“พระพุทธศักราชได้สองพันร้อยเก้าสิบพระพรรษาเศษได้สี่วัน
เมื่อยอดพระเจ้าหัก วันจันทร์ เดือนหก แรมสี่ค่ำ ปีมะเมีย
เพลาชายแล้วสองยาม สร้างตรหลบหกสู่ยอดพระเจ้าหั้นแล
เมื่อทำการนั้น เดือนสิบ วันศุกร์เพลาเช้าขึ้นถึงสิบชั้นเป็นสุดเอย[๑]”
เมื่อยอดพระเจ้าหัก
ข้อความที่ยกมาข้างต้น เป็นการปริวรรตจารึกที่แกนปลีใต้กลีบบัวหงายพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช โดย ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และ เทิม มีเต็ม ก่อนที่จะวิเคราะห์เนื้อความในจารึก จะกล่าวถึงตำแหน่งที่พบจารึกตามการบันทึกไว้ในฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ว่าอยู่ในช่วงใต้กลีบบัวหงายต่ำลงไป ประมาณ ๑.๘๐ เมตร เป็นการจารึกรอบแกนปลีจำนวน ๒ บรรทัดแต่ปัจจุบันถูกหุ้มด้วยแผ่นไฟเบอร์กลาส เพื่อเสริมความมั่นคงให้แก่ โครงสร้างยอดเจดีย์ จารึกดังกล่าวจึงถูกปิดทับไปด้วย จึงมีการอ่านแปลจารึกในบริเวณดังกล่าวจากภาพถ่าย และตีพิมพ์ในวารสารศิลปากร ปีที่ ๓๗ ฉบับ ๔ (กรกฎาคม-สิงหาคม, ๒๕๓๗) ในบทความชื่อ “จารึกแผ่นทองหุ้มปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช[๒]”
ต้นจารึกเป็นอักษรขอมอยุธยา ภาษาไทย มีด้านเดียว ๒ บรรทัด จารึกลงบนโลหะ กำหนดอายุสมัยในพุทธศักราช ๒๑๙๐ จัดเรียงบรรทัดใหม่เพื่อวิเคราะห์ความได้ ๔ บรรทัด ดังนี้
“พระพุทธศักราชได้สองพันร้อยเก้าสิบพระพรรษาเศษได้สี่วัน”
บรรทัดแรกบอกศักราชเป็นพุทธศักราช ถือเป็นประโยชน์อย่างมากในการกำหนดอายุของจารึก เพราะสามารถทำหน้าที่เป็นหลักฐานชั้นต้นอย่างดีหากเป็นจารึกที่ร่วมสมัย ศักราชที่ปรากฏนี้ยังสามารถใช้พิจารณาหาบริบทแวดล้อมอื่น เพื่อมาเติมเต็มภาพของเหตุการณ์ที่ขาดหายไปให้ชัดเจนขึ้น ผู้เขียนจึงใช้จุดเวลานี้ เป็นหลักในการศึกษาข้อมูลของประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในเมืองนครศรีธรรมราช เชื่อมโยงเหตุและความน่าจะเป็นที่นำไปสู่การทำให้ “ยอดเจ้าหัก” ทั้งสามารถใช้เทียบเคียงเพื่อลำดับเหตุการณ์ร่วมกับจารึกอื่นที่พบบนปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ ที่ระบุศักราชก่อนหน้า และภายหลัง ดังจะได้กล่าวต่อไป
ปีพุทธศักราช ๒๑๙๐ ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. ๒๑๗๓ – ๒๑๙๘) แห่งกรุงศรีอยุธยา ส่วนเมืองนครศรีธรรมราชนั้น เอกสารลายลักษณ์อักษรที่จะใช้เป็นข้อมูลหลักคือตำนานพระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช ขาดช่วงไปไม่มีการกล่าวถึงนามของผู้ครองเมือง
แล้วใครครองเมืองนครตอนยอดพระธาตุหัก ?
