ประวัติอำเภอนาบอน ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

ประวัติอำเภอนาบอน
ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

 

เหตุที่ได้จั่วหัวว่าเป็น “ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค” นั้น ด้วยคัดมาจากหนังสือ “ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช” ซึ่งเข้าใจเอาจากคำนำในเล่มว่าเป็นข้อสั่งการจากกระทรวงมหาดไทยถึงจังหวัดทุกจังหวัด ให้รวบรวมและเรียบเรียงเหตุการณ์สำคัญ เอกสาร ความเป็นมา ภูมิประเทศ สถานที่และบุคคลสำคัญของจังหวัดต่าง ๆ เป็นสารบบ มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการท้องถิ่น ได้แก่ วิมล ดำศรี, วิเชียร ณ นคร, ประหยัด เกษม, สมพุทธ ธุระเจน และฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ เป็นคณะทำงาน โดยที่ น้อม อุปรมัย, กระจ่าง คีรินทร์นนท์ และขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นที่ปรึกษา

.

หนังสือดังกล่าว แบ่งเป็น 8 บท ได้แก่ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ลักษณะการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติความเป็นมา ประวัติเทศบาลในจังหวัดนครศรีธรรมราช บุคคลสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และทำเนียบนามผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

.

ส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำเภอนาบอนนั้น ปรากฏอยู่ในบทที่ 3 “ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช” โดยจะได้คัดมาเผยแพร่ดังต่อไปนี้ (แบ่งวรรคตอนและย่อหน้าใหม่รวมถึงปรับคำบางช่วงตอนเพื่อสะดวกต่อการอ่าน แต่ยังคงสาระสำคัญไว้ตามต้นฉบับทุกประการ ประกอบกับในชั้นนี้จะยังไม่มีบทวิเคราะห์ข้อมูลใดๆ)

.

ครั้งรัชกาลที่ 2

ความเป็นมาท้องที่อำเภอนี้ มีปรากฏตามทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราช ครั้งรัชกาลที่ 2 ว่าในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เคยเป็นแขวงหรือที่เรียกกันว่า “ที่นาบอน” มีนายที่ชื่อ “ขุนโจมธานี” รองนายที่ชื่อ “ขุนศักดิ์” ที่ทุ่งสงมีนายที่ชื่อ “หมื่นอำเภอ” ซึ่งอยู่ในความปกครองของเมืองนครศรีธรรมราช

.

ครั้นต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2440 ได้มีการจัดการปกครองแผนใหม่ “แขวงนาบอน” และ “แขวงทุ่งสง” ได้ตั้งขึ้นเป็น “ตำบลนาบอน” และ “ตำบลทุ่งสง” ซึ่งอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช

.

กิ่งอำเภอนาบอน

จนกระทั่งวันที่ 9 มิถุนายน 2518 จึงได้รวมพื้นที่ของตำบลนาบอนและตำบลทุ่งสง รวมสองตำบลตั้งเป็นกิ่งอำเภอเรียกชื่อว่า “กิ่งอำเภอนาบอน” ขึ้นอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย  ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2518

.

ขณะนั้นยังมิได้ก่อสร้างที่ว่าการกิ่งอำเภอ ได้อาศัยเรือนแถวบ้านเลขที่ 210-211 หมู่ที่ 2 ตำบลนาบอนของนายยศ พันธ์พิพัฒน์ ใช้เป็นที่ทำการชั่วคราว ได้กระทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2518 โดยนายจาด อุรัสยะนันท์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธี นายชลิต พิมลศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผู้กล่าวรายงาน

.

ที่ว่าการกิ่งอำเภอชั่วคราว

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2520 ได้เกิดเพลิงไหม้ที่ว่าการกิ่งอำเภอชั่วคราว จึงได้ย้ายที่ว่าการกิ่งอำเภอชั่วคราวไปอาศัยทำงานที่โรงเรียนสหมิตรบำรุง (โรงเรียนราษฎร์) ในหมู่บ้านเดียวกัน ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2520 เป็นต้นมา จนกระทั่งในปีงบประมาณ 2521 กระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติงบประมาณให้ทำการก่อสร้างที่ว่าการอำเภอ 1 หลัง บ้านพักข้าราชการปกครอง 3 หลังเป็นเงิน 1,011,500 บาท ได้ดำเนินการก่อสร้างในที่ดินซึ่งนายบุญทอง สันติกาญจน์ อุทิศให้เนื้อที่ 25 ไร่ คิดเป็นเงิน 375,000 บาท ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 2 ตำบลนาบอน ได้ทำการก่อสร้างโดย บริษัท มิตรไทย จำกัด เป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง และได้ดำเนินการสร้างเสร็จในเดือนตุลาคม 2522 จึงได้ย้ายที่ทำการกิ่งอำเภอมาทำงานที่ที่ทำการอำเภอถาวร เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2522

.

นายอำเภอคนแรก

กิ่งอำเภอนาบอน ได้ยกฐานะเป็นอำเภอนาบอน ตามพระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอนาบอน พ.ศ. 2524 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 115 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2524 โดยมีนายจำเริญ ภูมิมาส ดำรงตำแหน่งนายอำเภอนาบอนคนแรก

ตำนาน “นางโดย” เรื่องเล่าท้องถิ่นตำบลคลองน้อย อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ตำนาน “นางโดย”
เรื่องเล่าท้องถิ่นตำบลคลองน้อย

อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

เรื่องเริ่มที่เพชรบุรี

ณ หมู่บ้านหนึ่งในเมืองเพชรบุรี ปรากฏครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวหนึ่งมีตาม่องล่ายเป็นหัวหน้าครอบครัว ภรรยาชื่อนางรำพึง โดยที่ “แม่นางโดย” เป็นลูกสาวหนึ่งเดียวที่ด้วยความน่ารัก ผิวพรรณผ่องใส มีความงามจนเป็นทีหลงไหลของบุรุษเพศผู้พบเห็นจึงได้รับทั้งความรักและการทะนุถนอมจากพ่อคือตาม่องล่ายเป็นพิเศษเพราะเป็นคนใจร้าย โผงผาง ขี้โมโห ไม่เคยเกรงกลัวใคร

.

บนบานตาขุนเล

อยู่มาวันหนึ่ง เจ้าลายบุตรชายเจ้าแฮเจ้าเมืองเชื่อสายจีนซึ่งอยู่ในทิศอีสาน ได้เกิดนิมิตฝันเห็นหญิงงามนางหนึ่ง ด้วยความมหัศจรรย์ใจเมื่อตื่นจากฝันได้ลงเรือเดินทางออกตามหาด้วยความหลงไหล ขณะเดินทางมาในทะเล เจ้าลายได้บนบานศาลกล่าวต่อ “ตาขุนเล” เทวดาประจำท้องทะเลว่า ขอให้ได้พบนางดังปรารถนา ครั้นตกกลางคืนตาขุนเลศักดิ์สิทธิ์ก็มาเข้าฝัน ตาขุนเลช่วยชี้ทางให้พร้อมกับบอกคาถามหาเสน่ห์ไปบทหนึ่งติดตัวไปกับเจ้าลายด้วย

.

เมื่อเจ้าลายเดินทางไปตามเส้นทางที่ตาขุนเลเข้ามาบอกในฝันแล้ว ก็ได้พบกับบ้านของตาม่องล่ายเข้าจริงๆ แต่วันนั้นตาม่องล่ายเข้าไปทำเพชร ทำพลอยในป่า คงพบแต่นางรำพึง แม่นางโดย และนางสาย หลานสาว เจ้าลายจึงได้ว่าคาถาสะกดนางรำพึงให้บังเกิดเมตตารักใคร่ ด้วยอิทธิ์ฤทธิ์ของคาถามหาเสน่ห์ นางรำพึงจึงได้ยกแม่นางโดยให้กับเจ้าลายตั้งแต่นั้น

.

กำเนิดเขานมเชือด-นมไต-ขุนนม

ฝ่ายตาม่องล่ายกลับมาจากป่า พร้อมกับเจ้าหมวกบุตรชายท้าวโคตรบอง ซึ่งบังเอิญเจอกันในป่าและเห็นว่าเจ้าหมวกนี้มีรูปร่างหน้าตาและความเหมาะสมด้วยชาติตระกูล จึงตั้งใจจะยกแม่นางโดยให้ เมื่อทราบความว่านางรำพึงได้ยกแม่นางโดยให้แก่เจ้าลายเสียแล้ว ทำให้ตาม่องล่ายโกรธจัด คว้าดาบพุ่งตรงเข้าไปหานางรำพึงหวังจะฟัน แต่นางสาย หลานสาวได้เข้ามาขวาง ผลคือถูกคมดาบตายทั้งสองคน เท่านั้นยังไม่พอ ตาม่องล่ายยังไม่หายโกรธ ใช้ดาบเล่มเดียวกันนั้นเชือดเต้านมของทั้งสองคนจนขาดแล้วโยนทะเล เต้านมข้างหนึ่งลอยไปติดที่เมืองญวน กลายเป็นเขานมยาย อีกสามข้างลอยมาทางใต้กลายเป็นเขาพนมเชือด (อำเภอร่อนพิบูลย์), เขาพนมไต(อำเภอสิชล) และเขาขุนพนม(อำเภอพรหมคีรี) จากสถานการณ์นี้ทำให้ตาเพชรไม่พอใจตาม่องล่ายเป็นอย่างมากถึงขั้นตัดขาดความเป็นเพื่อน ไม่ไปมาหาสู่คบหากันต่อไปอีก ตาเพชรใช้ไม้หลักปักเขตแดนระหว่างบ้านทั้งสองคน ต่อมาไม้หลักนั้นกลายเป็นภูเขาเรียกว่า “เขาหลัก” (อำเภอทุ่งใหญ่)

.

หลังจากที่เหตุการณ์ยุติลง ตาม่องล่ายค่อยทุเลาความโกรธลงกลายเป็นความอับอายเข้ามาแทนที่จนต้องหนีออกจากบ้านไปอยู่แถวเมืองสองแควหรือพิษณุโลก

.

สมโภชพระบรมธาตุ

รุ่งปีถัดมา เจ้าพระยาศรีธรรมโศกราช ได้จัดให้มีการสมโภชพระบรมธาตุและแห่ผ้าขึ้นธาตุ ได้ประกาศให้ชาวเมืองทั่วทุกสารทิศมาร่วมการกุศล แม่นางโดยทราบข่าวจึงได้จัดแต่งเรือบรรทุกทรัพย์สินมาเองพร้อมด้วยบริวารมากมายอาทิตาหวังกับตาวัง ๒ คนพี่น้อง เคราะห์ร้ายที่เมื่อเรือเดินทางมาถึงอ่าวปากพนังก็ได้เกิดคลื่นลมขนาดใหญ่พัดเอาเรือไปชนกับเกาะหนึ่งเข้า ทำให้เรือจมลงและทุกคนในเรือเสียชีวิตหมดรวมถึงแม่นางโดยด้วย จึงพากันเรียกเกาะนั้นว่า “เกาะนางโดย” มาจวบจนปัจจุบัน

.

