ดร. สุพัฒพงศ์ แย้มอิ่ม เรียนรู้เพื่อพัฒนาคน ศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ฅนต้นแบบเมืองนคร

การศึกษาเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาชีวิตให้มีศักยภาพ ไม่ใช่แค่การสร้างให้คนมีความรู้เท่านั้น หลายครั้งยังเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างเป้าหมายให้กับชีวิต การศึกษานั้นไม่มีวันสิ้นสุด ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต เช่นเดียวกับฅนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ที่การศึกษานอกจากจะเปลี่ยนชีวิตแล้ว ในบทบาทของนักวิชาการการศึกษาได้นำองค์ความรู้และประสบการณ์ไปใช้พัฒนาชุมชนให้มีศักยภาพในการพึ่งพาตัวเองและร่วมกันพัฒนาประเทศ รวมถึงผลงานในบทบาทของอดีตนักการเมืองท้องถิ่น ดร. สุพัฒพงศ์ แย้มอิ่ม นักวิชาการบริการสังคม เรียนรู้เพื่อพัฒนาคน ศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น

ความยากลำบากในวัยเด็ก เป็นแรงผลักดันให้ชีวิตมีเป้าหมาย

ดร. สุพัฒพงศ์ แย้มอิ่ม อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี พื้นเพเป็นคนนครศรีธรรมราช เกิดที่อําเภอเชียรใหญ่ นอกจากบทบาทหน้าที่ในการเป็นอาจารย์ อีกหนึ่งบทบาทที่คนนครฯ รู้จักคืออดีตนักการเมืองท้องถิ่น ปัจจุบันทำงาทั้งสายการศึกษาและภาคประชาสังคม เป็นคณะทำงานของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นพี่เลี้ยงให้กับหน่วยงานภาคประชาสังคมของทุกจังหวัดภาคใต้

ดร. สุพัฒพงศ์ เติบโตในครอบครัวที่มีอาชีพทำนา แม้ทางบ้านมีฐานะยากจนแต่ด้วยความใฝ่รู้ใฝ่เรียนและการสนับสนุนจากคุณแม่ กลายเป็นแรงผลักดันให้ดร. สุพัฒพงศ์ มีความคิดที่อยากจะทำให้ชีวิตมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงทำตามความใฝ่ฝันของคุณแม่ที่อยากเห็นลูกเรียนจบระดับปริญญาเอก และเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ว่าอยากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยให้ได้ เมื่อเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6  ได้เปลี่ยนความคิดอยากจะเป็นปลัดอำเภอ จึงเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขารัฐศาสตร์การปกครอง

ระหว่างที่เรียนนั้น ดร. สุพัฒพงศ์ ได้ทำงานควบคู่ไปด้วย จากนั้นเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโท หลังจบการศึกษาได้ทำงานที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ประมาณ 7 ปี ในระหว่างนั้นได้เข้าศึกษาในระดับปริญญาเอก สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ควบคู่กับการทำงานเป็นอาจารย์พิเศษ

ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาเอก หลักสูตรรัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยสยาม และเรียนทางด้านนิติศาสตร์ เพราะมีความใฝ่ฝันว่าเมื่อถึงวัยเกษียณอยากที่จะเปิดสำนักงานกฎหมายเพื่อประชาชน

นอกจากนี้ ดร. สุพัฒพงศ์ ยังผลงานทางวิชาการทั้งบทความในวารสารต่างๆ และหนังสือ ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการปกครองท้องถิ่น และยังเป็นวิทยากรให้กับหน่วยงานท้องถิ่น ภาครัฐ และเอกชน นำศาสตร์ที่ร่ำเรียนมาบูรณาการกับงานภาคประชาสังคม ดร. สุพัฒพงศ์ มักจะบอกลูกศิษย์อยู่เสมอว่า ความรู้ที่ได้จากในห้องเรียนแค่ 10%  ที่เหลือต้องรู้จักไขว่คว้า เพราะองค์ความรู้ไม่ได้อยู่แค่ในตำราเท่านั้น

การศึกษาเปลี่ยนชีวิต เป็นประตูนำไปสู่โอกาสต่างๆ

ดร. สุพัฒพงศ์ให้ความเห็นว่า การศึกษาทำให้ได้รับการยอมรับในสังคม ตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดีเป็นช่องทางในการสร้างโอกาสต่างๆ ให้เข้ามาในชีวิต  ดร. สุพัฒพงศ์เองก็มีความใฝ่ฝันว่าหากมีโอกาสก็อยากเป็นนักการเมืองในตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนและพัฒนาประเทศให้มากที่สุด ก่อนหน้านี้ดร. สุพัฒพงศ์ เคยมีโอกาสเป็นสมาชิกสภาจังหวัด การทำงานในตอนนั้นทั้งสนุกและมีอุปสรรค แต่ก็ยังอยากที่จะเดินหน้าต่อไปตามอุดมการณ์ แม้ตอนนี้ไม่ได้เป็นนักการเมืองแต่ก็ยังลงพื้นที่ทำงานในฐานะนักการศึกษาในทุกจังหวัดทั่วประเทศ

ในแง่ของความสำเร็จ การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ชีวิตของดร. สุพัฒพงศ์ ไปได้ไกลและอยากที่จะพัฒนาตนเองตลอดเวลา หากจะให้พูดถึงความล้มเหลวในชีวิต ดร. สุพัฒพงศ์ มองว่าตัวเองพบกับความล้มเหลวมาตั้งแต่วัยเด็ก แต่ไม่เคยมองว่าความล้มเหลวนั้นเป็นอุปสรรคหรือข้อจำกัดในการใช้ชีวิต อย่าปล่อยให้มีความล้มเหลวทางความคิดมาทำลายความฝัน ดร. สุพัฒพงศ์ ให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างมาก ยิ่งเรียนรู้มากเท่าไหร่ ยิ่งช่วยเหลือสังคมได้มากเท่านั้น นำความล้มเหลวมาเป็นแรงผลักดันไปสู่เป้าหมาย อะไรคือสิ่งที่เราอยากเป็น อะไรคือสิ่งที่เราไม่อยากเป็น หาความชอบของตัวเองให้เจอและทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น

เรียนรู้เพื่อพัฒนาคน ศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น

ดร. สุพัฒพงศ์ กล่าวว่า แม้ว่าตัวเองมีความรู้ด้านรัฐศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านการเมืองการปกครองท้องถิ่น แต่การทำงานกับชุมชนจำเป็นจะต้องศึกษาศาสตร์อื่นๆ ด้วยเช่นกัน ที่สำคัญคือ ต้องพร้อมรับความคิดเห็น คำวิจารณ์อยู่เสมอ จากประสบการณ์การทำงานการเมืองท้องถิ่นและความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา เมื่อนำมาถ่ายทอดแก่นักศึกษาช่วยให้พวกเขามองเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น การทำงานภาคประชาสังคม ทำให้มีโอกาสได้พูดคุยกับปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งเปรียบเหมือนขุมทรัพย์ทางปัญญา สำหรับการศึกษาพัฒนาท้องถิ่น ต้องรู้ว่าองค์ความรู้ประเภทไหนที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงสำหรับชุมชน เมื่อชุมชนมีความเข้มแข็งก็จะเกิดเป็นภาคประชาชน

จากนั้นเกิดเป็นภาคประชาสังคมที่มีหน่วยงานภาครัฐมารองรับโดยการขับเคลื่อนของชุมชน จึงเป็นที่มาของชุมชนท้องถิ่นจัดการตัวเอง ที่มี ดร. สุพัฒพงศ์ เป็นที่ปรึกษาการบูรณาการออกแบบกระบวนการกองทุนสวัสดิการชุมชน ยกตัวอย่าง กองทุนสวัสดิการชุมชนออมวันละ 1 บาท ชาวบ้านออมเงินวันละ 1 บาท  หน่วยงานท้องถิ่นสมทบ 1 บาท และหน่วยงานรัฐบาลสมทบ 1 บาท รวมเป็น 3 บาทต่อวัน ช่วยให้ชาวบ้านได้รับสวัสดิการตามเงื่อนไขของกองทุน

จุดเปลี่ยนที่ทำให้ใฝ่ฝันอยากเป็นนักการเมือง

บทบาทของนักพัฒนาชุมชน ที่นำองค์ความรู้ไปพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทำให้ดร. สุพัฒพงศ์ย้อนกลับมาถามตัวเองว่า จะทำอย่างไรให้อำเภอเชียรใหญ่ที่เป็นบ้านเกิดมีการพัฒนาให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ ด้วยกฎระเบียบ กระบวนการของภาครัฐที่มีหลายขั้นตอน ส่งผลให้การแก้ไขปัญหา ปรับปรุงพัฒนาท้องถิ่นนั้นใช้เวลาดำเนินการนานมาก เฉพาะถนนในพื้นที่เขตเทศบาลก็มีหลายส่วนที่รับผิดชอบ เช่น อบต.  อบจ. กรมทางหลวงชนบท ถนนส่วนบุคคล เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าทุกสิ่งล้วนขึ้นอยู่กับการเมือง นี่จึงเป็นตัวจุดประกายให้ลาออกจากบทบาทเจ้าหน้าที่ภาครัฐสู่นักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อมุมมองหลายอย่างของ ดร. สุพัฒพงศ์ ทำให้รู้ว่าประเทศไทยยังมีระบบอำนาจความชอบธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องในการผลักดันนโยบายต่างๆ

ในฐานะที่เป็นอาจารย์ด้านรัฐศาสตร์และนักวิชาการทางการเมือง ดร. สุพัฒพงศ์มีความเห็นว่า เมื่อพูดถึงเรื่องการเมืองหลายคนมักจะเบือนหน้าหนี แต่การเมืองนั้นเรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราทุกคนอย่างเลี่ยงไม่ได้ เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก แทรกอยู่ในทุกมิติของชีวิต แทรกอยู่ในศาสตร์ทุกแขนง อย่างการทำงานในองค์กรไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ก็หนีไม่พ้นเรื่องของการเมือง  ไม่ใช่แค่อำนาจเท่านั้น  การเจรจาต่อรอง การค้าขาย เศรษฐกิจ หรือแม้แต่การศึกษา ล้วนได้รับอิทธิพลทางการเมืองทั้งสิ้น

ทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ เป็นต้นทุนสำคัญในการสร้างประเทศให้ก้าวหน้า การศึกษาเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญ ไม่ใช่แค่วัยเรียนเท่านั้น ในวัยทำงานก็ถือเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน หากเรามีองค์ความรู้ มีทักษะความชำนาญทางวิชาชีพจนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ ในขณะที่หมั่นเรียนรู้อยู่เสมอ ไม่หยุดพัฒนาตัวเอง ยิ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้มีศักยภาพในการทำงาน กลายเป็นประชากรที่มีประสิทธิภาพทั้งต่อตัวเอง สังคม และประเทศชาติ

ติดตามคลิปสัมภาษณ์  ดร. สุพัฒพงศ์ แย้มอิ่ม  ย้อนหลังได้ที่นี่

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ 092-6565-298 คุณ เกียรติ

คุณณิษฐกาณต์ อักษรวรรณ ส่งเสริมภาษาที่ 3 สืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น ฅนต้นแบบเมืองนคร

หลายคนมักจะกลัวความผิดพลาดก่อนที่จะเริ่มต้นด้วยซ้ำ ที่ยากยิ่งกว่าคือการเอาชนะความกลัวของตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องของการเรียนภาษาสำหรับบางคนอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่เชื่อว่าหากเรามีความฝันและความมุ่งมั่นมากพอ เราจะสามารถทำได้สำเร็จ เช่นเดียวกับฅนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ ที่มาร่วมแชร์ความฝัน แบ่งปันประสบการณ์ให้กับคนรุ่นใหม่ คุณนิต้า ณิษฐกาณต์ อักษรวรรณ รองอันดับ 1 นางสาวไทย ประจำปี 2563 ซึ่งภาษาอังกฤษได้กลายเป็นแรงผลักดันและตัวแปรสำคัญในชีวิตของเธอ อยากที่จะมอบโอกาสดีๆ ให้แก่เด็กและเยาวชนผ่านโครงการสอนภาษาอังกฤษควบคู่กับการเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น

ความชื่นชอบภาษาอังกฤษในวัยเด็กกลายเป็นแรงผลักดันให้กล้าที่จะทำตามฝัน

คุณนิต้า ณิษฐกาณต์ อักษรวรรณ เป็นคนนครศรีธรรมราชแต่กำเนิด ชีวิตวัยเรียนได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศหลักสูตร EP หรือ English Program ทำให้สนใจเกี่ยวกับเรื่องภาษา รวมถึงวัฒนธรรมของแต่ละชาติ อยากออกเดินทางไปเห็นโลกกว้าง จึงบอกกับทางครอบครัวว่าอยากไปเรียนต่อต่างประเทศ ซึ่งในตอนนั้นก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถไปได้หรือไม่ ด้วยความที่ครอบครัวรู้จักกับคนที่อาศัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกา จึงตัดสินใจส่งคุณนิต้าไปเรียนที่นั่นเป็นเวลา 8 ปี

จากประสบการณ์ที่ได้ไปอาศัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ทำให้คุณนิต้าเรียนรู้ว่าที่นั่นสอนให้ทุกคนกล้าที่จะฝัน กล้าที่จะแสดงออกทางความคิด กล้าที่จะลองทำอะไรใหม่ๆ หากเราได้พูดในสิ่งที่ปรารถนา ไม่แน่ว่าเราอาจทำสิ่งนั้นให้กลายเป็นจริงได้ เธอเชื่อว่าโอกาสอยู่รอบตัวเราโดยที่เราเองก็ไม่รู้ด้วยซ้ำ บางทีคนที่เรากำลังคุยอยู่ด้วยนั้นอาจเป็นผู้ที่หยิบยื่นโอกาสให้ก็เป็นได้ นั่นจึงเป็นตัวจุดประกายให้คุณนิต้าในวัย 25 ปี อยากที่จะส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนไทยกล้าที่จะทำตามความฝันและกล้าลงมือทำ

