หงส์หามเต่า บนพระบรมธาตุเจดีย์เมืองนคร

หงส์หามเต่า
บนพระบรมธาตุเจดีย์เมืองนคร

แถบสีแดงบนองค์พระบรมธาตุเจดีย์
หลักฐานชี้ความสัมพันธ์ทางพระพุทธศาสนา
ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
.

มาลัยก้านฉัตร

แถบสีแดงที่ว่านี้เรียกว่า “มาลัยก้านฉัตร”
ปรากฏ ณ ตำแหน่งขอบล่างสุดของปล้องไฉน
เหนือพระเวียนที่เสาหารหน้ากระดาน
เมื่อสังเกตอย่างตั้งใจจะเห็นได้ชัดขึ้นว่า
คล้ายกับเป็นรูปของสัตว์ปีกในอากัปกิริยาต่างๆ วนไปโดยรอบ
.
พระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช มีลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นเมื่อเทียบกับเจดีย์รูปทรงเดียวกันในประเทศไทยโดยเฉพาะคาบสมุทรมลายู อาจเพราะการเป็นต้นแบบทางความคิดประการหนึ่ง นัยยะทางคติความเชื่อพื้นถิ่น และเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์บางประการ อาทิ การประดับเครื่องถ้วยชามเบญจรงค์และสังคโลก เสายูปะ การหุ้มปลียอดด้วยทองคำ และการประดับสาแหรกแก้วหรือพุ่มข้าวบิณฑ์ที่ส่วนยอดสุด จึงอาจกล่าวได้ว่าลักษณะพิเศษจำเพาะเหล่านี้เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญประการหนึ่งอันเป็นเอกลักษณ์
.

กัจฉปชาดก

เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๐ ข้าพเจ้าได้ร่วมสังเกตการณ์กับคณะสำรวจโครงสร้างภายในองค์พระบรมธาตุเจดีย์ด้วยเครื่อง GPR จึงได้เก็บข้อมูลรูปภาพ ณ ตำแหน่งมาลัยก้านฉัตรโดยรอบมาเพื่อศึกษา พบว่า ภาพเหล่านั้นเป็นตอนหนึ่งของนิทานปัญจตันตระ เรื่องหงส์หามเต่า หรือในพระพุทธศาสนารู้จักกันดีในชื่อ “กัจฉปชาดก”
.
ฉากสำคัญของเรื่องคือฉากที่มีหงส์สองตัวคาบกิ่งไม้อยู่ซ้ายขวา แล้วมีเต่าคาบกิ่งไม้อีกทอดหนึ่งตรงกลางลำ ซึ่งฉากนี้พบที่ผนังเชิงบันไดของวิหารจันทิเมนดุด ใกล้บุโรพุทโธ แถบชวากลาง ประเทศอินโดนีเซีย และฐานของมหาวิหารนาลันทา ประเทศอินเดีย
.
หากให้พระบรมธาตุเจดีย์เป็นตัวแทนของเมืองนครศรีธรรมราช มหาวิหารนาลันทาของอินเดีย และจันทิเมนดุดของชวา สังเกตวิธีการจับกิ่งไม้ของหงส์ ๓ พื้นที่ได้ว่า นครศรีธรรมราชใช้ปากคาบ อินเดียใช้ปากคาบ ชวาใช้กรงเล็บเหนี่ยว ซึ่งอาจชี้ว่า คตินี้นครศรีธรรมราชอาจรับมาจากแหล่งกำเนิดของคติโดยตรง และเป็นคติร่วมกันของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะพบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยมีนิทานนางตันไตเป็นวรรณกรรมท้องถิ่น จึงมักพบหน้าบันของศาสนสถานแสดงภาพตอนนกหรือหงส์คาบกิ่งไม้นี้อยู่ด้วย
.
ส่วนถ้าจะพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างจันทิเมนดุตกับพระบรมธาตุเจดีย์ อาจต้องศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “ราชวงศ์ไศเลนทร์” ผู้ก่อตั้งอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่ง ณ จุดเวลาหนึ่ง นครศรีธรรมราชเป็นส่วนหนึ่งของสมาพันธรัฐ เพราะกษัตริย์พระองค์หนึ่งในราชวงศ์ดังกล่าวนั้น เป็นผู้สร้างบุโรพุทโธกับทั้งจันทิเมนดุต โดยอาจใช้ภาพกัจฉปชาดกที่เป็นรอยร่วมกันนี้ประกอบการศึกษา
.
ความในกัจฉปชาดก ภาพ กับข้อสังเกตอื่น
อ่านเพิ่มเติมใน

เทศกาลเดือนหก วันเพ็ญ ปีใหม่ ทำขวัญพระธาตุ

เทศกาลเดือนหก
วันเพ็ญ ปีใหม่ ทำขวัญพระธาตุ

“พระพุทธศักราชได้สองพันร้อยเก้าสิบพระพรรษาเศษได้สี่วัน
เมื่อยอดพระเจ้าหัก วันจันทร์ เดือนหก แรมสี่ค่ำ ปีมะเมีย
เพลาชายแล้วสองยาม สร้างตรหลบหกสู่ยอดพระเจ้าหั้นแล
เมื่อทำการนั้น เดือนสิบ วันศุกร์เพลาเช้าขึ้นถึงสิบชั้นเป็นสุดเอย”

ข้อความนี้ เป็นการปริวรรตจารึกที่แกนปลีใต้กลีบบัวหงายพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช โดย ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และ เทิม มีเต็ม ก่อนที่จะวิเคราะห์เนื้อความในจารึก จะกล่าวถึงตำแหน่งที่พบจารึกตามการบันทึกไว้ในฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ว่าอยู่ในช่วงใต้กลีบบัวหงายต่ำลงไป ประมาณ 1.80 เมตร เป็นการจารึกรอบแกนปลีจำนวน 2 บรรทัดแต่ปัจจุบันถูกหุ้มด้วยแผ่นไฟเบอร์กลาส เพื่อเสริมความมั่นคงให้แก่ โครงสร้างยอดเจดีย์ จารึกดังกล่าวจึงถูกปิดทับไปด้วย จึงมีการอ่านแปลจารึกในบริเวณดังกล่าวจากภาพถ่าย และตีพิมพ์ในวารสารศิลปากร ปีที่ 37 ฉบับ 4 (กรกฎาคม-สิงหาคม, 2537) ในบทความชื่อ “จารึกแผ่นทองหุ้มปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช”

ต้นจารึกเป็นอักษรขอมอยุธยา ภาษาไทย มีด้านเดียว 2 บรรทัด จารึกลงบนโลหะ กำหนดอายุสมัยในพุทธศักราช 2190 จัดเรียงบรรทัดใหม่เพื่อวิเคราะห์ความได้ 4 บรรทัดข้างต้น ส่วนบรรทัดสำคัญซึ่งชี้ว่าเมืองนครศรีธรรมราช ใช้วันวิสาขปุรณมี เป็นวันขึ้นปีใหม่นั้น คือ 2 บรรทัดแรก ดังจะได้ขยายความต่อไป

“พระพุทธศักราชได้สองพันร้อยเก้าสิบพระพรรษาเศษได้สี่วัน
เมื่อยอดพระเจ้าหัก วันจันทร์ เดือนหก แรมสี่ค่ำ ปีมะเมีย

“พระพุทธศักราชได้สองพันร้อยเก้าสิบพระพรรษาเศษได้สี่วัน” และเศษของสี่วันนั้นตรงกับ “วันจันทร์ เดือนหก แรมสี่ค่ำ ปีมะเมีย” ประเด็นคือ มีข้อพิจารณาอย่างหนึ่งเกี่ยวกับวิธีนับพุทธศักราช ในที่นี้จะเห็นว่าหากย้อนหลับไปสี่วัน วันขึ้นปีใหม่จะตรงกับ “วันขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนหก” ซึ่งตรงกับวัน “วิสาขปุรณมีบูชา”

“วิสาขปุรณมีบูชา” วันขึ้นปีใหม่ของเมืองนครศรีธรรมราช

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า “วันวิสาขบูชา” ถูกยกย่องให้เป็นวันสำคัญสากลมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2542 ตามมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา ทั้ง 3 เหตุการณ์ของพระโคตมพุทธเจ้า คือการประสูติ ณ สวนลุมพินีวัน, ตรัสรู้  ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ เมื่อพระชนมายุ ๓๕ พรรษา และดับขันธปรินิพพาน ณ ควงไม้สาละ ในสาลวโนทยาน เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ เมื่อพระชนมายุ 80 พรรษา ซึ่งทุกเหตุการณ์ล้วนเกิดขึ้นในวันเพ็ญ เดือน 6 ทว่าต่างปีกัน การรำลึกถึงความสำคัญเหล่านี้จึงเรียกให้พ้องไปตามกาลว่า “วิสาขปุรณมีบูชา” ซึ่งแปลว่าการบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ หรือเดือน 6

ดังนั้น หากพุทธศักราชเป็นการสมมตินับเอาวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานเป็น พ.ศ. 1 ตามอย่างประเทศศรีลังกาและพม่า หรือหลังจากเหตุการณ์นั้นแล้ว 1 ปีตามอย่างประเทศไทย วันซึ่งจะเป็นหมุดหมายเปลี่ยนศักราช จึงควรเป็นวันวิสาขบูชา และใช้สืบเนื่องมาแต่โบราณก่อนจะปรับเปลี่ยนไปตามสากล

แล้วเมืองนครศรีธรรมราชเอาอย่างใคร ?

จารึกที่ฐานพระลาก วัดศรีทวี อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีข้อความระบุว่า “…วันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ปีกุน สัตตศก เพลาชาย 3 ชั้น พุทธศักราชได้ 2277…” พระครูเหมเจติยาภิบาลสอบพุทธศักราชกับจุลศักราชแล้วพบว่า เป็นการนับศักราชมากกว่าพุทธศักราชปัจจุบัน 1 ปีอย่างศรีลังกา ข้อนี้อาจแสดงให้เห็นการยึดถือระเบียบวิธีดั้งเดิมของแหล่งซึ่งเป็นต้นทางของพระพุทธศาสนาที่ประดิษฐานอยู่ ณ เมืองนครศรีธรรมราชและสยามประเทศ

อย่างไรก็ดี เมื่อย้อนไปสอบทานปีพุทธศักราชและปีนักษัตรกลับพบว่า พุทธศักราช 2190 ไม่ตรงกับปีมะเมีย ดังที่ระบุในจารึก

เหตุและปัจจัยที่นักษัตรกับปีเคลื่อนกัน

เหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองที่ระบุไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) คือเมื่อ จุลศักราช 1000 ปีขาล (พุทธศักราช 2181) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีลบศักราช เพื่อเสี่ยงพระบารมีแก้กลียุค แม้ในพระราชพงศาวดารจะระบุว่าพระเจ้าอังวะปฏิเสธที่จะใช้ตามพระราชสาส์นที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองส่งไป ในส่วนของเมืองนครศรีธรรมราช มีจารึกที่ระฆังวัดท้าวโคตร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุว่า “พุทธศักราชได้ 2183 ปีมะโรง เลิกว่าฉลู ตรีนิศก วันศุกร์ แรม 6 ค่ำ เดือน ๔” คำว่า “ปีมะโรง เลิกว่าฉลู” เป็นหลักฐานยืนยันว่า เมืองนครศรีธรรมราชยอมรับอำนาจของกรุงศรีอยุธยาโดยสมบูรณ์ในฐานะเป็นขอบขัณฑสีมา จึงได้ย้อนปีนักษัตรขึ้นปี 2 ปีตามพระราชประสงค์

