ฅนต้นแบบเมืองนคร นพ. ปรานปวีณ์ โรจน์เจริญงาม นักสู้โควิดชุดกราวน์ ขวัญใจชาวนคร

            เมื่อเกิดวิกฤตการณ์โรคระบาด ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ชัดเจน และรวดเร็ว คือสิ่งที่ประชาชนต้องการที่จะทราบ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติและเตรียมพร้อมรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากแต่ว่าข่าวสารที่ถูกส่งต่อกันมาในโลกออนไลน์ บางส่วนก็เป็น Fake new หรือผู้ส่งสารขาดทักษะในการสื่อสารที่ดี สามารถสร้างความเข้าใจผิดและเกิดความเสียหายแก่สังคมได้ เมื่อประชาชนไม่เข้าใจ จึงไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรต่อ ทางนครศรีสเตชั่นมีโอกาสได้พูดคุยกับหมอพ้ง นพ. ปรานปวีณ์ โรจน์เจริญงาม นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช ผู้ที่ให้ความรู้และคำแนะนำแก่ชาวนครผ่านทางโซเชียลมีเดีย สื่อสารในสไตล์ที่เข้าถึงชาวบ้านให้สามารถเข้าใจสถานการณ์โควิด-19 ได้ง่ายขึ้น  มาทำความรู้จักฅนต้นแบบเมืองนครท่านนี้กัน

อีกหนึ่งบทบาทที่น่าสนใจของคุณหมอ กับการทำหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร

นพ. ปรานปวีณ์ โรจน์เจริญงาม

นพ. ปรานปวีณ์ โรจน์เจริญงาม พื้นเพเป็นคนกรุงเทพมหานคร ในวัยเด็กมีความตั้งใจอยากเป็นหมอ ได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงได้ย้ายมาอยู่ภาคใต้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในขณะที่กำลังศึกษาอยู่นั้นมีโอกาสฝึกงานที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช และได้ไปศึกษาต่อที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้นกลับมาทำงานที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี  คุณหมอได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราชที่มีการพัฒนาอยู่เรื่อยๆ จากวิสัยทัศน์ของท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลคนปัจจุบัน นพ. ทรงเกียรติ เล็กตระกูล ต้องการให้ รพ. มหาราช พัฒนาเป็นโรงพยาบาลศูนย์ชั้นนำ ที่เป็นเลิศด้านบริการทางการแพทย์ เป็นโรงพยาบาลเพื่อชาวใต้ ที่ผ่านมาทางโรงพยาบาลได้ดำเนินการสำเร็จไปแล้วหลายส่วน เช่น แผนกหัวใจและหลอดเลือด การผ่าตัดหัวใจ สวนหัวใจ สามารถทำได้ตลอด 24 ชม. แผนกกระดูกและข้อ มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ข้อสะโพกเทียม ผ่ากระดูกสันหลัง ผ่าส่องกล้อง

ด้วยความที่คุณหมอเป็นหมอผ่าตัด จึงมีโอกาสได้พูดคุยกับคนไข้ค่อนข้างน้อย ในช่วงปลายปีพ.ศ. 2562  จากการชักชวนของรองผอ. ฝ่ายการแพทย์  พญ. จันทรจิรา ก๋งอุบล คุณหมอมีโอกาสได้เข้ามาดูแลในส่วนของการร้องเรียนระหว่างผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย กับบุคลากรทางการแพทย์ ในส่วนงานหัวหน้ากลุ่มงานสุขศึกษา คุณหมอเห็นว่าประเด็นหลักที่ทำให้เกิดข้อขัดแย้งนั้นเกิดจากการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน คุณหมอจึงได้ไปอบรมเพิ่มเติมทางด้านนี้ และอยากที่จะสร้างภาพลักษณ์องค์กรให้ดูดีในสายตาคนคอน ให้ชาวนครรักโรงพยาบาล ในขณะเดียวกันก็อยากให้บุคลากรรู้สึกผูกพันธ์กับรพ. เช่นกัน

แล้วจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีความรู้เรื่องสุขภาพมากที่สุด จากสื่อที่มี เช่น แผ่นพับ วิทยุ ช่องทีวีท้องถิ่น คุณหมอคิดว่ามีกระบวนการจัดการค่อนข้างช้า เลยอยากใช้สื่อโซเชียลมีเดียอย่าง Live Facebook  ผ่านทางเพจ สุขศึกษา ร.พ.มหาราช เมืองคอน ในช่วงแรกเน้นการนำเสนอประเด็นง่ายๆ เกี่ยวกับสุขภาพ  ปัจจุบันเน้นเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 สื่อสารในภาษาที่ชาวบ้านเข้าใจได้ง่าย ในสไตล์สบายๆ เหมือนเพื่อนคุยกับเพื่อน

นำเสนอข้อมูลทางวิชาการที่เข้มข้น ในสไตล์ที่ผู้ฟังเข้าใจได้ง่าย เข้าถึงผู้ชมมากขึ้น

            รูปแบบการ Live ของคุณหมอเปลี่ยนไปตั้งแต่มีการแพร่ระบาด เพราะประชาชนตื่นตระหนก มีความสับสนในข้อมูลที่ได้รับ ไม่รู้ว่าอันไหนข้อมูลจริง สำหรับทางการแพทย์ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดก็จะเน้นที่การป้องกันเป็นหลัก จากที่คุณหมอได้ฟังข้อมูลมาก็พบว่า มีบางจุดของการนำเสนอของสื่อต่างๆ ที่ยังเป็นช่องว่างอยู่ นั่นคือ คำศัพท์ที่ยากเกินกว่าที่คนทั่วไปจะเข้าใจ คุณหมอเลยอยากที่จะเป็นตัวกลางในการนำคำพูดของอาจารย์หมอท่านอื่นๆ มาปรับให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย เพื่อรู้เท่าทันโควิด-19

งานนี้เลยกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันคุณหมอไปโดยปริยาย แฟนเพจจึงกลายเป็นเหมือนเพื่อน อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของคุณหมอที่ทำให้คนจดจำได้คือ เลือกใส่เสื้อผ้าตามสีของวัน มีคอนเซ็ปท์จากแนวคิดที่ว่า ผู้สูงวัยนิยมส่งสวัสดีทักทายกันในแอปพลิเคชั่นไลน์ ซึ่งคุณหมอได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า เป็นวิธีการป้องกันอัลไซเมอร์ที่ดีอย่างหนึ่ง เพื่อให้เห็นสไตล์การสื่อสารของคุณหมอ แม้กำลังอ่านตัวอักษรอยู่ก็ตาม เราได้ถอดคลิปบางส่วนจากการไลฟ์ของคุณหมอมาฝากกัน

            “ไวรัสสายพันธุ์นี้มีมีวิวัฒนาการไม่ต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่น มนุษย์พยายามคิดค้นวัคซีน ตามที่เห็นก็มีหลากหลายยี่ห้อ ทางฝั่งของโควิดก็ไม่ยอมแพ้เช่นกัน ยังคงพัฒนาสายพันธุ์ มีการกลายพันธุ์ อย่างต่อเนื่อง และแน่นอนในตอนนี้ถ้าใครตามข่าวสาร ในประเทศไทยเองก็มีเกือบจะครบทุกสายพันธุ์แล้วครับ แต่ที่แน่ๆ การพัฒนาของไวรัสตามมาด้วยการแพร่เชื้อที่เร็วขึ้น อาการรุนแรงขึ้น มีโอกาสเสียชีวิตมีมากขึ้น มาตรการการป้องกันที่ทุกคนปฏิบัติกันมา ต้องทำกันต่อไป อยู่ห่างไว้ ใส่แมสก์ป้องกัน หมั่นล้างมือ และรีบลงชื่อจองคิวฉีดวัคซีนกันนะครับ”

เรื่องสำคัญที่คุณหมออยากจะฝากถึงพี่น้องชาวนคร

มาดูในฝั่งของสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในจังหวัดนครศรีธรรมราชกันบ้าง ในช่วงนี้ยังวางใจไม่ได้ ถ้าดูจากตัวเลขสถิติในภาพรวมของผู้ติดเชื้อในประเทศไทย ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่รัฐบาลประกาศล็อคดาวน์ ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม แน่นอนว่าในจำนวนนั้นอาจมีบางส่วนเดินทางกลับนครศรีธรรมราช ฝ่ายปกครองท้องถิ่นมีคำสั่งให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ตรวจดูตามบ้านเรือนประชาชนในแต่ละพื้นที่

เพื่อให้ผู้ที่เดินทางเข้าจังหวัดเข้าสู่ระบบกักตัวอย่างถูกต้อง แต่ก็อาจมีบางส่วนที่ไม่หลุดรอดได้ จากตัวเลขจะเห็นว่าทิศทางของจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการหนักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในส่วนของวัคซีนก็ดำเนินการได้ช้ากว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ ประชาชนจึงต้องระมัดระวังตัวเองให้มากขึ้นกว่าเดิม งดการเดินทางที่ไม่จะจำเป็น ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง แม้ว่าได้รับการฉีดวัคซีนแล้วก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยนี้อย่างเคร่งครัด

แน่นอนว่าวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อแผนงานหลายอย่างที่คุณหมอได้วางแผนไว้ อย่างคอนเทนต์เกี่ยวกับสุขภาพที่อยากจะเชิญคุณหมอ คุณพยาบาล ทีมงานที่ทำงานและเชี่ยวชาญด้านโรคนั้นๆ โดยตรง  มาร่วมกันไลฟ์ผ่านทางเพจเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้แก่ประชาชนก็ต้องระงับไว้ก่อนชั่วคราว ในส่วนของทางรพ.มหาราชเอง ก็มีการพยายามที่จะพัฒนาแบบก้าวกระโดด เพื่อที่จะสามารถรักษาคนไข้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากที่สุด อยากที่จะเป็นที่พึ่งของชาวใต้ทุกคน โดยเฉพาะ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ให้สามารถเดินทางมารักษาได้อย่างสะดวก และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายหลายอย่าง

ไม่ว่าจะบทบาทไหนคุณหมอก็ทำอย่างเต็มที่ สำหรับบทบาทที่ต้องใช้ทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ คุณหมอเลือกใช้ภาษาที่ชาวบ้านเข้าใจได้ง่าย สามารถวิเคราะห์กลุ่มผู้ฟังได้ว่าเป็นกลุ่มใด ข้อมูลที่นำเสนอน่าจะประมาณไหน มีการปรับเปลี่ยนสไตล์การแต่งตัวให้กลมกลืนไปกับผู้ฟัง เป็นการนำเสนอข้อมูล ข่าวสารอย่างที่ประชาชนต้องการในภาวะวิกฤตเช่นนี้   

ดูคลิปย้อนหลังรายการ “ฅนต้นแบบเมืองนคร” ตอน นพ. ปรานปวีณ์ โรจน์เจริญงาม นักสู้โควิดชุดกราวน์ ขวัญใจชาวนคร ได้ที่นี่

ติดตามรายการ “คนต้นแบบเมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์เวลา ๑๙.๓๐ – ๒๐.๓๐ น. ทางเพจ Nakhonsi Station ที่นี่นครศรีธรรมราช