หลังจากเรียนจบแล้วกลับมานครศรีธรรมราช คุณนิต้าได้พูดคุยกับคุณแม่ว่าอยากที่จะทำโครงการ Junior Guide เพื่อสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็กๆ ชาวนครศรีธรรมราช เรียนผ่านเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ คำขวัญประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช รูปแบบการสอนผ่านการเล่นเกม ทำกิจกรรมต่างๆ ฝึกให้เด็กๆ กล้าที่จะพูดภาษาอังกฤษ ลองผิดลองถูกในการใช้ภาษาอังกฤษ

โครงการนี้เรียกได้ว่าเป็น Miracle of Dream ของเธอ คลาสเรียนภาษาอังกฤษที่คุณนิต้าสอน นักเรียนที่เข้าร่วมมีความชื่นชอบภาษาอังกฤษเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่กล้าที่จะพูดออกมา ทักษะด้านภาษานั้นต้องอาศัยการฝึกฝน ต้องกล้าที่จะผิดเพื่อเรียนรู้ให้ถูกต้อง เธอมักจะบอกกับเด็กๆ อยู่เสมอว่า ไม่ต้องกลัวว่าจะพูดผิด ทุกคนที่มาเรียนต่างให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เด็กๆ ควรภูมิใจในตัวเองที่กล้าเรียนรู้ภาษาอื่น สำหรับบางคนนี่ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย ไม่ใช่เพราะการเรียนภาษานั้นยากเกินไป แต่การก้าวผ่านความกลัวของตัวเองได้นั้นคือสิ่งที่ทำได้ยากนั่นเอง

ครอบครัวคือ แรงสนับสนุนและกำลังใจสำคัญให้คุณนิต้าทำตามความฝันได้สำเร็จ

คุณนิต้า เล่าว่า ตัวเองเป็นเด็กที่กล้าแสดงออก ชื่นชอบการถ่ายวิดีโอ ไม่ว่าคุณนิต้าอยากที่จะทำอะไร มักจะบอกกับทางครอบครัวเสมอ การที่ครอบครัวคอยซัพพอร์ตในทุกเรื่องที่อยากทำ สิ่งเหล่านั้นคอยหล่อหลอมให้เธอเป็นตัวเองในวันนี้ เส้นทางในการประกวดนางสาวไทย เริ่มต้นจากเวทีการประกวดนางงามที่นครศรีธรรมราช ซึ่งโครงการ Junior Guide ที่เธอทำมีส่วนช่วยให้ได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับนครศรีธรรมราชมากขึ้น กิจกรรมเข้าค่าย เยี่ยมชมสถานที่สำคัญต่างๆ ในจังหวัด คือสิ่งที่คุณนิต้าชื่นชอบมาก เพราะได้เห็นวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เธอแทบจะไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน

จากเวทีแรกก็ได้เดินสายประกวดตามเวทีต่างๆ จนมาถึงเวทีที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตอย่างการประกวดนางสาวไทย นิยามของนางงามตามทัศนคติของคุณนิต้า คือ เราสนใจอะไรและเราเป็นใคร แสดงจุดเด่นของตัวเองออกมาให้มากที่สุด เป็นคนที่มีความจริงใจและเข้าถึงได้ สามารถสร้างกำลังใจให้แก่ผู้อื่นได้ เป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด คุณนิต้า เล่าว่า เธอเป็นคนที่ได้รับโอกาสที่ดีมาตลอดจึงอยากสร้างโอกาสให้กับคนที่ไม่ได้รับโอกาส นี่ถือเป็นแรงขับเคลื่อนในชีวิตของเธอ ชีวิตเธอก็มีบางช่วงเวลาที่ยากลำบากเหมือนกับคนอื่นๆ วันไหนที่เจอเรื่องแย่ๆ ก็พยายามคุยกับตัวเอง ดึงตัวเองออกมาจากจุดนั้นให้ได้ เป็นเพื่อนสนิทกับตัวเองให้ได้

ส่งเสริมภาษาที่ 3 สืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น

ภาษาเป็นประตูสู่โลกกว้าง” การที่เรารู้แค่หนึ่งภาษา ก็จะรู้แค่เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับของภาษานั้น แต่ถ้ารู้ภาษาอื่น เช่น ภาษาจีน นอกจากได้เรียนรู้เรื่องภาษาแล้ว ยังได้เรียนรู้เรื่องราวความเป็นมาที่เกี่ยวกับประเทศจีนเช่นกัน การเรียนรู้ของเราก็จะกว้างขึ้น ทำให้เรามองโลกได้กว้างขึ้น เราจะรู้สึกตัวเล็กลง กล้าที่จะทำอะไรมากขึ้น กล้าที่จะฝัน คุณนิต้าให้ความเห็นว่า การสอนภาษาอังกฤษในไทยค่อนข้างแตกต่างกับการนำไปใช้จริง โฟกัสกับการสอบมากเกินไป ทำให้เราไม่กล้าพูดเมื่อเจอกับชาวต่าวชาติ การเรียนรู้ที่ดีต้องรู้สึกสนุก เพราะภาษาคือทักษะที่ต้องฝึกฝน เป็นการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด ต้องกล้าที่จะพูด กล้าที่จะลองผิดลองถูก

ปัจจุบันมีสื่อออนไลน์มากมายให้เราได้เรียนรู้ภาษา คุณนิต้าได้ทำคลิปใน TikTok  มาประมาณ 2 ปี แชร์ความรู้เกี่ยวกับภาษาอังกฤษ เช่น คำศัพท์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ประสบการณ์ในการเรียนภาษาอังกฤษ สำนวนที่ให้กำลังใจแก่เด็กๆ ซึ่งเป็นผู้ติดตามของเธอ โดยเฉพาะเรื่องความภูมิใจในตัวเอง ไม่เปรียบเทียบกับคนอื่น แน่นอนว่าช่องทางออนไลน์ทำให้ผู้คนเข้าถึงกันง่ายขึ้น การที่เธอมีตำแหน่งรองนางสาวไทย ไม่ว่าเธอจะพูดหรือทำอะไรย่อมมีผลต่อสังคมในวงกว้าง จึงต้องมั่นใจว่าสิ่งที่โพสต์ไปต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อสังคม

คำถามที่มักจะได้ยินเมื่อเดินทางไปต่างประเทศคือ คุณมาจากที่ไหน? เมื่อตอบออกไปว่ามาจากประเทศไทย ชาวต่างชาติที่ถามคำถามนี้มักจะรู้จักประเทศไทยแค่กรุงเทพ ภูเก็ต และเชียงใหม่ แน่นอนว่าไม่มีใครรู้จักจังหวัดนครศรีธรรมราช แต่ความภูมิใจในความเป็นคนนครศรีธรรมราช ทำให้คุณนิต้าพยายามที่จะบอกเล่าว่าจังหวัดบ้านเกิดของเธอนั้นมีอะไรบ้าง ทุกความทรงจำที่มีในจังหวัดนครศรีธรรมราช คือสิ่งที่หล่อหลอมให้เธอมีในทุกวันนี้

การใช้ชีวิตที่ต่างประเทศเธอมักจะบอกเล่าเรื่องเกี่ยวกับจังหวัดที่เป็นบ้านเกิดของเธอให้แก่คนอื่นๆ มาตั้งแต่อายุ 15  จนเมื่อกลับมายังประเทศไทย เรื่องราวที่เธอเล่าได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเธอ นอกจากนี้เธอยังชื่นชอบดนตรีไทยและสนใจอยากเรียนรำมโนราห์ จากการที่คุณนิต้าได้รับตำแหน่งรองอันดับ 1 นางสาวไทย ประจำปี 2563 จึงได้รับการติดต่อให้ร่วมรณรงค์ โครงการ “พระบรมธาตุสู่มรดกโลก” ถือเป็นเป็นการเชื่อมโยงกับโครงการ Junior Guide ที่เธอทำ

เมื่อเจอปัญหาอย่าท้อ เมื่อเจออุปสรรคอย่าถอย

ชีวิตคุณนิต้า หลายคนอาจจะดูเหมือนได้รับการสนับสนุนในทุกเรื่อง แต่ใครจะรู้ว่าบนใบหน้าที่มีรอยยิ้มแววตาที่สดใสนี้ เบื้องหลังแล้วก็มีปัญหาอุปสรรคต่างๆ นานาที่ต้องประสบ บ่อยครั้งที่ต้องนอนร้องไห้คนเดียว

ทว่าคุณนิต้ากลับลุกขึ้นมาฝ่าฟันกับปัญหาเหล่านั้นได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ถือเป็นประสบการณ์ในการก้าวเดินไปข้างหน้า คุณนิต้าแนะนำว่า “เราต้องเป็นเพื่อนสนิทของตัวเองให้ได้” นั่นคือต้องเข้าใจตัวเองให้ได้มากที่สุด ยามสำเร็จก็มีตัวเราเองนี่แหละที่จะชื่นชมความสำเร็จเราได้ดีที่สุด เช่นกัน ในยามล้มเหลว ผิดหวัง ทุกข์ ก็ตัวเราเองอีกนั่นแหละที่จะเป็นเพื่อนคอยปลอบใจ ให้กำลังใจตัวเราเองได้ดีที่สุด

จงกล้าที่จะผิด กล้าที่จะลอง กล้าที่จะล้มเหลว เพราะทุกความล้มเหลว คือ ประตูที่จะเปิดโอกาสสู่ความสำเร็จเสมอ

ทุกคนล้วนมีความฝัน แต่บางครั้งก็ขาดโอกาสในการสานต่อความฝันนั้น หากเราได้รับโอกาส จงใช้ให้คุ้มค่า อย่ากลัวที่จะลงมือทำ เพราะความผิดพลาดคือสิ่งที่สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ แต่ถ้าเราไม่กล้าลองอะไรเลย เราก็ไม่รู้ว่าผิดตรงไหน จะไม่เกิดการเรียนรู้ ไม่เกิดการพัฒนา ท้ายที่สุดกลายเป็นว่าเราเสียโอกาสนั้นไปเปล่าประโยชน์

ติดตามคลิปสัมภาษณ์ คุณนิต้า ณิษฐกาณต์ อักษรวรรณ  ย้อนหลังได้ที่นี่

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ 092-6565-298 คุณ เกียรติ

คุณพีรพัฒน์ เอี่ยมสกุลเวช จิตอาสา พาปันสุข อิ่มท้อง อิ่มใจ คนต้นแบบเมืองนคร     

สถานการณ์โควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในทุกมิติมากขึ้น หลายคนตกงาน หลายคนอยู่กับความเครียด หลายคนแทบสิ้นหวัง ยิ่งได้รับความช่วยเหลือเร็วเท่าไหร่ ยิ่งบรรเทาความทุกข์ได้เร็วขึ้นในยุควิกฤตเช่นนี้ต้องขอขอบคุณผู้คนที่มีความกล้าหาญ ความเห็นอกเห็นใจ และความเสียสละในการทำสิ่งดีๆ เพื่อผู้อื่น เช่นเดียวกับฅนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ที่ทำกิจกรรมจิตอาสาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่กำลังได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะชาวนครศรีธรรมราช ในนามชาวบ้านช่วยชาวบ้าน คุณพีรพัฒน์ เอี่ยมสกุลเวช จิตอาสา พาปันสุข อิ่มท้อง อิ่มใจ

จุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจในการทำกิจกรรมจิตอาสา

คุณพีรพัฒน์เล่าว่า ชื่นชอบทำกิจกรรมอาสาในการช่วยเหลือด้านต่างๆ ของสังคมตั้งแต่สมัยเรียนวิทยาลัยอาชีวศึกษานครศรีธรรมราช เดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2547 ที่ประเทศไทยประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติจากคลื่นสึนามิ ตอนนั้นคุณพีรพัฒน์เป็นผู้นำองค์กรนักศึกษาก็ได้ระดมทุนบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน อย่างวิกฤตอุทกภัยในภาคใต้ปี พ.ศ. 2554 จังหวัดนครศรีธรรมราชได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก

คุณพีรพัฒน์เล่าว่า ในช่วงนั้นตัวเองไปทำงานที่ต่างจังหวัด เมื่อตกงานก็ได้ย้ายกลับบ้านและได้มาเจอกับสภาพห้องของตัวเองที่โดนน้ำท่วมขัง ข้าวของพังเสียหาย ความรู้สึกเสียใจที่ต้องตกงานบวกกับความเดือดร้อนที่ได้รับจากน้ำท่วม ทำให้เข้าใจดีว่าคนอื่นๆ ที่ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมจะรู้สึกอย่างไร เพราะความเสียหายที่ได้รับนั้นหนักหนาสาหัสมาก โดยเฉพาะคนที่บ้านน้ำท่วมสูงเกือบถึงหลังคาจะอยู่ยังไง นี่จึงเป็นส่วนหนึ่งที่กลายเป็นแรงผลักดันในการช่วยเหลือผู้อื่น จากจุดเริ่มต้นในครั้งนั้นจึงเกิดเป็นกิจกรรมจิตอาสาที่ดำเนินเรื่อยมา

แม้ชีวิตในวัยเด็กค่อนข้างลำบาก จึงพยายามหาโอกาสเพื่อให้ชีวิตดีขึ้น หลายคนมองเห็นความสามารถทำให้ได้รับโอกาสต่างๆ เข้ามา เมื่อทำธุรกิจร้านอาหารจนเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในชื่อ ตุ๊กติ๊ก ริมเลซีฟู้ด จึงอยากใช้โอกาสตรงนี้เป็นกระบอกเสียงในการช่วยเหลือผู้อื่นเช่นกัน

