ตำนานถ้ำขุนคลัง และเรื่องเล่าจากบันทึกของนักสำรวจมือสมัครเล่น

ตำนานถ้ำขุนคลัง และเรื่องเล่าจากบันทึกของนักสำรวจมือสมัครเล่น
โดย ธีรยุทธ บัวทอง

เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจที่เขาโพรงเสือ (วันที่ 20-21 กรกฎาคม 2562) ผมก็ได้ออกเดินทางไกลไปยังอำเภอนบพิตำ พื้นที่แห่งหุบเขาและกำแพงกั้นลมทางด้านทิศตะวันตกของเมืองนครศรีธรรมราช โดยใช้เส้นทางทะลุเข้าสู่ถนนสายพรหมคีรี-กรุงชิง เดิมทีการเดินทางใช้เวลาเพียง 45-60 นาที แต่ช่วงที่เราเดินทางไปนั้น กรมทางหลวงกำลังปรับปรุงถนนพอดิบพอดี ผนวกกับฝนที่ตกลงมาเป็นระยะ ๆ เพิ่มความเสี่ยงต่อการลื่นไถลจากเนินเขา ทำให้การเดินทางครั้งนี้ต้องใช้ความระมัดระวังและเวลานานมากกว่าเดิม

วัดเปียน คือสถานที่แรกที่เราแวะ เนื่องจากสหายครีม ครูแห่งวัดเปียน ได้แนะนำให้เข้าไปพบกับท่านเจ้าอาวาส เพื่อสอบถามข้อมูล ทำให้ทราบข้อมูลของพื้นที่กรุงชิงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องราวตำนานของถ้ำขุนคลัง ซึ่งสามารถสรุปใจความสำคัญได้ดังนี้

“…ที่มาของชื่อถ้ำขุนคลังนั้น เล่ากันว่าเมื่อปี พ.ศ. 2310 สมัยอยุธยาเสียกรุงครั้งที่สอง ทำให้ขุนนางในวังพากันหลบลี้ออกจากเมือง หนึ่งในนั้นคือขุนคลังฤทธิเดช ผู้รับผิดชอบเงินท้องพระคลัง พร้อมพวกพ้อง และธิดาของเจ้าเมือง (ไม่ทราบแน่ชัดว่าคือใคร) หลบหนีลงมาทางใต้ อีกทั้งทรัพย์สินเงินทองมากมาย และได้ใช้ถ้ำแห่งนี้พักอาศัย จนกระทั่งเกิดไข้ห่า ทำให้ทุกคนจบชีวิตลง ส่วนเงินทองได้กล่าวเป็นหินงอกหินย้อย…”

นอกจากนั้นยังได้สนทนาภาษาธรรม และชื่นชมโบราณวัตถุที่ท่านเก็บไว้เป็นอย่างดี ยากแก่บุคคลภายนอกจะได้เห็น แต่คงด้วยชะตาที่ต้องกันจึงทำให้ผมและสหายโกบได้รับโอกาสดี ๆ เช่นนี้

สำหรับพื้นที่ของกรุงชิง (นบพิตำ) มีการค้นพบหลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์เป็นจำนวนมาก แต่เนื่องด้วยลักษณะพื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะเป็นหุบเขาสลับซับซ้อนเต็มไปด้วยป่าไม้และสัตว์ป่านานาชนิด ตลอดจนเส้นทางการคมนาคมในอดีตที่ยากลำบาก อีกทั้งในช่วงหลังถูกใช้เป็นฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ก็ยิ่งทำให้พื้นที่ดังกล่าวเข้าถึงยากขึ้นไปอีก ส่งผลให้โบราณวัตถุหลายชิ้นถูกแลกเปลี่ยนซื้อขายออกไปภายนอกจำนวนเยอะ ผนวกกับอาการกลัวกรมศิลปากร ทำให้การสำรวจไม่ค่อยครบถ้วนสมบูรณ์ และปรากฏหลักฐานเชิงประจักษ์น้อยกว่าความเป็นจริงมาก

การสนทนาดำเนินผ่านนานกว่าสองชั่วโมง จึงได้เวลาอันสมควรที่จะขออนุญาตกราบนมัสการลาท่านเจ้าอาวาส เพื่อออกเดินทางต่อไปยังถ้ำขุนคลัง ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากวัดเปียนมากนัก ซึ่งเส้นทางในช่วงแรก ๆ เป็นพื้นถนนคอนกรีตขับสบาย หลังจากนั้นก็ต้องเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนลูกรัง มุ่งตรงไปยังเขาขนาดใหญ่อันตั้งอยู่ภายในสวนผลไม้ของชาวบ้านอีกเช่นเคย

ขับรถมาไม่นานก็พบกับปากถ้ำทางด้านทิศใต้ ซึ่งประจวบเหมาะกับสายลมที่พัดโชยกลิ่นมูลค้างคาวออกมาจากถ้ำชวนให้คลื่นไส้เป็นระยะ ๆ แต่นั้นก็ไม่สามารถหยุดยั้งความอยากรู้ของพวกเราทั้งสองคนได้ ผมจึงเร่งชวนสหายโกบเดินทางเข้าไปในถ้ำ ซึ่งมี 2-3 ทางให้เลือก แต่พวกเราตัดสินใจเลือกปากทางเข้าถ้ำด้านซ้าย เนื่องจากมีขนาดใหญ่สุด

เมื่อเดินเข้าไปภายในถ้ำ สามารถมองเห็นแสงสว่างจากปากถ้ำอีกฟากหนึ่ง ภายในมีการปรับพื้นที่และสร้างทางลาดพื้นซีเมนต์ปูกระเบื้องอย่างดี แต่ด้วยความมืดมิดจึงต้องอาศัยแสงสว่างจากไฟฉายช่วยส่องนำทาง ทว่าการเปิดไฟฉายนั้นส่งผลให้ค้างคาวบนผนังใกล้ศีรษะของพวกเราตื่นตกใจ จนบินออกมาหลายสิบตัว และดูเหมือนว่ายิ่งเดินลึกเข้าไปก็ยิ่งไม่แน่ใจกับเส้นทางข้างหน้าว่าจะเจอกับฝูงค้างคาวหรืองูหรือไม่ จึงตัดสินใจเบี่ยงเส้นทางลงมาบนพื้นดินด้านล่าง ซึ่งโล่งและมองเห็นแสงสว่างจากปากถ้ำได้มากกว่า

ภายในถ้ำแห่งนี้ชาวบ้านเล่าว่าเคยพบเศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน และเศษกระดูกมนุษย์ที่ได้นำมารวบรวมไว้

เดินไปได้สักครู่ก็ต้องหยุดชะงักอยู่บริเวณพื้นที่ต่างระดับ พวกเราจึงมองหน้ากันก่อนจะตัดสินใจเลี้ยวกลับมาสู่ปากถ้ำเพื่อหาเส้นทางอื่นอ้อมไปเสียดีกว่า

ซึ่งการตัดสินใจครั้งนั้นส่งผลดีต่อซะด้วย เนื่องจากทำให้พบกับเส้นทางน้ำสายเล็ก ๆ ที่ใสจนสามารถมองเห็นพื้นดินและกรวดด้านล่าง ชาวบ้านเรียกกันว่า คลองปง ซึ่งกำลังไหลอ้อมเขาไปอย่างช้า ๆ และไหลเชื่อมต่อกับคลองกลาย ซึ่งเป็นเส้นทางคมนามคมที่มีความสำคัญยิ่งต่อเมืองนครศรีธรรมราช

ด้วยเห็นว่าน้ำตื้นเขินจึงกระโดดลงไปสัมผัสกับความเย็น พร้อมชำระล้างหน้าตากันอย่างสดชื่น จากนั้นจึงใช้สองมือสองเท้าปีนป่ายขึ้นจากลำธาร มุ่งเข้าไปในป่า บนพื้นที่ราบอันกว้างขวางที่เต็มไปด้วยต้นบุก จนกระทั่งพบปากถ้ำอีกทางหนึ่ง และกำลังก้าวย่างเข้าไปในถ้ำแห่งนั้นอีกครั้ง