หากพิจารณาช่วงเวลาใกล้เคียงกันก่อนหน้านี้ คือในรัชสมัยสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ (พ.ศ. ๒๑๗๒) มีการส่งขุนนางจากส่วนกลางคือออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นางามาซะ) มาเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช แล้วเกิดเหตุความขัดแย้งภายในระหว่างกลุ่มอำนาจท้องถิ่นกับกองอาสาญี่ปุ่น นำมาซึ่งการสู้รบระหว่างชาวเมืองกับทหารญี่ปุ่น จนผู้คนล้มตายและหลบหนีออกจากเมืองไปเป็นจำนวนมากจนเกือบจะเป็นเมืองร้าง ท้ายที่สุดเมืองนครศรีธรรมราชเป็นฝ่ายชนะและแข็งเมืองในปีพุทธศักราช ๒๑๗๕ จดหมายเหตุวันวลิต บันทึกว่า “ฝ่ายชาวนครศรีธรรมราช เห็นว่าตนเองหลุดพ้นจากชาวญี่ปุ่นแล้ว ก็ต้องการสลัดแอกจากการปกครองของสยาม จึงลุกฮือขึ้นเป็นกบฏและปฏิเสธไม่ยอมเคารพนับถือพระเจ้าแผ่นดินโดยฐานะกษัตริย์และเจ้านายที่ถูกต้องตามกฎหมาย[๓]” นำมาซึ่งการปราบปรามจากกรุงศรีอยุธยา ผลในครั้งนั้นอาจนำมาซึ่งการแต่งตั้งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชที่เป็นคนในอาณัติของกรุงศรีอยุธยา เพื่อให้เมืองนครศรีธรรมราชเสมือนตัวแทนของกรุงศรีอยุธยา ในการควบคุมดูแลหัวเมืองฝ่ายใต้ทั้งหมด
ปัญหาคือ ขณะนี้ยังไม่พบหลักฐานที่ระบุชื่อของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ที่เป็นผู้สืบทอดอำนาจของอาณาจักรอยุธยาในยุคดังกล่าว พบเฉพาะส่วนก่อนหน้าและตอนหลัง คือ ออกญาเสนาภิมุข (พ.ศ. ๒๑๗๒ – ๒๑๗๕) แล้วกล่าวถึงบุตรชายที่ตั้งตัวเองเป็นเจ้าเมืองในนามออกขุนเสนาภิมุข ภายหลังได้ตกล่องปล่องชิ้นไปเป็นเขยของเจ้าพระยานครคนเก่า ทั้งที่กินแหนงแคลงใจด้วยเหตุสงสัยในการเสียชีวิตของบิดา จนมีเหตุจลาจลให้ต้องหนีลงเรือไปอยู่เมืองเขมร ในพุทธศักราช ๒๑๗๖[๔] เจ้าพระยานครคนเก่านี้ อาจได้แก่พระยาแก้ว ผู้เป็นหลานพระรามราชท้ายน้ำ เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช (พ.ศ. ๒๑๔๔ – ๒๑๗๑) ซึ่งเป็นบุคคลสุดท้ายที่ตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวถึง ก่อนจะข้ามช่วงเหตุการณ์ยอดพระธาตุหัก ไปที่พระยาบริบาลพลราช เจ้าเมืองตะนาวศรี มาเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ในปีพุทธศักราช ๒๑๙๗[๕]
ดูเหมือนว่าตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช จะละความเอาไว้ถึง ๒๖ ปี คือระหว่างพุทธศักราช ๒๑๗๑ – ๒๑๙๗ ทั้งที่ในระหว่างนั้น มีเหตุการณ์เรื่องยอดพระธาตุหัก ซึ่งเกี่ยวข้องกับชื่อของตำนานโดยตรงแต่กลับไปปรากฏอยู่ในบันทึกอื่น
“เมื่อยอดพระเจ้าหัก วันจันทร์ เดือนหก แรมสี่ค่ำ ปีมะเมีย”
ก่อนจะกล่าวถึงรายละเอียดของบรรทัดนี้ ขอย้อนกลับไปวรรคก่อนหน้าที่ว่า “พระพุทธศักราชได้สองพันร้อยเก้าสิบพระพรรษาเศษได้สี่วัน” ซึ่งเศษของสี่วันนั้นตรงกับวันจันทร์ เดือนหก แรมสี่ค่ำ ปีมะเมีย ตามที่ปรากฏในวรรคนี้ ประเด็นคือ มีข้อพิจารณาอย่างหนึ่งเกี่ยวกับวิธีนับพุทธศักราช ในที่นี้จะเห็นว่าหากย้อนหลับไปสี่วัน วันขึ้นปีใหม่จะตรงกับ “วันขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนหก” ซึ่งตรงกับวัน “วิสาขปุรณมีบูชา”
“วิสาขปุรณมีบูชา” วันขึ้นปีใหม่ของเมืองนครศรีธรรมราช
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า “วันวิสาขบูชา” ถูกยกย่องให้เป็นวันสำคัญสากลมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ ตามมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา ทั้ง ๓ เหตุการณ์ของพระโคตมพุทธเจ้า คือการประสูติ ณ สวนลุมพินีวัน, ตรัสรู้ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ เมื่อพระชนมายุ ๓๕ พรรษา และดับขันธปรินิพพาน ณ ควงไม้สาละ ในสาลวโนทยาน เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ เมื่อพระชนมายุ ๘๐ พรรษา ซึ่งทุกเหตุการณ์ล้วนเกิดขึ้นในวันเพ็ญ เดือน ๖ ทว่าต่างปีกัน ดังนั้น การรำลึกถึงความสำคัญเหล่านี้จึงเรียกให้พ้องไปตามกาลว่า “วิสาขปุรณมีบูชา” ซึ่งแปลว่าการบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ หรือเดือน ๖
ดังนั้น หากพุทธศักราชเป็นการสมมตินับเอาวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานเป็น พ.ศ. ๑ ตามอย่างประเทศศรีลังกาและพม่า หรือหลังจากเหตุการณ์นั้นแล้ว ๑ ปีตามอย่างประเทศไทย วันซึ่งจะเป็นหมุดหมายเปลี่ยนศักราช จึงควรเป็นวันวิสาขบูชา และใช้สืบเนื่องมาแต่โบราณก่อนจะปรับเปลี่ยนไปตามสากล
แล้วเมืองนครศรีธรรมราชเอาอย่างใคร ?
