พระอนุรักษ์ รัฐธรรม  สอนคน ชี้ธรรม นำปัญญา ตามคำสอนพระศาสดา คนต้นแบบเมืองนคร

ผู้ที่มีจิตสำนึกที่ดี ดำเนินชีวิตที่ดีงาม ย่อมได้รับการกล่อมเกลาจิตใจ ถูกปลูกฝังคุณธรรมตั้งแต่วัยเด็ก โดยยึดหลักคำสอนทางศาสนาเป็นแนวทางในการใช้ชีวิต เป็นหนทางในการค้นพบความสุข ทางนครศรีสเตชั่นได้รับเกียรติจากพระอาจารย์อนุรักษ์ รัฐธรรม มาบอกเล่าเกี่ยวกับโครงการค่ายเรียนรู้คุณธรรมจริยธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน โดยใช้ต้นทุนที่มีอยู่คือ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร มาเป็นรากฐานในการสอนธรรมะ สอนคน ชี้ธรรม นำปัญญา ตามคำสอนพระศาสดา

สนใจศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาตั้งแต่วัยเด็ก

            พระอาจารย์อนุรักษ์ เล่าให้ฟังว่า ได้รับการปลูกฝังเกี่ยวกับพระพุทธศาสนามาตั้งแต่วัยเด็ก ทางบ้านพาไปวัดเป็นประจำ การที่มีโอกาสได้ไปวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารครั้งแรกเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต ซึ่งในตอนที่ท่านไปนั้นตรงกับช่วงที่ทางวัดจัดงานใหญ่พอดี ขากลับได้รับหนังสือที่ทางวัดแจกให้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ เนื้อหาอ่านเข้าใจง่าย มีรูปภาพประกอบเหมาะสำหรับเด็ก

การไปวัดในครั้งนั้นทำให้พระอาจารย์รู้สึกประทับใจมาก ตั้งแต่นั้นมาจึงเริ่มศึกษาประวัติพระพุทธเจ้า ตั้งปณิธานว่าสักวันหนึ่งจะต้องบวชให้ได้ หลังจากเรียนจบระดับชั้นประถมศึกษา พระอาจารย์มีโอกาสได้บวรเป็นสามเณรเกือบ 4 ปี จนได้นักธรรมชั้นเอก

หลังจากสึกออกมาได้ศึกษาต่อจนจบระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จากนั้นทำงานค้าขายเปิดร้านขายของชำอยู่ที่กรุงเทพมหานคร จนถึงเวลาที่พระอาจารย์เห็นสมควรแล้วว่าต้องตอบแทนพระคุณพ่อแม่ เดิมทีคุณพ่อของพระอาจารย์อนุรักษ์บวชเป็นพระภิกษุ ซึ่งท่านมรณภาพไปแล้ว ด้วยเหตุนี้พระอาจารย์จึงตัดสินใจเดินทางกลับมาบวชที่วัดมะม่วงปลายแขน จ. นครศรีธรรมราช

เมื่อบวชเป็นพระภิกษุได้หนึ่งพรรษา พระอาจารย์ค้นพบว่าการสวดมนต์และการปฏิบัติธรรม ทำให้จิตใจสงบ ไม่สับสนวุ่นวาย หลังจากนั้นเป็นต้นมาได้บวชมาเรื่อยๆ จนกระทั่งได้มาจำพรรษาที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร มีโอกาสได้ศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (สถาบันการศึกษาของสงฆ์) ปัจจุบันพระอาจารย์บวชมานานกว่า 10 พรรษา

คติการใช้ชีวิตของท่าน คือ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ต้องทำให้ดีที่สุด ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงเกิดคำถามขึ้นว่า จะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากสิ่งที่ได้เรียนรู้และศึกษามา

โครงการค่ายคุณธรรมจริยธรรม โดยใช้ต้นทุนที่มีของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

พระอาจารย์เริ่มทำโครงการให้ความรู้ทางพระพุทธศาสนาตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 ด้วยความที่พระอาจารย์มีโอกาสได้เป็นวิทยากรอบรมให้แก่นักเรียนและเยาวชน จึงเห็นว่าการนำธรรมะไปเผยแผ่กับเยาวชน ซึ่งเป็นอนาคตของชาติเป็นเรื่องที่ดีและมีประโยชน์ เพราะเยาวชนที่เติบโตโดยมีคุณธรรมจะช่วยให้สังคมเจริญไปในทิศทางที่ดีงาม

พระอาจารย์อนุรักษ์จึงได้เชิญชวนพระภิกษุรูปอื่นให้มาร่วมเป็นวิทยากร ก่อตั้งเป็นค่ายคุณธรรมจริยธรรมที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร สถานที่แห่งนี้ไม่เพียงแต่เป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญทางศาสนาพุทธ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการจัดอบรมค่ายคุณธรรมอีกด้วย สามารถเรียนรู้หลักธรรมผ่านทุกสิ่งทุกเรื่องราวที่อยู่ในวัด มีความพร้อมทั้งในเรื่องสถานที่ อาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ

เมื่อพูดถึงค่ายคุณธรรม จริยธรรม ส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยมีใครสมัครใจเข้าร่วม คิดว่าเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ พระอาจารย์ให้ความเห็นว่า การจัดกิจกรรมนั้นต้องมีความน่าสนใจ ไม่ทำให้เด็กรู้สึกเบื่อหน่าย กิจกรรมทั้งหมดของค่ายถูกคิดค้นโดยพระอาจารย์อนุรักษ์ ซึ่งท่านให้ความเห็นว่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็ก ต้องรู้ว่าเด็กมีความต้องการอะไร สนใจเรื่องอะไร

ทุกกิจกรรมต้องให้เด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วม แน่นอนว่าโครงการค่ายคุณธรรม จริยธรรมมีหลักสูตรการจัดฝึกอบรมและรูปแบบกิจกรรมไว้อยู่แล้ว บางครั้งพระอาจารย์ใช้วิธีให้เยาวชนเสนอความคิดเพื่อออกแบบกิจกรรมที่ต้องการจะทำ เพื่อเพิ่มความสนุกสนาน และมีช่วงเวลาให้เด็กๆ ได้ผ่อนคลาย

นอกจากการฝึกปฏิบัติธรรมแล้ว กิจกรรมถามตอบและการเล่าเรื่องเป็นวิธีที่ช่วยกระตุ้นให้เด็กได้คิดวิเคราะห์และคิดตาม เพื่อให้ตระหนักถึงการทำความดีละเว้นความชั่ว ดำรงชีวิตอย่างมีศีลธรรม ไม่ได้มีเฉพาะเด็กและเยาวชนเท่านั้นที่สามารถเข้าร่วมโครงการค่ายคุณธรรมนี้ได้ ไม่ว่าวัยใดก็สามารถเข้าร่วมได้ เพราะผู้ใหญ่เองก็ต้องหาที่พึ่งพิงทางใจเช่นกัน

เรียนรู้หลักธรรมผ่านพระบรมธาตุเจดีย์ จุดศูนย์กลางที่เชื่อมโยงจิตใจเด็กและเยาวชนให้เข้าถึงธรรมะมากขึ้น

การปลูกฝังคุณธรรมต้องเริ่มต้นกันตั้งแต่วัยเด็กเพื่อให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและคุณธรรม พระอาจารย์เน้นสอนให้เด็กๆ เห็นธรรมะที่แท้จริงผ่านธรรมชาติ เห็นความสำคัญของทุกสิ่งรอบตัว เห็นคุณค่าของชีวิต เมื่อเด็กเกิดความเข้าใจก็จะเคารพในตัวเองและผู้อื่น รู้ว่าชีวิตนี้เมื่อเกิดมาแล้วต้องทำความดี สร้างประโยชน์ให้แก่ตัวเองและผู้อื่น อย่างประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ นอกจากความเชื่อและความศรัทธาแล้ว อีกนัยหนึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามัคคีปรองดองกัน แต่ละคนมีบทบาทหรือความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันด้วยประเพณี มีความมุ่งมั่นแน่วแน่ในการน้อมถวายผ้าแก่พระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งผ้าที่ห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์เปรียบเสมือนการปกป้องดูแลพระรัตนตรัย

คนเราจะเกิดปัญญาได้นั้น ต้องเจอกับปัญหาก่อน อุปสรรคต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนล้วนเผชิญ เริ่มจากการยอมรับให้ได้และทำความเข้าใจในปัญหาเสียก่อน ความคิดและจิตใจคือสิ่งที่สำคัญที่ทำให้เกิดความสุข ใช้ชีวิตอย่างมีสติไม่ประมาท มีความอดทนที่จะต่อสู้กับปัญหา และมีความกล้าหาญในการนำพาตัวเองให้ชนะต่ออุปสรรคได้

ดูคลิปสัมภาษณ์ พระอนุรักษ์ รัฐธรรม ย้อนหลัง ได้ที่นี่

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ

คุณเฉลิม จิตรามาศ ประชาสัมพันธ์ศาสนา สารานุกรมวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร คนต้นแบบเมืองนคร

ศาสนามีความสำคัญกับการพัฒนาชุมชนและการจัดระเบียบสังคม บางส่วนของวัฒนธรรมมีรากฐานมาจากศาสนา ศาสนสถานเป็นศูนย์กลางของชุมชนที่หลอมรวมศรัทธาของผู้คนในชุมชนเข้าไว้ด้วยกัน แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจถึงแก่นแท้ของศาสนา สามารถรักษาคุณค่าและสืบทอดไปสู่คนรุ่นหลังได้ อย่างที่ฅนต้นแบบเมืองนครท่านนี้เข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตนเองเป็นอย่างดี ทำงานอย่างเต็มความสามารถ ขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ในวัดให้เป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม คุณเฉลิม จิตรามาศ ประชาสัมพันธ์ศาสนา สารานุกรมวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

ชีวิตวัยเด็กที่เติบโตมากับวัด และความชื่นชอบทางด้านพุทธศิลป์

คุณเฉลิม จิตรามาศ เกิดในปีพ.ศ. 2499 เป็นคนนครศรีธรรมราชแต่กำเนิด ชีวิตในวัยเด็กมีความใกล้ชิดกับวัด เรียกได้ว่าเข้าออกวัดบ่อยราวกับเป็นบ้านอีกหลัง ทำหน้าที่เป็นศิษย์วัดเดินตามพระบิณฑบาตรแทบทุกเช้า หลังจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4  คุณเฉลิมได้บวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จากนั้นบวชเรียนนักธรรมชั้นตรีและภาษาบาลีประมาณปีกว่า แล้วย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดยะลาธรรมาราม จ.ยะลา

หลังจากสอบนักธรรมชั้นโท จึงได้เดินทางกลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดมะม่วงปลายแขน จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นวัดแถวบ้านที่คุ้นชินตั้งแต่เด็ก จากนั้นถูกส่งไปเรียนบาลีที่วัดธรรมบูชา จ.สุราษฎร์ธานี และสอบได้นักธรรมชั้นเอกในเวลาต่อมา ปีพ.ศ. 2514 เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์จึงได้บวชเป็นพระภิกษุ และถูกส่งตัวไปที่กรุงเทพมหานคร เข้าศึกษาหลักสูตรพระปริยัติธรรม

นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณเฉลิมมีโอกาสได้ศึกษาเรื่องโบราณสถาน และความรู้ทางด้านพุทธศิลป์ตามศาสนสถานต่างๆ จนเกิดเป็นความชื่นชอบ และสามารถถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมาสู่พุทธศาสนิกชนได้

จากงานช่างซ่อมวิทยุและโทรทัศน์ สู่ประชาสัมพันธ์วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

หลังจากบวชเป็นพระภิกษุได้สามพรรษาก็ได้ลาสิกขา และตัดสินใจเรียนการซ่อมวิทยุและโทรทัศน์เพื่อยึดเป็นอาชีพหลัก จากนั้นได้เดินทางไปทำงานที่ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา และกลับนครศรีธรรมราช เพื่อไปเป็นครูผู้ช่วยสอนซ่อมวิทยุและโทรทัศน์ คุณเฉลิมได้รับการทาบทามจากลูกศิษย์ที่มาเรียนให้ไปร่วมงานกับทางบริษัทระหว่างที่ทำงานอยู่ที่นั่นก็ได้มีโอกาสได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่ต่างประเทศ หลังจากที่ทำงานสักระยะหนึ่งจึงตัดสินใจลาออกจากบริษัท เพื่อมาเปิดร้านซ่อมวิทยุและโทรทัศน์เอง

ในช่วงที่กลับมาอยู่นครศรีธรรมราชก็ได้ทราบว่าประชาสัมพันธ์วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารคนปัจจุบัน(ในตอนนั้น)ตั้งใจจะลาออก แต่ไม่สามารถลาออกได้ เนื่องจากต้องรอให้มีคนมารับช่วงต่อ คุณเฉลิมได้รับคำชักชวนจากบุคคลที่ช่วยประสานงานให้กับทางท่านเจ้าคุณเพื่อให้มารับตำแหน่ง เมื่อโอกาสมาถึงจึงไม่รีรอที่จะตอบรับ ตลอดระยะเวลาในการทำงานคุณเฉลิมได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ นำความรู้จากช่วงที่บวชเป็นพระภิกษุมาประยุกต์ใช้กับงานอย่างเหมาะสม และคอยรับมือกับปัญหาต่างๆ อะไรที่ไม่ถูกต้องก็พยายามปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามแนวทางที่ควรจะปฏิบัติ

มุมมองความคิด และแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต

คุณเฉลิมเชื่อว่าแต่ละคนมีบทบาทหน้าที่ต่างกัน ประชาสัมพันธ์วัดไม่ใช่แค่การขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ในวัด แต่ต้องหัดสังเกตุเรียนรู้ เพื่อนำไปปรับปรุงพัฒนาการทำงานให้ดีขึ้น วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเป็น ศาสนสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของภาคใต้ ที่พุทธศาสนิกชนให้ความเคารพอยากไปสักการะพระบรมธาตุเจดีย์สักครั้งหนึ่งในชีวิต ทำให้ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่เดินทางไปเยี่ยมชม โดยเฉพาะในช่วงที่ทางวัดมีการจัดงานแห่ผ้าขึ้นธาตุในวันมาฆบูชาของทุกปี

