ตำนานพระธาตุเมืองนคร เขียนขึ้นเมื่อไหร่ ?

ตำนานพระธาตุ

ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช เป็นพื้นความรู้ที่ควรค่าแก่การเรียนรู้ศึกษาให้รอบด้าน เพราะนอกจากจะให้คุณค่าทางวรรณศิลป์แล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์เพื่อสกัดเอาภาพสะท้อนทางประวัติศาสตร์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาของเมืองนครศรีธรรมราช รวมถึงอำนาจครอบงำความเชื่อและวิถีคิดของคนท้องถิ่น ณ จุดเวลาหนึ่งได้เป็นอย่างดี การทำความเข้าใจตำนานพระธาตุ จึงควรก้าวให้พ้นจากการพิสูจน์จริงเท็จ ถอยออกมามองให้เห็นความหมายแฝงซึ่งซ่อนปนอยู่ในเนื้อหาแต่ละวรรค 

Nakhon Si sTation Platform (NSTP) ได้นำเสนอต้นฉบับตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับกระดาษฝรั่งไปแล้ว (สามารถติดตามอ่านได้ที่ https://nakhonsistation.com/ต้นฉบับ-ตำนานพระธาตุเมื/ )และมีความพยายามที่จะส่งเสริมให้เกิดพื้นที่ร่วมเรียนรู้เกี่ยวกับนครศรีธรรมราชอย่างต่อเนื่อง ผ่านการกระตุ้นความสนใจด้วยข้อสังเกตที่อาจมีแรงบันดาลใจมาจากสภาวการณ์ทางสังคมปัจจุบัน คำถามในหัวหรือพิรุธบางประการในหลักฐานที่เคยคุ้นชินกันอยู่แล้ว 

ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช เขียนขึ้นเมื่อไหร่ ? เป็นส่วนของคำถามที่เกิดขึ้นในหัว ซึ่งความจริงก็ไม่ถูกนักที่จะเค้นเอาคำตอบจากสิ่งที่สืบเนื่องกันเป็นมุขปาฐะ แต่ด้วยว่าเมื่อคำพูดถูกถ่ายทอดเป็นงานเขียน ย่อมทิ้งร่องรอยให้คิด ให้พอชวนตั้งคำถามอยู่ได้บ้าง

เขียนเมื่อไหร่ ?

๑.พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ได้ตั้งข้อสันนิษฐานเอาไว้เป็นประเดิมด้วยการอาศัยศักราชท้ายสุดที่ปรากฏในปีพุทธศักราช ๒๑๙๗ ว่า “สันนิษฐานว่าแต่งในแผ่นดินพระนารายณ์ ศักราชในที่สุดบอกปีในปลายแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง”

๒.หากใช้ศักราชสุดท้ายเป็นเหตุผลในการสันนิษฐาน มีข้อให้คิดได้อย่างหนึ่งว่าอาจเขียนขึ้นในปี พ.ศ.๒๑๙๗ ในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททองนั่นเอง เพราะช่วงท้ายของตำนานตั้งแต่ พ.ศ.๑๘๖๑ เรื่อยไป เป็นการเขียนในลักษณะเรียงลำดับเหตุการณ์ผู้ปกครองประหนึ่งแสดงทำเนียบเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ได้แก่

“อยู่มาพระศรีมหาราชาถึงแก่กรรม ศักราช ๑๘๖๑ ปี โปรดให้ข้าหลวงออกมา เป็นศรีมหาราชาแต่งพระธรรมศาลา ทำระเบียงล้อมพระมหาธาตุ และก่อพระเจดีย์วัศสภ มีพระบัณฑูรให้พระศรีมหาราชาไปรับเมืองลานตกา ศรีมหาราชาถึงแก่กรรมเอาศพมาไว้วัศศภ แล้วเอามาก่อเจดีย์ไว้ในพระเดิม ๙ ยอด

เมื่อศักราชได้ ๑๙๑๙ ปี โปรดให้หลวงศรีวราวงษมาเป็นเจ้าเมืองมาทำวิหารฝ่ายอุดรพระธาตุ ทักษิณพระโพธิมณเฑียร ก่อพระสูง ๗ ศอก หล่อพระสำมฤฐองค์หนึ่งไว้ปัจจิม เมียหล่อองค์หนึ่งไว้ฝ่ายบูรรพ์ชื่อว่าเพหารเขียน แล้วอุทิศข้าหญิงชายไร่นาไว้สำหรับรักษาพระ โปรดให้หลวงพิเรนทรเทพมาเป็นเจ้าเมือง พระทิพราชาน้องพระญาสุพรรณเป็นปลัด ศึกอารู้ยกมาตีเมืองแล้วไปตีเมืองพัทลุงได้ ทิพราชาเป็นแม่ทัพไปตีได้คืนเล่า

เมื่อศักราช ๒๐๓๙ ปี โปรดให้พระยาพลเทพราชมาเป็นเจ้าเมือง เกนให้ตกแต่งทำกำแพงกำชับไว้ แล้วเข้าไปกรุงไปทางเมืองสระ

เมื่อศักราช ๒๑๔๑ ปี โปรดให้พระยาศรีธรรมราชะเดชะมาเป็นเจ้าเมือง อุชงคนะให้ลักปหม่าหนาเป็นแม่ทัพเรือมารบเสียขุนคำแหงปลัด ณ รอปากพระญา ข้าศึกรุกเข้ามาถึงตีนกำแพงฝ่ายอุดร พระยาศรีธรรมราชออกศึกหนีไป

เมื่อศักราช ๒๑๔๔ ปี โปรดให้พระรามราชท้ายน้ำมาเป็นเจ้าเมือง เอาขุนเยาวราชมาเป็นปลัด รู้ข่าวศึกอุชงคนะจึงพระยาให้ขุดฝ่ายบูรรพ์แต่ลำน้ำท่าวังมาออกลำน้ำฝ่ายทักษิณ

เมื่อศักราช ๒๑๗๑ ปี ศึกอุชงคนะยกมา พระญาก็ให้ตั้งค่ายคูฝ่ายอุดร แลแต่งเรือหุมเรือหายพลประมาณห้าหมื่นเศษ รบกันเจ็ดวัดเจ็ดคืนขุนพัญจาออกหักทัพกลางคืนศึกแตกลงเรือศึกเผาวัศท่าโพเสีย พระญาถึงแก่กรรม พระญาแก้วผู้หลานก่อพระเจดีย์บรรจุธาตุไว้ในพระธรรมศาลา

ศักราช ๒๑๙๗ ปี มีพระบรรทูลโปรดให้พระญาบริบาลพลราชเจ้าเมืองตะนาวศรีมหานครมาเป็นเจ้าพระญานครศรีธรรมราช เดชไชยอภัยพิรีบรากรมพาหุเจ้าพระญานครศรีธรรมราช”

ซึ่งในปีท้ายที่สุดนี้ก็อาจเป็นข้อพินิจในประเด็นที่ว่า “ใครเขียน” ดังจะได้อธิบายต่อไป ส่วนหลักฐานประกอบที่น่าสนใจอีกประการคือ ในช่วงก่อนปีท้ายสุดที่มีการลงศักราชไว้นั้น มีเหตุการณ์สำคัญมากเกิดขึ้นในเมืองนครศรีธรรมราช นั่นคือ กรณียอดพระธาตุหักในปีพุทธศักราช ๒๑๙๐ แต่ไม่มีการระบุไว้ทั้งที่เกี่ยวข้องกับตำนานโดยตรง อาจด้วยจงใจอำพรางลางเมืองเพราะต้องการดำรงพระเกียรติยศของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ผู้ซึ่งยังคงดำรงอำนาจเหนือนครศรีธรรมราชอย่างสมบูรณ์อยู่ในขณะนั้น

๓.อาจต้องขอให้ลองสังเกตจากสิ่งต่อไปนี้

๓.๑ แผนผังการวางตำแหน่งศาสนสถานสำคัญตามขนบของอยุธยาตอนต้น คือ เจดีย์ประธานอยู่ตำแหน่งกลาง ทิศตะวันออกเป็นพระวิหารหลวง ทิศตะวันตกเป็นพระอุโบสถ

๓.๒ ตำแหน่งปัจจุบัน เจดีย์ประธานคือพระบรมธาตุเจดีย์ พระวิหารหลวงคือวิหารพระธรรมศาลา พระอุโบสถเป็นมุขของพระระเบียงคดที่ถูกดัดแปลงตัดช่องผ่ากลางให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพระระเบียง

๓.๓ องค์พระบรมธาตุเจดีย์ยังคงตำแหน่งเดิมเช่นเดียวกันกับวิหารพระธรรมศาลา ยกเว้นตำแหน่งพระอุโบสถด้านทิศตะวันตก ที่กล่าวถึงการดัดแปลงไปแล้วในข้อที่ ๒

๓.๔ ตำแหน่งที่ควรจะเป็นพระอุโบสถมีหลักฐานระบุว่าเป็น “พระธรรมรูจี” ตามใบบอกของพระยาสุขุมนัยวินิต ข้าหลวงเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลนครศรีธรรมราช เรื่อง ส่งรายงาน ศก ๑๑๖ ลงวันที่ ๔ ตุลาคม ร.ศ.๑๑๗ กราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย กรณีบูรณะศาสนสถานต่างๆ รอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ความว่า

“พระธรรมรูจี ต่อพระระเบียงด้านตะวันตก ทำแล้วยาว ๖ วา กว้าง ๑ วา ๓ ศอก สูง ๓ วา ๔ ห้อง พระพุทธรูป ๘ องค์ ๑ หลัง” 

๓.๕ คำว่า “ต่อ” และ “ทำ” ชี้ไปในประเด็นว่า “สร้าง” ไม่ใช่ “บูรณะ” ก็จริง แต่พบว่าในใบบอกฉบับเดียวกันมีการกล่าวถึงวิหารพระธรรมศาลาก่อนในลักษณะเดียวกัน ความว่า “พระธรรมศาลา เป็นมุขต่อพระระเบียงด้านตะวันออกพระบรมธาตุ” ซึ่งพระธรรมศาลามีประวัติการสร้างในปีพุทธศักราช ๑๙๑๙ ก่อนการบูรณะในครั้งนี้ ก็พอจะเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า พระธรรมรูจีนี้ มีมาก่อน การ “ต่อ” และ “ทำ” จึงเป็นการ “บูรณะ” ไม่ใช่ “สร้าง”

ภาพถ่ายองค์พระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช จากทิศตะวันตก
สังเกตเห็นอาคารตรงกับองค์พระบรมธาตุมีช่องประตู

๓.๖ หลักฐานแสดงการมีมาก่อนของพระธรรมรูจีคือภาพถ่ายในปีพุทธศักราช ๒๔๔๒ ที่ยังคงใช้ประตูด้านทิศตะวันตกเป็นทางเข้าออก 

๓.๗ ตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ไม่ได้กล่าวถึงส่วนที่เป็น “พระธรรมรูจี” ไว้ และจากความสำคัญของแผนผังตามขนบอยุธยาที่ต้องมีพระอุโบสถด้านทิศตะวันตกของเจดีย์ประธานแต่ไม่ได้มีการกล่าวถึงการใช้สอยพื้นที่ดังกล่าวเลยในตำนานข้างต้น จึงอาจพอสันนิษฐานได้ว่า

“ตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชแต่เดิมอาจมีการถ่ายทอดต่อในลักษณะมุขปาฐะ ต่อมาเมื่อมีการเขียนบันทึกไว้ จึงอ้างอิงจากโบราณสถานที่ยังพบเห็นอยู่ เมื่อพระธรรมรูจีได้ถูกดัดแปลงเป็นส่วนหนึ่งของวิหารพระระเบียงคดไปแล้ว จึงไม่ได้กล่าวถึง จึงเป็นไปได้อีกทางหนึ่งว่า ตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช (ฉบับกระดาษฝรั่ง) น่าจะมีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในยุคหลังจากปีพุทธศักราช ๒๔๔๑ แต่ไม่เกินการพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี ๒๔๗๑”

ทั้งนี้ อาจต้องพึ่งการวิเคราะห์จากหลักฐานและข้อสังเกตอื่นๆ ประกอบ ทั้งสำนวนที่ใช้ เทียบกับสำนวนของเอกสารโบราณอื่นที่ระบุเวลาในการเขียนและร่วมสมัย การขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณที่เคยเป็น “พระธรรมรูจี” ว่าในปี ศก ๑๑๖ นั้น “สร้าง” หรือ “บูรณะ”

ในท้ายที่สุด แม้การสันนิษฐานทั้ง ๓ ข้อ จะมีส่วนเป็นไปได้ในข้อใดข้อหนึ่ง หรือเป็นไปไม่ได้ทั้งหมด ตำนานก็ได้ทำหน้าที่ของตำนานอย่างสมบูรณ์แล้ว นั่นคือการชวนคนอีกรุ่นหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เรียบเรียงและผู้ที่อ่านมาถึงวรรคนี้ มาจับเขาคุยกันอย่างจริงจัง ว่าเมื่อไหร่ ? เราควรจะเขียนตำนานฯ

____
ภาพจากปก : สำเนาภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หมายเลขกำกับ na๐๑d-img๐๐๐๐๑๓๒-๐๐๔๕

 

ชาวสวน ชาวไร่ ติดต่อบริการ Nakhonsistation ช่วยขาย ได้ที่ Line @nakhonsistation หรือโทร 0926565298

ต้นฉบับ ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช (ฉบับกระดาษฝรั่ง)

ตำนานพระธาตุ

ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชมีหลายฉบับ หลายสำนวน แต่ก็ล้วนแล้วมีโครงเรื่องในทำนองคล้ายกัน ในที่นี้จะขอยกเอาฉบับกระดาษฝรั่ง ที่ถูกเผยแพร่จนเข้าใจว่าส่งผลอย่างสำคัญต่อความทรงจำของผู้คนได้ในระดับหนึ่ง การให้ชื่อว่า “ฉบับกระดาษฝรั่ง” ด้วยว่าสำนวนนี้ถูกคัดมาจากหนังสือกระดาษฝรั่งเขียนเส้นหมึกในหอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งคัดมาจากหนังสือเก่าอีกทอดหนึ่งโดยถ่ายการสะกดคำตามต้นฉบับ ตำนานพระธาตุฉบับนี้ถูกพิมพ์ออกเผยแพร่หลายครั้ง ส่วนครั้งที่จะชวนอ่านและทบทวนเป็นฉบับที่คัดมาจากหนังสือรวมเรื่องเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๕ โดยการแบ่งเป็นตอนในต่อไปนี้ ไม่ได้มีหลักการใด เป็นเพียงเพื่อให้ง่ายต่อการอ่านก็เท่านั้น ส่วนการสะกดคำก็ยืนตามแบบของต้นฉบับดังกล่าวทุกประการ

ตอนที่ ๑

อาทิเดิมยังมีเมืองหนึ่งชื่อทนทบุรี เจ้าเมืองชื่อท้าวโกสีหราช มีพระอรรคมเหสีชื่อนางมหาเทวี มีพระราชบุตรีผู้พี่ชื่อนางเหมชาลา  ชายชื่อเจ้าทนทกุมาร และยังมีเมืองหนึ่งชื่อเมืองชนทบุรี อยู่ข้างฝ่ายทักษิณทิศ เจ้าเมืองชื่อท้าวอังกุศราช พระอรรคมเหสีชื่อว่าจันทเทวีและท้าวอังกุศราชมารบชิงพระทันตธาตุแก่ท้าวโกสีหราช ๆ ก็ขาดหัวช้างเสียเมืองแก่ท้าวอังกุศราช นางเหมชาลากับเจ้าทันตกุมารก็รับเอาพระทันตธาตุลงสำเภาไปเมืองลังกาเกิดลมร้ายสำเภาแตก เจ้าทันตกุมารกับนางเหมชาลาก็พาพระทันตธาตุ ซัดขึ้นที่หาดซ้ายแก้วชเลรอย ก็เอาพระธาตุฝังไว้ที่หาดทราย แล้วก็เข้าเร้นอยู่ในที่ลับ.

ยังมีพระอรหันต์องค์หนึ่ง ชื่อพระมหาเถรพรหมเทพ มาโดยนภากาศเห็นรัศมีพระธาตุช่วงโชตชนาการขึ้น พระมหาเถรก็ลงนมัศการพระธาตุ นางเหมชาลากับเจ้าทันตกุมารก็เล่าความแก่พระมหาเถร เหมือนกล่าวมาแล้วแต่หลัง และพระมหาเถรทำนายว่าในหาดทรายชเลรอยนี้เบื้องหน้ายังมีพระยาองค์หนึ่งชื่อพระยาศรีธรรมาโศกราชจะมาตั้งเป็นเมืองใหญ่ แล้วจะก่อพระมหาธาตุสูงได้ ๓๗ วา แล้วพระมหาเถรสั่งเจ้าสองพี่น้องไว้ ว่ามีทุกข์สิ่งใดให้เจ้าลำนึกถึงพระองค์ ว่าเท่านั้นแล้วพระมหาเถรก็กลับไป.