จารึกที่ฐานพระลาก วัดศรีทวี อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีข้อความระบุว่า “…วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ ปีกุน สัตตศก เพลาชาย ๓ ชั้น พุทธศักราชได้ ๒๒๗๗…”[๖] เมื่อสอบพุทธศักราชกับจุลศักราชแล้วพบว่า เป็นการนับศักราชมากกว่าพุทธศักราชปัจจุบัน ๑ ปีอย่างศรีลังกา ข้อนี้อาจแสดงให้เห็นการยึดถือระเบียบวิธีดั้งเดิมของแหล่งซึ่งเป็นต้นทางของพระพุทธศาสนาที่ประดิษฐานอยู่ ณ เมืองนครศรีธรรมราชและสยามประเทศ
อย่างไรก็ดี เมื่อย้อนไปสอบทานปีพุทธศักราชและปีนักษัตรกลับพบว่า พุทธศักราช ๒๑๙๐ ไม่ตรงกับปีมะเมีย ดังที่ระบุในจารึก
เหตุและปัจจัยที่นักษัตรกับปีเคลื่อนกัน
เหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองที่ระบุไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) คือเมื่อ จุลศักราช ๑๐๐๐ ปีขาล (พุทธศักราช ๒๑๘๑) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีลบศักราช เพื่อเสี่ยงพระบารมีแก้กลียุค แม้ในพระราชพงศาวดารจะระบุว่าพระเจ้าอังวะปฏิเสธที่จะใช้ตามพระราชสาส์นที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองส่งไป ในส่วนของเมืองนครศรีธรรมราช มีจารึกที่ระฆังวัดท้าวโคตร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุว่า “พุทธศักราชได้ ๒๑๘๓ ปีมะโรง เลิกว่าฉลู ตรีนิศก วันศุกร์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๔”[๗] คำว่า “ปีมะโรง เลิกว่าฉลู” เป็นหลักฐานยืนยันว่า เมืองนครศรีธรรมราชยอมรับอำนาจของกรุงศรีอยุธยาโดยสมบูรณ์ในฐานะเป็นขอบขัณฑสีมา จึงได้ย้อนปีนักษัตรขึ้นปี ๒ ปีตามพระราชประสงค์
ส่วนจารึกแกนปลีใต้กลีบบัวหงายพระบรมธาตุเจดีย์ ระบุว่า “พระพุทธศักราชได้สองพันร้อยเก้าสิบ…วันจันทร์ เดือนหก แรมสี่ค่ำ ปีมะเมีย…” กลับมีปัญหาเพราะเมื่อคำนวณทั้งตามการนับศักราชธรรมดาและลบศักราช กลับไม่ตรงทั้ง ๒ วิธี กล่าวคือ
ธรรมดา : พุทธศักราช ๒๑๙๐ ตรงกับจุลศักราช ๑๐๐๙ ปีกุน
ลบศักราช : พุทธศักราช ๒๑๙๐ ตรงกับจุลศักราช ๑๐๐๙ ปีวอก
จึงดูเหมือนว่า ศักราชที่ปรากฏที่แกนปลีนี้ ใช้หลักการลบศักราชถึง ๒ ครั้ง คือย้อนกลับขึ้นไปถึง ๔ ปีนักษัตร ความคลาดเคลื่อนข้อนี้เป็นปัญหาที่ยังไม่พบข้อสรุป นอกจากการสันนิษฐานว่า อาจเป็นเพราะผู้จารึกที่รับข้อความให้จารึกซึ่งระบุศักราชที่ลบแล้ว แต่กลับลบซ้ำเป็นกำลัง
“เมื่อยอดพระเจ้าหัก” คำสำคัญที่ปราศจากการชี้เหตุ
ในบรรทัดที่สองซึ่งแยกออกมาใหม่นี้ มีเค้ามูลหลักที่ทำให้ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีนัยยะบางประการเร้นอยู่ คือการไม่ระบุสาเหตุที่ทำให้องค์พระบรมธาตุเจดีย์หักลง ทั้งส่วนของข้อเท็จจริงหรือแม้แต่จะตกค้างอยู่ในนิทานมุขปาถะเหมือนเรื่องเล่า “เจดีย์ยักษ์” ที่มีลักษณาการเดียวกัน แน่นอนว่าในชั้นนี้ อาจเพราะเจดีย์ยักษ์ไม่ได้ถูก “สร้างตรหลบหกสู่ยอด” อย่างองค์พระบรมธาตุเจดีย์ที่ได้รับการปฏิสังขรณ์ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา ๔ เดือน จึงดูเหมือนว่านิทานยักษ์สร้างพระเจดีย์แข่งกับชาวเมืองจะยังคงมีอิทธิพลต่อความรับรู้ของผู้คน ตลอดไปจนส่งผลให้การพิจารณาบูรณะเจดีย์ยักษ์จำต้องดำเนินการไปเสมือนหนึ่งไม่มีส่วนปลียอดมาแล้วแต่เดิม
