ตำนานพระธาตุเมืองนคร ฉบับจิตรกรรมศาลาประโชติศาสนกิจ

ตำนานพระธาตุเมืองนคร
ฉบับจิตรกรรมศาลาประโชติศาสนกิจ

 

ไม้คู่หนึ่งเกลียว ส่วนที่เหลือเป็นต้นเดี่ยวแบ่งฉาก

ว่าด้วยเรื่องทำพระธาตุ ที่ศรีธรรมราชมหานคร

.

วัดวังตะวันตก

วัดวังตะตก มีนานาเรื่องเล่าสำคัญเป็นของตัวเองอยู่ในมือ แต่เหตุใดไม่ร่ายเพิ่มเป็นตำนานประวัติศาสตร์ห้อยท้ายตำนานปรัมปราตามอย่างขนบการแต่งตำนานเหมือนสำนวนอื่นๆ ในท้องถิ่น เรื่องทำพระธาตุฉบับใดและเพราะเหตุใดที่จิตรกรเลือกใช้เป็นตัวแบบ สิ่งละอันพันละน้อยที่ปรากฎในภาพ แสดงสัญลักษณ์หรือเข้ารหัสความคิด-ความรู้ใดเอาไว้บ้าง

.

เหล่านี้ เป็นคำถาม

เพื่อกระตุ้นความสนใจส่วนตัว

.

ฟังว่าเป็นภาพวาดสีพาสเทลเมื่อราว 40 ปีก่อน ฝีมือครูอุดร มิตรรัญญา ได้ต้นเค้ามาจากคัมภีร์พระนิพพานโสตรไม่สำนวนใดก็สำนวนหนึ่ง ฉากต้นยกเมื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระขึ้นแสดง ฉากปลายทำรูปสองกษัตริย์ (พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชกับพระเจ้าอู่ทอง) ปันแดนที่ไม้แกวก

.

ตำนานพระบรมธาตุ

ถ้าไม่นับบทละครตำนานพระบรมธาตุและเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับพุทธศักราช 2513 บทประกอบการแสดงแสงเสียง เรื่อง ตำนานพระบรมธาตุ ประจำปี 2537 และบทพากษ์ประกอบแสง สี เสียง มินิไลท์ แอนด์ ซาวด์ ในห้วงทศวรรษ 2550 แล้ว จิตรกรรมชิ้นนี้ถือเป็น “ภาคแสดง” ของทั้งเรื่องราวและเรื่องเล่าที่ว่าด้วยการ “ทำพระธาตุ” ผ่านภาพวาดที่น่าศึกษา และสำหรับเรื่องนี้ คงเป็นหนึ่งเดียวในนครศรีธรรมราช จึงไม่พักจะพรรณนาว่าล้ำค่าสักปานใด

.

กราบอนุโมทนากับจิตรกรผู้ล่วงลับอย่างที่สุด เสียดายที่ไม่มีโอกาสได้สนทนา-สัมภาษณ์ จึงถือเป็นหน้าที่ส่วนที่เหลือของผู้ชมโดยสมบูรณ์ ตามว่า The Death of the Author (แต่อันนี้ Death จริงใช่เพียงแค่เปรียบเปรย)

.

ในฉากมีอะไรให้ตื่นตาอยู่มาก จึงละเสียมาสังเกตของกั้นฉากทั้ง 27 ที่ทำเป็นไม้ยืนต้น ยังดูไม่ค่อยออกว่าเป็นต้นอะไร ในหนังสือ “คัมภีร์พระนิพพานโสตร ตำนานแห่งพระธาตุเมืองนคร นานาของดีกลางเมืองนคร” ยกว่ามี สะตอ ทุเรียน ขนุน เป็นพื้น

.

ไม้คู่เกลียวหนึ่ง

สังเกตเห็นไม้คู่เกลียวหนึ่ง ในท่ามกลางของกั้นอื่นๆ ที่เป็นต้นเดี่ยวทั้งหมด ฉากซ้ายมือหนังสือนั้นว่าเป็น “ฉากที่ 6 พระนางเหมชาลา พระทนธกุมารขึ้นฝั่งที่หาดทรายแก้ว” ส่วนทางขวาเป็น “ฉากที่ 7 พระนางเหมชาลา พระทนธกุมารได้รับความช่วยเหลือจากเรือพ่อค้า”

.

หากไม้เกลียวคู่นี้ถูกเข้ารหัส

และมาแสดง ณ เหตุการณ์ที่สองกษัตริย์ขึ้นหาดทรายแก้ว

มีข้อพิจารณาใดที่พอจะถอดความได้บ้าง ?

.

ตั้งแต่ฉากแรกมาจนถึงฉากทางซ้ายของไม้คู่นี้ เป็นเรื่องเดียวกันกับที่มีกล่าวในมหาปรินิพพานสูตร แล้วมาต่อกับตำนานพระเขี้ยวแก้วหรือทาฐาวังสะฝ่ายลังกา ส่วนถัดแต่ฉากไม้คู่ไป ว่าด้วยเหตุการณ์เรือแตก ร่ายไปจนทำพระธาตุบนหาดทรายแก้ว แล้วตั้งนครศรีธรรมราชเป็นกรุงเมือง

.

ไม่เคยอ่านต้นฉบับตำนานพระเขี้ยวแก้วของลังกา ผ่านตาเฉพาะในหนังสือ “มหาธาตุ” ของ ดร.ธนกร กิตติกานต์ ที่สรุปไว้ในตอนที่เกี่ยวข้องนี้ว่า สองกษัตริย์ (พระเหมชาลากับพระทนธกุมาร) เดินทาง “นำพระเขี้ยวแก้วไปถวายแด่พระเจ้าสิริเมฆวรรณแห่งลังกา” ในนั้นปราศจากอนุภาค “เรือแตก”

.

“ไม้คู่” แบ่งฉากตรง “เรือแตก” นี้

ต้นหนึ่งจึงอาจสื่อว่าข้างซ้ายเป็นของรับปฏิบัติมา

อีกหนึ่งบอกว่าขวาคือของเราที่ขอเคล้าด้วย

อาการเกลียวนี้จึงกำลังบอกตำแหน่งเริ่ม “เกี่ยวพัน”

.

ตำแหน่งไม้คู่

จึงอาจเป็นความพยายามของจิตรกร

ที่จะแสดงให้เห็นว่า “ตำนาน” นี้ มีต้นทางมา

กับการแตกเรื่องออกไปเป็นของท้องถิ่น

ทำนอง Oicotypification

เพื่อสร้างและอธิบายความหมาย

ขององค์พระบรมธาตุเจดีย์

(ในที่นี้จะยังไม่ขอกล่าวเพิ่ม)

.

เรื่องหาด “ทรายแก้ว” นี้ก็น่าสนใจ เพราะเพิ่งรู้ว่าแปลมาจาก “รุวันเวลิ” ชื่อเรียกมหาสถูปแห่งเมืองอนุราธปุระฯ

 

ลาวหลังพระธาตุ ความทรงจำที่กำลังถูกถมไปพร้อมสายคลอง

คลองลาว

ถมในที่นี้ชี้ไปในความหมายเดียวกับคำว่า “ลืม” ก็ถ้าไม่ได้คุยกับบังยมและคุณลุงชาวมะม่วงสองต้นอีกท่านที่มานั่งรอ “ปลาดุกคลองลาว” ตรงท่อระบายน้ำของร่องถนนพุทธภูมิ ผมเองก็คงไม่คิดว่าลาวจะมามีชื่อมีชุมชนอยู่ในเมืองนครไปอย่างไรได้
.
ความจริงเช้าวันนั้นไปเดินตามหาความสุขที่อาจจะหล่นหายเสียรายทาง เพราะความอยากได้ มี เป็น เที่ยวไปเห็นอะไรๆ ที่เขาสุกๆ กันแล้วอยากจะสุกขึ้นเองบ้าง ลืมนึกไปว่าของจริงอันแท้ต้องสุข ที่เห็นๆ อยู่คร่ำไปนี้ มันแค่สุก
.
ข้อคิด ข้อธรรม ไม่ใช่สาระหลักที่จะเขียนถึง แต่เป็นเหตุตั้งต้นให้เกิดเรื่อง จึงจั่วหัวไว้แต่น้อย
.
“ถ้าปลาดุกคลองลาวไม่ขึ้นกะเปลา”
คุณลุงท่านหนึ่งตอบผมด้วยท่าทางจริงจัง ในมือกำและสะพายแหไว้ในท่าเตรียมพร้อม ปากคีบใบจากไว้มวนหนึ่ง ควันละลอกลอดออกมาผุยๆ ตามจังหวะพูด
.
“คลองลาว อยู่ไหนหล่าวลุง ?”
ตานี้ บังยมที่ตามมาสมทบได้สักพักเป็นฝ่ายตอบแทน แกชี้โพล้งไปที่หน้าศาลาแม่ตะเคียน ตรงนั้นมีสระอยู่อันหนึ่ง แล้วตอบว่า “เขาถมเหลือหิดเดียวเท่านั้นแล้ว เป็นเขตอภัยทาน ปลาดุกจังเสีย พอน้ำขึ้นมันล่องออกมาอยู่ปล้องนี้”
.
“ถึงลาวนี้พันพรือครับ ? โหมลาวงั้นหึลุง ?”

“หมัน โหมฝ่ายนู้แหละ เขาเล่ากันมาพันนั้น ว่ามาช่วยทำพระธาตุ แล้วกะอยู่แถวนี้ เท่าฮั้นแหละ ถ้าเขาหก เรากะหกต่อเพ้อไปแหละ ไม่ที่ทำพรือ” แล้วก็ชวนกันหัวเราะยกใหญ่
.
ถ้าจะลองจับต้นชนปลายดูรอบกำแพงพระมหานครศรีธรรมราช ทิศเหนือมีตลาดแขก ทิศตะวันออกมีป่าขอม ทิศใต้มีวัดท้าวโคตร (มอญ) ทิศตะวันตกมีคลองลาว ก็นานาชาติพันธุ์ล้อมเราอยู่อย่างนี้ จะไม่ให้เป็นเมืองสิบสองชาติ สิบสองภาษา สิบสองนักษัตรไปอย่างไรไหว ?
.
แต่ลาวนี้ถูกลืม ลืมไปพร้อมกับการถมสายคลองเมื่อสมัยไหนก็ลืมถาม แต่ลาวมาแน่ มีแน่
.
ลองทวนความทรงจำดูเพลินๆ

๑. ถ้าลาวคือที่ราบสูงสองฝั่งแม่น้ำโขง

“กัจฉปะชาดก” อันที่เพิ่งรู้ใหม่บนองค์พระบรมธาตุเจดีย์นี้ก็มีแพร่หลายเป็นทั้งศิลปกรรมและคติชนที่แพร่อยู่มากในอีสานสอดคล้องกันดีอยู่ข้อหนึ่ง อีกอันที่พี่ กอก้าน ไม้เรียว เล่าไว้ว่า “ปลาใส่อวน ที่คลองลาวมีวิธีการหมักคล้ายๆ การหมักปลาร้านะคะ เพราะใส่ข้าวคั่วและหมักไว้ในไหจนเปรี้ยวด้วยค่ะ ไม่เหมือนการหมักปลาเค็มของทางใต้ที่เน้นการหมักเกลือ และตากแดดเก็บไว้นะคะ” อันนี้เป็นของตกค้างในวัฒนธรรมอาหารจำพวกเน่าแต่อร่อยกระเดียดไปข้างปลาแดกของทางนั้นสำทับได้ดีอยู่ข้อหนึ่ง

