โนรามดลิ้น ผู้รับพระราชทานนามสกุล “ยอดระบำ”
โนรามดลิ้น
ผู้รับพระราชทานนามสกุล “ยอดระบำ”
โนรา : มรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ
ท่ามกลางการร่วมเฉลิมฉลองและชื่นชมยินดีในโอกาสที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 16 ณ สำนักงานใหญ่ยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้ประกาศขึ้นทะเบียน“โนรา : Nora, dance drama in southern Thailand” เป็นรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity)หลายส่วนฝ่ายต่างแสดงบทบาทเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเหตุการณ์ได้อย่างน่าสนใจ
.
โนราประกอบขึ้นได้ด้วยหลายองค์ประกอบ ทั้งผู้แสดง เครื่องแต่งกาย นักดนตรี เครื่องดนตรี ผู้ชม เจ้าภาพ วาระและโอกาส รวมถึงองค์ความรู้ในองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง อาจกล่าวได้ว่า โนราเป็นผลรวมของสหวิทยากรที่ผ่านการสั่งสมภูมิปัญญาและมีพลวัตอย่างต่อเนื่องยาวนาน โนราจึงไม่อาจมองหรืออธิบายได้โดยสรุปเพียงแค่แง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง และเชื่อว่าหลังจากนี้ เมื่อยูเนสโก้ได้ประกาศรับรองอย่างเป็นทางการให้โนราเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติแล้ว เราจะได้ศึกษาและคลี่มองโนรากันอย่างรอบขึ้น
.
หอสมุดแห่งชาติ นครศรีธรรมราช เปิดให้บริการภายใต้ภาพลักษณ์และรูปโฉมใหม่ หลายวันก่อนมีโอกาสเข้าไปเยี่ยมเยียน โดยเฉพาะห้องศรีวิชัย ที่รวบรวมข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้ไว้อย่างหลากหลาย หนึ่งในนั้นมีหนังสือชื่อ “นครศรีธรรมราช” ที่ประกอบด้วยหัวข้อเรื่องเกี่ยวกับเมืองนครศรีธรรมราชไว้ในหลายมิติ ทั้งสังคม ภูมิศาสตร์ และวัฒนธรรม เพื่อให้สอดคล้องกับบรรยากาศที่ชุดความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับโนรามีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการศึกษาอย่างเป็นระบบ จึงจะขอคัดที่เกี่ยวข้องกับอัตชีวิประวัติของโนรารุ่นเก่าของนครศรีธรรมราช นาม “มดลิ้น ยอดระบำ” มาให้ได้อ่านกันในที่นี้ (โดยจะขอปรับคำเรียกให้พ้องตามสากลว่า “โนรา” กับทั้งชั้นนี้จะเว้นการวิเคราะห์และตีความใด ๆ ไว้ เว้นแต่ข้อสังเกตเกี่ยวกับข้อมูลเกี่ยวกับการถ่ายทำท่ารำในหนังสือตำรารำไทย ที่ระบุว่าโนราที่ปรากฏรูปคู่กับหมื่นระบำบรรเลงนั้น อาจคือ “โนราเย็น” ดังจะได้สืบความต่อไป)
.
“โนรามดลิ้น เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงมาก เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วไปทั้งที่เมืองนครศรีธรรมราชและจังหวัดอื่น ๆ แม้แต่ในกรุงเทพมหานคร โนรามดลิ้นก็เคยเข้าไปรำเผยแพร่หน้าพระที่นั่งหลายครั้งหลายคราวจนเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป และเนื่องจากความสามารถในการรำโนรานี้เอง ท่านผู้นี้จึงได้รับพระราชทานพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “ยอดระบำ”
.
ชาตกาล
โนรามดลิ้น ยอดระบำ เกิดเมื่อวันเสาร์ ที่ 11 พฤษภาคม 2421 ตรงกับเดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ปีขาล เป็นบุตรนายทอง นางนุ่ม เป็นหลานปู่ของนายบัวจันทร์ และย่าชุม เกิดที่บ้านหัวสะพานขอย หมู่ที่ 4 ตำบลควนเกย อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน 4 คน คือ นางบึ้ง นายมดลิ้น นางลิบ และนางลม
.