ส่วนจารึกแกนปลีใต้กลีบบัวหงายพระบรมธาตุเจดีย์ ระบุว่า “พระพุทธศักราชได้สองพันร้อยเก้าสิบ…วันจันทร์ เดือนหก แรมสี่ค่ำ ปีมะเมีย…” กลับมีปัญหาเพราะเมื่อคำนวณทั้งตามการนับศักราชธรรมดาและลบศักราช กลับไม่ตรงทั้ง 2 วิธี กล่าวคือ

ธรรมดา            : พุทธศักราช 2190 ตรงกับจุลศักราช 1009 ปีกุน
ลบศักราช         : พุทธศักราช 2190 ตรงกับจุลศักราช 1009 ปีวอก

จึงดูเหมือนว่า ศักราชที่ปรากฏที่แกนปลีนี้ ใช้หลักการลบศักราชถึง 2 ครั้ง คือย้อนกลับขึ้นไปถึง 4 ปีนักษัตร ความคลาดเคลื่อนข้อนี้เป็นปัญหาที่ยังไม่พบข้อสรุป นอกจากการสันนิษฐานว่า อาจเป็นเพราะผู้จารึกที่รับข้อความให้จารึกซึ่งระบุศักราชที่ลบแล้ว แต่กลับลบซ้ำเป็นกำลัง

ย้อนกลับมาที่เรื่อง “ปีใหม่”

 

ขอทำความเข้าใจให้ตรงกันเรื่อง “ปีใหม่” ก่อนว่า
“ปี” กำหนดชั่วโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่ง
ใช้เวลาราว 365 วัน หรือ 12 เดือน
เมื่อยึดเอาดวงอาทิตย์ฉะนี้ จึงเรียก “สุริยคติ”
.
จึงหมายความว่าเมื่อโลกเริ่มต้นวนอีกครั้ง
ก็จะเท่ากับว่ากำลังเริ่ม “ปีใหม่” เนื่องต่อกันไป
.
แต่ก่อนมีหมุดหมายกำหนดวันขึ้นปีใหม่หลายระลอก
ได้แก่ แรมค่ำหนึ่ง เดือนอ้าย, ขึ้น 1 ค่ำเดือนห้า
1 เมษายน และ 1 มกราคม ที่ใช้อยู่เป็นปัจจุบัน
.
จะเห็นว่ามีทั้งการยึดทั้งตามสุริยคติและจันทรคติ
ซึ่งเป็นการยึดโยงกับสิ่ง “นอกโลก”
.
ตานี้ย้อนกลับมาในโลก
อันมีศาสนาเป็นเครื่องยึดโยงจรรโลงใจ
หมุดหมายของวันขึ้นปีใหม่
ที่ตรงกับเหตุการณ์สำคัญของศาสนาใด
ก็จะแปรผันตรงกับศักราชในศาสนานั้น
.
เช่นว่า อิสลามคติ ที่ใช้เดือนมุฮัรรอม
ประกอบกับการมองเห็นดวงจันทร์
เป็นวันจบปีจบเดือนเริ่มฮิจเราะห์ศักราชใหม่
หรือ พุทธคติ ก็เปลี่ยนพุทธศักราช
โดยใช้วันเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เป็นอาทิ
.

“…ครั้นถึงเทศกาลเดือนหก
วันเพ็ญ ปีใหม่ ทำขวัญพระธาตุ…”

 

ข้อความนี้คัดจากเอกสารเลขที่ 164
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ (ท่าวาสุกรี)
ซึ่งพระครูเหมเจติยาภิบาลได้กำหนดนับจัดหมวดใหม่เป็น
พงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช หมายเลข 2
.
มีข้อบ่งชี้บางประการถึงอิทธิพลของพระพุทธศาสนา
ที่แพร่และเจริญอยู่ในดินแดนนี้
คือการใช้วันขึ้นปีใหม่เป็นวันเพ็ญ เดือนหก

.

“วิสาขปุรณมีบูชา”
จึงคือวันขึ้นปีใหม่ของเมืองนครศรีธรรมราช

 

ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า “วันวิสาขบูชา”
ถูกยกย่องให้เป็นวันสำคัญสากล
มาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2542
ตามมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ
เพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญยิ่ง
ทั้ง 3 เหตุการณ์ของพระโคตมพุทธเจ้า
คือการประสูติ ณ สวนลุมพินีวัน,
ตรัสรู้ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ
และดับขันธปรินิพพาน ณ ควงไม้สาละ
ในสาลวโนทยาน เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ
.

ความน่าสนใจอีกประการนอกจากคำตอบว่า ชาวนครศรีธรรมราช ใช้วันใดเป็นหมุดหมายขึ้นปีใหม่ คือการค้นคว้าเพิ่มเติมว่ามีการเฉลิมฉลองกันอย่างไรในเมืองนี้
.

ทำขวัญพระธาตุ

แน่นอนว่ามี “ทำขวัญพระธาตุ” แล้วอย่างหนึ่งตามจารึกข้างต้น ในภาพปกซึ่งคัดต้นฉบับจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ปรากฏเสาต้นไม้เพลิงและมีคำอธิบายเขียนไว้กำกับต้นฉบับว่า “พระเจดีย์พระมหาธาตุ (คราวมีงาน)” แต่ไม่ระบุว่างานอะไร อาจกล่าวโดยกว้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองในวาระใดวาระหนึ่ง
.
จึงเป็นเรื่องของอนาคตที่คงต้องอาศัยหลักฐานประกอบเพื่อทำหน้าที่ให้ปากคำจนจิ๊กซอว์ภาพนี้ต่อกันบริบูรณ์

ป้าคร ถานีทุ่งหล่อ ขวัญใจสาวกหนมบ้านเมืองนคร

ป้าคร ถานีทุ่งหล่อ
ขวัญใจสาวกหนมบ้านเมืองนคร

ใจหนึ่งไม่คิดว่าป้าครจะเป็นที่พูดถึงและรู้จักกันมากขนาดนี้ แต่อีกหนึ่งใจก็พอจะทำเนาได้ เพราะค่อนชีวิตของแกไม่เคยทำอย่างอื่นเลย ลงหลักปักฐานกับอาชีพนี้จนเป็นภาพจำติดตา บางคนถึงขั้นแซวว่าน้ำเสียงติดหู ส่วนถ้าแกไม่ออกปากว่า “ลงเฟซให้กัน” ผมคงไม่กล้าล่วงเกินด้วยความทรงจำส่วนตัว ที่มาพร้อมภาพและคำอธิบายจนถูกส่งต่อกันหลายแชร์ หลายไลก์ หลายความคิดเห็น ลองเข้าไปทวนไปส่องกันตรงโพสต์นี้ https://www.facebook.com/imvanpra/posts/10209819742846225

.

เริ่มหาบเริ่มคอน

กว่า 36 ปีแล้วที่สองบ่าของป้าครสลับกันหาบ “หนมบ้าน” เที่ยวเร่ขายไปตามสองข้างทางถนนราชดำเนิน เมืองนครศรีธรรมราช แกจำทุกความเปลี่ยนแปลงที่เคยผ่านตาและผ่านมาได้แม่นยำ รวมถึงคำยืนยันจุดเริ่มต้นของอาชีพนี้ ว่าเกิดขึ้นในพุทธศักราช 2529

.

บ้านทุ่งหล่อ

ที่น่าสนใจคือ ป้าคร ไม่ได้มีภูมิลำเนาในเขตตัวเมืองนครศรีธรรมราช ในที่นี้คือละแวกเทศบาลหรือตรงไหนสักที่ใกล้ๆ อย่างที่เคยคิด แกอยู่ “บ้านทุ่งหล่อ” ข้างสถานีรถไฟทุ่งหล่อ อำเภอร่อนพิบูลย์โน่นเลยครับ

แกเล่าให้ฟังต่อว่า มีแม่ค้ารวมกันราวสิบคน บ้านอยู่ติดๆ กัน แต่ละคนทำหนมบ้านกันเอง คนละอย่าง สองอย่าง สามอย่างว่ากันไป แล้ว “ปันกัน” ทั้ง “หนม” ทั้ง “เบี้ย”

.

รถผูก

แรกก่อนนั่งรถไฟกันมาลงสถานีปลายทางนครศรีธรรมราช แล้วแยกย้ายกันต่อรถสองแถว กระจายไปตามแต่ละพื้นที่ขายของใครของมัน แล้วก็นั่งรถไฟกลับ เดี๋ยวนี้มี “รถผูก” บริการรับ-ส่งถึงที่ สิริค่าเดินทางวันละ 60 บาท

.

“หนมบ้าน” ที่ว่านี้ ได้แก่ หนมชั้น หนมขี้มัน หมี่ผัด หม้อแกง เหนียวหน้าต่างๆ หนมปากหม้อ สาคู หนมโคหัวล้าน เหนียวห่อกล้วย หนมคุลา มัน-ถั่ว-ไข่นกกระทาต้ม และอีกนานามีตามแต่จะ “รวน” กันทำ จะยกเว้นเสียก็แต่ ”หนมโรง” ที่ป้าครบอกว่าไม่เคยขาย

.

หนมไหรมั้งอะนุ้ย ?

ทุกเช้า ราว 7 โมง ป้าครจะนั่งดับชะอยู่ตรงหน้าร้านข้าวขาหมูท่าม้าใกล้แยกศาลากลาง จากนั้นก็หาบขายไปรายทางมีพระธาตุเป็นหมุดหมาย ใครได้ยินเสียง “หนมไหรมั้งอะนุ้ย ?” อย่าลืมแวะอุดหนุนป้าครกันนะครับ หรือถ้าจะเที่ยวตามสืบ คงต้องแนะนำว่าควรจะเป็นก่อนบ่ายโมง เพราะแกบอกว่า “พอหวันช้ายกะขายหมดทุกวัน”

.

ผมกับป้าครเรียกว่ารู้จักกันก็คงจะไม่ถูกมากนัก เพราะเป็นแต่เห็นกันตอนแกนั่งดับร้าน หรือตอนผมไปทำอะไรที่พระธาตุ เคยยืมคานแกมาหาบถ่ายรูปครั้งหนึ่ง ตอนนั้นหนมกำลังจะหมดก็เลยเบาหน่อย วันที่ขอแกถ่ายรูปเป็นตอนที่ดับเสร็จใหม่ ๆ โอ้โห ยกไม่ขึ้นสิครับ หนัก และ หนักมากกกก ผมโอดครวญจนป้าแกยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ เหมือนจะพูดในใจว่า “รำโนราไปตะ อย่ามาเที่ยวราร่าเรื่องเพื่อน”

.

