วันนี้ วันพระ ชวนมาดูภาพวันพระ เมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้ว ของเมืองนครศรีธรรมราช

วันพระ ภาพเก่า

“…ขอให้สำเร็จสมบัติสามประการ
คือมนุษยสมบัติ แลสวรรค์สมบัติ
มีพระนิพพานสมบัติเป็นที่สุด
ตามประเพณีพระอริยเจ้า แต่ก่อนนั้นแล…”

จากคำอุทิศถวายทองคำหุ้มยอดพระบรมธาตุเจดีย์ ของเจ้าจอมมารดานุ้ยเล็ก ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ธิดาเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พัด) กับทูลกระหม่อมหญิงใหญ่ (นวล) พระนัดดาในพระเจ้านครศรีธรรมราชกับหม่อมทองเหนี่ยวนี้ ทำให้เห็นความวิริยะในการจะเข้าถึงเป้าหมายของพระพุทธศาสนาที่สำคัญสุดนั่นคือ “พระนิพพาน”

พระนิพพานเป็นเรื่องใหญ่ เป็นจุดหมายปลายทางของพุทธบริษัทที่จะว่าไกลก็ไกล ใกล้ก็ใกล้ เว้นแต่พระบรมศาสดาแล้ว บรรดาพุทธศาสนิกชนจะถึงได้ก็ด้วยอาศัยพระธรรมเป็นผู้ชี้ทาง

สำหรับเมืองนครศรีธรรมราชเรา ได้อาศัยเอาพระบรมธาตุเจดีย์เป็นที่พึ่งเสมือนตัวแทนแห่งพระบรมศาสดามานานนักหนาแล้ว อย่างน้อยก็ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ จึงจะขออ้างเอาเพลงยาวนมัสการพระบรมธาตุ ของพระยาตรังคภูมาภิบาล กวีชาวนครศรีธรรมราชในสมัยนั้นขึ้นสักบทหนึ่ง ความว่า

“งามบัลลังก์ทรงองค์พระเจดีย์
ไม่วายเว้นแสงพระสุรีย์ส่อง
สูงสามสิบเจ็ดวายอดหุ้มทอง
ดั่งชี้ห้องสุราลัยให้ฝูงชน”

ตรงคำว่า “ห้องสุราลัย” นี้เอง ที่อาจจะคือห้องเดียวกันกับ “พระนิพพาน” ซึ่งอาการเรียวแหลมประหนึ่งปลายลูกศรขององค์พระบรมธาตุเจดีย์นี้เอง เฝ้าชี้ทางชี้มรรคแก่ชาวเมืองนครอยู่ตาปีตาชาติ

จึงไม่แปลกที่บรรพบุรุษจะศรัทธาซาบซึ้งว่าองค์พระบรมธาตุเจดีย์คือพระบรมศาสดา เพราะ โย ธมฺมํ ปสฺสติ โส มํ ปสฺสติ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นเราตถาคต

ภาพนี้ ถ่ายโดย KARPELÈS Suzanne ชาวฝรั่งเศสเมื่อเดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๖๗ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) เป็นบรรยากาศการฟังธรรมของชาวนครศรีธรรมราชในวันพระหนึ่งไม่ทราบข้างและเดือน แต่พอจะสังเกตจากบริบทแวดล้อมได้ว่าเป็นมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพระวิหารโพธิ์ลังกา

นอกจากนี้ จะขอชวนมาดูบรรยากาศวันพระเมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้วด้วยภาพดังกล่าว โดยขอชี้จุดให้สังเกตเป็นข้อๆ ไป ดังนี้

๑. พระเจดีย์รายเปลือย
๒. พระเจดีย์รายทรงระฆังคว่ำ(ลังกา) อย่างสุโขทัย
๓. พระเจดีย์องค์ใหญ่มุมตะวันตกเฉียงเหนือ (ปัจจุบันพังเหลือแต่ฐานเขียงแล้วสร้างจำลองขึ้นใหม่)
๔. วิหารศาลาโล่ง
๕. พระสงฆ์ ธรรมาสน์และพานบูชากัณฑ์เทศน์
๖. จารีตการฟังธรรมของชาวนคร
๗. การแต่งกาย (เข้าวัด) ของชาวนครในสมัย ร.๖
๘. พระพุทธรูปรายผนัง
๙. ปลายนิ้วพระบาทพระนอนประจำพระวิหาร

การเข้าวัดฟังธรรม เป็นปกติวิสัยของชาวนครศรีธรรมราช ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “เมืองพระ” ในแต่ละท้องถิ่นแห่งที่ก็มีธรรมเนียมปฏิบัติที่แยกย่อยออกต่างกัน จะมากน้อยก็ด้วยการเลือกรับและคติความเชื่อดั้งเดิมของพื้นที่นั้นๆ อย่าง “ในพระ” ที่หมายถึงบริเวณโดยรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์นี้ มีธรรมเนียมการ “สวดด้าน” หรือ “สวดหนังสือ” กันในพระวิหารพระระเบียง เป็นต้นฯ

พระธาตุไร้เงา : อัศจรรย์หรือเพียงแค่ “คำคนโฉดเขลา เล่าลือกันไป”

พระธาตุไร้เงา

“…แต่ก่อนนั่งฟังเล่นแต่คำกล่าว

เขาพูดจายักเยื้องเป็นเรื่องราว

ว่าครั้งคราวเมืองแตกสาแหรกกระจาย

ทรงพระปาฏิหาริย์บันดาลเหตุ

อาเพศให้เห็นซึ่งพระฉาย

ถ้าอยู่ดีมิได้เห็นเป็นอันตราย

เงานั้นหายไม่ได้เห็นเป็นธรรมดา…”

นายแก้ว กรมพระคลังสวน แต่งนิราศนครศรีธรรมราชในคราวตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตก เมื่อพุทธศักราช ๒๔๐๒ ความตอนหนึ่งตามที่ยกมาข้างต้น กล่าวถึง “คำกล่าว” ว่าด้วย “เรื่องราว” เกี่ยวกับเงาขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ เมืองนครศรีธรรมราช มีใจความสำคัญว่า หากบ้านเมืองปกตินั้น จะไร้เงาพระธาตุเจ้า ทว่าปรากฏเงาขึ้นเมื่อใด เป็นสัญญาณหมายว่ากำลังจะเกิด “อาเพศ” ต่อบ้านเมืองขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่นว่า ศึกสงคราม โรคระบาด หรือภัยธรรมชาติ เป็นต้น

ความเชื่อของคนพื้นถิ่นเกี่ยวกับองค์พระบรมธาตุเจดีย์ เมืองนครศรีธรรมราชนั้น มีอยู่มาก อาทิ กา ๔ ฝูง ทำหน้าที่พิทักษ์รักษายังทิศทั้ง ๔, ศิลาจารึกอักษรปลวะ ภาษาทมิฬ ในวิหารโพธิ์ลังกา ผู้ใดอ่านได้ไปตลอด จะปลุกตื่นยักษ์และครุฑเชิงบันใดพระม้า, ฝนตกในเขตวัดคือน้ำพระพุทธมนต์จากบาตรน้ำมนต์ทองคำบนยอดกรงแก้ว และที่ “ยักเยื้องเป็นเรื่องราว” จนลือไปทั่วสารทิศแต่โบราณคือความเชื่อว่า “ไร้เงา” ดังได้ชี้รายละเอียดไว้แล้ว