๒. ถ้าลาวคือฝ่ายเหนือ

อันนี้มีกล่าวในบันทึกประวัติศาสตร์ว่าสมเด็จพระราเมศวรเทครัวหัวเมืองลาวข้างฝ่ายเหนือลงมานครศรีธรรมราช ตรงนี้ยุคสมัยอาจแย้งกับที่ชาวมะม่วงสองต้นเล่ากันว่ามาช่วยทำพระธาตุเพราะเก่าก่อนยุคต้นกรุงศรีอยุธยาอยู่มาก แต่ก็ไม่ควรตัดทิ้ง เพราะนัยยะเกี่ยวกับโครงเรื่องทำพระธาตุนี้มีแพร่หลายอยู่ทั่วไป คล้ายกับว่าของสำคัญควรเมือง ใครๆ ก็อยากมีประสบการณ์ร่วม
.
ไม่ว่าจะเป็น ๑. หรือ ๒. ก็รวมความไว้ได้ก่อนว่าเป็นชาว “ข้างบน” ที่มาช่วยกันทำพระธาตุ ถ้าเราเอาพระธาตุเป็นศูนย์กลาง คราวนี้จะเห็นได้ชัดขึ้นว่าผู้มาช่วยสร้างบ้านแปงเมืองนั้นมาจาก “ทั่วสารทิศ” อย่างแท้ทรู
.
บนขวา มีรอยลาว ที่คลองลาว
บนซ้าย มีรอยมอญ ที่ท่ามอญ, วัดท้าวโคตร
ล่าง มีรอยมลายู ที่ตลาดแขก
.
แน่นอนว่าเมื่อลาวมาอยู่หลังพระธาตุในพื้นที่นานี้ ต้องเป็นอะไรเกี่ยวข้องเนื่องกันให้ตามต่อ แม้คลองลาวในปัจจุบันจะมีชื่อฝากอยู่แค่ในความทรงจำของชาวมะม่วงสองต้น แต่ก็น่าคิดว่า อะไรคือปัจจัยที่ไม่ทำให้คนท้องถิ่นถมประวัติศาสตร์สำคัญของตัวเองไปพร้อมคลองฯ

ใครแต่ง ? ตำนานพระธาตุเมืองนคร

ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับที่ใช้ตั้งสมมติฐานว่าใครแต่งนี้ คือ “ฉบับกระดาษฝรั่ง” สำนวนนี้ถูกคัดมาจากหนังสือกระดาษฝรั่งเขียนเส้นหมึกในหอพระสมุดวชิรญาณ คัดมาจากหนังสือเก่าอีกทอดหนึ่งโดยถ่ายการสะกดคำตามต้นฉบับ และถูกพิมพ์ออกเผยแพร่หลายครั้ง ครั้งที่ได้เคยชวนอ่านและทบทวนกันแล้วทาง Nakhon Si sTation Platform (NSTP) เป็นฉบับที่คัดมาจากหนังสือรวมเรื่องเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๕ โปรดดู https://nakhonsistation.com/ต้นฉบับ-ตำนานพระธาตุเมื/

การตั้งคำถามว่า “ใครแต่ง ?” ต่อตำนานพระธาตุฯ ในฐานะสิ่งสืบทอดเป็นคติชนท้องถิ่น แน่นอนว่าไม่ได้มุ่งเป้าไปที่การชี้ตัวของผู้แต่งชนิดที่เค้นเอาว่าชื่อเสียงเรียงนามกระไร แต่คิดว่าจากโครงเรื่องและองค์ประกอบของเนื้อหาจะสามารถทำให้ภาพของผู้เขียนบีบแคบลงได้ในระดับหนึ่ง จนทำให้เห็นความจำเป็นบางประการที่อาจจะเป็นตัวกำหนดทิศทางในการแต่ง ดังจะลองยกข้อสังเกตมาชวนกันพิจารณา ดังนี้

ตำนานพระธาตุ มีวิธีการเริ่มเรื่องในแต่ละฉากคล้ายบทละคร คือตั้งนามเมือง ออกพระนามของกษัตริย์และชายา โดยตัวละครที่ปรากฏมาจากการยืมจากทั้งวรรณคดี ชาดก และบุคคลในประวัติศาสตร์ ในที่นี้เนื่องจากฝ่ายกษัตริย์ต่างออกพระนามคล้ายกันคือ “พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช” (ยกเว้นเมืองทนทบุรีและชนทบุรี) จึงยกเฉพาะฝ่ายสตรีเป็นข้อสังเกต เช่น

๑. เมืองทนทบุรี (เมืองที่ประดิษฐานพระธาตุ)

ระบุว่ามี “นางมหาเทวี” เป็นพระอัครมเหสีของท้าวโกสีหราช
น่าจะมีต้นเค้าจาก “นางมหาเทวี” ชื่อพี่สาวของพระเจ้าช้างเผือกแห่งเมืองเมาะตะมะ จากเรื่องราชาธิราช

๒. เมืองชนทบุรี (เมืองที่แย่งชิงพระธาตุ)

ระบุว่ามี “นางจันทเทวี” เป็นอัครมเหสีของอังกุศราช
น่าจะมีต้นเค้าจาก “นางมหาจันทเทวี” มเหสีพระยาอู่ กษัตริย์พระองค์ที่ ๘ ของหงสาวดี มีพระธิดาองค์เดียวคือ “ตะละแม่ท้าว” อัครมเหสีของราชาธิราช กษัตริย์พระองค์ที่ ๙ จากเรื่องราชาธิราช ในเรื่องนี้เรียกนามนี้ว่า “มุชีพ” ส่วนอีกประเด็นคือ “จันทเทวี” เป็นอิสริยยศด้วยอย่างหนึ่งของทางหงสาวดี

๓. เมืองมัธยมประเทศ (เมืองที่ขอแบ่งพระธาตุ)

ระบุว่ามี “นางสันทมิตรา” เป็นอัครมเหสีของพระยาธรรมโศกราช
น่าจะมีต้นเค้าจาก “นางอสันธิมิตรา” อัครมเหสีของพระเจ้าอโศกมหาราช

๔. ฝ่ายตะวันตก

ระบุว่ามี “นางจันทาเทวี” เป็นอัครมเหสีของพระยาศรีไสณรง 
น่าจะมีต้นเค้าจาก “นางจันทาเทวี” หนึ่งในมเหสีของบุเรงนองแห่งตองอู ยายของนัดจินหน่องประการหนึ่ง
“นางจันทาเทวี” ในสุวรรณสังขชาดกประการหนึ่ง และ “นางจันทาเทวี” ในสังข์ทองอีกประการหนึ่ง

๕. เมืองหงษาวดี

ระบุว่า “ท้าวเจตราช” เป็นพระราชบุตรของพญาศรีธรรมโศกราชกับนางสังขเทพ
น่าจะมีต้นเค้าจาก “เจ้าเจตราช” ผู้ครองเมืองเจตราช จากกัณฑ์ประเวศน์ เวสสันดรชาดก

ความจริงพิจารณาเท่านี้ก็น่าจะพออนุมานได้แล้ว
ว่าผู้แต่งควรมีความเกี่ยวเนื่องกับความเป็น “มอญ” จากรอยที่ทิ้งไว้

เพื่อคลี่ขยายให้ชัดขึ้น เราต้องลองมาพิจารณาเนื้อความของตำนานที่อาจจะเป็น “รอยมอญ” กันต่อไป ในที่นี้จะขอยก ๒ ตำแหน่งที่อาจส่งความเกี่ยวเนื่องกัน

ตอนต้น

“ยังมีเมืองหนึ่งชื่อหงษาวดี มีกำแพงสามชั้นอ้อมสามวันจึ่งรอบเมือง ประตูเมืองมีนาคราชเจ็ดหัวเจ็ดหางมีปราสาทราชมณเฑียร มีพระมหาธาตุ ๓๐๐๐ ยอดใหญ่ ๓๐ ยอด ต่ำซ้ายต่ำขวา กลางสูงสุดหมอก มีพระพุทธรูป ๔๐๐๐ พระองค์ เจ้าเมืองนั้นชื่อพระญาศรีธรรมาโศกราช มีพระอรรคมเหสีชื่อสังขเทพี มีบุตร์ชายสองคนๆ หนึ่งชื่อท้าวเจตราช อายุยืนได้ ๑๐๐ ปี ถัดนั้นชื่อเจ้าพงษ์กระษัตริย์ ยังมีบาคู ๔ คนบำรุงเจ้าเมืองนั้นอยู่ อยู่มาเกิดไข้ยุบลมหายักษ์มาทำอันตราย ไพร่พลล้มตายเป็นอันมาก พระยาก็พาญาติวงษ์และไพร่พลลงสำเภาใช้ใบมาตั้งอยู่ริมชเล

ตอนปลาย

“ศักราช ๒๑๙๗ ปี มีพระบรรทูลโปรดให้พระญาบริบาลพลราชเจ้าเมืองตะนาวศรีมหานครมาเป็นเจ้าพระญานครศรีธรรมราช เดชไชยอภัยพิรีบรากรมพาหุเจ้าพระญานครศรีธรรมราช”

ในตอนต้น ตำนานกล่าวว่าเมื่ออพยพไพร่พลและญาติวงศ์ออกมาจากหงษาวดีแล้วไปตั้งอยู่ที่ “ริมชเล” ก่อนไข้ยุบลมหายักษ์ระลอกใหม่จะระบาดจนต้องยกย้ายไปกระหม่อมโคกแล้วสร้าง “นครศรีธรรมราชมหานคร” “ริมชเล” ที่แวะพักนั้น ในตำนานระบุว่าเป็นสถานที่สำคัญที่ทำการวางแผนสร้างบ้านแปงเมือง น่าเชื่อได้ว่าจะคือส่วนหนึ่งของตะนาวศรีที่มาปรากฏอีกครั้งในตอนปลาย

ดังได้เคยตั้งข้อสังเกตไว้ใน “ตำนานพระธาตุเมืองนคร (ฉบับกระดาษฝรั่ง) เขียนขึ้นเมื่อไหร่ ?” แล้วที่ https://nakhonsistation.com/ตำนานพระธาตุเมืองนคร-เข/ ว่าตอนปลายของตำนานอาจเป็นข้อพินิจได้ด้วยว่า “ใครแต่ง ?”

จากที่ช่วงท้ายของตำนานตั้งแต่ พ.ศ.๑๘๖๑ เรื่อยไปจนถึง ๒๑๙๗ เป็นการเขียนในลักษณะเรียงลำดับเหตุการณ์ผู้ปกครอง ประหนึ่งแสดงทำเนียบเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช โดยมีข้อสังเกตคือ ในช่วงก่อนปีท้ายสุดที่มีการลงศักราชไว้นั้น มีเหตุการณ์สำคัญมากเกิดขึ้นในเมืองนครศรีธรรมราช นั่นคือ กรณียอดพระธาตุหักในปีพุทธศักราช ๒๑๙๐ แต่ไม่มีการระบุไว้ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับตำนานโดยตรง อาจเพราะในช่วงท้าย วัตถุประสงค์ของการเขียนตำนานเปลี่ยนไปจากเดิมเล่าความของพระธาตุมาเป็นการแสดงทำเนียบเจ้าเมือง หรือด้วยเพราะอาจจงใจอำพรางลางเมืองเพื่อต้องการดำรงพระเกียรติยศของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ผู้ซึ่งยังคงดำรงอำนาจเหนือนครศรีธรรมราชอย่างสมบูรณ์อยู่ในขณะนั้น

แน่นอนว่า การที่พระญาบริบาลพลราช เจ้าเมืองตะนาวศรีมาครองเมืองนครศรีธรรมราช จึงต้องส่งอิทธิพลต่อการแต่งและเขียนตำนานพระธาตุนครศรีธรรมราชฉบับนี้อย่างไม่พ้นได้ ดังได้ยกตัวอย่างการให้ชื่อบุคคลในข้างต้นและเนื้อหาส่วนชี้ความสำคัญของเมืองตะนาวศรีแล้วในข้างท้าย (ส่วนการยืมคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนามาสร้างประกาศิตในต้นตำนานจริงว่าอาจเป็นอีกประการร่วมพิจารณา แต่จะขอยกไว้ค้นคว้าต่อเพิ่มเติมด้วยเห็นว่าเพียงพอต่อการตั้งสมมติฐาน)

“มอญตะนาวศรี” จึงอาจคือพลังขับในการแต่งตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับนี้ 

____

ภาพจากปก :
สำเนาภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ 
หมายเลขกำกับ na๐๑d-img๐๐๐๐๑๓๒-๐๐๙

ตำนานพระธาตุเมืองนคร เขียนขึ้นเมื่อไหร่ ?