มือใหม่ หัดขายออนไลน์ด้วย Line marketing: เริ่มทำการตลาดใน line OA ต้องทำอย่างไร

ต้องยอมรับว่าการขายสินค้าออนไลน์เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้ร้านค้าสามารถสร้างยอดขายได้อย่างน่าประทับใจ ซึ่งรวมไปถึงแบรนด์ธุรกิจต่าง ๆ ครับ แต่แม้ว่าโลกออนไลน์จะการันตียอดขายและรายได้ให้กับธุรกิจได้จริง แต่ทว่าหากคุณไม่ทำให้ตัวเองเป็นที่รู้จัก โอกาสที่จะประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับผู้อื่นก็อาจจะยากขึ้น ดังนั้นก่อนที่จะค้าขายออนไลน์คุณจำเป็นที่จะต้องสร้างตัวตนและรู้วิธีการทำการตลาดออนไลน์เสียก่อน สำหรับบทความนี้เรามีคำแนะนำเกี่ยวกับการทำการตลาดออนไลน์ในช่องทางของ Line OA ซึ่งเป็นหนึ่งในการทำการตลาดออนไลน์ผ่านช่องทางโซเชี่ยลมีเดียมาแนะนำให้ทุกคนรู้จักครับ ถ้าพร้อมแล้วเรามาเรียนรู้ไปพร้อม ๆกันเลย

ทำไม Line OA จึงเป็นช่องทางที่น่าสนใจในการทำการตลาดออนไลน์

โค้ชแชมป์ ปรีดี โรจน์ภิญโญ

“คุณปรีดี โรจน์ภิญโญ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของ โค้ชแชมป์” ผู้เชี่ยวชาญในการทำการตลาดออนไลน์ในแพลตฟอร์มอย่าง Line OAได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเอาไว้ว่า ในประเทศไทยคนไทยนิยมใช้แอพพลิเคชั่น Line กันเป็นจำนวนมาก โดยในปัจจุบันพบว่ามีบัญชีผู้ใช้งานถึงกว่า 47 ล้านบัญชี และพบว่าคนไทยใช้ไลน์เป็นช่องทางหนึ่งในการสื่อสารในชีวิตประจำวันครับ และที่สำคัญที่สุดที่ทำให้การทำการตลาดใน Line OA มีความน่าสนใจก็คือ ไลน์เป็นแอพพลิเคชันทางโซเชี่ยลมีเดียชนิดเดียวเท่านั้นที่คุณสามารถเข้าถึงผู้คนจำนวนมากได้ด้วยการสื่อสารเพียงครั้งเดียว และยังใช้ค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงมากนักครับ นี่จึงเป็นความน่าสนใจของบรรดาร้านค้าหรือเจ้าของแบรนด์ต่าง ๆให้หันมาสนใจทำการตลาดออนไลน์บน Line OA กันมากขึ้น

4 เทคนิคการทำการตลาดออนไลน์เบื้องต้นบน Line OA

สำหรับเทคนิคที่น่าสนใจในการทำการตลาดออนไลน์บน Line OA โค้ชแชมป์ได้สรุปไว้เป็นแนวทางที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

1.การสร้าง

การสร้างในที่นี้หมายถึงการสร้างบัญชี Line OA เพื่อเริ่มต้นการใช้งานนั่นเอง ซึ่งโค้ชแชมป์ได้ให้ทัศนะที่น่าสนใจเกี่ยวกับการใช้งาน Line OA ไว้ดังนี้

เหตุที่เราต้องใช้ Line OA ก็เพราะการที่เราจะสร้างยอดขายให้เกิดขึ้นได้เราจำเป็นต้องหาลูกค้าใหม่เข้ามาเรื่อย ๆจึงจะมียอดขายเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่หากเราต้องการความยั่งยืน “ลูกค้าเก่า” คือคำตอบที่คุณต้องการ แล้วช่องทางเดียวที่เราจะสามารถคุยกับลูกค้าเก่าได้ก็คือช่องทางใน Line OA โดย Line OA จะช่วยให้เราประชาสัมพันธ์ได้ง่ายด้วยฟังก์ชั่นการ broadcast ที่จะทำให้เราสื่อสารถึงคนหมู่มากด้วยการส่งข้อความเพียงครั้งเดียว และเรายังสามารถพูดคุยกับลูกค้าได้โดยตรงได้นี่ก็คือข้อดีของLine OA ที่โซเชี่ยลอื่นไม่มี 

2.การชวน

การชวนก็คือการเชื้อเชิญให้ลูกค้าเข้ามาติดตามบัญชี Line OA ของเราโดยลูกค้าที่เข้ามาติดตามสามารถสั่งซื้อสินค้าที่เขาต้องการรวมไปถึงการพูดคุยกับคุณผ่านช่องทางนี้ได้ครับ โดยการเชิญชวนให้คนเข้ามาติดตาม Line OA มีวิธีการชวน 2 แบบดังนี้

  • ใช้การชวนโดยการกดลิ้งค์
  • ใช้กลยุทธ์ในการชวนว่าจะทำอย่างไรให้คนเข้ามาติดตามร้านเรา

กลยุทธ์ในการเชิญชวนให้คนเข้ามาติดตามใน Line OA

กลยุทธ์ในการนำคนเข้ามาให้ติดตาม Line OA ที่โค้ชแชมป์แนะนำก็คือ “เราต้องบอกสิ่งที่เขาจะได้ว่าเมื่อเขาเข้ามาติดตามเราผ่านช่องทาง Line OA แล้วเขาจะได้อะไรจากเรา” โดยข้อเสนอที่น่าสนใจที่จะดึงดูดให้คนมาติดตามเราได้มากขึ้นอาจจะเป็นโปรโมชั่นต่าง ๆที่ลูกค้าจะได้รับที่ไม่มีในช่องทางอื่น เป็นการนำเสนอคุณค่าให้แก่พวกเขาวิธีการหนึ่งครับ

อีกสิ่งหนึ่งที่โค้ชแชมป์แนะนำก็คือ อย่าไปให้ความสำคัญกับปริมาณของผู้ติดตามแต่ให้คัดเลือกเอาเฉพาะผู้ที่สนใจและต้องการที่จะซื้อสินค้าของเราจริง ๆเท่านั้น อย่าสนใจแต่เพียงจำนวนแต่ให้คำนึงถึงคุณภาพด้วย จากนั้นก็ค่อย ๆทะยอยย้ายลูกค้าเข้ามาแล้วเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นครับ

แต่ถ้าเป็นลูกค้าใหม่ เขาอาจไม่ได้อินกับสินค้าของเรามากนัก เราจำเป็นต้องกระตุ้นความอยากรู้โดยให้ดึงพวกเขาเข้าไปดูรายละเอียดใน Line OA หรือใช้การจัดโปรโมชั่นใน Line OA มาช่วยสร้างความน่าสนใจ และเมื่อพวกเขามาอยู่ใน Line OA แล้วก็เป็นเรื่องง่ายที่เราจะประชาสัมพันธ์ครับ

ในบางกรณีเราต้องถามตัวเองว่าลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้าของเราเพราะอะไร เราสามารถขายสินค้าในเชิงคุณค่าด้านอื่น ๆได้หรือไม่ เช่นเอาไปเป็นของฝาก ถ้าทำเช่นนี้ได้เราจะขายสินค้าให้กับลูกค้าได้เรื่อย ๆ ในทุกเทศกาล

2.การใช้

การใช้ในที่นี้ก็คือการใช้งาน Line OA ในการทำการตลาด ซึ่งวิธีการที่ใช่ก็คือการ broadcast ครับ โดยหากจะให้อธิบายให้เข้าใจง่ายก็คือการประชาสัมพันธ์ในทำนองเดียวกับที่เราฟังข่าวสารตามช่องทางต่าง เชานสถานีวิทยุหรือโทรทัศน์นั่นเอง แต่สำหรับการ broadcast ในช่องทาง Line OA คือการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบของแชทร้านค้าที่จะส่งถึงผู้ติดตามทั้งหมดที่ติดตามคุณครับ จุดเด่นที่ทำให้การประชาสัมพันธ์ผ่านทาง Line OA มีประสิทธิภาพมากกว่าการสื่อสารในข่องทางโซเชี่ยลอื่น ๆก็คือการที่คุณสามารถเข้าถึงคนจำนวนมากได้อย่างง่ายดายด้วยการ broadcast เพียงครั้งเดียวซึ่งโซเชี่ยลมีเดียอื่น ๆทำไม่ได้ครับ

ส่วนค่าบริการในการ broadcast นั้น ทาง Line OA จะคิดค่าบริการในอัตรา 4 สตางค์ต่อ 1 ข้อความ และมีบริการฟรีให้เดือนละ 1,000 ข้อความ ส่วนวิธีการคิดจำนวนครั้งก็คือหากคุณมีผู้ติดตาม 1,000 คน และคุณ broadcast เรื่องใดเรื่องหนึ่งไปหาพวกเขาทั้งหมดก็คือจำนวนข้อความ 1,000 ข้อความครับ และถ้าเกือนนั้นคุณจะ broadcast เรื่องอื่นให้พวกเขาอีกจึงจะเริ่มคิดค่าบริการในอัตราที่กำหนดนั่นเอง

4.การเก็บข้อมูล

การเก็บข้อมูลของลูกค้ามีผลต่อการขายสินค้าออนไลน์อย่างคาดไม่ถึงครับ โดยทาง Line OA มีวิธีการจัดเก็บข้อมูลจองลูกค้าอย่างง่าย ๆไว้ให้บริการเราโดยการใช้ แท็กซึ่งเป็นเสมือนลาเบลที่เราจะสามารถระบุข้อมูลของลูกค้าได้เลยว่าลูกค้าแต่ละรายเคยซื้อสินค้าอะไรกับเราบ้าง เพื่อให้เราสามารถนำเสนอข้อเสนอที่โดนใจพวกเขามากขึ้นสำหรับการซื้อสินค้าในครั้งต่อ ๆ ไป ซึ่งจะไปเพิ่มความประทับใจให้แก่พวกเขาได้ครับเพราะเขาจะรู้สึกว่าคุณจำพวกเขาได้และเข้าใจความต้องหารของเขา และมีโอกาสที่พวกเขาจะไปบอกต่อแบบปากต่อปากทำให้เราก็จะได้ลูกค้าเพิ่มโกยไม่ต้องลงทุนอะไรเลย นอกจากนี้เรายังสามารถดูประวัติการพูดคุยใน Line OA ได้ เพื่อดูพฤติกรรมในการซื้อของลูกค้าครับ

นอกจากนี้ใน Line OA ยังมีฟังก์ชั่นโน้ต ที่จะช่วยบันทึกข้อมูลทั่วไปของลูกค้าได้  โดยเราสามารถเก็บข้อมูลของพวกเขาเช่นชื่อ ที่อยู่ เบอร์ติดต่อ สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างความประทับใจได้เพราะลูกค้าจะรู้สึกว่าเราจำเขาได้นั่นเอง ยิ่งคุณเก็บข้อมูลฐานลูกค้าไปเรื่อย ๆและดูแลพวกเขาดีเป็นอย่างดี คุณจะได้ยอดขายเพิ่มโดยไม่ต้องเสียค่าการตลาดเพิ่มเลย และหากคุณออกผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมา ลูกค้าเก่าจะมาซื้อเพราะความเชื่อใจต่อตัวคุณครับ

เทคนิคการใช้ฐานข้อมูลของลูกค้าโดยการทำ Cross sale

Cross sale คือการแลกเปลี่ยนฐานลูกค้าระหว่างกันของร้านค้าหรือแบรนด์ 2 แบรนด์ เมื่อคุณเริ่มมีลูกค้าเก่ามากขึ้น คุณสามารถสร้างพันธมิตรทางการค้าระหว่างคุณกับแบรนด์อื่น ๆโดยการใช้ประโยชน์จากข้อมูลฐานลูกค้าที่คุณทั้ง 2 ต่างก็มีได้ครับแทนที่คุณจะมาคอยมองหาลูกค้าใหม่ ๆ เราสามารถแลกกลุ่มลูกค้าระหว่างกันได้โดยตรง ซึ่งอาจนำสินค้าจากร้านพันธมิตรมาขายในร้านของเรา เราก็จะได้สินค้าใหม่ ๆ มาขาย โดยร้านที่เป็นพันธมิตรก็ได้ออเดอร์ ได้ลูกค้าเพิ่ม สำหรับลูกค้าก็จะได้ซื้อสินค้าใหม่ ๆ จากร้านที่เขามั่นใจครับ

จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเริ่มต้นด้วยการลงมือทำเท่านั้นครับ อย่ากลัวที่จะลงมือทำเพราะไม่มีใครหรอกที่จะประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องลงมือทำหรือไม่เคยล้มเหลวมาก่อน เรียนรู้สิ่งที่ทำและปรับปรุงแก้ไขข้อผิดพลาด การลงมือทำเป็นก้าวแรกเสมอก่อนที่เราถึงจะเติบโตและประสบความสำเร็จในที่สุด

ติดตาม Live สดรายการ “ช่องทางสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้” ทางแฟนเพจ nakhonsi station ที่นี่นครศรีธรรมราช ทุกคืนวันอังคาร เวลา 19.30-20.30 น.

