๗ เรื่องแปลกเมื่อแรกเสด็จฯ ตามรอยกรมพระยาปวเรศฯ ที่เมืองนคร

การเสด็จเมืองนครศรีธรรมราชของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2407 ซึ่งขณะนั้นยังคงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุติกนิกาย มีการสันนิษฐานว่าการเสด็จเมืองนครฯ ครานั้น คงเนื่องมาจากรัชกาลที่ 4โปรดให้เสด็จมานมัสการพระบรมธาตุเมืองนครฯ ซึ่งรัชกาลที่ 4 ได้เสด็จมานมัสการแล้ว เมื่อ พ.ศ. 2402 และอาจเป็นการเสด็จไปศึกษารูปแบบของพระเจดีย์ที่มีฐานขนาดใหญ่ เพื่อนำมาปรับใช้ในการซ่อมแซมองค์พระปฐมเจดีย์ที่พังทลายลง เมื่อ พ.ศ. 2403

พระองค์ได้พระนิพนธ์เรื่องราวของการเสด็จครานั้นไว้ใน “กลอนกาพย์พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เสด็จเมืองนครศรีธรรมราช”

โดยจุดเริ่มต้นแรกนั้นพระองค์เสด็จออกจากกรุงเทพฯ (ไม่ได้ระบุว่าคือที่ใด แต่คาดว่าน่าจะเสด็จจากวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเป็นสถานที่ที่ประทับ) เมื่อปี จ.ศ. 1226 (ตรงกับ พ.ศ. 2407) เรือล่องมาถึงด่าน (น่าจะหมายถึงด่านพระสมุทรเจดีย์ สมุทรปราการ) ผ่านกุยบุรี เกาะหลัก อ่าวชุมพร เกาะสมุย อ่าวไชยาพิไสย อ่าวท่าทอง จนกระทั่งเดินเรือมาถึงที่ปากน้ำปากนคร พวกขุนนางได้นำเรือมาดเก๋งออกมารับเสด็จ แต่เนื่องจากทางคดโค้งและตื้นเขินจึงต้องใช้เวลามากกว่าจะมาถึงท่าโพธิ์ ถัดจากนั้นจึงขึ้นฝั่งบริเวณท่าวัง เพื่อเสด็จไปยังพระบรมธาตุเจดีย์นครฯ ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระองค์ให้การสนใจมากเป็นพิเศษ

นอกจากนั้นพระองค์ทรงพระนิพนธ์เรื่องราวเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ ด้วย ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้พระองค์ได้สดับรับฟังและเห็นมา เช่น สวนพระบริเวณพระบรมธาตุนครฯ ที่เต็มไปด้วยต้นมะพร้าวลำต้นสูงยาวกว่าต้นตาลเกือบวา มีต้นจำปาสูงมากผิดปกติ ต้นยอขนาดใหญ่สูงกว่ายอดไผ่ที่วัดดิงดง ต้นเตยที่มียอดสูงยอดต้นตาล ต้นจำปีที่มีลำต้นเกือบเท่ากะบุง ตลอดการชื่นชมและตำหนิผลไม้ที่ได้เสวย คือ แตงโมอร่อย แต่ทุเรียนกลิ่นไม่น่าพิสมัย ในด้านทรัพยากรน้ำ ผู้คนชาวเมืองนครได้กินน้ำที่สะอาดจากบ่อน้ำใต้ดินที่ถูกขุดขึ้นบริเวณต่าง ๆ ภายในตัวเมือง จึงทำให้คนนครฉลาดว่องไว มีไหวพริบปฏิภาณ ทำการงานชัดเจน และสร้างสรรค์งานช่างที่แปลกตาออกมาได้ดี

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ประทับอยู่เมืองนครฯ เป็นระยะเวลา 3 วัน จึงเสด็จกลับทางชลมารคผ่านเส้นทางเดิม

จากการศึกษากลอนกาพย์พระนิพนธ์ฯ ข้างต้นอย่างละเอียด ทำให้ทราบถึงลักษณะสภาพความเป็นอยู่และศิลปวัฒนธรรมของชาวเมืองนครในอดีตได้เป็นอย่างดี นับว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าชิ้นหนึ่งสำหรับชาวนครที่ควรแก่การศึกษาค้นคว้า

 

อ้างอิงข้อมูล

ธีรยุทธ บัวทอง. ย้อนรอยเส้นทางเสด็จของกรมพระยาปวเรศฯ ณ เมืองนคร. สานครศรีธรรมราช ปีที่ 48

ฉบับที่ 12 เดือนธันวาคม 2561, หน้า 31-41

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์. กลอนกาพย์พระนิพนธ์สมเด็จ

ห้ามนำเหรียญต่างประเทศเข้ามา ในมณฑลนครศรีธรรมราช

ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2452 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า ขณะนี้มีเงินเหรียญต่างประเทศบางชนิด ที่เรียกว่า “Mexican coins” “British Coins” และ “States coins อย่างเก่า” มีราคาต่ำกว่าราคา States coins อย่างใหม่ ซึ่งทางรัฐบาล The Straits Settlements และรัฐบาล

The Federated Malay States (FMS) ได้ประกาศให้เลิกใช้ และห้ามไม่ให้นำเข้ามายังอาณาเขตของรัฐบาล

แต่ยังคงพบว่าทางสยามได้มีผู้ลักลอบนทำเหรียญเหล่านี้ ซึ่งมิใช่เงินตรา เจ้าหนี้จึงต้องรับ (กรรม) ตามพระราชกำหนดกฎหมาย เข้ามาในมณฑลชุมพร มณฑลนครศรีธรรมราช และมณฑลปัตตานี ทำให้ราษฎรได้รับความเสียหายเป็นอันมาก จึงได้ตราประกาศห้ามไม่ให้นำเงินเหรียญต่างประเทศบางชนิดเข้ามาในบริเวณพื้นที่มณฑลทั้งสาม

ซึ่งรายละเอียดสำคัญของประกาศฉบับนี้ ระบุว่านับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2452 เป็นต้นไป ห้ามไม่ให้ผู้ใดนำเหรียญดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้นเข้ามาในหัวเมืองดังกล่าว ไม่ว่าจะทางบกหรือทางเรือเป็นอันขาดหากผู้ใดฝ่าฝืน โดยลักลอบนำเข้ามาเป็นจำนวนตั้งแต่ 10 เหรียญหรือมากกว่า มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท พร้อมทั้งริบเงินเหรียญเหล่านั้นเสีย ผู้ดูแลรับผิดชอบให้เป็นหน้าที่ของเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม

การนำเหรียญต่างประเทศที่มีการยกเลิกมาใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจถือเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะอาจส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ ตลอดจนเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ดังนั้นการออกประกาศฉบับนี้ในราชกิจจานุเบกษาจึงเป็นมาตรการทางกฎหมายประการหนึ่ง เพื่อป้องกันและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของรัฐสยามให้คงอยู่ พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนานาอารยะประเทศได้เป็นอย่างดี

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

ธีรยุทธ บัวทอง. มณฑลนครศรีธรรมราช เกร็ดประวัติศาสตร์ในราชกิจจานุเบกษา. นครศรีธรรมราช: เสือผินการพิมพ์. 2561, 184.

มรดกคณะราษฎรในเมืองนครศรีธรรมราช

มรดกคณะราษฎรเป็นผลผลิตภายหลังจากการปฏิวัติในช่วง พ.ศ. 2475 ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยระยะแรกการดำเนินงานนั้นต้องอยู่ภายใต้กรอบของหลัก 6 ประการ ได้แก่ หลักเอกราช หลักความปลอดภัย หลักเศรษฐกิจ หลักเสมอภาค หลักเสรีภาพ และหลักการศึกษา ซึ่งมรดกคณะราษฎรถูกสร้างขึ้นในรูปลักษณ์ที่สามารถจับต้องได้ และแอบแฝงอยู่อย่างมีนัยยะ กระจายไปเกือบทั่วทุกพื้นที่ของสังคมไทย

“จังหวัด” นครศรีธรรมราชถูกจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 ซึ่งได้มีการจัดระเบียบการบริหารราชการส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ ทำให้ระบบมณฑลเทศาภิบาลทั่วประเทศเป็นอันต้องถูกยกเลิกเสีย

นอกจากนี้การจัดตั้งโรงเรียนหรือสถานศึกษาบางแห่งในจังหวัดนครศรีธรรมราชก็มีความเกี่ยวเนื่องกับคณะราษฎร ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการตั้งกระทู้ถามของนายน้อม อุปรมัย ในช่วง พ.ศ. 2498 ต่อความไม่เสมอภาคของการจัดการศึกษาในภาคใต้ จนกระทั่ง พ.ศ. 2500 รัฐบาลจึงอนุมัติให้จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูขึ้นที่นครศรีธรรมราช และสำหรับโรงเรียนชุมชนพิบูลสงคราม แม้จะถูกตั้งขึ้นมาจากพระในพื้นที่ แต่ภายหลังก็ถูกเปลี่ยนแปลงชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

ในด้านเอกราชและความปลอดภัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีขณะนั้นได้จัดหน่วยทหารในภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา และได้ย้ายมณฑลทหารบกที่ 5  กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 15  จากจังหวัดราชบุรี มาตั้งที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อครั้งญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่นครศรีธรรมราช ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็นค่ายวชิราวุธและกองทัพภาคที่ 4 ในเวลาต่อมา

นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวของรำวงเวียนครก รำโทน รำนกพิทิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกรื้อฟื้นและสร้างขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ไม่นาน และในด้านความเสมอภาคและเสรีภาพมองเห็นได้ชัดจากกรณีของการยกเลิกพิธีไล่แม่มด ดังนั้นหากเราลองพิจารณาแล้วก็จะพบว่าคณะราษฎรได้สร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ขึ้นมากมายในจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเป็นเครื่องหมายบ่งบอกถึงอุดมการณ์การปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน การสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ จึงต้องยึดโยงกับประชาชน เพื่อประชาชนเป็นหลัก เพราะฉะนั้นการทำลายมรดกคณะราษฎรอย่างใดอย่างหนึ่ง (อย่างเช่นหอนาฬิกาเก่าที่ทุ่งสง) จึงอาจเทียบได้กับการปฏิเสธอุดมการณ์ของระบอบประชาธิปไตยและเป็นการกระทำที่พยายามปกปิดประวัติศาสตร์บางส่วนของประชาชน ทำให้ประวัติศาสตร์เกิดความบิดเบือนและคลาดเคลื่อนอย่างไม่น่าให้อภัย

____

ขอบพระคุณภาพจากปก www.nstru.ac.th

ห้ามคนนครทูนของด้วยศีรษะ

การทูนสิ่งของ ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ทั้งหลาย นับเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของพ่อค้าแม่ค้าสมัยก่อน บางคนเชี่ยวชาญถึงขั้นปล่อยมือสองข้างออกจากภาชนะบนศีรษะแล้วเดินเฉิดฉายยิ่งกว่านางแบบเพิ่งหัดประกวด

แต่อัตลักษณ์ของการทูนสิ่งของกลับถูกห้ามในเมืองนครศรีธรรมราช ดังข้อความที่ปรากฏอยู่ในรายงานข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ระบุว่า

“…ประการที่ 2 การที่นำสิ่งของไปมาค้าขายไม่เลือกว่าของชนิดใดใช้ทูนด้วยศีรษะทุกอย่าง ที่สุดจนถึงตะกร้ากุ้งสดปลาสดก็ทูนบนศีรษะ ในเวลาเมื่อทูนของเช่นนี้ไป น้ำคาวกุ้งปลาไหลนองลงมาบนศีรษะบ้างตามตัวบ้าง…จะหวีผมให้เรียบร้อยดีก็ไม่อยู่ได้ก็ประเดี๋ยว แต่พอนำของขึ้นทูน ผมก็หลบหลู้ไปเสียหมด…ข้าพระพุทธเจ้า (เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) – ผู้เขียน) จึงได้ชักนำหมู่ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยให้แต่งตัวนุ่งห่มให้เรียบร้อย ในเวลาเมื่อมาทำการในออฟฟิศ

และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตออกคำสั่ง ห้ามมิให้ราษฎรใช้ทูนสิ่งของด้วยศีรษะ ในเวลาเมื่อผ่านเข้ามาในบริเวณกลางเมือง และให้ใช้หาบหามแทนทูนด้วยศีรษะ เวลาที่ห้ามใหม่ ๆ ก็ปนอยู่บ้าง ครั้นมาภายหลังกลับนิยมเห็นว่า หาบดีกว่าทูน เพราะได้สองตะกร้า”