ครั้งหนึ่งเกิดอุทกภัยที่อำเภอหัวไทร นครศรีธรรมราช คุณพีรพัฒน์ก็คิดว่าตัวเองพอจะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง จึงได้ทำการระดมทุนผ่านทางร้านตุ๊กติ๊ก ริมเลซีฟู้ด ตั้งใจว่าจะทำข้าวกล่องจำนวน 100 กล่องแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ ปรากฏว่ามีหลายคนที่เชื่อมั่นในตัวคุณพีรพัฒน์ และอยากที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือ จากเดิมอยู่ที่ 100 กล่องก็เพิ่มขึ้นเป็น 400 กล่อง พร้อมกับลงพื้นที่แจกจ่ายอาหารร่วมกับอาสาสมัครท่านอื่น เมื่อใดก็ตามที่คุณพีรพัฒน์ริเริ่มทำกิจกรรมจิตอาสา มักจะมีคนให้การช่วยเหลือมาโดยตลอด นอกจากทุนทรัยพ์ที่ได้รับแล้ว ก็ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ อีกด้วย ซึ่งทางคุณพีรพัฒน์เองก็ไม่คาดคิดว่าจะได้รับการสนับสนุนและมีคนหยิบยื่นโอกาสให้มากขนาดนี้ เพราะไม่ใช่แค่ความตั้งใจในการทำงานจิตอาสาเท่านั้น ความน่าเชื่อถือก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หลายคนไว้วางใจคุณพีรพัฒน์และพร้อมสนับสนุนนั่นเอง

งานลอยกระทงศาลาน้ำ คืนสีสันให้ท่าศาลา โครงการที่เกิดจากความร่วมมือของภาคประชาชน

ด้วยความที่ตำบลท่าศาลาว่างเว้นจากการจัดงานรื่นเริงมาสักระยะ ทางคุณพีรพัฒน์มีความตั้งใจที่จะจัดงานเพื่อสร้างความผ่อนคลายให้กับคนในชุมชน จึงขอความสนับสนุนจากทางนายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลาและผู้สนับสนุนรายอื่น ในการจัดงานลอยกระทงศาลาน้ำ คืนสีสันให้ท่าศาลา ปี 2563 ภายในงานมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น ประกวดหนูน้อยนพมาศ ประกวดนางนพมาศ การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน มินิคอนเสิร์ต เป็นต้น แม้เป็นงานระดับตำบลแต่กลับได้รับความสนใจจากสื่อระดับประเทศ เป็นงานที่เห็นถึงความร่วมมือจากประชาชนทุกฝ่าย จัดโดยคนในชุมชนและได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ สะท้อนให้เห็นถึงการร่วมทุกข์ร่วมสุขของคนในท้องถิ่น

ขอบคุณภาพจากเพจ Thasala District

ก่อนที่จะเกิดวิกฤตโควิด-19 ท่าศาลาเป็นเมืองที่กำลังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว เคยเป็นเมืองท่าที่สำคัญในอดีต ชุมชนที่เคยเป็นเส้นเศรษฐกิจสำคัญปัจจุบันได้กลายเป็นเมืองเก่า ทางชมรมท่องเที่ยวท่าศาลาจึงระดมความคิดกันว่าจะทำอะไรเพื่อท่าศาลา จนเกิดเป็นโครงการ “คืนสีสันให้ท่าศาลา” ซึ่งได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านเป็นอย่างดี มีการเชิญศิลปินท้องถิ่นและน้องนักศึกษามาวาดรูปแนว Street Art  ที่สื่อถึงอัตลักษณ์ของชุมชน และรูปภาพต่างๆ เพื่อสร้างสีสันให้อาคารบ้านเรือนในชุมชนบริเวณนั้น เมื่อคนท่าศาลาได้เห็น ก็เริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลง เริ่มมีผู้คนเข้ามาเที่ยวชมมากขึ้น

งานจิตอาสาในช่วงวิกฤตโควิด-19

วิกฤตโควิด-19 ถือเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับผู้ที่มีจิตสาธารณะ เพราะแทบทุกคนล้วนเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก และดูเหมือนว่าสถานการณ์จะยากขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะเวลาของการแพร่ระบาดตั้งแต่ปี 2019 ในขณะที่จิตอาสาแต่ละท่านก็เดือดร้อนเช่นกัน แต่ยังมีกำลังกายและใจในการช่วยเหลือผู้อื่น ต่างทุ่มเทและเสียสละเวลาส่วนตัว สำหรับคุณพีรพัฒน์นั้นได้ให้ความร่วมมือกับทางเทศบาลตำบลท่าศาลาในโครงการครัวปันสุข ทั้งช่วยระดมทุนและลงแรงในการทำอาหารแจกจ่ายแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตินี้ คำขอบคุณจากผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือ ตลอดจนความเมตตาจากผู้ที่ช่วยสมทบทุน เป็นกำลังใจและแรงผลักดันให้คุณพีรพัฒน์อยากที่จะขับเคลื่อนงานจิตอาสาในการช่วยเหลือพี่น้องชาวท่าศาลาต่อไป

ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ปัจจุบันคุณพีรพัฒน์ได้ก้าวสู่สมาชิกสภาเทศบาลตำบล กิจกรรมจิตอาสาและโครงการต่างๆ ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงภาวะความเป็นผู้นำของคุณพีรพัฒน์ ตลอดจนการร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชน การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในความตั้งใจของคุณพีรพัฒน์ที่อยากจะทำให้แก่ชาวท่าศาลา หลายโครงการที่กำลังจะสานต่อและริเริ่มจึงต้องหยุดชะงักในช่วงวิกฤตโควิด-19 ตอนนี้จึงหันมาโฟกัสในเรื่องของการให้ความช่วยเหลือทางด้านงานจิตอาสา เพื่อปันสุขให้ทุกคนอิ่มท้อง อิ่มใจ ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

เมื่อมีใครกำลังเดือดร้อนหรืออยู่ในภาวะที่ทุกคนต่างเดือดร้อน คนที่นำเอาทรัพยากรที่ตัวเองมี ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ เงิน กำลังแรงกาย แรงสมอง เสียสละเวลาในการช่วยเหลือผู้อื่น โดยไม่หวังผลตอบแทนนับเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ รวมถึงการให้โอกาส การแบ่งปัน และส่งต่อสิ่งดีๆ ให้แก่กัน จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ อาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตทั้งผู้ให้และผู้รับอย่างที่คาดไม่ถึงก็เป็นได้ แต่อย่างน้อยเรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นความทรงจำในชีวิตที่ชวนให้รู้สึกอิ่มเอมใจทุกครั้งยามนึกถึง

ติดตามคลิปสัมภาษณ์ คุณพีรพัฒน์ เอี่ยมสกุลเวช ย้อนหลังได้ที่นี่

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ 092-6565-298 คุณ เกียรติ

เรืออากาศโท สมพร ปานดำ อาชีวะสร้างคน คนสร้างเมือง ฅนต้นแบบ งานต้นแบบเมืองนคร

การเรียนสายอาชีวศึกษาหรือสายอาชีพมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศเช่นเดียวกับสายอื่น การที่จะผลักดันให้เด็กไปได้ไกลในสายอาชีพของตนเอง ครูผู้สอนมีบทบาทในการส่งเสริมสนับสนุนเช่นกัน ทางนครศรีสเตชั่นมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะแนะนำให้ทุกท่านรู้จักกับฅนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ บุคคลที่สร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต ครูผู้สร้างโอกาสให้นักเรียนอาชีวศึกษา เรืออากาศโท สมพร ปานดำ ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาช่างอุตสาหกรรม (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) กับงานต้นแบบอาชีวะสร้างคน คนสร้างเมือง

สร้างคุณค่า สร้างตัวตน บนเส้นทางชีวิตที่กำหนดเอง

เรืออากาศโทสมพรใช้ชีวิตโดยถือคติที่ว่า “คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้” บ้านเกิดอยู่ที่อำเภอหัวไทร นครศรีธรรมราช ช่วงชีวิตในวัยเด็กมีความเป็นอยู่อย่างยากลำบาก เมื่อในชุมชนมีงานอะไรก็ตามมักจะอาสาช่วยเหลืออยู่เสมอ รับจ้างทำงานต่างๆ ประสบการณ์ในวัยเด็กจึงหล่อหลอมให้เรืออากาศโทสมพรเติบโตมาเป็นคนที่เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นและไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคต่างๆ ในชีวิต

เมื่อเรียนจบ มศ.5 ก็มีเจตจำนงค์ว่าจะเป็นทหารให้ได้ เพราะเป็นทหารจะได้รับเงินเดือนตั้งแต่วันแรกที่เข้าเรียน จึงตัดสินใจเดินทางไปกรุงเทพฯ เรียนในโรงเรียนจ่าอากาศ ในที่สุดก็ได้เข้ารับเรียนในสาขา เหล่าทหารถ่ายรูป รุ่นที่ 26  ชีวิตราชการที่ต้องประจำการอยู่ต่างจังหวัด ทำให้เรืออากาศโทสมพร ย้อนกลับมาถามตัวเองว่า จะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อเป็นการสร้างคุณค่าให้แก่ตัวเองและหน่วยงานที่สังกัด จึงได้อุทิศตนทำงานที่เป็นประโยชน์ต่างๆเพื่อหน่วยงาน จนมีผลงานได้รับเลือกให้เป็นบุคคลดีเด่นของกองทัพอากาศ จากนั้นได้รับการทาบทามให้ไปเป็นอาจารย์สอนระดับมัธยม แต่ด้วยวุฒิการศึกษาในระดับนั้นเรืออากาศโทสมพรมองว่า หากจะไปเป็นอาจารย์ควรมีวุฒิการศึกษาที่สูงกว่านี้

ด้วยความคนที่มีผลงานดีเยี่ยม และมีความกตัญญูรู้คุณ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรืออากาศโทสมพร มีติดตัวมาตั้งแต่เริ่มจำความได้  ร่วมกับการที่มีจิดสาธารณะ จึงได้รับโอกาสจากผู้บังคับบัญชาส่งเสริม ให้การอนุเคราะห์นักเรียนทุนของกองทัพอากาศ ได้เข้าศึกษาต่อที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพฯ สาขาเทคโนโลยีการถ่ายภาพและภาพยนตร์ จากนั้นสอบเทียบได้เป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตร  หนึ่งในผลงานที่ได้ทำระหว่างรับราชการเป็นอาจารย์สอนที่โรงเรียนจ่าอากาศ คือ การมีส่วนร่วมในการ รับสมัครนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 เข้าศึกษาต่อ ของโรงเรียนจ่าอากาศได้รับการเทียบวุฒิในระดับ ปวช.ของอาชีวศึกษา

ด้วยผลงานนี้เอง เรืออากาศโท สมพร ได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาสนับสนุนให้เข้ารับการศึกษาที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่นที่ 62 ซึ่งถือเป็นความภูมิใจสูงสุดอย่างหนึ่งในชีวิตของ เรืออากาศโท สมพร

จากนั้นจึงตัดสินใจไปเป็นอาจารย์สอนที่วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช ทำให้มีโอกาสพบปะกับผู้คนหลายสาขาอาชีพ นอกจากนี้เรืออากาศโทสมพรยังมีผลงานต่างๆ มากมาย ทั้งด้านปฏิบัติงาน ด้านสังคม ด้านศาสนา เช่น มีส่วนช่วยในการก่อตั้งสมาคมสื่อมวลชนนครศรีธรรมราช ในแวดวงศิลปหัตถกรรมได้รวบรวมบรรดาศิลปินพื้นบ้านก่อตั้งเป็นสมาคมศิลปินพื้นบ้านนครศรีธรรมราช ส่งเสริมและสนับสนุนนักศึกษาในการเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันต่างๆ เป็นต้น

สร้างคน สร้างงาน เชื่อมโยงผ่านวิถีชีวิต

เมื่อได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยการอาชีพพรหมคีรี เรืออากาศโทสมพรมีแนวคิดการทำงานที่ว่าโลกของการศึกษากับอาชีพต้องเชื่อมโยงกัน การศึกษาที่แท้จริง คือ การช่วยเหลือให้นักเรียน นักศึกษานำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปประกอบอาชีพได้ หากสามารถสร้างรายได้ระหว่างเรียน ก็จะเป็นแรงจูงใจให้เยาวชนหันมาเข้าสู่ระบบการศึกษามากขึ้น

จึงเกิดแนวคิดที่ว่า จะสร้างโรงงานในโรงเรียน ทำโรงเรียนให้เป็นโรงงาน เชื่อมโยงการเรียนรู้ของนักเรียนผ่านการทำงานกับบริษัทในการผลิตรถราง เกิดเป็นโครงการที่ชื่อว่า “เล่ารถชมเมือง เล่าเรื่องพระเจ้าตากสิน” ประกอบด้วยครู นักเรียนช่าง นักเรียนแผนกการโรงแรมและการท่องเที่ยวที่ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของพระเจ้าตากสินที่เกี่ยวข้องกับอำเภอพรหมคีรีและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อทำหน้าที่เป็นไกด์ ขับรถแวะไปตามสถานที่สำคัญ สวนผักผลไม้ ร้านอาหาร

เมื่อเริ่มต้นโครงการได้ไม่นานก็ต้องย้ายไปเป็นผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยเทคนิคสิชล ริเริ่มให้มีการซื้อเครื่องมือช่างประจำตัวให้กับนักเรียนนักศึกษา สร้างหลักสูตรระยะสั้นให้บุคลากรเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นให้มีรายได้เพิ่ม เน้นพัฒนาทักษะสำคัญในอนาคต โดยเฉพาะทักษะด้านภาษาอังกฤษเพื่อให้ร้านค้าในชุมชนสามารถสื่อสารกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้

