“เพลงบอก” ทอกหัวได บอกแตกบ้านไหน ซวยกันไปทั้งปี

“เพลงบอก” ทอกหัวได
บอกแตกบ้านไหน ซวยกันไปทั้งปี

 

ผ่านหูบ่อยครั้งว่า “เพลงบอก” มีที่มาสองกระแส หนึ่งว่ามาจากกิริยาบอกศก บอกนักษัตร บอกลักษณะนางสงกรานต์ อีกข้างว่ามาจากนามเต็มคือ “กระบอก” ก่อนจะกร่อนเหลือ “บอก” ตามวิสัยชาวเรา แล้วเรื่องก็ห้วนอยู่เทียมนั้น

.

เพลงบอก

รศ.ประพนธ์ เรืองณรงค์ เล่าความไว้ในหนังสือตำนานการละเล่น และภาษาชาวใต้อย่างน่าสนใจหลายเรื่อง ที่เกี่ยวกับวรรคแรกท่านตั้งชื่อว่า “เพลงบอก การละเล่นที่กำลังจะสูญ”

.

เมื่อแรกไปรำโนราที่ปัตตานี ได้ยินลูกคู่รับบทเพลงทับเพลงโทนแบบเดียวกับที่ทอยเพลงบอก ตั้งข้อสังเกตไว้เดี๋ยวนั้นว่า เพลงบอกนี้ต้องแสดงความสัมพันธ์อะไรบางประการระหว่างชุมชนในรัฐโบราณเป็นแน่ รอยจางๆ ข้างปัตตานี อาจเป็นเค้าลางในประเด็นนี้ได้อย่างดี

.

“คณะเพลงบอกมีอย่างน้อย ๖-๗ คน

ประกอบด้วยแม่เพลง ลูกคู่

เครื่องดนตรีมี ฉิ่ง กรับ ปี่ ขลุ่ย และทับ”

.

วรรคนี้ของ รศ.ประพนธ์ฯ ทำให้ผุดภาพลูกคู่โนราขึ้นมาเทียบเคียง กับอีกอันคือเคยได้ยินว่ามีการแสดง “เพลงบอกทรงเครื่อง” เมื่อไม่นานมานี้ ทั้งภาพที่ผุดและข้อความที่ยกมา เข้าใจว่าคงออกรสไม่ต่างกันนัก เว้นเสียแต่เสียงกลองและโหม่ง ข้อนี้แสดงเส้นเวลาอย่างหยาบและพลวัตของเพลงบอกที่ชวนให้ต้องศึกษาต่อ

.

แปดบท

ในเล่มแสดงผังไว้แต่ไม่ได้ระบุชื่อฉันทลักษณ์ ด้วยเหตุที่จับด้วยฉันทลักษณ์ในหลักภาษาไทยใดไม่ลง จึงจะตู่เอาตามที่เคยได้ยินมาอีกว่าเป็นฉันทลักษณ์ที่เรียกกันในนครศรีธรรมราชว่า “แปดบท” อย่างเดียวกับที่เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ให้นายเรือง นาใน นั่งท้ายช้างขับไปตามระยะทางตีเมืองไทรบุรีสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แปดบทนี้ก็น่าสนใจใช่ย่อย ว่ากันว่าเป็นการละเล่นโต้ตอบแบบด้นสดกันไปมา ว่าแล้วก็ช่างมาคล้ายกับความทรงจำของหลายคนถึงการประชันปฏิภาณของเพลงบอกชั้นครูอย่าง “ปานบอด-รอดหลอ” และ “ปานบอด-เพลงบอกรุ้ง” ที่ รศ.ประพนธ์ฯ ยกในเล่มว่า

 

เพลงบอกปาน – เพลงบอกรุ้ง

เพลงบอกรุ้ง:

เราเปรียบปานเหมือนชูชก

มันสกปรกอยู่กลางบ้าน

เรื่องหัวไม้ขอทาน

ใครใครไม่รานหมัน

.

คนด้นเขาไม่เกรง

สำหรับนักเลงทุกวัน

แต่ว่าคนด้านเหมือนปานนั้น

ถึงฉันก็เกรงใจ

.

พัทลุงเมืองสงขลา

ตลอดมาถึงเมืองนคร

ถ้าปล่อยให้ปานขอก่อน

คนอื่นไม่พักไขว่

.

เพราะมันเป็นเชื้อพงศ์ชูชก

มันสกปรกจนเกินไป

จะไปที่ไหนเขาทั้งลือทั้งยอ

เรื่องที่หมันขอทาน

.

เพลงบอกปาน:

ฟังเสียงรุ้งคนรู้

พิเคราะห์ดูช่างหยิบยก

(ขาดวรรค)

.

เป็นชูชกก็รับจริง

เพราะว่ายิ่งเรื่องขอทาน

ทั้งพี่น้องชาวบ้าน

ทุกท่านก็เข้าใจ

.

แต่จะเปรียบรุ้งผู้วิเศษ

ให้เป็นพระเวสสันดร

ปานชูชกเข้ามาวอน

รุ้งให้ไม่เหลือไหร

.

ทั้งลูกทั้งเมียและเหลนหลาน

ครั้นชูชกปานขอไป

จะขอสิ่งใดรุ้งนาย

แกต้องให้เป็นรางวัล

.

เพลงบอกรุ้ง:

ก็ไม่เป็นพระเวสสันดร

เพราะจะเดือดร้อนที่สุด

กูจะเป็นนายเจตบุตร

ที่ร่างกายมันคับขัน

.

ควยยิงพุงชูชก

ที่สกปรกเสียครัน

ถือเกาทัณฑ์ขวางไว้

มิให้หมึงเข้าไป

.

เพลงบอกปาน:

ดีแล้วนายเจตบุตร

เป็นผู้วิสุทธิ์สามารถ

เป็นบ่าวพระยาเจตราช

ที่เขาตั้งให้เป็นใหญ่

.

ถือธนูหน้าไม้

คอยทำลายคนเข้าไป

เขาตั้งให้เป็นใหญ่

คอยเฝ้าอยู่ปากประตูปาน

.

คนอื่นมีชื่อเสียง

เขาได้เลี้ยงวัวควาย

แต่เจตบุตรรุ้งนาย

เขาใช้ให้เลี้ยงหมาฯ

.

มุตโต

เชาวน์ไวไหวพริบชนิดปัจจุบันทันด่วนนี้ ในวงศิลปินเรียกกันว่ามุตโต เข้าใจว่าหากแปลตามบริบทการใช้งานว่าคือการใช้ความสามารถในการแสดงแบบไม่ต้องเตรียมตัว ร้องกลอนกันสดๆ เล่นสด รำสด รากศัพท์เดิมของคำนี้คงมาจากภาษาบาลีว่า “มุทโธ” อันแปลว่า ศีรษะหรือเหงือก การแสดงชนิดด้นกลอนสด รำสด จึงบ่งบอกถึงการใช้ “ศีรษะ” อวดสติปัญญาและความสามารถของผู้แสดงกระมัง ที่สำคัญคือ จะเห็นว่าในการเปรียบเปรยนั้น ศิลปินต้องมีภูมิรู้ในเรื่องราวนั้นๆ อย่างดีและแตกฉานจึงจะสามารถแก้แง่ที่ถูกตั้งขึ้นให้คลายได้อย่างงดงาม

.

นอกจากบทเพลงบอกที่จำและถ่ายทอดกันมาแล้ว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิเชฐ แสงทอง ได้กรุณาเล่าผ่านช่องแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊คว่า “สมัยเด็กมีเพลงร้องตลกๆ กันว่า “เพลงบอกมาทอกหัวได มดคันข็อบไข หวาไหรเพลงบอก””

.

ตานี้มาที่ชื่อของ “เพลงบอก” เดิมส่วนตัวเทไปข้าง “บอกศักราช” มากกว่า “กระบอก” แต่ถัดนี้ไปอาจกลับลำด้วยจำนนต่อข้อมูลของ รศ.ประพนธ์ฯ บวกเข้ากับรูปการณ์บางอย่าง ดังจะได้กล่าวต่อไป

.

“คณะเพลงบอกจะมีกระบอกไม้ไผ่นัยว่าบรรจุน้ำมนต์ (อาจจะเป็นเมรัยก็ได้) ถือไปในวงด้วย…พวกเพลงบอกจะนำกระบอกไม้ไผ่ ไปกระแทกกระทุ้งตรงบันไดบ้าน เพื่อปลุกเจ้าของบ้านให้ตื่น ถ้ากระบอกแตกที่บ้านใด ถือว่าปีใหม่นั้นเจ้าของบ้านซวยตลอดปี”

.

วรรคของ รศ.ประพนธ์ฯ นี้ มาขมวดเข้ากับรูปการณ์เท่าที่สังเกตได้ ๒ อย่าง หนึ่งคือการเรียกการแสดงเพลงบอกว่า “ทอก” ซึ่งคืออาการพรรค์อย่างเดียวกับกระทุ้งที่ท่านว่า กับสองคือสำนวนที่คงค้างอยู่ในปัจจุบันที่ว่า “เพลงบอกทอกหัวได” ที่ช่างมาตรงกับขนบวิธีของนักเลงเพลงบอกแต่แรกนักฯ