หากวิเคราะห์จากสถานการณ์บ้านเมือง ณ ขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการปฏิรูปประเทศในหลาย ๆ ด้าน เพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ซึ่งนำโดยชาติตะวันตก

การพระราชทานพระบรมราชานุญาต ห้ามมิให้ราษฎรใช้ทูนสิ่งของด้วยศีรษะ ในมณฑลนครศรีธรรมราช (หรือพื้นที่อื่น ๆ ในสยาม) นับเป็นวิธีการปรับปรุงบ้านเมืองให้ทันสมัยอีกหนทางหนึ่ง เพราะการทูนสิ่งของบนศีรษะที่เปื้อนสกปรกเหม็นคาวทั้งเรือนร่างของผู้ทูนสิ่งของเองก็ดี ผู้สัญจรรอบข้างก็ดี หรือทรัพย์สมบัติสาธารณะก็ดี ย่อมส่งผลให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีในสายตาผู้เจริญแล้ว และย้อนแย้งกับความเป็นอารยชนคนไทยผู้มีความศิวิไลซ์

ถึงกระนั้นวัฒนธรรมการทูนสิ่งของของคนนครศรีธรรมราชก็ไม่ได้จางหายไปจากความทรงจำมากนัก เนื่องจากในปัจจุบันเรายังคงเห็นพ่อค้าแม่ค้าหรือชาวบ้านบางส่วนนำสิ่งของขึ้นทูนบนศีรษะเดินไปมาปะปนกับผู้หาบเร่แผงลอย รอคอยลูกค้าอยู่ริมถนนท่ามกลางความเจริญของบ้านเมืองในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 21

___

ภาพปก : ขอบพระคุณภาพจาก www.gotonakhon.com

“ไดโนเสาร์” เรื่องเล่าชาวกรุงหยัน

ไดโนเสาร์นับเป็นสัตว์ยุคดึกดำบรรพ์ ซึ่งเชื่อได้เลยว่ามีมนุษย์จำนวนไม่น้อยที่ปรารถนาใคร่อยากจะประสบพบเจอ เพื่อสัมผัสกับความยิ่งใหญ่และท้าทายดังเช่นที่ปรากฏในภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่อง สำหรับประเทศไทยนั้นมีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เป็นต้น โดยเฉพาะอำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่นนั้นมีซากดึกดำบรรพ์มากมาย เช่น สยามโมรันนัส อิสานเอนซิส, ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน, สยามโมซอรัส สุธีธรณี ฯลฯ

หากพิจารณาจากลักษณะทางธรณีของนครศรีธรรมราช พบว่าชั้นหินบางแห่งจัดอยู่ในยุค Triassic, Upper Triassic, Lower Jurassic, Jurassic, Cretaceous ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไดโนเสาร์ได้มีชีวิตอยู่บนโลก

ถ้าอย่างนั้นในพื้นที่ของนครศรีธรรมราชต้องมีซากไดโนเสาร์?

ข้อสงสัยนี้ปรากกฎอยู่ ณ ถ้ำเพดาน (ถ้ำกระดูก) บริเวณทะเลสองห้อง (ทะเลปรน) มีลักษณะเป็นถ้ำที่ตั้งอยู่ภายในภูเขาขนาดใหญ่ ล้อมรอบด้วยสวนยางพารา สวนผลไม้ของชาวบ้าน และภูเขาหินปูนลูกโดดสลับกับที่ราบลุ่ม โดยมีเขาหน้าแดงอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งใกล้กับคลองสังข์ซึ่งไหลผ่านทางด้านทิศตะวันออกลงไปสู่ทะเลปรนทางทิศเหนือ

ภายในถ้ำพบเศษซากกระดูกสัตว์จำนวนมหาศาลที่กระจัดกระจาย ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพชำรุด เนื่องจากชาวบ้านได้กะเทาะเพื่อเอาชิ้นส่วนของกระดูกออกด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และนำเศษกระดูกบางส่วนมากองไว้ที่พื้นถ้ำปะปนกับหินปูนและก้อนแร่

บริเวณพื้นที่แห่งนี้ถูกแบ่งออกเป็นหลายถ้ำ ปรากฏทางน้ำโบราณ และร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์

ชาวบ้านในพื้นที่ (บางส่วน) มีความเชื่อว่าซากกระดูกสัตว์ที่ปรากฏอยู่ภายในถ้ำ คือ ซากกระดูกของไดโนเสาร์

แต่หาเป็นความจริงไม่ เนื่องจากการสำรวจของนักโบราณคดีและนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่ากระดูกสัตว์ที่พบเป็นกระดูกของวัว/ควาย กวาง ละอง/ละมั่ง เนื้อทราย และเก้ง และได้พบฟันสัตว์กินเนื้อซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นของสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว โดยสันนิษฐานในเบื้องต้นว่าน่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่าหมื่นปี

ผนวกกับข้อมูลจากนักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี ได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่าเขาหินปูนแห่งนี้เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาน้ำทะเลในยุค Permian เมื่อประมาณ 230 ล้านปีมาแล้ว เมื่อเขาหินปูนเกิดการยกตัวขึ้นจะเกิดเป็นโพรงหรือซอกหลืบมากมายภายใน ส่วนสัตว์ป่าที่อาศัยบริเวณโดยรอบซึ่งเป็นสัตว์กินเนื้อได้นำชิ้นส่วนของสัตว์มาทิ้งไว้ ต่อมาเกิดฝนตกหนักทำให้กระดูกสัตว์และตะกอนทับถมรวมกัน และเนื่องจากน้ำที่ไหลผ่านถ้ำหินปูนจะมีตะกอนของแคลเซียมคาร์บอเนตมากไม่นานก็จับตัวกันเป็นแผ่นแข็ง กำหนดอายุคร่าว ๆ ได้ประมาณ 100,000 – 10,000 ปีมาแล้ว ไม่ใช่ชิ้นส่วนของสัตว์ที่มีชีวิตร่วมกับไดโนเสาร์ ซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้วกว่า 65 ล้านปี อย่างที่ชาวบ้านเข้าใจ

ดังนั้นถึงแม้ว่าชั้นหินในบางพื้นที่ของนครศรีธรรมราชจะอยู่ร่วมสมัยกับไดโนเสาร์ก็ใช่ว่าจะมีไดโนเสาร์อาศัยอยู่ เพราะตราบใดที่ยังไม่ได้มีการพบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นเชิงประจักษ์ ไดโนเสาร์ที่เราปรารถนาให้มีอยู่จริงหลังบ้านก็ไม่มีทางเป็นไปได้

 

หงส์หามเต่า ที่ถูกเล่าไว้บนพระธาตุเมืองนคร

เมื่อวันอาทิตย์ก่อน (๘ ส.ค. ๒๕๖๔) ได้หนังสือมือหลังมา ๔ เล่ม ล้วนของเก่า ทุกเล่มมีเค้าว่าเป็นสมบัติจากหอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช(หช.นศ.) รูปการณ์บางอย่างเป็นพิรุธให้ต้องสงสัย แรกเห็นหน้าต้นฉีกขาดไปเหมือนกัน พลอยให้ฉุกคิดถึงคดีหนังสือบุด ที่อันตรธานจากศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชเมื่อปีสองปีก่อน แต่ด้วยว่าสภาพชำรุดมาก กับทั้งบางเล่มในกองมีตราประทับว่า “จำหน่าย” จึงยังคงพอให้เป็นไปได้ที่ ๔ เล่มในมือจะอาศัยช่องทางตามระเบียบราชการอย่างเดียวกันออกมา

เพื่อให้แน่ใจอย่างที่สุด
ได้หารือกับท่านผู้อำนวยการ หช.นศ. เพื่อให้ตรวจสอบ
จนได้ความว่าเป็นดังนั้น จึงลงมือเปิดอ่านตามที่สนใจ

เรื่องหงส์หามเต่าที่ไปปรากฏทำเป็นรูปไว้ที่มาลัยก้านฉัตรองค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช เท่าที่ค้นหาดูอย่างคร่าวๆ ไม่พบผู้ศึกษาอย่างจริงจังหรือมีกล่าวถึงในที่ใด ทั้งมุขปาฐะและลายลักษณ์อักษร เป็นความท้าทายอันยิ่งที่จะศึกษาค้นคว้าไว้เป็นความรู้พื้นฐานกระทั่งต่อยอดทางวิชาการ อย่างน้อยที่สุดอาจเริ่มที่การทบทวนสถานภาพความรู้เกี่ยวกับเรื่อง “หงส์หามเต่า” นี้

ย้อนกลับไปที่เหล่าหนังสือทั้งติดมือมา ๑ ในนั้น เป็นนิทานอิหร่านราชธรรม (ประชุมปกรณัม) เล่ม ๒ ที่มีเล่า “นิทาน” เรื่อง “หงส์หามเต่า” ไว้เป็นลำดับที่ ๓๗ ในหน้า ๑๗๗-๑๗๘ ซึ่งเราอาจเริ่มต้นทบทวนกันตรงนี้

“กาลก่อนมีสุวรรณราชหงส์คู่ ๑ ชื่อสุวรรณตรุมตัว ๑ ชื่อบรมระนิบุบ สถิตอยู่ ณ สถานแทบดัษคิรีสิงขรเหนือกูฏบรรพตอัน ๑ แลสุวรรณหงส์นั้นพากันไปหาอาหารถึงสถานสระ ๆ นั้นมีเต่าตัว ๑ ชื่อตรุมมาเป็นมิตรสันถวะด้วยสุวรรณหงส์ ตรุมก็ถามถึงถ้ำเถื่อนสถานที่อยู่ ดัษหงส์ก็แจ้งว่าสถานอันอาตมะสถิตแทบดัษคิรีสระเหนือกูฏบรรพตโพ้น สนุกสนานมีเบญจอุบลตระการด้วยผกาเกสร สรรพมัจฉาวารีสัญจรเป็นผาสุกภิรมย์หาภยันตรายมิได้ ตรุมก็ติดใจจักใคร่ไปอยู่จึงอ้อนวอนว่า สหายได้พาอาตมาไปอยู่ ณ เขาดัษคิรีสระนั้นเถิด

สุวรรณหงส์จึงตอบว่า เออก็ตามเถิด แต่ถ้าว่าสหายยังจะสงวนจิตใจจะระงับโทโสได้แล้วหรือ ตรุมรับว่าโทษจิตอาตมะจะระงับได้ จะสงวนจิตดุษณีอยู่ สหายจงมีมุทุจิตจินดาพาอาตมะไปในกาลบัดนี้ด้วยเถิด

สุวรรณหงส์ทั้งคู่ก็คาบทัณฑท่อนไม้หามหาบ ตรุมก็คาบในท่ามกลางท่อนไม้ระเห็จเหาะมาในนภากาศ พาลสิงคาลจิ้งจอกหมู่ ๑ จรมา แลเห็นก็ร้องว่า ไฉนพญาหงส์มาโหดหืนนี่นักหนา มาพาอ้ายตรุมขึ้นสวรรค์ไปดังนี้ ตรุมได้ยินเสียงสิงคาลร้องว่า มิอดทนโทโสโมโหได้อ้าโอษฐ์ออกบริภาษนา ก็หันตกลงมาอุระก็ตีลงกับพื้นปัฐพี มังสะก็แตกกระเด็นออกจากกระดอง สิงคาลก็ล้อมกันกินเป็นอาหาร

ดูกรวายุภักษ์ ผู้ใดมีจิตกล้าด้วยโทโสโมโหมหันธการหาประโยชน์มิได้ ยังภัยพินาศให้บังเกิดมีเหมือนตรุมอันมิได้สงวนจิตวจีนั้น ดูกรวายุภักษ์สังวทันต์ อย่างธรรมเนียมโบราณยังมีดังนี้อีกฯ”

เรื่องหงส์หามเต่าถูกเล่ากันในหลายพื้นที่ของไทย รวมถึงเอเชีย ส่วนข้างนครศรีธรรมราช แม้จะมีปรากฏอยู่บนองค์พระบรมธาตุเจดีย์ แต่อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่ายังสืบหาข้อมูลไม้ได้ จึงอาจต้องทยอยตะล่อมเอาจากแหล่งอื่นที่พบก่อนเพื่อทบทวน

