ฅนต้นแบบเมืองนคร คุณนนทิวรรธน์ นนทภักดิ์ ประธานกรรมการ มูลนิธินครอาสา

            ปากพนัง เมืองแห่งวิถีชีวิตชาวประมง อดีตเมืองท่าที่สำคัญของเมืองนครศรีธรรมราช ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นศูนย์กลางของความเจริญแห่งหนึ่งของภาคใต้ ปากพนังถูกแบ่งออกเป็นฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกตามลำน้ำปากพนังที่ไหลผ่าน ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนและเป็นเส้นทางคมนาคม เมื่อความรุ่งเรืองในอดีตค่อยๆ เลือนลางสวนทางกับเวลาที่ดำเนินไปเรื่อยๆ จนมาถึงจุดที่ทำให้เรารู้สึกว่าเศษเสี้ยวหนึ่งในอดีตยังคงหลงเหลืออยู่  และควรค่าแก่การอนุรักษ์ อยากที่จะทำบางอย่างเพื่อเป็นการช่วยเหลือชุมชน เช่นเดียวกับฅนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ คุณนนทิวรรธน์ นนทภักดิ์ ประธานกรรมการมูลนิธินครอาสา กับงานต้นแบบ “นครเกษตรกรรม ร่วมสร้างฐานความสุข ลุ่มน้ำปากพนัง”

จากร่องรอยในอดีต สะท้อนให้เห็นถึงยุคเฟื่องฟูของลุ่มน้ำปากพนัง

            ในอดีตลุ่มน้ำปากพนัง มีความอุดมสมบูรณ์ทางเกษตรกรรม เป็นเมืองท่าที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองนครศรีธรรมราช เปรียบเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำของภาคใต้ แต่เดิม “ลุ่มน้ำปากพนัง” ประกอบด้วย 7 อำเภอ คือ ปากพนัง เชียรใหญ่ หัวไทร ชะอวด เฉลิมพระเกียรติ จุฬาภรณ์ และร่อนพิบูลย์ กลุ่มลุ่มน้ำปากพนังใช้ประโยชน์จากแม่น้ำร่วมกัน ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาบรรทัด ในเขตอำเภอวังอ่าง อำเภอชะอวด ไหลผ่านอำเภอเชียรใหญ่ อ.ปากพนัง ลงสู่อ่าวไทยบริเวณลุ่มน้ำปากพนัง แหลมตะลุมพุก เป็นบริเวณที่มีการติดต่อค้าขายกับต่างชาติ

นักเดินเรือมักจะเดินทางหลบคลื่นลมทะเลอยู่บริเวณหมู่เกาะกระ ก่อนจะเทียบท่าที่ปากพนัง หนึ่งในคู่ค้าสำคัญของนครศรีธรรมราชคือ ชาวจีน ที่ไม่เพียงมีบทบาททางการค้าเท่านั้น แต่ยังมีความสัมพันธ์กับการตั้งถิ่นฐานและชุมชนหลายแห่งในเมืองนคร ปัจจุบันข้าวของเครื่องใช้ ร่องรอยเรื่องราวต่างๆ ของเหตุการณ์ในอดีต ถูกจัดเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดศรีสมบูรณ์ (วัดหอยราก พ่อท่านเจิม)  อีกหนึ่งหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ แสดงให้เห็นถึงยุคทำนาข้าวอันรุ่งโรจน์ของปากพนังคือ โรงสีข้าว (โรงสีไฟ) จำนวนมากถึง 14 โรง  “โรงสีเตาเส็ง” เป็นโรงสีแรกของ​ปากพนัง ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาทรงเปิดกิจการ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2448  

เพราะทรัพยากรธรรมชาติเป็นปัจจัยเบื้องต้นในการกำหนดวิถีชีวิตมนุษย์

            ไม่มีอะไรยั่งยืนและคงอยู่ได้ตลอดไป ในอดีตที่ครั้งหนึ่ง พื้นที่แห่งนี้เคยมีความเจริญรุ่งโรจน์มาก ผลผลิตข้าวในอำเภอนี้เคยเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ สร้างรายได้จำนวนมาก เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนผ่านในแต่ละยุคสมัย สิ่งแวดล้อมก็เปลี่ยนแปลงไปตามเช่นกัน กิจการโรงสีไฟที่เคยรุ่งเรืองในอดีต เหลือเพียงซากปล่องไฟที่ตั้งตระหง่านไว้เป็นอนุสรณ์แห่งความภาคภูมิใจ

ด้วยความที่ทำเลที่ตั้งของลุ่มน้ำปากพนัง อยู่บริเวณปากอ่าวของแหลมตะลุมพุก ทำให้มีน้ำทะเลรุกล้ำเข้าไป พื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ของปากพนังที่เคยปลูกข้าวได้จึงได้รับผลกระทบ เปลี่ยนสภาพไปเป็นนากุ้ง จนเกิดเป็นยุคที่การทำนากุ้งเฟื่องฟู แต่ก็มีชาวบ้านบางส่วนที่หันไปประกอบอาชีพทำการประมง จนมาถึงในสมัยรัชกาลที่ 9 พระองค์มีพระราชดำริในการสร้างประตูระบายน้ำ “โครงการอุทกวิภาชประสิทธิ” เพื่อช่วยเหลือบรรเทา ความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ช่วยแก้ปัญหาน้ำเค็ม น้ำท่วม น้ำแล้ง ทำให้ความเจริญรุ่งเรืองเกี่ยวกับการทำเกษตรเริ่มกลับมา

