คุณ นรานันทน์ จันทร์แก้ว  ฅนต้นแบบเมืองนคร สร้างเรื่องราว บอกเรื่องเล่าตำนานผ่านเนื้อเพลง

การร้องเพลงเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่สื่อสารผ่านน้ำเสียง ถ่ายทอดเนื้อร้องควบคู่กับท่วงทำนอง ทำให้เกิดความเพลิดเพลินแก่ผู้ฟัง เนื้อร้องมักถูกกลั่นกรองมาจากประสบการณ์และความรู้สึกของผู้แต่ง แต่ละบทเพลงมีความหมายที่ต่างกันออกไป เช่นเดียวกับฅนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ที่สร้างสรรค์บทเพลงอันไพเราะ จนได้รับความนิยมและมีชื่อเสียงในวงการเพลงไทย นักประพันธ์เพลงที่สามารถสร้างเรื่องราว บอกเล่าตำนานท้องถิ่น ผ่านเนื้อเพลงที่สื่อถึงนครศรีธรรมราช คุณ นรานันทน์ จันทร์แก้ว

พรสวรรค์และความชื่นชอบในวัยเด็ก สู่จุดเริ่มต้นของนักประพันธ์เพลง

คุณนรานันทน์ หรือครูบอย มีความชื่นชอบและรักในเสียงเพลงตั้งแต่วัยเด็ก โดยเฉพาะเพลงลูกทุ่ง ครั้งแรกที่ได้ฟังเพลง “นัดพบหน้าอำเภอ” ที่ขับร้องโดยอดีตราชินีเพลงลูกทุ่ง คุณพุ่มพวง ดวงจันทร์ สร้างความประทับใจให้คุณนรานันทน์เป็นอย่างมาก และเป็นเพลงเดียวที่คุณนรานันทน์ร้องได้ในตอนนั้น เมื่อโอกาสในการแสดงความสามารถได้มาถึง ขณะที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ทางโรงเรียนได้จัดการประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง แม้ไม่ได้รับรางวัล แต่เป็นการตอกย้ำความชื่นชอบในเสียงเพลง จนไปเจอกับเทปเทปคาสเซ็ทที่อยู่ในบ้าน เมื่อได้ลองเปิดฟังก็ชอบในเสียงร้องของศิลปินผู้นั้น โดยที่ตอนนั้นคุณนรานันทน์ไม่ทราบว่าคือ คุณเอกชัย ศรีวิชัย (นักร้องลูกทุ่งชาวใต้ชื่อดัง) จากนั้นได้ติดตามผลงานเรื่อยมา จนกลายมาเป็นศิลปินในดวงใจ

เนื้อเพลงแรกที่เขียนเริ่มต้นจากได้รับโจทย์จากอาจารย์ในวิชาดนตรี ในขณะที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้ทำนองจากเพลง “รักเก่าที่บ้านเกิด” มาใส่เนื้อร้องที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสภาพสังคมในยุคสมัยนั้น (ตรงกับช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปีพ.ศ. 2540)

จากจุดเริ่มต้นในครั้งนั้นคุณนรานันทน์ได้เขียนเพลงสะสมมาเรื่อยๆ บ่อยครั้งที่ได้รับมอบหมายจากอาจารย์ให้แต่งเพลงในกิจกรรมต่างๆ ที่ทางโรงเรียนจัดขึ้น เมื่อจบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย

คุณนรานันทน์ได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต ไม่ว่าจะเดินทางไปไหนมักจะพกสมุดเขียนเพลงติดตัวอยู่เสมอ ขณะที่ศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 1 ทางมหาวิทยาลัยได้เชิญอาจารย์สลา คุณวุฒิ (ศิลปินและนักประพันธ์เพลงแนวลูกทุ่งอีสาน) มาเป็นวิทยากร เมื่อคุณนรานันทน์มีโอกาสนำเสนอบทเพลงที่เขียนให้อาจารย์สลาได้ฟัง จึงเกิดแรงบันดาลใจในการเขียนเพลงมากขึ้น จากการเก็บเกี่ยวความรู้จากการอ่านหนังสือ พร้อมกับฝึกเขียนเพลงมาเรื่อยๆ

จนวันหนึ่งคุณนรานันทน์ได้รับการติดต่อจากค่ายเพลงชื่อดัง (จากการแนะนำของอาจารย์สลา) แม้ว่าบทเพลงที่เขียนยังไม่ได้นำเสนอสู่สาธารณชน แต่ก็ไม่ทำให้คุณนรานันทน์รู้สึกท้อ แม้จะเป็นเพียงนักแต่งเพลงมือสมัครเล่น แต่ก็หวังว่าสักวันจะมีโอกาสแต่งเพลงให้กับศิลปินชื่อดัง

สร้างเรื่องราว บอกเรื่องเล่าตำนานผ่านเนื้อเพลง และโอกาสที่ได้แต่งเพลงให้ศิลปินในดวงใจ

คุณนรานันทน์ มีแนวคิดว่า หากนำเรื่องราวต่างๆ ในนครศรีธรรมราชมาบอกเล่าผ่านบทเพลง ผู้ฟังน่าจะเข้าใจเรื่องราวต่างๆ เช่น ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิต ได้ง่ายขึ้น บทเพลงก็เหมือนกับการเขียนเรื่องสั้นที่สรุปสาระสำคัญให้สามารถเข้าใจได้ง่าย มีหลายบทเพลงที่คุณนรานันทน์แต่งเกี่ยวกับนครศรีธรรมราช หยิบเรื่องราวที่น่าสนใจของนครศรีธรรมราชมาใช้เป็นวัตถุดิบในการแต่งเพลง อย่าง “เพลงเทพบุตรพญานคร”ที่แต่งขึ้นเพื่อใช้ในเวทีการประกวดเทพบุตรพญานคร ช่วงงานประเพณีสารทเดือนสิบ ต้องนำเสนอเรื่องราวของนครศรีธรรมราชให้เหมาะสมกับงานโชว์ และที่สำคัญคือ ต้องเป็นแนวเพลงที่เข้ากับคุณเอกชัย ศรีวิชัย ซึ่งเป็นศิลปินผู้ขับร้องเพลงนี้ ถือเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยากสำหรับคุณนรานันทน์

“เพลงนุ้ยเคยไลน์” บทเพลงที่หยิบเอาความแตกต่างทางภาษามาขยายความ เป็นเพลงที่โด่งดังมากในภาคใต้ เปิดกันแทบทุกงานประเพณีของทางใต้ จุดเริ่มต้นจากการที่คุณนรานันทน์ได้ยินบทสนทนาทางโทรศัพท์ของบุคคลที่นั่งอยู่ข้างๆ กับคำถามจากปลายสายว่า “เคยไลน์หม้าย?” กลายเป็นไอเดียที่คุณนรานันทน์อยากนำมาเขียนเพลง โดยนำเอาทำนองเพลงมอญท่าอิฐมาเป็นท่อนสร้อย (ท่อนที่จะร้องซ้ำ) บวกกับแรงบันดาลใจจากเนื้อเพลงบางส่วนของ “เพลงฉันทนาที่รัก” จนได้เพลงนุ้ยเคยไลน์ที่มีท่วงทำนองสนุกสนาน คนใต้ฟังแล้วจะหรอย ขับร้องโดยศิลปิน นุ้ย สุวีณา อาร์สยาม ซึ่งเพลงนี้มียอดวิวใน Youtube แตะหลักล้าน ตอกย้ำความนิยมในตัวศิลปิน และเป็นอีกผลงานที่สร้างชื่อให้คุณนรานันทน์

อยากเป็นนักแต่งเพลง เริ่มต้นอย่างไร

อยากเป็นนักแต่งเพลง ไม่ใช่แค่ชอบเขียนเรื่องราวต่างๆ และรักในเสียงเพลงเท่านั้น ต้องฟังเพลงให้เยอะ ฝึกเขียนบ่อยๆ นำทั้งสองอย่างมาเชื่อมโยงกัน และศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการแต่งเพลงเพิ่มเติม คุณนรานันทน์ ให้ความเห็นว่า ศิลปะไม่มีผิดหรือถูก ไม่มีขอบเขต เป็นเรื่องของรสนิยมส่วนบุคคล การเขียนเพลงต้องรู้ว่า เขียนให้ใคร เขียนเพื่ออะไร เขียนเพลงแนวไหน เช่น เขียนเพลงให้นักร้องคนหนึ่ง ต้องรู้ว่านักร้องคนนั้นมีแนวเสียงเป็นอย่างไร ควรใช้คำหรือเล่าเรื่องอะไรให้ตรงกับคาแร็กเตอร์  แต่ละแนวเพลงไม่มีรูปแบบตายตัว สามารถนำมาดัดแปลงผสมผสานกันได้ ทุกครั้งที่จรดปากกาเขียนเพลง คุณนรานันทน์จะบันทึกช่วงเวลาไว้ทั้งหมด สำหรับบทเพลงลูกทุ่ง ฉันทลักษณ์คือสิ่งสำคัญมาก รูปแบบในการแต่งเพลง สามารถแบ่งได้ 3 แบบ คือ เริ่มจากการเขียนกลอนแปด ค่อยใส่ทำนองทีหลัง สร้างทำนองขึ้นมาก่อน แล้วใส่เนื้อร้องทีหลัง แต่งเนื้อร้องและทำนองไปพร้อมกัน เป็นวิธีที่นิยมกันมากที่สุด

ดนตรีเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน แม้ผู้ฟังสื่อสารด้วยภาษาที่ต่างกัน แต่ก็ไม่ใช่อุปสรรคในการเข้าถึงบทเพลงนั้น การสร้างสรรค์งานดนตรีจึงไม่เคยหยุดนิ่ง ทำนองอันไพเราะไม่เพียงแต่สร้างความผ่อนคลาย ความสนุกสนาน หรือก่อให้เกิดความสุขเท่านั้น แม้แต่ท่วงทำนองแห่งความเงียบ ก็มีบางอย่างที่ถูกถ่ายทอดออกมา ขึ้นอยู่กับผู้ฟังว่าสามารถเข้าใจและเข้าถึงได้หรือไม่…นั่นเอง