แม้ว่าเหตุผลที่ทำให้เจดีย์ยักษ์ยอดหักจะเป็นเพียงนิทานปรัมปรา แต่ก็ได้ทิ้งร่องรอยประหนึ่งลายแทงแฝงไว้จนอาจเชื่อได้ว่า ยักษ์ที่เตะยอดเจดีย์นี้ น่าจะเป็นตัวแทนของคนหรือกลุ่มคนฝ่ายตรงข้ามกับคนพื้นเมือง
พระธาตุเคยทลายลงแล้วหนหนึ่งก่อนหน้าครั้งที่กำลังกล่าวถึงนี้
ในตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับกระดาษฝรั่ง[๘] เมื่อกล่าวถึงที่มาของพระบรมสารีริกธาตุแล้ว ก็ยกฉากการก่อ“พระเจดีย์” ครั้งแรกเพื่อสรวมพระบรมสารีริกธาตุ ถัดไปหลังที่สร้าง “เมืองนครศรีธรรมราชมหานคร” ณ หาดทรายแก้วแล้ว พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้มีรับสั่งให้ทำอิฐทำปูนก่อ “พระธาตุ” เป็นครั้งที่ ๒ หากเหตุการณ์ลำดับไปตามที่ตำนานระบุ ก็จะหมายความว่าองค์พระบรมธาตุเจดีย์ มีการประดิษฐานอยู่แล้วก่อนสร้างเมืองแต่อาจจะยังไม่แล้วเสร็จ พระมหากษัตริย์ผู้สถาปนาเมืองจึงได้ทำต่อ จากนั้นพระองค์ถัดๆ ไปก็รับเป็นธุระ ดูเหมือนว่าในตำนานจะระบุถึงการก่อ “พระมหาธาตุ” ถึง ๕ ครั้งจึงแล้วเสร็จ
“พระเจดีย์”, “พระธาตุ” และ “พระมหาธาตุ” ทั้ง ๓ คำนี้เป็นการเรียกองค์พระบรมธาตุเจดีย์จากตำนานฉบับข้างต้น ส่วนปัจจุบันตกค้างเป็นภาษาพูดของชาวนครศรีธรรมราชเฉพาะคำว่า “พระธาตุ” ซึ่งหากเป็นไปตามพระวินิจฉัยของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ที่ว่าตำนานฉบับนี้เขียนขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พุทธศักราช ๒๑๙๙ – ๒๒๓๑) ก็เท่ากับว่าคำนี้ มีเรียกมาตั้งแต่ครั้งนั้นแล้วเป็นอย่างต่ำ
ตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อพระธาตุทลายลงว่า “ยังมีนายไทยผู้หนึ่งชาวกรุงศรีอยุธยา ใช้เรือมาทอดอยู่ปากน้ำนครศรีธรรมราช นายไทยวางว่าว ๆ นั้นก็ขาด นายไทยตามว่าวมาพบพระเจดีย์เดิม แล้วพบเจ้าไทยสององค์ องค์หนึ่งชื่อมหาเถรพุทธสาท องค์หนึ่งชื่อมหาเถรพรหมสุรีย์เที่ยวโคจรมา นายไทยก็เล่าความแก่เจ้าไทย ๆ ให้นำไปดูที่พระเจดีย์เดิม แล้วนายไทยก็ลงเรือไป ภายหลังเจ้าไทยทั้งสองพบพระมหาธาตุทลายลงเทียมพระบรรลังก์ รอยเสือเอาเนื้อขึ้นกินที่นั้น เจ้าไทยก็กลับไปอยู่อารามดังกล่าวเล่า”[๙] ความตอนนี้ไม่ระบุศักราช แต่มีข้อกำหนดช่วงอายุสมัยในวรรคต้นว่านายไทยเป็นชาวกรุงศรีอยุธยา เหตุการณ์จึงน่าจะเกิดในยุคกรุงศรีอยุธยา คือระหว่างพุทธศักราช ๑๘๙๓ – ๒๓๑๐
เพื่อกำหนดจุดเวลาให้แคบลง จึงต้องพิจารณาศักราชที่ปรากฏอยู่ตำแหน่งก่อนที่จะกล่าวถึงเหตุการณ์นี้ พบว่าตกอยู่ในมหาศักราช ๑๒๐๐ ซึ่งคือพุทธศักราช ๑๘๒๑ ส่วนตำแหน่งหลังบันทึกว่าเป็นพุทธศักราช ๑๘๑๕ ชั้นแรกจึงสรุปเป็นเบื้องต้นว่า ศักราชในตำนานฉบับนี้ อาจมีความคลาดเคลื่อนสับสน คือกระโดดไปมาไม่ลำดับ กับทั้งเหตุการณ์ “พระมหาธาตุทลายลง” ซึ่งอยู่ในระหว่าง พ.ศ. ๑๘๑๕ – ๑๘๒๑ นี้ มีคำชี้จุดเวลาคือ “นายไทยผู้หนึ่งชาวกรุงศรีอยุธยา” ทั้งที่จริงช่วงเวลาดังกล่าว กรุงศรีอยุธยายังไม่ได้สถาปนาขึ้น จึง ชวนให้ส่อเค้าคิดไปว่าเป็นไปได้ที่การทลายลงครั้งนี้ อาจเป็นครั้งเดียวกันกับที่มีจารึกไว้รอบแกนปลี