อย่างไรก็ตามความเชื่อที่ว่านี้ เป็นมูลเหตุให้มีการพิสูจน์ความจริงในปัจจุบัน ด้วยการตั้งสมมติฐานเพื่ออธิบายเหตุผลไว้หลายประการ บ้างว่าเป็นปรากฏการณ์ทางความมืดและเงา ทำให้วัตถุรูปทรงเรียวแหลม เมื่อยิ่งอยู่ห่างไกลจากพื้นที่รับเงา จะปรากฏเงาขนาดใหญ่ขึ้นและจางลงในที่สุด หรืออธิบายว่าเงาของส่วนปลียอดในตำแหน่งปล้องไฉนขึ้นไปนั้น ทอดไปตกบนพระเจดีย์รายและหลังคาพระวิหารธรรมศาลาไม่ถึงพื้น

คำกล่าวนี้เริ่มต้นที่ใดไม่ปรากฏ แต่จากการค้นคว้าเอกสารโบราณพบว่า มีการกล่าวถึงประเด็นนี้อย่างแพร่หลายในยุคใกล้เคียงกัน คือรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังได้ยกนิราศนครศรีธรรมราชมาแล้วข้างต้นฉบับหนึ่ง และพบความพิสดารในนิราศแพรกไพร ซึ่งแต่งโดยพระครูคง ในปีพุทธศักราช ๒๔๐๙ อีกฉบับหนึ่งว่า

“…มาแต่โบราณ

ยินเล่าลือมา

พระฉายฉายา

เจดีย์บ่เห็น

เพราะแสงทิวา

กรทับทองเป็น

ศรีสุวรรณกระเด็น

ดั่งกระจกจับตา

เงาพระเจดีย์

ทับที่หลังคา

วิหารศาลา

ไม่ดูให้ทั่ว

มัวมืดจักขวา

นานเห็นเงาปรา

กฎเกิดตกใจ

ฤดูเหมันต์

พระสุริโยฉัน

ย้ายราศีไกล

จึ่งเงาเจดีย์

มิทับอันใด

ดูไปเห็นง่าย

ถึงชายทางหลวง

เขาปักระกำ

ไว้กว่าจะค่ำ

กลัวคนจะล่วง

ข้ามเงาเจดีย์

มีโทษกระทรวง

บ้างพูดล่อลวง

ว่าไม่มีเงา

ชวนพากันเชื่อ

มิได้เอื้อเฟื้อ

เพราะปัญญาเขลา

ผู้มีปัญญา

บ่ได้ถือเอา

คำคนโฉดเขลา

เล่าลือกันไป…”

จะเห็นว่าใช่เฉพาะแต่ปัจจุบันที่มีการพิสูจน์ความเชื่อนี้ ในอดีตก็มีการแถลงข้อยุติไว้ด้วยแล้วโดยละเอียดด้วยเช่นกัน พอสรุปความได้จากนิราศข้างต้นว่า ที่ลือกันในข้อที่พระธาตุไร้เงานั้น เป็นจริงก็แต่ในฤดูร้อนและฤดูฝน ด้วยเพราะเงาไปตกบนหลังคาพระวิหารธรรมศาลา แต่เมื่อถึงเหมันต์ คือช่วงฤดูหนาวกลางเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนนั้น เงาพล่ายมาตกบนพื้นหาดทรายแก้วช่วงระหว่างพระวิหารธรรมศาลาและปากตูเหมรังสี จนกรมการเมืองต้องกั้นเขตแดนไว้ห้ามผ่านกับทั้งคาดโทษผู้ละเมิด

เงาพระบรมธาตุเจดีย์ทอดไปทางทิศตะวันตก

ในแง่งามของความเชื่อนี้ มีผู้อธิบายไว้อย่างน่าสนใจว่า “พระธาตุ” นั้น ความจริงหมายถึง “พระบรมสารีริกธาตุ” อันประดิษฐานอยู่ภายในองค์พระบรมธาตุเจดีย์ จึงไม่มีทางที่จะปรากฏเงาขึ้นอย่างไรได้ เว้นเสียแต่ถูกทำลายแล้วอัญเชิญออกมา ถึงคราวนั้นก็คงต้องเรียกว่า “อาเพศ” หนีไม่พ้นเสียได้

ดังนั้น ผู้มีปัญญา (จึง)บ่ได้ถือเอา คำ(ของ)คนโฉดเขลา (ที่)เล่าลือกันไป

หากควรแต่จะขบคิดให้ตกว่า หาก “ไร้เงา” ก็ “ไร้ตัว”

“ไร้ตัว” ก็ “อนัตตา” หรือความอัศจรรย์อันแท้จริงจะเร้นอยู่ในข้อนี้

วิสาขปูรณมี ชาวนครเคยใช้วันนี้ “ขึ้นปีใหม่”

๑ มกราฯ (ไม่ใช่)ปีใหม่เมืองนคร
ไม่ใช่แม้แรมหนึ่งเดือนอ้าย ขึ้นค่ำเดือนห้า
๑ เมษาฯ และมหาสงกรานต์

ก่อนที่จะข้ามไปถึงคำตอบ
ว่าปีใหม่ของชาวนครศรีธรรมราช
ตรงกับวันใด มีอะไรเป็นเครื่องกำหนด
.
ขอทำความเข้าใจให้ตรงกันเรื่อง “ปีใหม่” ก่อนว่า
“ปี” กำหนดชั่วโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่ง
ใช้เวลาราว ๓๖๕ วัน หรือ ๑๒ เดือน
เมื่อยึดเอาดวงอาทิตย์ฉะนี้ จึงเรียก “สุริยคติ”
.
จึงหมายความว่าเมื่อโลกเริ่มต้นวนอีกครั้ง
ก็จะเท่ากับว่ากำลังเริ่ม “ปีใหม่” เนื่องต่อกันไป
.
แต่ก่อนมีหมุดหมายกำหนดวันขึ้นปีใหม่หลายระลอก
ได้แก่ แรมค่ำหนึ่ง เดือนอ้าย, ขึ้น ๑ ค่ำเดือนห้า
๑ เมษายน และ ๑ มกราคม ที่ใช้อยู่เป็นปัจจุบัน
.
จะเห็นว่ามีทั้งการยึดทั้งตามสุริยคติและจันทรคติ
ซึ่งเป็นการยึดโยงกับสิ่ง “นอกโลก”
.
ตานี้ย้อนกลับมาในโลก
อันมีศาสนาเป็นเครื่องยึดโยงจรรโลงใจ
หมุดหมายของวันขึ้นปีใหม่
ที่ตรงกับเหตุการณ์สำคัญของศาสนาใด
ก็จะแปรผันตรงกับศักราชในศาสนานั้น
.
เช่นว่า อิสลามคติ ที่ใช้เดือนมุฮัรรอม
ประกอบกับการมองเห็นดวงจันทร์
เป็นวันจบปีจบเดือนเริ่มฮิจเราะห์ศักราชใหม่
หรือ พุทธคติ ก็เปลี่ยนพุทธศักราช
โดยใช้วันเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เป็นอาทิ
.
“…ครั้นถึงเทศกาลเดือนหก
วันเพ็ญ ปีใหม่ ทำขวัญพระธาตุ…”