นิทานเรื่อง ตำนาน “นางโดย” นี้ปรากฏคุณค่าทางวรรณกรรมหลายส่วน ทั้งคุณค่าทางสุนทรียะที่เมื่อได้อ่านได้ฟังแล้วเกิดจินตนาการและความสนุกสนานเพลิดเพลิน จัดนิทานลักษณะนี้อยู่ในรูปแบบนิทานท้องถิ่น (Legend) ประเภทนิทานอธิบายเหตุ (Explanatory Tale) ซึ่งหมายถึงนิทานที่มุ่งอธิบายความเป็นมาของปรากฎการณ์ธรรมชาติ เทพเจ้า คน สัตว์ พืช สถานที่และถ้อยสำนวน (อ.วิเชียร ณ นคร) ซึ่งเป็นนิทานเก่าแก่ประเภทหนึ่งที่แพร่หลายกันมาก แก่เรื่องคือการมุ่งให้คำตอบเกี่ยวกับความเป็นมาของสิ่งและสภาพต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวกับมนุษย์ สัตว์ พืชและธรรมชาติต่าง ๆ โดยการใช้วิธีการเล่าที่เรียบง่าย ไม่สลับซับซ้อน บางครั้งจะพบว่ามีการให้รายละเอียดของฉาก สถานที่ ตัวเดินเรื่องเป็นสภาพจริงทางภูมิประเทศที่ปรากฎและประวัติศาสตร์ของพื้นที่นั้น

ผู้ให้สัมภาษณ์ : นายพริ้ม มาสิงห์ บ้านคลองน้อย อำเภอปากพนัง
ผู้สัมภาษณ์และจดบันทึก : นายศุภฤกษ์ โรจนธรรม (2537)
ผู้เรียบเรียงความ/เผยแพร่ : นายวันพระ สืบสกุลจินดา

ประวัติอำเภอพรหมคีรี ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

ประวัติอำเภอพรหมคีรี
ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

เหตุที่ได้จั่วหัวว่าเป็น “ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค” นั้น ด้วยคัดมาจากหนังสือ “ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช” ซึ่งเข้าใจเอาจากคำนำในเล่มว่าเป็นข้อสั่งการจากกระทรวงมหาดไทยถึงจังหวัดทุกจังหวัด ให้รวบรวมและเรียบเรียงเหตุการณ์สำคัญ เอกสาร ความเป็นมา ภูมิประเทศ สถานที่และบุคคลสำคัญของจังหวัดต่าง ๆ เป็นสารบบ มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการท้องถิ่น ได้แก่ วิมล ดำศรี, วิเชียร ณ นคร, ประหยัด เกษม, สมพุทธ ธุระเจน และฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ เป็นคณะทำงาน โดยที่ น้อม อุปรมัย, กระจ่าง คีรินทร์นนท์ และขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นที่ปรึกษา

.

หนังสือดังกล่าว แบ่งเป็น 8 บท ได้แก่ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ลักษณะการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติความเป็นมา ประวัติเทศบาลในจังหวัดนครศรีธรรมราช บุคคลสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และทำเนียบนามผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

.

ส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำเภอพรหมคีรีนั้น ปรากฏอยู่ในบทที่ 3 “ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช” โดยจะได้คัดมาเผยแพร่ดังต่อไปนี้ (แบ่งวรรคตอนและย่อหน้าใหม่รวมถึงปรับคำบางช่วงตอนเพื่อสะดวกต่อการอ่าน แต่ยังคงสาระสำคัญไว้ตามต้นฉบับทุกประการ ประกอบกับในชั้นนี้จะยังไม่มีบทวิเคราะห์ข้อมูลใดๆ)

.

อำเภอพรหมคีรี เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช มีเขตการปกครอง 3 ตำบลคือตำบลพรหมโลก ตำบลบ้านเกาะ และตำบลอินคีรี ในแต่ละตำบลมีหมู่บ้านมากน้อยต่างกันคือตำบลพรหมโลก มี 8 หมู่บ้าน ตำบลบ้านเกาะ มี 6 หมู่บ้าน และตำบลอินคีรี มี 12 หมู่บ้าน

.

รวมตำบล ตั้งกิ่งอำเภอ

ต่อมาใน พุทธศักราช 2517 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศให้ 3 ตำบลดังกล่าวเป็นกิ่งอำเภอ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2517 เรียกว่า “กิ่งอำเภอพรหมคีรี” สังกัดอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช มีที่ทำการชั่วคราวอยู่ที่วัดพรหมโลก โดยมี นายสมนึก ฉวีภักดิ์ เป็นปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งคนแรก

.

พุทธศักราช 2518 นายสมนึก ฉวีภักดิ์ ได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งใหม่ที่จังหวัดสิงห์บุรี และได้แต่งตั้งให้นายประกอบ ดุลย์ไพรี มาเป็นปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอคนต่อไป ครั้นในพ.ศ. 2519 นายประกอบ ดุลย์ไพรี ได้รับแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งใหม่ที่อำเภอหัวไทร และได้แต่งตั้งให้นายประภาส อ่อนจันทร์ มาดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอพรหมคีรี

.

ตั้ง “ตำบลทอนหงส์”

ใน พ.ศ. 2519 ทางกิ่งอำเภอได้ขอขยายเขตการปกครองเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งตำบล และได้รับอนุมัติให้ขยายเขตได้ในต้น พ.ศ. 2520 โดยแยกหมู่บ้านจากตำบลอินคีรีหมู่ที่ 7 8 9 10 11 และ 12 ไปตั้งเป็นตำบลใหม่เรียกว่า “ตำบลทอนหงส์” โดยรวมกับพื้นที่ของตำบลโมคลาน และตำบลหัวตะพาน บางส่วนเข้ามาด้วย และได้ขยายหมู่บ้านในเขตพื้นที่ตำบลพรหมโลกเพิ่มขึ้นอีกสองหมู่บ้าน คือหมู่ที่ 9 แยกจากหมู่ที่ 5 เดิม  และหมู่ที่ 10 แยกจากหมู่ที่ 6 เดิม ส่วนในตำบลบ้านเกาะก็แยกหมู่บ้านเพิ่มอีกสองหมู่บ้าน คือหมู่ที่ 7 แยกจากหมู่ที่ 3 เดิม และหมู่ที่ 8 แยกจากหมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 4 เดิม ในปีนี้ได้ย้ายที่ทำการกิ่ง มาอยู่ที่ทำการกิ่งอำเภอ ณ หมู่ที่ 9 ตำบลพรหมโลก ถนนสายนคร-นบพิตำ (ทางหลวงหมายเลข 4016)

.

ต่อมาใน พ.ศ. 2521 นายประภาส อ่อนจันทร์ ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคลมปัจจุบัน ทางราชการได้แต่งตั้งนายนฤชิต พรหมสุทธิ์ มาดำรงตำแหน่งแทน และใน พ.ศ. 2522 นายนฤชิต พรหมสุทธิ์ ได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งใหม่ ณ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช และทางราชการได้แต่งตั้งนายไชยยศ สุวรรณฤทธิ์ มาดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอพรหมคีรีต่อไป

.

สร้าง “ศาลาประชาคม” ด้วยเงิน “ประชาชน”

ในปีนั้น ได้แยกหมู่บ้านของตำบลบ้านเกาะเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งหมู่บ้าน โดยแยกจากหมู่ที่ 4 ตำบลบ้านเกาะ ไปตั้งใหม่อีกหนึ่งหมู่บ้าน เป็นหมู่ที่ 9 ตำบลบ้านเกาะ และในปลาย พ.ศ. 2522 คณะข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พ่อค้า ประชาชน โดยการนำของนายไชยยศ สุวรรณฤทธิ์ ได้จัดสร้างศาลาประชาคมขึ้นหลังหนึ่งราคาประมาณ 200,000 บาทเศษ และโรงรถหลังหนึ่งราคาประมาณ 20,000 บาท โดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการแต่อย่างใด และได้ย้ายที่ทำการสถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอพรหมคีรี มาอยู่รวมกัน ณ ที่ว่าการกิ่งอำเภอพรหมคีรี และใน พ.ศ. 2522 ระยะต้นปี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดงบประมาณให้ก่อสร้างสำนักงานเกษตรขึ้นหลังหนึ่ง โดยใช้เป็นสำนักงานเกษตรอำเภอโดยเฉพาะ

.

นายอำเภอคนแรก

พ.ศ. 2523 นายไชยยศ สุวรรณฤทธิ์ ได้รับการคัดเลือกให้เข้าเรียนในโรงเรียนนายอำเภอ ทางราชการได้แต่งตั้งให้นายเสวียง สุวรรณา เป็นผู้รักษาราชการแทน จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม 2524 ทางราชการได้แต่งตั้งให้นายถาวร บุญยะวันตัง มาเป็นปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอพรหมคีรีคนต่อไป และในเดือนกรกฎาคม 2524 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศยกฐานะกิ่งอำเภอพรหมคีรี เป็นอำเภอพรหมคีรี ตามพระราชกฤษฎีกา เล่ม 98 ตอนที่ 115 ให้ไว้ ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2524 และได้แต่งตั้งนายถาวรบุญวรรณตังค์รักษาการในตำแหน่งในอำเภอพรหมคีรีเป็นอันดับแรก

ประวัติศาสตร์ จากวรรณกรรมเมืองนครศรีธรรมราช

ประวัติศาสตร์
จากวรรณกรรมเมืองนครศรีธรรมราช

เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 2 เมษายน 2561 ได้มีโอกาสไปร่วมเสวนาว่าด้วยวรรณกรรมเมืองนครศรีธรรมราช ที่หอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช ถ้าจำไม่ผิดคงเป็นห้วงสัปดาห์อนุรักษ์มรดกไทย ในกำหนดการปลายเปิดไว้สำหรับการแสดงทัศนะของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ได้ร่างทัศนะประพันธ์เป็นร้อยกรองและร้อยแก้วแล้วขึ้นแลกเปลี่ยนด้วย ซึ่งยังหลวมๆ ไม่วิชาการ อาจดูทะเล่อทะล่าแสดงความเขลาตามประสาเด็กซนบ้างก็กราบขออภัย มีว่าดังนี้

                                              เดียวเดียวโดดเดี่ยวด้อย               ความเดียว

                                    สืบสายสาวความเหลียว                            จึ่งแจ้ง

                                    แดดบ่แค่แผดเกี้ยว                                  สว่างเคียง มานา

                                    ใคร่แดดฤาแดดแกล้ง                                ใคร่สว่าง สว่างมา

                                                ในหนึ่งมีที่สองมองให้ถ้วน             คลี่สำนวนพบเท็จจริงทิ้งปุจฉา

                                    ความสำคัญในบรรทัดคือวิสัชนา                ปริศนาใดด้อยค่อยคลี่คลาย

                                                เอาความงามได้งามตามที่ว่า          เอาภาษาได้กลเม็ดเด็ดดังหมาย

                                    เอาเนื้อความได้ตามหวังตั้งอภิปราย           เอาเกร็ดกรายประวัติศาสตร์มิพลาดเอย

นอกจากการศึกษาวรรณกรรมเพื่อสุนทรียรส คุณค่าสำคัญอย่างหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม คือแง่งามของเกร็ดประวัติศาสตร์ที่ทิ้งไว้ในแต่ละวรรค ปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากการค้นคว้าข้อมูลทางโบราณคดีจากหลักฐานชั้นต้นและหลักฐานชั้นรองต่างๆ โดยเฉพาะที่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้น ข้อมูลที่ได้จากงานวรรณกรรมร่วมสมัยหรือเกี่ยวข้อง กลับเป็นสารสนเทศที่สังเคราะห์คำตอบในมุมที่อาจจะค้นหาไม่ได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์อื่น

.

