โนรามดลิ้น ผู้รับพระราชทานนามสกุล “ยอดระบำ”

โนรามดลิ้น
ผู้รับพระราชทานนามสกุล “ยอดระบำ”

 

โนรา : มรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ

ท่ามกลางการร่วมเฉลิมฉลองและชื่นชมยินดีในโอกาสที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 16 ณ สำนักงานใหญ่ยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้ประกาศขึ้นทะเบียน“โนรา : Nora, dance drama in southern Thailand” เป็นรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity)หลายส่วนฝ่ายต่างแสดงบทบาทเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเหตุการณ์ได้อย่างน่าสนใจ

.

โนราประกอบขึ้นได้ด้วยหลายองค์ประกอบ ทั้งผู้แสดง เครื่องแต่งกาย นักดนตรี เครื่องดนตรี ผู้ชม เจ้าภาพ วาระและโอกาส รวมถึงองค์ความรู้ในองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง อาจกล่าวได้ว่า โนราเป็นผลรวมของสหวิทยากรที่ผ่านการสั่งสมภูมิปัญญาและมีพลวัตอย่างต่อเนื่องยาวนาน โนราจึงไม่อาจมองหรืออธิบายได้โดยสรุปเพียงแค่แง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง และเชื่อว่าหลังจากนี้ เมื่อยูเนสโก้ได้ประกาศรับรองอย่างเป็นทางการให้โนราเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติแล้ว เราจะได้ศึกษาและคลี่มองโนรากันอย่างรอบขึ้น

.

หอสมุดแห่งชาติ นครศรีธรรมราช เปิดให้บริการภายใต้ภาพลักษณ์และรูปโฉมใหม่ หลายวันก่อนมีโอกาสเข้าไปเยี่ยมเยียน โดยเฉพาะห้องศรีวิชัย ที่รวบรวมข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้ไว้อย่างหลากหลาย หนึ่งในนั้นมีหนังสือชื่อ “นครศรีธรรมราช” ที่ประกอบด้วยหัวข้อเรื่องเกี่ยวกับเมืองนครศรีธรรมราชไว้ในหลายมิติ ทั้งสังคม ภูมิศาสตร์ และวัฒนธรรม เพื่อให้สอดคล้องกับบรรยากาศที่ชุดความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับโนรามีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการศึกษาอย่างเป็นระบบ จึงจะขอคัดที่เกี่ยวข้องกับอัตชีวิประวัติของโนรารุ่นเก่าของนครศรีธรรมราช นาม “มดลิ้น ยอดระบำ” มาให้ได้อ่านกันในที่นี้ (โดยจะขอปรับคำเรียกให้พ้องตามสากลว่า “โนรา” กับทั้งชั้นนี้จะเว้นการวิเคราะห์และตีความใด ๆ ไว้ เว้นแต่ข้อสังเกตเกี่ยวกับข้อมูลเกี่ยวกับการถ่ายทำท่ารำในหนังสือตำรารำไทย ที่ระบุว่าโนราที่ปรากฏรูปคู่กับหมื่นระบำบรรเลงนั้น อาจคือ “โนราเย็น” ดังจะได้สืบความต่อไป)

.

“โนรามดลิ้น เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงมาก เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วไปทั้งที่เมืองนครศรีธรรมราชและจังหวัดอื่น ๆ แม้แต่ในกรุงเทพมหานคร โนรามดลิ้นก็เคยเข้าไปรำเผยแพร่หน้าพระที่นั่งหลายครั้งหลายคราวจนเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป และเนื่องจากความสามารถในการรำโนรานี้เอง ท่านผู้นี้จึงได้รับพระราชทานพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “ยอดระบำ”

.

ชาตกาล

โนรามดลิ้น ยอดระบำ เกิดเมื่อวันเสาร์ ที่ 11 พฤษภาคม 2421 ตรงกับเดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ปีขาล เป็นบุตรนายทอง นางนุ่ม เป็นหลานปู่ของนายบัวจันทร์ และย่าชุม เกิดที่บ้านหัวสะพานขอย หมู่ที่ 4 ตำบลควนเกย อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน 4 คน คือ นางบึ้ง นายมดลิ้น นางลิบ และนางลม

.