ถือเป็นงานบุญประจำปีที่เนืองแน่นไปด้วยพุทธศาสนิกชนทั้งจากนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์เป็นประเพณีที่กระทำผ่านความเชื่อและศรัทธาว่าการที่ได้ทำบุญในครั้งนี้เป็นมหาบุญใหญ่ และส่งเสริมความเป็นสิริมงคลในการใช้ชีวิต กิจกรรมที่จัดขึ้นภายในวัดจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี ส่วนหนึ่งก็เพื่ออำนวยความสะดวกแก่พุทธศาสนิกชนที่ตั้งใจมาร่วมทำบุญในครั้งนี้ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ดี ให้ได้รับความอิ่มบุญ อิ่มเอมใจกันถ้วนหน้า

มุมมองการใช้ชีวิตของคุณเฉลิมในวัยใกล้ 70  ให้ความเห็นที่น่าสนใจไว้ว่า ความเชื่อของคนเป็นเรื่องที่ยากจะเปลี่ยนแปลง แต่ละคนจะมีชุดความเชื่อที่ยึดมั่นกันมานาน ได้รับการปลูกฝังมาจากครอบครัวและชุมชน ความเชื่อที่แข็งแกร่งมักจะหยั่งรากลึกหลอมรวมกลายเป็นส่วนหนึ่งของบุคคลนั้น แสดงออกให้เห็นทางการกระทำ หากพูดถึงสิ่งที่เปรียบเสมือนหลักเมืองของศาสนาพุทธ นั่นคือ หลักธรรม เพราะแต่ละศาสนามีความเชื่อและหลักปฏิบัติที่ต่างกัน เราต้องเข้าใจความแตกต่าง แม้แต่คนในศาสนาเดียวกันก็ยังเชื่อและปฏิบัติต่างกัน อย่าเพิ่งเอาความคิด ความเชื่อของตัวเราเองไปยัดเยียดให้คนอื่น ลองตั้งใจรับฟังพยายามมองโลกอย่างเป็นกลางให้มากที่สุด หัดเรียนรู้เรื่องอื่นๆ ที่เราไม่เคยรู้มาก่อน เพื่อให้เข้าใจคนอื่นมากขึ้น แม้จะคิดต่างกันแต่ต้องเคารพซึ่งกันและกัน จึงจะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

เพราะชีวิตไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน จึงต้องใช้ชีวิตอย่างมีสติ เพื่อให้เกิดปัญญา รู้จักขบคิด วิเคราะห์แยกแยะในมิติต่างๆ ของข้อมูลที่ได้รับมา เชื่ออย่างมีเหตุมีเหตุ ควบคู่กับการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตนให้ดียิ่งขึ้น การพัฒนาจิตใจให้ทันกับความทันสมัยที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลาของชีวิต คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นนั่นเอง

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ

คุณ ศุภชัย แกล้วทนงค์  ศิลปะสร้างสรรค์ สร้างบ้านสร้างเมือง ครีเอทีฟนคร ฅนต้นแบบเมืองนคร

ความคิดสร้างสรรค์แทรกอยู่ในทุกมิติของวิถีชีวิต เห็นได้ชัดจากศิลปวัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษณ์ในแต่ละพื้นที่ ในขณะที่ช่องว่างระหว่างปัจจุบันกับอดีตห่างกันมากขึ้น นับเป็นเรื่องดีที่มีผู้ให้ความสำคัญในการเชื่อมโยงความทันสมัยและความดั้งเดิมไว้ด้วยกันผ่านศิลปะสร้างสรรค์ อย่างที่ฅนต้นแบบเมืองนครศิลปินชาวใต้ท่านนี้ ได้นำเอาความคิดสร้างสรรค์ ประสบการณ์ และกระบวนการคิด มาผสานกับอัตลักษณ์ท้องถิ่น สร้างชีวิตชีวาให้กับวงการศิลปะและสถาปัตยกรรมท้องถิ่นของเมืองนครศรีธรรมราช คุณ ศุภชัย แกล้วทนงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มครีเอทีฟนคร

ความชื่นชอบเกี่ยวกับศิลปะ และจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิต

คุณศุภชัย เกิดที่อำเภอเชียรใหญ่ ชื่นชอบศิลปะตั้งแต่วัยเด็ก ชอบวาดรูป และทำงานประดิษฐ์ต่างๆ เมื่อจบระดับชั้นมัธยมศึกษา ได้เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่คณะมัณฑนศิลป์ สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่นี่ทำให้คุณศุภชัยได้เรียนรู้พื้นฐานเกี่ยวกับงานออกแบบ ในชั้นปีที่ 3 ที่ได้เรียนวิชาออกแบบยานยนต์ ก็ได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจเลือกอาชีพหลังจากเรียนจบ

หลังจากที่ทำงานในสายงานนี้มาระยะหนึ่งก็อยากทำให้ถึงที่สุด ความคิดของคุณศุภชัยในตอนนั้นมองว่า ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่เป็นต้นแบบหรือผู้นำด้านการออกแบบยานยนต์ จึงอยากที่จะเปลี่ยนมาทำงานเชิงสร้างสรรค์ในอีกรูปแบบหนึ่งนั่นคือ การออกแบบงานหัตถกรรม คุณศุภชัยได้ไปเดินงานแสดงสินค้าหัตถกรรมที่จัดขึ้น จนไปเจอกับผลงานการออกแบบหัตถกรรมโดยบริษัทคนไทยที่โดนใจอย่างมาก เกิดเป็นแรงบันดาลใจบางอย่าง หากจะเป็นต้นแบบของงานออกแบบ ก็ต้องเริ่มจากสิ่งที่มีอย่างวัสดุท้องถิ่น งานหัตถกรรมพื้นบ้าน แล้วใส่งานดีไซน์เข้าไป การเปลี่ยนสายงานครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตก็ว่าได้

จากนั้นคุณศุภชัยได้ทำงานด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ เช่น ของที่ระลึก ของตกแต่งบ้าน ของใช้ในโรงแรมให้กับ Banyan Tree Gallery ในเครือโรงแรม Banyan Tree ซึ่งมีสาขาอยู่ทั้งในไทยและต่างประเทศ ตลอดระยะเวลาการทำงานกว่า 10 ปีครึ่ง การที่ได้มีโอกาสทำงานออกแบบหัตถกรรมร่วมกับผู้ประกอบการในชุมชนและท้องถิ่นในประเทศเพื่อนบ้านเป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจอย่างมาก ได้เรียนรู้งานผ้าทอ งานไม้ และงานเซรามิก วิธีการประสานงานกับชุมชน ผลงานที่ออกมาจึงเป็นลูกผสมระหว่างความเป็นไทยและสากล

เมื่อนักออกแบบอิสระทำงานร่วมกับชุมชน

หลังจากที่ลาออกจากงาน คุณศุภชัยก็ได้ย้ายกลับมาอยู่นครศรีธรรมราช เหตุผลเพราะ อยากให้ลูกเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ไม่ต้องเผชิญกับความวุ่นวายของสังคมเมืองใหญ่ อยากมีเวลาดูแลคุณพ่อคุณแม่ให้มากกว่าเดิม อิ่มตัวกับการใช้ชีวิตในเมืองหลวง และอยากใช้ความรู้และประสบการณ์มาทำงานร่วมกับชุมชน คุณศุภชัยมองว่า นครศรีธรรมราชมีต้นทุนทางทรัพยากร งานหัตถกรรม และวัฒนธรรมที่สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดได้ ช่วงแรกที่กลับมาอยู่บ้านได้ผันตัวเองมาเป็นนักออกแบบอิสระ ได้เข้าอบรมโครงการอัตลักษณ์สร้างสรรค์ จัดโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เรียนรู้การทำหัตถกรรมท้องถิ่นโดยเฉพาะของนครศรีธรรมราช ทำให้มีโอกาสได้เจอกับช่างทำกรงนก โจทย์ของโครงการคือ นักออกแบบต้องจับคู่กับผู้ประกอบการท้องถิ่น แล้วสร้างสรรค์ผลงานโดยการสื่ออัตลักษณ์ท้องถิ่นลงไปในชิ้นงานนั้น จึงออกแบบกรงนกซึ่งต่อยอดจากทรงเทริดมโนราห์

ในปี 2015 ได้เข้าร่วมการประกวด Innovative Craft Award จัดโดยศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ในโจทย์แรงบันดาลใจจากมรดกภูมิปัญญา ใช้เทคนิคดั้งเดิมในการทำกรงนกมาออกแบบโคมไฟโดยเลียนแบบรูปทรงของ “ลูกจาก” พื้นท้องถิ่นภาคใต้ ผลงานที่สร้างสรรค์โดยคุณศุภชัยในครั้งนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศจนกลายเป็นที่รู้จักมีชื่อเสียงโด่งดัง ทำให้คนอื่นๆ เริ่มหันมามองการพัฒนางานวัสดุจากธรรมชาติในการนำมาสร้างสรรค์งานสินค้าใหม่ จากนั้นคุณศุภชัยได้จดทะเบียนบริษัทและนำผลงานร่วมสมัยจากการประกวด ซึ่งอาศัยทักษะฝีมือของช่างทำกรงนกในท้องถิ่นมาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ตลอดระยะเวลา 6 ปี ชิ้นงานมีการพัฒนามาเรื่อยๆ จุดเริ่มต้นจากกรงนก เป็นโคมไฟ เฟอร์นิเจอร์ ต่อยอดเป็นงานตกแต่งทั้งชิ้นเล็กและใหญ่ หลังจากที่ได้ทำงานร่วมกับชุมชนมาสักระยะ ทำให้เห็นว่าการทำงานของนักออกแบบโดยใช้วัสดุจากชุมชนสามารถตอบโจทย์ในเชิงธุรกิจได้จริง

การรวมกลุ่มครีเอทีฟนคร ผ่านงานศิลปะสร้างสรรค์ สร้างบ้านสร้างเมือง

กลุ่มครีเอทีฟนครเกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์จากหลากหลายสาขา ก่อนหน้านี้ทางคุณศุภชัยเองก็ต้องการค้นหาว่าที่นครศรีธรรมราชมีใครบ้างที่ทำงานด้านนี้ แค่รวมกลุ่มกันเฉยๆ คงไม่ตอบโจทย์ จำเป็นจะต้องมีการทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของกลุ่มนักสร้างสรรค์เมืองนคร เดิมทีความคิดแรกอยากที่จะทำ Art Map เพื่อปักหมุดแกลอรี่ สตูดิโองานออกแบบ แต่พอมาคุยกันอีกทีก็อยากให้สมาชิกมีส่วนร่วมด้วยกัน จึงมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น พื้นที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ นิทรรศการศิลปะจัดวาง กิจกรรมเวิร์คช้อป โดยใช้งานสร้างสรรค์เป็นตัวนำ ไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบ งานสถาปัตยกรรม งานศิลปะ หรืองานสร้างสรรค์อื่นๆ เช่น นักจัดดอกไม้  นักเขียน Food Stylist สัญลักษณ์ของกลุ่มครีเอทีฟนครมีนัยยะที่ซ่อนอยู่ รูปแผนที่จังหวัดนครศรีธรรมราชสื่อให้เห็นอัตลักษณ์ของเมืองนคร ซึ่ง CREATIVE NAKHON  เป็นการสร้าง CREATIVE SPACE ขึ้นมา และสัญลักษณ์ก็ดูคล้ายกับการยิงปืน (Shooting) ที่สื่อความหมายถึงการพุ่งไปสู่เป้าหมายนั่นเอง

ทางกลุ่มจัดงานครั้งแรกที่ “ปารีทัส อาร์ต คลับ (Paretas Art Club)” อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดย 13 ศิลปิน ปีที่ 2 จัดที่ อำเภอพรหมคีรี “สีดิน สตูดิโอ (See-Din Studio)” ภายใต้คอนเซ็ปท์ The Fruits Story สื่อให้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของเมืองนคร ในปีที่ 3 ทางกลุ่มครีเอทีฟนครได้รับเชิญจากทางสถาปนิกทักษิณให้ร่วมงาน “อาษา มา-หา นคร (Asa ma-ha nakhon)”  งานนิทรรศการทางสถาปัตยกรรมครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของเมืองนคร ภายใต้ธีม “ค้นหาคุณค่าของเมืองนคร”  ในแต่ละปีทางกลุ่มครีเอทีฟนครจะคัดเลือกพื้นที่ในการจัดงาน

ก่อนหน้านี้มีแนวคิดที่อยากจะให้สถานที่ในชุมชนถูกพัฒนาไปในเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เมื่อเข้าสู่ปีที่ 4  ในปี 2021 นับเป็นความโชคดีตรงที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มีโครงการ “ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative District)” โครงการยกระดับย่านสำคัญต่างๆ โดยใช้ศิลปะเข้ามาผสานไปกับวิถีชีวิตชุมชน ซึ่งย่านเหล่านี้มีร่องรอยประวัติศาสตร์เป็นต้นทุนอยู่แล้ว นครศรีธรรมราช ย่านท่ามอญ และท่าวัง ก็เป็นหนึ่งในย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์นำร่อง 15 จังหวัด เตรียมจัดกิจกรรมเทศกาลงานสร้างสรรค์ ครีเอทีฟนคร ครั้งที่ 4 ภายใต้ธีม RE-SET  คิดใหม่ ในย่านเก่า ในรูปแบบที่ให้ผู้เข้าชมได้มีประสบการณ์ร่วมกับพื้นที่

แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ต้องหันกลับมาทบทวน เตรียมพร้อมที่จะก้าวเดินไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ อีกส่วนหนึ่งคือ การมองเห็นคุณค่าของสิ่งดั้งเดิมที่มีอยู่ นำมาจัดระเบียบใหม่ นำเสนอใหม่ เกิดการพัฒนาเชิงสร้างสรรค์ ความคาดหวังของกลุ่มครีเอทีฟนคร คือ อยากเห็นร้านค้าเพิ่มขึ้น ชุมชนมีชีวิตชีวามากขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น กลายเป็นย่านท่องเที่ยวใหม่ในนครศรีธรรมราช

แรงบันดาลใจใหม่ๆ จากสิ่งที่มีในชุมชน ผสานเข้ากับความคิดสร้างสรรค์และประสบการณ์ พัฒนาต่อยอดผลักดันงานหัตถกรรมท้องถิ่นสู่ระดับสากล สร้างอาชีพเพิ่มรายได้ให้ผู้คนในท้องถิ่น เป็นการออกแบบชีวิตที่สมดุล ชีวิตที่มีความสุข การรวมกลุ่มของนักออกแบบ นักสร้างสรรค์ในพื้นที่ จึงไม่ใช่แค่การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเท่านั้น เป็นการสร้างและส่งต่อแรงบันดาลให้แก่คนในชุมชนเช่นกัน