ป้าครจำตอนผมรำโนราที่พระธาตุได้ ก็เลยกลายเป็นใบเบิกทางให้กระแซะถามอะไรอีกหน่อยสองหน่อย แกย้ำว่าแม่ค้าในรุ่นแกมีอีกราวสิบคน ที่น่าแปลกคือผมไม่เคยเห็นใครเลยนอกจากแก อาจคงเพราะแต่ละคนกระจายกันไปขายและมีเส้นทางเป็นของตัวเอง ไว้หากพบใครจะลองสืบลองถามเพื่อมาปะติดปะต่อเรื่องราวของชาว “หาบคอน” ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

.

นึกไปถึงว่า หากมีกัลยาณมิตรกระซิบถามว่ามีอะไรของชุมชนน่าสนใจจะเป็นเป้าหมายในการส่งเสริมบ้าง ในหัวตอนนี้คือมีบ้านทุ่งหล่อกับเรื่องราวของป้าครและคณะแล้วหนึ่ง กับอีกหนึ่งที่ยังคิดและแก้กันไม่ตก คือ แม่ค้าดอกไม้วัดพระธาตุ ซึ่งมีหลายกลุ่ม หลายแนว กลุ่มกวักรถริมราชดำเนิน กลุ่มในวัดหน้าพระธาตุ กลุ่มลานจอดรถศาลาร้อยปี สามกลุ่มนี้ยืนและเดินไปมา ส่วนอีกกลุ่มนั่งตามซุ้มประตู มีหน้าร้านเล็กๆ บนเก้าอี้หัวล้าน ทุกกลุ่มคุ้นหน้าหมด แต่เมื่อวานได้คุยแค่กับกลุ่มหลังนิดหน่อย

.

ทั้งสอง บ้านอยู่ชายแพงออก(ชายกำแพงทิศตะวันออก) ตรงหลังวัดหน้าพระธาตุ แกบอกว่าช่วงนี้รายได้ลด ไม่ได้ตั้งใจจะซักอะไรมาก ที่ติดใจคงเป็นวิธีขาย คือซุ้มประตูนี้มี 2 เจ้า ลูกค้าซื้อเจ้าไหนจะไม่แย่งไม่ยื้อกัน ถ้าซื้อของเจ้าหนึ่งมาก เจ้าที่ได้มากก็จะไปซื้อของอีกเจ้ามาเติมของตัว

.

เพราะต่างตกลงกันว่า

แต่ละวัน จะ “ปันกัน-แบ่งกัน”

.

เป็นที่ทราบดีว่า แม่ค้าดอกไม้เป็นปัญหาในการจัดการบริเวณวัดดังที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างต่อเนื่อง ส่วนตัวสนใจปรากฏการณ์นี้มาก และถ้าความสนใจนี้ยังไม่ซาลง คิดว่าคงต้องหยิบจับมาศึกษาวิจัยกันจริงจัง เมื่อเรียนไปถึงชั้นปริญญาเอก

.

ส่วนเรื่องราวของป้าคร
ใจจริงยกให้แกเป็นขวัญใจสาวกหนมบ้านนะครับ
หากได้คุยกับแกเพิ่ม
ค่อยส่งข่าวครับฯ

ประวัติอำเภอนาบอน ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

ประวัติอำเภอนาบอน
ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

 

เหตุที่ได้จั่วหัวว่าเป็น “ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค” นั้น ด้วยคัดมาจากหนังสือ “ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช” ซึ่งเข้าใจเอาจากคำนำในเล่มว่าเป็นข้อสั่งการจากกระทรวงมหาดไทยถึงจังหวัดทุกจังหวัด ให้รวบรวมและเรียบเรียงเหตุการณ์สำคัญ เอกสาร ความเป็นมา ภูมิประเทศ สถานที่และบุคคลสำคัญของจังหวัดต่าง ๆ เป็นสารบบ มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการท้องถิ่น ได้แก่ วิมล ดำศรี, วิเชียร ณ นคร, ประหยัด เกษม, สมพุทธ ธุระเจน และฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ เป็นคณะทำงาน โดยที่ น้อม อุปรมัย, กระจ่าง คีรินทร์นนท์ และขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นที่ปรึกษา

.

หนังสือดังกล่าว แบ่งเป็น 8 บท ได้แก่ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ลักษณะการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติความเป็นมา ประวัติเทศบาลในจังหวัดนครศรีธรรมราช บุคคลสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และทำเนียบนามผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

.

ส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำเภอนาบอนนั้น ปรากฏอยู่ในบทที่ 3 “ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช” โดยจะได้คัดมาเผยแพร่ดังต่อไปนี้ (แบ่งวรรคตอนและย่อหน้าใหม่รวมถึงปรับคำบางช่วงตอนเพื่อสะดวกต่อการอ่าน แต่ยังคงสาระสำคัญไว้ตามต้นฉบับทุกประการ ประกอบกับในชั้นนี้จะยังไม่มีบทวิเคราะห์ข้อมูลใดๆ)

.

ครั้งรัชกาลที่ 2

ความเป็นมาท้องที่อำเภอนี้ มีปรากฏตามทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราช ครั้งรัชกาลที่ 2 ว่าในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เคยเป็นแขวงหรือที่เรียกกันว่า “ที่นาบอน” มีนายที่ชื่อ “ขุนโจมธานี” รองนายที่ชื่อ “ขุนศักดิ์” ที่ทุ่งสงมีนายที่ชื่อ “หมื่นอำเภอ” ซึ่งอยู่ในความปกครองของเมืองนครศรีธรรมราช

.

ครั้นต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2440 ได้มีการจัดการปกครองแผนใหม่ “แขวงนาบอน” และ “แขวงทุ่งสง” ได้ตั้งขึ้นเป็น “ตำบลนาบอน” และ “ตำบลทุ่งสง” ซึ่งอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช

.

กิ่งอำเภอนาบอน

จนกระทั่งวันที่ 9 มิถุนายน 2518 จึงได้รวมพื้นที่ของตำบลนาบอนและตำบลทุ่งสง รวมสองตำบลตั้งเป็นกิ่งอำเภอเรียกชื่อว่า “กิ่งอำเภอนาบอน” ขึ้นอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย  ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2518

.

ขณะนั้นยังมิได้ก่อสร้างที่ว่าการกิ่งอำเภอ ได้อาศัยเรือนแถวบ้านเลขที่ 210-211 หมู่ที่ 2 ตำบลนาบอนของนายยศ พันธ์พิพัฒน์ ใช้เป็นที่ทำการชั่วคราว ได้กระทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2518 โดยนายจาด อุรัสยะนันท์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธี นายชลิต พิมลศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผู้กล่าวรายงาน

.

ที่ว่าการกิ่งอำเภอชั่วคราว

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2520 ได้เกิดเพลิงไหม้ที่ว่าการกิ่งอำเภอชั่วคราว จึงได้ย้ายที่ว่าการกิ่งอำเภอชั่วคราวไปอาศัยทำงานที่โรงเรียนสหมิตรบำรุง (โรงเรียนราษฎร์) ในหมู่บ้านเดียวกัน ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2520 เป็นต้นมา จนกระทั่งในปีงบประมาณ 2521 กระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติงบประมาณให้ทำการก่อสร้างที่ว่าการอำเภอ 1 หลัง บ้านพักข้าราชการปกครอง 3 หลังเป็นเงิน 1,011,500 บาท ได้ดำเนินการก่อสร้างในที่ดินซึ่งนายบุญทอง สันติกาญจน์ อุทิศให้เนื้อที่ 25 ไร่ คิดเป็นเงิน 375,000 บาท ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 2 ตำบลนาบอน ได้ทำการก่อสร้างโดย บริษัท มิตรไทย จำกัด เป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง และได้ดำเนินการสร้างเสร็จในเดือนตุลาคม 2522 จึงได้ย้ายที่ทำการกิ่งอำเภอมาทำงานที่ที่ทำการอำเภอถาวร เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2522

.

นายอำเภอคนแรก

กิ่งอำเภอนาบอน ได้ยกฐานะเป็นอำเภอนาบอน ตามพระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอนาบอน พ.ศ. 2524 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 115 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2524 โดยมีนายจำเริญ ภูมิมาส ดำรงตำแหน่งนายอำเภอนาบอนคนแรก

ตำนาน “นางโดย” เรื่องเล่าท้องถิ่นตำบลคลองน้อย อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ตำนาน “นางโดย”
เรื่องเล่าท้องถิ่นตำบลคลองน้อย

อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

เรื่องเริ่มที่เพชรบุรี

ณ หมู่บ้านหนึ่งในเมืองเพชรบุรี ปรากฏครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวหนึ่งมีตาม่องล่ายเป็นหัวหน้าครอบครัว ภรรยาชื่อนางรำพึง โดยที่ “แม่นางโดย” เป็นลูกสาวหนึ่งเดียวที่ด้วยความน่ารัก ผิวพรรณผ่องใส มีความงามจนเป็นทีหลงไหลของบุรุษเพศผู้พบเห็นจึงได้รับทั้งความรักและการทะนุถนอมจากพ่อคือตาม่องล่ายเป็นพิเศษเพราะเป็นคนใจร้าย โผงผาง ขี้โมโห ไม่เคยเกรงกลัวใคร

.

บนบานตาขุนเล

อยู่มาวันหนึ่ง เจ้าลายบุตรชายเจ้าแฮเจ้าเมืองเชื่อสายจีนซึ่งอยู่ในทิศอีสาน ได้เกิดนิมิตฝันเห็นหญิงงามนางหนึ่ง ด้วยความมหัศจรรย์ใจเมื่อตื่นจากฝันได้ลงเรือเดินทางออกตามหาด้วยความหลงไหล ขณะเดินทางมาในทะเล เจ้าลายได้บนบานศาลกล่าวต่อ “ตาขุนเล” เทวดาประจำท้องทะเลว่า ขอให้ได้พบนางดังปรารถนา ครั้นตกกลางคืนตาขุนเลศักดิ์สิทธิ์ก็มาเข้าฝัน ตาขุนเลช่วยชี้ทางให้พร้อมกับบอกคาถามหาเสน่ห์ไปบทหนึ่งติดตัวไปกับเจ้าลายด้วย

.

เมื่อเจ้าลายเดินทางไปตามเส้นทางที่ตาขุนเลเข้ามาบอกในฝันแล้ว ก็ได้พบกับบ้านของตาม่องล่ายเข้าจริงๆ แต่วันนั้นตาม่องล่ายเข้าไปทำเพชร ทำพลอยในป่า คงพบแต่นางรำพึง แม่นางโดย และนางสาย หลานสาว เจ้าลายจึงได้ว่าคาถาสะกดนางรำพึงให้บังเกิดเมตตารักใคร่ ด้วยอิทธิ์ฤทธิ์ของคาถามหาเสน่ห์ นางรำพึงจึงได้ยกแม่นางโดยให้กับเจ้าลายตั้งแต่นั้น

.