จังหวัดนครศรีธรรมราช มีวรรณกรรมที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญอยู่ทุกกระเบียดนิ้ว ครอบคลุมทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะทะเล ภูเขา ผืนป่า หรือทุ่งนา ทั้ง เขา ป่า นา เล ล้วนมีการบันทึกภาพจำในมิติของประวัติศาสตร์ไว้กับ เพลงกล่อมเด็ก ซึ่งบ้างเรียก “ร้องเรือ” หรือบ้างก็เรียก “ช้าน้อง”

.

ตัวอย่างสำคัญที่ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า “เพลงช้าน้อง” ให้คุณค่าในมิติทางประวัติศาสตร์ควบคู่ไปกับสุนทรียรสทางด้านภาษา เช่น

                                                ลูกสาวเหอ        ลูกสาวชาวปากพนัง

                                    เอวกลมนมตั้ง                 นั่งทำเคยแผ่น

                                    ปั้นให้กลมกลม               ข่มให้แบนแบน

                                    นั่งทำเคยแผ่น                ให้แบนเหมือนเหรียญเงิน

.

การใช้พรรณนาโวหาร อธิบายลักษณะของหญิงสาวชาวปากพนังในยุคหนึ่ง และกรรมวิธีการทำ “เคยแผ่น” ซึ่งหาเห็นได้ยากแล้วในปัจจุบัน ผนวกเข้ากับอุปมาโวหารในบาทสุดท้ายที่เปรียบความแบนของเคยแผ่น ไว้เท่ากับเหรียญเงิน ทำให้สามารถจินตนาการภาพลักษณ์ของมรดกทางวัฒนธรรมที่เกือบสูญหายไปแล้วนี้ได้ชัดเจนขึ้น ที่สำคัญคืออาจตีความได้ว่าในยุคที่มีการทำเคยแผ่นนั้นเป็นยุคเดียวกันกับที่มีการใช้เหรียญเงินในพื้นที่ปากพนัง ดังนั้น นอกจากฉันทลักษณ์ของเพลงช้าน้อง ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแล้ว เราแทบจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าวรรณกรรมท้องถิ่นประเภทนี้ให้คุณค่าในมิติประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างมหาศาลเช่นเดียวกัน

Workation ที่ไหนดี @นครศรีธรรมราช

วันนี้จะพามาดูสถานที่ที่เหมาะกับการนั่งทำงานและพักผ่อนสบายๆ สไตล์คนชิลล์ @นครศรีธรรมราช มีสถานที่ให้ Workation มากมาย แต่บทความนี้จะคัดสถานที่สุดชิลล์ ที่เหมาะสมกับการนั่งทำงานและนั่งพักผ่อนหย่อนใจนั่งทำงานมองทัศนียภาพรอบๆฟังเสียงธรรมชาติให้ร่างกายและจิตใจได้ชาร์จแบตอย่างเต็มที่ ไอเดียงานลื่นไหล

Workation ที่ไหนดี @นครศรีธรรมราช แนะนำ 7 สถานที่สุดชิล

1.หมู่บ้านคีรีวง

เครีดิตรูปภาพ https://www.sanook.com/travel/1400081/

เป็นหมู่บ้านที่ขึ้นชื่อว่าอากาศดีที่สุดในประเทศไทย เป็นชุมชนต้นแบบในการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มีวิถีชีวิตที่สงบอยู่กับธรรมชาติ หมู่บ้านคีรีวงตั้งอยู่ท่ามกลางเทือกเขา ป่าไม้และสายน้ำ ทำให้สามารถนั่งทำงานในโฮมสเตย์ โดยที่สูดอากาศบริสุทธิ์ได้อย่างเต็มปอด มองต้นไม้และท้องฟ้าได้อย่างเต็มตา ฟังเสียงนกและเสียงน้ำได้อย่างเต็มหู หากอยากจะชมรอบๆหมู่บ้านก็สามารถเช่าจักรยานภายในหมู่บ้านปั่นชมได้ ในหมู่บ้านมีร้านขายของฝาก ของที่ระลึก ส่วนใหญ่จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ชาวบ้านผลิตเอง รวมถึงผลไม้ในตลาดก็เป็นผลไม้จากสวนที่ชาวบ้านปลูกเองด้วยเช่นกัน ในช่วงฤดูหน้าผลไม้ ที่ตลาดจะมีทั้งผลไม้สดและผลไม้แปรรูปให้เลือกช้อปปิ้งมากมาย จะเลือกซื้อไปทานหรือจะนำกลับไปเป็นของฝากให้คนที่บ้านก็ดีทั้งนั้น หมู่บ้านคีรีวง ตั้งอยู่ที่ตำบลกำโลน อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดให้บริการทุกวัน

2.หาดสิชล

เครดิตรูปภาพ https://www.ryoiireview.com/article/cafe-khanom-sichon/

เป็นหาดทรายสีขาว น้ำทะเลใสๆ หาดโค้งมีทิวทัศน์สวยงาม มีคาเฟ่ให้นั่งชิลล์ริมหาด นั่งทำงานเพลินๆ มองทะเลที่กว้างไกลสุดลูกหูลูกตา เปิดเพลงคลอเบาๆ ก็ช่วยเสริมสร้างบรรยากาศการ Workation ได้ดีมากๆเลยทีเดียว หาดสิชล ตั้งอยู่ที่ตำบลสิชล อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00 – 18.00 น.

3.ปากพนัง

เครดิตรูปภาพ https://thailandtourismdirectory.go.th/th/attraction/21171

อีก 1 สถานที่เหมาะแก่การ Workation  ปากพนังเมืองท่าที่เป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญและเฟื่องฟูในอดีต เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศเป็นแหลมยื่นออกไปในทะเล พักผ่อนล่องเรือชมโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ชมโรงสีเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ทั้ง 2 ข้างปากแม่น้ำปากพนัง ที่นี่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวมคอนโดนกนางแอ่นอีกด้วย ทำงานเหนื่อยๆ แวะเดินตลาด 100 ปีเมืองปากพนัง ดื่มด่ำกับวิถีความเป็นอยู่ อาคารบ้านเรือนยุคโบราณ วันอาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ มีตลาดย้อนยุคให้เดิน ดู ดม ชม ชิม อาหารอร่อย บรรยากาศพื้นบ้านมีดนตรีไพเราะเล่นให้ฟังสร้างความสุนทรีผ่อนคลายได้แน่นอน

4.เขาศูนย์

เครดิตรูปภาพ https://www.facebook.com/Nakhonholiday/photos/pcb.7241417082566632/7241415039233503/

เป็นภูเขาที่มีจุดชมวิวที่สามารถชมวิวได้รอบทุกทิศ360 องศา สามารถชมทะเลหมอกกระทบกับแสงอาทิตย์ ท่ามกลางอากาศเย็นๆตลอดทั้งปี ดื่มเครื่องดื่มที่ชอบสักแก้วขณะทำงาน ดื่มดำบรรยากาศที่สบายตา สบายกาย สบายใจ เขาศูนย์ ตั้งอยู่ที่ตำบลไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00 – 18.00 น.

5.เนินเทวดา – เนินนางฟ้า

เครดิตรูปภาพ https://thailandtourismdirectory.go.th/th/attraction/21516

เป็นจุดชมวิวทะเลสีฟ้าคราม ที่รายล้อมด้วยต้นไม้และทิวเขาแบบกว้างไกล มีซุ้มไม้ไผ่ให้นั่งทำงานตากลมชมวิวทิวทัศนียภาพแบบชิลล์ๆ เนินเทวดา – เนินนางฟ้า ตั้งอยู่ที่ตำบลขนอม อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00 – 18.00 น.

6.เขาเหมน หรือ เขาพระสุเมรุ

เครดิตรูปภาพ https://thailandtourismdirectory.go.th/th/attraction/1858

เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง อากาศหนาวเย็น ลมพัดแรงและมีเมฆปกคลุมเกือบทั้งปี จุดชมทิวทัศน์สามารถมองเห็นวิวโดยรอบ นั่งทำงานพร้อมกับนั่งดูพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกท่ามกลางอากาศเย็นๆ เพลินๆชิลล์ๆ ตลอดทั้งวัน เขาเหมน หรือ เขาพระสุเมรุ ตั้งอยู่ที่ตำบลช้างกลาง อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00 – 21.00 น.

7.อ่างเก็บน้ำกะทูน

เครดิตรูปภาพ https://wellnessnakhon.sct.ac.th/th/?c=todo&a=8&sc=l4&lf=ta&m=topic

ถูกขนานนามว่าเป็นสวิตเซอร์แลนด์แดนใต้ เป็นหนึ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทานสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยพื้นที่น้ำในอ่างเหนือเขื่อนใช้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีซากหมู่บ้านที่เคยเกิดอุทกภัย โผล่พ้นน้ำขึ้นมาให้เห็นยอดชัดเจน สามารถไปนั่งทำงานชิลล์ๆ ที่ริมน้ำได้ มีร้านกาแฟที่สามารถนั่งมองวิวทิวทัศน์กว้างขวางไกลสุดตา 360 องศาของอ่างเก็บน้ำกะทูนท่ามกลางอากาศเย็นสบาย ชมพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า แสงตกกระทบผิวน้ำสวยงามมาก ดีต่อตา ดีต่อใจสุดๆ

สถานที่สุดชิลล์ workation@นครศรีธรรมราช คัดมาให้เน้นๆ กับสถานที่ที่เหมาะสมกับการนั่งทำงานและนั่งพักผ่อนหย่อนใจ ฟังเสียงใบไม้พริ้วไหว ฟังเสียงนก ฟังเสียงน้ำ มองวิวทิวทัศนียภาพอย่างสบายตา ชาร์จพลังให้ร่างกายและสมองอย่างเต็มเปี่ยม รับรองเลยว่าหากมาแล้วจะมีความสุขมากๆ แฮปปี้กับการ workation แบบสุดๆ จนอยากจะมาซ้ำๆ อีกแน่นอน

ยังมีอีกหลายสถานที่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่เหมาะแก่การมา Workation มาเปลี่ยนบรรยายกาศที่ทำงานกันที่นครศรีธรรมราช พวกเราชาวนคร ยินดีต้อนรับ อาคันตุกะ นักท่องเที่ยวตลอดเวลา

7 เหตุผลควรมา Workation @ นครศรีธรรมราช

เหตุผลที่ควรมา Workation @ นครศรีธรรมราช ทำงานไปด้วย พักผ่อนไปด้วยที่นครศรีธรรมราช ได้ทั้งงาน ได้ทั้งความสุข ได้ทั้งสุขภาพ จบครบที่เดียว หากจะเลือก Workation สักที่ @นครศรีธรรมราช ก็เป็นหนึ่งจังหวัดที่เราแนะนำ เพราะอะไรไปดูกันเลย

1.อากาศดีมาก จังหวัดที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งโอโซนที่ดีที่สุดในประเทศ

มีธรรมชาติโอบล้อมทั่วทั้งจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นจังหวัดที่มีครบทั้ง ภูเขา,ทะเล,น้ำตก,ถ้ำ,อ่าว,เกาะ,ป่าไม้ (เป็นเมืองแห่งโอโซน!!) ได้มองน้ำ ดูต้นไม้ สูดอากาศบริสุทธิ์ ตลอดการ Workation การที่ได้ทำงานโดยที่ได้สูดอากาศบริสุทธิ์ นอกจากจะสดชื่น สบายปอดและสบายตาแล้ว ยังส่งผลให้ คิดงานได้อย่างลื่นไหล ไอเดียพุ่งกระฉูดอีกด้วย  เพราะสมองไม่เครียด สมองปลอดโปร่งโล่งสบาย ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆก็วิ่งเข้ามา  ทำให้งานมีไอเดียใหม่ๆเพิ่มเข้าไปด้วย อัพเกรดงานให้ดีขึ้นไปอีก