สถานการณ์ภายในเมืองนครศรีธรรมราช
ก่อน “ยอดพระเจ้าหัก” ในปีพุทธศักราช ๒๑๙๐
ตอนท้ายของตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับกระดาษฝรั่ง มีการลำดับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในลักษณะย่อหน้าละใจความ ต้นย่อหน้าระบุปีพุทธศักราชกำกับไว้ ดังนี้
“เมื่อศักราชได้ ๑๙๑๙ ปี โปรดให้หลวงศรีวรวงษมาเป็นเจ้าเมือง มาทำวิหารฝ่ายอุดรพระธาตุ ทักษิณพระโพธิมณเฑียร ก่อพระสูง ๗ ศอก หล่อพระสำมฤฐองค์หนึ่งไว้ปัจฉิม เมียหล่อองค์หนึ่งไว้ฝ่ายบูรรพ์ ชื่อว่าเพหารเขียน แล้วอุทิศข้าหญิงชายไร่นาไว้สำหรับรักษาพระ โปรดให้หลวงพิเรนทรเทพมาเป็นเจ้าเมือง พระทิพยราชาน้องพระญาสุพรรณเป็นปลัด ศึกอารู้ยกมาตีเมืองแล้วไปตีเมืองพัทลุงได้ ทิพยราชาเป็นแม่ทัพไปตีได้คืนเล่า
เมื่อศักราช ๒๐๓๙ ปี โปรดให้พระยาพลเทพราชมาเป็นเจ้าเมือง เกนให้ตกแต่งทำกำแพงกำชับไว้ แล้วเข้าไปกรุงไปทางเมืองสระ
เมื่อศักราช ๒๑๔๑ โปรดให้พระยาศรีธรรมราชะเดชะมาเป็นเจ้าเมือง อุชงคนะให้ลักปหม่าหนาเป็นแม่ทัพเรือมารบ เสียขุนคำแหงปลัด ณ รอปากพระญา ข้าศึกรุกเข้ามาถึงตีนกำแพงฝ่ายอุดร พระยาศรีธรรมราชออกรบศึกหนีไป
เมื่อศักราช ๒๑๔๔ โปรดให้พระรามราชท้ายน้ำมาเป็นเจ้าเมือง เอาขุนเยาวราชมาเป็นปลัด รู้ข่าวศึกอุชงคนะ จึงพระยาให้ขุดฝ่ายบูรรพ์ แต่ลำน้ำท่าวังมาออกลำน้ำฝ่ายทักษิณ
เมื่อศักราช ๒๑๗๑ ศึกอุชงคนะยกมา พระญาก็ให้ตั้งค่ายคูฝ่ายอุดร แลแต่งเรือหุมเรือพายพลประมาณห้าหมื่นเศษรบกันเจ็ดวันเจ็ดคืนขุนพัญจาออกหักทัพกลางคืนศึกแตกลงเรือศึกเผาวัศท่าโพเสีย พระญาถึงแก่กรรม พระญาแก้วผู้หลานก่อพระเจดีย์บรรจุธาตุไว้ในพระธรรมศาลา”[๑๐]
ดังจะพิจารณาได้ว่า ศตวรรษก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุยอดพระเจ้าหักนั้น เมืองนครศรีธรรมราชต้องประสบกับภัยสงคราม ตั้งแต่ศึกอารู้จนถึงอุชงคนะ ยืดเยื้อกินเวลาหลายขวบปี มีผลจากสงครามครั้งนั้นต่อผังเมืองในปัจจุบันให้พอเป็นที่ประจักษ์อยู่บ้าง คือถนนพัฒนาการคูขวาง ถนนที่ทอดทับตำแหน่งเดียวกันกับคูที่ “…ขุดฝ่ายบูรรพ์ แต่ลำน้ำท่าวังมาออกลำน้ำฝ่ายทักษิณ” ขวางไม่ให้กำลังพลของข้าศึกยกขึ้นประชิดเมืองได้โดยง่าย แม้ตอนท้ายของตำนาน จะทำหน้าที่คล้ายพงศาวดารเมือง แต่ก็ไม่ได้ระบุว่าข้าศึกเข้าเมืองแล้วกระทำอันตรายอย่างไรต่อทรัพยากรภายใน กับทั้งกระโดดไป ๒๖ ปี ข้ามเหตุการณ์ยอดพระเจ้าหักที่เป็นโจทย์นี้ไปกล่าวถึง “…เมื่อศักราช ๒๑๙๗ มีพระบรรทูลโปรดให้พระญาบริบาลพลราชเจ้าเมืองตะนาวศรีมหานครมาเป็นเจ้าพระญานครศรีธรรมราช เดชไชยอภัยพิรีบรากรมพาหุเจ้าพระญานครศรีธรรมราช…”