กำเนิดเขานมเชือด-นมไต-ขุนนม

ฝ่ายตาม่องล่ายกลับมาจากป่า พร้อมกับเจ้าหมวกบุตรชายท้าวโคตรบอง ซึ่งบังเอิญเจอกันในป่าและเห็นว่าเจ้าหมวกนี้มีรูปร่างหน้าตาและความเหมาะสมด้วยชาติตระกูล จึงตั้งใจจะยกแม่นางโดยให้ เมื่อทราบความว่านางรำพึงได้ยกแม่นางโดยให้แก่เจ้าลายเสียแล้ว ทำให้ตาม่องล่ายโกรธจัด คว้าดาบพุ่งตรงเข้าไปหานางรำพึงหวังจะฟัน แต่นางสาย หลานสาวได้เข้ามาขวาง ผลคือถูกคมดาบตายทั้งสองคน เท่านั้นยังไม่พอ ตาม่องล่ายยังไม่หายโกรธ ใช้ดาบเล่มเดียวกันนั้นเชือดเต้านมของทั้งสองคนจนขาดแล้วโยนทะเล เต้านมข้างหนึ่งลอยไปติดที่เมืองญวน กลายเป็นเขานมยาย อีกสามข้างลอยมาทางใต้กลายเป็นเขาพนมเชือด (อำเภอร่อนพิบูลย์), เขาพนมไต(อำเภอสิชล) และเขาขุนพนม(อำเภอพรหมคีรี) จากสถานการณ์นี้ทำให้ตาเพชรไม่พอใจตาม่องล่ายเป็นอย่างมากถึงขั้นตัดขาดความเป็นเพื่อน ไม่ไปมาหาสู่คบหากันต่อไปอีก ตาเพชรใช้ไม้หลักปักเขตแดนระหว่างบ้านทั้งสองคน ต่อมาไม้หลักนั้นกลายเป็นภูเขาเรียกว่า “เขาหลัก” (อำเภอทุ่งใหญ่)

.

หลังจากที่เหตุการณ์ยุติลง ตาม่องล่ายค่อยทุเลาความโกรธลงกลายเป็นความอับอายเข้ามาแทนที่จนต้องหนีออกจากบ้านไปอยู่แถวเมืองสองแควหรือพิษณุโลก

.

สมโภชพระบรมธาตุ

รุ่งปีถัดมา เจ้าพระยาศรีธรรมโศกราช ได้จัดให้มีการสมโภชพระบรมธาตุและแห่ผ้าขึ้นธาตุ ได้ประกาศให้ชาวเมืองทั่วทุกสารทิศมาร่วมการกุศล แม่นางโดยทราบข่าวจึงได้จัดแต่งเรือบรรทุกทรัพย์สินมาเองพร้อมด้วยบริวารมากมายอาทิตาหวังกับตาวัง ๒ คนพี่น้อง เคราะห์ร้ายที่เมื่อเรือเดินทางมาถึงอ่าวปากพนังก็ได้เกิดคลื่นลมขนาดใหญ่พัดเอาเรือไปชนกับเกาะหนึ่งเข้า ทำให้เรือจมลงและทุกคนในเรือเสียชีวิตหมดรวมถึงแม่นางโดยด้วย จึงพากันเรียกเกาะนั้นว่า “เกาะนางโดย” มาจวบจนปัจจุบัน

.

นิทานเรื่อง ตำนาน “นางโดย” นี้ปรากฏคุณค่าทางวรรณกรรมหลายส่วน ทั้งคุณค่าทางสุนทรียะที่เมื่อได้อ่านได้ฟังแล้วเกิดจินตนาการและความสนุกสนานเพลิดเพลิน จัดนิทานลักษณะนี้อยู่ในรูปแบบนิทานท้องถิ่น (Legend) ประเภทนิทานอธิบายเหตุ (Explanatory Tale) ซึ่งหมายถึงนิทานที่มุ่งอธิบายความเป็นมาของปรากฎการณ์ธรรมชาติ เทพเจ้า คน สัตว์ พืช สถานที่และถ้อยสำนวน (อ.วิเชียร ณ นคร) ซึ่งเป็นนิทานเก่าแก่ประเภทหนึ่งที่แพร่หลายกันมาก แก่เรื่องคือการมุ่งให้คำตอบเกี่ยวกับความเป็นมาของสิ่งและสภาพต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวกับมนุษย์ สัตว์ พืชและธรรมชาติต่าง ๆ โดยการใช้วิธีการเล่าที่เรียบง่าย ไม่สลับซับซ้อน บางครั้งจะพบว่ามีการให้รายละเอียดของฉาก สถานที่ ตัวเดินเรื่องเป็นสภาพจริงทางภูมิประเทศที่ปรากฎและประวัติศาสตร์ของพื้นที่นั้น

ผู้ให้สัมภาษณ์ : นายพริ้ม มาสิงห์ บ้านคลองน้อย อำเภอปากพนัง
ผู้สัมภาษณ์และจดบันทึก : นายศุภฤกษ์ โรจนธรรม (2537)
ผู้เรียบเรียงความ/เผยแพร่ : นายวันพระ สืบสกุลจินดา

ประวัติอำเภอพรหมคีรี ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

ประวัติอำเภอพรหมคีรี
ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

เหตุที่ได้จั่วหัวว่าเป็น “ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค” นั้น ด้วยคัดมาจากหนังสือ “ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช” ซึ่งเข้าใจเอาจากคำนำในเล่มว่าเป็นข้อสั่งการจากกระทรวงมหาดไทยถึงจังหวัดทุกจังหวัด ให้รวบรวมและเรียบเรียงเหตุการณ์สำคัญ เอกสาร ความเป็นมา ภูมิประเทศ สถานที่และบุคคลสำคัญของจังหวัดต่าง ๆ เป็นสารบบ มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการท้องถิ่น ได้แก่ วิมล ดำศรี, วิเชียร ณ นคร, ประหยัด เกษม, สมพุทธ ธุระเจน และฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ เป็นคณะทำงาน โดยที่ น้อม อุปรมัย, กระจ่าง คีรินทร์นนท์ และขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นที่ปรึกษา

.

หนังสือดังกล่าว แบ่งเป็น 8 บท ได้แก่ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ลักษณะการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติความเป็นมา ประวัติเทศบาลในจังหวัดนครศรีธรรมราช บุคคลสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และทำเนียบนามผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

.

ส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำเภอพรหมคีรีนั้น ปรากฏอยู่ในบทที่ 3 “ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช” โดยจะได้คัดมาเผยแพร่ดังต่อไปนี้ (แบ่งวรรคตอนและย่อหน้าใหม่รวมถึงปรับคำบางช่วงตอนเพื่อสะดวกต่อการอ่าน แต่ยังคงสาระสำคัญไว้ตามต้นฉบับทุกประการ ประกอบกับในชั้นนี้จะยังไม่มีบทวิเคราะห์ข้อมูลใดๆ)

.

อำเภอพรหมคีรี เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช มีเขตการปกครอง 3 ตำบลคือตำบลพรหมโลก ตำบลบ้านเกาะ และตำบลอินคีรี ในแต่ละตำบลมีหมู่บ้านมากน้อยต่างกันคือตำบลพรหมโลก มี 8 หมู่บ้าน ตำบลบ้านเกาะ มี 6 หมู่บ้าน และตำบลอินคีรี มี 12 หมู่บ้าน

.

รวมตำบล ตั้งกิ่งอำเภอ

ต่อมาใน พุทธศักราช 2517 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศให้ 3 ตำบลดังกล่าวเป็นกิ่งอำเภอ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2517 เรียกว่า “กิ่งอำเภอพรหมคีรี” สังกัดอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช มีที่ทำการชั่วคราวอยู่ที่วัดพรหมโลก โดยมี นายสมนึก ฉวีภักดิ์ เป็นปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งคนแรก

.

พุทธศักราช 2518 นายสมนึก ฉวีภักดิ์ ได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งใหม่ที่จังหวัดสิงห์บุรี และได้แต่งตั้งให้นายประกอบ ดุลย์ไพรี มาเป็นปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอคนต่อไป ครั้นในพ.ศ. 2519 นายประกอบ ดุลย์ไพรี ได้รับแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งใหม่ที่อำเภอหัวไทร และได้แต่งตั้งให้นายประภาส อ่อนจันทร์ มาดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอพรหมคีรี

.

ตั้ง “ตำบลทอนหงส์”

ใน พ.ศ. 2519 ทางกิ่งอำเภอได้ขอขยายเขตการปกครองเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งตำบล และได้รับอนุมัติให้ขยายเขตได้ในต้น พ.ศ. 2520 โดยแยกหมู่บ้านจากตำบลอินคีรีหมู่ที่ 7 8 9 10 11 และ 12 ไปตั้งเป็นตำบลใหม่เรียกว่า “ตำบลทอนหงส์” โดยรวมกับพื้นที่ของตำบลโมคลาน และตำบลหัวตะพาน บางส่วนเข้ามาด้วย และได้ขยายหมู่บ้านในเขตพื้นที่ตำบลพรหมโลกเพิ่มขึ้นอีกสองหมู่บ้าน คือหมู่ที่ 9 แยกจากหมู่ที่ 5 เดิม  และหมู่ที่ 10 แยกจากหมู่ที่ 6 เดิม ส่วนในตำบลบ้านเกาะก็แยกหมู่บ้านเพิ่มอีกสองหมู่บ้าน คือหมู่ที่ 7 แยกจากหมู่ที่ 3 เดิม และหมู่ที่ 8 แยกจากหมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 4 เดิม ในปีนี้ได้ย้ายที่ทำการกิ่ง มาอยู่ที่ทำการกิ่งอำเภอ ณ หมู่ที่ 9 ตำบลพรหมโลก ถนนสายนคร-นบพิตำ (ทางหลวงหมายเลข 4016)

.

ต่อมาใน พ.ศ. 2521 นายประภาส อ่อนจันทร์ ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคลมปัจจุบัน ทางราชการได้แต่งตั้งนายนฤชิต พรหมสุทธิ์ มาดำรงตำแหน่งแทน และใน พ.ศ. 2522 นายนฤชิต พรหมสุทธิ์ ได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งใหม่ ณ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช และทางราชการได้แต่งตั้งนายไชยยศ สุวรรณฤทธิ์ มาดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอพรหมคีรีต่อไป

.

สร้าง “ศาลาประชาคม” ด้วยเงิน “ประชาชน”

ในปีนั้น ได้แยกหมู่บ้านของตำบลบ้านเกาะเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งหมู่บ้าน โดยแยกจากหมู่ที่ 4 ตำบลบ้านเกาะ ไปตั้งใหม่อีกหนึ่งหมู่บ้าน เป็นหมู่ที่ 9 ตำบลบ้านเกาะ และในปลาย พ.ศ. 2522 คณะข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พ่อค้า ประชาชน โดยการนำของนายไชยยศ สุวรรณฤทธิ์ ได้จัดสร้างศาลาประชาคมขึ้นหลังหนึ่งราคาประมาณ 200,000 บาทเศษ และโรงรถหลังหนึ่งราคาประมาณ 20,000 บาท โดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการแต่อย่างใด และได้ย้ายที่ทำการสถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอพรหมคีรี มาอยู่รวมกัน ณ ที่ว่าการกิ่งอำเภอพรหมคีรี และใน พ.ศ. 2522 ระยะต้นปี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดงบประมาณให้ก่อสร้างสำนักงานเกษตรขึ้นหลังหนึ่ง โดยใช้เป็นสำนักงานเกษตรอำเภอโดยเฉพาะ

.