เรียนขอม

เมื่ออายุประมาณ 7 ขวบ พ่อท่านทวดด้วงได้พาให้ไปศึกษาหนังสือไทยสมัยเรียน นอโม-พุท-ท่อ และเรียนเวทมนต์คาถากับพ่อท่านคงที่วัดเนกขัมมาราม (หน้ากาม) อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อเรียนหนังสืออ่านออกเขียนได้ดีแล้ว ท่านอาจารย์คงได้ฝากให้ไปเล่าเรียนวิชาไสยศาสตร์เพิ่มเติมกับท่านอาจารย์เกิดที่วัดป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง กระทั่งมีความรู้อ่านออก เขียนหนังสือขอมได้

.

อุปสมบท

ครั้นอายุ 20 ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ จำพรรษาอยู่ที่วัดมัชฌิมภูผา อำเภอร่อนพิบูลย์ 1 พรรษา สมัยพระอาจารย์ภู่เป็นสมภาร และได้ศึกษาเล่าเรียนเวทมนต์คาถาเพิ่มเติมด้วย ต่อมาอายุ 22 ปี ได้สมรสกับนางทิม บุตรโนราปลอด-นางศรีทอง บ้านวังไส ตำบลสามตำบล มีบุตรด้วยกัน 7 คน คือ นายกลิ้ง นายคล่อง นายสังข์ นายไว นางพิน นางพัน และนายเจริญ

.

โนรามดลิ้น

โนรามดลิ้นได้ฝึกหัดรำโนราเมื่ออายุ 14 ปี โดยฝึกหัดกับโนราเดช บ้านหูด่าน อำเภอร่อนพิบูลย์ ซึ่งเป็นอาจารย์เดียวกันกับโนราหมื่นระบำบรรเลง (คล้าย พรหมเมศ หรือ คล้ายขี้หนอน) เมื่อรำเป็นแล้วได้เที่ยวรำกับอาจารย์ หมื่นระบำบรรเลง และโนราเถื่อน บ้านทุ่งโพธิ์ อำเภอร่อนพิบูลย์ ในสมัยก่อนโนราส่วนมากไม่ค่อยมีสตรีร่วมแสดงเหมือนอย่างทุกวันนี้ เมื่อจะแสดงเรื่องก็ใช้ผู้ชายแสดงแทน โนรามดลิ้นซึ่งกล่าวได้ว่าสมัยนั้นรูปหล่อ สุภาพ อ่อนโยน ก็ทำหน้าที่แสดงเป็นตัวนางเอกแทบทุกครั้ง และแสดงได้ถึงบทบาทจนกระทั่งคนดูสงสารหลั่งน้ำตาร้องไห้เมื่อถึงบทโศก

.

โนรามดลิ้นเที่ยวแสดงในงานต่าง ๆ แทบทั่วทั้งภาคใต้ จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย นอกจากนี้เคยไปแสดงในงานสำคัญ ๆ ในกรุงเทพฯ หลายครั้ง ได้แก่

.

รำถวายหน้าพระที่นั่ง

ครั้งแรก ได้ไปรำถวายในพระบรมมหาราชวังเนื่องในงานราชพิธีหน้าพระที่นั่ง มีโนราคล้าย ขี้หนอน เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปทางเรือรวมทั้งหมด 13 คน ในการรำถวายครั้งนี้ โนราคล้าย ขี้หนอน แสดงเป็นตัวพระ ส่วนโนรามดลิ้น แสดงเป็นตัวนาง หลังจากแสดงแล้วเสร็จ โนราคล้าย ขี้หนอน ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหมื่นระบำบรรเลง โนรามดลิ้นได้รับพระราชทานนามสกุล “ยอดระบำ” และในโอกาสเดียวกันเจ้าหน้าที่ฝ่ายศิลปินในสำนักพระราชวัง ได้จดบทกลอนท่ารำโนราและบทต่าง ๆ ไว้หลายบท เพื่อถือเป็นแบบฉบับสำหรับการศึกษาต่อไป

.