ทุ่งใหญ่ : เทวดาหนาน และ ศาสนาผีท้องถิ่น

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กระแสยอดนิยมของสังคมออนไลน์คงหนีไม่พ้นเรื่องราวของสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างพระสยามเทวาธิราชและเรื่องเล่าหลอน ๆ จากทวิตเตอร์ที่ยังไม่ทราบเค้าโครงความจริง แต่ประเด็นของพระสยามเทวาธิราชทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์ในมิติของความเชื่อพื้นเมืองผ่านศาสนาดั้งเดิมที่เรียกกันว่า “ศาสนาผี” และเมื่อลองมองย้อนกลับมาในพื้นที่ของอำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็มีเรื่องเล่าตำนานมากมายซึ่งเกี่ยวเนื่องกับศาสนาผี ในที่นี้ขอกล่าวถึง “เทวดาหนาน” เป็นการเฉพาะ

เทวดาหนานเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำพื้นที่แถบตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยชาวบ้านบางท่านเชื่อกันว่าเทวดาหนานก็คือทวดงูบองหลา (จงอาง) ประกอบด้วยสององค์ คือ เทวดาฝ่ายชายทำหน้าที่ปกปักรักษาหนานรูปและหนานใหญ่ ส่วนเทวดาฝ่ายหญิงทำหน้าที่พิทักษ์ดูแลหนานนุ้ย  บางท่านเชื่อว่าเทวดาหนานทั้งสามถูกแยกออกเป็นเอกเทศ จึงได้มีการสร้างศาลไว้เฉพาะ กล่าวคือ ศาลเทวดาหนานใหญ่ประดิษฐานอยู่ใกล้กับถนนสายหลักหมายเลข ๔๑ เทวดาหนานนุ้ยประดิษฐานอยู่ใกล้กับวัดขนานทางด้านทิศตะวันตก และเทวดาหนานรูป ซึ่งไม่ได้มีการสร้างศาลเคารพ เนื่องจากชาวบ้านเชื่อกันว่าภาพสลักนั้นคือหนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเคยมีร่างทรงประทับเป็นสื่อแทนเทวดาหนานรูป เพื่อบ่งบอกว่าหากมีเรื่องบนบานสานกล่าวสามารถบนบานตนเองได้ แต่หากจะเชิญไปด้วยไกล ๆ นั้น คงเป็นไปไม่ได้ เพราะตนต้องอยู่พิทักษ์ทรัพย์สมบัติ ณ ที่แห่งนี้ และบางท่านเชื่อว่าเทวดาหนานทั้งสามเป็นองค์เดียวกัน เพียงแต่ถูกนับแยกเมื่อมีการแยกพื้นที่หินหนานออกเป็นหนานใหญ่ หนานนุ้ย และหนานรูป

แต่ไม่ว่าเทวดาหนานจะเป็นองค์เดียวกันหรือไม่ มันก็ทำให้เราได้มองเห็นภาพสะท้อนของความเชื่อของคนในพื้นที่ที่ยังคงนับถือ “ศาสนาผี” ซึ่งมีความเชื่อผูกพันกับ “ทวด” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอิทธิฤทธิ์ เดชานุภาพ สามารถให้คุณให้โทษได้

ความศักดิ์สิทธิ์ของเทวดาหนานถูกเล่าต่อกันมาหลายชั่วอายุคน โดยความเชื่อหนึ่งเล่าว่า หากสัตว์เลี้ยงเกิดล้มป่วย หรือผู้คนปรารถนาสิ่งอื่นใดในทางที่ดีเป็นประโยชน์ก็ให้บนถึงเทวดาหนาน ไม่นานสัตว์เลี้ยงเหล่านั้นก็จะหายเป็นปลิดทิ้ง และผู้คนก็มักจะสมหวังตามปรารถนา แต่หากผู้ใดลบหลู่ดูหมิ่น จะได้รับการลงโทษจนต้องรีบทำพิธีขอขมาเป็นการใหญ่ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดที่ว่าทวดจะให้คุณเมื่อบวงสรวงบูชาและเอาใจ และจะให้โทษเมื่อถูกกระทำการลบหลู่ดูหมิ่น ซึ่งเทวดาหนานน่าจะจัดอยู่ในรูปลักษณ์ของทวดแบบสัตว์

และหากพิจารณาต่อไปอีกจากงานเขียนของ อาจารย์สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่กล่าวว่า “ผีบรรพบุรุษอาศัยหลักฐานจากจารึกในท้องถิ่นที่มีการระบุถึงชื่อของเทวะ เดาว่าเป็นผีพื้นบ้าน แต่สะกดแบบบาลีสันสกฤต เช่นที่วัดภู สมัยชัยวรมันที่สอง มีเทพชื่อ Vrah Thkval เดาว่าเป็นเทพหรือผีท้องถิ่น” ดังนั้นเทวดากับผีท้องถิ่นก็คือสิ่งเดียวกัน เพียงแต่มีรากฐานของคำแตกต่างกัน

เพราะฉะนั้นเมื่อพระพุทธศาสนาได้เดินทางเข้ามาในพื้นที่ ก็จำต้องปะทะกับความเชื่อพื้นเมือง และเกิดการต่อรองอำนาจ เพื่อเชื่อมความเชื่อระหว่างศาสนา จนกระทั่งความเป็นพุทธและผี ถูกหลอมรวมจนเกือบจะเป็นเนื้อเดียวกัน ก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมและอัตลักษณ์เฉพาะพื้นที่มาจวบจนทุกวันนี้

“พระพุทธสิหิงค์” ท่ามกลางความจริง – ความปลอม คติและความทรงจำของชาวนครศรีธรรมราช

            พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองนครศรีธรรมราชมาแต่ครั้งใดนั้น ยังไม่ปรากฏจุดเริ่มต้นที่เป็นข้อสรุป ทั้งนี้ เพราะทางโบราณคดี คติชนวิทยา ประวัติศาสตร์ศิลป์ และอีกหลายวิทยาการให้คำตอบต่างกัน ทว่าชาวนครศรีธรรมราช ก็ยังยืนยันถึงความเป็นตัวแทนของพระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เฝ้าคำนึงและระลึกถึงคุณอันประเสริฐในฐานะศูนย์รวมศรัทธาอยู่ตาปีตาชาติ”

            แม้จะมีการออกชื่อแตกต่างกันไป เป็นต้นว่า พระสยิง หระหึง พระสีหิงค์ และพระสิหึง แต่ในความรับรู้ของชาวนครศรีธรรมราช กล่าวกันเป็นความเดียวว่าพระพุทธสิหิงค์องค์นี้ ถูกอัญเชิญมาจากลังกา ตามป้ายนิทัศน์ซึ่งสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช จัดทำไว้หน้าหอพระพุทธสิหิงค์ ความว่า “…พระมหากษัตริย์ลังกา โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๗๐๐ และมาอยู่ประเทศไทยในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช…” ในขณะที่ป้ายติดกันของสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช ไม่กล่าวถึงที่มา โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับพุทธลักษณะว่า “…เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร หล่อด้วยสำริด หน้าตักกว้าง ๓๒ เซนติเมตร กางกั้นด้วยฉัตรหักทองขวางทำด้วยโลหะปิดทองฉลุลาย…”

            การระบุศักราชของการสร้างที่ พ.ศ. ๗๐๐ อาจเป็นมูลเหตุตั้งต้นให้มีการตั้งคำถามถึงความจริง – ความปลอม เพราะนักประวัติศาสตร์ศิลปะหลายท่านกำหนดอายุของงานพุทธศิลป์ชิ้นนี้ไว้ไม่เกินพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ประกอบกับหลายพื้นที่ในเมืองนครศรีธรรมราช รวมไปถึงท้องถิ่นภาคใต้ มีการกล่าวถึงพระพุทธสิหิงค์ซึ่งเป็นสมบัติของตนในลักษณะตำนาน ว่าเป็นองค์จริงแท้ ดั้งเดิม อาทิ พระพุทธสิหิงค์ เมืองตรัง พระพุทธสิหิงค์ วัดอินทคีรี เป็นต้น เหล่านี้ไม่รวมถึงพระพุทธสิหิงค์ของภูมิภาคอื่นซึ่งเป็นที่สักการะโดยทั่วไป ทั้งพระพุทธสิหิงค์ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ และพระพุทธสิหิงค์ พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ดังนั้น นอกจากการถามหาความจริง – ความปลอม ซึ่งเป็นเป้าประสงค์หลักของบทความฉบับนี้แล้ว การวิเคราะห์ให้เห็นมูลเหตุและตั้งข้อสังเกตกับบริบทที่เกี่ยวข้องจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจควบคู่กันไป ซึ่งข้อค้นพบเหล่านั้นอาจคลี่คลายไปสู่องค์ความรู้หรือทฤษฎีทางวัฒนธรรมใหม่ก็ได้

            ทั้งนี้แต่ไม่ทั้งนั้น เพื่อไม่ให้บทความเยิ่นเย้อไร้หลัก จึงกำหนดขอบเขตที่จะกล่าวถึงเอาไว้เฉพาะสิ่งที่เป็นคติและความทรงจำของชาวนครศรีธรรมราช ซึ่งอาจมีการกล่าวถึงของชาวนอกบ้าง แต่ก็เป็นเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยง 

         พระพุทธสิหิงค์ในตำนาน

            อย่างไรก็ดี เรื่องที่มาของพระพุทธสิหิงค์องค์นี้ เป็นสาระสำคัญที่ผู้คนให้ความสนใจมากกว่าสิ่งอื่น ซึ่งบริบทของเมืองนครศรีธรรมราชได้สื่อสารที่มาเหล่านั้นด้วย “ตำนาน” ทั้งที่เป็นมุขปาฐะและลายลักษณ์อักษร

            ตำนานกระแสหลักถูกเล่าสืบต่อกันเป็นมุขบาฐ กล่าวกันตามข้อความในป้ายนิทัศน์แรกดังที่ได้ยกมาแล้ว ใจความสำคัญอยู่ที่การสร้างเมื่อพุทธศักราช ๗๐๐ และ เชิญมาในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช จะมีเพิ่มเติมก็ส่วนที่เกี่ยวข้องกับเมืองนครศรีธรรมราช กล่าวคือพ่อขุนรามคำแหงฯ มิได้ไปเชิญด้วยพระองค์เอง แต่ตรัสขอกับพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชให้ช่วยเป็นธุระ ความทรงจำของชาวนครศรีธรรมราชโดยทั่วไปมีแต่เพียงเท่านี้ ทั้งที่มีเอกสารสำคัญประจำเมืองกล่าวถึงไว้อย่างชัดเจน

            ตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับกระดาษฝรั่ง (พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงพิมพ์ตามต้นฉบับหนังสือเก่ากระดาษฝรั่งเขียนเส้นหมึก ในหอพระสมุดวชิรญาณ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๑)  มีการกล่าวถึงพระพุทธสิหิงค์เอาไว้ ความว่า “…แลพระสิหิงค์มาประทักษิณพระธาตุแล้วอยู่ ๗ วันก็จากเมืองนครไปเมืองเชียงใหม่…” ต้นย่อหน้าของข้อความนี้บอกมหาศักราชไว้ว่าตรงกับ ๑๑๙๖ ซึ่งคือพุทธศักราช ๑๘๑๗ ในขณะที่เมืองนครศรีธรรมราชมีพญาศรีไสณรงค์เป็นเจ้าเมือง

            ส่วนตำนานเมืองนครศรีธรรมราช กล่าวว่า “เมื่อมหาศักราชได้ (ต้นฉบับลบ) ปีนั้นพระยาศรีธรรมโศกราชสร้างสถานลหาดซายนั้นเป็นกรงเมืองชื่อเมืองศรีธรรมราชมหานคร ผู้อัครมเหสีชื่อสังคเทวี จึงพญาศรีธรรมโศกราชแลพญาพงศากษัตริย์แลบาคูตริริด้วยมหาพุทธเพียร ซึ่งจำทำอิฐปูนจะก่อพระมหาธาตุ จึงรู้ข่าวว่าพระสิหิงค์เสด็จออกแต่เมืองลังกาก็ล่องน้ำทะเลมา แลว่ามีผีเสื้อผีพรายเงือกงูชลามพิมทองตามหลังรัศมีพระพุทธสิหิงค์ๆ ลอยมาเถิงเรียกชื่อเกาะปีนัง แล้วก็คืนมาเห็นเกาะแก้ว…”

