คุณ ยุทธนา ไกรเสม ปั้นเยาวชนคนข่าว บอกเล่าเรื่องราวท่องเที่ยวธรรมชาติ

เด็กที่สามารถเติบโตได้อย่างมีคุณภาพย่อมที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต การบ่มเพาะเด็กสักคนให้สามารถกลายเป็นส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนอนาคตของชาติได้จึงเป็นสิ่งที่ท้าทาย เพราะหากประสบความสำเร็จก็ย่อมหมายมุ่งถึงความเจริญของชาติได้ในอนาคต แต่กระนั้นด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปงานนี้ก็ดูจะไม่ใช่ของง่ายเลย แต่สำหรับคนต้นแบบที่เราจะไปทำความรู้จักกันในวันนี้นั้น เขามีแนวคิดที่จะบ่มเพาะให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณค่าประดุจดั่งเมล็ดพันธุ์ล้ำค่าที่จะออกผลและงอกงามภายใต้การดูแลบ่มเพาะอย่างเหมาะสม เขาคนนี้มีแนวคิดเช่นไรเราจะไปเรียนรู้แนวคิดที่น่าสนใจนี้ไปด้วยกัน

การเติบโตมาในครอบครัวที่เสียสละคือจุดเริ่มต้นบ่มเพาะแนวความคิดของการอุทิศตน

คุณยุทธนา ไกรเสม หรือคุณแกละหรือที่เด็ก ๆ เรียกกันว่าลุงแกละ คือบุคคลต้นแบบเจ้าของเรื่องราวที่เราจะมาทำความรู้จักกันในวันนี้ ลุงแกละของเด็ก ๆ เติบโตมาในครอบครัวที่บรรพบุรุษเสียสละที่ดินกว่า 200 ไร่เพื่อที่จะสร้างเป็นโรงไฟฟ้าที่ขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช บรรพบุรุษของลุงแกละไม่ได้มองว่าสิ่งที่ตนทำนั้นเป็นเรื่องเสียเปรียบ แต่สิ่งนี้จะช่วยนำความเจริญมาสู่ชุมชนบ้านเกิดในอนาคต แนวความคิดเช่นนี้จึงถูกปลูกฝังมาสู่ตัวของลุงแกละด้วยเช่นกัน

ในวัยเด็กลุงแกละเป็นเด็กที่รักการอ่านมากคนหนึ่งและสนใจวิชาภาษาไทยมากเป็นพิเศษทำให้เมื่อเข้าสู่ช่วงของการเรียนในระดับชั้นอุดมศึกษาลุงแกละจึงเลือกที่จะเรียนในสาขาเทคโนโลยีการศึกษาและระดับปริญญาโทการสื่อสารมวลชน

การเรียนของลุงแกละเป็นสิ่งที่แปลกแตกต่างจากบุคคลอื่น เพราะลุงแกละใช้เวลาเรียนถึง 24 ปีจึงสำเร็จการศึกษา เหตุที่บอกว่าแปลกนั้นไม่ใช่ระยะเวลาในการเรียนที่ยาวนานแต่เป็นการเลือกที่จะลงเรียนในวิชาที่ตนเองสนใจ ลุงแกละจึงลงเรียนวิชาที่หลากหลายมากตามความสนใจ จนกระทั่งวิชาเรียนที่ลุงแกละเรียนนั้นเข้าได้กับวุฒิการศึกษาเทคโนโลยีการศึกษา ทั้งที่ในความเป็นจริงจำนวนวิชาที่เรียนและจำนวนหน่วยกิตนั้นลุงแกละเรียนไว้มากกว่าที่สิ่งที่หลักสูตรกำหนดเสียอีก สิ่งนี้จึงเป็นจุดแข็งที่ทำให้ลุงแกละสามารถนำความรู้มาต่อยอดได้อย่างหลากหลาย

ในช่วงที่ลงเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงนั้น ลุงแกละได้สมัครเข้าทำงานด้านหนังสือพิมพ์ไปด้วยเพราะใจรักในด้านการสื่อสารที่ติดตัวมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมนั่นเอง

จุดเริ่มต้นสู่การจัดตั้งสโมสรเยาวชนสำนักข่าวเสียงเด็ก

ในช่วงปี 2539-2540 เป็นช่วงที่ลุงแกละได้กลับมาอยู่ที่บ้านเกิด ละแวกบ้านที่ลุงแกละอยู่นั้นมีทั้งโรงเรียนและเด็ก ๆ รายล้อม ในสมัยนั้นเป็นช่วงที่คอมพิวเตอร์เริ่มถูกใช้งานในด้านต่าง ๆ ลุงแกละจึงจับเอาเด็กเหล่านี้มาเรียนรู้การใช้คอมพิวเตอร์และก่อตั้งเป็นชมรมเล็ก ๆ เพื่อให้เด็กเรียนรู้และพัฒนาเป็นสำนักข่าวเสียงเด็กเพื่อให้เด็กมีกิจกรรมร่วมกัน โดยการทำสำนักข่าวเสียงเด็ก เด็ก ๆ จะต้องไปหาข้อมูลเพื่อนำมาสื่อสารต่อภายใต้สโลแกน “สื่อสารถูกต้อง สร้างสันติสุข” เป็นกระบอกเสียงที่กระจายข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ให้แก่ชุมชนนั่นเอง

ภายใต้สโมสรนี้เด็กจะมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำร่วมกันภายใต้แนวความคิดที่เกิดขึ้นจากตัวของเด็กเอง เด็กทุกคนจะร่วมกันคิด ออกแบบ และสร้างกิจกรรมที่ตนสนใจและอยากทำ โดยลุงแกละจะปล่อยและให้อิสระกับเด็กอย่างเต็มที่ภายใต้การเฝ้ามองของลุงแกละ โดยหน้าที่ในการประสานงานกับการจัดหาสปอนเซอร์จะเป็นสิ่งที่ลุงแกละสนับสนุนมาโดยตลอด ตัวอย่างกิจกรรมในอดีตก็เช่นกิจกรรมพายเรื่อล่องคลองที่เด็กทุกคนในสโมสรจะมีส่วนร่วมในการทำความสะอาดคลอง และยังเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างตัวของเด็กและคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี

เด็กคือเมล็ดพันธุ์ล้ำค่าในดินที่รอวันเจริญงอกงามไปในแบบที่ตัวเด็กอยากจะเป็นคือแนวคิดสำคัญของลุงแกละ

สโมสรเสียงเด็กไม่มีรูปแบบกิจกรรมที่ตายตัว ลุงแกละจะใช้วิธีการทำเป็นตัวอย่างให้เด็กได้ดู ด้วยความที่ไม่มีรูปแบบที่ตายตัวดังนั้นทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นจะมาจากความสนใจของตัวเด็กเอง โดยบางครั้ง Topic ที่เกิดขึ้นก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาสด ๆ และลงมือทำทันทีในเวลานั้น โดยลุงแกละมีแนวคิดที่เรียกว่า Learning by Doing ทำให้เด็กทุกคนได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองต้องการซึ่งจะเป็นประโยชน์กับตัวของเด็กเองในที่สุด

กิจกรรมที่เด็กได้เรียนรู้ภายในสโมสรมี 2 รูปแบบโดยรูปแบบแรกเป็นวิชาที่ลุงแกละเรียกว่า “วิชาชีวิต”ที่เด็กจะได้เรียนรู้ในเรื่องของวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติเป็นวิชาที่ไม่มีเรียนในห้องเรียนปกติ กับอีกรูปแบบคือวิชาที่เด็กสนใจอยากที่จะเรียนรู้ เป็นเรื่องสมัยใหม่ที่เด็กอยากได้ความรู้เพิ่มโดยทั้งนี้ตัวของเด็ก ๆ จะเป็นผู้ที่หาข้อมูลมานำเสนอกันและเรียนรู้ไปด้วยกัน

อีกหนึ่งกิจกรรมที่เป็นไฮไลต์สำคัญคือการออกแคมป์ในป่า โดยลุงแกละมีที่ดินเล็ก ๆ ที่ปล่อยทิ้งไว้ให้กลายเป็นป่าที่ลุงแกละมักใช้เป็นพื้นที่ในการจัดกิจกรรมให้เด็กได้เข้าไปเรียนรู้การอยู่ป่า ตั้งแต่การเข้าไปอยู่อย่างไรให้ส่งผลกระทบต่อป่าให้น้อยที่สุด วิชาการอยู่ป่านี้ลุงแกละมีจุดหมายสำคัญอยู่ที่การให้เด็กเกิดความสงบจากสถานที่สงัด เพื่อให้เด็กมีโอกาสได้หลีกเร้นจากเสียงรบกวนในชีวิตประจำวันที่เด็กต้องเจอในทุกวัน เด็กจึงมีโอกาสที่จะค้นพบความสุขจากความสงบที่เกิดขึ้นภายในและสามารถนำไปใช้ต่อยอดในการแก้ปัญหาในชีวิตที่เด็กอาจได้พบเจอเมื่อกลับไปอยู่กับสังคมได้ดีขึ้น

เสียงเด็กคือที่พักพิงให้เด็ก ๆ ทุกคน เพราะเด็กทุกคนล้วนแต่มีข้อดีและจุดแข็งในแบบที่ตนเองเป็น

เด็กทุกคนภายใต้สโมสรเสียงเด็กคือเด็กที่ลุงแกละมองว่ามีศักยภาพในแบบที่ตัวเองเป็นทุกคน เด็กบางคนก็สามารถที่จะค้นพบความชอบและความสามารถที่แท้จริงของตนเองซึ่งในบางครั้งอาจไม่สามารถพบได้ในระบบการศึกษาปกติ เพราะความอิสระในการเรียนรู้ที่ลุงแกละมอบให้นั่นเอง เพราะลุงแกละเชื่อเสมอมาว่า เด็กทุกคนเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดีที่รอวันที่จะงอกงามเติบโตไปในแนวทางของตนเอง ทำให้เด็กทุกคนมองเห็นศักยภาพและคุณค่าของตนเอง

เด็กทุกคนมีความแตกต่างกัน มีความเก่งและมีทักษะที่แตกต่างกัน โดระบบการศึกษาปกติมักจะใช้มาตรฐานเดียวกันกับเด็กทุกคน ทำให้หลายครั้งที่เด็กบางคนถูกบดบังศักยภาพที่แท้จริงไป แต่สำหรับเสียงเด็ก เด็กจะมีโอกาสได้ทำในสิ่งที่ตนเองชอบและรัก ได้ค้นพบความสามารถ ความชอบที่แท้จริงของตนและหลายกรณีที่ลุงแกละยังได้ให้คำแนะนำแก่ผู้ปกครองในการส่งเสริมให้เด็กได้ทำในสิ่งที่เด็กสนใจ ทำให้เด็กหลายคนประสบความสำเร็จตามเส้นทางที่เหมาะสมที่เด็กได้มีโอกาสเลือกด้วยตัวของตัวเอง เพราะเสียงของเด็กมีความหมายเสมอในนิยามของลุงแกละ

ปัจจุบันสโมสรเสียงเด็กได้รับโอกาสจากทาง facebook ให้เข้าร่วมโครงการห้องเรียนดิจิทัลสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสังคม ในการเรียนรู้การสร้างตัวตนและรับทุนสนับสนุนการยิงโฆษณาจำนวน 30,000 บาท โดยลุงแกละตั้งเป้าเอาไว้ว่าต้องการที่จะทำให้สโมสรเสียงเด็กเป็นที่รู้จักทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่เพื่อให้เด็กนอกพื้นที่มีโอกาสได้เข้ามาร่วมกิจกรรมต่าง ๆ กับทางสโมสรเสียงเด็กในอนาคต

สิ่งที่ลุงแกละอยากฝากถึงผู้ปกครองในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปเช่นในปัจจุบัน

ลุงแกละยังทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจสำหรับผู้ปกครองก็คือ “พ่อแม่ต้องสื่อสารกับลูกให้มาก ๆ และมีทัศนคติเชิงบวกต่อลูก”  จึงจะช่วยลดช่องว่างระหว่างวัยภายใต้ยุคของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้ พ่อแม่ต้องเข้าใจว่าเด็กทุกคนเกิดมาพร้อมที่จะเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดีและเติบโตไปในแนวทางของตนเอง จึงไม่ควรเปรียบเทียบลูกของตนกับเด็กคนอื่น ผู้ใหญ่ต้องพร้อมที่จะรับฟังเด็ก แลกเปลี่ยนในสิ่งที่ตนเองรู้กับเด็กและพร้อมที่จะรับฟังในสิ่งที่ตนไม่รู้เช่นกัน เพราะในปัจจุบันนี้เด็กเข้าถึงวิชาความรู้ง่ายขึ้นผ่าปลายนิ้วสัมผัสเท่านั้น เด็กจะเรียนรู้สิ่งที่ตนสนใจได้ง่ายขึ้นซึ่งผู้ปกครองเองก็ควรที่จะสนับสนุนสิ่งที่เด็กสนใจโดยไม่พยายามไปบงการหรือปิดกั้นความสนใจนั้น จงคิดเสมอว่าเด็กก็คือเมล็ดพันธุ์ที่พร้อมจะเติบโตและงอกงามเป็นตัวของเขาเอง หากผู้ปกครองยอมรับและเปิดใจกับความสนใจและความต้องการของเขาพร้อมหการสนับสนุนอย่างเหมาะสม เด็กเหล่านี้ก็จะเติบโตขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในอนาคตภายใต้เส้นทางเดินที่พวกเขาเลือกเอง นี่คือสิ่งที่ลุงแกละให้ความสำคัญมาโดยตลอด