ตำนานพระธาตุ

ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช เป็นพื้นความรู้ที่ควรค่าแก่การเรียนรู้ศึกษาให้รอบด้าน เพราะนอกจากจะให้คุณค่าทางวรรณศิลป์แล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์เพื่อสกัดเอาภาพสะท้อนทางประวัติศาสตร์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาของเมืองนครศรีธรรมราช รวมถึงอำนาจครอบงำความเชื่อและวิถีคิดของคนท้องถิ่น ณ จุดเวลาหนึ่งได้เป็นอย่างดี การทำความเข้าใจตำนานพระธาตุ จึงควรก้าวให้พ้นจากการพิสูจน์จริงเท็จ ถอยออกมามองให้เห็นความหมายแฝงซึ่งซ่อนปนอยู่ในเนื้อหาแต่ละวรรค 

Nakhon Si sTation Platform (NSTP) ได้นำเสนอต้นฉบับตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับกระดาษฝรั่งไปแล้ว (สามารถติดตามอ่านได้ที่ https://nakhonsistation.com/ต้นฉบับ-ตำนานพระธาตุเมื/ )และมีความพยายามที่จะส่งเสริมให้เกิดพื้นที่ร่วมเรียนรู้เกี่ยวกับนครศรีธรรมราชอย่างต่อเนื่อง ผ่านการกระตุ้นความสนใจด้วยข้อสังเกตที่อาจมีแรงบันดาลใจมาจากสภาวการณ์ทางสังคมปัจจุบัน คำถามในหัวหรือพิรุธบางประการในหลักฐานที่เคยคุ้นชินกันอยู่แล้ว 

ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช เขียนขึ้นเมื่อไหร่ ? เป็นส่วนของคำถามที่เกิดขึ้นในหัว ซึ่งความจริงก็ไม่ถูกนักที่จะเค้นเอาคำตอบจากสิ่งที่สืบเนื่องกันเป็นมุขปาฐะ แต่ด้วยว่าเมื่อคำพูดถูกถ่ายทอดเป็นงานเขียน ย่อมทิ้งร่องรอยให้คิด ให้พอชวนตั้งคำถามอยู่ได้บ้าง

เขียนเมื่อไหร่ ?

๑.พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ได้ตั้งข้อสันนิษฐานเอาไว้เป็นประเดิมด้วยการอาศัยศักราชท้ายสุดที่ปรากฏในปีพุทธศักราช ๒๑๙๗ ว่า “สันนิษฐานว่าแต่งในแผ่นดินพระนารายณ์ ศักราชในที่สุดบอกปีในปลายแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง”

๒.หากใช้ศักราชสุดท้ายเป็นเหตุผลในการสันนิษฐาน มีข้อให้คิดได้อย่างหนึ่งว่าอาจเขียนขึ้นในปี พ.ศ.๒๑๙๗ ในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททองนั่นเอง เพราะช่วงท้ายของตำนานตั้งแต่ พ.ศ.๑๘๖๑ เรื่อยไป เป็นการเขียนในลักษณะเรียงลำดับเหตุการณ์ผู้ปกครองประหนึ่งแสดงทำเนียบเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ได้แก่

“อยู่มาพระศรีมหาราชาถึงแก่กรรม ศักราช ๑๘๖๑ ปี โปรดให้ข้าหลวงออกมา เป็นศรีมหาราชาแต่งพระธรรมศาลา ทำระเบียงล้อมพระมหาธาตุ และก่อพระเจดีย์วัศสภ มีพระบัณฑูรให้พระศรีมหาราชาไปรับเมืองลานตกา ศรีมหาราชาถึงแก่กรรมเอาศพมาไว้วัศศภ แล้วเอามาก่อเจดีย์ไว้ในพระเดิม ๙ ยอด

เมื่อศักราชได้ ๑๙๑๙ ปี โปรดให้หลวงศรีวราวงษมาเป็นเจ้าเมืองมาทำวิหารฝ่ายอุดรพระธาตุ ทักษิณพระโพธิมณเฑียร ก่อพระสูง ๗ ศอก หล่อพระสำมฤฐองค์หนึ่งไว้ปัจจิม เมียหล่อองค์หนึ่งไว้ฝ่ายบูรรพ์ชื่อว่าเพหารเขียน แล้วอุทิศข้าหญิงชายไร่นาไว้สำหรับรักษาพระ โปรดให้หลวงพิเรนทรเทพมาเป็นเจ้าเมือง พระทิพราชาน้องพระญาสุพรรณเป็นปลัด ศึกอารู้ยกมาตีเมืองแล้วไปตีเมืองพัทลุงได้ ทิพราชาเป็นแม่ทัพไปตีได้คืนเล่า

เมื่อศักราช ๒๐๓๙ ปี โปรดให้พระยาพลเทพราชมาเป็นเจ้าเมือง เกนให้ตกแต่งทำกำแพงกำชับไว้ แล้วเข้าไปกรุงไปทางเมืองสระ

เมื่อศักราช ๒๑๔๑ ปี โปรดให้พระยาศรีธรรมราชะเดชะมาเป็นเจ้าเมือง อุชงคนะให้ลักปหม่าหนาเป็นแม่ทัพเรือมารบเสียขุนคำแหงปลัด ณ รอปากพระญา ข้าศึกรุกเข้ามาถึงตีนกำแพงฝ่ายอุดร พระยาศรีธรรมราชออกศึกหนีไป

เมื่อศักราช ๒๑๔๔ ปี โปรดให้พระรามราชท้ายน้ำมาเป็นเจ้าเมือง เอาขุนเยาวราชมาเป็นปลัด รู้ข่าวศึกอุชงคนะจึงพระยาให้ขุดฝ่ายบูรรพ์แต่ลำน้ำท่าวังมาออกลำน้ำฝ่ายทักษิณ

เมื่อศักราช ๒๑๗๑ ปี ศึกอุชงคนะยกมา พระญาก็ให้ตั้งค่ายคูฝ่ายอุดร แลแต่งเรือหุมเรือหายพลประมาณห้าหมื่นเศษ รบกันเจ็ดวัดเจ็ดคืนขุนพัญจาออกหักทัพกลางคืนศึกแตกลงเรือศึกเผาวัศท่าโพเสีย พระญาถึงแก่กรรม พระญาแก้วผู้หลานก่อพระเจดีย์บรรจุธาตุไว้ในพระธรรมศาลา

ศักราช ๒๑๙๗ ปี มีพระบรรทูลโปรดให้พระญาบริบาลพลราชเจ้าเมืองตะนาวศรีมหานครมาเป็นเจ้าพระญานครศรีธรรมราช เดชไชยอภัยพิรีบรากรมพาหุเจ้าพระญานครศรีธรรมราช”

ซึ่งในปีท้ายที่สุดนี้ก็อาจเป็นข้อพินิจในประเด็นที่ว่า “ใครเขียน” ดังจะได้อธิบายต่อไป ส่วนหลักฐานประกอบที่น่าสนใจอีกประการคือ ในช่วงก่อนปีท้ายสุดที่มีการลงศักราชไว้นั้น มีเหตุการณ์สำคัญมากเกิดขึ้นในเมืองนครศรีธรรมราช นั่นคือ กรณียอดพระธาตุหักในปีพุทธศักราช ๒๑๙๐ แต่ไม่มีการระบุไว้ทั้งที่เกี่ยวข้องกับตำนานโดยตรง อาจด้วยจงใจอำพรางลางเมืองเพราะต้องการดำรงพระเกียรติยศของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ผู้ซึ่งยังคงดำรงอำนาจเหนือนครศรีธรรมราชอย่างสมบูรณ์อยู่ในขณะนั้น

๓.อาจต้องขอให้ลองสังเกตจากสิ่งต่อไปนี้

๓.๑ แผนผังการวางตำแหน่งศาสนสถานสำคัญตามขนบของอยุธยาตอนต้น คือ เจดีย์ประธานอยู่ตำแหน่งกลาง ทิศตะวันออกเป็นพระวิหารหลวง ทิศตะวันตกเป็นพระอุโบสถ

๓.๒ ตำแหน่งปัจจุบัน เจดีย์ประธานคือพระบรมธาตุเจดีย์ พระวิหารหลวงคือวิหารพระธรรมศาลา พระอุโบสถเป็นมุขของพระระเบียงคดที่ถูกดัดแปลงตัดช่องผ่ากลางให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพระระเบียง

๓.๓ องค์พระบรมธาตุเจดีย์ยังคงตำแหน่งเดิมเช่นเดียวกันกับวิหารพระธรรมศาลา ยกเว้นตำแหน่งพระอุโบสถด้านทิศตะวันตก ที่กล่าวถึงการดัดแปลงไปแล้วในข้อที่ ๒

๓.๔ ตำแหน่งที่ควรจะเป็นพระอุโบสถมีหลักฐานระบุว่าเป็น “พระธรรมรูจี” ตามใบบอกของพระยาสุขุมนัยวินิต ข้าหลวงเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลนครศรีธรรมราช เรื่อง ส่งรายงาน ศก ๑๑๖ ลงวันที่ ๔ ตุลาคม ร.ศ.๑๑๗ กราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย กรณีบูรณะศาสนสถานต่างๆ รอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ความว่า

“พระธรรมรูจี ต่อพระระเบียงด้านตะวันตก ทำแล้วยาว ๖ วา กว้าง ๑ วา ๓ ศอก สูง ๓ วา ๔ ห้อง พระพุทธรูป ๘ องค์ ๑ หลัง” 

๓.๕ คำว่า “ต่อ” และ “ทำ” ชี้ไปในประเด็นว่า “สร้าง” ไม่ใช่ “บูรณะ” ก็จริง แต่พบว่าในใบบอกฉบับเดียวกันมีการกล่าวถึงวิหารพระธรรมศาลาก่อนในลักษณะเดียวกัน ความว่า “พระธรรมศาลา เป็นมุขต่อพระระเบียงด้านตะวันออกพระบรมธาตุ” ซึ่งพระธรรมศาลามีประวัติการสร้างในปีพุทธศักราช ๑๙๑๙ ก่อนการบูรณะในครั้งนี้ ก็พอจะเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า พระธรรมรูจีนี้ มีมาก่อน การ “ต่อ” และ “ทำ” จึงเป็นการ “บูรณะ” ไม่ใช่ “สร้าง”

ภาพถ่ายองค์พระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช จากทิศตะวันตก
สังเกตเห็นอาคารตรงกับองค์พระบรมธาตุมีช่องประตู

๓.๖ หลักฐานแสดงการมีมาก่อนของพระธรรมรูจีคือภาพถ่ายในปีพุทธศักราช ๒๔๔๒ ที่ยังคงใช้ประตูด้านทิศตะวันตกเป็นทางเข้าออก 

๓.๗ ตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ไม่ได้กล่าวถึงส่วนที่เป็น “พระธรรมรูจี” ไว้ และจากความสำคัญของแผนผังตามขนบอยุธยาที่ต้องมีพระอุโบสถด้านทิศตะวันตกของเจดีย์ประธานแต่ไม่ได้มีการกล่าวถึงการใช้สอยพื้นที่ดังกล่าวเลยในตำนานข้างต้น จึงอาจพอสันนิษฐานได้ว่า

“ตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชแต่เดิมอาจมีการถ่ายทอดต่อในลักษณะมุขปาฐะ ต่อมาเมื่อมีการเขียนบันทึกไว้ จึงอ้างอิงจากโบราณสถานที่ยังพบเห็นอยู่ เมื่อพระธรรมรูจีได้ถูกดัดแปลงเป็นส่วนหนึ่งของวิหารพระระเบียงคดไปแล้ว จึงไม่ได้กล่าวถึง จึงเป็นไปได้อีกทางหนึ่งว่า ตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช (ฉบับกระดาษฝรั่ง) น่าจะมีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในยุคหลังจากปีพุทธศักราช ๒๔๔๑ แต่ไม่เกินการพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี ๒๔๗๑”