เจ้ากุมารทั้งสองก็พาพระธาตุนั้นไป ครั้นถึงท่าเมืองตรังก็โดยสารสำเภาไป ถึงกลางทเลใหญ่ ก็เกิดอัศจรรย์ใช้ใบสำเภาไปมิได้ ชาวสำเภาก็ชวนกันว่า เจ้าทั้งสองนี้ลงโดยสารสำเภาจึงเกิดอัศจรรย์ขึ้น และว่าจะฆ่าเจ้าทั้งสองนั้นเสีย เจ้าทั้งสองก็ลำนึกถึงพระมหาเถร ๆ ก็นิฤมิตเป็นครุทธ์ปีกประมาณข้างละ ๓๐๐ วา เสด็จมาในอากาศอัศจรรย์ก็หาย และพระมหาเถรบอกแก่ชาวสำเภาว่า พระญานาคพาบริวารขึ้นมานมัศการพระธาตุจึงเกิดอัศจรรย์ ว่าเท่านั้นแล้วพระมหาเถรก็เสด็จไป นายสำเภาก็ใช้ใบไปถึงเมืองลังกาทวีป เจ้าลังกาก็รับพระธาตุขึ้นไว้บนปราสาทแล้ว จึ่งตรัสภามเจ้าสองพี่น้องว่าจะกลับไปเมืองทนทบุรีเล่า เจ้าลังกาก็ให้แต่งสำเภาให้เจ้าสองพี่น้อง แล้วบรรทุกของให้เต็มสำเภา แล้วจึ่งแต่งราชสารไปถึงเจ้าเมืองทนทบุรี ว่าเป็นบุตร์ท้าวโกสีหราช ซึ่งทิวงคตในการสงครามนั้นกลับมาอยู่ในเมืองทนทบุรีเล่า อย่าให้ท้าวอังกุศราชทำอันตรายแก่เจ้าสองพี่น้อง ถ้าท้าวอังกุศราชทำอันตรายแก่เจ้าสองพี่น้องเห็นว่าเมืองทนทบุรี กับกรุงลังกาจะเป็นศึกแก่กัน แล้วเจ้าลังกาให้มหาพราหมณ์ ๔ คน พาพระบรมธาตุมาทนานหนึ่ง ให้ฝังที่เจ้าสองพี่น้องซ่อนพระทันตธาตุนั้น มหาพราหมณ์กับเจ้าสองพี่น้องก็ใช้สำเภามาถึงหาดทรายแก้ว มหาพราหมณ์ก็แบ่งพระธาตุเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งใส่ผอบแก้วแล้วใส่แม่ขันทองขึ้นฝังที่รอยเจ้าสองพี่น้องฝั่งพระธาตุแต่ก่อน ก่อพระเจดีย์สรวมไว้แล้วผูกภาพยนต์รักษาอยู่ ยังพระธาตุส่วนหนึ่งนั้น มหาพราหมณ์ก็พาไปเมืองทนทบุรี

ตอนที่ ๒

ยังมีเมืองหนึ่งชื่อหงษาวดี มีกำแพงสามชั้นอ้อมสามวันจึ่งรอบเมือง ประตูเมืองมีนาคราชเจ็ดหัวเจ็ดหางมีปราสาทราชมณเฑียร มีพระมหาธาตุ ๓๐๐๐ ยอดใหญ่ ๓๐ ยอด ต่ำซ้ายต่ำขวา กลางสูงสุดหมอก มีพระพุทธรูป ๔๐๐๐ พระองค์ เจ้าเมืองนั้นชื่อพระญาศรีธรรมาโศกราช มีพระอรรคมเหสีชื่อสังขเทพี มีบุตร์ชายสองคนๆ หนึ่งชื่อท้าวเจตราช อายุยืนได้ ๑๐๐ ปี ถัดนั้นชื่อเจ้าพงษ์กระษัตริย์ ยังมีบาคู ๔ คนบำรุงเจ้าเมืองนั้นอยู่ อยู่มาเกิดไข้ยุบลมหายักษ์มาทำอันตราย ไพร่พลล้มตายเป็นอันมาก พระยาก็พาญาติวงษ์และไพร่พลลงสำเภาใช้ใบมาตั้งอยู่ริมชเล.

ยังมีพราน ๘ คนๆ หนึ่งชื่อพรหมสุริยตามเนื้อมาตามริมทเล มาถึงหาดทรายชเลรอบพบแก้วดวงหนึ่งเท่าลูกหมากสง จึ่งพราน ๘ คนเอาแก้วไปถวายแก่พระญาแล้วกราบทูลว่าได้ที่หาดทรายนั้น กว้างยาวมีน้ำอยู่โดยรอบ พระญาก็ให้พรหมสุริยนำบาคูทั้ง ๔ คนมาดูที่นั้น บาคูทั้ง ๔ คนก็เขียนแผนที่นั้นไปถวาย พระญาให้แต่งสำเภาแล้ว จัดคนที่รู้คุณพระพุทธเจ้า ๑๐๐ หนึ่งกับบาคูทั้ง ๔ คน พาแผนที่ภูมิลำเนาไปถวายเจ้าเมืองลังกา ๆ ก็ยินดีหนักหนา จึ่งตรัสถามว่าพระสงฆ์ยังมีฤาหาไม่ บาคูกราบทูลว่าพระสงฆ์เจ้าไม่มี แลเจ้าลังกาว่ายังมีพระสงฆ์องค์หนึ่ง ชื่อพระพุทธคำเภียรเกิดวิวาทกันกับเพื่อนสงฆ์ เจ้าเมืองลังกาขอโทษกันเสีย เจ้ากูไม่ลงให้ก็ให้นิมนต์เจ้ากูไปเถิด พระพุทธคำเภียรก็ลงสำเภามาด้วยบาคูทั้ง ๔ คน ยังมีพระยาศรีธรรมาโศกราช ๆ ก็มีน้ำใจศรัทธาในการกุศลให้เกลี้ยกล่อมผู้คนซึ่งอยู่ดงป่าเข้ามาประชุมกันเป็นอันมาก แล้วพระยาศรีธรรมโศกราช เจ้าพงษ์กระษัตริย์แลพระพุทธคำเภียรบาคูทั้ง ๔ คน ปฤกษากันจะตั้งเมืองหาดทราย แล้วจะก่อพระเจดีย์แลพระพุทธรูปไว้ ครั้นสนทนากันแล้ว พอเกิดไข้ยุบลคนล้มตายเป็นอันมาก พระญากับพระพุทธคำเภียรบาคูทั้ง ๔ คนพาญาติวงษ์ช้างม้าหนีไปอยู่กระหม่อมโคก ณ หาดทรายชเลรอบนั้นแล เมื่อศักราชได้ ๑๐๙๘ ปี พระยาศรีธรรมาโศกราชก็สร้างการลง ณ หาดทรายชเลรอบ เป็นเมืองนครศรีธรรมราชมหานคร แล้วสั่งให้ทำอิฐทำปูนก่อพระธาตุครั้งนั้น แลยังมีพระสิหิงค์ล่องชเลมาแต่เมืองลังกามายังเกาะปินังแลพ้นมาถึงหาดทรายแก้วที่จะก่อพระมหาธาตุนั้น

ตอนที่ ๓

ครั้งนั้นยังมีพระยาธรรมาโศกราชองค์หนึ่ง เป็นเจ้าเมืองมัทยมประเทศ มีพระอรรคมเหษีชื่อนางสันทมิตราให้นักเทษถือราชสารมาถึงพระยาศรีธรรมาโศกราช ในราชสารนั้นว่าพระญาศรีธรรมาโศกราชก่อพระมหาธาตุ ๘๔,๐๐๐ พระองค์ แต่ยังมิได้พระบรมธาตุไปประจุ รู้ความไปว่าพระยาศรีธรรมาโศกราช ก่อพระมหาธาตุองค์หนึ่งสูง ๓๗ วา แล้วยกพระบรมธาตุขึ้นประจุพระบรมธาตุ แลเมืองมัทยมประเทศ พระธาตุ ๘๔,๐๐๐ ยังหาได้พระบรมธาตุไปประจุไม่ จะขอแบ่งพระธาตุไปประจุ ครั้นแจ้งในราชสารนั้นแล้ว พระญาก็ให้นักเทษสั่งสอน บาคูทั้ง ๔ คนเล่าเรียนสวดมนตร์ไหว้พระตามนักเทษเรียนมา แลปฤกษาว่าจะคิดฉันใด ที่จะรู้แห่งพระธาตุจะเอาขึ้นจะได้แจกประจุพระเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ พระองค์ พระญาให้เอาทองเท่าลูกฟักผูกคอม้าป่าวทั่วทั้งเมือง.

ยังมีเถ้าคนหนึ่งอายุได้ ๑๒๐ ปีว่ารู้แห่ง อำมาตย์เอาทองส่งให้แล้วเกาะตัวผู้เฒ่านั้นมาทูลแก่พระญา ๆ ก็ถามผู้เถ้ากราบทูลว่าเมื่อตัวข้าพเจ้ายังน้อย บิดาของข้าพเจ้าได้เอาดอกไม้ไปถวายที่นั้น พระญาก็ให้นำไปขุดลง พบพระเจดีย์มีภาพยนตร์รักษาอยู่เอาขึ้นมิได้ พระญาก็ให้นำเอาทองเท่าลูกฟักแขวนคอม้า ไปป่าวหาผู้รู้แก้ภาพยนตร์.

ครั้งนั้นยังมีบุรุษผู้หนึ่งชื่อนายจันที แลบิดานั้นไปเรียนศิลปะวิชชาเมืองโรมพิไสย ครั้นได้แล้วเอาน้ำหมึกสักไว้ที่ลำขาแล้วกลับมา พระอาจาริย์ใช้ภาพยนตร์มาตัดศีศะเอาไป อักษรอันนั้นข้าพเจ้าเขียนเรียนไว้ อำมาตย์ก็เอาทองให้แล้วพาตัวบุรุษมา พระญาก็ให้แก้ภาพยนตร์ จึ่งร้อนขึ้นไปถึงพระอินทร์ ๆ ก็ใช้พระวิศณุกรรมมายกพระธษตุขึ้น พระญาก็ปันไปเมืองมัทยมประเทศตามมีตรามาขอนั้น จึ่งพระวิศณุกรรมช่วยพระญาก่อพระเจดีย์ประจุพระบรมธาตุนั้นไว้ แล้วตั้งเมืองสิบสองนักษัตร์ขึ้นแก่เมืองนครศรีธรรมราช ปีชวดตั้งเมืองสายถือตราหนูหนึ่ง ปีฉลูเมืองตานีถือตราโคหนึ่ง ปีขาลเมืองกะลันตันถือตราเสือหนึ่ง ปีเถาะเมืองปาหังถือตรากะต่ายหนึ่ง ปีมะโรงเมืองไทรบุรีถือตรางูใหญ่หนึ่ง ปีมะเส็งเมืองพัทลุงถือตรางูเล็กหนึ่ง ปีมะเมียเมืองตรังถือตราม้าหนึ่ง ปีมะแมเมืองชุมพรถือตราแพะหนึ่ง ปีวอกเมืองบันท้ายสมอถือตราลิงหนึ่ง ปีระกาเมืองอุเลาถือตราไก่หนึ่ง ปีจอเมืองตะกั่วป่าถือตราสุนัขหนึ่ง ปีกุนเมืองกระถือตราหมูหนึ่ง เข้ากัน ๑๒ เมืองมาช่วยทำอิฐปูนก่อพระมหาธาตุขึ้นยังหาสำเร็จไม่ ภอไข้ห่าลงพระญาก็พาญาติวงษ์ลงสำเภาหนี ใช้ใบถึงกลางชเลผู้คนตายสิ้น เมืองนั้นก็ร้างอยู่ครั้งหนึ่ง

ตอนที่ ๔

เมื่อศักราชได้ ๑๑๙๖ ปี ยังมีพระญาองค์หนึ่งชื่อพระญาศรีไสณรงมาแต่ฝ่ายตะวันตก นางอรรคมเหษีชื่อนางจันทาเทวี น้องชายคนหนึ่งชื่อเจ้าธรรมกระษัตริย์ ได้เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช แลพระสิหิงค์มาประทักษิณพระธาตุแล้วอยู่ ๗ วันก็จากเมืองนครไปเมืองเชียงใหม่ พระยาศรีไสณรงถึงแก่กรรม ท้าวธรรมกระษัตริย์ผู้น้องได้เป็นเจ้าเมืองนั้น เมื่อศักราชได้ ๑๑๙๘ ปี ท้าวธรรมกระษัตริย์ถึงแก่ความตาย.

ยังมีพระญาองค์หนึ่งชื่อท้าวศรีธรรมาโศกราช เป็นเจ้าเมืองอินทปัตบุรีย์ น้องชายชื่อท้าวจันทภานู ๑ ชื่อท้าวพงษ์สุรา ๑ พาญาติวงษ์ไพร่พลช้างม้าหนีไข้ห่า ดั้นดงมาช้านานประมาณได้ ๘-๙ ปี มาถึงหาดทรายแก้วพบพรมสุริยทำไร่อยู่ นายเทียนบัณฑิตเป็นชีอยู่คนหนึ่ง แลพลพระยาศรีธรรมาโศกราชยกมาแต่อินทปัตนั้น ๓๐,๐๐๐ เกนตั้งค่ายลงมั่นแล้วเกนทำนาทำไร่ แลเกนทำอิฐปูนก่อกำแพงเมืองรอบแล้วก่อพระมหาธาตุขึ้นตามพระญาศรีธรรมาโศกราชทำไว้แต่ก่อน.

ครั้งนั้นยังมีผขาวอริยพงษ์อยู่เมืองหงษาวดีกับคน ๑๐๐ หนึ่ง พาพระบตไปถวายพระบาทในเมืองลังกา ต้องลมร้ายสำเภาแตกซัดขึ้นปากพนัง พระบตซัดขึ้นปากพนังชาวปากน้ำพาขึ้นมาถวาย สั่งให้เอาพระบตกางไว้ที่ท้องพระโรง แลผขาวอินทพงษ์กับคน ๑๐ คนซัดขึ้นปากพูนเดินตามริมชเล มาถึงปากพน้ำพระญาน้อยชาวปากน้ำพาตัวมาเฝ้า ผขาวเห็นพระบตผขาวก็ร้องไห้ พระญาก็ถามผขาว ๆ ก็เล่าความแต่ต้นแรกมานั้น แลพระญาก็ให้แต่งสำเภาให้ผขาวไปเมืองหงษาวดีนิมนตพระสงฆ์ ผขาวก็ลงสำเภาไปนิมนต์พระสงฆ์มา ๒ พระองค์ องค์หนึ่งชื่อมหาปเรียนทศศรี องค์หนึ่งชื่อมหาเถรสัจจจานุเทพฝ่ายนักเรียนทั้งสองพระองค์มาทำพระธาตุลงปูนเสร็จแล้วพระญาให้แต่งสำเภาไปนิมนต์พระสงฆ์เมืองลังกามาเสกพระมหาธาตุ

ตอนที่ ๕ 

ครั้งนั้นยังมีสำเภาลำหนึ่งซัดขึ้นปากน้ำพระญาน้อย ในสำเภานั้นมีแต่ศรีผึ้งกับกะแชงเต็มลำสำเภาแต่คนไม่มี พระยาก็ให้เอากะแชงมามุงรอบพระมหาธาตุ ศรีผึ้งนั้นให้ฝั้นเทียนสิ้น แล้วมีตราไปถึงเมืองขึ้นทั้ง ๑๒ นักษัตร์มาทำบุญฉลองพระธาตุ จึ่งปรากฏไปถึงท้าวพิไชยเทพเชียงภวา ผู้เป็นบิดาท้าวอู่ทองเจ้ากรุงศรีอยุธยา ท้าวอู่ทองยกไพร่พลยี่สิบแสนเจ็ดพันสามร้อย มาตั้งอยู่แม่น้ำแห่งหนึ่ง มีพระราชสารมาถึงพระญาศรีธรรมาโศกราช ๆ ก็จัดเอาพลเมืองได้ยี่สิบแสนเจ็ดพันสามร้อยเท่ากับพลท้าวอู่ทอง ยกไปตั้งทำเกเร ท้าวอู่ทองยกไปตั้งบางตภารทำเพหารอารามไปทุกแห่งจนถึงบางตพาร แลทหารทัพหน้าทั้งสองฝ่ายรบกัน ไพร่พลทั้งสองฝ่ายล้มตายเป็นอันมาก พระญาศรีธรรมาโศกราชดำริหในพระไทย ว่าตัวเรานี้ได้สร้างพระเจดีย์วิหารแลก่อพระพุทธรูปปลูกไม้พระศรีมหาโพธิ แลได้ยกพระมาลิกะเจดีย์ที่เมืองอินทปัตแลทำประตู ๒ ประตูจ้างคนทำวันพันตำลึงทอง แลพระบรรธมองค์หนึ่ง ทำด้วยสำมฤฐยาว ๔ เส้น พระเจดีย์สูงสุดหมอก อิฐยาว ๕ วา หนาวา ๑ พระระเบียงสูง ๑๕ วา ระเบียงสูงเส้นหนึ่ง หนาเสา ๙ ศอก แปย่อมหิน พระนั่งย่อมสำมฤฐ สูงละองค์ ๑๕ วา ตะกั่วดาดท้องพระระเบียงหนา ๖ นิ้ว บนปรางกว้าง ๒ เส้น เหลี่ยมเสาพระเจดีย์กว้างเหลี่ยมละ ๒ เส้น กะไดฉัตรหิน ๙ วา แม่กะไดเหล็กใหญ่ ๔ กำ ลูก ๓ กำ ขึ้นถึงปรางบน หงส์ทอง ๔ ตัวย่อมทองเนื้อแล้ว ๆ มาทำพระมาลิกะเจดีย์ ปลูกพระศรีมหาโพธิแลจำเริญพระมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช แล้วไปนิมนต์พระเมืองลังกา เมืองหงษา มาทำบุญฉลองพระธาตุ ได้จำแนกแจกทานเป็นอันมาก แลทำศึกกันรี้พลล้มตายก็จะเป็นนาระเวรไปเป็นอันมาก จะขอเป็นไมตรีนั่งอาศน์เดียวกันกับท้าวอู่ทอง เมื่อท้าวอู่ทองกับท้าวศรีธรรมาโศกราชจะเป็นไมตรีกันนั้น ท้าวอู่ทองขึ้นบนแท่นแล้ว พระญาศรีธรรมาโศกจะขึ้นไปมิได้ ท้าวอู่ทองก็จูงพระกรขึ้น มงกุฎของพระเจ้าศรีธรรมาโศกตกจากพระเศียร แล้วท้าวศรีธรรมาโศกสัญญาว่า เมื่อตัวพระองค์กับอนุชาของพระองค์ยังอยู่ให้เป็นทองแผ่นเดียวกัน ถ้าท้าวอู่ทองต้องประสงค์สิ่งใดจะจัดแจงให้ นานไปเบื้องหน้าให้มาขึ้นกรุงศรีอยุธยา ฝ่ายท้าวอู่ทองก็รับเป็นไมตรีแก่กันแลท้าวอู่ทองว่า ถ้าท้าวศรีธรรมาโศกราชต้องการสิ่งใดท้าวอู่ทองจะจัดให้มา เจรจาความกันแล้ว ต่างองค์ต่างยกไพร่พลคืนเมือง.