ครั้งที่สอง เมื่อ พ.ศ.2466 ได้ไปรำในงานพระราชพิธีที่ในพระบรมมหาราชวัง สมัยรัชกาลที่ 6 โดยหมื่นระบำบรรเลงเป็นหัวหน้า พร้อมด้วยโนรามดลิ้น ยอดระบำ โนราเสือ (ทุ่งสง) โนราพรัด (ทุ้งไห้ฉวาง) โนราคลิ้ง ยอดระบำ โนราไข่ร็องแร็ง (สามตำบล) พรานทองแก้ว พรานนุ่น กับลูกคู่รวม 14 คน

.

เมื่อกลับจากการแสดงครั้งนี้ชั่วระยะไม่ถึง 2 เดือน ทางราชการได้เรียกโนราให้ไปแสดงอีก แต่เนื่องจากครั้งนั้นโนรามดลิ้นได้นำคณะโนราส่วนหนึ่งเดินทางไปแสดงที่จังหวัดกระบี่ พังงา และอำเภอตะกั่วป่า (เดินเท้า) จึงไม่สามารถกลับมาและร่วมไปแสดงได้ หมื่นระบำบรรเลง จึงรวบรวมบรรดาศิษย์ไปแสดงเอง การแสดงครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายศิลปากรได้ถ่ายรูปท่ารำโนราต่าง ๆ ของหมื่นระบำบรรเลงกับโนราเย็นไว้เป็นแบบฉบับเพื่อการเผยแพร่และการศึกษาของอนุชนรุ่นหลัง ดังปรากฎในหนังสือว่าด้วยตำรารำไทยในหอสมุดแห่งชาติ

.

ครั้งที่สาม เมื่อ พ.ศ. 2473 ได้ไปรำถวายในพระบรมมหาราชวังเนื่องในงานพระราชพิธีหน้าพระที่นั่งรัชกาลที่ 7 ครั้งนี้หมื่นระบำบรรเลงแก่ชรามาก จึงไม่ได้เดินทางไป มอบให้โนรามดลิ้น ยอดระบำ เป็นหัวหน้าคณะ นำโนรา 12 คนไปรำถวายแทน

.

เข้ากรมศิลปากร

ปลายปี พ.ศ. 2479 ครั้งหลวงวิจิตวาทการเป็นอธิบดีกรมศิลปากร ได้ริเริ่มปรับปรุงฟื้นฟูมหรสพพื้นเมืองทั่วไป ถึงได้เดินทางมาขอชมการรำโนราแบบโบราณที่เมืองนครศรีธรรมราช โนรามดลิ้น ยอดระบำ ได้นำคณะแสดงให้ชมที่เรือนรับรองของข้าหลวงประจำจังหวัดในสมัยนั้น ผู้แสดงมีโนราคลิ้ง อ้น เจริญ ปุ่น และพรานบก การแสดงเป็นที่พึงพอใจของอธิบดีเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ขอตัวโนราเจริญและปุ่นไปอยู่ที่กรมศิลปากร เพื่อถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับโนราแบบโบราณให้แก่นักเรียนของโรงเรียนนาฏศิลป์ กรมศิลปากรได้ศึกษา และได้ให้โนราทั้งสองได้เล่าเรียนหนังสือไทยเพิ่มเติม พร้อมทั้งศึกษาท่ารำแบบต่าง ๆ ของกรมศิลปากรให้มีความรู้ความชำนาญยิ่งขึ้น โนราเจริญและปุ่น ศึกษาอยู่ที่กรมศิลปากรเป็นเวลา 1 ปี จึงได้กลับมายังนครศรีธรรมราช

.

ครั้งที่สี่ เมื่อ พ.ศ. 2480 ได้ไปรำในงานวันชาติที่ท้องสนามหลวงอีกครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้ โนรามดลิ้นไปในฐานะหัวหน้าคณะเท่านั้น เพราะแก่ชรามากแล้ว รำไม่ได้ จึงให้โนราคลิ้ง ยอดระบำ ซึ่งเป็นบุตร แสดงแทน

.