ชมคลิป VDO สัมภาษณ์

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ

ดร.สุรศักดิ์ ชูทอง ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและอนุรักษ์ทรัพยากร

ทรัพยากรธรรมชาติเปรียบเสมือนของขวัญล้ำค่าที่ธรรมชาติมอบให้ไว้แก่โลกใบนี้ และโดยเฉพาะกับสิ่งมีชีวิตทุกชนิดต่างก็ได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบต่าง ๆ ต้นไม้ คือหนึ่งในทรัพยากรธรรมชาติที่อาจเรียกได้ว่าเป็นจุดกำเนิดของความอุดมสมบูรณ์ของโลกใบนี้และมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าขะเป็นเกษตรกรรมรวมไปถึงการท่องเที่ยว ด้วยเหตุนี้เองที่การอนุรักษ์รักษาต้นไม้จึงเป็นหน้าที่สำคัญของคนต้นแบบในบทความนี้ที่งานของท่านมีส่วนสำคัญที่ช่วยต่อยอดนำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดนครศรีธรรมราชให้เติบโต หากทุกท่านพร้อมแล้วเราจะไปทำความรู้จักกับบุคคลต้นแบบท่านนี้กันให้มากขึ้น

จากเด็กที่อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติสู่ความสนใจในด้านการเกษตร

ดร.สุรศักดิ์ ชูทอง หรือ อาจารย์ขาว คือบุคคลต้นแบบที่เราจะมาทำความรู้จักกันในครั้งนี้ โดยในวัยเด็กของคุณขาวได้เติบโตและใกล้ชิดกับธรรมชาติเพราะบริเวณบ้านมีความใกล้ชิดกับป่ามากจึงได้ยินเสียงสัตว์ป่ามาตั้งแต่เด็ก และด้วยความที่ทางบ้านทำอาชีพเป็นชาวสวนจึงทำให้อาจารย์ขาวมีความคุ้นเคยกับอาชีพเกษตรกรรมมาตั้งแต่อายุยังน้อย ความคุ้นเคยนี้เองที่ทำให้ตั้งแต่การเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 อาจารย์ขาวจึงเลือกเรียนในด้านเกษตรกรรมที่โรงเรียนมาโดยตลอด

เมื่อจบการศึกษาในชั้นมัธยมต้นด้วยความที่ชอบและคุ้นเคยกับการเรียนเกษตรกรรมจึงทำให้อาจารย์ขาวเลือกที่จะขอทุนเรียนต่อด้านเกษตรกรรมในระดับ ปวช. ที่วิทยาลัยเกษตรกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช จวบจนเรียนจบจึงเบนเข็มไปเรียนเทคโนโลยีภูมิทัศน์และสอบเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ตามลำดับจนกระทั่งจบการศึกษาจึงกลับมาเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยจนถึงปัจจุบัน

โอกาสครั้งสำคัญกับการไปศึกษาต่อที่ประเทศจีนและการดูงานเรื่องการจัดการสวนที่เมืองจีน

อาจารย์ขาวได้พลโอกาสครั้งสำคัญในชีวิตเมื่อหน่วยงานจากทางประเทศจีนได้เข้ามาทำข้อตกลง MOU แลกเปลี่ยนบุคลากรกับหน่วยงานของอาจารย์ขาว ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้อาจารย์ขาวได้มีโอกาสไปศึกษาต่อที่ประเทศจีน และด้วยความโชคดีที่ทางอาจารย์ที่ปรึกษาของอาจารย์ขาวมีความชำนาญในเรื่องการบำรุงดูแลต้นไม้และสวน อาจารย์ขาวจึงได้โอกาสติดตามอาจารย์ที่ปรึกษาไปดูงานด้านการจัดการสวนสาธารณะที่มณฑลใหญ่ ๆ ในประเทศจีนเป็นประจำ ซึ่งนับว่านอกจากจะเปิดประสบการณ์ตรงให้กับอาจารย์ขาว การดูงานในแต่ละครั้งยังช่วยเสริมประสบการณ์ในเรื่องของการจัดการต้นไม้โดยเฉพาะต้นไม้ใหญ่ ๆ ซึ่งจะป็นประโยชน์ต่ออาจารย์ขาวในอนาคต

นอกเหนือจากประสบการณ์ดังกล่าว สิ่งที่อาจารย์ขาวยังได้รับกลับมานอกจากเรื่องของภาษาก็คือเรื่องของความขยันและความตรงต่อเวลาอันจะมีผลต่อการทำงานของอาจารย์ขาวด้วยเช่นกัน

การดูแลอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่คืองานสำคัญที่ต่อยอดสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

ในส่วนของงานของอาจารย์ขาวนอกเหนือจากการเป็นอาจารย์ประจำก็คืองานในแนวทางของการดูแลอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่งานในสาขาอาชีพนี้ถูกเรียกว่ารุกขกรรม โดยมีผู้ปฏิบัติงานที่เรียกว่ารุกขกรเป็นผู้ขับเคลื่อน โดยจุดเริ่มต้นมาจากที่จังหวัดนครศรีธรรมราชประสบภัยพิบัติด้านต้นไม้ใหญ่จากเมื่อครั้งที่พายุปลาบึกพัดถล่มจังหวัด ในครั้งนั้นทำให้ต้นไม้ใหญ่ทั่วจังหวัดกว่า 2 แสนต้นล้มลง แต่ด้วยหน่วยงานต่าง ๆ ไม่มีความรู้ในการจัดการต้นไม้ใหญ่เหล่านี้ทำให้ความช่วยเหลือมุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือคนโดยไม่มีใครช่วยเข้าไปดูแลต้นไม้เลย ผลคือทำให้ต้นไม้ส่วนใหญ่ถูกตัดทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย ในครั้งนั้นคุณหมอบัญชา พงษ์พานิชได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจึงประสานไปยังกลุ่ม big tree ให้ช่วยติดต่อไปยังอ.บรรจง สมบูรณ์ชัยซึ่งท่านเป็นหมอต้นไม้อยู่ที่เชียงใหม่ แต่เมื่ออ.บรรจงทราบจึงให้ทางคณะทำงานติดต่อมาที่อ.ขาว เพราะอ.ขาวเองก็มีความรู้และประสบการณ์ในด้านนี้ด้วยเช่นกัน จึงเป็นที่มาของการทำงานด้านการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่อย่างเต็มตัว

เพื่อความยั่งยืนอ.ขาวจึงพยายามจัดอบรมเพื่อสร้างคนให้เข้ามาทำงานในด้านนี้ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเมื่อทางคณะของอาจารย์ขาวได้รับงบประมาณจาก อบจ. จังหวัดในการสนับสนุนการอบรมสร้างทีมงานขึ้นมารวมถึงได้รับงบประมาณจากสำนักงานนวัตกรรมจากการคิดค้นต่อยอดแนวทางการสร้างนวัตกรรมการจัดการภัยพิบัติจากต้นไม้ใหญ่ นี่จึงเป็นจัดเริ่มต้นของงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่อ.ขาวมีส่วนร่วมบุกเบิกในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชนั่นเอง

รุกขกรรม อีกหนึ่งอาชีพที่เป็นตัวแปรสำคัญในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

รุกขกรรมอาจเป็นอาชีพที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จักมากนัก และน้อยคนจะรู้ว่าอาชีพนี้มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติรวมถึงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติได้อย่างไร โดยรุกขกรจะมีหน้าที่ตั้งแต่การคัดเลือก การดูแล รวมถึงการตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ด้วยศาสตร์ในการจัดการต้นไม้เหล่านั้นอย่าถูกต้อง ซึ่งนอกจากต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ เช่นวัดหรือสถานที่สำคัญ หน้าที่ของรุกขกรยังมีส่วนให้คำแนะนำในการปลูกและดูแลต้นไม้อย่างเหมาะสมตามสถานที่ที่ต้องการปลูกต้นไม้ใหญ่ ๆ เช่นริมถนน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดรวมถึงไม่เป็นอันตรายต่อทั้งคน สัตว์หรือสิ่งของที่อยู่บริเวณต้นไม้ใหญ่เหล่านี้ ดังนั้นในแง่ของความสำคัญรุกขกรจึงมีส่วนสำคัญในการเป็นตัวแปรในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติอยู่ไม่น้อยทีเดียว

ในปัจจุบันขอบเขตงานของรุกขกรยังครอบคลุมไปถึงการประเมินความเสี่ยงของต้นไม้ใหญ่ที่มีอายุมากว่าจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายจากการล้มรวมถึงการดูแลระบบรากและการฟื้นฟูต้นไม้ที่ทรุดโทรมให้กลับมาสมบูรณ์แข็งแรงอีกครั้ง

ทั้งทรัพยากรและเกษตรกรรม หากมีการพัฒนาต่อยอดจะช่วยสร้างรายได้ให้แก่ผู้คนอีกไม่น้อย

ด้วยความที่อาจารย์ขาวเติบโตมากับการเกษตร รวมถึงยังทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ อาจารย์ขาวจึงมองว่าทั้ง 2 สิ่งนี้หากได้รับการพัฒนาจะช่วยสร้างรายได้ให้กับประชาชนไม่น้อย อย่างในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติภายในจังหวัดนครศรีธรรมราชมีแหล่งทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์เพราะมีเขตอุทยานแห่งชาติทั้งทางบกและทางทะเลอยู่ถึง 5 แหล่งจึงมีต้นทุนทางธรรมชาติมหาศาล แต่สิ่งที่จำเป็นต้องพัฒนาคือทรัพยากรคนที่ต้องเรียนรู้แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้นให้ยั่งยืน

เช่นเดียวกับงานด้านการเกษตรที่จริง ๆ แล้วเกษตรกรบ้านเราสามารถผลิตผลผลิตได้ทุกอย่างแต่ไม่มีสิทธิ์กำหนดอะไรเลย เพราะในปัจจุบันทั้งต้นน้ำคือเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยและอื่น ๆ รวมถึงปลายน้ำอย่างราคาพืชผลถูกกำหนดโดยบุคคลอื่น ดังนั้นหากเกษตรกรอยากมีรายได้ที่ดีจึงจำเป็นต้องรู้จักการจับกลุ่มและเรียนรู้การขายสินค้าเกษตรของตนผ่านโลกออนไลน์โดยการสร้าง storytelling ที่ช่วยดึงดูดความสนใจของผู้ที่สนใจ โลกออนไลน์คือสิ่งที่จะเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรเหล่านี้ได้

ความในใจจากอาจารย์ขาวในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ

ในท้ายที่สุดนี้อาจารย์ขาวได้ให้แนวคิดของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเอาไว้ว่าการท่องเที่ยวจะมาได้ก็เพราะทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ได้รับการอนุรักษ์เอาไว้ อย่างเช่นต้นไม้ เพราะต้นไม้เป็นทุกอย่างของเรา ถ้าไม่มีต้นไม้เลยความอุดมสมบูรณ์ก็จะหมดไป และไม่เหลือสิ่งใดที่จะดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวเลย แต่หากเรายิ่งเห็นคุณค่าของต้นไม้ เห็นคุณค่าของพรรณไม้และพยายามอนุรักษ์และรักษามันเอาไว้ ท้ายที่สุดก็จะส่งผลบวกต่อการท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน

ชมคลิป VDO สัมภาษณ์

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร 092-6565-298 คุณเกียรติรัตน์ จินดามณี
<< ลงทะเบียนที่นี่  >>

คุณพิชญ์สินี ทัศน์นิยม สนับสนุน ส่งเสริม เพิ่มรายได้ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ

สนับสนุน ส่งเสริม เพิ่มรายได้ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ

ธุรกิจท่องเที่ยวเปรียบเสมือนแขนขาของระบบเศรษฐกิจ เครื่องยนต์นี้เป็นกลไกสำคัญตัวหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นและขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของไทยเดินหน้า แต่ด้วยวิกฤติโควิดที่ผ่านมาทำให้เครื่องยนต์ตัวนี้ดับลงและยังคงทำงานได้ไม่เต็มกำลังเหมือนเช่นในอดีต ในบทความนี้เราจะพาทุกท่านไปรับฟังแนวคิดของบุคคลต้นแบบผู้มีส่วนร่วมในการผลักดันและพัฒนาให้ธุรกิจท่องเที่ยวในจังหวัดนครศรีธรรมราชเดินหน้าไปได้ ผู้มีแนวคิดและวิธีการจัดการที่น่าสนใจและทันสมัยไปพร้อม ๆ กัน

จากเด็กสายวิทยาศาสตร์สู่การเบนเข็มเข้าสู่สายการท่องเที่ยว

คุณพิชญ์สินี ทัศน์นิยม หรือ คุณทิพย์ คือคนต้นแบบที่เราจะมาทำความรู้จักกันในวันนี้ ในสมัยเด็ก ๆคุณทิพย์มีความฝันที่อยากจะเป็นนักเขียนเพราะได้มีโอกาสอ่านหนังสือที่มาจากประเทศนอร์เวย์และมีความใฝ่ฝันที่อยากจะเดินทางไปที่ประเทศนี้สักครั้งด้วยเช่นกัน