จากนั้นเรืออากาศโทสมพรได้ย้ายไปเป็นผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช ด้วยจำนวนนักเรียนที่มากขึ้นเมื่อเทียบกับวิทยาลัยก่อนหน้านี้ ทำให้ต้องมาคิดทบทวนใหม่ว่า ทำอย่างไรจึงจะพัฒนาศักยภาพของเด็กแต่ละคนให้เก่งขึ้น “จิตอาสา” จึงเป็นสิ่งที่ทางเรืออากาศโทสมพรอยากให้นักเรียนอาชีวศึกษาทุกรุ่นพึงมี เมื่อใดที่เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ นักเรียนอาชีวศึกษามักจะเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการช่วยเหลือ

อย่างประเพณีสารทเดือนสิบก็มีบริการปะยางฟรี 24 ชม. เป็นไอเดียที่สร้างสรรค์และช่วยสร้างความอุ่นใจให้ชาวบ้านที่มาร่วมงานได้ดีทีเดียวเมื่อใดที่สถานศึกษาเห็นความสำคัญของเยาวชน รวมถึงบุคลากรเป็นตัวอย่างที่ดี เยาวชนเหล่านั้นก็จะถูกรายล้อมไปด้วยสภาพแวดล้อมที่ดี มีจิตสาธารณะที่อยากส่งต่อสิ่งดีๆ ให้แก่ชุมชน

ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี ที่จะช่วยสร้างคนดีคืนสู่สังคม

หนึ่งในหลักคิดหลักการทำงานของ เรืออากาศโท สมพร ปานดำ คือ การที่ยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง และยึดหลักความกตัญญูเป็นที่ตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการกตัญญูต่อพ่อแม่ กตัญญูต่อหน่วยงาน กตัญญูแต่ชุมชน รวมถึงกตัญญูต่อประเทศชาติ ความกตัญญูนี้จะช่วยให้เราทำงานประสบความสำเร็จ เป็นที่รักใคร่ของคนที่ได้มีโอกาสได้ร่วมงาน

ความกตัญญูนี่เอง เรืออากาศโท สมพร พยายามถ่ายทอดให้กับลูกศิษย์ ผู้ใต้บังคับบัญชา ด้วยการสั่งสอนแนะนำ รวมถึงทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง เพื่อหวังที่จะสร้างคนดีคือสู่หน่วยงาน สร้างลูกหลานอาชีวะที่ดีคืนสู่สังคม

การบูรณาการทางการศึกษาและการสร้างความร่วมมือกับชุมชน คือความอยู่รอดของประเพณี

เรืออากาศโท สมพร ได้ให้ข้อคิดและตั้งข้อสังเกตุสำหรับการดำรงไว้ซึ่งเรื่องของ ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ ของชาวนครศรีธรรมราช คือ ภาคการศึกษาจำเป็นที่จะต้องมีการบูรณาการ ศาสตร์ที่เรียนรู้เพื่อให้มีความเชื่อมโยงประสานกันชุมชน งานศิลปะ ประเพณี หลายอย่างกำลังจะถูกลืมเลือนไป ขาดคนรุ่นใหม่รับมรดกวัฒนธรรม เช่น การทำเครื่องเงิน หนังตะลุง เหลงบอก การรำมโนราห์   ฯ เป็นต้น

ภาคการศึกษาควรหยิบยก ศิลปะ วัฒนธรรมชุมชน มาเป็นหนึ่งในหลักสูตรเพื่อสืบสานสิ่งมีค่าทางชุมชนให้ดำรงไว้ เช่นการทำหลักสูตร การแกะหนังตะลุง สานกระเป๋าย่านลิเภา หรือ การทำคณะมโนราห์ เป็นต้น สอนทั้งในมิติการภาคการผลิต คือ ผลิตบุคลากรในเรื่องเหล่านี้ รวมทั้งเพิ่มเติมมิติทางการตลาดเพื่อให้ผลิตผลที่ทางระบบการศึกษาผลิตคนออกมาแล้วทำให้เกิดเป็นอาชีพ มีรายได้

ทำได้อย่างนี้ ของดี ของมีค่า ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ก็ยังคงอยู่ไม่ถูกทิ้งให้สูญหายไปกลับกาลเวลา และคนรุ่นใหม่ก็ได้เห็นคุณค่าที่บรรพบุรุษได้สร้างและถ่ายทอดกันมา

วัฒนธรรม ศิลปะ ในอนาคต

ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 กับวิถีชีวิตและการปรับตัวของนักเรียนอาชีวศึกษา

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงเมื่อใด สำหรับนักเรียนอาชีวะซึ่งเน้นภาคปฏิบัติเป็นส่วนใหญ่ วิกฤตโควิด-19 นั้นส่งผลกระทบอย่างมากต่อการศึกษา การประเมินในภาคปฏิบัติจึงทำได้ยาก ช่วงเวลาที่ต้องหยุดเรียนทำให้นักเรียนห่างเหินจากการฝึกใช้เครื่องมือต่างๆ ที่จำเป็นต่อวิชาชีพ

การจัดการศึกษาของอาชีวศึกษาในตอนนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมและความพร้อมของผู้เรียน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าในยุคก่อนหน้านี้นักเรียนที่เข้ามาเรียนหลักสูตรอาชีวศึกษา มีทั้งนักเรียนที่อยากจะเรียนสายอาชีพอยู่แล้ว และก็มีบางส่วนไม่รู้ว่าจะเลือกเรียนอะไร สายวิชาการก็ไม่ถนัดจึงตัดสินใจมาเลือกเรียนอาชีวะ

อย่างการเรียนออนไลน์ใช่ว่าจะตอบโจทย์ทุกระบบการศึกษา มีนักเรียนอาชีวะจำนวนไม่น้อยที่ประสบปัญหานี้ บุคลากรเองก็ไม่ถนัดสอนออนไลน์ มักจะเกิดปัญหาบ่อยเมื่อต้องเช็คชื่อ เมื่อครั้งที่เป็นผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช มีเด็กไม่ผ่านกิจกรรมจำนวนหนึ่ง

หลายคนมักจะตัดสินว่าเด็กเหล่านั้นไม่สนใจเรียน แต่สำหรับเรืออากาศโทสมพรไม่ได้คิดเช่นนั้น กลับมองว่าต้องค้นหาคำตอบให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ปรากฏว่าเมื่อทางบุคลากรไปสืบหาข้อมูลก็ได้คำตอบว่า บางคนต้องช่วยงานที่บ้าน บางคนต้องทำงานส่งเสียตัวเองเรียน จึงขาดเช็คชื่อในคาบเรียน ทำให้เด็กเสียโอกาสครั้งสำคัญ  ครูจึงต้องสร้างสื่อการสอนที่นักเรียนสามารถเรียนเวลาใดก็ได้ แต่จะทำอย่างไรให้มีการวัดผลได้ วิธีการวัดผล ต้องมีความยืดหยุ่น ดึงเอาสาระการเรียนรู้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพมาใช้ในการวัดผล

สำหรับเด็กฝึกงานที่ต้องหยุดชะงักในช่วงโควิด-19 ทางโรงเรียนไม่สามารถหาที่ฝึกงานได้เทียบเคียงเท่าโรงงาน การวัดผลจึงทำไม่ได้ จึงได้แก้ปัญหาให้นักเรียนทำโครงงานที่เกิดจากการบูรณาการหลายวิชาที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานการอาชีพ อย่างบางวิชาที่ไม่อยากทำโครงงาน เช่น การก่อสร้าง ครูจะทำหน้าที่เป็นโค้ชพานักเรียนไปซ่อมแซมบำรุงอาคารบ้านเรือนในชุมชน เพื่อทดแทนวิชาฝึกงาน

แม้วิกฤตนี้จะจบลง แน่นอนว่าหลายอย่างจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปโดยเฉพาะด้านอาชีพ สิ่งที่เรืออากาศโทสมพรกังวลคือ การที่นักเรียนจบไปแล้วแต่ไม่มีงานทำ เด็กอาชีวะจะต้องปรับตัวในเชิงของการสร้างสรรค์ สนใจใฝ่รู้ด้วยตัวเองให้มากขึ้นทั้งเรื่องเทคโนโลยีและภาษาต่างประเทศ เข้าใจเรื่องมาตรฐานอาชีพ และศักยภาพของพนักงานที่บริษัทมองหาในอนาคต

อาชีพของคนเป็นครู มักจะมีจิตวิญญาณของการเป็นครูตลอด 24 ชม. การสอนของเรืออากาศโทสมพรมุ่งเน้นให้เด็กได้ลองผิดลองถูก แล้วนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปวิเคราะห์เพื่อเป็นต้นทุนในการตั้งต้นชีวิต ด้วยความที่ท่านมีสำนึกรักษ์บ้านเกิด การพัฒนาการศึกษาต้องทำให้นักเรียนรับรู้ในหลายมิติของชุมชนที่อยู่อาศัย สามารถบูรณาการทุกศาสตร์เข้าด้วยกันได้ ผ่านการเรียนรู้จากสิ่งของ ธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตอาสา ถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้เห็นคุณค่าของดีเมืองนครให้ได้รับการสืบทอดต่อไป

ติดตามชมคลิปสัมภาษณ์ เรืออากาศโท สมพร ปานดำ ย้อนหลังได้ ที่นี่

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ 092-6565-298 คุณ เกียรติ

คุณนุชจรี แรกรุ่น ฝอยข่าว เล่าเรื่องเมืองนคร ฅนต้นแบบเมืองนคร

             ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “สื่อ” มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตในทุกมิติ แต่ละวันเราต่างรับข้อมูลข่าวสารมากมาย โดยเฉพาะจากสื่อออนไลน์ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ในขณะที่สื่อวิทยุ-กระจายเสียงก็เป็นอีกช่องทางของการนำเสนอข่าวสารที่เข้าถึงคนในท้องถิ่นนั้นๆ ได้อย่างรวดเร็วไม่แพ้กัน นอกจากการรายงานสถานการณ์ต่างๆ แล้ว สื่อท้องถิ่นยังเป็นเหมือนที่พึ่งพายามยากของผู้คนในชุมชนอีกด้วย เช่นเดียวกับฅนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ เป็นผู้ที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงสื่อมานาน มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันในบทบาทผู้ดำเนินรายการ “ป้าจอยฝอยข่าว” ทางอสมท. 104.5 Mhz   คุณนุชจรี แรกรุ่น หรือที่แฟนคลับต่างพากันเรียกว่า “ป้าจอย นะค่ะนะ”

เส้นทางชีวิตที่สานต่อความชื่นชอบในวัยเด็กจนมาเป็น “ป้าจอยฝอยข่าว” เจ้าของฉายา “ป้าจอย นะค่ะนะ”

คุณนุชจรี แรกรุ่น หรือป้าจอย เกิดที่อำเภอเชียรใหญ่ นครศรีธรรมราช แต่ไปเติบโตที่อำเภอพิปูน ในสมัยเด็กมีความชื่นชอบเกี่ยวกับการถ่ายรูป เคยไปรับจ้างถ่ายรูปในโรงเรียนที่ตัวเองศึกษาอยู่ เมื่อคลุกคลีกับการถ่ายภาพได้สักระยะ ก็เริ่มหันมาชอบเกี่ยวกับการเป็นผู้สื่อข่าวและนักร้อง หลังจากจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษา ก็ได้เข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช สาขาวารสารการประชาสัมพันธ์ เรียนเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช) ควบคู่กับทำงานรับจ้างถ่ายรูปเพื่อส่งเสียตัวเองเรียนหนังสือ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของอาชีพในอนาคต

คุณนุชจรีมีโอกาสได้เข้าฝึกงานที่ “หนังสือพิมพ์เมืองใต้” ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของนครศรีธรรมราช จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อสาขานิเทศน์ศาสตร์ ควบคู่กับการทำงานเป็นผู้สื่อข่าวที่หนังสือพิมพ์เมืองใต้อยู่หลายปี จนได้มีโอกาสสมัครไปเป็นผู้สื่อข่าวภูมิภาคกับทางหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ในเครือของมติชนซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกที่คุณนุชจรีได้ทำ มีหน้าที่รับผิดชอบทำข่าวเกี่ยวกับธุรกิจและเศรษฐกิจในนครศรีธรรมราช พอทำงานไปได้สักระยะหนึ่งก็ได้ไปเป็นผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ข่าวสด ซึ่งอยู่ในเครือเดียวกัน

จากนั้นได้เป็นผู้สื่อข่าววิทยุของสำนักข่าวไทยช่อง 9 อสมท. ในยุคนั้นมีการรายงานเสียงและส่งข่าวไปยังส่วนกลางให้ทำการเผยแพร่ ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบให้ผู้สื่อข่าวที่ประจำแต่ละจังหวัดรายงานข่าวเอง เพื่อให้เกิดอรรถรสในการฟัง มาถึงตอนนี้คุณนุชจรีเริ่มมีความกังวลเกิดขึ้น เนื่องจากไม่มั่นใจในการพูดภาษากลางที่ติดสำเนียงใต้ แต่ก็สามารถผ่านไปได้ด้วยดีและมีความกล้าที่จะรายงานข่าววิทยุสำนักข่าวไทย อย่างเวลาที่มีการประชุมที่กรุงเทพระดับผู้บริหารมักจะถามหาคุณนุชจรีและให้มีการแนะนำตัว แน่นอนว่าสำเนียงของคุณนุชจรีได้กลายเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ผู้คนจดจำ