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว โนรามดลิ้น ยอดระบำ ได้เคยนำคณะไปรำในงานของทางราชการบ้านเมืองอีกหลายครั้ง ที่สำคัญ เช่น รำถวายรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จประพาสภาคใต้ ซึ่งได้ทรงเสด็จในงานยกช่อฟ้าพระวิหารหลวง วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช และรำในงานต้อนรับพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งเดินทางมาตรวจเยี่ยมราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช

.

ส่วนงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับงานของเพื่อนฝูงและญาติพี่น้อง ในอำเภอหรือในจังหวัดใกล้เคียง โนรามดลิ้นได้นำคณะไปช่วยเหลืออยู่เป็นประจำเสมอ ในชีวิตของท่านจึงนับได้ว่าท่านใช้ความสามารถได้เกิดประโยชน์อย่างมาก

.

แพทยศาสตร์

นอกจากความสามารถของการรำโนราแล้ว โนรามดลิ้นยังสามารถบริการประชาชนในเรื่องยากลางบ้านอีกด้วย กล่าวคือท่านได้ศึกษาหาความรู้ทางแพทย์แผนโบราณ เป็นหมอรักษาผู้ที่ถูกยาสั่ง ถูกคุณไสยต่าง ๆ ตามหลักวิชาไสยศาสตร์อีกด้วย จึงนับได้ว่าท่านผู้นี้เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมอย่างกว้างขวางจนตลอดชีวิต

.

โนรามดลิ้น ยอดระบำ ถึงแก่กรรมเมื่อวันอังคารที่ 9 มกราคม 2511 เวลา 10.00 น. ด้วยโรคชรา ที่บ้านเลขที่ 181 หมู่ที่ 7 ตำบลร่อนพิบูลย์ อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช สิริอายุได้ 92 ปี”

____

คัดจาก
วิเชียร ณ นคร. (2521). นครศรีธรรมราช. กรุงเทพมหานคร: อักษรสัมพันธ์.

ภาพปก
ถ่ายโดย KARPELÈS Suzanne ช่างภาพชาวฝรั่งเศษ
เมื่อเดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๖๗
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖)

ประวัติอำเภอปากพนัง ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

ประวัติอำเภอปากพนัง
ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

เหตุที่ได้จั่วหัวว่าเป็น “ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค” นั้น ด้วยคัดมาจากหนังสือ “ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช” ซึ่งเข้าใจเอาจากคำนำในเล่มว่าเป็นข้อสั่งการจากกระทรวงมหาดไทยถึงจังหวัดทุกจังหวัด ให้รวบรวมและเรียบเรียงเหตุการณ์สำคัญ เอกสาร ความเป็นมา ภูมิประเทศ สถานที่และบุคคลสำคัญของจังหวัดต่าง ๆ เป็นสารบบ มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการท้องถิ่น ได้แก่ วิมล ดำศรี, วิเชียร ณ นคร, ประหยัด เกษม, สมพุทธ ธุระเจน และฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ เป็นคณะทำงาน โดยที่ น้อม อุปรมัย, กระจ่าง คีรินทร์นนท์ และขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นที่ปรึกษา

.

หนังสือดังกล่าว แบ่งเป็น 8 บท ได้แก่ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ลักษณะการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติความเป็นมา ประวัติเทศบาลในจังหวัดนครศรีธรรมราช บุคคลสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และทำเนียบนามผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

.

ส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำเภอปากพนังนั้น ปรากฏอยู่ในบทที่ 3 “ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช” โดยจะได้คัดมาเผยแพร่ดังต่อไปนี้ (แบ่งวรรคตอนและย่อหน้าใหม่รวมถึงปรับคำบางช่วงตอนเพื่อสะดวกต่อการอ่าน แต่ยังคงสาระสำคัญไว้ตามต้นฉบับทุกประการ ประกอบกับในชั้นนี้จะยังไม่มีบทวิเคราะห์ข้อมูลใดๆ)

.

หลักฐานตามทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราชสมัยรัชกาลที่ 2 ระบุว่าท้องที่ปากพนังก่อนตั้งเป็นอำเภอมีสถานะเป็นหัวเมืองฝ่ายขวา ขึ้นอยู่ในเขตการปกครองของเมืองนครศรีธรรมราช

.