“ชั๊บๆๆ…” (เสียงดังมาจากด้านหลัง) พวกเราต่างหันกลับไปดูด้วยความสงสัย เสียงนั้นไม่ใช่เสียงอื่นใด หากแต่เป็นเสียงของลุงคนหนึ่งกำลังถากหญ้าด้วยพร้าเล่มเก่า เพื่อเปิดทางซึ่งรกไปด้วยวัชพืชและเถาวัลย์

สืบเท้าเข้ามาจนถึงจุดที่สามารถมองเห็นซึ่งกันและกัน ผมและสหายโกบจึงเริ่มทักทายด้วยการกล่าวคำสวัสดี พร้อมพนมมือไหว้ด้วยความเคารพ แบบไทยๆ ก่อนจะเข้าสู่บทสนทนาถึงข้อคำถามเรื่องถ้ำขุนคลังอีกแห่งที่อยู่ใกล้กัน

ลุงชี้นิ้ว พร้อมเดินนำหน้าไปอย่างมุ่งมั่น ชายหนุ่มสองคนจึงไม่ลังเลที่จะเดินตามไป แต่ในใจก็คิดเพียงว่าแกคงไปชี้จุดบริเวณปากทางเข้าถ้ำให้เท่านั้น

แต่ทว่าเมื่อเดินไปเกือบสองร้อยเมตร ลุงหยุดอยู่กับที่พร้อมตั้งท่าเตรียมไต่ขึ้นไปตามทางอันจะนำเราขึ้นไปสู่ถ้ำด้านบน ซึ่งอยู่สูงจากระดับพื้นดินประมาณ 20 เมตร ตอนนั้นพวกเรารู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างมาก จึงเร่งรีบติดตามไปอย่างใกล้ชิด จนปีนป่ายมาถึงจุดซึ่งเรียกว่าถ้ำ

ภายในถ้ำขุนคลังแห่งนี้มีความงดงามของหินปูนและมนต์เสน่ห์เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีขนาดใหญ่ ลมพัดโกรกเย็นสบาย และได้รับแสงสว่างอย่างเพียงพอจากปากถ้ำทางทิศตะวันออก เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐาน ปลอดภัยจากสัตว์ป่าและน้ำป่าไหลหลาก โดยข้อมูลจากกรมศิลปากรระบุว่าได้พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อดินจำนวนหนึ่ง ในบริเวณพื้นที่แห่งนี้

หลังจากชื่นชมบรรยากาศและสำรวจภายในถ้ำเสร็จสิ้น ลุงจึงนำกลับลงมาทางเดิม  และพามาชมถ้ำด้านล่างอีกครั้งหนึ่ง พร้อมให้ข้อมูลน่าสนใจหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการค้างศพภายในถ้ำ การเก็บมูลค้างคาว และสิงสาราสัตว์ในพื้นที่โดยรอบ

เมื่อดูเหมือนจะเสร็จสิ้นภารกิจ ลุงจึงขอตัวลาจากไป และด้วยความขอบน้ำใจ พวกเราจึงพนมมือไหว้ พร้อมกล่าวขอบคุณลุงขวยด้วยใจจริง

ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากลักษณะที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ และหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ จึงสันนิษฐานได้ว่าบริเวณถ้ำขุนคลังทั้งสองแห่งเคยเป็นแหล่งที่พักอาศัยถาวรของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ยุคหินใหม่ อย่างแน่นอน อาจมีอายุประมาณ 4,000 – 2,000 ปี โดยพึ่งพาแหล่งน้ำสายสำคัญ คือ คลองปงและคลองกลาย สำหรับการคมนาคม การเกษตรกรรม รวมทั้งติดต่อสัมพันธ์กับมนุษย์ในพื้นที่ของแหล่งโบราณคดีอื่นซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียง ส่วนการดำรงชีวิตยังคงมีการล่าสัตว์และหาผลไม้เหมือนเดิม แต่อาจพัฒนาด้านกสิกรรมขึ้น เนื่องจากมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบใกล้แหล่งน้ำเหมาะแก่การปลูกพืชพรรณธรรมชาติเพื่อการดำรงชีพ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ศุขาภิบาลเมืองนครศรีธรรมราช และตำบลตลาดเมืองสงขลา

ศุขาภิบาลเมืองนครศรีธรรมราช และตำบลตลาดเมืองสงขลา

ธีรยุทธ บัวทอง

ศุขาภิบาลเป็นองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นสำหรับท้องถิ่นที่ยังไม่พร้อมที่จะจัดตั้งเป็นเทศบาล โดยมีนายอำเภอเป็นประธาน กำนันและผู้ใหญ่บ้านเป็นกรรมการ มีรายได้จากการเก็บภาษีโรงเรือนในท้องถิ่นนั้นๆ ศุขาภิบาลแห่งแรกในประเทศไทย คือ ศุขาภิบาลกรุงเทพฯ จัดตั้งเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2440 ตามพระราชกำหนดศุขาภิบาลกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2440 หาใช่ศุขาภิบาลท่าฉลอม ตำบลท่าฉลอม เมืองสมุทรสาคร อย่างที่หลายคนเข้าใจไม่ เนื่องจากศุขาภิบาลท่าฉลอมได้จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2448 และเป็นเพียงศุขาภิบาลส่วนภูมิภาคเท่านั้น หลังจากนั้นจึงเริ่มกระจายไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งในบทความนี้ขอกล่าวถึงศุขาภิบาล 2 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลนครศรีธรรมราช

 

1.ศุขาภิบาลตำบลตลาดเมืองสงขลา

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2452 พระยาชลบุรานุรักษ์ ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ได้มีใบบอกเข้ามายังกระทรวงมหาดไทยระบุว่าเมืองสงขลานั้นเป็นสถานที่ตั้งของย่านการค้า และบ้านเรือนของราษฎรจำนวนมาก สมควรแก่การจัดตั้งเป็นศุขาภิบาลตามพระราชบัญญัติศุขาภิบาล แต่ควรเริ่มจัดตั้งในบริเวณตำบลตลาดเสียก่อน ดังนั้นจึงได้เรียกประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคฤหบดีในตำบลตลาดมาปรึกษาร่วมกัน จากนั้นจึงได้กำหนดเขตสุขาภิบาลดังนี้คือ

ด้านตะวันตกของถนนนคร ถนนวิเชียรชม ต่อจากถนนพัทลุงไปจรดถนนไทรบุรีที่ป่าสน ยาวประมาณ 44 เส้น 18 วา กับถนนริมน้ำเคียงถนนนคร ยาวประมาณ 16 เส้น

ด้านเหนือถนนไทรบุรีจากฝั่งทะเลสาบริมโรงตำรวจภูธรไปตามป่าสนผ่านหน้าสงขลาสโมสร เลี้ยวไปทางตะวันออกผ่านบ้านข้าราชการไปจรดประตูไชยใต้ ยาวประมาณ 83 เส้น 12 วา

ด้านใต้ถนนพัทลุงจากถนนไทรบุรีผ่านถนนจนถึงฝั่งทะเลสาบ ยาวประมาณ 5 เส้น 5 วา ระหว่างถนนไทรบุรีด้านเหนือถึงถนนพัทลุงด้านใต้ มีถนนซอยอีก 3 สาย คือ ถนนตรังกานู ยาวประมาณ 12 เส้น ถนนนกลันตัน ยาวประมาณ 13 เส้น และถนนบ้านใหม่ ยาวประมาณ 5เส้น รวมทั้งสิ้นยาวประมาณ 30 เส้น

 

2.ศุขาภิบาลเมืองนครศรีธรรมราช

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2453 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ได้มีใบบอกเข้ามายังกระทรวงมหาดไทยระบุว่า เมืองนครศรีธรรมราชนั้นเป็นที่ตั้งของย่านการค้า และบ้านเรือนราษฎรจำนวนมาก สมควรแก่การจัดตั้งเป็นศุขาภิบาล