แรงบันดาลใจในการเริ่มต้นทำมูลนิธินครอาสา

            คุณนนทิวรรธน์ นนทภักดิ์ ลูกหลานชาวนคร อ.ปากพนัง ซึมซับการทำงานสายการเมืองและจิตอาสามาจากบิดาที่เคยเป็นอดีตเทศมนตรีเทศบาลเมืองปากพนัง หลังจากจบการศึกษาในวัย 25 ปี ได้มีโอกาสเข้าสู่การเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองปากพนัง จากนั้นได้ขึ้นมาเป็นรองนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองปากพนัง คลุกคลีอยู่ในแวดวงการเมืองหลายสิบปี นอกจากมุมการเมือง อีกมุมหนึ่งคุณนนทิวรรธน์ได้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ มูลนิธินครอาสา  ที่ผ่านมาได้ทำหลากหลายกิจกรรมร่วมกับชาวนครศรีฯ ทั้งกิจกรรมทางพุทธศาสนาและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่น 

            มูลนิธินครอาสา ก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ. 2557 โดยกลุ่มคนหนุ่มสาวในพื้นที่ตลาดปากพนัง เพื่อทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ช่วยเหลือสังคม ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระราชทานโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อความกินดีอยู่ดีของราษฎรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังและพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาเรื่องน้ำ และความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ในช่วงที่กระแสการปั่นจักรยานกำลังถูกพูดถึงอย่างมาก ทางมูลนิธิได้จัดกิจกรรม “ปั่นจักรยานบ้านพ่อ สู่อ้อมกอดแม่” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนและส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เมืองปากพนัง กิจกรรมนี้ดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557  และจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี ยกเว้นในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19    

งานต้นแบบ นครเกษตรกรรม ร่วมสร้างฐานความสุข ลุ่มน้ำปากพนัง

            คุณนนทิวรรธน์ได้นำเอาคำสอนตามหลักศาสนาพุทธที่ตัวเองนับถือ มาเป็นตัวตั้งในการดำเนินชีวิตและการทำงาน อยากให้ทุกคนร่วมกันสร้างฐานความสุขจากการประกอบอาชีพในท้องถิ่นของตนเอง อยากเห็นนครศรีธรรมราชเป็นนครเกษตรกรรม เพราะลุ่มน้ำปากพนังที่มีพื้นที่ในการทำเกษตร ปัจจุบันมีการปลูกข้าวกันเยอะขึ้น มีข้าวสายพันธุ์ท้องถิ่นที่น่าสนใจ ในอดีตเกษตรกรมีข้อจำกัดในเรื่องต้นทุนที่จะใช้ในการพัฒนาแปลงเกษตร แต่ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต อย่างที่อำเภอหัวไทร เกษตรกรใช้โดรนในการฉีดพ่นยาแทนการใช้แรงงานคน ช่วยประหยัดเวลา ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในระยะยาว และลดการสูญเสียผลผลิต อย่างส้มโอทับทิมสยาม อีกหนึ่งความภูมิใจของคนลุ่มน้ำปากพนัง แม้ไม่ใช่พันธุ์ส้มโอดั้งเดิมในพื้นที่อำเภอปากพนัง  แต่ก็กลายเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัดนครศรีธรรมราชที่มีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ

            เมื่อเรามองย้อนไปในอดีตก็จะเจอร่องรอยที่คนรุ่นเก่าได้สร้างไว้ เรื่องราวของชาวลุ่มน้ำปากพนังแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่ต้องปรับตัวไปตามการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ แม้ในช่วงที่เผชิญปัญหา แต่เมื่อได้รับการแก้ไข และเรียนรู้เพื่อพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม ไม่เพียงเป็นการสร้างฐานความมั่นคงต่อการดำรงชีวิตเท่านั้น ยังเป็นการสร้างฐานความสุขให้กับตัวเองและชุมชนเช่นกัน  

ฅนต้นแบบเมืองนคร อ.พัชรี สุเมโธกุล พัฒนาชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยว

 

ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สั่งสมและถ่ายทอดสืบต่อกันมา เมื่อนำมาผสมผสานกับความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ปรับให้เข้ากับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ไม่เพียงแต่พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนเท่านั้น แต่สามารถนำเอาทรัพยากรท้องถิ่นมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้อย่างน่าเหลือเชื่อ ส่งเสริมให้ชุมชนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่มีความน่าสนใจ ใครกันจะเป็นผู้ที่มองเห็น เข้าใจและเข้าถึงวิถีชีวิตชุมชน ผลักดันองค์ความรู้ชาวบ้านผ่านกระบวนการสร้างมูลค่าออกสู่ตลาดสากล ทางเรารู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะแนะนำให้ทุกท่านรู้จักกับผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของหลายโครงการชุมชนท้องถิ่น บุคคลที่เป็นฅนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ อาจารย์พัชรี สุเมโธกุล  

เริ่มต้นจากงานอาสาสมัครสู่งานพัฒนาชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยว

            ก่อนที่จะมาเป็นหัวหน้าโครงการพัฒนาชุมชน อาจารย์พัชรีย์มีความฝันอยากเป็นนักข่าว ชื่นชอบศาสตร์ด้านการเขียน จบปริญาตรีครุศาสตร์บัณฑิต สาขาอุตสาหกรรมศิลป์ ปริญญาโท ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ปริญญาเอก tourism management and hospitality

ปัจจุบันท่านเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ อาจารย์ทำงานด้านส่งเสริมพัฒนาชุมชนมาเป็นเวลา 12 ปี  พื้นเพเดิมอาจารย์เป็นคนสตูล เนื่องจากทางบ้านทำงานด้านการท่องเที่ยวชุมชน จึงมีความรู้เกี่ยวกับข้อมูลท้องถิ่น อาจารย์ทำงานเชิงพื้นที่เป็นอาสาสมัครช่วยเครือข่ายท้องถิ่นจังหวัดสตูล ควบคู่กับงานด้านวัฒนธรรม จนได้มีโอกาสช่วยราชการกองทัพภาค 4 ร่วมพัฒนาท้องถิ่นตามชายแดนภาคใต้ใน 7 จังหวัด ซึ่งทำร่วมกับนักศึกษา อยากที่จะใช้องค์ความรู้ของตัวเองและนักศึกษา เข้าไปพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง

อย่างกลุ่มรัฐวิสาหกิจชุมชนในปัจจุบัน ซึ่งเมื่อก่อนเป็นแค่ชมรม กลุ่มอาชีพในชุมชน  ก็ผลักดันให้กลุ่มเหล่านี้พัฒนาตัวเองและเป็นที่รู้จักมากขึ้น  อาจารย์มีความคิดว่าถ้าต้องการพัฒนาด้านนี้อย่างจริงจัง สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การเข้าถึงพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เข้าไปพูดคุยกับผู้คนในชุมชน สอบถามเกี่ยวกับวิถีชีวิต ปัญหาที่พวกเขาพบซึ่งกระทบต่อการดำรงชีพ  เมื่อเก็บข้อมูลมากพอแล้วจึงใช้งานวิจัยเป็นตัวขับเคลื่อน

เพราะแต่ละชุมชนมีต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมต่างกัน

            ก่อนที่จะเข้าถึงชุมชน ต้องเข้าใจในความต่างของแต่ละชุมชนก่อน เพราะบางพื้นที่ไม่ได้มีแหล่งท่องเที่ยว ต้องดูบริบทของแต่ละพื้นที่ว่า พื้นที่ไหนควรจะใช้ผลิตภัณฑ์นำการท่องเที่ยว หรือใช้การท่องเที่ยวนำผลิตภัณฑ์ บางชุมชนสามารถจัดสรรในสัดส่วนที่เท่ากันได้ ยกตัวอย่างกรณีศึกษา วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวป่าชายเลนบ้านแหลมโฮมสเตย์ อำเภอท่าศาลา เป็นชุมชนแรกที่อาจารย์เข้าไปเป็นที่ปรึกษาถึง 8 ปี ในฐานะวิทยากรของกรมการท่องเที่ยว แม้สภาพแวดล้อมของชุมชนในตอนนั้นไม่เหมาะที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยว และยังได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเกี่ยวกับยาเสพติดสูงอีกด้วย แต่อาจารย์ก็เห็นถึงพลังการร่วมมือของผู้คนในชุมชน

แม้ว่าครั้งแรกที่เปิดเวทีเสวนามีชาวบ้านมานั่งฟังแค่ 4 คน แต่หลังจากนั้นชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี สิ่งที่อาจารย์ให้ความสนใจคือ ชาวบ้านทำการประมงจับปลาได้ในปริมาณที่เยอะมาก แต่ไม่สามารถจัดการกับจำนวนปลาที่เหลือจากการบริโภคและจำหน่ายในพื้นที่ได้ นอกจากนำไปแปรรูปเป็นปลาเค็มเพียงอย่างเดียว แม้พยายามจะอธิบายถึงแนวทางการแก้ปัญหา แต่ในตอนนั้นชาวบ้านก็ไม่เข้าใจในสิ่งที่อาจารย์กำลังจะทำ เป็นระยะเวลาถึง 4 ปีที่อาจารย์เก็บรวมรวบข้อมูล เพื่อขอทำวิจัยให้ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพราะชาวบ้านที่นั้นรักป่าชายเลนมาก

โปรเจคแรกคือ ปลูกป่าสปาโคลน มีการส่งผลงานเข้าประกวดและได้รับรางวัลกลับมา ทำให้ชุมชนเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น เมื่อเข้าสู่ปีที่ 5 อาจารย์ได้ทำเรื่องของบวิจัย เพื่อยกระดับเป็นโมเดลบ้านแหลมโฮมสเตย์ เพื่อเป็นชุมชนต้นแบบของประเทศ ผลิตภัณฑ์ของที่นี่คือ ใบโกงกางทอด โลชั่นใบโกงกาง และชาใบโกงกาง ซึ่งผลิตภัณฑ์ทุกตัวของชุมชนบ้านแหลมมีงานวิจัยรองรับและผ่านการทดสอบทางวิทยาศาสตร์

ทำให้ชื่อเสียงของชุมชนโด่งดังไกลไปถึงระดับโลก จนสำนักข่าว CNN มาขอสัมภาษณ์ถึงชุมชน หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนแห่งนี้คือ โคลนจากป่าชายเลน เนื้อโคลนสีดำละเอียดที่อยู่ลึกลงไปจากผิวดินกว่า 1 ฟุต นำมาผ่านกระบวนการวิจัยเพื่อรับรองว่าไม่มีสารตกค้าง ผลิตภัณฑ์มาสก์โคลน ได้รับรางวัลผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยมอันดับหนึ่งของประเทศ ที่น่าภาคภูมิใจคือ สินค้ามีการนำไปจำหน่ายในต่างประเทศ ในปัจจุบันการจัดจำหน่ายสินค้าดำเนินการโดยชุมชน มีช่องทางการขายเป็นของตนเอง

ค้นหาอัตลักษณ์ ก่อนที่จะถอดอัตลักษณ์

            ก่อนที่จะนำเสนอและสร้างโปรเจคขึ้นมา ต้องทำให้คนในชุมชนมองเห็นภาพและเข้าใจก่อน การทำงานเพื่อชุมชน ไม่ต้องคิดไปก่อนว่าจะเอาโปรเจคอะไรไปนำเสนอชุมชน อย่าไปคิดแทนชาวบ้าน แค่พาตัวเองเข้าไปอยู่ในชุมชนในฐานะที่ปรึกษา แน่นอนว่าการที่จู่ๆ มีคนแปลกหน้าเข้าไปคลุกคลี สอบถามข้อมูล พูดคุยกับชาวบ้านในชุมชนนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ยิ่งถ้าไปยัดเยียดความคิดของตัวเองให้ชาวบ้าน อาจเกิดข้อโต้แย้งได้ ต้องเปิดใจรับฟัง เรียนรู้ และมีความบริสุทธิ์ใจ