2. เดินทางสะดวก รถรา เครื่องบิน มีให้เลือกไปไหนมาไหนสะดวก

มีรถโดยสารทั้งในและนอกจังหวัด  ภายในจังหวัดมีสถานีขนส่ง เดินทางไปรอบๆเมืองไปอำเภอใกล้เคียง ไปจังหวัดใกล้เคียง มีรถให้เลือกเดินทางหลากหลายรูปแบบ เช่น รถตู้,รถเมล์,รถสองแถว,รถไฟ และยังมีท่าอากาศยาน สำหรับเดินทาง ทางเครื่องบิน อีกด้วย  มีให้เลือกเดินทาง 5 สายการบินด้วยกัน  นั่นคือ สายการบินไทยสมายล์,นกแอร์,ไทยเวียดเจ็ทแอร์  ไทยแอร์เอเชียและไทยไลอ้อนแอร์  เลือกได้เลย ว่าอยากเดินทางในรูปแบบไหน  เลือกแบบที่คุณแฮปปี้ได้เลย

3. พื้นที่กว้างขวาง ไม่แออัด สามารถนั่งทำงานและพักผ่อนได้อย่างเต็มที่

ทำงานได้สบายใจ ไม่รู้สึกอึดอัด  เพราะพื้นที่ของจังหวัดนี้นั้น กว้างใหญ่มาก และพื้นที่ธรรมชาติเยอะมาก นั่งทำงานตรงไหนก็ไม่รู้สึกอึดอัด เพราะปลอดโปร่งสุดๆไปเลย  นั่งจิบเครื่องดื่มชิวๆ ไปพร้อมกับการทำงาน ฟินสุดๆ งานก็เดิน ชีวิตกได้ผ่อนคลาย สบายใจ สบายกาย ได้ตังก์ชิลๆ

4. มีความสงบมาก  เหมาะกับการพักผ่อน และหนีความวุ่นวายมาเสริมบุญ

นอกจากธรรมชาติจะเยอะแล้ว ยังมีวัดวาอารามให้เข้าไปทำบุญ ทำทานอีกหลายแห่ง ยกตัวอย่างเช่น

วัดดังของจังหวัดนครศรีธรรมราชตอนนี้ก็คือ “วัดพระมหาธาตุวรวิหาร” เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดนครศรีธรรมราช ภายในพระบรมธาตุเจดีย์ บรรจุพระสารีริกธาตุ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและยังเป็นต้นกำเนิดของ  “องค์จตุคามรามเทพ”ที่ตามจารึกของชาวศรีวิชัยได้บอกว่า “มีอานุภาพดุจดังพระอาทิตย์และพระจันทร์ ที่ขจัดความมืดมัวในโลก”

วัดที่สองก็คือ “วัดเจดีย์” วัดไอไข่นั่นเอง  เป็นวัดที่คนหลั่งไหล  เข้ามาขอพร ขอโชค ขอลาภกันไม่ขาดสาย จากกระแสที่หลั่งไหลไปทั่วทุกทิศทุกทางทั่วประเทศ ในเรื่องของการให้โชคให้ลาภ ค้าขาย กิจการงานต่างๆ  นอกจากได้พักผ่อนแล้ว ยังเสริมความเฮงไปในตัวเลย

วัดที่สามก็คือ “วัดธาตุน้อย”เป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์พระสารีริกธาตุและพระสรีระสังขารของพ่อท่านคล้าย (พระครูพิศิษฐ์อรรถการ) ผู้ก่อตั้งวัดแห่งนี้ ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ ที่ชาวใต้เลื่อมใสศรัทธาอย่างสูงยิ่ง พ่อท่านคล้ายได้ชื่อว่าเป็น เทวดาแห่งเมืองคอน เทพเจ้าแห่งแดนใต้ ท่านมีวาจาที่ศักดิ์สิทธิ์

พูดอย่างไรได้อย่างนั้น ท่านจึงมักจะให้พรกับทุกคน “ขอให้ เป็นสุข เป็นสุข” ซึ่งปัจจุบันพระสรีระสังขารของพ่อท่านคล้าย บรรจุอยู่ในโลงแก้ว และว่ากันว่าพระสรีระสังขารของท่าน แข็งเป็นหิน จึงทำให้เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างมาก

5. มีกิจกรรมสนุกๆ ให้ทำแก้เบื่อ ผ่อนคลายหลังทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อย

ในจังหวัดนครศรีธรรมราช มีกิจกรรมสนุกๆให้ทำแก้เบื่ออยู่มากมาย หากว่าคุณอยากยืดเส้นยืดสาย ออกมาจากความสงบชั่วคราว หาอะไรทำสนุกๆแก้เบื่อ มีหลายกิจกรรมน่าสนใจ อาทิ  หยิบหมอก หยอกเมฆที่เขาศูนย์, เดินป่าดูธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์, เล่นน้ำตกเย็นๆ คลายร้อน,เดินเล่นชายหาดริมทะเล นั่งเรือดูโลมาสีชมพู ,ชมพิพิธภัณฑ์ของดีเมืองนครฯ ยังมีกิจกรรมให้เลือกดู ดม ชม อีกมากมาย ชอบกิจกรรมแบบไหน เรียกว่าครบรส ได้ใจทุกเพศ ทุกวัยในทริปเดียว

6. มีวัฒนธรรมและอารยธรรมที่หลากหลาย

นอกจากได้ทำงานและพักผ่อนอย่างเต็มที่แล้ว ยังได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ จากวัฒนธรรมและอารยธรรมของแต่ละชุมชน การละเล่น ประเพณี เช่น มโนราห์ หนังตะลุง  อาจได้อะไรใหม่ๆในชีวิตให้มีสีสันเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีอาหาร  เครื่องแต่งกาย  ของขึ้นชื่อในนครศรีธรรมราช ยกตัวอย่างเช่น ผ้าทอลายดอกกระจูด,ภาพมิตินูนสูงจากรกมะพร้าว,มังคุดคัด ,ปลาใส่อวน,ขนมลา ฯลฯ ให้ได้ลองชิม ลองใช้ ลองสัมผัส รับรองว่าท่านจะหลงรักเมืองนครฯ

7.ร้านคาเฟ่ให้นั่งทำงาน จิบกาแฟเลิศรส โกโก้ขึ้นชื่อ ทั่วจังหวัด

นครศรีธรรมราช เป็นเมืองที่ได้ขึ้นชื่อว่ามีโกโก้พันธุ์ดีที่นำมาทำเป็นช็อคโกแลตจากอำเภอท่าศาลา รวมทั้งกาแฟที่ปลูกจากแหล่งต้นน้ำที่ดีที่สุดนั่นคืออำเภอพิปูน มีร้านกาแฟนั่งสบายๆ ชิลๆ มีมุมให้นั่งทำงาน พร้อมชมวิว จิบกาแฟหอมๆ ดื่มโกโก้ร้อน ๆ คิดแล้วก็ฟิน เลยทีเดียว มีร้านกาแฟ ร้านคาเฟ่ หลากสไตล์ให้เลือกนั่ง เลือกชิล ทั่วจังหวัด ทำให้เมืองนครได้รับขนานนามว่าเป็นเมืองแห่งคาเฟ่ ก็ว่าได้

เพียง 7 เหตุผลนี้ ก็ทำให้อยากไป Workation @ นครศรีธรรมราชทันทีเลยใช่ไหม  แนะนำให้ไปเลยเรียกว่าเป็นอีกจังหวัดที่ครบเครื่องและมั่นใจได้เลยว่า ต้องประทับใจจนได้กลับไปอีกเป็นครั้งต่อๆไป อีกแน่นอน

คุณ ทานตะวัน​  เขียวน้ำชุม ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ สร้างจิตสำนึกอนุรักษ์

การพาตนเองกลับไปสู่ธรรมชาติ นอกจากเป็นวิธีที่ช่วยเยียวยาจิตใจได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังเป็นการย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์เราเดินทางมาไกลแค่ไหน วิถีชีวิตของเราต้องพึ่งพาธรรมชาติมากน้อยเพียงใด การอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติที่เหลือน้อยลงทุกทีจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรตระหนัก อย่างที่คนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ได้พยายามถ่ายทอดความรู้แก่เด็กรุ่นใหม่ให้เห็นถึงความสำคัญของผืนป่า ผ่านรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ สร้างจิตสำนึกอนุรักษ์ คุณ ทานตะวัน​  เขียวน้ำชุม ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทาร์ซาน แอดเวนเจอร์ ทัวร์ จำกัด (เดินป่าหลังคาแดนใต้ Tarzan Adventure Team)

จากวิถีชีวิตชาวเมือง มุ่งหน้าสู่วิถีชีวิตธรรมชาติ

คุณทานตะวัน หรือครูแจง พื้นเพเดิมเป็นคนกรุงเทพมหานคร ชื่นชอบการทำกิจกรรมและการท่องเที่ยวตั้งแต่เด็ก สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านการจัดการโรงแรม เพราะคิดว่าตรงกับคาแร็กเตอร์ของตนเองขณะที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2 มีโอกาสได้ฝึกงานที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ควบคู่กับการทำงานพาร์ทไทม์ตามโรงแรม หลังจากเรียนจบได้ทำงานเป็น Event coordinator  ทำหน้าที่บริหารพื้นที่ในการจัดงานที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จนวันหนึ่งได้ไปเห็นโฆษณาที่ฉากหลังเป็นป่าเขา ทำให้คุณทานตะวันรู้ได้ในทันทีว่านี่คือ ตัวตนของตนเอง จึงตัดสินใจลาออกจากงาน เพื่อเดินทางสู่เส้นทางธรรมชาติ

คุณทานตะวันเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครกับทางชมรมนักนิยมธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มผู้รักธรรมชาติ นอกจากงานพื้นฐานในการให้ความรู้เรื่องธรรมชาติแก่คนทั่วไปแล้ว ทางชมรมมีการจัดกิจกรรมภาคสนามค่ายสำหรับเด็กและเยาวชนเพื่อเรียนรู้การดำรงชีพในป่า ซึ่งต้องผ่านการฝึกอบรม เรียนรู้ตั้งแต่ความรู้ขั้นพื้นฐาน องค์ประกอบต่างๆ ในธรรมชาติ การสื่อความหมายของธรรมชาติ จิตวิทยาเด็ก การตั้งแคมป์ ฯ  การฝึกอบรมทั้งหมดนี้ผู้ที่เป็นอาสาสมัครต่างสละเวลา แรงกาย แรงใจ และกำลังทรัพย์ เพื่อพัฒนาตนเองให้เป็นพี่เลี้ยงที่มีประสิทธิภาพ คอยให้ความช่วยเหลือแก่เยาวชนได้

การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ กับการสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์