ทั้งนี้ อาจต้องพึ่งการวิเคราะห์จากหลักฐานและข้อสังเกตอื่นๆ ประกอบ ทั้งสำนวนที่ใช้ เทียบกับสำนวนของเอกสารโบราณอื่นที่ระบุเวลาในการเขียนและร่วมสมัย การขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณที่เคยเป็น “พระธรรมรูจี” ว่าในปี ศก ๑๑๖ นั้น “สร้าง” หรือ “บูรณะ”

ในท้ายที่สุด แม้การสันนิษฐานทั้ง ๓ ข้อ จะมีส่วนเป็นไปได้ในข้อใดข้อหนึ่ง หรือเป็นไปไม่ได้ทั้งหมด ตำนานก็ได้ทำหน้าที่ของตำนานอย่างสมบูรณ์แล้ว นั่นคือการชวนคนอีกรุ่นหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เรียบเรียงและผู้ที่อ่านมาถึงวรรคนี้ มาจับเขาคุยกันอย่างจริงจัง ว่าเมื่อไหร่ ? เราควรจะเขียนตำนานฯ

____
ภาพจากปก : สำเนาภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หมายเลขกำกับ na๐๑d-img๐๐๐๐๑๓๒-๐๐๔๕

 

ชาวสวน ชาวไร่ ติดต่อบริการ Nakhonsistation ช่วยขาย ได้ที่ Line @nakhonsistation หรือโทร 0926565298

ต้นฉบับ ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช (ฉบับกระดาษฝรั่ง)

ตำนานพระธาตุ

ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชมีหลายฉบับ หลายสำนวน แต่ก็ล้วนแล้วมีโครงเรื่องในทำนองคล้ายกัน ในที่นี้จะขอยกเอาฉบับกระดาษฝรั่ง ที่ถูกเผยแพร่จนเข้าใจว่าส่งผลอย่างสำคัญต่อความทรงจำของผู้คนได้ในระดับหนึ่ง การให้ชื่อว่า “ฉบับกระดาษฝรั่ง” ด้วยว่าสำนวนนี้ถูกคัดมาจากหนังสือกระดาษฝรั่งเขียนเส้นหมึกในหอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งคัดมาจากหนังสือเก่าอีกทอดหนึ่งโดยถ่ายการสะกดคำตามต้นฉบับ ตำนานพระธาตุฉบับนี้ถูกพิมพ์ออกเผยแพร่หลายครั้ง ส่วนครั้งที่จะชวนอ่านและทบทวนเป็นฉบับที่คัดมาจากหนังสือรวมเรื่องเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๕ โดยการแบ่งเป็นตอนในต่อไปนี้ ไม่ได้มีหลักการใด เป็นเพียงเพื่อให้ง่ายต่อการอ่านก็เท่านั้น ส่วนการสะกดคำก็ยืนตามแบบของต้นฉบับดังกล่าวทุกประการ

ตอนที่ ๑

อาทิเดิมยังมีเมืองหนึ่งชื่อทนทบุรี เจ้าเมืองชื่อท้าวโกสีหราช มีพระอรรคมเหสีชื่อนางมหาเทวี มีพระราชบุตรีผู้พี่ชื่อนางเหมชาลา  ชายชื่อเจ้าทนทกุมาร และยังมีเมืองหนึ่งชื่อเมืองชนทบุรี อยู่ข้างฝ่ายทักษิณทิศ เจ้าเมืองชื่อท้าวอังกุศราช พระอรรคมเหสีชื่อว่าจันทเทวีและท้าวอังกุศราชมารบชิงพระทันตธาตุแก่ท้าวโกสีหราช ๆ ก็ขาดหัวช้างเสียเมืองแก่ท้าวอังกุศราช นางเหมชาลากับเจ้าทันตกุมารก็รับเอาพระทันตธาตุลงสำเภาไปเมืองลังกาเกิดลมร้ายสำเภาแตก เจ้าทันตกุมารกับนางเหมชาลาก็พาพระทันตธาตุ ซัดขึ้นที่หาดซ้ายแก้วชเลรอย ก็เอาพระธาตุฝังไว้ที่หาดทราย แล้วก็เข้าเร้นอยู่ในที่ลับ.

ยังมีพระอรหันต์องค์หนึ่ง ชื่อพระมหาเถรพรหมเทพ มาโดยนภากาศเห็นรัศมีพระธาตุช่วงโชตชนาการขึ้น พระมหาเถรก็ลงนมัศการพระธาตุ นางเหมชาลากับเจ้าทันตกุมารก็เล่าความแก่พระมหาเถร เหมือนกล่าวมาแล้วแต่หลัง และพระมหาเถรทำนายว่าในหาดทรายชเลรอยนี้เบื้องหน้ายังมีพระยาองค์หนึ่งชื่อพระยาศรีธรรมาโศกราชจะมาตั้งเป็นเมืองใหญ่ แล้วจะก่อพระมหาธาตุสูงได้ ๓๗ วา แล้วพระมหาเถรสั่งเจ้าสองพี่น้องไว้ ว่ามีทุกข์สิ่งใดให้เจ้าลำนึกถึงพระองค์ ว่าเท่านั้นแล้วพระมหาเถรก็กลับไป.

เจ้ากุมารทั้งสองก็พาพระธาตุนั้นไป ครั้นถึงท่าเมืองตรังก็โดยสารสำเภาไป ถึงกลางทเลใหญ่ ก็เกิดอัศจรรย์ใช้ใบสำเภาไปมิได้ ชาวสำเภาก็ชวนกันว่า เจ้าทั้งสองนี้ลงโดยสารสำเภาจึงเกิดอัศจรรย์ขึ้น และว่าจะฆ่าเจ้าทั้งสองนั้นเสีย เจ้าทั้งสองก็ลำนึกถึงพระมหาเถร ๆ ก็นิฤมิตเป็นครุทธ์ปีกประมาณข้างละ ๓๐๐ วา เสด็จมาในอากาศอัศจรรย์ก็หาย และพระมหาเถรบอกแก่ชาวสำเภาว่า พระญานาคพาบริวารขึ้นมานมัศการพระธาตุจึงเกิดอัศจรรย์ ว่าเท่านั้นแล้วพระมหาเถรก็เสด็จไป นายสำเภาก็ใช้ใบไปถึงเมืองลังกาทวีป เจ้าลังกาก็รับพระธาตุขึ้นไว้บนปราสาทแล้ว จึ่งตรัสภามเจ้าสองพี่น้องว่าจะกลับไปเมืองทนทบุรีเล่า เจ้าลังกาก็ให้แต่งสำเภาให้เจ้าสองพี่น้อง แล้วบรรทุกของให้เต็มสำเภา แล้วจึ่งแต่งราชสารไปถึงเจ้าเมืองทนทบุรี ว่าเป็นบุตร์ท้าวโกสีหราช ซึ่งทิวงคตในการสงครามนั้นกลับมาอยู่ในเมืองทนทบุรีเล่า อย่าให้ท้าวอังกุศราชทำอันตรายแก่เจ้าสองพี่น้อง ถ้าท้าวอังกุศราชทำอันตรายแก่เจ้าสองพี่น้องเห็นว่าเมืองทนทบุรี กับกรุงลังกาจะเป็นศึกแก่กัน แล้วเจ้าลังกาให้มหาพราหมณ์ ๔ คน พาพระบรมธาตุมาทนานหนึ่ง ให้ฝังที่เจ้าสองพี่น้องซ่อนพระทันตธาตุนั้น มหาพราหมณ์กับเจ้าสองพี่น้องก็ใช้สำเภามาถึงหาดทรายแก้ว มหาพราหมณ์ก็แบ่งพระธาตุเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งใส่ผอบแก้วแล้วใส่แม่ขันทองขึ้นฝังที่รอยเจ้าสองพี่น้องฝั่งพระธาตุแต่ก่อน ก่อพระเจดีย์สรวมไว้แล้วผูกภาพยนต์รักษาอยู่ ยังพระธาตุส่วนหนึ่งนั้น มหาพราหมณ์ก็พาไปเมืองทนทบุรี

ตอนที่ ๒

ยังมีเมืองหนึ่งชื่อหงษาวดี มีกำแพงสามชั้นอ้อมสามวันจึ่งรอบเมือง ประตูเมืองมีนาคราชเจ็ดหัวเจ็ดหางมีปราสาทราชมณเฑียร มีพระมหาธาตุ ๓๐๐๐ ยอดใหญ่ ๓๐ ยอด ต่ำซ้ายต่ำขวา กลางสูงสุดหมอก มีพระพุทธรูป ๔๐๐๐ พระองค์ เจ้าเมืองนั้นชื่อพระญาศรีธรรมาโศกราช มีพระอรรคมเหสีชื่อสังขเทพี มีบุตร์ชายสองคนๆ หนึ่งชื่อท้าวเจตราช อายุยืนได้ ๑๐๐ ปี ถัดนั้นชื่อเจ้าพงษ์กระษัตริย์ ยังมีบาคู ๔ คนบำรุงเจ้าเมืองนั้นอยู่ อยู่มาเกิดไข้ยุบลมหายักษ์มาทำอันตราย ไพร่พลล้มตายเป็นอันมาก พระยาก็พาญาติวงษ์และไพร่พลลงสำเภาใช้ใบมาตั้งอยู่ริมชเล.

ยังมีพราน ๘ คนๆ หนึ่งชื่อพรหมสุริยตามเนื้อมาตามริมทเล มาถึงหาดทรายชเลรอบพบแก้วดวงหนึ่งเท่าลูกหมากสง จึ่งพราน ๘ คนเอาแก้วไปถวายแก่พระญาแล้วกราบทูลว่าได้ที่หาดทรายนั้น กว้างยาวมีน้ำอยู่โดยรอบ พระญาก็ให้พรหมสุริยนำบาคูทั้ง ๔ คนมาดูที่นั้น บาคูทั้ง ๔ คนก็เขียนแผนที่นั้นไปถวาย พระญาให้แต่งสำเภาแล้ว จัดคนที่รู้คุณพระพุทธเจ้า ๑๐๐ หนึ่งกับบาคูทั้ง ๔ คน พาแผนที่ภูมิลำเนาไปถวายเจ้าเมืองลังกา ๆ ก็ยินดีหนักหนา จึ่งตรัสถามว่าพระสงฆ์ยังมีฤาหาไม่ บาคูกราบทูลว่าพระสงฆ์เจ้าไม่มี แลเจ้าลังกาว่ายังมีพระสงฆ์องค์หนึ่ง ชื่อพระพุทธคำเภียรเกิดวิวาทกันกับเพื่อนสงฆ์ เจ้าเมืองลังกาขอโทษกันเสีย เจ้ากูไม่ลงให้ก็ให้นิมนต์เจ้ากูไปเถิด พระพุทธคำเภียรก็ลงสำเภามาด้วยบาคูทั้ง ๔ คน ยังมีพระยาศรีธรรมาโศกราช ๆ ก็มีน้ำใจศรัทธาในการกุศลให้เกลี้ยกล่อมผู้คนซึ่งอยู่ดงป่าเข้ามาประชุมกันเป็นอันมาก แล้วพระยาศรีธรรมโศกราช เจ้าพงษ์กระษัตริย์แลพระพุทธคำเภียรบาคูทั้ง ๔ คน ปฤกษากันจะตั้งเมืองหาดทราย แล้วจะก่อพระเจดีย์แลพระพุทธรูปไว้ ครั้นสนทนากันแล้ว พอเกิดไข้ยุบลคนล้มตายเป็นอันมาก พระญากับพระพุทธคำเภียรบาคูทั้ง ๔ คนพาญาติวงษ์ช้างม้าหนีไปอยู่กระหม่อมโคก ณ หาดทรายชเลรอบนั้นแล เมื่อศักราชได้ ๑๐๙๘ ปี พระยาศรีธรรมาโศกราชก็สร้างการลง ณ หาดทรายชเลรอบ เป็นเมืองนครศรีธรรมราชมหานคร แล้วสั่งให้ทำอิฐทำปูนก่อพระธาตุครั้งนั้น แลยังมีพระสิหิงค์ล่องชเลมาแต่เมืองลังกามายังเกาะปินังแลพ้นมาถึงหาดทรายแก้วที่จะก่อพระมหาธาตุนั้น