ดูคลิปสัมภาษณ์

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ

นายดั่น: ชายตาบอดยอดปัญญา วรรณกรรมท้องถิ่นเมืองนครศรีธรรมราช

นายดั่น: ชายตาบอดยอดปัญญา

วรรณกรรมท้องถิ่น เมืองนครศรีธรรมราช

นายดั่น

เรื่องนายดั่น เป็นวรรณกรรมร้อยกรองที่แต่งโดยขุนสิทธิ์ ขุนนางเวรเฝ้าศาลาว่าราชการเมืองนครศรีธรรมราช สันนิษฐานว่าอาจร่วมสมัยกับนายเรือง นาใน กวีคนสำคัญยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นชาวนครศรีธรรมราชทั้งคู่
.
ต้นฉบับที่แพร่หลายจัดพิมพ์โดยศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช เมื่อปี ๒๕๒๑ คัดจากหนังสืองานทำบุญฉลองอายุครบ ๖ รอบของนายเชวง ไชยานุพงศ์ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๐ พบที่วัดท่าเสริม อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช
.
เรื่องย่อมีอยู่ว่า นายดั่น ชายพิการสายตาแต่กำเนิด อาศัยอยู่บ้านปราจินกับบิดามารดาผู้มีทรัพย์มาก ว่ากันว่าเพราะกรรมเก่าที่เมื่อชาติปางก่อนเกิดเป็นเศรษฐี แต่เพิกเฉยต่อการทำบุญสุนทาน ถึงขนาดพระสงฆ์เดินบิณฑบาตผ่านต่อหน้าก็ไม่รู้ร้อน
.
นายดั่นเป็นผู้มีปัญญามาก ฉลาดเชาว์ไวไหวพริบดีกว่าใครทั้งหมดในกลุ่มเพื่อน จะเพลงเสภาหรือบทโนรา นายดั่นเป็นจำได้ท่องได้หมด ไม่เว้นแม้แต่ดนตรีปี่กลอง ก็เชี่ยวชาญจนใครๆ ในย่านนับเอาว่าเป็น “นักเลง”
.
เมื่อวัยได้ ๓๐ ขวบปี ก็นึกอยากจะมีเมียไว้อยู่กินและปรนนิบัติตัว พ่อแม่แม้เมื่อแรกนั้นทัดทานด้วยเห็นว่าคนตาดีที่ไหนจะอยากได้คนตาบอดทำผัว แต่เมื่อถูกรบเร้าบ่อยเข้าก็ใจอ่อน ทราบความจากนายดั่นว่าไปหมายใจเอาไว้นางหนึ่ง คือลูกยายทองสา เป็นสาวกำพร้าพ่อ ชื่อนางไร
.
ยายอีทำหน้าที่เป็นเฒ่าแก่ไปเจรจา ก็สำเร็จตามประสงค์ ด้วยว่าฝ่ายเจ้าสาวไม่รู้ความว่านายดั่นนั้นตาบอด
.
การสู่ขอ พิธีหมั้น และแต่งงาน ถูกรวบรัดให้กำหนดไว้ในวันเดียวกัน นายดั่น ครั้นจะว่าไปแล้วหากมองภายนอกก็เหมือนคนตาดีทั่วไป เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างเรียบร้อยไร้พิรุธก็จึงต้องทำทีเป็นคนปกติเสียอย่างขัดไม่ได้
.
แม้จะฉลาดเพียงใด แต่สถานที่อันไม่เคยไปก็ทำให้นายดั่นประหวั่นพรั่นพรึงเอาการ แล้วปฏิภาณของเขาก็เริ่มถูกกระตุ้นให้ใช้ขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า เช่นว่า บ้านแม่ยายยกใต้ถุนสูง ในระหว่างที่คนอื่นๆ ขึ้นเรือน นายดั่นกลับมุ่งไปใต้ถุน เมื่อมีผู้ร้องทัก ก็บอกปัดไปว่าคนบนเรือนนั่งอยู่มาก กระดานเรือนจะหักลง เมื่อขึ้นได้บนเรือนก็ลงนั่งที่นอกชาน แก้ว่าเหยียบขี้ไก่ไม่กล้าเข้า เป็นต้น
.
นางไร ไม่เกิดเฉลียวใจสิ่งใดแก่นายดั่นแม้แต่น้อย ด้วยว่านายดั่นได้ขอให้อ้ายเหล็กหลานชายอยู่กับตัวคอยดูแล อ้ายเหล็กนำทางไปสำรวจนอกในจนทั่วบริเวณและถูกกำชับให้อยู่ติดตัวนายดั่นไว้ตลอดเว้นแต่ตอนนอน
.
ในระหว่างอยู่กินกันปีหนึ่ง เกิดเรื่องให้เสียวหลังวูบวาบหลายคราว แต่ก็เอาตัวรอดไปได้ทุกครั้งทั้งเล็กใหญ่
.
อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อถึงทีจะกินหมากแต่คลำหาปูนไม่เจอ นางเมียนั่งทอหูกอยู่ใต้ถุน อ้ายเหล็กไม่อยู่ใกล้มือ ร้องถามก็ได้ความว่าอยู่ปลายตีน ครั้นควานแล้วควานอีกยังไม่พบ ก็บริภาษเสียงดังไปนานา คำสำคัญแทงใจดำคือ “ถ้าใครมาหาพบ ตบสักทีกูมิว่า ให้ยีที่หนวยตา ให้ฟ้าผ่าไม่น้อยใจ”
.
นางไรด้วยความโมโห เมื่อขึ้นถึงเรือน เห็นปูนห่อใบไม้วางอยู่ก็ควักเอาไปขยี้ที่ดวงตาตามคำท้าทันที ข้างนายดั่นได้ช่อง จึงร้องโอดโอยร่ำไห้ปริเทวนาการไปสารพัน
.
ถึงทีจะหมดกรรมของนายดั่น เมื่อนางไรเที่ยวหายาจากทั่วสารทิศ จนได้ยาผีบอกของพ่อตาหมอบัวศรี สัปเหร่อชาวหัวไทร เข้ารักษา ตาที่บอดสนิทอันที่จริงก็แต่กำเนิดนั่นแหละก็มาหายเอาเมื่อวัย ๓๑ ด้วยปัญญากับยาผี
.
เรื่องเล่าไปต่อว่าสิบปีต่อมานายดั่นและนางไรต่างทำมาค้าขายได้กำไรร่ำรวย มีลูกด้วยกันคนหนึ่ง เป็นชาย ตั้งชื่อว่าทองดึง แล้วจึงนายดั่นผู้เป็นพ่อลาเมียลาลูกเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์
.
เรื่องนายดั่นนี้ เห็นจะใช้เป็นหนังสือสวดอ่านกันในวัด กับบ้านเรือนผู้รู้หนังสือ และจำกันต่อไปเป็นมุขปาฐะ คงจะมีสำนวนแตกต่างกันไปบ้างในแต่ละท้องถิ่นแต่ก็ยืนโครงเรื่องเดียวกัน สื่อไปในทางจะสอนใหรู้จักวิบากกรรมในพระพุทธศาสนาเหมือนกัน
.
นอกจากข้อคิดที่ได้ วรรณกรรมฉบับนี้ยังสะท้อนวิถีชีวิตของชาวนครศรีธรรมราชโดยเฉพาะเรื่องของการแต่งงานได้อย่างดี เช่น ความเชื่อก่อนแต่งที่ต้องมีการ “บูนทาย” หมายถึงการทำนายดวงชะตาว่าสมพงหรือปฏิปักษ์ หรือเมื่อส่งตัวเข้าหอในช่วง ๓ คืนแรกห้ามเสพกามคุณ ชายต้องนอนสีหไสยาตะแคงขวา หันหัวไปทิศหัวนอน หันหน้าทางตะวันออก เป็นต้น
.
นายดั่นเป็นวรรณกรรมท้องถิ่นเรื่องแรกที่อ่านจบในมือเดียว เพราะส่วนใหญ่จะสแกนหาเฉพาะสิ่งหรือท่อนที่จะต้องใช้งาน คราวนี้คงต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ เพราะประวัติศาสตร์สามารถศึกษาได้ผ่านวรรณกรรม
.
เมื่อบรรพกวีต่างสร้างสรรค์ผลงานออกมาจากสิ่งที่นึกคิดและพบเห็น ใดใดที่เกิดไม่ทันเห็นและเขลากว่าจะนึกคิด ก็ขอคารวะทุกดวงจิตวิญญาณเหล่านั้นเพื่อได้โปรดเป็นสรณะมาโดยนัยนี้ฯ

พญามือเหล็ก พญามือไฟ: ครูหมอ-ตายายโนราในพระราชพงศาวดาร

พญามือเหล็ก พญามือไฟ
ครูหมอ-ตายายโนราในพระราชพงศาวดาร

 

ครูหมอโนรา

ในชั้นนี้จะเว้นการนิยามคำว่าครูหมอกับตายาย

เพราะส่วนตัวเชื่อว่าหากสืบขึ้นไปลึกๆ

คงพล่ายกันแยกไม่ขาด

.

ห้วง ๑๕ วันตามความเชื่อ

ตั้งแต่แรกรับตายายมาในวันแรมค่ำ ๑ เดือนสิบ

บังเอิญให้ใคร่จะอ่านพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา

ในความหนา ๘๐๐ หน้า

จึงตั้งใจว่าจะแค่กวาดสายตา

หาคำว่า “นครศรีธรรมราช” เป็นพื้น

.

ยังไม่ทันถึงที่หมาย ภารกิจที่ว่าก็เสร็จเสียก่อน

เลยเปิดเล่นไปมา อ่านทวนแต่ละเรื่องเพื่อสอบความ

.

ความจริง

เคยมีแรงบันดาลใจให้ค้นเรื่องทำนองนี้แล้วครั้งหนึ่ง

จากเล่มเดียวกันนี้

คราวนั้นพบตำแหน่งมหาดเล็ก

ปรากฏในชื่อขุนนางวังหลวง ฉบับคำให้การชาวกรุงเก่า

“หลวงนายศักดิ์ หลวงนายสิทธิ์ หลวงนายฤทธิ์ หลวงนายเดช”

ซึ่งก็ไปช่วยคลี่คลายบางอย่าง

เกี่ยวกับชื่อบุคคลที่ปรากฏอยู่ในบทกาศครูของชาตรี

“แต่แรกพ่อเป็นหลวงนายฯ”

แม้คำตอบที่ได้จะเป็นเพียงการยืนยันการมีตัวตน

แต่ความสัมพันธ์ระหว่างชาตรีกับราชสำนัก

เป็นอะไรที่อาจสาวความไปได้จากจุดนี้

.