เมื่อเริ่มเป็นที่รู้จักก็เริ่มมีกำลังใจการรายงานข่าวอย่างต่อเนื่อง จนถึงช่วงหนึ่งได้มีโอกาสทำงานกับทางสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย โทรรายงานข่าวช่วงเช้าส่งตรงจากนครศรีธรรมราชผ่านรายการ “เมืองใต้บ้านเรา” จนเกิดเป็นวลี “นะค่ะนะ” คำพูดติดปากที่คุณนุชจรีเองก็ไม่รู้ตัวเมื่อรายงานข่าว จนมีผู้ฟังเริ่มพูดถึงวลีนี้กันมากขึ้น และได้กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นฉายา “ป้าจอย นะค่ะนะ” นั่นเอง

หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในช่วงเวลา 2 ปีที่ทำงานกับทางสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย จนเมื่อรายการที่จัดได้ยุติลง คุณนุชจรีก็เริ่มที่จะหาลู่ทางในการจัดรายการวิทยุของตัวเอง ซึ่งในช่วงเวลานั้นไม่ได้ทำกันง่ายๆ เพราะการที่จะเป็นนักจัดรายการวิทยุได้ต้องผ่านการสอบใบประกอบวิชาชีพ และสถานีวิทยุชุมชนในตอนนั้นก็ยังไม่มี คุณนุชจรีจึงไปชักชวนคนที่มีใบประกอบวิชาชีพมาเป็นนักจัดรายการร่วมกัน เพื่อเป็นใบเบิกทางในการทำงานกับสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย ท้ายที่สุดคุณนุชจรีก็สามารถสอบผ่านจนได้รับใบประกอบวิชาชีพ และกลายมาเป็นผู้ดำเนินรายการ “ป้าจอยฝอยข่าว” ทางอสมท. 104.5 Mhz

 “ป้าจอย ฝอยข่าว” นักจัดรายการวิทยุชุมชน กับบทบาทหน้าที่ของสื่อท้องถิ่นที่มีอิทธิพลต่อคนในชุมชน

การได้มาเป็นนักจัดรายการวิทยุที่ใช้ภาษาใต้ ในช่วงนั้นถือว่าเป็นอะไรที่ค่อนข้างใหม่ ซึ่งการนำเสนอข่าวสาร บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ นอกเหนือจากจรรณยาบรรณวิชาชีพแล้ว สไตล์การจัดรายการของคุณนุชจรียังได้ดึงเอาความเป็นตัวตนของตัวเองออกมา ทำให้มีผู้ที่ชื่นชอบสไตล์การสื่อสารเช่นนี้อยู่ไม่น้อย เมื่อสื่อสารอะไรออกไป มักจะได้รับการยอมรับและมีความน่าเชื่อถือ

อย่างในปี พ.ศ. 2562 จังหวัดนครศรีธรรมราชได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK) ส่งผลให้มีฝนตกหนักมากในหลายพื้นที่ สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง จำเป็นจะต้องเร่งอพยพชาวบ้านที่อยู่ริมชายฝั่งออกจากพื้นที่เสี่ยง ทางด้านคุณนุชจรียังคงทำหน้าที่ของสื่อท้องถิ่นในการรายงานความคืบหน้าอยู่เป็นระยะ แต่ก็ยังมีชาวบ้านบางส่วนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุได้เพิกเฉยต่อคำเตือนดังกล่าวของกรมอุตุนิยมวิทยา ไม่ยอมอพยพออกจากบ้านพักของตนเอง ถึงขั้นที่ว่าลูกหลานต้องอ้างอิงถึง “ป้าจอย” จึงจะยอมออกจากบ้านไปพักพิงที่ศูนย์อพยพ

อย่างสถานการณ์ล่าสุด การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คุณนุชจรียอมรับว่าตัวเองมีความกดดันไม่น้อย เพราะมีผู้ฟังคอยติดตามข่าวสารเป็นจำนวนมาก การสื่อสารต้องรวดเร็ว ชัดเจนและครบถ้วน ชาวบ้านที่กำลังประสบปัญหากับวิกฤตครั้งนี้ต่างก็ติดต่อเข้าไปยังรายการทั้งทางโทรศัพท์และส่งข้อความ เพื่อขอความช่วยเหลือให้ช่วยประสานงานกับทางผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเคสที่มีการส่งผู้ป่วยกลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนาเดิม การที่ต้องรับฟังและนำเสนอข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของผู้คนในแต่ละวัน ทำให้คุณนุชจรีต้องเผชิญกับความเครียดสะสมเป็นเวลานานเช่นกัน ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจไม่น้อย ในช่วงนี้รูปแบบรายการจึงปรับเปลี่ยนมาเป็นการให้กำลังใจแก่ผู้ฟัง

การปรับตัวของสื่อวิทยุที่ต้องทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

ในฐานะที่เป็นคนรุ่นเก่า แต่เก๋าประสบการณ์ คุณนุชจรีเล่าว่า เริ่มเข้าสู่เส้นทางสายอาชีพนักข่าวตั้งแต่สมัยที่ยังมีการใช้เครื่องพิมพ์ดีด จนมาถึงยุคที่มือถือเครื่องเดียวก็ทำได้แทบทุกอย่าง จึงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวงการสื่อมาโดยตลอด สื่อวิทยุเองก็ได้รับความสนใจน้อยลง จึงต้องปรับตัวเพื่อให้ไปต่อได้ มีการขยายฐานผู้ฟังผ่านสื่อออนไลน์อย่างการไลฟ์สด (Facebook Live) ที่กำลังอยู่ในกระแส คุณนุชจรีเองก็ไม่พลาดที่จะใช้ช่องทางออนไลน์ในการทำงานและพูดคุยกับผู้ชมทางบ้านเช่นกัน

ถือว่าเป็นนักจัดรายการวิทยุคนแรกของนครที่ไลฟ์สดก็ว่าได้ บ่อยครั้งที่มีการนำข้อมูลข่าวสารที่ถูกนำเสนอโดยสื่อต่างๆ มาสรุปให้กระชับได้ใจความผ่านทางเพจ “ป้าจอยฝอยข่าว” โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง และสื่อสารให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด เพื่อให้คนในชุมชนได้รับรู้ข่าวสารที่กำลังอยู่ในความสนใจของคนทั่วไปอย่างทันท่วงที แม้ว่าทุกวันนี้ใครๆ ก็สามารถบอกเล่าเรื่องราว หรือแม้แต่การนำเสนอข่าวผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่จากประสบการณ์การลงพื้นที่ทำข่าวของคุณนุชจรี ทำให้การนำเสนอมีความโดดเด่นและน่าสนใจ ผู้ชมสามารถเข้าถึงอรรถรสของการรายงาน และสัมผัสได้ถึงบรรยากาศของสถานที่

การทำงานในแวดวงสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะสื่อท้องถิ่นจำเป็นที่จะต้องเข้าถึงพื้นที่ เข้าถึงผู้คน สื่อสารข้อเท็จจริง เป็นกระบอกเสียงแทนชาวบ้าน บางครั้งก็ต้องยอมรับทั้งคำชมและแรงประทะ การทำอาชีพนี้จึงต้องยืนหยัดอย่างมั่นคง ขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสื่อกระแสใหม่ เพื่อให้มีพื้นที่ในการผลิตงานคุณภาพแก่ผู้ฟัง

ติดตามชมคลิปสัมภาษณ์ คุณ นุชจรี แรกรุ่น ย้อนหลังได้ ที่นี่

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ 092-6565-298 คุณ เกียรติ

คุณอานนท์ มีศรี ผลิตสื่อสร้างสุข กระบอกเสียงทุกเรื่องจากชุมชน ฅนต้นแบบเมืองนคร

ในยุคที่สื่อออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อวิถีชีวิต เชื่อมต่อผู้คนที่อยู่ไกลให้เข้าถึงกันมากขึ้น ทว่าการนำเสนอของสื่อบางสำนัก บวกกับการขาดวิจารณญาณของผู้บริโภคสื่อ กลับส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างและกระทบต่อสุขภาพจิต การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็ว แต่บางครั้งกลับเข้าไม่ถึงกลุ่มคนที่กำลังประสบปัญหา สื่อชุมชนจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ เป็นสื่อที่เข้าถึงคนในพื้นที่ได้ง่ายที่สุด เช่นเดียวกับฅนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ ที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงสื่อสารมวลชนมายาวนาน เปิดพื้นที่ให้คนในชุมชนแสดงออกทางความคิดเห็น ผลิตสื่อสร้างสุข เป็นกระบอกเสียงทุกข์จากชุมชน คุณอานนท์ มีศรี นายกสมาคมสื่อชุมชนภาคใต้ นครศรีธรรมราช

หลายบทบาทหน้าที่บนเส้นทางชีวิตจากวิศวกรสู่สื่อสารมวลชน

คุณอานนท์ มีศรี เป็นคนอำเภอฉวาง นครศรีธรรมราช ช่วงชีวิตตั้งแต่วัยเด็กจนโตพบเจอกับการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด หลังเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น มีโอกาสได้ไปศึกษาต่อระดับ ปวช.ที่กรุงเทพฯ จนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเอเชีย ชีวิตวัยทำงานคุณอานนท์เล่าว่าตัวเองเป็นคนที่เปลี่ยนงานบ่อยมาก ในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย ขณะที่เป็นวิศวกรโปรเจ็คก็ได้ถูกทางบริษัทเลิกจ้าง ซึ่งอยู่ในช่วงที่กำลังสร้างครอบครัว จึงตัดสินใจกลับนครศรีธรรมราช ไม่ว่าจะหยิบจับอะไรก็ไม่มีทีท่าว่าจะประสบความสำเร็จ

จากนั้นจึงเบนเข็มเข้าสู่การเมืองระดับท้องถิ่น ด้วยความที่เป็นคนที่พูดเก่ง ชอบการสื่อสาร บวกกับมีต้นทุนด้านวิศวกรรม จึงมีคนมาชักชวนให้ลงสมัครสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ผลปรากฏว่าได้รับเลือก จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานด้านชุมชน จากนั้นก็ลงสมัครการเมืองท้องถิ่นมาเรื่อยๆ ช่วงชีวิตในตอนนั้นไม่ได้ราบรื่นนัก จนมาเจอจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญจึงตัดสินใจเลิกยุ่งเกี่ยวกับงานทางด้านการเมืองอย่างถาวร เหตุผลในตอนนั้นที่ตัดสินใจทำงานด้านบริหารเพราะต้องการเป็นกระบอกเสียง อยากเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น

ในช่วงที่เป็นสมาชิกอบต. มีโอกาสทำงานเป็นผู้อำนวยการสถานีวิทยุ เป็นช่วงที่เริ่มทำงานด้านการสื่อสาร ต่อมาเมื่อได้มารู้จักกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)  พบว่าทางสถาบันมีความต้องการคนทำงานด้านสื่อชุมชน จึงมีโอกาสได้ทำงานด้านสื่อชุมชนกับทาง พอช. สร้างเครือข่ายสื่อชุมชนให้คนทำสื่อในท้องถิ่นได้มาทำความรู้จักกัน

เจตนารมณ์ของคุณอานนท์ที่เข้ามาทำงานสื่อสารมวลชน เพื่อให้ทุกคนในชุมชนได้เรียนรู้ที่จะใช้ช่องทางต่างๆ ในการสื่อสารให้เป็นประโยชน์อย่างเท่าทันและเท่าเทียม โดยส่วนตัวคุณอานนท์เชื่อว่า คนตัวเล็กๆ ทั่วไปอย่างชาวบ้านในชุมชนแทบไม่มีโอกาสบอกเล่าเรื่องราว หรือแม้กระทั่งปัญหาในชุมชนของตัวเองผ่านองค์กรสื่อต่างๆ ทั้งๆ ที่สื่อเหล่านั้นอาจไม่เข้าถึงเรื่องราวที่แท้จริงหรือเข้าใจปัญหาที่ถูกถ่ายทอดออกไปด้วยซ้ำ

ในยุคที่โซเชียลมีเดียเริ่มเป็นที่รู้จัก คุณอานนท์พยายามที่จะประยุกต์การใช้สื่อออนไลน์เข้ากับการจัดรายการวิทยุออนไลน์ จนเกิดการสร้างวิทยุเครือข่ายทั่วประเทศ เมื่อทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ให้คุณอานนท์เข้าไปช่วยงานทางด้านสื่อ เลยใช้โอกาสนี้เป็นการเปิดพื้นที่ให้คนในสังคมได้ใช้ประโยชน์จากสื่อมากขึ้น

ในตอนนั้นคุณอานนท์สนใจถึงเรื่องของสุขภาวะที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต เพราะสื่อเป็นส่วนหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อสุขภาพจิต จริยธรรมสื่อคือ เรื่องสำคัญที่สื่อมวลชนต้องคำนึง การทำงานในช่วงนั้นทำให้คุณอานนท์ได้รู้จักกับผู้คนมากมายจากหลายสาขาอาชีพ ขณะที่ตัวเองก็เริ่มเป็นที่รู้จักเช่นกัน จนสามารถสร้างเครือข่ายสื่อสร้างสุขครบ 14 จังหวัดภาคใต้ เพื่อเป็นช่องทางในการใช้ศักยภาพของสื่อชุมชนที่ไม่แพ้กับองค์กรสื่อขนาดใหญ่

สถานการณ์และการนำเสนอของสื่อในอดีตถึงปัจจุบัน

ในอดีตคนที่จะก้าวมาเป็นผู้ประกาศต้องผ่านการสอบ มีใบประกอบวิชาชีพ แต่ในยุคที่สื่อออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญ ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าถึงและนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ จึงมีโอกาสสูงที่คนๆ นั้นจะบิดเบือนข้อเท็จจริง นำเสนอผ่านความคิดเห็น ใช้อคติ และความรู้สึกส่วนตัวเป็นหลัก หากเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง ไม่ว่าจะพูดอะไรออกไป ก็ดูเหมือนว่ากลุ่มคนที่ชื่นชอบมักจะคล้อยตาม ในแต่ละวันมีข่าวสารเยอะแยะมากมายจากหลายช่องทาง จนบางครั้งก็ยากที่จะแยกแยะได้ว่าอะไรคือข้อเท็จจริง เพราะคนที่นำเสนออาจไม่คำนึงถึงจรรยาบรรณและจริยธรรม ซึ่งผลกระทบที่ตามมาอาจสร้างความเสียหายเกินกว่าที่จะรับผิดชอบไหว