            ดังจะเห็นว่า

            ตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช บอกที่ไปโดยไม่บอกที่มา

            ส่วนตำนานเมืองนครศรีธรรมราช บอกที่มาแต่ไม่บอกที่ไป

            ทั้ง ๒ ตำนานจึงถูกประติดประต่อสวมกันจนลงรอย แน่นอนว่าตำนานเหล่านี้ย่อมมีต้นเค้า ซึ่งในที่นี้อาจสันนิษฐานได้ว่ามาจากเรื่องพระสีหลปฏิมาหรือพระพุทธสิหิงค์ ในพระคัมภีร์ชิณกาลมาลีปกรณ์

            เพื่อให้เห็นภาพกว้างเกี่ยวกับที่มาของพระพุทธสิหิงค์ จึงจำเป็นต้องเชื่อมโยงข้อมูลจากแหล่งที่มีการกล่าวถึง ซึ่งก็คือต้นเค้าของชุดความรู้ในการสร้างความทรงจำร่วมกันของชาวนครศรีธรรมราช ดังจะได้ขมวดความต่อไป

            ชิณกาลมาลีปกรณ์ แต่งโดยมหาเถรรัตนปัญญา ชาวเมืองเชียงใหม่ เสร็จสมบูรณ์ทั้งฉบับเมื่อพุทธศักราช ๒๐๗๑ แรกแต่งนั้นเป็นภาษาบาลี จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้ราชบัณฑิต ได้แก่ พระวิเชียรปรีชา พระยาพจนพิมล หลวงอุดมจินดา หลวงราชาภิรมย์ และหลวงธรรมาภิมณฑ์ ร่วมกันแปลเป็นภาษาไทยครั้งแรก เมื่อพุทธศักราช ๒๓๓๑ ใช้ชื่อว่า “ชินกาลมาลินี” ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ ได้ตีพิมพ์ขึ้นเป็นเล่ม ทั้งฉบับภาษาบาลีและฉบับแปล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ โดยเรียกชื่อตามฉบับแปลนั้น และใน พ.ศ. ๒๕๐๓ กรมศิลปากรได้ให้ศาสตราจารย์ ร.ต.ท.แสง มนวิทูร แปลแล้วเรียบเรียงโดยใช้ชื่อยืนตามต้นฉบับว่า “ชิณกาลมาลีปกรณ์”

            ในชั้นแรก เหตุที่ได้ยกพระคัมภีร์ฉบับนี้ขึ้นประกอบ ก็ด้วยมีข้อสังเกตบางประการ อาทิ

            ๑. ผู้รจนาเป็นชาวเชียงใหม่ ซึ่งในตำนานพระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช กล่าวถึงที่ไปขององค์พระพุทธสิหิงค์ว่าประดิษฐานอยู่ ณ ที่นั่น

            ๒. การแปลมีขึ้นเมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนพระคัมภีร์ถูกแต่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งอาจเป็นมรดกตกทอดมาแต่ครั้งกรุงธนบุรี ในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระพรหมมุนีไปเมืองนครศรีธรรมราชถึง ๒ หน หนแรกเมื่อพุทธศักราช ๒๓๑๙  “…ไปรับพระไตรปิฎกเมืองนคร…” ภายหลังจากที่ได้ทรงอัญเชิญไปด้วยแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๒ กับหนหลังเมื่อปี ๒๓๒๐ ซึ่งโปรดฯ ให้ “…ค้นพระคัมภีร์วิสุทธิมรรค…”

            รวมความว่า พระคัมภีร์เมืองนครศรีธรรมราช ถูกเชิญขึ้นไปกรุงธนบุรีนั้นทั้งสิ้น ๓ ครั้ง (เฉพาะครั้งสำคัญที่มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร) ก็อาจเป็นไปได้ว่าครั้งใดครั้งหนึ่ง จะติดพระคัมภีร์ชิณกาลมาลีปกรณ์ไปในสำรับเหล่านั้นด้วย ทว่าอาจต้องศึกษาเพิ่มเติมในประเด็นของความแพร่หลายและการเป็นที่ยอมรับ ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างเมืองนครศรีธรรมราชกับลานนานั้น ในสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระราเมศวร (ครองราชย์ ๑๙๑๒ และ ๑๙๓๑ – ๑๙๓๘) พระองค์เสด็จขึ้นไปทำศึกกับแคว้นลานนาไทยมีชัยชนะ โปรดฯ ให้อพยพครัวชาวลานนาลงมาไว้เมืองนครศรีธรรมราช ความสัมพันธ์ในขั้นการไปมาหาสู่กันของชาวเมืองในชั้นหลังจึงอาจเริ่มต้นขึ้นแต่นั้น

            ๓. อย่างไรก็ตาม ชิณกาลมาลีปกรณ์มิได้เกิดขึ้นจากการประพันธ์อย่างสยมภู เพราะอาศัยข้อความจากพระคัมภีร์ต่างๆ คือ บาลีอปทานสูตร วิสุทธชนวิลาสีนี พุทธวงศ์ มธุรัตถวิลาสีนีอรรถกถาพุทธวงศ์ จริยาปิฎกอรรถบาลีอังคุตรนิกาย มหาปทานสูตร มหาปรินิพพานสูตร สุมังคลวิลาสินี ปปัญจสูทนี อรรถกถามหาวรรคทีฑนิกาย ชาตกัฏฐกถา สมันปาสาทิกา มิลินทปัญหา มหาวงศ์ วังสมาลินีปกรณ์ ทีปวงศ์ ชินาลังการ

และอรรถกถาชินาลังการ ธาตุวงศ์ ทาฐาธาตุวงศ์ ถูปวงศ์ โพธิ์วงศ์ และมหาวัคค์แห่งพระวินัย เหล่านี้มาอาศัยเป็นคู่มือเพื่อเรียบเรียง จึงอาจต้องมีการสอบทวนว่าเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธสิหิงค์ที่มีกล่าวถึงในชิณกาลมาลีปกรณ์นี้ ในพระคัมภีร์ต้นฉบับนั้นมีกล่าวไว้อย่างไร

            ทีนี้จะได้กล่าวถึง เรื่องพระพุทธสิหิงค์ที่มีในชิณกาลมาลีปกรณ์ ฉบับแปลและเรียบเรียงโดย ศาสตราจารย์ ร.ต.ท.แสง มนวิทูร โดยจะคงรูปลักษณ์ตามการเขียนจากต้นฉบับต่อไป

            “ได้ยินว่า เมื่อพระศาสดาปรินิพพานล่วงแล้วได้ ๗๐๐ ปี พระเถระที่เป็นขีณาสพยังมีอยู่ในลังกาทวีป ๒๐ องค์ ครั้งนั้น พระเจ้าสีหลใคร่จะทอดพระเนตรรูปของพระพุทธ จึงเสด็จไปยังวิหาร ตรัสถามพระสังฆเถระว่า เขาว่าพระพุทธของเราทั้งหลาย เมื่อทรงพระชนม์อยู่ ได้เสด็จมาลังกาทวีปนี้ถึง ๓ ครั้ง ผู้ที่ได้เห็นพระพุทธนั้น เดี๋ยวนี้ยังมีอยู่หรือหามิได้ ทันใดนั้น ด้วยอานุภาพของพระขีณาสพ ราชาแห่งนาคได้แปลงรูปมาเป็นคน แล้วเนรมิตตนเป็นรูปพระพุทธ เพื่อจะเปลื้องความสงสัยของพระเจ้าสีหล พระราชาทรงบูชาพระพุทธรูป ๗ คืน ๗ วัน ครั้งนั้น พระราชาตรัสสั่งให้หาช่างปฏิมากรรมชั้นอาจารย์มาแล้ว โปรดให้เอาขี้ผุ้งปั้นถ่ายแบบพระพุทธ มีอาการดั่งที่นาคราชเนรมิต และให้ทำแม่พิมพ์ถ่ายแบบพระพุทธนั้นด้วยเป็นอย่างดี แล้วให้เททองซึ่งผสมด้วยดีบุก ทองคำ และเงิน อันหลอมละลายคว้างลงในแม่พิมพ์นั้น พระพุทธปฏิมานั้น เมื่อขัดและชักเงาเสร็จแล้วงามเปล่งปลั่งเหมือนองค์พระพุทธยังทรงพระชนม์อยู่

            ฝ่ายพระเจ้าสีหล ทรงบูชาด้วยเครื่องสักการบูชาและด้วยความนับถือเป็นอันมาก โดยเคารพ แม้พระราชบุตร พระราชนัดดา พระราชปนัดดา ของพระองค์ ก็ได้ทรงบูชาพระสีหลปฏิมาสืบๆ กันมา ต่อจากนั้น เมื่อพระสัมมาสัมพุทธปรินิพพานได้ ๑๘๐๐ ปี จุลศักราช ๖๑๘ มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า โรจราช ครองราชย์สมบัติอยู่ในเมืองสุโขทัยประเทศสยาม ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของชมพูทวีป

            ได้ยินว่า ที่ตำบลบ้านโค ยังมีชายคนหนึ่งรูปงาม มีกำลังมาก ท่องเที่ยวอยู่ในป่า มีนางเทพธิดาองค์หนึ่ง เห็นชายคนนั้นแล้ว ใคร่จะร่วมสังวาสด้วย จึงแสดงมารยาหญิง ชายคนนั้นก็ร่วมสังวาสกับนางเทพธิดาองค์นั้น เนื่องจากการร่วมสังวาสของเขาทั้งสองนั้น จึงเกิดบุตรชายคนหนึ่ง และบุตรชายคนนั้นมีกำลังมาก รูปงาม เพราะฉะนั้น ชาวบ้านทั้งปวงจึงพร้อมใจกันทำราชาภิเษกบุตรชายคนนั้น บุตรชายซึ่งครองราชย์สมบัติในเมืองสุโขทัยนั้น ปรากฏพระนามในครั้งนั้นว่า โรจราช ภายหลังปรากฏพระนามว่า พระเจ้าล่วง ได้ยินว่าครั้งหนึ่ง พระเจ้าโรจใคร่จะทอดพระเนตรมหาสมุทร แวดล้อมด้วยทหารหลายหมื่น เสด็จล่องใต้ตามลำแม่น้ำน่านจนกระทั่งถึงสิริธรรมนคร ได้ยินว่า พระเจ้าสิริธรรม ครองราชสมบัติอยู่ในเมืองนั้น พระองค์ทรงทราบว่าพระเจ้าโรจเสด็จมา จึงเสด็จออกไปต้อนรับ ทรงรับรองเป็นอย่างดีแล้ว ตรัสเล่าให้พระเจ้าโรจฟังถึงความอัศจรรย์ของพระสีหลปฏิมาในลังกาทวีปตามที่ได้ทรงสดับมา พระเจ้าโรจทรงสดับเรื่องนั้นแล้ว ตรัสถามว่า เราจะไปที่นั่นได้ไหม พระเจ้าศิริธรรมตรัสตอบว่า ไปไม่ได้ เพราะมีเทวดาอยู่ ๔ ตน ชื่อสุมนเทวราช ๑ รามเทวราช ๑ ลักขณเทวราช ขัตตคามเทวราช ๑ มีฤทธิ์เดชมากรักษาเกาะลังกาไว้เป็นอย่างดี เมื่อเป็นดั่งนั้น สองกษัตริย์จึงส่งทูตไป ครั้นแล้ว พระเจ้าโรจก็เสด็จกลับเมืองสุโขทัย