คุณทานตะวัน เล่าว่า สำหรับตัวเองนั้นการทำค่ายครั้งแรกเป็นอะไรที่ยากมาก แม้จะได้รับการตอบรับที่ดีจากเยาวชน แต่ส่วนตัวคิดว่าต้องพัฒนาให้มากกว่านี้อีก จึงเดินป่าไปเรื่อยๆ และหาข้อมูลจากเว็บไซต์เพื่อการเดินป่าเพื่อเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ จนไปเจอกับภาพอุทยานแห่งชาติเขาหลวงแล้วเกิดความชื่นชอบอย่างมาก แม้ภาพที่เห็นนั้นดูสวยงามเพียงใด แต่คุณทานตะวันยังไม่กล้าที่จะเดินทางไป จนเมื่อโอกาสมาถึงและได้เดินป่าตามที่ตั้งใจกลับพบว่าเส้นทางยากกว่าที่คาดไว้ แม้การเดินทางในครั้งนั้นจะลำบาก แต่ก็พบว่าสภาพป่ายังคงสมบูรณ์ และมีความหลากหลายทางชีวภาพ หลังจากนั้นคุณทานตะวันตัดสินใจที่จะหลงหลักปักฐานอยู่ที่นครศรีธรรมราช เมื่อปักหมุดเส้นทางชีวิตมุ่งไปที่การเดินป่า คุณทานตะวันจึงใช้ประสบการณ์และทรัพยากรที่มีมาคิดวิเคราะห์ว่าจะทำอย่างไรให้คนอื่นที่อยากเดินป่า อยากสัมผัสใกล้ชิดธรรมชาติ แต่ไม่มีประสบการณ์ ไม่รู้ว่าต้องทำยังไง สามารถเดินป่าได้ อย่างการเตรียมตัวสำหรับมือใหม่ จำเป็นจะต้องเตรียมความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ อุปกรณ์ที่ใช้ต้องเหมาะสมกับการเดินป่า เช่น รองเท้า เป้ใส่สัมภาระ

จนเมื่อคุณทานตะวันมีลูก ก็อยากให้ลูกเข้าใจวิถีธรรมชาติ จึงเริ่มจัดกิจกรรมเดินป่าสำหรับเด็ก เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้แก่เด็กๆ โดยชักชวนเพื่อนๆ ของลูกมาเข้าร่วมกิจกรรม ให้เด็กๆ ได้มีโอกาสใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติ ตลอดระยะเวลา 8 ปี ในการดำเนินกิจกรรม กว่า 35 รุ่นที่เข้าร่วมโครงการ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีตั้งแต่เด็กปฐมวัยไปจนถึงผู้สูงอายุ กิจกรรมมีการไต่ระดับจากการเดินป่าเป็นการเดินขึ้นเขา คุณทานตะวัน เล่าว่า พวกเด็กๆ มีพลังอย่างล้นเหลือ แม้จะงอแงบ้างแต่ก็ยังคงก้าวเดินต่อไปเพื่อไปสู่จุดหมาย นอกจากเกิดความภูมิใจในตัวเองที่ทำได้สำเร็จแล้ว การเดินป่ายังเป็นฝึกทักษะในการจัดการอารมณ์ของตัวเองเช่นกัน เป็นการฝึกสติ สมาธิ ให้จดจ่ออยู่กับปัจจุบัน อยู่กับทุกย่างก้าว เป็นการทำสมาธิแบบเคลื่อนไหว กิจกรรมนี้จึงเหมาะกับเด็กๆ มากนอกจากนี้ยังมีกิจกรรมวิทยาศาสตร์โดยใช้ธรรมชาติสอน จัดที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครศรีธรรมราช  อำเภอพรหมคีรี

ท่องเที่ยวสีเขียว ภายใต้ BCG Model

การเดินป่า เป็นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เน้นเที่ยวแบบพอดี ไม่ใช่การบุกรุก เข้าป่าเพื่อเรียนรู้ ทำความเข้าใจ ซึ่งการท่องเที่ยวในรูปแบบ BCG Model  เป็นเรื่องที่คุณทานตะวันให้ความสำคัญ เป็นการรับผิดชอบของธุรกิจที่มีต่อสิ่งแวดล้อม โมเดลนี้เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ( Bioeconomy)  มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และระบบเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มุ่งแก้ไขปัญหามลพิษ เพื่อลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน ในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวชุมชน ผู้ประกอบการต่างเริ่มตื่นตัวและปรับตัวโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน พยายามหลีกเลี่ยงอะไรก็ตามที่เป็นการทำลายทรัพยากรทางธรรมชาติ อย่างเรื่องขยะเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก แต่สามารถเริ่มต้นจากตัวเราเองได้ ลดการใช้ ใช้ซ้ำ ทิ้งให้ถูกวิธี และกำจัดอย่างเหมาะสม

ปัญหาสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตบนโลกอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทรัพยากรทางธรรมชาติที่ลดลง เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ สภาพอากาศที่แปรปรวน ตลอดจนปัญหาอื่นๆ ที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็วที่สุด แน่นอนว่าต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน หากไม่สามารถชดเชยในสิ่งที่เสียไปได้ อย่างน้อยก็อย่าทำลาย เพื่อส่งต่อความอุดมสมบูรณ์ ความงามของธรรมชาติไปสู่คนรุ่นต่อไป รวมถึงสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นบนโลกใบนี้

ชมคลิป VDO สัมภาษณ์

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ

 

ประกาศมหาสงกรานต์: ๒๑๐ ปี ท้องตราถึงพระยาศรีธรรมโศกราช

ประกาศมหาสงกรานต์:
๒๑๐ ปี ท้องตราถึงพระยาศรีธรรมโศกราช

ไม่มีวัฒนธรรมใดในโลกเกิดขึ้นอย่างโดดเดี่ยวปราศจากความเกี่ยวพันกับวัฒนธรรมอื่น เช่นเดียวกับ การถือกำเนิดโดยไร้หลักคิด คติ คุณค่าและความหมายแก่ผู้คน ก็ยอมรับว่าสิ่งนั้นเป็นวัฒนธรรมได้ยาก เพราะวัฒนธรรมเป็นเรื่องของคน คนจึงทำหน้าที่ตัดสินใจว่า วัฒนธรรมใดควรสืบทอดคงรูปอยู่ต่อ หรือยินยอมให้เลื่อนไหลพลวัตไปตามเหตุ ตามปัจจัย หมายความว่า บรรดาวัฒนธรรมที่ยังคงอยู่ในปัจจุบัน ล้วนเป็นผลจากการเลือกแล้วของผู้คนในอดีต ความยากง่ายของการศึกษาเรื่องวัฒนธรรม จึงอยู่ที่ ร่องรอยของหลักคิด คติ คุณค่าและความหมายแก่ผู้คนเหล่านั้น จะปรากฏเหลืออยู่ให้สืบความสักกี่มากน้อย

.

กัลยาณมิตรใน Facebook หลายท่าน แชร์และให้ความเห็นกรณีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ของเมืองนครศรีธรรมราชเปรียบเทียบกับเมืองอื่น ๆ ทำนองว่า สามารถเติมคุณค่าและขับเน้นความสำคัญของการมีพระพุทธสิหิงค์องค์สำคัญของท้องถิ่นและไทยได้อีก ในขณะที่การจัดสงกรานต์หลายแห่ง มีการแทงหยวกทำเบญจา รำโนราโรงดิน เหล่านี้คล้ายกับว่า วิถีอยู่-กินของชาวนครศรีธรรมราชและชาวใต้ ซึ่งเคยถูกทบทวนและเริ่มอนุรักษ์ผ่านงานสงกรานต์แต่แรกที่วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหารเมื่อสามสี่ปีก่อนต่อกันนั้น อาจเป็นเชื้อไฟส่องให้เห็นทางที่เราเคยผ่านมา จุดที่กำลังยืนร่วมกัน และอนาคตของมรดกทางวัฒนธรรมได้ดี ส่วนการเลือกทางเหล่านั้น ก็สุดแต่บริบทจะเอื้อ

.

เคยเขียนเรื่อง “บุญเดือนห้า เมืองนครศรีธรรมราช” เผยแพร่ไว้ในสารนครศรีธรรมราชความยาว ๕๐ หน้ากระดาษ A๔ ท้ายบทความนั้นคัดเอาจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๒ ส่วนที่เป็นท้องตราจากเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดีถึงพระยาศรีธรรมโศกราช ว่าด้วยการประกาศสงกรานต์ลงไว้ หยิบมาลงไว้อีกทีเพื่อจะได้เห็นได้ชวนกันพิจารณาในวงที่กว้างขึ้น แม้ว่าเป็นลักษณะของการสั่งการมาจากส่วนกลางถึงท้องที่ แต่ก็พอเห็นบทบาทของทั้งสองแห่งต่อสงกรานต์และภาพของมหาสงกรานต์ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ได้ดี (ทั้ง ๔ ฉบับคัดสำเนามาจากหอสมุดแห่งชาติ)

.

โครงของทั้งสี่ฉบับคล้ายกันต่างกันที่รายละเอียด คือตอนต้นระบุสถานะของหนังสือว่ามีมาจากใครถึงใคร “พระยาศรีธรรมโศกราช ชาติเดโชไชย มหัยสุริยาธิบดี อภัยพิริยะปรากรมพาหุ พระยานครศรีธรรมราช” เมื่อพุทธศักราช ๒๓๕๕ ได้แก่ “เจ้าพระยานครน้อย” ซึ่งถือเป็นสงกรานต์แรกในฐานะเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ถัดนั้นแจ้งฎีกามหาสงกรานต์ของพระโหราธิบดี ความเรียงไปตั้งแต่เวลาที่พระอาทิตย์ย้ายราศี นางสงกรานต์และกระบวนแห่พระเศียรท้าวกบิลมหาพรหม พิธีทักษิณาทาน ประกาศวันมหาสงกรานต์ วันเนา วันเฉลิงศกหรือพระยาวัน ทำนายข้าว นา ธัญญา-พลา-มังสาหาร และพิธีสรงพระมุรธาภิเษกในพระราชพิธีเผด็จศก ส่วนตอนท้ายเป็นความสั่งให้เผดียงแก่พระสงฆ์และราษฎร

.

จดหมายเหตุ รัชกาลที่ ๒
ชื่อ เรื่องท้องตราเจ้าพระยาอัครมหาเสนาถึงพระยาศรีธรรมโศกราช ประกาศมหาสงกรานต์
ปีวอก จัตวาศก จ.ศ. ๑๑๗๔ ฉบับ ณ วันเสาร์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ ปีวอกจัตวาศก
เลขที่ ๑๙ ประวัติ ได้มาจากกระทรวงมหาดไทย