อย่างไรก็ดี ศึกครั้งนี้เป็นศึกติดพัน เพราะความมุ่งหมายของแขกสลัดมีมากกว่าการปล้นเอาสมบัติพัสถาน การจงใจเลียบชายฝั่งผ่านเมืองท่าที่มั่งคั่งอย่างปัตตานีและมะละกา อาจเป็นสัญญาณว่า นครศรีธรรมราชคือเป้าหมายเดียวที่พอพร้อมสำหรับความต้องการบางอย่าง และเป็นไปได้ว่าปัตตานีคือหนึ่งในพันธมิตรของแขกสลัด ดังที่เริงวุฒิ มิตรสุริยะ อธิบายไว้ว่า “…พ.ศ. ๒๑๗๓ ปัตตานีก็ทำการรุกรานเมืองพัทลุงและนครศรีธรรมราชโดยทันใด โดยเว้นไม่ยุ่งเกี่ยวกับเมืองสงขลา ที่ดูเหมือนจะประกาศตัวว่าขอออกจากพระราชอำนาจและอาณาจักรของอยุธยาไปแล้วด้วยเมืองหนึ่ง ในขณะที่นครศรีธรรมราชอ่อนแอนี้ ปัตตานีได้พันธมิตรจากยะโฮร์และโปรตุเกสร่วมด้วย อยุธยาจำต้องเกณฑ์ผู้คนจากนครศรีธรรมราชและพัทลุงออกต่อต้าน แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะปัตตานีได้…”[๑๑]
สภาพของนครศรีธรรมราชขณะนั้นคงไม่ต่างไปจากสภาพของกรุงศรีอยุธยาก่อนเสียแก่พม่าเมื่อพุทธศักราช ๒๓๑๐ กลับกันเมื่อเมืองสงขลากลับมีอิทธิพลมากขึ้น ในปีพุทธศักราช ๒๑๘๕ สงขลาจึงเป็นกบฏต่อกรุงศรีอยุธยา แม้ว่าจะปราบปรามลงได้ แต่ก็เป็นกบฏอีกครั้ง พ.ศ. ๒๑๙๒ ได้บุกยึดเมืองนครศรีธรรมราชไว้เป็นการชั่วคราว และดึงเอาปัตตานี พัทลุง และไทรบุรีเข้าเป็นพันธมิตร[๑๒]
ทั้งนี้แต่ไม่ทั้งนั้น สถานการณ์ร่วมสมัยกับที่ระบุในจารึกแกนปลีว่ายอดพระบรมธาตุเจดีย์หักลงในพุทธศักราช ๒๑๙๐ ที่ยกมานี้ อาจเป็นเพียงข้อสังเกตหนึ่ง ที่จะทำให้พลอยโน้มเอียงใช้เป็นคำตอบถึงเหตุของการหักลงได้ จากที่โดยทั่วไป ความรู้สึกแรกเมื่อได้อ่านจารึกมักคิดอ่านไปเองเป็นเบื้องต้นว่าอาจเพราะถูกฟ้าผ่าตามธรรมชาติ จะได้มีความลังเลสงสัยเพิ่มขึ้นเป็นตัวเลือก เพราะหากพระบรมธาตุเจดีย์เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นนครศรีธรรมราช ปูชนียสถานมีชื่อนี้ก็ถือเป็นหมุดหมายเดียวของศัตรูที่จะเข้ายึดหรือทำลายเพื่อชัยชนะที่สมบูรณ์
ทว่าเมื่อตรวจสอบแผ่นทองคำที่มาจารึกในระบบฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย จากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) แล้ว พบว่าแทนที่เมื่อยอดหักแล้วศักราชในจารึกจะลำดับต่อไปจาก ๒๑๙๐ กลับมีแผ่นจารึกระบุปีก่อนหน้านั้น ๒ รายการ ได้แก่
“ศุภมัสดุ ศักราชได้เก้าร้อยเจ็ดสิบสี่ เดือนห้า ขึ้นเก้าค่ำ ปีชวด เถลิงศก วันจันทร์ชวด จัตวา พระมหาศรีราชปรีชญา เอาทองห้าตำลึงแลญาติอีกด้วยสัปปุรุษทั้งหลายช่วยอนุโมทนา เป็นทองหกตำลึง สามบาท สามสลึง ตีเป็นแผ่นสรวมพระธาตุเจ้า ในขณะออกญาพัทลุงมาเป็นพระยานครแลพระเจ้าพระครูเทพรักษาพระธาตุ”[๑๓]
รายการแรก ศักราชเก้าร้อยเจ็ดสิบสี่ ตรงกับพุทธศักราช ๒๑๕๕ ถัดไปอีก ๔ ปีปรากฏในรายการที่ ๒ คือ พ.ศ. ๒๑๕๙ ซึ่งทั้ง ๒ รายการร่วมสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พุทธศักราช ๒๑๕๔ – ๒๑๗๑) จึงดูเหมือนว่าเป็นไปไม่ได้ที่เมื่อข้าศึกยึดเอาสัญลักษณ์ประจำเมืองได้แล้วจะไม่ฉกฉวยเอาทรัพย์สินมีค่าไปใช้สอยประโยชน์ ข้อนี้สันนิษฐานต่อไปได้ว่า อาจเป็นอุบายเพื่อประโลมขวัญชาวเมืองในการสร้างความยอมรับให้มีแก่กลุ่มผู้ปกครองใหม่ โดยกระทำการปฏิสังขรณ์อย่างรวดเร็วแล้วเสร็จภายในระยะเวลาเพียงแค่ ๔ เดือนดังจะได้กล่าวต่อไป