            ราชทูตไปถึงลังกาทวีปแล้ว กราบทูลเรื่องราวทั้งหมดนั้นแก่พระเจ้าสีหล พระเจ้าสีหลทรงทราบเรื่องราวนั้นแล้ว ทรงบูชาพระสีหลปฏิมา ๗ คืน ๗ วัน แล้วพระราชทานให้แก่ราชทูต ราชทูตอัญเชิญพระสีหลปฏิมาลงเรือแล้วกลับมา แต่เรือนั้นแล่นด้วยกำลังพายุ พัดกระทบกับหินในท้องทะเลเข้าก็แต่ไป ส่วนพระพุทธปฏิมาประดิษฐานอยู่บนกระดานแผ่นหนึ่ง กระดานแผ่นนั้นลอยไปได้ ๓ วัน ถึงสถานที่แห่งหนึ่งใกล้สิริธรรมนครด้วยอานุภาพนาคราช ครั้งนั้นเทวดามาเข้าฝันพระเจ้าสิริธรรมในเวลากลางคืนให้เห็นพระสีหลปฏิมาเสด็จมาอย่างชัดเจน รุ่งเช้าจึงส่งเรือหลายลำไปในทิศต่างๆ แม้พระองค์เองก็ทรงเรือพระที่นั่งเสด็จไปทรงค้นหาพระสีหลปฏิมา ด้วยการอธิษฐานของพระอินทร์ พระเจ้าสิริธรรมทรงพบพระสีหลปฏิมาประดิษฐานบนกระดานนั้นเข้าแล้วทรงนำมาสักการบูชา ครั้งแล้ว พระเจ้าสิริธรรมจึงส่งพระราชสาส์นถึงพระเจ้าโรจ แจ้งว่าได้พระพุทธปฏิมาแล้ว พระเจ้าโรจจึงเสด็จไปสิริธรรมนคร แล้วอัญเชิญพระสีหลปฏิมา มาเมืองสุโขทัย ทรงสักการบูชา แล้วโปรดให้สร้างพระปรางค์ขึ้นองค์หนึ่ง ในเมืองสัชชนาลัย ล้วนแล้วด้วยศิลาแลงและอิฐ โบกปูนขาวหุ้มแผ่นทองแดงแน่นหนา ปิดทอง ไม่ใช่แลเห็นเป็นหิน งามดั่งรูปทิพยพิมาน

            ครั้นสร้างเสร็จแล้ว โปรดให้ฉลองมหาวิหารเป็นการใหญ่พร้อมกับมหาชนที่มาประชุมกันจากนครต่างๆ มีสัชชนาลัย, กำแพงเพชร, สุโขทัย และชัยนาท เป็นต้น และพระเจ้าโรจทรงสะสมบุญเป็นอเนกแล้วสวรรคต 

            เมื่อพระเจ้าโรจล่วงลับไปแล้ว พระเจ้าราม พระราชโอรสของพระเจ้าโรจครองราชย์สมบัติในเมืองสุโขทัย พระเจ้ารามนั้นทรงบูชาพระสีหลปฏิมาเช่นเดียวกัน เมื่อพระเจ้ารามล่วงลับไปแล้ว พระเจ้าปาล ได้รับราชสมบัติในเมืองสุโขทัยนั้นแล้ว ทรงบูชาพระสีหลปฏิมา เมื่อพระเจ้าปาลล่วงลับไปแล้ว พระเจ้าอุทกโชตถตะ พระโอรสของพระเจ้าปาลได้ราชสมบัติในเมืองสุโขทัยนั้นแล้ว ทรงสักการะพระสีหลปฏิมา เมื่อพระเจ้าอุทกโชตถตะล่วงลับไปแล้ว พระเจ้าลีไทย ทรงครอบครองราชย์สมบัติในเมืองสุโขทัยนั้น และพระเจ้าลีไทยนั้น มีชื่อเสียงปรากฏว่า พระเจ้าธรรมราชา ทรงศึกษาเล่าเรียนพุทธวจนะคือ ไตรปิฎก เล่ากันว่าครั้งหนึ่ง เมืองชัยนาทเกิดทุกภิกขภัย พระเจ้ารามาธิบดี กษัตริย์อโยชชปุระ เสด็จมาจากแคว้นกัมโพช ทรงยึดเมืองชัยนาทนั้นได้โดยทำทีเป็นว่าเอาข้าวมาขาย ครั้นยึดได้แล้ว ทรงตั้งมหาอำมาตย์ของพระองค์ชื่อว่าวัตติเดช ซึ่งครองเมืองสุวรรณภูมิ ให้มาครองเมืองชัยนาท ส่วนพระองค์เสด็จกลับไปอโยชชปุระ ต่อแต่นั้นมาพระเจ้าธรรมราชก็ส่งบรรณาการเป็นอันมากไปถวายพระเจ้ารามาธิบดีทูลขอเมืองชัยนาทนั้นคืน ฝ่ายพระเจ้ารามาธิบดีก็ทรงประทานคืนแก่พระเจ้าธรรมราชา วัตติเดชอำมาตย์ก็กลับไปเมืองสุวรรณภูมิอีก พระเจ้าธรรมราชา ครั้งได้เมืองชัยนาทคืนแล้ว ทรงตั้งพระมหาเทวีผู้เป็นกนิษฐา ของพระองค์ให้ครองราชย์สมบัติในเมืองสุโขทัย ทรงตั้งอำมาตย์ชื่อติปัญญา ให้ครองราชย์สมบัติในเมืองกำแพงเพชร ส่วนพระองค์เชิญพระสีหลปฏิมาไปบูชาที่เมืองชัยนาท เมื่อพระเจ้ารามาธิบดีผู้เป็นใหญ่แก่แคว้นกัมโพชและอโยชชปุระสวรรคตแล้ว วัตติเดชอำมาตย์มาจากเมืองสุวรรณภูมิยุดแคว้นกัมโพชได้ ครั้นพระเจ้าธรรมราชาเมืองชัยนาทสวรรคตแล้ว วัตติเดชอำมาตย์มาจากอโยชชปุระยึดเมืองชัยนาทแล้วอัญเชิญพระสีหลปฏิมาไปบูชาที่อโยชชปุระ และมหาอำมาตย์ชื่อพรหมไชยก็ยึดเมืองสุโขทัยได้

            อนึ่ง ติปัญญาอำมาตย์ ครองสมบัติอยู่ในเมืองกำแพงเพชร ท่านได้ส่งมารดาของท่านถวายแก่พระเจ้าอโยชชปุระ และมารดาของท่านนั้น ได้เป็นที่รักใคร่โปรดปรานของพระเจ้าอโยชชปุระ ครั้งหนึ่ง นางได้ทูลด้วยถ้อยคำเป็นที่รัก ทำทีเป็นทูลขอพระพุทธรูปทองแดงธรรมดา แล้วอัญเชิญเอาพระสีหลปฏิมาส่งมาเมืองกำแพงเพชรโดยเรือเร็ว ฝ่ายติปัญญาอำมาตย์ดีใจยิ่งนัก บูชาพระสีหลปฏิมาด้วยเครื่องสักการะอันวิเศษเป็นอันมากด้วยความเคารพ

            อยู่มาวันหนึ่ง เจ้ามหาพรหมผู้เป็นใหญ่ในเชียงราย ทรงทราบความอัศจรรย์ของพระพุทธรูปสีหลจากสำนักพระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งมาจากแคว้นใต้ ทั้งได้ทอดพระเนตรเห็นรูปขี้ผึ้งซึ่งพระภิกษุนั้นปั้นไว้มีลักษณะเหมือนพระสีหลปฏิมา ทรงดีพระทัย แต่แล้วก็กลับเสียพระทัย ใคร่จะทอดพระเนตรพระสีหลปฏิมาองค์จริง จึงตระเตรียมพลนิกายเสด็จมาเมืองเชียงใหม่ ทูลขอพลนิกายจากพระเจ้ากือนา พระเชษฐา แล้วพาทหาร ๘๐,๐๐๐ เสด็จไปโดยลำดับบรรลุถึงสถานที่ใกล้เมืองกำแพงเพชร ตรัสสั่งให้พักกองทัพแล้วส่งทูตเข้าไปเฝ้าพระเจ้าติปัญญาลำดับนั้น ฝ่ายพระเจ้าติปัญญาก็ส่งราชสาส์นไปสำนักพระเจ้าอโยชชปุระ พระเจ้าวัตติเดชรีบตระเตรียมพลนิกายเสด็จมาแค่ปากน้ำโพ พระเจ้ามหาพรหมได้ส่งอำมาตย์ทูตกับพระมหาสุคนธเถระไปพร้อมด้วยเครื่องบรรดาการ อำมาตย์ทูตและพระมหาสุคนธเถระทั้งสองนั้นเข้าไปถึงนครแล้ว ได้กระทำปฏิสันถารด้วยถ้อยคำสุภาพไพเราะ พระมหาสุคนธเถระในเรือท่ามกลางกษัตริย์ทั้งสองเพื่อเป็นพยาน กษัตริย์ทั้งสองประทับอยู่ในเรือ ๒ ข้าง พระมหาสุคนธเถระได้กล่าวคำดังต่อไปนี้ เพื่อให้กษัตริย์ทั้งสองมีความสามัคคีต่อกัน

            กษัตริย์ทั้งสองพระองค์ได้ทรงสดับฟังคำของมหาเถระสุคนธนั้นความว่า “มหาบพิตรทั้งสองทรงมีบุญมาก มีปัญญามาก มีกำลังรี้พลมาก ทรงตั้งอยู่ในความสัตย์แน่วแน่อยู่ในความสัตย์ ทรงนับถือพระพุทธศาสนา ทรงดำรงอยู่ในฐานะเป็นบิดาของราษฎรทั้งหลาย ทรงเป็นผู้มีศีลเป็นที่รักใคร่ของประชาชนทั้งหลาย ขอมหาบพิตรทั้งสองพระองค์จงสามัคคี อย่าทรงพิโรธแก่กันเลย นี่ก็เมืองกำแพงเพชร โน่นก็นครเชียงใหม่ ขอให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่าแบ่งแยกกันเลย ขอให้นครทั้งสองนั้นจงมัดไว้ด้วยเชือก คือพระราชไมตรีเถิด” แล้วต่างก็นอบน้อมรับไว้เป็นอันดี พระเจ้าติปัญญาได้ประทานเครื่องบรรณาการมีพญาช้างอันเป็นของกำนัลเป็นต้นแก่อุปราชของพระเจ้ามหาพรหม พระเจ้ามหาพรหมก็ประทานม้าเป็นต้นกับเครื่องราชาภิเษกแก่พระเจ้าติปัญญา พระเจ้ามหาพรหมครั้งประทานเสร็จแล้ว จึงทูลขอพระสีหลปฏิมาต่อพระเจ้าติปัญญา พระเจ้าติปัญญาก็ประทานพระสีหลปฏิมาแก่พระเจ้ามหาพรหมตามพระประสงค์

            ฝ่ายพระเจ้าวัตติเดชส่งทูตไปเฝ้าพระเจ้าติปัญญา ให้ทูลถามว่า ขณะนั้น พระเจ้ามหาพรหมถอยกลับไปแล้วหรือยัง เรายกขึ้นมาจักรบกับพระเจ้ามหาพรหม พระเจ้าติปัญญาทรงทราบความนั้นแล้ว จึงบอกพระมหาเถระสุคนธว่า ข้าแต่พระพุทธเจ้า กษัตริย์ทั้งสองนี้กล้าหาญ มีกำลังรี้พลมาก ไม่มีใครที่จะสามารถห้ามได้ ขอพระคุณเจ้าได้โปรดให้พระเจ้ามหาพรหมถอยไปให้ไกล ให้ไปตั้งอยู่ที่เมืองตาก พระมหาเถระจึงส่งทูตไปทูลเนื้อความนั้นแก่พระเจ้ามหาพรหม พระเจ้ามหาพรหมได้ทรงฟังคำทูลนั้น จึงตรัสว่า พระเจ้าวัตติเดชขืนตามเรามา เราจะสู้รบกับพระองค์ แล้วก็ถอยไปจากเมืองกำแพงเพชร ตระเตรียมการรบอยู่ที่เมืองตาก พระเจ้าติปัญญาได้กราบทูลการถอยของพระเจ้ามหาพรหมให้พระเจ้าวัตติเดชทรงทราบ และพระเจ้าติปัญญาได้

อนุญาตพระสีหลปฏิมาแก่พระเจ้ามหาพรหมด้วยวาจาละมุนละม่อมของพระมหาสุคนธเถระ พระมหาเถระนั้นได้อัญเชิญพระสีหลปฏิมาลงเรือมาทางเหนือถึงเมืองตาก ฝ่ายพระเจ้ามหาพรหมดีพระทัยดั่งว่าสรงน้ำอมฤต ทรงอัญเชิญพระสีหลปฏิมาด้วยวอทองมาถึงเมืองเชียงใหม่โดยลำดับ ประดิษฐานพระสีหลปฏิมาในวิหารหลวงภายในนคร