นายอำเภอคนแรก

พ.ศ. 2523 นายไชยยศ สุวรรณฤทธิ์ ได้รับการคัดเลือกให้เข้าเรียนในโรงเรียนนายอำเภอ ทางราชการได้แต่งตั้งให้นายเสวียง สุวรรณา เป็นผู้รักษาราชการแทน จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม 2524 ทางราชการได้แต่งตั้งให้นายถาวร บุญยะวันตัง มาเป็นปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอพรหมคีรีคนต่อไป และในเดือนกรกฎาคม 2524 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศยกฐานะกิ่งอำเภอพรหมคีรี เป็นอำเภอพรหมคีรี ตามพระราชกฤษฎีกา เล่ม 98 ตอนที่ 115 ให้ไว้ ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2524 และได้แต่งตั้งนายถาวรบุญวรรณตังค์รักษาการในตำแหน่งในอำเภอพรหมคีรีเป็นอันดับแรก

ประวัติศาสตร์ จากวรรณกรรมเมืองนครศรีธรรมราช

ประวัติศาสตร์
จากวรรณกรรมเมืองนครศรีธรรมราช

เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 2 เมษายน 2561 ได้มีโอกาสไปร่วมเสวนาว่าด้วยวรรณกรรมเมืองนครศรีธรรมราช ที่หอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช ถ้าจำไม่ผิดคงเป็นห้วงสัปดาห์อนุรักษ์มรดกไทย ในกำหนดการปลายเปิดไว้สำหรับการแสดงทัศนะของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ได้ร่างทัศนะประพันธ์เป็นร้อยกรองและร้อยแก้วแล้วขึ้นแลกเปลี่ยนด้วย ซึ่งยังหลวมๆ ไม่วิชาการ อาจดูทะเล่อทะล่าแสดงความเขลาตามประสาเด็กซนบ้างก็กราบขออภัย มีว่าดังนี้

                                              เดียวเดียวโดดเดี่ยวด้อย               ความเดียว

                                    สืบสายสาวความเหลียว                            จึ่งแจ้ง

                                    แดดบ่แค่แผดเกี้ยว                                  สว่างเคียง มานา

                                    ใคร่แดดฤาแดดแกล้ง                                ใคร่สว่าง สว่างมา

                                                ในหนึ่งมีที่สองมองให้ถ้วน             คลี่สำนวนพบเท็จจริงทิ้งปุจฉา

                                    ความสำคัญในบรรทัดคือวิสัชนา                ปริศนาใดด้อยค่อยคลี่คลาย

                                                เอาความงามได้งามตามที่ว่า          เอาภาษาได้กลเม็ดเด็ดดังหมาย

                                    เอาเนื้อความได้ตามหวังตั้งอภิปราย           เอาเกร็ดกรายประวัติศาสตร์มิพลาดเอย

นอกจากการศึกษาวรรณกรรมเพื่อสุนทรียรส คุณค่าสำคัญอย่างหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม คือแง่งามของเกร็ดประวัติศาสตร์ที่ทิ้งไว้ในแต่ละวรรค ปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากการค้นคว้าข้อมูลทางโบราณคดีจากหลักฐานชั้นต้นและหลักฐานชั้นรองต่างๆ โดยเฉพาะที่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้น ข้อมูลที่ได้จากงานวรรณกรรมร่วมสมัยหรือเกี่ยวข้อง กลับเป็นสารสนเทศที่สังเคราะห์คำตอบในมุมที่อาจจะค้นหาไม่ได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์อื่น

.

จังหวัดนครศรีธรรมราช มีวรรณกรรมที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญอยู่ทุกกระเบียดนิ้ว ครอบคลุมทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะทะเล ภูเขา ผืนป่า หรือทุ่งนา ทั้ง เขา ป่า นา เล ล้วนมีการบันทึกภาพจำในมิติของประวัติศาสตร์ไว้กับ เพลงกล่อมเด็ก ซึ่งบ้างเรียก “ร้องเรือ” หรือบ้างก็เรียก “ช้าน้อง”

.

ตัวอย่างสำคัญที่ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า “เพลงช้าน้อง” ให้คุณค่าในมิติทางประวัติศาสตร์ควบคู่ไปกับสุนทรียรสทางด้านภาษา เช่น

                                                ลูกสาวเหอ        ลูกสาวชาวปากพนัง

                                    เอวกลมนมตั้ง                 นั่งทำเคยแผ่น

                                    ปั้นให้กลมกลม               ข่มให้แบนแบน

                                    นั่งทำเคยแผ่น                ให้แบนเหมือนเหรียญเงิน

.

การใช้พรรณนาโวหาร อธิบายลักษณะของหญิงสาวชาวปากพนังในยุคหนึ่ง และกรรมวิธีการทำ “เคยแผ่น” ซึ่งหาเห็นได้ยากแล้วในปัจจุบัน ผนวกเข้ากับอุปมาโวหารในบาทสุดท้ายที่เปรียบความแบนของเคยแผ่น ไว้เท่ากับเหรียญเงิน ทำให้สามารถจินตนาการภาพลักษณ์ของมรดกทางวัฒนธรรมที่เกือบสูญหายไปแล้วนี้ได้ชัดเจนขึ้น ที่สำคัญคืออาจตีความได้ว่าในยุคที่มีการทำเคยแผ่นนั้นเป็นยุคเดียวกันกับที่มีการใช้เหรียญเงินในพื้นที่ปากพนัง ดังนั้น นอกจากฉันทลักษณ์ของเพลงช้าน้อง ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแล้ว เราแทบจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าวรรณกรรมท้องถิ่นประเภทนี้ให้คุณค่าในมิติประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างมหาศาลเช่นเดียวกัน

ประกาศมหาสงกรานต์: ๒๑๐ ปี ท้องตราถึงพระยาศรีธรรมโศกราช

ประกาศมหาสงกรานต์:
๒๑๐ ปี ท้องตราถึงพระยาศรีธรรมโศกราช

ไม่มีวัฒนธรรมใดในโลกเกิดขึ้นอย่างโดดเดี่ยวปราศจากความเกี่ยวพันกับวัฒนธรรมอื่น เช่นเดียวกับ การถือกำเนิดโดยไร้หลักคิด คติ คุณค่าและความหมายแก่ผู้คน ก็ยอมรับว่าสิ่งนั้นเป็นวัฒนธรรมได้ยาก เพราะวัฒนธรรมเป็นเรื่องของคน คนจึงทำหน้าที่ตัดสินใจว่า วัฒนธรรมใดควรสืบทอดคงรูปอยู่ต่อ หรือยินยอมให้เลื่อนไหลพลวัตไปตามเหตุ ตามปัจจัย หมายความว่า บรรดาวัฒนธรรมที่ยังคงอยู่ในปัจจุบัน ล้วนเป็นผลจากการเลือกแล้วของผู้คนในอดีต ความยากง่ายของการศึกษาเรื่องวัฒนธรรม จึงอยู่ที่ ร่องรอยของหลักคิด คติ คุณค่าและความหมายแก่ผู้คนเหล่านั้น จะปรากฏเหลืออยู่ให้สืบความสักกี่มากน้อย

.

กัลยาณมิตรใน Facebook หลายท่าน แชร์และให้ความเห็นกรณีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ของเมืองนครศรีธรรมราชเปรียบเทียบกับเมืองอื่น ๆ ทำนองว่า สามารถเติมคุณค่าและขับเน้นความสำคัญของการมีพระพุทธสิหิงค์องค์สำคัญของท้องถิ่นและไทยได้อีก ในขณะที่การจัดสงกรานต์หลายแห่ง มีการแทงหยวกทำเบญจา รำโนราโรงดิน เหล่านี้คล้ายกับว่า วิถีอยู่-กินของชาวนครศรีธรรมราชและชาวใต้ ซึ่งเคยถูกทบทวนและเริ่มอนุรักษ์ผ่านงานสงกรานต์แต่แรกที่วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหารเมื่อสามสี่ปีก่อนต่อกันนั้น อาจเป็นเชื้อไฟส่องให้เห็นทางที่เราเคยผ่านมา จุดที่กำลังยืนร่วมกัน และอนาคตของมรดกทางวัฒนธรรมได้ดี ส่วนการเลือกทางเหล่านั้น ก็สุดแต่บริบทจะเอื้อ

.

เคยเขียนเรื่อง “บุญเดือนห้า เมืองนครศรีธรรมราช” เผยแพร่ไว้ในสารนครศรีธรรมราชความยาว ๕๐ หน้ากระดาษ A๔ ท้ายบทความนั้นคัดเอาจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๒ ส่วนที่เป็นท้องตราจากเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดีถึงพระยาศรีธรรมโศกราช ว่าด้วยการประกาศสงกรานต์ลงไว้ หยิบมาลงไว้อีกทีเพื่อจะได้เห็นได้ชวนกันพิจารณาในวงที่กว้างขึ้น แม้ว่าเป็นลักษณะของการสั่งการมาจากส่วนกลางถึงท้องที่ แต่ก็พอเห็นบทบาทของทั้งสองแห่งต่อสงกรานต์และภาพของมหาสงกรานต์ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ได้ดี (ทั้ง ๔ ฉบับคัดสำเนามาจากหอสมุดแห่งชาติ)

.

โครงของทั้งสี่ฉบับคล้ายกันต่างกันที่รายละเอียด คือตอนต้นระบุสถานะของหนังสือว่ามีมาจากใครถึงใคร “พระยาศรีธรรมโศกราช ชาติเดโชไชย มหัยสุริยาธิบดี อภัยพิริยะปรากรมพาหุ พระยานครศรีธรรมราช” เมื่อพุทธศักราช ๒๓๕๕ ได้แก่ “เจ้าพระยานครน้อย” ซึ่งถือเป็นสงกรานต์แรกในฐานะเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ถัดนั้นแจ้งฎีกามหาสงกรานต์ของพระโหราธิบดี ความเรียงไปตั้งแต่เวลาที่พระอาทิตย์ย้ายราศี นางสงกรานต์และกระบวนแห่พระเศียรท้าวกบิลมหาพรหม พิธีทักษิณาทาน ประกาศวันมหาสงกรานต์ วันเนา วันเฉลิงศกหรือพระยาวัน ทำนายข้าว นา ธัญญา-พลา-มังสาหาร และพิธีสรงพระมุรธาภิเษกในพระราชพิธีเผด็จศก ส่วนตอนท้ายเป็นความสั่งให้เผดียงแก่พระสงฆ์และราษฎร

.