ท้าวศรีธรรมาโศกก็ตั้งอารามก่อพระเจดีย์ ปลูกพระศรีมหาโพธิรายทางมาจนถึงเมืองนคร ตั้งแต่นั้นทั้งสองภาราได้แต่งของบรรณาการตอบแทนกันมิได้ขาดปี เมื่อพระญาศรีธรรมาโศกถึงแก่กรรม เมื่อศักราช ๑๒๐๐ ปี พระญาจันทภานูเป็นเจ้าเมือง พระญาพงษาสุราเป็นพระยาจันทภานู ตั้งฝ่ายทักษิณพระมหาธาตุเป็นเมืองพระเวียง อยู่มาท้าวศรีธรรมาโศกถึงแก่กรรม พระญาจันทภาณูผู้น้องเป็นเจ้าเมือง ครั้งนั้นเจ้าเมืองชวายกไพร่พลมาทางเรือ มารบเอาเมืองมิได้ ชวาก็เอาเงินปรายเข้ากอไม้ไผ่แล้วกลับไป อยู่มาภายหลังชาวเมืองถางไม้ไผ่เก็บเงินชวากลับมารบอีกเล่า เจ้าเมืองแต่งทหารออกรบอยู่แล้วเจ้าเมืองพาญาติวงษ์ออกจากเมืองไปอยู่เขาแดง แลกรมการรบกับชวา ๆ ก็แตกไป ภายหลังชวายกไพร่มาทอดอยู่ ณ ปากน้ำ มีราชสารมาว่าเจ้าเมืองชวาให้เอาลูกสาวมาถวายให้เจ้าเมืองนครลงไปรับ พระญาก็แต่งไพร่พลลงไป ชวาก็จับตัวพระญาได้ นางอรรคมเหสีก็ตามพระญาไปถึงเกาะอันหนึ่งได้ชื่อว่าเกาะนาง โดยครั้งนั้นชวาก็ให้เจ้าเมืองผูกส่วนไข่เป็นแก่ชวา ๆ ก็ให้พระญาคืนมาเป็นเจ้าเมืองอยู่เล่า

.

ตอนที่ ๖

อยู่มายังมีพระมหาเถรองค์หนึ่ง ชื่อสัจจานุเทพ อยู่เมืองนครป่าหมาก รื้อญาติโยมมาอยู่เมืองนครศรีธรรมราชด้วยพระมหาเถรพรหมสุริย ขอที่ตั้งเขตอารามปลูกพระศรีมหาโพธิก่อพระเจดีย์ก่อกำแพงไว้ ให้ญาติโยมรักษาอยู่ตามพระญาอุทิศถวายไว้นั้น ได้ชื่อว่าวัศพเดิม อยู่มาลูกนายเทียนบัณฑิตผิดด้วยข้าสาวของพระญา ๆ ก็ให้จับฆ่าเสีย จึ่งลูกนายเทียนแล่นเข้าในวัศ พระมหาเถรไม่ให้ อยู่มาลูกนายเทียนไปดูงาน พระญารู้ก็ให้คนจับฆ่าเสีย พระมหาเถรรู้ก็เคืองใจ รื้อญาติโยมออกไปก่อพระวิหาร พระพุทธรูป ได้ชื่อว่าวัศหว้าทยาน แล้วไปตั้งอารามอยู่เขาน้อย พระมหาเถรถึงแก่กรรม พระญาก็ขึ้นไปแต่งการศพ ได้ชื่อว่าเขาคุมพนม แล้วพระญาก็คืนเมือง จึ่งพระญาชวาให้มาเอาส่วนไข่เป็ดไข่ไก่โดยพระญาผูกนั้น.

อยู่มายังมีเด็กคนหนึ่งพ่อแม่เข็ญใจอยู่ตำบลบ้านพเตียนเอาลูกใส่เปลไว้ร่มไม้กลางนา มีงูตัวหนึ่งเอาแก้วมาไว้ในเปล พ่อแม่นั้นได้แก้วตั้งชื่อลูกว่าพังพการ ครั้งเด็กโตใหญ่เลี้ยงโคกระบือได้ เด็กทั้งหลายก็มาเล่นด้วยพังพการ ๆ ให้ดาบไม้ภาเขคนละเล่ม วันหนึ่งพังพการชวรพวกเด็กวิดปลาแล้วให้สัญญาแก่กันว่า ถ้าปลาออกหน้าที่ผู้ใดจะตัดหัวเสีย ปลาวิ่งออกหน้าที่เด็กคนหนึ่ง พังพการก็เอาดาบภาเขตัดหัวเด็กนั้นขาดหาย พ่อเด็กไปบอกกรมเมือง ๆ ไปทูลแก่พระญา ๆ ก็เอาเด็กนั้นเป็นบุตร พระญาก็คิดแข็งเมืองกับชวา พระญาก็ให้ขุดคูรอบเมืองพระเวียง พระญาชวาให้มาเอาส่วนไข่พระญาก็ไม่ให้ พระญาชวายกทัพเรือมารบ พระญาก็ให้พังพการเป็นทหารออกรบ พังพการฆ่าพวกชวาเสียสามสิบคนสี่สิบคนทุกวัน พลชวาตายมากนัก แลจะได้เห็นตัวพังพการก็หาไม่ ชวาก็แตกหนีไป พระญาก็แบ่งเมืองให้พังพการฝ่ายหนึ่ง พระยามาถึงแก่กรรมก็เกิดไข้ห่า ชาวเมืองล้มตายหลบไข้ไปอยู่ตรอกห้วยตรอกเขา เมืองก็ร้างอยู่ช้านาน.

ยังมีศรีมหาราชาลูกนายนกกระทาสุรา กับคนทั้งหญิงทั้งชาย ๑๐๐ หนึ่ง มาตั้งอยู่สุดท่าน้ำชื่อว่าเมืองลานตกะ ก็เกิดลูกชื่อพระหล้า ๆ ก็เกิดลูกชื่อศรีมหาราชา เป็นผู้ใหญ่อยู่เมืองลานตกา ยังมีขุนศรีแปดอ้อมแสนเมืองขวางอยู่เมืองสระ มีพรานแปดคนตามเนื้อหลงมาพบพระเจดีย์เดิม จึ่งนายก็คืนไปบอกกับขุนศรีพลแปดอ้อมแสนเมืองขวาง เมืองสระนั้นขึ้นแก่เมืองนครศรีธรรมราชและเมืองสระนั้นเกิดไข้ห่า จึ่งแม่นางแอดรื้อมาตั้งเมืองสระนั้นมาพบเมืองแล้วมาตั้งทุ่งหลวงหรดีเมือง.

ยังมีนายไทยผู้หนึ่งชาวกรุงศรีอยุธยา ใช้เรือมาทอดอยู่ปากน้ำนครศรีธรรมราช นายไทยวางว่าว ๆ นั้นก็ขาด นายไทยตามว่ามาพบพระเจดีย์เดิม แล้วพบเจ้าไทยสององค์ องค์หนึ่งชื่อมหาเถรพุทธสารท องค์หนึ่งชื่อมหาเถรพรหมสุรีย์เที่ยวโคจรมา นายไทยก็เล่าความแก่เจ้าไทย ๆ ให้นำไปดูที่พระเจดีย์เดิม แล้วนายไทยก็ลงเรือไป ภายหลังเจ้าไทยทั้งสองพบพระมหาธาตุทยายลงเทียมพระบรรลังก์ รอยเสือเอาเนื้อขึ้นกินที่นั้น เจ้าไทยก็กลับไปอยู่อารามดังเก่าเล่า

.

ตอนที่ ๗

ยังมีผขาวอริยพงษ์อยู่กรุงศรีอยุธยา ใช้เรือมาทอดอยู่ปากน้ำพระญาแลมาพบเจ้าไทยทั้งสองพระองค์ แลผขาวอริยพงษ์นั้นว่าพบตำราพงษาวดารว่าเมืองนครผู้เถ้าผู้แก่แห่งผขาวมาทำพระมหาธาตุตกอยู่ช้านานแล้ว จึ่งพระมหาเถรบอกว่าเมืองร้างเสียช้านานแล้ว พระมหาธาตุก็ทำลายลงถึงบรรลังก์ ผขาวกับเจ้าไทยก็ชวนกันไปแผ้วถาง แล้วจดหมายกว้างยาวบรรลังก์พระมหาธาตุ แลพระพุทธรูปพระเจดีย์แลจังหวัดกำแพงเมือง แล้วผขาวอริยพงษ์ก็ลงเรือไปกรุงศรีอยุธยา นำเอาเรื่องราวขึ้นถวายพระเจ้าอยู่หัว ๆ รับสั่งให้นิมนต์ปเรียนทศศรีชาวหงษาวดี ซึ่งมาอยู่กรุงศรีอยุธยา มหาปเรียนทศศรีออกมากับนายแวงจำพระบรรทูล มาด้วยมหาปเรียน แล้วมีตรามาให้นิมนต์พระสงฆ์มาช่วยแต่งพระบรมธาตุ แลพระสงฆ์ทั้งหลายรื้อญาติโยมมารักษาพระบรมธาตุ ฟังพระบรรทูลแล้วกลับไปรื้อญาติโยม จึ่งนิมนต์พระมหาเถรสุทธิชาติพงษ์รื้อญาติโยมมาแต่ขนอม นายผ่องหัวพันคุมไพร่ส่วย พันไกรพลดานมาสร้างวัศมังคุด มหาเถรเหมรังศรีรื้อญาติโยมมาแต่โองตพานสร้างวัศขนุน นิมนต์มหาเถรเพชรมาแต่ยายคลังรื้อญาติโยมไพร่ส่วยพันศรีชนา มาสร้างวัศจันทเมาลี พระมหาเถรมังคลาจารรื้อญาติโยมมาแต่กุฎีหลวง สร้างวัศหรดีพระธาตุ พระมหาเถรโชติบาลมาแต่ปัตโวกเขาพระบาทกับนายมันทสุริชนาสร้างวัศอาคเณพระธาตุ พระมหาเถรอุนุรุทธ์รื้อญาติโยมมาแต่ยศโสทรสร้างวัดประดู่ พระมหาเถรพงษารื้อญาติโยมมาแต่เพชรบุรีย สร้างวัศตโนดพายัพพระมหาธาตุ จึ่งมหาปเรียนทศศรี ปลูกกุฎีอยู่พายัพพระมหาธาตุ จึ่งพระมหาเถรมงคลเอาไม้ศรีมหาโพธิใส่อ่างทองคำลงเรือสำเภารื้อญาติโยมมาแต่เมืองลังกา สร้างวัศพลับปลูกพระศรีมหาโพธิ ฝ่ายอุดรพระมหาธาตุปลูกลงทั้งอ่างทอง แล้วก่ออาศน์ล้อมรอบก่อพระพุทธรูปสามด้าน ฝ่ายปัจจิมก่อพระบรรธมองค์หนึ่งพระระเบียงรอบ ๒๘ ห้องชื่อว่าพระโพธิมณเฑียร จึ่งมหาปเรียนทศศรีแลผขาวอริยพงษ์นายแวงนิมนต์พระมหาเถรพุทธสาครวัศพระเดิมเป็นป่าแก้วตามพระบรรทูล พระเจ้าอยู่หัวให้นางแม่เรือนหลวงรับพระพุทธรูปมาใส่บาตรต่าง แลมีตราออกมาให้แม่เจ้าเรือนหลวง ๔๐ หัวงานเป็นข้าพระราชทานพระกันปัญญา จึ่งพระสงฆ์ทั้งหลายกับพระศรีมหาราชาเจ้าเมืองลานตกา ก็ชักชวนคนช่องห้วยช่องเขาออกมาแต่งพระมหาธาตุแต่ยอดลงมาถึงบรรลังก์ แล้วทำการฉลองพระธาตุ พระศรีมหาราชาสร้างวัดหรดีพระธาตุ พระมหาเถรมงคลประชาออกมาแต่กรุงศรีอยุธยา พระศรีมหาราชานิมนต์ให้อยู่อารามนั้น ๆ ชื่อกะดีจีนเก้าห้อง พระศรีมหาราชาก่อชุกชีแลวิหารแล้ว พระศรีมหาราชาถึงแก่กรรม ขุนอินทาราผู้ลูกกินเมืองลานตกาอยู่ เมียขุนอินทาราชื่อนางเอื่อย ลูกชายชื่อนายศรี ลูกหญิงชื่อนางราม มีพระราชโองการออกมาว่าให้ขุนอินทาราแต่งลูกเข้าไปถวาย ขุนอินทาราแต่งลูกหมอช้างเข้าไปแทน หมอช้างก็ตามลูกเข้าไปด้วย หมอช้างให้กราบทูลว่า ขุนอินทาราหาเอาลูกสาวเข้ามาถวายไม่ โปรดให้ข้าหลวงออกมาสืบ ๆ สมตามถ้อยคำหมอช้างกราบทูล จึ่งให้เอาขุนอินทาราไปตีเสียที่ประตูท่าชี แล้วเอาลูกเอาเมียผู้คนเข้าไปเป็นข้าหลวง นายศรีธนูลูกขุนอินทารานั้น โปรดให้เป็นนายศรีทนู ตั้งแต่นั้นมาเมืองนครศรีธรรมราชก็อันตรธานเป็นช้านาน หาผู้กินเมืองมิได้

ตอนที่ ๘

เมื่อศักราชได้ ๑๘๑๕ ปี มีพระโองการให้นายศรีทนูออกมากินเมืองนครศรีธรรมราช จึ่งมหาปเรียนทศศรีแลพระสงฆ์ทั้งหลาย ทำเรื่องราวให้ผขาวอริยพงษ์กับนายแวงเอาเข้าไปถวาย มีรับสั่งให้นายช่างเอาทองแดงหล่อยอดพระมหาธาตุปิดทองเต็มแล้ว ให้ผขาวอริยพงษ์รับออกมา ตรัสให้นายสามราชหงษ์ออกมาทำสารบาญชี ญาติโยมพระสงฆ์ทั้งปวง ให้ขาดจากส่วนจากอากรจากอาณาประชาบาล ให้เป็นเชิงเป็นตระกูลข้าพระ นายสามราชหงษ์ทำบาญชีข้าพระโยมสงฆ์ทั้งปวงอันรอมาอยู่นั้นทำพระระเบียงล้อมพระธาตุแล้วทำกำแพงล้อมพระระเบียงทั้งสี่ด้านแล้วทำที่พระห้องพระระเบียงให้แก่พระสงฆ์ผู้ต้องพระราชนิมนต์นั้น ได้แก่ มหามงคลแต่มุมอิสาน ๑๕ ห้อง ได้แก่โชติบาล ๑๒ ห้อง ข้างพระตูเหมรังศรีถึงธรรมศาลา แต่นั้นไปได้แก่มหาเถรสุทธิพงษ์ ๑๕ ห้องถึงมุมอาคเณ แต่นั้นไปได้แก่พระสังฆเถรเพ็ช ๑๗ ห้อง ได้แก่ขุนไชยกุมารเจ้าเมืองบันท้ายสมอพระประทานห้องหนึ่ง ได้แก่พระมหาเถรสรรเพ็ช ๖ ห้อง ได้แก่พระธรรมกัลญาณ ๙ ห้องถึงมุมหรดี แต่นั้นไปได้แก่ศรีสุดานเจ้าเมืองไทร ๕ ห้อง ได้แก่มหาเถรนั้นห้อง ๑ ได้แก่มหาเถรมังคลาจาร ๒ ห้อง ได้แก่นนทสารีย์ ๑๐ ห้องทั้งประตูด้วย ได้แก่นางชีแก้วห้อง ๑ ได้แก่พระยามิตร ๓ ห้อง ได้แก่ขุนไชยสุราเจ้าเมืองสาย ๔ ห้อง ได้แก่ราชาศรีเทวาเจ้าเมืองกะลันตัน ๖ ห้อง ได้แก่ขุนศรีพลแปดอ้อมแสนเมืองขวางเจ้าเมืองสระ ๔ ห้อง ได้แก่แม่นางอั่วทองนายรามสักส่วนพฤทธิบาท ๘ ห้องถึงมุมพายัพ แต่นั้นไปได้แก่ขุนแปดสระ เจ้าเมืองตรัง ๕ ห้อง ได้แก่ราชาพัทธยาเจ้าเมืองพัทลุง ๖ ห้อง ได้แก่ขุนจุลาเจ้าเมืองละงูห้อง ๑ ได้แก่ราชรัดหัวเมืองไสย ขุนอินทาราเจ้าเมืองเข้าด้วยห้อง ๑ ได้แก่นายสำเภาเสมียนขุนอินทาราเข้าด้วย ๓ ห้อง ได้แก่นายญีน้อยหัวพันส่วย ๒ ห้อง ได้แก่นายจอมศรี นายน้อยยอดม่วงห้อง ๑ ได้แก่นายดำหัวปากห้อง ๑ ได้แก่นางเจ้าเรือนหลวงห้อง ๑ ได้แก่มหาปเรียนทศศรีผขาวอริยพงษ์นายพุทธศร ๑๐ ห้อง ได้แก่มหาเถรอนุรุทธ ๓ ห้อง ได้แก่ขุนคลองพล ๓ ห้องถึงมุมอิสานเข้ากัน ๑๖๕ ห้อง พระพุทธรูป ๑๖๕ พระองค์.