ชาวสวน ชาวไร่ ติดต่อบริการ Nakhonsistation ช่วยขาย ได้ที่ Line @nakhonsistation หรือโทร 0926565298

 

ฅนต้นแบบเมืองนคร คุณนนทิวรรธน์ นนทภักดิ์ ประธานกรรมการ มูลนิธินครอาสา

            ปากพนัง เมืองแห่งวิถีชีวิตชาวประมง อดีตเมืองท่าที่สำคัญของเมืองนครศรีธรรมราช ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นศูนย์กลางของความเจริญแห่งหนึ่งของภาคใต้ ปากพนังถูกแบ่งออกเป็นฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกตามลำน้ำปากพนังที่ไหลผ่าน ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนและเป็นเส้นทางคมนาคม เมื่อความรุ่งเรืองในอดีตค่อยๆ เลือนลางสวนทางกับเวลาที่ดำเนินไปเรื่อยๆ จนมาถึงจุดที่ทำให้เรารู้สึกว่าเศษเสี้ยวหนึ่งในอดีตยังคงหลงเหลืออยู่  และควรค่าแก่การอนุรักษ์ อยากที่จะทำบางอย่างเพื่อเป็นการช่วยเหลือชุมชน เช่นเดียวกับฅนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ คุณนนทิวรรธน์ นนทภักดิ์ ประธานกรรมการมูลนิธินครอาสา กับงานต้นแบบ “นครเกษตรกรรม ร่วมสร้างฐานความสุข ลุ่มน้ำปากพนัง”

จากร่องรอยในอดีต สะท้อนให้เห็นถึงยุคเฟื่องฟูของลุ่มน้ำปากพนัง

            ในอดีตลุ่มน้ำปากพนัง มีความอุดมสมบูรณ์ทางเกษตรกรรม เป็นเมืองท่าที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองนครศรีธรรมราช เปรียบเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำของภาคใต้ แต่เดิม “ลุ่มน้ำปากพนัง” ประกอบด้วย 7 อำเภอ คือ ปากพนัง เชียรใหญ่ หัวไทร ชะอวด เฉลิมพระเกียรติ จุฬาภรณ์ และร่อนพิบูลย์ กลุ่มลุ่มน้ำปากพนังใช้ประโยชน์จากแม่น้ำร่วมกัน ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาบรรทัด ในเขตอำเภอวังอ่าง อำเภอชะอวด ไหลผ่านอำเภอเชียรใหญ่ อ.ปากพนัง ลงสู่อ่าวไทยบริเวณลุ่มน้ำปากพนัง แหลมตะลุมพุก เป็นบริเวณที่มีการติดต่อค้าขายกับต่างชาติ

นักเดินเรือมักจะเดินทางหลบคลื่นลมทะเลอยู่บริเวณหมู่เกาะกระ ก่อนจะเทียบท่าที่ปากพนัง หนึ่งในคู่ค้าสำคัญของนครศรีธรรมราชคือ ชาวจีน ที่ไม่เพียงมีบทบาททางการค้าเท่านั้น แต่ยังมีความสัมพันธ์กับการตั้งถิ่นฐานและชุมชนหลายแห่งในเมืองนคร ปัจจุบันข้าวของเครื่องใช้ ร่องรอยเรื่องราวต่างๆ ของเหตุการณ์ในอดีต ถูกจัดเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดศรีสมบูรณ์ (วัดหอยราก พ่อท่านเจิม)  อีกหนึ่งหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ แสดงให้เห็นถึงยุคทำนาข้าวอันรุ่งโรจน์ของปากพนังคือ โรงสีข้าว (โรงสีไฟ) จำนวนมากถึง 14 โรง  “โรงสีเตาเส็ง” เป็นโรงสีแรกของ​ปากพนัง ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาทรงเปิดกิจการ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2448  

เพราะทรัพยากรธรรมชาติเป็นปัจจัยเบื้องต้นในการกำหนดวิถีชีวิตมนุษย์

            ไม่มีอะไรยั่งยืนและคงอยู่ได้ตลอดไป ในอดีตที่ครั้งหนึ่ง พื้นที่แห่งนี้เคยมีความเจริญรุ่งโรจน์มาก ผลผลิตข้าวในอำเภอนี้เคยเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ สร้างรายได้จำนวนมาก เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนผ่านในแต่ละยุคสมัย สิ่งแวดล้อมก็เปลี่ยนแปลงไปตามเช่นกัน กิจการโรงสีไฟที่เคยรุ่งเรืองในอดีต เหลือเพียงซากปล่องไฟที่ตั้งตระหง่านไว้เป็นอนุสรณ์แห่งความภาคภูมิใจ

ด้วยความที่ทำเลที่ตั้งของลุ่มน้ำปากพนัง อยู่บริเวณปากอ่าวของแหลมตะลุมพุก ทำให้มีน้ำทะเลรุกล้ำเข้าไป พื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ของปากพนังที่เคยปลูกข้าวได้จึงได้รับผลกระทบ เปลี่ยนสภาพไปเป็นนากุ้ง จนเกิดเป็นยุคที่การทำนากุ้งเฟื่องฟู แต่ก็มีชาวบ้านบางส่วนที่หันไปประกอบอาชีพทำการประมง จนมาถึงในสมัยรัชกาลที่ 9 พระองค์มีพระราชดำริในการสร้างประตูระบายน้ำ “โครงการอุทกวิภาชประสิทธิ” เพื่อช่วยเหลือบรรเทา ความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ช่วยแก้ปัญหาน้ำเค็ม น้ำท่วม น้ำแล้ง ทำให้ความเจริญรุ่งเรืองเกี่ยวกับการทำเกษตรเริ่มกลับมา

แรงบันดาลใจในการเริ่มต้นทำมูลนิธินครอาสา

            คุณนนทิวรรธน์ นนทภักดิ์ ลูกหลานชาวนคร อ.ปากพนัง ซึมซับการทำงานสายการเมืองและจิตอาสามาจากบิดาที่เคยเป็นอดีตเทศมนตรีเทศบาลเมืองปากพนัง หลังจากจบการศึกษาในวัย 25 ปี ได้มีโอกาสเข้าสู่การเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองปากพนัง จากนั้นได้ขึ้นมาเป็นรองนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองปากพนัง คลุกคลีอยู่ในแวดวงการเมืองหลายสิบปี นอกจากมุมการเมือง อีกมุมหนึ่งคุณนนทิวรรธน์ได้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ มูลนิธินครอาสา  ที่ผ่านมาได้ทำหลากหลายกิจกรรมร่วมกับชาวนครศรีฯ ทั้งกิจกรรมทางพุทธศาสนาและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่น 

            มูลนิธินครอาสา ก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ. 2557 โดยกลุ่มคนหนุ่มสาวในพื้นที่ตลาดปากพนัง เพื่อทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ช่วยเหลือสังคม ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระราชทานโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อความกินดีอยู่ดีของราษฎรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังและพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาเรื่องน้ำ และความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ในช่วงที่กระแสการปั่นจักรยานกำลังถูกพูดถึงอย่างมาก ทางมูลนิธิได้จัดกิจกรรม “ปั่นจักรยานบ้านพ่อ สู่อ้อมกอดแม่” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนและส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เมืองปากพนัง กิจกรรมนี้ดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557  และจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี ยกเว้นในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19    

งานต้นแบบ นครเกษตรกรรม ร่วมสร้างฐานความสุข ลุ่มน้ำปากพนัง

            คุณนนทิวรรธน์ได้นำเอาคำสอนตามหลักศาสนาพุทธที่ตัวเองนับถือ มาเป็นตัวตั้งในการดำเนินชีวิตและการทำงาน อยากให้ทุกคนร่วมกันสร้างฐานความสุขจากการประกอบอาชีพในท้องถิ่นของตนเอง อยากเห็นนครศรีธรรมราชเป็นนครเกษตรกรรม เพราะลุ่มน้ำปากพนังที่มีพื้นที่ในการทำเกษตร ปัจจุบันมีการปลูกข้าวกันเยอะขึ้น มีข้าวสายพันธุ์ท้องถิ่นที่น่าสนใจ ในอดีตเกษตรกรมีข้อจำกัดในเรื่องต้นทุนที่จะใช้ในการพัฒนาแปลงเกษตร แต่ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต อย่างที่อำเภอหัวไทร เกษตรกรใช้โดรนในการฉีดพ่นยาแทนการใช้แรงงานคน ช่วยประหยัดเวลา ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในระยะยาว และลดการสูญเสียผลผลิต อย่างส้มโอทับทิมสยาม อีกหนึ่งความภูมิใจของคนลุ่มน้ำปากพนัง แม้ไม่ใช่พันธุ์ส้มโอดั้งเดิมในพื้นที่อำเภอปากพนัง  แต่ก็กลายเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัดนครศรีธรรมราชที่มีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ

            เมื่อเรามองย้อนไปในอดีตก็จะเจอร่องรอยที่คนรุ่นเก่าได้สร้างไว้ เรื่องราวของชาวลุ่มน้ำปากพนังแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่ต้องปรับตัวไปตามการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ แม้ในช่วงที่เผชิญปัญหา แต่เมื่อได้รับการแก้ไข และเรียนรู้เพื่อพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม ไม่เพียงเป็นการสร้างฐานความมั่นคงต่อการดำรงชีวิตเท่านั้น ยังเป็นการสร้างฐานความสุขให้กับตัวเองและชุมชนเช่นกัน  

มือใหม่เริ่มขายออนไลน์ Lazada #ช่องทางสร้างอาชีพเพิ่มรายได้

 

แนะนำเคล็ดลับขายดีบน Lazada จากพี่เฟรนด์ อรรถพล กิตติธรรมสาร ผู้แต่งหนังสือ กลยุทธ์และวิธีขาย ให้รวยได้จริงที่ Lazada

วันที่ 22 มิถุนายน 2564 เวลา 19.30-20.30 น.