นายดั่น: ชายตาบอดยอดปัญญา วรรณกรรมท้องถิ่นเมืองนครศรีธรรมราช

นายดั่น: ชายตาบอดยอดปัญญา

วรรณกรรมท้องถิ่น เมืองนครศรีธรรมราช

นายดั่น

เรื่องนายดั่น เป็นวรรณกรรมร้อยกรองที่แต่งโดยขุนสิทธิ์ ขุนนางเวรเฝ้าศาลาว่าราชการเมืองนครศรีธรรมราช สันนิษฐานว่าอาจร่วมสมัยกับนายเรือง นาใน กวีคนสำคัญยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นชาวนครศรีธรรมราชทั้งคู่
.
ต้นฉบับที่แพร่หลายจัดพิมพ์โดยศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช เมื่อปี ๒๕๒๑ คัดจากหนังสืองานทำบุญฉลองอายุครบ ๖ รอบของนายเชวง ไชยานุพงศ์ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๐ พบที่วัดท่าเสริม อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช
.
เรื่องย่อมีอยู่ว่า นายดั่น ชายพิการสายตาแต่กำเนิด อาศัยอยู่บ้านปราจินกับบิดามารดาผู้มีทรัพย์มาก ว่ากันว่าเพราะกรรมเก่าที่เมื่อชาติปางก่อนเกิดเป็นเศรษฐี แต่เพิกเฉยต่อการทำบุญสุนทาน ถึงขนาดพระสงฆ์เดินบิณฑบาตผ่านต่อหน้าก็ไม่รู้ร้อน
.
นายดั่นเป็นผู้มีปัญญามาก ฉลาดเชาว์ไวไหวพริบดีกว่าใครทั้งหมดในกลุ่มเพื่อน จะเพลงเสภาหรือบทโนรา นายดั่นเป็นจำได้ท่องได้หมด ไม่เว้นแม้แต่ดนตรีปี่กลอง ก็เชี่ยวชาญจนใครๆ ในย่านนับเอาว่าเป็น “นักเลง”
.
เมื่อวัยได้ ๓๐ ขวบปี ก็นึกอยากจะมีเมียไว้อยู่กินและปรนนิบัติตัว พ่อแม่แม้เมื่อแรกนั้นทัดทานด้วยเห็นว่าคนตาดีที่ไหนจะอยากได้คนตาบอดทำผัว แต่เมื่อถูกรบเร้าบ่อยเข้าก็ใจอ่อน ทราบความจากนายดั่นว่าไปหมายใจเอาไว้นางหนึ่ง คือลูกยายทองสา เป็นสาวกำพร้าพ่อ ชื่อนางไร
.
ยายอีทำหน้าที่เป็นเฒ่าแก่ไปเจรจา ก็สำเร็จตามประสงค์ ด้วยว่าฝ่ายเจ้าสาวไม่รู้ความว่านายดั่นนั้นตาบอด
.
การสู่ขอ พิธีหมั้น และแต่งงาน ถูกรวบรัดให้กำหนดไว้ในวันเดียวกัน นายดั่น ครั้นจะว่าไปแล้วหากมองภายนอกก็เหมือนคนตาดีทั่วไป เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างเรียบร้อยไร้พิรุธก็จึงต้องทำทีเป็นคนปกติเสียอย่างขัดไม่ได้
.
แม้จะฉลาดเพียงใด แต่สถานที่อันไม่เคยไปก็ทำให้นายดั่นประหวั่นพรั่นพรึงเอาการ แล้วปฏิภาณของเขาก็เริ่มถูกกระตุ้นให้ใช้ขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า เช่นว่า บ้านแม่ยายยกใต้ถุนสูง ในระหว่างที่คนอื่นๆ ขึ้นเรือน นายดั่นกลับมุ่งไปใต้ถุน เมื่อมีผู้ร้องทัก ก็บอกปัดไปว่าคนบนเรือนนั่งอยู่มาก กระดานเรือนจะหักลง เมื่อขึ้นได้บนเรือนก็ลงนั่งที่นอกชาน แก้ว่าเหยียบขี้ไก่ไม่กล้าเข้า เป็นต้น
.
นางไร ไม่เกิดเฉลียวใจสิ่งใดแก่นายดั่นแม้แต่น้อย ด้วยว่านายดั่นได้ขอให้อ้ายเหล็กหลานชายอยู่กับตัวคอยดูแล อ้ายเหล็กนำทางไปสำรวจนอกในจนทั่วบริเวณและถูกกำชับให้อยู่ติดตัวนายดั่นไว้ตลอดเว้นแต่ตอนนอน
.
ในระหว่างอยู่กินกันปีหนึ่ง เกิดเรื่องให้เสียวหลังวูบวาบหลายคราว แต่ก็เอาตัวรอดไปได้ทุกครั้งทั้งเล็กใหญ่
.
อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อถึงทีจะกินหมากแต่คลำหาปูนไม่เจอ นางเมียนั่งทอหูกอยู่ใต้ถุน อ้ายเหล็กไม่อยู่ใกล้มือ ร้องถามก็ได้ความว่าอยู่ปลายตีน ครั้นควานแล้วควานอีกยังไม่พบ ก็บริภาษเสียงดังไปนานา คำสำคัญแทงใจดำคือ “ถ้าใครมาหาพบ ตบสักทีกูมิว่า ให้ยีที่หนวยตา ให้ฟ้าผ่าไม่น้อยใจ”
.
นางไรด้วยความโมโห เมื่อขึ้นถึงเรือน เห็นปูนห่อใบไม้วางอยู่ก็ควักเอาไปขยี้ที่ดวงตาตามคำท้าทันที ข้างนายดั่นได้ช่อง จึงร้องโอดโอยร่ำไห้ปริเทวนาการไปสารพัน
.
ถึงทีจะหมดกรรมของนายดั่น เมื่อนางไรเที่ยวหายาจากทั่วสารทิศ จนได้ยาผีบอกของพ่อตาหมอบัวศรี สัปเหร่อชาวหัวไทร เข้ารักษา ตาที่บอดสนิทอันที่จริงก็แต่กำเนิดนั่นแหละก็มาหายเอาเมื่อวัย ๓๑ ด้วยปัญญากับยาผี
.
เรื่องเล่าไปต่อว่าสิบปีต่อมานายดั่นและนางไรต่างทำมาค้าขายได้กำไรร่ำรวย มีลูกด้วยกันคนหนึ่ง เป็นชาย ตั้งชื่อว่าทองดึง แล้วจึงนายดั่นผู้เป็นพ่อลาเมียลาลูกเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์
.
เรื่องนายดั่นนี้ เห็นจะใช้เป็นหนังสือสวดอ่านกันในวัด กับบ้านเรือนผู้รู้หนังสือ และจำกันต่อไปเป็นมุขปาฐะ คงจะมีสำนวนแตกต่างกันไปบ้างในแต่ละท้องถิ่นแต่ก็ยืนโครงเรื่องเดียวกัน สื่อไปในทางจะสอนใหรู้จักวิบากกรรมในพระพุทธศาสนาเหมือนกัน
.
นอกจากข้อคิดที่ได้ วรรณกรรมฉบับนี้ยังสะท้อนวิถีชีวิตของชาวนครศรีธรรมราชโดยเฉพาะเรื่องของการแต่งงานได้อย่างดี เช่น ความเชื่อก่อนแต่งที่ต้องมีการ “บูนทาย” หมายถึงการทำนายดวงชะตาว่าสมพงหรือปฏิปักษ์ หรือเมื่อส่งตัวเข้าหอในช่วง ๓ คืนแรกห้ามเสพกามคุณ ชายต้องนอนสีหไสยาตะแคงขวา หันหัวไปทิศหัวนอน หันหน้าทางตะวันออก เป็นต้น
.
นายดั่นเป็นวรรณกรรมท้องถิ่นเรื่องแรกที่อ่านจบในมือเดียว เพราะส่วนใหญ่จะสแกนหาเฉพาะสิ่งหรือท่อนที่จะต้องใช้งาน คราวนี้คงต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ เพราะประวัติศาสตร์สามารถศึกษาได้ผ่านวรรณกรรม
.
เมื่อบรรพกวีต่างสร้างสรรค์ผลงานออกมาจากสิ่งที่นึกคิดและพบเห็น ใดใดที่เกิดไม่ทันเห็นและเขลากว่าจะนึกคิด ก็ขอคารวะทุกดวงจิตวิญญาณเหล่านั้นเพื่อได้โปรดเป็นสรณะมาโดยนัยนี้ฯ

พญามือเหล็ก พญามือไฟ: ครูหมอ-ตายายโนราในพระราชพงศาวดาร

พญามือเหล็ก พญามือไฟ
ครูหมอ-ตายายโนราในพระราชพงศาวดาร

 

ครูหมอโนรา

ในชั้นนี้จะเว้นการนิยามคำว่าครูหมอกับตายาย

เพราะส่วนตัวเชื่อว่าหากสืบขึ้นไปลึกๆ

คงพล่ายกันแยกไม่ขาด

.

ห้วง ๑๕ วันตามความเชื่อ

ตั้งแต่แรกรับตายายมาในวันแรมค่ำ ๑ เดือนสิบ

บังเอิญให้ใคร่จะอ่านพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา

ในความหนา ๘๐๐ หน้า

จึงตั้งใจว่าจะแค่กวาดสายตา

หาคำว่า “นครศรีธรรมราช” เป็นพื้น

.

ยังไม่ทันถึงที่หมาย ภารกิจที่ว่าก็เสร็จเสียก่อน

เลยเปิดเล่นไปมา อ่านทวนแต่ละเรื่องเพื่อสอบความ

.

ความจริง

เคยมีแรงบันดาลใจให้ค้นเรื่องทำนองนี้แล้วครั้งหนึ่ง

จากเล่มเดียวกันนี้

คราวนั้นพบตำแหน่งมหาดเล็ก

ปรากฏในชื่อขุนนางวังหลวง ฉบับคำให้การชาวกรุงเก่า

“หลวงนายศักดิ์ หลวงนายสิทธิ์ หลวงนายฤทธิ์ หลวงนายเดช”

ซึ่งก็ไปช่วยคลี่คลายบางอย่าง

เกี่ยวกับชื่อบุคคลที่ปรากฏอยู่ในบทกาศครูของชาตรี

“แต่แรกพ่อเป็นหลวงนายฯ”

แม้คำตอบที่ได้จะเป็นเพียงการยืนยันการมีตัวตน

แต่ความสัมพันธ์ระหว่างชาตรีกับราชสำนัก

เป็นอะไรที่อาจสาวความไปได้จากจุดนี้

.

เช่นเดียวกัน

พญามือเหล็ก และ พญามือไฟ

ก็ปรากฏในบทกาศครูของชาตรีว่า

“ไหว้(พ)ญามือเหล็ก(พ)ญามือไฟ

จะไหว้ใยตาหลวงคงคอฯ”

.

ทั้งสองพญามีชื่อ

ก็ถูกกล่าวถึงในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา

ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)

ว่ามีชีวิตในรัชกาลสมเด็จพระมหินทราธิราช

เป็นแม่ทัพฝ่ายกรุงศรีสัตนาคนหุต

มีบทบาทสำคัญในศึกชิงเมืองพระพิษณุโลก

.

อย่างที่กล่าวแล้วว่า

นอกจากความนี้จะยืนยันตัวตนประการหนึ่ง

ความสัมพันธ์ของพื้นที่ต้นขั้วกับแหล่งวัฒนธรรมปัจจุบัน

เป็นเรื่องน่าสนใจ

การตกค้างผูกพันอยู่กับความเชื่อในฐานะบรรพชน

ทำให้เชื่อได้ว่าคนลาวกับชาวใต้

มีการยักย้ายถ่ายเทสัมพันธ์กันในลักษณะเครือญาติ

มานานแล้วตั้งแต่อดีต

ก่อนที่ความลาว ความไทย และความใต้

จะมาแยกเราขาดจากกัน

.

บทความอันนี้ถูกเขียนขึ้นอย่างคร่าวๆ

ระหว่างนั่งรถกลับนคร

ไม่มีอะไรเป็นสรณะนอกจากหนังสือเล่มที่ว่า

ขอบพระคุณความเห็นจากกัลยาณมิตร ดังนี้

.

พี่สุรพงศ์ เอียดช่วย

“หวังว่าซักวันหนึ่ง

เราจะสืบค้นระบุการมีตัวตนของครูต้นได้ชัดเจน

ว่าท่านคือผู้ใดบ้างในห้วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา”

.

ดร.อัครินทร์ พงษ์พันธ์เดชา

“ลอง search ดู เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก ครับ

พระญาข้อมือเหล็ก สมัยหริภุญไชย

น่าจะปรากฏอยู่ใน ตำนานมูลศาสนา ถ้าจำไม่ผิด

ที่ลำปาง ก็มี เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก

ส่วนเชียงใหม่ มีศาลเจ้าพ่อแขนเหล็ก

อยู่บริเวณที่เคยเป็นวังพระญามังราย กลางเมืองเชียงใหม่ ครับ

อาจจะเป็นตำแหน่งที่มีมาแต่เดิมในยุค ทวารวดี

เพราะ พระญาข้อมือเหล็ก เป็นตำแหน่งเสนาบดี

คู่พระญาบ่อเพ็ก ของพระนางจามเทวี ที่มาจากละโว้ ครับ”

.

ดร.วิทยา อาภรณ์

“จำได้ว่าที่ภาคเหนือพบเจ้าข้อมือเหล็ก

พญาข้อมือเหล็กเป็นผีชั้นสูงประจำพื้นที่ ผีขุนน้ำบ่อยเลย ชาวบ้านเลี้ยงประจำปี

น่าคิด มีเวลาน่าขยายจริง ๆ รูปแบบภาษา ประเพณี บ้านเรือน ยังพอให้สืบได้ ช้าไปก็ยิ่งจาง”

.

แต่คิดดูแล้ว เรื่องนี้เป็นประโยชน์

อย่างน้อยก็ในระดับความเข้า(ไปใน)ใจ

กับทั้งเป็นเครื่องพยุงศรัทธาของลูกหลาน

เพื่อยืนกรานสิ่งที่เรียกว่า “ความกตัญญู”

แม้ในชีวิตจริง เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องมีหลักฐาน

เพราะถ้าปลายทางแจ้งอยู่กับใจ

ก็ใช่ว่าจะต้องเที่ยวใส่บ่าแบกหามภาระใดให้หนักตัว

 

ปล. การเทครัวปากเหนือลงมาปากใต้สมัยพระราเมศวรคงเป็นหมุดหมายสำคัญที่ต้องตามต่อ
ขอบพระคุณภาพปกจากหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ จำหน่ายในหมู่ข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๔๕๑

ชักพระ(ไม่ได้)มีหนเดียว ตำนานพระลาก ตะเฆ่ และเกลียวเชือก

ชักพระ(ไม่ได้)มีหนเดียว
ตำนานพระลาก ตะเฆ่ และเกลียวเชือก

ประเพณีชักพระ

หลังจากได้ฟังที่มาของประเพณีชักพระจากผู้ร่วมเสวนาทั้ง ๒ ท่าน ผู้เขียนก็เปิดประเด็นด้วยการลองตั้งข้อสังเกตดูเล่นๆ ไว้ เป็นหลายขยัก เช่นว่า คำถามที่ควรจะมีกับประเพณีชักพระอาจต้องต่อออกไปอีก ๒ ข้อ จากที่ตั้งลูกขี้ไว้ที่ ชักพระทำไม ? เพิ่มด้วย ชักอย่างไร ? และ ชักแล้วจะได้อะไร ? ขยักต่อมาเป็นรอยที่เห็นเติมขึ้นเป็นสาม คือ พราหมณ์ พุทธ และพื้นถิ่น สุดท้ายคือขยักเรื่องวาระและเวลาในการชักที่ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่แค่เดือนสิบเอ็ด แรมค่ำ อย่างที่เราเคยเข้าใจไว้

.

เมื่อฟังว่าไอเดียของชักพระมาแต่พิธีแห่เทพเจ้าของพราหมณ์ ก็พลอยทำให้เป็นข้อมูลไปสนับสนุนว่า แต่เดิมเรื่องของหมุดเวลาคงยืดหยุ่นไปตามบริบทด้วย คล้ายกับที่พราหมณ์จะอารตีเทพเจ้าพระองค์ใดก็ต้องเนื่องมาจากฉากในเทพปกรณัมของเทพเจ้าพระองค์นั้น ๆ ตานี้เมื่อคนพื้นเมืองยังนับถือผีและธรรมชาติอยู่ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า หมุดหมายของเวลาที่จะแห่พระจึงต้องขึ้นอยู่กับภูมิอากาศ การผลิช่อออกรวงของบรรดาผลอาสิน หรือฤดูกาลเก็บเกี่ยว เป็นต้น ตรงส่วนนี้เองทำให้เราพอเห็นเค้าลางของการลากพระเดือนห้า และเมื่อคืนก่อนที่เพิ่งได้ยินมาจากท่านอาจารย์เฉลิม จิตรามาศ ประชาสัมพันธ์วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร ตอนสัมภาษณ์ความทรงจำว่าด้วยเรื่องลากพระ ท่านก็เปรยว่า เดือนสิบสองตอนน้ำทรง สมัยเด็กยังเคยเห็นเรือพระลอยลำอยู่กลางน้ำ ซึ่งไม่ได้เป็นการค้างไว้จากเดือนสิบเอ็ด แต่เป็นการชักลากออกมาในเดือนสิบสองเพื่อส่งน้ำ ลากพระจึงยืดหยุ่นได้ตามเป้าประสงค์ของคนและเจตจำนงของการลาก

.