โดยเริ่มจากตำบลท่าวัง ตำบลคลัง ตำบลประตูไชยเหนือและตำบลพระเสื้อเมืองก่อน ดังนั้นจึงรับสั่งให้พระยาศิริธรรมบริรักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองนครศรีธรรมราช เรียกประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคฤหบดีทั้ง 4 ตำบลมาปรึกษาหารือร่วมกัน จากนั้นจึงได้กำหนดเขตศุขาภิบาลดังนี้คือ ด้านเหนือ จรดถนนซอยริมกำแพงด้านใต้ของวัดประดู่ ไปจนถึงคลองไปท่าแพและทุ่งนาฝ่ายตะวันออกกว้างประมาณ 15 เส้น ด้านใต้ จรดกำแพงเมืองด้านใต้จนถึงคลองบ้านหัวท่า และมุมกำแพงตะวันออก กว้างประมาณ 13 เส้น 14 วา ด้านตะวันออก จรดกำแพงเมืองและทุ่งนาหยาม ยาวประมาณ 110 เส้น 18 วา และด้านตะวันตก จรดคลองท่าดีฝั่งตะวันตกยาวประมาณ 107 เส้น 15 วา

ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2474 ได้มีการปรับปรุงเขตศุขาภิบาลเมืองนครใหม่ เพื่อความเป็นระบบและชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนี้คือ

ด้านเหนือ ตั้งแต่หลักเขตหมายเลขที่ 1 ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองเตยฝั่งตะวันตก เป็นเส้นขนานจากริมถนนวัดมะขามชุมฟากเหนือตรงไปตัดกับริมคลองที่นั้น และเลียบริมถนนวัดมะขามชุมฟากเหนือกับริมถนน ซอยฟากเหนือ ซึ่งตรงข้ามกับถนนวัดมะขามชุมไปทางทิศตะวันออกโดยวัดจากปากถนนซอยนี้ออกไปประมาณ 450 เมตร จนจรดหลักเขตหมายเลขที่ 2

ด้านตะวันออก ตั้งแต่หลักเขตหมายเลขที่ 2 เป็นเส้นตรงไปทางทิศใต้ จนจรดหลักเขตหมายเลขที่ 3 บริเวณริมคลองหน้าเมืองฝั่งใต้ห่างจากมุมตะวันออกเฉียงเหนือของกำแพงเมืองไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 250 เมตร จรดริมคลอง จากหลักเขตหมายเลขที่ 3 เป็นเส้นตรงไปทางทิศใต้จรดหลักเขตหมายเลขที่ 4 บริเวณมุมกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้

ด้านใต้ ตั้งแต่หลักเขตหมายเลขที่ 4 เลียบริมกำแพงเมืองด้านทิศใต้ไปทางทิศตะวันตก จากแนวกำแพงออกไปถึงคลองท่าดีฝั่งตะวันตกจรดหลักเขตหมายเลขที่ 5

ด้านตะวันตก ตั้งแต่หลักเขตหมายเลขที่ 5 เลียบคลองท่าดี คลองท้ายวัง คลองทุ่งปรัง และคลองเตยฝั่งตะวันตกไปทางเหนือจนกระทั่งบรรจบกับหลักเขตหมายเลขที่ 1

เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าศุขาภิบาลในระยะเริ่มแรกในมณฑลนครศรีธรรมราชมีการกำหนดอาณาเขตเพื่อบริหารจัดการอย่างชัดเจน แม้ว่าบางพื้นที่อาจถูกเปลี่ยนชื่อหรือถูกทำให้ลบเลือนไปแล้วก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการจัดตั้งศุขาภิบาลเมืองสงขลาและเมืองนครฯให้พร้อมในอดีตเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนมาเป็นเทศบาล ซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักการกระจายอำนาจ ยังผลให้บ้านเมืองพัฒนาก้าวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างทั่วถึง

 

อ้างอิง

ธีรยุทธ บัวทอง. มณฑลนครศรีธรรมราช เกร็ดประวัติศาสตร์ในราชกิจจานุเบกษา. นครศรีธรรมราช: เสือฟิน         การพิมพ์. 2561, 184.

ประกาศใช้พระราชบัญญัติศุขาภิบาลตำบลท่าวัง ตำบลคลัง ตำบลประตูไชยเหนือ ตำบลพระเสื้อเมือง

ท้องที่อำเภอเมือง ๆ นครศรีธรรมราช. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 27 วันที่ 4 กันยายน ร.ศ. 129,

หน้า 62 – 64.

ประกาศใช้พระราชบัญญัติศุขาภิบาลในตำบลตลาดเมืองสงขลามณฑลนครศรีธรรมราช. ราชกิจจานุเบกษา           เล่ม 26 วันที่ 5 กันยายน ร.ศ. 128, หน้า 62 – 64.

____

ขอบพระคุณภาพจาก https://www.gotonakhon.com

เคยเล่นหม้าย ? การเล่น: รวมเรื่องเล่าเมื่อครั้งฉันยังเด็ก

เมื่อเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องเผชิญกับเรื่องราวนานาสารพัน ทั้งดีและร้าย เราทุกคนต่างล้วนย้อนกลับไปนึกถึงภาพในวัยเด็กอันแสนสุข (และแสนเศร้า) บ้างก็นำมาเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างยุคสมัย หากย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ช่วงที่สื่อเทคโนโลยียังไม่ได้ส่งถึงมือเด็ก ไม่มี Social Media ไม่มีความห่างไกลที่เกิดจากเทคโนโลยี มีเพียงการเล่นรูปแบบต่างๆ ที่ทำให้ช่วงชีวิตในหมู่เพื่อนไม่เคยห่างการเล่นที่ต้องใช้ไหวพริบปฏิภาณ การเล่นที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์การเล่นที่เสี่ยงอันตราย การเล่นที่ส่อถึงอบายมุข ซึ่งทุกการเล่นมันมีนัยสำคัญที่ซ่อนเร้นและมีส่วนหล่อหลอมให้เราเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่แตกต่างกัน ซึ่งตัวอย่างการเล่นที่เป็นที่นิยมของเด็กกึ่งเมืองกึ่งชนบทอย่างเช่นผู้เขียน เช่น

(1) เข้หยบ หรือที่ภาษากลางเรียกกันว่า “ซ่อนแอบ” เป็นการเล่นยอดฮิตในบรรดาเด็ก ๆ แทบทุกพื้นที่ สามารถเล่นได้ตั้งแต่สองคนขึ้นไป ยิ่งเยอะคนยิ่งสนุก รวมทั้งสามารถเล่นได้แทบจะทุกสถานที่ก็ว่าได้

(2) เข้ยิก หรือที่ภาษากลางเรียกกันว่า “วิ่งไล่จับ” เป็นการเล่นยอดฮิตในบรรดาเด็กๆแทบทุกพื้นที่ แต่จำต้องกำหนดขอบเขตพื้นที่ในการวิ่งสักหน่อยว่ามีขนาดกว้างเพียงใด

(3) ซัดมอ เป็นการเล่นซึ่งต้องอาศัยอุปกรณ์สองอย่าง คือ ลูกเทนนิส และกระป๋องนม (ยี่ห้อใดก็ได้)จากนั้นให้แบ่งออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายละเท่า ๆ กัน โดยฝ่ายหนึ่งต้องเป็นฝ่ายวิ่ง (ฝ่ายเรียง) และอีกฝ่ายต้องเป็นฝ่ายซัด (ฝ่ายทำลาย) จากนั้นฝ่ายซัดต้องส่งตัวแทนมาจัดเรียงกระป๋องนม ให้ลดหลั่นกันไป โดยชั้นล่างจะต้องมีกระป๋องนมเยอะที่สุด ชั้นถัดไปมีจำนวนลดลงอย่างน้อยหนึ่งกระป๋อง เมื่อจัดเรียงเสร็จแล้ว ให้ส่งตัวแทนออกมาซัดกระป๋องนมให้ล้ม เพื่อส่งสัญญาณเริ่มเกมที่แท้จริง ฝ่ายวิ่งต้องหาวิธีเข้ามาเรียงกระป๋องนมให้มี ลักษณะเหมือนเดิมให้ได้ เมื่อเรียงเสร็จให้พูดคำว่า “มอ” ก็จะกลายเป็นผู้ชนะ

