คุณ ญาณวุฒิ อรชร คนรุ่นใหม่กับวิถีเที่ยวเมืองเก่าบอกเล่าบรรพชน

นครศรีธรรมราช เมืองที่มีความโดดเด่นด้านประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรม มีทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม เป็นจังหวัดที่ควรไปเที่ยวให้ได้สักครั้งหนึ่ง แต่เมื่อเกิดวิกฤตโรคระบาด ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบก่อนใครและหนักหนาสาหัสเอาการ คงต้องใช้เวลากว่าจะฟื้นตัว แต่ถึงตอนนั้นคงมีหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป คนต้นแบบเมืองนครท่านนี้อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากว่า 18 ปี จะมาถ่ายทอดประสบการณ์และแนวคิดเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือการการเปลี่ยนแปลงด้านการท่องเที่ยวที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตคุณ ญาณวุฒิ ผู้ก่อตั้ง NST Traveller  คนรุ่นใหม่กับวิถีเที่ยวเมืองเก่าบอกเล่าบรรพชน

เดินตามความผันในวัยเด็ก กับการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน

คุณญาณวุฒิ เป็นคนนครศรีธรรมราชโดยกำเนิด เติบโตในครอบครัวที่คุณพ่อและคุณแม่รับราชการ เพราะต้องการเดินตามความฝันในวัยเด็กที่อยากเป็นนักธุรกิจ ความคิดในตอนนั้น คุณญาณวุฒิ เล่าว่า คงเป็นเรื่องที่มีความสุขมากหากสามารถสร้างบางอย่างได้ด้วยตนเอง โดยที่ไม่ได้คิดเรื่องผลตอบแทนเป็นหลัก อย่างการทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ ที่โรงเรียน ได้ร่วมกันคิดร่วมกันทำ เมื่อโปรเจคประสบความสำเร็จก็รู้สึกภูมิใจ เป็นเด็กที่ชอบการทำกิจกรรม ชอบพบปะผู้คน ด้วยความที่ตัวเองไม่มีพื้นฐานการทำธุรกิจ จึงเป็นเป้าหมายว่าจะต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม หลังจบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ทางด้านบริหารธุรกิจและการตลาด ที่กรุงเทพมหานคร หลังจากจบการศึกษา เริ่มงานแรกเป็นพนักงานบริษัทธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเป็นงานที่คุณญาณวุฒิรู้สึกว่าชอบ เป็นงานที่ทำแล้วสนุก มีอะไรให้เรียนรู้อยู่ตลอด ซึ่งก่อนที่จะเปิดบริษัทของตัวเองนั้น ก็ได้รับโอกาสให้เป็นผู้จัดการทั่วไปของบริษัททัวร์แห่งหนึ่ง นับเป็นก้าวสำคัญในการฝึกฝนและเตรียมความพร้อมก่อนสร้างธุรกิจของตัวเอง

วิถีเที่ยวเมืองเก่า โอกาสของธุรกิจท่องเที่ยวในนครศรีธรรมราช

เมื่อการใช้ชีวิตในเมืองหลวงไม่ตอบโจทย์คุณญาณวุฒิอีกต่อไป จึงอยากที่จะย้ายกลับไปอยู่นครศรีธรรมราช ในตอนนั้นเกิดคำถามขึ้นว่า การท่องเที่ยวกับนครศรีธรรมราชสามารถไปด้วยกันได้หรือไม่ หากนึกถึงทรัพยากรของนครศรีธรรมราช คุณญาณวุฒินึกถึงวัดพระบรมธาตุวรมหาวิหาร ทะเลขนอม ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นโอกาสในการทำงานด้านการท่องเที่ยวได้ อย่างแรกเลยคือ มองหาตลาด เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน บริษัทนำเที่ยวในนครศรีธรรมราชมีแค่ไม่กี่บริษัท คุณญาณวุฒิมองเห็นช่องว่างทางการตลาดที่สามารถเข้าไปจัดการได้ จากประสบการณ์การทำงานในบริษัทท่องเที่ยวแนวหน้าของประเทศ นำมาวิเคราะห์พฤติกรรมของคนนคร พบว่า มีกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพ ไม่เกี่ยงเรื่องค่าใช้จ่าย

ในมุมของการท่องเที่ยวในนครศรีธรรมราช คุณญาณวุฒิ ให้ความเห็นว่า นครศรีฯ มีทรัพยากรหลากหลาย โดดเด่นเรื่องวัฒนธรรม มีทั้งทะเล ภูเขา ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ เพียงแต่ว่าเราจะจัดการอย่างไร จะนำเสนออะไร ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการท่องเที่ยวนครศรีธรรมราชมีการเปลี่ยนแปลงตามสภาพสังคม คุณญาณวุฒิ มองว่า การท่องเที่ยวในอนาคตควรมีแนวทางในการสร้าง Ecosystem Business Model หรือระบบนิเวศทางธุรกิจ ต้องอาศัยความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน ชุมชน เพื่อธุรกิจท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและทุกคนได้ประโยชน์ อย่างช่วงโควิด-19 ธุรกิจการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างมาก แม้สถานการณ์จะดีขึ้น ก็มีแนวโน้มว่าจะฟื้นตัวช้าที่สุดเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น ในฐานะผู้ประกอบการ คุณญาณวุฒิ เล่าว่า แม้จะมีความกังวลก็ต้องพยุงความคิดให้แข็งแรงอยู่ตลอด ปรับเปลี่ยนแนวทางเพื่อความอยู่รอด เป็นบททดสอบที่ต้องผ่านไปให้ได้ แม้รายได้เป็นศูนย์ แต่ความสามารถในการจัดการไม่ได้หายไป ต้องมองหาโอกาสให้เจอ หลังจากนี้ธุรกิจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน ผู้ประกอบการจึงต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพราะชีวิตมีเรื่องให้เรียนรู้ไม่จบสิ้น

เทคโนโลยีกับเปลี่ยนแปลงด้านการท่องเที่ยวนครศรีธรรมราช

คุณญาณวุฒิ เล่าว่า หากเหตุการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 สงบลง ยังมีโอกาสอีกเยอะสำหรับการท่องเที่ยวเมืองนคร ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ทรัพยากรทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงชุมชน คือจุดแข็งของนครศรีธรรมราช อย่างผลิตภัณฑ์ชุมชนมีความน่าสนใจ หลายชุมชนยังไม่เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวผู้ประกอบการต้องตามเทรนด์การท่องเที่ยวให้ทัน เช่น เรื่องสุขภาพกับสินค้า การนำเทคโนโลยีมาใช้กับธุรกิจ การท่องเที่ยวรูปแบบไมซ์ (MICE) ย่อมาจากคำว่า Meetings, Incentive Travel, Conventions และ Exhibitions

ยกตัวอย่าง จุดประสงค์ของการเที่ยวทะเลขนอมในอนาคต นักท่องเที่ยวอาจไม่ได้ต้องการแค่เที่ยวทะเลเท่านั้น แต่ยังคาดหวังประสบการณ์ ความทรงจำจากการไปทะเลขนอม ไม่ใช่แค่จองห้องพัก ทานอาหาร เช็คอินร้านกาแฟ แต่เพิ่มการมีส่วนร่วมกับชุมชน ดื่มด่ำกับช่วงเวลาที่มาท่องเที่ยว สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวมากที่สุด ทั้งนี้ต้องวิเคราะห์ว่านักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่มมีความต้องการ ความสนใจ และเป้าหมายในการเดินทางอย่างไร

ในมุมมองของคุณญาณวุฒิ ศักยภาพของนครศรีธรรมราชมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก สามารถพัฒนาไปได้ไกล ไม่จำกัดแค่การท่องเที่ยวเท่านั้น ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับนครศรีธรรมราชอีกมากมายที่น้อยคนนักจะรู้จัก แม้แต่คนในวงการท่องเที่ยวเอง ก็ใช่ว่าจะรู้จักทุกสถานที่ท่องเที่ยว โดยเฉพาะเมืองเก่า เรื่องราวในอดีต จึงต้องเริ่มจากการทำความรู้จักเมืองนครให้ลึกซึ้งกว่าเดิม รู้จักในหลายมิติ ซึ่งคุณญาณวุฒิได้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ในบทบาทที่เป็นอยู่นั้น เราสามารถทำอะไรได้บ้าง ธุรกิจท่องเที่ยวของคุณญาณวุฒิก็มีการปรับตัวเข้าสู่โลกออนไลน์เช่นกัน เป็นเรื่องที่ไม่อาจเลี่ยงได้ ต้องศึกษาและตามเทรนด์การเปลี่ยนแปลงให้ทัน นำเทคโนโลยีมาใช้ทั้งในส่วนของหน้างานและการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ แต่ความท้าทายอยู่ตรงที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและรวดเร็ว ซึ่งเป็นตัวกำหนดรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนทั่วโลก

หากผ่านพ้นช่วงวิกฤต เชื่อว่าธุรกิจท่องเที่ยวของจังหวัดนครศรีธรรมราชยังมีโอกาสที่น่าสนใจอีกมากมาย รอให้ผู้ประกอบการได้เข้าไปพัฒนาต่อยอด แน่นอนว่าในช่วงนี้หลายท่านต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเพื่อความอยู่รอด แม้เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากแต่เป็นเรื่องที่ต้องทำ อาจเริ่มจากปรับทัศนคติ เปิดใจที่จะเรียนรู้ เพื่อพยายามทำความเข้าใจ เพราะในเมื่อโลกเปลี่ยน เราเองก็ต้องเปลี่ยนเช่นกัน

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ

คุณ ศรวณีย์ สุวรรณมณี มิสแกรนด์ นครศรีธรรมราช ปี ๒๕๖๕ คนรุ่นใหม่ ใจรักษ์ประเพณีสืบสานวัฒนธรรม

เป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจอย่างมากที่ได้เห็นคนรุ่นใหม่หันมาสนใจวัฒนธรรมไทย หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว หรือเข้าถึงยาก แต่สำหรับผู้หญิงคนหนึ่งที่มีความชื่นชอบด้านศิลปะการแสดงของไทย เลือกทำในสิ่งที่เธอรัก จนวันหนึ่งความพยายามของเธอส่งผลให้เจอกับโอกาสครั้งสำคัญในชีวิต ไม่รีรอที่จะคว้าโอกาสนั้นไว้และมุ่งมั่นทำอย่างสุดความสามารถ ทั้งบทบาทหน้าที่ของนางงามและนักเรียนวิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช คนต้นแบบเมืองนคร คุณ ศรวณีย์ สุวรรณมณี มิสแกรนด์ นครศรีธรรมราช ปี ๒๕๖๕ คนรุ่นใหม่ ใจรักษ์ประเพณีสืบสานวัฒนธรรม

จากความชื่นชอบในการแสดง ก้าวสู่เวทีการประกวดนางงาม

คุณศรวณีย์ หรือน้องสไปรท์ มีความใฝ่ฝันในวัยเด็กว่าอยากเป็นนักแสดง เพราะชื่นชอบการแสดง การเต้น การร่ายรำ เข้าร่วมชมรมนาฏศิลป์กับทางโรงเรียนตั้งแต่ชั้นประถม ปัจจุบันคุณศรวณีย์กำลังศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช สาขาละครพระ เริ่มเข้าสู่วงการประกวดนางงามครั้งแรกเมื่อตอนที่กำลังศึกษาอยู่ระดับชั้น ปวช. เวทีแรกคือ การประกวดนางนพมาศที่อำเภอปากพนัง คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง

จากนั้นได้รับการทาบทามให้เข้าประกวดเวทีมิสแกรนด์ไทยแลนด์ ซึ่งเวทีการประกวดมิสแกรนด์ เริ่มตั้งแต่การเฟ้นหามิสแกรนด์ของแต่ละจังหวัด เพื่อเป็นตัวแทนมิสแกรนด์ไทยแลนด์ ก้าวสู่เวทีระดับโลกนั่นคือ มิสแกรนด์อินเตอร์เนชั่นแนล ด้วยความชื่นชอบทางด้านนี้จึงทำให้คุณศรวณีย์ตัดสินใจเข้าประกวด โดยใช้เวลาในการเตรียมตัวนานถึง 9 เดือน คุณศรวณีย์ เล่าว่า เธอตั้งใจและทุ่มเทอย่างมากสำหรับการประกวดในครั้งนี้ จนในที่สุดก็ได้รับตำแหน่งมิสแกรนด์ นครศรีธรรมราช ปี 2565 แม้เคยผ่านเวทีการประกวดนางนพมาศ แต่ถือว่าประสบการณ์ยังน้อยอยู่ จึงทำให้คุณศรวณีย์รู้สึกตื่นเต้น เพราะยังมีผู้เข้าประกวดมิสแกรนด์อีก 76 จังหวัด ที่ทุกคนต่างตั้งใจ มุ่งมั่นและเตรียมความพร้อมสำหรับการประกวดเพื่อชิงตำแหน่ง “มิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2022”

ความงาม คำพูดทิ่มแทง แรงผลักดัน และกำลังใจ

เมื่อได้รับตำแหน่งมิสแกรนด์นครศรีธรรมราช คุณศรวณีย์ เล่าว่า เธอถูกบูลลี่บนโลกออนไลน์เรื่องรูปร่างและหน้าตา แน่นอนว่าคำพูดเหล่านั้นทิ่มแทงหัวใจไม่น้อย ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่คนคนหนึ่งจะผ่านช่วงเวลาเลวร้ายเช่นนี้ได้ แต่แทนที่จะเก็บเอาคอมเม้นท์แง่ลบมาใส่ใจ เธอจึงหันมาสนใจดูแลตัวเอง พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น เป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด เพื่อเตรียมความพร้อมในการประกวดบนเวทีใหญ่ได้อย่างเต็มที่มากที่สุด แต่กว่าที่เธอจะจัดการกับความรู้สึกแย่จากคำพูดของคนอื่นได้นั้นไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำได้ง่ายเลย จึงเกิดคำถามในใจว่า เหตุใดกลุ่มคนเหล่านั้นถึงได้พูดกับเธอแบบนี้ เธอทำผิดอะไร? ด้วยความที่ครอบครัวของเธอคอยสนับสนุนให้เธอได้ทำในสิ่งที่รักเรื่อยมา คุณแม่ของคุณศรวณีย์ได้แนะนำว่า เราไม่จำเป็นต้องไปใส่ใจในทุกคำพูดของทุกคน เลือกเก็บเฉพาะคำแนะนำติชมที่มีประโยชน์ แล้วนำมาพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น เช่น ดื่มน้ำผักผลไม้เพื่อดูแลผิวพรรณ ออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและมีรูปร่างที่ดี ปรับบุคลิกภาพให้ดูดีขึ้น โดยมีรุ่นพี่นางงาม สปอนเซอร์ คณะอาจารย์ที่วิทยาลัยนาฏศิลปคอยให้ความช่วยเหลือ ซึ่งตัวเธอเองก็พยายามอย่างเต็มที่เช่นกัน

บทบาทของนางงาม และคนรุ่นใหม่ ใจรักษ์ประเพณีสืบสานวัฒนธรรม

คุณศรวณีย์ เล่าว่า การเข้าร่วมประกวดมิสแกรนด์ นครศรีธรรมราช ไม่ใช่แค่เตรียมความพร้อมในฐานะนางงามเท่านั้น แต่ยังต้องเรียนรู้เรื่องราวของจังหวัดนครศรีธรรมราชเช่นกัน เธอได้ศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี และสถานที่สำคัญของนครศรีธรรมราช รวมถึงพืชเศรษฐกิจ ผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อให้รู้จักจังหวัดนครศรีธรรมราชในหลากหลายแง่มุมมากขึ้น หลังจากที่ได้รับตำแหน่งมิสแกรนด์นครศรีธรรมราช ชีวิตของเธอได้เปลี่ยนไปเช่นกัน

อย่างแรกเลยคือ ต้องจัดการบริหารเวลาทั้งในเรื่องของการเรียนและการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด รวมถึงการมีสติ มีสมาธิเพื่อคิดไตร่ตรองมากขึ้น โดยเฉพาะเวลาที่ต้องเจอกับคำพูดแง่ลบในโลกโซเชียล เพราะการที่เธอได้กลายเป็นที่รู้จักของใครหลายคนในสังคม แน่นอนว่ามักจะถูกจับตามองในทุกการกระทำและคำพูดที่เธอสื่อออกมา ทุกคนมีสิทธิในการแสดงความเห็นวิพากย์วิจารณ์ แต่ใช่ว่าเราจะไม่มีสิทธิในการเป็นตัวเอง เพียงแค่เราเลือกที่จะใส่ใจกับข้อเสนอแนะที่มีประโยชน์ สามารถนำมาเป็นแรงผลักดันในการพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้นได้

ความรักในศิลปะการแสดง คือเหตุผลที่ทำให้คุณศรวณีย์เลือกเรียนสาขานาฏศิลป์ เธอเล่าว่า มีคำพูดของอาจารย์ท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า “เด็กนาฎศิลป์คือ นักรบทางวัฒนธรรม” เป็นคำพูดที่จำฝังใจ ทำให้เธอรู้สึกภาคภูมิใจยิ่งขึ้นที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสืบสานวัฒนธรรมการแสดงของไทย คุณศรวณีย์ใช้ Social Media ในการนำเสนอศิลปวัฒนธรรมการแสดงอันหลากหลายของไทย ส่วนบทบาทหน้าที่ของการเป็นมิสแกรนด์ นครศรีธรรมราช เธออยากที่จะนำเสนอสถานที่ท่องเที่ยวในแง่มุมที่น้อยคนนักจะรู้จัก อยากให้คนไทยเห็นว่านครศรีธรรมราชมีดีอะไรบ้าง นักท่องเที่ยวควรแวะมาให้ได้สักครั้งหนึ่ง

เส้นทางชีวิตของเด็กผู้หญิงที่ชื่นชอบการแสดง สู่การได้รับตำแหน่งจากการประกวดนางงาม เราได้เห็นถึงความตั้งใจ ความพยายามของผู้หญิงคนหนึ่ง ที่อยากจะพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้น และทำหน้าที่ของตัวเองในทุกบทบาทอย่างดีที่สุด ทางนครศรีสเตชั่นขอเป็นกำลังใจให้กับน้องสไปรท์ บนเวทีการประกวดมิสแกรนด์ ไทยแลนด์ เชื่อว่าทัศนคติ มุมมองความคิดของเธอจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กรุ่นใหม่อีกหลายคน ให้เดินตามความฝันด้วยพลังของความมุ่งมั่นและศรัทธาในตัวเอง

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ

 

คุณ พชรกร บุษบรรณ สืบสานงานศิลป์ อนุรักษ์เครื่องถมเมืองนคร

เครื่องถมนคร หนึ่งในงานหัตถศิลป์ชั้นสูงที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักตั้งแต่อดีต ลวดลายที่เกิดจากการสลักด้วยมือ ซึ่งต้องอาศัยเวลาและฝีมือชั้นสูง ทำให้ชิ้นงานหัตถศิลป์นี้มีความเป็นปัจเจก ปัจจุบันหลายคนแทบจะไม่รู้จักเครื่องถมกันแล้ว คนต้นแบบเมืองท่านนี้เป็นหนึ่งในช่างทำเครื่องถมที่มีจุดเริ่มต้นจากความรักในงานศิลปะอยากที่จะส่งต่อกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่านี้ไปสู่คนรุ่นใหม่ คุณ พชรกร บุษบรรณ และ คุณ รัตนนิธิ์ ทองเสน จากแบรนด์เครื่องถมนคร by green  ผู้สืบสานงานศิลป์ อนุรักษ์เครื่องถมเมืองนคร

ความชื่นชอบด้านศิลปะ เสน่ห์ของงานเครื่องถม สู่อาชีพที่ทำด้วยใจรัก

คุณพชรกร เล่าว่า ชื่นชอบงานศิลปะตั้งแต่วัยเด็ก ในละแวกที่อยู่อาศัยซึ่งอยู่ใกล้กับโรงเรียนสอนศิลปหัตถกรรม ทำให้มีผู้ที่เรียนด้านศิลปะค่อนข้างเยอะ ช่วงประถมศึกษาปีที่ 1 คุณพชรกรสามารถสร้างรายได้ให้กับตัวเองด้วยการวาดตุ๊กตากระดาษขายให้กับเพื่อนที่โรงเรียน เมื่อไรก็ตามที่ทราบข่าวว่ามีการประกวดแข่งขันวาดภาพ คุณพชรกรมักจะไม่พลาดเข้าร่วมกิจกรรมและได้รางวัลกลับมา เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ทางบ้านไม่ต้องการให้เรียนด้านศิลปะ อยากให้คุณพชรกรเข้าศึกษาต่อระดับมัธยมปลายสายสามัญ ด้วยความที่ชื่นชอบด้านศิลปะ เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 คุณพชรกรจึงตัดสินใจสอบเข้าที่วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ทำให้ทางบ้านกังวลว่าจะเรียนได้หรือไม่ เรียนจบแล้วจะทำงานอะไร แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคสำหรับคุณพชรกร แต่กลับกลายเป็นแรงผลักดันในการมุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จในสายอาชีพนี้ให้ได้ ขณะที่กำลังศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) คุณพชรกร เล่าว่า ตัวเองติดศูนย์วิชาเครื่องถมถึง 3 เทอมซ้อน แม้จะเกิดปมในใจ แต่ท้ายที่สุดเครื่องถมคือ สิ่งที่คุณพชรกรรักและยึดถือเป็นอาชีพในปัจจุบัน เมื่อศึกษาจบ คุณพชรกรเริ่มทำชิ้นงานเครื่องถมเป็นเครื่องประดับ นั่นคือ กำไล ในตอนนั้นใช้วิธีนำเสนอขายผ่านร้านค้า แต่ไม่มีร้านไหนเลยที่รับสินค้าชิ้นนี้ไปวางจำหน่าย เนื่องจากร้านส่วนใหญ่มีช่างประจำอยู่แล้ว คุณพชรกรจึงนำกำไลไปให้คุณอาซึ่งเป็นอาจารย์โรงเรียนมัธยม เมื่อสวมใส่กำไลไปทำงาน เพื่อนร่วมงานต่างพากันสอบถามและสั่งซื้อ ลูกค้ากลุ่มแรกคือ คนใกล้ชิด ญาติพี่น้อง จากนั้นค่อยขยับขยายฐานลูกค้าไปยังเพื่อนของลูกค้ากลุ่มแรก

ผลักดันงานหัตถศิลป์ล้ำค่า สู่การทำธุรกิจบนโลกออนไลน์

เมื่อพูดถึงงานเครื่องถม ซึ่งเป็นงานที่มีลวดลายเอกลักษณ์ มีเสน่ห์ในตัว ในมุมมองของคนทำธุรกิจที่ไม่ได้จบด้านศิลปะ คุณรัตนนิธิ์ ให้ความเห็นว่า นอกจากการอนุรักษ์ชิ้นงานแล้ว ยังต้องมีการพัฒนาควบคู่กันไปด้วย ภาพลักษณ์ของกลุ่มลูกค้าที่คนส่วนใหญ่นึกถึงมักจะเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีอายุ แต่คุณรัตนนิธิ์ ไม่คิดเช่นนั้น การที่จะทำเครื่องประดับขึ้นมาสักชิ้น ต้องเข้าถึงกลุ่มตลาดสากลให้ได้ ไม่จำกัดวัยลูกค้า เครื่องถมนคร by green  จึงไม่ยึดติดอยู่แค่ลวดลายดั้งเดิม มีการออกแบบลวดลายใหม่ๆ ออกแบบลวดลายตามที่ลูกค้าต้องการ และทำเองทุกขั้นตอนเพื่อควบคุมคุณภาพ การตลาดเป็นสิ่งที่คุณรัตนนิธิ์ให้ความสำคัญเช่นกัน เลือกช่องทางออนไลน์ในการจำหน่ายสินค้าช่วยให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมากขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ส่วนใดของประเทศหรือต่างประเทศก็สามารถสั่งซื้อได้ ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าเช่าสถานที่ ไม่ต้องไปขายแข่งกับใคร ทำให้มีเวลามาโฟกัสและพัฒนางานในส่วนอื่นมากขึ้น