แม้แต่บางคนที่เรียนมาทางด้านสื่อสารมวลชนแต่กลับไม่คำนึงถึงเรื่องนี้ บางสื่อทำหน้าที่เกินขอบเขตความรับผิดชอบ หรือถูกกลืนด้วยอำนาจของคนบางกลุ่ม ทำให้สื่อสารเกินจริง (Fake news) ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือสื่อสารเนื้อหาไม่ครบถ้วนซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิด และสื่อสารเลือกข้างโดยลงไปเล่นในสนามรบเสียเอง จากผู้ประกอบอาชีพนักสื่อสารมวลชนกลายเป็นนักประชาสัมพันธ์ให้แก่ผู้ที่อยู่เบื้องหลัง เพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม ผู้บริโภคสื่อจึงได้รับข่าวสารเพียงด้านเดียว การรายงานข่าวของสื่อบางสำนักในยุคปัจจุบันจึงไม่ต่างกับการเล่าเรื่อง ที่ปราศจากการคิดวิเคราะห์ แยกแยะ รายงานภายใต้สถานการณ์และข้อเท็จจริง

การสร้างจริยธรรมสื่อเพื่อสุขภาวะทางสังคม ผลิตสื่อสร้างสุข กระบอกเสียงทุกเรื่องจากชุมชน

            ช่องทางการสื่อสาร เครือข่าย เครื่องมือ และองค์ความรู้ ที่สะสมมายาวนานจากการคลุกคลีในแวดวงสื่อสารมวลชน เปิดโอกาสให้คุณอานนท์ได้แสดงเจตจำนงค์ตามที่ตั้งใจ ที่จะทำให้คนเข้าใจเกี่ยวกับการสร้างจริยธรรมสื่อเพื่อสุขภาวะทางสังคม ช่วยให้ผู้คนเข้าใจการสื่อสารทางด้านสุขภาวะมากขึ้น ผ่าน “สมัชชาสุขภาพ” ภายใต้การดำเนินงานของ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) คือ เครื่องมือพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพที่เน้นการมีส่วนร่วม เกิดขึ้นตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 บทบาทของสมัชชาสุขภาพ เป็นการจัดกระบวนการเพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานรัฐได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเรียนรู้ ซึ่งนำไปสู่การทำข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ เป็นช่องทางในการรับฟังเสียงของประชาชนในแต่ละพื้นที่ โดยอาศัยกลไกของภาครัฐในการจัดการ

ทางด้านคุณอานนท์ที่ได้ขยายเครือข่ายสื่อสร้างสุขภาคใต้ครบทุกจังหวัด ล่าสุดได้ดำเนินรายการ “ฟังเสียงประชาชน” เผยแพร่โดย สมาคมสื่อชุมชนภาคใต้ นครศรีธรรมราช เป็นการนำเสนอประเด็นที่ชาวบ้านมีความต้องการหรือกำลังประสบปัญหา เปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ที่เข้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  เป็นกระบอกเสียงร้องทุกข์จากชุมชน อุดรอยรั่วประสานรอยร้าว ผลักดันให้เสียงและความคิดเห็นของพวกเขาไปสู่หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ที่ผ่านมาได้ใช้ช่องทางสื่อท้องถิ่นในการช่วยเหลือชุมชน หยิบประเด็นที่สังคมกำลังให้ความสนใจ อย่างน้ำท่วมภาคใต้ปี 2560 เครือข่ายสื่อสร้างสุขภาคใต้  เรียกความสนใจจากองค์กรสื่อระดับประเทศให้มาทำข่าว เข้าถึงชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกล สามารถระดมทุนในการช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบอุทกภัยได้จำนวนไม่น้อย

นับเป็นเรื่องดีที่สื่อชุมชนเข้ามามีบทบาทในการสร้างการรับรู้เท่าทัน เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงสื่อได้อย่างเท่าเทียม เป็นกระบอกเสียงให้คนตัวเล็กๆ ในชุมชน ในฐานะของผู้บริโภคสื่อก็ต้องเลือกรับข้อมูลข่าวสารอย่างมีวิจารณญาณ รู้จักคิดวิเคราะห์ อย่าเพิ่งด่วนสรุป เสพสื่ออย่างมีสติ เพื่อไม่ให้กระทบต่อสุขภาพจิต ตลอดจนสร้างความตระหนักในการใช้สื่อดิจิทัลอย่างมีคุณภาพ

ติดตามชมคลิปสัมภาษณ์ คุณ อานนท์ มีศรี ย้อนหลังได้ ที่นี่

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ 092-6565-298 คุณ เกียรติ

อ. บุญเสริม แก้วพรหม ปั้นเยาวชนเป็นคนดี กวีน้อยเมืองนคร ฅนต้นแบบเมืองนคร แต่งกลอนสอนคน

อ. บุญเสริม ไม่ได้เน้นการสอนคนโดยตรง ส่วนใหญ่มักจะบอกเล่าความรู้สึกนึกคิดของตัวเองต่อสถานการณ์หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะถูกหรือผิดนั้นไม่อาจทราบได้ แต่แฝงไปด้วยประเด็นบางอย่างที่ผู้อ่านสามารถนำไปขบคิดและประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต

Continue reading

นายอำเภอ ศรายุทธ เจียรมาศ นายอำเภอนักพัฒนา เพิ่มคุณค่าท้องถิ่นด้วยเรื่องเล่า

            สภาพสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงย่อมส่งผลต่อวิถีชีวิตของผู้คน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่รวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้หลายคนอาจตามไม่ทันโดยเฉพาะผู้คนในชุมชนท้องถิ่น การพัฒนาชุมชนจึงมีบทบาทสำคัญ เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ต้องอาศัยความสามารถของตัวแทนจากภาครัฐเข้าไปบริหารจัดการ ในขณะเดียวกันก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากคนในพื้นที่เช่นกัน แต่การที่จะเข้าถึงปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของชุมชน ต้องเข้าใจบริบททางสังคม วัฒนธรรม สภาพแวดล้อม เช่นเดียวกับฅนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ ทางเรามีความยินดีอย่างยิ่งที่จะแนะนำให้ทุกท่านรู้จักกับ นายอำเภอ ศรายุทธ เจียรมาศ นายอำเภอนักพัฒนาประจำอำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช

ทำความรู้จักกับท่านนายอำเภอนักพัฒนา

            นายอำเภอ ศรายุทธ เจียรมาศ พื้นเพเป็นคนอำเภอท่าศาลา นครศรีธรรมราช ศึกษาระดับประถม – มัธยมศึกษาที่จังหวัดบ้านเกิด เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา วิทยาเขตปัตตานี และระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว ได้สอบบรรจุเพื่อเข้ารับราชการเป็นปลัดอำเภอ ประจำอยู่ที่จังหวัดปัตตานี เป็นเวลา 19 ปี ตั้งแต่พ.ศ. 2539 – 2558  ที่ท่านทำงานอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ก่อนย้ายมาประจำการที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา การทำงานใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ท่านนายอำเภอได้อาศัยความรู้ทางวิชาการที่ร่ำเรียนมา เพื่อปรับตัวเองให้เข้ากับพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางด้านศาสนาและวัฒนธรรม หากพูดถึงคุณวุฒิของนักปกครอง แน่นอนว่าต้องเป็นรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ แต่หากพูดถึงการทำงานของนายอำเภอในมิติใหม่ ซึ่งต้องสอดคล้องกับสภาพสังคมสมัยใหม่ ศาสตร์ทางด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา นับว่าสำคัญมากเช่นกัน

บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ จากประสบการณ์การทำงาน…ร้อยเรียงผ่านตัวอักษร

            นอกจากบทบาทหน้าที่นายอำเภอในการปฏิบัติภารกิจต่างๆ แล้ว อีกบทบาทที่น่าสนใจของท่านนายอำเภอศรายุทธ คือ การถ่ายทอดเรื่องราวท้องถิ่นผ่านเรื่องเล่าจากปลายปากกา เริ่มต้นงานเขียนในเชิงพื้นที่ ตั้งแต่ทำงานอยู่ที่อำเภอยะรัง จ.ปัตตานี เป็นข้อมูลที่เรียบเรียงไว้ แต่ยังไม่ได้มีการตีพิมพ์ ส่วนงานเขียนเชิงเล่าเรื่องได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรก “เสน่ห์เทพา” เมื่อครั้งที่มาประจำการเป็นปลัดอาวุโสที่อำเภอเทพา หนังสือที่ท่านนายอำเภอเขียนไม่ได้มีแค่เรื่องเล่าจากภาคใต้เท่านั้น แต่ยังเขียนหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือเช่นกัน เล่าเรื่องเกี่ยวกับมิติทางประวัติศาสตร์และสังคมในมุมมองคนต่างถิ่น ในหนังสือที่มีชื่อว่า “นายอำเภอคนใต้…เล่าเรื่องแดนอีสาน” ซึ่ง “ภาษา” คือ เรื่องที่สร้างความแปลกใจ ไม่น้อยสำหรับท่านนายอำเภอ ไม่ว่าจะเป็นสำเนียงหรือคำศัพท์ภาษาอีสานบางคำก็คล้ายคลึงกับภาษาใต้อย่างน่าประหลาดใจ

            ในมุมมองของท่านนายอำเภอ คนที่ทำงานในแวดวงนักปกครอง จำเป็นจะต้องรู้จักคน รู้จักพื้นที่ ซึ่งการที่จะรู้จักและจดจำได้นั้น ต้องอาศัยการจดบันทึกจากการทำงานในแต่ละวัน ซึ่งมีกรอบทางภูมิศาสตร์เป็นแนวทางในการบันทึก ต้องเรียนรู้จากพื้นที่จริง เพื่อให้รู้ถึงที่มาที่ไปของแต่ละชุมชน การจะเข้าถึงชุมชน ต้องเข้าถึงรากเหง้า ทำความรู้จักกับภูมิศาสตร์ในแต่ละท้องที่ แม้กระทั่ง “ภูมินาม” ศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับชื่อและประวัติความเป็นมาของสิ่งต่างๆ ภูมินามของแต่ละชุมชนสามารถแสดงให้เห็นถึงลักษณะทางธรรมชาติ สภาพสังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่น

นำประวัติศาสตร์มาพัฒนาชุมชน เพิ่มคุณค่าท้องถิ่นด้วยเรื่องเล่า

            การทำงานเชิงพื้นที่ของท่านนายอำเภอ ไม่ได้อาศัยแค่สาขาวิชาการปกครองเท่านั้น แต่ต้องอาศัยข้อมูลจากสาขาวิชาต่างๆ มาประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับปัญหาของตนเองให้แก่ชาวบ้าน และเพื่อหาวิธีในการพัฒนาชุมชนให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ นอกจากความตั้งใจที่อยากจะพัฒนาท้องถิ่น เรายังสัมผัสได้ถึงความสนใจในเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของท่านนายอำเภอ จากการที่ท่านได้เล่าเรื่องนิทานพื้นบ้าน “เกลอเขา เกลอเล” ที่สืบทอดมายาวนาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานของชาวนครศรีธรรมราช สภาพภูมิศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติที่แตกต่างกันจึงมีผลต่ออาชีพของชาวบ้านในชุมชน ส่วนเทือกเขาที่ว่านี้คือ “เขาหลวง” เทือกเขาที่พาดไปตามแนวยาวของคาบสมุทร และมียอดเขาหลวงเป็นยอดเขาที่สูงสุดในภาคใต้ คาดกันว่าเส้นทางที่เกลอทั้งสองฝั่งติดต่อกันน่าจะเป็นช่องเขา บริเวณนี้น่าจะเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ทางสังคมและเศรษฐกิจในสมัยก่อน ต่อมาจึงได้มีการปรับปรุงเส้นทางตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

            หนึ่งในเหตุผลที่ท่านนายอำเภอสนใจศึกษาประวัติศาสตร์ทำนองนี้ นอกจากได้ทำความรู้จักพื้นที่และคนในท้องถิ่นแล้ว ยังสามารถนำความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับการปกครองท้องถิ่นเช่นกัน

และนำไปสู่การพัฒนาซ่อมแซมเส้นทางคมนาคมที่เคยใช้สัญจรกันให้กลับมาใช้งานได้ดีขึ้นกว่าเดิม เป็นการเพิ่มช่องทางการเดินทางที่สะดวก และเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนสองฝั่งเขาทางตะวันตกและตะวันออก ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และสาธารณสุขโดยใช้กลไกของทางภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ

ในมุมมองของนักปกครอง ความสำคัญของการเล่าเรื่องคืออะไร มีประโยชน์อย่างไรต่อสังคม

            สำหรับท่านนายอำเภอศรายุทธ วิธีการเล่าเรื่องของท่านมักจะผ่านหนังสือและทางโซเชียลมีเดีย ใช้ภาษาที่คนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย ท่านได้ให้นิยามการทำงานเชิงพื้นที่ว่า “เปรียบเสมือนเสื้อสั่งตัด” ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำในการวัดขนาด เพื่อตัดเสื้อให้พอดีกับตัว หลักในการเล่าเรื่องนั้นต้องให้พี่น้องประชาชนได้รับข้อมูลที่เกี่ยวกับท้องถิ่นของตัวเองว่ามีความเป็นมาอย่างไร เข้าใจและมองเห็นถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างชาวบ้านและภาครัฐ ในการพัฒนาชุมชนให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตัวเอง         