จัดโดย เพจ Nakhonsi Station ที่นี่ นครศรีธรรมราช

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=327144705570209&id=101902355344480

Lazada มี 2 ระบบ

1) Lazada.co.th สำหรับคนเข้ามาซื้อของ

2) Seller Center สำหรับผู้ขายสินค้า

1. การสมัคร พิมพ์ใน Google ว่า “สมัคร Lazada” เพื่อเข้าสู่หน้าสมัคร หลังจากนั้นดำเนินตามขั้นตอนการสมัคร ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่

2. การตั้งชื่อร้าน

ควรเป็นคำค้นที่หาง่ายๆ ใช้ชื่อร้านสั้นๆ ชื่อร้านมีผลต่อการออกแบบโลโก้หรือตราสินค้าให้ลูกค้าจดจำง่ายๆ ต้องคิดเสมอว่าลูกค้าค้นหาคำอะไร เช่น อาหารทะเลสด ควรใช้ อาหารทะเลแห้งหรอย ปลาหมึกแห้ง 100 กรัม

3. รูปสินค้า ต้องมีบรรจุภัณฑ์สวยๆ ใส่โลโก้เข้าไป จัดวางสินค้าแล้วถ่ายรูปชัดๆ ให้มีแสงส่องสินค้า

4. ควรใส่ข้อความโปรโมชั่นที่เน้นส่งเสริมการขาย เพื่อกระตุ้นให้ตัดสินใจขาย เช่น ซื้อตอนนี้ ลด….บาท/ ซื้อ 2 แถม 1/
ถ้าซื้อ 2 ชิ้น ลดอีก 5% / ซื้อ 5 ชิ้น ส่งฟรี เป็นต้น

5. ใส่ข้อความชวนให้ดูน่าซื้อ

6. เมื่อเริ่มขายแล้ว ต้องพยายามทำให้ลูกค้ากดดู และกดซื้อ จนติดใจกลับมาซื้อ และแชร์หรือรีวิว อาจชวนเพื่อนๆ หรือญาติๆ ให้คนรู้จักเข้าไปซื้อ และช่วยรีวิว หรือแชร์ในเฟสบุ๊ก/ LINE

7. ไม่ควรใส่แค่รูป โดยไม่มีรายละเอียด ไม่มีข้อความส่งเสริมการขาย/ กระตุ้นจูงใจให้ซื้อ

8. LazAroi เป็นตราโลโก้ที่เน้นผลิตภัณฑ์ชุมชน

9. ควรทำ  Card (การ์ด) หรือ Coupon (คูปอง) ที่ทำให้ลูกค้าจำได้ว่านี่คือร้านเรา ที่บอกเขาว่ามีส่วนลด หรือให้ช่วยรีวิวแล้วจะมีส่วนลด ทั้งนี้ Lazada จะให้เราสร้างคูปองติดตามร้านค้าให้ส่วนลดสำหรับลูกค้าที่ซื้อสินค้าไปแล้วกลับมาติดตามหรือรีวิว

10. ใน 1 ร้าน อย่าขายสินค้าคนละประเภท เพราะ เลข 1 บัตรประชาชนใช้ได้ 20 ร้านค้า (แต่ควรจะคนละเบอร์โทร/ อีเมล) ดังนั้น ควรจัดหมวดหมู่ในร้านค้าเราให้เหมาะสม เช่น เปิดร้านปลาแห้ง แล้วไม่ควรนำเซรั่มเข้ามาขายด้วย ลองนึกดูว่าเราไปร้านกาแฟ แล้วมีเซรั่มวางบนโต๊ะ ควรจะมีขนบอบแห้งหรือสินค้าควบคู่กับกาแฟ ไปรษณีย์ไทยจะมีตู้กระจกขายของหลายอย่างซึ่งคนมาใช้บริการจะใช้บริการส่งของมากกว่ามาซื้อของ….เป็นการวางสินค้าที่เสียโอกาสในการขาย

11. ห้าม สินค้าผิดกฎหมาย ละเมิดลิขสิทธิ์/ คัดลอก

12. ห้ามนัดเจอซื้อขายนอก (ต้องซื้อขายผ่านระบบเท่านั้น) อาหาร/เครื่องสำอางที่ไม่มี อย. รับรอง

13. การขนส่ง เราจะเลือกได้เพียง 1 เจ้า มี 2 แบบ คือ Drop Off (เราไปส่งเอง เช่น ไปส่งที่ Kerry, ไปรษณีย์ไทย, Flash โดยเราไม่ต้องจ่ายค่าขนส่ง แค่ไปบอกร้านว่าเรา Drop Off) และ Pick Up (มีรถมารับ) การตั้งค่าขนส่ง อยู่ที่เราตั้งว่าเราออก หรือลูกค้าออก เวลาลูกค้ากดซื้อของ ระบบจะคิดค่าขนส่ง

14. ค่าธรรมเนียมชำระเงิน ทาง Lazada จะจ่ายให้เราทุกวันพุธ ถ้าลูกค้ารับของวันจันทร์-อาทิตย์ จะไปจ่ายพุธหน้า หรือมีวันหยุดนักขัตฤกษ์ตรงวันพุธ วันจ่ายก็จะเลื่อนไป

15. กรณีลูกค้าไม่รับของ เช่น การเก็บปลายทาง เราควรโทรหาลูกค้าก่อนว่าเขาจะจ่ายได้ไหม ของที่ให้ตรงกับจำนวนตามที่เขาต้องการหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ระวังชื่อคนแปลกๆ ที่อยู่แปลกๆ ควรติดต่อกับ Lazada ให้ยกเลิกได้

16. ขายดีได้อย่างไร

1) เป็นสินค้าค้นหายอดนิยม/ อยู่ในกระแส เช่น ปีใหม่ที่ผ่านมา วัตถุมงคลไอ้ไข่ซึ่งมีคนค้นหาสิ่งนี้มากๆ

2) ขายถูกที่สุด แต่ไม่แนะนำ เพราะไม่ยั่งยืน

3) เราเข้าใจระบบของ Lazada เพื่อความรวดเร็วในการซื้อขาย การตอบ การขนส่ง การส่งเสริมการขาย/ กระตุ้นให้ซื้อ (ซื้อ 2 แถม 1/ ซื้อ 2 ลดอีก 10%, ซื้อ 10 ชิ้น ฟรีค่าขนส่ง)

4) จับกลุ่มลูกค้าให้ได้ เน้นลูกค้าที่สนใจจริง ถ้ามาถามแล้วหายไป ต้องระวัง จะทำให้เสียเวลา

17. วิธีตรวจสอบสินค้า / การสร้างความมั่นใจของลูกค้า

1) ดูมาตรฐาน (มอก., อย. จริงๆ แล้ว Lazada ควบคุมได้ แต่ก็ไม่ 100% เช่น สินค้าจากจีน) อย่างไรก็ตาม LazAroi เป็นตราโลโก้ที่เน้นผลิตภัณฑ์ชุมชน นั่นคือ ชุมชนสามารถนำสินค้าการเกษตรขายได้ แต่ก็ต้องดูข้อกำหนดในระบบ Lazada ก่อนลงสินค้าด้วย

2) ดูรีวิวหรือการแสดงความเห็นของคนที่เคยใช้บริการ

3) ถามแล้วตอบกลับไว

4) ดูโลโก้ Lazmall (การันตรีสินค้าแท้)

5) หน้าโปรโมชั่นของ Lazada ที่มีสินค้านั้นขึ้น หรือมีโลโก้วันลดราคา เช่น 06-06 Sale (ลดวันที่ 6 เดือน มิ.ย.)

สรุป เตรียมตัวอย่างไร

1) การถ่ายภาพต้องดูดึงดูดใจ ถ้าแทรกคลิปวิดีโอจะได้ยิ่งดี (สร้างคอนเทนต์หรือเรื่องราวที่น่าสนใจ เช่น ภาพการหยิบจับ การแกะสินค้า การใช้งานสินค้า พูดแนะนำสินค้า อะไรที่สื่อว่าอร่อย แสดงภาพการนำน้ำพริกไปทำอาหารเมนูต่างๆ ได้ ทั้งนี้ ใน Lazada สามารถแปะลิงก์ยูทูปที่เราลงวิดีโอได้ด้วย)

2) การจัดส่ง จะส่งแบบไหน Drop Off หรือ Pick Up

3) หมั่นสร้างสรรค์กลยุทธ์ส่งเสริมการขายกระตุ้นการซื้ออย่างสม่ำเสมอ

4) หมั่นออกแบบและเปลี่ยนรูปแบบสินค้าที่ดูน่าสนใจอย่างสม่ำเสมอ

ติดตามชมผ่าน Youtube ย้อนหลัง

https://www.youtube.com/channel/UCulmpolV5St8U5g0fGXWQxA

เพจ Nakhonsi Station ที่นี่ นครศรีธรรมราช

https://web.facebook.com/NakhonsiStation

ลงทะเบียนขายสินค้าชุมชน https://forms.gle/jMTDQMWc4fbdrPnD8

ขอบคุณ สรุปเนื้อหาคลิปจาก อ.ปุณยวีร์ ศรีรัตน์

ฅนต้นแบบเมืองนคร อ.พัชรี สุเมโธกุล พัฒนาชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยว

 

ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สั่งสมและถ่ายทอดสืบต่อกันมา เมื่อนำมาผสมผสานกับความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ปรับให้เข้ากับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ไม่เพียงแต่พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนเท่านั้น แต่สามารถนำเอาทรัพยากรท้องถิ่นมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้อย่างน่าเหลือเชื่อ ส่งเสริมให้ชุมชนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่มีความน่าสนใจ ใครกันจะเป็นผู้ที่มองเห็น เข้าใจและเข้าถึงวิถีชีวิตชุมชน ผลักดันองค์ความรู้ชาวบ้านผ่านกระบวนการสร้างมูลค่าออกสู่ตลาดสากล ทางเรารู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะแนะนำให้ทุกท่านรู้จักกับผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของหลายโครงการชุมชนท้องถิ่น บุคคลที่เป็นฅนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ อาจารย์พัชรี สุเมโธกุล  

เริ่มต้นจากงานอาสาสมัครสู่งานพัฒนาชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยว

            ก่อนที่จะมาเป็นหัวหน้าโครงการพัฒนาชุมชน อาจารย์พัชรีย์มีความฝันอยากเป็นนักข่าว ชื่นชอบศาสตร์ด้านการเขียน จบปริญาตรีครุศาสตร์บัณฑิต สาขาอุตสาหกรรมศิลป์ ปริญญาโท ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ปริญญาเอก tourism management and hospitality

ปัจจุบันท่านเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ อาจารย์ทำงานด้านส่งเสริมพัฒนาชุมชนมาเป็นเวลา 12 ปี  พื้นเพเดิมอาจารย์เป็นคนสตูล เนื่องจากทางบ้านทำงานด้านการท่องเที่ยวชุมชน จึงมีความรู้เกี่ยวกับข้อมูลท้องถิ่น อาจารย์ทำงานเชิงพื้นที่เป็นอาสาสมัครช่วยเครือข่ายท้องถิ่นจังหวัดสตูล ควบคู่กับงานด้านวัฒนธรรม จนได้มีโอกาสช่วยราชการกองทัพภาค 4 ร่วมพัฒนาท้องถิ่นตามชายแดนภาคใต้ใน 7 จังหวัด ซึ่งทำร่วมกับนักศึกษา อยากที่จะใช้องค์ความรู้ของตัวเองและนักศึกษา เข้าไปพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง

อย่างกลุ่มรัฐวิสาหกิจชุมชนในปัจจุบัน ซึ่งเมื่อก่อนเป็นแค่ชมรม กลุ่มอาชีพในชุมชน  ก็ผลักดันให้กลุ่มเหล่านี้พัฒนาตัวเองและเป็นที่รู้จักมากขึ้น  อาจารย์มีความคิดว่าถ้าต้องการพัฒนาด้านนี้อย่างจริงจัง สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การเข้าถึงพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เข้าไปพูดคุยกับผู้คนในชุมชน สอบถามเกี่ยวกับวิถีชีวิต ปัญหาที่พวกเขาพบซึ่งกระทบต่อการดำรงชีพ  เมื่อเก็บข้อมูลมากพอแล้วจึงใช้งานวิจัยเป็นตัวขับเคลื่อน

เพราะแต่ละชุมชนมีต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมต่างกัน

            ก่อนที่จะเข้าถึงชุมชน ต้องเข้าใจในความต่างของแต่ละชุมชนก่อน เพราะบางพื้นที่ไม่ได้มีแหล่งท่องเที่ยว ต้องดูบริบทของแต่ละพื้นที่ว่า พื้นที่ไหนควรจะใช้ผลิตภัณฑ์นำการท่องเที่ยว หรือใช้การท่องเที่ยวนำผลิตภัณฑ์ บางชุมชนสามารถจัดสรรในสัดส่วนที่เท่ากันได้ ยกตัวอย่างกรณีศึกษา วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวป่าชายเลนบ้านแหลมโฮมสเตย์ อำเภอท่าศาลา เป็นชุมชนแรกที่อาจารย์เข้าไปเป็นที่ปรึกษาถึง 8 ปี ในฐานะวิทยากรของกรมการท่องเที่ยว แม้สภาพแวดล้อมของชุมชนในตอนนั้นไม่เหมาะที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยว และยังได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเกี่ยวกับยาเสพติดสูงอีกด้วย แต่อาจารย์ก็เห็นถึงพลังการร่วมมือของผู้คนในชุมชน

แม้ว่าครั้งแรกที่เปิดเวทีเสวนามีชาวบ้านมานั่งฟังแค่ 4 คน แต่หลังจากนั้นชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี สิ่งที่อาจารย์ให้ความสนใจคือ ชาวบ้านทำการประมงจับปลาได้ในปริมาณที่เยอะมาก แต่ไม่สามารถจัดการกับจำนวนปลาที่เหลือจากการบริโภคและจำหน่ายในพื้นที่ได้ นอกจากนำไปแปรรูปเป็นปลาเค็มเพียงอย่างเดียว แม้พยายามจะอธิบายถึงแนวทางการแก้ปัญหา แต่ในตอนนั้นชาวบ้านก็ไม่เข้าใจในสิ่งที่อาจารย์กำลังจะทำ เป็นระยะเวลาถึง 4 ปีที่อาจารย์เก็บรวมรวบข้อมูล เพื่อขอทำวิจัยให้ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพราะชาวบ้านที่นั้นรักป่าชายเลนมาก

โปรเจคแรกคือ ปลูกป่าสปาโคลน มีการส่งผลงานเข้าประกวดและได้รับรางวัลกลับมา ทำให้ชุมชนเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น เมื่อเข้าสู่ปีที่ 5 อาจารย์ได้ทำเรื่องของบวิจัย เพื่อยกระดับเป็นโมเดลบ้านแหลมโฮมสเตย์ เพื่อเป็นชุมชนต้นแบบของประเทศ ผลิตภัณฑ์ของที่นี่คือ ใบโกงกางทอด โลชั่นใบโกงกาง และชาใบโกงกาง ซึ่งผลิตภัณฑ์ทุกตัวของชุมชนบ้านแหลมมีงานวิจัยรองรับและผ่านการทดสอบทางวิทยาศาสตร์

ทำให้ชื่อเสียงของชุมชนโด่งดังไกลไปถึงระดับโลก จนสำนักข่าว CNN มาขอสัมภาษณ์ถึงชุมชน หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนแห่งนี้คือ โคลนจากป่าชายเลน เนื้อโคลนสีดำละเอียดที่อยู่ลึกลงไปจากผิวดินกว่า 1 ฟุต นำมาผ่านกระบวนการวิจัยเพื่อรับรองว่าไม่มีสารตกค้าง ผลิตภัณฑ์มาสก์โคลน ได้รับรางวัลผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยมอันดับหนึ่งของประเทศ ที่น่าภาคภูมิใจคือ สินค้ามีการนำไปจำหน่ายในต่างประเทศ ในปัจจุบันการจัดจำหน่ายสินค้าดำเนินการโดยชุมชน มีช่องทางการขายเป็นของตนเอง

ค้นหาอัตลักษณ์ ก่อนที่จะถอดอัตลักษณ์

            ก่อนที่จะนำเสนอและสร้างโปรเจคขึ้นมา ต้องทำให้คนในชุมชนมองเห็นภาพและเข้าใจก่อน การทำงานเพื่อชุมชน ไม่ต้องคิดไปก่อนว่าจะเอาโปรเจคอะไรไปนำเสนอชุมชน อย่าไปคิดแทนชาวบ้าน แค่พาตัวเองเข้าไปอยู่ในชุมชนในฐานะที่ปรึกษา แน่นอนว่าการที่จู่ๆ มีคนแปลกหน้าเข้าไปคลุกคลี สอบถามข้อมูล พูดคุยกับชาวบ้านในชุมชนนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ยิ่งถ้าไปยัดเยียดความคิดของตัวเองให้ชาวบ้าน อาจเกิดข้อโต้แย้งได้ ต้องเปิดใจรับฟัง เรียนรู้ และมีความบริสุทธิ์ใจ

เรื่องนี้ถือเป็นความตั้งใจเบื้องต้นของอาจารย์ การเข้าไปในฐานะที่ปรึกษา ต้องค้นหาเพื่อให้เข้าใจและเข้าถึงในสิ่งที่ชุมชนเป็น เพราะมุมมองแต่ละคนต่างกัน นักวิชาการอยากให้เพิ่มมูลค่าสินค้า แต่ชาวบ้านบางคนอาจไม่สนใจ เพราะพึงพอใจกับวิถีชีวิตนี้อยู่แล้ว และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องให้เกียรติชุมชนที่เราเข้าไป ให้เกียรติชาวบ้านในฐานะคณะกรรมการดำเนินงาน หรือผู้ช่วยนักวิจัยชุมชน เพราะพวกเขาคือ เจ้าขององค์ความรู้ นักวิชาการมีหน้าที่แค่นำเอาทฤษฎี เครื่องมือต่างๆ เข้าไปช่วยเหลือในการพัฒนาชุมชน

            อย่างบางชุมชนมีทรัพยากรทางธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ประเด็นคือ สถานที่ท่องเที่ยวหรือผลิตภัณฑ์ใดที่เป็นจุดเด่นของชุมชน บางสิ่งที่ชุมชนนำเสนอไป นักท่องเที่ยวอาจไม่ต้องการก็ได้ หน้าที่ของนักวิชาการคือ ต้องค้นหาสิ่งนั้นให้เจอ ก่อนที่จะนำมาพัฒนาต่อยอด เพื่อผลิตสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ท้องถิ่น สำคัญคือ อย่าสร้างความหวังให้ชุมชน เพราะสิ่งที่กำลังทำคือต้นแบบเพื่อที่จะพัฒนาต่อ ต้องอธิบายให้คนในชุมชนเข้าใจถึงเป้าหมายแต่ละขั้น

ยกตัวอย่าง โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มี 2 ชุมชนที่ในตอนนี้อาจารย์เข้าไปดูแล คือ ชุมชนท่าดี อ. ลานสกา ซึ่งอาจารย์สนใจผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับผักกูดและแตงโม และชุมชนขอนหาด อ. ชะอวด เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงหัตถกรรมชุมชน ที่ให้ทุกครัวเรือนเป็นฐานการเรียนรู้ เน้นพัฒนากลุ่มอาชีพOTOP และผู้ประกอบการท้องถิ่น ในสองชุมชนนี้อาจารย์เน้นในเรื่องผลิตภัณฑ์นำการท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ที่ชาวบ้านสร้างขึ้นต้องเกิดประโยชน์กับพวกเขา

ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนบนพื้นฐานองค์ความรู้ที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

            หนึ่งในเป้าหมายพัฒนาเครือข่ายชุมชน นอกจากผลิตสินค้าและบริการการท่องเที่ยวบนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ งานวิจัย การสร้างสรรค์งาน ที่เชื่อมโยงกับรากฐานทางวัฒนธรรมท้องถิ่นแล้ว สินค้าทุกชนิดต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด เพิ่มโอกาสขายในระดับสากล และขายได้ในราคาที่สูงขึ้น ซึ่งในตอนนี้ทางโครงการกำลังดำเนินการอยู่  แน่นอนว่าเบื้องหลังการพัฒนาชุมชน และส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่วนหนึ่งมาจากทีมงานที่ต้องเข้าใจและมองเห็นในสิ่งเดียวกัน

เกณฑ์ในการคัดเลือกทีมงานของอาจารย์ เน้นในเรื่องการปรับตัวเข้าหาชาวบ้าน เพื่อการเข้าถึงชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ต้องยอมรับในกฎกติกาของชุมชน ทีมงานโครงการมีทั้งฝ่ายการตลาด เทคโนโลยีและอุตสาหกรรม ฝ่ายการจัดการ ฝ่ายบัญชี การท่องเที่ยว มาตรฐานผลิตภัณฑ์ และฝ่ายดูแลมาตรฐานการส่งออก หลังจบงานวิจัยของแต่ละชุมชน ทางทีมงานจะทำหน้าที่เป็นโค้ชคอยช่วยเหลืออยู่เบื้องหลัง

เป้าหมายหลักของโครงการคือ ชุมชนที่ได้เข้าไปพัฒนาแล้วต้องยืนได้ด้วยตัวเอง เมื่อไหร่ก็ตามที่สามารถพัฒนาชุมชนให้กลายมาเป็นชุมชนต้นแบบแล้ว พวกเขาต้องทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง เพื่อพาคนอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วม ชุมชนที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเองได้ก็จะเป็นรากฐานในการพาชุมชนอื่นๆ ขับเคลื่อนไปด้วยกัน เกิดการพัฒนาต่อยอดเป็นเครือข่ายชุมชนที่แข็งแกร่ง

ไม่ว่าอาจารย์จะไปพื้นไหนก็ต้องเข้าให้ถึงหัวใจของผู้คนในพื้นที่นั้น ดึงเอาคุณค่าและเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ออกมา เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าจากองค์ความรู้ที่สั่งสมและส่งผ่านจากรุ่นเก่าสู่รุ่นใหม่ ผสานกับงานวิจัย เทคโนโลยีสมัยใหม่ และความรู้ทางธุรกิจ โครงการนี้จึงไม่แค่พัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมท่องเที่ยวเพื่อยกระดับชุมชนเท่านั้น แต่เป็นการยกระดับจิตวิญญาณ ความคิด ถ่ายทอดความเป็นชุมชนออกมาได้อย่างงดงามและภาคภูมิใจ