เช่นเดียวกัน

พญามือเหล็ก และ พญามือไฟ

ก็ปรากฏในบทกาศครูของชาตรีว่า

“ไหว้(พ)ญามือเหล็ก(พ)ญามือไฟ

จะไหว้ใยตาหลวงคงคอฯ”

.

ทั้งสองพญามีชื่อ

ก็ถูกกล่าวถึงในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา

ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)

ว่ามีชีวิตในรัชกาลสมเด็จพระมหินทราธิราช

เป็นแม่ทัพฝ่ายกรุงศรีสัตนาคนหุต

มีบทบาทสำคัญในศึกชิงเมืองพระพิษณุโลก

.

อย่างที่กล่าวแล้วว่า

นอกจากความนี้จะยืนยันตัวตนประการหนึ่ง

ความสัมพันธ์ของพื้นที่ต้นขั้วกับแหล่งวัฒนธรรมปัจจุบัน

เป็นเรื่องน่าสนใจ

การตกค้างผูกพันอยู่กับความเชื่อในฐานะบรรพชน

ทำให้เชื่อได้ว่าคนลาวกับชาวใต้

มีการยักย้ายถ่ายเทสัมพันธ์กันในลักษณะเครือญาติ

มานานแล้วตั้งแต่อดีต

ก่อนที่ความลาว ความไทย และความใต้

จะมาแยกเราขาดจากกัน

.

บทความอันนี้ถูกเขียนขึ้นอย่างคร่าวๆ

ระหว่างนั่งรถกลับนคร

ไม่มีอะไรเป็นสรณะนอกจากหนังสือเล่มที่ว่า

ขอบพระคุณความเห็นจากกัลยาณมิตร ดังนี้

.

พี่สุรพงศ์ เอียดช่วย

“หวังว่าซักวันหนึ่ง

เราจะสืบค้นระบุการมีตัวตนของครูต้นได้ชัดเจน

ว่าท่านคือผู้ใดบ้างในห้วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา”

.

ดร.อัครินทร์ พงษ์พันธ์เดชา

“ลอง search ดู เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก ครับ

พระญาข้อมือเหล็ก สมัยหริภุญไชย

น่าจะปรากฏอยู่ใน ตำนานมูลศาสนา ถ้าจำไม่ผิด

ที่ลำปาง ก็มี เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก

ส่วนเชียงใหม่ มีศาลเจ้าพ่อแขนเหล็ก

อยู่บริเวณที่เคยเป็นวังพระญามังราย กลางเมืองเชียงใหม่ ครับ

อาจจะเป็นตำแหน่งที่มีมาแต่เดิมในยุค ทวารวดี

เพราะ พระญาข้อมือเหล็ก เป็นตำแหน่งเสนาบดี

คู่พระญาบ่อเพ็ก ของพระนางจามเทวี ที่มาจากละโว้ ครับ”

.

ดร.วิทยา อาภรณ์

“จำได้ว่าที่ภาคเหนือพบเจ้าข้อมือเหล็ก

พญาข้อมือเหล็กเป็นผีชั้นสูงประจำพื้นที่ ผีขุนน้ำบ่อยเลย ชาวบ้านเลี้ยงประจำปี

น่าคิด มีเวลาน่าขยายจริง ๆ รูปแบบภาษา ประเพณี บ้านเรือน ยังพอให้สืบได้ ช้าไปก็ยิ่งจาง”

.

แต่คิดดูแล้ว เรื่องนี้เป็นประโยชน์

อย่างน้อยก็ในระดับความเข้า(ไปใน)ใจ

กับทั้งเป็นเครื่องพยุงศรัทธาของลูกหลาน

เพื่อยืนกรานสิ่งที่เรียกว่า “ความกตัญญู”

แม้ในชีวิตจริง เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องมีหลักฐาน

เพราะถ้าปลายทางแจ้งอยู่กับใจ

ก็ใช่ว่าจะต้องเที่ยวใส่บ่าแบกหามภาระใดให้หนักตัว

 

ปล. การเทครัวปากเหนือลงมาปากใต้สมัยพระราเมศวรคงเป็นหมุดหมายสำคัญที่ต้องตามต่อ
ขอบพระคุณภาพปกจากหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ จำหน่ายในหมู่ข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๔๕๑

ชักพระ(ไม่ได้)มีหนเดียว ตำนานพระลาก ตะเฆ่ และเกลียวเชือก

ชักพระ(ไม่ได้)มีหนเดียว
ตำนานพระลาก ตะเฆ่ และเกลียวเชือก

ประเพณีชักพระ

หลังจากได้ฟังที่มาของประเพณีชักพระจากผู้ร่วมเสวนาทั้ง ๒ ท่าน ผู้เขียนก็เปิดประเด็นด้วยการลองตั้งข้อสังเกตดูเล่นๆ ไว้ เป็นหลายขยัก เช่นว่า คำถามที่ควรจะมีกับประเพณีชักพระอาจต้องต่อออกไปอีก ๒ ข้อ จากที่ตั้งลูกขี้ไว้ที่ ชักพระทำไม ? เพิ่มด้วย ชักอย่างไร ? และ ชักแล้วจะได้อะไร ? ขยักต่อมาเป็นรอยที่เห็นเติมขึ้นเป็นสาม คือ พราหมณ์ พุทธ และพื้นถิ่น สุดท้ายคือขยักเรื่องวาระและเวลาในการชักที่ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่แค่เดือนสิบเอ็ด แรมค่ำ อย่างที่เราเคยเข้าใจไว้

.

เมื่อฟังว่าไอเดียของชักพระมาแต่พิธีแห่เทพเจ้าของพราหมณ์ ก็พลอยทำให้เป็นข้อมูลไปสนับสนุนว่า แต่เดิมเรื่องของหมุดเวลาคงยืดหยุ่นไปตามบริบทด้วย คล้ายกับที่พราหมณ์จะอารตีเทพเจ้าพระองค์ใดก็ต้องเนื่องมาจากฉากในเทพปกรณัมของเทพเจ้าพระองค์นั้น ๆ ตานี้เมื่อคนพื้นเมืองยังนับถือผีและธรรมชาติอยู่ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า หมุดหมายของเวลาที่จะแห่พระจึงต้องขึ้นอยู่กับภูมิอากาศ การผลิช่อออกรวงของบรรดาผลอาสิน หรือฤดูกาลเก็บเกี่ยว เป็นต้น ตรงส่วนนี้เองทำให้เราพอเห็นเค้าลางของการลากพระเดือนห้า และเมื่อคืนก่อนที่เพิ่งได้ยินมาจากท่านอาจารย์เฉลิม จิตรามาศ ประชาสัมพันธ์วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร ตอนสัมภาษณ์ความทรงจำว่าด้วยเรื่องลากพระ ท่านก็เปรยว่า เดือนสิบสองตอนน้ำทรง สมัยเด็กยังเคยเห็นเรือพระลอยลำอยู่กลางน้ำ ซึ่งไม่ได้เป็นการค้างไว้จากเดือนสิบเอ็ด แต่เป็นการชักลากออกมาในเดือนสิบสองเพื่อส่งน้ำ ลากพระจึงยืดหยุ่นได้ตามเป้าประสงค์ของคนและเจตจำนงของการลาก

.

ความสนุกอยู่ตรงที่ เราจะเริ่มเห็นเส้นเวลาคร่าว ๆ ของชักพระ

จากรอยพรามณ์ ถึงคนพื้นเมือง แล้วมาสู่วิถีพุทธในแบบฉบับชาวใต้

รอยพราหมณ์ ก็จากเค้าโครงของพิธีกรรมการแห่เทพเจ้า

มาถึงคนพื้นเมือง ก็ที่เชื่อมเอาธรรมชาติเข้าไปผูกโยง

ส่วนวิถีพุทธในแบบฉบับชาวใต้ ก็คือการสร้างชุดความรู้ว่าด้วยการจำลองพุทธประวัติฉากเสด็จจากดาวดึงส์ไปเป็นความหมายให้กับประเพณี

.

ทั้งสามส่วนนี้ จะมีส่วนของคติชนเข้าไปจับ แต่ถ้าจะลองเลาะออกให้เห็นเพียงแค่ปฏิบัติการในชีวิตประจำวันดูอย่างสามัญๆ เลย ก็ให้ความน่าสนใจไม่แพ้กัน ถ้าลองเอากรอบของพิธีกรรมออก เราก็จะเห็นทักษะในการเคลื่อนย้ายสิ่งของของมนุษย์ ชักพระบก คือการเคลื่อนย้ายพระไปทางบก ชักพระน้ำก็คือการเคลื่อนย้ายไปทางน้ำ พออธิบายมาถึงตอนนี้หลายท่านคงนึกขึ้นได้หรือไม่ก็เคยผ่านตาข้อมูลการชะลอพระพุทธรูปสำคัญจากกรุงเก่าลงมากรุงเทพ อันนั้นก็ถือว่าลากพระ ที่เอกสารโบราณเรียกอาการอย่างนั้นว่า “ชัก”

.

ตานี้ในปัจจุบันจะมาเป็น “ลาก” หรือกำลังมีการถกกันว่าควรใช้คำใด อันนี้ก็สุดแท้แต่จะมีฉันทามติ  เพราะฝ่ายที่ใช้ “ชัก” ก็จะมีหลักฐานจากปากคำที่เป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนฝ่าย “ลาก” ก็อ้างอิงจากคำเรียก “พระลาก” จึงว่าควรเป็น “ลากพระ” แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ในภาษาพูดเดี๋ยวนี้ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรายังใช้ปนกันอยู่ รวมถึงตัวผู้เขียนเองก็ตาม

.

ตานี้กลับมาที่ ชักพระที่ไม่ได้เนื่องในประเพณีกัน โดยจะขอละของทางภูมิภาคอื่นไว้ ที่นครศรีธรรมราชมีหลักฐานฉบับหนึ่งเป็นพระราชหัตเลขาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามกุฎราชกุมาร ซึ่งถวายรายงานพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ราวปีพุทธศักราช ๒๔๕๒ กล่าวถึงการเชิญพระบรมราชาไว้อย่างน่าสนใจว่า

.