สืบสานงานศิลป์ อนุรักษ์เครื่องถมเมืองนคร งานหัตถศิลป์ชั้นสูงคู่เมืองนครศรีธรรมราช

นอกจากรับหน้าที่ในการผลิตเครื่องถมของธุรกิจตัวเองแล้ว คุณพชรกร ยังทำหน้าที่ในการช่วยอนุรักษ์งานหัตถศิลป์ชั้นสูงคู่เมืองนครศรีธรรมราชผ่านการเผยแพร่ความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ สาธิตการทำเครื่องถมตามงานวัฒนธรรมต่างๆ ที่ได้รับเชิญ มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมาศึกษาดูงานเกี่ยวกับขั้นตอนการทำเครื่องถม หรือบุคคลใดที่สนใจอยากรู้กระบวนการทำ ในอนาคตคุณพชรกร คาดว่าอาจจะเปิดให้เข้าไปดูงานที่บ้านได้ ซึ่งคุณพชรกรคิดว่า จะทำอย่างไรให้ชาวนครศรีธรรมชาติรู้จักเครื่องถมมากขึ้น ซึ่งมีบางคนไม่รู้จักงานหัตถศิลป์นี้เช่นกัน ปัจจุบันคุณพชรกรได้มีการปลูกฝังลูกหลานของตนเองให้รู้จักขั้นตอนการทำ และอยากที่จะเปิดเพจให้ความรู้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องถมเมืองนคร

คุณรัตนนิธิ์ ให้ความเห็นว่า การที่จะให้ใครสักคนสนใจเครื่องถม ต้องเริ่มจากการสร้างแรงจูงใจ อย่างกระบวนการทำเครื่องถมเป็นการนำเสนอได้อย่างตรงจุดและดึงดูดความสนใจได้เป็นอย่างดี แต่ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน หากจะทำเป็นอาชีพต้องเข้าใจทั้งกระบวนการทำเครื่องถมซึ่งต้องใช้ระยะเวลาและความพยายามในการทำชิ้นงาน เก็บเกี่ยวประสบการณ์เพื่อพัฒนาตัวเอง และเข้าใจการทำธุรกิจ ปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของตลาดในอนาคต คุณรัตนนิธิ์ มองว่า หากต้องการอนุรักษ์งานเครื่องถมให้คงอยู่ และคนรุ่นใหม่สามารถสร้างอาชีพได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานในการสนับสนุนส่งเสริม และช่วยผลักดัน

งานหัตถศิลป์ชั้นสูงคู่เมืองนครศรีธรรมราชที่มีมานานกว่า 400 ปี หนึ่งในความภาคภูมิใจของชาวนคร ที่ต้องอาศัยความอดทน ความพยายาม และฝีมือเพื่อสร้างชิ้นงานอันประณีต คำถามคือ จะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจ เห็นความสำคัญ และอยากที่จะอนุรักษ์และพัฒนาต่อยอดให้คงอยู่สืบต่อไป

ดูคลิปสัมภาษณ์

ครูเฟิร์ส ปิยะพัฒน์ รักษ์บางบูรณ์ แนะนำการเรียน ชี้ทางชีวิต คนต้นแบบเมืองนคร

วัยมัธยมเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ผู้ปกครองหลายคนมักกังวล ช่วงเวลาที่เด็กๆ ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่โรงเรียน ความคาดหวังต่างๆ จึงตกอยู่ที่ครูผู้สอน สำหรับครูบางท่านมองว่า บทบาทหน้าที่ไม่ใช่แค่การให้ความรู้ทางวิชาการเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาชีวิตเช่นกัน  คนต้นแบบเมืองนครท่านนี้เป็นบุคคลที่สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชน ครูที่คอยแนะนำการเรียน ชี้ทางชีวิตแก่ลูกศิษย์ ครูเฟิร์ส ปิยะพัฒน์ รักษ์บางบูรณ์ หัวหน้างานแนะแนวและประชาสัมพันธ์ โรงเรียนจรัสพิชากร

จุดเริ่มต้นจากเด็กกิจกรรมโรงเรียนสู่โครงการเพื่อชุมชน

ครูเฟิร์สเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนจรัสพิชา ชีวิตในวัยเด็กช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์มักจะไปช่วยคุณแม่และคุณยายขายขนมและผลไม้ที่ตลาด ชื่นชอบการพบปะพูดคุยกับผู้คนและการทำกิจกรรมกับทางโรงเรียน ช่วงวัยมัธยมต้นมีโอกาสเข้าร่วมอบรมมัคคุเทศก์ และได้ฝึกงานเป็นมัคคุเทศก์อาสาที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ซึ่งทางกลุ่มมัคคุเทศก์ได้รับการสนับสนุนจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดในตอนนั้น ทำให้มีหน่วยงานให้ความช่วยเหลือกับทางกลุ่ม

ครูเฟิร์สมีโอกาสได้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมสันทนาการที่จัดขึ้นตามที่ต่างๆ เมื่อเข้าสู่มัธยมปลายทางโรงเรียนได้ส่งครูเฟิร์สและเพื่อนๆ เข้าอบรมในโครงการ “แผนที่สุขภาพ เพื่อเพิ่มพี้นที่ดี ลดพื้นที่เสี่ยง รอบโรงเรียน” โดยมีโจทย์ว่าหลังจบการอบรมแล้ว ต้องสามารถสร้างเครือข่ายในโรงเรียนให้ได้ ครูเฟิร์สและเพื่อนๆ ได้พูดคุยน้องๆ นักเรียนที่พักอาศัยอยู่ใกล้โรงเรียน เพื่อพัฒนาให้ชุมชนบริเวณนั้นน่าอยู่ขึ้น ดูว่าพื้นที่ตรงไหนที่เป็นพื้นที่เสี่ยงในความคิดสำหรับเด็กๆ โดยให้ความสำคัญกับน้องๆ ที่เข้าร่วมโครงการเป็นสำคัญ ให้ช่วยกันวางแผนและจัดการงานด้วยตัวเอง

จากนั้นเริ่มมีผู้ปกครองให้ความสนใจ และเข้าร่วมเครือข่าย ในวันแรกของการเปิดงานได้รับความสนใจจากคนในชุมชนไม่น้อย เมื่อทางนายกเทศมนตรีทราบข่าวก็ได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือในการปรับปรุงพื้นที่

บทบาทหน้าที่ของการเป็น “ครู”

หลังจากครูเฟิร์สจบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่จังหวัดสงขลา ครูเฟิร์สมีโอกาสทำงานเป็นผู้ช่วยนักวิจัยที่คณะการจัดการการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กรุงเทพมหานคร จากนั้นเดินทางกลับนครศรีธรรมราช และได้รับการทาบทามจากท่านผู้อำนวยการโรงเรียนจรัสพิชากรให้มาช่วยงาน ทำให้ครูเฟิร์สนึกถึงคุณครูท่านหนึ่งที่ให้หนังสือที่ชื่อว่า “ทำแค่นี้ก็มีความสุข” ทำให้ภาพในวันปัจฉิมนิเทศน์ได้ย้อนกลับมา ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้เป็นสถานที่ที่ครูเฟิร์สมีความผูกพันธ์อย่างมาก

ในตอนนั้น ครูเฟิร์สเป็นคุณครูที่อายุน้อยที่สุด บทบาทในวันวานจากนักเรียนสู่อาชีพครู ครูเฟิร์สเล่าว่า ค่อนข้างกดดันพอสมควร เนื่องจากต้องร่วมงานกับคุณครูท่านอื่นซึ่งเคยสอนครูเฟิร์สมาก่อน ในวันที่ต้องแนะนำตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรก ครูเฟิร์สกล่าวว่า แม้ตัวเองเป็นเพื่อนร่วมงานกับอาจารย์ แต่ความเคารพนั้นยังคงอยู่เสมอ แต่ในฐานะเพื่อนร่วมงานก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด รังฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เพื่อร่วมพัฒนาองค์กร ด้วยช่องว่างระหว่างวัยของครูเฟิร์สกับนักเรียนไม่ห่างกันมาก ซึ่งวิชาแนะแนวเป็นหนึ่งในวิชาที่ครูเฟิร์สสอน ต้องมีการพูดคุยกับนักเรียน  ทำให้นักเรียนกล้าที่จะเปิดใจคุยมากขึ้น สำคัญคือ ต้องทำให้นักเรียนไว้ใจเรา

วิชาแนะแนว วิชาทักษะชีวิต แนะนำการเรียน ชี้ทางชีวิต

ในมุมมองของครูเฟิร์สสำหรับวิชาแนะแนวและวิชาทักษะชีวิตที่ตัวเองเป็นผู้สอนนั้น ครูเฟิร์สให้นิยามว่า เป็นวิชาแห่งความเข้าใจซึ่งกันและกัน นักเรียนมีความต้องการอะไรก็ขอให้บอก ครูทำหน้าที่เป็นผู้ที่คอยรับฟัง ช่วยเหลือ ให้คำแนะนำและส่งเสริม แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องและเหมาะสม บางเรื่องที่เรารู้สึกว่าไม่ถูกต้องก็อย่าเพิ่งไปตัดสิน พยายามพูดในเชิงบวก เพื่อเสริมแรง เสริมสร้างกำลังใจแก่นักเรียนที่เข้ามาปรึกษาวิธีนี้ทำให้เด็กรู้สึกมั่นใจ รู้สึกเห็นคุณค่าในตัวเอง อย่างนักเรียนบางคนที่มีปัญหาทางการเงิน ทางโรงเรียนก็ให้การสนับสนุนอาหารกลางวัน หรือขอความอนุเคราะห์จากทางผู้ประกอบการในชุมชนให้ช่วยรับนักเรียนเข้าทำงานหลังเลิกเรียน เป็นการช่วยลดภาระทางบ้าน คลายความกังวลใจของนักเรียน

ทั้งนี้เพื่อให้นักเรียนสามารถมาโรงเรียนได้ตามปกติอย่างที่ควรจะเป็น ครูเฟิร์สเล่าว่า เพราะเด็กทุกคนนั้นแตกต่างกัน แต่ละคนมีมุมมองความคิด การเข้าถึงโอกาส และปัญหาที่ต่างกัน เด็กบางคนที่มีโอกาสที่ดีทางโรงเรียนจะช่วยส่งเสริมผลักดันอย่างเต็มที่ ส่วนคนที่มีภาระต้องช่วยงานทางบ้านแล้วเข้าเรียนสายก็สามารถแจ้งเหตุผลกับทางโรงเรียนได้ อย่างช่วงสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการศึกษาอย่างมาก เมื่อต้องเปลี่ยนรูปแบบการเรียนมาเป็นออนไลน์ ใช่ว่าทุกครอบครัวจะมีความพร้อมด้านอุปกรณ์ ทางคุณครูเองก็ต้องปรับตัวไม่น้อยเช่นกัน จนเกิดความกังวลว่าเด็กจะได้รับประโยชน์จากการเรียนออนไลน์มากน้อยแค่ไหน เด็กคนไหนที่ไม่พร้อม ทางโรงเรียนสามารถช่วยเหลือได้อย่างไร การวัดผลก็ต้องคำนึงถึงตรงนี้เช่นกัน ต้องปรับไปตามรายบุคคล