(4) นาฬิกาเข้าแล้วเป็นการเล่นชนิดหนึ่ง ไม่ทราบว่าชื่อจริง ๆของมันเรียกว่าอย่างไร แต่ผมและเพื่อน ๆ มักเรียกกันว่า “นาฬิกาเข้าแล้ว” ตามคำพูดที่ต้องใช้เมื่อเวลาเล่น วัสดุอุปกรณ์ในการเล่น ประกอบไปด้วยสายเชือก และวัสดุถ่วงน้ำหนัก เช่น ขวดพลาสติกใส่น้ำหรือทราย ท่อนไม้ ก้อนหิน เป็นต้น เมื่อได้วัสดุทั้งสองพร้อมแล้ว ให้นำปลายเชือกข้างหนึ่งมาผูกติดไว้กับวัสดุถ่วงน้ำหนัก

จากนั้นให้เลือกคนแกว่งเชือกมาคนหนึ่ง ที่เหลือเป็นผู้เล่น เกมจะเริ่มขึ้นก็ต่อเมื่อคนแกว่งทำการแกว่งเชือกและร้องตะโกนว่า “นาฬิกาเข้าแล้ว”เพื่อส่งสัญญาณให้ผู้เลนวิ่งเข้ามาภายในบริเวณศูนย์กลางของเชือก และเมื่อผู้เล่นเข้ามาครบทุกคน คนแกว่งต้องร้องตะโกนอีกครั้งว่า “นาฬิกาออกแล้ว” เพื่อส่งสัญญาณให้ผู้เล่นวิ่งออกจากวง หากผู้เล่นคนใดวิ่งเข้า-ออก แล้วโดนเชือกหรือวัสดุถ่วงน้ำหนักปะทะกับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย จะกลายเป็นผู้แพ้และต้องมาเป็นคนแกว่งแทน

(5) ปลาเป็นปลาตาย มีลักษณะการเล่นที่คล้ายกับโพงพาง แต่ตอนเด็กผมไม่รู้หรอกว่าโพงพางคืออะไร มีแต่จะเล่นปลาเป็นปลาตายตามประสาเด็กบ้าน ๆ กึ่งเมืองกึ่งชนบท กติกาการเล่นมีอยู่ว่า ให้ผู้เล่นกำหนดเขตพื้นที่ที่ใช้สำหรับเล่นตามความเหมาะสม หากคนน้อยพื้นที่จะแคบ แต่หากคนเยอะพื้นที่ก็จะกว้างขึ้น จากนั้นให้ทำการคว่ำหมาย เพื่อหาคนที่ต้องถูกปิดตา เมื่อได้คนที่ถูกปิดตาเรียบร้อยแล้ว ผู้เล่นที่เหลือต้องช่วยกันนำผ้ามาปิดตาคน ๆ นั้นเอาไว้ ต่อจากนั้นให้ช่วยกันหมุนตัวของผู้ที่ถูกปิดตา ประมาณ 5-10 ครั้ง และร้องพร้อมกันว่า “ปลาเป็น ปลาตาย ปลาร้องไห้ หรือปลาหัวเราะ”

เมื่อร้องเสร็จ ผู้เล่นแต่ละคนจะต้องรีบวิ่งออกไปให้ห่างที่สุด ก่อนคำสั่งของผู้ที่ถูกปิดตาจะเอ่ยออกมา (อย่างใดอย่างหนึ่ง) ซึ่งความหมายของคำทั้ง 4 คือ ปลาเป็น = ผู้เล่นสามารถเดินได้แต่ต้องอยู่ภายในขอบเขตที่กำหนดไว้ ปลาตาย = ให้ผู้เล่นหยุดอยู่กับที่ ปลาร้องไห้ = ให้ผู้เล่นหยุดอยู่กับที่และส่งเสียงร้องไห้ และปลาหัวเราะ = ให้ผู้เล่นหยุดอยู่กับที่และส่งเสียงหัวเราะ หลังจากนั้นผู้ที่ถูกปิดตาต้องเดินไปรอบ ๆ วง โดยใช้มือในการไขว่คว้า ลูบคลำร่างกายคน ๆ นั้นและทายชื่อว่าเป็นใคร หากทายถูกต้อง คน ๆ นั้นจะกลายมาเป็นผู้ถูกปิดตาแทน แต่หากทายผิดจะต้องเป็นซ้ำอีกรอบ

นอกจากนี้ยังมีการเล่นอื่น ๆ อีกมากมายไม่ว่าจะเป็นกระโดดยาง ปางนูซัดลิง ทอยเส้น ซัดดินน้ำมัน เป็นต้น ซึ่งการเล่นทั้งหลายล้วนมีส่วนเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิต กระชับความสัมพันธ์กับหมู่เพื่อน และพัฒนาสติปัญญาทั้งทางตรงและทางอ้อมได้เป็นอย่างดี หากเราลองเฝ้านั่งคิดทบทวนหวนถึงอดีต และรื้อฟืนเรื่องราวความทรงจำผ่านการเล่น ก็จะทำให้เกิดความคงอยู่ของความสุขในวัยเด็กและกลายเป็นความทรงจำระยะยาวในอนาคต

ถ่านลาน : วิธีแห่งคนสู้ชีวิต อาชีพท้องถิ่นอำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช

“เรียนจบกลับไปทำงาน ขุดดินเผาถ่าน อยู่เมืองกาญจน์บ้านเรา… บอกกล่าวให้เขารู้กัน อาชีพผมนั้น ทุกวันเผาถ่าน…” นี่คือเนื้อเพลงคนเผาถ่าน ต้นฉบับขับร้องโดยมนต์รัก ขวัญโพธิ์ไทย ที่ใครหลายคนคงเคยได้ยินและได้ฟัง สะท้อนให้เห็นถึงอาชีพเผาถ่านของผู้คนเมืองกาญจนบุรี และในพื้นที่อื่น ๆ ของสังคมไทย อันเป็นอาชีพที่มีมาตั้งแต่ดั้งแต่เดิม

เมื่อมนุษย์เริ่มรู้จักการใช้ไฟในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ การนำไม้หรือเศษวัสดุมาเป็นเชื้อเพลิงจึงได้รับความนิยม แต่ทว่าเมื่อกาลเวลาผ่านไปหลายพันปี มนุษย์เริ่มมีวิวัฒนาการทางความคิดในการกักเก็บความร้อนและลดปัญหาเขม่าควันดำ ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ของเศษไม้ จึงคิดค้นกรรมวิธีมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งออกมาในรูปแบบของถ่านที่ผู้อ่านหลายท่านเคยใช้ในกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นถ่านเชื้อเพลิงในการประกอบอาหาร ดูดซับคลอรีน ฟอกอากาศ และปรับสภาพดิน เป็นต้น ฉะนั้นวันนี้ผู้เขียนจึงขอนำทุกท่านมาทำความรู้จักกับอาชีพเผาถ่านลานแห่งอำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราชกัน

แต่เอ๊ะ ! ถ่านลาน คืออะไร ? ถ่านลาน คือ กรรมวิธีการเผาถ่านรูปแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ใช้เตาในการเผา มีเพียงพื้นที่ลาน

ขั้นตอนที่ 1 จัดเตรียมพื้นที่ให้มีลักษณะโล่งเตียน (ขนาดตามความต้องการ)

ขั้นตอนที่ 2 จัดเตรียมไม้สำหรับการเผา ซึ่งไม้ที่นิยมนำมาใช้มี 2 ประเภท คือ หัวไม้(เบญจพรรณ) ราคาถูก และไม้ปลีก (ไม้ยางพารา) จากโรงงานแถบบ้านทานพอ ตำบลไม้เรียง อำเภอฉวาง และบ้านหนองดี ตำบลทุ่งสง อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช

เมื่อได้ไม้มาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็นำมาจัดเรียงทับซ้อนกัน ขนาดกว้างคูณยาวตามต้องการ

แต่สำหรับพื้นไม้แถวด้านล่างสุด ต้องนำเศษไม้มารองรับให้ห่างจากพื้นดิน เพื่อเพิ่มช่องระบายอากาศ