“เมื่อวันอังคาร ที่ ๒๕ พฤษภาคม ร.ศ.๑๒๘ เวลาบ่ายได้ขับรถไปตามถนนรอบกำแพงเมือง ไปนั่งมุขพระธรรมศาลา ในวัดพระบรมธาตุ ดูแห่พระพุทธรูป ซึ่งเรียกว่าพระบรมราชา พระนั้นได้เชิญขึ้น “บุษบกวางบนตะเค่” ให้คนฉุดมา คนที่ฉุดนั้นไม่ใช่แต่เฉพาะชายฉกรรจ์ ทั้งคนชรา เด็ก และผู้หญิงก็ช่วยกันฉุดด้วยเพื่อเอาบุญ เดิมพระองค์นี้ฝังอยู่ในกลางทุ่ง มีผู้ไปขุดพบเข้า จึงเอาไปประดิษฐานไว้ที่วัดนอกเมือง พระองค์นี้มีชื่อเสียงว่าปฏิบัติสับประดนต่างๆ มีขึ้นล่วงเรือนเขาบ้าง ขึ้นหาลูกสาวเขาบ้าง ตามเรื่องว่าไล่กันมาถึงวัด เห็นผู้ร้ายหายเข้าไปในพระวิหารพระบรมราชา ผู้ที่ไล่วิ่งตามเข้าไปยังได้เห็นโคลนเปื้อนพระบาทอยู่ ถึงกับล่ามโซ่ไว้ ต่อมาเมื่อเร็วๆ นี้ จึงจับตัวผู้ร้ายได้ เรื่องราวก็จบลง แต่ที่แลไม่เห็นนั้น คือเหตุไฉนจึงอุสาหะมีคนเชื่อได้ ดูไม่น่าเชื่อเลยว่าพระพุทธรูปจะเที่ยวเล่นซุกซนได้เช่นนั้น ฝ่ายเจ้าผู้เป็นต้นคิด ซัดพระพุทธรูปขึ้นด้วยนั้น ก็ควรจะยอมรับว่ามันช่างรู้อัทยาไศรยของเพื่อนกันดีจริงๆ”

.

ประเด็นที่เห็นจากบันทึกฉบับนี้ มีหลายประการ เช่นว่า

 

“บุษบกวางบนตะเค่”

อันนี้หมายถึง “พนมพระ” เหตุที่ไม่เรียกอย่างนั้นเพราะเข้าใจว่าไม่มีผู้ถวายรายงาน จึงทรงพรรณนาลักษณะไว้ตามที่ได้ทอดพระเนตรและทรงคุ้นเคย ข้อนี้เป็นประโยชน์มาก เพราะแม้จะไม่ได้เห็นรูปพนมพระนั้น แต่ทำให้เข้าใจว่าครึ่งล่างคือ “ตะเฆ่” ที่ในพจนานุกรมออนไลน์หลายแหล่งให้ความหมายไว้ค่อนข้างใกล้เคียงกันว่า “เครื่องลาก เข็น หรือบรรทุกของหนัก รูปเตี้ย ๆ มีล้อ ราง หรือเลื่อน,แม่แรงชนิดหนึ่ง” (LONGDO Dict) และครึ่งบนเป็นบุษบก

.

“คนที่ฉุดนั้นไม่ใช่แต่เฉพาะชายฉกรรจ์ ทั้งคนชรา เด็ก และผู้หญิงก็ช่วยกันฉุดด้วยเพื่อเอาบุญ

บรรยากาศของการ “เอาบุญ” ร่วมกัน เห็นความคึกคักคึกครื้น เกลียวเชือกกลายเป็นพื้นที่ทางสังคมที่ใช้ “บุญ” เป็นเครื่องทลายเส้นแบ่งด้านเพศสภาพโดยสมบูรณ์

.

“เดิมพระองค์นี้ฝังอยู่ในกลางทุ่ง มีผู้ไปขุดพบเข้า จึงเอาไปประดิษฐานไว้ที่วัดนอกเมือง

.

ตำนานพระลาก

วรรคนี้อาจเป็นวรรคทองที่ทำให้เห็นว่าตำนานพระลากมีการใช้โครงเรื่องที่ใกล้เคียงกัน คือเริ่มที่เป็นของสำคัญสมบัติของชนชั้นสูงแล้วมีเหตุให้อันตราธาน จนไปพบในพื้นถิ่นใดพื้นถิ่นหนึ่ง บ้างก็ว่าผุดขึ้นกลางท้องไร่ท้องนา บ้างก็ว่าลอยน้ำ จากนั้นมีพิธีกรรมของคนพื้นถิ่นนั้นเพื่อเชิญขึ้นประดิษฐาน ณ ที่อันควร แล้วถวายพระนามให้กับพระพุทธรูป ลางองค์เป็นสตรีนาม ในขณะที่ลางองค์เป็นบุรุษนาม

.

อย่างที่ได้จั่วหัวไว้แต่ต้นจากข้อสังเกตเรื่องรอยทั้งสามแล้ว ถ้าลองคลี่โครงเรื่องตำนานพระลากออกดู เราจะเห็นมือของคนพื้นถิ่นที่พยายามเข้ามากระชับความหมาย ด้วยวิธีการนิยามความหมายของรูปสัญญะขึ้นใหม่ ซึ่งแต่เดิม  “พระพุทธรูป” หมายถึง “พระพุทธเจ้า” แต่เมื่อผ่านพิธีกรรมตั้งแต่การเชิญขึ้น บางแห่งว่ามีทำขวัญ แล้วถวายนาม พระพุทธรูปนั้นก็จะหมายถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำพื้นถิ่นนั้นๆ ไปทันที ส่วนข้อที่ว่าลางองค์เป็นสตรีนามนั้น ก็อาจตอบอย่างเร็วและลวกไว้ว่าคงขึ้นอยู่กับการเคารพนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของแต่ละถิ่นไป หรือจะใช้แนวคิดเรื่องคติผู้หญิงเป็นใหญ่และเคยเป็นหัวหน้าผู้ประกอบพิธีกรรมก็ยังไม่ขัด เพราะส่วนตัวยังไม่ได้ศึกษาอย่างลึกซึ้งจริงจังมากพอ

.

สิ่งที่เห็นต่อหลังจากการถวายนาม คือธรรมเนียมเรื่อง “คู่” ของพระลาก ทั้งคู่ขวัญและคู่พี่น้อง ที่ไม่ว่าจะเป็นการจับคู่กันในลักษณะใดก็คงสื่อแสดงเครือข่ายความสัมพันธ์ในระดับพื้นที่ ส่วนจะเกี่ยวดองกันในรูปแบบอย่างหัวเกลอ คู่การค้า หรือเครือญาติ อันนี้อาจต้องลองเจาะกรณีศึกษาเป็นแห่ง ๆ ไป

.

ประเด็นสุดท้ายคือวันที่ที่ลงไว้ว่าตรงกับ “วันอังคาร ที่ ๒๕ พฤษภาคม ร.ศ.๑๒๘” ลองเปิดปฏิทินร้อยปีแล้วไปตกเอาเดือนเจ็ด ซึ่งไม่ใช่ทั้งเดือนสิบเอ็ด เดือนห้า หรือเดือนสิบสอง ส่วนตัวคิดว่าประเด็นนี้น่าสนใจมาก เพราะสาระสำคัญของชักพระก็คือการ “ชักพระ” แต่ดูเหมือนว่าชักพระที่เรารับรู้และเข้าใจกันเดี๋ยวนี้ จะเป็นชักพระที่ผ่านกระบวนการ “เลือก” ซึ่งหมายความว่าอีกหลายชักพระถูก “ตีตก” และทำให้กลายเป็นชักพระของคนเล็กคนน้อย หากจะลองย้อนกลับไปมองประเด็นการถวายนามอย่างสามัญให้กับพระพุทธรูปและตำนานพระลาก เป็นไปได้หรือไม่ที่วิธีการนี้ จะถูกใช้เป็นกลยุทธ์ของคนพื้นถิ่นในการสร้างตัวตนและแย่งชิงเอาความหมายของชักพระกลับมาสู่คนพื้นเมืองเดิม ในท่ามกลางการขับเน้นด้วยฉากจำลองเสด็จดาวดึงส์เพื่อยื้อหมุดเวลาไว้ที่แรมค่ำหนึ่งเดือนสิบเอ็ดของพระพุทธศาสนาที่มาใหม่ฯ

 

ปล. บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งและผลจากการประมวลความคิดหลังจากการเสวนาออนไลน์เรื่อง “ประเพณีชักพระ” เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๔ ที่ได้รับเชิญจากอาจารย์ธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จึงมีข้อจำกัดในการคิดและเขียนอยู่มาก และหากธุระเรื่องวิทยานิพนธ์ทุเลาลง คงได้เวลาค้นและเรียบเรียงใหม่อย่างตั้งใจฯ

พระอนุรักษ์ รัฐธรรม  สอนคน ชี้ธรรม นำปัญญา ตามคำสอนพระศาสดา คนต้นแบบเมืองนคร

ผู้ที่มีจิตสำนึกที่ดี ดำเนินชีวิตที่ดีงาม ย่อมได้รับการกล่อมเกลาจิตใจ ถูกปลูกฝังคุณธรรมตั้งแต่วัยเด็ก โดยยึดหลักคำสอนทางศาสนาเป็นแนวทางในการใช้ชีวิต เป็นหนทางในการค้นพบความสุข ทางนครศรีสเตชั่นได้รับเกียรติจากพระอาจารย์อนุรักษ์ รัฐธรรม มาบอกเล่าเกี่ยวกับโครงการค่ายเรียนรู้คุณธรรมจริยธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน โดยใช้ต้นทุนที่มีอยู่คือ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร มาเป็นรากฐานในการสอนธรรมะ สอนคน ชี้ธรรม นำปัญญา ตามคำสอนพระศาสดา

สนใจศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาตั้งแต่วัยเด็ก

            พระอาจารย์อนุรักษ์ เล่าให้ฟังว่า ได้รับการปลูกฝังเกี่ยวกับพระพุทธศาสนามาตั้งแต่วัยเด็ก ทางบ้านพาไปวัดเป็นประจำ การที่มีโอกาสได้ไปวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารครั้งแรกเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต ซึ่งในตอนที่ท่านไปนั้นตรงกับช่วงที่ทางวัดจัดงานใหญ่พอดี ขากลับได้รับหนังสือที่ทางวัดแจกให้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ เนื้อหาอ่านเข้าใจง่าย มีรูปภาพประกอบเหมาะสำหรับเด็ก