ความสนุกอยู่ตรงที่ เราจะเริ่มเห็นเส้นเวลาคร่าว ๆ ของชักพระ

จากรอยพรามณ์ ถึงคนพื้นเมือง แล้วมาสู่วิถีพุทธในแบบฉบับชาวใต้

รอยพราหมณ์ ก็จากเค้าโครงของพิธีกรรมการแห่เทพเจ้า

มาถึงคนพื้นเมือง ก็ที่เชื่อมเอาธรรมชาติเข้าไปผูกโยง

ส่วนวิถีพุทธในแบบฉบับชาวใต้ ก็คือการสร้างชุดความรู้ว่าด้วยการจำลองพุทธประวัติฉากเสด็จจากดาวดึงส์ไปเป็นความหมายให้กับประเพณี

.

ทั้งสามส่วนนี้ จะมีส่วนของคติชนเข้าไปจับ แต่ถ้าจะลองเลาะออกให้เห็นเพียงแค่ปฏิบัติการในชีวิตประจำวันดูอย่างสามัญๆ เลย ก็ให้ความน่าสนใจไม่แพ้กัน ถ้าลองเอากรอบของพิธีกรรมออก เราก็จะเห็นทักษะในการเคลื่อนย้ายสิ่งของของมนุษย์ ชักพระบก คือการเคลื่อนย้ายพระไปทางบก ชักพระน้ำก็คือการเคลื่อนย้ายไปทางน้ำ พออธิบายมาถึงตอนนี้หลายท่านคงนึกขึ้นได้หรือไม่ก็เคยผ่านตาข้อมูลการชะลอพระพุทธรูปสำคัญจากกรุงเก่าลงมากรุงเทพ อันนั้นก็ถือว่าลากพระ ที่เอกสารโบราณเรียกอาการอย่างนั้นว่า “ชัก”

.

ตานี้ในปัจจุบันจะมาเป็น “ลาก” หรือกำลังมีการถกกันว่าควรใช้คำใด อันนี้ก็สุดแท้แต่จะมีฉันทามติ  เพราะฝ่ายที่ใช้ “ชัก” ก็จะมีหลักฐานจากปากคำที่เป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนฝ่าย “ลาก” ก็อ้างอิงจากคำเรียก “พระลาก” จึงว่าควรเป็น “ลากพระ” แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ในภาษาพูดเดี๋ยวนี้ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรายังใช้ปนกันอยู่ รวมถึงตัวผู้เขียนเองก็ตาม

.

ตานี้กลับมาที่ ชักพระที่ไม่ได้เนื่องในประเพณีกัน โดยจะขอละของทางภูมิภาคอื่นไว้ ที่นครศรีธรรมราชมีหลักฐานฉบับหนึ่งเป็นพระราชหัตเลขาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามกุฎราชกุมาร ซึ่งถวายรายงานพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ราวปีพุทธศักราช ๒๔๕๒ กล่าวถึงการเชิญพระบรมราชาไว้อย่างน่าสนใจว่า

.

“เมื่อวันอังคาร ที่ ๒๕ พฤษภาคม ร.ศ.๑๒๘ เวลาบ่ายได้ขับรถไปตามถนนรอบกำแพงเมือง ไปนั่งมุขพระธรรมศาลา ในวัดพระบรมธาตุ ดูแห่พระพุทธรูป ซึ่งเรียกว่าพระบรมราชา พระนั้นได้เชิญขึ้น “บุษบกวางบนตะเค่” ให้คนฉุดมา คนที่ฉุดนั้นไม่ใช่แต่เฉพาะชายฉกรรจ์ ทั้งคนชรา เด็ก และผู้หญิงก็ช่วยกันฉุดด้วยเพื่อเอาบุญ เดิมพระองค์นี้ฝังอยู่ในกลางทุ่ง มีผู้ไปขุดพบเข้า จึงเอาไปประดิษฐานไว้ที่วัดนอกเมือง พระองค์นี้มีชื่อเสียงว่าปฏิบัติสับประดนต่างๆ มีขึ้นล่วงเรือนเขาบ้าง ขึ้นหาลูกสาวเขาบ้าง ตามเรื่องว่าไล่กันมาถึงวัด เห็นผู้ร้ายหายเข้าไปในพระวิหารพระบรมราชา ผู้ที่ไล่วิ่งตามเข้าไปยังได้เห็นโคลนเปื้อนพระบาทอยู่ ถึงกับล่ามโซ่ไว้ ต่อมาเมื่อเร็วๆ นี้ จึงจับตัวผู้ร้ายได้ เรื่องราวก็จบลง แต่ที่แลไม่เห็นนั้น คือเหตุไฉนจึงอุสาหะมีคนเชื่อได้ ดูไม่น่าเชื่อเลยว่าพระพุทธรูปจะเที่ยวเล่นซุกซนได้เช่นนั้น ฝ่ายเจ้าผู้เป็นต้นคิด ซัดพระพุทธรูปขึ้นด้วยนั้น ก็ควรจะยอมรับว่ามันช่างรู้อัทยาไศรยของเพื่อนกันดีจริงๆ”

.

ประเด็นที่เห็นจากบันทึกฉบับนี้ มีหลายประการ เช่นว่า

 

“บุษบกวางบนตะเค่”

อันนี้หมายถึง “พนมพระ” เหตุที่ไม่เรียกอย่างนั้นเพราะเข้าใจว่าไม่มีผู้ถวายรายงาน จึงทรงพรรณนาลักษณะไว้ตามที่ได้ทอดพระเนตรและทรงคุ้นเคย ข้อนี้เป็นประโยชน์มาก เพราะแม้จะไม่ได้เห็นรูปพนมพระนั้น แต่ทำให้เข้าใจว่าครึ่งล่างคือ “ตะเฆ่” ที่ในพจนานุกรมออนไลน์หลายแหล่งให้ความหมายไว้ค่อนข้างใกล้เคียงกันว่า “เครื่องลาก เข็น หรือบรรทุกของหนัก รูปเตี้ย ๆ มีล้อ ราง หรือเลื่อน,แม่แรงชนิดหนึ่ง” (LONGDO Dict) และครึ่งบนเป็นบุษบก

.

“คนที่ฉุดนั้นไม่ใช่แต่เฉพาะชายฉกรรจ์ ทั้งคนชรา เด็ก และผู้หญิงก็ช่วยกันฉุดด้วยเพื่อเอาบุญ

บรรยากาศของการ “เอาบุญ” ร่วมกัน เห็นความคึกคักคึกครื้น เกลียวเชือกกลายเป็นพื้นที่ทางสังคมที่ใช้ “บุญ” เป็นเครื่องทลายเส้นแบ่งด้านเพศสภาพโดยสมบูรณ์

.

“เดิมพระองค์นี้ฝังอยู่ในกลางทุ่ง มีผู้ไปขุดพบเข้า จึงเอาไปประดิษฐานไว้ที่วัดนอกเมือง

.

ตำนานพระลาก

วรรคนี้อาจเป็นวรรคทองที่ทำให้เห็นว่าตำนานพระลากมีการใช้โครงเรื่องที่ใกล้เคียงกัน คือเริ่มที่เป็นของสำคัญสมบัติของชนชั้นสูงแล้วมีเหตุให้อันตราธาน จนไปพบในพื้นถิ่นใดพื้นถิ่นหนึ่ง บ้างก็ว่าผุดขึ้นกลางท้องไร่ท้องนา บ้างก็ว่าลอยน้ำ จากนั้นมีพิธีกรรมของคนพื้นถิ่นนั้นเพื่อเชิญขึ้นประดิษฐาน ณ ที่อันควร แล้วถวายพระนามให้กับพระพุทธรูป ลางองค์เป็นสตรีนาม ในขณะที่ลางองค์เป็นบุรุษนาม

.

อย่างที่ได้จั่วหัวไว้แต่ต้นจากข้อสังเกตเรื่องรอยทั้งสามแล้ว ถ้าลองคลี่โครงเรื่องตำนานพระลากออกดู เราจะเห็นมือของคนพื้นถิ่นที่พยายามเข้ามากระชับความหมาย ด้วยวิธีการนิยามความหมายของรูปสัญญะขึ้นใหม่ ซึ่งแต่เดิม  “พระพุทธรูป” หมายถึง “พระพุทธเจ้า” แต่เมื่อผ่านพิธีกรรมตั้งแต่การเชิญขึ้น บางแห่งว่ามีทำขวัญ แล้วถวายนาม พระพุทธรูปนั้นก็จะหมายถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำพื้นถิ่นนั้นๆ ไปทันที ส่วนข้อที่ว่าลางองค์เป็นสตรีนามนั้น ก็อาจตอบอย่างเร็วและลวกไว้ว่าคงขึ้นอยู่กับการเคารพนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของแต่ละถิ่นไป หรือจะใช้แนวคิดเรื่องคติผู้หญิงเป็นใหญ่และเคยเป็นหัวหน้าผู้ประกอบพิธีกรรมก็ยังไม่ขัด เพราะส่วนตัวยังไม่ได้ศึกษาอย่างลึกซึ้งจริงจังมากพอ

.

สิ่งที่เห็นต่อหลังจากการถวายนาม คือธรรมเนียมเรื่อง “คู่” ของพระลาก ทั้งคู่ขวัญและคู่พี่น้อง ที่ไม่ว่าจะเป็นการจับคู่กันในลักษณะใดก็คงสื่อแสดงเครือข่ายความสัมพันธ์ในระดับพื้นที่ ส่วนจะเกี่ยวดองกันในรูปแบบอย่างหัวเกลอ คู่การค้า หรือเครือญาติ อันนี้อาจต้องลองเจาะกรณีศึกษาเป็นแห่ง ๆ ไป

.

ประเด็นสุดท้ายคือวันที่ที่ลงไว้ว่าตรงกับ “วันอังคาร ที่ ๒๕ พฤษภาคม ร.ศ.๑๒๘” ลองเปิดปฏิทินร้อยปีแล้วไปตกเอาเดือนเจ็ด ซึ่งไม่ใช่ทั้งเดือนสิบเอ็ด เดือนห้า หรือเดือนสิบสอง ส่วนตัวคิดว่าประเด็นนี้น่าสนใจมาก เพราะสาระสำคัญของชักพระก็คือการ “ชักพระ” แต่ดูเหมือนว่าชักพระที่เรารับรู้และเข้าใจกันเดี๋ยวนี้ จะเป็นชักพระที่ผ่านกระบวนการ “เลือก” ซึ่งหมายความว่าอีกหลายชักพระถูก “ตีตก” และทำให้กลายเป็นชักพระของคนเล็กคนน้อย หากจะลองย้อนกลับไปมองประเด็นการถวายนามอย่างสามัญให้กับพระพุทธรูปและตำนานพระลาก เป็นไปได้หรือไม่ที่วิธีการนี้ จะถูกใช้เป็นกลยุทธ์ของคนพื้นถิ่นในการสร้างตัวตนและแย่งชิงเอาความหมายของชักพระกลับมาสู่คนพื้นเมืองเดิม ในท่ามกลางการขับเน้นด้วยฉากจำลองเสด็จดาวดึงส์เพื่อยื้อหมุดเวลาไว้ที่แรมค่ำหนึ่งเดือนสิบเอ็ดของพระพุทธศาสนาที่มาใหม่ฯ

 

ปล. บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งและผลจากการประมวลความคิดหลังจากการเสวนาออนไลน์เรื่อง “ประเพณีชักพระ” เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๔ ที่ได้รับเชิญจากอาจารย์ธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จึงมีข้อจำกัดในการคิดและเขียนอยู่มาก และหากธุระเรื่องวิทยานิพนธ์ทุเลาลง คงได้เวลาค้นและเรียบเรียงใหม่อย่างตั้งใจฯ

พระพุทธสิหิงค์เมืองนคร เคยมีพระเกตุมาลาทองคำ

จำข่าวดีเมื่อไม่กี่ปีก่อนได้ไหมครับ ?
สำหรับท่านที่ไม่ได้ปูเสื่อรอ
ขอเท้าความไว้หน่อยหนึ่ง ดังนี้
.

พระพุทธสิหิงค์

เมื่อ ๒ ปีที่แล้วผมพบภาพพระพุทธสิหิงค์มีพระเกตุมาลาสูงกว่าเท่าที่เคยเห็น ภาพนั้นอยู่ในหนังสืองานประจำปีเมืองนครศรีธรรมราช พุทธศักราช ๒๔๗๗ ตอนนั้นได้รับความกรุณาจากท่าน ผอ.พรทิพย์ฯ ให้ใช้ห้องเอกสารโบราณของหอสมุดแห่งชาติ เพื่อสืบค้นข้อมูลทำหนังสือประวัติศาสตร์อำเภอเมือง
.
ตาแรก คิดว่าเป็นองค์จำลองแล้วปรับแปลง ครั้นสอบลักษณะเฉพาะแล้วจึงรู้ ว่าเป็นองค์เดียวกันกับที่ประดิษฐานอยู่ในหอเดี๋ยวนี้
.
ในหนังสือไม่ได้ให้รายละเอียดอะไรส่วนนี้
จึงได้แต่ตั้งคำถามว่าทำไมเมื่อก่อนมี แล้วเดี๋ยวนี้ไม่มี ?
.