ขั้นตอนที่ 3 เมื่อจัดเรียงไม้ทับซ้อนกันเสร็จ ให้นำทางมะพร้าวหรือทางปาล์ม มาทับด้านบน จากนั้นนำขี้เลื่อย และขี้เถ้ามากลบรอบกองฟืนที่เตรียมไว้ตามลำดับ โดยระหว่างที่กลบนั้นต้องนำแผ่นไม้มากั้นทั้งสี่ด้าน และต้องคอยอัดเศษขี้เลื่อยขี้เถาลงไป เพื่อป้องกันการลุกลามของไฟมายังผนังไม้กั้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายตามมา

ขั้นตอนที่ 4 เจาะขี้เลื่อยขี้เถาที่กลบไว้ด้านใดด้านหนึ่งให้มีขนาดประมาณ 30 x 30 (หรือมากน้อยกว่านี้ตามความเหมาะสม) จากนั้นนำยางมาจุดเป็นเชื้อนำไฟ ก่อนจะกลบขี้เลื่อยขี้เถาลงไป พร้อมทั้งเจาะช่องระบายอากาศไว้ด้านล่าง และรอเวลาให้ไฟค่อย ๆ ลุกลามไปทั่วทั้งกองฟืน

ขั้นตอนที่ 5 ระหว่างที่ไฟค่อย ๆ ลุกลาม คนทำแต่ละคนต้องหมั่นตรวจสอบสีของควันอยู่เสมอ หากควันสีขาวหมายความว่า ปกติ แต่หากควันสีเขียว (หรือสีเหลือง) เมื่อไหร่จำต้องเร่งนำขี้เถาไปกลบและฉีดน้ำด้านบนให้ชื้น เพื่อลดความร้อนภายในอันจะส่งผลให้ถ่านแหลกกลายเป็นผุยผง

จะรู้ได้อย่างไรว่ากองฟืนด้านในถูกเผาไหม้กลายเป็นถ่านตามที่ต้องการ ?

ให้สังเกตจากการยุบของกองถ่านด้านบน ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญเป็นอย่างมาก

ขั้นตอนที่ 6 เมื่อไฟลุกลามไปทั่วทั้งกองฟืนและปราศจากควันไฟ นั่นแสดงให้เห็นว่าไม้ด้านล่างกลายเป็นถ่านเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ คนทำต้องนำสายยางอัดลงไปจากด้านบนสู่ด้านล่าง เพื่อฉีดน้ำดับความร้อน จากนั้นพักไว้ประมาณ 1-2 วัน ก็ให้ยกเครื่องร่อนมาตั้งไว้ใกล้ ๆ โดยในอดีตใช้วิธีการร่อนแบบเดียวกับการร่อนแร่ แต่ในปัจจุบันได้มีการคิดค้นเครื่องร่อนถ่านขึ้นมา เพื่อประหยัดเวลาและใช้เป็นเครื่องทุ่นแรงได้ดีทีเดียว

เครื่องร่อนถ่านมีขนาดยาวประมาณ 3.60 เมตร กว้างประมาณ 1 เมตร สูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร มีความลาดชันเล็กน้อย เพื่อง่ายต่อการเคลื่อนย้ายถ่านลงไปสู่ตะกร้า โดยชั้นบนสุดจะมีขนาดของช่องตาข่าย ประมาณ 2.5 ซ.ม. x 1.3 ซ.ม. ส่วนชั้นที่สองจะมีขนาดของช่องตาข่าย ประมาณ 0.5 ซ.ม. x 0.5 ซ.ม.

ขั้นตอนการร่อน เริ่มต้นจากการเปิดเครื่อง ซึ่งใช้ระบบกลไกมอเตอร์อย่างง่าย จากนั้นนำถ่านมาเทไว้ด้านบนของ เครื่องร่อนเพื่อทำการแยกขนาดของถ่าน ซึ่งถ่านที่มีขนาดใหญ่จะตกตะกอนอยู่ด้านบน ส่วนผงถ่านที่มีขนาดเล็กจะตกลงมาสู่ด้านล่าง

โดยขนาดของถ่านที่สามารถนำมาจำหน่ายได้ คือ ถ่านชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ซึ่งจะไหลลงมาสู่ตะกร้าด้านล่าง

ส่วนเศษถ่านชั้นล่างสุด สามารถนำมาจำหน่ายได้เช่นกันแต่ราคาจะถูกมาก รวมทั้งยังใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเผาถ่านลานครั้งต่อไปได้อีกด้วย

หากรวมระยะเวลาตั้งแต่การจัดเตรียมไม้จนกระทั่งถึงกระบวนการร่อนถ่าน ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 สัปดาห์ ทำให้การเผาถ่านลานจำเป็นต้องใช้ระบบหมุนเวียน กล่าวคือ ต้องทำมากกว่าหนึ่งกองฟืน จึงจะทำให้ประหยัดเวลาและคุ้มค่าต่อการลงทุน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนของแรงงาน ปริมาณของไม้ และสภาพดินฟ้าอากาศ

เนื่องจากอาชีพเผาถ่านลานต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจในการเฝ้าคอยดูแล หากเร่งความร้อนมากจนเกินไปจะทำให้ถ่านกลายเป็นผงละเอียดจำหน่ายไม่ได้ราคา แต่หากเร่งรีบเสียก่อนก็จะทำให้การเผาไหม้ไม่เต็มร้อย ก่อให้เกิดการขาดทุน คนทำงานเผาถ่านลานจึงต้องทนอดหลับอดนอนในยามค่ำคืนเพื่อตรวจตราดูควันไฟ และต้องทนแดดแผดเผาในยามกลางวัน ผนวกกับสภาพเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันที่ย่ำแย่ ต้นทุนสูง โดยเฉพาะไม้มีราคาแพง แต่ราคาถ่านปรับขึ้นได้เพียงอัตราร้อยละ 6.5

ซึ่งราคาถ่านจะคิดเป็นกระสอบ ๆ ละ 320 บาท (บางแห่งราคาสูงถึง 400 บาท) ส่วนเศษผงถ่านจะอยู่ที่กระสอบละ 60 บาท โดยจะมีบริษัทจากกรุงเทพฯ ประมาณ 3-4 บริษัทมารับผลผลิตอยู่เสมอ เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 100 กระสอบต่อสัปดาห์

ค่าจ้างของลูกน้อง ขึ้นอยู่กับการทำงาน และได้รับค่าตอบแทนในอัตรากระสอบละ 60 บาท (หากทำคนเดียวตั้งแต่จัดเตรียมและร่อนถ่าน) หากมีความขยันขันแข็งก็สามารถเผาถ่านได้หลายกระสอบต่อสัปดาห์

ดังนั้นหากคำนวณความคุ้มค่าของการลงทุนของนายจ้างและการลงแรงของลูกจ้าง ก็ถือว่าอยู่ในระดับ “พอเลี้ยงชีพ” ไม่ขาดทุนหรือได้กำไรมากนัก แม้จะเป็นอาชีพที่ตั้งอยู่บนความเสี่ยงหลายประการ และพบเห็นได้ยากในสังคมปัจจุบัน แต่อย่างน้อยก็เป็นอาชีพหนึ่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ และยังคงมองเห็นถึงความสุขใจจากรอยยิ้มของคนทำงานเผาถ่านลานอยู่เสมอ

สุดท้ายนี้ผู้เขียนต้องขอขอบพระคุณพี่มร ลุงคม และพี่ ๆ คนเผาถ่านลานทุกคนสำหรับข้อมูลและน้ำใจที่มีให้แก่กัน ขอขอบพระคุณด้วยใจสัตย์จริงครับ !