ตอนที่ ๓

ครั้งนั้นยังมีพระยาธรรมาโศกราชองค์หนึ่ง เป็นเจ้าเมืองมัทยมประเทศ มีพระอรรคมเหษีชื่อนางสันทมิตราให้นักเทษถือราชสารมาถึงพระยาศรีธรรมาโศกราช ในราชสารนั้นว่าพระญาศรีธรรมาโศกราชก่อพระมหาธาตุ ๘๔,๐๐๐ พระองค์ แต่ยังมิได้พระบรมธาตุไปประจุ รู้ความไปว่าพระยาศรีธรรมาโศกราช ก่อพระมหาธาตุองค์หนึ่งสูง ๓๗ วา แล้วยกพระบรมธาตุขึ้นประจุพระบรมธาตุ แลเมืองมัทยมประเทศ พระธาตุ ๘๔,๐๐๐ ยังหาได้พระบรมธาตุไปประจุไม่ จะขอแบ่งพระธาตุไปประจุ ครั้นแจ้งในราชสารนั้นแล้ว พระญาก็ให้นักเทษสั่งสอน บาคูทั้ง ๔ คนเล่าเรียนสวดมนตร์ไหว้พระตามนักเทษเรียนมา แลปฤกษาว่าจะคิดฉันใด ที่จะรู้แห่งพระธาตุจะเอาขึ้นจะได้แจกประจุพระเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ พระองค์ พระญาให้เอาทองเท่าลูกฟักผูกคอม้าป่าวทั่วทั้งเมือง.

ยังมีเถ้าคนหนึ่งอายุได้ ๑๒๐ ปีว่ารู้แห่ง อำมาตย์เอาทองส่งให้แล้วเกาะตัวผู้เฒ่านั้นมาทูลแก่พระญา ๆ ก็ถามผู้เถ้ากราบทูลว่าเมื่อตัวข้าพเจ้ายังน้อย บิดาของข้าพเจ้าได้เอาดอกไม้ไปถวายที่นั้น พระญาก็ให้นำไปขุดลง พบพระเจดีย์มีภาพยนตร์รักษาอยู่เอาขึ้นมิได้ พระญาก็ให้นำเอาทองเท่าลูกฟักแขวนคอม้า ไปป่าวหาผู้รู้แก้ภาพยนตร์.

ครั้งนั้นยังมีบุรุษผู้หนึ่งชื่อนายจันที แลบิดานั้นไปเรียนศิลปะวิชชาเมืองโรมพิไสย ครั้นได้แล้วเอาน้ำหมึกสักไว้ที่ลำขาแล้วกลับมา พระอาจาริย์ใช้ภาพยนตร์มาตัดศีศะเอาไป อักษรอันนั้นข้าพเจ้าเขียนเรียนไว้ อำมาตย์ก็เอาทองให้แล้วพาตัวบุรุษมา พระญาก็ให้แก้ภาพยนตร์ จึ่งร้อนขึ้นไปถึงพระอินทร์ ๆ ก็ใช้พระวิศณุกรรมมายกพระธษตุขึ้น พระญาก็ปันไปเมืองมัทยมประเทศตามมีตรามาขอนั้น จึ่งพระวิศณุกรรมช่วยพระญาก่อพระเจดีย์ประจุพระบรมธาตุนั้นไว้ แล้วตั้งเมืองสิบสองนักษัตร์ขึ้นแก่เมืองนครศรีธรรมราช ปีชวดตั้งเมืองสายถือตราหนูหนึ่ง ปีฉลูเมืองตานีถือตราโคหนึ่ง ปีขาลเมืองกะลันตันถือตราเสือหนึ่ง ปีเถาะเมืองปาหังถือตรากะต่ายหนึ่ง ปีมะโรงเมืองไทรบุรีถือตรางูใหญ่หนึ่ง ปีมะเส็งเมืองพัทลุงถือตรางูเล็กหนึ่ง ปีมะเมียเมืองตรังถือตราม้าหนึ่ง ปีมะแมเมืองชุมพรถือตราแพะหนึ่ง ปีวอกเมืองบันท้ายสมอถือตราลิงหนึ่ง ปีระกาเมืองอุเลาถือตราไก่หนึ่ง ปีจอเมืองตะกั่วป่าถือตราสุนัขหนึ่ง ปีกุนเมืองกระถือตราหมูหนึ่ง เข้ากัน ๑๒ เมืองมาช่วยทำอิฐปูนก่อพระมหาธาตุขึ้นยังหาสำเร็จไม่ ภอไข้ห่าลงพระญาก็พาญาติวงษ์ลงสำเภาหนี ใช้ใบถึงกลางชเลผู้คนตายสิ้น เมืองนั้นก็ร้างอยู่ครั้งหนึ่ง

ตอนที่ ๔

เมื่อศักราชได้ ๑๑๙๖ ปี ยังมีพระญาองค์หนึ่งชื่อพระญาศรีไสณรงมาแต่ฝ่ายตะวันตก นางอรรคมเหษีชื่อนางจันทาเทวี น้องชายคนหนึ่งชื่อเจ้าธรรมกระษัตริย์ ได้เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช แลพระสิหิงค์มาประทักษิณพระธาตุแล้วอยู่ ๗ วันก็จากเมืองนครไปเมืองเชียงใหม่ พระยาศรีไสณรงถึงแก่กรรม ท้าวธรรมกระษัตริย์ผู้น้องได้เป็นเจ้าเมืองนั้น เมื่อศักราชได้ ๑๑๙๘ ปี ท้าวธรรมกระษัตริย์ถึงแก่ความตาย.

ยังมีพระญาองค์หนึ่งชื่อท้าวศรีธรรมาโศกราช เป็นเจ้าเมืองอินทปัตบุรีย์ น้องชายชื่อท้าวจันทภานู ๑ ชื่อท้าวพงษ์สุรา ๑ พาญาติวงษ์ไพร่พลช้างม้าหนีไข้ห่า ดั้นดงมาช้านานประมาณได้ ๘-๙ ปี มาถึงหาดทรายแก้วพบพรมสุริยทำไร่อยู่ นายเทียนบัณฑิตเป็นชีอยู่คนหนึ่ง แลพลพระยาศรีธรรมาโศกราชยกมาแต่อินทปัตนั้น ๓๐,๐๐๐ เกนตั้งค่ายลงมั่นแล้วเกนทำนาทำไร่ แลเกนทำอิฐปูนก่อกำแพงเมืองรอบแล้วก่อพระมหาธาตุขึ้นตามพระญาศรีธรรมาโศกราชทำไว้แต่ก่อน.

ครั้งนั้นยังมีผขาวอริยพงษ์อยู่เมืองหงษาวดีกับคน ๑๐๐ หนึ่ง พาพระบตไปถวายพระบาทในเมืองลังกา ต้องลมร้ายสำเภาแตกซัดขึ้นปากพนัง พระบตซัดขึ้นปากพนังชาวปากน้ำพาขึ้นมาถวาย สั่งให้เอาพระบตกางไว้ที่ท้องพระโรง แลผขาวอินทพงษ์กับคน ๑๐ คนซัดขึ้นปากพูนเดินตามริมชเล มาถึงปากพน้ำพระญาน้อยชาวปากน้ำพาตัวมาเฝ้า ผขาวเห็นพระบตผขาวก็ร้องไห้ พระญาก็ถามผขาว ๆ ก็เล่าความแต่ต้นแรกมานั้น แลพระญาก็ให้แต่งสำเภาให้ผขาวไปเมืองหงษาวดีนิมนตพระสงฆ์ ผขาวก็ลงสำเภาไปนิมนต์พระสงฆ์มา ๒ พระองค์ องค์หนึ่งชื่อมหาปเรียนทศศรี องค์หนึ่งชื่อมหาเถรสัจจจานุเทพฝ่ายนักเรียนทั้งสองพระองค์มาทำพระธาตุลงปูนเสร็จแล้วพระญาให้แต่งสำเภาไปนิมนต์พระสงฆ์เมืองลังกามาเสกพระมหาธาตุ

ตอนที่ ๕ 

ครั้งนั้นยังมีสำเภาลำหนึ่งซัดขึ้นปากน้ำพระญาน้อย ในสำเภานั้นมีแต่ศรีผึ้งกับกะแชงเต็มลำสำเภาแต่คนไม่มี พระยาก็ให้เอากะแชงมามุงรอบพระมหาธาตุ ศรีผึ้งนั้นให้ฝั้นเทียนสิ้น แล้วมีตราไปถึงเมืองขึ้นทั้ง ๑๒ นักษัตร์มาทำบุญฉลองพระธาตุ จึ่งปรากฏไปถึงท้าวพิไชยเทพเชียงภวา ผู้เป็นบิดาท้าวอู่ทองเจ้ากรุงศรีอยุธยา ท้าวอู่ทองยกไพร่พลยี่สิบแสนเจ็ดพันสามร้อย มาตั้งอยู่แม่น้ำแห่งหนึ่ง มีพระราชสารมาถึงพระญาศรีธรรมาโศกราช ๆ ก็จัดเอาพลเมืองได้ยี่สิบแสนเจ็ดพันสามร้อยเท่ากับพลท้าวอู่ทอง ยกไปตั้งทำเกเร ท้าวอู่ทองยกไปตั้งบางตภารทำเพหารอารามไปทุกแห่งจนถึงบางตพาร แลทหารทัพหน้าทั้งสองฝ่ายรบกัน ไพร่พลทั้งสองฝ่ายล้มตายเป็นอันมาก พระญาศรีธรรมาโศกราชดำริหในพระไทย ว่าตัวเรานี้ได้สร้างพระเจดีย์วิหารแลก่อพระพุทธรูปปลูกไม้พระศรีมหาโพธิ แลได้ยกพระมาลิกะเจดีย์ที่เมืองอินทปัตแลทำประตู ๒ ประตูจ้างคนทำวันพันตำลึงทอง แลพระบรรธมองค์หนึ่ง ทำด้วยสำมฤฐยาว ๔ เส้น พระเจดีย์สูงสุดหมอก อิฐยาว ๕ วา หนาวา ๑ พระระเบียงสูง ๑๕ วา ระเบียงสูงเส้นหนึ่ง หนาเสา ๙ ศอก แปย่อมหิน พระนั่งย่อมสำมฤฐ สูงละองค์ ๑๕ วา ตะกั่วดาดท้องพระระเบียงหนา ๖ นิ้ว บนปรางกว้าง ๒ เส้น เหลี่ยมเสาพระเจดีย์กว้างเหลี่ยมละ ๒ เส้น กะไดฉัตรหิน ๙ วา แม่กะไดเหล็กใหญ่ ๔ กำ ลูก ๓ กำ ขึ้นถึงปรางบน หงส์ทอง ๔ ตัวย่อมทองเนื้อแล้ว ๆ มาทำพระมาลิกะเจดีย์ ปลูกพระศรีมหาโพธิแลจำเริญพระมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช แล้วไปนิมนต์พระเมืองลังกา เมืองหงษา มาทำบุญฉลองพระธาตุ ได้จำแนกแจกทานเป็นอันมาก แลทำศึกกันรี้พลล้มตายก็จะเป็นนาระเวรไปเป็นอันมาก จะขอเป็นไมตรีนั่งอาศน์เดียวกันกับท้าวอู่ทอง เมื่อท้าวอู่ทองกับท้าวศรีธรรมาโศกราชจะเป็นไมตรีกันนั้น ท้าวอู่ทองขึ้นบนแท่นแล้ว พระญาศรีธรรมาโศกจะขึ้นไปมิได้ ท้าวอู่ทองก็จูงพระกรขึ้น มงกุฎของพระเจ้าศรีธรรมาโศกตกจากพระเศียร แล้วท้าวศรีธรรมาโศกสัญญาว่า เมื่อตัวพระองค์กับอนุชาของพระองค์ยังอยู่ให้เป็นทองแผ่นเดียวกัน ถ้าท้าวอู่ทองต้องประสงค์สิ่งใดจะจัดแจงให้ นานไปเบื้องหน้าให้มาขึ้นกรุงศรีอยุธยา ฝ่ายท้าวอู่ทองก็รับเป็นไมตรีแก่กันแลท้าวอู่ทองว่า ถ้าท้าวศรีธรรมาโศกราชต้องการสิ่งใดท้าวอู่ทองจะจัดให้มา เจรจาความกันแล้ว ต่างองค์ต่างยกไพร่พลคืนเมือง.