ชีวิตในวัยเด็กของคุณทิพย์เกิดมาในครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่แยกทางกัน แต่สำหรับตัวคุณทิพย์นั้นเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาที่ทำให้เกิดรอยแผลทางใจเลยแม้แต่น้อย ในทางตรงกันข้ามตัวของคุณทิพย์เองมองว่าเรื่องนี้ทำให้คุณทิพย์เองเข้าใจอะไรหลาย ๆ อย่างและใช้วิกฤติที่เกิดขึ้นเป็นโอกาสของตนเอง ส่วนหนึ่งที่ทำให้คุณทิพย์เองไม่ได้รู้สึกว่าตนเองมีปัญหาก็อาจเนื่องมาจากการได้รับความรักจากพี่ ๆ น้อง ๆ ทุกคนด้วยนั่นเอง

ตัวของคุณทิพย์เองเรียนหนังสืออยู่ในสายวิทยาศาสตร์มาโดยตลอดจนถึงมัธยมปลาย แต่จุดพลิกผันที่ทำให้ตนเองได้ก้าวเข้าสู่ทางเดินสายการท่องเที่ยวก็คือการสอบไม่ติดในคณะสายวิทยาศาสตร์จึงเบนเข็มให้ความสนใจศึกษาต่อในสาขาการโรงแรมและการท่องเที่ยวในชื่อหลักสูตรEnglish for service ที่ราชภัฏแห่งหนึ่งโดยหลักสูตรนี้เปิดในรุ่นที่คุณทิพย์เรียนเป็นรุ่นแรก และได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยทักษิณในหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์

แรงบันดาลใจที่ทำให้อยากเข้ามาทำงานที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

ในช่วงที่เรียนปริญญาตรีอยู่นั้น ทางสถาบันได้ส่งคุณทิพย์และนักศึกษาคนอื่น ๆ ไปฝึกงานตามโรงแรมในสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ซึ่งช่วยให้คุณทิพย์ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ล้ำค่าต่าง ๆ มากมาย แต่ที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่คุณทิพย์มากที่สุดก็คงจะเป็นการได้มีโอกาสฟังการบรรยายจากอาจารย์พิเศษที่ได้รับเชิญจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ส่วนตัวคุณทิพย์รู้สึกว่าอาจารย์พิเศษท่านนี้สมาร์ทและดูภูมิฐาน จึงต้องการที่จะเข้าทำงานที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยให้ได้ และในที่สุดเมื่อจบการศึกษาจึงได้เข้าทำงานที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสมดั่งที่ตั้งใจ

เติบโตในหน้าที่การงานและได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่จนท้ายที่สุดได้กลับมาพัฒนาจังหวัดบ้านเกิด

หน้าที่การงานในการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยของคุณทิพย์ถือได้ว่ามีความก้าวหน้ามาโดยลำดับ จากเจ้าหน้าที่ตำแหน่งเล็ก ๆ ในจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ตอนนั้นเป็นเพียงหน่วยย่อยในสังกัด ททท. สุราษฎร์ธานี คุณทิพย์ก็ได้รับโอกาสให้ขึ้นดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานที่เชียงใหม่ และที่เชียงใหม่ซึ่งเป็นเมืองหลักเมืองหนึ่งในด้านการท่องเที่ยว คุณทิพย์ได้รับประสบการณ์ในการทำงานที่ยอดเยี่ยมในเรื่องของแนวคิดในการทำงานต่าง ๆ และที่สำคัญคือได้พบเจอผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในขณะนั้นที่ให้การสนับสนุนการทำงานในทุกด้านอย่างเต็มที่ และเมื่อถึงวาระที่ต้องย้ายไปประจำจังหวัดอื่น คุณทิพย์ก็ได้ย้ายกลับสู่ภาคใต้ที่จังหวัดตรังและสตูล ซึ่งทำให้คุณทิพย์ได้เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นอันเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของแต่ละจังหวัดซึ่งส่งสมให้คุณทิพย์มีแนวคิดในการทำงานที่ดีก่อนที่คุณทิพย์จะได้รับโอกาสย้ายกลับมาประจำที่จังหวัดนครศรีธรรมราชอันเป็นบ้านเกิดในปี 2563 ที่ผ่านมา

การท่องเที่ยวในนครศรีธรรมราช โจทย์ใหญ่ที่คุณทิพย์ต้องการพัฒนาเพื่อแทนคุณบ้านเกิด

ที่นครศรีธรรมราชจังหวัดบ้านเกิดของคุณทิพย์นั้น คุณทิพย์มองว่าแท้จริงแล้วจังหวัดนี้ก็มีศักยภาพในด้านการท่องเที่ยวที่ไม่ด้อยไปกว่าที่อื่นเลย แต่สิ่งที่แตกต่างอาจจะเป็นในเรื่องของอัธยาศัยไมตรีและการเชื่อมโยงเส้นทางระหว่างเมืองกับสถานที่ท่องเที่ยวที่ยังแตกต่างจากจังหวัดใหญ่ที่คุณทิพย์เคยไปประจำอย่างเชียงใหม่ ในเรื่องของอัธยาศัยไมตรีนั้นคุณทิพย์มองว่าแท้จริงแล้วคนนครก็มีความจริงใจ แต่ทว่าผู้คนจะรับรู้ถึงความจริงใจของคนนครก็ต่อเมื่อได้คบหากันในระดับหนึ่งซึ่งอาจเป็นจุดอ่อนเพราะในเรื่องของการท่องเที่ยวความประทับใจแรกมีความสำคัญเสมอ นอกจากนี้ผู้นำท้องถิ่นเองก็ไม่ได้อยู่ในแวดวงการท่องเที่ยวทำให้ความเข้าใจในเรื่องการท่องเที่ยวอาจมีไม่เท่าจังหวัดอื่น ดังนั้นจึงต้องพยายามขายอัตลักษณ์ในเรื่องของความจริงใจควบคู่ไปกับการพยายามเขื่อมโยงสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เข้าด้วยกัน

ศรัทธานำการท่องเที่ยว อัตลักษณ์เด่นชัดของการท่องเที่ยวในนครศรีธรรมราช

ในเรื่องของสถานการณ์โควิดที่ผ่านมานั้น ในเรื่องของการท่องเที่ยวในนครศรีธรรมราชก็ได้รับผลกระทบในระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่แปลกก็คือในการระบาดของโควิดระลอกแรกนั้น กลับกลายเป็นว่านครศรีธรรมราชเป็นหมุดหมายของสายการบินต่าง ๆ ที่มีเข้ามาถึง 64 เที่ยวบินต่อวัน และจุดสำคัญของการเป็นหมุดหมายนี้ก็อยู่ที่การมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่สักการะอยู่ในพื้นที่ ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของคนทั่วประเทศนั่นเอง

ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้คุณทิพย์ต้องการพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดนครศรีธรรมราชโดยการนำความศรัทธานำและเชื่อมโยงไปยังสถานที่ท่องเที่ยวจุดต่าง ๆภายในจังหวัด โดยอาศัยการเล่าเรื่องราวเป็น storytelling เช่นความมงคล โชคลาภ ทั้งในเรื่องที่กิน การ shopping ครอบคลุมในทุกอำเภอ

ทุกพื้นที่มีของดี แต่การจะให้ภาพรวมเดินหน้าต่อไปได้ต้องอาศัยความใจกว้าง

ในช่วงของการเริ่มโปรโมทการท่องเที่ยวโดยนำความศรัทธานำการท่องเที่ยวนั้น สิ่งที่คุณทิพย์ต้องเผชิญก็คือในแต่ละท้องที่ก็มีของดีที่หลากหลาย แต่ในแง่ของการตลาดนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องหยิบของที่โดดเด่นที่สุดขึ้นมาเพื่อโปรโมทในขณะที่ของดีอื่น ๆ จะต้องเป็นเพียงตัวรองที่มาเสริมสิ่งที่โปรโมทนี้ ซึ่งการทำเช่นนี้นับว่าไม่ง่ายเลยเพราะต้องอาศัยความใจกว้างและความเข้าใจที่พร้อมจะมองเห็นประโยชน์ในภาพรวม การเชื่อมโยงจากสิ่งที่เด่นที่สุดไปสู่สิ่งที่รองลงมาก็มีความสำคัญเพราะคนที่เข้ามาท่องเที่ยวก็ใช่ว่สพวกเขาจะเข้ามาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพียงอย่างเดียว แต่ก็ต้องไปที่อื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ดังนั้นเมื่อเกิดความเข้าใจในภาพรวมก็ย่อมจะส่งผลให้ความพยายามที่ขะผลักดันนั้นราบลื่นและเกิดประโยชน์ร่วมกันในทุกภาคส่วนสมดั่งคำขวัญที่ว่า “นครแห่งอารยะ พุทธะรุ่งเรือง ฟูเฟื่องงานศิลป์ วิถีถิ่นหลากหลาย มากมายธรรมชาติ” อันเป็นการนำความศรัทธามาเชื่อมโยงไปสู่จุดเด่นด้านต่าง ๆ นั่นเอง

ธุรกิจท่องเที่ยวต้องปรับตัว เพื่อให้สามารถยืนหยัดอยู่บนสายธารแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ให้ได้

โควิดที่เกิดขึ้นทำให้พฤติกรรมการท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย แม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการแต่กระนั้นทางตัวของผู้ประกอบการเองก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตัวเองด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในเรื่องของเทคโนโลยีที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้นำร่องการนำแอพพลิเคชั่นมาประยุกต์ใช้กับการให้ข้อมูลการท่องเที่ยวต่าง ๆ สำหรับภาคเอกชนเองการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ก็มีความสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องของการทำการตลาดออนไลน์ ซึ่งผู้ประกอบการต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเรื่องนี้จึงจะช่วยทำให้ธุรกิจไปรอดและเดินหน้าต่อไปได้ โดยคุณทิพย์ได้ให้หลักการทางการตลาดที่น่าสนใจและควรค่าแก่การนำไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจก็คือ “หลักการตลาดไม่มีกลยุทธ์ตายตัว แต่กลุ่มเป้าหมายคือสิ่งตายตัว” หาให้เจอว่าใครคือคนที่ชอบของของเราและชอบเราตรงไหน เพื่อนำเสนอสิ่งที่ตรงใจพวกเขามากที่สุด นี่คือแนวคิดที่สร้างความสำเร็จในการทำงานของบุคคลต้นแบบในวันนี้

ชมคลิป VDO สัมภาษณ์

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร 092-6565-298 คุณเกียรติรัตน์ จินดามณี
<< ลงทะเบียนที่นี่  >>

คุณ อดุลชัย รักดำ สนับสนุน ส่งเสริมเทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยวในยุคดิจิทัล

ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศควบคู่ไปกับภาคการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศ แต่จากวิกฤติโควิดที่ผ่านมาทำให้ภาคการท่องเที่ยวหยุดชะงักและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไม่น้อยเลยทีเดียว เมื่อโควิดกำลังจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ภาคการท่องเที่ยวจึงต้องได้รับการฟื้นฟูไม่เพียงแต่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นการต่อลมหายใจให้กับทั้งผู้ประกอบการและผู้ที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยวให้กลับมายืนได้ด้วยตนเองอีกครั้ง คนต้นแบบที่เราจะพาไปทำความรู้จักนี้เป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยผลักดันและฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งผ่านการร่วมเป็นคณะทำงานต่าง ๆ ภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้อย่างไรเราจะพาไปฟังในมุมมองของคนต้นแบบในวันนี้กัน

จากความคิดยึดเป็นอาชีพที่สองสู่การก้าวเข้าสู่ภาคการท่องเที่ยวเต็มตัว

คุณอดุลชัย รักดำ หรือ คุณยุทธ์ คือคนต้นแบบที่เราจะพาไปทำความรู้จักกันในวันนี้ พื้นเพเดิมของคุณยุทธ์เติบโตมาในพื้นที่จังหวัดตรัง ได้เข้าศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาที่ตรังก่อนจะย้ายไปเรียนต่อในกรุงเทพมหานครที่โรงเรียนวัดสระเกศและก้าวไปศึกษาต่อในระดับชั้นอุดมศึกษาในสายบริหารที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยอยู่นั้นคุณยุทธ์เคยทำงานในภาคการท่องเที่ยวมาก่อนโดยการเข้าร่วมเป็น staff ที่บริษัทรุ่งเรืองทัวร์ในตำแหน่งผู้ช่วยมัคคุเทศก์โดยเหตุผลที่เข้ามาทำงานนี้ก็เพราะอยากมองหาอาชีพที่สองให้กับตนเอง

ด้วยความชอบในภายหลังจึงเข้ารับการอบรมมัคคุเทศก์รุ่นที่ 1 อย่างจริงจังที่ราชภัฏสวนดุสิตในขณะนั้นจนได้รับบัตรประจำตัวมัคคุเทศก์จึงเริ่มต้นเป็นมัคคุเทศก์ตั้งแต่ปี 2528 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งในระหว่างนี้คุณยุทธ์ก็ได้มีโอกาสเข้าร่วมการอบรมเพิ่มเติมที่มหาวิทยาลัยศิลปากรด้วยเช่นกัน