ติดตามคลิปสัมภาษณ์ คุณ ศุภชัย แกล้วทนงค์  ย้อนหลังได้ที่นี่

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ

 

คุณ พงศธร ส้มแป้น สืบสานหนังตะลุง มุ่งมั่นรักษาวัฒนธรรม ฅนต้นแบบเมืองนคร

หนังตะลุง ศิลปะการแสดงอันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของไทย ที่สะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นภาคใต้แต่ละยุคสมัย เมื่อเวลาผ่านไปน้อยคนนักที่รู้จักและมีโอกาสได้ชมศิลปะพื้นบ้านนี้ อย่างการแกะรูปหนังตะลุงต้องอาศัยช่างฝีมือผู้มีความชำนาญ ส่วนการแสดงหนังตะลุงไม่ใช่ฝึกกันได้ง่ายๆ และต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายคนหลายองค์ประกอบ เช่นเดียวกับแขกรับเชิญฅนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่สนใจวัฒนธรรมพื้นบ้าน เริ่มจากความชื่นชอบสู่ความตั้งใจในการสืบสานหนังตะลุงให้เป็นที่รู้จัก คุณพงศธร ส้มแป้น เยาวชนดีเด่นแห่งชาติสาขาศิลปวัฒนธรรม

ความชื่นชอบ พรสวรรค์ และแรงบันดาลใจ

คุณพงศธร เล่าว่า จากคำบอกเล่าของคุณแม่นั้นคุณพงศธรชื่นชอบหนังตะลุงตั้งแต่วัยเด็ก ช่วงวัยประถมมีโอกาสได้ไปทัศนศึกษาที่วัดพระศรีมหาธาตุวรวิหารนครศรีธรรมราชกับทางโรงเรียน ได้นำเงินค่าขนมทั้งหมดที่คุณแม่ให้ไปซื้อหนังตะลุง ส่วนตัวชอบฟังรายการแสดงหนังตะลุงทางสถานีวิทยุที่ออกอากาศทุกวัน โดยที่คุณพ่อมักจะวาดหนังตะลุงลงบนกระดาษให้คุณพงศธรเล่น เมื่อรู้ว่าตัวเองชอบหนังตะลุงอย่างจริงจัง จึงเริ่มติดตามการแสดงอยู่เรื่อยๆ ตามโอกาสต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นหนังพากษ์เทปที่บันทึกเสียงการแสดงหนังตะลุง พร้อมกับการเชิดหนังตะลุง การแสดงรูปแบบนี้หาดูได้ง่ายกว่าหนังตะลุงพากย์สดที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงกว่ามาก คุณพงศธรค่อยๆ ซึมซับศิลปะการแสดงหนังตะลุงโดยไม่รู้ตัว ถึงขนาดที่ว่าสามารถแสดงได้โดยที่ไม่เคยดูเทปนั้นมาก่อน

ช่วงอายุประมาณ 11-12 ปี คุณพ่อพาไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์บ้านหนังตะลุงสุชาติ ทรัพย์สิน (คุณสุชาติ หรือที่รู้จักในนาม “หนังสุชาติ” ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดงพื้นบ้านหนังตะลุง) ในตอนนั้นคุณพ่อได้ฝากฝังคุณพงศธรให้เป็นลูกศิษย์กับหนังอาจารย์สุชาติ เริ่มฝึกฝนกับหนังพากย์เทปมาเรื่อยๆ จนวันหนึ่งได้รับงานแรกในชีวิตมีญาติเป็นผู้ว่าจ้าง สร้างความตื่นเต้นให้กับคุณพงศธรอย่างมาก จากนั้นได้มีโอกาสแสดงหนังตะลุงตามงานศพ เมื่อคุณพ่อเห็นพรสวรรค์ทางด้านนี้จึงสร้างโรงหนังตะลุงขึ้นเพื่อให้ฝึกฝน เมื่อเข้าศึกษาระดับชั้นมัธยมต้น มีอาจารย์ในโรงเรียนท่านหนึ่งได้เปิดสอนวิชาหนังตะลุง คุณพงศธรจึงไม่พลาดโอกาสนี้ ในช่วงแรกอาจารย์ให้ศึกษาผ่านรูปแบบหนังตะลุงพากย์เทป ระหว่างนั้นคุณพงศธรก็หารายได้พิเศษผ่านการแสดงหนังตะลุงพากย์เทปเช่นกัน

จุดเปลี่ยนในชีวิตกับการตัดสินใจครั้งสำคัญ เพื่อยืดหยัดในการแสดงหนังตะลุง

วันหนึ่งคุณพงศธรได้ข่าวว่ามีคณะหนังตะลุงจากพัทลุงมาทำการแสดงแถวละแวกบ้าน จึงได้มีโอกาสทำความรู้จักกับหนังอาจารย์ทวี พรเทพ คำพูดของอาจารย์ที่เชิญชวนให้แวะไปที่บ้าน เหมือนเป็นการจุดไฟในการแสดงหนังตะลุงให้ลุกโชนขึ้น ช่วงปิดเทอมปีนั้นคุณพงศธรตัดสินใจเดินทางไปหาหนังอาจารย์ทวีเพื่อฝากตัวเป็นลูกศิษย์และฝึกฝนอย่างจริงจัง ในช่วง 20 วันแรกอาจารย์ให้คุณพงศธรดูการแสดงหนังตะลุงตามงานต่างๆ ของคณะ งานแรกที่ได้แสดงให้กับอาจารย์ทวีคือ งานฉลองเรือพระที่อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี หากช่วงไหนที่ไม่มีงาน อาจารย์ทวีจะพาไปที่ศูนย์การเรียนรู้หอศิลป์หนังตะลุง สถานที่เผยแพร่สืบทอดเรื่องราวเกี่ยวกับหนังตะลุง ก่อตั้งโดยอาจารย์กิตติทัต ศรวงศ์ ครูช่างที่มีความสามารถในการแกะตัวหนังตะลุง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คุณพงศธรได้ฝึกการแสดงหนังตะลุงอย่างจริงจัง แม้ในช่วงเปิดเทอมก็ได้แบ่งเวลาไปฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง

จนมาถึงจุดพลิกผันของชีวิตในวัยประมาณ 15 ปี ทางบ้านไม่สามารถส่งเสียให้เรียนต่อได้ ในขณะที่ทางบ้านยื่นขอเสนอให้ช่วยงานที่บ้าน ทางฝั่งของอาจารย์อยากให้ศึกษาต่อแต่ต้องย้ายไปอยู่ที่พัทลุง คุณพงศธรได้ตัดสินใจเดินทางไปพัทลุงโดยที่ไม่ได้บอกทางบ้าน เมื่อไปถึงก็ได้ทำงานกับคณะหนังตะลุงในตำแหน่งลูกคู่หนัง (ทำหน้าที่เล่นดนตรี) เพื่อเก็บเงินเพื่อส่งตัวเองเรียนที่วิทยาลัยนาฏศิลปพัทลุงโดยมีอาจารย์คอยช่วยเหลือจุนเจือ ที่นั่นมีร้านน้ำชาที่บรรดาคณะหนังตะลุงเกือบ 20 คณะจะมานั่งดื่มน้ำชาและพูดคุยกันทุกเช้า ทำให้คุณพงศธรมีโอกาสได้เจอกับคณะที่ตัวเองชื่นชอบ และเริ่มไปเป็นลูกคู่ให้กับคณะอื่นๆ การแสดงหนังตะลุงแบบจริงจังครั้งแรกเกิดขึ้นที่งานสมโภชเจ้าแม่กวนอิม ในตอนแรกคุณพงศธรตั้งใจจะแสดงหนังตะลุงพากย์เทป แต่พอไปถึงทางผู้จัดงานได้เตรียมโรงหนังตะลุงพร้อมเครื่องดนตรีไว้ให้ คุณพงศธรกับเพื่อนที่ไปด้วยกันจึงตัดสินใจทำการแสดงสด นับเป็นก้าวแรกที่สร้างความตื่นเต้นและประทับใจไม่น้อย

ในช่วงที่เรียนวิทยาลัยนาฏศิลปได้เทอมแรก คุณพงศธรตั้งคำถามกับตัวเองว่า หลังจากเรียนจบแล้วจะทำอะไรต่อไป ตอนนั้นมีความใฝ่ฝันอยากเป็นครูสอนวิชาภาษาไทย ก็มาคิดว่าเมื่อเรียนจบสาขาปี่พาทย์จะสามารถสอนหนังสือได้หรือไม่ จึงตัดสินใจลาออกจากวิทยาลัยเพื่อเข้าเรียนที่โรงเรียนพัทลุงพิทยาคม หลังจากที่มีโอกาสได้ออกโรงแสดงหนังตะลุงแล้ว ต้องผ่านพิธีที่เรียกว่า “ครอบมือหนังตะลุง” เพื่อแสดงการยอมรับนับถือครูหนังแต่ครั้งบุพกาล ถือเป็นการผ่านพิธีโดยสมบูรณ์ หลังจบการศึกษาระดับชั้นมัธยมได้เข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มีโอกาสรู้จักและขอฝากตัวเป็นศิษย์กับอาจารย์จำเนียร คำหวาน นายหนังตะลุงชื่อดังของอำเภอท่าศาลา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของคุณพงศธรนั่นเอง

ดูหนังตะลุงอย่างไรให้สนุกและได้ความรู้

หนังตะลุง เป็นการแสดงเรื่องราวผ่านตัวละครหนังตะลุง แต่ละเรื่องจะถ่ายทอดองค์ความรู้ สะท้อนเรื่องราวต่างกันไป มักจะมีคติสอนใจแฝงอยู่ เนื้อเรื่องที่นำมาแสดงหนังตะลุงมีวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ ตามยุคสมัย ในยุคก่อนได้รับอิทธิพลจากการแสดงรามเกียรติ์ ยุคต้นมีการนำบทละครมาจากวรรณคดีไทย ยุคกลางนำเค้าโครงวรรณกรรมประเภทบทละครนอก มาประพันธ์ใหม่กลายเป็นวรรณกรรมพื้นบ้าน ส่วนยุคปลายเป็นการแสดงหนังตะลุงลูกทุ่งมีการผสมผสานตัวละครในชีวิตจริงจึงไม่มีบทยักษ์ปรากฏ

คุณพงศธร เล่าว่า วรรณกรรมหนังตะลุงได้มาจากการแสดงของอาจารย์หลายท่านที่ตัวเองนับถือ ยังคงเอกลักษณ์เดิมไว้เพื่อเป็นการสืบทอดผลงานของอาจารย์ แต่ก็มีบางส่วนที่เกิดจากการผสมผสานเรื่องราวที่ชอบแทรกเข้ามา เช่น การแสดงบางตอนของคณะที่ชื่นชอบ เค้าโครงวรรณกรรมไทย รวมถึงซีรีย์ต่างประเทศ สำหรับตัวละครหนังตะลุง ส่วนตัวคุณพงศธร แบ่งเป็น 5 หมวด คือ

  • รูปครู เช่น พระอิศวร ฤาษี เป็นตัวละครศักดิ์สิทธิ์
  • รูปยอด เช่น ยักษ์ เจ้าเมือง นางเมือง ขุนผล เป็นตัวละครที่มียศถาบรรดาศักดิ์
  • รูปเดิน เช่น พระเอก นางเอก ตัวร้าย เป็นตัวละครที่ใช้ดำเนินเรื่อง
  • รูปกาก เช่น ไอ้เท่ง หนูนุ้ย ยอดทอง ตัวละครที่เป็นตัวตลก
  • รูปเบ็ดเตล็ด เช่น ต้นไม้ สัตว์ต่างๆ

การที่จะดูหนังตะลุงให้สนุก ผู้ชมต้องตั้งใจชมการแสดง และมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าอยากดูเพื่ออะไร เช่น เพื่อความบันเทิง  เพื่อสะท้อนวิถีชีวิตของคนสังคม เพราะเนื้อหาที่นำมาแสดงของแต่ละคณะนั้นต่างกัน นายหนังแต่ละคนมีความถนัดและรูปแบบการถ่ายทอดไม่เหมือนกัน

การแสดงหนังตะลุงถูกถ่ายทอดผ่านองค์ความรู้ บริบททางสังคม และประสบการณ์ของบรรพชน สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมแต่ละยุคสมัย คงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างมาก หากมรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่นต้องเลือนหายไปตามกาลเวลา ทางเราอยากที่จะเชิญชวนให้ทุกท่านร่วมกันอนุรักษ์และพัฒนาให้คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมไทยเพื่อสืบสานให้คงอยู่ต่อไป

ติดตามคลิปสัมภาษณ์ คุณพงศธร ส้มแป้น  ย้อนหลังได้ที่นี่

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ 092-6565-298 คุณ เกียรติ

 

ดร. สุพัฒพงศ์ แย้มอิ่ม เรียนรู้เพื่อพัฒนาคน ศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ฅนต้นแบบเมืองนคร

การศึกษาเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาชีวิตให้มีศักยภาพ ไม่ใช่แค่การสร้างให้คนมีความรู้เท่านั้น หลายครั้งยังเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างเป้าหมายให้กับชีวิต การศึกษานั้นไม่มีวันสิ้นสุด ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต เช่นเดียวกับฅนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ที่การศึกษานอกจากจะเปลี่ยนชีวิตแล้ว ในบทบาทของนักวิชาการการศึกษาได้นำองค์ความรู้และประสบการณ์ไปใช้พัฒนาชุมชนให้มีศักยภาพในการพึ่งพาตัวเองและร่วมกันพัฒนาประเทศ รวมถึงผลงานในบทบาทของอดีตนักการเมืองท้องถิ่น ดร. สุพัฒพงศ์ แย้มอิ่ม นักวิชาการบริการสังคม เรียนรู้เพื่อพัฒนาคน ศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น