พระเกตุมาลาทองคำ

จนมาพบงานเขียนของอาจารย์ประทุม ชุ่มเพ็งพันธ์ อดีตหัวหน้าหน่วยศิลปากรที่ ๘ (พ.ศ.๒๕๑๓ – ๒๕๑๘) ขณะนั้นตั้งทำการอยู่ภายในวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร ท่านยืนยันไว้บนปกในด้านหลังของสารนครศรีธรรมราช ฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๑๔ ว่า “…พระเกตุมาลาทองคำนั้น เพิ่งทำสวมเสริมขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๕ โดยให้ช่างถมหลังวัดจันทารามเป็นผู้ทำ…”
.
ก็เป็นอันแน่นอนว่าพระเกตุมาลาทองคำนี้เคยมีอยู่ กับที่เห็นเพิ่มในลายแทงอาจารย์ประทุมฯ คือ คงสร้างขึ้นในคราวเดียวกันกับฐาน กับว่าช่างถมหลังวัดจันฯ นี้ คงได้ชื่อว่าเป็นช่างฝีมือดี เหมือนอย่างเจ้าคุณเฒ่า (ม่วง รัตนธโช) ผูกสำนวนไว้แต่แรกว่า “อยากเป็นช่างให้ไปวัดจัน”
.
ธรรมเนียมการสวมเกตุมาลานี้ เคยเห็นมีครอบให้กับพระลากบางองค์ด้วย คงเป็นขนบการถวายเครื่องมหรรฆภัณฑ์แด่พระพุทธรูปตามอย่างชาวนครศรีธรรมราช ทำนองคล้ายกับการหุ้มยอดพระบรมธาตุเจดีย์ด้วยทองคำก็ปานกัน
.
คิดไปในทางที่ดีว่าคงมีเหตุเรื่องความปลอดภัยจึงจำเป็นให้ต้องถอดออกเพื่อเก็บรักษาไว้ แต่ก็ไม่ควรทำให้หายไปจากความรับรู้ของผู้คน อย่างน้อยก็เพื่อรู้ เพื่อทราบ ว่ายังถูกพิทักษ์ไว้อย่างดี อยู่ที่ใด ใครเป็นผู้รักษา
.

คุณค่าของพระพุทธสิหิงค์เมืองนครศรีธรรมราช

ส่วนตัวเห็นว่า ควรหาวาระถวายครอบขึ้นสักมื้อหนึ่งต่อปี เพื่อให้ชาวเราได้ชื่นชมบารมี เรียนรู้วิถีศรัทธาของบรรพบุรุษ และอาจเป็นช่องให้ช่วงใช้เพื่อทวีคุณค่าของพระพุทธสิหิงค์เมืองนครศรีธรรมราช ร่ายลามไปถึงเป็นกิมมิคทางการท่องเที่ยว ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม เช่นว่า เชิญออกสรงน้ำปีนี้มีพิธีถวายครอบพระเกตุมาลาทองคำก่อนเชิญขึ้นทรงบุษบก ให้ประชาชนได้สักการะกันใกล้ตา
.
อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้ควรเริ่มที่การสืบความว่า แล้วยังอยู่ไหม ? อยู่ไหน ? และใครพอจะทราบเรื่องราวนี้บ้าง ?
.
(แล้วก็ทิ้งท้ายโพสต์ก่อนว่า) ประจำเมืองฯ
.
หลังจากโพสต์นี้กี่เดือนจำไม่ได้ ผมรับสายจากท่าน ผอ.หช. ในเช้าวันหนึ่ง ว่าพบวัตถุชิ้นหนึ่งในคลัง พช. คล้ายกับที่กำลังถามหา ท่านขอข้อมูลเพิ่มเติมและได้ชี้ช่องไปพร้อมเสร็จ
.
จนเมื่อ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช ได้เผยแพร่ภาพพร้อมคำอธิบายประกอบนี้ทางเฟซบุ๊ก ส่วนตัวคิดว่าเป็นชิ้นเดียวกันกับที่ตามหา ดังจะตั้งข้อสังเกตไว้ดังนี้
.
นายสันต์ เอกมหาชัย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๐ – ๓๐ สิงหาคม ๒๕๐๒ แต่ไปมีข้อมูลรูปภาพว่าพระเกตุมาลาทองคำนี้เคยครอบถวายพระพุทธสิหิงค์มาก่อนหน้านั้นแล้วตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๗๗ ก่อนมาดำรงตำแหน่งถึง ๒๓ ปี ประกอบกับปากคำของอาจารย์ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์ อดีตหัวหน้าหน่วยศิลปากรที่ ๘ ที่ว่าสร้างเมื่อรัชกาลที่ ๕ โดยช่างถมทองวัดจันทร์
.
จึงเป็นไปได้ไหมที่ในประวัติว่า “สร้างถวาย” อาจจะเป็นเพียงการ “มอบไว้” เพราะพบว่าได้มอบหลังจากหมดวาระไปแล้ว ๒๑ ปี ซึ่งอาจมีคำถามต่อไปว่า เหตุใด ? หมดวาระแล้วจึงยังมีกรรมสิทธิ์ในพระเกตุมาลาทองคำนี้อยู่ ?
.
ข้อนี้ไปพล่ายกับการกำหนดอายุสมัย ส่วนตัวคิดไปว่า พช. คงจะยืนตามข้อมูลที่ปรากฏในทะเบียน แต่อยากขอความกรุณาให้สอบทานหลักฐานอื่นประกอบเพิ่ม เพราะดูเหมือนจะมีนัยยะบางประการที่น่าสนใจฯ

อีสาระพา คือใคร ? ทำไมจึงต้อง เฮโล ?

ตักบาตรเหอ
ตักบาตรหน้าล้อ
แทงต้มใบพ้อ
สำหรับลากพระ
พอเห็นลายมือใหญ่
ชวนกันไปวัดไปวา
สำหรับลากพระ
อีโหย้สาระพาเหอฯ

ประเพณีลากพระ

ก็เพราะว่า “ลากพระ” เป็น “วัฒนธรรม” จึงมีปกติปรับสภาพไปตามธรรมชาติของโลกเพื่อความอยู่รอด
.
ส่วนตัวจึงไม่เห็นว่าเป็นเรื่องแปลก ที่หน้าหรือหลังพนมพระบางวัดจะมีเครื่องเสียงชุดใหญ่ เปิดเพลงเวียนครกจังหวะสามช่า รำวง รวมถึงมิกซ์เพลงแดนซ์ต่างๆ เรียกแขก เรียกคน เรียกความสนใจ สร้างบรรยากาศให้แลดูคึกคัก ในขณะที่อีกหลายวัด มีแค่ ปืด ตะโพน ฆ้อง ระฆัง กังสดาล เป็นเครื่องประโคมคุมพระ
.
จะเห็นว่า ประเพณีลากพระที่เพิ่งผ่านไปนี้ มีการแบ่งพื้นที่ของตัวมันเอง ให้เห็นรสนิยม ความเก่า กลาง ใหม่ ที่ใครใคร่จะเข้าถึงอย่างใดก็ตามแต่จริตนิสัย ภายใต้สาระสำคัญอันเดียวกันคือ “ลากพระ”
.
ชุดเครื่องเสียงรถแห่อาจแลดูคึกโครมเกินงาม แต่ถ้าลองทูลถามพระบรมศาสดาที่เสด็จมาบนพนมนั้น พระองค์ก็จะทรงสงบนิ่งไม่ติงไหวสั่นคลอน ฉันใด เสียงอันอึกทึกเหล่านั้น แทนที่จะทำลายประเพณีอยู่ท่าเดียว กลับจะมีแง่ดีอยู่บ้างด้วย คือเป็นเครื่องมือช่วยชักชวน(คนกลุ่ม)ใหม่ ให้เข้ามาใน(คติของคนกลุ่ม)เก่า ฉันนั้น
.
ก็เมื่อพุทธกาลยังไม่มีเครื่องเสียง หรือถ้ามี เราก็ไม่อาจยืนยันได้ว่าคนสมัยโน้นจะไม่คว้ามาใช้งาน
.
ตานี้ ในประเด็นของความเก่า กลาง ใหม่นี้ จะถามหาความเก่าแท้ก็ยาก ความใหม่จริงยิ่งยากกว่า ที่เห็นอยู่เดี๋ยวนี้จึงคือความกลางๆ คือมีความเก่าเป็นพื้นแล้วใช้ความใหม่เข้าช่วย กับยืนบนความใหม่ในฐานของความเก่า
.
ส่วนเพลงเซิ้ง เพลงหมอลำ ที่เป็นผลมาจากอิทธิพลของเทคโนโลยีด้านการสื่อสารทำให้โลกใกล้กันขึ้น หากเปรียบเทียบกับเพลงสิบสองภาษาของโบราณาจารย์ท่านแล้ว เราในเดี๋ยวนี้ยังดูแพ้อยู่หลายขุม
.
อีกหนึ่งต้องไม่ลืมว่า ไม่มีผู้คน ก็ไม่มีศาสนา ศาสนาจึงเป็นเรื่องของคน เมื่อคนเกิดมีขึ้นตามธรรมชาติ ศาสนากับธรรมชาตินี้ ก็จึงคืออันเดียวกัน
.
และยุคที่ต้องเว้นระยะห่างนี้
ก็คงมีเรื่องต้องเรียนต้องรู้เกี่ยวกับการปรับรูปปรับแบบเพื่อความอยู่รอดของ “ลากพระ” กันอีกครั้ง
ท้ายที่สุด จะได้คลี่คลายว่า อีสาระพาที่เคยได้ยินเป็นที่คุ้นหูเมื่อลากพระคือใคร ?
และทำไมจึงต้องเฮโล ? กัน ดังนี้

อีสาระพา มาจากคำว่า สรภ
อ่านว่า สะระพะ
.
คือชื่อกลองชนิดหนึ่ง
ซึ่งคงเป็นอันเดียวกันกับที่เรียกเดี๋ยวนี้ว่า “ปืด”
.
อีสารภา เฮโลๆ
จึงคือสร้อยเพลง เพื่อสับทำนองของเสียงกลองนั้น
.
ส่วนไอ้ไหร่กลมๆ ?
คงมีผู้โลน ผู้ทอยแล้วอยู่เกลื่อนไปฯ

กระท่อมมา ฝิ่นหาย : เปิดไทม์ไลน์จากรายงานข้าหลวงเทศาภิบาลณฑลนครศรีธรรมราช

กระท่อม

กระท่อมมา ฝิ่นหาย :
เปิดไทม์ไลน์จากรายงานข้าหลวงเทศาภิบาลณฑลนครศรีธรรมราช

โดย ธีรยุทธ บัวทอง

 

เมื่อแรกฝิ่นยังถูกกฏหมาย

ฝิ่นเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายในหลายพื้นที่เมื่อครั้งอดีต ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย เพราะฝิ่นสามารถสร้างรายได้ให้กับรัฐโดยการผูกขาดอำนาจทางธุรกิจและระบบการจัดเก็บภาษีจากผู้ค้า

ฝิ่นมีมูลค่าสูงยังผลให้มนุษย์ต้องเข่นฆ่ากันเพื่อช่วงชิงผลประโยชน์ ดังจะเห็นได้ชัดจากสงครามฝิ่นในช่วงปี พ.ศ. 2382 – 2403 ระหว่างอังกฤษกับจีน จนนำมาสู่ความสั่นคลอนของราชวงศ์ชิง

แต่ถึงกระนั้น ฝิ่นก็ไม่ได้เป็นสารเสพติดและยารักษาโรคเพียงชนิดเดียวที่สามารถสร้างความสุขแก่ผู้ใช้และสร้างรายได้ให้กับรัฐเพียงสิ่งเดียว หากแต่มีพืชทำนองเดียวกันหลายชนิด และหากกล่าวถึงภาคใต้ของประเทศไทยแล้วล่ะก็ คงหนีไม่พ้นกะท่อม ซึ่งกะท่อมนี้นี่เองที่มีส่วนทำให้รายได้ของรัฐจากฝิ่นหดหายไป ดังรายงานข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ระบุว่า “…นายอากรยาฝิ่นได้จำหน่ายอยู่ในศก 116 อากรฝิ่นมณฑลนี้ คงมีกำไร แต่ไม่สู้มากนัก เหตุที่ฝิ่นมณฑลนครศรีธรรมราชขายไม่สู้จะดีนั้นเพราะมีจีนน้อย พวกไทยที่สูบก็เป็นคนขัดสน มักจะถุนเสียมาก ใช่แต่เท่านั้นยังซ้ำพวกราษฎรปลูกต้นกระท่อมขายใบด้วยอีกส่วนหนึ่ง จึงทำให้ฝิ่นจำหน่ายได้น้อยไป ในศก 117 ได้ออกประกาศ ห้ามไม่ให้ราษฎรปลูกต้นกระท่อมและที่มีอยู่แล้ว ก็ให้ตัดพ้นเสียให้หมด และที่ประกาศห้ามเสียอย่างนี้ คงจะเป็นปากเสียงร้องว่าเดือดร้อนกันบ้างเป็นแน่”