จดหมายเหตุ รัชกาลที่ ๒
ชื่อ เรื่องท้องตราเจ้าพระยาอัครมหาเสนาถึงพระยาศรีธรรมโศกราช ประกาศมหาสงกรานต์
ปีวอก จัตวาศก จ.ศ. ๑๑๗๔ ฉบับ ณ วันเสาร์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ ปีวอกจัตวาศก
เลขที่ ๑๙ ประวัติ ได้มาจากกระทรวงมหาดไทย

หนังสือ เจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดี อภัยพิริยะปรากรมพาหุ สมุหพระกลาโหม มาถึงพระยาศรีธรรมโศกราช ชาติเดโชไชย มหัยสุริยาธิบดี อภัยพิริยะปรากรมพาหุ พระยานครศรีธรรมราช ด้วยทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า พระโหราธิบดีมีชื่อ ทำฎีกามหาสงกรานต์ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ศุภมัสดุ วรพุทธศาสนาสองพันสามร้อยห้าสิบห้าพระวัสสา กาลกำหนดเจตมาส สุกรปักข์ เอการัสมี ดิถีระวีวาร ตัสสทิวากาล เพลาเช้าย่ำรุ่งแล้วสองโมง บรมเทพทินกรเสด็จจากมีนราศีประเวศสู่เมษราศีทางโคณวิถีใกล้พระเมรุราช ขณะนั้นมีนางเทพดาองค์หนึ่ง ทรงนามชื่อว่าทุงษมหาสงกรานต์ มาแต่จาตุมหาราชิกา กระทำกฤษฎาพิมล ทรงพาหุรัดทัดดอกทับทิม ทรงเครื่องอาภรอันแล้วด้วยแก้วปัทมราช พระหัตถ์ขวาทรงสังข์ พระหัตถ์ซ้ายทรงจักร ภักษาหารผลอุทุมพร เสด็จโคจรยืนไปเหนือหลังครุฑหาหนะ เป็นมรรคนายกนำอมรคณะเทพดาแสนโกฏิ ประชุมชวนกันมารับพระเศียรท้าวกบิลมหาพรหม อันใส่พานทองประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธุลีที่เขาไกรลาสแดนพิมพานต์ประเทศ ขณะนั้นเทพยดาทำคารวะดุษฎี ชำระสุคนธวิเลปนะบูชายาควิธีอันควรด้วยดีตามวิสัยจารีตบุราณ แล้วก็แห่ทักษิณาวรรตเขาพระเมรุราชคำรบหกสิบนาที แล้วก็เชิญเข้าไปไว้ในถ้ำคันธุมาลีดังเก่า จึงเทพยุดาเจ้านำมาซึ่งลดาวัลย์อันชื่อชมนาด ใส่สุวรรณภาชน์ทอง เอาไปล้างน้ำในอโนดาตสระเจ็ดแถว เถาชุมนาดก็ละลายออกไปดังน้ำมันเนย แล้วพระเวษณุกรรมเทวบุตรจึงเนรมิตโรงอันหนึ่งชื่อภัควดี ให้หมู่เทพนิกรอัปษรกัญญาเข้านิสีทนาการพรั่งพร้อมกัน จึงสมาทานรักษาศีล เอาน้ำชมนาดเป็นทักษิณาทานแจกกันสังเวยทุกๆ พระองค์ ก็ชวนกันชื่นชมโสมนัส เดชกุศลได้กระทำนั้นก็บรรเทาโทษแห่งมหาสงกรานต์ให้อันตรธานสูญไป ความจำเริญฑีฆายุศม์สิริสมบัติก็มีแก่เทพยุดาทั้งปวง รวิวารเป็นวันมหาสงกรานต์ จันทวารเป็นวันเนา ภุมวารเป็นวันเฉลิงศก หรือพระยาวัน ครั้น ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เพลาบ่าย ๔ โมง สิ้นกปิถสังวัจฉระ เป็นกุกกุฏสังวัจฉระจุลศักราชขึ้นเป็น ๑๑๗๕ ปีระกานักษัตรเบญจศก เนาวันหนึ่งเป็นสงกรานต์ ๓ วัน ผลทำนายพสุสังกรานต์ อจีนตะสังกรานต์ สามัญสังกรานต์เป็นสามประการ อธิบายเป็นสามัญโลกทั่วทุกประเทศในสกลชมพูทวีป เกณฑ์พิรุณศาสตร์ พระจันทร์เป็นอธิบดี นาคราช ๔ ตัว บันดาลให้ฝน ๕๐๐ ห่า อุบัติดลยังเขาจักรวาล ๒๐๐ ห่า อรญิกาปิพิมพานต์ ๑๕๐ ห่า มหาสมุทร ๑๐๐ ห่า มนุษย์โลก ๕๐ ห่า ฝนต้นมือมัธยม กลางมือปลายมืออุดม เกณฑ์ธาราธิคุณลง ณ ราศมีนอโปธาตุ น้ำงามกว่าปีหลังศอกหนึ่ง นาลุ่มดี นาดอนทราม พอดีเหณฑ์ธัญญาหาร ออกเศษศูนย์ ชิวราภรณ์ข้าวกล้าในภูมินาได้ผล ๑๐ ส่วน เสียส่วนหนึ่ง ธัญญาหาร พลาหาร มังสาหารอุดม

.

ครั้น ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ๓ โมง ๖ บาท เสร็จการพระราชพิธีเผด็จศก พนักงานชาวเครื่องต้นจะได้ตั้งเครื่องพระมุรธาภิเษก ชีพ่อพราหมณ์จะได้ถวายน้ำกลดน้ำสังข์ ขอเชิญพระบาทสมเด็จบรมนาถบรมบพิตร พระพุทธิเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้าที่สรงสนานทรงเครื่องพระมุรธาภิเษกตามราชประเพณี สมเด็จบรมกษัตริย์สืบๆ มา เพื่อทรงพระจำเริญพระราชสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล เมทนีดลศัตรูกระษัย แลให้เผดียงพระสงฆ์ราชาคณะเจ้าอธิการและราษฎรให้รู้จงทั่วตามรับสั่ง ครั้นหนังสือมาถึงวันใดก็ให้กระทำตามจงทุกประการ

.

หนังสือมา ณ วันเสาร์แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ จุลศักราช ๑๑๗๔ ปีวอก จัตวาศก
วันพุธ เดือน ๕ ปีระกาเบญจศก หลวงเทพรามรฏก ขุนอักษรขาน ถือมาด้วยเรื่องมหาสงกรานต์

เทิม คัด / ศักดา พิมพ์ / อรรัตน์ ทาน ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓

.

จดหมายเหตุ รัชกาลที่ ๒
ชื่อ ท้องตราถึงพระยาศรีธรรมโศกราช เรื่องประกาศสงกรานต์ ปีจอ จ.ศ.๑๑๗๖ เลขที่ ๑
ประวัติ ได้มาจากกระทรวงมหาดไทย พ.ศ.๒๔๕๘

หนังสือเจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดีอภัยพิริยปรากรมพาหุ สมุหพระกลาโหม มาถึงเจ้าพระยาศรีธรรมโศกราชชาติเดโชชัยมหัยสุริยาธิบดีอภัยพิริยปรากรมพาหุพระยานครศรีธรรมราช ด้วยทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า พระโหราธิบดีโหรมีชื่อพร้อมกันทำดิถีมหาสงกรานต์ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ศุภมัศดุวรพุทธศักราช ๒๓๕๖ พระพรรษา การกำหนดเจตมาส กาฬปักษ์สัตมีดิถีฉันทวาร ทสทีวากรเพลาบ่าย ๓ โมง บรมทินกรเสด็จจากมีนประเวศสู่เมศราศี ทางโคณวิถีไกลพระเมรุมาช ขณะนั้นมีนางเทพธิดาองค์หนึ่งทงนามชื่อนางโคราคมหาสงกรานต์มาแต่จาตุมหาราชิกา กระทำกฤษฎาพิมล ทรงพาหุรัดทัดดอกปีบ ทรงเครื่องอาภรณ์อันแล้วด้วยแก้วมุกดา พระหัตถ์ขวาทรงธนู พระหัตถ์ซ้ายทรงพระขรรค์ ภักษาหารน้ำมันงา เสด็จนิสีทนาการนั่งเหนือหลังพยัคฆพาหนะ เป็นมัคนายก นำอมรคณาเทพยดาแสนโกฏิประชุมชวนกันมารับพระเศียรท้าวกบิลมหาพรหมอันใส่พานทอง ประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธุลีที่เขาไกรลาสแดนหิมะภารตะประเทศ ขณะนั้น เทพยดากระทำคารวะดุษฎีชำระสุคนธวิเลปนะชูชายาควิธี อันควรด้วยดีตามวิสัยจารีตบุราณ แล้วก็แก่ทักษิณาวัตรเขาพระเมรุราชคำรบหกสิบนาที แล้วก็เชิญเข้าไว้ในถ้ำคันธุลีดังเก่า จึงเทพยดาเจ้านำมาซึ่งลดาวัลย์อันช่อชะมุนาฏใส่สุวรรณภาชนะทองไปล้างน้ำในอโนดาษสระ ๗ ท่า เถาชะมนาฏก็ละลายออกไปไสดุจน้ำมัน ข้าวกล้าในภูมินาจะเกิดมีชาติดวงแล้งได้ผลกึ่งเสียกึ่ง เกณฑ์ธัญญษหารผลาหาร มัจฉมังสาหารมัธยมในปีจอ ฉศกนี้มีอาทิกวาร เดือน ๗ เป็นเดือนถ้วน พระสงฆ์ได้ลงกระทำอุโบสถกรรมเข้าพรรษาปวารณาออกพระวรรษาตามพระอาทิตย์พระจันทร์ถ้วนเป็นประธานโลก ตามขนบธรรมเนียมราชประเพณีสมเด็จพระบรมกษัตริย์สืบๆ มา ครั้น ณ วันพุธเดือน ๖ แรม ๙ ค่ำ เพลาเช้า ๓ โมง ๖ บาท เสร็จการพระราชพิธีเผด็จศก ให้พระยานครกรมการเผดียงพระสงฆ์ราชาคณะ เจ้าอธิการและอาณาประชาราษฎรให้ทั่ว ครั้นหนังสือมาถึงวันใดก็ให้ทำตาม หนังสือมา ณ วันอังคารเดือน ๕ ขึ้น ๓ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๖ ปีจอนักษัตร ฉศก

ชูศักดิ์ คัด / ศักดา พิมพ์ / วชิระ ทาน ๒๒ มกราคม ๒๕๑๓

.

จดหมายเหตุ รัชกาลที่ ๒
ชื่อ ท้องตราถึงเมืองนครศรีธรรมราช เรื่องประกาศสงกรานต์
ปีขาล สัมฤทธิ์ศก จ.ศ. ๑๑๘๐ ปีฉลู จ.ศ.๑๑๗๙
เลขที่ ๑๔ ประวัติ ได้มาจากกระทรวงมหาดไทย