หนังสือ เจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดี อภัยพิริยะปรากรมพาหุ สมุหพระกลาโหม มาถึงพระยาศรีธรรมโศกราช ชาติเดโชไชย มหัยสุริยาธิบดี อภัยพิริยะปรากรมพาหุ พระยานครศรีธรรมราช ด้วยทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า พระโหราธิบดีมีชื่อ ทำฎีกามหาสงกรานต์ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ศุภมัสดุ วรพุทธศาสนาสองพันสามร้อยห้าสิบห้าพระวัสสา กาลกำหนดเจตมาส สุกรปักข์ เอการัสมี ดิถีระวีวาร ตัสสทิวากาล เพลาเช้าย่ำรุ่งแล้วสองโมง บรมเทพทินกรเสด็จจากมีนราศีประเวศสู่เมษราศีทางโคณวิถีใกล้พระเมรุราช ขณะนั้นมีนางเทพดาองค์หนึ่ง ทรงนามชื่อว่าทุงษมหาสงกรานต์ มาแต่จาตุมหาราชิกา กระทำกฤษฎาพิมล ทรงพาหุรัดทัดดอกทับทิม ทรงเครื่องอาภรอันแล้วด้วยแก้วปัทมราช พระหัตถ์ขวาทรงสังข์ พระหัตถ์ซ้ายทรงจักร ภักษาหารผลอุทุมพร เสด็จโคจรยืนไปเหนือหลังครุฑหาหนะ เป็นมรรคนายกนำอมรคณะเทพดาแสนโกฏิ ประชุมชวนกันมารับพระเศียรท้าวกบิลมหาพรหม อันใส่พานทองประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธุลีที่เขาไกรลาสแดนพิมพานต์ประเทศ ขณะนั้นเทพยดาทำคารวะดุษฎี ชำระสุคนธวิเลปนะบูชายาควิธีอันควรด้วยดีตามวิสัยจารีตบุราณ แล้วก็แห่ทักษิณาวรรตเขาพระเมรุราชคำรบหกสิบนาที แล้วก็เชิญเข้าไปไว้ในถ้ำคันธุมาลีดังเก่า จึงเทพยุดาเจ้านำมาซึ่งลดาวัลย์อันชื่อชมนาด ใส่สุวรรณภาชน์ทอง เอาไปล้างน้ำในอโนดาตสระเจ็ดแถว เถาชุมนาดก็ละลายออกไปดังน้ำมันเนย แล้วพระเวษณุกรรมเทวบุตรจึงเนรมิตโรงอันหนึ่งชื่อภัควดี ให้หมู่เทพนิกรอัปษรกัญญาเข้านิสีทนาการพรั่งพร้อมกัน จึงสมาทานรักษาศีล เอาน้ำชมนาดเป็นทักษิณาทานแจกกันสังเวยทุกๆ พระองค์ ก็ชวนกันชื่นชมโสมนัส เดชกุศลได้กระทำนั้นก็บรรเทาโทษแห่งมหาสงกรานต์ให้อันตรธานสูญไป ความจำเริญฑีฆายุศม์สิริสมบัติก็มีแก่เทพยุดาทั้งปวง รวิวารเป็นวันมหาสงกรานต์ จันทวารเป็นวันเนา ภุมวารเป็นวันเฉลิงศก หรือพระยาวัน ครั้น ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เพลาบ่าย ๔ โมง สิ้นกปิถสังวัจฉระ เป็นกุกกุฏสังวัจฉระจุลศักราชขึ้นเป็น ๑๑๗๕ ปีระกานักษัตรเบญจศก เนาวันหนึ่งเป็นสงกรานต์ ๓ วัน ผลทำนายพสุสังกรานต์ อจีนตะสังกรานต์ สามัญสังกรานต์เป็นสามประการ อธิบายเป็นสามัญโลกทั่วทุกประเทศในสกลชมพูทวีป เกณฑ์พิรุณศาสตร์ พระจันทร์เป็นอธิบดี นาคราช ๔ ตัว บันดาลให้ฝน ๕๐๐ ห่า อุบัติดลยังเขาจักรวาล ๒๐๐ ห่า อรญิกาปิพิมพานต์ ๑๕๐ ห่า มหาสมุทร ๑๐๐ ห่า มนุษย์โลก ๕๐ ห่า ฝนต้นมือมัธยม กลางมือปลายมืออุดม เกณฑ์ธาราธิคุณลง ณ ราศมีนอโปธาตุ น้ำงามกว่าปีหลังศอกหนึ่ง นาลุ่มดี นาดอนทราม พอดีเหณฑ์ธัญญาหาร ออกเศษศูนย์ ชิวราภรณ์ข้าวกล้าในภูมินาได้ผล ๑๐ ส่วน เสียส่วนหนึ่ง ธัญญาหาร พลาหาร มังสาหารอุดม

.

ครั้น ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ๓ โมง ๖ บาท เสร็จการพระราชพิธีเผด็จศก พนักงานชาวเครื่องต้นจะได้ตั้งเครื่องพระมุรธาภิเษก ชีพ่อพราหมณ์จะได้ถวายน้ำกลดน้ำสังข์ ขอเชิญพระบาทสมเด็จบรมนาถบรมบพิตร พระพุทธิเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้าที่สรงสนานทรงเครื่องพระมุรธาภิเษกตามราชประเพณี สมเด็จบรมกษัตริย์สืบๆ มา เพื่อทรงพระจำเริญพระราชสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล เมทนีดลศัตรูกระษัย แลให้เผดียงพระสงฆ์ราชาคณะเจ้าอธิการและราษฎรให้รู้จงทั่วตามรับสั่ง ครั้นหนังสือมาถึงวันใดก็ให้กระทำตามจงทุกประการ

.

หนังสือมา ณ วันเสาร์แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ จุลศักราช ๑๑๗๔ ปีวอก จัตวาศก
วันพุธ เดือน ๕ ปีระกาเบญจศก หลวงเทพรามรฏก ขุนอักษรขาน ถือมาด้วยเรื่องมหาสงกรานต์

เทิม คัด / ศักดา พิมพ์ / อรรัตน์ ทาน ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓

.

จดหมายเหตุ รัชกาลที่ ๒
ชื่อ ท้องตราถึงพระยาศรีธรรมโศกราช เรื่องประกาศสงกรานต์ ปีจอ จ.ศ.๑๑๗๖ เลขที่ ๑
ประวัติ ได้มาจากกระทรวงมหาดไทย พ.ศ.๒๔๕๘

หนังสือเจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดีอภัยพิริยปรากรมพาหุ สมุหพระกลาโหม มาถึงเจ้าพระยาศรีธรรมโศกราชชาติเดโชชัยมหัยสุริยาธิบดีอภัยพิริยปรากรมพาหุพระยานครศรีธรรมราช ด้วยทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า พระโหราธิบดีโหรมีชื่อพร้อมกันทำดิถีมหาสงกรานต์ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ศุภมัศดุวรพุทธศักราช ๒๓๕๖ พระพรรษา การกำหนดเจตมาส กาฬปักษ์สัตมีดิถีฉันทวาร ทสทีวากรเพลาบ่าย ๓ โมง บรมทินกรเสด็จจากมีนประเวศสู่เมศราศี ทางโคณวิถีไกลพระเมรุมาช ขณะนั้นมีนางเทพธิดาองค์หนึ่งทงนามชื่อนางโคราคมหาสงกรานต์มาแต่จาตุมหาราชิกา กระทำกฤษฎาพิมล ทรงพาหุรัดทัดดอกปีบ ทรงเครื่องอาภรณ์อันแล้วด้วยแก้วมุกดา พระหัตถ์ขวาทรงธนู พระหัตถ์ซ้ายทรงพระขรรค์ ภักษาหารน้ำมันงา เสด็จนิสีทนาการนั่งเหนือหลังพยัคฆพาหนะ เป็นมัคนายก นำอมรคณาเทพยดาแสนโกฏิประชุมชวนกันมารับพระเศียรท้าวกบิลมหาพรหมอันใส่พานทอง ประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธุลีที่เขาไกรลาสแดนหิมะภารตะประเทศ ขณะนั้น เทพยดากระทำคารวะดุษฎีชำระสุคนธวิเลปนะชูชายาควิธี อันควรด้วยดีตามวิสัยจารีตบุราณ แล้วก็แก่ทักษิณาวัตรเขาพระเมรุราชคำรบหกสิบนาที แล้วก็เชิญเข้าไว้ในถ้ำคันธุลีดังเก่า จึงเทพยดาเจ้านำมาซึ่งลดาวัลย์อันช่อชะมุนาฏใส่สุวรรณภาชนะทองไปล้างน้ำในอโนดาษสระ ๗ ท่า เถาชะมนาฏก็ละลายออกไปไสดุจน้ำมัน ข้าวกล้าในภูมินาจะเกิดมีชาติดวงแล้งได้ผลกึ่งเสียกึ่ง เกณฑ์ธัญญษหารผลาหาร มัจฉมังสาหารมัธยมในปีจอ ฉศกนี้มีอาทิกวาร เดือน ๗ เป็นเดือนถ้วน พระสงฆ์ได้ลงกระทำอุโบสถกรรมเข้าพรรษาปวารณาออกพระวรรษาตามพระอาทิตย์พระจันทร์ถ้วนเป็นประธานโลก ตามขนบธรรมเนียมราชประเพณีสมเด็จพระบรมกษัตริย์สืบๆ มา ครั้น ณ วันพุธเดือน ๖ แรม ๙ ค่ำ เพลาเช้า ๓ โมง ๖ บาท เสร็จการพระราชพิธีเผด็จศก ให้พระยานครกรมการเผดียงพระสงฆ์ราชาคณะ เจ้าอธิการและอาณาประชาราษฎรให้ทั่ว ครั้นหนังสือมาถึงวันใดก็ให้ทำตาม หนังสือมา ณ วันอังคารเดือน ๕ ขึ้น ๓ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๖ ปีจอนักษัตร ฉศก

ชูศักดิ์ คัด / ศักดา พิมพ์ / วชิระ ทาน ๒๒ มกราคม ๒๕๑๓

.

จดหมายเหตุ รัชกาลที่ ๒
ชื่อ ท้องตราถึงเมืองนครศรีธรรมราช เรื่องประกาศสงกรานต์
ปีขาล สัมฤทธิ์ศก จ.ศ. ๑๑๘๐ ปีฉลู จ.ศ.๑๑๗๙
เลขที่ ๑๔ ประวัติ ได้มาจากกระทรวงมหาดไทย

หนังสือ เจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดีอภัยพิริยปรากรมพาหุสมุหพระกลาโหมมาถึงพระยาศรีธรรมโศกราชชาติเดโชชัยมหัยสุริยาธิบดีอภัยพิริยปรากรมพาหุพระยานครศรีธรรมราช ด้วยทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่าพระโหราธิบดีหลวงโลกธีปโหรมีชื่อพร้อมกันหาฤกษ์ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายศุภมัศดุมวรพุทธศักราชสองพันสามร้อยหกสิบพระวัสสา กาลครั้นเจ็ดมาสสุกรปักษมีดิถี โสรวารตัสสทิวากาลเพลาบ่ายสองโมงแปดบาท บรมทินกรเสด็จโคจรจากมีนาประเวศสู่เมษาราศีทางโค ณ วิถีใกล้พระเมรุราช ขณะนั้นมีนางเทพธิดาองค์หนึ่งทรงนามชื่อมโหธรรมมหาสงกรานต์ มาแต่จาตุมหาราชิกากระทำกฤษฎาพิมล ทรงพาหุรัดทัดทอดสามหาว ทรงอาภรณ์อันแล้วไปด้วยแก้วนิลรัตน์ พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล พระหัตถ์ขวาทรงจักร ภักษาหารมังสังทราย เสด็จทรงนั่งไปเหนือหลังมยุรปักษาพาหนะเป็นมัคนายก นำอมรคณาเทพยุดาแสนโกฏมารับเศียรท้าวกบิลมหาพรหมอันอุสภสังวัจฉนิรจุลศักราชขึ้นอีกพันแปดร้อยสิบปีขาล นักษัตร สัมฤทธิศก เนาวันหนึ่ง เป็นวันสงกรานต์สามวัน ผลทำนายพสุวาจินตะสามัญสงกรานต์เป็นสามประการ อธิบายเป็นสามัญโลกทั่วทุกประเทศในสกลชมพูทวีป เกณฑ์พิรุณสารทพระเสาร์เป็นอธิบดีนาคราชสามตัวบันดาลให้ฝนสี่ร้อยห่า อุบัติดลยังเขาจักรวาลร้อยหกสิบห่า อรัญญิกหิมพานต์ร้อยยี่สิบห่า มหาสมุทรแปดสิบห่า มนุษย์โลกสี่สิบห่า ฝนต้นมืออุดม กลางมือมัธยม ปลายมือเป็นอวสาน เกณฑ์ธาราธิคุณลงปัควราศรีสิงหเตโชธาตุน้ำน้อยกว่าปีหลังสองศอก นาลุ่มดี นาดอนทรามพอดี เกณฑ์ธัญญาหารออกเศษศูนย์เป็นปาปะ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ผลส่วนหนึ่งเสียสิบส่วน เกณฑ์ธัญญผลามัจฉมังสาหารเป็นมัธยมเดือนแปดแรมค่ำหนึ่งพร้อมด้วยอาสาหพฤกษ์พระบวรชีโนรศมหานาคจะได้เข้าพระวัสสาตามพระอาทิตย์ พระจันทร์อันเป็นประธานแห่งโลกตามขนบธรรมเนียมประเพณีฯ สืบๆ มา ครั้นวันจันทร์ เดือนห้า ขึ้นแปดค่ำ เพลาเช้าสามโมงหกบาท เสร็จการพระราชพิธีเผด็จศก เจ้าพนักงานชาวพระเครื่องต้นจะได้ตั้งเครื่องมุรธาภิเษก ชีพ่อพราหมณ์จะได้ถวายน้ำกรด น้ำสังข์ ขอเชิญพระบาทสมเด็จพระบรมนาถ บรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัว เสด็จเข้าที่สรงสนานทรงเครื่องพระมุรธาภิเษกตามราชประเพณีสืบมา เพื่อทรงพระจำเริญราชศรีสวัสดิ์พิพัฒนมงคลเมทนีดลสกลศัตรูกระษัยนั้น ให้เจ้าเมืองกรมการเผดียงพระสังฆราชา ท่านเจ้าอธิการ แล้วป่าวร้องประกาศแก่อาณาประชาราฎรในแขวงจังหวัดเมืองนครให้จงทั่วเหมือนอย่างมหาสงกรานต์ทุกปี ครั้งหนังสือนี้มาถึงวันใด ก็ให้กระทำตาม