แรงบันดาลใจที่อยากเป็นครู กับบทบาทของครูที่ช่วยเหลือสังคม

ครูเฟิร์สเล่าว่า นักเรียนส่วนใหญ่มักจะมีบุคคลที่ชื่นชอบอยู่ในใจ ใฝ่ฝันว่าอยากจะเดินตามเส้นทางนั้นและประสบความสำเร็จ เหตุผลของการเป็น “ครู” สำหรับครูเฟิร์สนั้นเพราะอยากที่จะทำงานร่วมกับเด็กๆ อยากที่จะรับฟังพวกเขา อย่างบางเรื่องที่เด็กๆ ไม่สามารถเล่าให้ใครฟังได้  ครูเฟิร์สอยากจะเป็นคนที่เด็กสามารถเล่าให้ฟังได้ พร้อมที่จะช่วยเหลือและให้โอกาสอยู่เสมอ เช่นเดียวกับที่ครูเฟิร์สเคยได้รับโอกาสจากครูผู้สอนในวัยเด็ก เมื่อทางสมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ทราบว่าคุณครูเฟิร์สได้มาเป็นคุณครูที่โรงเรียนจรัสพิชากร จึงได้ยื่นเรื่องโครงการแผนที่สุขภาพ ปีที่ 2 จากที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นนักเรียนแกนนำโครงการ

ปัจจุบันได้มาเป็นครูที่ปรึกษาโครงการ ปล่อยให้นักเรียนได้มีอิสระทางความคิด ครูมีหน้าที่คอยให้คำแนะนำ ครูเฟิร์สเล่าว่า โครงการแผนที่สุขภาพ ไม่ใช่แค่การพัฒนาพื้นที่เท่านั้น แต่ยังช่วยให้เด็กๆ ได้เรียนรู้การทำงานที่ได้รับมอบหมาย ฝึกทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ทักษะการแก้ปัญหา บางคนค้นพบว่าตัวเองชอบอะไรและอยากที่จะศึกษาต่อด้านไหนจากการเข้าร่วมโครงการนี้ ครูเฟิร์สมองว่า การทำงานลักษณะนี้ทำให้ทั้งเด็กและครูต่างเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

การเปิดใจรับฟัง ฟังอย่างเป็นกลาง ไม่ตัดสิน คอยชี้แนะในสิ่งที่ถูกที่ควร พยายามช่วยเหลือและให้กำลังใจ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เด็กและเยาวชนเติบโตด้วยความมั่นใจ เห็นคุณค่าในตัวเอง ไม่เดินในเส้นทางที่ทำให้ตัวเองและคนที่รักเราต้องเสียใจ ขอเพียงมีใครสักคนเข้าใจและมอบโอกาสให้ คอยอยู่เคียงข้างในวันที่ท้อแท้ แม้ต้องเผชิญกับอุปสรรคก็สามารถจัดการกับปัญหาและกลับมาเดินได้อย่างมั่นคงอีกครั้ง

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ

คุณ เรขา ปรีชาวัย อนุรักษ์ป่า พัฒนาการท่องเที่ยว สร้างรายได้สู่ชุมชน

เมื่อพูดถึงแหล่งท่องเที่ยวของนครศรีธรรมราช คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร หลายคนอาจไม่รู้ว่านครศรีธรรมราชมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามเช่นกัน “เขาเหมน” เป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวที่อยากแนะนำให้ทุกท่านรู้จัก คนต้นแบบเมืองนครท่านนี้เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังของการเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวท้องถิ่น สร้างรายได้สู่ชุมชน คุณ เรขา ปรีชาวัย ผู้นำการจัดการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและอนุรักษ์ป่าเขาเหมน

สานต่อกิจการครอบครัว หมั่นเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากคนรอบข้าง

คุณเรขา เล่าว่า ทางครอบครัวทำธุรกิจเกี่ยวกับบริการรถโดยสารประจำทาง หลังจากเรียนจบทางด้านอุตสาหกรรมขนส่งและการบริการ คุณเรขา ได้มารับช่วงต่อกิจการจากคุณพ่อ ดูแลบริหารเขาเหมนรีสอร์ทและครัวเขาเหมน ตั้งอยู่ที่ตำบลช้างกลาง อำเภอช้างกลาง ซึ่งก่อตั้งในปี 2540 บนพื้นที่ของบรรพบุรุษ ในยุคนั้นประเทศไทยเข้าสู่วิกฤตการณ์ทางการเงิน ซึ่งตรงกับช่วงที่รัฐบาลส่งเสริมการเกษตรเพื่อการท่องเที่ยว คุณพ่อของคุณเรขาเริ่มต้นทำรีสอร์ทเล็กๆ มีแปลงเพาะปลูก เพื่อให้สอดคล้องกับเกษตรเพื่อการท่องเที่ยว ชีวิตวัยเด็กที่คลุกคลีกับคุณพ่อและคุณลุงคุณป้าที่รู้จักซึ่งทำงานด้านบริการและการท่องเที่ยวนั้น ทำให้คุณเรขาได้เรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์มาตั้งแต่ตอนนั้น ได้มุมมองและแนวคิดหลายอย่าง หลังจากที่ได้สานต่อกิจการของคุณพ่อ คุณเรขาได้รู้จักกับเกษตรกรในพื้นที่มากขึ้น และได้รับความช่วยเหลือจากทางเกษตรอำเภอ ทำให้ในปี 2545  ทางเขาเหมนรีสอร์ทและครัวเขาเหมนได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย หรือรางวัลกินรี นับเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่สำหรับชุมชน

ให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีม นำเสนออัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น

แน่นอนว่าการทำงานย่อมเจอกับปัญหาและอุปสรรค แต่ก็มีเรื่องราวให้ได้เรียนรู้อยู่เสมอ อย่างการนำเสนอภูมิปัญญาชาวบ้าน เช่น หุงข้าวด้วยกระบอกไม้ไผ่ กรรมวิธีในการทำอาหารรูปแบบต่างๆ เป็นเรื่องที่สร้างความท้าทายและความสนุกให้กับการทำงาน ชาวบ้านได้เข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอผลงานเช่นกัน ทำให้คุณเราขาได้เจอเพื่อนในวงการเดียวกัน ได้แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน และอยากที่จะส่งความรู้สู่คนรุ่นใหม่ คุณเรขาเล่าว่า การบริหารงานด้านการท่องเที่ยวและร้านอาหารไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากสำหรับตัวเอง การที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายผู้ประกอบการทำให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับงานมากขึ้น

อย่างการออกบูธเพื่อนำเสนอการท่องเที่ยวหรือสินค้าของนครศรีธรรมราชก็มักจะถูกมองข้าม ไม่ค่อยมีใครแวะชมที่บูธ ต่างจากจังหวัดที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวที่มักจะได้รับความสนใจมากกว่า คุณเรขาจึงตัดสินใจว่าเมื่อไปออกบูธงานท่องเที่ยวครั้งหน้า นครศรีธรรมราชต้องรวมกันเป็นหนึ่งเดียวไม่แบ่งออกเป็นแต่ละอำเภอ เพื่อนำเสนอความเป็นนครศรีธรรมราช ต้องดึงดูดความสนใจของผู้เข้าชมให้ได้ ภายในบูธถูกแบ่งออกเป็น 4 โซนย่อย คือ ป่าเขา ทะเล ลุ่มน้ำ และวัฒนธรรม ซึ่งผู้ประกอบการทุกคนต้องรู้เรื่องราวการนำเสนอของทุกชุมชน มีการจัดกิจกรรมร่วมกับผู้เข้าชม เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้คนเริ่มรู้จักนครศรีธรรมราชในฐานะเมืองท่องเที่ยวมากขึ้น

ส่วนตัวคุณเรขามองว่า การรวมกลุ่มของคนทำงานและคนที่อยากทำอะไรสักอย่างเพื่อบ้านเกิดนั้น ต้องเริ่มจากความชอบและทำด้วยความสุข ทำให้ทุกคนในทีมเลือกวิธีการทำงานที่ทำให้ตัวเองมีความสุขและสามารถทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมได้โดยไม่คาดหวังระหว่างทาง มุ่งไปที่เป้าหมาย ทุกคนมีความสำคัญเท่ากันตามหน้าที่ที่รับผิดชอบ

เที่ยวเขาเหมน “หยิบหมอก หยอกเมฆ”

พอเอ่ยถึง “เขาเหมน” เชื่อว่าหลายคนอาจจะไม่รู้จัก หรือเคยได้ยิน เขาเหมน มาจากชื่อที่เรียกกันย่อๆ ของ “เขาพระสุเมรุ” เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง สูงประมาณ 1,307 เมตร จากระดับน้ำทะเล สภาพอากาศหนาวเย็น ลมพัดแรง และมีเมฆปกคลุมเกือบทั้งปี มีพันธุ์ไม้ป่าที่สวยงาม พืชพันธุ์บางชนิดที่หายาก สำหรับนักท่องเที่ยวสายลุย กิจกรรมที่ห้ามพลาดเมื่อมาที่นี่คือ การเดินป่า อาบป่า ชมความงามของธรรมชาติ ชมหมอกยามเช้า ซึ่งเส้นทางขึ้นยอดเขาเหมนนั้นค่อนโหดพอสมควร ต้องเตรียมความพร้อมด้านร่างกายให้แข็งแรง

การท่องเที่ยวเขาเหมน มีความน่าสนใจตรงที่สภาพธรรมชาติที่แปรเปลี่ยนไปตามฤดูกาล สามารถเที่ยวได้ตลอดทั้งปี คุณเรขาเล่าว่า ได้นำเกษตรเพื่อการท่องเที่ยวกลับมาปัดฝุ่นอีกครั้ง เตรียมความพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว มีกิจกรรมศึกษาดูงานจากปราชญ์ชาวบ้าน เช่น  มังคุดแปลงใหญ่ ทุเรียนแปลงใหญ่ การปลูกเกษตรอินทรีย์ การเลี้ยงผึ้ง ในส่วนของเขาเหมนรีสอร์ท ตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่สมบูรณ์ มีจุดชมวิวที่มองเห็นเขาเหมน ในช่วงเย็นนักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสกับบรรยากาศพระอาทิตย์ตกที่สวยงาม ทางฝั่งของครัวเขาเหมน มีอาหารท้องถิ่นให้ลิ้มรส เมนูวัตถุดิบ​เฉพาะถิ่น กินอาหารพร้อมกับชมวิวทิวทัศน์ก็สร้างความสุขในวันพักผ่อนได้ไม่น้อย

ความงดงามของธรรมชาติ เพียงได้สัมผัสชั่วครู่แต่กลับสร้างความสุขไปได้นาน เช่นเดียวกับ “เขาเหมน” สถานที่ท่องเที่ยวที่ขับเคลื่อนด้วยผู้คนในท้องถิ่น เพื่อนำเสนอชุมชนให้เป็นที่รู้จักและอยากทำประโยชน์แก่ส่วนรวม เกิดเป็นการสร้างรายได้แก่ชุมชน แน่นอนว่าการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายในการอนุรักษ์ป่าเขาเพื่อให้คงความสมบูรณ์ไว้ได้มากที่สุด ไม่ใช่แค่ในแง่ของการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตผู้คน…วิถีชีวิตที่ควรค่าแก่การรักษาไว้

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ

คุณ ไพโรจน์ เนาว์สุวรรณ เปลี่ยนลูกไม้ เป็นงานศิลป์ สร้างรายได้ชุมชม คนต้นแบบเมืองนคร

สิ่งรอบตัวที่เรามองว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับบางคนที่มองเห็นคุณค่าก็สามารถสร้างโอกาสที่อาจเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตเลยก็ว่าได้ จากจุดเริ่มต้นในการนำวัสดุธรรมชาติมาสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานที่สร้างความภูมิใจให้แก่ตนเอง และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ผลงานต้นแบบของคนต้นแบบเมืองนคร คุณไพโรจน์ เนาว์สุวรรณ ผู้ก่อตั้งกลุ่มลูกไม้คีรีวง เปลี่ยนลูกไม้ เป็นงานศิลป์ สร้างรายได้ชุมชม