อย่างอำเภอพิปูนที่ได้ชื่อว่าเป็น “เมือง 4 น้ำ”  คือ แหล่งต้นน้ำ บ่อน้ำพุร้อน น้ำตก และอ่างเก็บน้ำ หากไม่ใช่คนพิปูนก็ไม่อาจทราบได้ และยังเป็น “เมืองทะเลสาบในหุบเขา” หรือ ที่คนท้องถิ่นเรียกกันว่า “เมืองสองอ่าง” ลักษณะภูมิประเทศมีภูเขาล้อมรอบคือ เขาหลวง เขาพระ เขากะทูน ทางตะวันตกมีเขากะเปียดเป็นเส้นแบ่งเขตแดนทางธรรมชาติระหว่างอำเภอพิปูนและอำเภอฉวาง ผลผลิตทางการเกษตรขึ้นชื่ออย่าง ทุเรียนพิปูนซึ่งเป็น “ทุเรียนเมืองชื้น” เนื้อทุเรียนจึงแตกต่างจากแหล่งปลูกอื่น หรืออีกชื่อที่คนพิปูนพยายามสื่อสาร นั่นคือ  “ทุเรียน 2 น้ำ”  ซึ่งมาจากน้ำฝนและน้ำพระทัย (อ่างเก็บน้ำกะทูน) หนึ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทั้งหมดนี้เป็นต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติที่จะพาอำเภอพิปูนก้าวไปสู่เมืองท่องเที่ยวในอนาคตได้ นับเป็นการเล่าเรื่องที่ผสมผสานอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่นได้อย่างลงตัว

            จากวรรณกรรมท้องถิ่น นิทานพื้นบ้านที่ถ่ายทอดต่อกันมา หากนำมารื้อฟื้น ต่อเติมในส่วนที่ขาดหาย สร้างเรื่องราวที่เพิ่มคุณค่าให้แก่ชุมชน ไม่เพียงแต่เป็นการเชื่อมโยงผู้คนกับพื้นที่เข้าด้วยกัน การหยิบยกบางประเด็นหรือตั้งข้อสังเกตบางอย่างอาจนำไปสู่การพัฒนาสังคมได้ การศึกษาประวัติศาสตร์ในมุมมองของนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่หรือแม้แต่คนรุ่นใหม่ที่อยากมีส่วนร่วมในการพัฒนาบ้านเกิด จึงมุ่งไปที่เรื่องราววิถีชีวิตชุมชนกันมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อขับเคลื่อนให้ชุมชนก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หากยามใดเมื่อเกลอเดือดร้อน เกลอต้องช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เพราะ “ความเกื้อกูล” คือ รากเหง้าของท้องถิ่น การมองย้อนกลับไปในอดีต บางทีอาจช่วยให้เราเข้าใจเรื่องราวในปัจจุบันมากขึ้นก็เป็นได้

หมอพื้นบ้าน สืบสานภูมิปัญญาบรรพบุรุษ คุณผดุงพร ฤทธิช่วยรอด หรือ (หมอจูน)

ในสถานการณ์ปัจจุบันเราเจอโรคร้ายที่เกิดขึ้นจากโรคระบาดโควิด-19 ทั่วทุกมุมโรคที่ทุกฝ่ายต่างต้องรับมือกันอย่างมากในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน และเร็วๆนี้เอง แพทย์ทางเลือกอย่างแพทย์แผนไทยก็เข้ามามีบทบาทในการใช้สมุนไพรไทยในการรักษาโรคโควิด-19 ด้วยเช่นกัน วันนี้เราจึงเชิญหมอจูน ผู้ซึ่งมีองค์ความรู้เกี่ยวกับทางด้านสมุนไพร องค์รวมของธาตุในร่างกายของคน ที่สามารถรักษาผู้ป่วยจากโรคต่างๆ รวมถึงรักษาตัวเองจากโรคหัวใจให้หายได้ มาให้ความรู้เกี่ยวกับการรักษาโรคด้วยสมุนไพร

“คุณผดุงพร ฤทธิช่วยรอด” หรือ (หมอจูน)

คุณผดุงพร ฤทธิช่วยรอด หรือ (หมอจูน)

หมอจูน เป็นหมอพื้นบ้านที่ได้รับการสืบทอดภูมิปัญญาทางด้านสมุนไพร และมีความรู้จากการนวดของวัดโพธิ์ แต่เส้นทางชีวิตถูกลิขิตให้มาช่วยรักษาคนจากนิมิตรในฝัน ได้คาถามาจากในนิมิตรว่า

“โอม โรคามฤคตินทร์ ติโลกะนาถัง นะวะสังข์ คงคานัง อัคคีนัง เอวัง เจวัง พุทโธ ธัมโม สังโฆ โพธินัง”

ซึ่งเป็นพลังคลื่นนวสังข์ โดยใช้ศาสตร์ที่ได้จากนิมิตรมาดูแลผู้ป่วย ซึ่งจะดูจากวันเดือนปีเกิด ธาตุเกิดของเจ้าเรือนคือธาตุไหน ซึ่งธาตุของแต่ละคนจะถูกกำหนดโรคของแต่ละคนมาแล้ว คนส่วนใหญ่จะป่วยจากระบบเลือดในร่างกายของตัวเอง หมอจูนจึงนำศาสตร์นี้มาใช้ในการรักษาผู้ป่วย

ธรรมชาติได้สร้างอาหารมาให้มนุษย์

            โดยหมอจูน ได้บอกไว้ว่า จริงๆแล้วธรรมชาติได้สร้างอาหารทางธรรมชาติมาให้มนุษย์แล้ว เพียงแต่มนุษย์ไม่นำมาใช้ให้ถูกต้อง ถ้าร่างกายได้รับสารอาหารที่ถูกกับธาตุ ถูกกับสภาพอากาศ ร่างกายของเราก็จะไม่ป่วย เพราะธรรมชาติจะให้ยาเอาไว้ทุกฤดู ซึ่งในแต่ละฤดูก็จะมีอาหารที่ออกมาเพื่อไว้คอยให้เราได้บริโภค

หมอจูนให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับอาหารธรรมชาติว่า

ทำไมฤดูฝน ผลไม้จะมีรสร้อน

ทำไมฤดูหนาวต้องกินอาหารรสร้อน

ทำไมหน้าแล้ง ให้ผลไม้รสเปรี้ยว ส้ม สัปปะรด แตงโม

มาใช้ในการรักษา นั่นคือ ธรรมชาติให้อาหารที่ครบหมดทุกอย่าง แต่คนไม่เลือกนำมาใช้ จึงทำให้คนเจ็บป่วยได้ง่ายเท่านั้นเอง

เมื่อเรารู้แล้วว่าปัญหาที่ทำให้คนป่วยคือเรื่องของระบบเลือด หมอจูนจึงเล่าให้ฟังเกี่ยวกับโรคที่หมอจูนเป็น หมอจูนป่วยมาตั้งแต่กำเนิด เป็นโรคโลหิตจาง โรคทารัสซีเมียร์ และได้ทำการตรวจเช็คอย่างละเอียดปรากฏว่าหมอจูนเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และมีโรคเกี่ยวกับกระดูก จึงทำการรักษาตัวเอง เพราะถ้ายังรักษาตัวเองไม่ได้ หมอจูนก็คงรักษาคนอื่นไม่ได้เช่นกัน

ในระหว่างที่ทำการรักษาตัวเอง หมอจูนก็ได้ไปเรียนเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างกระดูก ศาสตร์เกาหลี เพื่อมาช่วยในการรักษาโรคกระดูกที่หมอจูนเป็น ก็ได้ทำการรักษาตัวเอง และในระหว่างการรักษาตัวเองก็ได้ทำการรักษาผู้ป่วยท่านอื่นๆด้วย รักษาผู้ป่วยอื่นมาตั้งแต่ปี 2545 เริ่มรักษาจากการนวด โดยเปิดตำรา ว่าโรคเป็นยังไง สาเหตุของโรคเป็นยังไง และการวิ่งของระบบเส้นเอ็น หรือเส้นประสาท เป็นยังไง ซึ่งระบบประสาท คือระบบพลังงานแห่งกายที่เป็นแรงสั่นสะเทือนของพลังแสง เหมือนระบบหยิน หยาง ของจีน  คือระบบพลังงานไฟฟ้าแห่งกายและก็คือระบบประสาท และเมื่ออายุหมอจูนมากขึ้นในช่วงวัยเกษียณก็เลิกรักษาด้วยการนวด เพราะด้วยร่างกายและอายุที่มากขึ้น เลยหันมาศึกษาพัฒนาเกี่ยวกับสมุนไพรแทน เพื่อที่จะผลิต ผลิตภัณฑ์ ออกมาช่วยผู้ป่วยเพื่อบรรเทาอาการและถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อที่จะได้สามารถดูแลรักษาตัวเองได้เบื้องต้น

อย่างเช่น อาการปวดเมื่อยร่างกาย เป็นการบ่งบอกว่าร่างกายป่วยแล้ว ทำงานเยอะจนร่างกายเกร็งก็ไปบีบหลอดเลือดให้ลีบลง ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก เมื่อเรานวดกระจายกล้ามเนื้อ เลือดก็จะไหลเวียนได้สะดวก อย่างที่คนโบราณกล่าว เลือดลมดี สุขภาพดี ลมเป็นตัวพัดพาเลือดไปเลี้ยงในร่างกาย จึงต้องพยายามถ่ายทอดความรู้เหล่านี้ออกไปเรื่อยๆ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองได้ในเบื้องต้น และปรับในเรื่องการทานอาหาร ถ้ากรณีที่ระบบย่อยอาหารไม่ได้ ต้องไม่ทานข้าวหลัง 4 โมงเย็น เพราะเมื่อพระอาทิตย์ตกดิน ธาตุไฟไม่ทำงานแล้ว ธาตุน้ำจะเริ่มทำงานแทน โดยพระอาทิตย์ธาตุไฟทำงานกลางวัน พระจันทร์ธาตุน้ำทำงานกลางคืน เพราะฉะนั้นพระจันทร์จะซ่อมแซม ถ้าไปทานอาหารตอนกลางคืนแล้วนอน ร่างกายไม่ได้ซ่อมแซม แต่อาหารที่ทานเข้าไปเกิดการหมักดอง ของเชื้อโรค อาหารก็จะเน่าเสียทันที ยิ่งตอนเช้าไม่ได้ถ่ายด้วย ร่างกายก็จะดึงของเสียนั้นไปเลี้ยงร่างกาย ทำให้เป็นโรคเซลล์เสื่อมโดยส่วนใหญ่ เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมัน มาจากโรคเซลล์เสื่อม เกิดการอักเสบ ร่างกายเราจะทำงานได้ดีแค่บ่าย 2 โมง ร่างกายจะมีนาฬิกาซ่อมแซม ซึ่งสามารถซ่อมแซมตัวเองได้ ถ้าเราทานอาหารครบอย่างที่ธรรมชาติกำหนดไว้ให้

การรักษาในแบบของแพทย์แผนไทยถ้าเรามองให้ดีมันมีเสน่ห์ของการรักษาในศาสตร์ที่เชื่อมโยงกันไปมาที่มากกว่าการแพทย์ซึ่งได้แก่

-ศาสตร์ทางพุทธศาสนา

-ศาสตร์ทางโหรศาสตร์

-ศาสตร์ทางพฤกษศาสตร์

-ศาสตร์ทางความเชื่อ

            ศาสตร์ทั้งหมดที่กล่าวมา ทางหมอจูนได้นำไปใช้รักษากับชาวห้วยปริก ในเคสล่าสุดที่ผ่านมาคือเส้นเลือดแกนสมองปริ ในทางแพทย์แผนปัจจุบันบอกว่าไม่น่ารอด แต่ถ้าจะให้หมอจูนรักษาต้องเชื่อในสิ่งที่หมอจูนบอก โดยวิธีการรักษาถามวัน เดือน ปี เกิด อารมณ์ ธาตุต่างๆในร่างกาย โดยหมอจูนได้ให้ทานยาบำรุงโลหิต ยาบำรุงเส้นเอ็น และอวัยวะพิเศษ และใช้วิธีการนวดกระตุ้นเพื่อให้ระบบเลือดไหลเวียนได้เร็วที่สุด เพราะเซลล์เม็ดเลือดมีอายุได้เพียง 120 วัน และถ้าเราเปลี่ยนถ่ายเซลล์เม็ดเลือดได้ภายใน 3 เดือนก็จะสามารถฟื้นฟูได้ ยกเว้นคนนั้นเป็นโรคกรรมยางหนัก คือโรคที่เราไม่สามารถไปแก้กรรมเค้าได้

ซึ่งในการรักษาโรคต่างๆ หมอจูนได้นำศาสตร์ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยมาทำการประยุกต์เข้ารักษา เพราะ “การรักษาแผนโบราณจะรักษาได้แค่เรื่องธาตุ ปรับสมดุลธาตุ แต่ในเรื่องของทางวิทยาศาสตร์ที่ช่วยให้ผู้ป่วยที่ป่วยแบบกะทันหัน หรือติดเชื้อ ต้องไปรักษาที่โรงพยาบาล หมอแพทย์แผนไทยไม่สามารถรักษาได้ ในขณะนั้น และหลังจากที่ได้รักษาแพทย์แผนปัจจุบันแล้ว และต้องการมาฟื้นฟูเซลล์ เพื่อสุขภาพ เราต้องใช้ธรรมชาติในการบำบัด เพราะวิทยาศาสตร์ไม่สามารถบำบัดธาตุได้ทั้งหมด”

การรักษาของหมอจูนแบ่งออกเป็น 2 วิธีคือ

1.การรักษาด้วยวิธีทานยาต้ม อันนี้จะใช้รักษากับคนที่เป็นโรคเซลล์เสื่อม เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมัน กลุ่มนี้จะนวดเยอะไม่ได้จะนวดได้แค่เพื่อสุขภาพ จึงต้องใช้ยาสมุนไพรเข้ามาช่วย