ข้อความนี้คัดจากเอกสารเลขที่ ๑๖๔
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ (ท่าวาสุกรี)
ซึ่งพระครูเหมเจติยาภิบาลได้กำหนดนับจัดหมวดใหม่เป็น
พงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช หมายเลข ๒
.
มีข้อบ่งชี้บางประการถึงอิทธิพลของพระพุทธศาสนา
ที่แพร่และเจริญอยู่ในดินแดนนี้
คือการใช้วันขึ้นปีใหม่เป็นวันเพ็ญ เดือนหก
.
“วิสาขปุรณมีบูชา”
จึงคือวันขึ้นปีใหม่ของเมืองนครศรีธรรมราช

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า “วันวิสาขบูชา”
ถูกยกย่องให้เป็นวันสำคัญสากล
มาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๔๒
ตามมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ
เพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญยิ่ง
ทั้ง ๓ เหตุการณ์ของพระโคตมพุทธเจ้า
คือการประสูติ ณ สวนลุมพินีวัน,
ตรัสรู้ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ
และดับขันธปรินิพพาน ณ ควงไม้สาละ
ในสาลวโนทยาน เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ
.
ทุกเหตุการณ์ล้วนเกิดขึ้นในวันเพ็ญ เดือน ๖ ทว่าต่างปีกัน ดังนั้น การรำลึกถึงความสำคัญเหล่านี้จึงเรียกให้พ้องไปตามกาลว่า “วิสาขปุรณมีบูชา” ซึ่งแปลว่าการบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ หรือเดือน ๖
.
หากพุทธศักราชเป็นการสมมตินับเอาวันที่พระพุทธเจ้า
เสด็จดับขันธปรินิพพานเป็น พ.ศ. ๑ ตามอย่างประเทศศรีลังกาและพม่า หรือหลังจากเหตุการณ์นั้นแล้ว ๑ ปีตามอย่างประเทศไทย วันซึ่งจะเป็นหมุดหมายเปลี่ยนศักราช จึงคือวันวิสาขบูชา และใช้สืบเนื่องมาแต่โบราณก่อนจะปรับเปลี่ยนไปตามสากล
.
แล้วเมืองนครศรีธรรมราชเอาอย่างใคร ?

จารึกที่ฐานพระลาก
วัดศรีทวี อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
มีข้อความระบุว่า

“…วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ ปีกุน สัตตศก
เพลาชาย ๓ ชั้น พุทธศักราชได้ ๒๒๗๗…”

เมื่อสอบพุทธศักราชกับจุลศักราชโดยท่านครูมีชื่อแล้ว

พบว่า เป็นการนับศักราชมากกว่าพุทธศักราชปัจจุบัน ๑ ปีอย่างศรีลังกา ข้อนี้อาจแสดงให้เห็นการยึดถือระเบียบวิธีดั้งเดิมของแหล่งซึ่งเป็นต้นทางของพระพุทธศาสนา ที่ประดิษฐานอยู่ ณ เมืองนครศรีธรรมราชและสยามประเทศ
.
อีกหลักฐานชี้ชัดที่แทบไม่ต้องตีความ

ปรากฏในจารึกแกนปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์เมื่อยอดหักที่อาจารย์ก่องแก้ว วีระประจักษ์ ปริวรรตไว้ มีว่า

“พระพุทธศักราชได้สองพันร้อยเก้าสิบพระพรรษาเศษได้สี่วัน เมื่อยอดพระเจ้าหัก วันจันทร์ เดือนหก แรมสี่ค่ำ ปีมะเมีย…”

พระพรรษาเศษได้สี่วัน หมาย ถึงหลังปีใหม่ ๔ วัน
เมื่อย้อนกลับไป ๔ วัน
วันปีใหม่จะตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖
ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชาดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
.
ความน่าสนใจอีกประการนอกจากคำตอบว่า ชาวนครศรีธรรมราช ใช้วันใดเป็นหมุดหมายขึ้นปีใหม่ คือการค้นคว้าเพิ่มเติมว่ามีการเฉลิมฉลองกันอย่างไรในเมืองนี้
.
แน่นอนว่ามี “ทำขวัญพระธาตุ” แล้วอย่างหนึ่งตามจารึกข้างต้น ในภาพซึ่งปรากฏเสาต้นไม้เพลิงนี้ มีคำอธิบายเขียนไว้กำกับต้นฉบับว่า “พระเจดีย์พระมหาธาตุ (คราวมีงาน)” แต่ไม่ระบุว่างานอะไร อาจกล่าวโดยกว้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองในวาระใดวาระหนึ่ง
.
จึงเป็นเรื่องของอนาคตที่คงต้องอาศัยหลักฐานประกอบเพื่อทำหน้าที่ให้ปากคำจนจิ๊กซอว์ภาพนี้ต่อกันบริบูรณ์

ความเชื่อเรื่อง พระห้ามสมุทรเมืองนครศรีธรรมราช

พระห้ามสมุทร

พระห้ามสมุทรเมืองนครศรีธรรมราชนั้น มีความเชื่อที่สืบต่อกันมาแต่โบราณ ว่าสามารถขจัดภยันตรายที่เกิดจากวาตภัยในท้องสมุทรได้อย่างพิศดาร และมักประดิษฐานให้หันพระพักตร์ออกสู่ทะเลหลวงในทิศบูรพา เป็นต้นว่า

พระเหมชาลา

ภาพที่ ๑ พระพุทธรูปทรงเครื่องเจ้าฟ้าหญิงเหมชาลา ทางห้ามสมุทร
ประดิษฐานในวิหารท้ายจรนำ พระวิหารพระธรรมศาลา วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

พระอัฏฐารสปางห้ามสมุทร ประดิษฐานในวิหารท้ายจรนำพระวิหารพระธรรมศาลา วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร ซึ่งพระวิหารหลังนี้หากเทียบกับตำนานพระบรมธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช ก็จะได้แก่ “เรือสำเภา” ที่เชิญพระบรมสารีริกธาตุมาแต่ลังกา ด้วยว่าพระวิหารได้ถูกแบ่งเป็น ๓ ส่วน คือ