ในช่วงโควิดที่ผ่านมาทำให้ธุรกิจภาคการท่องเที่ยวซบเซาคุณยุทธ์จึงได้มีโอกาสได้มีส่วนร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบภาคการท่องเที่ยวมากขึ้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชรวมถึงได้เคยเข้าร่วมโครงการอบรมมัคคุเทศก์ที่นครศรีธรรมราชกับทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในพิธีแห่ผ้าขึ้นธาตุ

เสน่ห์ของการเป็นมัคคุเทศก์ที่คุณยุทธ์อยากนำเสนอ

คนภายนอกอาจสงสัยว่าอาชีพมัคคุเทศก์มีเสน่ห์ที่น่าสนใจอย่างไร แต่สำหรับในมุมมองของคุณยุทธ์นั้น การเป็นมัคคุเทศก์มีเสน่ห์ตรงที่การได้พบปะผู้คนมากมายทำให้ต้องฝึกให้ตนเองเป็นคนที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อทั้งตัวเองในเรื่องเวลา รับผิดชอบต่อการจัดการค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในแต่ละทริปและที่สำคัญที่สุดคือการรับผิดชอบต่อชีวิตของผู้อื่นที่มาร่วมคณะทัวร์กับเรา สิ่งเหล่านี้คือเสน่ห์ของมัคคุเทศก์ที่คุณยุทธ์ต้องการสื่อออกมาให้คนภายนอกได้รับรู้

การจะเป็นมัคคุเทศก์ที่ดีได้นั้น คุณยุทธ์ให้ทัศนะที่น่าสนใจเอาไว้ว่าควรจะเป็นคนที่ช่างสังเกตพร้อมที่จะเรียนรู้และรับฟังคำชี้แนะ แนะนำจากผู้อื่นอยู่เสมอโดยในสายอาชีพนี้สามารถก้าวหน้าได้ใน 2 แนวทางคือการเป็นผู้ประกอบการ ผู้บริหารองค์กรเอง หรือจะเป็นในด้านของมัคคุเทศก์ก็ได้เช่นกัน

ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้ภาคการท่องเที่ยวเองก็ต้องมีการปรับตัว

ภาคการท่องเที่ยวในอดีตแตกต่างจากในปัจจุบันเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในส่วนของมัคคุเทศก์ที่มีเรื่องของการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้นเช่นการทำคลิปแนะนำการท่องเที่ยว การให้บริการด้านเทคโนโลยีแก่นักท่องเที่ยว สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ภาคการท่องเที่ยวต้องปรับตัวให้ทันกระแส ซึ่งจะช่วยสร้างความแตกต่างและความน่าสนใจให้กับธุรกิจมากขึ้น

ประสบการณ์ในด้านการทำงานเพื่อพัฒนาภาคการท่องเที่ยว

นอกเหนือไปจากการเข้าร่วมเป็นคณะทำงานในโครงการที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจัดขึ้น ตัวของคุณยุทธ์เองก็มีส่วนร่วมในโครงการที่น่าสนใจเพื่อพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวท้องถิ่นของจังหวัดนครศรีธรรมราชในโครงการการอบรมนักสื่อความหมายซึ่งได้งบประมาณโครงการมาจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดทำเครื่องมือสื่อสารโดยความร่วมมือกับกระทรวง DE ในการนำเทคโนโลยีเข้ามาต่อยอดภาคการท่องเที่ยว รวมถึงวิทยากรจาก ธกส. ที่เข้ามาให้ความรู้ในภาคการบริการและสินค้าผ่านระบบซอฟแวร์และนักเรียนรู้จาก DEPA เข้ามาช่วยต่อยอดในแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Line OA เป็นต้น โดยผู้เข้าร่วมอบรมแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มคือ

  • นักศึกษาภาควิชาท่องเที่ยวภายในพื้นที่
  • เยาวชนที่ทำ CSR ที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยว
  • มัคคุเทศก์ที่มีบัตรประจำตัว
  • ผู้ประกอบการที่มีสินค้าด้านการท่องเที่ยว

โดยทั้ง 4 กลุ่มจะเข้ามาทำการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ที่จำเป็น

เรียนรู้จากภูเก็ต sand box นำมาต่อยอดเพื่อพัฒนาภาคการท่องเที่ยวในจังหวัด

คุณยุทธ์ได้มีโอกาสเข้าร่วมในโครงการภูเก็ต sand box กับทางสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจึงทำให้ได้เห็นโมเดลการทำงานเพื่อฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวจากวิกฤติโควิดที่ผ่านมา โดยความร่วมมือกับ สสว. ช่วยนำร่องโครงการดังกล่าวขยายไปสู่เมืองท่องเที่ยวที่เป็นเมืองใหญ่ 10 เมือง โดยโครงการนี้จะเข้าไปช่วยในเรื่องของการ up-skill และ re-skill ให้กับผู้ที่ยังอยู่ในภาคการท่องเที่ยวเป็นการติดอาวุธให้กับบุคลากรในสายการท่องเที่ยวให้กลับขึ้นมาได้อีกครั้ง โดยการเรียนรู้การนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ในอาชีพที่ตนทำ

ความร่วมมือทุกภาคส่วนคือคีย์เวิร์ดสำคัญที่ช่วยพัฒนาการท่องเที่ยวให้เติบโต

สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมีหน้าที่เหมือนกับสภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมที่ทำหน้าที่เหมือนเป็นเลขาของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในการนำข้อมูลและปัญหาต่าง ๆ ที่ผู้ประกอบการและบุคลากรในสายการท่องเที่ยวมานำเสนอให้ทางกระทรวงได้รับทราบ โดยสภาจะมีตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามานั่งเป็นบอร์ดบริหารร่วมกันเพื่อช่วยผลักดัน ดูแลและเป็นสื่อกลางระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ สำหรับในจังหวัดนครศรีธรรมราชเองก็มีสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวประจำจังหวัดเข้ามาดูแลเฉพาะพื้นที่จังหวัด นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกันของสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวในจังหวัด สมาคมท่องเที่ยวขนอม และสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวลานชการวมถึงชมรมมัคคุเทศก์ประจำจังหวัดเข้ามาช่วยผนึกกำลังกันพัฒนาการท่องเที่ยวในจังหวัดให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

การท่องเที่ยวหลังโควิดกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังโควิดพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเช่นกัน โดยจากการเก็บข้อมูลพบว่าในช่วงหลังกลุ่มทัวร์มีขนาดเล็กลง นักท่องเที่ยวไม่นิยมมาเป็นคณะใหญ่แต่จะมาในรูปแบบของกลุ่มเล็ก ๆ และเน้นมาเป็นครอบครัวมากขึ้น นอกจากนี้ยังนิยมไปยังจุดที่มีความสะดวกและปลอดภัยมากขึ้น วิธีการท่องเที่ยวมีการเปลี่ยนแปลงไปและไม่ค่อยพบเห็น travel agency ไปรับนักท่องเที่ยวเหมือนดังแต่ก่อน พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของภาคการท่องเที่ยวที่ต้องเรียนรู้และปรับตัวด้วยเช่นกัน

ชุมชนจะพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างไรในความเห็นของคุณยุทธ์

ในตอนท้ายคุณยุทธ์ได้ให้ความเห็นในเรื่องของการพัฒนาการท่องเที่ยวของชุมชนเอาไว้อย่างน่าสนใจคือ นอกเหนือจากที่จะโปรโมทให้นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่มากขึ้นก็จะต้องสนใจในเรื่องที่ว่าจะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวซ้ำหรือเกิดการแนะนำบอกต่อให้ได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วหน่วยงานในส่วนของมหาวิทยาลัยเองคณาจารย์ที่เกี่ยวข้องต่างเข้ามาช่วยเป็นคณะทำงานในการขับเคลื่อนอยู่แล้ว จึงควรมีการเผยแพร่ข้อมูลสู่บุคคลภายนอกในการชูจุดแข็ง จุดเด่นของท้องถิ่นของตนเองให้ภายนอกรับรู้และเตรียมพร้อมในการเป็นเจ้าบ้านที่ดีของคนในชุมชนก็จะช่วยให้ชุมชนสามารถพัฒนาการท่องเที่ยวของตนได้อย่างแน่นอน

ชมคลิป VDO สัมภาษณ์

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ

คุณธนาวุฒิ ถาวรพราหมณ์ สร้างคน พัฒนาเมือง ส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชุมชน

หากจะมีใครสักคนที่ควรค่าแก่การยอมรับนับถือ เราอาจมีมาตรวัดในใจอยู่แล้วว่าเขาคนนั้นจะต้องเป็นผู้ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เขาคนนั้นจะต้องมีแนวความคิดที่น่าสนใจและสามารถแปรเปลี่ยนแนวความคิดนั้นออกมาเป็นรูปธรรมและส่งผลบวกต่อสังคมและชุมชนได้ คนเช่นนี้จึงควรค่าแก่การยอมรับนับถืออย่างไม่ต้องสงสัย เฉกเช่นบุคคลต้นแบบในวันนี้ที่มีแนวความคิดที่แตกต่างแต่น่าสนใจ สามารถทำออกมาได้จริงและยังประโยชน์ให้แก่ชุมชน บทความนี้เราอยากจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับชายผู้เป็นคนต้นแบบและกรอบความคิดแหวกแนวอันน่าทึ่ง หากพร้อมแล้วเราไปทำความรู้จักและเรียนรู้แนวความคิดดี ๆ ไปด้วยกัน

นายกเทศมนตรีนักพัฒนากับแนวความคิดที่จะพัฒนาเพื่อชุมชน

นายกปู หรือในชื่อจริงคือ คุณธนาวุฒิ ถาวรพราหมณ์ คือคนต้นแบบที่เราอยากให้ทุกท่านได้ทำความรู้จักกันในวันนี้ ในปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองปากพูน จังหวัดนครศรีธรรมราช ในวัยเด็กของท่านเกิดในครอบครัวที่มีคุณพ่อเป็นครูในขณะที่คุณแม่เป็นหัวหน้าสถานีอนามัยจึงทำให้นายกปูเติบโตมาพร้อมกับการถูกปลูกฝังให้ต้องช่วยเหลืองานต่าง ๆ แก่ชาวบ้านมาตั้งแต่เด็กและเติบโตมาท่ามกลางชุมชนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงทั้งเรื่องของการศึกษาและบริการด้านการแพทย์อย่างเพียงพอ ด้วยการปลูกฝังและสภาพแวดล้อมเช่นนี้จึงหล่อหลอมให้นายกปูมีความต้องการที่จะทำประโยชน์เพื่อสังคมในภายภาคหน้า

นายกปูจบการศึกษาระดับมัธยมที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศและเข้าศึกษาต่อทางด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตสงขลา ก่อนจะย้ายไปที่วิทยาเขตโคราช ซึ่งอุปนิสัยของนายกปูในวัยเรียนคือเป็นคนชอบมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนฝูงจึงเป็นแต้มต่อที่ทำให้นายกปูเป็นที่รู้จักของคนมากหน้าหลายตาอีกทั้งอุปนิสัยรักการเรียนรู้จึงทำให้นายกปูมีแนวความคิดที่จะเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต

ในช่วงปี 2537 รัฐบาลได้ยกสถานะสภาตำบลขึ้นมาเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล และในปี 2538ญาติของนายกปูได้ชักชวนให้นายกปูเข้ามาช่วยงานซึ่งตั้งแต่ปี 2538-2542 นายกปูได้ดำรงตำแหน่งเป็นรองนายก ก่อนจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองปากพูนจนถึงปัจจุบันด้วยแนวความคิดที่ต้องการจะหยิบยื่นโอกาสให้แก่ผู้ด้อยโอกาสเพราะเห็นความลำบากของคนเหล่านี้มาตั้งแต่เด็กนั่นเอง

ความคิดแหวกแนวสู่การพัฒนาชุมชนอย่างเห็นเป็นรูปธรรม

นายกปูเล่าว่าในช่วงที่มีการณรงค์ 5 ส. นั้น ทางนายกปูได้คิดหักมุมแนวทาง 5 ส.จนแตกต่างจากที่อื่น โดย 5 ส.ของนายกปูมีสาระดังนี้

– สกปรก: เพราะสีชุดข้าราชการเป็นสีกากีอันมีความหมายว่าฝุ่นซึ่งหมายถึงข้าราชการจะต้องทำตัวคลุกฝุ่นพร้อมที่จะช่วยเหลือชาวบ้านเสมอ

– ส้นตีน: ส้นเท้าเป็นส่วนเดียวในร่างกายที่ต้องแบกรับน้ำหนักตัว ซึ่งหมายถึงข้าราชการจะต้องพร้อมแบกรับภาระเพื่อสังคม

– ส้วม: ส้วมคือสิ่งที่ใช้ระบายความทุกข์อันหมายถึงข้าราชการจะต้องเป็นที่ระบายความทุกข์ให้แก่ประชาชน

– เสือก: ข้าราชการต้องพร้อมที่จะลงไปหาปัญหา หาข้อมูลของประชาชนไปเก็บสำรวจข้อมูลในทุกด้านของชาวบ้านเพื่อนำมาเป็นแหล่งอ้างอิงในการทำงานพัฒนาชุมชน

– สังคัง: ธรรมชาติของโรคนี้จะสร้างความคันที่ทำให้เกาได้ตรงจุด ข้าราชการจะต้องแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้ตรงจุดและอีกนัยหนึ่งจะหมายถึงสังฆังที่หมายถึงสงฆ์จึงต้องทำหน้าที่เผยแพร่เรื่องราวในด้านดี ๆ ให้แก่ประชาชน