กระท่อม

กระท่อม เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ปานกลาง มีแก่นเป็นไม้เนื้อแข็ง สูง 10 -15 เมตร อยู่ในตระกูล Mitragyna speciosa มีชนิดก้านใบแดงและใบเขียว ดอกกลมโตขนาดเท่าผลพุทรา ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียว เรียงตัวเป็นคู่ตรงข้าม พบมากบริเวณทางภาคใต้ของประเทศไทย ผู้คนมักนำมาเคี้ยวใบสดหรือบดใบแห้งให้เป็นผง ละลายน้ำดื่ม บางรายเติมเกลือด้วยเล็กน้อยเพื่อป้องกันท้องผูก นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณทางยาเป็นตัวยาในตำรับพวกประเภทยาแก้ท้องเสีย แม้ใบกระท่อมให้ผลการออกฤทธิ์ที่อาจมีประโยชน์ทางยาได้ แต่ทำให้เสพติดและมีผลเสียต่อสุขภาพ หากใช้ติดต่อกันนานๆ

เนื่องจากพืชกระท่อมมีสารเสพติดที่พบในใบ คือ  ไมทราไจนีน (Mitragynine) เป็นสารจำพวกอัลคาลอยด์ ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง (CNS depressant) แต่เมื่อหยุดเสพจะเกิดอาการ เช่น ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและกระดูก แขนขากระตุก ก้าวร้าว นอนไม่หลับ อยากอาหารยาก มีอาการไอมากขึ้น เป็นต้น

ปลดล็อคกระท่อม

พืชกระท่อมจึงถูกควบคุมโดยกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดหลายฉบับมานานนับหลายทศวรรษ จนกระทั่งในช่วงปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา สภาได้มีมติเอกฉันท์ผ่านร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม ให้สามารถปลูกและใช้ได้อย่างเสรี ส่วนการนำเข้าและส่งออกต้องขออนุญาต

โดยหลังการยกเลิกพืชกระท่อมจากยาเสพติดประเภท 5 ประชาชนสามารถครอบครอง บริโภค และใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อมได้ จึงควรส่งเสริมและให้มีการพัฒนาเป็นพืชทางเศรษฐกิจ กำหนดมาตรการดูแลโดยเฉพาะการนำเข้าและการส่งออกเท่านั้นที่ต้องขอรับใบอนุญาตก่อน ส่วนการเพาะ การปลูก และการขายใบพืชกระท่อม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการบริโภคใบกระท่อมมากเกินควรอาจก่อให้เกิดอันตราย โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร จึงกำหนดมาตรการกำกับดูแลการขาย การโฆษณา และการบริโภคใบกระท่อมในบางประการ เพื่อคุ้มครองสุขภาพของผู้บริโภคและกลุ่มบุคคลดังกล่าว แต่ไม่ควรกำหนดข้อบังคับที่กระทบกับวิถีชีวิตและชุมชน

ดังนั้นจะเห็นได้ว่ากระท่อมไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย เพราะความรุนแรงของสารภายในเพียงประการเดียว แต่ผิดกฎหมายเพราะขัดแย้งกับผลประโยชน์ที่รัฐสูญเสีย การผสมสูตรร้อยแปดของบรรดาวัยรุ่นเป็นเพียงแรงสนับสนุนเหตุผลว่าใบกระท่อมนั้นไม่ควรเปิดเสรี แต่หากพิจารณาเฉพาะใบกระท่อมแล้วกลับหาเป็นเช่นนั้นไม่ (และถึงแม้มีฤทธิ์กระตุ้นประสาทและกดระบบประสาทก็ดูจะไม่ได้มีความรุนแรงดังเช่นสุราเมรัย หนทางเดินไปข้างหน้าคือการสนับสนุนให้มีการศึกษาพืชใบกระท่อม เพื่อการใช้ประโยชน์ที่ถูกต้องทางการแพทย์มากกว่าผลประโยชน์ทางธุรกิจ

อ้างอิง

https://mnfda.fda.moph.go.th/narcotic/?p=6063
https://mgronline.com/politics/detail/9640000089093

ภาพปก : https://www.prachachat.net/general/news-26363

ประเพณีชิงเปรต แต่ก่อน ใคร ? ชิงเปรต ! เดี๋ยวนี้ยัง “สาเสด เวดนา” กันไหมหนอ ?

ทำบุญเหอ
ทำบุญวันสารท
ยกหมรับดับถาด
ไปวัดไปวา

พองลาหนมแห้ง
ตุกแตงตุกตา
ไปวัดไปวา
สาเสดเวดนา เปรตเหอฯ

หลังเพลงช้าน้องที่ยกมา
เรามาเข้าเรื่องกันเลยที่คำถามเปิดหัวว่า แต่ก่อน ใคร ? ชิงเปรต !
ใจจริงก็สงสัยว่าทำไมต้องไป “ชิง” ของ “เปรต” ด้วย
ในเมื่อตั้งใจจะ “อุทิศ” ไปให้เปรตเหล่านั้นแล้วตั้งแต่ต้น
พบบันทึกของท่านขุนอาเทศคดีฉบับนี้ เป็นอันถึงบางอ้อ…
“…เคยเห็นแต่นักโทษที่เรือนจำ
ปล่อยให้เที่ยวหากินตามลำพัง
กับพวกขอทานต่างแย่งชิงกันเก็บเอาไป
เรียกกันว่า ชิงเปรต เด็กๆ ชอบดูกันเห็นเป็นการสนุกสนาน…”
.

ประเพณีชิงเปรต

“ชิงเปรต” ในปัจจุบันเข้าใจกันว่าเป็นส่วนหนึ่งในประเพณีบุญเดือนสิบ ที่เริ่มต้นด้วยการ “ตั้งเปรต” คือการนำ “หมรับ” (อ่านว่า หฺมฺรับ) อันได้แก่ สำรับกับข้าวคาว-หวาน ขนมเดือนสิบ เช่น พอง ลา บ้า ดีซำ ไข่ปลา รวมถึง ผลไม้ หมาก พลู เงิน และ ดอกไม้ ธูป เทียน ไปอุทิศรวมกันไว้ที่ “ร้านเปรต” หรือบางวัดจัดไว้เป็น “หลาเปรต” เชื่อกันว่าคือการให้ทานโดยสาธารณะแก่วิญญาณเปตะชน(ผู้ละโลกนี้ไปแล้ว)ที่ไม่มีญาติหรือญาติไม่ได้มาร่วมทำบุญ

.การชิงเปรตจะเริ่มขึ้นหลังจากพระสงฆ์ดึงสายสิญจ์ซึ่งเดิมโยงจากบรรดาหมรับที่ตั้งเปรตไว้เพื่อเป็นอาณัติสัญญาณว่า พิธีทางศาสนาได้สมบูรณ์แล้วประการหนึ่ง กับถึงเวลาที่จะสามารถ “ชิงเปรต” กันได้แล้วประการหนึ่ง บรรดาคนหนุ่ม คนสาว ไม่เว้นแม้แต่พ่อเฒ่ามีแก่ที่ต่างจดจ่อรอเวลาอยู่รอบร้านเปรตหลาเปรต ก็กรูกันเข้าฉก ชิง แย่ง ยื้อ กันชุลมุน

.ในพริบตาก็เหลือร้างไว้เพียงหลาหรือร้านที่ว่างเปล่ากับร้อยยิ้ม เสียงหัวเราะ และถ้อยคำอธิษฐานก่อนแบ่งปันกันรับประทาน เพราะต่างก็มีความเชื่อว่าจะเป็นสิริมงคล บ้างก็เก็บไว้เพื่อนำไปโปรยในไร่นาหวังให้ผลอาสินผลิช่อออกลูกอุดมสมบูรณ์ ลูกหลานบ้านไหนป่วยไข้บ่อย บนบานกันไว้ว่าหากหายจะพาไปชิงเปรต ก็มี (ข้อมูลจากคณะทำงาน U2T ตำบลโมคลาน)

.เอาเข้าจริงแล้ว

บุญเดือนสิบของเมืองนครศรีธรรมราช
ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ
.
ส่วนที่ระบุว่าเป็นอะไรๆ เทือกนี้
หากมองให้ชัดจะเห็นว่าเป็นเพียงการสร้างความสนใจต่อสิ่งที่งอกขึ้นใหม่
ทั้งนี้ยังคงต้องมีคำว่าบุญเดือนสิบ หรืออะไรที่มีอยู่ในนั้น เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปฏิบัติตามระบบ
.
จะเห็นว่าบุญนี้เริ่มต้นที่ครอบครัว
โดยใช้วัดเป็นสื่อกลางประกอบพิธี
ดังนั้นเมื่อเอาเข้าจริงจะมีก็เพียงบ้านกับวัดเท่านั้น
ที่ควรเป็นพื้นที่เป้าหมาย
.
ก็ยังไม่เคยเห็น
ว่าหน่วยงานใดจับจุดเสริมแรงได้ถึงแก่นพิธีกรรมในวัด
ซึ่งส่วนตัวมองว่า
การไร้แรงแห่งรัฐลงถึงแก่นสาระของบุญเดือนสิบนี้
เป็นเรื่องที่ดี และดีมากด้วย
เพราะทุกบ้าน – ทุกวัด
จะยังสามารถรักษาขนบธรรมเนียม
จารีตรูปรอยของแต่ละพื้นที่ได้อย่างมั่นคง
.
มาถึงตรงนี้จะเห็นว่าสิ่งนี้มีคุณจริง
จึงไม่มีทีท่าว่าจะเลื่อนลอย
ถูกค้ำยันด้วยจิตสำนึกของผู้คน
มิหนำซ้ำตัวมันเองก็หยั่งรากนี้ลงถึงก้นบึ้งของวิญญาณ
กับทั้งยังมีกลไกทลายเปลือกปลอมบางประการ
และสถาปนาความเป็นลูกหลานอย่างเสมอตัวถ้วนหน้า
ใครจะยิ่งใหญ่คับฟ้ามาจากไหน
กลับบ้าน ถึงวัด ก็ต้องกลายเป็นลูกหลานไปโดยปริยาย
ติดระบบระเบียบ อุกอาจหาญกล้าอย่างไร
ก็ต้องจำนนต่อลักษณะวิธีของสาธารณชนอยู่นั่นเอง
.
บุญเดือนสิบจึงตัดขาดจากงานเดือนสิบ
การรื่นเริงที่ละเลงละลานอยู่ทั่วไปนี้เป็นอย่างหลัง
มองแง่ดีเป็นการรองรับผู้คนที่เดินทางกลับบ้าน
ให้ได้ทำกิจกรรมร่วมกันนอกบ้าน
.
เมื่อแรกคิดการเมื่อเกือบร้อยปีก่อน
ท่านผู้ริเริ่มอาจคิดเห็นว่าวิถีนี้ไม่ควรจะแตะก็เป็นได้
จึงเลือกพื้นที่จัดงานครั้งแรกที่สนามหน้าเมือง
และคงเป็นกุศลที่ท่านทั้งหลายนั้นเลือกถูก
.
บุญเดือนสิบจึงยังคงเป็นบุญเดือนสิบ
และงานเดือนสิบก็ปล่อยให้เป็นส่วนของงานเดือนสิบไป
เพราะบางอย่าง ยิ่งส่งเสริม ยิ่งสาบสูญฯ