๑.) เฉลียงด้านหน้า ประดิษฐาน “พระทนธกุมาร” พระพุทธรูปทรงเครื่องปางประทานอภัย ส่วนนี้แทนหัวเรือสำเภาอันมีเจ้าฟ้าชายธนกุมาร แห่งทันตบุรี ประทับอยู่

๒.) โถงประธานในพระวิหาร ประดิษฐาน “พระตาเขียว” พระพุทธรูปปางมารวิชัย นัยน์ตาประดับกระจกสีเขียว ส่วนนี้แทนพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งประดิษฐานมากลางลำเรือ

๓.) วิหารท้ายจรนำ ส่วนนี้ยื่นเข้าไปในเขตพุทธวาสคร่อมพระวิหารพระระเบียงคด ประดิษฐาน “พระเหมชาลา” พระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามสมุทร ส่วนนี้แทนท้ายเรือสำเภาอันมีเจ้าฟ้าหญิงเหมชาลา แห่งทันตบุรี ประทับอยู่ 

พระพิงเสาดั้ง

ภาพที่ ๒ พระพิงเสาดั้ง พระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามสมุทร
ประดิษฐานภายในพระวิหารทับเกษตร (ด้านทิศตะวันออก) วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

มีเพลงกล่อมเด็กบทหนึ่งว่า

ไปคอนเหอ…

ไปแลพระนอนพระนั่ง

พระพิงเสาดั้ง

หลังคามุงเบื้อง

เข้าไปในห้อง

ไปแลพระทองทรงเครื่อง

หลังคามุงเบื้อง

ทรงเครื่องดอกไม้ไหวเหอ…

คำว่า “พระพิงเสาดั้ง” นั้น ได้แก่พระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามสมุทร ๒ องค์ ที่ด้านหลังมี “เสาดั้ง” ค้ำยันให้มั่นคงเอาไว้ ปัจจุบันประดิษฐานในพระวิหารทับเกษตร สันนิษฐานว่าเสาดั้งนี้นำมาค้ำไว้เมื่อครั้งพระครูเทพมุนีศรีสุวรรณถูปาภิบาล (พ่อท่านปาน) บูรณะครั้งใหญ่พระบรมธาตุเจดีย์ ในสมัยรัชกาลที่ ๕

เป็นที่น่าสังเกตว่า พระพุทธรูปปางห้ามสมุทรทุกพระองค์จะประดิษฐานให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออกสู่ทะเลหลวง แม้พระพิงเสาดั้งเองที่สามารถเลือกมุมประดิษฐานได้โดยรอบฐานพระบรมธาตุเจดีย์ก็ตามที

เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๙ คราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปนั้น มิได้ทรงอัญเชิญพระพุทธรูปอื่นใดนอกจาก “พระห้ามสมุทรเมืองนคร” ที่ทรงประดิษฐานไว้ประจำห้องพระบรรทม บนเรือพระที่นั่งนอร์ทเยอรมันลอยด์ (ซักเซน) ด้วยพระราชศรัทธาหวังเป็นเครื่องปัดเป่าภยันตรายในท้องทะเล คู่กับพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชบิดา ตามความในพระราชหัตถเลขาที่มีถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล ลงวันพุธ ที่ ๓ เมษายน ร.ศ.๑๒๖ ความว่า “…พ่อจัดหลังตู้ตั้งพระห้ามสมุทเมืองนครมุมหนึ่ง ต้นไม้ยี่ปุ่นปลูกกระถางกราบเขาจัดสำหรับเรือ ๒ กระถาง กับพระรูปทูลกระหม่อมปู่…”

ส่วนพระห้ามสมุทรเมืองนครที่ทรงเชิญไปนั้น อาจได้รับการทูลเกล้าถวายเมื่อคราวเสด็จประพาสเมืองนครศรีธรรมราชไม่คราวใดก็คราวหนึ่ง เพราะเสด็จประพาสเมืองนครศรีธรรมราช ถึง ๕ ครั้ง

นอกจากนี้ยังพบว่าพระห้ามสมุทร มีการเขียนในเอกสารโบราณเป็นห้าม “สมุทย” ซึ่งคนละความหมายกับ “สมุทร” คำโบราณในดังกล่าวคือสมุทัย องค์หนึ่งในอริยสัจจ์ ๔ หมายถึงเหตุให้เกิดทุกข์ ห้ามสมุทัยจึงคือห้ามเหตุให้เกิดทุกข์ เหตุดับทุกข์ก็ไม่เกิด อีกนัยหนึ่งพระห้ามสมุทรเมืองนครศรีธรรมราช จึงอาจคือตัวแทนคำสอนโดยย่อของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ที่ว่า “ธรรมใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะทรงสั่งสอนอย่างนี้

ขนมจีนดารา ชื่อนี้มีอะไรมากกว่าฉายาในวงการ

ขนมจีนดารา

เรื่องอาหารการกิน คงเป็นคำถามแรกๆ ของนักท่องเที่ยวเมื่อตัดสินใจเดินทางไปในสถานที่ต่าง ๆ หลายคนมองหาร้านที่เป็น Signature ของสถานที่นั้น ๆ ในขณะที่อีกหลายคนต้องการจะเข้าถึงในระดับ Local การมาเยือนนครศรีธรรมราชของสมาชิกครอบครัว Nakhonsistation.com ในวันนี้ เราขอเสนออาหารท้องถิ่น ร้าน Original สัญชาตินครศรีธรรมราชแท้ ๆ แถมยังมีชื่อสะดุดตาสะกิดใจอย่างร้าน “ขนมจีนดารา”

ขนมจีนดารา ชื่อนี้มีอะไรมากกว่าฉายาในวงการ

หลายคนอาจคิดว่า เจ้าของร้านคงเป็นดารา หรือไม่ก็ต้องมีคนในวงการบันเทิงมาเกี่ยวข้องกับร้านนี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เฉลยไว้เลยว่าไม่เกี่ยวอะไรกับคนในวงการทั้งนั้น เพราะ “ดารา” เป็นชื่อของเจ้าของร้าน

พี่ดารา เจ้าของร้านขนมจีนดารา
ย่านถนนท่าชี ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

“ขนมจีนดารา” เปิดกิจการอยู่ในเรือนหลังคากระเบื้องโบราณทรงปั้นหยา ๒ ชั้น ย่านถนนท่าชี ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้กลิ่นอายความเป็นพื้นถิ่นปักษ์ใต้ทั้งร้านซึ่งก็คือที่เดียวกันกับที่ “พี่ดารา” ใช้เป็นบ้าน ร้านเปิดตั้งแต่ ๖ โมงเช้าเรื่อยไปจนถึงบ่ายแก่ๆ จนกว่าเส้นขนมจีนหรือน้ำแกงจะหมด ที่นี่ถือเป็นจุดนัดพบของนักเลงขนมจีนในท้องที่ ซึ่งจะใช้เวลาหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจตักบาตร หรือจับจ่ายซื้อของที่ตลาดท่าชีมารองท้องก่อนอาหารมื้อหลัก