2.การรักษาโดยวิธีการนวด เช่น คนที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ต้องใช้วิธีทั้งนวด และต้มยาสมุนไพรให้ทาน ถึงจะสามารถช่วยให้หายได้

นอกจากการรักษาทางแพทย์แผนไทยแล้ว ความเชื่อก็มีส่วนในการรักษาด้วยเช่นกัน เพราะการป่วยบางครั้งไม่ได้ป่วยจากโรคในกาย แต่เป็นการป่วยทางด้านจิตวิญญาณก็มี  ดังนั้นเมื่อจะรักษาเราต้องแก้ความเชื่อให้ได้ก่อน ซึ่งความเชื่อทางด้านนี้มีมากถึง 60-70%

เมื่อเราอ่านธรรมชาติให้ออก เราก็จะอ่านอาการเจ็บป่วยไม่สบายของเราได้ ต้องสังเกตตัวเองว่าธาตุเราคืออะไร ปรับสมดุลธาตุได้ไหม และการนั่งสมาธิสามารถก็สามารถช่วยรักษาโรคได้ โดยการกำหนดจิตในการหายใจลงไปยังที่สะดือให้ถูกต้อง คุณก็สามารถรักษาอาการของคุณได้

และในสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดโรคโควิด หมอจูนได้แนะนำยาแพทย์แผนไทนที่ควรทาน เพื่อป้องกัน หรือช่วยบรรเทาอาการนั้น ปกติจะเป็นยาสามัญประจำบ้าน คือเบญจรงค์ กับวิเชียร หรือยา 5 ราก จะเป็นยาแก้ไข้พิษ ไข้กาล และยาจันทลีลา หรือใช้หญ้าน้ำนมราชสีห์ สำหรับเวลามีไข้มากๆ ซึ่งสามารถช่วยรักษาต่อมทอลซินอักเสบได้ด้วย

ในการพูดคุยวันนี้ หมอจูนเป็นหมอพื้นบ้านที่ต้องบอกว่า นำศาสตร์ในตำนานโบราณ ที่อ่านแล้วไม่ได้เชื่อไปตามนั้นแต่เป็นการอ่านแล้วนำมาสังเคราะห์ วิเคราะห์ เอามาเชิงเปรียบเทียบกับในด้านวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน ทำให้หมอจูนสามารถรักษาตัวเองผ่านพ้นวิกฤตทางด้านร่างกายมาได้ และนำองค์ความรู้ที่ได้ศึกษามา มาแบ่งปันและช่วยรักษาผู้ป่วยให้กับชาวห้วยปริก และคนนครฯ

ฅนต้นแบบเมืองนคร นพ. ปรานปวีณ์ โรจน์เจริญงาม นักสู้โควิดชุดกราวน์ ขวัญใจชาวนคร

            เมื่อเกิดวิกฤตการณ์โรคระบาด ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ชัดเจน และรวดเร็ว คือสิ่งที่ประชาชนต้องการที่จะทราบ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติและเตรียมพร้อมรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากแต่ว่าข่าวสารที่ถูกส่งต่อกันมาในโลกออนไลน์ บางส่วนก็เป็น Fake new หรือผู้ส่งสารขาดทักษะในการสื่อสารที่ดี สามารถสร้างความเข้าใจผิดและเกิดความเสียหายแก่สังคมได้ เมื่อประชาชนไม่เข้าใจ จึงไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรต่อ ทางนครศรีสเตชั่นมีโอกาสได้พูดคุยกับหมอพ้ง นพ. ปรานปวีณ์ โรจน์เจริญงาม นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช ผู้ที่ให้ความรู้และคำแนะนำแก่ชาวนครผ่านทางโซเชียลมีเดีย สื่อสารในสไตล์ที่เข้าถึงชาวบ้านให้สามารถเข้าใจสถานการณ์โควิด-19 ได้ง่ายขึ้น  มาทำความรู้จักฅนต้นแบบเมืองนครท่านนี้กัน

อีกหนึ่งบทบาทที่น่าสนใจของคุณหมอ กับการทำหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร

นพ. ปรานปวีณ์ โรจน์เจริญงาม

นพ. ปรานปวีณ์ โรจน์เจริญงาม พื้นเพเป็นคนกรุงเทพมหานคร ในวัยเด็กมีความตั้งใจอยากเป็นหมอ ได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงได้ย้ายมาอยู่ภาคใต้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในขณะที่กำลังศึกษาอยู่นั้นมีโอกาสฝึกงานที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช และได้ไปศึกษาต่อที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้นกลับมาทำงานที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี  คุณหมอได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราชที่มีการพัฒนาอยู่เรื่อยๆ จากวิสัยทัศน์ของท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลคนปัจจุบัน นพ. ทรงเกียรติ เล็กตระกูล ต้องการให้ รพ. มหาราช พัฒนาเป็นโรงพยาบาลศูนย์ชั้นนำ ที่เป็นเลิศด้านบริการทางการแพทย์ เป็นโรงพยาบาลเพื่อชาวใต้ ที่ผ่านมาทางโรงพยาบาลได้ดำเนินการสำเร็จไปแล้วหลายส่วน เช่น แผนกหัวใจและหลอดเลือด การผ่าตัดหัวใจ สวนหัวใจ สามารถทำได้ตลอด 24 ชม. แผนกกระดูกและข้อ มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ข้อสะโพกเทียม ผ่ากระดูกสันหลัง ผ่าส่องกล้อง

ด้วยความที่คุณหมอเป็นหมอผ่าตัด จึงมีโอกาสได้พูดคุยกับคนไข้ค่อนข้างน้อย ในช่วงปลายปีพ.ศ. 2562  จากการชักชวนของรองผอ. ฝ่ายการแพทย์  พญ. จันทรจิรา ก๋งอุบล คุณหมอมีโอกาสได้เข้ามาดูแลในส่วนของการร้องเรียนระหว่างผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย กับบุคลากรทางการแพทย์ ในส่วนงานหัวหน้ากลุ่มงานสุขศึกษา คุณหมอเห็นว่าประเด็นหลักที่ทำให้เกิดข้อขัดแย้งนั้นเกิดจากการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน คุณหมอจึงได้ไปอบรมเพิ่มเติมทางด้านนี้ และอยากที่จะสร้างภาพลักษณ์องค์กรให้ดูดีในสายตาคนคอน ให้ชาวนครรักโรงพยาบาล ในขณะเดียวกันก็อยากให้บุคลากรรู้สึกผูกพันธ์กับรพ. เช่นกัน

แล้วจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีความรู้เรื่องสุขภาพมากที่สุด จากสื่อที่มี เช่น แผ่นพับ วิทยุ ช่องทีวีท้องถิ่น คุณหมอคิดว่ามีกระบวนการจัดการค่อนข้างช้า เลยอยากใช้สื่อโซเชียลมีเดียอย่าง Live Facebook  ผ่านทางเพจ สุขศึกษา ร.พ.มหาราช เมืองคอน ในช่วงแรกเน้นการนำเสนอประเด็นง่ายๆ เกี่ยวกับสุขภาพ  ปัจจุบันเน้นเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 สื่อสารในภาษาที่ชาวบ้านเข้าใจได้ง่าย ในสไตล์สบายๆ เหมือนเพื่อนคุยกับเพื่อน

นำเสนอข้อมูลทางวิชาการที่เข้มข้น ในสไตล์ที่ผู้ฟังเข้าใจได้ง่าย เข้าถึงผู้ชมมากขึ้น

            รูปแบบการ Live ของคุณหมอเปลี่ยนไปตั้งแต่มีการแพร่ระบาด เพราะประชาชนตื่นตระหนก มีความสับสนในข้อมูลที่ได้รับ ไม่รู้ว่าอันไหนข้อมูลจริง สำหรับทางการแพทย์ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดก็จะเน้นที่การป้องกันเป็นหลัก จากที่คุณหมอได้ฟังข้อมูลมาก็พบว่า มีบางจุดของการนำเสนอของสื่อต่างๆ ที่ยังเป็นช่องว่างอยู่ นั่นคือ คำศัพท์ที่ยากเกินกว่าที่คนทั่วไปจะเข้าใจ คุณหมอเลยอยากที่จะเป็นตัวกลางในการนำคำพูดของอาจารย์หมอท่านอื่นๆ มาปรับให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย เพื่อรู้เท่าทันโควิด-19

งานนี้เลยกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันคุณหมอไปโดยปริยาย แฟนเพจจึงกลายเป็นเหมือนเพื่อน อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของคุณหมอที่ทำให้คนจดจำได้คือ เลือกใส่เสื้อผ้าตามสีของวัน มีคอนเซ็ปท์จากแนวคิดที่ว่า ผู้สูงวัยนิยมส่งสวัสดีทักทายกันในแอปพลิเคชั่นไลน์ ซึ่งคุณหมอได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า เป็นวิธีการป้องกันอัลไซเมอร์ที่ดีอย่างหนึ่ง เพื่อให้เห็นสไตล์การสื่อสารของคุณหมอ แม้กำลังอ่านตัวอักษรอยู่ก็ตาม เราได้ถอดคลิปบางส่วนจากการไลฟ์ของคุณหมอมาฝากกัน

            “ไวรัสสายพันธุ์นี้มีมีวิวัฒนาการไม่ต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่น มนุษย์พยายามคิดค้นวัคซีน ตามที่เห็นก็มีหลากหลายยี่ห้อ ทางฝั่งของโควิดก็ไม่ยอมแพ้เช่นกัน ยังคงพัฒนาสายพันธุ์ มีการกลายพันธุ์ อย่างต่อเนื่อง และแน่นอนในตอนนี้ถ้าใครตามข่าวสาร ในประเทศไทยเองก็มีเกือบจะครบทุกสายพันธุ์แล้วครับ แต่ที่แน่ๆ การพัฒนาของไวรัสตามมาด้วยการแพร่เชื้อที่เร็วขึ้น อาการรุนแรงขึ้น มีโอกาสเสียชีวิตมีมากขึ้น มาตรการการป้องกันที่ทุกคนปฏิบัติกันมา ต้องทำกันต่อไป อยู่ห่างไว้ ใส่แมสก์ป้องกัน หมั่นล้างมือ และรีบลงชื่อจองคิวฉีดวัคซีนกันนะครับ”

เรื่องสำคัญที่คุณหมออยากจะฝากถึงพี่น้องชาวนคร

มาดูในฝั่งของสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในจังหวัดนครศรีธรรมราชกันบ้าง ในช่วงนี้ยังวางใจไม่ได้ ถ้าดูจากตัวเลขสถิติในภาพรวมของผู้ติดเชื้อในประเทศไทย ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่รัฐบาลประกาศล็อคดาวน์ ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม แน่นอนว่าในจำนวนนั้นอาจมีบางส่วนเดินทางกลับนครศรีธรรมราช ฝ่ายปกครองท้องถิ่นมีคำสั่งให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ตรวจดูตามบ้านเรือนประชาชนในแต่ละพื้นที่

เพื่อให้ผู้ที่เดินทางเข้าจังหวัดเข้าสู่ระบบกักตัวอย่างถูกต้อง แต่ก็อาจมีบางส่วนที่ไม่หลุดรอดได้ จากตัวเลขจะเห็นว่าทิศทางของจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการหนักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในส่วนของวัคซีนก็ดำเนินการได้ช้ากว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ ประชาชนจึงต้องระมัดระวังตัวเองให้มากขึ้นกว่าเดิม งดการเดินทางที่ไม่จะจำเป็น ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง แม้ว่าได้รับการฉีดวัคซีนแล้วก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยนี้อย่างเคร่งครัด

แน่นอนว่าวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อแผนงานหลายอย่างที่คุณหมอได้วางแผนไว้ อย่างคอนเทนต์เกี่ยวกับสุขภาพที่อยากจะเชิญคุณหมอ คุณพยาบาล ทีมงานที่ทำงานและเชี่ยวชาญด้านโรคนั้นๆ โดยตรง  มาร่วมกันไลฟ์ผ่านทางเพจเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้แก่ประชาชนก็ต้องระงับไว้ก่อนชั่วคราว ในส่วนของทางรพ.มหาราชเอง ก็มีการพยายามที่จะพัฒนาแบบก้าวกระโดด เพื่อที่จะสามารถรักษาคนไข้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากที่สุด อยากที่จะเป็นที่พึ่งของชาวใต้ทุกคน โดยเฉพาะ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ให้สามารถเดินทางมารักษาได้อย่างสะดวก และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายหลายอย่าง

ไม่ว่าจะบทบาทไหนคุณหมอก็ทำอย่างเต็มที่ สำหรับบทบาทที่ต้องใช้ทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ คุณหมอเลือกใช้ภาษาที่ชาวบ้านเข้าใจได้ง่าย สามารถวิเคราะห์กลุ่มผู้ฟังได้ว่าเป็นกลุ่มใด ข้อมูลที่นำเสนอน่าจะประมาณไหน มีการปรับเปลี่ยนสไตล์การแต่งตัวให้กลมกลืนไปกับผู้ฟัง เป็นการนำเสนอข้อมูล ข่าวสารอย่างที่ประชาชนต้องการในภาวะวิกฤตเช่นนี้   

ดูคลิปย้อนหลังรายการ “ฅนต้นแบบเมืองนคร” ตอน นพ. ปรานปวีณ์ โรจน์เจริญงาม นักสู้โควิดชุดกราวน์ ขวัญใจชาวนคร ได้ที่นี่

ติดตามรายการ “คนต้นแบบเมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์เวลา ๑๙.๓๐ – ๒๐.๓๐ น. ทางเพจ Nakhonsi Station ที่นี่นครศรีธรรมราช