            ครั้งนั้น กษัตริย์ผู้เป็นพระเชษฐาของพระองค์ ทรงปรารภจะสร้างซุ้มจรนำขึ้นใหม่ให้เป็นที่ประดิษฐานพระสีหลปฏิมาที่มุขด้านทิศใต้เจดีย์หลวง ในวิหารหลวงนั้น แต่เมื่อซุ้มจระนำทำไม่เสร็จ พระเจ้ามหาพรหมได้อัญเชิญพระสีหลปฏิมาไปเมืองเชียงรายโดยพระประสงค์จะเอาไปทำแบบสร้างอีกองค์หนึ่งด้วยทองสัมฤทธิ์ให้เหมือนองค์นั้น แล้วเลยอัญเชิญพระสีหลปฏิมานั้นไปถึงนครเชียงแสน ทรงกระทำอภิเษกพระปฏิมาองค์นั้นที่เกาะดอนแท่น ด้วยสักการะเป็นอันมากแล้วอัญเชิญมาเมืองเชียงรายอีก ประดิษฐานในวิหารหลวงที่ไว้พระพุทธรูป แล้วเอาทองเหลือง ดีบุก ทองคำ เงิน ผสมกันหล่อพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่ง มีขนาดและรูปร่างเท่าและเหมือนพระสีหลปฏิมาแล้วทรงทำการฉลองพระพุทธรูปเป็นการใหญ่

            ความในชิณกาลมาลีปกรณ์จบแต่เพียงเท่านี้ ย่อหน้าที่ขีดเส้นใต้คือปลายทางของพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งระบุว่า ในท้ายที่สุดแล้ว องค์ที่กล่าวถึงมาแต่ต้นพระคัมภีร์นั้นประดิษฐานอยู่ที่วิหารหลวง เมืองเชียงราย ก่อนที่จะจำลองขึ้นไว้อีกองค์หนึ่ง ส่วนจะส่งกลับไปเมืองเชียงใหม่หรือไม่ หรืออัญเชิญไปสถิต ณ ที่ใดต่อนั้น ในพระคัมภีร์ฉบับนี้ไม่ได้ขยายความ

(มีต่อตอน ๒)

ภาพปก : กระบวนแห่พระพุทธสิหิงค์ เมืองนครศรีธรรมราช จากสารนครศรีธรรมราช

หนานรูปทุ่งใหญ่ ที่กำลังถูกพูดถึงในติ๊กต็อก

ค่ำวันก่อน ครูแอนส่งลิงก์ติ๊กต็อกมาทางเมสเซนเจอร์
หลังจากดูจบผมตอบไปทันทีว่า “กรมศิลป์เคยลงพื้นที่แล้วครับ” ในนั้นเป็นคลิปความยาวไม่ถึงนาทีแต่ดูเหมือนว่ากำลังเป็นที่กล่าวถึงและส่งต่อกันในสังคมออนไลน์ ถัดนั้นในวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๔ เพจสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราชก็ได้เผยแพร่องต์ความรู้เกี่ยวกับสถานที่ดังกล่าว
.
ผมผ่านตาเรื่องนี้ครั้งหนึ่งเมื่อครูแพน ธีรยุทธ บัวทอง เคยส่งบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ลงตีพิมพ์ในสารนครศรีธรรมราช โดยใช้ชื่อ “จากพื้นที่รกร้างบนลานหินหนาน สู่เส้นทางประวัติศาสตร์ตำบลทุ่งใหญ่” ก่อนผมจะปรับเป็น “หนานใหญ่ • หนานนุ้ย • หนานรูป: เรื่องเล่าและเรื่องราวของชาวทุ่งใหญ่” แล้วนำลงเผยแพร่ในเพจสารนครศรีธรรมราชเมื่อวันที่ ๔​ พฤษภาคม ปีก่อน
.
ดังจะได้ยกมารีโพสต์ผ่านนครศรีสเตชั่นอีกคำรบ ดังนี้
.
วัดขนานตั้งอยู่ในพื้นที่ของตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเรื่องราวของพื้นที่แห่งนี้เป็นที่รู้จัก (สำหรับผม) ก็เมื่อช่วงปี พ.ศ. ๒๕๖๐ เนื่องจากมีการค้นพบภาพสลักบนหิน และได้ออกข่าวหลายสำนักจนทำให้กระผมใคร่อยากเดินทางมาเห็นด้วยตาของตนเอง แต่ทว่าด้วยเวลาและระยะทางจึงไม่มีโอกาสเดินทางมาเยี่ยมชม
.
จนเวลาล่วงเลยผ่านไปนานกว่า ๒ ปี การสอบบรรจุครูผู้ช่วยสำเร็จก็ชักนำให้กระผมขยับเข้ามาสู่พื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้ และกระทำการลงพื้นที่ เก็บรวบรวมข้อมูล พร้อมบันทึกเรื่องราวเพื่อเผยแพร่ให้ผู้คนภายนอกได้รับทราบมากยิ่งขึ้น
.
สำหรับบทความครั้งนี้กระผมจะขอนำเสนอข้อมูลอันประกอบด้วย ๕ ประเด็น คือ
๑. ลักษณะทางธรณีวิทยา
๒. ประวัติความเป็นมา
๓. ความเชื่อและมุขปาฐะ
๔. ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิต
๕. แนวทางในการอนุรักษ์
.

๑. ลักษณะทางธรณีวิทยา

วัดขนาน ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นหินทราย หรือที่ชาวบ้านมักเรียกกันว่า “หินหนาน” อันหมายถึงพื้นที่ต่างระดับที่มีทางน้ำไหลผ่าน ซึ่งตามหลักธรณีวิทยานั้น หินแถบนี้จัดอยู่ในหมวดหินพุนพิน (Kpp) ประกอบไปด้วยหินทรายอาร์โคส (Arkosic Sandstone) สีแดงม่วง ชั้นหนา มีหินดินดานและหินทรายแป้งสลับเป็นชั้นบาง ๆ เนื้อของหินทรายค่อนข้างร่วนและมีไมกา (Mica) อยู่บ้าง มีชั้นเฉียงระดับแบบ Trough Cross Bedding อยู่ด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการสะสมตัวในลำน้ำแบบ Braided Stream ความหนาไม่เกิน ๕๐ เมตร ไม่พบซากบรรพชีวิน
.
และมีความสัมพันธ์กับหมวดหินเขาสามจอม (JKsc) ซึ่งมีลักษณะเป็นหินกรวดมน วางตัวอย่างต่อเนื่องอยู่บนหมวดหินลำทับ ตอนล่างของหมวดหินนี้เป็นหินทรายสลับหินกรวดมนและหินโคลน ปริมาณของหินกรวดมนเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นชั้นหนา แล้วค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นหินทรายอาร์โคสเนื้อหยาบ ร่วนมาก ความหนาทั้งหมดประมาณ ๑๐ เมตร คาดว่าเกิดจากการสะสมตัวของตะกอนแม่น้ำในยุค Jurassic-Cretaceous
.
และจากการทับถมรวมกันจนกลายเป็นหินทรายที่มีความเปราะบาง ง่ายต่อการผุพังสลายอันเนื่องมาจากการกัดเซาะของน้ำ ดังนั้นเราจึงมักเห็นพื้นที่ด้านล่างของหินมีลักษณะเป็นโพรง (บางแห่งเชื่อมต่อกัน) คล้าย ๆ ถ้ำ โพรงเหล่านี้เป็นทางไหลผ่านของน้ำ และบางแห่งก็ตื้นเขินจนสามารถใช้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ได้