๗ เรื่องแปลกเมื่อแรกเสด็จฯ ตามรอยกรมพระยาปวเรศฯ ที่เมืองนคร

การเสด็จเมืองนครศรีธรรมราชของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2407 ซึ่งขณะนั้นยังคงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุติกนิกาย มีการสันนิษฐานว่าการเสด็จเมืองนครฯ ครานั้น คงเนื่องมาจากรัชกาลที่ 4โปรดให้เสด็จมานมัสการพระบรมธาตุเมืองนครฯ ซึ่งรัชกาลที่ 4 ได้เสด็จมานมัสการแล้ว เมื่อ พ.ศ. 2402 และอาจเป็นการเสด็จไปศึกษารูปแบบของพระเจดีย์ที่มีฐานขนาดใหญ่ เพื่อนำมาปรับใช้ในการซ่อมแซมองค์พระปฐมเจดีย์ที่พังทลายลง เมื่อ พ.ศ. 2403

พระองค์ได้พระนิพนธ์เรื่องราวของการเสด็จครานั้นไว้ใน “กลอนกาพย์พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เสด็จเมืองนครศรีธรรมราช”

โดยจุดเริ่มต้นแรกนั้นพระองค์เสด็จออกจากกรุงเทพฯ (ไม่ได้ระบุว่าคือที่ใด แต่คาดว่าน่าจะเสด็จจากวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเป็นสถานที่ที่ประทับ) เมื่อปี จ.ศ. 1226 (ตรงกับ พ.ศ. 2407) เรือล่องมาถึงด่าน (น่าจะหมายถึงด่านพระสมุทรเจดีย์ สมุทรปราการ) ผ่านกุยบุรี เกาะหลัก อ่าวชุมพร เกาะสมุย อ่าวไชยาพิไสย อ่าวท่าทอง จนกระทั่งเดินเรือมาถึงที่ปากน้ำปากนคร พวกขุนนางได้นำเรือมาดเก๋งออกมารับเสด็จ แต่เนื่องจากทางคดโค้งและตื้นเขินจึงต้องใช้เวลามากกว่าจะมาถึงท่าโพธิ์ ถัดจากนั้นจึงขึ้นฝั่งบริเวณท่าวัง เพื่อเสด็จไปยังพระบรมธาตุเจดีย์นครฯ ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระองค์ให้การสนใจมากเป็นพิเศษ

นอกจากนั้นพระองค์ทรงพระนิพนธ์เรื่องราวเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ ด้วย ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้พระองค์ได้สดับรับฟังและเห็นมา เช่น สวนพระบริเวณพระบรมธาตุนครฯ ที่เต็มไปด้วยต้นมะพร้าวลำต้นสูงยาวกว่าต้นตาลเกือบวา มีต้นจำปาสูงมากผิดปกติ ต้นยอขนาดใหญ่สูงกว่ายอดไผ่ที่วัดดิงดง ต้นเตยที่มียอดสูงยอดต้นตาล ต้นจำปีที่มีลำต้นเกือบเท่ากะบุง ตลอดการชื่นชมและตำหนิผลไม้ที่ได้เสวย คือ แตงโมอร่อย แต่ทุเรียนกลิ่นไม่น่าพิสมัย ในด้านทรัพยากรน้ำ ผู้คนชาวเมืองนครได้กินน้ำที่สะอาดจากบ่อน้ำใต้ดินที่ถูกขุดขึ้นบริเวณต่าง ๆ ภายในตัวเมือง จึงทำให้คนนครฉลาดว่องไว มีไหวพริบปฏิภาณ ทำการงานชัดเจน และสร้างสรรค์งานช่างที่แปลกตาออกมาได้ดี

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ประทับอยู่เมืองนครฯ เป็นระยะเวลา 3 วัน จึงเสด็จกลับทางชลมารคผ่านเส้นทางเดิม

จากการศึกษากลอนกาพย์พระนิพนธ์ฯ ข้างต้นอย่างละเอียด ทำให้ทราบถึงลักษณะสภาพความเป็นอยู่และศิลปวัฒนธรรมของชาวเมืองนครในอดีตได้เป็นอย่างดี นับว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าชิ้นหนึ่งสำหรับชาวนครที่ควรแก่การศึกษาค้นคว้า

 

อ้างอิงข้อมูล

ธีรยุทธ บัวทอง. ย้อนรอยเส้นทางเสด็จของกรมพระยาปวเรศฯ ณ เมืองนคร. สานครศรีธรรมราช ปีที่ 48

ฉบับที่ 12 เดือนธันวาคม 2561, หน้า 31-41

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์. กลอนกาพย์พระนิพนธ์สมเด็จ

ห้ามนำเหรียญต่างประเทศเข้ามา ในมณฑลนครศรีธรรมราช

ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2452 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า ขณะนี้มีเงินเหรียญต่างประเทศบางชนิด ที่เรียกว่า “Mexican coins” “British Coins” และ “States coins อย่างเก่า” มีราคาต่ำกว่าราคา States coins อย่างใหม่ ซึ่งทางรัฐบาล The Straits Settlements และรัฐบาล

The Federated Malay States (FMS) ได้ประกาศให้เลิกใช้ และห้ามไม่ให้นำเข้ามายังอาณาเขตของรัฐบาล

แต่ยังคงพบว่าทางสยามได้มีผู้ลักลอบนทำเหรียญเหล่านี้ ซึ่งมิใช่เงินตรา เจ้าหนี้จึงต้องรับ (กรรม) ตามพระราชกำหนดกฎหมาย เข้ามาในมณฑลชุมพร มณฑลนครศรีธรรมราช และมณฑลปัตตานี ทำให้ราษฎรได้รับความเสียหายเป็นอันมาก จึงได้ตราประกาศห้ามไม่ให้นำเงินเหรียญต่างประเทศบางชนิดเข้ามาในบริเวณพื้นที่มณฑลทั้งสาม

ซึ่งรายละเอียดสำคัญของประกาศฉบับนี้ ระบุว่านับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2452 เป็นต้นไป ห้ามไม่ให้ผู้ใดนำเหรียญดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้นเข้ามาในหัวเมืองดังกล่าว ไม่ว่าจะทางบกหรือทางเรือเป็นอันขาดหากผู้ใดฝ่าฝืน โดยลักลอบนำเข้ามาเป็นจำนวนตั้งแต่ 10 เหรียญหรือมากกว่า มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท พร้อมทั้งริบเงินเหรียญเหล่านั้นเสีย ผู้ดูแลรับผิดชอบให้เป็นหน้าที่ของเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม

การนำเหรียญต่างประเทศที่มีการยกเลิกมาใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจถือเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะอาจส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ ตลอดจนเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ดังนั้นการออกประกาศฉบับนี้ในราชกิจจานุเบกษาจึงเป็นมาตรการทางกฎหมายประการหนึ่ง เพื่อป้องกันและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของรัฐสยามให้คงอยู่ พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนานาอารยะประเทศได้เป็นอย่างดี

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

ธีรยุทธ บัวทอง. มณฑลนครศรีธรรมราช เกร็ดประวัติศาสตร์ในราชกิจจานุเบกษา. นครศรีธรรมราช: เสือผินการพิมพ์. 2561, 184.

มรดกคณะราษฎรในเมืองนครศรีธรรมราช

มรดกคณะราษฎรเป็นผลผลิตภายหลังจากการปฏิวัติในช่วง พ.ศ. 2475 ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยระยะแรกการดำเนินงานนั้นต้องอยู่ภายใต้กรอบของหลัก 6 ประการ ได้แก่ หลักเอกราช หลักความปลอดภัย หลักเศรษฐกิจ หลักเสมอภาค หลักเสรีภาพ และหลักการศึกษา ซึ่งมรดกคณะราษฎรถูกสร้างขึ้นในรูปลักษณ์ที่สามารถจับต้องได้ และแอบแฝงอยู่อย่างมีนัยยะ กระจายไปเกือบทั่วทุกพื้นที่ของสังคมไทย

“จังหวัด” นครศรีธรรมราชถูกจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 ซึ่งได้มีการจัดระเบียบการบริหารราชการส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ ทำให้ระบบมณฑลเทศาภิบาลทั่วประเทศเป็นอันต้องถูกยกเลิกเสีย

นอกจากนี้การจัดตั้งโรงเรียนหรือสถานศึกษาบางแห่งในจังหวัดนครศรีธรรมราชก็มีความเกี่ยวเนื่องกับคณะราษฎร ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการตั้งกระทู้ถามของนายน้อม อุปรมัย ในช่วง พ.ศ. 2498 ต่อความไม่เสมอภาคของการจัดการศึกษาในภาคใต้ จนกระทั่ง พ.ศ. 2500 รัฐบาลจึงอนุมัติให้จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูขึ้นที่นครศรีธรรมราช และสำหรับโรงเรียนชุมชนพิบูลสงคราม แม้จะถูกตั้งขึ้นมาจากพระในพื้นที่ แต่ภายหลังก็ถูกเปลี่ยนแปลงชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

ในด้านเอกราชและความปลอดภัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีขณะนั้นได้จัดหน่วยทหารในภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา และได้ย้ายมณฑลทหารบกที่ 5  กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 15  จากจังหวัดราชบุรี มาตั้งที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อครั้งญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่นครศรีธรรมราช ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็นค่ายวชิราวุธและกองทัพภาคที่ 4 ในเวลาต่อมา

นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวของรำวงเวียนครก รำโทน รำนกพิทิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกรื้อฟื้นและสร้างขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ไม่นาน และในด้านความเสมอภาคและเสรีภาพมองเห็นได้ชัดจากกรณีของการยกเลิกพิธีไล่แม่มด ดังนั้นหากเราลองพิจารณาแล้วก็จะพบว่าคณะราษฎรได้สร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ขึ้นมากมายในจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเป็นเครื่องหมายบ่งบอกถึงอุดมการณ์การปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน การสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ จึงต้องยึดโยงกับประชาชน เพื่อประชาชนเป็นหลัก เพราะฉะนั้นการทำลายมรดกคณะราษฎรอย่างใดอย่างหนึ่ง (อย่างเช่นหอนาฬิกาเก่าที่ทุ่งสง) จึงอาจเทียบได้กับการปฏิเสธอุดมการณ์ของระบอบประชาธิปไตยและเป็นการกระทำที่พยายามปกปิดประวัติศาสตร์บางส่วนของประชาชน ทำให้ประวัติศาสตร์เกิดความบิดเบือนและคลาดเคลื่อนอย่างไม่น่าให้อภัย

____

ขอบพระคุณภาพจากปก www.nstru.ac.th

ห้ามคนนครทูนของด้วยศีรษะ

การทูนสิ่งของ ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ทั้งหลาย นับเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของพ่อค้าแม่ค้าสมัยก่อน บางคนเชี่ยวชาญถึงขั้นปล่อยมือสองข้างออกจากภาชนะบนศีรษะแล้วเดินเฉิดฉายยิ่งกว่านางแบบเพิ่งหัดประกวด

แต่อัตลักษณ์ของการทูนสิ่งของกลับถูกห้ามในเมืองนครศรีธรรมราช ดังข้อความที่ปรากฏอยู่ในรายงานข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ระบุว่า

“…ประการที่ 2 การที่นำสิ่งของไปมาค้าขายไม่เลือกว่าของชนิดใดใช้ทูนด้วยศีรษะทุกอย่าง ที่สุดจนถึงตะกร้ากุ้งสดปลาสดก็ทูนบนศีรษะ ในเวลาเมื่อทูนของเช่นนี้ไป น้ำคาวกุ้งปลาไหลนองลงมาบนศีรษะบ้างตามตัวบ้าง…จะหวีผมให้เรียบร้อยดีก็ไม่อยู่ได้ก็ประเดี๋ยว แต่พอนำของขึ้นทูน ผมก็หลบหลู้ไปเสียหมด…ข้าพระพุทธเจ้า (เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) – ผู้เขียน) จึงได้ชักนำหมู่ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยให้แต่งตัวนุ่งห่มให้เรียบร้อย ในเวลาเมื่อมาทำการในออฟฟิศ

และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตออกคำสั่ง ห้ามมิให้ราษฎรใช้ทูนสิ่งของด้วยศีรษะ ในเวลาเมื่อผ่านเข้ามาในบริเวณกลางเมือง และให้ใช้หาบหามแทนทูนด้วยศีรษะ เวลาที่ห้ามใหม่ ๆ ก็ปนอยู่บ้าง ครั้นมาภายหลังกลับนิยมเห็นว่า หาบดีกว่าทูน เพราะได้สองตะกร้า”

หากวิเคราะห์จากสถานการณ์บ้านเมือง ณ ขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการปฏิรูปประเทศในหลาย ๆ ด้าน เพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ซึ่งนำโดยชาติตะวันตก

การพระราชทานพระบรมราชานุญาต ห้ามมิให้ราษฎรใช้ทูนสิ่งของด้วยศีรษะ ในมณฑลนครศรีธรรมราช (หรือพื้นที่อื่น ๆ ในสยาม) นับเป็นวิธีการปรับปรุงบ้านเมืองให้ทันสมัยอีกหนทางหนึ่ง เพราะการทูนสิ่งของบนศีรษะที่เปื้อนสกปรกเหม็นคาวทั้งเรือนร่างของผู้ทูนสิ่งของเองก็ดี ผู้สัญจรรอบข้างก็ดี หรือทรัพย์สมบัติสาธารณะก็ดี ย่อมส่งผลให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีในสายตาผู้เจริญแล้ว และย้อนแย้งกับความเป็นอารยชนคนไทยผู้มีความศิวิไลซ์

ถึงกระนั้นวัฒนธรรมการทูนสิ่งของของคนนครศรีธรรมราชก็ไม่ได้จางหายไปจากความทรงจำมากนัก เนื่องจากในปัจจุบันเรายังคงเห็นพ่อค้าแม่ค้าหรือชาวบ้านบางส่วนนำสิ่งของขึ้นทูนบนศีรษะเดินไปมาปะปนกับผู้หาบเร่แผงลอย รอคอยลูกค้าอยู่ริมถนนท่ามกลางความเจริญของบ้านเมืองในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 21

___

ภาพปก : ขอบพระคุณภาพจาก www.gotonakhon.com

“ไดโนเสาร์” เรื่องเล่าชาวกรุงหยัน

ไดโนเสาร์นับเป็นสัตว์ยุคดึกดำบรรพ์ ซึ่งเชื่อได้เลยว่ามีมนุษย์จำนวนไม่น้อยที่ปรารถนาใคร่อยากจะประสบพบเจอ เพื่อสัมผัสกับความยิ่งใหญ่และท้าทายดังเช่นที่ปรากฏในภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่อง สำหรับประเทศไทยนั้นมีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เป็นต้น โดยเฉพาะอำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่นนั้นมีซากดึกดำบรรพ์มากมาย เช่น สยามโมรันนัส อิสานเอนซิส, ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน, สยามโมซอรัส สุธีธรณี ฯลฯ

หากพิจารณาจากลักษณะทางธรณีของนครศรีธรรมราช พบว่าชั้นหินบางแห่งจัดอยู่ในยุค Triassic, Upper Triassic, Lower Jurassic, Jurassic, Cretaceous ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไดโนเสาร์ได้มีชีวิตอยู่บนโลก

ถ้าอย่างนั้นในพื้นที่ของนครศรีธรรมราชต้องมีซากไดโนเสาร์?

ข้อสงสัยนี้ปรากกฎอยู่ ณ ถ้ำเพดาน (ถ้ำกระดูก) บริเวณทะเลสองห้อง (ทะเลปรน) มีลักษณะเป็นถ้ำที่ตั้งอยู่ภายในภูเขาขนาดใหญ่ ล้อมรอบด้วยสวนยางพารา สวนผลไม้ของชาวบ้าน และภูเขาหินปูนลูกโดดสลับกับที่ราบลุ่ม โดยมีเขาหน้าแดงอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งใกล้กับคลองสังข์ซึ่งไหลผ่านทางด้านทิศตะวันออกลงไปสู่ทะเลปรนทางทิศเหนือ

ภายในถ้ำพบเศษซากกระดูกสัตว์จำนวนมหาศาลที่กระจัดกระจาย ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพชำรุด เนื่องจากชาวบ้านได้กะเทาะเพื่อเอาชิ้นส่วนของกระดูกออกด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และนำเศษกระดูกบางส่วนมากองไว้ที่พื้นถ้ำปะปนกับหินปูนและก้อนแร่

บริเวณพื้นที่แห่งนี้ถูกแบ่งออกเป็นหลายถ้ำ ปรากฏทางน้ำโบราณ และร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์