ด้วยชุดความคิดเช่นนี้เองที่ทำให้การทำงานของนายกปูออกมาเป็นรูปธรรมและพัฒนาชุมชนไปในหลายมิติ

แนวความคิดในการพัฒนาเด็กคืออีกหนึ่งด้านที่น่าสนใจของนายกปู

นายกปูมีความเชื่ออยู่เสมอว่าไม่มีเด็กที่พัฒนาไม่ได้มีแต่การเรียนการสอนที่ไม่พัฒนาเพราะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนา IQ เพียงอย่างเดียว สำหรับนายกปูนั้นเด็กควรจะได้รับการปลูกฝังและพัฒนาไปที่ชุดความคิดหรือ Mind Set มากกว่า เพราะการพัฒนา Mind Set จะทำให้เด็กสามารถนำชุดความคิดที่ถูกปลูกฝังไว้นี้ไปใช้แก้ปัญหาในอนาคตได้ ซึ่งแนวทาการพัฒนา Mind set นั้นนายกปูเริ่มต้นตั้งแต่การพัฒนาในช่วงตั้งครรภ์ทั้งในเรื่องของอาหาร การดำรงชีวิตภายใต้แนวความคิด 3 อย่างคือการใช้ตรรกะศาสตร์ จริยศาสตร์และสุนทรียศาสตร์มาผสมผสานกัน

วิถีชุมชน ไอเดียนวัตกรรม และการสื่อสาร นำท่องเที่ยว กุญแจสำคัญของความสำเร็จ

ด้วยความที่ชอบสำรวจทั้งวิถีชาวบ้านและจุดต่าง ๆ ทั่วปากพูนจึงทำให้นายกปูรู้ข้อดีของจุดต่าง ๆ ที่ได้ทำการสำรวจมาและด้วยอุปนิสัยที่ชอบเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกันประกอบกับต้องการที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวในปากพูนทำให้นายกปูริเริ่มที่จะทำการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวแต่ไม่ใช้การท่องเที่ยวนำซึ่งในช่วงนำร่องช่วงปี 2551-2554 นายกปูสามารถนำนักท่องเที่ยวจากที่อื่นให้เข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ถึง 4 หมื่นคนเลยทีเดียว

แนวความคิดสุดแหวกแนวในการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยไม่ใช้การท่องเที่ยวนี้นายกปูเน้นที่จะขายวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ทรัพยากรทางธรรมชาติ รวมถึงของดีในด้านต่าง ๆของตัวจังหวัดเป็นจุดขายสำคัญเพื่อดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวให้เข้ามาชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ของดีในด้านต่าง ๆ รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติที่น่าสนใจ โดยนายกปูเน้นการเดินสายบรรยายและขายไอเดียให้กับองค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ เช่นการขายไอเดียให้แก่ สสส. เพื่อให้ทุกคนมาดูงาน ดูแนวความคิดการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวโดยไม่ใช้การท่องเที่ยวนำนี้ให้แก่ตัวแทนชุมชนต่าง ๆ ซึ่งจุดมุ่งหมายหลักคือการส่งต่อแนวความคิดเพื่อให้พวกเขากลับไปปรับปรุงและพัฒนาให้สอดคล้องกับชุมชนของพวกเขาในขณะเดียวกันคณะดูงานแต่ละคณะที่เข้ามานั้นก็มาพร้อมเม็ดเงินที่ผันกลับมาสู่ชุมชนและสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนไม่น้อยทีเดียว

การตลาดนำการผลิตและบริการ คือ กลยุทธสำคัญในการสร้างรายได้ให้ชุมชน

นายกปูกล่าวว่าจุดอ่อนของหน่วยงานราชการคือการทำการตลาด สำหรับความสำเร็จของนายกปูอยู่ที่การรู้จักการขายหรือก็คือการทำการตลาดนั่นเอง โดยนายกปูกล่าวว่าก่อนที่เราจะเสนอขายอะไรให้แก่ผู้ที่สนใจ เราต้องสร้างคุณค่าก่อนเสมอแล้วมูลค่าก็จะตามมาเอง เราต้องขายศรัทธาให้แก่ผู้ที่สนใจ สร้างสายสัมพันธ์และส่งต่อน้ำใจให้แก่ผู้ที่สนใจแล้วเราจะสามารถขายของได้เหมือนอย่างที่นายกปูทำสำเร็จกับการพัฒนาการท่องเที่ยวมาแล้ว

สำหรับโครงการในอนาคตตอนนี้นายกปูผลักดันโครงการ Feel Good Market เพื่อพัฒนาชุมชนโดยการนำการตลาดมาใช้เต็มรูปแบบภายใต้แนวความคิดการระเบิดความต้องการจากภายใน โดยโครงการนี้นายกปูได้ใช้ศักยภาพในด้านความคิดของกลุ่ม LGBT ในพื้นที่ให้มาเป็นคณะทำงานซึ่งกระแสตอบรับของโครงการนี้เป็นไปในทิศทางที่ดี

อีกหนึ่งโครงการคือ Smart City ที่จะพัฒนาแอปพลิเคชั่นแนะนำจุด Check point ที่เป็นของดีประจำจังหวัดนครศรีธรรมราชให้แก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาเพื่อการใช้งานจริง

มุมมองที่นายกปูอยากจะฝาก

ในช่วงท้ายนายกปูได้ฝากความเห็นไว้ว่าบ้านเมืองจะได้ดีขึ้นอยู่ที่ประชาชนเลือกคนแบบไหนให้เข้ามาทำหน้าที่แทนเรา โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาในทุกมิติของคนในประเทศ แม้จะเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดแต่ทว่าก็มีความแข็งแกร่งที่สุดในระบบราชการ

ในเรื่องของต้นทุนและศักยภาพนั้นทั้ง 2 สิ่งนี้มีอยู่ทุกที่แต่อยู่ที่ว่าเราจะใช้แนวความคิดอย่างไรเพื่อค้นหาและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ที่สุด พยายามสร้างศักยภาพ เชื่อมโยงและบูรณาการสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกันท้ายที่สุดมูลค่าก็จะตามมาเอง

ชมคลิป VDO สัมภาษณ์

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ

คุณ ทานตะวัน​  เขียวน้ำชุม ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ สร้างจิตสำนึกอนุรักษ์

การพาตนเองกลับไปสู่ธรรมชาติ นอกจากเป็นวิธีที่ช่วยเยียวยาจิตใจได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังเป็นการย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์เราเดินทางมาไกลแค่ไหน วิถีชีวิตของเราต้องพึ่งพาธรรมชาติมากน้อยเพียงใด การอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติที่เหลือน้อยลงทุกทีจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรตระหนัก อย่างที่คนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ได้พยายามถ่ายทอดความรู้แก่เด็กรุ่นใหม่ให้เห็นถึงความสำคัญของผืนป่า ผ่านรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ สร้างจิตสำนึกอนุรักษ์ คุณ ทานตะวัน​  เขียวน้ำชุม ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทาร์ซาน แอดเวนเจอร์ ทัวร์ จำกัด (เดินป่าหลังคาแดนใต้ Tarzan Adventure Team)

จากวิถีชีวิตชาวเมือง มุ่งหน้าสู่วิถีชีวิตธรรมชาติ

คุณทานตะวัน หรือครูแจง พื้นเพเดิมเป็นคนกรุงเทพมหานคร ชื่นชอบการทำกิจกรรมและการท่องเที่ยวตั้งแต่เด็ก สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านการจัดการโรงแรม เพราะคิดว่าตรงกับคาแร็กเตอร์ของตนเองขณะที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2 มีโอกาสได้ฝึกงานที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ควบคู่กับการทำงานพาร์ทไทม์ตามโรงแรม หลังจากเรียนจบได้ทำงานเป็น Event coordinator  ทำหน้าที่บริหารพื้นที่ในการจัดงานที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จนวันหนึ่งได้ไปเห็นโฆษณาที่ฉากหลังเป็นป่าเขา ทำให้คุณทานตะวันรู้ได้ในทันทีว่านี่คือ ตัวตนของตนเอง จึงตัดสินใจลาออกจากงาน เพื่อเดินทางสู่เส้นทางธรรมชาติ

คุณทานตะวันเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครกับทางชมรมนักนิยมธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มผู้รักธรรมชาติ นอกจากงานพื้นฐานในการให้ความรู้เรื่องธรรมชาติแก่คนทั่วไปแล้ว ทางชมรมมีการจัดกิจกรรมภาคสนามค่ายสำหรับเด็กและเยาวชนเพื่อเรียนรู้การดำรงชีพในป่า ซึ่งต้องผ่านการฝึกอบรม เรียนรู้ตั้งแต่ความรู้ขั้นพื้นฐาน องค์ประกอบต่างๆ ในธรรมชาติ การสื่อความหมายของธรรมชาติ จิตวิทยาเด็ก การตั้งแคมป์ ฯ  การฝึกอบรมทั้งหมดนี้ผู้ที่เป็นอาสาสมัครต่างสละเวลา แรงกาย แรงใจ และกำลังทรัพย์ เพื่อพัฒนาตนเองให้เป็นพี่เลี้ยงที่มีประสิทธิภาพ คอยให้ความช่วยเหลือแก่เยาวชนได้

การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ กับการสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์

คุณทานตะวัน เล่าว่า สำหรับตัวเองนั้นการทำค่ายครั้งแรกเป็นอะไรที่ยากมาก แม้จะได้รับการตอบรับที่ดีจากเยาวชน แต่ส่วนตัวคิดว่าต้องพัฒนาให้มากกว่านี้อีก จึงเดินป่าไปเรื่อยๆ และหาข้อมูลจากเว็บไซต์เพื่อการเดินป่าเพื่อเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ จนไปเจอกับภาพอุทยานแห่งชาติเขาหลวงแล้วเกิดความชื่นชอบอย่างมาก แม้ภาพที่เห็นนั้นดูสวยงามเพียงใด แต่คุณทานตะวันยังไม่กล้าที่จะเดินทางไป จนเมื่อโอกาสมาถึงและได้เดินป่าตามที่ตั้งใจกลับพบว่าเส้นทางยากกว่าที่คาดไว้ แม้การเดินทางในครั้งนั้นจะลำบาก แต่ก็พบว่าสภาพป่ายังคงสมบูรณ์ และมีความหลากหลายทางชีวภาพ หลังจากนั้นคุณทานตะวันตัดสินใจที่จะหลงหลักปักฐานอยู่ที่นครศรีธรรมราช เมื่อปักหมุดเส้นทางชีวิตมุ่งไปที่การเดินป่า คุณทานตะวันจึงใช้ประสบการณ์และทรัพยากรที่มีมาคิดวิเคราะห์ว่าจะทำอย่างไรให้คนอื่นที่อยากเดินป่า อยากสัมผัสใกล้ชิดธรรมชาติ แต่ไม่มีประสบการณ์ ไม่รู้ว่าต้องทำยังไง สามารถเดินป่าได้ อย่างการเตรียมตัวสำหรับมือใหม่ จำเป็นจะต้องเตรียมความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ อุปกรณ์ที่ใช้ต้องเหมาะสมกับการเดินป่า เช่น รองเท้า เป้ใส่สัมภาระ

จนเมื่อคุณทานตะวันมีลูก ก็อยากให้ลูกเข้าใจวิถีธรรมชาติ จึงเริ่มจัดกิจกรรมเดินป่าสำหรับเด็ก เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้แก่เด็กๆ โดยชักชวนเพื่อนๆ ของลูกมาเข้าร่วมกิจกรรม ให้เด็กๆ ได้มีโอกาสใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติ ตลอดระยะเวลา 8 ปี ในการดำเนินกิจกรรม กว่า 35 รุ่นที่เข้าร่วมโครงการ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีตั้งแต่เด็กปฐมวัยไปจนถึงผู้สูงอายุ กิจกรรมมีการไต่ระดับจากการเดินป่าเป็นการเดินขึ้นเขา คุณทานตะวัน เล่าว่า พวกเด็กๆ มีพลังอย่างล้นเหลือ แม้จะงอแงบ้างแต่ก็ยังคงก้าวเดินต่อไปเพื่อไปสู่จุดหมาย นอกจากเกิดความภูมิใจในตัวเองที่ทำได้สำเร็จแล้ว การเดินป่ายังเป็นฝึกทักษะในการจัดการอารมณ์ของตัวเองเช่นกัน เป็นการฝึกสติ สมาธิ ให้จดจ่ออยู่กับปัจจุบัน อยู่กับทุกย่างก้าว เป็นการทำสมาธิแบบเคลื่อนไหว กิจกรรมนี้จึงเหมาะกับเด็กๆ มากนอกจากนี้ยังมีกิจกรรมวิทยาศาสตร์โดยใช้ธรรมชาติสอน จัดที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครศรีธรรมราช  อำเภอพรหมคีรี