๒. ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมาของการตั้งถิ่นฐานของผู้คนในพื้นที่แห่งนี้ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่จากการพบภาพสลักบนหินทราย (หินหนาน) ก็ช่วยไขอดีตได้ในระดับหนึ่ง
.
โดยภาพสลักที่ถูกค้นพบและเป็นข่าวออกไปในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ นั้น แท้ที่จริงคือการค้นพบซ้ำบนพื้นที่เดิม เนื่องจากในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ เจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรได้เข้าไปสำรวจ และมีรายงานระบุว่า
“อำเภอทุ่งใหญ่รับแจ้งจากนายสมชาย ศรีกาญจน์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ ๔ ตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ว่าได้พบภาพแกะสลักบนเพิงผามีลักษณะเป็นรูปพญาครุฑจับนาค ทางอำเภอจึงมีหนังสือที่ นศ.๑๑๒๗/๒๔๔๗ ลงวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๓๘ แจ้งให้หน่วยศิลปากรที่ ๘ (ปัจจุบันคือสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช) ดำเนินการตรวจสอบ
.
วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๓๘ สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๑๑ นครศรีธรรมราช ส่งเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการสำรวจพบว่าตัวแหล่งอยู่บริเวณเนินดินตั้งอยู่เชิงเนินเขาหินทรายซึ่งลาดลงสู่ลำน้ำเก่า มีลักษณะเป็นถ้ำลึกเข้าไปในเพิงผาหินทรายแดง ซึ่งตัดตรงเกือบจะตั้งฉากกับพื้น (ลักษณะนี้ท้องถิ่นเรียกว่า หนาน)
.
ปากถ้ำถูกดินปิดทับเหลือช่องว่างประมาณ ๒๐ เซนติเมตร บริเวณด้านบนของปากถ้ำมีการสลักลักษณะคล้ายซุ้มประตูด้านซ้ายและขวาของปากถ้ำมีร่องรอยการสกัดหินทรายให้มีลักษณะเป็นเกล็ดยกออกมา แต่มองเห็นได้ไม่ชัดเจนเนื่องจากถูกพงไม้ปกคลุมอยู่เกือบทั้งหมด
.
รายละเอียดของรูปแกะสลักจากด้านซ้ายมือแกะสลักเป็นรูปกลีบบัว ๒ กลีบ ระหว่างกลีบเจาะช่องเป็นรูปสี่เหลี่ยมคล้ายเลียนแบบเครื่องไม้ ขอบบนและขอบล่างของกลีบบัวแกะสลักเป็นเส้นลวดคาดไว้ เหนือเส้นลวดขอบบนแกะสลักเป็นรูปกลีบบัวขนาดเล็กหรือกระจังสามเหลี่ยม ถัดมาเกือบตรงกลางแผ่นหินสลักเป็นรูปบุคคลเคลื่อนไหวคล้ายกำลังเต้นรำ ยกมือทั้งสองจับคันศร หรือพญานาคไว้เหนือศีรษะ ถัดจากภาพบุคคลไปทางขวาแกะสลักเป็นรูปคล้ายเศียรพญานาค ส่วนลำตัวเห็นไม่ชัดเจน และจากการสำรวจที่วัดขนานยังได้พบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง เครื่องถ้วยยุโรปผลิตในประเทศเนเธอแลนด์ และเครื่องทองเหลืองจำนวนมากด้วย”
.
และผลการสำรวจเพิ่มเติมเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๐ มีรายละเอียดระบุไว้ว่า
“…ภาพสลักบนผนังหินทราย มีความยาวประมาณ ๑.๔ เมตร สูงประมาณ ๘๐ เซนติเมตร สันนิษฐานว่าเป็นแท่นสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป เนื่องจากส่วนบนปรากฏลักษณะเป็นรูปกลีบบัวขนาดเล็กเรียงกันจำนวน ๑๑ กลีบ… อาจตีความว่าเป็นช่องหน้าต่าง ส่วนด้านล่างเป็นขาโต๊ะ และตรงกลางเป็นลายผ้าทิพย์…(ส่วนภาพสลักที่เคยระบุว่าเป็นรูปบุคคลนั้น อาจไม่ใช่) หากพิจารณาจากเท้าซ้าย พบว่าเป็นลักษณะของสัตว์ประเภทลิง… ทำให้นึกถึงภาพของตัวละครในหนังใหญ่ เช่น วานรยุดนาค… ในเบื้องต้นกำหนดอายุภาพสลักจากลวดลายที่ปรากฏ สันนิษฐานว่าน่าจะทำขึ้นในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย หรือต้นรัตนโกสินทร์…”
.
ดังนั้นจึงสามารถตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่าพื้นที่ของหินหนาน (บริเวณวัดขนาน) คงมีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของผู้คนอย่างน้อยในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยมีลักษณะเป็นชุมชนโบราณขนาดเล็ก อาศัยเส้นทางคมนาคมหลัก คือ คลองวัดขนาน ซึ่งเชื่อมต่อไปยังคลองเหรียง พื้นที่ของท่าเรือโบราณ และออกสู่แม่น้ำตาปีในที่สุด ตลอดจนผู้คนที่อาศัยอยู่คงมีความรู้ความสามารถด้านศิลปกรรมประเภทประติมากรรมบนแผ่นหิน และมีความศรัทธาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่มาแต่ดั้งแต่เดิม
.
แต่ภาพสลักวานรยุดนาคนั้นยังคงไม่ชัดเจนมากนัก เพราะบางคนเชื่อว่าเป็นอสูรตามคติความเชื่อของพราหมณ์ และบางคนก็เชื่อว่าเป็นอาฬวกยักษ์ตามเรื่องราวพุทธประวัติ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง จนผมตั้งความเป็นไปได้ไว้ ๓ ประการ (ให้ช่วยกันพิจารณา) ด้วยกันดังนี้
.
หากเป็นภาพสลักรูปอสูรยุดนาค อันเป็นเรื่องราวเหตุการณ์ตอนเกษียรสมุทร (กูรมาวตาร) ก็จะมีความคล้ายคลึงกับภาพที่ปรากฏหลักฐานอยู่ ณ ซุ้มประตูเมืองนครธมแห่งอาณาจักรขอม ฉะนั้นผู้สร้างคงเป็นชาวขอมหรือไม่ก็ได้รับอิทธิพลมาจากขอม ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ อีกทั้งยังช่วยระบุถึงลักษณะของผู้คนแรกเริ่มในบนลานหินหนานได้อีกด้วย
.
แต่หากเป็นภาพสลักรูปอาฬวกยักษ์ ก็จะสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของพุทธศาสนาในท้องถิ่นแห่งนี้ ซึ่งได้รับมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย (สอดคล้องกับเหตุการณ์ภายหลังสร้างเจดีย์ศรีวิชัยขึ้นที่เขาหลัก)
.
และหากเป็นภาพวานรยุดนาค ซึ่งเป็นการแสดงมหรสพที่ปรากฏหลักฐานค่อนข้างชัดเจนในสมัยอยุธยาตอนต้น ก็จะสะท้อนให้เราเห็นถึงอิทธิพลของหนังใหญ่ในพื้นที่แห่งนี้ได้เฉกเช่นเดียวกัน
.
แต่ไม่ว่าภาพสลักนั้นจะเป็นรูปแสดงถึงสิ่งใด ความชัดเจนในเรื่องความรู้ความสามารถด้านประติมากรรมบนแผ่นหินอันเกี่ยวเนื่องกับศาสนาก็ยังคงเด่นชัดอยู่เสมอ แม้การสรรสร้างอาจไม่แล้วเสร็จ และยังคงเป็นปริศนาที่รอการค้นคว้าก็ตาม
.
นอกจากนี้การค้นพบเครื่องถ้วยยังช่วยยืนยันประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์กับโลกภายนอกได้อีกด้วย โดยเครื่องถ้วยซึ่งกระผมได้เห็นมากับดวงตาตัวเองนั้น มีอยู่ ๓ ใบ (ของเก่า ๒ ของใหม่ ๑) ใบหนึ่งเป็นเครื่องถ้วยจีน เพราะปรากฏอักษรจีนอยู่ภายนอก ส่วนอีกใบเป็นของสกอตแลนด์ ซึ่งภายนอกใต้ก้นชามได้มีข้อความเขียนไว้ว่า
.
WILD ROSE
COCHRAN GLASGOW
D
.
พร้อมมีตราประจำแผ่นดินสกอตแลนด์ รูปราชสีห์ & ยูนิคอร์น (Dieu Et Mon Droit) ประทับอย่างสวยงาม
.
จากหลักฐานประเภทเครื่องถ้วยข้างต้น จึงสอดรับกับการตั้งถิ่นฐานของผู้คนในชุมชนโบราณแถบหินหนาน และยืนยันความสัมพันธ์ทางด้านการค้ากับผู้คนภายนอกในพื้นที่ริมคลองเหรียง ซึ่งเป็นเขตของท่าเรือโบราณในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา
.
ต่อมาด้วยเหตุใดมิอาจทราบได้แน่ชัด จึงเกิดการร้างของผู้คน จนทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นป่ารก เหมาะแก่การธุดงค์ของเหล่าพระภิกษุสงฆ์และนักปฏิบัติธรรม จนกระทั่งปีใน พ.ศ. ๒๔๕๙ หลวงพ่อนาค (พระครูอานนท์สิกขากิจ) ได้เข้ามาจัดสร้างเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมขึ้น
.
ถัดจากนั้นอีก ๑๐ ปี หลวงพ่อหมื่นแผ้ว ได้เดินทางมาจากสถานที่อื่น และเข้ามาจำพรรษา พร้อมทั้งชักชวนชาวบ้านให้ช่วยกันหักร้างถางพงบริเวณริมคลองบ้านหัวสะพาน (คลองวัดขนาน) เพื่อก่อสร้างเป็นวัดหนาน (วัดขนาน) ขึ้น ตลอดจนได้สร้างโรงเรียนขึ้นอีกด้วย ซึ่งสถานที่ดังกล่าวในปัจจุบันชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดเก่า โรงเรียนเก่า”
.
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ หลวงพ่อรื่นได้เข้ามาจำพรรษาปฏิบัติธรรม และชอบพอสถานที่ทางด้านทิศตะวันออกของสถานที่ตั้งโรงเรียนวัดหนานเก่า ซึ่งเป็นที่เนินสูงและเป็นสถานที่สถิตของเทวดาหนานนุ้ย โดยทางด้านทิศตะวันออกของเนินสูงมีลักษณะเป็นตาน้ำซึ่งผุดขึ้นมาจากหินหนาน และมีความแรงของน้ำตลอดทั้งปี
.
ถัดจากนั้นก็ได้มีพระภิกษุสงฆ์หลายรูปเข้ามาจำพรรษา ได้แก่ หลวงพ่อเลื่อน ศรีสุขใส (พระครูไพศาลธรรมโสภณ) หลวงพ่อแสง ชูชาติ อดีตพระภิกษุสงฆ์แห่งวัดภูเขาหลัก หลวงพ่อส้วง ดาวกระจาย หลวงพ่อเริ่ม แสงระวี หลวงสวาท อโสโก ผู้สร้างโรงธรรมไม้หลังเก่า พระสมุห์ประสิทธ์ จิตตฺโสภโณ ตามลำดับ
.
และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ และได้เปลี่ยนชื่อจากวัดหนานมาเป็นวัดขนาน
.
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ทางวัดขนานได้อนุญาตให้โรงเรียนทุ่งใหญ่เฉลิมราชอนุสรณ์ รัชมังคลาภิเษก ใช้พื้นที่ทางด้านทิศเหนือเป็นโรงเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาคู่วัดคู่บ้านตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ส่วนเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน คือ พระครูพิศาลเขตคณารักษ์
.

๓. ความเชื่อและมุขปาฐะ

ผู้คนซึ่งอยู่อาศัยในบริเวณหินหนานล้วนมีความเชื่อที่สืบต่อกันมาในเรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เรียกกันว่า “เทวดาหนาน” ชาวบ้านเชื่อกันว่าเทวดาหนาน คือ ผู้พิทักษ์รักษาประจำท้องถิ่น จึงได้สร้างศาลเคารพบูชา โดยแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ

เทวดาหนานใหญ่

ตั้งอยู่ใกล้กับถนนสายหลักหมายเลข ๔๑

เทวดาหนานนุ้ย

ตั้งอยู่ใกล้กับวัดขนาน ทางด้านทิศตะวันตก

เทวดาหนานรูป

ซึ่งพบภาพสลักข้างต้น แต่หนานรูปไม่ได้มีการสร้างศาลเคารพ เนื่องจากชาวบ้านเชื่อกันว่าภาพสลักนั้นคือหนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเคยมีร่างทรงประทับเป็นสื่อแทนเทวดาหนานรูป เพื่อบ่งบอกว่าหากมีเรื่องบนบานสานกล่าวสามารถบนบานตนเองได้ แต่หากจะเชิญไปด้วยไกล ๆ นั้น คงเป็นไปไม่ได้ เพราะตนต้องอยู่พิทักษ์ทรัพย์สมบัติ ณ ที่แห่งนี้
.
ความศักดิ์สิทธิ์ของเทวดาหนานทั้งสามถูกเล่าต่อกันมาหลายชั่วอายุคน โดยความเชื่อหนึ่งเล่าว่า หากสัตว์เลี้ยงเกิดล้มป่วย หรือผู้คนปรารถนาสิ่งอื่นใดในทางที่ดีเป็นประโยชน์ก็ให้บนถึงเทวดาหนาน ไม่นานสัตว์เลี้ยงเหล่านั้นก็จะหายเป็นปลิดทิ้ง และผู้คนก็มักจะสมหวังตามปรารถนา แต่หากผู้ใดลบหลู่ดูหมิ่น จะได้รับการลงโทษจนต้องรีบทำพิธีขอขมาเป็นการใหญ่
.
นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีความเชื่อเรื่องพญานาค (งูใหญ่) เพราะถือว่าเป็นยานพาหนะของเทวดา และเนื่องด้วยลักษณะที่เป็นแอ่งหินและโพรงถ้ำขนาดใหญ่ อีกทั้งยังเป็นที่รองรับน้ำ จึงช่วยเสริมความเชื่อเรื่องที่อยู่อาศัยของพญานาคมากยิ่งขึ้น โดยเชื่อกันว่าพญานาคจะโผล่ขึ้นมาเหนือผิวน้ำในบางครั้งบางครา และปรากฏแก่สายตามผู้มีบุญญาธิการ
.
นอกจากนั้นเรื่องพญานาคยังคงปรากฏให้เห็นในนิทานพื้นบ้านเรื่อง “พระลอตามไก่” แต่เอ๊ะ ! นี่มันคือนิทานพื้นบ้านของเมืองแพร่ ซึ่งเราเคยร่ำเคยเรียนกันมา แต่เหตุไฉนจึงมาปรากฏ ณ ที่แห่งนี้
.
ไม่แน่ชัดว่าพระลอตามไก่ของทุ่งใหญ่มีที่มาที่ไปเช่นไร แต่สันนิษฐานว่าคงได้รับอิทธิพลบางส่วนมาจากคนภาคเหนือหรือลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งได้เข้ามาอาศัยอยู่ในช่วงสมัยอยุธยา (อาจจะถูกกวาดต้อนหรืออพยพเข้ามาเองก็มิอาจทราบได้) ส่วนเรื่องราวของพระลอตามไก่ฉบับทุ่งใหญ่ จะมีความแตกต่างกับของเมืองสรองอย่างชัดเจน ดังมีเรื่องราวดังต่อไปนี้
.
“พระลออาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ของหินหนาน พระองค์มียศเป็นพระยา ชอบเลี้ยงไก่ป่าเป็นกิจวัตรประจำวัน อยู่มาวันหนึ่งท่านได้ออกล่าไก่ป่า โดยใช้วิธีการต่อไก่ให้มาติดกับดักสำหรับจับไก่ป่า และได้แอบซ่อนตัวอยู่ใกล้ ๆ เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ซึ่งยังไม่ท่าที่ที่ไก่ป่าจะผ่านมา ก็ปรากฏว่าได้มีมูสัง เข้ามาหมายจะกินไก่เป็นอาหาร พระลอเห็นดังนั้นก็โกรธมาก จึงหยิบเอาไม้ทัง (ไม้ลำทัง ) ขว้างไปถูกมูสัง จนทำให้มันชักดิ้นกระเสือกกระสนด้วยความเจ็บปวด ซึ่งการดิ้นของมูสังในครั้งนั้นทำให้ป่าแถบนั้นเตียนโล่งเป็นเนื้อที่กว้างขวางกลายเป็นทุ่งนา เรียกกันว่า ทุ่งสัง
.
ส่วนไม้ทังนั้นได้กระเด็นกระดอนออกไปจนกลายเป็นภูเขา เรียกว่า เขาลำทัง ส่วนเจ้าตัวมูสังที่ตายได้กลายมาเป็นเขา(มู)สัง และไก่ต่อของพระยาลอซึ่งผูกติดอยู่กับหลัก ก็ตายและกลายเป็นภูเขาเรียกว่า เขาหลัก ตามตำนานเล่าขานสืบต่อกันมา”
.