ว่าด้วย “หมรับ” คำอ่าน ภาษาเขียน และข้อเรียนรู้

หมรับเอยแห่เลยเช้าเข้าหว่างเพล
ยกประเคนเครื่องประกอบชอบกุศล
ตามแต่มีบรรดาได้ในเรือนตน
สาละวนประดับประดาสาระพัน
.
ตองตานีถี่เย็บเก็บวงรอบ
รับทรงสอบลู่รี่ชี้สวรรค์
สลักพองรองไข่ปลาลาลอยมัน
ชะลูดหลั่นอย่างมหามงกุฎชัย
.
ทำมุขทิศบิดทางข้างละจั่ว
จำหลักตัวนาดสะดุ้งพยุงไหว
ทำช่อฟ้าแต่งระกาด้วยมาลัย
หน้าบันในแสดงเห็นเป็นเรื่องทอง
.
ปางประสูติพระสัมมาหน้าที่หนึ่ง
ตรัสรู้จึงแจกแจงไว้แห่งสอง
แสดงธรรมเทศนาที่สามรอง
ที่สี่ของดับขันธปรินิพานฯ
(วันพระ สืบสกุลจินดา, 2560)
.
บทสนทนาระหว่างสีแก้วและยอดทอง
(โหมดภาษาใต้)
(สีแก้ว)
เฮ คำนี้เขียนพรือหละไอ้ทอง ?
.
(ยอดทอง)
บอกว่า “หมรับ” กะ “หมรับ” ตะ !
แหลงมาก เจ็บคอจังแล้ว
พจนานุกรมภาษาถิ่นกะมีอยู่โทงๆ
หลักการทางภาษาศาสตร์ก็ยืนยันอยู่เห็นๆ
อิมาทำพี่พอได้บัญญัติให้หรอยแต่คำว่าหมรับพรือ
.
คันพันนั้นกะใส่ หฺมฺรัก เสียกันตะ
สากลัวคนอิอ่านว่า หม – รัก
ถึงนู้อีกหลายคำกะใส่พินทุเสียให้ฉาด
สากลัวว่าอิอ่านว่า หม – รัง, หม – รา, หม – ราบ
.
ใครอ่านโถกไม่โถกกะปล่อยให้ขึ้นอยู่กับปัญญาตะ
คำอื่นอ่านยากอิอับสับเห็นยังแข้นอ่านกันออก
แม่เหยแม่คันคำเดียวเท่านี้ ทำมาหวังเหวิด
แลใหม่ให้ดีตะ มันคืออัตลักษณ์ที่ไม่จำเป็นต้องไปปรับให้ผิดหลักผิดแบบเอื้อกับไอ้ไหร่ๆ นิ
ดีเสียเหลยจะได้พากันพยายามเข้าใจความเป็นเรา ความเป็นตัวตนของเรา
.
อย่าดูถูกผู้อ่านด้วยการเขียนคำว่า “หมรับ” ด้วยคำอ่านอีกเลย
เขียนไปเป็นคำเขียนนี้แหละ
จากมเหยงคณ์ อิอ่านเป็น มะ – เหยง กะช่างหัวมันแหละทีนี้หึ
บอกเพื่อนว่าเมืองนักปราชญ์
คันคำเดียวเท่านี้อ่านไม่โถกกะไม่ที่ทำพรือ
ฮาโรย !!!!
.
(โหมดภาษากลาง)
ควรเขียนว่า “หมรับ” แล้วอ่านว่า “หฺมฺรับ”
เหตุที่ควรเขียนโดยไม่มีพินทุนั้นก็เพราะว่าการใส่พินทุเป็นการแสดงคำอ่านไม่ใช่การเขียน โดยใส่พินทุข้างล่างพยัญชนะเพื่อใช้ระบุอักษรนำและอักษรควบกล้ำ เช่นคำว่า สุเหร่า (สุ – เหฺร่า) หรือ ปรากฏการณ์ (ปฺรา – กด – กาน) อย่างคำว่า หมรับ มีพยัญชนะ ๓ ตัว คือ ห นำ ม แล้วนำ ร อีกที จึงวางพินทุที่ ห และ ม เพื่อชี้ว่า ทั้ง ๒ ตัวนี้ทำหน้าที่เป็นอักษรนำ
.
(สีแก้ว)
ฮาเอาทองเอา ถูกเอาหมลักแม่เหยแม่
.
ความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการเขียนคำว่า “หมรับ” และวัฒนธรรมใหม่ที่มีจุดกำเนิดมาจากความแพร่หลายของความคลาดเคลื่อนนี้ ส่งผลให้ในยุคปัจจุบันสำรวจไม่พบคำอธิบายของการเขียนในลักษณะอื่นๆ เช่น หฺมฺรับ, หฺมรับ, หมฺรับ, หฺมฺรบ, หมฺรบ, หมฺรบฺ, หมรบฺ เป็นต้น
.
จากการค้นคว้าพบว่า คำว่า “หมรับ” นี้ ไม่มีปรากฏอยู่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอย่างที่มีเอกสารหลายฉบับได้อ้างถึงว่าเขียนไว้ว่า “หฺมฺรับ” แต่กลับปรากฏอยู่ในพจนานุกรมภาษาถิ่นภาคใต้ระบุการเขียนไว้ว่า “หมรับ” และคำอ่านแบบเทียบเป็นภาษาอังกฤษกำกับไว้ว่า “Mrap”
หากจะอธิบายถึงจุดด้านล่างตัวอักษร (เครื่องหมายพินทุ) นั้น สามารถอธิบายได้ว่า เครื่องหมายพินทุมีหลักการใช้ ๒ กรณี คือใช้เป็นเครื่องหมายระบุอักษรนำในการเขียนคำอ่าน เช่น คำว่า สุเหร่า (สุ – เหฺร่า) หรือ ปรากฏการณ์ (ปฺรา – กด – กาน) อีกกรณีคือการเขียนกำกับตัวสะกดในภาษาบาลี เช่นคำว่า สัมมาสัมพุทโธ (สมฺมาสมฺพุทฺโธ) ทั้งนี้หากเขียนคำว่า “หมรับ” เป็นคำอ่าน ก็จะเขียนได้ว่า “หฺมฺรับ” และเขียนเป็นภาษาบาลีจะได้ว่า หมรบฺ
.
จึงใคร่ขอทำความเข้าใจใหม่ในความถูกต้องที่มีมาแต่ก่อนเก่า เกี่ยวกับคำสำคัญอันมีที่มาจากประเพณีสำคัญซึ่งเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวของโลกของเรานี้ ตามหลักการเขียนที่ถูกต้องว่า “หมรับ” ไม่ใช่ตามหลักการอ่านด้วยพินทุหรือรูปแบบการเขียนในภาษาบาลีที่พบเห็นเป็นความคลาดเคลื่อนอยู่โดยทั่วไปในปัจจุบัน
.
ก็เหตุที่การเขียนต้องเขียนด้วยภาษาเขียนประการหนึ่ง แลหมรับคำนี้เป็นการรวบคำมาจากคำว่า “สำรับ” จึงเป็นบาลีไปเสียไม่ได้อีกหนึ่ง

เดือนสิบให้เห็นหน้า เดือนห้าให้เห็นตัว รวมเรื่องเดือนสิบเมืองนครศรีธรรมราช

เดือนสิบให้เห็นหน้า เดือนห้าให้เห็นตัว รวมเรื่องเดือนสิบ ฉบับเมืองนครศรีธรรมราช

นครศรีธรรมราชเป็นเมืองที่มีความผูกพันอยู่กับพระพุทธศาสนา  บทบาททางพระพุทธศาสนาแฝงอยู่ในวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับประเพณีและพิธีกรรม  ดังจะเห็นว่ามีประเพณีที่นับเนื่องในพระพุทธศาสนาถูกเคล้าเข้าด้วยคตินิยมและธรรมเนียมท้องถิ่นอย่างลงตัว เช่น ประเพณีบุญเดือนห้า ชักพระ (บางแห่งเรียกลากพระ) โดยเฉพาะประเพณีบุญสารทเดือนสิบซึ่งถือว่าโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์สำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช

ประเพณีเดือนสิบจังหวัดนครศรีธรรมราช หลักฐานเก่าสุดในเอกสารโบราณตำรา 12 เดือน คัดแต่สมุดขุนทิพมนเทียรชาววังไว้ เรียก “พิธีสารท” เป็นประเพณีที่สำคัญอยู่คู่กับเมืองนครศรีธรรมราชมาตั้งแต่เมื่อใดยังไม่มีข้อสรุป แต่ในปี พ.ศ. 2466 ได้มีการสนับสนุนคุณค่ายกระดับขึ้นเป็นเทศกาลและเป็นวิถีปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน มีการสืบทอดในเรื่องทัศนคติที่ตั้งอยู่บนพื้นฐาน ความเชื่อเรื่องกรรม สวรรค์ นรก และวิญญาณ ผู้ทำดีเมื่อถึงแก่กรรมย่อมสู่สุคติภูมิบนสวรรค์ ส่วนผู้ที่ทำความชั่ว เมื่อถึงแก่ความตายย่อมสู่แดนแห่งทุกข์ตกอยู่ในนรก รับผลกรรมที่ก่อ ต้องอาศัยผลบุญที่ลูกหลานทำให้แต่ละปีมายังชีพ

ประเพณีทำบุญเดือนสิบจะเริ่มตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งถือว่าเป็นวันที่พญายมปล่อยตัวผู้ล่วงลับที่เรียกว่า “เปรต” ให้ขึ้นมาจากนรก และจะเรียกตัวกลับไปในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10  ดังนั้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ชาวนครจะจัดภัตตาหารไปทำบุญที่วัดเพื่อเป็นการต้อนรับญาติที่ขึ้นมาจากนรกเรียกวันนี้ว่า “วันรับตายาย” หรือ “วันหมรับเล็ก” (หมรับ อ่านว่า หฺมฺรับ มาจากคำว่า สำรับ แปลว่า ของหรือคนที่รวมกันเข้าได้ไม่ผิดหมู่ผิดพวกเป็นชุดเป็นวง)และในวันแรม 15 ค่ำ เรียกว่านี้ว่า “วันส่งตายาย” หรือ  “วันหมรับใหญ่” ด้วยการจัดหมรับโดยการนำเครื่องอุปโภค บริโภค และขนมอันเป็นสัญลักษณ์ที่ขาดไม่ได้ 5 อย่าง คือ ขนมพอง ขนมลา ขนมกง (ขนมไข่ปลา) ขนมดีซำ และขนมบ้า

เมื่อจัดหมรับเรียบร้อยจึงยกหมรับไปวัด ฉลองหมรับและบังสุกุล ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไป หลังจากนั้นจะเป็นการตั้งเปรต แต่เดิมทำโดยเอาอาหารอีกส่วนหนึ่ง ที่ขาดไม่ได้คือขนม 5 อย่างข้างต้น ไปวางไว้ตามตรงทางเข้าวัด ริมกำแพงวัด หรือตามโคนต้นไม้

ภายหลังมีการสร้างร้านขึ้นสูงพอสมควรเรียกว่า “หลาเปรต” แล้วนำสายสิญจน์ที่พระสงฆ์จับเพื่อสวดบังสุกุลมาผูกไว้กับหลาเปรตเพื่อแผ่ส่วนกุศล เมื่อเสร็จพิธี ประธานสงฆ์ก็จะชักสายสิญจน์เป็นสัญญาณให้ลูกหลานเข้าไปเสสัง มังคะลาฯ บรรดาของที่ตั้งไว้นั้นกันตามธรรมเนียม และด้วยว่าเป็นประเพณีประจำปีที่มีคนหมู่มากรวมตัวกันร่วมพิธี

การเข้าไปขอคืนเศษภัตตาหารอันมงคลที่เหลือเหล่านั้นจึงติดไปข้างชุลมุนจนต้องแย่งต้องชิงกัน กิจนี้จึงมีคำเรียกว่า  “ชิงเปรต” ตามอาการที่เป็น เพราะล้วนมีความเชื่อว่าของที่เหลือจากการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ถ้าใครได้กินจะได้กุศลแรงเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว

ประเพณีบุญสารทเดือนสิบเป็นการทำบุญใหญ่ประจำปีที่เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดนครศรีธรรมราช  เมื่อถึงเทศกาลประเพณีบุญสารทเดือนสิบ ชาวนครศรีธรรมราชต่างกลับถิ่นฐานบ้านเกิดเพื่อร่วมพิธีกรรมอุทิศกุศลให้บรรพบุรุษ เป็นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว

ทั้งนี้ประเพณีบุญสารทเดือนสิบมีการจัดในหลายพื้นที่ของภาคใต้  ส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช นับว่ามีการจัดแบบประเพณีประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ เช่น ขบวนแห่หมรับที่งดงามจากหลายอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราชเข้าร่วมงานประเพณี มีการประกวดหมรับซึ่งคนในพื้นที่เขตอำเภอต่างๆ จะรวมตัวกันก่อตั้งเป็นกลุ่มร่วมกันจัดทำรถหมรับที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตวัฒนธรรมของกลุ่มตนเองโดยแบ่งเป็นหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มลุ่มน้ำตาปี  กลุ่มที่ราบเชิงเขา กลุ่มฝั่งทะเลตอนบน เป็นต้น

อีกสิ่งหนึ่งในขบวนแห่ที่เป็นเอกลักษณ์ก็คือ เปรต ในขบวนแห่หมรับมีการจัดทำหุ่นเปรต รวมไปถึงยมทูต ยมบาลที่อยู่ในนรก เพื่อแสดงให้ลูกหลานเกรงกลัว และไม่ประพฤติตนผิดศีลธรรมอันดีงามของพระพุทธศาสนา  ด้านศิลปวัฒนธรรมก็มีการประกวดประชันหลายกิจกรรม เช่น หนังตะลุง มโนห์รา เพลงร้องเรือ กลอนสด หลายกิจกรรมมีการอนุรักษ์สืบทอดมาตั้งแต่อดีต

ยุทธศาสตร์การพัฒนาขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช  ได้ให้ความสำคัญยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งงานประเพณีบุญสารทเดือนสิบก็เป็นอีกหนึ่งในนั้นที่ส่งเสริมด้านการศึกษา ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม จารีตประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราชได้จัดกิจกรรม   ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อสร้างและสื่อสารอัตลักษณ์ความเป็นนครศรีธรรมราชให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น  แต่ยังคงรักษาประเพณีดั้งเดิมไว้เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดมีดังต่อไปนี้ 

สถานที่จัดงาน

งานประเพณีบุญสารทเดือนสิบของจังหวัดนครศรีธรรมราช เริ่มต้นครั้งแรกใน ปีพ.ศ. 2466 โดยใช้สถานที่จัดงานบริเวณสนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช  และจัดติดต่อกันจนกระทั่งปี พ.ศ.2535  จึงได้ย้ายไปจัดบริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 (ทุ่งท่าลาด)  ในปี พ.ศ.2549 มีการจัดงานเป็นกรณีพิเศษเพื่อเป็นการฉลองเนื่องในมหามงคลฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของในหลวงรัชกาลที่ 9  ซึ่งทางจังหวัดได้กำหนดรูปแบบการจัดงานที่ยิ่งใหญ่ขึ้น

โดยกำหนดสถานที่จัดงาน 3 แห่งคือ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร  ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช  และสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 (ทุ่งท่าลาด)  และต่อมาได้มีการลดสถานที่ในการจัดลงเหลือเพียงแค่สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช และสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 (ทุ่งท่าลาด)  สำหรับปี พ.ศ. 2563 นี้  ทางจังหวัดได้กำหนดรูปแบบการจัดงานเป็นสถานที่เดียวกันคือ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 (ทุ่งท่าลาด) 