.

หนังสือมา ณ วันพฤหัสบดี เดือนสี่แรมห้าค่ำปีฉลูนพศก เมืองนครศรีธรรมราช

ตราพระคชสีห์วังหลวง นายช่วยถือมา ตรามหาสงกรานต์ ตราพระคชสีห์น้อยประจำผนึก วันพฤหัสบดี แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๕ ปีขานสัมฤทธิศก นายช่วยถือมา ตรา ๒ ฉบับ

ตรารูปคนถือปืนประจำครั่ง

.

ประเสริญ คัด ศักดา พิมพ์ วชิร ทาน ๒๘ มกราคม ๒๕๑๓

.

จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๒
ท้องตรา ถึงเมืองนครศรีธรรมราช เรื่องประกาศมหาสงกรานต์ ปีเถาะ เอกศก จ.ศ. ๑๑๘๑ เลขที่ ๑
วัน เสาร์ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๕ ปีเถาะ จ.ศ. ๑๑๘๑
ประวัติ กระทรวงมหาดไทย ถวาย หอวชิราวุธ พ.ศ. ๒๔๕๘

.

หนังสือพระเจ้าอัคมหาเสนาบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุสมุหะพระกลาโหม มาถึงเจ้าพระยาศรีธรรมาราชชาติเดโชไชยมหัยสุริยาธิบดีอภัยพิริยปรากรมพาหุ พระยานครศรีธรรมราช ด้วยทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า พระโหราธิบดีหลวงโลกธีปโหรมีชื่อ ทำฎีกาทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายสุพมัศดุศักราชสองพันสามร้อยหกสิบเอ็ดพรรษา กาละครั้นเจตรมาสกาลปักษทุติยะ ดิถีรวีวาระตัดราตรีกาลเพลาย่ำค่ำแล้ว สองทุ่มแปดบาทบรมเทพทินกร เสร็จโคจรจากมีนยะประเวษสู่เมศราศีทางโค ณ วิถีใกล้พระเมรุราชขณะนั้นมีนางเทพธิดาองค์หนึ่งทรงนามชื่อทุงษมหาสงกรานต์ มาแต่จาตุมหาราชิกากระทำฤกษกาพิมลทรงพาหุรัตทัดดอกทับทิมทรงอาภรอันแล้ว ไปด้วยแก้วปัทมราช พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ ภักษาหารผลอุทุมพร เสด็จทรงไสยาสน์ไปเหนือหลังครุฑเป็นพาหนะ รวีวาระเป็นวันมหาสงกรานต์ จันทรวาระภูมวาระเป็นวันเนาว์ พุทวาระเป็นวันเถลิงศก ศรีพระยาวัน ครั้น ณ วันพุธ เดือนห้าแรมห้าค่ำ เพลาเข้าสองโมงแปดบาทสื้นพยัคสังวัจฉระเป็นสัสสะสังวัจฉรศักราชขึ้น เป็นพันร้อยแปดสิบเอ็ด ปีเถาะนักษัตรเอกศกเนาว์สองวัน เป็นวันมหาสงกรานต์สี่วัน พลทำนายพสุสงกรานต์ อาจินสงกรานต์ สามัญสงกรานต์ เป็นสามประการ อธิบายเป็นสามัญโลกทั่วทุกประเทศในสกลชมพูทวีป เกณฑ์พิรุณสารทพระอาทิตย์เป็นอธิบดี นาคราชสองตัว บัลดาลฝน สี่ร้อยห่า อุบัตดลยังเขาจักรวาลร้อยหกสิบ อรัญยิกาพิมพานร้อยยี่สิบห่า มหาสมุทรแปดสิบห่า มนุษย์โลกสี่สิบห่า ฝรตกมือกลางมืออุดมปลายมือ มัธยมเกณฑ์ธาราธิคุณลงปัศวราศรีซึ่งพระเตโชธาตุพินชนน้ำงามน้อยกว่าปีหลังศอกหนึ่ง นาลุ่มดีนาดอนทรามพอดี เกณฑ์ธัญญาหารออกเศษสองชื่อวิบัติ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ผลกึ่งเสียกึ่ง ธัญญาหารมัชมังสาหาร พลาหารมัธยมในปีเถาะ นักษัตรเอกศกนี้มีอธิมวาระเดือนเจ็ดเป็นเดือนถ้วนเดือนแปดแรมค่ำหนึ่ง พระบวรชิโนรถมหานาคจะได้กระทำชำระกุฎี ลงพระอุโบสถทวิกรรมเข้าพระพรรษาปวารณาออกพระพรรษาตามวินัยพุทธบัญญัติ ให้ชอบด้วยปีเดือน ค่ำวันเทศกาล ดูพระอาทิตย์ พระจันทร์เป็นประธาน แห่งโลกตามขนบธรรมเนียมประเพณีแผ่นดินสืบๆ มา ครั้น ณ วันพุธเดือนแรมห้าค่ำเพลาเช้าสามโมงหกบาท เจ้าพนักงานจะได้ตั้งเครื่องพระมลธาภิเศกชีพ่อพราหมณ์จะได้ถวายน้ำรดน้ำสังข์ ขอเชิญพระบาทสมเด็จพระบรมนาถบรมบพิธพระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จเข้าที่สรงสนามทรงพระมูรธาภิเศก เพื่อจะชำระพระองค์ตามพระราชประเพณีสืบๆ มา เพื่อทรงพระจำเริญพระราชศรีสวัสดิ์พิพัฒนมงคลเมทนีดลสกลศัตรูกระไสยนั้น ให้เจ้าเมืองกรมการพเดียงอาราธนาพระสงฆ์ราชาคณะ เจ้าอธิการและเป่าร้องอาณาประชาราษฎรให้รู้จักทั่ว

.

หนังสือมา ณ วัน เสาร์ เดือนห้า ขึ้นสองค่ำจุลศักราชพันร้อยแปดสิบเอ็ดปีเถาะเอกศก
(คนถือปืนประจำครั่ง) ตราพระคชสีห์น้อยประจำผนึก
วันจันทร์ ขึ้นสามค่ำ เดือนหก ปีเถาะเอกศก หมื่นสนิทข้าในกรมถือมาตรา ๓ ฉบับ
สุเทพ คัด / พิมพ์ / วชิระ ทาน ๒๗ ม.ค. ๒๕๑๓

คุณ รณชิต จิระพิบูลย์พันธ์ สืบสาน ส่งเสริมท่องเที่ยว ทัวร์วัฒนธรรม

นครศรีธรรมราช เมืองที่โดดเด่นด้านวัฒนธรรม มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่งดงาม อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ เชื่อว่านักท่องเที่ยวหลายท่านอยากที่จะเดินทางมาสัมผัสบรรยากาศเหล่านี้แน่นอน ทางด้านของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวก็เป็นอีกแรงขับเคลื่อนในการผลักดันการท่องเที่ยวนครศรีธรรมราชให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น คนต้นแบบเมืองนครท่านนี้คลุกคลีอยู่ในแวดวงการท่องเที่ยวตั้งแต่วัยเด็ก ค่อยๆ ซึมซับประสบการณ์เก็บเกี่ยวความรู้ต่างๆ จนก้าวขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสาน ส่งเสริมท่องเที่ยว ทัวร์วัฒนธรรม คุณ รณชิต จิระพิบูลย์พันธ์ กรรมการบริษัทสีนวลกรุ๊ป (2017) จำกัด

คลุกคลีอยู่ในแวดวงการท่องเที่ยวตั้งแต่วัยเด็กโดยมีคุณพ่อเป็นต้นแบบ

คุณรณชิต เติบโตในครอบครัวที่ทำธุรกิจด้านการท่องเที่ยว รถทัวร์นำเที่ยว ในวัยเด็กมีโอกาสได้ไปทำงานร่วมกับคุณพ่อ เรียกได้ว่าเดินทางไปทั่วทุกภาค หน้าที่ของคุณรณชิตในตอนนั้นเป็นทั้งคนดูแลรถ ดูแลนักท่องเที่ยว และช่างภาพ  การที่ได้เดินทางท่องเที่ยวตั้งแต่เด็ก ส่งผลให้คุณรณชิตเจอผู้คนมากมายในสถานการณ์ที่หลากหลาย ได้สัมผัสกับวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่ต่างกันในแต่ละภาคของประเทศไทย สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้กลายเป็นเด็กที่สามารถมองโลกได้กว้างกว่าเด็กคนอื่นในวัยเดียวกัน คุณรณชิต เล่าว่า ในตอนที่ยังเด็กตัวเองก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องนั่งรถเป็นระยะทางไกลเพื่อเดินทางไปยังหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว เมื่อโตขึ้นจึงเข้าใจว่านั่นคือการศึกษาวัฒนธรรมของชุมชนอื่น นอกเหนือจากชุมชนที่ตนเองเติบโตมา ซึ่งเป้าหมายของการท่องเที่ยวไม่ใช่แค่การพักผ่อนเท่านั้น แต่เป็นการเรียนรู้วิถีชีวิตของผู้คนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมแม้จะอาศัยอยู่ในประเทศเดียวกันก็ตาม ซึ่งระหว่างการเดินทางนักท่องเที่ยวต่างก็ได้ผจญภัยร่วมกัน และได้รับประสบการณ์แปลกใหม่ที่หาไม่ได้จากชุมชนของตัวเอง