เรื่องนี้ถือเป็นความตั้งใจเบื้องต้นของอาจารย์ การเข้าไปในฐานะที่ปรึกษา ต้องค้นหาเพื่อให้เข้าใจและเข้าถึงในสิ่งที่ชุมชนเป็น เพราะมุมมองแต่ละคนต่างกัน นักวิชาการอยากให้เพิ่มมูลค่าสินค้า แต่ชาวบ้านบางคนอาจไม่สนใจ เพราะพึงพอใจกับวิถีชีวิตนี้อยู่แล้ว และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องให้เกียรติชุมชนที่เราเข้าไป ให้เกียรติชาวบ้านในฐานะคณะกรรมการดำเนินงาน หรือผู้ช่วยนักวิจัยชุมชน เพราะพวกเขาคือ เจ้าขององค์ความรู้ นักวิชาการมีหน้าที่แค่นำเอาทฤษฎี เครื่องมือต่างๆ เข้าไปช่วยเหลือในการพัฒนาชุมชน

            อย่างบางชุมชนมีทรัพยากรทางธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ประเด็นคือ สถานที่ท่องเที่ยวหรือผลิตภัณฑ์ใดที่เป็นจุดเด่นของชุมชน บางสิ่งที่ชุมชนนำเสนอไป นักท่องเที่ยวอาจไม่ต้องการก็ได้ หน้าที่ของนักวิชาการคือ ต้องค้นหาสิ่งนั้นให้เจอ ก่อนที่จะนำมาพัฒนาต่อยอด เพื่อผลิตสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ท้องถิ่น สำคัญคือ อย่าสร้างความหวังให้ชุมชน เพราะสิ่งที่กำลังทำคือต้นแบบเพื่อที่จะพัฒนาต่อ ต้องอธิบายให้คนในชุมชนเข้าใจถึงเป้าหมายแต่ละขั้น

ยกตัวอย่าง โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มี 2 ชุมชนที่ในตอนนี้อาจารย์เข้าไปดูแล คือ ชุมชนท่าดี อ. ลานสกา ซึ่งอาจารย์สนใจผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับผักกูดและแตงโม และชุมชนขอนหาด อ. ชะอวด เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงหัตถกรรมชุมชน ที่ให้ทุกครัวเรือนเป็นฐานการเรียนรู้ เน้นพัฒนากลุ่มอาชีพOTOP และผู้ประกอบการท้องถิ่น ในสองชุมชนนี้อาจารย์เน้นในเรื่องผลิตภัณฑ์นำการท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ที่ชาวบ้านสร้างขึ้นต้องเกิดประโยชน์กับพวกเขา

ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนบนพื้นฐานองค์ความรู้ที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

            หนึ่งในเป้าหมายพัฒนาเครือข่ายชุมชน นอกจากผลิตสินค้าและบริการการท่องเที่ยวบนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ งานวิจัย การสร้างสรรค์งาน ที่เชื่อมโยงกับรากฐานทางวัฒนธรรมท้องถิ่นแล้ว สินค้าทุกชนิดต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด เพิ่มโอกาสขายในระดับสากล และขายได้ในราคาที่สูงขึ้น ซึ่งในตอนนี้ทางโครงการกำลังดำเนินการอยู่  แน่นอนว่าเบื้องหลังการพัฒนาชุมชน และส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่วนหนึ่งมาจากทีมงานที่ต้องเข้าใจและมองเห็นในสิ่งเดียวกัน

เกณฑ์ในการคัดเลือกทีมงานของอาจารย์ เน้นในเรื่องการปรับตัวเข้าหาชาวบ้าน เพื่อการเข้าถึงชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ต้องยอมรับในกฎกติกาของชุมชน ทีมงานโครงการมีทั้งฝ่ายการตลาด เทคโนโลยีและอุตสาหกรรม ฝ่ายการจัดการ ฝ่ายบัญชี การท่องเที่ยว มาตรฐานผลิตภัณฑ์ และฝ่ายดูแลมาตรฐานการส่งออก หลังจบงานวิจัยของแต่ละชุมชน ทางทีมงานจะทำหน้าที่เป็นโค้ชคอยช่วยเหลืออยู่เบื้องหลัง

เป้าหมายหลักของโครงการคือ ชุมชนที่ได้เข้าไปพัฒนาแล้วต้องยืนได้ด้วยตัวเอง เมื่อไหร่ก็ตามที่สามารถพัฒนาชุมชนให้กลายมาเป็นชุมชนต้นแบบแล้ว พวกเขาต้องทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง เพื่อพาคนอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วม ชุมชนที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเองได้ก็จะเป็นรากฐานในการพาชุมชนอื่นๆ ขับเคลื่อนไปด้วยกัน เกิดการพัฒนาต่อยอดเป็นเครือข่ายชุมชนที่แข็งแกร่ง

ไม่ว่าอาจารย์จะไปพื้นไหนก็ต้องเข้าให้ถึงหัวใจของผู้คนในพื้นที่นั้น ดึงเอาคุณค่าและเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ออกมา เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าจากองค์ความรู้ที่สั่งสมและส่งผ่านจากรุ่นเก่าสู่รุ่นใหม่ ผสานกับงานวิจัย เทคโนโลยีสมัยใหม่ และความรู้ทางธุรกิจ โครงการนี้จึงไม่แค่พัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมท่องเที่ยวเพื่อยกระดับชุมชนเท่านั้น แต่เป็นการยกระดับจิตวิญญาณ ความคิด ถ่ายทอดความเป็นชุมชนออกมาได้อย่างงดงามและภาคภูมิใจ