ระยะเวลาในการจัดงาน

งานประเพณีบุญสารทเดือนสิบในช่วงแรกๆ  มีการจัดเพียง 3 วัน 3 คืน  คือเริ่มตั้งแต่  วันแรม 13 ค่ำ เดือน 10  ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 จัดขึ้นเพียงเพื่อจำหน่ายสินค้าที่จำนำไปใช้ประกอบพิธีกรรมในประเพณีบุญสารทเดือนสิบ  แต่ในปัจจุบันได้เพิ่มระยะเวลาในการจัดงานขึ้นมาเป็น 10 วัน 10 คืน  และได้เพิ่มเติมในส่วนกิจกรรมต่างๆมากมาย  เพื่อแสดงถึงอัตลักษณ์ของความเป็นนครศรีธรรมราช  ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น สำหรับประจำปี พ.ศ. 2563 นี้  กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 11 – 20 กันยายน 2563 

กิจกรรมภายในงาน

นครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดที่มีศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นมากมาย องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราชต้องการอนุรักษ์และสืบทอดสิ่งเหล่านี้จึงได้จัดให้มีกิจกรรมต่างๆขึ้น ดังนี้

กิจกรรม วันที่จัดงาน เงินรางวัล หน่วยงานรับผิดชอบ
1. การประชันหนังตะลุงอาชีพชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รอบคัดเลือก

13–15 กันยายน 2563

รอบคัดเลือก

20 กันยายน 2563

อบจ.นศ. ร่วมกับ

วัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช

2. การประกวดเพลงร้องเรือชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ระดับเยาวชนรุ่นอายุ              ไม่เกิน 19 ปี

17 กันยายน 2563

ระดับอุดมศึกษาและประชาชนทั่วไป รุ่นอายุ 19 ปีขึ้นไป

18 กันยายน 2563

อบจ.นศ. ร่วมกับ

อาศรมวัฒนธรรมมหาวิทยาลัย                  วลัยลักษณ์

3. การประชันหนังตะลุงเยาวชน   อบจ.นศ.
4. การประกวดมโนห์ราเยาวชน   อบจ.นศ.
5.การประกวดกลอนสด   อบจ.นศ. ร่วมกับศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช
6. การประกวดหุ่นเปรต  และขบวนแห่หุ่นเปรต 15 กันยายน 2563 อบจ.นศ. ร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าว                 จ.นครศรีธรรมราช
7. ขบวนแห่หมรับ 16 กันยายน 2563

 

อัตลักษณ์ของงานประเพณีบุญสารทเดือนสิบ

4.1 ขบวนแห่หมรับ

ในอดีตคือการที่คนในหมู่บ้านร่วมกันแห่เพื่อนำหมรับไปกอบพิธีกรรมที่วัดคือ  ชาวบ้านจะช่วยกันตั้งขบวนการจัดจนไปถึงขั้นตอนการนำหมรับไปประกอบพิธีกรรม  แต่การแห่หมรับในปัจจุบันทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ร่วมจัดขบวนแห่หมรับขึ้นเพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงตัวตนรวมถึงอัตลักษณ์ของคนในจังหวัดนครศรีธรรมราช  ซึ่งสะท้อนผ่านขบวนแห่ในหลายๆ ด้าน เช่น

1) ศิลปวัฒนธรรม นครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดที่มีศิลปะและวัฒนธรรมมากมาย ทั้งหนังตะลุง มโนห์รา  รวมไปถึงประเพณีต่างๆของจังหวัด  เช่น ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุซึ่งเป็นประเพณีหนึ่งที่มีความสำคัญและเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด  ในขบวนแห่ก็มีการแสดงให้เห็นถึงประเพณีโดยมีการสร้าง พระบรมธาตุเจดีย์จำลองขึ้นมาร่วมกันแห่ในขบวนแห่หมรับ มีการเชิดหนังตะลุง  มโนห์รา เป็นต้น จากที่ยกตัวอย่างมาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราชต้องการสื่อให้เห็นว่าจังหวัดนครศรีธรรมราชยังคงอนุรักษ์และสืบทอดศิลปวัฒนธรรมเป็นอย่างดี

2) วิถีชีวิต  และความเป็นอยู่ ของคนในจังหวัดนครศรีธรรมราชได้สะท้อนให้เห็นว่านครศรีธรรมราชเป็นเมืองเกษตรกรรม  มีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์อยู่กับการทำเกษตร  ทั้งการประกอบอาชีพ  ทำนา ทำสวนยาง เป็นต้น  ทั้งที่ในปัจจุบันคนในจังหวัดนครศรีธรรมราชเองก็มีการปรับเปลี่ยนการประกอบอาชีพ ตามภาวะทางเศรษฐกิจ มีการเข้าไปทำงานในระบบอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น การทำการเกษตรก็ลดน้อยลง  แต่ก็ยังคงมีคนในหลายอำเภอที่ยังคงยึดการประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม  และผลผลิตทางการเกษตรที่ได้ ก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อของจังหวัด เช่น มังคุด คีรีวงที่มีการส่งออกไปยังต่างประเทศ  และส้มโอทับทิมสยาม เป็นต้น

3) การอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ร่วมมือกันเพื่อพัฒนาให้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดมากขึ้น  ทั้งนี้จังหวัดนครศรีธรรมราชได้มีการรวมกลุ่มเพื่อจัดทำผลิตภัณฑ์หรือสินค้าเพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย  ของใช้ และสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหารที่แสดงถึงศักยภาพ มีคุณค่า  และเอกลักษณ์  ยกตัวอย่างเช่น ผ้ายกเมืองนคร  หัตถกรรมกระจูด  ปลาดุกรา  จักสานย่านลิเภา  เป็นต้น สินค้าและผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้มีการนำมาร่วมในขบวนแหม่หมรับด้วย

4) ความร่วมมือร่วมใจของคนนครศรีธรรมราช  ที่ได้รับความร่วมมือจากหลาย ภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานต่างๆในจังหวัดนครศรีธรรมราช มีขบวนจากเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา โรงเรียน ห้างร้าน เทศบาลนครนครศรีธรรมราช  องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช  และคนในเขตพื้นที่อำเภอต่างๆ  ซึ่งจะรวมตัวกันก่อตั้งเป็นกลุ่มจะร่วมกันจัดทำรถหมรับ และสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของกลุ่มจนเองผ่านขบวนที่จัดทำขึ้น  โดยแบ่งเป็นหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มลุ่มน้ำตาปี  กลุ่มที่ราบเชิงเขา  กลุ่มฝั่งทะเลตอนบน เป็นต้น

4.2 เปรต 

ประเพณีบุญสารทเดือนสิบมีอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ก็คือ เปรต  มีการจัดทำหุ่นเปรต ในขบวนแห่ รวมถึงการประกวดหุ่นเปรตและขบวนแห่ เพื่อแสดงให้เกรงกลัว และไม่ประพฤติตนที่ไม่ดี ซึ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องการสอนให้ลูกหลานประพฤติตนตามหลักธรรมอันดีงามของพระพุทธศาสนา

เปรตมีการแบ่งเป็น 4 ประเภท 12 ตระกูล 21 ชนิด

ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนามีการกล่าวถึง “เปรต” อยู่หลายแห่ง อย่างในไตรภูมิพระร่วง   อันเป็นพระราชนิพนธ์ของพญาลิไท (พระธรรมราชาที่ 3) ที่สอนให้คนกลัวบาปและทำความดี ได้มีการกล่าวถึง  “เปรตภูมิ” ว่าเป็นหนึ่งในอบายภูมิ 4 ซึ่งคนชั่วตายแล้วต้องไปเกิดเพื่อชดใช้กรรม ภูมิทั้ง ๔ ได้แก่ นรกภูมิ ติรัจฉานภูมิ เปรตภูมิ และอสุรกายภูมิ โดยเปรตภูมิ นั้น เป็นดินแดนของผู้ที่ต้องรับกรรมด้วยความทุกข์ทรมานจากความหิวโหยอดอยากบ้าง จากความร้อนหนาวอย่างที่สุดบ้าง จากความเจ็บปวดอย่างที่สุดบ้าง และเปรตมีอยู่หลายจำพวกอาศัยอยู่ตามที่ต่างๆ ทั้งบนเขา ในน้ำ ในป่า ตามต้นไม้ใหญ่ บางพวกข้างแรมเป็นเปรต ข้างขึ้นเป็นเทวดา บางพวกเป็นเปรตไฮโซ ได้อยู่ปราสาทแก้ว มีกำแพงแก้ว คูแก้วที่สวยงามล้อมรอบ บางพวก ก็มีข้าทาสบริวาร มียวดยานพาหนะขี่ท่องเที่ยวไปในอากาศได้ และมีบางพวกที่มีลักษณะน่าเกลียดน่ากลัว  น่าเวทนา ต้องทรมานเพราะอดข้าวอดน้ำ ต้องกินสิ่งสกปรกโสโครก กินเนื้อหนังของตนเอง ซึ่งความแตกต่างนี้ก็ขึ้นกับความหนักเบาของกรรมชั่วที่ก่อนั่นเอง ดังตัวอย่างเช่น เปรตบางตนตัวงามดั่งทอง แต่ปากเหม็นมาก มีหนอนเต็มปาก เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะเคยรักษาศีลมาก่อนตัวจึงงาม แต่เพราะได้ติเตียนยุยงพระสงฆ์ให้แตกแยก ปากจึงเหม็นมีหนอนเจาะไช เปรตบางตนเคยเป็นนายเมืองตัดสินความโดยรับสินบน กลับผิดเป็นถูก ไม่มีความยุติธรรม เมื่อตายไป จะเป็นเปรตที่มีวิมานเหมือนเทวดา มีเครื่องประดับแก้วแหวนเงินทองมีนางฟ้าเป็นบริวาร แต่จะได้รับความลำบากคือไม่มีอาหารจะกิน ต้องเอาเล็บขูดเนื้อหนังตัวเองมากิน เปรตบางพวกกระหายน้ำ แต่ดื่มไม่ได้ เพราะน้ำจะกลายเป็นไฟเผาตน พวกนี้ตอนมีชีวิตอยู่ชอบรังแกคนที่อ่อนแอลำบากกว่าเอาของเขามาเป็นของตน และชอบใส่ร้ายคนอื่น

ส่วนในพระไตรปิฎกก็มีการกล่าวถึงพระสาวกว่าได้พบเห็นและมีโอกาสสนทนากับเปรตโดยเปรตแต่ละตนก็จะเล่าว่าตนได้ทำกรรมอะไรบ้างสมัยเป็นมนุษย์ ครั้นตายลงจึงต้องมาเสวยผลกรรมดังที่เห็น

สำหรับเปรตที่มีการแบ่งเป็นหลายพวกหลายประเภทและมีชื่อเรียกต่างๆ ส่วนใหญ่ จะอยู่ในอรรถกถา ซึ่งเป็นคำภีร์ที่รวบรวมคำอธิบายความในพระไตรปิฎกในภาษาบาลี เรียกว่า คัมภีร์อรรถกถา บ้าง ปกรณ์อรรถกถาบ้าง แต่ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้าโดยตรง เพียงแต่เป็นการอธิบายความหรือคำยากเพื่อให้เข้าใจง่ายและชัดเจนยิ่งขึ้น

หนึ่งในอรรถกถาได้พูดถึง เปตวัตถุ (วัตถุที่นี้ แปลว่า เรื่อง เปตวัตถุ = เรื่องของเปรต) ว่าแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่

1. ปรทัตตูปชีวิกเปรต (ปอ-ระ-ทัด-ตู-ปะ-ชี-วิก-กะ-เปด) คือ เปรตที่มีชีวิตอยู่ด้วยการรับอาหารที่ผู้อื่นให้ โดยการเซ่นไหว้ เป็นต้น และเป็นเปรตประเภทเดียวเท่านั้นที่สามารถรับส่วนบุญส่วนกุศล ที่มนุษย์อุทิศให้

2. ขุปปีปาสิกเปรต (ขุบ-ปี-ปา-สิก-กะ-เปด) คือ เปรตที่อดอยาก จะหิวข้าวหิวน้ำอยู่ตลอดเวลา

3. นิชฌามตัณหิกเปรต (นิ-ชา-มะ-ตัน-หิ-กะ-เปด) คือ เปรตที่ถูกไฟเผาไหม้ให้เร่าร้อนอยู่เสมอ

กาลกัญจิกเปรต (กา-ละ-กัน-จิ-กะ-เปด) คือ เปรตจำพวกอสุรกาย มีร่างกายใหญ่โต    แต่กลับไม่มีเรี่ยวแรง มีปากเล็กเท่ารูเข็มอยู่บนกลางศีรษะ ตาโปนเหมือนตาปู

นอกจากแบ่งตามข้างต้นแล้ว ในคัมภีร์โลกบัญญัติปกรณ์ (คัมภีร์ที่อธิบายถึงการเกิดของมนุษย์และภพภูมิต่างๆ) รวมถึง ฉคติทีปนีปกรณ์ (คัมภีร์ว่าด้วยความรู้แจ้งแห่งภพทั้ง 6) ได้แบ่งเปรตออกเป็น 12 ตระกูลและได้พูดถึงกรรมที่ทำให้ไปเป็นเปรตแต่ละตระกูล ดังนี้

1. วันตาสาเปรต เป็นเปรตที่กินน้ำลาย เสมหะและอาเจียนเป็นอาหาร กรรมคือ ชาติก่อนเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว เห็นใครมาขออาหารก็ถ่มน้ำลายใส่ด้วยความรังเกียจ หรือเข้าไปในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แล้วไม่เคารพสถานที่ ถ่มน้ำลายเสลดในสถานที่เหล่านั้น

