เสียงกลองและโหม่ง ข้อนี้แสดงเส้นเวลาอย่างหยาบและพลวัตของเพลงบอกที่ชวนให้ต้องศึกษาต่อ
.
แปดบท
ในเล่มแสดงผังไว้แต่ไม่ได้ระบุชื่อฉันทลักษณ์ ด้วยเหตุที่จับด้วยฉันทลักษณ์ในหลักภาษาไทยใดไม่ลง จึงจะตู่เอาตามที่เคยได้ยินมาอีกว่าเป็นฉันทลักษณ์ที่เรียกกันในนครศรีธรรมราชว่า “แปดบท” อย่างเดียวกับที่เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ให้นายเรือง นาใน นั่งท้ายช้างขับไปตามระยะทางตีเมืองไทรบุรีสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แปดบทนี้ก็น่าสนใจใช่ย่อย ว่ากันว่าเป็นการละเล่นโต้ตอบแบบด้นสดกันไปมา ว่าแล้วก็ช่างมาคล้ายกับความทรงจำของหลายคนถึงการประชันปฏิภาณของเพลงบอกชั้นครูอย่าง “ปานบอด-รอดหลอ” และ “ปานบอด-เพลงบอกรุ้ง” ที่ รศ.ประพนธ์ฯ ยกในเล่มว่า
เพลงบอกปาน – เพลงบอกรุ้ง
เพลงบอกรุ้ง:
เราเปรียบปานเหมือนชูชก
มันสกปรกอยู่กลางบ้าน
เรื่องหัวไม้ขอทาน
ใครใครไม่รานหมัน
.
คนด้นเขาไม่เกรง
สำหรับนักเลงทุกวัน
แต่ว่าคนด้านเหมือนปานนั้น
ถึงฉันก็เกรงใจ
.
พัทลุงเมืองสงขลา
ตลอดมาถึงเมืองนคร
ถ้าปล่อยให้ปานขอก่อน
คนอื่นไม่พักไขว่
.
เพราะมันเป็นเชื้อพงศ์ชูชก
มันสกปรกจนเกินไป
จะไปที่ไหนเขาทั้งลือทั้งยอ
เรื่องที่หมันขอทาน
.
เพลงบอกปาน:
ฟังเสียงรุ้งคนรู้
พิเคราะห์ดูช่างหยิบยก
(ขาดวรรค)
.
เป็นชูชกก็รับจริง
เพราะว่ายิ่งเรื่องขอทาน
ทั้งพี่น้องชาวบ้าน
ทุกท่านก็เข้าใจ
.
แต่จะเปรียบรุ้งผู้วิเศษ
ให้เป็นพระเวสสันดร
ปานชูชกเข้ามาวอน
รุ้งให้ไม่เหลือไหร
.
ทั้งลูกทั้งเมียและเหลนหลาน
ครั้นชูชกปานขอไป
จะขอสิ่งใดรุ้งนาย
แกต้องให้เป็นรางวัล
.
เพลงบอกรุ้ง:
ก็ไม่เป็นพระเวสสันดร
เพราะจะเดือดร้อนที่สุด
กูจะเป็นนายเจตบุตร
ที่ร่างกายมันคับขัน
.
ควยยิงพุงชูชก
ที่สกปรกเสียครัน
ถือเกาทัณฑ์ขวางไว้
มิให้หมึงเข้าไป
.
เพลงบอกปาน:
ดีแล้วนายเจตบุตร
เป็นผู้วิสุทธิ์สามารถ
เป็นบ่าวพระยาเจตราช
ที่เขาตั้งให้เป็นใหญ่
.
ถือธนูหน้าไม้
คอยทำลายคนเข้าไป
เขาตั้งให้เป็นใหญ่
คอยเฝ้าอยู่ปากประตูปาน
.
คนอื่นมีชื่อเสียง
เขาได้เลี้ยงวัวควาย
แต่เจตบุตรรุ้งนาย
เขาใช้ให้เลี้ยงหมาฯ
.
มุตโต
เชาวน์ไวไหวพริบชนิดปัจจุบันทันด่วนนี้ ในวงศิลปินเรียกกันว่ามุตโต เข้าใจว่าหากแปลตามบริบทการใช้งานว่าคือการใช้ความสามารถในการแสดงแบบไม่ต้องเตรียมตัว ร้องกลอนกันสดๆ เล่นสด รำสด รากศัพท์เดิมของคำนี้คงมาจากภาษาบาลีว่า “มุทโธ” อันแปลว่า ศีรษะหรือเหงือก การแสดงชนิดด้นกลอนสด รำสด จึงบ่งบอกถึงการใช้ “ศีรษะ” อวดสติปัญญาและความสามารถของผู้แสดงกระมัง ที่สำคัญคือ จะเห็นว่าในการเปรียบเปรยนั้น ศิลปินต้องมีภูมิรู้ในเรื่องราวนั้นๆ อย่างดีและแตกฉานจึงจะสามารถแก้แง่ที่ถูกตั้งขึ้นให้คลายได้อย่างงดงาม
.
นอกจากบทเพลงบอกที่จำและถ่ายทอดกันมาแล้ว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิเชฐ แสงทอง ได้กรุณาเล่าผ่านช่องแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊คว่า “สมัยเด็กมีเพลงร้องตลกๆ กันว่า “เพลงบอกมาทอกหัวได มดคันข็อบไข หวาไหรเพลงบอก””
.
ตานี้มาที่ชื่อของ “เพลงบอก” เดิมส่วนตัวเทไปข้าง “บอกศักราช” มากกว่า “กระบอก” แต่ถัดนี้ไปอาจกลับลำด้วยจำนนต่อข้อมูลของ รศ.ประพนธ์ฯ บวกเข้ากับรูปการณ์บางอย่าง ดังจะได้กล่าวต่อไป
.
“คณะเพลงบอกจะมีกระบอกไม้ไผ่นัยว่าบรรจุน้ำมนต์ (อาจจะเป็นเมรัยก็ได้) ถือไปในวงด้วย…พวกเพลงบอกจะนำกระบอกไม้ไผ่ ไปกระแทกกระทุ้งตรงบันไดบ้าน เพื่อปลุกเจ้าของบ้านให้ตื่น ถ้ากระบอกแตกที่บ้านใด ถือว่าปีใหม่นั้นเจ้าของบ้านซวยตลอดปี”
.
วรรคของ รศ.ประพนธ์ฯ นี้ มาขมวดเข้ากับรูปการณ์เท่าที่สังเกตได้ ๒ อย่าง หนึ่งคือการเรียกการแสดงเพลงบอกว่า “ทอก” ซึ่งคืออาการพรรค์อย่างเดียวกับกระทุ้งที่ท่านว่า กับสองคือสำนวนที่คงค้างอยู่ในปัจจุบันที่ว่า “เพลงบอกทอกหัวได” ที่ช่างมาตรงกับขนบวิธีของนักเลงเพลงบอกแต่แรกนักฯ
- วันพระ สืบสกุลจินดา
- November 1, 2021
- 1:46 am