๔. ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิต

จากความเชื่อความศรัทธาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ท้องถิ่นในข้างต้น ทำให้ผู้คนรู้สึกผูกพันและเคารพนอบน้อมโดยผ่านการแสดงออกเชิงพฤติกรรม และพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น การทำพิธีขอขมาเทวดาหนาน การสร้างศาลเคารพบูชา การทำพิธีบนบานสานกล่าวและแก้บนเทวดา เป็นต้น
.
อีกทั้งการเลี้ยงไก่แจ้ของชาวบ้านในพื้นที่ก็ยังสอดคล้องกับนิทานพื้นบ้านเรื่องพระลอตามไก่อีกด้วย ถึงแม้การเลี้ยงไก่เหล่านี้อาจจะเข้ามาภายหลังก็ตาม แต่ทว่าไก่แจ้ก็ได้กลายเป็นอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่นทุ่งใหญ่ไปเสียแล้ว
.
นอกจากนี้ในพื้นที่ของตำบลทุ่งใหญ่ยังได้มีประเพณีอีกอย่างหนึ่งซึ่งมีลักษณะเฉพาะถิ่น คือ ประเพณีแห่จาดสารทเดือนสิบ ซึ่งมีความแตกต่างจากประเพณีสารทเดือนสิบที่อื่นตรงที่ชาวบ้านจะนำไม้มาประกอบกันให้มีลักษณะเหมือนบ้านหรือปราสาท โดยขึ้นโครงด้วยไม้เนื้ออ่อนน้ำหนักเบา ประดับประดาด้วยกระดาษสีที่แกะเป็นลวดลายต่างๆสลับกัน ตกแต่งด้วยดอกไม้ประดิษฐ์หลากสีหลายรูปแบบ ส่วนพื้นที่ภายในจาดจะมีที่ว่างไว้สำหรับใส่ของเซ่นไหว้บรรพบุรุษ เช่น ขนมลา ขนมพอง ขนมบ้า ขนมดีซำ ขนมบ้า ขนมกง (ขนมไข่ปลา) รวมทั้งผลไม้ตามฤดู และข้าวสารอาหารแห้งทั้งหลาย ไม่เว้นแม้แต่เงิน
.
ซึ่งการทำจาดมิได้มีเพียงพื้นที่ของตำบลทุ่งใหญ่เท่านั้น หากแต่สามารถพบได้ทั่วไปในเขตอำเภอทุ่งใหญ่ อำเภอฉวาง และอำเภอใกล้เคียง ตลอดจนพื้นที่ของจังหวัดกระบี่ ซึ่งบางแห่งก็อ้างว่าต้นฉบับความคิดเรื่องการทำจาดมาจากพื้นที่ของตน ซึ่งนั้นมิใช่สิ่งสำคัญเลย เพราะวัฒนธรรมมันสามารถถ่ายทอดและผสมผสานจนกลายมาเป็นวัฒนธรรมร่วมกันได้ ความภูมิใจและความร่วมไม่ร่วมมือเพื่อร่วมสืบสานประเพณีอันดีงามเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า
.

๕. แนวทางในการอนุรักษ์

ข้อเสนอแนะในการอนุรักษ์เป็นแนวทางสำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ และชาวบ้านในพื้นที่ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระผมได้ลองนั่งใคร่ครวญและพิจารณาถึงหนทางซึ่งจะนำไปสู่การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่นในอนาคต ๔ ประการ ดังนี้
.

ประการแรก

คงต้องเริ่มจาก “การศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูล” ให้เยอะ (มากกว่าบทความนี้) โดยข้อมูลที่ได้อาจมาจากเอกสารหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร คำบอกเล่า หรือหลักฐานทางโบราณคดี แต่ก็ต้องไม่ลืมวิเคราะห์และประเมินความน่าเชื่อถือของหลักฐานด้วย
.

ประการที่สอง

“เผยแพร่ข้อมูล” การเผยแพร่ข้อมูลเป็นการนำเสนอเรื่องราวให้บุคคลภายนอกได้รับทราบ และป้องกันการสูญหายของข้อมูลเชิงลายลักษณ์อักษร โดยในปัจจุบันเราสามารถเลือกนำเสนอข้อมูลได้หลากรูปแบบหลายช่องทาง เช่น บทความ หนังสือเล่มเล็ก Videos แผนที่ โมเดลจำลอง เป็นต้น
.

ประการที่สาม

“ปรับปรุงพื้นที่และสร้างแหล่งเรียนรู้” พื้นที่บางพื้นที่เหมาะแก่การปรับปรุงทัศนียภาพโดยรอบ และสร้างเป็นศูนย์การเรียนรู้ขนาดเล็ก เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในพื้นที่ และให้ความรู้แก่บุคคลภายนอก อีกทั้งยังสามารถรองรับการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ได้ในอนาคต
.

ประการที่สุดท้าย

“สร้างเยาวชนผู้สืบสาน” การดำเนินงานด้านการอนุรักษ์และสืบสานที่สำคัญลำดับต้น ๆ คือ การสร้างเยาวชนผู้สืบสานขึ้นมา เสมือนมัคคุเทศก์น้อยในพื้นที่ ซึ่งอาจจะรวมตัวกันในรูปแบบของชมรม องค์กร หรือคณะอื่นใด เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และเป็นสื่อกลางระหว่างชุมชนกับบุคคลภายนอก โดยใช้วิธีการถ่ายทอดชุดความรู้ของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้แก่บุคคลที่สนใจผ่านช่องทางต่าง ๆ
.
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการดำเนินการดังกล่าวไว้ข้างต้นจะสำเร็จได้นั้น คงต้องอาศัยความร่วมไม้ร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้นำชุมชน ผู้นำทางศาสนา หน่วยงานรัฐในท้องถิ่น เจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากร หน่วยงานรัฐอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนชาวบ้านและเยาวชนในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนการอนุรักษ์และสืบสานประวัติศาสตร์ของตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราชในอนาคตอย่างยั่งยืน
ภาพจากปก : เพจสำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช

ชมรายการ Live สด  “รวมเรื่องเมืองนคร” ได้ทุกวันพฤหัสบดี เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ 092-6565-298 คุณ เกียรติ

ลาวหลังพระธาตุ ความทรงจำที่กำลังถูกถมไปพร้อมสายคลอง

คลองลาว

ถมในที่นี้ชี้ไปในความหมายเดียวกับคำว่า “ลืม” ก็ถ้าไม่ได้คุยกับบังยมและคุณลุงชาวมะม่วงสองต้นอีกท่านที่มานั่งรอ “ปลาดุกคลองลาว” ตรงท่อระบายน้ำของร่องถนนพุทธภูมิ ผมเองก็คงไม่คิดว่าลาวจะมามีชื่อมีชุมชนอยู่ในเมืองนครไปอย่างไรได้
.
ความจริงเช้าวันนั้นไปเดินตามหาความสุขที่อาจจะหล่นหายเสียรายทาง เพราะความอยากได้ มี เป็น เที่ยวไปเห็นอะไรๆ ที่เขาสุกๆ กันแล้วอยากจะสุกขึ้นเองบ้าง ลืมนึกไปว่าของจริงอันแท้ต้องสุข ที่เห็นๆ อยู่คร่ำไปนี้ มันแค่สุก
.
ข้อคิด ข้อธรรม ไม่ใช่สาระหลักที่จะเขียนถึง แต่เป็นเหตุตั้งต้นให้เกิดเรื่อง จึงจั่วหัวไว้แต่น้อย
.
“ถ้าปลาดุกคลองลาวไม่ขึ้นกะเปลา”
คุณลุงท่านหนึ่งตอบผมด้วยท่าทางจริงจัง ในมือกำและสะพายแหไว้ในท่าเตรียมพร้อม ปากคีบใบจากไว้มวนหนึ่ง ควันละลอกลอดออกมาผุยๆ ตามจังหวะพูด
.
“คลองลาว อยู่ไหนหล่าวลุง ?”
ตานี้ บังยมที่ตามมาสมทบได้สักพักเป็นฝ่ายตอบแทน แกชี้โพล้งไปที่หน้าศาลาแม่ตะเคียน ตรงนั้นมีสระอยู่อันหนึ่ง แล้วตอบว่า “เขาถมเหลือหิดเดียวเท่านั้นแล้ว เป็นเขตอภัยทาน ปลาดุกจังเสีย พอน้ำขึ้นมันล่องออกมาอยู่ปล้องนี้”
.
“ถึงลาวนี้พันพรือครับ ? โหมลาวงั้นหึลุง ?”

“หมัน โหมฝ่ายนู้แหละ เขาเล่ากันมาพันนั้น ว่ามาช่วยทำพระธาตุ แล้วกะอยู่แถวนี้ เท่าฮั้นแหละ ถ้าเขาหก เรากะหกต่อเพ้อไปแหละ ไม่ที่ทำพรือ” แล้วก็ชวนกันหัวเราะยกใหญ่
.
ถ้าจะลองจับต้นชนปลายดูรอบกำแพงพระมหานครศรีธรรมราช ทิศเหนือมีตลาดแขก ทิศตะวันออกมีป่าขอม ทิศใต้มีวัดท้าวโคตร (มอญ) ทิศตะวันตกมีคลองลาว ก็นานาชาติพันธุ์ล้อมเราอยู่อย่างนี้ จะไม่ให้เป็นเมืองสิบสองชาติ สิบสองภาษา สิบสองนักษัตรไปอย่างไรไหว ?
.
แต่ลาวนี้ถูกลืม ลืมไปพร้อมกับการถมสายคลองเมื่อสมัยไหนก็ลืมถาม แต่ลาวมาแน่ มีแน่
.
ลองทวนความทรงจำดูเพลินๆ

๑. ถ้าลาวคือที่ราบสูงสองฝั่งแม่น้ำโขง

“กัจฉปะชาดก” อันที่เพิ่งรู้ใหม่บนองค์พระบรมธาตุเจดีย์นี้ก็มีแพร่หลายเป็นทั้งศิลปกรรมและคติชนที่แพร่อยู่มากในอีสานสอดคล้องกันดีอยู่ข้อหนึ่ง อีกอันที่พี่ กอก้าน ไม้เรียว เล่าไว้ว่า “ปลาใส่อวน ที่คลองลาวมีวิธีการหมักคล้ายๆ การหมักปลาร้านะคะ เพราะใส่ข้าวคั่วและหมักไว้ในไหจนเปรี้ยวด้วยค่ะ ไม่เหมือนการหมักปลาเค็มของทางใต้ที่เน้นการหมักเกลือ และตากแดดเก็บไว้นะคะ” อันนี้เป็นของตกค้างในวัฒนธรรมอาหารจำพวกเน่าแต่อร่อยกระเดียดไปข้างปลาแดกของทางนั้นสำทับได้ดีอยู่ข้อหนึ่ง

๒. ถ้าลาวคือฝ่ายเหนือ

อันนี้มีกล่าวในบันทึกประวัติศาสตร์ว่าสมเด็จพระราเมศวรเทครัวหัวเมืองลาวข้างฝ่ายเหนือลงมานครศรีธรรมราช ตรงนี้ยุคสมัยอาจแย้งกับที่ชาวมะม่วงสองต้นเล่ากันว่ามาช่วยทำพระธาตุเพราะเก่าก่อนยุคต้นกรุงศรีอยุธยาอยู่มาก แต่ก็ไม่ควรตัดทิ้ง เพราะนัยยะเกี่ยวกับโครงเรื่องทำพระธาตุนี้มีแพร่หลายอยู่ทั่วไป คล้ายกับว่าของสำคัญควรเมือง ใครๆ ก็อยากมีประสบการณ์ร่วม
.
ไม่ว่าจะเป็น ๑. หรือ ๒. ก็รวมความไว้ได้ก่อนว่าเป็นชาว “ข้างบน” ที่มาช่วยกันทำพระธาตุ ถ้าเราเอาพระธาตุเป็นศูนย์กลาง คราวนี้จะเห็นได้ชัดขึ้นว่าผู้มาช่วยสร้างบ้านแปงเมืองนั้นมาจาก “ทั่วสารทิศ” อย่างแท้ทรู
.
บนขวา มีรอยลาว ที่คลองลาว
บนซ้าย มีรอยมอญ ที่ท่ามอญ, วัดท้าวโคตร
ล่าง มีรอยมลายู ที่ตลาดแขก
.
แน่นอนว่าเมื่อลาวมาอยู่หลังพระธาตุในพื้นที่นานี้ ต้องเป็นอะไรเกี่ยวข้องเนื่องกันให้ตามต่อ แม้คลองลาวในปัจจุบันจะมีชื่อฝากอยู่แค่ในความทรงจำของชาวมะม่วงสองต้น แต่ก็น่าคิดว่า อะไรคือปัจจัยที่ไม่ทำให้คนท้องถิ่นถมประวัติศาสตร์สำคัญของตัวเองไปพร้อมคลองฯ