ความชื่นชอบเครื่องประดับ ประสบการณ์ค้าขาย และความท้าทายในชีวิต

หากพูดถึงหมู่บ้านคีรีวง อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช ไม่ได้ขึ้นชื่อแค่เรื่องการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ที่นั่นมีการจัดตั้งกลุ่มชุมชนที่หลากหลาย เป็นภาคีเครือข่ายร่วมกัน ซึ่งกลุ่มลูกไม้คีรีวงที่คุณไพโรจน์เป็นประธานกลุ่มก็เป็นหนึ่งในนั้น คุณไพโรจน์เล่าว่า ช่วงอายุประมาณ 20 ต้นๆ หลังจากเรียนจบจากกรุงเทพมหานคร คุณไพโรจน์ได้เดินทางกลับนครศรีธรรมราช เพื่อเริ่มต้นอาชีพทำสวนสานต่ออาชีพของครอบครัว แต่ด้วยความชื่นชอบด้านค้าขาย และชื่นชอบการแต่งตัว จึงตัดสินใจขายของตามงานเทศกาลต่างๆ ที่จัดขึ้นทั่วภาคใต้ สินค้าส่วนใหญ่เป็นกระเป๋าหนัง สร้อยคอ แหวน และเคื่องประดับอื่นๆ ชีวิตที่เต็มไปด้วยการเดินทาง ทำให้คุณไพโรจน์รู้จักผู้คนเป็นจำนวนมากและได้รับประสบการณ์ในชีวิตมากมาย ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ เมื่อเดินทางไปต่างถิ่น เจอกับสังคมใหม่ ต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม และต้องหาวิธีที่ทำให้ขายสินค้าได้ เพื่อสร้างรายได้ให้กับตัวเอง จนถึงวันที่มีหน้าร้านเป็นของตัวเอง เมื่อไม่มีอะไรแน่นอน ในวันที่ต้องเจอมรสุมชีวิตคุณไพโรจน์จึงตัดสินใจเลิกค้าขาบ และกลับไปทำสวนของครอบครัว ระหว่างนั้นก็คิดทบทวนไปด้วยว่าต่อจากนี้ชีวิตจะดำเนินไปทิศทางใด สวนของคุณไพโรจน์ตั้งอยู่บนเขารายล้อมไปด้วยพืชพันธุ์หลากหลายชนิด ทำให้คุณไพโรจน์ได้เรียนรู้การใช้ชีวิตในป่าเขา

จนมาถึงช่วงที่หมู่บ้านคีรีวงเริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะหมู่บ้านท่องเที่ยว ในชุมชนมีการทำผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ ทำสบู่สมุนไพรจากเปลือกมังคุด ทำทุเรียนกวนห่อกาบหมาก และแปรรูปสินค้าเกษตรอื่นๆ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ ในปี 2543 คุณไพโรจน์เริ่มต้นจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มบ้านสมุนไพร ทำหน้าที่ช่วยเหลือประสานงานด้านต่างๆ พยายามฝึกทักษะภาษาอังกฤษเพื่อใช้สื่อสารกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ในช่วงที่มีโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ประธานกลุ่มบ้านสมุนไพรแนะนำให้แต่ละครัวเรือนทำผลิตภัณฑ์ของตัวเองแล้วนำมารวมกันเพื่อจำหน่ายที่กลุ่ม คุณไพโรจน์จึงว่าตัวเองจะทำอะไรดี จากความชื่นชอบการแต่งตัวและเครื่องประดับ ประกอบกับตอนที่อาศัยอยู่บนเขาคุณไพโรจน์เห็นลูกไม้ป่า (เมล็ดพืช) ตกหล่นบนพื้นเป็นจำนวนมาก มีรูปร่างแตกต่างกัน จึงเก็บลูกไม้มาทำเป็นพวงกุญแจ เพื่อจำหน่ายเป็นของที่ระลึก จากที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะขายได้ ปรากฏว่าขายได้ มีคนชื่นชอบ นี่จึงเป็นตัวจุดประกายไอเดียให้คุณไพโรจน์มีกำลังใจในการสร้างสรรค์ชิ้นงานอื่นๆ อยากที่จะดีไซน์ให้สวยงาม และสร้างแบรนด์ของตัวเอง

เครื่องประดับจากวัสดุธรรมชาติ สู่การสร้างรายได้ในชุมชน

ในปี 2547 คุณไพโรจน์จัดตั้งกลุ่มลูกไม้บ้านคีรีวง ในช่วงแรกของการตั้งกลุ่ม สมาชิกสามารถสร้างรายได้เสริมเป็นจำนวนไม่น้อย ในปีเดียวกันทางกลุ่มลูกไม้บ้านคีรีวงส่งผลิตภัณฑ์เข้าประกวดโอท็อปได้ระดับ 4 ดาว และมีโอกาสเข้าร่วมงานแสดงสินค้าระดับประเทศ นอกจากพวงกุญแจ ยังมีสินค้าอื่น เช่น สร้อยคอ กำไล และเครื่องประดับ โดยการนำลูกไม้มาถักทอร้อยด้วยเชือกเทียน จากพวงกุญแจธรรมดา เริ่มมีการนำศิลปะเข้ามาทำให้ชิ้นงานดูสวยขึ้น การถักเชือกเทียนล้อมรอบลูกไม้นอกจากจะทำให้ลูกไม้ไม่หลุดแล้ว ยังไม่ต้องเจาะลูกไม้ให้เกิดรอย และยังป้องกันแมลงเข้าไปกัดกินลูกไม้ผ่านรอยเจาะอีกด้วย คุณไพโรจน์เล่าว่า การที่ตัวเองมองเห็นปัญหาของหลายๆ กลุ่ม ส่วนใหญ่มาจากการแบ่งสัดส่วนรายได้ ทางกลุ่มลูกไม้ใช้วิธีแจกจ่ายงานให้สมาชิกนำกลับไปทำที่บ้าน ใช้เวลาว่างในการทำ เมื่อทำเสร็จแล้วจึงนำมาส่ง

ในส่วนของการทำการตลาดเป็นเรื่องที่คุณไพโรจน์ให้ความสำคัญอย่างมาก ได้นำประสบการณ์ค้าขายก่อนหน้านี้มาประยุกต์ใช้กับการจำหน่ายสินค้าของทางกลุ่ม มองหาจุดเด่นเพื่อนำเสนอสินค้า ทำอย่างไรให้สินค้ามีมูลค่า อย่างการออกแบบแพคเกจจิ้งสำหรับใส่พวงกุญแจที่ทำจากลูกสวาท ก็ทำออกมา 2 แบบ ซึ่งขายในราคาต่างกัน เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่ต่างกัน นอกจากนำลูกไม้ท้องถิ่นภาคใต้มาทำเป็นเครื่องประดับแล้ว คุณไพโรจน์ได้ติดต่อขอซื้อลูกไม้จากภาคอื่น เช่น ลูกพระเจ้าห้าพระองค์ มาสร้างสรรค์ชิ้นงานเช่นกัน มีการสร้างสตอรี่ให้กับแบรนด์โดยเชื่อมโยงเข้ากับความเชื่อ คุณไพโรจน์ให้ความเห็นว่า การขายสินค้าต้องมีจรรยาบรรณ อย่าหลอกลวง ลูกค้าที่เข้าใจหรือชอบเกี่ยวกับความเชื่อก็ยินดีที่จะจ่าย

ใช้ช่องทางออนไลน์สร้างรายได้เพิ่มโควิดระบาด

ช่องทางการขายก่อนช่วงโควิด-19 สินค้าวางจำหน่ายที่โฮมสเตย์ของคุณไพโรจน์ ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยว คณะศึกษาดูงานกลุ่มนักเรียนนักศึกษา และบุคคลทั่วไป ส่วนนักท่องเที่ยวคนไหนที่สนใจอยากจะทำเครื่องประดับ ทางกลุ่มก็สามารถสอนให้ได้ เพียงแต่มีค่าใช้จ่ายในส่วนของอุปกรณ์ สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในปัจจุบัน ทางกลุ่มหันมาใช้ช่องทางออนไลน์ในการจำหน่าย เช่น เพจกลุ่มลูกไม้ วิธีไลฟ์สด Facebook  และทางไลน์ อย่างในช่วงโควิด-19 ทางกลุ่มลูกไม้คีรีวงได้ผลิตสินค้าใหม่ให้ทันกระแสความต้องการของผู้คนในช่วงนี้ คือ สายคล้องหน้ากากอนามัย โดยใช้วัสดุอื่นที่มีความเหมาะสมต่อการใช้งาน และเพิ่มสีสันให้สวยงามยิ่งขึ้น

หากไม่แน่ใจว่าอยากทำอะไร ให้มองหาว่าชอบหรือถนัดด้านไหน  การได้ทำในสิ่งที่ชอบ เมื่อได้เริ่มก้าวแรกแล้ว มักจะมีก้าวต่อไปเสมอ จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ก็สามารถพัฒนาต่อยอดไปได้ สำคัญคือ การตั้งเป้าหมายให้กับตัวเอง อย่างการขายสินค้า การตลาดคือสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ต้องเรียนรู้ที่จะขายให้ได้ ทำการตลาดให้เป็น เมื่อเกิดวิกฤตต้องปรับตัวให้ทัน เพื่อประคับประคองให้ธุรกิจอยู่รอดต่อไป

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ

คุณ สุภาวดี ขำเกิด  รักษาวัฒนธรรม นำความทันสมัย มาใช้ส่งต่อคุณค่า

นับเป็นเรื่องดีที่เยาวชนไทยเริ่มหันมาสนใจอนุรักษ์ สืบสาน ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น หลายคนมีจุดเริ่มต้นจากความชอบสู่การประกวดแข่งขัน บางคนสามารถต่อยอดสร้างอาชีพและถ่ายทอดองค์ความรู้สู่คนอื่นๆ ได้ คนต้นแบบเมืองนครที่ทางนครศรีสเตชั่นอยากแนะนำให้ทุกท่านได้รู้จัก เป็นคนรุ่นใหม่ที่สืบสานและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของบ้านเกิด การันตีด้วยรางวัลระดับประเทศ คุณ สุภาวดี ขำเกิด  รักษาวัฒนธรรม นำความทันสมัย มาใช้ส่งต่อคุณค่า

จุดเริ่มต้นจากความรักในการร้องเพลงลูกทุ่ง สู่เล่านิทานพื้นบ้าน การร้องเพลงบอก และเพลงร้องเรือ

คุณสุภาวดี หรือน้องเตย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5โรงเรียนปากพนัง เยาวชนที่มีความสามารถในการแสดงและสืบสานศิลปวัฒนธรรม จุดเริ่มต้นจากครอบครัวที่มีเชื้อสายมโนราห์ ทำให้น้องเตยค่อยๆ ซึมซับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นตั้งแต่เด็ก ทุกครั้งที่มีเวลาว่าง น้องเตยมักจะเปิดดูซีดีการแสดงมโนราห์จากศิลปินที่ชื่นชอบ เมื่อเข้าสู่วัยประถมศึกษาได้รับเลือกจากคุณครูที่โรงเรียนให้ร้องเพลงหน้าชั้นเรียน พรสวรรค์ด้านการร้องที่ฉายแววออกมาทำให้น้องเตยได้เป็นนักร้องของโรงเรียน โดยมีคุณครูช่วยฝึกสอนร้องเพลงมาเรื่อยๆ

จนมีโอกาสได้เข้าประกวดร้องเพลงเป็นครั้งแรก แม้จะไม่ชนะการประกวดแต่ก็ไม่รู้สึกเสียใจ จากเวทีแรกน้องเตยได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการประกวดร้องเพลงมาโดยตลอด จนถึงวัยมัธยมก็ได้เป็นนักร้องประจำโรงเรียนปากพนัง ได้รับการชักชวนจากคุณครูวิชาภาษาไทยให้ไปฝึกซ้อมเพื่อแข่งขันเล่านิทานพื้นบ้าน เมื่อน้องเตยเห็นว่ามีรุ่นพี่กำลังซ้อมเพลงบอกเพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน (เพลงบอกเป็นการแสดงพื้นบ้านของภาคใต้ที่สืบเนื่องมาแต่โบราณ) ก็เกิดความสนใจขึ้นทันที ซึ่งส่วนตัวน้องเตยรู้จักกับเพลงบอกเพียงแต่ทอกเพลงไม่เป็น (ทอก หมายถึง การทำซ้ำ การย้ำ เพลงบอกคือการร้องแบบซ้ำๆ)