คนต้นแบบเมืองนคร ผู้พันฝายมีชีวิต พันเอกพิเศษ ภัทรชัย แทนขำ

https://youtu.be/LMMrzDBaRLc

            การที่จะมีใครสักคนที่ตั้งปณิธานที่จะทำเพื่อคนอื่นนั้นถือได้ว่าหายากยิ่งในยุคปัจจุบัน  ใครสักคนที่พร้อมจะยึดถือประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้งโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนตน ลงมือให้ความช่วยเหลือโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนเพียงเพื่อแค่ว่าตนเองจะทำประโยชน์ให้ชุมชนได้แค่ไหน และท้ายที่สุดคนอื่นจะได้รับความสุขจากสิ่งที่ทำขนาดไหน หากมีใครสักคนที่สามารถทำได้เช่นนี้ บุคคลผู้นั้นก็น่าจะเป็นต้นแบบที่ควรค่าแก่การทำความรู้จักเป็นอย่างยิ่ง ในวันนี้เราได้มีโอกาสได้ทำความรู้จักกับบุคคลต้นแบบที่ว่าผู้ซึ่งยอมเสียสละประโยชน์ของตนเองและลงมือทำเพื่อคนอื่นจนเป็นที่ประจักษ์แจ้งจนได้รับสมญานามว่าเป็น “ผู้พันฝายมีชีวิต” เราจะมาทำความรู้จักแง่คิดในการทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทนกับบุคคลต้นแบบที่ว่าซึ่งก็คือ “พันเอก(พิเศษ)ภัทรชัย แทนขำ”  

แรงบันดาลใจที่เป็นจุดกำเนิดก็คือความกตัญญูต่อคุณพ่อคุณแม่

            พันเอก(พิเศษ) ภัทรชัย แทนขำ ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งในฝ่ายเสนาธิการของกองทัพภาคที่ 4 ซึ่งในวัยเด็กนั้นผู้พันมีความฝันที่อยากจะเป็นตำรวจตามรอยของคุณพ่อ แต่เมื่อคุณพ่อแนะนำให้ไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารในเหล่าทหารบก ท่านผู้พันก็ลองไปสอบดูและสามารถสอบเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมทหารได้ในที่สุด ผู้พันเล่าว่าในช่วงที่เข้าเรียนใหม่ ๆ ผู้พันเองก็พบเจอกับความเหนื่อยยากและลำบาก แต่ก็สู้กัดฟันทนจนผ่านมาได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะไม่อยากให้คุณพ่อและคุณแม่เสียใจ อยากให้ท่านทั้งสองสบายใจ ภูมิใจ เพราะการสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารในครั้งนี้ถือเป็นความภูมิใจที่ไม่เฉพาะแต่ท่านผู้พันเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความภูมิใจของคุณพ่อคุณแม่ด้วยเช่นกัน ท่านผู้พันจึงถือเป็นความรับผิดชอบต่อความใฝ่ฝันของคุณพ่อคุณแม่และใช้สิ่งนี้เป็นแรงบันดาลใจจนก้าวมาถึงวันนี้

ตามหาความหมายของชีวิตเมื่อได้เข้าสู่แวดวงราชการทหารอย่างเต็มตัว

            ในช่วงที่จบจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าและก้าวออกมาเป็นนายทหารหนุ่มอย่างเต็มตัว ตัวของผู้พันเองก็ยังตามหาตัวตนของตนเองไม่เจอ จึงได้ใช้ชีวิตในช่วงนั้นเป็นดั่งวัยรุ่นทั่วไปคือกินและเที่ยวไปตามปกติ จนกระทั่งเมื่อได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในฐานะผู้นำหน่วยที่ต้องมีผู้ใต้บังคับบัญชาในปกครอง ความคิดของผู้พันก็เปลี่ยนไป เพราะอยากที่จะทำอะไรเพื่อคนอื่น ให้ตนเองสามารถเป็นต้นแบบให้แก่ผู้อื่นได้ ในขณะนั้นกองร้อยที่ท่านผู้พันเข้าประจำการเป็นกองร้อยที่มีเกณฑ์คะแนนที่ต่ำที่สุดในกองพันเดียวกัน ท่านผู้พันจึงใช้ความรู้ ความเป็นผู้นำมาพลิกฟื้นให้กองร้อยนั้นดีดตัวเองจนไปอยู่ในระดับที่สูงของกองพันได้สำเร็จ ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากนิสัยส่วนตัวที่เมื่อได้ลงมือทำอะไรแล้วจะต้องเห็นการเปลี่ยนแปลงและต้องอยู่ในจุดที่สุดยอดเท่านั้น ถ้าเราต้องไปอยู่ในจุดไหนเราต้องทำให้จุดนั้นไปอยู่ในระดับสูงสุดให้ได้

            แต่จุดเปลี่ยนทางความคิดที่สำคัญที่สุดที่เปลี่ยนให้ผู้พันที่เริ่มแรกไม่ได้รู้สึกว่าความเป็นทหารคือตัวตนของตนเองก็คือคำขวัญประจำกองทัพบกซึ่งก็คือ “เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์และประชาชน” ได้หล่อหลอมให้ท่านผู้พันค้นพบตนเอง ค้นพบสิ่งที่เป็นตัวตนของตัวเองซึ่งก็คือการทำเพื่อประชาชน ผู้พันจึงมีการนำกำลังทหารลงไปช่วยเหลือประชาชนอยู่เสมอไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์น้ำท่วม การปลูกป่า หรือแม้แต่การทำความสะอาด เพราะท่านผู้พันเห็นว่าทหารต้องเสียสละ การลงพื้นที่ไปช่วยเหลือประชาชนและเห็นความสุขของประชาชนจากสิ่งที่ตนเองทำจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้พันค้นพบความหมายที่แท้จริงของตัวเองนั่นเอง