การไปวัดในครั้งนั้นทำให้พระอาจารย์รู้สึกประทับใจมาก ตั้งแต่นั้นมาจึงเริ่มศึกษาประวัติพระพุทธเจ้า ตั้งปณิธานว่าสักวันหนึ่งจะต้องบวชให้ได้ หลังจากเรียนจบระดับชั้นประถมศึกษา พระอาจารย์มีโอกาสได้บวรเป็นสามเณรเกือบ 4 ปี จนได้นักธรรมชั้นเอก

หลังจากสึกออกมาได้ศึกษาต่อจนจบระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จากนั้นทำงานค้าขายเปิดร้านขายของชำอยู่ที่กรุงเทพมหานคร จนถึงเวลาที่พระอาจารย์เห็นสมควรแล้วว่าต้องตอบแทนพระคุณพ่อแม่ เดิมทีคุณพ่อของพระอาจารย์อนุรักษ์บวชเป็นพระภิกษุ ซึ่งท่านมรณภาพไปแล้ว ด้วยเหตุนี้พระอาจารย์จึงตัดสินใจเดินทางกลับมาบวชที่วัดมะม่วงปลายแขน จ. นครศรีธรรมราช

เมื่อบวชเป็นพระภิกษุได้หนึ่งพรรษา พระอาจารย์ค้นพบว่าการสวดมนต์และการปฏิบัติธรรม ทำให้จิตใจสงบ ไม่สับสนวุ่นวาย หลังจากนั้นเป็นต้นมาได้บวชมาเรื่อยๆ จนกระทั่งได้มาจำพรรษาที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร มีโอกาสได้ศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (สถาบันการศึกษาของสงฆ์) ปัจจุบันพระอาจารย์บวชมานานกว่า 10 พรรษา

คติการใช้ชีวิตของท่าน คือ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ต้องทำให้ดีที่สุด ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงเกิดคำถามขึ้นว่า จะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากสิ่งที่ได้เรียนรู้และศึกษามา

โครงการค่ายคุณธรรมจริยธรรม โดยใช้ต้นทุนที่มีของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

พระอาจารย์เริ่มทำโครงการให้ความรู้ทางพระพุทธศาสนาตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 ด้วยความที่พระอาจารย์มีโอกาสได้เป็นวิทยากรอบรมให้แก่นักเรียนและเยาวชน จึงเห็นว่าการนำธรรมะไปเผยแผ่กับเยาวชน ซึ่งเป็นอนาคตของชาติเป็นเรื่องที่ดีและมีประโยชน์ เพราะเยาวชนที่เติบโตโดยมีคุณธรรมจะช่วยให้สังคมเจริญไปในทิศทางที่ดีงาม

พระอาจารย์อนุรักษ์จึงได้เชิญชวนพระภิกษุรูปอื่นให้มาร่วมเป็นวิทยากร ก่อตั้งเป็นค่ายคุณธรรมจริยธรรมที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร สถานที่แห่งนี้ไม่เพียงแต่เป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญทางศาสนาพุทธ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการจัดอบรมค่ายคุณธรรมอีกด้วย สามารถเรียนรู้หลักธรรมผ่านทุกสิ่งทุกเรื่องราวที่อยู่ในวัด มีความพร้อมทั้งในเรื่องสถานที่ อาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ

เมื่อพูดถึงค่ายคุณธรรม จริยธรรม ส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยมีใครสมัครใจเข้าร่วม คิดว่าเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ พระอาจารย์ให้ความเห็นว่า การจัดกิจกรรมนั้นต้องมีความน่าสนใจ ไม่ทำให้เด็กรู้สึกเบื่อหน่าย กิจกรรมทั้งหมดของค่ายถูกคิดค้นโดยพระอาจารย์อนุรักษ์ ซึ่งท่านให้ความเห็นว่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็ก ต้องรู้ว่าเด็กมีความต้องการอะไร สนใจเรื่องอะไร

ทุกกิจกรรมต้องให้เด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วม แน่นอนว่าโครงการค่ายคุณธรรม จริยธรรมมีหลักสูตรการจัดฝึกอบรมและรูปแบบกิจกรรมไว้อยู่แล้ว บางครั้งพระอาจารย์ใช้วิธีให้เยาวชนเสนอความคิดเพื่อออกแบบกิจกรรมที่ต้องการจะทำ เพื่อเพิ่มความสนุกสนาน และมีช่วงเวลาให้เด็กๆ ได้ผ่อนคลาย

นอกจากการฝึกปฏิบัติธรรมแล้ว กิจกรรมถามตอบและการเล่าเรื่องเป็นวิธีที่ช่วยกระตุ้นให้เด็กได้คิดวิเคราะห์และคิดตาม เพื่อให้ตระหนักถึงการทำความดีละเว้นความชั่ว ดำรงชีวิตอย่างมีศีลธรรม ไม่ได้มีเฉพาะเด็กและเยาวชนเท่านั้นที่สามารถเข้าร่วมโครงการค่ายคุณธรรมนี้ได้ ไม่ว่าวัยใดก็สามารถเข้าร่วมได้ เพราะผู้ใหญ่เองก็ต้องหาที่พึ่งพิงทางใจเช่นกัน

เรียนรู้หลักธรรมผ่านพระบรมธาตุเจดีย์ จุดศูนย์กลางที่เชื่อมโยงจิตใจเด็กและเยาวชนให้เข้าถึงธรรมะมากขึ้น

การปลูกฝังคุณธรรมต้องเริ่มต้นกันตั้งแต่วัยเด็กเพื่อให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและคุณธรรม พระอาจารย์เน้นสอนให้เด็กๆ เห็นธรรมะที่แท้จริงผ่านธรรมชาติ เห็นความสำคัญของทุกสิ่งรอบตัว เห็นคุณค่าของชีวิต เมื่อเด็กเกิดความเข้าใจก็จะเคารพในตัวเองและผู้อื่น รู้ว่าชีวิตนี้เมื่อเกิดมาแล้วต้องทำความดี สร้างประโยชน์ให้แก่ตัวเองและผู้อื่น อย่างประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ นอกจากความเชื่อและความศรัทธาแล้ว อีกนัยหนึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามัคคีปรองดองกัน แต่ละคนมีบทบาทหรือความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันด้วยประเพณี มีความมุ่งมั่นแน่วแน่ในการน้อมถวายผ้าแก่พระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งผ้าที่ห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์เปรียบเสมือนการปกป้องดูแลพระรัตนตรัย

คนเราจะเกิดปัญญาได้นั้น ต้องเจอกับปัญหาก่อน อุปสรรคต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนล้วนเผชิญ เริ่มจากการยอมรับให้ได้และทำความเข้าใจในปัญหาเสียก่อน ความคิดและจิตใจคือสิ่งที่สำคัญที่ทำให้เกิดความสุข ใช้ชีวิตอย่างมีสติไม่ประมาท มีความอดทนที่จะต่อสู้กับปัญหา และมีความกล้าหาญในการนำพาตัวเองให้ชนะต่ออุปสรรคได้

ดูคลิปสัมภาษณ์ พระอนุรักษ์ รัฐธรรม ย้อนหลัง ได้ที่นี่

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ

พระพุทธสิหิงค์เมืองนคร เคยมีพระเกตุมาลาทองคำ

จำข่าวดีเมื่อไม่กี่ปีก่อนได้ไหมครับ ?
สำหรับท่านที่ไม่ได้ปูเสื่อรอ
ขอเท้าความไว้หน่อยหนึ่ง ดังนี้
.

พระพุทธสิหิงค์

เมื่อ ๒ ปีที่แล้วผมพบภาพพระพุทธสิหิงค์มีพระเกตุมาลาสูงกว่าเท่าที่เคยเห็น ภาพนั้นอยู่ในหนังสืองานประจำปีเมืองนครศรีธรรมราช พุทธศักราช ๒๔๗๗ ตอนนั้นได้รับความกรุณาจากท่าน ผอ.พรทิพย์ฯ ให้ใช้ห้องเอกสารโบราณของหอสมุดแห่งชาติ เพื่อสืบค้นข้อมูลทำหนังสือประวัติศาสตร์อำเภอเมือง
.
ตาแรก คิดว่าเป็นองค์จำลองแล้วปรับแปลง ครั้นสอบลักษณะเฉพาะแล้วจึงรู้ ว่าเป็นองค์เดียวกันกับที่ประดิษฐานอยู่ในหอเดี๋ยวนี้
.
ในหนังสือไม่ได้ให้รายละเอียดอะไรส่วนนี้
จึงได้แต่ตั้งคำถามว่าทำไมเมื่อก่อนมี แล้วเดี๋ยวนี้ไม่มี ?
.

พระเกตุมาลาทองคำ

จนมาพบงานเขียนของอาจารย์ประทุม ชุ่มเพ็งพันธ์ อดีตหัวหน้าหน่วยศิลปากรที่ ๘ (พ.ศ.๒๕๑๓ – ๒๕๑๘) ขณะนั้นตั้งทำการอยู่ภายในวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร ท่านยืนยันไว้บนปกในด้านหลังของสารนครศรีธรรมราช ฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๑๔ ว่า “…พระเกตุมาลาทองคำนั้น เพิ่งทำสวมเสริมขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๕ โดยให้ช่างถมหลังวัดจันทารามเป็นผู้ทำ…”
.
ก็เป็นอันแน่นอนว่าพระเกตุมาลาทองคำนี้เคยมีอยู่ กับที่เห็นเพิ่มในลายแทงอาจารย์ประทุมฯ คือ คงสร้างขึ้นในคราวเดียวกันกับฐาน กับว่าช่างถมหลังวัดจันฯ นี้ คงได้ชื่อว่าเป็นช่างฝีมือดี เหมือนอย่างเจ้าคุณเฒ่า (ม่วง รัตนธโช) ผูกสำนวนไว้แต่แรกว่า “อยากเป็นช่างให้ไปวัดจัน”
.
ธรรมเนียมการสวมเกตุมาลานี้ เคยเห็นมีครอบให้กับพระลากบางองค์ด้วย คงเป็นขนบการถวายเครื่องมหรรฆภัณฑ์แด่พระพุทธรูปตามอย่างชาวนครศรีธรรมราช ทำนองคล้ายกับการหุ้มยอดพระบรมธาตุเจดีย์ด้วยทองคำก็ปานกัน
.
คิดไปในทางที่ดีว่าคงมีเหตุเรื่องความปลอดภัยจึงจำเป็นให้ต้องถอดออกเพื่อเก็บรักษาไว้ แต่ก็ไม่ควรทำให้หายไปจากความรับรู้ของผู้คน อย่างน้อยก็เพื่อรู้ เพื่อทราบ ว่ายังถูกพิทักษ์ไว้อย่างดี อยู่ที่ใด ใครเป็นผู้รักษา
.