ท้าวศรีธรรมาโศกก็ตั้งอารามก่อพระเจดีย์ ปลูกพระศรีมหาโพธิรายทางมาจนถึงเมืองนคร ตั้งแต่นั้นทั้งสองภาราได้แต่งของบรรณาการตอบแทนกันมิได้ขาดปี เมื่อพระญาศรีธรรมาโศกถึงแก่กรรม เมื่อศักราช ๑๒๐๐ ปี พระญาจันทภานูเป็นเจ้าเมือง พระญาพงษาสุราเป็นพระยาจันทภานู ตั้งฝ่ายทักษิณพระมหาธาตุเป็นเมืองพระเวียง อยู่มาท้าวศรีธรรมาโศกถึงแก่กรรม พระญาจันทภาณูผู้น้องเป็นเจ้าเมือง ครั้งนั้นเจ้าเมืองชวายกไพร่พลมาทางเรือ มารบเอาเมืองมิได้ ชวาก็เอาเงินปรายเข้ากอไม้ไผ่แล้วกลับไป อยู่มาภายหลังชาวเมืองถางไม้ไผ่เก็บเงินชวากลับมารบอีกเล่า เจ้าเมืองแต่งทหารออกรบอยู่แล้วเจ้าเมืองพาญาติวงษ์ออกจากเมืองไปอยู่เขาแดง แลกรมการรบกับชวา ๆ ก็แตกไป ภายหลังชวายกไพร่มาทอดอยู่ ณ ปากน้ำ มีราชสารมาว่าเจ้าเมืองชวาให้เอาลูกสาวมาถวายให้เจ้าเมืองนครลงไปรับ พระญาก็แต่งไพร่พลลงไป ชวาก็จับตัวพระญาได้ นางอรรคมเหสีก็ตามพระญาไปถึงเกาะอันหนึ่งได้ชื่อว่าเกาะนาง โดยครั้งนั้นชวาก็ให้เจ้าเมืองผูกส่วนไข่เป็นแก่ชวา ๆ ก็ให้พระญาคืนมาเป็นเจ้าเมืองอยู่เล่า

.

ตอนที่ ๖

อยู่มายังมีพระมหาเถรองค์หนึ่ง ชื่อสัจจานุเทพ อยู่เมืองนครป่าหมาก รื้อญาติโยมมาอยู่เมืองนครศรีธรรมราชด้วยพระมหาเถรพรหมสุริย ขอที่ตั้งเขตอารามปลูกพระศรีมหาโพธิก่อพระเจดีย์ก่อกำแพงไว้ ให้ญาติโยมรักษาอยู่ตามพระญาอุทิศถวายไว้นั้น ได้ชื่อว่าวัศพเดิม อยู่มาลูกนายเทียนบัณฑิตผิดด้วยข้าสาวของพระญา ๆ ก็ให้จับฆ่าเสีย จึ่งลูกนายเทียนแล่นเข้าในวัศ พระมหาเถรไม่ให้ อยู่มาลูกนายเทียนไปดูงาน พระญารู้ก็ให้คนจับฆ่าเสีย พระมหาเถรรู้ก็เคืองใจ รื้อญาติโยมออกไปก่อพระวิหาร พระพุทธรูป ได้ชื่อว่าวัศหว้าทยาน แล้วไปตั้งอารามอยู่เขาน้อย พระมหาเถรถึงแก่กรรม พระญาก็ขึ้นไปแต่งการศพ ได้ชื่อว่าเขาคุมพนม แล้วพระญาก็คืนเมือง จึ่งพระญาชวาให้มาเอาส่วนไข่เป็ดไข่ไก่โดยพระญาผูกนั้น.

อยู่มายังมีเด็กคนหนึ่งพ่อแม่เข็ญใจอยู่ตำบลบ้านพเตียนเอาลูกใส่เปลไว้ร่มไม้กลางนา มีงูตัวหนึ่งเอาแก้วมาไว้ในเปล พ่อแม่นั้นได้แก้วตั้งชื่อลูกว่าพังพการ ครั้งเด็กโตใหญ่เลี้ยงโคกระบือได้ เด็กทั้งหลายก็มาเล่นด้วยพังพการ ๆ ให้ดาบไม้ภาเขคนละเล่ม วันหนึ่งพังพการชวรพวกเด็กวิดปลาแล้วให้สัญญาแก่กันว่า ถ้าปลาออกหน้าที่ผู้ใดจะตัดหัวเสีย ปลาวิ่งออกหน้าที่เด็กคนหนึ่ง พังพการก็เอาดาบภาเขตัดหัวเด็กนั้นขาดหาย พ่อเด็กไปบอกกรมเมือง ๆ ไปทูลแก่พระญา ๆ ก็เอาเด็กนั้นเป็นบุตร พระญาก็คิดแข็งเมืองกับชวา พระญาก็ให้ขุดคูรอบเมืองพระเวียง พระญาชวาให้มาเอาส่วนไข่พระญาก็ไม่ให้ พระญาชวายกทัพเรือมารบ พระญาก็ให้พังพการเป็นทหารออกรบ พังพการฆ่าพวกชวาเสียสามสิบคนสี่สิบคนทุกวัน พลชวาตายมากนัก แลจะได้เห็นตัวพังพการก็หาไม่ ชวาก็แตกหนีไป พระญาก็แบ่งเมืองให้พังพการฝ่ายหนึ่ง พระยามาถึงแก่กรรมก็เกิดไข้ห่า ชาวเมืองล้มตายหลบไข้ไปอยู่ตรอกห้วยตรอกเขา เมืองก็ร้างอยู่ช้านาน.

ยังมีศรีมหาราชาลูกนายนกกระทาสุรา กับคนทั้งหญิงทั้งชาย ๑๐๐ หนึ่ง มาตั้งอยู่สุดท่าน้ำชื่อว่าเมืองลานตกะ ก็เกิดลูกชื่อพระหล้า ๆ ก็เกิดลูกชื่อศรีมหาราชา เป็นผู้ใหญ่อยู่เมืองลานตกา ยังมีขุนศรีแปดอ้อมแสนเมืองขวางอยู่เมืองสระ มีพรานแปดคนตามเนื้อหลงมาพบพระเจดีย์เดิม จึ่งนายก็คืนไปบอกกับขุนศรีพลแปดอ้อมแสนเมืองขวาง เมืองสระนั้นขึ้นแก่เมืองนครศรีธรรมราชและเมืองสระนั้นเกิดไข้ห่า จึ่งแม่นางแอดรื้อมาตั้งเมืองสระนั้นมาพบเมืองแล้วมาตั้งทุ่งหลวงหรดีเมือง.

ยังมีนายไทยผู้หนึ่งชาวกรุงศรีอยุธยา ใช้เรือมาทอดอยู่ปากน้ำนครศรีธรรมราช นายไทยวางว่าว ๆ นั้นก็ขาด นายไทยตามว่ามาพบพระเจดีย์เดิม แล้วพบเจ้าไทยสององค์ องค์หนึ่งชื่อมหาเถรพุทธสารท องค์หนึ่งชื่อมหาเถรพรหมสุรีย์เที่ยวโคจรมา นายไทยก็เล่าความแก่เจ้าไทย ๆ ให้นำไปดูที่พระเจดีย์เดิม แล้วนายไทยก็ลงเรือไป ภายหลังเจ้าไทยทั้งสองพบพระมหาธาตุทยายลงเทียมพระบรรลังก์ รอยเสือเอาเนื้อขึ้นกินที่นั้น เจ้าไทยก็กลับไปอยู่อารามดังเก่าเล่า

.

ตอนที่ ๗

ยังมีผขาวอริยพงษ์อยู่กรุงศรีอยุธยา ใช้เรือมาทอดอยู่ปากน้ำพระญาแลมาพบเจ้าไทยทั้งสองพระองค์ แลผขาวอริยพงษ์นั้นว่าพบตำราพงษาวดารว่าเมืองนครผู้เถ้าผู้แก่แห่งผขาวมาทำพระมหาธาตุตกอยู่ช้านานแล้ว จึ่งพระมหาเถรบอกว่าเมืองร้างเสียช้านานแล้ว พระมหาธาตุก็ทำลายลงถึงบรรลังก์ ผขาวกับเจ้าไทยก็ชวนกันไปแผ้วถาง แล้วจดหมายกว้างยาวบรรลังก์พระมหาธาตุ แลพระพุทธรูปพระเจดีย์แลจังหวัดกำแพงเมือง แล้วผขาวอริยพงษ์ก็ลงเรือไปกรุงศรีอยุธยา นำเอาเรื่องราวขึ้นถวายพระเจ้าอยู่หัว ๆ รับสั่งให้นิมนต์ปเรียนทศศรีชาวหงษาวดี ซึ่งมาอยู่กรุงศรีอยุธยา มหาปเรียนทศศรีออกมากับนายแวงจำพระบรรทูล มาด้วยมหาปเรียน แล้วมีตรามาให้นิมนต์พระสงฆ์มาช่วยแต่งพระบรมธาตุ แลพระสงฆ์ทั้งหลายรื้อญาติโยมมารักษาพระบรมธาตุ ฟังพระบรรทูลแล้วกลับไปรื้อญาติโยม จึ่งนิมนต์พระมหาเถรสุทธิชาติพงษ์รื้อญาติโยมมาแต่ขนอม นายผ่องหัวพันคุมไพร่ส่วย พันไกรพลดานมาสร้างวัศมังคุด มหาเถรเหมรังศรีรื้อญาติโยมมาแต่โองตพานสร้างวัศขนุน นิมนต์มหาเถรเพชรมาแต่ยายคลังรื้อญาติโยมไพร่ส่วยพันศรีชนา มาสร้างวัศจันทเมาลี พระมหาเถรมังคลาจารรื้อญาติโยมมาแต่กุฎีหลวง สร้างวัศหรดีพระธาตุ พระมหาเถรโชติบาลมาแต่ปัตโวกเขาพระบาทกับนายมันทสุริชนาสร้างวัศอาคเณพระธาตุ พระมหาเถรอุนุรุทธ์รื้อญาติโยมมาแต่ยศโสทรสร้างวัดประดู่ พระมหาเถรพงษารื้อญาติโยมมาแต่เพชรบุรีย สร้างวัศตโนดพายัพพระมหาธาตุ จึ่งมหาปเรียนทศศรี ปลูกกุฎีอยู่พายัพพระมหาธาตุ จึ่งพระมหาเถรมงคลเอาไม้ศรีมหาโพธิใส่อ่างทองคำลงเรือสำเภารื้อญาติโยมมาแต่เมืองลังกา สร้างวัศพลับปลูกพระศรีมหาโพธิ ฝ่ายอุดรพระมหาธาตุปลูกลงทั้งอ่างทอง แล้วก่ออาศน์ล้อมรอบก่อพระพุทธรูปสามด้าน ฝ่ายปัจจิมก่อพระบรรธมองค์หนึ่งพระระเบียงรอบ ๒๘ ห้องชื่อว่าพระโพธิมณเฑียร จึ่งมหาปเรียนทศศรีแลผขาวอริยพงษ์นายแวงนิมนต์พระมหาเถรพุทธสาครวัศพระเดิมเป็นป่าแก้วตามพระบรรทูล พระเจ้าอยู่หัวให้นางแม่เรือนหลวงรับพระพุทธรูปมาใส่บาตรต่าง แลมีตราออกมาให้แม่เจ้าเรือนหลวง ๔๐ หัวงานเป็นข้าพระราชทานพระกันปัญญา จึ่งพระสงฆ์ทั้งหลายกับพระศรีมหาราชาเจ้าเมืองลานตกา ก็ชักชวนคนช่องห้วยช่องเขาออกมาแต่งพระมหาธาตุแต่ยอดลงมาถึงบรรลังก์ แล้วทำการฉลองพระธาตุ พระศรีมหาราชาสร้างวัดหรดีพระธาตุ พระมหาเถรมงคลประชาออกมาแต่กรุงศรีอยุธยา พระศรีมหาราชานิมนต์ให้อยู่อารามนั้น ๆ ชื่อกะดีจีนเก้าห้อง พระศรีมหาราชาก่อชุกชีแลวิหารแล้ว พระศรีมหาราชาถึงแก่กรรม ขุนอินทาราผู้ลูกกินเมืองลานตกาอยู่ เมียขุนอินทาราชื่อนางเอื่อย ลูกชายชื่อนายศรี ลูกหญิงชื่อนางราม มีพระราชโองการออกมาว่าให้ขุนอินทาราแต่งลูกเข้าไปถวาย ขุนอินทาราแต่งลูกหมอช้างเข้าไปแทน หมอช้างก็ตามลูกเข้าไปด้วย หมอช้างให้กราบทูลว่า ขุนอินทาราหาเอาลูกสาวเข้ามาถวายไม่ โปรดให้ข้าหลวงออกมาสืบ ๆ สมตามถ้อยคำหมอช้างกราบทูล จึ่งให้เอาขุนอินทาราไปตีเสียที่ประตูท่าชี แล้วเอาลูกเอาเมียผู้คนเข้าไปเป็นข้าหลวง นายศรีธนูลูกขุนอินทารานั้น โปรดให้เป็นนายศรีทนู ตั้งแต่นั้นมาเมืองนครศรีธรรมราชก็อันตรธานเป็นช้านาน หาผู้กินเมืองมิได้