หนังสือ เจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดีอภัยพิริยปรากรมพาหุสมุหพระกลาโหมมาถึงพระยาศรีธรรมโศกราชชาติเดโชชัยมหัยสุริยาธิบดีอภัยพิริยปรากรมพาหุพระยานครศรีธรรมราช ด้วยทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่าพระโหราธิบดีหลวงโลกธีปโหรมีชื่อพร้อมกันหาฤกษ์ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายศุภมัศดุมวรพุทธศักราชสองพันสามร้อยหกสิบพระวัสสา กาลครั้นเจ็ดมาสสุกรปักษมีดิถี โสรวารตัสสทิวากาลเพลาบ่ายสองโมงแปดบาท บรมทินกรเสด็จโคจรจากมีนาประเวศสู่เมษาราศีทางโค ณ วิถีใกล้พระเมรุราช ขณะนั้นมีนางเทพธิดาองค์หนึ่งทรงนามชื่อมโหธรรมมหาสงกรานต์ มาแต่จาตุมหาราชิกากระทำกฤษฎาพิมล ทรงพาหุรัดทัดทอดสามหาว ทรงอาภรณ์อันแล้วไปด้วยแก้วนิลรัตน์ พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล พระหัตถ์ขวาทรงจักร ภักษาหารมังสังทราย เสด็จทรงนั่งไปเหนือหลังมยุรปักษาพาหนะเป็นมัคนายก นำอมรคณาเทพยุดาแสนโกฏมารับเศียรท้าวกบิลมหาพรหมอันอุสภสังวัจฉนิรจุลศักราชขึ้นอีกพันแปดร้อยสิบปีขาล นักษัตร สัมฤทธิศก เนาวันหนึ่ง เป็นวันสงกรานต์สามวัน ผลทำนายพสุวาจินตะสามัญสงกรานต์เป็นสามประการ อธิบายเป็นสามัญโลกทั่วทุกประเทศในสกลชมพูทวีป เกณฑ์พิรุณสารทพระเสาร์เป็นอธิบดีนาคราชสามตัวบันดาลให้ฝนสี่ร้อยห่า อุบัติดลยังเขาจักรวาลร้อยหกสิบห่า อรัญญิกหิมพานต์ร้อยยี่สิบห่า มหาสมุทรแปดสิบห่า มนุษย์โลกสี่สิบห่า ฝนต้นมืออุดม กลางมือมัธยม ปลายมือเป็นอวสาน เกณฑ์ธาราธิคุณลงปัควราศรีสิงหเตโชธาตุน้ำน้อยกว่าปีหลังสองศอก นาลุ่มดี นาดอนทรามพอดี เกณฑ์ธัญญาหารออกเศษศูนย์เป็นปาปะ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ผลส่วนหนึ่งเสียสิบส่วน เกณฑ์ธัญญผลามัจฉมังสาหารเป็นมัธยมเดือนแปดแรมค่ำหนึ่งพร้อมด้วยอาสาหพฤกษ์พระบวรชีโนรศมหานาคจะได้เข้าพระวัสสาตามพระอาทิตย์ พระจันทร์อันเป็นประธานแห่งโลกตามขนบธรรมเนียมประเพณีฯ สืบๆ มา ครั้นวันจันทร์ เดือนห้า ขึ้นแปดค่ำ เพลาเช้าสามโมงหกบาท เสร็จการพระราชพิธีเผด็จศก เจ้าพนักงานชาวพระเครื่องต้นจะได้ตั้งเครื่องมุรธาภิเษก ชีพ่อพราหมณ์จะได้ถวายน้ำกรด น้ำสังข์ ขอเชิญพระบาทสมเด็จพระบรมนาถ บรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัว เสด็จเข้าที่สรงสนานทรงเครื่องพระมุรธาภิเษกตามราชประเพณีสืบมา เพื่อทรงพระจำเริญราชศรีสวัสดิ์พิพัฒนมงคลเมทนีดลสกลศัตรูกระษัยนั้น ให้เจ้าเมืองกรมการเผดียงพระสังฆราชา ท่านเจ้าอธิการ แล้วป่าวร้องประกาศแก่อาณาประชาราฎรในแขวงจังหวัดเมืองนครให้จงทั่วเหมือนอย่างมหาสงกรานต์ทุกปี ครั้งหนังสือนี้มาถึงวันใด ก็ให้กระทำตาม

.

หนังสือมา ณ วันพฤหัสบดี เดือนสี่แรมห้าค่ำปีฉลูนพศก เมืองนครศรีธรรมราช

ตราพระคชสีห์วังหลวง นายช่วยถือมา ตรามหาสงกรานต์ ตราพระคชสีห์น้อยประจำผนึก วันพฤหัสบดี แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๕ ปีขานสัมฤทธิศก นายช่วยถือมา ตรา ๒ ฉบับ

ตรารูปคนถือปืนประจำครั่ง

.

ประเสริญ คัด ศักดา พิมพ์ วชิร ทาน ๒๘ มกราคม ๒๕๑๓

.

จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๒
ท้องตรา ถึงเมืองนครศรีธรรมราช เรื่องประกาศมหาสงกรานต์ ปีเถาะ เอกศก จ.ศ. ๑๑๘๑ เลขที่ ๑
วัน เสาร์ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๕ ปีเถาะ จ.ศ. ๑๑๘๑
ประวัติ กระทรวงมหาดไทย ถวาย หอวชิราวุธ พ.ศ. ๒๔๕๘

.

หนังสือพระเจ้าอัคมหาเสนาบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุสมุหะพระกลาโหม มาถึงเจ้าพระยาศรีธรรมาราชชาติเดโชไชยมหัยสุริยาธิบดีอภัยพิริยปรากรมพาหุ พระยานครศรีธรรมราช ด้วยทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า พระโหราธิบดีหลวงโลกธีปโหรมีชื่อ ทำฎีกาทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายสุพมัศดุศักราชสองพันสามร้อยหกสิบเอ็ดพรรษา กาละครั้นเจตรมาสกาลปักษทุติยะ ดิถีรวีวาระตัดราตรีกาลเพลาย่ำค่ำแล้ว สองทุ่มแปดบาทบรมเทพทินกร เสร็จโคจรจากมีนยะประเวษสู่เมศราศีทางโค ณ วิถีใกล้พระเมรุราชขณะนั้นมีนางเทพธิดาองค์หนึ่งทรงนามชื่อทุงษมหาสงกรานต์ มาแต่จาตุมหาราชิกากระทำฤกษกาพิมลทรงพาหุรัตทัดดอกทับทิมทรงอาภรอันแล้ว ไปด้วยแก้วปัทมราช พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ ภักษาหารผลอุทุมพร เสด็จทรงไสยาสน์ไปเหนือหลังครุฑเป็นพาหนะ รวีวาระเป็นวันมหาสงกรานต์ จันทรวาระภูมวาระเป็นวันเนาว์ พุทวาระเป็นวันเถลิงศก ศรีพระยาวัน ครั้น ณ วันพุธ เดือนห้าแรมห้าค่ำ เพลาเข้าสองโมงแปดบาทสื้นพยัคสังวัจฉระเป็นสัสสะสังวัจฉรศักราชขึ้น เป็นพันร้อยแปดสิบเอ็ด ปีเถาะนักษัตรเอกศกเนาว์สองวัน เป็นวันมหาสงกรานต์สี่วัน พลทำนายพสุสงกรานต์ อาจินสงกรานต์ สามัญสงกรานต์ เป็นสามประการ อธิบายเป็นสามัญโลกทั่วทุกประเทศในสกลชมพูทวีป เกณฑ์พิรุณสารทพระอาทิตย์เป็นอธิบดี นาคราชสองตัว บัลดาลฝน สี่ร้อยห่า อุบัตดลยังเขาจักรวาลร้อยหกสิบ อรัญยิกาพิมพานร้อยยี่สิบห่า มหาสมุทรแปดสิบห่า มนุษย์โลกสี่สิบห่า ฝรตกมือกลางมืออุดมปลายมือ มัธยมเกณฑ์ธาราธิคุณลงปัศวราศรีซึ่งพระเตโชธาตุพินชนน้ำงามน้อยกว่าปีหลังศอกหนึ่ง นาลุ่มดีนาดอนทรามพอดี เกณฑ์ธัญญาหารออกเศษสองชื่อวิบัติ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ผลกึ่งเสียกึ่ง ธัญญาหารมัชมังสาหาร พลาหารมัธยมในปีเถาะ นักษัตรเอกศกนี้มีอธิมวาระเดือนเจ็ดเป็นเดือนถ้วนเดือนแปดแรมค่ำหนึ่ง พระบวรชิโนรถมหานาคจะได้กระทำชำระกุฎี ลงพระอุโบสถทวิกรรมเข้าพระพรรษาปวารณาออกพระพรรษาตามวินัยพุทธบัญญัติ ให้ชอบด้วยปีเดือน ค่ำวันเทศกาล ดูพระอาทิตย์ พระจันทร์เป็นประธาน แห่งโลกตามขนบธรรมเนียมประเพณีแผ่นดินสืบๆ มา ครั้น ณ วันพุธเดือนแรมห้าค่ำเพลาเช้าสามโมงหกบาท เจ้าพนักงานจะได้ตั้งเครื่องพระมลธาภิเศกชีพ่อพราหมณ์จะได้ถวายน้ำรดน้ำสังข์ ขอเชิญพระบาทสมเด็จพระบรมนาถบรมบพิธพระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จเข้าที่สรงสนามทรงพระมูรธาภิเศก เพื่อจะชำระพระองค์ตามพระราชประเพณีสืบๆ มา เพื่อทรงพระจำเริญพระราชศรีสวัสดิ์พิพัฒนมงคลเมทนีดลสกลศัตรูกระไสยนั้น ให้เจ้าเมืองกรมการพเดียงอาราธนาพระสงฆ์ราชาคณะ เจ้าอธิการและเป่าร้องอาณาประชาราษฎรให้รู้จักทั่ว

.

หนังสือมา ณ วัน เสาร์ เดือนห้า ขึ้นสองค่ำจุลศักราชพันร้อยแปดสิบเอ็ดปีเถาะเอกศก
(คนถือปืนประจำครั่ง) ตราพระคชสีห์น้อยประจำผนึก
วันจันทร์ ขึ้นสามค่ำ เดือนหก ปีเถาะเอกศก หมื่นสนิทข้าในกรมถือมาตรา ๓ ฉบับ
สุเทพ คัด / พิมพ์ / วชิระ ทาน ๒๗ ม.ค. ๒๕๑๓

โนราจำเนียร คำหวาน: ลูกหนังร่าน หลานหนังเรื้อย เหลนหนังรอด

โนราจำเนียร คำหวาน

ลูกหนังร่าน หลานหนังเรื้อย เหลนหนังรอด

โนราเป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีความเป็นพลวัตสูงมาก การศึกษาโนราจึงสามารถพลิกจับและคลี่มองกันได้หลายมิติ ล่าสุดรับชม Live : รายการขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว  ตั้งชื่อตอนว่า นาฏศิลป์ไทย ไม่อินเดีย “โนรา” ละครอยุธยาลงใต้ ออกอากาศเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 31 มีนาคม 2565 เวลา 20.00 น. ชื่อตอนเป็นทั้งข้อเสนอและสรุปอยู่ในตัวว่า “โนรา” เป็นละครอยุธยาที่แพร่กระจายลงมาสู่คาบสมุทร ในรายการอธิบายเพิ่มเติมว่ามีเพชรบุรีเป็นจุดพักและนครศรีธรรมราชเป็นจุดหมาย สุจิตต์ วงศ์เทศ เกริ่นนำข้อเสนอเหล่านั้นว่าอภิปรายกันบน “หลักฐาน” ไม่ใช่ “ความรู้สึก” ในขณะที่เอกภัทร์ เชิดธรรมธร ผู้ดำเนินรายการกล่าวเชื้อเชิญให้ “เปิดใจรับฟัง” คล้ายกับว่าทั้งสองท่านอาจจะเคยได้ยินได้ฟังเสียงที่แตกต่างในประเด็นเดียวกันนี้มาบ้างแล้ว (สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/KhanchaiSujit/videos/5306028399427586 )
.
ก่อนหน้านั้นเล็กน้อยได้เสวนากับหนังกุ้ง พงศธร ว่าด้วยเรื่องราวของโนราจำเนียร คำหวาน ผู้เป็นทั้งครูโนราและครูหนังตะลุงอาวุโสของเมืองนครศรีธรรมราช ขณะนี้อายุ 83 ปี มาลงเอยกันที่บทความที่อาจารย์บุญเสริม แก้วพรหม ท่านโพสต์ไว้เมื่อสองสามปีก่อน จึงขออนุญาตคัดมาไว้เพื่อเผยแพร่สมทบภาพที่ได้โพสต์ผ่านเพจไปก่อนหน้านี้แล้ว ดังนี้ (ในนี้ แม้ความจะออกไปยืนเล่าที่ข้างหนังเป็นหลัก แต่ก็สะท้อนลักษณะบางประการของโนราและหนังลุงให้มองต่อได้ดี จึงขอคงต้นฉบับไว้ทั้งความ ตัวอักษร และตัวเลข)
.