เรียนขอม
เมื่ออายุประมาณ 7 ขวบ พ่อท่านทวดด้วงได้พาให้ไปศึกษาหนังสือไทยสมัยเรียน นอโม-พุท-ท่อ และเรียนเวทมนต์คาถากับพ่อท่านคงที่วัดเนกขัมมาราม (หน้ากาม) อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อเรียนหนังสืออ่านออกเขียนได้ดีแล้ว ท่านอาจารย์คงได้ฝากให้ไปเล่าเรียนวิชาไสยศาสตร์เพิ่มเติมกับท่านอาจารย์เกิดที่วัดป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง กระทั่งมีความรู้อ่านออก เขียนหนังสือขอมได้
.
อุปสมบท
ครั้นอายุ 20 ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ จำพรรษาอยู่ที่วัดมัชฌิมภูผา อำเภอร่อนพิบูลย์ 1 พรรษา สมัยพระอาจารย์ภู่เป็นสมภาร และได้ศึกษาเล่าเรียนเวทมนต์คาถาเพิ่มเติมด้วย ต่อมาอายุ 22 ปี ได้สมรสกับนางทิม บุตรโนราปลอด-นางศรีทอง บ้านวังไส ตำบลสามตำบล มีบุตรด้วยกัน 7 คน คือ นายกลิ้ง นายคล่อง นายสังข์ นายไว นางพิน นางพัน และนายเจริญ
.
โนรามดลิ้น
โนรามดลิ้นได้ฝึกหัดรำโนราเมื่ออายุ 14 ปี โดยฝึกหัดกับโนราเดช บ้านหูด่าน อำเภอร่อนพิบูลย์ ซึ่งเป็นอาจารย์เดียวกันกับโนราหมื่นระบำบรรเลง (คล้าย พรหมเมศ หรือ คล้ายขี้หนอน) เมื่อรำเป็นแล้วได้เที่ยวรำกับอาจารย์ หมื่นระบำบรรเลง และโนราเถื่อน บ้านทุ่งโพธิ์ อำเภอร่อนพิบูลย์ ในสมัยก่อนโนราส่วนมากไม่ค่อยมีสตรีร่วมแสดงเหมือนอย่างทุกวันนี้ เมื่อจะแสดงเรื่องก็ใช้ผู้ชายแสดงแทน โนรามดลิ้นซึ่งกล่าวได้ว่าสมัยนั้นรูปหล่อ สุภาพ อ่อนโยน ก็ทำหน้าที่แสดงเป็นตัวนางเอกแทบทุกครั้ง และแสดงได้ถึงบทบาทจนกระทั่งคนดูสงสารหลั่งน้ำตาร้องไห้เมื่อถึงบทโศก
.
โนรามดลิ้นเที่ยวแสดงในงานต่าง ๆ แทบทั่วทั้งภาคใต้ จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย นอกจากนี้เคยไปแสดงในงานสำคัญ ๆ ในกรุงเทพฯ หลายครั้ง ได้แก่
.
รำถวายหน้าพระที่นั่ง
ครั้งแรก ได้ไปรำถวายในพระบรมมหาราชวังเนื่องในงานราชพิธีหน้าพระที่นั่ง มีโนราคล้าย ขี้หนอน เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปทางเรือรวมทั้งหมด 13 คน ในการรำถวายครั้งนี้ โนราคล้าย ขี้หนอน แสดงเป็นตัวพระ ส่วนโนรามดลิ้น แสดงเป็นตัวนาง หลังจากแสดงแล้วเสร็จ โนราคล้าย ขี้หนอน ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหมื่นระบำบรรเลง โนรามดลิ้นได้รับพระราชทานนามสกุล “ยอดระบำ” และในโอกาสเดียวกันเจ้าหน้าที่ฝ่ายศิลปินในสำนักพระราชวัง ได้จดบทกลอนท่ารำโนราและบทต่าง ๆ ไว้หลายบท เพื่อถือเป็นแบบฉบับสำหรับการศึกษาต่อไป
.
ครั้งที่สอง เมื่อ พ.ศ.2466 ได้ไปรำในงานพระราชพิธีที่ในพระบรมมหาราชวัง สมัยรัชกาลที่ 6 โดยหมื่นระบำบรรเลงเป็นหัวหน้า พร้อมด้วยโนรามดลิ้น ยอดระบำ โนราเสือ (ทุ่งสง) โนราพรัด (ทุ้งไห้ฉวาง) โนราคลิ้ง ยอดระบำ โนราไข่ร็องแร็ง (สามตำบล) พรานทองแก้ว พรานนุ่น กับลูกคู่รวม 14 คน
.