ตอนที่ ๘

เมื่อศักราชได้ ๑๘๑๕ ปี มีพระโองการให้นายศรีทนูออกมากินเมืองนครศรีธรรมราช จึ่งมหาปเรียนทศศรีแลพระสงฆ์ทั้งหลาย ทำเรื่องราวให้ผขาวอริยพงษ์กับนายแวงเอาเข้าไปถวาย มีรับสั่งให้นายช่างเอาทองแดงหล่อยอดพระมหาธาตุปิดทองเต็มแล้ว ให้ผขาวอริยพงษ์รับออกมา ตรัสให้นายสามราชหงษ์ออกมาทำสารบาญชี ญาติโยมพระสงฆ์ทั้งปวง ให้ขาดจากส่วนจากอากรจากอาณาประชาบาล ให้เป็นเชิงเป็นตระกูลข้าพระ นายสามราชหงษ์ทำบาญชีข้าพระโยมสงฆ์ทั้งปวงอันรอมาอยู่นั้นทำพระระเบียงล้อมพระธาตุแล้วทำกำแพงล้อมพระระเบียงทั้งสี่ด้านแล้วทำที่พระห้องพระระเบียงให้แก่พระสงฆ์ผู้ต้องพระราชนิมนต์นั้น ได้แก่ มหามงคลแต่มุมอิสาน ๑๕ ห้อง ได้แก่โชติบาล ๑๒ ห้อง ข้างพระตูเหมรังศรีถึงธรรมศาลา แต่นั้นไปได้แก่มหาเถรสุทธิพงษ์ ๑๕ ห้องถึงมุมอาคเณ แต่นั้นไปได้แก่พระสังฆเถรเพ็ช ๑๗ ห้อง ได้แก่ขุนไชยกุมารเจ้าเมืองบันท้ายสมอพระประทานห้องหนึ่ง ได้แก่พระมหาเถรสรรเพ็ช ๖ ห้อง ได้แก่พระธรรมกัลญาณ ๙ ห้องถึงมุมหรดี แต่นั้นไปได้แก่ศรีสุดานเจ้าเมืองไทร ๕ ห้อง ได้แก่มหาเถรนั้นห้อง ๑ ได้แก่มหาเถรมังคลาจาร ๒ ห้อง ได้แก่นนทสารีย์ ๑๐ ห้องทั้งประตูด้วย ได้แก่นางชีแก้วห้อง ๑ ได้แก่พระยามิตร ๓ ห้อง ได้แก่ขุนไชยสุราเจ้าเมืองสาย ๔ ห้อง ได้แก่ราชาศรีเทวาเจ้าเมืองกะลันตัน ๖ ห้อง ได้แก่ขุนศรีพลแปดอ้อมแสนเมืองขวางเจ้าเมืองสระ ๔ ห้อง ได้แก่แม่นางอั่วทองนายรามสักส่วนพฤทธิบาท ๘ ห้องถึงมุมพายัพ แต่นั้นไปได้แก่ขุนแปดสระ เจ้าเมืองตรัง ๕ ห้อง ได้แก่ราชาพัทธยาเจ้าเมืองพัทลุง ๖ ห้อง ได้แก่ขุนจุลาเจ้าเมืองละงูห้อง ๑ ได้แก่ราชรัดหัวเมืองไสย ขุนอินทาราเจ้าเมืองเข้าด้วยห้อง ๑ ได้แก่นายสำเภาเสมียนขุนอินทาราเข้าด้วย ๓ ห้อง ได้แก่นายญีน้อยหัวพันส่วย ๒ ห้อง ได้แก่นายจอมศรี นายน้อยยอดม่วงห้อง ๑ ได้แก่นายดำหัวปากห้อง ๑ ได้แก่นางเจ้าเรือนหลวงห้อง ๑ ได้แก่มหาปเรียนทศศรีผขาวอริยพงษ์นายพุทธศร ๑๐ ห้อง ได้แก่มหาเถรอนุรุทธ ๓ ห้อง ได้แก่ขุนคลองพล ๓ ห้องถึงมุมอิสานเข้ากัน ๑๖๕ ห้อง พระพุทธรูป ๑๖๕ พระองค์.

แลจึ่งมหาปเรียนทศศรีแลพระสงฆ์ทั้งหลาย แลผขาวอริยพงษ์แลนายสามราชหงส์ ก็ให้วัดกำแพงรอบพระระเบียงทั้งสี่ด้านให้แก่พระสงฆ์ทั้งทั้งปวง กำแพงฝ่ายบูรรพ์ ๔ เส้น ๑๓ วา แต่มุมอิสานไปได้แก่พงไพลโพธิมณเฑียร เส้น ๖ วา ได้แก่นายรัตนในโชติบาลเส้น ๔ วา ได้แก่นายรัดมหาเถรเหมรังศรีถึงพระธรรมาศาลา ๙ วา ได้แก่มหาเถรสุทธิชาติพงษ์วัศมังคุด ๑๙ วา ได้แก่เพหารหลวง ๙ วาจนมุมอาคเณ ด้านทักษิณได้แก่สังฆเถรเพ็ชเส้น ๒ วา ได้แก่เจ้าเมืองบันทายสมอ ๙ วา ได้แก่มหาเถรสรรเพ็ช ๑๙ วา ได้แก่มหาเถรธรรมกัลยาเส้น ๒ วา จนมุมหรดี ด้านปัจฉิมได้แก่เพหารหลวง ๘ วา ได้แก่ศรีสุดานเจ้าเมืองไทร ๙ วา ได้แก่มหาเถรราชเสนา ๕ วา ได้แก่มหาเถร ๒ วาได้แก่มหาเถรมังคลาจาร ๔ วาได้แก่มหานนทสาริย ๑๙ วา ได้แก่กัลยามิตร ๑๒ วาทั้งประตูด้วย ได้แก่ขุนไชยสุรา ๙ วาประตูข้างหนึ่งด้วย ได้แก่ราชาศรีเทวาเจ้าเมืองกะลันตัน ๙ วา ได้แก่ขุนศรีพลแปดอ้อม แสนเมืองขวางเจ้าเมืองสระ ๙ วา ได้แก่อั่วทองนายรามส่วนพฤทธิบาท ๑๒ วาจนมุมพายัพ แต่ด้านอุดรไปได้แก่ขุนแปดสันเจ้าเมืองตรัง ๘ วา ได้แก่ราชาพัทธยาเจ้าเมืองพัทลุง ๑๐ วา ได้แก่ขุนจุลาเจ้าเมืองลงู ๘ วา ได้แก่นายญีน้อยหัวปากส่วย ๔ วา ได้แก่นายจอมศรีนายน้อยยอดม่วง ๒ วา ได้แก่นายดำหัวปากส่วย ๒ วา ได้แก่นางแม่เจ้าเรือนหลวง ขุนอินทาราช่วยด้วย ๕ วา ได้แก่มหาเถรอนุรุทธ ๙ วา ได้แก่ขุนคลองพล ๔ วาจนมุมอิสาน เข้ากันทั้งสี่ด้านเป็นกำแพงเท่านี้ ๑๗ เส้นกับวาหนึ่ง

ตอนที่ ๙

จึ่งพระสงฆ์ทั้งหลายร้องฟ้องว่าจะขอที่ภูมิมีสัตไว้สำหรับญาติโยมทำเป็นนาจังหันสำหรับอาราม สำหรับพระระเบียง จึ่งขุนอินทาราและพระสงฆ์ทั้งหลาย ก็ทำกระบวนให้นายสามราชหงษ์แลผขาวอริยพงษ์เข้าไปถวาย จึ่งมีพระบรรทูลตรัสให้หาขุนอินทาราแลพระสงฆ์เข้าไป จึ่งขุนอินทาราแลพระสงฆ์เข้าไป จึ่งมีพระบรรทูลตรัสให้ขุนรัตนากร คุมคนสามร้อยมารั้งเมืองนครศรีธรรมราช จึ่งมีพระบรรทูลตรัสให้ขุนอินทาราเป็นศรีมหาราชา ศรีมหาราชาก็ทูลด้วยกิจพระสาสนาแลพระสงฆ์ให้เจ้าคณะ ถวายขบวนแลปาญชีพระสงฆ์ทั้งหลาย ก็ทูลด้วยที่ภูมิมีสัตขอให้ญาติโยมพระสงฆ์ทั้งหลาย แลมีพระบรรทูลให้นายสามจอมจำพระบรรทูลออกมาด้วย ศรีมหาราชาให้ทำสารบาญชีที่ภูมิมีสัตทั้งสองฝ่ายชเลแดนไว้แก่พระสงฆ์เจ้าให้ญาติสร้างสวนไร่นาดินป่า สำหรับพระห้องพระระเบียงและพระสงฆ์เมื่อมหาศักราชได้ ๑๕๕๐ ปีนั้น จึ่งศรีมหาราชาแลนายสามจอมแจกดินป่า ณ หัวปากนายคำ ให้แก่พระมหาธาตุเจ้า ๑๕๐ เส้น ฝ่ายบูรรพ์ให้อำแดงสาขาพยาบาล ๙ เส้น แลให้นายศรีรักพยาบาล ๕ เส้น ริ้วหนึ่งเป็นนาจังหันวัดให้แก่นายทองไสหัวปาก ในโพธิมณเฑียร วัดให้พระกัลปนา เป็นนาจังหันในหัวสิบหมวดนายทองไสยพยาบาล ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่พระเดิม แลมหาเถรพุทธสาคร บัณฑิตเพียนพยาบาล ตำบลสตกเมือง เป็นนา ๒,๐๙๙ กะบิ้ง ให้วัดภูมิมีสัต ให้แก่พระระเบียงมหาเถรสุทธิชาติพงษ์วัดภูมิมีสัต ให้แก่พระมหาเถรเหมรังศรี ให้นายแพงนายวัวพยาบาล อำแดงทาน้องมหาเถรเหมรังศรี สร้างเป็นนาจังหัน ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่มหาปเรียนทศศรีสำหรับพระระเบียง ๑๐ ห้อง ให้นายพุทธศรพยาบาลฝ่ายทักษิณต่อแดนด้วยพระธรรมศาลา ฝ่ายตวันออกต่อแดนด้วยพระกัลปนาฝ่ายตะวันตกทลาหลวง ฝ่ายสตีนแม่น้ำเป็นแดน เป็นนา ๑๑ เส้น กับริ้วหนึ่ง แลฝังศิลาไว้เป็นแดนทั้งสี่ทิศ ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่อุโบสถ ๖ เส้น ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่มหาเถรสังฆเถรเพ็ช เป็นนาจังหันตำบลปัจฉิมหรดี เมืองนาขวางเจ็ดริ้ว ให้แก่พระธรรมศาลาเป็นนา ๘ เส้น เป็นนาจังหันมหาเถรเหมรังศรีตำบลท่ากะสัง ให้แก่มหาสังฆเถรเพ็ชตำบลท่าชาก เป็นนาจังหันเข้าพระเป็นนา ๑๗ เส้น ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่นายน้อยทองสุก ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่พงไพลตำบลโพธิมณเฑียร ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่มหาเถรโชติบาลให้นายรัดพงษ์พญา ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่พระเดิม เป็นนาจังหันพระมหาเถรพุทธสาคร ตำบลตรอกเมืองเป็นนา ๑๑ เส้นกับริ้วหนึ่ง ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่พระระเบียง เป็นนาจังหันพระมหาเถรธรรมราชแลมหาเถรเพ็ช ให้วัดภูมิมีสัตให้เป็นนาเชิงคดีเป็นนา ๒ เส้น ฝ่ายอาคเณเมืองเป็นนาเชิงคดีสงฆ์ให้เจ้าคณะ ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่พระระเบียง เป็นนาจังหันพระมหาเถรธรรมกัลยา ให้บาคูรัดพยาบาล