“ขนมจีน” และ “ผักเหนาะ” คำมอญในภาษาถิ่นใต้

“ขนมจีน” ไม่มีในประเทศจีน นั่นก็เพราะคำว่า “จีน” ไม่ได้หมายถึงชื่อประเทศ แต่มาจากคำในภาษามอญว่า “จิน” แปลว่า “สุก” ส่วน “ขนม” ก็มาจากคำว่า “คนอม” แปลว่า จับเป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นที่มาให้ บำรุง คำเอก จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร สันนิษฐานว่าขนมจีนนั้น เดิมเป็นอาหารของชาวมอญ ซึ่งก็มาประจวบเหมาะกับที่เมืองนครศรีธรรมราชในอดีตเป็นเมืองสิบสองชาติสิบสองภาษา มีชุมชนนานาชาติตั้งรกรากกระจายตัวรอบเขตเมือง ทั้งตลาดแขก คลองลาว บ้านท่าจาม และที่ตรงตัวสุดเห็นจะเป็น “ท่ามอญ” ถัดลงไปจากคลองท่าวังตรงที่เป็น “วัดศรีทวี” เดี๋ยวนี้

ขนมจีน ที่มาจาก “คนอม” และ “จิน” ในภาษามอญ

ขนมจีนไม่ได้มีเฉพาะปักษ์ใต้ แต่เป็นวัฒนธรรมร่วมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเภทอาหาร แต่ที่มาขึ้นชื่อและเป็นที่รู้จักในนครศรีธรรมราชอาจด้วยเพราะเอกลักษณ์ของ “น้ำแกง” ที่หลายคนคงคุ้นหูว่า “น้ำยา” นั้น ให้รสชาติจัดจ้าน เด็ด ดี ด้วยเครื่องเทศพื้นถิ่น เฉพาะขนมจีนดารามีน้ำแกงให้เลือก ๓ อย่าง ๓ Levels ความเผ็ด

“น้ำพริก” เผ็ดน้อย หลายคนอาจรู้จักกันในชื่อ “น้ำพริกหวาน”
“น้ำทิ” เผ็ดกลาง น้ำทิ คือน้ำแกงเนื้อปลาป่นใส่กะทิ
“น้ำเผ็ด” เผ็ดมาก คือน้ำแกงปลาป่นไม่ใส่กะทิ น้ำเผ็ดนี้ เด็กๆ หรือใครๆ ที่ชอบความหอมของน้ำแกงแต่ไม่สันทัดในความเผ็ด สามารถสั่งเป็น “น้ำใส” ได้ พี่ดาราก็จะช้อนเอาเฉพาะความใสด้านบนราดลงจนฉ่ำเส้น เหยาะน้ำปลานิดหน่อย หอมอร่อยอย่าบอกใครเลยทีเดียว

น้ำพริก” = “เผ็ดน้อย”
“น้ำทิ” = “เผ็ดกลาง”
“น้ำเผ็ด” = “เผ็ดมาก”

มาถึงสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ของการทานขนมจีน นั่นคือ “ผักเหนาะ” คำนี้ก็เช่นกันที่มาจากคำว่า “กะน่อบ” ในภาษามอญ ให้ความหมายเดียวกันกับผักจิ้มหรือผักแนม ซ้ำ Admin อาโด๊ด จากเพจ รามัญคดี – MON Studies ยังให้ความเห็นว่านอกจากคำที่ยืมมาแล้ว ร้านอาหารใต้ของไทยและใต้ของพม่าแถบเมาะลำเลิง (มะละแหม่ง) รี (เย) ย่างกุ้ง หงสาวดี ซึ่งก็คืออาณาจักรมอญเดิม เมื่อเข้าไปนั่งปุ๊บ บนโต๊ะจะมีผักจิ้มหรือผักเหนาะให้ลูกค้าแบบเติมฟรีไม่อั้น จะต่างกันตรงที่ทางใต้ของไทยแกล้มน้ำพริกมะนาว แต่ทางใต้ของพม่าหรือเมืองมอญนั้นแกล้มปลาร้าอย่างเมื่อพันปีที่ผ่านมายังไงยังงั้น

ผักเหนาะร้านขนมจีนดารา

ผักเหนาะร้านขนมจีนดารา มีทั้งที่เป็นผักพื้นบ้านสดๆ อย่างสะตอเบา ยอดหมุย ยอดยาร่วง ใบแมงลัก ถั่ว แตงกวา มะเขือ ถั่วงอก ฯลฯ ที่อร่อยและแนะนำคือเมนูผักลวกอย่างผักบุ้งลวกกะทิ แนมด้วยไข่ต้ม ส่วนผักผักดองก็มีทั้งมะละกอดองน้ำส้มสายชู ผักกาดดอง ทั้งใครที่ยังเผ็ดไม่จุใจ ก็มีแกงพุงปลาแถมให้เติมเผ็ดกันได้ตามใจชอบ

ขนมหวานลบเผ็ดประจำการร้านขนมจีนดารา
ได้แก่ วุ้นดำ ขนมซั้ง และบวดคง

“ลบเผ็ด” กันด้วยขนมหวาน

เมนูล้างปาก หรือที่ชาวนครศรีธรรมราชเรียกกันว่า “ลบเผ็ด” ที่คอยถ้าประจำการอยู่หน้าร้านทุกวันได้แก่ “วุ้นดำ” “ขนมซั้ง” และ “บวดคง” แล้วเช็คบิลกันได้เลย ที่ร้านขนมจีนดารา เริ่มต้นที่จานละ ๒๐ บาททุกน้ำแกง ขนมจีนเปล่าจานละ ๑๐ บาท เท่ากับราคาขนมหวาน ส่วนถ้าใครอยากสั่งเป็นชุดยกกิโลกรัม ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ ๑๔๐ บาทพร้อมน้ำแกงครบชุด ผักเหนาะชุดใหญ่กันเลยทีเดียว

วันเจ้าเมืองเก่า วันเจ้าเมืองใหม่ รอยสงกรานต์เมืองนคร

วันเจ้าเมืองเก่า วันเจ้าเมืองใหม่ รอยสงกรานต์เมืองนคร

หมุดหมายของประเพณีสงกรานต์คือการเฉลิมฉลองการเปลี่ยนผ่านประจำปี โดยกำหนดเอาวันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนออกจากราศีมีนสู่ราศีเมษเป็นวันมหาสงกรานต์ ที่ต้องให้เป็น “มหา” เพราะอินเดียมีสงกรานต์ทุกเดือน ด้วยว่าราศีมีปกติย้ายไปตามวาระ แต่ที่ยิ่งสุดคือจากมีนสู่เมษเพราะต้องเปลี่ยนทั้งเดือนและปี ในที่นี้ให้ความสำคัญเฉพาะการเปลี่ยนศกที่เป็นจุลศักราช เพราะปีนักษัตรจะเปลี่ยนในเดือนห้าขึ้นค่ำหนึ่ง ข้อนี้น่าสนใจเพราะอินเดียไม่มีปีนักษัตร ไทยรับสิ่งนี้มาจากวัฒนธรรมจีน[1] หากจะให้ถูก ก็ต้องถือปฏิบัติตามอย่างปฏิทินหลวง คือเปลี่ยนปีนักษัตรในเดือนอ้าย (แปลว่า ๑ หมายถึงเดือนแรก) ตามจันทรคติ