ความยากลำบากในวัยเด็ก เป็นแรงผลักดันให้ชีวิตมีเป้าหมาย

ดร. สุพัฒพงศ์ แย้มอิ่ม อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี พื้นเพเป็นคนนครศรีธรรมราช เกิดที่อําเภอเชียรใหญ่ นอกจากบทบาทหน้าที่ในการเป็นอาจารย์ อีกหนึ่งบทบาทที่คนนครฯ รู้จักคืออดีตนักการเมืองท้องถิ่น ปัจจุบันทำงาทั้งสายการศึกษาและภาคประชาสังคม เป็นคณะทำงานของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นพี่เลี้ยงให้กับหน่วยงานภาคประชาสังคมของทุกจังหวัดภาคใต้

ดร. สุพัฒพงศ์ เติบโตในครอบครัวที่มีอาชีพทำนา แม้ทางบ้านมีฐานะยากจนแต่ด้วยความใฝ่รู้ใฝ่เรียนและการสนับสนุนจากคุณแม่ กลายเป็นแรงผลักดันให้ดร. สุพัฒพงศ์ มีความคิดที่อยากจะทำให้ชีวิตมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงทำตามความใฝ่ฝันของคุณแม่ที่อยากเห็นลูกเรียนจบระดับปริญญาเอก และเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ว่าอยากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยให้ได้ เมื่อเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6  ได้เปลี่ยนความคิดอยากจะเป็นปลัดอำเภอ จึงเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขารัฐศาสตร์การปกครอง

ระหว่างที่เรียนนั้น ดร. สุพัฒพงศ์ ได้ทำงานควบคู่ไปด้วย จากนั้นเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโท หลังจบการศึกษาได้ทำงานที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ประมาณ 7 ปี ในระหว่างนั้นได้เข้าศึกษาในระดับปริญญาเอก สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ควบคู่กับการทำงานเป็นอาจารย์พิเศษ

ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาเอก หลักสูตรรัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยสยาม และเรียนทางด้านนิติศาสตร์ เพราะมีความใฝ่ฝันว่าเมื่อถึงวัยเกษียณอยากที่จะเปิดสำนักงานกฎหมายเพื่อประชาชน

นอกจากนี้ ดร. สุพัฒพงศ์ ยังผลงานทางวิชาการทั้งบทความในวารสารต่างๆ และหนังสือ ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการปกครองท้องถิ่น และยังเป็นวิทยากรให้กับหน่วยงานท้องถิ่น ภาครัฐ และเอกชน นำศาสตร์ที่ร่ำเรียนมาบูรณาการกับงานภาคประชาสังคม ดร. สุพัฒพงศ์ มักจะบอกลูกศิษย์อยู่เสมอว่า ความรู้ที่ได้จากในห้องเรียนแค่ 10%  ที่เหลือต้องรู้จักไขว่คว้า เพราะองค์ความรู้ไม่ได้อยู่แค่ในตำราเท่านั้น

การศึกษาเปลี่ยนชีวิต เป็นประตูนำไปสู่โอกาสต่างๆ

ดร. สุพัฒพงศ์ให้ความเห็นว่า การศึกษาทำให้ได้รับการยอมรับในสังคม ตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดีเป็นช่องทางในการสร้างโอกาสต่างๆ ให้เข้ามาในชีวิต  ดร. สุพัฒพงศ์เองก็มีความใฝ่ฝันว่าหากมีโอกาสก็อยากเป็นนักการเมืองในตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนและพัฒนาประเทศให้มากที่สุด ก่อนหน้านี้ดร. สุพัฒพงศ์ เคยมีโอกาสเป็นสมาชิกสภาจังหวัด การทำงานในตอนนั้นทั้งสนุกและมีอุปสรรค แต่ก็ยังอยากที่จะเดินหน้าต่อไปตามอุดมการณ์ แม้ตอนนี้ไม่ได้เป็นนักการเมืองแต่ก็ยังลงพื้นที่ทำงานในฐานะนักการศึกษาในทุกจังหวัดทั่วประเทศ

ในแง่ของความสำเร็จ การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ชีวิตของดร. สุพัฒพงศ์ ไปได้ไกลและอยากที่จะพัฒนาตนเองตลอดเวลา หากจะให้พูดถึงความล้มเหลวในชีวิต ดร. สุพัฒพงศ์ มองว่าตัวเองพบกับความล้มเหลวมาตั้งแต่วัยเด็ก แต่ไม่เคยมองว่าความล้มเหลวนั้นเป็นอุปสรรคหรือข้อจำกัดในการใช้ชีวิต อย่าปล่อยให้มีความล้มเหลวทางความคิดมาทำลายความฝัน ดร. สุพัฒพงศ์ ให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างมาก ยิ่งเรียนรู้มากเท่าไหร่ ยิ่งช่วยเหลือสังคมได้มากเท่านั้น นำความล้มเหลวมาเป็นแรงผลักดันไปสู่เป้าหมาย อะไรคือสิ่งที่เราอยากเป็น อะไรคือสิ่งที่เราไม่อยากเป็น หาความชอบของตัวเองให้เจอและทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น

เรียนรู้เพื่อพัฒนาคน ศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น

ดร. สุพัฒพงศ์ กล่าวว่า แม้ว่าตัวเองมีความรู้ด้านรัฐศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านการเมืองการปกครองท้องถิ่น แต่การทำงานกับชุมชนจำเป็นจะต้องศึกษาศาสตร์อื่นๆ ด้วยเช่นกัน ที่สำคัญคือ ต้องพร้อมรับความคิดเห็น คำวิจารณ์อยู่เสมอ จากประสบการณ์การทำงานการเมืองท้องถิ่นและความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา เมื่อนำมาถ่ายทอดแก่นักศึกษาช่วยให้พวกเขามองเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น การทำงานภาคประชาสังคม ทำให้มีโอกาสได้พูดคุยกับปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งเปรียบเหมือนขุมทรัพย์ทางปัญญา สำหรับการศึกษาพัฒนาท้องถิ่น ต้องรู้ว่าองค์ความรู้ประเภทไหนที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงสำหรับชุมชน เมื่อชุมชนมีความเข้มแข็งก็จะเกิดเป็นภาคประชาชน

จากนั้นเกิดเป็นภาคประชาสังคมที่มีหน่วยงานภาครัฐมารองรับโดยการขับเคลื่อนของชุมชน จึงเป็นที่มาของชุมชนท้องถิ่นจัดการตัวเอง ที่มี ดร. สุพัฒพงศ์ เป็นที่ปรึกษาการบูรณาการออกแบบกระบวนการกองทุนสวัสดิการชุมชน ยกตัวอย่าง กองทุนสวัสดิการชุมชนออมวันละ 1 บาท ชาวบ้านออมเงินวันละ 1 บาท  หน่วยงานท้องถิ่นสมทบ 1 บาท และหน่วยงานรัฐบาลสมทบ 1 บาท รวมเป็น 3 บาทต่อวัน ช่วยให้ชาวบ้านได้รับสวัสดิการตามเงื่อนไขของกองทุน

จุดเปลี่ยนที่ทำให้ใฝ่ฝันอยากเป็นนักการเมือง

บทบาทของนักพัฒนาชุมชน ที่นำองค์ความรู้ไปพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทำให้ดร. สุพัฒพงศ์ย้อนกลับมาถามตัวเองว่า จะทำอย่างไรให้อำเภอเชียรใหญ่ที่เป็นบ้านเกิดมีการพัฒนาให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ ด้วยกฎระเบียบ กระบวนการของภาครัฐที่มีหลายขั้นตอน ส่งผลให้การแก้ไขปัญหา ปรับปรุงพัฒนาท้องถิ่นนั้นใช้เวลาดำเนินการนานมาก เฉพาะถนนในพื้นที่เขตเทศบาลก็มีหลายส่วนที่รับผิดชอบ เช่น อบต.  อบจ. กรมทางหลวงชนบท ถนนส่วนบุคคล เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าทุกสิ่งล้วนขึ้นอยู่กับการเมือง นี่จึงเป็นตัวจุดประกายให้ลาออกจากบทบาทเจ้าหน้าที่ภาครัฐสู่นักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อมุมมองหลายอย่างของ ดร. สุพัฒพงศ์ ทำให้รู้ว่าประเทศไทยยังมีระบบอำนาจความชอบธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องในการผลักดันนโยบายต่างๆ

ในฐานะที่เป็นอาจารย์ด้านรัฐศาสตร์และนักวิชาการทางการเมือง ดร. สุพัฒพงศ์มีความเห็นว่า เมื่อพูดถึงเรื่องการเมืองหลายคนมักจะเบือนหน้าหนี แต่การเมืองนั้นเรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราทุกคนอย่างเลี่ยงไม่ได้ เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก แทรกอยู่ในทุกมิติของชีวิต แทรกอยู่ในศาสตร์ทุกแขนง อย่างการทำงานในองค์กรไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ก็หนีไม่พ้นเรื่องของการเมือง  ไม่ใช่แค่อำนาจเท่านั้น  การเจรจาต่อรอง การค้าขาย เศรษฐกิจ หรือแม้แต่การศึกษา ล้วนได้รับอิทธิพลทางการเมืองทั้งสิ้น

ทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ เป็นต้นทุนสำคัญในการสร้างประเทศให้ก้าวหน้า การศึกษาเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญ ไม่ใช่แค่วัยเรียนเท่านั้น ในวัยทำงานก็ถือเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน หากเรามีองค์ความรู้ มีทักษะความชำนาญทางวิชาชีพจนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ ในขณะที่หมั่นเรียนรู้อยู่เสมอ ไม่หยุดพัฒนาตัวเอง ยิ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้มีศักยภาพในการทำงาน กลายเป็นประชากรที่มีประสิทธิภาพทั้งต่อตัวเอง สังคม และประเทศชาติ

ติดตามคลิปสัมภาษณ์  ดร. สุพัฒพงศ์ แย้มอิ่ม  ย้อนหลังได้ที่นี่

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ 092-6565-298 คุณ เกียรติ

คุณณิษฐกาณต์ อักษรวรรณ ส่งเสริมภาษาที่ 3 สืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น ฅนต้นแบบเมืองนคร

หลายคนมักจะกลัวความผิดพลาดก่อนที่จะเริ่มต้นด้วยซ้ำ ที่ยากยิ่งกว่าคือการเอาชนะความกลัวของตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องของการเรียนภาษาสำหรับบางคนอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่เชื่อว่าหากเรามีความฝันและความมุ่งมั่นมากพอ เราจะสามารถทำได้สำเร็จ เช่นเดียวกับฅนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ ที่มาร่วมแชร์ความฝัน แบ่งปันประสบการณ์ให้กับคนรุ่นใหม่ คุณนิต้า ณิษฐกาณต์ อักษรวรรณ รองอันดับ 1 นางสาวไทย ประจำปี 2563 ซึ่งภาษาอังกฤษได้กลายเป็นแรงผลักดันและตัวแปรสำคัญในชีวิตของเธอ อยากที่จะมอบโอกาสดีๆ ให้แก่เด็กและเยาวชนผ่านโครงการสอนภาษาอังกฤษควบคู่กับการเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น

ความชื่นชอบภาษาอังกฤษในวัยเด็กกลายเป็นแรงผลักดันให้กล้าที่จะทำตามฝัน

คุณนิต้า ณิษฐกาณต์ อักษรวรรณ เป็นคนนครศรีธรรมราชแต่กำเนิด ชีวิตวัยเรียนได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศหลักสูตร EP หรือ English Program ทำให้สนใจเกี่ยวกับเรื่องภาษา รวมถึงวัฒนธรรมของแต่ละชาติ อยากออกเดินทางไปเห็นโลกกว้าง จึงบอกกับทางครอบครัวว่าอยากไปเรียนต่อต่างประเทศ ซึ่งในตอนนั้นก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถไปได้หรือไม่ ด้วยความที่ครอบครัวรู้จักกับคนที่อาศัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกา จึงตัดสินใจส่งคุณนิต้าไปเรียนที่นั่นเป็นเวลา 8 ปี

จากประสบการณ์ที่ได้ไปอาศัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ทำให้คุณนิต้าเรียนรู้ว่าที่นั่นสอนให้ทุกคนกล้าที่จะฝัน กล้าที่จะแสดงออกทางความคิด กล้าที่จะลองทำอะไรใหม่ๆ หากเราได้พูดในสิ่งที่ปรารถนา ไม่แน่ว่าเราอาจทำสิ่งนั้นให้กลายเป็นจริงได้ เธอเชื่อว่าโอกาสอยู่รอบตัวเราโดยที่เราเองก็ไม่รู้ด้วยซ้ำ บางทีคนที่เรากำลังคุยอยู่ด้วยนั้นอาจเป็นผู้ที่หยิบยื่นโอกาสให้ก็เป็นได้ นั่นจึงเป็นตัวจุดประกายให้คุณนิต้าในวัย 25 ปี อยากที่จะส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนไทยกล้าที่จะทำตามความฝันและกล้าลงมือทำ

หลังจากเรียนจบแล้วกลับมานครศรีธรรมราช คุณนิต้าได้พูดคุยกับคุณแม่ว่าอยากที่จะทำโครงการ Junior Guide เพื่อสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็กๆ ชาวนครศรีธรรมราช เรียนผ่านเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ คำขวัญประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช รูปแบบการสอนผ่านการเล่นเกม ทำกิจกรรมต่างๆ ฝึกให้เด็กๆ กล้าที่จะพูดภาษาอังกฤษ ลองผิดลองถูกในการใช้ภาษาอังกฤษ

โครงการนี้เรียกได้ว่าเป็น Miracle of Dream ของเธอ คลาสเรียนภาษาอังกฤษที่คุณนิต้าสอน นักเรียนที่เข้าร่วมมีความชื่นชอบภาษาอังกฤษเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่กล้าที่จะพูดออกมา ทักษะด้านภาษานั้นต้องอาศัยการฝึกฝน ต้องกล้าที่จะผิดเพื่อเรียนรู้ให้ถูกต้อง เธอมักจะบอกกับเด็กๆ อยู่เสมอว่า ไม่ต้องกลัวว่าจะพูดผิด ทุกคนที่มาเรียนต่างให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เด็กๆ ควรภูมิใจในตัวเองที่กล้าเรียนรู้ภาษาอื่น สำหรับบางคนนี่ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย ไม่ใช่เพราะการเรียนภาษานั้นยากเกินไป แต่การก้าวผ่านความกลัวของตัวเองได้นั้นคือสิ่งที่ทำได้ยากนั่นเอง