อำเภอปากพนัง

หัวเมืองที่มารวมตั้งเป็นอำเภอปากพนังนั้น ได้แก่ เมืองพนัง เมืองพิเชียร ที่เบี้ยซัด และที่ตรง

.

ในสมัยปฏิรูปการปกครอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชวินิจฉัยเห็นว่า ภายหลังที่เจ้าพระยานคร (น้อย) ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว เจ้าเมืองนครถัดมาไม่เข้มแข็งในการปกครองเท่าที่ควร เป็นเหตุให้หัวเมืองมลายูอันเป็นประเทศราชกระด้างกระเดื่อง ขณะเดียวกันอังกฤษก็เข้ามามีเมืองขึ้นประชิดพรมแดน และได้ดำเนินการแทรกแซงกิจการภายในเมืองไทรบุรีมากขึ้น พระองค์ทรงเห็นว่าลักษณะและเหตุการณ์เช่นนี้ ย่อมจะเป็นอันตรายต่อสยามอย่างแน่นอน จึงมีพระราชดำรัสให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ ในฐานะเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จัดการแก้ไขการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้โดยรีบด่วน

.

มณฑลนครศรีธรรมราช

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ เสนอให้รวมเมืองนครศรีธรรมราชกับเมืองสงขลาเข้าเป็นมณฑลเดียวกัน เรียกว่า “มณฑลนครศรีธรรมราช” ที่ว่าการมณฑลตั้งอยู่ที่เมืองสงขลา พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลได้จัดการปกครองเมืองนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา เข้าสู่ระเบียบแบบแผนสมัยใหม่ ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. 116

.

การจัดการปกครองท้องที่ในสมัยนั้น ได้ตั้งกรมการอำเภอ ให้มีการเลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทุกตำบล หมู่บ้าน เมืองนครศรีธรรมราชแบ่งการปกครองออกเป็น 9 อำเภอ คือ อำเภอกลางเมือง เบี้ยซัด ร่อนพิบูลย์ กลาย สิชล ลำพูน ฉวาง ทุ่งสง และเขาพังไกร

.

อำเภอเบี้ยซัด

อำเภอเบี้ยซัด ตั้งขึ้นโดยรวบรวมหัวเมืองฝ่ายขวา 4 ตำบล คือเมืองพนัง พิเชียร ที่ตรง และที่เบี้ยซัด ตั้งเป็นอำเภอเมื่อพุทธศักราช 2440 นายอำเภอคนแรกคือหลวงพิบูลย์สมบัติ ที่ว่าการอำเภอชั่วคราวตั้งที่โรงสีเอี่ยมเส็ง ตำบลปากพนัง แล้วย้ายไปตั้งที่ตลาดสด ครั้งที่ 3 ย้ายมาตั้งที่กองกำกับตำรวจน้ำปากพนัง

.

ความในพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ 9 กรกฎาคม ร.ศ.124 ว่า

.

วันที่ 9 กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก 124 ถึงมกุฎราชกุมาร ในที่ประชุมรักษาพระนคร เพื่อจะให้รายงานการที่มาเที่ยวครั้งนี้ให้สำเร็จบริบูรณ์ตามที่ควรจะบอก จึงเขียนบอกฉบับนี้อีกฉบับหนึ่ง

.

แม่น้ำปากพนังใหญ่เท่าเจ้าพระยา

วันที่ 8 เวลาเช้า 3 โมง ได้ลงเรือมาด (ไม่ใช่เพราะน้ำตื้น แต่เพราะเพื่อจะหาความสุข) เรือไฟเล็กลากออกมาจากเรือมหาจักรี ที่จอดอยู่ในเมืองปากพนัง ซึ่งอยู่ท้ายอ่าวตะลุมพุกนี้ 3 ชั่วโมงหย่อน ถึงปากพนัง แม่น้ำโตราวสักแม่น้ำเจ้าพระยากรุงเทพฯ บ้านนายอำเภอตั้งอยู่ใกล้ปากน้ำ ต่อนั้นขึ้นไปเป็นบ้านเรือนทั้งสองฟากแน่นหนา เพราะมีพลเมืองถึง 46,000 คนเศษ มีจีนมาก เป็นจีนไหหลำเป็นพื้น รองจำนวนจีนไหหลำเป็นจีนฮกเกี้ยน แต้จิ๋วมีน้อย เสียงจุดประทัดสนั่นไป

.