คนต้นแบบเมืองนคร ผู้พันฝายมีชีวิต พันเอกพิเศษ ภัทรชัย แทนขำ

https://youtu.be/LMMrzDBaRLc

            การที่จะมีใครสักคนที่ตั้งปณิธานที่จะทำเพื่อคนอื่นนั้นถือได้ว่าหายากยิ่งในยุคปัจจุบัน  ใครสักคนที่พร้อมจะยึดถือประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้งโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนตน ลงมือให้ความช่วยเหลือโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนเพียงเพื่อแค่ว่าตนเองจะทำประโยชน์ให้ชุมชนได้แค่ไหน และท้ายที่สุดคนอื่นจะได้รับความสุขจากสิ่งที่ทำขนาดไหน หากมีใครสักคนที่สามารถทำได้เช่นนี้ บุคคลผู้นั้นก็น่าจะเป็นต้นแบบที่ควรค่าแก่การทำความรู้จักเป็นอย่างยิ่ง ในวันนี้เราได้มีโอกาสได้ทำความรู้จักกับบุคคลต้นแบบที่ว่าผู้ซึ่งยอมเสียสละประโยชน์ของตนเองและลงมือทำเพื่อคนอื่นจนเป็นที่ประจักษ์แจ้งจนได้รับสมญานามว่าเป็น “ผู้พันฝายมีชีวิต” เราจะมาทำความรู้จักแง่คิดในการทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทนกับบุคคลต้นแบบที่ว่าซึ่งก็คือ “พันเอก(พิเศษ)ภัทรชัย แทนขำ”  

แรงบันดาลใจที่เป็นจุดกำเนิดก็คือความกตัญญูต่อคุณพ่อคุณแม่

            พันเอก(พิเศษ) ภัทรชัย แทนขำ ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งในฝ่ายเสนาธิการของกองทัพภาคที่ 4 ซึ่งในวัยเด็กนั้นผู้พันมีความฝันที่อยากจะเป็นตำรวจตามรอยของคุณพ่อ แต่เมื่อคุณพ่อแนะนำให้ไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารในเหล่าทหารบก ท่านผู้พันก็ลองไปสอบดูและสามารถสอบเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมทหารได้ในที่สุด ผู้พันเล่าว่าในช่วงที่เข้าเรียนใหม่ ๆ ผู้พันเองก็พบเจอกับความเหนื่อยยากและลำบาก แต่ก็สู้กัดฟันทนจนผ่านมาได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะไม่อยากให้คุณพ่อและคุณแม่เสียใจ อยากให้ท่านทั้งสองสบายใจ ภูมิใจ เพราะการสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารในครั้งนี้ถือเป็นความภูมิใจที่ไม่เฉพาะแต่ท่านผู้พันเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความภูมิใจของคุณพ่อคุณแม่ด้วยเช่นกัน ท่านผู้พันจึงถือเป็นความรับผิดชอบต่อความใฝ่ฝันของคุณพ่อคุณแม่และใช้สิ่งนี้เป็นแรงบันดาลใจจนก้าวมาถึงวันนี้

ตามหาความหมายของชีวิตเมื่อได้เข้าสู่แวดวงราชการทหารอย่างเต็มตัว

            ในช่วงที่จบจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าและก้าวออกมาเป็นนายทหารหนุ่มอย่างเต็มตัว ตัวของผู้พันเองก็ยังตามหาตัวตนของตนเองไม่เจอ จึงได้ใช้ชีวิตในช่วงนั้นเป็นดั่งวัยรุ่นทั่วไปคือกินและเที่ยวไปตามปกติ จนกระทั่งเมื่อได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในฐานะผู้นำหน่วยที่ต้องมีผู้ใต้บังคับบัญชาในปกครอง ความคิดของผู้พันก็เปลี่ยนไป เพราะอยากที่จะทำอะไรเพื่อคนอื่น ให้ตนเองสามารถเป็นต้นแบบให้แก่ผู้อื่นได้ ในขณะนั้นกองร้อยที่ท่านผู้พันเข้าประจำการเป็นกองร้อยที่มีเกณฑ์คะแนนที่ต่ำที่สุดในกองพันเดียวกัน ท่านผู้พันจึงใช้ความรู้ ความเป็นผู้นำมาพลิกฟื้นให้กองร้อยนั้นดีดตัวเองจนไปอยู่ในระดับที่สูงของกองพันได้สำเร็จ ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากนิสัยส่วนตัวที่เมื่อได้ลงมือทำอะไรแล้วจะต้องเห็นการเปลี่ยนแปลงและต้องอยู่ในจุดที่สุดยอดเท่านั้น ถ้าเราต้องไปอยู่ในจุดไหนเราต้องทำให้จุดนั้นไปอยู่ในระดับสูงสุดให้ได้

            แต่จุดเปลี่ยนทางความคิดที่สำคัญที่สุดที่เปลี่ยนให้ผู้พันที่เริ่มแรกไม่ได้รู้สึกว่าความเป็นทหารคือตัวตนของตนเองก็คือคำขวัญประจำกองทัพบกซึ่งก็คือ “เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์และประชาชน” ได้หล่อหลอมให้ท่านผู้พันค้นพบตนเอง ค้นพบสิ่งที่เป็นตัวตนของตัวเองซึ่งก็คือการทำเพื่อประชาชน ผู้พันจึงมีการนำกำลังทหารลงไปช่วยเหลือประชาชนอยู่เสมอไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์น้ำท่วม การปลูกป่า หรือแม้แต่การทำความสะอาด เพราะท่านผู้พันเห็นว่าทหารต้องเสียสละ การลงพื้นที่ไปช่วยเหลือประชาชนและเห็นความสุขของประชาชนจากสิ่งที่ตนเองทำจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้พันค้นพบความหมายที่แท้จริงของตัวเองนั่นเอง

งานสาธารณประโยชน์และการสร้างแรงบันดาลใจคือสิ่งที่ผู้พันให้ความใส่ใจมาโดยตลอด

            นับตั้งแต่ค้นพบตัวเอง ท่านผู้พันก็ไม่เคยหยุดทำประโยชน์เพื่อสังคมเลยเพราะครั้งหนึ่งในสมัยที่ดำรงตำแหน่งเป็นผบ.หน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหาร ผู้พันพยามที่จะสร้างและบ่มเพาะนักศึกษาวิชาทหารซึ่งก็คือเยาวชนเหล่านั้นให้มีจิตสาธารณะหรือจิตอาสา มีการจัดตั้งเป็นกลุ่มเป็นชมรมโดยให้เวทีเหล่านั้นให้แก่เยาวชน และผู้พันเป็นผู้ให้การสนับสนุนให้โจทย์และแนะแนวทางซึ่งเยาวชนที่เป็นนักศึกษาวิชาทหารเหล่านั้นก็ต่อยอดความคิดจนเกิดเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ต่าง ๆ และสามารถกลายเป็นแกนหลักให้ชุมชนได้ในอนาคต กิจกรรมจิตอาสาที่ผู้พันได้นำนักศึกษาวิชาทหารเหล่านั้นลงมือทำก็มีตั้งแต่การพัฒนาชุมชน ขุดลอกคูคลอง ปลูกต้นไม้ ทำฝายเป็นต้น

            และเมื่อผู้พันได้มาเป็น ผบ.กองพัน 15ที่ทุ่งสง ผู้พันก็มีแนวความคิดอยากให้หน่วยพัฒนา โดยมุ่งหวังให้ทหารในหน่วยมีความพร้อมในทุกด้าน และสิ่งที่ผู้พันได้ทำนอกเหนือจากการดูแลความพร้อมของกำลังพล ผู้พันยังให้แนวความคิดที่จะดูแลความพร้อมให้กับครอบครัวของกำลังพลเหล่านั้น เพราะท่านผู้พันมีแนวคิดที่ว่าหากกำลังพลได้รับความสบายใจ คนที่อยู่เบื้องหลังมีความสุขย่อมส่งผลดีต่อขวัญและกำลังใจของกำลังพลในหน่วย ผลลัพธ์ที่ได้รับกลับมาคือกำลังพลเหล่านั้นจะกลับมาซัพพอร์ตหน่วยให้สามารถเดินหน้าไปได้อย่างราบรื่นสมดั่งที่ผู้พันต้องการจะให้เป็นนั่นเอง ซึ่งสิ่งที่ท่านผู้พันใช้เป็นหมัดเด็ดมาตลอดก็คือการสร้างแรงบันดาลใจให้กับกำลังพลในหน่วย

 

            แรงบันดาลใจที่ผู้พันสร้างให้กับกำลังพลก็คือเรื่องเล่า คำสอน คำแนะนำการใช้ชีวิตให้กับกำลังพลในหน่วยในยามที่มีการเรียกรวมแถว พยายามอธิบายและปลูกฝังเป้าหมายของการเป็นทหารผ่านการบอกเล่าประสบการณืของตนเอง ช่วยสร้างอาชีพเสริม สร้างรายได้ให้กับกำลังพล แม้ในช่วงแรกจะเป็นการบังคับให้ทำ แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปเมื่อกำลังพลได้รู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นสร้างประโยชน์ต่อพวกเขาอย่างไร ท้ายที่สุดพวกเขาก็จะเต็มใจที่จะทำในที่สุด ในขณะที่กำลังพลรายใดที่อาจจะแตกแถวไปบ้าง ท่านผู้พันก็ไม่เคยใช้วิธีการลงโทษเป็นหลัก แต่มักจะมอบโอกาสให้กำลังพลเหล่านั้นกลับใจ ซึ่งท้ายที่สุดกำลังพลหลายรายก็กลับมาทำงานและทำประโยชน์ให้กับหน่วยได้ในที่สุด

การมีส่วนร่วมในการทำฝายคือจุดกำเนิดสมญานาม “ผู้พันฝายมีชีวิต”

            จุดเริ่มต้นของสมญาผู้พันฝายชีวิตอยู่ที่ครั้งหนึ่งท่านผู้พันได้ไปพบเห็นรูปฝายหน้าตาแปลก ๆใน facebook จึงได้ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาไปหาข้อมูลของฝายชนิดนี้ และจากการลงพื้นที่ทำให้พบว่าฝายที่กำลังสร้างอยู่นั้นต้องการทหารเข้ามาช่วยเหลืออยู่พอดี ท่านผู้พันจึงไม่ลังเลใจที่จะนำทหารลงไปในพื้นที่เพื่อช่วยกันสร้างฝายที่ว่านี้ และที่นี่เองที่ทำให้ท่านผู้พันได้มีโอกาสเห็นความร่วมแรงร่วมใจกันระหว่างทหารและชาวบ้านเพื่อพัฒนาชุมชน ทั้งยังได้เห็นความร่วมมือร่วมใจกันระหว่างพี่น้องชาวไทยพุทธและไทยมุสลิมยังผลให้การสร้างฝายนั้นสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ความประทับใจนี้เองที่ทำให้ท่านผู้พันได้ถือโอกาสเข้าไปพูดคุยกับผู้นำโครงการและเสนอตัวที่จะขอเข้าร่วมโครงการในครั้งต่อ ๆไป

            โดยทางทหารจะเข้าไปตั้งแต่ขั้นตอนการทำความเข้าใจและในขั้นตอนที่ร่วมมือกับชาวบ้านในการสร้างฝาย และต้องเป็นความร่วมมือกันระหว่างทหารและชาวบ้านเท่านั้นไม่ใช่หน้าที่ของทหารเพียงฝ่ายเดียว โครงการนี้เป็นการเชื่อมต่อชุมชนโดยฝายในพื้นที่ 14 จังหวัดจนครบ 106 ฝาย ต่อมาในปลายปี 2558 ทางผู้พันได้จัด “กิจกรรม 100 ใจ 100 ฝายถวายในหลวง” โดยในครั้งนี้มีคนต่างพื้นที่มาร่วมและเป็นจุดกำเนิดการสร้างฝายนอกพื้นที่ภาคใต้เป็นครั้งแรกที่แม่สอด