ครอบครัวคือ แรงสนับสนุนและกำลังใจสำคัญให้คุณนิต้าทำตามความฝันได้สำเร็จ

คุณนิต้า เล่าว่า ตัวเองเป็นเด็กที่กล้าแสดงออก ชื่นชอบการถ่ายวิดีโอ ไม่ว่าคุณนิต้าอยากที่จะทำอะไร มักจะบอกกับทางครอบครัวเสมอ การที่ครอบครัวคอยซัพพอร์ตในทุกเรื่องที่อยากทำ สิ่งเหล่านั้นคอยหล่อหลอมให้เธอเป็นตัวเองในวันนี้ เส้นทางในการประกวดนางสาวไทย เริ่มต้นจากเวทีการประกวดนางงามที่นครศรีธรรมราช ซึ่งโครงการ Junior Guide ที่เธอทำมีส่วนช่วยให้ได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับนครศรีธรรมราชมากขึ้น กิจกรรมเข้าค่าย เยี่ยมชมสถานที่สำคัญต่างๆ ในจังหวัด คือสิ่งที่คุณนิต้าชื่นชอบมาก เพราะได้เห็นวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เธอแทบจะไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน

จากเวทีแรกก็ได้เดินสายประกวดตามเวทีต่างๆ จนมาถึงเวทีที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตอย่างการประกวดนางสาวไทย นิยามของนางงามตามทัศนคติของคุณนิต้า คือ เราสนใจอะไรและเราเป็นใคร แสดงจุดเด่นของตัวเองออกมาให้มากที่สุด เป็นคนที่มีความจริงใจและเข้าถึงได้ สามารถสร้างกำลังใจให้แก่ผู้อื่นได้ เป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด คุณนิต้า เล่าว่า เธอเป็นคนที่ได้รับโอกาสที่ดีมาตลอดจึงอยากสร้างโอกาสให้กับคนที่ไม่ได้รับโอกาส นี่ถือเป็นแรงขับเคลื่อนในชีวิตของเธอ ชีวิตเธอก็มีบางช่วงเวลาที่ยากลำบากเหมือนกับคนอื่นๆ วันไหนที่เจอเรื่องแย่ๆ ก็พยายามคุยกับตัวเอง ดึงตัวเองออกมาจากจุดนั้นให้ได้ เป็นเพื่อนสนิทกับตัวเองให้ได้

ส่งเสริมภาษาที่ 3 สืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น

ภาษาเป็นประตูสู่โลกกว้าง” การที่เรารู้แค่หนึ่งภาษา ก็จะรู้แค่เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับของภาษานั้น แต่ถ้ารู้ภาษาอื่น เช่น ภาษาจีน นอกจากได้เรียนรู้เรื่องภาษาแล้ว ยังได้เรียนรู้เรื่องราวความเป็นมาที่เกี่ยวกับประเทศจีนเช่นกัน การเรียนรู้ของเราก็จะกว้างขึ้น ทำให้เรามองโลกได้กว้างขึ้น เราจะรู้สึกตัวเล็กลง กล้าที่จะทำอะไรมากขึ้น กล้าที่จะฝัน คุณนิต้าให้ความเห็นว่า การสอนภาษาอังกฤษในไทยค่อนข้างแตกต่างกับการนำไปใช้จริง โฟกัสกับการสอบมากเกินไป ทำให้เราไม่กล้าพูดเมื่อเจอกับชาวต่าวชาติ การเรียนรู้ที่ดีต้องรู้สึกสนุก เพราะภาษาคือทักษะที่ต้องฝึกฝน เป็นการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด ต้องกล้าที่จะพูด กล้าที่จะลองผิดลองถูก

ปัจจุบันมีสื่อออนไลน์มากมายให้เราได้เรียนรู้ภาษา คุณนิต้าได้ทำคลิปใน TikTok  มาประมาณ 2 ปี แชร์ความรู้เกี่ยวกับภาษาอังกฤษ เช่น คำศัพท์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ประสบการณ์ในการเรียนภาษาอังกฤษ สำนวนที่ให้กำลังใจแก่เด็กๆ ซึ่งเป็นผู้ติดตามของเธอ โดยเฉพาะเรื่องความภูมิใจในตัวเอง ไม่เปรียบเทียบกับคนอื่น แน่นอนว่าช่องทางออนไลน์ทำให้ผู้คนเข้าถึงกันง่ายขึ้น การที่เธอมีตำแหน่งรองนางสาวไทย ไม่ว่าเธอจะพูดหรือทำอะไรย่อมมีผลต่อสังคมในวงกว้าง จึงต้องมั่นใจว่าสิ่งที่โพสต์ไปต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อสังคม

คำถามที่มักจะได้ยินเมื่อเดินทางไปต่างประเทศคือ คุณมาจากที่ไหน? เมื่อตอบออกไปว่ามาจากประเทศไทย ชาวต่างชาติที่ถามคำถามนี้มักจะรู้จักประเทศไทยแค่กรุงเทพ ภูเก็ต และเชียงใหม่ แน่นอนว่าไม่มีใครรู้จักจังหวัดนครศรีธรรมราช แต่ความภูมิใจในความเป็นคนนครศรีธรรมราช ทำให้คุณนิต้าพยายามที่จะบอกเล่าว่าจังหวัดบ้านเกิดของเธอนั้นมีอะไรบ้าง ทุกความทรงจำที่มีในจังหวัดนครศรีธรรมราช คือสิ่งที่หล่อหลอมให้เธอมีในทุกวันนี้

การใช้ชีวิตที่ต่างประเทศเธอมักจะบอกเล่าเรื่องเกี่ยวกับจังหวัดที่เป็นบ้านเกิดของเธอให้แก่คนอื่นๆ มาตั้งแต่อายุ 15  จนเมื่อกลับมายังประเทศไทย เรื่องราวที่เธอเล่าได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเธอ นอกจากนี้เธอยังชื่นชอบดนตรีไทยและสนใจอยากเรียนรำมโนราห์ จากการที่คุณนิต้าได้รับตำแหน่งรองอันดับ 1 นางสาวไทย ประจำปี 2563 จึงได้รับการติดต่อให้ร่วมรณรงค์ โครงการ “พระบรมธาตุสู่มรดกโลก” ถือเป็นเป็นการเชื่อมโยงกับโครงการ Junior Guide ที่เธอทำ

เมื่อเจอปัญหาอย่าท้อ เมื่อเจออุปสรรคอย่าถอย

ชีวิตคุณนิต้า หลายคนอาจจะดูเหมือนได้รับการสนับสนุนในทุกเรื่อง แต่ใครจะรู้ว่าบนใบหน้าที่มีรอยยิ้มแววตาที่สดใสนี้ เบื้องหลังแล้วก็มีปัญหาอุปสรรคต่างๆ นานาที่ต้องประสบ บ่อยครั้งที่ต้องนอนร้องไห้คนเดียว

ทว่าคุณนิต้ากลับลุกขึ้นมาฝ่าฟันกับปัญหาเหล่านั้นได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ถือเป็นประสบการณ์ในการก้าวเดินไปข้างหน้า คุณนิต้าแนะนำว่า “เราต้องเป็นเพื่อนสนิทของตัวเองให้ได้” นั่นคือต้องเข้าใจตัวเองให้ได้มากที่สุด ยามสำเร็จก็มีตัวเราเองนี่แหละที่จะชื่นชมความสำเร็จเราได้ดีที่สุด เช่นกัน ในยามล้มเหลว ผิดหวัง ทุกข์ ก็ตัวเราเองอีกนั่นแหละที่จะเป็นเพื่อนคอยปลอบใจ ให้กำลังใจตัวเราเองได้ดีที่สุด

จงกล้าที่จะผิด กล้าที่จะลอง กล้าที่จะล้มเหลว เพราะทุกความล้มเหลว คือ ประตูที่จะเปิดโอกาสสู่ความสำเร็จเสมอ

ทุกคนล้วนมีความฝัน แต่บางครั้งก็ขาดโอกาสในการสานต่อความฝันนั้น หากเราได้รับโอกาส จงใช้ให้คุ้มค่า อย่ากลัวที่จะลงมือทำ เพราะความผิดพลาดคือสิ่งที่สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ แต่ถ้าเราไม่กล้าลองอะไรเลย เราก็ไม่รู้ว่าผิดตรงไหน จะไม่เกิดการเรียนรู้ ไม่เกิดการพัฒนา ท้ายที่สุดกลายเป็นว่าเราเสียโอกาสนั้นไปเปล่าประโยชน์

ติดตามคลิปสัมภาษณ์ คุณนิต้า ณิษฐกาณต์ อักษรวรรณ  ย้อนหลังได้ที่นี่

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ 092-6565-298 คุณ เกียรติ

คุณพีรพัฒน์ เอี่ยมสกุลเวช จิตอาสา พาปันสุข อิ่มท้อง อิ่มใจ คนต้นแบบเมืองนคร     

สถานการณ์โควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในทุกมิติมากขึ้น หลายคนตกงาน หลายคนอยู่กับความเครียด หลายคนแทบสิ้นหวัง ยิ่งได้รับความช่วยเหลือเร็วเท่าไหร่ ยิ่งบรรเทาความทุกข์ได้เร็วขึ้นในยุควิกฤตเช่นนี้ต้องขอขอบคุณผู้คนที่มีความกล้าหาญ ความเห็นอกเห็นใจ และความเสียสละในการทำสิ่งดีๆ เพื่อผู้อื่น เช่นเดียวกับฅนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ที่ทำกิจกรรมจิตอาสาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่กำลังได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะชาวนครศรีธรรมราช ในนามชาวบ้านช่วยชาวบ้าน คุณพีรพัฒน์ เอี่ยมสกุลเวช จิตอาสา พาปันสุข อิ่มท้อง อิ่มใจ

จุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจในการทำกิจกรรมจิตอาสา

คุณพีรพัฒน์เล่าว่า ชื่นชอบทำกิจกรรมอาสาในการช่วยเหลือด้านต่างๆ ของสังคมตั้งแต่สมัยเรียนวิทยาลัยอาชีวศึกษานครศรีธรรมราช เดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2547 ที่ประเทศไทยประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติจากคลื่นสึนามิ ตอนนั้นคุณพีรพัฒน์เป็นผู้นำองค์กรนักศึกษาก็ได้ระดมทุนบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน อย่างวิกฤตอุทกภัยในภาคใต้ปี พ.ศ. 2554 จังหวัดนครศรีธรรมราชได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก

คุณพีรพัฒน์เล่าว่า ในช่วงนั้นตัวเองไปทำงานที่ต่างจังหวัด เมื่อตกงานก็ได้ย้ายกลับบ้านและได้มาเจอกับสภาพห้องของตัวเองที่โดนน้ำท่วมขัง ข้าวของพังเสียหาย ความรู้สึกเสียใจที่ต้องตกงานบวกกับความเดือดร้อนที่ได้รับจากน้ำท่วม ทำให้เข้าใจดีว่าคนอื่นๆ ที่ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมจะรู้สึกอย่างไร เพราะความเสียหายที่ได้รับนั้นหนักหนาสาหัสมาก โดยเฉพาะคนที่บ้านน้ำท่วมสูงเกือบถึงหลังคาจะอยู่ยังไง นี่จึงเป็นส่วนหนึ่งที่กลายเป็นแรงผลักดันในการช่วยเหลือผู้อื่น จากจุดเริ่มต้นในครั้งนั้นจึงเกิดเป็นกิจกรรมจิตอาสาที่ดำเนินเรื่อยมา

แม้ชีวิตในวัยเด็กค่อนข้างลำบาก จึงพยายามหาโอกาสเพื่อให้ชีวิตดีขึ้น หลายคนมองเห็นความสามารถทำให้ได้รับโอกาสต่างๆ เข้ามา เมื่อทำธุรกิจร้านอาหารจนเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในชื่อ ตุ๊กติ๊ก ริมเลซีฟู้ด จึงอยากใช้โอกาสตรงนี้เป็นกระบอกเสียงในการช่วยเหลือผู้อื่นเช่นกัน

ครั้งหนึ่งเกิดอุทกภัยที่อำเภอหัวไทร นครศรีธรรมราช คุณพีรพัฒน์ก็คิดว่าตัวเองพอจะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง จึงได้ทำการระดมทุนผ่านทางร้านตุ๊กติ๊ก ริมเลซีฟู้ด ตั้งใจว่าจะทำข้าวกล่องจำนวน 100 กล่องแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ ปรากฏว่ามีหลายคนที่เชื่อมั่นในตัวคุณพีรพัฒน์ และอยากที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือ จากเดิมอยู่ที่ 100 กล่องก็เพิ่มขึ้นเป็น 400 กล่อง พร้อมกับลงพื้นที่แจกจ่ายอาหารร่วมกับอาสาสมัครท่านอื่น เมื่อใดก็ตามที่คุณพีรพัฒน์ริเริ่มทำกิจกรรมจิตอาสา มักจะมีคนให้การช่วยเหลือมาโดยตลอด นอกจากทุนทรัยพ์ที่ได้รับแล้ว ก็ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ อีกด้วย ซึ่งทางคุณพีรพัฒน์เองก็ไม่คาดคิดว่าจะได้รับการสนับสนุนและมีคนหยิบยื่นโอกาสให้มากขนาดนี้ เพราะไม่ใช่แค่ความตั้งใจในการทำงานจิตอาสาเท่านั้น ความน่าเชื่อถือก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หลายคนไว้วางใจคุณพีรพัฒน์และพร้อมสนับสนุนนั่นเอง

งานลอยกระทงศาลาน้ำ คืนสีสันให้ท่าศาลา โครงการที่เกิดจากความร่วมมือของภาคประชาชน

ด้วยความที่ตำบลท่าศาลาว่างเว้นจากการจัดงานรื่นเริงมาสักระยะ ทางคุณพีรพัฒน์มีความตั้งใจที่จะจัดงานเพื่อสร้างความผ่อนคลายให้กับคนในชุมชน จึงขอความสนับสนุนจากทางนายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลาและผู้สนับสนุนรายอื่น ในการจัดงานลอยกระทงศาลาน้ำ คืนสีสันให้ท่าศาลา ปี 2563 ภายในงานมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น ประกวดหนูน้อยนพมาศ ประกวดนางนพมาศ การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน มินิคอนเสิร์ต เป็นต้น แม้เป็นงานระดับตำบลแต่กลับได้รับความสนใจจากสื่อระดับประเทศ เป็นงานที่เห็นถึงความร่วมมือจากประชาชนทุกฝ่าย จัดโดยคนในชุมชนและได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ สะท้อนให้เห็นถึงการร่วมทุกข์ร่วมสุขของคนในท้องถิ่น