คุณค่าของพระพุทธสิหิงค์เมืองนครศรีธรรมราช

ส่วนตัวเห็นว่า ควรหาวาระถวายครอบขึ้นสักมื้อหนึ่งต่อปี เพื่อให้ชาวเราได้ชื่นชมบารมี เรียนรู้วิถีศรัทธาของบรรพบุรุษ และอาจเป็นช่องให้ช่วงใช้เพื่อทวีคุณค่าของพระพุทธสิหิงค์เมืองนครศรีธรรมราช ร่ายลามไปถึงเป็นกิมมิคทางการท่องเที่ยว ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม เช่นว่า เชิญออกสรงน้ำปีนี้มีพิธีถวายครอบพระเกตุมาลาทองคำก่อนเชิญขึ้นทรงบุษบก ให้ประชาชนได้สักการะกันใกล้ตา
.
อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้ควรเริ่มที่การสืบความว่า แล้วยังอยู่ไหม ? อยู่ไหน ? และใครพอจะทราบเรื่องราวนี้บ้าง ?
.
(แล้วก็ทิ้งท้ายโพสต์ก่อนว่า) ประจำเมืองฯ
.
หลังจากโพสต์นี้กี่เดือนจำไม่ได้ ผมรับสายจากท่าน ผอ.หช. ในเช้าวันหนึ่ง ว่าพบวัตถุชิ้นหนึ่งในคลัง พช. คล้ายกับที่กำลังถามหา ท่านขอข้อมูลเพิ่มเติมและได้ชี้ช่องไปพร้อมเสร็จ
.
จนเมื่อ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช ได้เผยแพร่ภาพพร้อมคำอธิบายประกอบนี้ทางเฟซบุ๊ก ส่วนตัวคิดว่าเป็นชิ้นเดียวกันกับที่ตามหา ดังจะตั้งข้อสังเกตไว้ดังนี้
.
นายสันต์ เอกมหาชัย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๐ – ๓๐ สิงหาคม ๒๕๐๒ แต่ไปมีข้อมูลรูปภาพว่าพระเกตุมาลาทองคำนี้เคยครอบถวายพระพุทธสิหิงค์มาก่อนหน้านั้นแล้วตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๗๗ ก่อนมาดำรงตำแหน่งถึง ๒๓ ปี ประกอบกับปากคำของอาจารย์ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์ อดีตหัวหน้าหน่วยศิลปากรที่ ๘ ที่ว่าสร้างเมื่อรัชกาลที่ ๕ โดยช่างถมทองวัดจันทร์
.
จึงเป็นไปได้ไหมที่ในประวัติว่า “สร้างถวาย” อาจจะเป็นเพียงการ “มอบไว้” เพราะพบว่าได้มอบหลังจากหมดวาระไปแล้ว ๒๑ ปี ซึ่งอาจมีคำถามต่อไปว่า เหตุใด ? หมดวาระแล้วจึงยังมีกรรมสิทธิ์ในพระเกตุมาลาทองคำนี้อยู่ ?
.
ข้อนี้ไปพล่ายกับการกำหนดอายุสมัย ส่วนตัวคิดไปว่า พช. คงจะยืนตามข้อมูลที่ปรากฏในทะเบียน แต่อยากขอความกรุณาให้สอบทานหลักฐานอื่นประกอบเพิ่ม เพราะดูเหมือนจะมีนัยยะบางประการที่น่าสนใจฯ

คุณเฉลิม จิตรามาศ ประชาสัมพันธ์ศาสนา สารานุกรมวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร คนต้นแบบเมืองนคร

ศาสนามีความสำคัญกับการพัฒนาชุมชนและการจัดระเบียบสังคม บางส่วนของวัฒนธรรมมีรากฐานมาจากศาสนา ศาสนสถานเป็นศูนย์กลางของชุมชนที่หลอมรวมศรัทธาของผู้คนในชุมชนเข้าไว้ด้วยกัน แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจถึงแก่นแท้ของศาสนา สามารถรักษาคุณค่าและสืบทอดไปสู่คนรุ่นหลังได้ อย่างที่ฅนต้นแบบเมืองนครท่านนี้เข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตนเองเป็นอย่างดี ทำงานอย่างเต็มความสามารถ ขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ในวัดให้เป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม คุณเฉลิม จิตรามาศ ประชาสัมพันธ์ศาสนา สารานุกรมวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

ชีวิตวัยเด็กที่เติบโตมากับวัด และความชื่นชอบทางด้านพุทธศิลป์

คุณเฉลิม จิตรามาศ เกิดในปีพ.ศ. 2499 เป็นคนนครศรีธรรมราชแต่กำเนิด ชีวิตในวัยเด็กมีความใกล้ชิดกับวัด เรียกได้ว่าเข้าออกวัดบ่อยราวกับเป็นบ้านอีกหลัง ทำหน้าที่เป็นศิษย์วัดเดินตามพระบิณฑบาตรแทบทุกเช้า หลังจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4  คุณเฉลิมได้บวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จากนั้นบวชเรียนนักธรรมชั้นตรีและภาษาบาลีประมาณปีกว่า แล้วย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดยะลาธรรมาราม จ.ยะลา

หลังจากสอบนักธรรมชั้นโท จึงได้เดินทางกลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดมะม่วงปลายแขน จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นวัดแถวบ้านที่คุ้นชินตั้งแต่เด็ก จากนั้นถูกส่งไปเรียนบาลีที่วัดธรรมบูชา จ.สุราษฎร์ธานี และสอบได้นักธรรมชั้นเอกในเวลาต่อมา ปีพ.ศ. 2514 เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์จึงได้บวชเป็นพระภิกษุ และถูกส่งตัวไปที่กรุงเทพมหานคร เข้าศึกษาหลักสูตรพระปริยัติธรรม

นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณเฉลิมมีโอกาสได้ศึกษาเรื่องโบราณสถาน และความรู้ทางด้านพุทธศิลป์ตามศาสนสถานต่างๆ จนเกิดเป็นความชื่นชอบ และสามารถถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมาสู่พุทธศาสนิกชนได้

จากงานช่างซ่อมวิทยุและโทรทัศน์ สู่ประชาสัมพันธ์วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

หลังจากบวชเป็นพระภิกษุได้สามพรรษาก็ได้ลาสิกขา และตัดสินใจเรียนการซ่อมวิทยุและโทรทัศน์เพื่อยึดเป็นอาชีพหลัก จากนั้นได้เดินทางไปทำงานที่ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา และกลับนครศรีธรรมราช เพื่อไปเป็นครูผู้ช่วยสอนซ่อมวิทยุและโทรทัศน์ คุณเฉลิมได้รับการทาบทามจากลูกศิษย์ที่มาเรียนให้ไปร่วมงานกับทางบริษัทระหว่างที่ทำงานอยู่ที่นั่นก็ได้มีโอกาสได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่ต่างประเทศ หลังจากที่ทำงานสักระยะหนึ่งจึงตัดสินใจลาออกจากบริษัท เพื่อมาเปิดร้านซ่อมวิทยุและโทรทัศน์เอง

ในช่วงที่กลับมาอยู่นครศรีธรรมราชก็ได้ทราบว่าประชาสัมพันธ์วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารคนปัจจุบัน(ในตอนนั้น)ตั้งใจจะลาออก แต่ไม่สามารถลาออกได้ เนื่องจากต้องรอให้มีคนมารับช่วงต่อ คุณเฉลิมได้รับคำชักชวนจากบุคคลที่ช่วยประสานงานให้กับทางท่านเจ้าคุณเพื่อให้มารับตำแหน่ง เมื่อโอกาสมาถึงจึงไม่รีรอที่จะตอบรับ ตลอดระยะเวลาในการทำงานคุณเฉลิมได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ นำความรู้จากช่วงที่บวชเป็นพระภิกษุมาประยุกต์ใช้กับงานอย่างเหมาะสม และคอยรับมือกับปัญหาต่างๆ อะไรที่ไม่ถูกต้องก็พยายามปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามแนวทางที่ควรจะปฏิบัติ

มุมมองความคิด และแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต

คุณเฉลิมเชื่อว่าแต่ละคนมีบทบาทหน้าที่ต่างกัน ประชาสัมพันธ์วัดไม่ใช่แค่การขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ในวัด แต่ต้องหัดสังเกตุเรียนรู้ เพื่อนำไปปรับปรุงพัฒนาการทำงานให้ดีขึ้น วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเป็น ศาสนสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของภาคใต้ ที่พุทธศาสนิกชนให้ความเคารพอยากไปสักการะพระบรมธาตุเจดีย์สักครั้งหนึ่งในชีวิต ทำให้ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่เดินทางไปเยี่ยมชม โดยเฉพาะในช่วงที่ทางวัดมีการจัดงานแห่ผ้าขึ้นธาตุในวันมาฆบูชาของทุกปี

ถือเป็นงานบุญประจำปีที่เนืองแน่นไปด้วยพุทธศาสนิกชนทั้งจากนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์เป็นประเพณีที่กระทำผ่านความเชื่อและศรัทธาว่าการที่ได้ทำบุญในครั้งนี้เป็นมหาบุญใหญ่ และส่งเสริมความเป็นสิริมงคลในการใช้ชีวิต กิจกรรมที่จัดขึ้นภายในวัดจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี ส่วนหนึ่งก็เพื่ออำนวยความสะดวกแก่พุทธศาสนิกชนที่ตั้งใจมาร่วมทำบุญในครั้งนี้ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ดี ให้ได้รับความอิ่มบุญ อิ่มเอมใจกันถ้วนหน้า