มีต้นเค้าจากตำรา ๑๒ เดือน คัดแต่สมุดขุนทิพมนเทียรชาววังไว้ ระบุถึงพระราชพิธีหลายประการที่ปัจจุบันเป็นวิถีปฏิบัติในประเพณีสงกรานต์ของเมืองนครศรีธรรมราช พระราชพิธีสรงน้ำพระในพระบรมมหาราชวัง          =          พิธีขึ้นเบญจาสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์
พระราชพิธีสรงมุรธาภิเษก                    =          พิธีขึ้นเบญจาสรง/รดน้ำปูชนียบุคคล
การพระราชกุศลก่อพระทราย                 =          ก่อพระเจดีย์ทราย
การพระราชกุศลตีข้าวบิณฑ์                  =          ตีข้าวบิณฑ์ (ปัจจุบันพบในเกาะสมุย)

เบญจาสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ วันว่างพุทธศักราช ๒๕๖๒

มองทั่วไปอาจดูเหมือนพระราชพิธีของศูนย์กลางอำนาจ ส่งอิทธิพลต่อประเพณีของเมืองนครศรีธรรมราช แต่กลับกันเมื่อพบข้อความในตำรา ๑๒ เดือน คัดแต่สมุดขุนทิพมนเทียรชาววังไว้ เอกสารโบราณสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (ลงวันจันทร์ เดือน ๘ หลัง แรม ๑๔ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๕ ตรงกับวันที่ ๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๓๓๖) ระบุว่า “…พระพุทธองค์เจ้ามีพระประสงค์ตำราพระราชพิธีตรุษสาร์ทสำหรับเมืองนคร…ข้าฯ คณะลังกาแก้วได้ทำการพิธีมาจำได้เป็นมั่นคง…” ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีรอยบางประการใช้คติเดียวกันเป็นคู่ขนาน รับ-ส่ง เกื้อกูลกัน ในขณะที่หลายอย่างยังคงเอกลักษณ์เฉพาะอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชกระทั่งปัจจุบัน

ลักษณะการปฏิบัติ  พิธีกรรม ความเชื่อ และคุณค่า

 เมืองนครศรีธรรมราชมีการกำหนดเรียกวันในห้วงของสงกรานต์ไว้เป็นลักษณะเฉพาะ ๓ วันดังนี้

วันเจ้าเมืองเก่า 
ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน เชื่อกันว่าเป็นวันสุดท้ายที่เทวดาผู้รักษาเมืองได้พิทักษ์รักษา เป็นวันเดียวกันกับที่เทวดาพระองค์นั้นๆ จะขึ้นไปชุมนุมกันยังเทวสภาบนสวรรค์

วันว่าง 
ตรงกับวันที่ ๑๔ เมษายน เชื่อกันว่าเป็นวันที่ปราศจากเทวดารักษาเมือง

วันเจ้าเมืองใหม่ 
ตรงกับวันที่ ๑๕ เมษายน เชื่อกันว่าเป็นวันต้อนรับเทวดาผู้รักษาเมืองพระองค์ใหม่ ที่จะเสด็จมาพิทักษ์รักษาต่อไปจนตลอดศักราช

คำว่าวันสงกรานต์ ชาวนครศรีธรรมราชเรียกแทนด้วยคำว่า “วันว่าง” และมักเข้าใจว่าคือทั้ง ๓ วัน ในความเป็นจริงปีหนึ่งมีกิจใหญ่สำคัญ ๒ ครั้ง คือบุญเดือนห้าและบุญเดือนสิบ บุญเดือนห้า หมายถึงสงกรานต์ กิจส่วนใหญ่มุ่งไปที่การแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณที่ยังคงมีชีวิตอยู่ ส่วนบุญเดือนสิบ (สารทเดือนสิบ) ก็มีนัยยะเดียวกันแต่เพื่ออุทิศถึงบรรพชนผู้ล่วงลับไปแล้ว 

แต่เดิมก่อนที่จะถึงวันว่างจะมีคณะเพลงบอกออกขับกลอนตามบ้านเรือนต่างๆ ถึงบันไดบ้านเพื่อบอกศักราช บอกกำหนดวาระวันทั้งสาม บอกวันใดเป็นวันวันดี – วันอุบาทว์ นางสงกรานต์ ตลอดจนสรรเสริญเยินยอเจ้าของบ้าน และการชาขวัญหรือสดุดีพระแม่โพสพ เรียกกันว่า “เพลงบอกทอกหัวได”

ในส่วนของห้วงสงกรานต์ทั้ง ๓ วัน มีระเบียบปฏิบัติต่างกัน ดังนี้

วันเจ้าเมืองเก่า

ทุกครัวเรือนจะเร่งรัดการทำงานที่ยังคั่งค้างอยู่ให้แล้วเสร็จ ไม่เช่นนั้นจะถูกตำหนิจากเพื่อนบ้านและญาติมิตร ถือเป็นการฝ่าฝืนจารีตไม่เป็นมงคลแก่ตนเอง และจะต้องตระเตรียมอาหารสำรองสำหรับสามวันให้พร้อม ทั้งข้าวเหนียว น้ำตาม และมะพร้าวใช้สำหรับทำขนม บิดามารดาก็ต้องเตรียมเสื้อผ้าชุดใหม่สำหรับตนเองและลูกหลานสำหรับสวมใส่ในวันว่าง รวมถึงน้ำอบน้ำหอมไว้สำหรับสระหัวอาบน้ำผู้อาวุโส ทำความสะอาดบ้านเรือนให้สะอาด ตลอดจนตัดเล็บ ตัดผมให้เรียบร้อย

นอกจากนี้ยังมีพิธีลอยเคราะห์หรือสะเดาะเคราะห์ เพื่อให้เคราะห์กรรมต่างๆ ลอยตามเจ้าเมืองเก่าที่กลับไปชุมนุมบนสวรรค์ บางท้องถิ่นมีพิธีกรรมเฉพาะเรียกว่า “เกิดใหม่”

วันว่าง

ชาวบ้านชาวเมืองจะงดเว้นการตระเตรียมเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อวันข้างหน้า งดเว้นการทำงานต่างๆ งดเว้นการสีข้าวสาร การออกหาปูปลาอาหาร ห้ามไม่ให้อาบน้ำในแม่น้ำลำคลอง ห้ามตัดผมตัดเล็บ ห้ามตัดต้นไม้กิ่งไม้ ห้ามฆ่าสัตว์ทุกชนิด ไม่กล่าวคำหยาบคายหรือดุด่าใครทั้งสิ้น ห้ามขึ้นต้นไม้ 