ขอบคุณภาพจากเพจ Thasala District

ก่อนที่จะเกิดวิกฤตโควิด-19 ท่าศาลาเป็นเมืองที่กำลังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว เคยเป็นเมืองท่าที่สำคัญในอดีต ชุมชนที่เคยเป็นเส้นเศรษฐกิจสำคัญปัจจุบันได้กลายเป็นเมืองเก่า ทางชมรมท่องเที่ยวท่าศาลาจึงระดมความคิดกันว่าจะทำอะไรเพื่อท่าศาลา จนเกิดเป็นโครงการ “คืนสีสันให้ท่าศาลา” ซึ่งได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านเป็นอย่างดี มีการเชิญศิลปินท้องถิ่นและน้องนักศึกษามาวาดรูปแนว Street Art  ที่สื่อถึงอัตลักษณ์ของชุมชน และรูปภาพต่างๆ เพื่อสร้างสีสันให้อาคารบ้านเรือนในชุมชนบริเวณนั้น เมื่อคนท่าศาลาได้เห็น ก็เริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลง เริ่มมีผู้คนเข้ามาเที่ยวชมมากขึ้น

งานจิตอาสาในช่วงวิกฤตโควิด-19

วิกฤตโควิด-19 ถือเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับผู้ที่มีจิตสาธารณะ เพราะแทบทุกคนล้วนเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก และดูเหมือนว่าสถานการณ์จะยากขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะเวลาของการแพร่ระบาดตั้งแต่ปี 2019 ในขณะที่จิตอาสาแต่ละท่านก็เดือดร้อนเช่นกัน แต่ยังมีกำลังกายและใจในการช่วยเหลือผู้อื่น ต่างทุ่มเทและเสียสละเวลาส่วนตัว สำหรับคุณพีรพัฒน์นั้นได้ให้ความร่วมมือกับทางเทศบาลตำบลท่าศาลาในโครงการครัวปันสุข ทั้งช่วยระดมทุนและลงแรงในการทำอาหารแจกจ่ายแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตินี้ คำขอบคุณจากผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือ ตลอดจนความเมตตาจากผู้ที่ช่วยสมทบทุน เป็นกำลังใจและแรงผลักดันให้คุณพีรพัฒน์อยากที่จะขับเคลื่อนงานจิตอาสาในการช่วยเหลือพี่น้องชาวท่าศาลาต่อไป

ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ปัจจุบันคุณพีรพัฒน์ได้ก้าวสู่สมาชิกสภาเทศบาลตำบล กิจกรรมจิตอาสาและโครงการต่างๆ ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงภาวะความเป็นผู้นำของคุณพีรพัฒน์ ตลอดจนการร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชน การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในความตั้งใจของคุณพีรพัฒน์ที่อยากจะทำให้แก่ชาวท่าศาลา หลายโครงการที่กำลังจะสานต่อและริเริ่มจึงต้องหยุดชะงักในช่วงวิกฤตโควิด-19 ตอนนี้จึงหันมาโฟกัสในเรื่องของการให้ความช่วยเหลือทางด้านงานจิตอาสา เพื่อปันสุขให้ทุกคนอิ่มท้อง อิ่มใจ ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

เมื่อมีใครกำลังเดือดร้อนหรืออยู่ในภาวะที่ทุกคนต่างเดือดร้อน คนที่นำเอาทรัพยากรที่ตัวเองมี ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ เงิน กำลังแรงกาย แรงสมอง เสียสละเวลาในการช่วยเหลือผู้อื่น โดยไม่หวังผลตอบแทนนับเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ รวมถึงการให้โอกาส การแบ่งปัน และส่งต่อสิ่งดีๆ ให้แก่กัน จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ อาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตทั้งผู้ให้และผู้รับอย่างที่คาดไม่ถึงก็เป็นได้ แต่อย่างน้อยเรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นความทรงจำในชีวิตที่ชวนให้รู้สึกอิ่มเอมใจทุกครั้งยามนึกถึง

ติดตามคลิปสัมภาษณ์ คุณพีรพัฒน์ เอี่ยมสกุลเวช ย้อนหลังได้ที่นี่

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ 092-6565-298 คุณ เกียรติ

เรืออากาศโท สมพร ปานดำ อาชีวะสร้างคน คนสร้างเมือง ฅนต้นแบบ งานต้นแบบเมืองนคร

การเรียนสายอาชีวศึกษาหรือสายอาชีพมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศเช่นเดียวกับสายอื่น การที่จะผลักดันให้เด็กไปได้ไกลในสายอาชีพของตนเอง ครูผู้สอนมีบทบาทในการส่งเสริมสนับสนุนเช่นกัน ทางนครศรีสเตชั่นมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะแนะนำให้ทุกท่านรู้จักกับฅนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ บุคคลที่สร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต ครูผู้สร้างโอกาสให้นักเรียนอาชีวศึกษา เรืออากาศโท สมพร ปานดำ ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาช่างอุตสาหกรรม (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) กับงานต้นแบบอาชีวะสร้างคน คนสร้างเมือง

สร้างคุณค่า สร้างตัวตน บนเส้นทางชีวิตที่กำหนดเอง

เรืออากาศโทสมพรใช้ชีวิตโดยถือคติที่ว่า “คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้” บ้านเกิดอยู่ที่อำเภอหัวไทร นครศรีธรรมราช ช่วงชีวิตในวัยเด็กมีความเป็นอยู่อย่างยากลำบาก เมื่อในชุมชนมีงานอะไรก็ตามมักจะอาสาช่วยเหลืออยู่เสมอ รับจ้างทำงานต่างๆ ประสบการณ์ในวัยเด็กจึงหล่อหลอมให้เรืออากาศโทสมพรเติบโตมาเป็นคนที่เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นและไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคต่างๆ ในชีวิต

เมื่อเรียนจบ มศ.5 ก็มีเจตจำนงค์ว่าจะเป็นทหารให้ได้ เพราะเป็นทหารจะได้รับเงินเดือนตั้งแต่วันแรกที่เข้าเรียน จึงตัดสินใจเดินทางไปกรุงเทพฯ เรียนในโรงเรียนจ่าอากาศ ในที่สุดก็ได้เข้ารับเรียนในสาขา เหล่าทหารถ่ายรูป รุ่นที่ 26  ชีวิตราชการที่ต้องประจำการอยู่ต่างจังหวัด ทำให้เรืออากาศโทสมพร ย้อนกลับมาถามตัวเองว่า จะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อเป็นการสร้างคุณค่าให้แก่ตัวเองและหน่วยงานที่สังกัด จึงได้อุทิศตนทำงานที่เป็นประโยชน์ต่างๆเพื่อหน่วยงาน จนมีผลงานได้รับเลือกให้เป็นบุคคลดีเด่นของกองทัพอากาศ จากนั้นได้รับการทาบทามให้ไปเป็นอาจารย์สอนระดับมัธยม แต่ด้วยวุฒิการศึกษาในระดับนั้นเรืออากาศโทสมพรมองว่า หากจะไปเป็นอาจารย์ควรมีวุฒิการศึกษาที่สูงกว่านี้

ด้วยความคนที่มีผลงานดีเยี่ยม และมีความกตัญญูรู้คุณ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรืออากาศโทสมพร มีติดตัวมาตั้งแต่เริ่มจำความได้  ร่วมกับการที่มีจิดสาธารณะ จึงได้รับโอกาสจากผู้บังคับบัญชาส่งเสริม ให้การอนุเคราะห์นักเรียนทุนของกองทัพอากาศ ได้เข้าศึกษาต่อที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพฯ สาขาเทคโนโลยีการถ่ายภาพและภาพยนตร์ จากนั้นสอบเทียบได้เป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตร  หนึ่งในผลงานที่ได้ทำระหว่างรับราชการเป็นอาจารย์สอนที่โรงเรียนจ่าอากาศ คือ การมีส่วนร่วมในการ รับสมัครนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 เข้าศึกษาต่อ ของโรงเรียนจ่าอากาศได้รับการเทียบวุฒิในระดับ ปวช.ของอาชีวศึกษา

ด้วยผลงานนี้เอง เรืออากาศโท สมพร ได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาสนับสนุนให้เข้ารับการศึกษาที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่นที่ 62 ซึ่งถือเป็นความภูมิใจสูงสุดอย่างหนึ่งในชีวิตของ เรืออากาศโท สมพร

จากนั้นจึงตัดสินใจไปเป็นอาจารย์สอนที่วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช ทำให้มีโอกาสพบปะกับผู้คนหลายสาขาอาชีพ นอกจากนี้เรืออากาศโทสมพรยังมีผลงานต่างๆ มากมาย ทั้งด้านปฏิบัติงาน ด้านสังคม ด้านศาสนา เช่น มีส่วนช่วยในการก่อตั้งสมาคมสื่อมวลชนนครศรีธรรมราช ในแวดวงศิลปหัตถกรรมได้รวบรวมบรรดาศิลปินพื้นบ้านก่อตั้งเป็นสมาคมศิลปินพื้นบ้านนครศรีธรรมราช ส่งเสริมและสนับสนุนนักศึกษาในการเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันต่างๆ เป็นต้น

สร้างคน สร้างงาน เชื่อมโยงผ่านวิถีชีวิต

เมื่อได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยการอาชีพพรหมคีรี เรืออากาศโทสมพรมีแนวคิดการทำงานที่ว่าโลกของการศึกษากับอาชีพต้องเชื่อมโยงกัน การศึกษาที่แท้จริง คือ การช่วยเหลือให้นักเรียน นักศึกษานำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปประกอบอาชีพได้ หากสามารถสร้างรายได้ระหว่างเรียน ก็จะเป็นแรงจูงใจให้เยาวชนหันมาเข้าสู่ระบบการศึกษามากขึ้น

จึงเกิดแนวคิดที่ว่า จะสร้างโรงงานในโรงเรียน ทำโรงเรียนให้เป็นโรงงาน เชื่อมโยงการเรียนรู้ของนักเรียนผ่านการทำงานกับบริษัทในการผลิตรถราง เกิดเป็นโครงการที่ชื่อว่า “เล่ารถชมเมือง เล่าเรื่องพระเจ้าตากสิน” ประกอบด้วยครู นักเรียนช่าง นักเรียนแผนกการโรงแรมและการท่องเที่ยวที่ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของพระเจ้าตากสินที่เกี่ยวข้องกับอำเภอพรหมคีรีและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อทำหน้าที่เป็นไกด์ ขับรถแวะไปตามสถานที่สำคัญ สวนผักผลไม้ ร้านอาหาร

เมื่อเริ่มต้นโครงการได้ไม่นานก็ต้องย้ายไปเป็นผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยเทคนิคสิชล ริเริ่มให้มีการซื้อเครื่องมือช่างประจำตัวให้กับนักเรียนนักศึกษา สร้างหลักสูตรระยะสั้นให้บุคลากรเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นให้มีรายได้เพิ่ม เน้นพัฒนาทักษะสำคัญในอนาคต โดยเฉพาะทักษะด้านภาษาอังกฤษเพื่อให้ร้านค้าในชุมชนสามารถสื่อสารกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้

จากนั้นเรืออากาศโทสมพรได้ย้ายไปเป็นผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช ด้วยจำนวนนักเรียนที่มากขึ้นเมื่อเทียบกับวิทยาลัยก่อนหน้านี้ ทำให้ต้องมาคิดทบทวนใหม่ว่า ทำอย่างไรจึงจะพัฒนาศักยภาพของเด็กแต่ละคนให้เก่งขึ้น “จิตอาสา” จึงเป็นสิ่งที่ทางเรืออากาศโทสมพรอยากให้นักเรียนอาชีวศึกษาทุกรุ่นพึงมี เมื่อใดที่เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ นักเรียนอาชีวศึกษามักจะเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการช่วยเหลือ

อย่างประเพณีสารทเดือนสิบก็มีบริการปะยางฟรี 24 ชม. เป็นไอเดียที่สร้างสรรค์และช่วยสร้างความอุ่นใจให้ชาวบ้านที่มาร่วมงานได้ดีทีเดียวเมื่อใดที่สถานศึกษาเห็นความสำคัญของเยาวชน รวมถึงบุคลากรเป็นตัวอย่างที่ดี เยาวชนเหล่านั้นก็จะถูกรายล้อมไปด้วยสภาพแวดล้อมที่ดี มีจิตสาธารณะที่อยากส่งต่อสิ่งดีๆ ให้แก่ชุมชน

ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี ที่จะช่วยสร้างคนดีคืนสู่สังคม

หนึ่งในหลักคิดหลักการทำงานของ เรืออากาศโท สมพร ปานดำ คือ การที่ยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง และยึดหลักความกตัญญูเป็นที่ตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการกตัญญูต่อพ่อแม่ กตัญญูต่อหน่วยงาน กตัญญูแต่ชุมชน รวมถึงกตัญญูต่อประเทศชาติ ความกตัญญูนี้จะช่วยให้เราทำงานประสบความสำเร็จ เป็นที่รักใคร่ของคนที่ได้มีโอกาสได้ร่วมงาน

ความกตัญญูนี่เอง เรืออากาศโท สมพร พยายามถ่ายทอดให้กับลูกศิษย์ ผู้ใต้บังคับบัญชา ด้วยการสั่งสอนแนะนำ รวมถึงทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง เพื่อหวังที่จะสร้างคนดีคือสู่หน่วยงาน สร้างลูกหลานอาชีวะที่ดีคืนสู่สังคม

การบูรณาการทางการศึกษาและการสร้างความร่วมมือกับชุมชน คือความอยู่รอดของประเพณี

เรืออากาศโท สมพร ได้ให้ข้อคิดและตั้งข้อสังเกตุสำหรับการดำรงไว้ซึ่งเรื่องของ ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ ของชาวนครศรีธรรมราช คือ ภาคการศึกษาจำเป็นที่จะต้องมีการบูรณาการ ศาสตร์ที่เรียนรู้เพื่อให้มีความเชื่อมโยงประสานกันชุมชน งานศิลปะ ประเพณี หลายอย่างกำลังจะถูกลืมเลือนไป ขาดคนรุ่นใหม่รับมรดกวัฒนธรรม เช่น การทำเครื่องเงิน หนังตะลุง เหลงบอก การรำมโนราห์   ฯ เป็นต้น