จากวันนั้นน้องเตยเริ่มศึกษาการร้องเพลงบอกผ่านช่อง Youtube จนเมื่อโอกาสมาถึงน้องเตยเริ่มแข่งเพลงบอกในขณะที่กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2  และไม่ว่าทางคุณครูจะเสนอกิจกรรมอะไรก็ตาม น้องเตยมักจะตอบรับเสมอ เรียกได้ว่าเป็นเด็กกิจกรรมตัวยง ซึ่งน้องเตยมองว่าการที่ได้ทำงานร่วมกับผู้ใหญ่ ทำให้มีประสบการณ์มากขึ้นทั้งในด้านการทำงาน การใช้ชีวิต เรียนรู้ที่จะวางตัวตัวให้เหมาะสม

ก้าวสู่เวทีการประกวดแข่งขันระดับประเทศ

จากจุดเริ่มต้นของการประกวดในระดับท้องถิ่นตั้งแต่วัยประถมจนถึงปัจจุบัน น้องเตยได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ นำเอาข้อผิดพลาดมาปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น ความกระตือรือร้นในการฝึกซ้อม บวกกับการขอคำแนะนำจากผู้อื่น ช่วยเพิ่มพูนทักษะในการร้องให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ที่ผ่านมาน้องเตยเคยก้าวสู่เวทีการประกวดร้องเพลงในรายการไมค์ทองคำ (รายการประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง) ซึ่งตัวเธอเองมีดีกรีเป็นถึงแชมป์ 2 สมัยในการแข่งขันเพลงร้องเรือ ที่จัดขึ้นในงานทำบุญสารทเดือนสิบของนครศรีธรรมราช ในส่วนของเพลงบอก ซึ่งเป็นการละเล่นประเภทการขับร้องที่ต้องใช้สำเนียงภาษาถิ่นใต้ในการร้องบท

จากการที่ได้เห็นรุ่นพี่ที่โรงเรียนฝึกซ้อมเพลงบอก บวกกับความสนใจส่วนตัว ทำให้น้องเตยมีโอกาสได้ฝึกซ้อมเป็นลูกคู่ ความยากอยู่ตรงที่คีย์ร้องที่ต่างกันระหว่างเสียงของผู้ชายและผู้หญิง ซึ่งเพลงบอกส่วนใหญ่จะร้องโดยผู้ชาย เป็นเสียงต่ำกว่าผู้หญิง น้องเตยจึงต้องปรับเสียงคีย์ร้องของตัวเองให้ต่ำลงกว่าเสียงปกติ และอีกหนึ่งผลงานที่น่าภาคภูมิใจของน้องเตยและสมาชิกในทีมคือ การได้เข้าร่วมการแข่งขันเพลงบอกเยาวชนโล่พระราชทานสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี น้องเตยเล่าว่า บรรยากาศการแข่งขันในตอนนั้น ทางกรรมการมีญัตติมาให้ (ได้ญัตติหัวข้อ “ถ้าฉันได้เป็นนายกรัฐมนตรี”) ซึ่งทีมผู้เข้าแข่งขันต้องเตรียมเนื้อร้องกันเอง การแข่งขันแบ่งออกเป็น 2 รอบ คัดเหลือ 5 ทีมสุดท้ายเพื่อเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ผลการตัดสินทีมของน้องเตยได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1

รักษาวัฒนธรรม นำความทันสมัย มาใช้ส่งต่อคุณค่า

น้องเตยเล่าว่า ทางครอบครัวน้องเตยมีเชื้อสายมโนราห์มาตั้งแต่รุ่นปู่ทวดยายทวด จากจุดนี้ทำให้ตัวเธอมีความชื่นชอบศิลปการแสดงภาคใต้ แม้ไม่เก่งในศาสตร์มโนราห์ แต่ทุกครั้งที่มีโอกาสได้แสดงความสามารถ น้องเตยมักจะนำเสนอศิลปะการแสดงท้องถิ่นใต้สอดแทรกเข้าไปด้วย การที่เติบโตมากับศิลปวัฒนธรรม น้องเตยจึงรู้สึกว่าไม่สามารถที่จะทอดทิ้งสิ่งเหล่านี้ไปได้ และอยากที่จะอนุรักษ์ไว้ เธอจึงรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสืบสานศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ อย่างโนราห์นั้นเพิ่งจะได้รับการขึ้นทะเบียนจาก องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ สร้างความภูมิใจให้กับชาวไทยทั่วทุกภาคไม่เฉพาะแค่ภาคใต้เท่านั้น

ส่วนในอนาคตหลังจากเรียนจบระดับชั้นมัธยมศึกษา น้องเตยมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะศึกษาต่อทางครุศาสตร์ เอกภาษาไทย เธอให้ความเห็นว่าอย่างน้อยก็มีในเรื่องของกาพย์ โคลง กลอน ซึ่งเป็นสิ่งที่น้องเตยคุ้นเคยสามารถนำไปถ่ายทอดสู่นักเรียนของเธอได้ โดยผ่านการทำกิจกรรม เป็นการช่วยให้คนรุ่นใหม่ต่อจากนี้รับรู้ถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรมภาคใต้

ไม่ใช่แค่ความชื่นชอบเท่านั้นที่จะพาเราไปสู่โอกาสในชีวิต แต่การเตรียมพร้อมสำหรับโอกาสที่เข้ามาในชีวิต ฝึกฝนทักษะให้กับตัวเองอยู่เสมอต่างหากที่เป็นแรงผลักดันให้เราอยากที่จะแสวงหาโอกาสนั้น ซึ่งน้องเตยได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพรสวรรค์ ความชอบ บวกกับความทุ่มเทนั้น ทำให้เธอเดินทางมาไกลแค่ไหน ที่สำคัญคือ การไม่ลืมที่จะระลึกถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรมท้องถิ่นของตัวเอง ที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ และอยากที่จะรักษาของเก่าไว้ นำเสนอให้เข้ากับยุคสมัย พร้อมที่จะส่งต่อคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมล้ำค่านี้สู่คนรุ่นหลังสืบไป

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ

คุณ พรเทพ เซ่งรักษา คนต้นแบบเมืองนคร ใช้วัฒนธรรม นำการท่องเที่ยว

หากพูดในแง่ของการท่องเที่ยว เรื่องราวความเป็นมาที่ต่างกันของแต่ละสถานที่ ถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่สร้างความประทับใจให้กับผู้มาเยือน นครศรีธรรมราชเป็นอีกจังหวัดที่ผู้คนให้ความสนใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ชุมชน คนต้นแบบเมืองนครท่านนี้มีบทบาทในการสนับสนุนและผลักดันให้การท่องเที่ยวชุมชนเป็นที่รู้จัก โดยใช้วัฒนธรรม นำการท่องเที่ยว คุณ พรเทพ เซ่งรักษา ประธานชมรมมัคคุเทศก์อาชีพจังหวัดนครศรีธรรมราช

จากความชื่นชอบการท่องเที่ยว สู่ประธานชมรมมัคคุเทศก์อาชีพจังหวัดนครศรีธรรมราช

            ชีวิตในวัยเด็กของคุณพรเทพในตอนนั้น ไม่ต่างจากเด็กคนอื่นๆ ในละแวกบ้านเท่าไรนัก เมื่อมีเวลาว่างก็จะไปช่วยทางบ้านทำนา เติบโตท่ามกลางครอบครัวที่อบอุ่น หลังจากเรียนจบทางด้านการปกครองส่วนท้องถิ่นได้เข้าไปทำงานที่กรุงเทพมหานคร เมื่อเห็นถึงความแตกต่างที่ชัดเจนของวิถีชีวิตสังคมเมืองและต่างจังหวัด จึงตัดสินใจเดินทางกลับไปที่นครศรีธรรมราช และมีโอกาสได้ทำงานด้านการเมืองท้องถิ่นจนขึ้นไปถึงระดับผู้บริหาร ส่วนตัวเป็นคนที่ชื่นชอบการท่องเที่ยว แต่ไม่ได้คาดคิดว่าจะมีโอกาสได้มาทำงานทางด้านนี้

จนเมื่อคุณพรเทพได้พบกับปราชญ์ชาวบ้านท่านหนึ่ง ได้เล่าให้ฟังว่า ชายทะเลของอำเภอปากพนังในอดีตเคยเป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ บริเวณนั้นน่าจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ แต่ติดตรงที่ยังไม่มีใครริเริ่ม ทั้งที่เป็นหนึ่งในจังหวัดที่พร้อมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติและทรัพยากรทางวัฒนธรรม คุณพรเทพจึงตัดสินใจเข้าร่วมจัดตั้งชมรมมัคคุเทศก์ และจัดกิจกรรมเรื่อยมาจนกระทั่งเจอกับวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์การท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลง

บทบาทของมัคคุเทศก์ท้องถิ่น กับการท่องเที่ยววิถีชุมชน

ชมรมมัคคุเทศก์อาชีพจังหวัดนครศรีธรรมราช วัตถุประสงค์หลักในการจัดตั้งนั้นเป็นงานด้านอาสา คุณพรเทพ ให้ความเห็นว่า ต้องยอมรับว่าในส่วนของมัคคุเทศก์จังหวัดนครศรีธรรมราช ยังขาดความเชื่อมโยงและการส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐ แม้แต่ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวรายใหญ่ของนครศรีธรรมราชก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับมัคคุเทศก์มากเท่าไรนัก

ดังนั้นสิ่งที่สามารถเป็นไปได้คือ แต่ละชุมชนต้องนำเสนอตัวเอง ส่วนในเรื่องของวัฒนธรรมความเป็นคนนครศรีฯ การที่พยายามจะสื่อไปให้คนภายนอกรับรู้ได้นั้น หากนำเสนอผ่านทางมัคคุเทศก์เพียงอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการในการประชาสัมพันธ์ เพื่อดึงความสนใจให้คนอื่นๆ รู้จักกับภาคการท่องเที่ยวนครศรีธรรมราชมากขึ้น

อย่างในปี 2550 เป็นช่วงที่นครศรีธรรมราชกำลังอยู่ในความสนใจอย่างมาก สาเหตุจากกระแสความดังของ “องค์จตุคามรามเทพ” (หนึ่งในวัตถุมงคลที่เคยได้รับความนิยม) ส่วนในปี 2563 นครศรีธรรมราชได้ถูกพูดถึงอีกครั้ง เกิดจากผู้คนมากมายที่ศรัทธา “ไอ้ไข่ วัดเจดีย์” ต่างแวะกันไปไหว้ขอพรกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งคุณพรเทพมองว่านี่ไม่ใช่แก่นแท้จริง และมักจะบอกกับทางมัคคุเทศน์ว่าให้แนะนำนักท่องเที่ยวไปกราบสักการะบูชาพระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ศาสนสถานสำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นโบราณสถานสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้และประเทศไทย

เชื่อมโยงวัฒนธรรมกับการท่องเที่ยว

คุณพรเทพ ให้ความเห็นว่า มีเพียงมัคคุเทศก์ไม่กี่คนเท่านั้นที่มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถเข้าถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของนครศรีธรรมราช แม้แต่ตัวคุณพรเทพเองก็มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่มากเช่นกัน คุณพรเทพ มองว่า ผู้ประกอบการ หน่วยงานเอกชน และภาครัฐควรส่งเสริมเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้น เพราะแต่ละคนได้รับความรู้จากแหล่งที่มาต่างกัน เมื่อนำเสนอสู่นักท่องเที่ยวกลายเป็นว่าไม่รู้จะเชื่อใครดี จึงควรเป็นไปในทิศทางเดียวกันและตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ต้องแยกให้ออกว่าอันไหนคือเรื่องเล่า อันไหนคือเรื่องจริงที่มีหลักฐานอ้างอิง