ข้อพินิจสำคัญอีกประการคือ จารึกแผ่นทองหุ้มปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราชอีกรายการหนึ่ง ปรากฏ ๒ ศักราชในลายมือที่ใกล้เคียงกัน
ก่องแก้ว วีระประจักษ์ ปริวรรตแยกบรรทัดยกมาเฉพาะศักราชได้ว่า
บรรทัดบนซ้ายจารึก “(มหาศักราช) ๑๖๒๘” เท่ากับพุทธศักราช ๒๒๔๙
บรรทัดล่างขวาจารึก “ศกพระแต่พ้นไปแล้ว ๒๑๕๙”[๑๕]
ความใกล้เคียงกันของตัวอักษรที่แม้ว่าจะมีระยะระหว่างจารึกถึง ๙๐ ปี แถมยังปรากฏบนแผ่นเดียวกันนี้ เป็นพิรุธบางประการที่อาจเชื่อได้ว่าการระบุศักราชก่อนหน้าเหตุการณ์ยอดหักซึ่งปรากฏอยู่เพียง ๓ รายการจากทั้งหมด ๔๐ รายการนี้ เป็นเพียงการบันทึกย้อนความทรงจำ ทั้งนี้เพื่อยืนยันสมมติฐานนี้ อาจต้องพึ่งการตรวจพิสูจน์ทางด้านอักษรศาสตร์ ซึ่งผู้เขียนไม่มีความสามารถในด้านนั้นเป็นการเฉพาะ
“เพลาชายแล้วสองยาม สร้างตรหลบหกสู่ยอดพระเจ้าหั้นแล
เมื่อทำการนั้น เดือนสิบ วันศุกร์เพลาเช้าขึ้นถึงสิบชั้นเป็นสุดเอย”
จากเหตุการณ์ยอดหักเมื่อต้นปีใหม่เดือนหก ถึงเมื่อสร้างแล้วเสร็จเดือนสิบ ระยะเวลาเพียงแค่ ๔ เดือนกับการปฏิสังขรณ์ครั้งยิ่งใหญ่นี้ แสดงให้เห็นถึงความมานะอย่างยิ่งยวดของผู้ได้รับหน้าที่ เพราะเสมือนการก่อขึ้นใหม่ตั้งแต่ตำแหน่งพระเวียนขึ้นไปจนถึงยอด ตามที่ ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ ได้สันนิษฐานว่า ตรงก้านฉัตรขององค์พระบรมธาตุแต่เดิมไม่มีเสาหานเช่นเดียวกับเจดีย์สุโขทัยและล้านนา แต่เมื่อส่วนยอดพังทลายลงมาถึงชั้นบัลลังก์ และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ จึงไม่ทำก้านฉัตรแบบเดิมแต่ออกแบบให้มีเสาหานช่วยพยุงตัวปล้องไฉนที่อยู่เหนือขึ้นไป แต่ก็ไม่ทำเสาหานทรงกระบอกแบบที่แพร่หลายในอยุธยา[๑๖]
การเร่งปฏิสังขรณ์ขึ้นไปใหม่อย่างรวดเร็วนี้ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ต่อสภาพจิตใจของผู้คนประการได้เป็นอย่างดี อาจเป็นการบูรณะครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดและเสร็จสิ้นด้วยระยะเวลาอันสั้นที่สุดเท่าที่เคยมีมาเมื่อเทียบกับระยะเวลาของการบูรณะในชั้นหลัง
พระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช เป็นวัตถุธาตุในโลกที่เป็นไปตามสามัญลักษณะทั้ง ๓[๑๗] ซึ่งคือกฎธรรมดาของสรรพสิ่งทั้งปวง แม้จะพยายามเฝ้าหวงแหนและพิทักษ์รักษาสักปานใด ก็ไม่มีเครื่องยืนยันว่าจะสามารถอยู่ยั่งมั่นคงสวนกระแสธรรมดาที่ว่านี้ได้ ฉันใดที่มนุษย์รู้จักดูแลสุขภาพกายและจิตเพื่อยืดอายุขัย พลังแห่งศรัทธาปสาทะ[๑๘]ของสาธารณชน ผนวกด้วยความรับผิดชอบขององค์กรภาครัฐทั้งองคาพยพ[๑๙] จึงเสมือนยาอายุวัฒนะแก้สรรพ[๒๐]โรค พร้อมไปกับการบำรุงกำลังแห่งองค์พระบรมธาตุเจดีย์ตราบเท่าที่วิทยาการทางเทคโนโลยีจะก้าวล้ำไปถึงก็ฉันนั้น
[๑] ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และเทิม มีเต็ม. (๒๕๓๗). “จารึกแผ่นทองหุ้มปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช”. ใน ศิลปากร ๓๗. ๔ (กรกฎาคม-สิงหาคม ๒๕๓๗) : ๒๐-๑๑๘.