แลจึ่งมหาปเรียนทศศรีแลพระสงฆ์ทั้งหลาย แลผขาวอริยพงษ์แลนายสามราชหงส์ ก็ให้วัดกำแพงรอบพระระเบียงทั้งสี่ด้านให้แก่พระสงฆ์ทั้งทั้งปวง กำแพงฝ่ายบูรรพ์ ๔ เส้น ๑๓ วา แต่มุมอิสานไปได้แก่พงไพลโพธิมณเฑียร เส้น ๖ วา ได้แก่นายรัตนในโชติบาลเส้น ๔ วา ได้แก่นายรัดมหาเถรเหมรังศรีถึงพระธรรมาศาลา ๙ วา ได้แก่มหาเถรสุทธิชาติพงษ์วัศมังคุด ๑๙ วา ได้แก่เพหารหลวง ๙ วาจนมุมอาคเณ ด้านทักษิณได้แก่สังฆเถรเพ็ชเส้น ๒ วา ได้แก่เจ้าเมืองบันทายสมอ ๙ วา ได้แก่มหาเถรสรรเพ็ช ๑๙ วา ได้แก่มหาเถรธรรมกัลยาเส้น ๒ วา จนมุมหรดี ด้านปัจฉิมได้แก่เพหารหลวง ๘ วา ได้แก่ศรีสุดานเจ้าเมืองไทร ๙ วา ได้แก่มหาเถรราชเสนา ๕ วา ได้แก่มหาเถร ๒ วาได้แก่มหาเถรมังคลาจาร ๔ วาได้แก่มหานนทสาริย ๑๙ วา ได้แก่กัลยามิตร ๑๒ วาทั้งประตูด้วย ได้แก่ขุนไชยสุรา ๙ วาประตูข้างหนึ่งด้วย ได้แก่ราชาศรีเทวาเจ้าเมืองกะลันตัน ๙ วา ได้แก่ขุนศรีพลแปดอ้อม แสนเมืองขวางเจ้าเมืองสระ ๙ วา ได้แก่อั่วทองนายรามส่วนพฤทธิบาท ๑๒ วาจนมุมพายัพ แต่ด้านอุดรไปได้แก่ขุนแปดสันเจ้าเมืองตรัง ๘ วา ได้แก่ราชาพัทธยาเจ้าเมืองพัทลุง ๑๐ วา ได้แก่ขุนจุลาเจ้าเมืองลงู ๘ วา ได้แก่นายญีน้อยหัวปากส่วย ๔ วา ได้แก่นายจอมศรีนายน้อยยอดม่วง ๒ วา ได้แก่นายดำหัวปากส่วย ๒ วา ได้แก่นางแม่เจ้าเรือนหลวง ขุนอินทาราช่วยด้วย ๕ วา ได้แก่มหาเถรอนุรุทธ ๙ วา ได้แก่ขุนคลองพล ๔ วาจนมุมอิสาน เข้ากันทั้งสี่ด้านเป็นกำแพงเท่านี้ ๑๗ เส้นกับวาหนึ่ง

ตอนที่ ๙

จึ่งพระสงฆ์ทั้งหลายร้องฟ้องว่าจะขอที่ภูมิมีสัตไว้สำหรับญาติโยมทำเป็นนาจังหันสำหรับอาราม สำหรับพระระเบียง จึ่งขุนอินทาราและพระสงฆ์ทั้งหลาย ก็ทำกระบวนให้นายสามราชหงษ์แลผขาวอริยพงษ์เข้าไปถวาย จึ่งมีพระบรรทูลตรัสให้หาขุนอินทาราแลพระสงฆ์เข้าไป จึ่งขุนอินทาราแลพระสงฆ์เข้าไป จึ่งมีพระบรรทูลตรัสให้ขุนรัตนากร คุมคนสามร้อยมารั้งเมืองนครศรีธรรมราช จึ่งมีพระบรรทูลตรัสให้ขุนอินทาราเป็นศรีมหาราชา ศรีมหาราชาก็ทูลด้วยกิจพระสาสนาแลพระสงฆ์ให้เจ้าคณะ ถวายขบวนแลปาญชีพระสงฆ์ทั้งหลาย ก็ทูลด้วยที่ภูมิมีสัตขอให้ญาติโยมพระสงฆ์ทั้งหลาย แลมีพระบรรทูลให้นายสามจอมจำพระบรรทูลออกมาด้วย ศรีมหาราชาให้ทำสารบาญชีที่ภูมิมีสัตทั้งสองฝ่ายชเลแดนไว้แก่พระสงฆ์เจ้าให้ญาติสร้างสวนไร่นาดินป่า สำหรับพระห้องพระระเบียงและพระสงฆ์เมื่อมหาศักราชได้ ๑๕๕๐ ปีนั้น จึ่งศรีมหาราชาแลนายสามจอมแจกดินป่า ณ หัวปากนายคำ ให้แก่พระมหาธาตุเจ้า ๑๕๐ เส้น ฝ่ายบูรรพ์ให้อำแดงสาขาพยาบาล ๙ เส้น แลให้นายศรีรักพยาบาล ๕ เส้น ริ้วหนึ่งเป็นนาจังหันวัดให้แก่นายทองไสหัวปาก ในโพธิมณเฑียร วัดให้พระกัลปนา เป็นนาจังหันในหัวสิบหมวดนายทองไสยพยาบาล ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่พระเดิม แลมหาเถรพุทธสาคร บัณฑิตเพียนพยาบาล ตำบลสตกเมือง เป็นนา ๒,๐๙๙ กะบิ้ง ให้วัดภูมิมีสัต ให้แก่พระระเบียงมหาเถรสุทธิชาติพงษ์วัดภูมิมีสัต ให้แก่พระมหาเถรเหมรังศรี ให้นายแพงนายวัวพยาบาล อำแดงทาน้องมหาเถรเหมรังศรี สร้างเป็นนาจังหัน ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่มหาปเรียนทศศรีสำหรับพระระเบียง ๑๐ ห้อง ให้นายพุทธศรพยาบาลฝ่ายทักษิณต่อแดนด้วยพระธรรมศาลา ฝ่ายตวันออกต่อแดนด้วยพระกัลปนาฝ่ายตะวันตกทลาหลวง ฝ่ายสตีนแม่น้ำเป็นแดน เป็นนา ๑๑ เส้น กับริ้วหนึ่ง แลฝังศิลาไว้เป็นแดนทั้งสี่ทิศ ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่อุโบสถ ๖ เส้น ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่มหาเถรสังฆเถรเพ็ช เป็นนาจังหันตำบลปัจฉิมหรดี เมืองนาขวางเจ็ดริ้ว ให้แก่พระธรรมศาลาเป็นนา ๘ เส้น เป็นนาจังหันมหาเถรเหมรังศรีตำบลท่ากะสัง ให้แก่มหาสังฆเถรเพ็ชตำบลท่าชาก เป็นนาจังหันเข้าพระเป็นนา ๑๗ เส้น ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่นายน้อยทองสุก ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่พงไพลตำบลโพธิมณเฑียร ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่มหาเถรโชติบาลให้นายรัดพงษ์พญา ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่พระเดิม เป็นนาจังหันพระมหาเถรพุทธสาคร ตำบลตรอกเมืองเป็นนา ๑๑ เส้นกับริ้วหนึ่ง ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่พระระเบียง เป็นนาจังหันพระมหาเถรธรรมราชแลมหาเถรเพ็ช ให้วัดภูมิมีสัตให้เป็นนาเชิงคดีเป็นนา ๒ เส้น ฝ่ายอาคเณเมืองเป็นนาเชิงคดีสงฆ์ให้เจ้าคณะ ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่พระระเบียง เป็นนาจังหันพระมหาเถรธรรมกัลยา ให้บาคูรัดพยาบาล

.

ตอนที่ ๑๐

แลศรีมหาราแลนายสามจอมวัดที่ภูมิมีสัตให้แก่ ทั้งนี้ให้ญาติทั้งปวงพยาบาล แลให้พระยาคำแพงแลพระระเบียงทั้งนั้นด้วยแล้ว แลให้ขุนศรีพลเอาเชิงกุฎี ในวัดพระคูหาวัดลำพูนฉวางเมืองสระให้เอาจากมามุงพระธรรมศาลา ให้มหาเถรเหมรังศรีรักษา แลพระมหาเถรเหมรังศรีก็ร้องฟ้องว่านาซึ่งแจกนั้นน้อยนัก แลจะขอดินป่าตำบลบางนำเดิมนาตะโหนอีกเล่า จึ่งศรีมหาราชาแลนายสามจอมให้นายรัดปลัดศรีมหาราชาไปวัดดินป่า แลบางน้ำเดิมนาตะโหนอีกเล่า ให้แก่มหาเถรเหมรังศรี ๆ ก็ให้นายวัวอำแดงราอำแดงทา น้องมหาเถรเหมรังศรีสร้างเป็นนากำนันห้องแล้ว อำแดงเอื่อยให้แก่นายไส พี่พระมหาเถรเหมรังศรี ข้างหัวนอนอำแดงหราสร้างนั้นให้วัดภูมิมีสัตให้แก่อำแดงสัง สร้างเป็นนาจังหันพระเจดีย์ แล้วให้วัดภูมิมีสัตให้นายอุนจังหันเป็นนาพระกัลปนา ให้วัดภูมิมีสัตให้นายสามบุรักแลอำแดงใหม่รักษา ให้วัดภูมิมีสัตให้นายแผ่นหนาพระกัลปนา ให้วัดภูมิมีสัตให้มหาเถรเหมรังศรีให้นางเพงสร้างเป็นนาจังหัน ให้วัดภูมิมีสัตให้ในกัลปนาในหัวสิบนายหมู่สร้างเป็นนาจังหัน ๙ เส้น ๓ หมวดเป็นนาจังหันเจ้าคณะ แล้ววัดภูมิมีสัตตำบลท่าชี ให้แก่พระธรรมศาลา ให้นายอินสร้างเป็นนาเข้าพระแลจังหันพระมหาเถรเหมรังศรี ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่นายสามเพ็ชนายงัวด้วง อำแดงเอื่อยอำแดงบุนนองสร้างคลองแจระ เป็นนาจังหันสำหรับพระธรรมศาลา มหาเถรเหมรังศรี ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่นายอุ่นนายดำศรีสร้างตำบลพระกระเสด เป็นนาจังหันมหาเถรเหมรังศรี ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่ชาวลางตีนสร้างตำบลลมุ ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่มหาเถรมังคลาจาร แลมหาเถรนนทสารีย์สร้างตำบลยวนกระแลบทะ ให้นายเกิดสร้างพยาบาลสำหรับพระระเบียง ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่นายพุทธสรแลผขาวอริยพงษ์ตำบลพะเตียน สร้างเป็นนาจังหันปเรียนทศศรี ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่นายพุทธสรแลผขาวอริยพงษ์ สร้างตำบลท่าชี ๓ ริ้วเป็นนามหาปเรียนทศศรี ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่นายพุทธสรตำบลพายัพเมือง สร้างเป็นนาจังหันมหาปเรียนทศศรี ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่มหาเถรเพ็ช ตำบลท่าชีสร้างสำหรับพระระเบียง ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่นายคำสร้างตำบลฉลง ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่นายเทพตำบลพะเตียน สำหรับพระธรรมศาลา แลมหาปเรียนทศศรีเหมรังศรี ทั้งนี้ย่อมศรีมหาราชาแลนายสามจอมแจกดินป่าให้ทุกสังกัดทุกหมู่ จึ่งศรีมหาราชาแลนายสามจอมแจกทำบาญชีที่เชิงกุฎีวัดให้แก่แม่นางเจ้าเรือนหลวง แลหัวสิบชาวปทารพระกัลปนา แลวัดให้ผู้ครองเพณีแลพระสงฆ์อันขึ้นแก่เจ้าคณะแลพระสงฆ์ วัดนอกวัดเสศนารายทั้งหลายให้ทุกตำบลตามพระบรรทูลแล้ว ให้นายสามจอมเข้าไปถวายบังคม แล้วขบวนพระมหาธาตุและพระระเบียง แลโพธิมณเฑียรแลพระเดิมแลอาราม แลบาญชีแลญาติพระสงฆ์ แลที่ภูมิมีสัตทั้งปวง แลนายสามจอมทูลด้วยพระเจดีย์แลพระเพหาร แลขอประดิษฐานผู้คน แลญาติไว้เป็นข้าพระแลขอที่ภูมิมีสัต จึ่งมีพระราชโองการอนุโมทนาด้วยนายสามจอม จึ่งให้นายแวงจำพระบรรทูลไปมอบที่ภูมิมีสัต แลข้าพระไว้สำหรับพระนั้น แลห้ามราชการทั้งปวงนั้น มีพระราชโองการไว้สำหรับพระแลนายสามจอมได้ที่ภูมิมีสัตตำบลบ้านสนได้พระระเบียงได้กำแพงล้อมพระมหาธาตุด้วย แล้วพระศรีมหาราชาสร้างพระวิหารฝ่ายทักษิณพระมหาธาตุ แลก่อพระเจดีย์เพหารสูง ๗ วาปิดทองลงถึงอาศน์ ก่อพระพุทธรูปทั้งสี่ด้าน ๆ ละแปดพระองค์ เข้ากัน ๓๒ พระองค์ พระพุทธรูปประธานด้านละองค์เป็นพระ ๓๖ พระองค์ ได้ชื่อพระวิหารหลวง และพระมหาเถรเหมรังศรีสร้างพระธรรมศาลา ขุนศรีพบแปดอ้อมแสนเมืองขวาง เอาเชิงกุฎีวัศคูหาวัศฉวางวัศลำพูน เอาจากมามุงพระธรรมศาลา

ตอนที่ ๑๑

อยู่มาพระศรีมหาราชาถึงแก่กรรม ศักราช ๑๘๖๑ ปี โปรดให้ข้าหลวงออกมา เป็นศรีมหาราชาแต่งพระธรรมศาลา ทำระเบียงล้อมพระมหาธาตุ และก่อพระเจดีย์วัศสภ มีพระบัณฑูรให้พระศรีมหาราชาไปรับเมืองลานตกา ศรีมหาราชาถึงแก่กรรมเอาศพมาไว้วัศศภ แล้วเอามาก่อเจดีย์ไว้ในพระเดิม ๙ ยอด.

เมื่อศักราชได้ ๑๙๑๙ ปี โปรดให้หลวงศรีวราวงษมาเป็นเจ้าเมืองมาทำวิหารฝ่ายอุดรพระธาตุ ทักษิณพระโพธิมณเฑียร ก่อพระสูง ๗ ศอก หล่อพระสำมฤฐองค์หนึ่งไว้ปัจจิม เมียหล่อองค์หนึ่งไว้ฝ่ายบูรรพ์ชื่อว่าเพหารเขียน แล้วอุทิศข้าหญิงชายไร่นาไว้สำหรับรักษาพระ โปรดให้หลวงพิเรนทรเทพมาเป็นเจ้าเมือง พระทิพราชาน้องพระญาสุพรรณเป็นปลัด ศึกอารู้ยกมาตีเมืองแล้วไปตีเมืองพัทลุงได้ ทิพราชาเป็นแม่ทัพไปตีได้คืนเล่า.

เมื่อศักราช ๒๐๓๙ ปี โปรดให้พระยาพลเทพราชมาเป็นเจ้าเมือง เกนให้ตกแต่งทำกำแพงกำชับไว้ แล้วเข้าไปกรุงไปทางเมืองสระ.

เมื่อศักราช ๒๑๔๑ ปี โปรดให้พระยาศรีธรรมราชะเดชะมาเป็นเจ้าเมือง อุชงคนะให้ลักปหม่าหนาเป็นแม่ทัพเรือมารบเสียขุนคำแหงปลัด ณ รอปากพระญา ข้าศึกรุกเข้ามาถึงตีนกำแพงฝ่ายอุดร พระยาศรีธรรมราชออกศึกหนีไป.