หนังจำเนียร เล่าว่า…

.
หนังจำเนียร คำหวาน ศิลปินหนังตะลุงต้นแบบอาวุโส วัย ๘๐ ปี (๒๕๖๒) เล่าถึงต้นเค้าสายตระกูลศิลปินโนรา-หนังลุงว่า…
.

“หนังรอด”

เป็นทวดของหนังจำเนียร มีภรรยา ๒ คน คนแรกจำไม่ได้ คนที่สองชื่อ ทุ่ม (ทวดหญิงของหนังจำเนียร)
หนังรอดบ้านอยู่ที่ทุ่งนาลาน ทางตะวันออกของวัดด่าน (วัดสโมสร) ตำบลหัวตะพาน อำเภอท่าศาลา
หนังรอดมีลูก ๔ คน คือ หนังจาบ หนังเรื้อย หนังริ่น และหนังเริ่ม (หนังเริ่มเป็นหนังหญิงที่ฝึกเล่นหนังได้แต่ไม่ได้ออกโรงแสดงทั่วไป)
.

“หนังจาบ”

ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีลูกชายเป็นหนังคนหนึ่งชื่อ หนังรุ่น
.

“หนังเรื้อย”

เป็นปู่ของหนังจำเนียร ฝึกเล่นหนังกับหนังทองมี ซึ่งอยู่ที่บ้านข้างวัดขุนโขลง ตำบลหัวตะพาน อำเภอท่าศาลา
หนังเรื้อยมีภรรยาหลายคน มีลูกหลายคน เป็นหนังตะลุงและโนรา ได้แก่ หนังร่าน หนังรุ่ม หนังชุ่ม โนราถนอม หนังดอกไม้ โนราปลีก โนราอิ่ม โนรารอบ โนราจำรัส หนังนุกูล
หนังเรื้อยแสดงทั้งหนังตะลุงและโนราควบคู่กันไป
.

“หนังริ่น”

เป็นตาของหนังจำเนียร นอกจากแสดงหนังแล้ว ยังมีความสามารถในการตัดรูปหนังด้วย
หนังริ่นมีลูกหญิงเป็นยิ่เกป่าและโนรา ได้แก่ ยี่เกเปลี่ยว โนราเวด โนราวาด โนราสายชล
หนังริ่นมีลูกศิษย์หนังตะลุงหลายคน เช่น หนังขำ หนังจวน (เพลงบอกจวน จะนะดิษฐ์ บ้านทุ่งชน หัวตะพาน)
.

“หนังร่าน”

เป็นพ่อของหนังจำเนียร มีลูกคนเดียวคือ หนังจำเนียร หนังร่านเป็นทั้งหนังตะลุงและโนรา
.

“หนังจำเนียร”

อยู่กับปู่ (หนังเรื้อย) มาตั้งแต่เด็กๆ ไปไหนมาไหนก็ขี่คอปู่ไป หนังเรื้อยไปแสดงที่ไหนก็พาหลานรัก (หนังจำเนียร) ไปด้วย และถ่ายทอดวิชาหนัง-โนราให้หลานรักมาตลอดเวลาที่ไปไหนมาไหนด้วยกัน หลานรักอยู่บนคอปู่่ ปู่ก็พาเดินและฝึกให้ขับบทกลอนไปด้วย หนังเรื้อยแสดงหนังบนโรง หลานรักก็นอนซุกตัวหลับอยู่ข้างๆปู่ เป็นอย่างนี้จนซึมซับซาบซึ้งอยู่ในวิถี

เรียนหนังสือ

หนังจำเนียร เรียนหนังสือชั้นประถมที่โรงเรียนวัดด่าน (วัดสโมสร) ข้างบ้าน เริ่มแสดงโนราก่อน เพราะปู่ยังไม่ให้เล่นหนัง บอกว่า “ให้โปตายก่อนแล้วมึงค่อยเล่นหนัง สี่ปีกะดัง” แต่หลานรักก็ไปแอบปู่ไปฝึกเล่นหนังกับคนข้างบ้านก่อนตั้งแต่อายุ ๑๒ ขวบ
ครั้นอายุ ๑๔ ปี ปู่ (หนังเรื้อย) เสียชีวิต จึงได้เริ่มแสดงหนังตะลุง โดยแสดงครั้งแรกที่วัดท่าสูง อำเภอท่าศาลา เพื่อเป็นมหรสพให้ชาวบ้านที่มาช่วยกันถากหญ้าในวัดได้ชม แสดงติดต่อกันหลายคืน ทั้งนี้โดยการอุปถัมภ์ของพ่อท่านคช (พระครูอาทรสังฆกิจ) เจ้าอาวาสวัดท่าสูง ตามที่หนังเรื้อยผู้เป็นปู่ได้ฝากฝังพ่อท่านคชไว้ให้ช่วยดูแลหลานด้วย

นางโนรา

เมื่อเริ่มต้นแสดงหนังนั้นไม่มีรูปหนังเป็นของตัวเอง ต้องยืมรูปหนังของหนังขำมาใช้ เป็นครั้งคราว
เรื่องที่แสดงในครั้งแรกๆนั้น เช่นเรื่อง “นางโนรา” (จำมาจากปู่-หนังเรื้อย) เรื่องสังข์ศิลป์ชัย เรื่องโคคาวี เรื่องแก้วหน้าม้า เรื่องโกมินทร์ เรื่องปลาบู่ทอง เป็นต้น ส่วนหนึ่งอาศัยเรื่องราวจาก “หนังสือวัดเกาะ” ที่พิมพ์จำหน่ายอยู่ในเวลานั้น
หลังจากที่แสดงหนังที่วัดท่าสูงอยู่ ๒-๓ ปี ต่อมาก็ได้ไปแสดงประจำที่โรงก๋งท่าศาลา ในช่วงประเพณีไหว้ก๋งประจำปี (ก่อนหน้านั้นหนังเรื้อย และหนังดอกไม้ แสดงมาก่อน) ทำให้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป เป็นไปตามคำสั่งของปู่หนังเรื้อยที่ว่า “สี่ปีกะดัง”
หนังจำเนียรแสดงหนังตะลุงที่โรงก๋งท่าศาลาเป็นประจำทุกปี แต่ละปีแสดงติดต่อกันทุกคืนเป็นเวลาแรมเดือน ใช้เวลาแสดงตั้งแต่หัวค่ำจนถึงเที่ยงคืน ได้ค่าราดโรงตั้งแต่คืนละ ๓๕ บาท จนค่าราดโรงขึ้นเป็นหลายพันบาท ติดต่อกันเป็นเวลาร่วม ๔๐ ปี
ชื่อเสียงของหนังจำเนียรเป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง ครั้งที่โด่งดังที่สุดครั้งแรกๆก็คือ การประชันโรงและชนะหนังหมุนนุ้ย จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นหนังรุ่นใหญ่มีชื่อเสียงทั่วภาคใต้ แข่งขันกันที่วัดศรีทวี อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช นอกนั้นก็คือการแสดงแข่งขันประชันโรงในงานเทศกาลเดือนสิบแทบทุกปี ที่ผู้จัดงานต้องรับหนังจำเนียรไปแสดงเพื่อดึงดูดผู้คนจากท่าศาลาให้ไปเที่ยวชมงาน
สำหรับผู้แต่งเรื่องหนังตะลุงให้หนังจำเนียรแสดงมีหลายคน เช่น ครูริ่น บัณฑิต ลุงข้ำ ชื่นชม ลุงเขียน บ้านหนองหว้า เป็นต้น
หนังจำเนียรมีลูก ๙ คน ลูกชายฝึกเล่นหนัง ๒ คน คือ “เณรหมู-สมรักษ์ และ เณรนก-จุลทอง” แต่ไม่ได้ยึดเป็นอาชีพ โดยลูกทุกคนเป็นโนรา และต้องทำพิธีไหว้ครูเป็นประจำ
.
เรื่องราวจากคำบอกเล่าของ “หนังจำเนียร คำหวาน” ยังไม่จบ ยังมีอีกมากมายที่พรั่งพรูออกมาจากความทรงจำที่บอกเล่าโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย..
ค่อยๆทยอยเก็บมาบอกเล่ากันไปเรื่อยๆนะครับ…
ลุงบุญเสริม
๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒
(เก็บความจากการตั้งวงเสวนากับหนังจำเนียร คำหวาน เมื่อ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ณ เรือนสัมมนาในสวนขวัญ จิรวรรณ แก้วพรหม)
.
เมื่อวัฒนธรรมเป็นพื้นที่แห่งการช่วงชิงความหมายอย่างไม่รู้จบ
โนราจึงเป็นโนราทั้งในแบบที่โนราเป็น ต้องเป็น และจำเป็นต้องเป็น
สายธารเรื่องราวของโนราที่ทยอยไหลบ่าเข้าหากัน
เป็นผลให้เกิดการผนวกผสาน เรียงลำดับ และจัดกลุ่มองค์ความรู้
ที่สำคัญคือ โนราเป็นวัฒนธรรมที่ยังมีลมหายใจและผู้เป็นเจ้าของ
เจ้าของวัฒนธรรมโนรานับได้ตั้งแต่ตัวโนรา นักดนตรี เจ้าภาพ ผู้ชม
หรือไปกว้างสุดที่คนใต้ทั้งหมดก็ไม่น่าจะผิด
ไม่ว่าจะด้วยการผนวกตัวเองเข้าเป็นส่วนสำคัญของพิธีกรรมฝ่ายบรรพชนหรืออย่างไรก็ตามแต่
เหล่านั้นทำให้โนราไม่เคยถูกตัดขาดออกจากวิถีชีวิตของผู้คนได้เลย
อีกจะเห็นได้ว่า บทบาทหน้าที่ของผู้ที่นิยามและถูกนิยามว่าเป็นโนรา
มักเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญในกระบวนการเข้าใกล้ความรู้ว่าด้วยโนราอยู่เนือง ๆ
.
อย่างที่เกริ่นแล้วว่าโนรามีความเป็นพลวัตสูงในหลายมิติ ประกอบกับการเป็นวัฒนธรรมที่ยังคงมีชีวิตชีวาและผู้ร่วมเป็นเจ้าของ การสถาปนาความใดๆ ให้กับโนรา นอกจากเกิดส่วนได้ในวงนั้นๆ แล้ว ผลกลับกันที่จะมีต่อผู้ที่ถูกกีดออกนอกเกณฑ์ นอกย่าน นอกโยด เป็นสิ่งที่ควรต้องระแวงระวัง หรือไม่ก็ต้องจัดหาที่ทางและคำตอบไว้รองรับอย่างเหมาะสมฯ