เมื่อกลับจากการแสดงครั้งนี้ชั่วระยะไม่ถึง 2 เดือน ทางราชการได้เรียกโนราให้ไปแสดงอีก แต่เนื่องจากครั้งนั้นโนรามดลิ้นได้นำคณะโนราส่วนหนึ่งเดินทางไปแสดงที่จังหวัดกระบี่ พังงา และอำเภอตะกั่วป่า (เดินเท้า) จึงไม่สามารถกลับมาและร่วมไปแสดงได้ หมื่นระบำบรรเลง จึงรวบรวมบรรดาศิษย์ไปแสดงเอง การแสดงครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายศิลปากรได้ถ่ายรูปท่ารำโนราต่าง ๆ ของหมื่นระบำบรรเลงกับโนราเย็นไว้เป็นแบบฉบับเพื่อการเผยแพร่และการศึกษาของอนุชนรุ่นหลัง ดังปรากฎในหนังสือว่าด้วยตำรารำไทยในหอสมุดแห่งชาติ
.
ครั้งที่สาม เมื่อ พ.ศ. 2473 ได้ไปรำถวายในพระบรมมหาราชวังเนื่องในงานพระราชพิธีหน้าพระที่นั่งรัชกาลที่ 7 ครั้งนี้หมื่นระบำบรรเลงแก่ชรามาก จึงไม่ได้เดินทางไป มอบให้โนรามดลิ้น ยอดระบำ เป็นหัวหน้าคณะ นำโนรา 12 คนไปรำถวายแทน
.
เข้ากรมศิลปากร
ปลายปี พ.ศ. 2479 ครั้งหลวงวิจิตวาทการเป็นอธิบดีกรมศิลปากร ได้ริเริ่มปรับปรุงฟื้นฟูมหรสพพื้นเมืองทั่วไป ถึงได้เดินทางมาขอชมการรำโนราแบบโบราณที่เมืองนครศรีธรรมราช โนรามดลิ้น ยอดระบำ ได้นำคณะแสดงให้ชมที่เรือนรับรองของข้าหลวงประจำจังหวัดในสมัยนั้น ผู้แสดงมีโนราคลิ้ง อ้น เจริญ ปุ่น และพรานบก การแสดงเป็นที่พึงพอใจของอธิบดีเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ขอตัวโนราเจริญและปุ่นไปอยู่ที่กรมศิลปากร เพื่อถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับโนราแบบโบราณให้แก่นักเรียนของโรงเรียนนาฏศิลป์ กรมศิลปากรได้ศึกษา และได้ให้โนราทั้งสองได้เล่าเรียนหนังสือไทยเพิ่มเติม พร้อมทั้งศึกษาท่ารำแบบต่าง ๆ ของกรมศิลปากรให้มีความรู้ความชำนาญยิ่งขึ้น โนราเจริญและปุ่น ศึกษาอยู่ที่กรมศิลปากรเป็นเวลา 1 ปี จึงได้กลับมายังนครศรีธรรมราช
.
ครั้งที่สี่ เมื่อ พ.ศ. 2480 ได้ไปรำในงานวันชาติที่ท้องสนามหลวงอีกครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้ โนรามดลิ้นไปในฐานะหัวหน้าคณะเท่านั้น เพราะแก่ชรามากแล้ว รำไม่ได้ จึงให้โนราคลิ้ง ยอดระบำ ซึ่งเป็นบุตร แสดงแทน
.
นอกจากที่กล่าวมาแล้ว โนรามดลิ้น ยอดระบำ ได้เคยนำคณะไปรำในงานของทางราชการบ้านเมืองอีกหลายครั้ง ที่สำคัญ เช่น รำถวายรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จประพาสภาคใต้ ซึ่งได้ทรงเสด็จในงานยกช่อฟ้าพระวิหารหลวง วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช และรำในงานต้อนรับพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งเดินทางมาตรวจเยี่ยมราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช
.
ส่วนงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับงานของเพื่อนฝูงและญาติพี่น้อง ในอำเภอหรือในจังหวัดใกล้เคียง โนรามดลิ้นได้นำคณะไปช่วยเหลืออยู่เป็นประจำเสมอ ในชีวิตของท่านจึงนับได้ว่าท่านใช้ความสามารถได้เกิดประโยชน์อย่างมาก
.
แพทยศาสตร์
นอกจากความสามารถของการรำโนราแล้ว โนรามดลิ้นยังสามารถบริการประชาชนในเรื่องยากลางบ้านอีกด้วย กล่าวคือท่านได้ศึกษาหาความรู้ทางแพทย์แผนโบราณ เป็นหมอรักษาผู้ที่ถูกยาสั่ง ถูกคุณไสยต่าง ๆ ตามหลักวิชาไสยศาสตร์อีกด้วย จึงนับได้ว่าท่านผู้นี้เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมอย่างกว้างขวางจนตลอดชีวิต
.