[๒] https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/1321 สืบค้นเมื่อ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๒
[๓] ภัคพดี อยู่คงดี. “นครศรีธรรมราช ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๓ (ร่วมสมัยสุทัย – อยุธยา)”. ใน ประวัติศาสตร์ โบราณคดี นครศรีธรรมราช : น. ๙๓ – ๙๔
[๔] มานิจ ชุมสาย. ม.ล.. (๒๕๒๑). “เมื่อญี่ปุ่นมาเป็นเจ้าพระยานคร ใน พ.ศ.๒๑๗๒”. ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช :น. ๕๕๐ – ๕๕๑.
[๕] “ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช”. ใน รวมเรื่องเมืองนครศรีธรรมราช : น. ๙๕.
[๖] พระครูเหมเจติยาภิบาล. (๒๕๖๒). “คำอ่านจารึกฐานพระลาก (ปางอุ้มบาตร) วัดศรีทวี อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช”.
[๗] สุรเชษฐ์ แก้วสกุล. (๒๕๖๒) . “คำอ่านจารึกระฆังวัดท้าวโคตร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช”.
[๘] พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๑ ตามหนังสือกระดาษฝรั่งเขียนเส้นหมึก ต้นฉบับอยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณ (ปัจจุบันคือสำนักหอสมุดแห่งชาติ)
[๙] “ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช”. ฉบับกระดาษฝรั่ง.
[๑๐] เรื่องเดียวกัน
[๑๑] เริงวุฒิ มิตรสุริยะ. (๒๕๕๕). “สุลต่านลุ่มทะเลสาบสงขลา : ปฏิสัมพันธ์ของอำนาจจากท้องถิ่นถึงราชอาณาจักร จากสมัยอยุธยาตอนกลางถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น”. รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช ครั้งที่ ๖ (พ.ศ.๒๕๕๕). (นครศรีธรรมราช : มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช, ๒๕๕๕). หน้า ๑๒๙.
[๑๒] ภัคพดี อยู่คงดี. “นครศรีธรรมราช ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๓ (ร่วมสมัยสุโขทัย – อยุธยา)”. ประวัติศาสตร์ โบราณคดี นครศรีธรรมราช. กรมศิลปากร.
[๑๓] ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และเทิม มีเต็ม. (๒๕๓๗). “คำปริวรรตจารึกแผ่นทองหุ้มปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช”.
[๑๔] เรื่องเดียวกัน
[๑๕] ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และเทิม มีเต็ม. (๒๕๓๗). “คำปริวรรตจารึกแผ่นทองหุ้มปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช”.
[๑๖] เกรียงไกร เกิดศิริ. (๒๕๖๑). “พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช มรดกพุทธศาสนาสถาปัตยกรรม ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาเถรวาทแห่งคาบสมุทรภาคใต้”. กรุงเทพ. หน้า ๘๕.
[๑๗] คือไตรลักษณ์ ได้แก่ อนิจจลักษณะ ลักษณะไม่เที่ยง มีการแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา ทุกขลักษณะ ลักษณะทนอยู่ตลอดไปไม่ได้ ถูกบีบคั้นด้วยอำนาจของธรรมชาติทำให้ทุกสิ่งไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดไป และ อนัตตลักษณะ ลักษณะไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามต้องการได้
[๑๘] ปสาทะ หมายถึงความผ่องใส เป็นลักษณะของศรัทธา ในพระสุตตันตปิฎก ทีฑนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ หน้าที่ ๓๕๕ ยกแยกศรัทธาไว้ ๔ อย่าง หนึ่งในนั้นคือ ปสาทศรัทธา หมายถึง ความเชื่อ ศรัทธาที่เกิดจากการบรรลุธรรม
[๑๙] แปลว่า อวัยวะน้อยใหญ่ ในที่นี้หมายถึงทุกภาคส่วน
[๒๐] อ่านว่า สับ-พะ เป็นคำอุปสรรค มีสำเนียงอ่านอย่างใต้อีกอย่างหนึ่งว่า สอ – หรบ อาจเป็นที่มาของวัดสพ ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับวัดท้าวโคตรปัจจุบัน ด้วยว่าพระประธานในร่วมพื้นที่นั้น องค์หนึ่งพระนามว่า “พระสัพพัญญุตญาณมุนี” แต่ก่อนมักเขียนโดยให้พ้องเสียงอาจเขียนเป็น สรรพ แล้วมีผู้ออกเสียงว่า สอ – หรบ จนเป็นสพในที่สุด
จากปก : ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หมายเลขกำกับ CFNA๐๑-P๐๐๑๙๒๒๒-๐๐๒๑