ท่องเที่ยวสีเขียว ภายใต้ BCG Model

การเดินป่า เป็นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เน้นเที่ยวแบบพอดี ไม่ใช่การบุกรุก เข้าป่าเพื่อเรียนรู้ ทำความเข้าใจ ซึ่งการท่องเที่ยวในรูปแบบ BCG Model  เป็นเรื่องที่คุณทานตะวันให้ความสำคัญ เป็นการรับผิดชอบของธุรกิจที่มีต่อสิ่งแวดล้อม โมเดลนี้เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ( Bioeconomy)  มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และระบบเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มุ่งแก้ไขปัญหามลพิษ เพื่อลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน ในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวชุมชน ผู้ประกอบการต่างเริ่มตื่นตัวและปรับตัวโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน พยายามหลีกเลี่ยงอะไรก็ตามที่เป็นการทำลายทรัพยากรทางธรรมชาติ อย่างเรื่องขยะเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก แต่สามารถเริ่มต้นจากตัวเราเองได้ ลดการใช้ ใช้ซ้ำ ทิ้งให้ถูกวิธี และกำจัดอย่างเหมาะสม

ปัญหาสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตบนโลกอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทรัพยากรทางธรรมชาติที่ลดลง เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ สภาพอากาศที่แปรปรวน ตลอดจนปัญหาอื่นๆ ที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็วที่สุด แน่นอนว่าต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน หากไม่สามารถชดเชยในสิ่งที่เสียไปได้ อย่างน้อยก็อย่าทำลาย เพื่อส่งต่อความอุดมสมบูรณ์ ความงามของธรรมชาติไปสู่คนรุ่นต่อไป รวมถึงสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นบนโลกใบนี้

ชมคลิป VDO สัมภาษณ์

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ

 

คุณ รณชิต จิระพิบูลย์พันธ์ สืบสาน ส่งเสริมท่องเที่ยว ทัวร์วัฒนธรรม

นครศรีธรรมราช เมืองที่โดดเด่นด้านวัฒนธรรม มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่งดงาม อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ เชื่อว่านักท่องเที่ยวหลายท่านอยากที่จะเดินทางมาสัมผัสบรรยากาศเหล่านี้แน่นอน ทางด้านของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวก็เป็นอีกแรงขับเคลื่อนในการผลักดันการท่องเที่ยวนครศรีธรรมราชให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น คนต้นแบบเมืองนครท่านนี้คลุกคลีอยู่ในแวดวงการท่องเที่ยวตั้งแต่วัยเด็ก ค่อยๆ ซึมซับประสบการณ์เก็บเกี่ยวความรู้ต่างๆ จนก้าวขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสาน ส่งเสริมท่องเที่ยว ทัวร์วัฒนธรรม คุณ รณชิต จิระพิบูลย์พันธ์ กรรมการบริษัทสีนวลกรุ๊ป (2017) จำกัด

คลุกคลีอยู่ในแวดวงการท่องเที่ยวตั้งแต่วัยเด็กโดยมีคุณพ่อเป็นต้นแบบ

คุณรณชิต เติบโตในครอบครัวที่ทำธุรกิจด้านการท่องเที่ยว รถทัวร์นำเที่ยว ในวัยเด็กมีโอกาสได้ไปทำงานร่วมกับคุณพ่อ เรียกได้ว่าเดินทางไปทั่วทุกภาค หน้าที่ของคุณรณชิตในตอนนั้นเป็นทั้งคนดูแลรถ ดูแลนักท่องเที่ยว และช่างภาพ  การที่ได้เดินทางท่องเที่ยวตั้งแต่เด็ก ส่งผลให้คุณรณชิตเจอผู้คนมากมายในสถานการณ์ที่หลากหลาย ได้สัมผัสกับวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่ต่างกันในแต่ละภาคของประเทศไทย สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้กลายเป็นเด็กที่สามารถมองโลกได้กว้างกว่าเด็กคนอื่นในวัยเดียวกัน คุณรณชิต เล่าว่า ในตอนที่ยังเด็กตัวเองก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องนั่งรถเป็นระยะทางไกลเพื่อเดินทางไปยังหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว เมื่อโตขึ้นจึงเข้าใจว่านั่นคือการศึกษาวัฒนธรรมของชุมชนอื่น นอกเหนือจากชุมชนที่ตนเองเติบโตมา ซึ่งเป้าหมายของการท่องเที่ยวไม่ใช่แค่การพักผ่อนเท่านั้น แต่เป็นการเรียนรู้วิถีชีวิตของผู้คนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมแม้จะอาศัยอยู่ในประเทศเดียวกันก็ตาม ซึ่งระหว่างการเดินทางนักท่องเที่ยวต่างก็ได้ผจญภัยร่วมกัน และได้รับประสบการณ์แปลกใหม่ที่หาไม่ได้จากชุมชนของตัวเอง

บทบาทในการทำธุรกิจท่องเที่ยว กับการรับช่วงต่อกิจการครอบครัว

การเดินทางของสีนวลกรุ๊ปมีการพัฒนามาเรื่อยๆ ตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ ต่อด้วยพี่ชาย จนมาถึงคุณรณชิต เริ่มจากกิจการเดินรถประจำทาง จากนั้นเปลี่ยนมาเป็นรถบัสนำเที่ยว การที่ได้เห็นคุณพ่อทำงานทำให้คุณรณชิตมีความใฝ่ฝันว่าอยากเป็นไกด์นำเที่ยว ซึ่งทางบ้านให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีก็ได้ทำงานเป็นไกด์ตามที่ตั้งใจไว้ รวมทั้งฝึกฝนการทำงานทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับรถทัวร์นำเที่ยว คุณรณชิตรับช่วงต่อธุรกิจของครอบครัวต่อจากพี่ชาย โดยนำความรู้ที่ได้ศึกษามาประยุกต์ใช้กับธุรกิจ พยายามปรับปรุงให้รูปแบบการท่องเที่ยวมีความทันสมัยมากขึ้น เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น ได้มีการเพิ่มจำนวนรถบัสเพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยว นำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้กับธุรกิจ ลงทุนกับอุปกรณ์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว จากเดิมที่กลุ่มลูกค้าเป็นผู้สูงอายุ ได้ปรับเปลี่ยนไปที่กลุ่มวัยทำงาน เพราะต้องการให้รูปแบบการท่องเที่ยวมีความสนุกสนานมากขึ้น เน้นการถ่ายรูป หากเป็นกรุ๊ปทัวร์เชิงวิชาการจะมีผู้ที่คอยให้ความรู้ ที่สำคัญคือต้องเป็นทริปที่สร้างความประทับใจให้กับทุกคน

สถานการณ์โควิด-19 กับผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยว

คุณรณชิต เล่าว่า ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ไม่มีทัวร์มาถึง 2 ปี ได้มีการปรับตัวเพื่อประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอด ขายรถบัสเพื่อเปลี่ยนเป็นรถตู้ เน้นบริการนักท่องเที่ยวสายบุญ แม้เผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากแต่ยังมีความโชคดีอยู่บ้าง อย่างในช่วงที่กระแสของไอ้ไข่วัดเจดีย์กำลังมาแรง ทำให้นครศรีธรรมราชมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาเป็นจำนวนมาก คุณรณชิต มีความเห็นว่า หากวิกฤตโควิด-19 จบลง เชื่อว่านครศรีธรรมราชจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น จากประสบการณ์ในการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนนครศรีธรรมราช คุณรณชิต เล่าว่า ร้อยละ 50 ของนักท่องเที่ยวนิยมไปเที่ยวอำเภอขนอมและอำเภอสิชล รองลงมาคือคีรีวงและอำเภอเมืองตามลำดับ สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในอำเภอเมือง คือ  วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ศาลหลักเมือง ร้านอาหารขึ้นชื่อ และร้านน้ำชา  ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มานครศรีธรรมราช หลักๆ จะแบ่งได้ 2 ประเภท คือ มาเองโดยเหมารถตู้ และนักท่องเที่ยวที่มากับบริษัททัวร์จากที่อื่น ซึ่งอย่างหลังคุณรณชิตจะคอยติดต่อประสานงานให้

คุณรณชิต ให้ความเห็นว่า ช่วงโควิดนักท่องเที่ยวเป็นชาวไทย 100% ซึ่งเน้นความเป็นส่วนตัว ทางคุณรณชิตเองก็ปฏิบัติตามมาตรการรัฐพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเช่นกัน หากพูดถึงจุดขายของนครศรีธรรมราชในมุมของคุณรณชิต  อาหารถือเป็นจุดเด่น ด้วยรสชาติจัดจ้าน มีความเป็นเอกลักษณ์ นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของความเชื่อ วัฒนธรรม และธรรมชาติที่สวยงาม ทางคุณรณชิตเองมักจะโปรโมทสถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร ผ่านทาง Facebook ส่วนตัว เพื่อดึงความสนใจจากผู้พบเห็น นอกจากนักท่องเที่ยวสายบุญแล้ว นักท่องเที่ยวอีกกลุ่มที่น่าสนใจคือ ช่วงอายุ 20 ต้นๆ หลายคนสร้างรายได้ผ่านช่องทางออนไลน์ จึงมีกำลังซื้อที่เยอะ ส่วนใหญ่เน้นกิจกรรมทางทะเล ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้มักจะบอกต่อกัน ผู้ประกอบการต้องปรับตัวตามพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป ส่วนใหญ่เน้นเที่ยวตามรีวิว ค้นหาข้อมูลเอง การนำเทคโนโลยีมาใช้กับธุรกิจการท่องเที่ยว รวมถึงการโปรโมทผ่านช่องทางออนไลน์จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามไป

คาดว่าหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ดีขึ้น การท่องเที่ยวนครศรีธรรมราชน่าจะกลับมาคึกคักกว่าเดิม ด้วยความที่มีต้นทุนทางด้านวัฒนธรรมและทรัพยากรทางธรรมชาติเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อาจจะต้องเพิ่มเติมในส่วนของการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการ สร้างความพึงพอใจให้กับนักท่องเที่ยวในอนาคต

ชมคลิป VDO สัมภาษณ์

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ

 

ผศ.เฉลิมพล จันทรโชติ ส่งเสริมงานศิลป์ สืบทอดวัฒนธรรมประเพณี

ศิลปะการแสดงพื้นบ้านสะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิด ความเชื่อ ชีวิตความเป็นอยู่ และอัตลักษณ์ของผู้คนในท้องถิ่น มรดกทางภูมิปัญญาของคนรุ่นเก่าที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ ท่วงท่าการร่ายรำที่สอดคล้องไปกับจังหวะดนตรี ทำให้ผู้ชมอย่างเราไม่อาจละสายตาขณะรับชมไปได้ เช่นเดียวกับที่คนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ที่ได้พัฒนาต่อยอดศิลปะการแสดงพื้นบ้านให้เข้ากับยุคสมัย เข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น ผ่านงานต้นแบบที่แฝงมรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่นเอาไว้ ผศ.เฉลิมพล จันทรโชติ อาจารย์ประจำสาขาวิชานาฏศิลป์ศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม

ความชื่นชอบในการร่ายรำ กับการฝึกฝนอย่างหนัก

            ผศ.เฉลิมพล พื้นเพเป็นคนสงขลา เริ่มเรียนนาฏศิลป์ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา มีความชื่นชอบในการร้องรำ จึงตัดสินใจเข้าเรียนที่วิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช สาขาวิชาโขนพระ สำเร็จการศึกษาคณะศิลปนาฏดุริยางค์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เรียกได้ว่าอาจารย์อยู่ในสายศิลปินตั้งแต่วัยเด็ก อาจารย์เฉลิมพล เล่าว่า การฝึกซ้อมร่ายรำต้องอาศัยความพยายามและความอดทนอย่างมาก ในขณะที่ครูบาอาจารย์ค่อนข้างเคี่ยวเข็ญอย่างหนักเช่นกัน เพราะช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาในการปั้นแต่ง เพื่อให้การแสดงออกมาดีที่สุด แต่ละคนจึงมีคาแรกเตอร์แตกต่างกันไปตามตัวละครที่ได้สวมบทบาท

            ซึ่งวิชานาฏศิลป์ที่สอนกันตามโรงเรียนทั่วไปไม่เฉพาะเจาะจงว่าใครต้องรำเป็นตัวละครใด มีอิสระในการเลือก แต่สำหรับวิทยาลัยนาฏศิลปไม่เป็นเช่นนั้น ผู้เรียนจะได้รับการคัดเลือกว่าควรเรียนสาขาใด โดยดูจากลักษณะทางกายภาพของแต่ละบุคคลว่าเหมาะสมกับตัวละครใด ให้ความสำคัญตั้งแต่การปูพื้นฐานท่ารำของตัวละครในสาขาวิชาเอกที่เราเรียน เพื่อที่จะสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้ อาจารย์เฉลิมพล เล่าว่า ตัวพระกับตัวนาง นอกจากท่วงท่าการร่ายรำที่ต่างกันแล้ว การใช้พละกำลังก็ต่างเช่นกัน ตัวนางมีการเคลื่อนไหวที่ดูอ่อนโยนจึงใช้พลังน้อยกว่าตัวพระที่ต้องดูสง่างามเข้มแข็งตลอดเวลา  อาจารย์เฉลิมพล มองว่า การทำงานในอนาคตไม่จำกัดแค่ความสามารถด้านใดด้านหนึ่ง เด็กรุ่นใหม่จำเป็นจะต้องมีความรู้ที่หลากหลายเพื่อนำไปใช้ในการทำงาน ในฐานะที่เป็นอาจารย์จำเป็นจะต้องสอนทั้งตัวพระและตัวนาง จึงอยากให้เด็กๆ มีพื้นฐานที่แน่นก่อน แล้วค่อยๆ ต่อยอดไปฝึกฝนตามตัวละครที่ชื่นชอบ