นอกจากข้อห้ามแล้วก็ยังมีข้อปฏิบัติ เช่นว่า ให้ปล่อยสัตว์เลี้ยงออกหากินอย่างเสรีไม่มีการผูกล่ามให้ออกหากินได้ตามอิสระ มีการละเล่นกันอย่างสนุกสนานทั้งของเด็กเล็กและผู้ใหญ่ อาทิ ตี่ เตย สะบ้า ชนวัว ฯลฯ ซึ่งเรียกกันว่า “เล่นว่าง”

วันเจ้าเมืองใหม่

ในหนังสือปกิณกศิลปวัฒนธรรม เล่ม ๒๒ จังหวัดนครศรีธรรมราช ของกรมศิลปากร กำหนดชื่อเรียกวันนี้ไว้อีกชื่อว่า วันเบญจา เนื่องมาจากในวันนี้จะมีการปลูกโรงเบญจา เป็นพลับพลามีหลังคา ๕ ยอด เป็นเรือนไม้ประดับด้วยการฉลุลายกาบต้นกล้วยหรือที่เรียกเฉพาะว่าการ “แทงหยวก” อย่างวิจิตรงดงาม แทรกม่านผ้าและกลไกการไขน้ำจากฝ้าเพดาน โดยสมมติเอาโรงเบญจาเป็นโลกทั้ง ๓ เหนือเพดานผ้าเป็นสวรรคโลก โถงเบญจาเป็นมนุษยโลก และใต้พื้นโรงพิธีเป็นบาดาล กราบนิมนต์พระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่หรือปูชนียบุคคลนั่งในโถงเบญจาเพื่อรับน้ำคล้ายอย่างการสรงมุรธาภิเษก อาจารย์ประทุม ชุมเพ็งพันธุ์ กล่าวในหนังสือวิถีชีวิตชาวใต้ ประเพณีและวัฒนธรรมว่าอาการอย่างนี้เรียก “พิธีขึ้นเบญจา” ซึ่งจะกระทำโดยลูกหลานที่รู้จักบุญคุณของพ่อแม่ปู่ย่าตายายในฐานะผู้หลักผู้ใหญ่ของวงศ์ตระกูล

ซ้าย เบญจาสรงน้ำพระรัตนธัชมุนี (๒๕๑๙) ขวา เบญจาสรงน้ำพระเทพวินยาภรณ์ (๒๕๖๒)
ณ วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร

ในการขึ้นเบญจานั้น ถือเป็นหัวใจสำคัญของสงกรานต์เมืองนครศรีธรรมราช เพราะเป็นสิ่งที่สามารถแสดงออกถึงความกตัญญูต่อบรรพชนผู้ยังมีชีวิตอยู่ของตนดังกล่าวแล้วได้อย่างเห็นชัดแจ้ง แต่ละพื้นที่คงมีความแตกต่างกันเฉพาะรายละเอียดปลีกย่อย ส่วนหลักการนั้นเหมือนกัน คือการใช้น้ำเป็นสื่อกลาง ครอบครัวที่มีฐานะก็ปลูกโรงเบญจาให้วิลิศมาหราอย่างไรก็ตามแต่จะมี แล้วลดหลั่นกันไปตามอัตภาพ อย่างง่ายก็นุ่งกระโจมอก อาบน้ำ ประทินผิว เปลี่ยนผ้าใหม่ เป็นจบความ สาระสำคัญอยู่ที่การรวมลูกหลานญาติมิตร โดยอ้างเอาผู้อาวุโสที่สุดอันเป็นที่เคารพสักการะเป็นประมุขในพิธี

เบญจาสรงน้ำพระเดชพระคุณพระเทพวินยาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร
วันเจ้าเมืองใหม่ พุทธศักราช ๒๕๖๒

อย่างไรก็ดี แม้จะแตกต่างกันตามมีตามเกิด ก็พบว่ามีขั้นตอนและวิธีการร่วมกันเป็นลำดับดังนี้

๑. นัดหมายรวมญาติ กำหนดพื้นที่พิธี และเชิญผู้อาวุโสซึ่งควรแก่การสักการะ

๒. กล่าวคำขอขมา

๓. สรง / อาบน้ำ (ในระหว่างนี้จะมีส่วนของพิธีสงฆ์ที่จะสวดพระปริตรทำน้ำพระพุทธมนต์ก่อนสรง/อาบ และขณะสรง/อาบพระสงฆ์จะสวดชัยมงคลคาถา)

๔. เปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นเสื้อผ้าชุดใหม่

๕. รับพร

นอกจากนี้ ชาวทั่วไปจะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่ แล้วเตรียมสำรับกับข้าวไปวัดที่บรรพชนของตนเคยไปทำบุญเป็นประจำสืบมา หรือไม่ก็วัดที่เผาศพและเก็บอัฐิเอาไว้ และจะมัดเอารวงข้าวที่จะนำไปทำขวัญข้าวประจำลอมข้าวโดยใช้ด้านสีแดงสีขาวมัดรวบอย่างสวยงามวางไว้บนพานหรือถาด นำไปทำขวัญข้าวร่วมกันที่วัด เรียกว่า “ทำขวัญใหญ่” เพื่อเป็นสิริมงคลแก่การทำนาเพาะปลูกสืบไป 

เมื่อประกอบศาสนพิธีเรียบร้อยแล้ว ก็จะนิมนต์พระสงฆ์บังสุกุลแก่บรรพชนผู้ล่วงลับ แล้วแยกย้ายกันไปสักการะบัว (ที่บรรจุอัฐิของบรรพชน) จากนั้นก็จะแยกย้ายกันสรงน้ำพระพุทธรูป หรือทำบุญอื่นๆ กันตามอัธยาศัย คล้ายกับว่าเป็นการทำบุญปีใหม่นั่นเอง

ในท้ายที่สุดภาคกลางคืน มีกิจกรรมเฉลิมฉลองเถลิงศก เช่น มหรสพพื้นบ้าน การจุดดอกไม้เพลิง รับเจ้าเมืองใหม่ การก่อ – เฉลิมฉลอง – และถวายพระเจดีย์ทราย เป็นต้น


[1] เมืองนครศรีธรรมราช ปรากฏในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ว่ามีสถานะเป็นเมือง ๑๒ นักษัตร บรรดาเมืองรายล้อมทั้ง ๑๒ เมือง ใช้ตรานักษัตรแต่ละปีเป็นดวงตราประจำเมือง หากปีนักษัตรเป็นการรับมาจากจีนแล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือการตั้งข้อสังเกตว่า เมืองนครศรีธรรมราชในอดีต มีการติดต่อโดยตรงกับจีนหรือรับผ่านพันธมิตรจากเมืองใด