แม้คุณพรเทพไม่สันทัดด้านศิลปะการแสดงของภาคใต้ แต่ด้วยสายเลือดของชาวใต้จึงมีความชื่นชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อยากที่จะส่งเสริมเยาวชน เพื่อให้เด็กมีกิจกรรมทำและดำรงตนในทางที่ถูกต้อง ที่ผ่านมามีการพาเด็กๆ ไปแข่งขันประกวดร้องเพลงตามรายการทีวีชื่อดัง มีการจัดตั้งชมรมเยาวชนคนลุ่มน้ำ เพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม เช่น เพลงบอก เพลงร้องเรือ โนราห์ รวมทั้งสอนร้องเพลง เมื่อใดก็ตามที่มีกลุ่มนักท่องเที่ยวขนาดใหญ่ ทางชมรมจะนำการแสดงของเด็กๆ และเยาวชนไปโชว์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เห็นถึงวัฒนธรรมภาคใต้ อย่างพิธีแห่หมรับ งานประเพณีบุญสารทเดือนสิบเมืองนคร งานแห่ผ้าขึ้นธาตุ ถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่สำหรับคุณพรเทพ ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านหลากหลายอาชีพ เป็นการส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรมจากบรรพบุรุษสู่รุ่นลูกหลาน

การปรับตัวด้านการท่องเที่ยวในภาวะวิกฤตโควิด-19

โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เป็นโครงการของภาครัฐเพื่อประชาสัมพันธ์ชุมชนท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จัก และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน สนับสนุนให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้สู่ชุมชน อย่างชุมชนวัดศรีสมบูรณ์หรือบ้านหอยราก เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงว่าเป็นแหล่งผลิตขนมลา ทางคุณพรเทพอยากที่จะชาวบ้านหยิบเอาวัตถุดิบอื่นๆ ในท้องถิ่นมารังสรรค์เป็นอาหาร เพื่อเป็นอีกหนึ่งอาชีพเสริม ในช่วงวิกฤตโควิด เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยว ก็ไม่เกิดการใช้จ่ายขึ้น สินค้าท้องถิ่นที่สามารถจัดส่งได้จึงเป็นทางออกที่เหมาะสมกับสถานการณ์เช่นนี้ โดยใส่เรื่องราวลงไปในอาหารเพื่อเพิ่มความน่าสนใจ เพราะนครศรีธรรมราชขึ้นชื่อในเรื่องแหล่งวัฒนธรรมทางอาหาร คุณพรเทพ เล่าว่า ช่วงแรกที่ทำก็เจอกับปัญหาเช่นกัน แต่อยากให้ชาวบ้านมองว่าเราสามารถนำเอาเรื่องใกล้ตัวมาสร้างเป็นรายได้ไม่มากก็น้อย

แม้รูปแบบการท่องเที่ยวในอนาคตอาจมีการเปลี่ยนแปลง ในฐานะเจ้าบ้านนอกจากการปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยวแล้ว สามารถนำเสนอเอกลักษณ์ชุมชน อาหารขึ้นชื่อที่ไม่ควรพลาด ของดีประจำถิ่นควบคู่กันไปด้วย เพื่อดึงความสนใจจากกลุ่มนักท่องเที่ยวให้อยากแวะมาสักครั้ง สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่เรื่องของการสร้างรายได้เท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยกันสืบสานอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่นให้คงอยู่ต่อไป

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ

ผศ.สุพัฒน์ นาคเสน สืบสาน ถ่ายทอด โนรามรดกโลกทางวัฒนธรรม คนต้นแบบเมืองนคร

เมื่อไม่นานมานี้ทางองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ  (UNESCO) ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “โนรา” หรือ “มโนราห์” ศิลปะการแสดงพื้นบ้านของภาคใต้ เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ การสืบทอดโนราที่มีมาอย่างยาวนาน ทำให้เกิดคำถามว่า ต่อจากนี้อนาคตของโนราจะไปในทิศทางใด คนต้นแบบเมืองนครท่านนี้เป็นหนึ่งในบุคคลที่เข้าใจถึงแก่นแท้ของโนรา เป็นผู้ที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ดั้งเดิมสู่คนรุ่นใหม่ เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมที่มีคุณค่า ผศ.สุพัฒน์ นาคเสน สืบสาน ถ่ายทอด โนรามรดกโลกทางวัฒนธรรม

จากความชื่นชอบทางด้านนาฏศิลป์ สู่ศิลปะการแสดงโนรา

ผศ.สุพัฒน์ หรือที่ลูกศิษย์เรียกกันว่า “ครูพัฒน์” เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับโนราสมัยเรียนอยู่ที่วิทยาลัยนาฏศิลป์นครศรีธรรมราช ซึ่งครูพัฒน์มีความชื่นชอบทางด้านนาฏศิลป์อยู่แล้ว และมีโอกาสฝึกการร่ายรำโขนหลังจากเรียนจบได้เป็นครูสอนอยู่ที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ ในตอนนั้นครูพัฒน์ต้องการที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับเทริดมโนราห์เพิ่มเติม (เครื่องสวมศีรษะ ซึ่งศิลปินโนราถือว่าเทริดเป็นของสูง เป็นสัญลักษณ์ของครู) จึงได้ไปขอความรู้จากครูโนราท่านหนึ่ง ในตอนนั้นครูพัฒน์มองว่า คนที่จะมาสืบทอดศิลปะการแสดงมโนราห์นั้นมีจำนวนน้อยมาก จึงเกิดความคิดที่อยากจะศึกษาอย่างจริงจัง จากนั้นครูพัฒน์มีโอกาสได้ไปทำงานที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จัดอบรมเกี่ยวกับนาฏศิลป์ตามความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา หลังจากสอบบรรจุเข้ารับราชการครูได้ ครูพัฒน์หันมาสนใจโนราอีกครั้ง หาประสบการณ์โดยการฝึกร่ายรำกับครูโนราที่มีชื่อเสียงหลายท่าน จากนั้นเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำวิทยานิพน์เรื่อง “โนรา : รำเฆี่ยนพราย-เหยียบลูกมะนาว” เป็นการรำประกอบพิธีกรรมของโนราที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางไสยศาสตร์ การรำชุดนี้ต้องแสดงโดยนายโรงโนรา และแสดงเฉพาะในการประชันโรงเท่านั้น ปัจจุบันหาดูได้ยากมาก ครูพัฒน์ทำการวิจัยโดยศึกษาจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง การสัมภาษณ์ และฝึกร่ายรำกับนายโรงโนราผู้ทรงคุณวุฒิด้านโนราหลายท่าน ทางครูพัฒน์เองได้ผ่านการประกอบพิธีกรรมครอบเทริด และผูกผ้าใหญ่อย่างถูกต้อง ที่วิทยาลัยนาฏศิลป์นครศรีธรรมราช เพื่อต้องการสืบทอดการรำอันศักดิ์สิทธิ์นี้ไว้เป็นสมบัติของโนราสืบไป

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับโนรา สำหรับบุคคลทั่วไปที่สนใจ

ครูพัฒน์ให้ความเห็นว่า โนราเปรียบเหมือนแหล่งรวมองค์ความรู้ทางศิลปะอันหลากหลาย สามารถพิจารณาได้หลายประเด็น เช่น

  • โนราเป็นสัญลักษณ์ของการสื่อสาร โดยใช้ร่างกายเพื่อแสดงการร่ายรำ ซึ่งการร่ายรำก็สามารถเจาะลึกลงไปได้อีกว่า จะรำอย่างไรให้ท่วงท่าดูสวยงาม ซึ่งต้องอาศัยสมาธิ มีจังหวะที่สม่ำเสมอ รู้จักวิธีการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างถูกต้อง
  • โนราเป็นสัญลักษณ์ของดนตรี ความงาม ความไพเราะ ความเหมาะสมของจังหวะที่สอดคล้องกับเครื่องดนตรี การบรรเลงท่วงทำนองมีทั้งจังหวะช้าและเร็ว เมื่อฟังแล้วเกิดความรู้สึกไปตามจังหวะเพลง
  • โนราเป็นสัญลักษณ์ของวรรณศิลป์ บทกวี ภาษากลอน มีการร้องขับบทเป็นกลอนสด ซึ่งต้องอาศัยทักษะการเปล่งเสียงให้มีความไพเราะ ใช้เสียงอย่างเหมาะสมตามบทกลอน ซึ่งกลอนโนรามีหลายรูปแบบ
  • โนราเป็นสัญลักษณ์ของหัตถศิลป์ ชุดโนราประกอบด้วยงานศิลป์หลายแขนงที่มีความประณีต เช่น “เทริดโนรา” มีโครงสร้างทำด้วยโลหะ ทองเหลือง หรือไม้ไผ่สาน ตกแต่งรายละเอียดด้วยการปั้นรักติดเป็นลวดลาย ลงรักปิดทอง ประดับตกแต่งด้วยกระจกสีหรือวัสดุอื่นที่เหมาะสม “เครื่องทรงโนรา” หรืออีกชื่อว่า เครื่องลูกปัดโนรา เครื่องแต่งกายของโนราที่มีการนำลูกปัดหลากสีสันมาร้อยเรียงกันเป็นลวดลายต่างๆ ที่สวยงาม

สติ สมาธิ และธรรมะ กับโนรา

ความเข้าใจของคนทั่วไปมักมองว่า โนราเป็นหนึ่งในศิลปะเพื่อความบันเทิง หากศึกษาให้ลึกถึงแก่นจะพบว่า ภายใต้ท่วงท่าการร่ายรำที่งดงามและบทร้องอันไพเราะนั้น โนราถือเป็นลักษณะทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่มีรากฐานจากความเชื่อ ได้เข้ามามีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตผู้คนทางภาคใต้ โดยเฉพาะการเจ็บป่วยที่มีการรักษาเยียวยาผ่านขั้นตอนของพิธีกรรม ครูพัฒน์ เล่าว่า โนรานั้นคู่กับการพิธีกรรม ซึ่งการทำพิธีกรรมต้องมีสมาธิจึงจะเกิดผล แต่ให้ระลึกเสมอว่า เราไม่ได้ทำด้วยพลังของเราเอง แต่เราเป็นเพียงสื่อกลางที่เชิญพลังของครูหมอโนรา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรานับถือ เพื่อรักษาเยียวยาอาการเจ็บป่วยที่มีลักษณะตามความเชื่อ เมื่อจิตเราสงบ มีสติ สมาธิ ก็จะเกิดการระลึกถึงครูบาอาจารย์ เกิดเป็นพลังในการประกอบพิธีกรรม ซึ่งการรักษาต้องใช้ประสาทสัมผัสหลายส่วนเพื่อให้สอดคล้องกับจังหวะท่วงทำนองที่กำลังดำเนินไป ส่วนของธรรมะกับโนรา ในอดีตมีความเชื่อว่าโนราสามารถติดต่อกับสิ่งที่อยู่นอกเหนือธรรมชาติได้ โดยผ่านพิธีกรรมบวงทรวง มีการสอดแทรกคำสอนต่างๆ เช่น พระคุณพ่อแม่ พระคุณครู การครองเรือน ปรัชญาการใช้ชีวิต เป็นต้น ผ่านบทกลอนที่ขับร้อง ซึ่งคนที่จะมาเป็นโนราได้ต้องมีความศรัทธาในตัวครูโนราทั้งครูที่มีชีวิตอยู่และครูบรรพชน

“โนรา” มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

ในอดีต โนรา เปรียบเหมือนสื่อในการบอกเล่า ถ่ายทอด เรื่องราวต่างๆ คนที่เป็นโนราต้องเรียนรู้ในเรื่องของธรรมะและพิธีกรรม ต้องเป็นคนที่น่าเคารพ เป็นที่ศรัทธาของผู้อื่น ในส่วนของศิลปะการแสดง ครูพัฒน์ เล่าว่า โนราประกอบด้วยตัวละครหลัก 3 คน คือ นายโรง (โนราใหญ่) นางรำ และตัวตลก (นายพราน) เมื่อดูจากชื่อเรียกแล้ว หลายคนมักเข้าใจผิด อย่าง “นางรำ” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง นางรำผู้หญิง แต่เป็นตัวละครที่มีลำดับรองลงมาจากนายโรง สามารถจำแนกตัวละครโดยดูได้จากเครื่องแต่งกาย ซึ่งโนรามีการพัฒนารูปแบบการแสดงตามยุคสมัย ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่สั่งสมมาเรื่อยๆ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม ทำให้ต้องย้อนกลับมาถามว่า ทุกวันนี้โนรามีความสำคัญกับชีวิตผู้คนและสังคมอย่างไร สามารถนำไปประกอบวิชาชีพในรูปแบบใด