บทบาทในการทำธุรกิจท่องเที่ยว กับการรับช่วงต่อกิจการครอบครัว

การเดินทางของสีนวลกรุ๊ปมีการพัฒนามาเรื่อยๆ ตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ ต่อด้วยพี่ชาย จนมาถึงคุณรณชิต เริ่มจากกิจการเดินรถประจำทาง จากนั้นเปลี่ยนมาเป็นรถบัสนำเที่ยว การที่ได้เห็นคุณพ่อทำงานทำให้คุณรณชิตมีความใฝ่ฝันว่าอยากเป็นไกด์นำเที่ยว ซึ่งทางบ้านให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีก็ได้ทำงานเป็นไกด์ตามที่ตั้งใจไว้ รวมทั้งฝึกฝนการทำงานทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับรถทัวร์นำเที่ยว คุณรณชิตรับช่วงต่อธุรกิจของครอบครัวต่อจากพี่ชาย โดยนำความรู้ที่ได้ศึกษามาประยุกต์ใช้กับธุรกิจ พยายามปรับปรุงให้รูปแบบการท่องเที่ยวมีความทันสมัยมากขึ้น เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น ได้มีการเพิ่มจำนวนรถบัสเพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยว นำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้กับธุรกิจ ลงทุนกับอุปกรณ์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว จากเดิมที่กลุ่มลูกค้าเป็นผู้สูงอายุ ได้ปรับเปลี่ยนไปที่กลุ่มวัยทำงาน เพราะต้องการให้รูปแบบการท่องเที่ยวมีความสนุกสนานมากขึ้น เน้นการถ่ายรูป หากเป็นกรุ๊ปทัวร์เชิงวิชาการจะมีผู้ที่คอยให้ความรู้ ที่สำคัญคือต้องเป็นทริปที่สร้างความประทับใจให้กับทุกคน

สถานการณ์โควิด-19 กับผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยว

คุณรณชิต เล่าว่า ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ไม่มีทัวร์มาถึง 2 ปี ได้มีการปรับตัวเพื่อประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอด ขายรถบัสเพื่อเปลี่ยนเป็นรถตู้ เน้นบริการนักท่องเที่ยวสายบุญ แม้เผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากแต่ยังมีความโชคดีอยู่บ้าง อย่างในช่วงที่กระแสของไอ้ไข่วัดเจดีย์กำลังมาแรง ทำให้นครศรีธรรมราชมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาเป็นจำนวนมาก คุณรณชิต มีความเห็นว่า หากวิกฤตโควิด-19 จบลง เชื่อว่านครศรีธรรมราชจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น จากประสบการณ์ในการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนนครศรีธรรมราช คุณรณชิต เล่าว่า ร้อยละ 50 ของนักท่องเที่ยวนิยมไปเที่ยวอำเภอขนอมและอำเภอสิชล รองลงมาคือคีรีวงและอำเภอเมืองตามลำดับ สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในอำเภอเมือง คือ  วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ศาลหลักเมือง ร้านอาหารขึ้นชื่อ และร้านน้ำชา  ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มานครศรีธรรมราช หลักๆ จะแบ่งได้ 2 ประเภท คือ มาเองโดยเหมารถตู้ และนักท่องเที่ยวที่มากับบริษัททัวร์จากที่อื่น ซึ่งอย่างหลังคุณรณชิตจะคอยติดต่อประสานงานให้

คุณรณชิต ให้ความเห็นว่า ช่วงโควิดนักท่องเที่ยวเป็นชาวไทย 100% ซึ่งเน้นความเป็นส่วนตัว ทางคุณรณชิตเองก็ปฏิบัติตามมาตรการรัฐพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเช่นกัน หากพูดถึงจุดขายของนครศรีธรรมราชในมุมของคุณรณชิต  อาหารถือเป็นจุดเด่น ด้วยรสชาติจัดจ้าน มีความเป็นเอกลักษณ์ นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของความเชื่อ วัฒนธรรม และธรรมชาติที่สวยงาม ทางคุณรณชิตเองมักจะโปรโมทสถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร ผ่านทาง Facebook ส่วนตัว เพื่อดึงความสนใจจากผู้พบเห็น นอกจากนักท่องเที่ยวสายบุญแล้ว นักท่องเที่ยวอีกกลุ่มที่น่าสนใจคือ ช่วงอายุ 20 ต้นๆ หลายคนสร้างรายได้ผ่านช่องทางออนไลน์ จึงมีกำลังซื้อที่เยอะ ส่วนใหญ่เน้นกิจกรรมทางทะเล ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้มักจะบอกต่อกัน ผู้ประกอบการต้องปรับตัวตามพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป ส่วนใหญ่เน้นเที่ยวตามรีวิว ค้นหาข้อมูลเอง การนำเทคโนโลยีมาใช้กับธุรกิจการท่องเที่ยว รวมถึงการโปรโมทผ่านช่องทางออนไลน์จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามไป

คาดว่าหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ดีขึ้น การท่องเที่ยวนครศรีธรรมราชน่าจะกลับมาคึกคักกว่าเดิม ด้วยความที่มีต้นทุนทางด้านวัฒนธรรมและทรัพยากรทางธรรมชาติเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อาจจะต้องเพิ่มเติมในส่วนของการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการ สร้างความพึงพอใจให้กับนักท่องเที่ยวในอนาคต

ชมคลิป VDO สัมภาษณ์

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ

 

ปลาใส่อวน ปลาส้มปักษ์ใต้ ของดีอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ทุกท่านรู้จัก ปลาใส่อวน หรือ ที่เรียกกันว่าปลาส้มปักษ์ใต้ กันหรือเปล่าค่ะ?

บางท่านอาจจะรู้จักแล้วหรือบางท่านอาจจะยังไม่รู้จัก  วันนี้นครศรีสเตชั่นจะพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับปลาใส่อวนหรือปลาส้มปักษ์ใต้ สินค้าของดีอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช หนึ่งในสินค้า O-TOP หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ มารู้จักกับปลาใส่อวนที่มีทั้งเรื่องราวและความหมายรวมไปถึงความอร่อยที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของปลาใส่อวน แอดมินขอรับรองเลยว่าถ้าหากทุกท่านได้อ่านบทความนี้จะต้องหิวและอยากลองทานปลาใส่อวนขึ้นมาอย่างแน่นอนค่ะ ถ้าอย่างนั่นเราอย่ารอช้ามาทำความรู้จักกับปล่าใส่อวนกันเลยค่ะ

ความหมายของ ปลาใส่อวน หรือที่เรียกกับอีกชื่อหนึ่งว่าปลาส้มปักษ์ใต้

ปลาส้ม เป็นการแปรรูปอาหารชนิดนึงจากปลา ที่แพร่หลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เครื่องปรุงหลักๆคือ ปลา เกลือ น้ำตาล ข้าวสุก ข้าวเหนียว หรือข้าวคั่ว ตามแต่ละท้องถิ่น ผสมกัน หมักจนมีรสเปรี้ยว และในส่วนของวิถีชีวิตชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช​จะใช้ข้าวคั่วหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า”อวน” เป็นส่วนผสมในการหมักปลาให้เกิดรสชาติเปรี้ยว ชาวบ้านจึงเรียกอาหารชนิดนี้กันแบบเข้าใจง่ายๆตามภาษาท้องถิ่นคนนครว่า”ปลาใส่อวน” ก็คือปลาที่ใส่ข้าวคั่ว(อวน)​จนมีรสชาติเปรี้ยวนั่นเองค่ะ” 

ปลาใส่อวนโมเดิร์น ร้านครัวแม่แดง@ทุ่งสง สินค้าของดีอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช

คุณอารีรัตน์ วิเชียรชม ได้เล่าถึงประวัติความเป็นมาของปลาใส่อวน​โมเดิร์น​(ปลาส้มปักษ์ใต้)​ ร้านครัวแม่แดง@ทุ่งสง ว่า แรกเริ่มเดิมทีคือต้องการแก้ปัญหาปลาดุกที่เลี้ยงกันภายในครัวเรือน แล้วไม่มีแหล่งกระจายวัตถุดิบเมื่อปลาที่เลี้ยงไว้อายุครบกำหนดที่จะจับส่งขาย ก็เลยแก้ปัญหาตรงนั้นโดยการนำปลาที่เลี้ยงไว้มาแปรรูปเป็นปลาใส่อวนไว้ทานกัน ที่เหลือก็แจกจ่ายกันทาน และแบ่งขาย กลายเป็นว่าคนที่ได้ทานเกิดติดใจ และชอบรสชาติในสูตรที่เราทำออกมา เลยมีการติดต่อเข้ามาขอซื้อกันค่อนข้างมาก ทางปลาใส่อวนโมเดิร์น ร้านครัวแม่แดง@ทุ่งสง มองเห็นช่องทางนี้ที่ในอนาคตจะเป็นอาชีพที่เกิดขึ้นภายในครัวเรืิอน และชุมชนได้ ก็เลยเริ่มต้นตัดสินใจทำแปรรูปจำหน่ายแบบจริงจัง พร้อมทั้งปรับปรุง และพัฒนาในตัวผลิตภัณฑ์​กันมาเรื่อยๆจนมาถึงทุกวันนี้

วิธีการทอดปลาใส่อวน

  1. ใช้ไฟกลางและปริมาณน้ำมันที่พอเหมาะ รอให้น้ำมันร้อน
  2. และเมื่อน้ำมันร้อนดีแล้วก็นำปลาใส่อวนมาหย่อนใส่ลงไปในกระทะ (ข้าวคั่วบดที่อยู่ตัวปลาไม่ต้องล้างออก เพราะจะทำให้อร่อยกรุบกรอบ)
  3. รอจนปลาเหลืองกรอบแล้วค่อยพลิกลับด้าน
  4. และเมื่อเหลืองทั้ง 2 ด้านเท่ากันแล้ว ก็ตักขึ้นมาสะเด็ดน้ำมัน

เคล็ดลับความอร่อยแซ่บ คือ ซอยหอมแดง พริก มะนาว จะช่วยเพิ่มรสชาติความแซ่บเพิ่มมากขึ้นค่ะ

ได้รู้จักปลาใส่อวนทั้งเรื่องราวและความหมาย รวมไปถึงวิธีการทอดกันไปแล้ว รู้สึกหิวกันขึ้นมาหรือยังค่ะ? 

บางท่านก็อาจจะยังนึกถึงรสชาติของปลาใส่อวนไม่ออกใช่มั้ยค่ะ? ไม่เป็นไรค่ะเดี่ยวแอดมินจะบรรยายรสชาติของปลาใส่อวนให้ค่ะ ปลาใส่อวนที่เมื่อทอดจนกรอบแล้วจะมีรสชาติที่ไม่เปรี้ยวจัดจนเกินไปบวกกับความกรุบกรอบของข้าวคั่วที่ช่วยให้เมื่อทานเข้าไปจะรู้สึกเคี้ยวแล้วเพลิดเพลินไปกับรสชาติที่กลมกล่อม และเมื่อทานคู่กับข้าวสวยร้อนๆหอมแดงและพริกก็จะเพิ่มรสชาติให้แก่ปลาใส่อวนมากขึ้นค่ะ แอดมินของรับประกันความอร่อยของปลาใส่อวนเลยค่ะ ว่าอร่อยจริงไม่จกตา และนอกจากจะอร่อยแล้วปลาใส่อวนก็มีประโยชน์ต่อสุขภาพด้วยนะคะ

อย่าลืมนะคะ เมื่อมาเที่ยวนครศรีธรรมราชแล้ว ก็อย่าพลาดที่จะซื้อปลาใส่อวน สินค้าของดี อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช กลับไปเป็นของฝากกันนะคะ