ชาวนครโบราณ จัดการ “โรคระบาด” กันอย่างนี้

“…เสด็จออกไปตรวจราชการเมืองนครศรีธรรมราช…
ได้ทรงสืบสวนได้ความว่า ราษฎรแถวนั้น
เขามีธรรมเนียมป้องกันโรคติดต่อเช่นนี้มาเป็นอย่างหนึ่ง
คือถ้าบ้านใดเกิดไข้ทรพิศม์ก็ดี เกิดอหิวาตกะโรคก็ดี
เจ้าของบ้านปักเฉลวที่ประตูบ้าน
แลไม่ไปมาหาสู่ผู้หนึ่งผู้ใด
ส่วนเพื่อนบ้านเมื่อเห็นเฉลวแล้วก็ไม่ไปมาหาสู่จนกว่าโรคจะสงบ
ต่อเมื่อทำเช่นนี้ไม่มีผลแล้ว
ชาวบ้านจึงได้อพยพไปอยู่อื่นเสียชั่วคราว
เป็นธรรมเนียมมาอย่างนี้…”

รายงานประชุมเทศาภิบาล ร.ศ. ๑๓๑

จากวิธีปฏิบัติสู่ “ธรรมเนียม” ชาวนคร

ความตอนหนึ่งจากรายงานข้างต้น ทำให้ทราบ “ธรรมเนียม” ของชาวนครศรีธรรมราชว่า เจ้าบ้านต้องปัก “เฉลว” ไว้ที่ประตูบ้านประการหนึ่ง กับ “ไม่ไปมาหาสู่ผู้ใด” อีกหนึ่งประการ ทั้งสองเป็นวิธีปฏิบัติที่อาจได้ผลในยุคนั้น จึงถูกยอมรับและใช้เป็นธรรมเนียมสำหรับการจัดการสังคมทั้งในระดับปัจเจกและส่วนรวมท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ซึ่งห้วงพุทธศักราช ๒๔๕๕ ในรายงานนั้น โรคที่เป็นที่รู้จักและมักแพร่ระบาดคือ “ไข้ทรพิษ” กับ “อหิวาตกโรค”

“…เจ้าของบ้าน
ปักเฉลวที่ประตูบ้าน…”

เฉลว อ่านว่า ฉะเหฺลว พจนานุกรมศัพท์แพทย์และเภสัชกรรมแผนไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า เฉลวเป็นเครื่องจักสานชนิดหนึ่ง ทำด้วยตอกหรือหวายหักขัดกันเป็นมุม ตั้งแต่ ๓ มุมข้ึนไป แพทย์แผนไทยใช้เป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์สำหรับปักหม้อยา เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ และป้องกันการละลาบล้วงเครื่องยาในหม้อ มักทำกัน ๔ แบบ คือ

เฉลว ๓ มุม หมายถึง ไตรสรณคมน์ (มะ-มหาปุริสะ, อะ-อะโลโก, อุ-อุตมปัญญา) 
เฉลว ๔ มุม หมายถึง ธาตุทั้ง ๔ (ปถวี อาโป วาโย และเตโช)
เฉลว ๕ มุม หมายถึง พระเจ้าห้าพระองค์ (นะโมพุทธายะ)
และเฉลว ๘ มุม หมายถึง ทิศแปด (อิติปิโสแปดทิศ – บูรพา อาคเณย์ ทักษิณ หรดี ประจิม พายัพ อุดร อีสาน)

นอกจากนี้ แต่โบราณยังใช้เฉลวหรือในบางท้องที่เรียก “ฉลิว” หรือ “ตาเหลว” ปักเป็นเครื่องหมายที่สิ่งของซึ่งจะขาย ปักบอกเขต หรือด่านเสียค่าขนอน จึงเป็นที่รู้กันว่าเฉลวคือสัญลักษณ์ในการสื่อความอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นกับบริบทของที่อยู่แห่งเฉลว เช่นว่า ถ้าอยู่ที่หม้อยา ก็หมายถึงยาหม้อนั้นปรุงสำเร็จแล้ว ห้ามมิให้ผู้ใดปรับแปลงอีกต่อไป กับทั้งเป็นเครื่องกันคุณไสยด้วยพุทธานุภาพตามพระคาถาที่แสดงอยู่ด้วยจำนวนแฉก และที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คือ เฉลว เป็นสัญลักษณ์บอกว่าในบ้านนั้นมีคนป่วยเป็นโรคใดโรคหนึ่งที่กำลังรักษาและอาจแพร่ระบาดกับผู้ไปมาหาสู่

“…ไม่ไปมาหาสู่ผู้ใด…”

เมื่อเป็นที่เข้าใจร่วมกันแล้วถึง “สัญญะ” ของ “เฉลว” จึงอาจตีความได้ว่า “เฉลว” คือนวัตกรรมอย่างหนึ่งของคนในยุคโบราณ เพื่อแสดงเขตกักกันผู้ติดเชื้อ การไปมาหาสู่ซึ่งอาจทำให้เป็นเหตุของการติดเชื้อเพิ่มจึงเป็นข้อห้ามไว้ใน “ธรรมเนียม” เมื่อ “มาตรการทางสังคม” มีพื้นฐานบนความเชื่อทางไสยศาสตร์ แล้วเชื่อมโยงกับหลักคิดทางพระพุทธศาสนา สิ่งนี้อาจเป็นคำตอบของประสิทธิภาพในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคระบาดในอดีตของชาวนครศรีธรรมราชได้อย่างดี

วันพระ สืบสกุลจินดา

๑๓ เมษายน ๒๕๖๔

สงกรานต์ปีนี้ ชวนมาสืบสานประเพณีกันที่ “นครศรีธรรมราช”

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ต้องเกาะติดกันแบบนาทีต่อนาที นำไปสู่ปัจจัยใหม่ที่น่าสนใจของความอยู่รอดของวัฒนธรรม เดิมทีวัฒนธรรมมีปกติเลื่อนไหลไปตามเหตุและปัจจัยแวดล้อมอยู่แล้ว การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ๑๙ ที่กินระยะเวลายาวนานจนเวียนมาคร่อมช่วงเทศกาลสงกรานต์อีกรอบในปีนี้ จึงอาจเห็นพลวัตทางวัฒนธรรมที่น่าเรียนรู้ โดยเฉพาะการจัดงานเพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอด ศิลปวัฒนธรรมจากบรรพชนของจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยใช้ชื่อ “งานบุญเดือนห้า สงกรานต์แตแรก @เมืองนคร” ในปีนี้

องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับภาคีและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ดำเนินการจัดงานสงกรานต์วิถีนครศรีธรรมราชขึ้น สอดคล้องตามประกาศกระรวงวัฒนธรรม เรื่อง แนวทางและมาตรการรณรงค์เพื่อสืบสานคุณค่าทางวัฒนธรรมเนื่องในประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช ๒๕๖๔ โดยมีพิธีและกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้

ในส่วนของมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ๑๙ นั้น ได้กำหนดให้มีมาตรการตามข้อสั่งการของผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นวิถีใหม่ตามที่เราท่านทราบและปฏิบัติกันมาจนเป็นปกติอยู่แล้ว