ในอนาคต ครูพัฒน์ให้ความเห็นว่า การที่โนราได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่จะอนุรักษ์ไว้อย่างไร ใครจะเป็นผู้รักษาไว้ คงเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับอนาคต ซึ่งศิลปินโนรานั้นมีส่วนสำคัญต่อหน้าที่นี้ ต้องตระหนักและรู้คุณค่าในสิ่งที่ทำ ส่วนนักวิชาการเองก็ต้องให้ความสำคัญกับมรดกภูมิปัญญานี้เช่นกัน ต้องถ่ายทอดข้อมูลให้ผู้อื่นรับรู้ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง สิ่งที่ครูพัฒน์กังวลคือ ความงดงามของโนราเริ่มลดลง ในขณะที่ความสนุกสนานเพิ่มขึ้น ครูพัฒน์มักจะนำคำสอนของครูที่ท่านเคารพนับถือนั่นคือ โนรายก ชูบัว ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (โนรา) ประจำปี 2530 ถ่ายทอดต่อไปยังลูกศิษย์ ให้เข้าใจถึงแก่นแท้ของโนรา รู้ถึงที่มาที่ไปอย่างเป็นเหตุเป็นผลนั่นเอง

การอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้คงอยู่สืบไปไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของชุมชนโนราทุกคนตั้งแต่ คนดู คนรักโนรา คนที่รู้เรื่องโนรา ผู้สนับสนุนโนรา ในการช่วยกันรักษาแก่นแท้ คงรูปแบบดั้งเดิมไว้ ควบคู่กับการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์เพื่อความอยู่รอด

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ

คุณ สหธัญ กำลังเกื้อ  ผู้นำพลิกนาร้าง เป็นนารักษ์ คนต้นแบบเมืองนคร

เราสามารถทำประโยชน์อะไรได้บ้างกับผืนดินที่เรามีอยู่? เราสามารถพัฒนาอะไรให้ดีขึ้นได้จากสิ่งที่เรากำลังทำอยู่? สิ่งที่คนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ได้ลงมือทำ โดยยึดมั่นในหลักการทำงานที่ไม่ว่าจะทำงานอะไรก็ตาม ต้องเข้าไปคลุกคลี เรียนรู้ด้วยตัวเอง และทำงานให้เป็นทุกอย่าง เปลี่ยนจากผืนดินอันว่างเปล่าให้กลายเป็นนาข้าวอันอุดมสมบูรณ์ เกิดการสร้างเครือข่ายกลุ่มชาว นา ณ คอน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นคำตอบที่แทบไม่ต้องอธิบายอะไรมากมาย เชิญทุกท่านทำความรู้จักกับคุณ สหธัญ กำลังเกื้อ  ผู้นำพลิกฝืนผืนนาร้าง สร้างนารักษ์

จากงานสายวิชาการ มุ่งหน้าสู่งานเกษตรอินทรีย์

คุณสหธัญ เกิดในครอบครัวที่มีคุณพ่อเป็นกำนัน อาชีพหลักของทางบ้านคือ ทำนา ชีวิตในวัยเด็กของคุณสหธัญ จึงคุ้นชินกับการทำนา ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว อย่างในช่วงวันหยุดมักจะวิ่งเล่นตามท้องนา จนกระทั่งเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ทางบ้านจึงเลิกทำนาไปในที่สุด แต่ยังคงมีเครือญาติที่ทำอาชีพนี้อยู่ คุณสหธัญเล่าว่า แม้จะคลุกคลีอยู่กับท้องนาตั้งแต่เด็ก โดยส่วนตัวนั้นไม่ชอบอาชีพนี้สักเท่าไหร่ เพราะมีความคิดว่าเป็นอาชีพที่ทำแล้วเหนื่อยมาก เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยทำงาน คุณสหธัญมีโอกาสได้ทำงานกับนักวิชาการ จึงตัดสินใจเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโท แต่ยังไม่ทันจะได้เรียน ก็มีโอกาสได้ทำงานเป็นเลขานุการที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งเป็นงานที่คุณสหธัญไม่คาดฝันว่าจะมีโอกาสได้ทำ ในขณะที่ทำงานคุณสหธัญได้แบ่งเวลาไปเรียนทางด้านสาขาจิตวิทยาอุตสาหกรรมที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ควบคู่ไปด้วย จากนั้นได้เข้าทำงานฝ่ายวิชาการที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และได้รับโอกาสชักชวนให้ไปทำงานกับทางเทศบาล บริหารจัดการด้านศูนย์การเรียนรู้กับโจทย์ “แหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิตสำหรับเยาวชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช” และต้องผลักดันให้หน่วยงานนี้มีที่ยืนในระดับประเทศไปจนถึงนานาชาติ

ในปีแรกถือเป็นช่วงที่กำลังล้มลุกคลุกคลาน เพราะเป็นเรื่องใหม่สำหรับทีมงานและทางเทศบาล เมื่อเข้าสู่ปีที่สองเริ่มมีเครือข่ายจากกรุงเทพฯ เข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งคุณสหธัญเป็นผู้ติดต่อประสานงาน จนเข้าสู่ปีที่ 3 เริ่มมีหน่วยงานจากนานาชาติเข้ามาร่วมทำกิจกรรม เมื่อโครงการบรรลุผลตามเป้าหมาย คุณสหธัญตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาดูแลสวนยางของตัวเอง ด้วยเวลาที่ว่างมากขึ้นก็เริ่มหาพืชพันธุ์มาปลูกแสมในสวนยาง ซึ่งเป็นไม้เศรษฐกิจ เช่น ต้นจำปาทอง ต้นตะเคียน ต้นมะฮอกกานี การปลูกต้นไม้ทำให้ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมไม่ว่าจะเป็นเรื่องดิน ปุ๋ยหมัก วัสดุคลุมดิน คุณสหธัญจึงเกิดไอเดียว่าน่าจะทำนาเพื่อต้องการนำฟางมาใช้สำหรับทำปุ๋ย เริ่มจากพื้นที่ขนาด 5 ไร่ ปลูกข้าวสังข์หยด เมื่อเพื่อนทราบข่าวว่าทำนาจึงขอสั่งจองล่วงหน้า ปรากฏว่าข้าวสารล็อตแรกขายหมดเกลี้ยง จากเดิมที่ต้องการแค่ฟาง เป้าหมายจึงเปลี่ยนไปที่การปลูกข้าวให้ได้คุณภาพ จึงขยายพื้นที่ทำนาจาก 5 ไร่เป็น 20 ไร่ ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ทั้งหมด ในขณะที่การปลูกข้าวของคุณสหธัญเป็นแบบเกษตรอินทรีย์ ผืนนาบริเวณโดยรอบที่ให้คนอื่นเช่านั้นใช้สารเคมี แน่นอนว่าสารเคมีนั้นปนเปื้อนไปยังดินและน้ำ คุณสหธัญจึงตัดสินใจทำนาในพื้นที่ตัวเองทั้งหมด 50 ไร่โดยไม่ให้ใครเช่า เพราะต้องการจะพิสูจน์ให้เห็นว่าการทำนาโดยไม่ใช้สารเคมีก็สามารถให้ผลผลิตที่มีคุณภาพได้

ผู้นำพลิกนาร้าง เป็นนารักษ์ เรียนรู้ตั้งแต่กระบวนการแรกและลงมือทำให้เป็น

คุณสหธัญศึกษาและเรียนรู้การทำนาผ่านการลงมือทำด้วยตัวเอง ตั้งแต่เตรียมเมล็ดข้าว เตรียมดิน การหว่านเมล็ด ใส่ปุ๋ย การดูแล และเก็บเกี่ยว การทำนาปลอดสารเคมีในแบบของคุณสหธัญ เรียกได้ว่าอาศัยสารพัดวิธี มีทั้งการหว่านถั่วเขียว แล้วรอให้งอกขึ้นมาพร้อมข้าว ธรรมชาติของถั่วเขียวนั้นไม่ทนต่อสภาพที่มีน้ำขัง ถั่วเขียวที่ตายก็จะกลายเป็นปุ๋ยให้แก่ต้นข้าว เป็นแหล่งไนโตรเจนที่ดี มีการใช้จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ใช้มูลสัตว์เท่าที่มีในท้องถิ่น ในส่วนของศัตรูพืชใช้วิธีจ้างคนมาถอนหญ้า แต่ละปัญหาที่เจอล้วนมีเทคนิคในการแก้ไข ส่วนตัวคุณสหธัญต้องการทำนาโดยรักษาผืนดินให้อยู่ในสภาพที่ดี ทำนาโดยไม่ทำลายดิน จำนวนผลผลิตเป็นคำตอบให้กับชาวบ้านว่าแม้ไม่ใช้สารเคมีก็สามารถได้ผลผลิตตามที่คาดหวังได้ คุณสหธัญขายข้าวกล้องไม่ได้ส่งโรงสี มีโรงสีในเครือข่าย บรรจุภัณฑ์สวยงาม สามารถมอบให้เป็นของขวัญได้ จึงเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าทางการเกษตร

สำหรับแนวคิดแบบเกษตรเชิงพานิชย์ของคุณสหธัญ เริ่มจากทำนา 50 ไร่แล้วประสบความสำเร็จ จึงขยับขยายพื้นที่ไปจนถึง 1,700 ไร่ (รวมเครือข่าย) คุณสหธัญเล่าว่า แม้ขนาดของพื้นที่ต่างกัน แต่ใช้ระยะเวลาในการทำนาไม่ต่างกัน ใช้เครื่องจักรชุดเดียวกันไม่ว่าข้าวจะเป็นสายพันธุ์ใดก็ตาม ต้องใช้ระยะเวลาในการเพาะปลูก 4-5 เดือน ดังนั้นหากทำน้อยจะเสียเปรียบ หากทำมากเราได้เปรียบ การจะส่งข้าวสารเข้าโรงสีได้ก็ต้องมีผลผลิตอย่างน้อย 50 ตัน ซึ่งการรวมกลุ่มกันของเครือข่ายช่วยให้ชาวนาคนอื่นๆ แม้มีพื้นที่ทำนาแค่ไม่กี่ไร่ก็สามารถมีอำนาจในการต่อรองกับโรงสีได้ ในส่วนของการควบคุมคุณภาพ คุณสหธัญเป็นผู้ควบคุมกระบวนการผลิตเอง ช่วยจัดการและประสานงานทุกอย่าง เมื่อแต่ละแปลงเริ่มอยู่ตัวแล้ว คุณสหธัญก็เริ่มมองหาที่ดินรกร้างเพื่อสร้างประโยชน์ จึงเป็นที่มาของโครงการ “พลิกนาร้าง สร้างนารักษ์” โครงการที่ช่วยอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมือง เช่น ข้าวเมล็ดฝ้าย ข้าวเล็บนก ข้าวช่อหลุมพี ข้าวไข่มดริ้น และยังเป็นการช่วยพลิกฟิ้นผืนนาที่รกร้างให้กลับมาเป็นผืนนาข้าวที่อุดมสมบูรณ์ได้

ผืนนา ณ เมืองคอนเป็นตัวแทนของภาคการเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่แสดงให้เห็นว่าหากมีความมุ่งมั่นตั้งใจ และอาศัยความร่วมมือซึ่งกันและกัน เรื่องที่หลายคนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ก็สามารถทำให้เป็นไปได้และเป็นไปได้ด้วยดี เริ่มต้นจากการทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง จนเกิดการรวมกลุ่มช่วยเหลือกันของเกษตรกร เพื่ออนุรักษ์ข้าวพันธุ์พื้นเมืองและพลิกฟื้นพื้นแผ่นดินบ้านเกิดให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง เพราะการทำนาไม่ใช่แค่การเรียนรู้ภาคการเกษตรเท่านั้น แต่ยังได้เรียนรู้การพัฒนาชุมชนและสังคมเช่นกัน เมื่อชุมชนแข็งแกร่งก็จะนำมาซึ่งความสุขของคนในชุมชนนั่นเอง

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