ภาคการศึกษาควรหยิบยก ศิลปะ วัฒนธรรมชุมชน มาเป็นหนึ่งในหลักสูตรเพื่อสืบสานสิ่งมีค่าทางชุมชนให้ดำรงไว้ เช่นการทำหลักสูตร การแกะหนังตะลุง สานกระเป๋าย่านลิเภา หรือ การทำคณะมโนราห์ เป็นต้น สอนทั้งในมิติการภาคการผลิต คือ ผลิตบุคลากรในเรื่องเหล่านี้ รวมทั้งเพิ่มเติมมิติทางการตลาดเพื่อให้ผลิตผลที่ทางระบบการศึกษาผลิตคนออกมาแล้วทำให้เกิดเป็นอาชีพ มีรายได้

ทำได้อย่างนี้ ของดี ของมีค่า ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ก็ยังคงอยู่ไม่ถูกทิ้งให้สูญหายไปกลับกาลเวลา และคนรุ่นใหม่ก็ได้เห็นคุณค่าที่บรรพบุรุษได้สร้างและถ่ายทอดกันมา

วัฒนธรรม ศิลปะ ในอนาคต

ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 กับวิถีชีวิตและการปรับตัวของนักเรียนอาชีวศึกษา

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงเมื่อใด สำหรับนักเรียนอาชีวะซึ่งเน้นภาคปฏิบัติเป็นส่วนใหญ่ วิกฤตโควิด-19 นั้นส่งผลกระทบอย่างมากต่อการศึกษา การประเมินในภาคปฏิบัติจึงทำได้ยาก ช่วงเวลาที่ต้องหยุดเรียนทำให้นักเรียนห่างเหินจากการฝึกใช้เครื่องมือต่างๆ ที่จำเป็นต่อวิชาชีพ

การจัดการศึกษาของอาชีวศึกษาในตอนนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมและความพร้อมของผู้เรียน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าในยุคก่อนหน้านี้นักเรียนที่เข้ามาเรียนหลักสูตรอาชีวศึกษา มีทั้งนักเรียนที่อยากจะเรียนสายอาชีพอยู่แล้ว และก็มีบางส่วนไม่รู้ว่าจะเลือกเรียนอะไร สายวิชาการก็ไม่ถนัดจึงตัดสินใจมาเลือกเรียนอาชีวะ

อย่างการเรียนออนไลน์ใช่ว่าจะตอบโจทย์ทุกระบบการศึกษา มีนักเรียนอาชีวะจำนวนไม่น้อยที่ประสบปัญหานี้ บุคลากรเองก็ไม่ถนัดสอนออนไลน์ มักจะเกิดปัญหาบ่อยเมื่อต้องเช็คชื่อ เมื่อครั้งที่เป็นผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช มีเด็กไม่ผ่านกิจกรรมจำนวนหนึ่ง

หลายคนมักจะตัดสินว่าเด็กเหล่านั้นไม่สนใจเรียน แต่สำหรับเรืออากาศโทสมพรไม่ได้คิดเช่นนั้น กลับมองว่าต้องค้นหาคำตอบให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ปรากฏว่าเมื่อทางบุคลากรไปสืบหาข้อมูลก็ได้คำตอบว่า บางคนต้องช่วยงานที่บ้าน บางคนต้องทำงานส่งเสียตัวเองเรียน จึงขาดเช็คชื่อในคาบเรียน ทำให้เด็กเสียโอกาสครั้งสำคัญ  ครูจึงต้องสร้างสื่อการสอนที่นักเรียนสามารถเรียนเวลาใดก็ได้ แต่จะทำอย่างไรให้มีการวัดผลได้ วิธีการวัดผล ต้องมีความยืดหยุ่น ดึงเอาสาระการเรียนรู้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพมาใช้ในการวัดผล

สำหรับเด็กฝึกงานที่ต้องหยุดชะงักในช่วงโควิด-19 ทางโรงเรียนไม่สามารถหาที่ฝึกงานได้เทียบเคียงเท่าโรงงาน การวัดผลจึงทำไม่ได้ จึงได้แก้ปัญหาให้นักเรียนทำโครงงานที่เกิดจากการบูรณาการหลายวิชาที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานการอาชีพ อย่างบางวิชาที่ไม่อยากทำโครงงาน เช่น การก่อสร้าง ครูจะทำหน้าที่เป็นโค้ชพานักเรียนไปซ่อมแซมบำรุงอาคารบ้านเรือนในชุมชน เพื่อทดแทนวิชาฝึกงาน

แม้วิกฤตนี้จะจบลง แน่นอนว่าหลายอย่างจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปโดยเฉพาะด้านอาชีพ สิ่งที่เรืออากาศโทสมพรกังวลคือ การที่นักเรียนจบไปแล้วแต่ไม่มีงานทำ เด็กอาชีวะจะต้องปรับตัวในเชิงของการสร้างสรรค์ สนใจใฝ่รู้ด้วยตัวเองให้มากขึ้นทั้งเรื่องเทคโนโลยีและภาษาต่างประเทศ เข้าใจเรื่องมาตรฐานอาชีพ และศักยภาพของพนักงานที่บริษัทมองหาในอนาคต

อาชีพของคนเป็นครู มักจะมีจิตวิญญาณของการเป็นครูตลอด 24 ชม. การสอนของเรืออากาศโทสมพรมุ่งเน้นให้เด็กได้ลองผิดลองถูก แล้วนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปวิเคราะห์เพื่อเป็นต้นทุนในการตั้งต้นชีวิต ด้วยความที่ท่านมีสำนึกรักษ์บ้านเกิด การพัฒนาการศึกษาต้องทำให้นักเรียนรับรู้ในหลายมิติของชุมชนที่อยู่อาศัย สามารถบูรณาการทุกศาสตร์เข้าด้วยกันได้ ผ่านการเรียนรู้จากสิ่งของ ธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตอาสา ถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้เห็นคุณค่าของดีเมืองนครให้ได้รับการสืบทอดต่อไป

ติดตามชมคลิปสัมภาษณ์ เรืออากาศโท สมพร ปานดำ ย้อนหลังได้ ที่นี่

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ 092-6565-298 คุณ เกียรติ

วิสาหกิจชุมชนทำการตลาดออนไลน์อย่างไร 5 ขั้นตอนทำการตลาดออนไลน์ให้ยอดขายเพิ่ม

วิสาหกิจชุมชน ถือเป็น ฐานรากของภาคธุรกิจระดับครอบครัว หมู่บ้าน มีสินค้าหลากหลายทั้งหัตกรรม อาหารแปรรูปต่างๆ แต่น่าเสียดายที่สินค้าเหล่านี้ยังไม่ได้รับการทำการตลาออนไลน์อย่างจริงจัง ทำให้สินค้าผลิตออกมาแล้ว ขายไม่ได้ ขายได้น้อย ยิ่งยุคปัจจุบันด้วยแล้วโควิดระบาดจากที่วิสาหกิจชุมชนใช้ช่องทางงานแสดงสินค้าเป็นช่องทางการตลาด ขายสินค้า ทำไม่ได้เลย จึงต้องให้ความสำคัญกับตลาดออนไลน์มากยิ่งขึ้น

วิสาหกิจชุมชนทำการตลาดออนไลน์อย่างไร บทความนี้แนะนำ 5 ประเด็นสำคัญที่วิสาหกิจชุมชนควรรู้ และนำไปปรับใช้ในการวางแผนค้าขายบนโลกออนไลน์ เพิ่มโอกาสสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและชุมชน

5 สิ่งที่วิสาหกิจชุมชนทำการตลาดออนไลน์ ช่วยยอดขายเติบโต

1.พัฒนาสินค้าให้โฟกัสที่ตลาดต้องการ ไม่ใช่ที่ชุมชนผลิตได้เพียงอย่างเดียว

ความผิดพลาดอย่างหนึ่งของวิสาหกิจชุมชนในการค้าขายในปัจจุบันคือ “สินค้าไม่ตอบโจทย์ตลาด” ด้วยเหตุที่ว่าวิสาหกิจเกิดจากการรวมกลุ่มกันทำสินค้าที่ตนเองทำกันได้ แต่ไม่ได้พิจารณาว่าตลาดต้องการไหม บ่อยครั้งที่ผลิตแล้วขายไม่ได้ ขายไม่ออก แม้สินค้าเหล่านั้นจะมีคุณภาพก็ตาม

นับหนึ่งในการขายออนไลน์ ควรสำรวจตลาดก่อนว่า สินค้าที่เราผลิตนั้นตลาดต้องการไหม บางสินค้าแค่ปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ทันสมัยก็ขายได้เช่น กระเป๋า เสื้อผ้า บางสินค้แค่ปรับเปลี่ยนแพ็คเก็จก็ช่วยให้ขายดีเช่น สินค้าเกษตรแปรรูป แต่บางสินค้าต้องอาศัยงานด้านวิทยาศาสตร์เข้ามาทำวิจัยเพื่อให้ได้นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ตลาด

เครื่องมืออย่างง่ายเบื้องต้นในการสำรวจความต้องการตลาดคือ Google Trend ผู้ประกอบการสามารถเช็คกระแสดลาดได้ว่า สินค้าเรามีคนค้นหามากน้อยขนาดไหน คุ้มค่าที่จะลงทุนลงแรงผลิตสินค้านั้นหรือไม่ หากคุ้มค่าก็ลงทุนได้เลย แต่ถ้าไม่มีคนค้นหาเลย ก็ไม่คุ้มค่าที่จะเสียเวลา เสียเงินทองในการลงทุน

2.เปิดหน้าร้านออนไลน์บน Marketplace เช่น Lazada ,Shopee หรือ Line My Shop

เมื่อมั่นใจว่าสินค้าตอบโจทย์ตลาด ก็นำสินค้ามาสู่โลกของงานแสดงสินค้าออนไลน์ นั่นก็คือ Marketplace บนโลกออนไลน์ ซึ่งก็เปรียบเสมือนตลาดนัด หรือ งานมหกรรมขายสินค้าบนโลกแห่งความเป็นจริง เพียงแต่ว่ามหกรรมนี้จัดตลอด 24 ชั่วโมงและตลอด 365 วัน

เคล็ดลับอย่างหนึ่งในการเปิดร้านบน Marketplace ไม่ว่าจะเป็น Lazada,Shoppe หรือ Line My Shop นั่นก็คือ การตั้งชื่อสินค้าต้องเป็นชื่อที่ลูกค้ามีการค้นหาด้วย ไม่ใช่ตั้งชื่อตามใจฉัน นอกจากนั้น รูปภาพประกอบการขายสินค้าต้อง สวย สะดุดตา น่าสใจ มีการทำกรอบให้โดดเด่น และที่สำคัญคือ การนำเสนอเนื้อหา แนะนำสินค้าต้องมีความน่าสนใจสุด เพื่อเปิดโอกาสให้คนได้อ่านและตัดสินใจซื้อสินค้าเราได้ง่ายยิ่งขึ้น

สำหรับเรื่องราคาก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อย ส่วนนี้วิสาหกิจชุมชนควรมีการวางแผนกลยุทธ์ด้านราคาและโปรโมชั่นให้ดี คิดต้นทุนให้ครบ และจัดโปรโมชั่นให้น่าซื้อกว่าคู่แข่ง เพียงเท่านี้โอกาสในการสร้างรายได้ มีกำไร ก็จะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวเลยทีเดียว

3.สร้างแฟนเพจ และทำคอนเทนต์แนะนำชุมชน สินค้า ให้คนรู้จัก เรียนรู้วิธีการลงโฆษณาด้วย

นอกจากการนำสินค้าไปแสดงในงานแสดงสินค้าบนโลกออนไลน์อย่าง Marketplace แล้ว วิสาหกิจชุมชนก็จำเป็นที่จะต้องมี โชว์รูป หรือ ห้องรับแขกไว้ต้อนรับลูกค้าใหม่ ๆ หรือไว้ให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามาทำความรู้จักเราธุรกิจ รู้จักชุมชนเรามากยิ่งขึ้น

การมีแฟนเพจบนหน้า Facebook เป็นสิ่งยังคงจำเป็น (แต่ถ้าจะให้ดีควรมีเว็บไซต์เลยนะ)  เพราะเป็นช่องทางที่สร้างได้ฟรี สามารถลงรูปภาพกิจกรรมชุมชน ขั้นตอนการผลิต แนะนำสินค้า รีวิวต่างๆ ในช่องทางนี้ได้ และหากต้องการเพิ่มยอดขายให้ได้มากยิ่งขึ้น ก็จำเป็นที่จะต้องมีการลงโฆษณาสินค้าในช่องทางนี้ด้วย ไม่อย่างนั้นแล้วแฟนเพจเราก็จะมีคนดูน้อย คนเข้าถึงน้อย โอกาสการขายก็น้อยลงเช่นกัน

4.สร้างช่อง Youtube เป็นของชุมชน เพื่อสร้าง Storytelling บอกเล่าเรื่องราวให้น่าสนใจ

ยุคนี้เป็นยุคของวีดีโอ เป็นโอกาสของธุรกิจที่สามารถเข้าถึงสื่อแบบนี้ได้เท่าๆ กับบริษัทยักษ์ใหญ่รายได้ร้อยล้านพันล้าน เมื่อก่อน VDO อาจจะเป็นแค่รูปแบบ TV ต้องจ่ายค่าโฆษณากันวินาที คิดกันเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้าน แต่ปัจจุบัน เราสามารถมีช่องวีดีโอ ไว้นำเสนอสินค้าของเราเองได้ผ่านช่องทางของ Youtube

นี่คือโอกาสของ วิสาหกิจชุมชน ที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่าย และมากยิ่งขึ้น สร้างช่อง Youtube ไม่ยุ่งยาก และการถ่าย VDO ปัจจุบันก็ทำได้ง่ายเพียงแค่มือถือเครื่องเดียวก็สามารถทำได้แล้ว เราสามารถถ่าย VDO แนะนำชุมชุน แนะนำสินค้า บอกเล่าส่วนผสม วิธีการผลิต รวมถึงรีวิวสินค้าจากลูกค้า เป็นการกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายได้มีโอกาสเห็นสินค้า ตั้งแต่ วัตถุดิบ กระบวนการผลิต และรีวิว ทำให้เกิดความเชื่อถือในแบรนด์มากขึ้น โอกาสการยายยิ่งมากขึ้นเป็นทวีคูณ รู้อย่างนี้อย่าได้รีรอ รีบยกโทรศัพท์มาถ่าย VDO สรางช่อง Youtue เพื่อสร้างยอดขากยเพิ่มกัน