มุมมองการใช้ชีวิตของคุณเฉลิมในวัยใกล้ 70  ให้ความเห็นที่น่าสนใจไว้ว่า ความเชื่อของคนเป็นเรื่องที่ยากจะเปลี่ยนแปลง แต่ละคนจะมีชุดความเชื่อที่ยึดมั่นกันมานาน ได้รับการปลูกฝังมาจากครอบครัวและชุมชน ความเชื่อที่แข็งแกร่งมักจะหยั่งรากลึกหลอมรวมกลายเป็นส่วนหนึ่งของบุคคลนั้น แสดงออกให้เห็นทางการกระทำ หากพูดถึงสิ่งที่เปรียบเสมือนหลักเมืองของศาสนาพุทธ นั่นคือ หลักธรรม เพราะแต่ละศาสนามีความเชื่อและหลักปฏิบัติที่ต่างกัน เราต้องเข้าใจความแตกต่าง แม้แต่คนในศาสนาเดียวกันก็ยังเชื่อและปฏิบัติต่างกัน อย่าเพิ่งเอาความคิด ความเชื่อของตัวเราเองไปยัดเยียดให้คนอื่น ลองตั้งใจรับฟังพยายามมองโลกอย่างเป็นกลางให้มากที่สุด หัดเรียนรู้เรื่องอื่นๆ ที่เราไม่เคยรู้มาก่อน เพื่อให้เข้าใจคนอื่นมากขึ้น แม้จะคิดต่างกันแต่ต้องเคารพซึ่งกันและกัน จึงจะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

เพราะชีวิตไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน จึงต้องใช้ชีวิตอย่างมีสติ เพื่อให้เกิดปัญญา รู้จักขบคิด วิเคราะห์แยกแยะในมิติต่างๆ ของข้อมูลที่ได้รับมา เชื่ออย่างมีเหตุมีเหตุ ควบคู่กับการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตนให้ดียิ่งขึ้น การพัฒนาจิตใจให้ทันกับความทันสมัยที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลาของชีวิต คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นนั่นเอง

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ

อีสาระพา คือใคร ? ทำไมจึงต้อง เฮโล ?

ตักบาตรเหอ
ตักบาตรหน้าล้อ
แทงต้มใบพ้อ
สำหรับลากพระ
พอเห็นลายมือใหญ่
ชวนกันไปวัดไปวา
สำหรับลากพระ
อีโหย้สาระพาเหอฯ

ประเพณีลากพระ

ก็เพราะว่า “ลากพระ” เป็น “วัฒนธรรม” จึงมีปกติปรับสภาพไปตามธรรมชาติของโลกเพื่อความอยู่รอด
.
ส่วนตัวจึงไม่เห็นว่าเป็นเรื่องแปลก ที่หน้าหรือหลังพนมพระบางวัดจะมีเครื่องเสียงชุดใหญ่ เปิดเพลงเวียนครกจังหวะสามช่า รำวง รวมถึงมิกซ์เพลงแดนซ์ต่างๆ เรียกแขก เรียกคน เรียกความสนใจ สร้างบรรยากาศให้แลดูคึกคัก ในขณะที่อีกหลายวัด มีแค่ ปืด ตะโพน ฆ้อง ระฆัง กังสดาล เป็นเครื่องประโคมคุมพระ
.
จะเห็นว่า ประเพณีลากพระที่เพิ่งผ่านไปนี้ มีการแบ่งพื้นที่ของตัวมันเอง ให้เห็นรสนิยม ความเก่า กลาง ใหม่ ที่ใครใคร่จะเข้าถึงอย่างใดก็ตามแต่จริตนิสัย ภายใต้สาระสำคัญอันเดียวกันคือ “ลากพระ”
.
ชุดเครื่องเสียงรถแห่อาจแลดูคึกโครมเกินงาม แต่ถ้าลองทูลถามพระบรมศาสดาที่เสด็จมาบนพนมนั้น พระองค์ก็จะทรงสงบนิ่งไม่ติงไหวสั่นคลอน ฉันใด เสียงอันอึกทึกเหล่านั้น แทนที่จะทำลายประเพณีอยู่ท่าเดียว กลับจะมีแง่ดีอยู่บ้างด้วย คือเป็นเครื่องมือช่วยชักชวน(คนกลุ่ม)ใหม่ ให้เข้ามาใน(คติของคนกลุ่ม)เก่า ฉันนั้น
.
ก็เมื่อพุทธกาลยังไม่มีเครื่องเสียง หรือถ้ามี เราก็ไม่อาจยืนยันได้ว่าคนสมัยโน้นจะไม่คว้ามาใช้งาน
.
ตานี้ ในประเด็นของความเก่า กลาง ใหม่นี้ จะถามหาความเก่าแท้ก็ยาก ความใหม่จริงยิ่งยากกว่า ที่เห็นอยู่เดี๋ยวนี้จึงคือความกลางๆ คือมีความเก่าเป็นพื้นแล้วใช้ความใหม่เข้าช่วย กับยืนบนความใหม่ในฐานของความเก่า
.
ส่วนเพลงเซิ้ง เพลงหมอลำ ที่เป็นผลมาจากอิทธิพลของเทคโนโลยีด้านการสื่อสารทำให้โลกใกล้กันขึ้น หากเปรียบเทียบกับเพลงสิบสองภาษาของโบราณาจารย์ท่านแล้ว เราในเดี๋ยวนี้ยังดูแพ้อยู่หลายขุม
.
อีกหนึ่งต้องไม่ลืมว่า ไม่มีผู้คน ก็ไม่มีศาสนา ศาสนาจึงเป็นเรื่องของคน เมื่อคนเกิดมีขึ้นตามธรรมชาติ ศาสนากับธรรมชาตินี้ ก็จึงคืออันเดียวกัน
.
และยุคที่ต้องเว้นระยะห่างนี้
ก็คงมีเรื่องต้องเรียนต้องรู้เกี่ยวกับการปรับรูปปรับแบบเพื่อความอยู่รอดของ “ลากพระ” กันอีกครั้ง
ท้ายที่สุด จะได้คลี่คลายว่า อีสาระพาที่เคยได้ยินเป็นที่คุ้นหูเมื่อลากพระคือใคร ?
และทำไมจึงต้องเฮโล ? กัน ดังนี้

อีสาระพา มาจากคำว่า สรภ
อ่านว่า สะระพะ
.
คือชื่อกลองชนิดหนึ่ง
ซึ่งคงเป็นอันเดียวกันกับที่เรียกเดี๋ยวนี้ว่า “ปืด”
.
อีสารภา เฮโลๆ
จึงคือสร้อยเพลง เพื่อสับทำนองของเสียงกลองนั้น
.
ส่วนไอ้ไหร่กลมๆ ?
คงมีผู้โลน ผู้ทอยแล้วอยู่เกลื่อนไปฯ

กระท่อมมา ฝิ่นหาย : เปิดไทม์ไลน์จากรายงานข้าหลวงเทศาภิบาลณฑลนครศรีธรรมราช

กระท่อม

กระท่อมมา ฝิ่นหาย :
เปิดไทม์ไลน์จากรายงานข้าหลวงเทศาภิบาลณฑลนครศรีธรรมราช

โดย ธีรยุทธ บัวทอง

 

เมื่อแรกฝิ่นยังถูกกฏหมาย

ฝิ่นเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายในหลายพื้นที่เมื่อครั้งอดีต ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย เพราะฝิ่นสามารถสร้างรายได้ให้กับรัฐโดยการผูกขาดอำนาจทางธุรกิจและระบบการจัดเก็บภาษีจากผู้ค้า

ฝิ่นมีมูลค่าสูงยังผลให้มนุษย์ต้องเข่นฆ่ากันเพื่อช่วงชิงผลประโยชน์ ดังจะเห็นได้ชัดจากสงครามฝิ่นในช่วงปี พ.ศ. 2382 – 2403 ระหว่างอังกฤษกับจีน จนนำมาสู่ความสั่นคลอนของราชวงศ์ชิง

แต่ถึงกระนั้น ฝิ่นก็ไม่ได้เป็นสารเสพติดและยารักษาโรคเพียงชนิดเดียวที่สามารถสร้างความสุขแก่ผู้ใช้และสร้างรายได้ให้กับรัฐเพียงสิ่งเดียว หากแต่มีพืชทำนองเดียวกันหลายชนิด และหากกล่าวถึงภาคใต้ของประเทศไทยแล้วล่ะก็ คงหนีไม่พ้นกะท่อม ซึ่งกะท่อมนี้นี่เองที่มีส่วนทำให้รายได้ของรัฐจากฝิ่นหดหายไป ดังรายงานข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ระบุว่า “…นายอากรยาฝิ่นได้จำหน่ายอยู่ในศก 116 อากรฝิ่นมณฑลนี้ คงมีกำไร แต่ไม่สู้มากนัก เหตุที่ฝิ่นมณฑลนครศรีธรรมราชขายไม่สู้จะดีนั้นเพราะมีจีนน้อย พวกไทยที่สูบก็เป็นคนขัดสน มักจะถุนเสียมาก ใช่แต่เท่านั้นยังซ้ำพวกราษฎรปลูกต้นกระท่อมขายใบด้วยอีกส่วนหนึ่ง จึงทำให้ฝิ่นจำหน่ายได้น้อยไป ในศก 117 ได้ออกประกาศ ห้ามไม่ให้ราษฎรปลูกต้นกระท่อมและที่มีอยู่แล้ว ก็ให้ตัดพ้นเสียให้หมด และที่ประกาศห้ามเสียอย่างนี้ คงจะเป็นปากเสียงร้องว่าเดือดร้อนกันบ้างเป็นแน่”

กระท่อม

กระท่อม เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ปานกลาง มีแก่นเป็นไม้เนื้อแข็ง สูง 10 -15 เมตร อยู่ในตระกูล Mitragyna speciosa มีชนิดก้านใบแดงและใบเขียว ดอกกลมโตขนาดเท่าผลพุทรา ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียว เรียงตัวเป็นคู่ตรงข้าม พบมากบริเวณทางภาคใต้ของประเทศไทย ผู้คนมักนำมาเคี้ยวใบสดหรือบดใบแห้งให้เป็นผง ละลายน้ำดื่ม บางรายเติมเกลือด้วยเล็กน้อยเพื่อป้องกันท้องผูก นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณทางยาเป็นตัวยาในตำรับพวกประเภทยาแก้ท้องเสีย แม้ใบกระท่อมให้ผลการออกฤทธิ์ที่อาจมีประโยชน์ทางยาได้ แต่ทำให้เสพติดและมีผลเสียต่อสุขภาพ หากใช้ติดต่อกันนานๆ