ที่ว่าการอำเภอหลังเก่า

มีเรือยาวสำปั้นราษฎรลงมารับที่ปากอ่าวประมาณสัก 80 ลำ โห่ร้องตามมาสองข้าง ได้ขึ้นไปตามลำน้ำหลายเลี้ยว จึงถึงโรงสีไฟจีนโค้วหักหงี ซึ่งตั้งชื่อใหม่ (คือโรงสีไฟยี่ห้อเตาเซ้ง) มีความปรารถนาจะให้เปิดโรงสีนั้น เมื่อไปถึงจีนหักหงี น้อง แลบุตรหลายคนและราษฎรซึ่งอยู่ในคลองริมโรงสีนั้นเป็นอันมาก ได้ต้อนรับโดยแข็งแรง ตั้งแต่ไปจากเรือมหาจักรีจนถึงโรงสีนั้นกินเวลาเกือบ 4 ชั่วโมง ได้ขึ้นเดินดูโรงสีทั่วไป และไต่ถามถึงการงานที่ค้าขายแล้ว กลับมาขึ้นที่บ้านนายอำเภอ เพราะที่ว่าการอำเภอเก่าตั้งอยู่เหนือน้ำขึ้นไป ที่ว่าการอำเภอใหม่ทำยังไม่แล้ว หลังที่ทำใหม่นี้เท่ากับที่ว่าการอำเภอเมืองตานี กินข้าวบนเรือนนั้น จีนหักหงีเลี้ยงเกาเหลาอย่างจีน ข้าหลวงเทศาภิบาลเลี้ยงอย่างไทย

.

ไทย จีน แขก

แล้วเดินไปดูร้านซึ่งข้าราชการและราษฎรมาตั้งอย่างขายของ แต่ที่แท้เป็นของถวายทั้งนั้น มีพันธุ์ข้างต่าง ๆ น้ำตามต่าง ๆ เครื่องสาน ผลไม้ ขนม ยา เลี้ยงขนเรือที่ไป พวกราษฎรเฝ้าพร้อมกันทั้งบกทั้งน้ำแน่นหนามาก บรรดาการเล่นอันมีอยู่ในตำบลนั้นได้มาเล่นทั้งไทย จีน แขก เวลาบ่าย 3 โมงเครึ่ง จึงได้ลงเรือมหาจักกรีเกือบจะ 2 ทุ่ม

.

ปากแพรก

อำเภอปากพนังนี้ ได้ทราบดีอยู่แล้วว่าเป็นที่สำคัญอย่างไร แต่เมื่อไปถึงที่ยังรู้สึกว่าตามที่คาดคะเนนั้นผิดไปเป็นอันมาก ไม่นึกว่าจะใหญ่โตมั่งมีถึงเพียงนี้ น้ำตื้นมีอยู่แต่ที่ตอนปากน้ำประมาณ 200 เส้น เข้าข้างในน้ำลึกตลอด จนถึงหน้าโรงสีน้ำยังลึกถึง 3 วา ถ้าเวลาน้ำมากเรือขนาดพาลีและสุครีพเข้าไปได้ ต่อโรงสีขึ้นไปไม่มากถึงปากแพรก ซึ่งเป็นแม่น้ำสองแยก ๆ หนึ่งเลียบไปตามทะเลถึงตำบลทุ่งพังไกร ซึ่งเป็นที่นาอุดมดี ข้างจีนกล่าวกันว่าดีกว่านาคลองรังสิต และมีที่ว่างเหลืออยู่มาก จะทำนาขึ้นได้ใหม่กว่าที่มีอยู่แล้วเดี๋ยวนี้อีก 10 เท่า เขากะกำลังทุ่งนั้นว่า ถ้ามีนาบริบูรณ์จะตั้งโรงสีได้ประมาณ 10 โรง ขาดแต่คนเท่านั้น นาทั้งมณฑลนครศรีธรรมราชไม่มีที่ไหนสู้ ลำน้ำนั้นเรือกลไฟขนาดศรีธรรมราชขึ้นไปได้ตลอดถึงพังไกรเวลาหน้าแล้ง ต่อพังไกรไปเป็นลำคลองเล็ก แต่ถ้าหน้าน้ำเรือศรีธรรมราชไปได้ถึงอำเภอระโนด แขวงสงขลา ตกทะเลสาบ