จากศิลปินกับการก้าวไปสู่เส้นทางการเป็นอาจารย์

หลังจากจบการศึกษาระดับชั้นปริญญษตรี อาจารย์เฉลิมพลได้ทำงานเป็นนักวิชาการการศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  จากนั้นได้ผันตัวมาเป็นอาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มีโอกาสได้รับทุนจากรัฐบาลประเทศอินโดนีเซีย เป็นช่วงเวลาที่ได้รับประสบการณ์แปลกใหม่ในชีวิต ได้เรียนรู้วิธีการร่ายรำใหม่ๆ จากเจ้าของวัฒนธรรม อาจารย์เฉลิมพล เล่าว่า ตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่อยู่บาหลี ตัวเองต้องพยายามเรียนรู้ให้ได้มากที่สุด เพื่อนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับกลับมาสอนลูกศิษย์ จากนั้นอาจารย์ได้เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโท ควบคู่กับการเรียนภาษาอังกฤษ และเดินทางไปบาหลีเพื่อไปเรียนรู้นาฏศิลป์บาหลีจากศิลปินที่นั่นจนมีความรู้ในระดับนึง หลังจากที่สำเร็จการศึกษาสาขาศิลปการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้เข้าทำงานในมหาวิทยาลัย จนมีโอกาสสอบในตำแหน่งอาจารย์ และเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชานาฏศิลป์ศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช

บทบาทของหัวหน้างานวิจัยสร้างสรรค์ที่อาจารย์เฉลิมพลได้รับ ทำหน้าหน้าที่หลักในการผลิตผลงานให้กับทางวิทยาลัย มีทั้งศิลปนิพนธ์ในเรื่องของงานอนุรักษ์ ซึ่งอยู่ในรูปแบบของงานวิจัย เช่น ศึกษากลวิธีการรำของครูอาจารย์รุ่นเก่า เพื่อบันทึกเก็บเป็นข้อมูล  วิเคราะห์กระบวนการรำว่าเทคนิควิธีการของครูสมัยก่อนเป็นอย่างไร และในส่วนของงานสร้างสรรค์ เป็นงานที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ครีเอทงานนาฏศิลป์ตามความต้องการของตนเอง

ส่งเสริมงานศิลป์ สืบทอดวัฒนธรรมประเพณี ผ่านการแสดงที่แฝงอัตลักษณ์ท้องถิ่น

อาจารย์เฉลิมพล เล่าว่า การแสดงแต่ละชุดใช้ระยะเวลากว่า 1 ปีในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยที่นักเรียนมีส่วนร่วมในชิ้นงานนั้น อย่างนาฏศิลป์สร้างสรรค์ชุด “ลายถมเมืองนคร” แรงบันดาลใจเกิดจากลวดลายที่สวยงามของเครื่องถม นำเสนอความงามของลายถมผ่านเครื่องแต่งกายของนักแสดง เปรียบเหมือนเป็นเครื่องถมชิ้นหนึ่ง อาศัยแนวคิดจากศาสตร์ 4 DNA  ซึ่งก็คือ ศาสตร์ที่ช่วยดึงจุดเด่นของจังหวัด มาต่อยอดพัฒนาสินค้าและศิลปวัฒนธรรมที่มีอยู่ในชุมชนให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น การแสดงชุด “ลายถมเมืองนคร” ผสมผสานการแสดงด้านศิลปวัฒนธรรมของเมืองนคร โดยนำท่ารำโนราห์กับนาฏยลักษณ์ของวังเจ้าพระยานครมาผสมกัน มีการใช้ดนตรีไทยและดนตรีภาคใต้ในการให้จังหวะ ซึ่งท่ารำถอดแบบมาจากลวดลายเครื่องถมเช่นกัน เป็นผลงานที่แฝงไว้ด้วยอัตลักษณ์ท้องถิ่นและความคิดสร้างสรรค์อย่างแท้จริง

ระบำสร้างสรรค์ชุด “สราญราษฎร์สักการะ” แนวคิดมาจากพิธีการสักการะพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช (ปฐมกษัตริย์ต้นราชวงศ์ปทุมวงศ์ แห่งอาณาจักรตามพรลิงก์ ผู้สร้างเมืองนครศรีธรรมราช) แน่นอนว่าใช้คอนเซปท์ถอด DNA เมืองนคร ส่วนงานสร้างสรรค์การแสดงชุด “สาวปากใต้” คำว่า ปากใต้ เป็นคำโบราณก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้คำว่า “ปักษ์ใต้” การแสดงชุดนี้ไม่ได้สื่อถึงวิถีชีวิต แต่สื่อถึงความเป็นผู้หญิง ความคาดหวังที่มีต่อผู้หญิง ภายใต้แนวคิดที่แสดงให้เห็นถึงความนุ่มนวลและความแข็งแกร่ง โดยพูดในองค์รวมของความเป็นผู้หญิงภาคใต้ ผสมผสานท่ารำท้องถิ่นแบบองค์รวมของวัฒนธรรมชาวใต้และชาวมลายู เช่น โนราห์ รองเง็ง ให้เกิดความกลมกลืนกัน ในส่วนของเครื่องแต่งกายใช้ผ้าพื้นเมือง ลายผ้า สีสัน ทรงผม เครื่องประดับ ดอกไม้ และองค์ระกอบอื่น ทุกอย่างล้วนแฝงไปด้วยความหมายที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์สาวปากใต้

การถ่ายทอดองค์ความรู้ของอาจารย์มักจะบอกแนวคิดและวิธีการเอาไว้ เพื่อให้คนรุ่นใหม่เข้าใจและสามารถสืบสานต่อยอดผลงานได้ เมื่อเราเห็นถึงคุณค่าของงานที่ทำและได้เป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ก็จะเกิดความภาคภูมิใจในรากเหง้าของตนเอง อยากที่จะส่งต่อความงดงามของสุนทรียศาสตร์ที่ไม่อาจประเมินค่าได้

ชมคลิป VDO

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ

ผศ.ดร.เมธาวี จำเนียร สื่อสาร สืบทอด ต่อยอดทุนวัฒนธรรมชุมชน

ในแต่ละชุมชนย่อมมีวัฒนธรรมและขนบประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ของตนและสืบทอดเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมเหล่านี้อาจจะพูดได้เต็มปากว่าเป็นความภาคภูมิใจของชุมชนนั้น ๆ ก็ว่าได้ แต่เมื่อโลกหมุนเวียนเข้าสู่ยุคของเทคโนโลยี วัฒนธรรมชุมชนอันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นเองก็เริ่มจะเลือนหายทั้งการถูกละเลยจากคนรุ่นใหม่ ๆ รวมถึงการไม่สามารถพัฒนาให้ร่วมสมัยได้ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างมาก เพราะวัฒนธรรมบางอย่างหากสามารถนำไปต่อยอดได้ก็จะสร้างทั้งโอกาสและรายได้ให้กับชุมชนอย่างมหาศาล ด้วยเหตุนี้เองจึงมีบุคคลต้นแบบท่านหนึ่งที่ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาและสืบทอดวัฒนธรรมของแต่ละชุมชนให้คงอยู่ผ่านกระบวนการสื่อสาร เผยแพร่วัฒนธรรมนั้นให้เป็นที่รู้จัก บุคคลต้นแบบที่เราจะพาไปทำความรู้จักผู้นี้ก็คือ ผศ.ดร.เมธาวี จำเนียร หรืออาจารย์แม้ว อาจารย์ประจำคณะวิทยาการจัดการ หลักสูตรนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

วัยเด็กจากหาดใหญ่สู่การเป็นนักวิจัยที่มาทำประโยชน์ให้กับนครศรีธรรมราช

อาจารย์แม้วไม่ใช่คนจังหวัดนครศรีธรรมราชโดยกำเนิด อาจารย์มีบ้านเดิมอยู่ในพื้นที่หาดใหญ่จังหวัดสงขลา ในวัยเด็กของอาจารย์เกิดและเติบโตอยู่ภายในพื้นที่จังหวัดสงขลามาโดยตลอดจนกระทั่งเข้าศึกษาต่อที่คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่ด้วยความชื่นชอบในด้านการเขียนและเคยได้เขียนบทความลงวารสารต่าง ๆ มาแล้วอาจารย์แม้วจึงเริ่มหันเหความสนใจเข้าสู่แวดวงของการสื่อสารมวลชนโดยเข้าศึกษาต่อที่คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และกลับไปทำงานที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในด้านการประชาสัมพันธ์รวมถึงเป็นนักวิจัยอยู่ที่สถาบันแห่งนี้ด้วย

ในวันหนึ่งอาจารย์แม้วมองเห็นโอกาสที่จะได้ลองเปลี่ยนแปลงตัวเองจึงได้ลองสมัครงานในตำแหน่งอาจารย์ที่คณะวิทยาการจัดการ หลักสูตรนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชในปี 2551 และได้รับโอกาสให้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่มาเลเซีย ภายหลังเรียนจบจึงได้กลับมาทำงานด้านวิชาการและการวิจัยที่ราชภัฏนครศรีธรรมราชทั้ง ๆ ที่แต่แรกนั้นอาจารย์แม้วไม่ได้รู้สึกอยากที่จะเป็นนักวิจัยเลยด้วยซ้ำ

จุดเริ่มต้นของการทำงานคือการมองเห็นของดีที่หลากหลายในพื้นที่นครศรีธรรมราช

ตลอดระยะเวลา 13 ปีที่อาจารย์แม้วได้มาทำงานและใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สิ่งที่อาจารย์แม้วมองเห็นคือ “ความหลากหลายของวัฒนธรรมและทรัพยากรต่าง ๆ ในพื้นที่” รวมไปถึง “ความอุดมสมบูรณ์ในทุก ๆ ด้านของจังหวัดนี้” แต่แม้จะมีความหลากหลายและความอุดมสมบูรณ์มากเพียงใด ของดีหลาย ๆ อย่างกลับถูกละเลยและมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย ด้วยความเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่นอกจากจะมีพันธกิจในด้านการสอนแล้ว อาจารย์แม้วยังมีพันธกิจในเรื่องของการวิจัยและการให้บริการวิชาการแก่ชุมชนด้วย อาจารย์แม้วจึงต้องการที่จะผลักดันของดีในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นภายใต้องค์ความรู้ด้านการสื่อสารมวลชนที่อาจารย์แม้วมี

3 ของดี 3 วัฒนธรรมชุมชนได้รับการต่อยอดจนสร้างชื่อและสร้างโอกาสให้ชุมชน

เมื่ออาจารย์แม้วตั้งใจที่จะช่วยผลักดันวัฒนธรรมชุมชนอันเป็นของดีในแต่ละพื้นที่ให้เป็นที่รู้จัก อาจารย์แม้วจึงเริ่มมองหาวัฒนธรรมแรกที่ต้องการสืบทอดและต่อยอดให้ร่วมสมัยมากขึ้น โดยของดีแรกที่อาจารย์แม้วเลือกก็คือ “รำโทนนกพิทิด” อันเป็นการละเล่นพื้นบ้านของตำบลกรุงชิง ซึ่งอาจารย์แม้วได้มีโอกาสได้เข้าไปทำความรู้จักกับผู้นำชุมชน และพบว่าการละเล่นพื้นบ้านนี้แม้จะเป็นของดีแต่กลับมีผู้ที่สืบสานน้อยมาก อาจารย์แม้วจึงได้เข้าไปช่วยสร้างกระบวนการรับรู้การละเล่นพื้นบ้านนี้ให้กับเยาวชนในพื้นที่ทั้งการสร้างสิ่งพิมพ์ขนาดเล็กรวมถึงการบันทึกวิดีโอท่ารำและเพลงประกอบ จนในภายหลังทางมหาวิทยาลัยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสืบสานวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยจึงส่งเสริมให้เกิดการวิจัยในลักษณะของการร่วมมือกันในแต่ละศาสตร์เพื่อเข้ามาช่วยเหลือและยกระดับวัฒนธรรมของแต่ละชุมชน รำโทนนกพิทิดจึงได้รับการยกระดับสืบสานอย่างเป็นระบบและมีความเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น มีความร่วมสมัยมากขึ้นและสามารถสร้างรายได้หล่อเลี้ยงชุมชนได้ในที่สุดซึ่งรวมไปถึงการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่นพวงกุญแจ ถุงหอมรูปนกพิทิด เป็นต้น

ของดีต่อมาที่ได้รับการยกระดับให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางมากขึ้นก็คือ “ขนมลา” อันเป็นของดีประจำจังหวัดนครศรีธรรมราชเช่นกัน แต่ด้วยผู้คนยังติดภาพว่าขนมลาจะมีจำหน่ายในช่วงเดือนสิบตามงานประเพณีสารทเดือนสิบและเป็นขนมที่เป็นที่นิยมในผู้สูงอายุเท่านั้น ทางอาจารย์แม้วและทีมวิจัยจึงต้องสร้างการรับรู้ใหม่รวมถึงปรับปรุงภาพลักษณ์และรูปแบบของสินค้าให้มีความทันสมัยมากขึ้น รวมไปถึงการสื่อสารให้ขนมลาสูตรปรับปรุงใหม่นี้เป็นที่รู้จักมากขึ้นจนในปัจจุบันมีเพจที่รวบรวมผู้ประกอบการจำหน่ายขนมลาเกิดขึ้นและได้รับกระแสตอบรับที่ดีมากเช่นกัน