.

ตอนที่ ๑๐

แลศรีมหาราแลนายสามจอมวัดที่ภูมิมีสัตให้แก่ ทั้งนี้ให้ญาติทั้งปวงพยาบาล แลให้พระยาคำแพงแลพระระเบียงทั้งนั้นด้วยแล้ว แลให้ขุนศรีพลเอาเชิงกุฎี ในวัดพระคูหาวัดลำพูนฉวางเมืองสระให้เอาจากมามุงพระธรรมศาลา ให้มหาเถรเหมรังศรีรักษา แลพระมหาเถรเหมรังศรีก็ร้องฟ้องว่านาซึ่งแจกนั้นน้อยนัก แลจะขอดินป่าตำบลบางนำเดิมนาตะโหนอีกเล่า จึ่งศรีมหาราชาแลนายสามจอมให้นายรัดปลัดศรีมหาราชาไปวัดดินป่า แลบางน้ำเดิมนาตะโหนอีกเล่า ให้แก่มหาเถรเหมรังศรี ๆ ก็ให้นายวัวอำแดงราอำแดงทา น้องมหาเถรเหมรังศรีสร้างเป็นนากำนันห้องแล้ว อำแดงเอื่อยให้แก่นายไส พี่พระมหาเถรเหมรังศรี ข้างหัวนอนอำแดงหราสร้างนั้นให้วัดภูมิมีสัตให้แก่อำแดงสัง สร้างเป็นนาจังหันพระเจดีย์ แล้วให้วัดภูมิมีสัตให้นายอุนจังหันเป็นนาพระกัลปนา ให้วัดภูมิมีสัตให้นายสามบุรักแลอำแดงใหม่รักษา ให้วัดภูมิมีสัตให้นายแผ่นหนาพระกัลปนา ให้วัดภูมิมีสัตให้มหาเถรเหมรังศรีให้นางเพงสร้างเป็นนาจังหัน ให้วัดภูมิมีสัตให้ในกัลปนาในหัวสิบนายหมู่สร้างเป็นนาจังหัน ๙ เส้น ๓ หมวดเป็นนาจังหันเจ้าคณะ แล้ววัดภูมิมีสัตตำบลท่าชี ให้แก่พระธรรมศาลา ให้นายอินสร้างเป็นนาเข้าพระแลจังหันพระมหาเถรเหมรังศรี ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่นายสามเพ็ชนายงัวด้วง อำแดงเอื่อยอำแดงบุนนองสร้างคลองแจระ เป็นนาจังหันสำหรับพระธรรมศาลา มหาเถรเหมรังศรี ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่นายอุ่นนายดำศรีสร้างตำบลพระกระเสด เป็นนาจังหันมหาเถรเหมรังศรี ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่ชาวลางตีนสร้างตำบลลมุ ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่มหาเถรมังคลาจาร แลมหาเถรนนทสารีย์สร้างตำบลยวนกระแลบทะ ให้นายเกิดสร้างพยาบาลสำหรับพระระเบียง ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่นายพุทธสรแลผขาวอริยพงษ์ตำบลพะเตียน สร้างเป็นนาจังหันปเรียนทศศรี ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่นายพุทธสรแลผขาวอริยพงษ์ สร้างตำบลท่าชี ๓ ริ้วเป็นนามหาปเรียนทศศรี ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่นายพุทธสรตำบลพายัพเมือง สร้างเป็นนาจังหันมหาปเรียนทศศรี ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่มหาเถรเพ็ช ตำบลท่าชีสร้างสำหรับพระระเบียง ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่นายคำสร้างตำบลฉลง ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่นายเทพตำบลพะเตียน สำหรับพระธรรมศาลา แลมหาปเรียนทศศรีเหมรังศรี ทั้งนี้ย่อมศรีมหาราชาแลนายสามจอมแจกดินป่าให้ทุกสังกัดทุกหมู่ จึ่งศรีมหาราชาแลนายสามจอมแจกทำบาญชีที่เชิงกุฎีวัดให้แก่แม่นางเจ้าเรือนหลวง แลหัวสิบชาวปทารพระกัลปนา แลวัดให้ผู้ครองเพณีแลพระสงฆ์อันขึ้นแก่เจ้าคณะแลพระสงฆ์ วัดนอกวัดเสศนารายทั้งหลายให้ทุกตำบลตามพระบรรทูลแล้ว ให้นายสามจอมเข้าไปถวายบังคม แล้วขบวนพระมหาธาตุและพระระเบียง แลโพธิมณเฑียรแลพระเดิมแลอาราม แลบาญชีแลญาติพระสงฆ์ แลที่ภูมิมีสัตทั้งปวง แลนายสามจอมทูลด้วยพระเจดีย์แลพระเพหาร แลขอประดิษฐานผู้คน แลญาติไว้เป็นข้าพระแลขอที่ภูมิมีสัต จึ่งมีพระราชโองการอนุโมทนาด้วยนายสามจอม จึ่งให้นายแวงจำพระบรรทูลไปมอบที่ภูมิมีสัต แลข้าพระไว้สำหรับพระนั้น แลห้ามราชการทั้งปวงนั้น มีพระราชโองการไว้สำหรับพระแลนายสามจอมได้ที่ภูมิมีสัตตำบลบ้านสนได้พระระเบียงได้กำแพงล้อมพระมหาธาตุด้วย แล้วพระศรีมหาราชาสร้างพระวิหารฝ่ายทักษิณพระมหาธาตุ แลก่อพระเจดีย์เพหารสูง ๗ วาปิดทองลงถึงอาศน์ ก่อพระพุทธรูปทั้งสี่ด้าน ๆ ละแปดพระองค์ เข้ากัน ๓๒ พระองค์ พระพุทธรูปประธานด้านละองค์เป็นพระ ๓๖ พระองค์ ได้ชื่อพระวิหารหลวง และพระมหาเถรเหมรังศรีสร้างพระธรรมศาลา ขุนศรีพบแปดอ้อมแสนเมืองขวาง เอาเชิงกุฎีวัศคูหาวัศฉวางวัศลำพูน เอาจากมามุงพระธรรมศาลา

ตอนที่ ๑๑

อยู่มาพระศรีมหาราชาถึงแก่กรรม ศักราช ๑๘๖๑ ปี โปรดให้ข้าหลวงออกมา เป็นศรีมหาราชาแต่งพระธรรมศาลา ทำระเบียงล้อมพระมหาธาตุ และก่อพระเจดีย์วัศสภ มีพระบัณฑูรให้พระศรีมหาราชาไปรับเมืองลานตกา ศรีมหาราชาถึงแก่กรรมเอาศพมาไว้วัศศภ แล้วเอามาก่อเจดีย์ไว้ในพระเดิม ๙ ยอด.

เมื่อศักราชได้ ๑๙๑๙ ปี โปรดให้หลวงศรีวราวงษมาเป็นเจ้าเมืองมาทำวิหารฝ่ายอุดรพระธาตุ ทักษิณพระโพธิมณเฑียร ก่อพระสูง ๗ ศอก หล่อพระสำมฤฐองค์หนึ่งไว้ปัจจิม เมียหล่อองค์หนึ่งไว้ฝ่ายบูรรพ์ชื่อว่าเพหารเขียน แล้วอุทิศข้าหญิงชายไร่นาไว้สำหรับรักษาพระ โปรดให้หลวงพิเรนทรเทพมาเป็นเจ้าเมือง พระทิพราชาน้องพระญาสุพรรณเป็นปลัด ศึกอารู้ยกมาตีเมืองแล้วไปตีเมืองพัทลุงได้ ทิพราชาเป็นแม่ทัพไปตีได้คืนเล่า.

เมื่อศักราช ๒๐๓๙ ปี โปรดให้พระยาพลเทพราชมาเป็นเจ้าเมือง เกนให้ตกแต่งทำกำแพงกำชับไว้ แล้วเข้าไปกรุงไปทางเมืองสระ.

เมื่อศักราช ๒๑๔๑ ปี โปรดให้พระยาศรีธรรมราชะเดชะมาเป็นเจ้าเมือง อุชงคนะให้ลักปหม่าหนาเป็นแม่ทัพเรือมารบเสียขุนคำแหงปลัด ณ รอปากพระญา ข้าศึกรุกเข้ามาถึงตีนกำแพงฝ่ายอุดร พระยาศรีธรรมราชออกศึกหนีไป.

เมื่อศักราช ๒๑๔๔ ปี โปรดให้พระรามราชท้ายน้ำมาเป็นเจ้าเมือง เอาขุนเยาวราชมาเป็นปลัด รู้ข่าวศึกอุชงคนะจึงพระยาให้ขุดฝ่ายบูรรพ์แต่ลำน้ำท่าวังมาออกลำน้ำฝ่ายทักษิณ.

เมื่อศักราช ๒๑๗๑ ปี ศึกอุชงคนะยกมา พระญาก็ให้ตั้งค่ายคูฝ่ายอุดร แลแต่งเรือหุมเรือหายพลประมาณห้าหมื่นเศษ รบกันเจ็ดวัดเจ็ดคืนขุนพัญจาออกหักทัพกลางคืนศึกแตกลงเรือศึกเผาวัศท่าโพเสีย พระญาถึงแก่กรรม พระญาแก้วผู้หลานก่อพระเจดีย์บรรจุธาตุไว้ในพระธรรมศาลา.

ศักราช ๒๑๙๗ ปี มีพระบรรทูลโปรดให้พระญาบริบาลพลราชเจ้าเมืองตะนาวศรีมหานครมาเป็นเจ้าพระญานครศรีธรรมราช เดชไชยอภัยพิรีบรากรมพาหุเจ้าพระญานครศรีธรรมราช

___

ภาพจากปก : ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หมายเลขกำกับ na๐๑d-img๐๐๐๐๑๓๒-๐๐๔๕

 

ชาวสวน ชาวไร่ ติดต่อบริการ Nakhonsistation ช่วยขาย ได้ที่ Line @nakhonsistation หรือโทร 0926565298