งานสาธารณประโยชน์และการสร้างแรงบันดาลใจคือสิ่งที่ผู้พันให้ความใส่ใจมาโดยตลอด

            นับตั้งแต่ค้นพบตัวเอง ท่านผู้พันก็ไม่เคยหยุดทำประโยชน์เพื่อสังคมเลยเพราะครั้งหนึ่งในสมัยที่ดำรงตำแหน่งเป็นผบ.หน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหาร ผู้พันพยามที่จะสร้างและบ่มเพาะนักศึกษาวิชาทหารซึ่งก็คือเยาวชนเหล่านั้นให้มีจิตสาธารณะหรือจิตอาสา มีการจัดตั้งเป็นกลุ่มเป็นชมรมโดยให้เวทีเหล่านั้นให้แก่เยาวชน และผู้พันเป็นผู้ให้การสนับสนุนให้โจทย์และแนะแนวทางซึ่งเยาวชนที่เป็นนักศึกษาวิชาทหารเหล่านั้นก็ต่อยอดความคิดจนเกิดเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ต่าง ๆ และสามารถกลายเป็นแกนหลักให้ชุมชนได้ในอนาคต กิจกรรมจิตอาสาที่ผู้พันได้นำนักศึกษาวิชาทหารเหล่านั้นลงมือทำก็มีตั้งแต่การพัฒนาชุมชน ขุดลอกคูคลอง ปลูกต้นไม้ ทำฝายเป็นต้น

            และเมื่อผู้พันได้มาเป็น ผบ.กองพัน 15ที่ทุ่งสง ผู้พันก็มีแนวความคิดอยากให้หน่วยพัฒนา โดยมุ่งหวังให้ทหารในหน่วยมีความพร้อมในทุกด้าน และสิ่งที่ผู้พันได้ทำนอกเหนือจากการดูแลความพร้อมของกำลังพล ผู้พันยังให้แนวความคิดที่จะดูแลความพร้อมให้กับครอบครัวของกำลังพลเหล่านั้น เพราะท่านผู้พันมีแนวคิดที่ว่าหากกำลังพลได้รับความสบายใจ คนที่อยู่เบื้องหลังมีความสุขย่อมส่งผลดีต่อขวัญและกำลังใจของกำลังพลในหน่วย ผลลัพธ์ที่ได้รับกลับมาคือกำลังพลเหล่านั้นจะกลับมาซัพพอร์ตหน่วยให้สามารถเดินหน้าไปได้อย่างราบรื่นสมดั่งที่ผู้พันต้องการจะให้เป็นนั่นเอง ซึ่งสิ่งที่ท่านผู้พันใช้เป็นหมัดเด็ดมาตลอดก็คือการสร้างแรงบันดาลใจให้กับกำลังพลในหน่วย

 

            แรงบันดาลใจที่ผู้พันสร้างให้กับกำลังพลก็คือเรื่องเล่า คำสอน คำแนะนำการใช้ชีวิตให้กับกำลังพลในหน่วยในยามที่มีการเรียกรวมแถว พยายามอธิบายและปลูกฝังเป้าหมายของการเป็นทหารผ่านการบอกเล่าประสบการณืของตนเอง ช่วยสร้างอาชีพเสริม สร้างรายได้ให้กับกำลังพล แม้ในช่วงแรกจะเป็นการบังคับให้ทำ แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปเมื่อกำลังพลได้รู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นสร้างประโยชน์ต่อพวกเขาอย่างไร ท้ายที่สุดพวกเขาก็จะเต็มใจที่จะทำในที่สุด ในขณะที่กำลังพลรายใดที่อาจจะแตกแถวไปบ้าง ท่านผู้พันก็ไม่เคยใช้วิธีการลงโทษเป็นหลัก แต่มักจะมอบโอกาสให้กำลังพลเหล่านั้นกลับใจ ซึ่งท้ายที่สุดกำลังพลหลายรายก็กลับมาทำงานและทำประโยชน์ให้กับหน่วยได้ในที่สุด

การมีส่วนร่วมในการทำฝายคือจุดกำเนิดสมญานาม “ผู้พันฝายมีชีวิต”

            จุดเริ่มต้นของสมญาผู้พันฝายชีวิตอยู่ที่ครั้งหนึ่งท่านผู้พันได้ไปพบเห็นรูปฝายหน้าตาแปลก ๆใน facebook จึงได้ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาไปหาข้อมูลของฝายชนิดนี้ และจากการลงพื้นที่ทำให้พบว่าฝายที่กำลังสร้างอยู่นั้นต้องการทหารเข้ามาช่วยเหลืออยู่พอดี ท่านผู้พันจึงไม่ลังเลใจที่จะนำทหารลงไปในพื้นที่เพื่อช่วยกันสร้างฝายที่ว่านี้ และที่นี่เองที่ทำให้ท่านผู้พันได้มีโอกาสเห็นความร่วมแรงร่วมใจกันระหว่างทหารและชาวบ้านเพื่อพัฒนาชุมชน ทั้งยังได้เห็นความร่วมมือร่วมใจกันระหว่างพี่น้องชาวไทยพุทธและไทยมุสลิมยังผลให้การสร้างฝายนั้นสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ความประทับใจนี้เองที่ทำให้ท่านผู้พันได้ถือโอกาสเข้าไปพูดคุยกับผู้นำโครงการและเสนอตัวที่จะขอเข้าร่วมโครงการในครั้งต่อ ๆไป

            โดยทางทหารจะเข้าไปตั้งแต่ขั้นตอนการทำความเข้าใจและในขั้นตอนที่ร่วมมือกับชาวบ้านในการสร้างฝาย และต้องเป็นความร่วมมือกันระหว่างทหารและชาวบ้านเท่านั้นไม่ใช่หน้าที่ของทหารเพียงฝ่ายเดียว โครงการนี้เป็นการเชื่อมต่อชุมชนโดยฝายในพื้นที่ 14 จังหวัดจนครบ 106 ฝาย ต่อมาในปลายปี 2558 ทางผู้พันได้จัด “กิจกรรม 100 ใจ 100 ฝายถวายในหลวง” โดยในครั้งนี้มีคนต่างพื้นที่มาร่วมและเป็นจุดกำเนิดการสร้างฝายนอกพื้นที่ภาคใต้เป็นครั้งแรกที่แม่สอด