ชาวบ้านในพื้นที่ (บางส่วน) มีความเชื่อว่าซากกระดูกสัตว์ที่ปรากฏอยู่ภายในถ้ำ คือ ซากกระดูกของไดโนเสาร์

แต่หาเป็นความจริงไม่ เนื่องจากการสำรวจของนักโบราณคดีและนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่ากระดูกสัตว์ที่พบเป็นกระดูกของวัว/ควาย กวาง ละอง/ละมั่ง เนื้อทราย และเก้ง และได้พบฟันสัตว์กินเนื้อซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นของสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว โดยสันนิษฐานในเบื้องต้นว่าน่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่าหมื่นปี

ผนวกกับข้อมูลจากนักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี ได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่าเขาหินปูนแห่งนี้เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาน้ำทะเลในยุค Permian เมื่อประมาณ 230 ล้านปีมาแล้ว เมื่อเขาหินปูนเกิดการยกตัวขึ้นจะเกิดเป็นโพรงหรือซอกหลืบมากมายภายใน ส่วนสัตว์ป่าที่อาศัยบริเวณโดยรอบซึ่งเป็นสัตว์กินเนื้อได้นำชิ้นส่วนของสัตว์มาทิ้งไว้ ต่อมาเกิดฝนตกหนักทำให้กระดูกสัตว์และตะกอนทับถมรวมกัน และเนื่องจากน้ำที่ไหลผ่านถ้ำหินปูนจะมีตะกอนของแคลเซียมคาร์บอเนตมากไม่นานก็จับตัวกันเป็นแผ่นแข็ง กำหนดอายุคร่าว ๆ ได้ประมาณ 100,000 – 10,000 ปีมาแล้ว ไม่ใช่ชิ้นส่วนของสัตว์ที่มีชีวิตร่วมกับไดโนเสาร์ ซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้วกว่า 65 ล้านปี อย่างที่ชาวบ้านเข้าใจ

ดังนั้นถึงแม้ว่าชั้นหินในบางพื้นที่ของนครศรีธรรมราชจะอยู่ร่วมสมัยกับไดโนเสาร์ก็ใช่ว่าจะมีไดโนเสาร์อาศัยอยู่ เพราะตราบใดที่ยังไม่ได้มีการพบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นเชิงประจักษ์ ไดโนเสาร์ที่เราปรารถนาให้มีอยู่จริงหลังบ้านก็ไม่มีทางเป็นไปได้

 

หงส์หามเต่า ที่ถูกเล่าไว้บนพระธาตุเมืองนคร

เมื่อวันอาทิตย์ก่อน (๘ ส.ค. ๒๕๖๔) ได้หนังสือมือหลังมา ๔ เล่ม ล้วนของเก่า ทุกเล่มมีเค้าว่าเป็นสมบัติจากหอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช(หช.นศ.) รูปการณ์บางอย่างเป็นพิรุธให้ต้องสงสัย แรกเห็นหน้าต้นฉีกขาดไปเหมือนกัน พลอยให้ฉุกคิดถึงคดีหนังสือบุด ที่อันตรธานจากศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชเมื่อปีสองปีก่อน แต่ด้วยว่าสภาพชำรุดมาก กับทั้งบางเล่มในกองมีตราประทับว่า “จำหน่าย” จึงยังคงพอให้เป็นไปได้ที่ ๔ เล่มในมือจะอาศัยช่องทางตามระเบียบราชการอย่างเดียวกันออกมา

เพื่อให้แน่ใจอย่างที่สุด
ได้หารือกับท่านผู้อำนวยการ หช.นศ. เพื่อให้ตรวจสอบ
จนได้ความว่าเป็นดังนั้น จึงลงมือเปิดอ่านตามที่สนใจ

เรื่องหงส์หามเต่าที่ไปปรากฏทำเป็นรูปไว้ที่มาลัยก้านฉัตรองค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช เท่าที่ค้นหาดูอย่างคร่าวๆ ไม่พบผู้ศึกษาอย่างจริงจังหรือมีกล่าวถึงในที่ใด ทั้งมุขปาฐะและลายลักษณ์อักษร เป็นความท้าทายอันยิ่งที่จะศึกษาค้นคว้าไว้เป็นความรู้พื้นฐานกระทั่งต่อยอดทางวิชาการ อย่างน้อยที่สุดอาจเริ่มที่การทบทวนสถานภาพความรู้เกี่ยวกับเรื่อง “หงส์หามเต่า” นี้

ย้อนกลับไปที่เหล่าหนังสือทั้งติดมือมา ๑ ในนั้น เป็นนิทานอิหร่านราชธรรม (ประชุมปกรณัม) เล่ม ๒ ที่มีเล่า “นิทาน” เรื่อง “หงส์หามเต่า” ไว้เป็นลำดับที่ ๓๗ ในหน้า ๑๗๗-๑๗๘ ซึ่งเราอาจเริ่มต้นทบทวนกันตรงนี้

“กาลก่อนมีสุวรรณราชหงส์คู่ ๑ ชื่อสุวรรณตรุมตัว ๑ ชื่อบรมระนิบุบ สถิตอยู่ ณ สถานแทบดัษคิรีสิงขรเหนือกูฏบรรพตอัน ๑ แลสุวรรณหงส์นั้นพากันไปหาอาหารถึงสถานสระ ๆ นั้นมีเต่าตัว ๑ ชื่อตรุมมาเป็นมิตรสันถวะด้วยสุวรรณหงส์ ตรุมก็ถามถึงถ้ำเถื่อนสถานที่อยู่ ดัษหงส์ก็แจ้งว่าสถานอันอาตมะสถิตแทบดัษคิรีสระเหนือกูฏบรรพตโพ้น สนุกสนานมีเบญจอุบลตระการด้วยผกาเกสร สรรพมัจฉาวารีสัญจรเป็นผาสุกภิรมย์หาภยันตรายมิได้ ตรุมก็ติดใจจักใคร่ไปอยู่จึงอ้อนวอนว่า สหายได้พาอาตมาไปอยู่ ณ เขาดัษคิรีสระนั้นเถิด

สุวรรณหงส์จึงตอบว่า เออก็ตามเถิด แต่ถ้าว่าสหายยังจะสงวนจิตใจจะระงับโทโสได้แล้วหรือ ตรุมรับว่าโทษจิตอาตมะจะระงับได้ จะสงวนจิตดุษณีอยู่ สหายจงมีมุทุจิตจินดาพาอาตมะไปในกาลบัดนี้ด้วยเถิด

สุวรรณหงส์ทั้งคู่ก็คาบทัณฑท่อนไม้หามหาบ ตรุมก็คาบในท่ามกลางท่อนไม้ระเห็จเหาะมาในนภากาศ พาลสิงคาลจิ้งจอกหมู่ ๑ จรมา แลเห็นก็ร้องว่า ไฉนพญาหงส์มาโหดหืนนี่นักหนา มาพาอ้ายตรุมขึ้นสวรรค์ไปดังนี้ ตรุมได้ยินเสียงสิงคาลร้องว่า มิอดทนโทโสโมโหได้อ้าโอษฐ์ออกบริภาษนา ก็หันตกลงมาอุระก็ตีลงกับพื้นปัฐพี มังสะก็แตกกระเด็นออกจากกระดอง สิงคาลก็ล้อมกันกินเป็นอาหาร

ดูกรวายุภักษ์ ผู้ใดมีจิตกล้าด้วยโทโสโมโหมหันธการหาประโยชน์มิได้ ยังภัยพินาศให้บังเกิดมีเหมือนตรุมอันมิได้สงวนจิตวจีนั้น ดูกรวายุภักษ์สังวทันต์ อย่างธรรมเนียมโบราณยังมีดังนี้อีกฯ”

เรื่องหงส์หามเต่าถูกเล่ากันในหลายพื้นที่ของไทย รวมถึงเอเชีย ส่วนข้างนครศรีธรรมราช แม้จะมีปรากฏอยู่บนองค์พระบรมธาตุเจดีย์ แต่อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่ายังสืบหาข้อมูลไม้ได้ จึงอาจต้องทยอยตะล่อมเอาจากแหล่งอื่นที่พบก่อนเพื่อทบทวน