สร้างฝายด้วยหลักการสู่โครงการที่เล็งประโยชน์ต่อชุมชน

            โครงการฝายมีชีวิตจะยึดหลักการ 3 ประการคือ “การทำความเข้าใจ งบประมาณ และความร่วมมือ” โดยให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนและโดยเฉพาะในขั้นตอนสำคัญอย่างการสร้างฝายที่อาศัยความร่วมมือร่วมใจตั้งแต่การหาอุปกรณ์และการลงมือทำฝายจนสำเร็จเป็นรูปร่างบนหลักการพื้นฐานของการได้ประโยชน์ของชุมชนอย่างแท้จริง กิจกรรมนี้ทำให้คนในชุมชนได้มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้นในปัจจุบันมีฝายกว่า 1,000 แห่งใน 50 จังหวัดทั่วประเทศ

แรงบันดาลใจที่ส่งต่อโดยผู้พันฝายมีชีวิต

            โครงการนี้ยืนอยู่ได้เพราะไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของ ผู้พันเป็นแค่เพียงผู้สนับสนุนให้โครงการเดินหน้าเมื่อโครงการแล้วเสร็จชุมชนก็คือเจ้าของ เพราะผู้พันยึดหลัก “การทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมเป็นที่หนึ่ง ให้ประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง”  การทำให้ส่วนรวมมีความสุขเมื่อพวกเขามีความสุขเราก็มีความสุขเช่นกัน และอยากทำตัวให้เป็นต้นแบบในการทำเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่นเหมือนอย่างที่ท่านผู้พันทำมาแล้ว ถ้าทุกคนทำในสิ่งที่ดีแล้วเราร้อยเรียงความดีไปด้วยกันก็จะเกิดสิ่งที่ดีสิ่งที่สามขึ้นตามมา

 

“เข็ดมอน” จากหญ้าดึกดำบรรพ์ สู่น้ำมันนวด KM Oil

“เข็ดมอน” เป็นหญ้าชนิดหนึ่ง เติบโตตามธรรมชาติ พบได้ทั่วไปบนดินทรายในพื้นที่ภาคใต้ โดยฉพาะตามแนวสันทรายโมคลาน ตำบลโมคลาน อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ปรากฏในสำนวนท้องถิ่นที่จดจำและเล่าต่อกันเป็นมุขปาฐะว่า “ตั้งดินตั้งฟ้า ตั้งหญ้าเข็ดมอน” การถูกทรงจำในลักษณะที่มีต้นกำเนิดมาพร้อมดินและฟ้า ทำให้หญ้าเข็ดมอนมีอีกสถานะคือการเป็น “หญ้าดึกดำบรรพ์”

หญ้าเข็ดมอนที่พบบนสันทรายโมคลานมี 2 ชนิด “ลุงชม” หรือ นายชม พันธิ์เจริญ ปราชญ์ท้องถิ่นตำบลโมคลานวัย 76 ปี อธิบายว่า “…หญ้าเข็ดมอนมี 2 ชนิดใหญ่ๆ คือหญ้าเข็ดมอนตัวผู้ และหญ้าเข็ดมอนตัวเมีย ทั้ง 2 นี้ มีสรรพคุณในทางยา…”

ลุงชม เล่าให้คณะทำงานโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) ภายใต้การสนับสนุนจากกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ซึ่งพื้นที่ตำบลโมคลานบ้านลุงชมอยู่ในความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยมี ผศ.ดร. รุ่งระวี จิตภักดี เป็นหัวหน้าโครงการ ฟังว่า ลุงชมได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรและการทำน้ำมันนวดมาจากคุณปู่ ในระยะแรกได้ทดลองทำน้ำมันจากสมุนไพร 3 ชนิด คือ ผักเสี้ยนผี ขมิ้นอ้อย และน้ำมันมะพร้าว เมื่อทดลองใช้เองแล้วได้ผลพอสมควรจึงแสวงหาสมุนไพรในท้องถิ่นเพิ่มเติมเพื่อสรรพคุณที่มากกว่า จนพบว่า “หญ้าเข็ดมอน” มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดเมื่อย ตามชื่อที่ชาวปักษ์ใต้เรียกอาการปวดเมื่อยว่า “เข็ด”

ลุงชมได้สืบสานภูมิปัญญาของบรรพบุรุษโดยการสกัดสรรพคุณจากสมุนไพรหญ้าเข็ดมอนออกมาใช้ประโยชน์ พร้อมกับส่วนประกอบต่าง ๆ อีก 19 ชนิด เป็นน้ำมันสมุนไพรที่สามารถใช้นวดบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ป้ายแผลเปื่อย แผลสด แผลน้ำร้อนลวก แผลในปากจากอาการร้อนใน ชโลมหนังศีรษะรักษาอาการผมร่วงเนื่องจากเชื้อรา

ในระยะแรก บรรจุภัณฑ์และแบรนด์ภายใต้ภาพและชื่อ “ลุงชม” สนนราคาอยู่ที่ขวดละเพียง 20 บาท มีจำหน่ายเฉพาะที่บ้านของลุงชมเท่านั้น ผศ.ดร. รุ่งระวีฯ และคณะทำงานจึงมีความเห็นร่วมกันว่า หญ้าเข็ดมอนคือของขวัญจากบรรพชน คือจุดเชื่อมร้อยระหว่างอดีตกับปัจจุบัน คือภูมิปัญญาที่สามารถพัฒนาสู่อาชีพ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ที่มีขึ้นเพื่อสร้างรายได้และอาชีพให้กับชุมชน หญ้าเข็ดมอนจึงควรได้รับการพัฒนาให้กลับมาทรงจำของคนในยุคปัจจุบันอีกครั้งในฟังก์ชันที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคและกระแสสังคม โดยเบื้องต้นได้วางแผนในการ Rename Repackeging และ Remarketing เพิ่มมูลค่าตลอดจนการขยายผลสู่การส่งเสริมอาชีพที่เกี่ยวเนื่องให้กับชุมชน เพื่อให้ “หญ้าเข็ดมอน” จากหญ้าดึกดำบรรพ์ จะได้ถูกพัฒนาสู่น้ำมันนวด KM Oil ลุงชมเคเอ็มออยล์ จึงเป็นการผสมสานศาสตร์ภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นฐานของศิลปวัฒนธรรมและการแพทย์พื้นบ้าน KM ที่มาจาก Khed Mon จึงคล้ายว่าเป็นคุณค่าและความหมายเดียวกันกับ Knowledge Management

ไผ่พาสเทล โมคลาน ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เป็นมากกว่าเครื่องจักสาน

ไผ่พาสเทล โมคลาน

โมคลาน” เป็นตำบลหนึ่งในอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพื้นที่ทอดตัวไปในแนวเหนือ-ใต้ ขนานไปกับชายฝั่งทะเลตะวันออก มีภูมิประเทศตั้งอยู่บนสันทรายระหว่างเทือกเขานครศรีธรรมราชและทะเลอ่าวไทย ทำให้ทั้งดินและน้ำอุดมสมบูรณ์เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงทั้งผู้คน สรรพสัตว์ และพืชพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ต้นไผ่” ซึ่งเป็นไม้ชั้นดีที่ต่างก็ยอมรับกันในเรื่องคุณภาพ ตั้งแต่หน่อไม้ถึงปลายลำ ถูกนำมาใช้สอยได้นานาประโยชน์ ไผ่ดีด้วยดินดี น้ำดี ดังกล่าวแล้วว่าโมคลานตั้งอยู่บนสันทรายอันอุดมสมบูรณ์ “ไผ่” จึงเป็นหนึ่งในห่วงโซ่การเกษตรที่สำคัญบนสันทรายนี้

โมคลานมีปราชญ์ท้องถิ่นคนสำคัญอย่าง “นายกิบหลี หมาดจิ” หรือ “ป๊ะกิบหลี” ทำให้ “ไผ่” ถูกประดิษฐ์ประดอยด้วยภูมิปัญญาอันสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น กระเชอ ชะลอม กระด้ง กระจาด ตะกร้า เป็นต้น นอกจากการสืบสานงานหัตถกรรมเหล่านี้แล้ว ป๊ะกิบหลียังพัฒนาฝีมือด้วยการประยุกต์สานกระบอกใส่แก้วน้ำแบบพกพา โคมไฟ และอีกสารพัด สุดแต่จะได้รับออเดอร์ คล้ายกับว่าทั้งผู้ทำและผู้ใช้ต่างก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์

มากไปกว่าการเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน ป๊ะกิบหลี ยังเปิดบ้านเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ของชุมชนและต้อนรับนักท่องเที่ยว เหมาะสำหรับใครที่กำลังมองหากิจกรรมสำหรับครอบครัวด้วยงาน DIY Handicraft ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ให้เด็กๆ ร่วมกันออกแบบบรรจุภัณฑ์สร้างสรรค์ของครอบครัว แถมยังฝึกทักษะการคิดเชื่อมโยง ทีมเวิร์ค และสมาธิหลักสูตรระยะสั้นกันได้ภายในระยะเวลา 1 วันก็ได้เลยทีเดียว

ไผ่จากป่า มาสู่งานฝีมือ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ความโดดเด่นจากการไล่สีของเปลือกไผ่ทำให้ได้โทนพาสเทลแบบออแกนิก ปลอดภัยสำหรับการใช้สอยที่ต้องสัมผัสกับอาหาร แถมยังได้ชื่นชมกับคุณค่าจากสีธรรมชาติของตอกไผ่บนผลิตภัณฑ์พื้นถิ่น ของที่นี่โมคลาน…

10 ร้านอาหารแนะนำ เมื่อมาเยือนเมืองคอน

มาเยือนดินแดนถิ่นใต้อย่าง “นครศรีธรรมราช” ทั้งที อยากจะหาของอร่อย อร่อย รับประทานซะหน่อย แล้วจะไปร้านไหนดีล่ะ

 

1. โกปี้ นครศรีธรรมราช



ข้อมูล : โกปี้ ร้านดังประจำเมืองคอน ร้านอาหารตกแต่งเรียบง่าย ลักษณะเป็นห้องโถงกว้างเปิดโล่ง เน้นสไตล์คลาสสิค มีต้นไม้ และรูปภาพประดับตามผนังดูแปลกตา ภาพส่วนใหญ่เป็นภาพเมื่อครั้งอดีตของจัวหวัดแห่งนี้ ไปจนถึงภาพในสมัยโบราณอื่นๆ ร้านบรรยากาศดี อาหารอร่อย การบริการเป็นกันเอง

ที่ตั้ง : 89/170-172 อาคาร ด้านหลังห้างโรบินสันโอเชี่ยน ถนนพัฒนาการ-คูขวาง ตำบลคลัง อำเภอเมือง นครศรีธรรมราช

โทรศัพท์ : 075-317-574

เวลาเปิด-ปิด : เปิดบริการทุกวัน เวลา 06.30-16.30น. และ 17.00-22.00 น.