เมื่อศักราช ๒๑๔๔ ปี โปรดให้พระรามราชท้ายน้ำมาเป็นเจ้าเมือง เอาขุนเยาวราชมาเป็นปลัด รู้ข่าวศึกอุชงคนะจึงพระยาให้ขุดฝ่ายบูรรพ์แต่ลำน้ำท่าวังมาออกลำน้ำฝ่ายทักษิณ.

เมื่อศักราช ๒๑๗๑ ปี ศึกอุชงคนะยกมา พระญาก็ให้ตั้งค่ายคูฝ่ายอุดร แลแต่งเรือหุมเรือหายพลประมาณห้าหมื่นเศษ รบกันเจ็ดวัดเจ็ดคืนขุนพัญจาออกหักทัพกลางคืนศึกแตกลงเรือศึกเผาวัศท่าโพเสีย พระญาถึงแก่กรรม พระญาแก้วผู้หลานก่อพระเจดีย์บรรจุธาตุไว้ในพระธรรมศาลา.

ศักราช ๒๑๙๗ ปี มีพระบรรทูลโปรดให้พระญาบริบาลพลราชเจ้าเมืองตะนาวศรีมหานครมาเป็นเจ้าพระญานครศรีธรรมราช เดชไชยอภัยพิรีบรากรมพาหุเจ้าพระญานครศรีธรรมราช

___

ภาพจากปก : ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หมายเลขกำกับ na๐๑d-img๐๐๐๐๑๓๒-๐๐๔๕

 

ชาวสวน ชาวไร่ ติดต่อบริการ Nakhonsistation ช่วยขาย ได้ที่ Line @nakhonsistation หรือโทร 0926565298

โรคระบาด ในตำนานพระธาตุเมืองนคร

โรคระบาด, ตำนานพระธาตุ

“…การหาหลักฐานทางโบราณคดีนั้น
ถ้าไม่มีอะไรดีกว่านิทาน ก็ต้องรับเอานิทานเข้าประกอบ
หนังสือนี้จึ่งอาจเปนประโยชน์ได้บ้างในทางโบราณคดี…”

พระนิพนธ์คำนำตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช
ในพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์

เป็นอย่างใจความสำคัญของพระนิพนธ์ในพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ที่ยกมาจากคำนำหนังสือตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับหลวงนรินทร (ม.ล. สำเนียง อิศรางกูร ณ อยุธยา) พิมพ์ในงานปลงศพนางเทพนรินทร (สงวน อิศรางกูร ณ อยุธยา) ผู้ภรรยา เมื่อปีมะโรง พ.ศ.๒๔๗๑ ว่า “นิทาน” (อาจ)เป็นประโยชน์(ได้บ้าง)ในทาง “โบราณคดี” ทั้งนี้ก็จนกว่าจะมีหลักฐานชั้นต้นอื่นใดที่ยอมรับกันในทางโบราณคดีมาประกอบการอธิบาย และแม้ว่าท้ายที่สุดแล้ว “นิทาน” จะไม่สามารถเป็นหลักฐานทางตรงในทางโบราณคดีได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า “นิทาน” ยังสามารถใช้เป็นกระจกสะท้อนภาพของชุดความคิดในทางคดีอื่น

ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชฉบับที่กล่าวถึง เป็นสำนวนร้อยแก้วโครงเรื่องคล้ายกับตำนานเมืองนครศรีธรรมราช แต่ส่งอิทธิพลต่อความรับรู้ของชาวนครศรีธรรมราชมากกว่า เป็นต้นว่า ในตำนานเมืองฯ เขียนชื่อบุคคลว่า “นางเหมมาลา” แต่ในตำนานพระธาตุฯ เขียนเป็น “นางเหมชาลา” ซึ่งแม้ว่า “มาลา” จะให้ความรู้สึกถึงความเป็นสตรีมากกว่า “ชาลา” แต่อย่างหลังนี้ กลับเป็นที่รู้จักและใช้กันต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น การสกัดให้เห็นภาพสะท้อนอื่นใดจากตำนานกลุ่มนี้ จึงควรเริ่มที่ “ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช”

ตำนานพระธาตุฯ มีหลายภาพสะท้อนความเป็นนครศรีธรรมราชในอดีตอยู่หลายด้าน แต่ที่จะสกัดออกมาในที่นี้ คือเรื่อง “โรคระบาด” ซึ่งแลดูทันเหตุทันการณ์กับสภาพปัจจุบัน อย่างน้อยที่สุดก็พลอยจะได้อาศัยเป็นกรณีเปรียบเทียบ

หาก “ยารักษาโรค” เป็น ๑ ในปัจจัย ๔ ของมนุษย์ 
ก็ย่อมแสดงชัดว่า “โรค” เป็นเหตุตั้งต้นแห่งปัจจัยนี้ 
และดูเหมือนว่าจะเป็นเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงอื่นด้วย ดังจะได้กล่าวต่อไป

อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ได้แบ่งช่วงเวลาในตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชไว้ในบทนำหนังสือตำนานพระธาตุและตำนานเมืองนครศรีธรรมราช (ฉบับกรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่พุทธศักราช ๒๕๖๐) ออกเป็น ๔ สมัย โดยจะขอคัดลำดับเรื่องราวในแต่ละสมัยมาแสดง ดังนี้ 

๑. สมัยก่อนสร้างเมืองนครศรีธรรมราช


กล่าวถึงพระเจ้าอังกุศราช เจ้าเมือง “ชนทบุรี” ยกทัพขึ้นเหนือเพื่อรบชิงพระทันตธาตุจากพระเจ้าโกสีหราชแห่งเมือง “ทนทบุรี” ท้าวโกสีหราชเสียเมืองและสิ้นพระชนม์ นางเหมชาลาเป็นพระราชธิดากับเจ้าทันตกุมารจึงนำพระทันตธาตุลอบหนีออกจากเมือง ลงสำเภาโดยมีเป้าหมายว่าจะไปเมืองลังกา ระหว่างทางเกิดพายุร้ายสำเภาแตก ทั้งสองขึ้นฝั่งได้และฝังพระทันตธาตุไว้ที่ “หาดทรายแก้วชเลรอบ” ส่วนตนเองก็แอบซ่อนตัวอยู่

ในช่วงเวลาต่อมา พระอรหันต์พรหมเทพเหาะผ่านมาแลเห็นรัศมีพระธาตุจึงลงมานมัสการ เยาวกษัตริย์ทั้งสองจึงออกมานมัสการและเล่าเรื่องความเป็นมาและที่จะเดินทางไป พระอรหันต์ได้ทำนายว่า สถานที่ตรงนี้ต่อไปภายหน้าจะมีกษัตริย์ทรงพระนามว่าพระยาศรีธรรมโศกราชจะมาตั้งขึ้นเป็นเมือง และพระอรหันต์ได้สนับสนุนให้ทั้งสองนำพระทันตธาตุลงเรือที่ท่าเรือเมืองตรังไปถึงเมืองลังกาได้อย่างปลอดภัย

เจ้าเมืองลังกาไปประดิษฐานพระทันตธาตุไว้ในปราสาท และเมื่อทราบความประสงค์ของเยาวกษัตริย์ทั้งสองว่าต้องการเดินทางกลับบ้าน จึงทำหนังสือถึงเจ้าเมืองทนทบุรีห้ามทำร้ายเจ้าทั้งสอง พร้อมแต่งสำเภาให้ทรัพย์สมบัติกับพระสารีริกธาตุกลับไปด้วย ๑ ทะนาน เมื่อเดินทางผ่านมาถึง “หาดทรายแก้วชเลรอบ” ได้หยุดแวะและแบ่งพระสารีริกธาตุออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งฝังไว้ที่เดียวกันกับที่เคยฝังพระทันตธาตุ อีกส่วนหนึ่งได้นำกลับไปยังเมืองทนทบุรีของตน

๒. สมัยเมืองนครศรีธรรมราช ครั้งที่ ๑


กล่าวถึงการเกิด “ไข้ยุบลมหายักษ์” ที่เมืองใหญ่หงสาวดี พระเจ้าศรีธรรมโศกราชเจ้าเมืองจึงพาผู้คนพร้อมพระมเหสีและพระโอรส ๒ พระองค์ พระนามว่า เจตราช กับ พงษ์กษัตริย์ ลงสำเภาแล่นใบมาถึงริมทะเลแห่งหนึ่งจึงตั้งเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นที่นั้น

ครั้งนั้น พระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งในประเทศอินเดียทรงพระนามว่าพระเจ้าศรีธรรมโศกราชเช่นเดียวกัน (คือพระเจ้าอโศกที่รู้จักกันในประวัติศาสตร์) ได้ก่อพระเจดีย์ขึ้น ๘๔,๐๐๐ องค์ แต่ไม่มีพระธาตุจะบรรจุ จึงส่งทูตมายังเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อขอแบ่งพระธาตุไป

พระเจ้าศรีธรรมโศกราชแห่งนครศรีธรรมราช เมื่อแรกก็ไม่รู้จะหาพระธาตุได้จากที่ใด แต่ต่อมามีชายชราอายุ ๑๒๐ ปี พอจะทราบเรื่องการฝังพระธาตุโดยเยาวกษัตริย์ทั้งสองในอดีตจึงชี้สถานที่ “หาดทรายแก้วชเลรอบ” ที่อยู่ในตัวเมืองของพระองค์นั้น แต่ก็ต้องหาผู้มีวิชาอาคมจึงสามารถนำพระบรมธาตุขึ้นมาได้ และแบ่งให้แก่พระเจ้าศรีธรรมโศกราชผู้สร้างพระเจดีย์ให้มีพระธาตุบรรจุได้ครบทั้ง ๘๔,๐๐๐ องค์

ส่วนที่ “หาดทรายแก้วชเลรอบ” ภายในเมืองของพระองค์นั้นน โปรดให้สร้างเจดีย์พระธาตุขึ้นตรงที่ ๆ เคยฝังพระธาตุแต่ก่อน ขณะนั้นพระพุทธสิหิงค์ลอยน้ำมาจากลังกา มาทางเกาะปีนังแล้วมาถึงหาดทรายแก้วที่ก่อเจดีย์พระธาตุ

แต่การก่อเจดีย์พระธาตุยังไม่เสร็จก็เกิดไข้ห่าลง ผู้คนจึงอพยพลงสำเภาหนีแต่ก็ไม่พ้นตายกันหมด เมืองนครศรีธรรมราชจึงร้างไปเป็นครั้งที่ ๑

๓. สมัยเมืองนครศรีธรรมราช ครั้งที่ ๒ 


มีเรื่องราวสั้น ๆ ที่ปรากฏขึ้นมาโดยไม่แสดงความเกี่ยวข้องกับเรื่องราวตอนใด โดยตำนานพระธาตุฯ ได้กล่าวถึงตัวเลขศักราช ๑๑๙๖ พระญาศรีไสณรงค์กับน้องชื่อธรรมกษัตริย์ มาจากทิศตะวันตกมาเป็นเจ้าเมือง พระพุทธสิหิงค์จากลังกามาประทักษิณพระธาตุอยู่ ๗ วันแล้วไปเชียงใหม่ ครั้นพระยาศรีไสยณรงค์สิ้นพระชนม์ พระอนุชาก็เป็นเจ้าเมืองแทน ถึงศักราช ๑๑๙๘ เจ้าธรรมกระษัตริย์ก็สิ้นพระชนม์ 

เรื่องในตำนานจริง ๆ ควรจะเริ่มเมื่อกล่าวถึงท้าวศรีธรรมโศกราชเจ้าเมือง “อินทปัตบุรีย์” กับน้องชื่อจันทรภาณุ และท้าวพงษ์สุราหนีไข้ห่า มาถึงพระธาตุที่ก่ออิฐค้างไว้ จึงได้ก่อพระธาตุจนเสร็จและสร้างกำแพงเมืองโดยรอบ ให้ผ้าขาวชาวหงสาวดีไปนิมนต์พระสงฆ์จากลังกามาทำบุญฉลองพระธาตุ การเฉลิมฉลองพระธาตุทราบไปถึงพระราชบิดาของท้าวอู่ทองแห่งกรุงศรีอยุธยาจึงให้ท้าวอู่ทองยกทัพลงมา ท้าวศรีธรรมโศกราชก็ยกทัพขึ้นไป กองทัพหน้าของทั้งสองปะทะกันถึงล้มตายแถบบริเวณ “บางตะภาร” ท้าวศรีธรรมโศกราชรู้สึกรันทดใจจึงขออ่อนน้อมยอมเป็นไมตรี ทั้งสองทัพก็เลิกแล้วต่อกัน

ศักราช ๑๒๐๐ ท้าวศรีธรรมโศกราชสิ้นพระชนม์ จันทรภาณุได้เป็นเจ้าเมืองแทน โดยใช้พระนามว่า ศรีธรรมโศกราช และท้าวพงษ์สุราได้เลื่อนเป็นจันทรภาณุ กองทัพชวายกทัพมา เอาชนะเมืองนครศรีธรรมราชได้ ต้องยอมเป็นเมืองส่งส่วยไข่เป็ดแก่ชวา แต่ต่อมาไม่นานก็มีคนดีชื่อพังพการเข้ารับราชการทหาร คิดต่อสู้ชวาโดยการขุดคูรอบเมืองพระเวียงขับไล่ชวาไปได้ จึงได้รับส่วนแบ่งให้ครองเมืองครึ่งหนึ่ง ต่อมาท้าวศรีธรรมโศกราช สิ้นพระชนม์ ก็เกิดโรคระบาด คนตาย เมืองร้างไปเป็นครั้งที่ ๒ 

๔. สมัยเมืองนครศรีธรรมราช ครั้งที่ ๓


ตำนานเมืองฯ กับตำนานพระธาตุฯ กล่าวต่างกันเล็กน้อยในรายละเอียด โดยตำนานเมืองได้อ้างอิงไปถึงเรื่องเจ้านายเชื้อสายกษัตริย์ผู้แยกตัวออกมาจากส่วนกลาง ซึ่งก็ควรหมายถึงกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ก่อนปีการสถาปนากรุงอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓ มาตั้งศูนย์อำนาจอีกแห่งหนึ่งขึ้นที่เมืองเพชรบุรี โดยมีคำเรียกผู้ครองเมืองด้วยภาษาที่มีความหมายสูงสุดว่า “พระเจ้าอยู่หัว”

ตำนานเมืองฯ ได้กล่าวถึงพระนามกษัตริย์ แสดงถึงอำนาจส่วนกลางที่แยกมาตั้งอยู่ที่เมืองเพชรบุรี ว่า “พระพนมทะเลศรีมเหศวัสดิทราธิราช” กับพระอนุชาผู้ได้สืบอำนาจองค์ต่อมาพระนามว่า “รัตนากร” ทั้งสองพระองค์เป็น “พระเจ้าหลาน” ของ “พระปู่พระย่า” ที่มีอำนาจปกครองอยู่ที่ส่วนกลาง 

พระเจ้าอยู่หัวเมืองเพชรบุรีได้สนับสนุนให้มีการก่อตั้งบ้านเมืองต่าง ๆ ขึ้น ตามชายฝั่งอ่าวไทย ประมาณตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปถึงจังหวัดนครศรีธรรมราช 

เรื่องในตำนานเมืองฯ และตำนานพระธาตุฯ พอสรุปให้เป็นเรื่องเดียวกันได้ว่า เมื่อศักราช (พุทธศักราช) ๑๘๑๕ (ตามตำนานพระธาตุฯ) มีพระราชโองการจากกษัตริย์ส่วนกลาง สนับสนุนชาวพื้นเมืองสองพี่น้องแห่งบ้าน “จรุงสระ” หรือบ้าน “ท่าวัง” กับบ้าน “ลานตะกา” ให้ช่วยกันสร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นมาใหม่ มีลูกหลานทายาทครองเมืองสืบต่อกัน ๑ – ๒ คน ซึ่งตั้งแต่สมัยนี้เป็นต้นมา ได้มีการบูรณะก่อสร้างเสนาสนะ ปูชนียวัตถุ และปูชนียสถานภายในวัดพระมหาธาตุนครศรีธรรมราชอย่างต่อเนื่องไม่มีว่างเว้น

หลังจากนั้น ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ได้กล่าวถึงการแต่งตั้งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชจากส่วนกลางมาครองและการทำนุบำรุงวัดพระธาตุฯ ในปี พ.ศ. ๑๘๖๑, ๑๙๑๙, ๒๐๓๙, และปีสุดท้ายคือ ๒๑๙๓ ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยา โปรดให้พระยาบริบาลพลราช เจ้าเมืองตะนาวศรีมาเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช

ในท้ายของการวิเคราะห์โครงเรื่องเพื่อแบ่งยุคสมัยของเมืองนครศรีธรรมราชนี้ อาจารย์พิเศษฯ ได้ยกข้อวินิจฉัยของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์เกี่ยวกับจุดเวลาของการแต่งตำนานมาแสดงด้วยว่า คือสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา เพราะเป็นรัชกาลถัดจากศักราชสุดท้ายที่ตำนานกล่าวถึง