สร้างฝายด้วยหลักการสู่โครงการที่เล็งประโยชน์ต่อชุมชน

            โครงการฝายมีชีวิตจะยึดหลักการ 3 ประการคือ “การทำความเข้าใจ งบประมาณ และความร่วมมือ” โดยให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนและโดยเฉพาะในขั้นตอนสำคัญอย่างการสร้างฝายที่อาศัยความร่วมมือร่วมใจตั้งแต่การหาอุปกรณ์และการลงมือทำฝายจนสำเร็จเป็นรูปร่างบนหลักการพื้นฐานของการได้ประโยชน์ของชุมชนอย่างแท้จริง กิจกรรมนี้ทำให้คนในชุมชนได้มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้นในปัจจุบันมีฝายกว่า 1,000 แห่งใน 50 จังหวัดทั่วประเทศ

แรงบันดาลใจที่ส่งต่อโดยผู้พันฝายมีชีวิต

            โครงการนี้ยืนอยู่ได้เพราะไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของ ผู้พันเป็นแค่เพียงผู้สนับสนุนให้โครงการเดินหน้าเมื่อโครงการแล้วเสร็จชุมชนก็คือเจ้าของ เพราะผู้พันยึดหลัก “การทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมเป็นที่หนึ่ง ให้ประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง”  การทำให้ส่วนรวมมีความสุขเมื่อพวกเขามีความสุขเราก็มีความสุขเช่นกัน และอยากทำตัวให้เป็นต้นแบบในการทำเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่นเหมือนอย่างที่ท่านผู้พันทำมาแล้ว ถ้าทุกคนทำในสิ่งที่ดีแล้วเราร้อยเรียงความดีไปด้วยกันก็จะเกิดสิ่งที่ดีสิ่งที่สามขึ้นตามมา

 

ผู้ว่าฯเมืองคอนตบรางวัล “คนดีศรีเมืองนคร” ยกย่องชื่นชมหนุ่มฝรั่งเศส

นครศรีธรรมราช – ผู้ว่าฯ เมืองคอนตบรางวัล “คนดีศรีเมืองนคร” ยกย่องชื่นชมหนุ่มฝรั่งเศสตำรวจดับเพลิงหัวใจสาธารณะ หลังเป็นฮีโร่ช่วย “สึนามิ” พบรักแต่งงานสาวเมืองคอน ลาพักร้อนบินลัดฟ้าช่วยงานกู้ภัย “มูลนิธิประชาร่วมใจ” ส่งอีเมลทุกวันให้เพื่อนทั่วโลกช่วยโปรโมตเมืองคอน และเมืองไทย ยกย่องเป็นพรีเซ็นเตอร์กิตติมศักดิ์เมืองไทย

วันนี้ (5 มิ.ย.) ที่ห้องปฏิบัติการผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล “คนดีศรีเมืองนคร” ประกอบด้วย ประกาศนียบัตร และเข็มเชิดชูเกียรติ ให้แก่ นายบาสเตียง ซูเนช อายุ 31 ปี เป็นข้าราชการตำรวจ ตำแหน่งหัวหน้าหน่วยดับเพลิงและกู้ชีพ เมืองแวนดี ประเทศฝรั่งเศส โดยมีอาสาสมัครหน่วยบรรเทาสาธารณภัยมูลนิธิประชาร่วมใจ จ.นครศรีธรรมราช และนายธีระ ไกรวิเชียร อายุ 51 ปี เจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัย และหัวหน้าศูนย์วิทยุบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีพระบุญฤทธิ์ หงส์ประศาธน์ ประธานมูลนิธิประชาร่วมใจ พร้อมด้วยคณะกรรมการมูลนิธิและเจ้าหน้าที่มูลนิธิประชาร่วมใจ รวมทั้ง น.ส.เพ็ญภักดิ์ บรรณจิตร อายุ 29 ปี นายดำรงด์ บรรณจิตร อายุ 57 ปี ภรรยาและพ่อตาของนายบาสเตียง มาร่วมแสดงความยินดีกับนายบาสเตียง และนายธีระด้วย

นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า นายบาสเตียง ซูเนช ตนเป็นชาวเมืองแวนดี ประเทศฝรั่งเศส รับราชการเป็นหัวหน้าหน่วยดับเพลิง หรือหน่วยกู้ภัย มีเงินเดือนคิดเป็นเงินไทยเดือนละราว 80,000 บาท ในปี 2547 ฝั่งอันดามันของเมืองไทยประสบภัยสึนามิ รัฐบาลประเทศฝรั่งเศส จึงส่งตนพร้อมเพื่อนๆ ร่วม 20 คน เดินทางมาช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ โดยประจำอยู่บ้านบางเนียน อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ครั้งแรกอยู่ 3 อาทิตย์ จึงเดินทางกลับประเทศ

ต่อมาทางประเทศฝรั่งเศสได้จัดส่งตนและเจ้าหน้าที่ชุดเดิมมาช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิและสร้างโรงพยาบาลใน จ.พังงา และช่วยเหลือด้านการกู้ภัยแยกศพผู้เสียชีวิตที่บ้านไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต จนได้พบรักกับ น.ส.เพ็ญภักดิ์ บรรณจิตร อายุ 29 ปี สาวชาว ต.ท่าดี อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งทำงานเป็นพนักงานดูแลด้านความงามของบริษัทหนึ่งประจำอยู่ในห้างบิ๊กซี ภูเก็ต จนมีการสานสัมพันธ์และแต่งงานเป็นสามีภรรยากัน และได้นำ น.ส.เพ็ญภักดิ์ ภรรยากลับไปครองรักกันที่เมืองแวนดี ประเทศฝรั่งเศส ปัจจุบันมีบุตรชาย 1 คน อายุ 2 ขวบ