5.เปิด Line OA เพื่อใช้พูดคุยกับลูกค้าใหม่ และ เพิ่มยอดขายลูกค้าเก่า

หาลูกค้ามาได้แล้ว ก็ต้องรักษาลูกค้าไว้ให้ได้ !!! ลูกค้าใหม่ยิ่งหายากเท่าไหร่ หาได้มาแล้วต้องยิ่งรักษาให้อยู่กับเราไปนานๆ มากเท่านั้น วิสหากิจชุมชนต้องเปิดใช้บริการ Line OA เพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อพูดคุยกับลูกค้าใหม่ และนำเสนอสิ่งดีๆ กับลูกค้าเก่าด้วยความสม่ำเสมอ

เคล็ดลับการดึงลูกค้าใหม่มาเข้าระบบใน Line OA เราอาจจะทำโปรโมชั่นเป็นส่วนลดให้กับลูกค้าใหม่เมื่อ เพิ่มมาเป็นเพื่อนกับ Line OA ของชุมชน ขณะเดียวกันก็ทำระบบสะสมแต้ม หรือ คูปองส่วนลดให้กับพวกเขาเพื่อเขาจะได้กลับมาเป็นลูกค้าประจำ มีการซื้อประจำมากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้นวิสาหกิจชุมชุนควรมีการบอร์ดแคส ส่งข่าวสาร นำเสนอข้อมูลดีๆ ให้กลับผู้ที่ติดตาม อย่าเน้นส่งแต่สินค้าโปรโมชั่น แต่ควรจะส่งสาระ ความบันเทิงให้กับลูกค้าด้วย เช่นอาจจะส่งคลิป VDO จากช่อง Youtbe พาเที่ยวทิพย์ชุมชน ทำให้ผู้ติดตามได้ประโยชน์และชุมชนเองก็ได้ประโยชน์จากการสร้างความสัมพันธ์ในระยะยาวต่อไป สินค้ขายได้ ลูกค้าติด เพียงเท่านี้โอกาสที่ธุรกิจจะยืนได้ในระยะยาวก็มีมากยิ่งขึ้น

ทั้ง 5 ข้อที่แนะนำสำหรับ วิสาหกิจชุมชนทำการตลาดออนไลน์ ลองนำไปปรับใช้กับชุมชนของทุกท่าน โอกาสในการที่จะสร้างรายได้ในช่วงนี้มีเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน และอย่าลืมหมั่นอัพเดตความรู้ตัวเองอยู่เสมอ เพราะโลกออนไลน์มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

คุณนุชจรี แรกรุ่น ฝอยข่าว เล่าเรื่องเมืองนคร ฅนต้นแบบเมืองนคร

             ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “สื่อ” มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตในทุกมิติ แต่ละวันเราต่างรับข้อมูลข่าวสารมากมาย โดยเฉพาะจากสื่อออนไลน์ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ในขณะที่สื่อวิทยุ-กระจายเสียงก็เป็นอีกช่องทางของการนำเสนอข่าวสารที่เข้าถึงคนในท้องถิ่นนั้นๆ ได้อย่างรวดเร็วไม่แพ้กัน นอกจากการรายงานสถานการณ์ต่างๆ แล้ว สื่อท้องถิ่นยังเป็นเหมือนที่พึ่งพายามยากของผู้คนในชุมชนอีกด้วย เช่นเดียวกับฅนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ เป็นผู้ที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงสื่อมานาน มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันในบทบาทผู้ดำเนินรายการ “ป้าจอยฝอยข่าว” ทางอสมท. 104.5 Mhz   คุณนุชจรี แรกรุ่น หรือที่แฟนคลับต่างพากันเรียกว่า “ป้าจอย นะค่ะนะ”

เส้นทางชีวิตที่สานต่อความชื่นชอบในวัยเด็กจนมาเป็น “ป้าจอยฝอยข่าว” เจ้าของฉายา “ป้าจอย นะค่ะนะ”

คุณนุชจรี แรกรุ่น หรือป้าจอย เกิดที่อำเภอเชียรใหญ่ นครศรีธรรมราช แต่ไปเติบโตที่อำเภอพิปูน ในสมัยเด็กมีความชื่นชอบเกี่ยวกับการถ่ายรูป เคยไปรับจ้างถ่ายรูปในโรงเรียนที่ตัวเองศึกษาอยู่ เมื่อคลุกคลีกับการถ่ายภาพได้สักระยะ ก็เริ่มหันมาชอบเกี่ยวกับการเป็นผู้สื่อข่าวและนักร้อง หลังจากจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษา ก็ได้เข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช สาขาวารสารการประชาสัมพันธ์ เรียนเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช) ควบคู่กับทำงานรับจ้างถ่ายรูปเพื่อส่งเสียตัวเองเรียนหนังสือ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของอาชีพในอนาคต

คุณนุชจรีมีโอกาสได้เข้าฝึกงานที่ “หนังสือพิมพ์เมืองใต้” ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของนครศรีธรรมราช จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อสาขานิเทศน์ศาสตร์ ควบคู่กับการทำงานเป็นผู้สื่อข่าวที่หนังสือพิมพ์เมืองใต้อยู่หลายปี จนได้มีโอกาสสมัครไปเป็นผู้สื่อข่าวภูมิภาคกับทางหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ในเครือของมติชนซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกที่คุณนุชจรีได้ทำ มีหน้าที่รับผิดชอบทำข่าวเกี่ยวกับธุรกิจและเศรษฐกิจในนครศรีธรรมราช พอทำงานไปได้สักระยะหนึ่งก็ได้ไปเป็นผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ข่าวสด ซึ่งอยู่ในเครือเดียวกัน

จากนั้นได้เป็นผู้สื่อข่าววิทยุของสำนักข่าวไทยช่อง 9 อสมท. ในยุคนั้นมีการรายงานเสียงและส่งข่าวไปยังส่วนกลางให้ทำการเผยแพร่ ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบให้ผู้สื่อข่าวที่ประจำแต่ละจังหวัดรายงานข่าวเอง เพื่อให้เกิดอรรถรสในการฟัง มาถึงตอนนี้คุณนุชจรีเริ่มมีความกังวลเกิดขึ้น เนื่องจากไม่มั่นใจในการพูดภาษากลางที่ติดสำเนียงใต้ แต่ก็สามารถผ่านไปได้ด้วยดีและมีความกล้าที่จะรายงานข่าววิทยุสำนักข่าวไทย อย่างเวลาที่มีการประชุมที่กรุงเทพระดับผู้บริหารมักจะถามหาคุณนุชจรีและให้มีการแนะนำตัว แน่นอนว่าสำเนียงของคุณนุชจรีได้กลายเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ผู้คนจดจำ

เมื่อเริ่มเป็นที่รู้จักก็เริ่มมีกำลังใจการรายงานข่าวอย่างต่อเนื่อง จนถึงช่วงหนึ่งได้มีโอกาสทำงานกับทางสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย โทรรายงานข่าวช่วงเช้าส่งตรงจากนครศรีธรรมราชผ่านรายการ “เมืองใต้บ้านเรา” จนเกิดเป็นวลี “นะค่ะนะ” คำพูดติดปากที่คุณนุชจรีเองก็ไม่รู้ตัวเมื่อรายงานข่าว จนมีผู้ฟังเริ่มพูดถึงวลีนี้กันมากขึ้น และได้กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นฉายา “ป้าจอย นะค่ะนะ” นั่นเอง

หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในช่วงเวลา 2 ปีที่ทำงานกับทางสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย จนเมื่อรายการที่จัดได้ยุติลง คุณนุชจรีก็เริ่มที่จะหาลู่ทางในการจัดรายการวิทยุของตัวเอง ซึ่งในช่วงเวลานั้นไม่ได้ทำกันง่ายๆ เพราะการที่จะเป็นนักจัดรายการวิทยุได้ต้องผ่านการสอบใบประกอบวิชาชีพ และสถานีวิทยุชุมชนในตอนนั้นก็ยังไม่มี คุณนุชจรีจึงไปชักชวนคนที่มีใบประกอบวิชาชีพมาเป็นนักจัดรายการร่วมกัน เพื่อเป็นใบเบิกทางในการทำงานกับสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย ท้ายที่สุดคุณนุชจรีก็สามารถสอบผ่านจนได้รับใบประกอบวิชาชีพ และกลายมาเป็นผู้ดำเนินรายการ “ป้าจอยฝอยข่าว” ทางอสมท. 104.5 Mhz

 “ป้าจอย ฝอยข่าว” นักจัดรายการวิทยุชุมชน กับบทบาทหน้าที่ของสื่อท้องถิ่นที่มีอิทธิพลต่อคนในชุมชน

การได้มาเป็นนักจัดรายการวิทยุที่ใช้ภาษาใต้ ในช่วงนั้นถือว่าเป็นอะไรที่ค่อนข้างใหม่ ซึ่งการนำเสนอข่าวสาร บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ นอกเหนือจากจรรณยาบรรณวิชาชีพแล้ว สไตล์การจัดรายการของคุณนุชจรียังได้ดึงเอาความเป็นตัวตนของตัวเองออกมา ทำให้มีผู้ที่ชื่นชอบสไตล์การสื่อสารเช่นนี้อยู่ไม่น้อย เมื่อสื่อสารอะไรออกไป มักจะได้รับการยอมรับและมีความน่าเชื่อถือ

อย่างในปี พ.ศ. 2562 จังหวัดนครศรีธรรมราชได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK) ส่งผลให้มีฝนตกหนักมากในหลายพื้นที่ สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง จำเป็นจะต้องเร่งอพยพชาวบ้านที่อยู่ริมชายฝั่งออกจากพื้นที่เสี่ยง ทางด้านคุณนุชจรียังคงทำหน้าที่ของสื่อท้องถิ่นในการรายงานความคืบหน้าอยู่เป็นระยะ แต่ก็ยังมีชาวบ้านบางส่วนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุได้เพิกเฉยต่อคำเตือนดังกล่าวของกรมอุตุนิยมวิทยา ไม่ยอมอพยพออกจากบ้านพักของตนเอง ถึงขั้นที่ว่าลูกหลานต้องอ้างอิงถึง “ป้าจอย” จึงจะยอมออกจากบ้านไปพักพิงที่ศูนย์อพยพ

อย่างสถานการณ์ล่าสุด การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คุณนุชจรียอมรับว่าตัวเองมีความกดดันไม่น้อย เพราะมีผู้ฟังคอยติดตามข่าวสารเป็นจำนวนมาก การสื่อสารต้องรวดเร็ว ชัดเจนและครบถ้วน ชาวบ้านที่กำลังประสบปัญหากับวิกฤตครั้งนี้ต่างก็ติดต่อเข้าไปยังรายการทั้งทางโทรศัพท์และส่งข้อความ เพื่อขอความช่วยเหลือให้ช่วยประสานงานกับทางผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเคสที่มีการส่งผู้ป่วยกลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนาเดิม การที่ต้องรับฟังและนำเสนอข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของผู้คนในแต่ละวัน ทำให้คุณนุชจรีต้องเผชิญกับความเครียดสะสมเป็นเวลานานเช่นกัน ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจไม่น้อย ในช่วงนี้รูปแบบรายการจึงปรับเปลี่ยนมาเป็นการให้กำลังใจแก่ผู้ฟัง

การปรับตัวของสื่อวิทยุที่ต้องทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

ในฐานะที่เป็นคนรุ่นเก่า แต่เก๋าประสบการณ์ คุณนุชจรีเล่าว่า เริ่มเข้าสู่เส้นทางสายอาชีพนักข่าวตั้งแต่สมัยที่ยังมีการใช้เครื่องพิมพ์ดีด จนมาถึงยุคที่มือถือเครื่องเดียวก็ทำได้แทบทุกอย่าง จึงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวงการสื่อมาโดยตลอด สื่อวิทยุเองก็ได้รับความสนใจน้อยลง จึงต้องปรับตัวเพื่อให้ไปต่อได้ มีการขยายฐานผู้ฟังผ่านสื่อออนไลน์อย่างการไลฟ์สด (Facebook Live) ที่กำลังอยู่ในกระแส คุณนุชจรีเองก็ไม่พลาดที่จะใช้ช่องทางออนไลน์ในการทำงานและพูดคุยกับผู้ชมทางบ้านเช่นกัน

ถือว่าเป็นนักจัดรายการวิทยุคนแรกของนครที่ไลฟ์สดก็ว่าได้ บ่อยครั้งที่มีการนำข้อมูลข่าวสารที่ถูกนำเสนอโดยสื่อต่างๆ มาสรุปให้กระชับได้ใจความผ่านทางเพจ “ป้าจอยฝอยข่าว” โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง และสื่อสารให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด เพื่อให้คนในชุมชนได้รับรู้ข่าวสารที่กำลังอยู่ในความสนใจของคนทั่วไปอย่างทันท่วงที แม้ว่าทุกวันนี้ใครๆ ก็สามารถบอกเล่าเรื่องราว หรือแม้แต่การนำเสนอข่าวผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่จากประสบการณ์การลงพื้นที่ทำข่าวของคุณนุชจรี ทำให้การนำเสนอมีความโดดเด่นและน่าสนใจ ผู้ชมสามารถเข้าถึงอรรถรสของการรายงาน และสัมผัสได้ถึงบรรยากาศของสถานที่

การทำงานในแวดวงสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะสื่อท้องถิ่นจำเป็นที่จะต้องเข้าถึงพื้นที่ เข้าถึงผู้คน สื่อสารข้อเท็จจริง เป็นกระบอกเสียงแทนชาวบ้าน บางครั้งก็ต้องยอมรับทั้งคำชมและแรงประทะ การทำอาชีพนี้จึงต้องยืนหยัดอย่างมั่นคง ขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสื่อกระแสใหม่ เพื่อให้มีพื้นที่ในการผลิตงานคุณภาพแก่ผู้ฟัง

ติดตามชมคลิปสัมภาษณ์ คุณ นุชจรี แรกรุ่น ย้อนหลังได้ ที่นี่

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ 092-6565-298 คุณ เกียรติ