เมื่อพิจารณาจากการลำดับโครงเรื่องข้างต้นแล้ว อาจกล่าวได้โดยสรุปว่า เมืองนครศรีธรรมราชมีชาตะและมตะด้วยเหตุเดียวกันในแต่ละสมัย นั่นคือ “โรค” ในตำนานพระธาตุฯ กล่าวถึงโรคในทำนองโรคระบาดนี้ ด้วยชื่อเรียกเฉพาะว่า “ไข้ยุบลมหายักษ์” หรือ “ไข้ยุบล” (ตำนานเมืองฯ เรียก “ไข้ยมบน”) กับชื่ออย่างศัพท์โบราณว่า “ไข้ห่า” 

เป็นที่น่าสนใจว่าทั้งชื่อของไข้ยุบลมหายักษ์ ยุบล หรือห่า ล้วนไม่สื่อถึงอาการของโรคให้เข้าใจได้ทันที แต่กลับทำให้เห็นสภาพการณ์ว่าเป็นโรคระบาดที่มีผลทำให้ผู้คนล้มตายมาก “มหายักษ์” ให้ภาพว่าเป็นโรคอันใหญ่ อันยิ่งอันถอดไม่ออก ส่วน “ห่า” คือการแสดงให้เห็นว่าจำนวนคนป่วยคนตายจากไข้นี้มีมาก  

อาจารย์ดิเรก พรตตะเสน ได้อธิบายความหมายของชื่อไข้นี้ด้วยบทความ “ยมบน” ในวารสารรูสะมิแลว่า ไข้ยมบน (ใช้ตามตำนานเมืองฯ) มีความหมายเดียวกันกับ “พระยมเรียก” ที่เมื่อ “ยมบนทีไร ประชากรมนุษยภูมิตามแว่นแคว้นต่าง ๆ ตายผล็อยยเหมือนใบไม้ร่วงเป็นจำนวนพันจำนวนหมื่น” กับทั้งยังได้อธิบายต่อไปถึงอาการของไข้ว่าเป็นอย่างสำนวนมุขปาฐะชาวนครว่า “ขี้ทีรากที” หรือ “อหิวาตกโรค” นั่นเอง

ในขณะเดียวกันก็มีการสันนิษฐานเกี่ยวกับไข้นี้อีกกระแส อาจารย์ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ได้ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจ ในหนังสือห่าลง จีนถึงไทย ตายทั้งโลก โดยได้เชื่อมโยงประวัติศาสตร์การเกิดโรคระบาดในรัฐโบราณเข้ากับประวัติศาสตร์โลกว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ สถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นนั้น ตรงกับปีที่มีการระบาดใหญ่ของความตายสีดำ (Black Death – กาฬโรค) ในยุโรปและก่อนหน้านั้นเล็กน้อยในมณฑลเหอเป่ย ประเทศจีน ทำให้โรคห่าที่พระเจ้าอู่ทองหนีมาจากเมืองอู่ทองนั้นอาจเป็นโรคเดียวกันโดยอาศัยการเชื่อมโยงกันของการค้าข้ามสมุทร

เช่นเดียวกันกับบริบทของนครศรีธรรมราช ในฐานะที่เป็นเมืองท่าสำคัญของคาบสมุทรมลายู ที่ปฏิเสธการมีปฏิสัมพันธ์กับเมืองท่าอื่นทั่วโลกไปไม่ได้ จึงเป็นไปได้ว่า “ไข้ยุบล” หรือ “ไข้ยมบน” ที่ปรากฏในตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชนั้น จะคือ “กาฬโรค” ด้วย


ดูคลิปย้อนหลังรายการ “รวมเรื่องเมืองนคร” ตอน โรคระบาด ในตำนานพระธาตุเมืองนคร ได้ที่นี่

ติดตามLive สดรายการ “รวมเรื่องเมืองนคร” ได้ทุกวัน พฤหัสษบดี เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น ได้ทางเพจ Nakhonsi Station ที่นี่นครศรีธรรมราช


 

ชาวสวน ชาวไร่ ติดต่อบริการ Nakhonsistation ช่วยขาย ได้ที่ Line @nakhonsistation หรือโทร 0926565298

ดูเหมือนว่า “ลิกอร์” จะไม่ใช่ชื่อของนครศรีธรรมราชในภาษาโปรตุเกส

ลิกอร์

ลิกอร์ ไม่ใช่ชื่อที่ชาวโปรตุเกสบัญญัติเรียกเมืองนครศรีธรรมราชด้วยเหตุว่าลิ้นแข็งพูดคำว่านครไม่ได้ 
.
แต่คือชื่อแท้ดั้งเดิมภาษาพื้นเมือง ที่ชาวมลายูเรากำหนดชี้ดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ สงบ สง่า มั่งคั่ง และยิ่งใหญ่ไว้ประหนึ่งคือไข่แดงของคาบสมุทร
.
ชื่อนี้จึงยังมีเรียก มีใช้ในพี่น้องมุสลิมเป็นปกติ ผมได้ยินครั้งแรกจากนายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชชาวมุสลิม เมื่อครั้งไปเยี่ยมคารวะในวันเข้ามารับตำแหน่งใหม่ และคุ้นหูบ่อยขึ้นเป็นคำตอบจากใครๆ ผู้รู้ภาษามลายูเมื่อพยายามถามว่านครศรีธรรมราชนี้ ท่านเรียกว่าอย่างไร ?
.
ด้วยว่า “เลอกอห์” ที่ออกเสียงตามสำเนียงแขกนี้ มีทั้งคำแปลและความหมาย อาการโพล้งเอาว่าคำนี้เพี้ยนมาจากคำนั้นเพื่อลากเข้าความของชื่อบ้านนามเมืองเรา ทั้งชื่อนี้และอีกหลายชื่อจึงควรคลี่คลายด้วยการตั้งคำถามก่อนจะ(สรุปว่า)เพี้ยนเป็นอื่นว่า เป็นภาษาอะไร ? แปลว่าอะไร ? ให้ความหมายอย่างไร ? สอดคล้องกับบริบทอะไรในพื้นที่ ?
.
การที่ “เลอกอห์” ยังคงตกค้างทั้งชื่อและความหมายอยู่กับชาวมุสลิมนั้น แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างชาวโปรตุเกสกับชนพื้นเมืองดั้งเดิม ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกกลุ่ม
.
เป็นที่ยอมรับอยู่แล้วแต่โบราณ ในสมัยกรุงศรีอยุธยายุคเดียวกันกับที่โปรตุเกสเข้ามา หลักฐานมีปรากฏชัดด้วยตำแหน่ง “พระยาราชบังสัน” ตำแหน่งแม่ทัพเรือรวมถึงความเชี่ยวชาญในทางทะเลนั้น เราต่างยกย่องเชื่อถือผู้มีเชื้อสายอิสลาม

บรรยากาศยามเช้าที่ปากน้ำเมืองนครศรีธรรมราช

จึงไม่แปลกที่ชาวโปรตุเกสจะได้ยินชื่อนี้จากชาวเลพื้นถิ่นผู้ชำนาญร่องน้ำและเกาะแก่ง ก่อนจะจดแจ้งลงในแผนที่ แล้วมามีความเข้าใจด้วยว่าเป็นหลักฐานลายลักษณ์อักษรในครอบครองว่าผู้เขียนคือผู้บัญญัติ ทั้งที่แท้ก็ได้ยินได้ฟังมาจากชาวเรานั่นแลฯ

วันนี้ วันพระ ชวนมาดูภาพวันพระ เมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้ว ของเมืองนครศรีธรรมราช

วันพระ ภาพเก่า

“…ขอให้สำเร็จสมบัติสามประการ
คือมนุษยสมบัติ แลสวรรค์สมบัติ
มีพระนิพพานสมบัติเป็นที่สุด
ตามประเพณีพระอริยเจ้า แต่ก่อนนั้นแล…”

จากคำอุทิศถวายทองคำหุ้มยอดพระบรมธาตุเจดีย์ ของเจ้าจอมมารดานุ้ยเล็ก ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ธิดาเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พัด) กับทูลกระหม่อมหญิงใหญ่ (นวล) พระนัดดาในพระเจ้านครศรีธรรมราชกับหม่อมทองเหนี่ยวนี้ ทำให้เห็นความวิริยะในการจะเข้าถึงเป้าหมายของพระพุทธศาสนาที่สำคัญสุดนั่นคือ “พระนิพพาน”

พระนิพพานเป็นเรื่องใหญ่ เป็นจุดหมายปลายทางของพุทธบริษัทที่จะว่าไกลก็ไกล ใกล้ก็ใกล้ เว้นแต่พระบรมศาสดาแล้ว บรรดาพุทธศาสนิกชนจะถึงได้ก็ด้วยอาศัยพระธรรมเป็นผู้ชี้ทาง

สำหรับเมืองนครศรีธรรมราชเรา ได้อาศัยเอาพระบรมธาตุเจดีย์เป็นที่พึ่งเสมือนตัวแทนแห่งพระบรมศาสดามานานนักหนาแล้ว อย่างน้อยก็ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ จึงจะขออ้างเอาเพลงยาวนมัสการพระบรมธาตุ ของพระยาตรังคภูมาภิบาล กวีชาวนครศรีธรรมราชในสมัยนั้นขึ้นสักบทหนึ่ง ความว่า

“งามบัลลังก์ทรงองค์พระเจดีย์
ไม่วายเว้นแสงพระสุรีย์ส่อง
สูงสามสิบเจ็ดวายอดหุ้มทอง
ดั่งชี้ห้องสุราลัยให้ฝูงชน”

ตรงคำว่า “ห้องสุราลัย” นี้เอง ที่อาจจะคือห้องเดียวกันกับ “พระนิพพาน” ซึ่งอาการเรียวแหลมประหนึ่งปลายลูกศรขององค์พระบรมธาตุเจดีย์นี้เอง เฝ้าชี้ทางชี้มรรคแก่ชาวเมืองนครอยู่ตาปีตาชาติ

จึงไม่แปลกที่บรรพบุรุษจะศรัทธาซาบซึ้งว่าองค์พระบรมธาตุเจดีย์คือพระบรมศาสดา เพราะ โย ธมฺมํ ปสฺสติ โส มํ ปสฺสติ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นเราตถาคต

ภาพนี้ ถ่ายโดย KARPELÈS Suzanne ชาวฝรั่งเศสเมื่อเดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๖๗ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) เป็นบรรยากาศการฟังธรรมของชาวนครศรีธรรมราชในวันพระหนึ่งไม่ทราบข้างและเดือน แต่พอจะสังเกตจากบริบทแวดล้อมได้ว่าเป็นมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพระวิหารโพธิ์ลังกา

นอกจากนี้ จะขอชวนมาดูบรรยากาศวันพระเมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้วด้วยภาพดังกล่าว โดยขอชี้จุดให้สังเกตเป็นข้อๆ ไป ดังนี้

๑. พระเจดีย์รายเปลือย
๒. พระเจดีย์รายทรงระฆังคว่ำ(ลังกา) อย่างสุโขทัย
๓. พระเจดีย์องค์ใหญ่มุมตะวันตกเฉียงเหนือ (ปัจจุบันพังเหลือแต่ฐานเขียงแล้วสร้างจำลองขึ้นใหม่)
๔. วิหารศาลาโล่ง
๕. พระสงฆ์ ธรรมาสน์และพานบูชากัณฑ์เทศน์
๖. จารีตการฟังธรรมของชาวนคร
๗. การแต่งกาย (เข้าวัด) ของชาวนครในสมัย ร.๖
๘. พระพุทธรูปรายผนัง
๙. ปลายนิ้วพระบาทพระนอนประจำพระวิหาร

การเข้าวัดฟังธรรม เป็นปกติวิสัยของชาวนครศรีธรรมราช ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “เมืองพระ” ในแต่ละท้องถิ่นแห่งที่ก็มีธรรมเนียมปฏิบัติที่แยกย่อยออกต่างกัน จะมากน้อยก็ด้วยการเลือกรับและคติความเชื่อดั้งเดิมของพื้นที่นั้นๆ อย่าง “ในพระ” ที่หมายถึงบริเวณโดยรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์นี้ มีธรรมเนียมการ “สวดด้าน” หรือ “สวดหนังสือ” กันในพระวิหารพระระเบียง เป็นต้นฯ

พระธาตุไร้เงา : อัศจรรย์หรือเพียงแค่ “คำคนโฉดเขลา เล่าลือกันไป”

พระธาตุไร้เงา

“…แต่ก่อนนั่งฟังเล่นแต่คำกล่าว

เขาพูดจายักเยื้องเป็นเรื่องราว

ว่าครั้งคราวเมืองแตกสาแหรกกระจาย

ทรงพระปาฏิหาริย์บันดาลเหตุ

อาเพศให้เห็นซึ่งพระฉาย

ถ้าอยู่ดีมิได้เห็นเป็นอันตราย

เงานั้นหายไม่ได้เห็นเป็นธรรมดา…”

นายแก้ว กรมพระคลังสวน แต่งนิราศนครศรีธรรมราชในคราวตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตก เมื่อพุทธศักราช ๒๔๐๒ ความตอนหนึ่งตามที่ยกมาข้างต้น กล่าวถึง “คำกล่าว” ว่าด้วย “เรื่องราว” เกี่ยวกับเงาขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ เมืองนครศรีธรรมราช มีใจความสำคัญว่า หากบ้านเมืองปกตินั้น จะไร้เงาพระธาตุเจ้า ทว่าปรากฏเงาขึ้นเมื่อใด เป็นสัญญาณหมายว่ากำลังจะเกิด “อาเพศ” ต่อบ้านเมืองขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่นว่า ศึกสงคราม โรคระบาด หรือภัยธรรมชาติ เป็นต้น

ความเชื่อของคนพื้นถิ่นเกี่ยวกับองค์พระบรมธาตุเจดีย์ เมืองนครศรีธรรมราชนั้น มีอยู่มาก อาทิ กา ๔ ฝูง ทำหน้าที่พิทักษ์รักษายังทิศทั้ง ๔, ศิลาจารึกอักษรปลวะ ภาษาทมิฬ ในวิหารโพธิ์ลังกา ผู้ใดอ่านได้ไปตลอด จะปลุกตื่นยักษ์และครุฑเชิงบันใดพระม้า, ฝนตกในเขตวัดคือน้ำพระพุทธมนต์จากบาตรน้ำมนต์ทองคำบนยอดกรงแก้ว และที่ “ยักเยื้องเป็นเรื่องราว” จนลือไปทั่วสารทิศแต่โบราณคือความเชื่อว่า “ไร้เงา” ดังได้ชี้รายละเอียดไว้แล้ว

อย่างไรก็ตามความเชื่อที่ว่านี้ เป็นมูลเหตุให้มีการพิสูจน์ความจริงในปัจจุบัน ด้วยการตั้งสมมติฐานเพื่ออธิบายเหตุผลไว้หลายประการ บ้างว่าเป็นปรากฏการณ์ทางความมืดและเงา ทำให้วัตถุรูปทรงเรียวแหลม เมื่อยิ่งอยู่ห่างไกลจากพื้นที่รับเงา จะปรากฏเงาขนาดใหญ่ขึ้นและจางลงในที่สุด หรืออธิบายว่าเงาของส่วนปลียอดในตำแหน่งปล้องไฉนขึ้นไปนั้น ทอดไปตกบนพระเจดีย์รายและหลังคาพระวิหารธรรมศาลาไม่ถึงพื้น

คำกล่าวนี้เริ่มต้นที่ใดไม่ปรากฏ แต่จากการค้นคว้าเอกสารโบราณพบว่า มีการกล่าวถึงประเด็นนี้อย่างแพร่หลายในยุคใกล้เคียงกัน คือรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังได้ยกนิราศนครศรีธรรมราชมาแล้วข้างต้นฉบับหนึ่ง และพบความพิสดารในนิราศแพรกไพร ซึ่งแต่งโดยพระครูคง ในปีพุทธศักราช ๒๔๐๙ อีกฉบับหนึ่งว่า

“…มาแต่โบราณ

ยินเล่าลือมา

พระฉายฉายา

เจดีย์บ่เห็น

เพราะแสงทิวา

กรทับทองเป็น

ศรีสุวรรณกระเด็น

ดั่งกระจกจับตา

เงาพระเจดีย์

ทับที่หลังคา

วิหารศาลา

ไม่ดูให้ทั่ว

มัวมืดจักขวา

นานเห็นเงาปรา

กฎเกิดตกใจ

ฤดูเหมันต์

พระสุริโยฉัน

ย้ายราศีไกล

จึ่งเงาเจดีย์

มิทับอันใด

ดูไปเห็นง่าย

ถึงชายทางหลวง

เขาปักระกำ

ไว้กว่าจะค่ำ

กลัวคนจะล่วง

ข้ามเงาเจดีย์

มีโทษกระทรวง

บ้างพูดล่อลวง

ว่าไม่มีเงา

ชวนพากันเชื่อ

มิได้เอื้อเฟื้อ

เพราะปัญญาเขลา

ผู้มีปัญญา

บ่ได้ถือเอา

คำคนโฉดเขลา

เล่าลือกันไป…”