เมื่อปี 2551 นายบาสเตียงได้ลาพักร้อนจึงนำภรรยาและบุตรชายเดินทางมาเยี่ยมพ่อแม่ และญาติๆ ของ น.ส.เพ็ญภักดิ์ ภรรยา ได้พบเห็นเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยมูลนิธิประชาร่วมใจออกปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย และด้วยเหตุที่เขาเป็นเจ้าหน้าที่ดับเพลิง และกู้ชีพเมืองแวนดี นายบาสเตียงจึงรู้สึกชื่นชมกับการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยกู้ภัยมูลนิธิประชาร่วมใจ ประกอบกับการที่ได้สัมผัสกับอัธยาศัยไมตรีของคนไทย และคนนครศรีธรรมราชมาตั้งแต่ครั้งเข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ

จึงคิดที่อยากจะตอบแทนชาวนครศรีธรรมราชและเมืองไทย ที่ผลิตภรรยาที่ดีที่สุดให้แก่เขา จึงเดินทางไปสมัครเป็นอาสาสมัครของหน่วยกู้ภัยมูลนิธิประชาร่วมใจ และในช่วงที่ได้ลาพักร้อนประจำปีๆ ละ 1-3 เดือนก็จะพาครอบครัวมาอยู่บ้านบิดา มารดาของภรรยา พร้อมออกปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยกู้ภัยประชาร่วมใจช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุกวัน จนได้รับการกล่าวขานยกย่องจากประชาชนที่พบเห็น ตนจึงมอบรางวัล “คนดีศรีเมืองนคร”

เพื่อเป็นขวัญกำลังในฐานะที่เป็นผู้สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประชาชน และจังหวัดนครศรีธรรมราช ในขณะที่นายธีระ ไกรวิเชียร เป็นผู้ที่ตั้งมั่นในการทำความดี ช่วยเหลือผู้อื่น โดยเป็นเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยของมูลนิธิประชาร่วมใจมาเกือบ 20 ปี มาตลอด ตนจึงพิจารณามอบรางวัล “คนดีศรีเมืองนคร” ให้นายธีระในโอกาสเดียวกันด้วย

“จากการที่ได้พูดคุยสอบถามนายบาสเตียงถึงการเป็นเขยนครศรีธรรมราช เขาบอกว่าประทับใจในอัธยาศัยไมตรีของคนนครศรีธรรมราช รวมทั้งคนไทยทุกคนที่มีความเป็นกันเองกับตน นอกจากนี้ เมืองนครศรีธรรมราชและเมืองไทยเป็นเมืองที่เป็นระเบียบเรียบร้อย มีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จึงตั้งใจว่าจะถือโอกาสในช่วงลาพักร้อนของทุกปีเดินทางมานครศรีธรรมราช และร่วมปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยกับเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยประชาร่วมใจตลอดไป

โดยทุกวันที่ผมและครอบครัวอยู่ที่นครศรีธรรมราช จะส่งอีเมลไปหาเพื่อนๆ ในประเทศฝรั่งเศสและเพื่อนๆ ทั่วโลก โดยส่งภาพถ่ายและบอกเล่าถึงความประทับใจต่างๆ รวมทั้งความสวยงามของนครศรีธรรมราช และประเทศไทยให้เพื่อนรับทราบ เมื่อกลับไปฝรั่งเศสตนก็จะเล่าสิ่งที่ดี สิ่งที่ประทับใจทั้งหมดให้เพื่อนฟังบ่อยๆ จนเพื่อนจำนวนมากอยากจะเดินทางมาเมืองไทยด้วย”

พระบุญฤทธิ์ หงส์ประศาธน์ ประธานมูลนิธิประชาร่วมใจ กล่าวว่า การออกปฏิบัติหน้าที่ของนายบาสเตียง อาตมาและเจ้าหน้าที่ทั้งของมูลนิธิ ของโรงพยาบาลต่างทึ่งในความเชี่ยวชาญการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทุกรูปแบบ เพราะในประเทศฝรั่งเศสหน่วยงานด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจะรวมอยู่ที่เดียวกันหมด ทั้งดับเพลิง กู้ภัยทางน้ำ ทางบก การเผชิญเหตุและช่วยเหลือกรณีเกิดสารพิษต่าง ๆ รวมทั่งโรงพยาบาล และตำรวจเขาจะอยู่ที่เดียวกันหมด เจ้าหน้าที่ของเขาจึงต้องผ่านการฝึกอย่างหนักในทุกประเภท นายบาสเตียง เป็นครูฝึกที่มีความรู้ และเชี่ยวชาญที่สุดคนหนึ่ง จึงสามารถปฏิบัติงานได้อย่างยอดเยี่ยมและยังถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ต่างๆ ให้กับเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยมูลนิธิประชาร่วมใจได้เป็นอย่างดี

ในขณะที่นายภาณุ อุทัยรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมในตอนท้ายว่า นับเป็นเรื่องที่ดีที่ชาวต่างประเทศเข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยในจังหวัดนครศรีธรรมราช อีกทั้งเขายังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ดีที่ให้กับนครศรีธรรมราชและเมืองไทยได้อีกทางหนึ่ง โดยการส่งอีเมล์บอกเล่าสิ่งดีๆ ของนครศรีธรรมราช และประเทศไทยให้เพื่อนๆ ทั่วโลก เมื่อเขากลับไปฝรั่งเศสก็นำเรื่องดีๆ จากเมืองไทยไปบอกเล่าเชิญชวนเพื่อนๆ ให้มาเที่ยวเมืองไทย และนครศรีธรรมราชด้วย

หากชาวต่างประเทศมีมุมมองและแสดงความรู้สึกและแสดงออกต่อบ้านเมืองในทางที่ดีเหมือนนายบาสเตียง เยอะๆ จะทำให้ภาพลักษณ์ของนครศรีธรรมราชและเมืองไทยที่กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาอื่นๆ มากมาย ดีขึ้นในสายตาและความรู้สึกของคนทั่วไปโดยเฉพาะชาวต่างชาติ

แหล่งที่มา https://mgronline.com/south/detail/9520000064862