โนรามดลิ้น ยอดระบำ ถึงแก่กรรมเมื่อวันอังคารที่ 9 มกราคม 2511 เวลา 10.00 น. ด้วยโรคชรา ที่บ้านเลขที่ 181 หมู่ที่ 7 ตำบลร่อนพิบูลย์ อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช สิริอายุได้ 92 ปี”
____
คัดจาก
วิเชียร ณ นคร. (2521). นครศรีธรรมราช. กรุงเทพมหานคร: อักษรสัมพันธ์.
ภาพปก
ถ่ายโดย KARPELÈS Suzanne ช่างภาพชาวฝรั่งเศษ
เมื่อเดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๖๗
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖)
ต้นฉบับภาพเก่าโนรา ณ วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช
ต้นฉบับภาพเก่าโนรา
ณ วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช
โนรา : มรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ
ท่ามกลางการร่วมเฉลิมฉลองและชื่นชมยินดีในโอกาสที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 16 ณ สำนักงานใหญ่ยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้ประกาศขึ้นทะเบียน“โนรา : Nora, dance drama in southern Thailand” เป็นรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity)หลายส่วนฝ่ายต่างแสดงบทบาทเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเหตุการณ์ได้อย่างน่าสนใจ
.
เมื่อราว 2 ปีก่อน บังเอิญมีโอกาสได้รับมอบหมายจาก ผศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ คณะกรรมการนำเสนอวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร สู่มรดกโลก ให้เป็นผู้ประสานงานกับสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เพื่อขอคัดสำเนาภาพถ่ายเก่าที่เกี่ยวข้องกับเมืองนครศรีธรรมราช ได้ความกรุณาไว้หลายรายการ หนึ่งในนั้นเป็นสำเนาต้นฉบับที่บันทึกกิจกรรมภายในวัดของคณะบุคคลไว้ วาระนี้จะคัดออกเผยแพร่เฉพาะที่เห็นว่าเป็นภาพ “โนรา” ในวันสมโภชพระบรมธาตุเจดีย์ เมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสปักษ์ใต้ และดังระบุแล้วว่าได้คัดสำเนาแบบดิจิทัลจากต้นฉบับโดยตรง แม้หลายท่านจะเคยเห็นภาพเหล่านี้บ้างแล้ว แต่เชื่อว่าการเมื่อคลี่ขยายออกดูรายละเอียดจากต้นฉบับนี้ จะทำให้สามารถเห็นหรือเป็นประเด็นศึกษาต่อได้มากขึ้น
พญามือเหล็ก พญามือไฟ: ครูหมอ-ตายายโนราในพระราชพงศาวดาร
พญามือเหล็ก พญามือไฟ
ครูหมอ-ตายายโนราในพระราชพงศาวดาร
ครูหมอโนรา
ในชั้นนี้จะเว้นการนิยามคำว่าครูหมอกับตายาย
เพราะส่วนตัวเชื่อว่าหากสืบขึ้นไปลึกๆ
คงพล่ายกันแยกไม่ขาด
.
ห้วง ๑๕ วันตามความเชื่อ
ตั้งแต่แรกรับตายายมาในวันแรมค่ำ ๑ เดือนสิบ
บังเอิญให้ใคร่จะอ่านพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา
ในความหนา ๘๐๐ หน้า
จึงตั้งใจว่าจะแค่กวาดสายตา
หาคำว่า “นครศรีธรรมราช” เป็นพื้น
.
ยังไม่ทันถึงที่หมาย ภารกิจที่ว่าก็เสร็จเสียก่อน
เลยเปิดเล่นไปมา อ่านทวนแต่ละเรื่องเพื่อสอบความ
.
ความจริง
เคยมีแรงบันดาลใจให้ค้นเรื่องทำนองนี้แล้วครั้งหนึ่ง
จากเล่มเดียวกันนี้
คราวนั้นพบตำแหน่งมหาดเล็ก
ปรากฏในชื่อขุนนางวังหลวง ฉบับคำให้การชาวกรุงเก่า
“หลวงนายศักดิ์ หลวงนายสิทธิ์ หลวงนายฤทธิ์ หลวงนายเดช”
ซึ่งก็ไปช่วยคลี่คลายบางอย่าง
เกี่ยวกับชื่อบุคคลที่ปรากฏอยู่ในบทกาศครูของชาตรี
“แต่แรกพ่อเป็นหลวงนายฯ”
แม้คำตอบที่ได้จะเป็นเพียงการยืนยันการมีตัวตน
แต่ความสัมพันธ์ระหว่างชาตรีกับราชสำนัก
เป็นอะไรที่อาจสาวความไปได้จากจุดนี้
.