เนื่องจากพืชกระท่อมมีสารเสพติดที่พบในใบ คือ  ไมทราไจนีน (Mitragynine) เป็นสารจำพวกอัลคาลอยด์ ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง (CNS depressant) แต่เมื่อหยุดเสพจะเกิดอาการ เช่น ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและกระดูก แขนขากระตุก ก้าวร้าว นอนไม่หลับ อยากอาหารยาก มีอาการไอมากขึ้น เป็นต้น

ปลดล็อคกระท่อม

พืชกระท่อมจึงถูกควบคุมโดยกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดหลายฉบับมานานนับหลายทศวรรษ จนกระทั่งในช่วงปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา สภาได้มีมติเอกฉันท์ผ่านร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม ให้สามารถปลูกและใช้ได้อย่างเสรี ส่วนการนำเข้าและส่งออกต้องขออนุญาต

โดยหลังการยกเลิกพืชกระท่อมจากยาเสพติดประเภท 5 ประชาชนสามารถครอบครอง บริโภค และใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อมได้ จึงควรส่งเสริมและให้มีการพัฒนาเป็นพืชทางเศรษฐกิจ กำหนดมาตรการดูแลโดยเฉพาะการนำเข้าและการส่งออกเท่านั้นที่ต้องขอรับใบอนุญาตก่อน ส่วนการเพาะ การปลูก และการขายใบพืชกระท่อม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการบริโภคใบกระท่อมมากเกินควรอาจก่อให้เกิดอันตราย โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร จึงกำหนดมาตรการกำกับดูแลการขาย การโฆษณา และการบริโภคใบกระท่อมในบางประการ เพื่อคุ้มครองสุขภาพของผู้บริโภคและกลุ่มบุคคลดังกล่าว แต่ไม่ควรกำหนดข้อบังคับที่กระทบกับวิถีชีวิตและชุมชน

ดังนั้นจะเห็นได้ว่ากระท่อมไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย เพราะความรุนแรงของสารภายในเพียงประการเดียว แต่ผิดกฎหมายเพราะขัดแย้งกับผลประโยชน์ที่รัฐสูญเสีย การผสมสูตรร้อยแปดของบรรดาวัยรุ่นเป็นเพียงแรงสนับสนุนเหตุผลว่าใบกระท่อมนั้นไม่ควรเปิดเสรี แต่หากพิจารณาเฉพาะใบกระท่อมแล้วกลับหาเป็นเช่นนั้นไม่ (และถึงแม้มีฤทธิ์กระตุ้นประสาทและกดระบบประสาทก็ดูจะไม่ได้มีความรุนแรงดังเช่นสุราเมรัย หนทางเดินไปข้างหน้าคือการสนับสนุนให้มีการศึกษาพืชใบกระท่อม เพื่อการใช้ประโยชน์ที่ถูกต้องทางการแพทย์มากกว่าผลประโยชน์ทางธุรกิจ

อ้างอิง

https://mnfda.fda.moph.go.th/narcotic/?p=6063
https://mgronline.com/politics/detail/9640000089093

ภาพปก : https://www.prachachat.net/general/news-26363

ประเพณีชิงเปรต แต่ก่อน ใคร ? ชิงเปรต ! เดี๋ยวนี้ยัง “สาเสด เวดนา” กันไหมหนอ ?

ทำบุญเหอ
ทำบุญวันสารท
ยกหมรับดับถาด
ไปวัดไปวา

พองลาหนมแห้ง
ตุกแตงตุกตา
ไปวัดไปวา
สาเสดเวดนา เปรตเหอฯ

หลังเพลงช้าน้องที่ยกมา
เรามาเข้าเรื่องกันเลยที่คำถามเปิดหัวว่า แต่ก่อน ใคร ? ชิงเปรต !
ใจจริงก็สงสัยว่าทำไมต้องไป “ชิง” ของ “เปรต” ด้วย
ในเมื่อตั้งใจจะ “อุทิศ” ไปให้เปรตเหล่านั้นแล้วตั้งแต่ต้น
พบบันทึกของท่านขุนอาเทศคดีฉบับนี้ เป็นอันถึงบางอ้อ…
“…เคยเห็นแต่นักโทษที่เรือนจำ
ปล่อยให้เที่ยวหากินตามลำพัง
กับพวกขอทานต่างแย่งชิงกันเก็บเอาไป
เรียกกันว่า ชิงเปรต เด็กๆ ชอบดูกันเห็นเป็นการสนุกสนาน…”
.

ประเพณีชิงเปรต

“ชิงเปรต” ในปัจจุบันเข้าใจกันว่าเป็นส่วนหนึ่งในประเพณีบุญเดือนสิบ ที่เริ่มต้นด้วยการ “ตั้งเปรต” คือการนำ “หมรับ” (อ่านว่า หฺมฺรับ) อันได้แก่ สำรับกับข้าวคาว-หวาน ขนมเดือนสิบ เช่น พอง ลา บ้า ดีซำ ไข่ปลา รวมถึง ผลไม้ หมาก พลู เงิน และ ดอกไม้ ธูป เทียน ไปอุทิศรวมกันไว้ที่ “ร้านเปรต” หรือบางวัดจัดไว้เป็น “หลาเปรต” เชื่อกันว่าคือการให้ทานโดยสาธารณะแก่วิญญาณเปตะชน(ผู้ละโลกนี้ไปแล้ว)ที่ไม่มีญาติหรือญาติไม่ได้มาร่วมทำบุญ

.การชิงเปรตจะเริ่มขึ้นหลังจากพระสงฆ์ดึงสายสิญจ์ซึ่งเดิมโยงจากบรรดาหมรับที่ตั้งเปรตไว้เพื่อเป็นอาณัติสัญญาณว่า พิธีทางศาสนาได้สมบูรณ์แล้วประการหนึ่ง กับถึงเวลาที่จะสามารถ “ชิงเปรต” กันได้แล้วประการหนึ่ง บรรดาคนหนุ่ม คนสาว ไม่เว้นแม้แต่พ่อเฒ่ามีแก่ที่ต่างจดจ่อรอเวลาอยู่รอบร้านเปรตหลาเปรต ก็กรูกันเข้าฉก ชิง แย่ง ยื้อ กันชุลมุน

.ในพริบตาก็เหลือร้างไว้เพียงหลาหรือร้านที่ว่างเปล่ากับร้อยยิ้ม เสียงหัวเราะ และถ้อยคำอธิษฐานก่อนแบ่งปันกันรับประทาน เพราะต่างก็มีความเชื่อว่าจะเป็นสิริมงคล บ้างก็เก็บไว้เพื่อนำไปโปรยในไร่นาหวังให้ผลอาสินผลิช่อออกลูกอุดมสมบูรณ์ ลูกหลานบ้านไหนป่วยไข้บ่อย บนบานกันไว้ว่าหากหายจะพาไปชิงเปรต ก็มี (ข้อมูลจากคณะทำงาน U2T ตำบลโมคลาน)

.เอาเข้าจริงแล้ว

บุญเดือนสิบของเมืองนครศรีธรรมราช
ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ
.
ส่วนที่ระบุว่าเป็นอะไรๆ เทือกนี้
หากมองให้ชัดจะเห็นว่าเป็นเพียงการสร้างความสนใจต่อสิ่งที่งอกขึ้นใหม่
ทั้งนี้ยังคงต้องมีคำว่าบุญเดือนสิบ หรืออะไรที่มีอยู่ในนั้น เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปฏิบัติตามระบบ
.
จะเห็นว่าบุญนี้เริ่มต้นที่ครอบครัว
โดยใช้วัดเป็นสื่อกลางประกอบพิธี
ดังนั้นเมื่อเอาเข้าจริงจะมีก็เพียงบ้านกับวัดเท่านั้น
ที่ควรเป็นพื้นที่เป้าหมาย
.
ก็ยังไม่เคยเห็น
ว่าหน่วยงานใดจับจุดเสริมแรงได้ถึงแก่นพิธีกรรมในวัด
ซึ่งส่วนตัวมองว่า
การไร้แรงแห่งรัฐลงถึงแก่นสาระของบุญเดือนสิบนี้
เป็นเรื่องที่ดี และดีมากด้วย
เพราะทุกบ้าน – ทุกวัด
จะยังสามารถรักษาขนบธรรมเนียม
จารีตรูปรอยของแต่ละพื้นที่ได้อย่างมั่นคง
.
มาถึงตรงนี้จะเห็นว่าสิ่งนี้มีคุณจริง
จึงไม่มีทีท่าว่าจะเลื่อนลอย
ถูกค้ำยันด้วยจิตสำนึกของผู้คน
มิหนำซ้ำตัวมันเองก็หยั่งรากนี้ลงถึงก้นบึ้งของวิญญาณ
กับทั้งยังมีกลไกทลายเปลือกปลอมบางประการ
และสถาปนาความเป็นลูกหลานอย่างเสมอตัวถ้วนหน้า
ใครจะยิ่งใหญ่คับฟ้ามาจากไหน
กลับบ้าน ถึงวัด ก็ต้องกลายเป็นลูกหลานไปโดยปริยาย
ติดระบบระเบียบ อุกอาจหาญกล้าอย่างไร
ก็ต้องจำนนต่อลักษณะวิธีของสาธารณชนอยู่นั่นเอง
.
บุญเดือนสิบจึงตัดขาดจากงานเดือนสิบ
การรื่นเริงที่ละเลงละลานอยู่ทั่วไปนี้เป็นอย่างหลัง
มองแง่ดีเป็นการรองรับผู้คนที่เดินทางกลับบ้าน
ให้ได้ทำกิจกรรมร่วมกันนอกบ้าน
.
เมื่อแรกคิดการเมื่อเกือบร้อยปีก่อน
ท่านผู้ริเริ่มอาจคิดเห็นว่าวิถีนี้ไม่ควรจะแตะก็เป็นได้
จึงเลือกพื้นที่จัดงานครั้งแรกที่สนามหน้าเมือง
และคงเป็นกุศลที่ท่านทั้งหลายนั้นเลือกถูก
.
บุญเดือนสิบจึงยังคงเป็นบุญเดือนสิบ
และงานเดือนสิบก็ปล่อยให้เป็นส่วนของงานเดือนสิบไป
เพราะบางอย่าง ยิ่งส่งเสริม ยิ่งสาบสูญฯ