ไฮไลต์ของงานวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชซึ่งมีอาจารย์แม้วเป็นหนึ่งในทีมวิจัยต่อยอดของดีในชุมชนก็คือ “การยกระดับปลาใส่อวน” ให้เป็นที่รู้จัก สำหรับปลาใส่อวนนั้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทยจะรู้จักในชื่อของปลาส้ม ดังนั้นความยากของโปรเจกต์นี้ก็คือจะทำอย่างไรให้ปลาใส่อวนหรือปลาส้มของนครศรีธรรมราชเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย โดยทางทีมวิจัยได้พยายามหาอัตลักษณ์เฉพาะของปลาใส่อวนที่แตกต่างจากปลาส้มของจังหวัดอื่น ๆ และอัตลักษณ์เฉพาะของปลาใส่อวนของนครศรีธรรมราชก็คือการนำ “ข้าวคั่ว” มาหมักปลาซึ่งจะทำให้ปลาใส่อวนมีกลิ่นหอมและรสชาติเฉพาะแตกต่างจากปลาส้มของพื้นที่อื่น ๆ  นั่นเอง

นอกเหนือจากการนำข้าวคั่วมาใช้ ปลาใส่อวนของนครศรีธรรมราชยังโดดเด่นที่การใช้เนื้อปลาที่หลากหลายและมีสูตรเฉพาะในแต่ละพื้นที่ซึ่งตอบโจทย์ความชอบที่หลากหลายของคนที่ได้รับประทานด้วยเช่นกัน โดยโปรเจกต์นี้อาจเรียกได้ว่ามีความยากอยู่พอสมควรเพราะนอกจากจะต้องทำให้ปลาใส่อวนเป็นที่รู้จัก ทางทีมงานต้องพยายามช่วยกันขบคิดเพื่อยกระดับปลาใส่อวนนี้ขึ้นสู่สากลให้ได้ทั้งการแปรรูปสินค้า การสร้างแบรนด์ การโปรโมตการตลาดเพื่อช่วยประชาสัมพันธ์ปลาใส่อวนหนึ่งในของดีประจำนครศรีธรรมราชนี้ขึ้นมาให้ได้

พลังของสื่อสารมวลชน พลังแห่งการสรรสร้างประโยชน์เพื่อสังคม

อาจารย์แม้วได้ทิ้งท้ายถึงพลังของการสื่อสารมวลชนที่อาจารย์ได้นำมาช่วยสื่อสารเพื่อสืบทอดและต่อยอดวัฒนธรรมชุมชนได้อย่างน่าสนใจว่า เป็นพลังที่สามารถสรรสร้างให้โลกไปในทิศทางที่ดีได้ เราจึงจำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์แยกแยะเพื่อทำในสิ่งที่ถูกต้อง ดังนั้นในทุก ๆ ครั้งก่อนที่เราจะพูดหรือโพสต์สิ่งใดออกมาเราจำเป็นที่จะต้องคิดก่อนที่จะทำการสื่อสารในทุกครั้ง และหากสิ่งที่เราสื่อสารออกมานั้นสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมได้ก็นับได้ว่าสิ่งที่เราสมควรทำเพื่อสร้างสรรประโยชน์ให้แก่สังคมที่เราอาศัยอยู่นั่นเอง

ชมคลิป VDO สัมภาษณ์

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ

คุณ เอกอนงค์ บัวมาศ ส่งเสริมพาณิชย์ ช่วยคิดค้าขาย สร้างรายได้สู่เมืองนคร

นครศรีธรรมราช เมืองที่มีชื่อเสียงด้านศิลปวัฒนธรรม ทรัพยากรทางธรรมชาติ และอาหารท้องถิ่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัด การที่จะสร้างรายได้สู่เมืองนครจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่ช่วยส่งเสริมให้คำแนะนำ เป็นที่พึ่งพาของผู้ประกอบการและผู้ผลิต คนต้นแบบเมืองนครท่านนี้เป็นหนึ่งในผู้ที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาการค้าภายในประเทศ มีประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ เข้าใจถึงปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ  คุณ เอกอนงค์ บัวมาศ พาณิชย์จังหวัดนครศรีธรรมราช ช่วยคิดค้าขาย สร้างรายได้สู่เมืองนคร

การสร้างตัวตนผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์ในวัยเด็ก

คุณเอกอนงค์ เติบโตในครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่ทำอาชีพค้าขาย  คุณเอกอนงค์เป็นน้องสาวคนสุดท้องโตมากับพี่ชาย 4 คน ทำให้เห็นถึงความแตกต่างของกลุ่มเพื่อนของพี่ชายแต่ละคน ได้เรียนรู้ความหลากหลายของคนในสังคม ความแตกต่างของแต่ละอาชีพ ค่านิยมในการใช้ชีวิตของผู้คนในช่วงนั้น รวมทั้งด้านมืดและด้านสว่างของชุมชน สภาพแวดล้อมเช่นนี้ทำให้คุณเอกอนงค์มีมุมมองการใช้ชีวิตที่กว้าง มีความคิดที่เป็นอิสระ และแน่นอนว่าค่อยๆ ซึมซับการค้าขายตั้งแต่วัยเด็ก โดยที่ไม่รู้ว่าวันหนึ่งจะได้มาทำอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวและประสบการณ์เหล่านี้

คุณเอกอนงค์ เล่าว่า ตัวเองเป็นเด็กที่ไม่ได้ใฝ่ฝันไว้ว่าโตขึ้นอยากจะทำงานอะไร การที่เป็นคนรักการอ่านช่วยเปิดมุมมองต่างๆ นอกเหนือจากสิ่งที่พบเจอในชุมชน การเติบโตท่ามกลางผู้คนที่หลากหลายหล่อหลอมให้คุณเอกอนงค์มีทักษะในการสื่อสารและการเข้าสังคม ชีวิตวัยมัธยมนอกจากเรื่องเรียนแล้ว คุณเอกอนงค์ยังเป็นเด็กกิจกรรมเช่นกัน สิ่งที่ถือเป็นความภูมิใจในช่วงนั้นคือ การทำวารสารร่วมกับเพื่อนๆ ซึ่งคุณเอกอนงค์รับหน้าที่ในตำแหน่งบรรณาธิการ หลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย คุณเอกอนงค์มีความตั้งใจอยากเป็นครู แต่ทางคุณพ่ออยากให้เรียนด้านกฏหมาย จึงตัดสินใจเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ใช้เวลา 3 ปีในการจบการศึกษา ในช่วงที่ฝึกงานเป็นทนาย คุณเอกอนงค์มีโอกาสได้รู้จักกับเพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งได้ชักชวนให้ไปสอบในตำแหน่งนิติกรณ์ ปรากฏว่าคุณเอกอนงค์สอบได้ จึงตัดสินใจเข้ารับราชการที่กรมการค้าภายใน สังกัดกระทรวงพาณิชย์ ย้ายไปทำงานที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี

การทำงานที่กรมการค้าภายใน สังกัดกระทรวงพาณิชย์

คุณเอกอนงค์ เล่าว่า ตนเองแทบไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับงานที่ทำเลย งานในช่วงแรกที่ได้รับมอบหมายคือ เช็คราคาสินค้าเกษตรตามตลาด สินค้าอุปโภคตามร้านค้า ดูแนวโน้มราคาสินค้าในอนาคต ซึ่งในตอนนั้นยังไม่มีการเก็บรวบรวมฐานข้อมูล หน้าที่ของกรมการค้าภายในคือ รักษาระดับราคาสินค้าเกษตร รักษาความเป็นธรรมทางการค้า ส่งเสริมระบบตลาด ดูแลในเรื่องการฉกฉวยโอกาสหรือการค้ากำไรเกินควร เมื่อทำงานได้ 3 ปี คุณเอกอนงค์รู้สึกไม่ชอบในงานที่ทำ อยากที่จะหางานด้านกฎหมายตามที่ได้ร่ำเรียนมา แต่ก็มีคำสั่งให้ย้ายไปทำงานที่จังหวัดระยอง หลังจากนั้นจึงขอโอนย้ายไปที่กรมทะเบียนการค้า ทำให้ได้เรียนรู้งานในอีกรูปแบบหนึ่ง มีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ ได้ใช้ความรู้ด้านกฎหมายตามที่เรียนมา เช่น การจดทะเบียนธุรกิจ การส่งสินค้าไปต่างประเทศ ภาษีธุรกิจ เป็นต้น การที่มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ประกอบการหลายท่าน เป็นการเพิ่มพูนความรู้ในสิ่งที่คุณเอกอนงค์เองไม่เคยรู้มาก่อน ได้เรียนรู้กระบวนการทำธุรกิจ ความเสี่ยงในการทำธุรกิจ

จนถึงยุคที่ปฏิรูปกฎหมายและโครงสร้างระบบราชการ ซึ่งใช้กำหนดบทบาทหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ดียิ่งขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่งผลต่อวิธีคิดในการทำงานของคุณเอกอนงค์เช่นกัน ซึ่งมองว่าเจ้าหน้าที่คือ ตัวแทนที่ถูกเลือกเพื่อใช้ศักยภาพที่มีทั้งหมดเข้ามาช่วยเหลือประชาชน จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่เกิดขึ้นส่งผลให้คุณเอกอนงค์พัฒนาตัวเองไปพร้อมกับองค์กร

บทบาทหน้าที่พาณิชย์จังหวัด

เมื่อมีการเปิดรับสมัครสอบตำแหน่งพาณิชย์จังหวัด คุณเอกอนงค์ได้ตัดสินใจเข้าสอบ แต่ใช่ว่าจะได้มาง่าย เพราะพลาดโอกาสถึง 3 ครั้ง จนความพยายามเป็นผลสำเร็จในการสอบครั้งที่ 4  ซึ่งคุณเอกอนงค์เข้าใจว่าตัวเองพลาดในจุดใด ในขณะนั้นคุณเอกอนงค์กำลังศึกษาระดับปริญญาโท ทำให้เห็นมุมมองที่กว้างขึ้น มองความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายที่ชัดเจนขึ้น ทั้งกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายในเชิงรัฐศาสตร์ กฎหมายเชิงเศรษฐศาสตร์ ไม่ได้จำกัดแค่มุมมองของผู้ประกอบการเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เข้าใจมุมมองของผู้บริโภคและเกษตรกรมากขึ้นอีกด้วย ไม่ว่างานจะยากแค่ไหน ต้องอาศัยความอดทนเพียงใด นี่คืองานที่คุณเอกอนงค์ภาคภูมิใจ เพราะเป็นหน้าที่ที่สำคัญของกระทรวงพาณิชย์ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนทุกคน ไม่จำกัดแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งพาณิชย์จังหวัดมีหน้าที่หลักคือ การรักษากลไกทางการตลาดให้ได้ และมีความเป็นธรรม แต่ในความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น คุณเอกอนงค์ เล่าว่า อย่างสินค้าที่มีการปรับราคาสูงขึ้น ทางกระทรวงพาณิชย์ต้องเข้าไปตรวจสต็อควัตถุดิบ ดูว่ามีการกักตุนหรือไม่ ต้องหาให้เจอว่าปัญหาเกิดจากสาเหตุใด เพื่อออกมาตรการในการจัดการ

นครศรีธรรมราชในมุมมองของคุณเอกอนงค์ ด้วยความที่เป็นเมืองแห่งอารยธรรม อุดมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ  แน่นอนว่าหลายคนรู้สึกภูมิใจกับบ้านเกิดของตัวเอง จนบางครั้งไม่ยอมที่จะเปลี่ยนแปลงหรือเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ ด้วยความที่นครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการค้าในแต่ละพื้นที่จึงขึ้นอยู่กับบริบทและมุมมองทางความคิดของคนในชุมชนนั้นๆ ปัญหาเดียวกันอาจไม่สามารถใช้วิธีการเดียวกันได้ อย่างผลผลิตทางการเกษตรที่มีทุกอำเภอในนครศรีธรรมราช แต่กลับไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ทั้งหมด คุณเอกอนงค์ ให้ความเห็นว่า ในแง่ของการพัฒนาเมือง นครศรีธรรมราชค่อนข้างเสียเปรียบในเรื่องขาดความชัดเจน เพราะเป็นทั้งเมืองเกษตรกรรม ศูนย์กลางวัฒนธรรม อาหารท้องถิ่น และการท่องเที่ยว จะทำอย่างไรให้ทุกอย่างเด่นชัดขึ้นมา แต่สิ่งหนึ่งที่ประสบความสำเร็จคือ ความเชื่อและศิลปะ ทางพาณิชย์จังหวัดจึงมีหน้าที่ในการสื่อสารและผลักดันให้เป็นผลสำเร็จ

ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการ หรือผู้บริโภค ล้วนมีบทบาทหน้าที่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สำหรับการส่งเสริมการค้าในนครศรีธรรมราช อะไรคือจุดขายที่สะท้อนความเป็นตัวตนของนครศรีธรรมราชได้มากที่สุด หากมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน การพัฒนาด้านเศรษฐกิจของนครศรีธรรมราชจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ชมคลิป VDO สัมภาษณ์

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