เรื่องวัดร้าง
ในนครศรีธรรมราช
หลายวันมานี้ ได้ยินคำว่า “เหลียวหลัง-แลหน้า” ค่อนข้างถี่ ความจริงสำนวนนี้ไม่ใช่ของใหม่ เท่าที่สังเกตมักมีปกติใช้กับอะไร ๆ ที่สมาคมเห็นพ้องกันว่าเป็น “มรดก” แล้วต้องการที่จะสืบกลับไปเรียนรู้ และแสวงหาทางเลือก ทางรอดต่อไปในอนาคต ส่วนตัวเห็นว่าระหว่างสองคำนี้ ควรมีบางอย่างบางคำแทรกอยู่ด้วยในระหว่างนั้น
“เหลียวหลัง” ให้อารมณ์ของการหวนกลับไปมอง ไปรู้สึกย้อนอดีต เอาเข้าจริงหากหลักในการมองย้อนไม่ชัดพอ การเหลียวหลังที่ว่าอาจทำได้เพียงอาการโหยหาอาลัยอาวรณ์ เพ้อร่ำพร่ำพรรณนาเท่านั้น เช่นเดียวกับ “แลหน้า” ที่ควรต้องแสดงจุดยืนไว้ให้หนักแน่นพอที่จะป้องกันความเพ้อพกเลื่อนลอย
คำที่ควรแทรกอยู่กลางนั้น ยังคิดเร็ว ๆ ไม่ออกว่าจะเป็นอะไร แต่หาก “เหลียวหลัง” = “อดีต” และ “แลหน้า” = “อนาคต” แล้ว แน่นอนว่าคำกลางก็จะควรคือคำที่สื่อแสดงถึงการมองและเห็น “ปัจจุบัน” ฉะนี้
เมื่อราว 3 ปีก่อนเคยเข้าไปหารือกับสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครศรีธรรมราชเรื่องการทำภูมิสถานของเมืองนครศรีธรรมราช ประมาณว่าร่างเป็นแผนที่เดิม ณ ยุคใดยุคหนึ่งที่ปรากฏความเป็นนครศรีธรรมราชชัดเจนและเจริญที่สุด ท่านรับหลักการไว้ แต่ติดด้วยหลายเหตุผลจึงไม่ได้ขวนขวายดำเนินการต่อ ในระหว่างนั้น ได้ลองค้นดูโดยเฉพาะ “วัดร้าง” ก็พบว่าเอกอุในเรื่องนี้คืออาจารย์บัณฑิต สุทธิมุสิก ซึ่งได้ลองเทียบวัดร้างกับที่ตั้งปัจจุบันเอาไว้ในสารนครศรีธรรมราช ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๑
จึงอยากจะลองชวนกันเหลียวหลัง ให้เห็นปัจจุบันกันดังนี้
ส่วนว่าข้างหน้าจะแลไปเห็นอะไรนั้น สุดรู้ฯ
ลำดับ |
ชื่อ |
ที่ตั้งปัจจุบัน |
๑. | วัดกุฏ หรือวัดป่าสุด | โรงเรียนอำมาตย์พิทยานุสรณ์ |
๒. | วัดประตูโกบ | วิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช |
๓. | วัดชุมแสง | วิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช |
๔. | วัดมะขามชุม | โรงเรียนศรีธรรมราชศึกษา (แผนกอนุบาล) |
๕. | วัดโพธิ์มอญ | ชุมชนนอกโคก (ข้างวัดศรีทวี) |
๖. | วัดเท | หน้าวัดศรีทวี |
๗. | วัดสมิท | หน้าห้างสรรพสินค้าสหไทย |
๘. | วัดชมภูพล | ห้างสรรพสินค้าสหไทยพลาซ่า |
๙. | วัดเจดีย์ยักษ์ | เทศบาลนครนครศรีธรรมราชและวิทยาลัยอาชีวศึกษานครศรีธรรมราช |
๑๐. | วัดพระเงิน | หลังวิทยาลัยอาชีวศึกษานครศรีธรรมราช |
๑๑. | วัดหูน้ำ | บ้านพักข้าราชการกระทรวงการคลังและสุสานคริสเตียน |
๑๒. | วัดท่าช้าง | มัสยิดซอลาฮุสดีน(ท่าช้าง) และสถานีตำรวจภูธรนครศรีธรรมราช |
๑๓. | วัดพระวิหารสูง | พระวิหารสูงและโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราชฝั่งสนามหน้าเมือง |
๑๔. | วัดชายตัง | หลังพระวิหารสูง |
๑๕. | วัดประตูขาว | โรงเรียนอนุบาลจังหวัดนครศรีธรรมราช |
๑๖. | วัดหน้าพระคลัง | สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครศรีธรรมราช |
๑๗. | วัดเสมาชัย | โรงเรียนเทศบาลวัดเสมาเมือง |
๑๘. | วัดโรงช้าง | บ้านพักผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราช เขต ๑ |
๑๙. | วัดดิ่งดง | ตรงข้ามโรงเรียนวัดพระมหาธาตุ |
๒๐. | วัดธะระมา | ตรงข้ามโรงเรียนวัดพระมหาธาตุ ติดกับวัดสระเรียง |
๒๑. | วัดป่าขอม | โรงเรียนจรัสพิชากร |
๒๒. | วัดสิงห์ | หน้าวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร |
๒๓. | วัดหลังพระ | ถนนหลังวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร |
๒๔. | วัดหอไตร | วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช |
๒๕. | วัดสวนหลวงตะวันออก | พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช |
๒๖. | วัดพระเสด็จ | หอสมุดแห่งชาติ นศ., สนง.ตรวจเงินแผ่นดิน และสนง.โทรศัพท์จังหวัด |
๒๗. | วัดกุฏ | การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (ตรงข้าม สนง.ตรวจเงินแผ่นดิน) |
๒๘. | วัดบ่อโพง | การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (ตรงข้าม สนง.ตรวจเงินแผ่นดิน) |
๒๙. | วัดเพชรจริกตะวันออก | สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครศรีธรรมราช |
๓๐. | วัดพระเวียง | สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านศรีธรรมราช |
๓๑. | วัดเจดีย์เอน | ปั๊ม ปตท. หัวถนน |
๓๒. | วัดสารีบุตร | ไม่แน่ชัด (มีแต่ชื่อถนน) |
๓๓. | วัดคิด | ไม่แน่ชัด (มีแต่ชื่อถนน) |
๓๔. | วัดสระเกษ | จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช |
๓๕. | วัดโมฬี หรือ วัดเมาลี | วัดชะเมา |
๓๖. | วัดประตูเขียน | วัดชะเมา |
๓๗. | วัดสมิทฐาน | วัดชะเมา |
๓๘. | วัดพระขาว | วัดชะเมา |
๓๙. | วัดพระเดิม | วิหารโพธิ์พระเดิม วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร |
๔๐. | วัดมังคุด | ทิศเหนือของวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร |
๔๑. | วัดไฟไหม้ | วัดท้าวโคตร (ด้านทิศตะวันตก) |
๔๒. | วัดสพ | วัดท้าวโคตร (ด้านทิศตะวันออก) |
๔๓. | วัดท่าโพธิ์เก่า | โรงเรียนเทศบาลวัดท่าโพธิ์ |