จะเห็นว่าใช่เฉพาะแต่ปัจจุบันที่มีการพิสูจน์ความเชื่อนี้ ในอดีตก็มีการแถลงข้อยุติไว้ด้วยแล้วโดยละเอียดด้วยเช่นกัน พอสรุปความได้จากนิราศข้างต้นว่า ที่ลือกันในข้อที่พระธาตุไร้เงานั้น เป็นจริงก็แต่ในฤดูร้อนและฤดูฝน ด้วยเพราะเงาไปตกบนหลังคาพระวิหารธรรมศาลา แต่เมื่อถึงเหมันต์ คือช่วงฤดูหนาวกลางเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนนั้น เงาพล่ายมาตกบนพื้นหาดทรายแก้วช่วงระหว่างพระวิหารธรรมศาลาและปากตูเหมรังสี จนกรมการเมืองต้องกั้นเขตแดนไว้ห้ามผ่านกับทั้งคาดโทษผู้ละเมิด

เงาพระบรมธาตุเจดีย์ทอดไปทางทิศตะวันตก

ในแง่งามของความเชื่อนี้ มีผู้อธิบายไว้อย่างน่าสนใจว่า “พระธาตุ” นั้น ความจริงหมายถึง “พระบรมสารีริกธาตุ” อันประดิษฐานอยู่ภายในองค์พระบรมธาตุเจดีย์ จึงไม่มีทางที่จะปรากฏเงาขึ้นอย่างไรได้ เว้นเสียแต่ถูกทำลายแล้วอัญเชิญออกมา ถึงคราวนั้นก็คงต้องเรียกว่า “อาเพศ” หนีไม่พ้นเสียได้

ดังนั้น ผู้มีปัญญา (จึง)บ่ได้ถือเอา คำ(ของ)คนโฉดเขลา (ที่)เล่าลือกันไป

หากควรแต่จะขบคิดให้ตกว่า หาก “ไร้เงา” ก็ “ไร้ตัว”

“ไร้ตัว” ก็ “อนัตตา” หรือความอัศจรรย์อันแท้จริงจะเร้นอยู่ในข้อนี้

วิสาขปูรณมี ชาวนครเคยใช้วันนี้ “ขึ้นปีใหม่”

๑ มกราฯ (ไม่ใช่)ปีใหม่เมืองนคร
ไม่ใช่แม้แรมหนึ่งเดือนอ้าย ขึ้นค่ำเดือนห้า
๑ เมษาฯ และมหาสงกรานต์

ก่อนที่จะข้ามไปถึงคำตอบ
ว่าปีใหม่ของชาวนครศรีธรรมราช
ตรงกับวันใด มีอะไรเป็นเครื่องกำหนด
.
ขอทำความเข้าใจให้ตรงกันเรื่อง “ปีใหม่” ก่อนว่า
“ปี” กำหนดชั่วโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่ง
ใช้เวลาราว ๓๖๕ วัน หรือ ๑๒ เดือน
เมื่อยึดเอาดวงอาทิตย์ฉะนี้ จึงเรียก “สุริยคติ”
.
จึงหมายความว่าเมื่อโลกเริ่มต้นวนอีกครั้ง
ก็จะเท่ากับว่ากำลังเริ่ม “ปีใหม่” เนื่องต่อกันไป
.
แต่ก่อนมีหมุดหมายกำหนดวันขึ้นปีใหม่หลายระลอก
ได้แก่ แรมค่ำหนึ่ง เดือนอ้าย, ขึ้น ๑ ค่ำเดือนห้า
๑ เมษายน และ ๑ มกราคม ที่ใช้อยู่เป็นปัจจุบัน
.
จะเห็นว่ามีทั้งการยึดทั้งตามสุริยคติและจันทรคติ
ซึ่งเป็นการยึดโยงกับสิ่ง “นอกโลก”
.
ตานี้ย้อนกลับมาในโลก
อันมีศาสนาเป็นเครื่องยึดโยงจรรโลงใจ
หมุดหมายของวันขึ้นปีใหม่
ที่ตรงกับเหตุการณ์สำคัญของศาสนาใด
ก็จะแปรผันตรงกับศักราชในศาสนานั้น
.
เช่นว่า อิสลามคติ ที่ใช้เดือนมุฮัรรอม
ประกอบกับการมองเห็นดวงจันทร์
เป็นวันจบปีจบเดือนเริ่มฮิจเราะห์ศักราชใหม่
หรือ พุทธคติ ก็เปลี่ยนพุทธศักราช
โดยใช้วันเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เป็นอาทิ
.
“…ครั้นถึงเทศกาลเดือนหก
วันเพ็ญ ปีใหม่ ทำขวัญพระธาตุ…”

ข้อความนี้คัดจากเอกสารเลขที่ ๑๖๔
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ (ท่าวาสุกรี)
ซึ่งพระครูเหมเจติยาภิบาลได้กำหนดนับจัดหมวดใหม่เป็น
พงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช หมายเลข ๒
.
มีข้อบ่งชี้บางประการถึงอิทธิพลของพระพุทธศาสนา
ที่แพร่และเจริญอยู่ในดินแดนนี้
คือการใช้วันขึ้นปีใหม่เป็นวันเพ็ญ เดือนหก
.
“วิสาขปุรณมีบูชา”
จึงคือวันขึ้นปีใหม่ของเมืองนครศรีธรรมราช

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า “วันวิสาขบูชา”
ถูกยกย่องให้เป็นวันสำคัญสากล
มาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๔๒
ตามมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ
เพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญยิ่ง
ทั้ง ๓ เหตุการณ์ของพระโคตมพุทธเจ้า
คือการประสูติ ณ สวนลุมพินีวัน,
ตรัสรู้ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ
และดับขันธปรินิพพาน ณ ควงไม้สาละ
ในสาลวโนทยาน เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ
.
ทุกเหตุการณ์ล้วนเกิดขึ้นในวันเพ็ญ เดือน ๖ ทว่าต่างปีกัน ดังนั้น การรำลึกถึงความสำคัญเหล่านี้จึงเรียกให้พ้องไปตามกาลว่า “วิสาขปุรณมีบูชา” ซึ่งแปลว่าการบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ หรือเดือน ๖
.
หากพุทธศักราชเป็นการสมมตินับเอาวันที่พระพุทธเจ้า
เสด็จดับขันธปรินิพพานเป็น พ.ศ. ๑ ตามอย่างประเทศศรีลังกาและพม่า หรือหลังจากเหตุการณ์นั้นแล้ว ๑ ปีตามอย่างประเทศไทย วันซึ่งจะเป็นหมุดหมายเปลี่ยนศักราช จึงคือวันวิสาขบูชา และใช้สืบเนื่องมาแต่โบราณก่อนจะปรับเปลี่ยนไปตามสากล
.
แล้วเมืองนครศรีธรรมราชเอาอย่างใคร ?

จารึกที่ฐานพระลาก
วัดศรีทวี อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
มีข้อความระบุว่า

“…วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ ปีกุน สัตตศก
เพลาชาย ๓ ชั้น พุทธศักราชได้ ๒๒๗๗…”

เมื่อสอบพุทธศักราชกับจุลศักราชโดยท่านครูมีชื่อแล้ว

พบว่า เป็นการนับศักราชมากกว่าพุทธศักราชปัจจุบัน ๑ ปีอย่างศรีลังกา ข้อนี้อาจแสดงให้เห็นการยึดถือระเบียบวิธีดั้งเดิมของแหล่งซึ่งเป็นต้นทางของพระพุทธศาสนา ที่ประดิษฐานอยู่ ณ เมืองนครศรีธรรมราชและสยามประเทศ
.
อีกหลักฐานชี้ชัดที่แทบไม่ต้องตีความ

ปรากฏในจารึกแกนปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์เมื่อยอดหักที่อาจารย์ก่องแก้ว วีระประจักษ์ ปริวรรตไว้ มีว่า

“พระพุทธศักราชได้สองพันร้อยเก้าสิบพระพรรษาเศษได้สี่วัน เมื่อยอดพระเจ้าหัก วันจันทร์ เดือนหก แรมสี่ค่ำ ปีมะเมีย…”

พระพรรษาเศษได้สี่วัน หมาย ถึงหลังปีใหม่ ๔ วัน
เมื่อย้อนกลับไป ๔ วัน
วันปีใหม่จะตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖
ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชาดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
.
ความน่าสนใจอีกประการนอกจากคำตอบว่า ชาวนครศรีธรรมราช ใช้วันใดเป็นหมุดหมายขึ้นปีใหม่ คือการค้นคว้าเพิ่มเติมว่ามีการเฉลิมฉลองกันอย่างไรในเมืองนี้
.
แน่นอนว่ามี “ทำขวัญพระธาตุ” แล้วอย่างหนึ่งตามจารึกข้างต้น ในภาพซึ่งปรากฏเสาต้นไม้เพลิงนี้ มีคำอธิบายเขียนไว้กำกับต้นฉบับว่า “พระเจดีย์พระมหาธาตุ (คราวมีงาน)” แต่ไม่ระบุว่างานอะไร อาจกล่าวโดยกว้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองในวาระใดวาระหนึ่ง
.
จึงเป็นเรื่องของอนาคตที่คงต้องอาศัยหลักฐานประกอบเพื่อทำหน้าที่ให้ปากคำจนจิ๊กซอว์ภาพนี้ต่อกันบริบูรณ์

ความเชื่อเรื่อง พระห้ามสมุทรเมืองนครศรีธรรมราช

พระห้ามสมุทร

พระห้ามสมุทรเมืองนครศรีธรรมราชนั้น มีความเชื่อที่สืบต่อกันมาแต่โบราณ ว่าสามารถขจัดภยันตรายที่เกิดจากวาตภัยในท้องสมุทรได้อย่างพิศดาร และมักประดิษฐานให้หันพระพักตร์ออกสู่ทะเลหลวงในทิศบูรพา เป็นต้นว่า

พระเหมชาลา

ภาพที่ ๑ พระพุทธรูปทรงเครื่องเจ้าฟ้าหญิงเหมชาลา ทางห้ามสมุทร
ประดิษฐานในวิหารท้ายจรนำ พระวิหารพระธรรมศาลา วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

พระอัฏฐารสปางห้ามสมุทร ประดิษฐานในวิหารท้ายจรนำพระวิหารพระธรรมศาลา วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร ซึ่งพระวิหารหลังนี้หากเทียบกับตำนานพระบรมธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช ก็จะได้แก่ “เรือสำเภา” ที่เชิญพระบรมสารีริกธาตุมาแต่ลังกา ด้วยว่าพระวิหารได้ถูกแบ่งเป็น ๓ ส่วน คือ

๑.) เฉลียงด้านหน้า ประดิษฐาน “พระทนธกุมาร” พระพุทธรูปทรงเครื่องปางประทานอภัย ส่วนนี้แทนหัวเรือสำเภาอันมีเจ้าฟ้าชายธนกุมาร แห่งทันตบุรี ประทับอยู่

๒.) โถงประธานในพระวิหาร ประดิษฐาน “พระตาเขียว” พระพุทธรูปปางมารวิชัย นัยน์ตาประดับกระจกสีเขียว ส่วนนี้แทนพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งประดิษฐานมากลางลำเรือ

๓.) วิหารท้ายจรนำ ส่วนนี้ยื่นเข้าไปในเขตพุทธวาสคร่อมพระวิหารพระระเบียงคด ประดิษฐาน “พระเหมชาลา” พระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามสมุทร ส่วนนี้แทนท้ายเรือสำเภาอันมีเจ้าฟ้าหญิงเหมชาลา แห่งทันตบุรี ประทับอยู่ 

พระพิงเสาดั้ง

ภาพที่ ๒ พระพิงเสาดั้ง พระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามสมุทร
ประดิษฐานภายในพระวิหารทับเกษตร (ด้านทิศตะวันออก) วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

มีเพลงกล่อมเด็กบทหนึ่งว่า

ไปคอนเหอ…

ไปแลพระนอนพระนั่ง

พระพิงเสาดั้ง

หลังคามุงเบื้อง

เข้าไปในห้อง

ไปแลพระทองทรงเครื่อง

หลังคามุงเบื้อง

ทรงเครื่องดอกไม้ไหวเหอ…

คำว่า “พระพิงเสาดั้ง” นั้น ได้แก่พระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามสมุทร ๒ องค์ ที่ด้านหลังมี “เสาดั้ง” ค้ำยันให้มั่นคงเอาไว้ ปัจจุบันประดิษฐานในพระวิหารทับเกษตร สันนิษฐานว่าเสาดั้งนี้นำมาค้ำไว้เมื่อครั้งพระครูเทพมุนีศรีสุวรรณถูปาภิบาล (พ่อท่านปาน) บูรณะครั้งใหญ่พระบรมธาตุเจดีย์ ในสมัยรัชกาลที่ ๕

เป็นที่น่าสังเกตว่า พระพุทธรูปปางห้ามสมุทรทุกพระองค์จะประดิษฐานให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออกสู่ทะเลหลวง แม้พระพิงเสาดั้งเองที่สามารถเลือกมุมประดิษฐานได้โดยรอบฐานพระบรมธาตุเจดีย์ก็ตามที

เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๙ คราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปนั้น มิได้ทรงอัญเชิญพระพุทธรูปอื่นใดนอกจาก “พระห้ามสมุทรเมืองนคร” ที่ทรงประดิษฐานไว้ประจำห้องพระบรรทม บนเรือพระที่นั่งนอร์ทเยอรมันลอยด์ (ซักเซน) ด้วยพระราชศรัทธาหวังเป็นเครื่องปัดเป่าภยันตรายในท้องทะเล คู่กับพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชบิดา ตามความในพระราชหัตถเลขาที่มีถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล ลงวันพุธ ที่ ๓ เมษายน ร.ศ.๑๒๖ ความว่า “…พ่อจัดหลังตู้ตั้งพระห้ามสมุทเมืองนครมุมหนึ่ง ต้นไม้ยี่ปุ่นปลูกกระถางกราบเขาจัดสำหรับเรือ ๒ กระถาง กับพระรูปทูลกระหม่อมปู่…”

ส่วนพระห้ามสมุทรเมืองนครที่ทรงเชิญไปนั้น อาจได้รับการทูลเกล้าถวายเมื่อคราวเสด็จประพาสเมืองนครศรีธรรมราชไม่คราวใดก็คราวหนึ่ง เพราะเสด็จประพาสเมืองนครศรีธรรมราช ถึง ๕ ครั้ง

นอกจากนี้ยังพบว่าพระห้ามสมุทร มีการเขียนในเอกสารโบราณเป็นห้าม “สมุทย” ซึ่งคนละความหมายกับ “สมุทร” คำโบราณในดังกล่าวคือสมุทัย องค์หนึ่งในอริยสัจจ์ ๔ หมายถึงเหตุให้เกิดทุกข์ ห้ามสมุทัยจึงคือห้ามเหตุให้เกิดทุกข์ เหตุดับทุกข์ก็ไม่เกิด อีกนัยหนึ่งพระห้ามสมุทรเมืองนครศรีธรรมราช จึงอาจคือตัวแทนคำสอนโดยย่อของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ที่ว่า “ธรรมใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะทรงสั่งสอนอย่างนี้

วันเจ้าเมืองเก่า วันเจ้าเมืองใหม่ รอยสงกรานต์เมืองนคร

วันเจ้าเมืองเก่า วันเจ้าเมืองใหม่ รอยสงกรานต์เมืองนคร

หมุดหมายของประเพณีสงกรานต์คือการเฉลิมฉลองการเปลี่ยนผ่านประจำปี โดยกำหนดเอาวันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนออกจากราศีมีนสู่ราศีเมษเป็นวันมหาสงกรานต์ ที่ต้องให้เป็น “มหา” เพราะอินเดียมีสงกรานต์ทุกเดือน ด้วยว่าราศีมีปกติย้ายไปตามวาระ แต่ที่ยิ่งสุดคือจากมีนสู่เมษเพราะต้องเปลี่ยนทั้งเดือนและปี ในที่นี้ให้ความสำคัญเฉพาะการเปลี่ยนศกที่เป็นจุลศักราช เพราะปีนักษัตรจะเปลี่ยนในเดือนห้าขึ้นค่ำหนึ่ง ข้อนี้น่าสนใจเพราะอินเดียไม่มีปีนักษัตร ไทยรับสิ่งนี้มาจากวัฒนธรรมจีน[1] หากจะให้ถูก ก็ต้องถือปฏิบัติตามอย่างปฏิทินหลวง คือเปลี่ยนปีนักษัตรในเดือนอ้าย (แปลว่า ๑ หมายถึงเดือนแรก) ตามจันทรคติ

มีต้นเค้าจากตำรา ๑๒ เดือน คัดแต่สมุดขุนทิพมนเทียรชาววังไว้ ระบุถึงพระราชพิธีหลายประการที่ปัจจุบันเป็นวิถีปฏิบัติในประเพณีสงกรานต์ของเมืองนครศรีธรรมราช พระราชพิธีสรงน้ำพระในพระบรมมหาราชวัง          =          พิธีขึ้นเบญจาสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์
พระราชพิธีสรงมุรธาภิเษก                    =          พิธีขึ้นเบญจาสรง/รดน้ำปูชนียบุคคล
การพระราชกุศลก่อพระทราย                 =          ก่อพระเจดีย์ทราย
การพระราชกุศลตีข้าวบิณฑ์                  =          ตีข้าวบิณฑ์ (ปัจจุบันพบในเกาะสมุย)

เบญจาสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ วันว่างพุทธศักราช ๒๕๖๒