2. กุณปาสทาเปรต เป็นเปรตที่กินซากศพคนหรือสัตว์เป็นอาหาร กรรมคือ เคยเป็นคนตระหนี่ ใครมาขอบริจาคทาน ก็แกล้งให้ของที่ไม่ควรให้ ด้วยต้องการแกล้งประชด ไม่เคารพในทานที่ทำ

3. คูถขาทกเปรต เป็นเปรตที่กินอุจจาระเป็นอาหาร กรรมคือ ตระหนี่จัด เมื่อญาติตกทุกข์ได้ยากหรือมีใครมาขอความช่วยเหลือขอข้าว ขอน้ำ จะเกิดอาการขุ่นเคืองทันที แล้วชี้ให้คนที่มาขอไปกินมูลสัตว์แทน

4. อัคคิชาลมุขเปรต เป็นเปรตที่มีเปลวไฟลุกในปากตลอดเวลา กรรมคือ ตระหนี่เหนียวแน่น ใครมาขอ อะไร ครั้นจะไม่ให้ก็กลัวเขาดูแคลน จึงแกล้งให้สิ่งของร้อนๆ เพื่อหวังกลั่นแกล้งให้ผู้รับเข็ดหลาบและเลิกมาขอ

5. สุจิมุขเปรต เป็นเปรตที่มีเท้าใหญ่โต คอยาวมาก แต่ปากเท่ารูเข็ม จะกินแต่ละทีต้องทุกข์ทรมานมาก กรรมคือ ใครมาขออาหารก็ไม่อยากให้ และไม่มีศรัทธาจะถวายทานแก่สมณพราหมณ์หรือผู้ทรงศีล หวงทรัพย์

6. ตัณหัฏฏิตเปรต เป็นเปรตที่หิวข้าวหิวน้ำอยู่ตลอดเวลา แม้จะมองเห็นแหล่งน้ำแล้ว พอไปถึงก็กลับกลายเป็นสิ่งอื่นดื่มกินไม่ได้ กรรมคือ เป็นคนหวงข้าวหวงน้ำ เที่ยวปิดสระ ปิดบ่อหม้อข้าว ไม่ให้คนอื่นกิน

7. นิชฌามกเปรต เป็นเปรตที่มีตัวดำเหมือนตอไม้ที่ถูกเผา ตัวสูงชะลูด มือเท้าเป็นง่อย ปากเหม็น กรรมคือ เป็นคนใจหยาบ เห็นสมณพราหมณ์ผู้มีศีลจะโกรธเคือง มีอกุศลจิตคิดว่าท่านเหล่านั้นจะมาขอของๆ ตน จึงแสดงกิริยาหยาบคายและขับไล่ท่านเหล่านั้นให้ได้รับความอับอาย หรือเห็นพ่อแม่แก่เฒ่าเกิดโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ก็แกล้งให้ท่านตายไว ตัวจะได้ครองสมบัติของท่าน

8. สัพพังคเปรต เป็นเปรตที่มีเล็บมือเล็บเท้าคมเหมือนมีดและงอเหมือนตะขอ ได้แต่ก้มหน้าก้มตาข่วนร่างกายเป็นแผลและกินเลือดเนื้อตัวเองเป็นอาหาร กรรมคือ ชอบขูดรีดหรือเอาเปรียบชาวบ้าน หรือชอบรังแกหยิกข่วนพ่อแม่

9. ปัพพตังคเปรต เป็นเปรตที่มีร่างกายใหญ่โตเหมือนภูเขา แต่ต้องถูกไฟเผาคลอกอยู่ตลอดเวลา กรรมคือ เมื่อเป็นมนุษย์ได้เอาไฟไปเผาบ้านเผาเรือนผู้อื่น

10. อชครเปรต เป็นเปรตที่มีรูปร่างคล้ายสัตว์เดียรัจฉาน และจะถูกเผาไหม้ทั้งวันทั้งคืน กรรมคือ ตอนเป็นมนุษย์เป็นคนตระหนี่ เห็นผู้มีศีลมาเยือนก็มักด่าเปรียบเปรยว่าท่านเป็นสัตว์ เพราะไม่อยากทำทาน

11. มหิทธิกเปรต เป็นเปรตที่มีฤทธิ์มากและรูปงามเหมือนเทวดา แต่อดอยากหิวโหยตลอดเวลา เมื่อเจอของสกปรกก็จะดูดกินเป็นอาหาร กรรมคือ ตอนเป็นมนุษย์เคยบวชเรียน และพยายามรักษาศีล จึงมีรูปงาม แต่เกียจคร้านต่อการบำเพ็ญธรรม จิตใจจึงยังเต็มไปด้วยความโลภ โกรธ หลง

12. เวมานิกเปรต เป็นเปรตที่มีวิมานคล้ายเทวดา แต่จะเสวยสุขได้เฉพาะกลางวัน พอกลางคือก็จะเสวยทุกข์ กรรมคือ เมื่อเป็นมนุษย์มีศรัทธาทำบุญกุศลไว้มาก แต่ไม่รักษาศีลให้บริสุทธิ์

นอกเหนือจากเปรตข้างต้นแล้ว ในพระวินัยและลักขณสังยุตต์พระบาลี ยังได้พูดถึงเปรตอีก   21 จำพวก ได้แก่

1. อัฏฐีสังขสิกเปรต เปรตที่มีกระดูกติดกันเป็นท่อนๆ แต่ไม่มีเนื้อ

2. มังสเปสิกเปรต เปรตที่มีเนื้อเป็นชิ้นๆ แต่ไม่มีกระดูก

3. มังสปิณฑเปรต เปรตที่มีเนื้อเป็นก้อนๆ

4. นิจฉวิเปรต เปรตที่ไม่มีหนังหุ้ม

5. อสิโลมเปรต เปรตที่มีขนเป็นพระขรรค์

6. สัตติโลมเปรต เปรตที่มีขนเป็นหอก

7. อุสุโลมเปรต เปรตที่มีขนเป็นลูกธนู

8. สูจิโลมเปรต เปรตที่มีขนเป็นเข็ม

9. ทุติยสูจิโลมเปรต เปรตที่มีขนเป็นเข็มอีกแบบ

10. กุมภัณฑเปรต เปรตที่มีอัณฑะใหญ่โตมาก

11. คูถกูปนิมุคคเปรต เปรตที่จมอยู่ในอุจจาระ

12. คูถขาทกเปรต เปรตที่กินอุจจาระ

13. นิจฉวิตกิเปรต เปรตหญิงที่ไม่มีหนัง

14. ทุคคันธเปรต เปรตที่มีกลิ่นเหม็นเน่า

15. โอคิลินีเปรต เปรตที่มีร่างกายเป็นถ่านไฟ

16. อลิสเปรต เปรตที่ไม่มีศีรษะ

17. ภิกขุเปรต เปรตที่มีรูปร่างเหมือนพระ

18. ภิกขุนีเปรตเปรต เปรตที่มีรูปร่างเหมือนภิกษุณี

19. สิกขมานเปรต เปรตที่มีรูปร่างเหมือนสิกขมานา (สามเณรีที่ได้รับการอบรมเป็น

เวลา 2 ปี เพื่อบวชเป็นภิกษุณี)

20. สามเณรเปรต เปรตที่มีรูปร่างเหมือนสามเณร

21. สามเณรีเปรต เปรตที่มีรูปร่างเหมือนสามเณรี

จะเห็นว่า เปรตในพระคัมภีร์แต่ละฉบับนั้นใช้หลักเกณฑ์ในการแบ่งประเภทแตกต่างกันออกไป กล่าวคือ ใน พระคัมภีร์อรรถกถาแบ่งตามฐานะ พระคัมภีร์โลกบัญญัติปกรณ์แบ่งตามกรรม และพระวินัยลักขณะสังยุตต์พระบาลีแบ่งตามลักษณะ

 กิจกรรมและประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับเปรตของนครศรีธรรมราชที่มีและใช้กันในปัจจุบันมีหลายลักษณะ  เช่น

ด้านสำนวนภาษา  มีสำนวนที่เกี่ยวกับเปรตอยู่มาก  โดยนำมาเปรียบเทียบให้เป็นรูปธรรมขึ้น  และมักจะเป็นความหมายในแง่ไม่ดี  เช่น

สูงเหมือนเปรต               :   สูงผอมชะลูดเกินไปจนผิดส่วน

ผอมเหมือนเปรต             :   ผอมมากจนผิดปกติ

กินเหมือนเปรต              :   กินตะกละอย่างตายอดตายอยากมานาน

เสียงเหมือนเปรต            :   เสียงแหลม เล็ก สูง เกินคนธรรมดา

ขี้คร้านเหมือนเปรต         :   ไม่ค่อยทำอะไร  คอยแต่จะพึ่งผู้อื่น  (คอยรับส่วนบุญ)

อยู่เหมือนเปรต               :   รูปไม่งาม  (โหมระ)  จนผิดปกติ

การทำอาหาร  ขนมเดือน 10  จะเห็นได้ว่าชาวนครศรีธรรมราชมีภูมิปัญญาในการถนอมอาหารเป็นอย่างดี  ขนมที่นำไปในพิธีรับส่งเปรตจะเป็นประเภทเก็บไว้ได้นาน  โดยไม่ต้องมีตู้เย็น  เช่น ขนมพอง ขนมลา ขนมบ้า ขนมซำ  และขนมไข่ปลา  ล้วนเป็นประเภทไม่เสียง่าย สามารถเก็บไว้ได้นานพอสมควร

สะท้อนให้เห็นวิธีการอบรมความประพฤติและพฤติกรรมของคนในสังคมให้ประพฤติและปฏิบัติในทางที่ถูกที่ควร  ไม่ทำชั่ว  โดยอาศัยความเชื่อเรื่อง  กรรม  บาปบุญคุณโทษ  ควบคุมกาย วาจา และใจ  ให้ปฏิบัติและสิ่งที่ดี  ละชั่ว  โดยใช้เปรตเป็นสัญลักษณ์ของการลงโทษผู้กระทำผิด ขู่ให้เกรงกลัวไม่อยากเป็นและอยู่ในภาวะของเปรตทำให้สังคมสงบสุขได้ ความคิดความเชื่อเรื่องเปรต  จึงมีประโยชน์ต่อคนในจังหวัดนครศรีธรรมราชพอสมควร 

 4.3 ขนมที่ใช้ในประเพณีบุญสารทเดือนสิบ

ขนมเดือนสิบที่สำคัญและขาดไม่ได้เลย มี 5 ชนิด  คือ  ขนมพอง  ขนมลา  ขนมบ้า  ขนมดีซำ  และขนมไข่ปลา  ขนมทั้ง 5 ชนิดนี้นำไปเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการจัดหมรับ  ซึ่งขนมทุกชนิดมีความหมายในการที่จะให้บรรพบุรุษนำไปใช้เป็นสิ่งของแทนสิ่งต่างๆ ในนรกภูมิ มีการใช้เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงเครื่องใช้ที่แตกต่างกันดังนี้

ขนม ความหมายที่ใช้สื่อโดยรวม ความหมายอื่นๆ
ขนมลา แพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม  – ห้วงมหรรณพ

– อาหารของเปรตปากเท่ารูเข็มเนื่องจากขนมลามีเส้นเล็ก เชื่อว่าเปรตปากเท่ารูเข็มจะสามารถกินได้

ขนมพอง แพ  สำหรับล่องข้ามห้วงมหรรณพ  หมายถึงการนำไปสู่การเข้านิพพาน  – เรือ

– เครื่องประดับ

– ยานพาหนะ

ขนมบ้า สะบ้า เหรียญเงิน
ขนมกง

หรือขนมไข่ปลา

เครื่องประดับ
ขนมดีซำ

ขนมเบซำ

ขนมเจาะรู

ขนมเจาะหู

–   เงินเบี้ย

–  เงิน

ต่างหู

นอกจากขนมเดือนสิบ  5 อย่างที่ระบุข้างต้นแล้ว  ยังมีขนมอื่นๆ  ที่ใช้อีกเช่นกันคือ

ขนม ความหมายที่ใช้สื่อโดยรวม
ขนมเทียน หมอนหนุน
ขนมต้ม เสบียงในการเดินทาง
ขนมรังมด
ขนมก้านบัว
ขนมฉาวหาย
ขนมขาไก่
ขนมจูจน

ขนมจูจุน

ขนมจู้จุน

ประเพณีบุญสารทเดือนสิบเป็นประเพณีที่สำคัญยังคงปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันมีเอกลักษณ์ความเป็นตัวตนของนครศรีธรรมราช ทั้งคนในจังหวัดนครศรีธรรมราช  และบุคคลภายนอกต่างหลั่งไหลเข้ามาร่วมงานเป็นจำนวนมาก  เนื่องจากมีกิจกรรมมากมายทั้งในส่วนที่เป็นจารีตดั้งเดิมและเทศกาลเพื่อสนับสนุนประเพณี จนเมื่อกล่าวถึงงานบุญสารทเดือนสิบแล้ว ใครๆ ก็ต่างต้องนึกถึงเมืองนครศรีธรรมราช

_____

ขอบพระคุณข้อมูลจาก สารนครศรีธรรมราช ฉบับเดือนสิบ’๖๓