เช่นเดียวกัน
พญามือเหล็ก และ พญามือไฟ
ก็ปรากฏในบทกาศครูของชาตรีว่า
“ไหว้(พ)ญามือเหล็ก(พ)ญามือไฟ
จะไหว้ใยตาหลวงคงคอฯ”
.
ทั้งสองพญามีชื่อ
ก็ถูกกล่าวถึงในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา
ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
ว่ามีชีวิตในรัชกาลสมเด็จพระมหินทราธิราช
เป็นแม่ทัพฝ่ายกรุงศรีสัตนาคนหุต
มีบทบาทสำคัญในศึกชิงเมืองพระพิษณุโลก
.
อย่างที่กล่าวแล้วว่า
นอกจากความนี้จะยืนยันตัวตนประการหนึ่ง
ความสัมพันธ์ของพื้นที่ต้นขั้วกับแหล่งวัฒนธรรมปัจจุบัน
เป็นเรื่องน่าสนใจ
การตกค้างผูกพันอยู่กับความเชื่อในฐานะบรรพชน
ทำให้เชื่อได้ว่าคนลาวกับชาวใต้
มีการยักย้ายถ่ายเทสัมพันธ์กันในลักษณะเครือญาติ
มานานแล้วตั้งแต่อดีต
ก่อนที่ความลาว ความไทย และความใต้
จะมาแยกเราขาดจากกัน
.
บทความอันนี้ถูกเขียนขึ้นอย่างคร่าวๆ
ระหว่างนั่งรถกลับนคร
ไม่มีอะไรเป็นสรณะนอกจากหนังสือเล่มที่ว่า
ขอบพระคุณความเห็นจากกัลยาณมิตร ดังนี้
.
พี่สุรพงศ์ เอียดช่วย
“หวังว่าซักวันหนึ่ง
เราจะสืบค้นระบุการมีตัวตนของครูต้นได้ชัดเจน
ว่าท่านคือผู้ใดบ้างในห้วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา”
.
ดร.อัครินทร์ พงษ์พันธ์เดชา
“ลอง search ดู เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก ครับ
พระญาข้อมือเหล็ก สมัยหริภุญไชย
น่าจะปรากฏอยู่ใน ตำนานมูลศาสนา ถ้าจำไม่ผิด
ที่ลำปาง ก็มี เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก
ส่วนเชียงใหม่ มีศาลเจ้าพ่อแขนเหล็ก
อยู่บริเวณที่เคยเป็นวังพระญามังราย กลางเมืองเชียงใหม่ ครับ
อาจจะเป็นตำแหน่งที่มีมาแต่เดิมในยุค ทวารวดี
เพราะ พระญาข้อมือเหล็ก เป็นตำแหน่งเสนาบดี
คู่พระญาบ่อเพ็ก ของพระนางจามเทวี ที่มาจากละโว้ ครับ”
.
ดร.วิทยา อาภรณ์
“จำได้ว่าที่ภาคเหนือพบเจ้าข้อมือเหล็ก
พญาข้อมือเหล็กเป็นผีชั้นสูงประจำพื้นที่ ผีขุนน้ำบ่อยเลย ชาวบ้านเลี้ยงประจำปี
น่าคิด มีเวลาน่าขยายจริง ๆ รูปแบบภาษา ประเพณี บ้านเรือน ยังพอให้สืบได้ ช้าไปก็ยิ่งจาง”
.
แต่คิดดูแล้ว เรื่องนี้เป็นประโยชน์
อย่างน้อยก็ในระดับความเข้า(ไปใน)ใจ
กับทั้งเป็นเครื่องพยุงศรัทธาของลูกหลาน
เพื่อยืนกรานสิ่งที่เรียกว่า “ความกตัญญู”
แม้ในชีวิตจริง เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องมีหลักฐาน
เพราะถ้าปลายทางแจ้งอยู่กับใจ
ก็ใช่ว่าจะต้องเที่ยวใส่บ่าแบกหามภาระใดให้หนักตัว
ปล. การเทครัวปากเหนือลงมาปากใต้สมัยพระราเมศวรคงเป็นหมุดหมายสำคัญที่ต้องตามต่อ
ขอบพระคุณภาพปกจากหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ จำหน่ายในหมู่ข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๔๕๑