มองทั่วไปอาจดูเหมือนพระราชพิธีของศูนย์กลางอำนาจ ส่งอิทธิพลต่อประเพณีของเมืองนครศรีธรรมราช แต่กลับกันเมื่อพบข้อความในตำรา ๑๒ เดือน คัดแต่สมุดขุนทิพมนเทียรชาววังไว้ เอกสารโบราณสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (ลงวันจันทร์ เดือน ๘ หลัง แรม ๑๔ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๕ ตรงกับวันที่ ๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๓๓๖) ระบุว่า “…พระพุทธองค์เจ้ามีพระประสงค์ตำราพระราชพิธีตรุษสาร์ทสำหรับเมืองนคร…ข้าฯ คณะลังกาแก้วได้ทำการพิธีมาจำได้เป็นมั่นคง…” ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีรอยบางประการใช้คติเดียวกันเป็นคู่ขนาน รับ-ส่ง เกื้อกูลกัน ในขณะที่หลายอย่างยังคงเอกลักษณ์เฉพาะอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชกระทั่งปัจจุบัน

ลักษณะการปฏิบัติ  พิธีกรรม ความเชื่อ และคุณค่า

 เมืองนครศรีธรรมราชมีการกำหนดเรียกวันในห้วงของสงกรานต์ไว้เป็นลักษณะเฉพาะ ๓ วันดังนี้

วันเจ้าเมืองเก่า 
ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน เชื่อกันว่าเป็นวันสุดท้ายที่เทวดาผู้รักษาเมืองได้พิทักษ์รักษา เป็นวันเดียวกันกับที่เทวดาพระองค์นั้นๆ จะขึ้นไปชุมนุมกันยังเทวสภาบนสวรรค์

วันว่าง 
ตรงกับวันที่ ๑๔ เมษายน เชื่อกันว่าเป็นวันที่ปราศจากเทวดารักษาเมือง

วันเจ้าเมืองใหม่ 
ตรงกับวันที่ ๑๕ เมษายน เชื่อกันว่าเป็นวันต้อนรับเทวดาผู้รักษาเมืองพระองค์ใหม่ ที่จะเสด็จมาพิทักษ์รักษาต่อไปจนตลอดศักราช

คำว่าวันสงกรานต์ ชาวนครศรีธรรมราชเรียกแทนด้วยคำว่า “วันว่าง” และมักเข้าใจว่าคือทั้ง ๓ วัน ในความเป็นจริงปีหนึ่งมีกิจใหญ่สำคัญ ๒ ครั้ง คือบุญเดือนห้าและบุญเดือนสิบ บุญเดือนห้า หมายถึงสงกรานต์ กิจส่วนใหญ่มุ่งไปที่การแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณที่ยังคงมีชีวิตอยู่ ส่วนบุญเดือนสิบ (สารทเดือนสิบ) ก็มีนัยยะเดียวกันแต่เพื่ออุทิศถึงบรรพชนผู้ล่วงลับไปแล้ว 

แต่เดิมก่อนที่จะถึงวันว่างจะมีคณะเพลงบอกออกขับกลอนตามบ้านเรือนต่างๆ ถึงบันไดบ้านเพื่อบอกศักราช บอกกำหนดวาระวันทั้งสาม บอกวันใดเป็นวันวันดี – วันอุบาทว์ นางสงกรานต์ ตลอดจนสรรเสริญเยินยอเจ้าของบ้าน และการชาขวัญหรือสดุดีพระแม่โพสพ เรียกกันว่า “เพลงบอกทอกหัวได”

ในส่วนของห้วงสงกรานต์ทั้ง ๓ วัน มีระเบียบปฏิบัติต่างกัน ดังนี้

วันเจ้าเมืองเก่า

ทุกครัวเรือนจะเร่งรัดการทำงานที่ยังคั่งค้างอยู่ให้แล้วเสร็จ ไม่เช่นนั้นจะถูกตำหนิจากเพื่อนบ้านและญาติมิตร ถือเป็นการฝ่าฝืนจารีตไม่เป็นมงคลแก่ตนเอง และจะต้องตระเตรียมอาหารสำรองสำหรับสามวันให้พร้อม ทั้งข้าวเหนียว น้ำตาม และมะพร้าวใช้สำหรับทำขนม บิดามารดาก็ต้องเตรียมเสื้อผ้าชุดใหม่สำหรับตนเองและลูกหลานสำหรับสวมใส่ในวันว่าง รวมถึงน้ำอบน้ำหอมไว้สำหรับสระหัวอาบน้ำผู้อาวุโส ทำความสะอาดบ้านเรือนให้สะอาด ตลอดจนตัดเล็บ ตัดผมให้เรียบร้อย

นอกจากนี้ยังมีพิธีลอยเคราะห์หรือสะเดาะเคราะห์ เพื่อให้เคราะห์กรรมต่างๆ ลอยตามเจ้าเมืองเก่าที่กลับไปชุมนุมบนสวรรค์ บางท้องถิ่นมีพิธีกรรมเฉพาะเรียกว่า “เกิดใหม่”

วันว่าง

ชาวบ้านชาวเมืองจะงดเว้นการตระเตรียมเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อวันข้างหน้า งดเว้นการทำงานต่างๆ งดเว้นการสีข้าวสาร การออกหาปูปลาอาหาร ห้ามไม่ให้อาบน้ำในแม่น้ำลำคลอง ห้ามตัดผมตัดเล็บ ห้ามตัดต้นไม้กิ่งไม้ ห้ามฆ่าสัตว์ทุกชนิด ไม่กล่าวคำหยาบคายหรือดุด่าใครทั้งสิ้น ห้ามขึ้นต้นไม้ 

นอกจากข้อห้ามแล้วก็ยังมีข้อปฏิบัติ เช่นว่า ให้ปล่อยสัตว์เลี้ยงออกหากินอย่างเสรีไม่มีการผูกล่ามให้ออกหากินได้ตามอิสระ มีการละเล่นกันอย่างสนุกสนานทั้งของเด็กเล็กและผู้ใหญ่ อาทิ ตี่ เตย สะบ้า ชนวัว ฯลฯ ซึ่งเรียกกันว่า “เล่นว่าง”

วันเจ้าเมืองใหม่

ในหนังสือปกิณกศิลปวัฒนธรรม เล่ม ๒๒ จังหวัดนครศรีธรรมราช ของกรมศิลปากร กำหนดชื่อเรียกวันนี้ไว้อีกชื่อว่า วันเบญจา เนื่องมาจากในวันนี้จะมีการปลูกโรงเบญจา เป็นพลับพลามีหลังคา ๕ ยอด เป็นเรือนไม้ประดับด้วยการฉลุลายกาบต้นกล้วยหรือที่เรียกเฉพาะว่าการ “แทงหยวก” อย่างวิจิตรงดงาม แทรกม่านผ้าและกลไกการไขน้ำจากฝ้าเพดาน โดยสมมติเอาโรงเบญจาเป็นโลกทั้ง ๓ เหนือเพดานผ้าเป็นสวรรคโลก โถงเบญจาเป็นมนุษยโลก และใต้พื้นโรงพิธีเป็นบาดาล กราบนิมนต์พระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่หรือปูชนียบุคคลนั่งในโถงเบญจาเพื่อรับน้ำคล้ายอย่างการสรงมุรธาภิเษก อาจารย์ประทุม ชุมเพ็งพันธุ์ กล่าวในหนังสือวิถีชีวิตชาวใต้ ประเพณีและวัฒนธรรมว่าอาการอย่างนี้เรียก “พิธีขึ้นเบญจา” ซึ่งจะกระทำโดยลูกหลานที่รู้จักบุญคุณของพ่อแม่ปู่ย่าตายายในฐานะผู้หลักผู้ใหญ่ของวงศ์ตระกูล

ซ้าย เบญจาสรงน้ำพระรัตนธัชมุนี (๒๕๑๙) ขวา เบญจาสรงน้ำพระเทพวินยาภรณ์ (๒๕๖๒)
ณ วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร

ในการขึ้นเบญจานั้น ถือเป็นหัวใจสำคัญของสงกรานต์เมืองนครศรีธรรมราช เพราะเป็นสิ่งที่สามารถแสดงออกถึงความกตัญญูต่อบรรพชนผู้ยังมีชีวิตอยู่ของตนดังกล่าวแล้วได้อย่างเห็นชัดแจ้ง แต่ละพื้นที่คงมีความแตกต่างกันเฉพาะรายละเอียดปลีกย่อย ส่วนหลักการนั้นเหมือนกัน คือการใช้น้ำเป็นสื่อกลาง ครอบครัวที่มีฐานะก็ปลูกโรงเบญจาให้วิลิศมาหราอย่างไรก็ตามแต่จะมี แล้วลดหลั่นกันไปตามอัตภาพ อย่างง่ายก็นุ่งกระโจมอก อาบน้ำ ประทินผิว เปลี่ยนผ้าใหม่ เป็นจบความ สาระสำคัญอยู่ที่การรวมลูกหลานญาติมิตร โดยอ้างเอาผู้อาวุโสที่สุดอันเป็นที่เคารพสักการะเป็นประมุขในพิธี

เบญจาสรงน้ำพระเดชพระคุณพระเทพวินยาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร
วันเจ้าเมืองใหม่ พุทธศักราช ๒๕๖๒

อย่างไรก็ดี แม้จะแตกต่างกันตามมีตามเกิด ก็พบว่ามีขั้นตอนและวิธีการร่วมกันเป็นลำดับดังนี้

๑. นัดหมายรวมญาติ กำหนดพื้นที่พิธี และเชิญผู้อาวุโสซึ่งควรแก่การสักการะ

๒. กล่าวคำขอขมา

๓. สรง / อาบน้ำ (ในระหว่างนี้จะมีส่วนของพิธีสงฆ์ที่จะสวดพระปริตรทำน้ำพระพุทธมนต์ก่อนสรง/อาบ และขณะสรง/อาบพระสงฆ์จะสวดชัยมงคลคาถา)

๔. เปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นเสื้อผ้าชุดใหม่

๕. รับพร

นอกจากนี้ ชาวทั่วไปจะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่ แล้วเตรียมสำรับกับข้าวไปวัดที่บรรพชนของตนเคยไปทำบุญเป็นประจำสืบมา หรือไม่ก็วัดที่เผาศพและเก็บอัฐิเอาไว้ และจะมัดเอารวงข้าวที่จะนำไปทำขวัญข้าวประจำลอมข้าวโดยใช้ด้านสีแดงสีขาวมัดรวบอย่างสวยงามวางไว้บนพานหรือถาด นำไปทำขวัญข้าวร่วมกันที่วัด เรียกว่า “ทำขวัญใหญ่” เพื่อเป็นสิริมงคลแก่การทำนาเพาะปลูกสืบไป 

เมื่อประกอบศาสนพิธีเรียบร้อยแล้ว ก็จะนิมนต์พระสงฆ์บังสุกุลแก่บรรพชนผู้ล่วงลับ แล้วแยกย้ายกันไปสักการะบัว (ที่บรรจุอัฐิของบรรพชน) จากนั้นก็จะแยกย้ายกันสรงน้ำพระพุทธรูป หรือทำบุญอื่นๆ กันตามอัธยาศัย คล้ายกับว่าเป็นการทำบุญปีใหม่นั่นเอง

ในท้ายที่สุดภาคกลางคืน มีกิจกรรมเฉลิมฉลองเถลิงศก เช่น มหรสพพื้นบ้าน การจุดดอกไม้เพลิง รับเจ้าเมืองใหม่ การก่อ – เฉลิมฉลอง – และถวายพระเจดีย์ทราย เป็นต้น


[1] เมืองนครศรีธรรมราช ปรากฏในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ว่ามีสถานะเป็นเมือง ๑๒ นักษัตร บรรดาเมืองรายล้อมทั้ง ๑๒ เมือง ใช้ตรานักษัตรแต่ละปีเป็นดวงตราประจำเมือง หากปีนักษัตรเป็นการรับมาจากจีนแล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือการตั้งข้อสังเกตว่า เมืองนครศรีธรรมราชในอดีต มีการติดต่อโดยตรงกับจีนหรือรับผ่านพันธมิตรจากเมืองใด

ชาวนครโบราณ จัดการ “โรคระบาด” กันอย่างนี้

“…เสด็จออกไปตรวจราชการเมืองนครศรีธรรมราช…
ได้ทรงสืบสวนได้ความว่า ราษฎรแถวนั้น
เขามีธรรมเนียมป้องกันโรคติดต่อเช่นนี้มาเป็นอย่างหนึ่ง
คือถ้าบ้านใดเกิดไข้ทรพิศม์ก็ดี เกิดอหิวาตกะโรคก็ดี
เจ้าของบ้านปักเฉลวที่ประตูบ้าน
แลไม่ไปมาหาสู่ผู้หนึ่งผู้ใด
ส่วนเพื่อนบ้านเมื่อเห็นเฉลวแล้วก็ไม่ไปมาหาสู่จนกว่าโรคจะสงบ
ต่อเมื่อทำเช่นนี้ไม่มีผลแล้ว
ชาวบ้านจึงได้อพยพไปอยู่อื่นเสียชั่วคราว
เป็นธรรมเนียมมาอย่างนี้…”

รายงานประชุมเทศาภิบาล ร.ศ. ๑๓๑

จากวิธีปฏิบัติสู่ “ธรรมเนียม” ชาวนคร

ความตอนหนึ่งจากรายงานข้างต้น ทำให้ทราบ “ธรรมเนียม” ของชาวนครศรีธรรมราชว่า เจ้าบ้านต้องปัก “เฉลว” ไว้ที่ประตูบ้านประการหนึ่ง กับ “ไม่ไปมาหาสู่ผู้ใด” อีกหนึ่งประการ ทั้งสองเป็นวิธีปฏิบัติที่อาจได้ผลในยุคนั้น จึงถูกยอมรับและใช้เป็นธรรมเนียมสำหรับการจัดการสังคมทั้งในระดับปัจเจกและส่วนรวมท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ซึ่งห้วงพุทธศักราช ๒๔๕๕ ในรายงานนั้น โรคที่เป็นที่รู้จักและมักแพร่ระบาดคือ “ไข้ทรพิษ” กับ “อหิวาตกโรค”

“…เจ้าของบ้าน
ปักเฉลวที่ประตูบ้าน…”

เฉลว อ่านว่า ฉะเหฺลว พจนานุกรมศัพท์แพทย์และเภสัชกรรมแผนไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า เฉลวเป็นเครื่องจักสานชนิดหนึ่ง ทำด้วยตอกหรือหวายหักขัดกันเป็นมุม ตั้งแต่ ๓ มุมข้ึนไป แพทย์แผนไทยใช้เป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์สำหรับปักหม้อยา เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ และป้องกันการละลาบล้วงเครื่องยาในหม้อ มักทำกัน ๔ แบบ คือ

เฉลว ๓ มุม หมายถึง ไตรสรณคมน์ (มะ-มหาปุริสะ, อะ-อะโลโก, อุ-อุตมปัญญา) 
เฉลว ๔ มุม หมายถึง ธาตุทั้ง ๔ (ปถวี อาโป วาโย และเตโช)
เฉลว ๕ มุม หมายถึง พระเจ้าห้าพระองค์ (นะโมพุทธายะ)
และเฉลว ๘ มุม หมายถึง ทิศแปด (อิติปิโสแปดทิศ – บูรพา อาคเณย์ ทักษิณ หรดี ประจิม พายัพ อุดร อีสาน)

นอกจากนี้ แต่โบราณยังใช้เฉลวหรือในบางท้องที่เรียก “ฉลิว” หรือ “ตาเหลว” ปักเป็นเครื่องหมายที่สิ่งของซึ่งจะขาย ปักบอกเขต หรือด่านเสียค่าขนอน จึงเป็นที่รู้กันว่าเฉลวคือสัญลักษณ์ในการสื่อความอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นกับบริบทของที่อยู่แห่งเฉลว เช่นว่า ถ้าอยู่ที่หม้อยา ก็หมายถึงยาหม้อนั้นปรุงสำเร็จแล้ว ห้ามมิให้ผู้ใดปรับแปลงอีกต่อไป กับทั้งเป็นเครื่องกันคุณไสยด้วยพุทธานุภาพตามพระคาถาที่แสดงอยู่ด้วยจำนวนแฉก และที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คือ เฉลว เป็นสัญลักษณ์บอกว่าในบ้านนั้นมีคนป่วยเป็นโรคใดโรคหนึ่งที่กำลังรักษาและอาจแพร่ระบาดกับผู้ไปมาหาสู่

“…ไม่ไปมาหาสู่ผู้ใด…”

เมื่อเป็นที่เข้าใจร่วมกันแล้วถึง “สัญญะ” ของ “เฉลว” จึงอาจตีความได้ว่า “เฉลว” คือนวัตกรรมอย่างหนึ่งของคนในยุคโบราณ เพื่อแสดงเขตกักกันผู้ติดเชื้อ การไปมาหาสู่ซึ่งอาจทำให้เป็นเหตุของการติดเชื้อเพิ่มจึงเป็นข้อห้ามไว้ใน “ธรรมเนียม” เมื่อ “มาตรการทางสังคม” มีพื้นฐานบนความเชื่อทางไสยศาสตร์ แล้วเชื่อมโยงกับหลักคิดทางพระพุทธศาสนา สิ่งนี้อาจเป็นคำตอบของประสิทธิภาพในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคระบาดในอดีตของชาวนครศรีธรรมราชได้อย่างดี

วันพระ สืบสกุลจินดา

๑๓ เมษายน ๒๕๖๔