การเดินทาง : ใช้ถนนพัฒนาการคูขวาง ตรงไปบริเวณด้านหลังห้างโรบินสันโอเชี่ยน

เมนูนี้ PaiNaiDii แนะนำ : บะกุ๊ดเต๋ ขาหมู กระดูกหมูอบ ชาเย็น โกปี๊ชิโน่

2. ตังเกีย แต่เตี้ยม นครศรีธรรมราช



ข้อมูล : ตังเกี๋ย แต่เตี้ยม ร้านติ่มซำ ที่เลื่องชื่อของเมืองคอน เปิดขายมาอย่างยาวนาน ร้านตกแต่งเรียบเรียบ กว้างขวาง ร้านมีขนาดใหญ่เป็นลักษณะห้องแถว 3 คูหา หน้าร้านจะมีตู้กระจกขนาดใหญ่ให้ลูกค้าได้ติ่มซำที่มีมากกว่า 50 เมนู นอกจากนี้ยังรับสั่งทำขนมจีบและซาลาเปาและซื้อกลับบ้านเป็นของฝากได้ด้วย

ที่ตั้ง : 148,150,152 ซอยวันดีโฆษิตกุลพร อาคาร หมู่บ้านเมืองทอง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช

โทรศัพท์ : 075-432-119, 089-195-9398

เวลาเปิด-ปิด : 06.00 – 11.00 น.

การเดินทาง : ใช้ถนนพัฒนาการคูขวาง เลี้ยวเข้าหมู่บ้านเมืองทองโดยใช้ถนนวันดีโฆษิตกุลพร

เมนูนี้ PaiNaiDii แนะนำ : ขนมจีบ, ฮะเก๋า, ซาลาเปา, ฝันโก๋, ขาไก่ตุ๋น, ซี่โครงหมู, เต้าซี่, เผือกทอด, ห้อยจ้อ, แฮ่กึ๊น โจ๊กหมู, โจ๊กปลา, บะหมี่เบตง, บะกุ๊ดเต๋ และข้าวยำปักษ์ใต้

3. โรตีป้าหนอม นครศรีธรรมราช



ข้อมูล : โรตีป้าหนอม เป็นร้านน้ำชายามค่ำคืนในจังหวัดนครศรีธรรมราช เหมาะกับลูกค้าที่ชอบนั่งทานกันแบบสบายและกันเอง มีชา,กาแฟ และเครื่องดื่มหลากหลายเมนู เน้น โรตีที่หลากหลายชนิด ปัจจุบันนี้เปิดหลายสาขาแล้วทั่วเมือง

ที่ตั้ง : ถนนประตูลอด ตำบลในเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช 80000

โทรศัพท์ : 080-521-2913

เวลาเปิด-ปิด : 15:30 – 23:00 น.

เมนูนี้ PaiNaiDii แนะนำ : โรตีทิชชู, โรตีมะตะบะ, โรตีกล้วย, โรตีสังขยาใบเตย, โรตีโอวัลติน, โรตีชอกโกแลต

4. ชาวเรือ นครศรีธรรมราช


ข้อมูล : โรตีป้าหนอม เป็นร้านน้ำชายามค่ำคืนในจังหวัดนครศรีธรรมราช เหมาะกับลูกค้าที่ชอบนั่งทานกันแบบสบายและกันเอง มีชา,กาแฟ และเครื่องดื่มหลากหลายเมนู เน้น โรตีที่หลากหลายชนิด ปัจจุบันนี้เปิดหลายสาขาแล้วทั่วเมือง

ที่ตั้ง : ถนนประตูลอด ตำบลในเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช 80000

โทรศัพท์ : 080-521-2913

เวลาเปิด-ปิด : 15:30 – 23:00 น.

เมนูนี้ PaiNaiDii แนะนำ : โรตีทิชชู, โรตีมะตะบะ, โรตีกล้วย, โรตีสังขยาใบเตย, โรตีโอวัลติน, โรตีชอกโกแลต

5. ครัวอันดามัน นครศรีธรรมราช


ข้อมูล : ครัวอันดามัน ร้านอาหารขนาดใหญ่บนพื้นที่กว่า 5 ไร่ ครัวสำหรับชาวนคร และเป็นร้านอาหาร ที่พร้อมที่สุดสำหรับการต้อนรับ แขกบ้านแขกเมือง และนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเมืองนครศรีธรรมราช เพราะร้านบรรยากาศดี อาหารอร่อย จึงมีลูกค้าแวะเวียนอย่างไม่ขาดสาย อีกทั้งร้านกว้างขวางสามารถรองรับงานจัดเลี้ยงได้อย่างไม่มีปัญหา

ที่ตั้ง : 6/1 หมู่ 2 ถ.เฉลิมพระเกียรติ ต.ปากนคร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช 80000

โทรศัพท์ : 075-347254-5

เวลาเปิด-ปิด : 09.00 – 22.00 น.

การเดินทาง : จากโลตัส นครศรีธรรมราช ผ่านร้านอาหารโรงเหล้าแสงจันทร์ เจอสะพานแรกให้เลี้ยวขวาเข้าซอยวัดโบสถ์ ประมาณ 500 เมตร จะเห็นภัตตาคารครัวอันดามัน อยู่ด้านซ้ายมือ

เมนูนี้ PaiNaiDii แนะนำ : สาหร่ายอันดามัน น้ำพริกกุ้งเสียบ เมนูเผ็ดจัดจ้าน คั่วกลิ้งหมู กุ้งซอส มะขาม, ปลาสำลีสามน้ำ, ต้มกะทิผักเหนียง, น้ำพริกกุ้งเสียบ, ห่อหมกขนมครก, กุ้งหรรษา

6. ครัวนายหนัง นครศรีธรรมราช



ข้อมูล : ครัวนายหนัง ร้านอาหารที่สร้างความบันเทิงด้วยเวทีหนังตะลุงขนาดย่อมไว้ในร้าน กับการแสดงมอบความบันเทิงให้ลูกค้าในทุกค่ำคืนอย่างได้อรรถรส ส่วนใหญ่การแสดงจะเริ่มตอนประมาณหนึ่งทุ่มโดยการพากษ์สดพร้อมกับนายหนังและวงดนตรีพื้นบ้าน บางครั้งแทรกด้วยการเปิดวีซีดีจากแผ่น แล้วใช้เด็กนายหนังตัวน้อยทำหน้าที่เชิดหุ่นไปตามเสียงร้องแล้วแต่โอกาส ร้านตกแต่งสวยงาม บรรยากาสดี อาหารอร่อย

ที่ตั้ง : 116 ซอย ชูศิลป์ ถนนพัฒนาการคูขวาง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง นครศรีธรรมราช

โทรศัพท์ : 081-728-5088, 081-893-5625

เวลาเปิด-ปิด : เปิดสองช่วงคือ 11 .00 น. และ18.00 น

การเดินทาง : ใช้ถนนพัฒนาการคูขวาง อยู่ตรงสี่แยกประตูลอด

เมนูนี้ PaiNaiDii แนะนำ : คั่วกะทิปลาดุกนา, คั่วกลิ้งหมู, เนื้อ, ไก่รสเผ็ดถึงเครื่อง, ไก่บ้านต้มแมงดา

7. ข้าวปั้น นครศรีธรรมราช

ข้อมูล : ข้าวปั้น เป็นอีกร้านที่ถูกใจชาวเมืองคอน เป็นอย่าง เป็นร้านนั่งสบายๆ บรรยากาศดี อาหารอร่อย

ที่ตั้ง : 30/293-294 หมู่บ้านราชพฤกษ์ ถนนพัฒนาการคูขวาง ต.ปากนคร จ.นครศรีธรรมราช

โทรศัพท์ : 075-318-803

เวลาเปิด-ปิด : 11:00-22:00

การเดินทาง : ใช้ถนนพัฒนาการคูขวาง อยู่ตรงข้ามกับห้างโรบินสัน โอเชี่ยน เข้าไปทางเข้าหมู่บ้านนิดนึง อยู่ฝั่งซ้ายมือ

เมนูนี้ PaiNaiDii แนะนำ : ไก่ทอด, กุ้งทอดแกงเขียวหวาน, ซูชิ, ต้มแซ่บกระดูกอ่อน, ยำทะเล

8. ท่าศาลา ซีฟู้ด นครศรีธรรมราช



ข้อมูล : ร้านอาหารท่าศาลา ซีฟู้ด เป็นร้านอาหารขึ้นชื่อร้านหนึ่งของอำเภอท่าศาลา นครศรีธรรมราช ร้านตกแต่งเรียบง่าย เน้นบรรยากาศเป็นกันเอง มาที่นี่พลาดไม่ได้เลยกับอาหารซีฟู้ด เมนูยอดนิยมของที่นี่ โดยเน้นอาหารทะเลสดๆ และน้ำจิ้มรสชาติจัดจ้าน

ที่ตั้ง : ซอย 401 (อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช) ท่าศาลา นครศรีธรรมราช

โทรศัพท์ : 075-521-222, 075-521-744

เวลาเปิด-ปิด : 10.00-22.00 น.

การเดินทาง : ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 401 เดินทางมาที่อำเภอท่าศาลา

เมนูนี้ PaiNaiDii แนะนำ : ปูม้านึ่ง , กุ้งทอดพริกเกลือ , ปลาอินทรีย์ทอดซีอิ๊ว , หอยตลับต้ม, ยำกุ้งสด

9. ขนมจีน เมืองคอน นครศรีธรรมราช

ข้อมูล : ร้านขนมจีนเมืองคอน เป็นร้านขนมจีนขึ้นชื่อของจังหวัดนครศรีธรรมราช อาหารขึ้นชื่อจะเน้นไปที่ขนมจีนที่มีน้ำยาต่างๆให้เลือกมากมาย รวมไปจนถึงอาหารคาวต่างๆด้วย ร้านบรรยากาศดี เน้นการบริการที่เป็นกันเอง

ที่ตั้ง : 23 ซอยพานยม ตำบลในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช

โทรศัพท์ : 075-342-615

เวลาเปิด-ปิด : 8.00-15.30 น.

การเดินทาง : ใช้ถนนราชดำเนิน เส้นทางที่มุ่งหน้าไปสี่แยกหัวถนน ให้ขับรถเลยศาลากลางจังหวัดนครศรีฯ ไปประมาณ 700 เมตร จะพบซอยพานยมอยู่ด้านซ้ายมือครับ

เมนูนี้ PaiNaiDii แนะนำ : ขนมจีน แกงเขียวหวานไก่,น้ำพริก,แกงไตปลา,น้ำแกงปักษ์ใต้แบบใส่กะทิ และแกงป่า

10. เรือนผักกูด นครศรีธรรมราช



ข้อมูล : เรือนผักกูด บริการอาหาร และเครื่องดื่ม จากพืชผักดอกไม้ธรรมชาติ ร้านตั้งอยู่ริมธารน้ำตก อากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามแนวพระราชดำริ เศษฐกิจพอเพียง ร้านใหญ่กว้างขวาง ตกแต่งสวยงาม เน้นการบริการที่เป็นกันเอง

ที่ตั้ง : ถนนนครศรีธรรมราช – จันดี สาย 4015 หลักกิโลเมตรที่ 27 เลขที่ 23/1 ม.14 ต.ช้างกลาง อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช 80250

โทรศัพท์ : 081-1243214

เวลาเปิด-ปิด : เปิดให้บริการทุกวัน

การเดินทาง : ใช้ถนนนครศรีธรรมราช – จันดี สาย 4015

เมนูนี้ PaiNaiDii แนะนำ : ยำสมุนไพร, ยำผักกูด, ลาบผักแว่นคอหมูย่าง, ลาบปลาช่อน, ไข่เจียวบ้านนา, น้ำพริกดาหลา

แหล่งที่มา http://www.painaidii.com/diary/diary-detail/001492/lang/th/