.

คลองอีกแยกหนึ่งแต่ปากแพรกนั้น ไปทิศตะวันตกถึงอำเภอปราน ที่อำเภอปรานนี้มีไม้เคี่ยม ไม้ตะเคียน และไม่กระยาเลยต่าง ๆ จีนหักหงีได้ขออนุญาตตั้งโรงเลื่อยจักรขึ้นที่ริมโรงสีไฟใช้หม้ออันเดียวกัน แต่ยังไม่ได้ตั้งเครื่อง มีไม้จอดอยู่ริมตลิ่งมาก

.

ไม่มีแห่งใดดีเท่าปากพนัง

ทางไปอำเภอกลางเมือง มาตามคลองปากพญาแล้วมาคลองบางจาก ออกทะเลหน่อยหนึ่งจงเข้าปากพนัง แต่พระยาสุขุมฯ ได้ขุดคลองตั้งแต่ระหว่างหมู่บ้านคนไปถึงคลองบางจาก เดินทางในมีเรือลูกค้ามาแต่กลางเมืองและร่อนพิบูลย์จอดอยู่หลายร้อยลำ ในลำนั้นมเรือกำปั่นแขก สำเภาจีนค้าขายทอดอยู่กลางน้ำเกือบ 30 ลำ เหล่านี้มาแต่เมืองสิงคโปร์และเมืองแขกโดยมาก ห้างอีสต์อินเดียตั้งเอเย่นไว้สำหรับรับสินค้าไปบรรทุกลงเรือเมล์ด้วยเหมือนกัน ข้าวกลับไปเข้ากรุงเทพฯ ก็มี เพราะเหตุแต่ก่อนมีแต่ลำฝั่งน้ำตลอดมีหลายสิบโรง เมื่อจะคิดว่าตำบลนี้มีราคาเท่าใด เทียบกับเมืองสงขลา เงินผลประโยชน์แต่อำเภอเดียวนี้ น้อยกว่าเมืองสงขลาอยู่ 20,000 บาทเท่านั้น บรรดาเมืองท่าในแหลมมลายูฝั่งตะวันออก เห็นจะไม่มีแห่งใดดีเท่าปากพนัง

.

มีขัดก็แต่ปากอ่าวตื้นเรือใหญ่เข้าไม่ได้ พวกลูกค้ามีความประสงค์ที่จะให้ขุดมาก จีนหักหงีนี้เองได้ยื่นเรื่องราวว่า ถ้าจะขุด ตัวจะขอออกเงินให้ 80,000 บาท พวกจีนลูกค้าที่นี่เห็นพร้อมกันว่าจะต้องขุดทุกปียอมให้เก็บค่าขุดตามกำลังเรือ เพราะเหตุว่าเวลานี้ลำบากด้วย เครื่องลำเลียงข้าวมาบรรทุกเรือใหญ่เสียค่าจ้างเป็นอันมาก โดยจะต้องเสียค่าขุดยังจะถูกกว่าค่าจ้างเรือลำเลียง และขอให้ปิดคลองบางจากซึ่งเป็นทางน้ำเค็มเข้าคลองสุขุมนั้นเสีย น้ำในคลองนั้นจะแรงขึ้นอีก และจะได้น้ำจืดมาใช้ในปากพนัง ตำบลปากพนังนี้คงเป็นท่าเรือของเมืองนครศรีธรรมราช ปากอื่น ๆ ปิดหมดอยู่เองเพราะเข้าออกลำบาก

.

น้ำ

ตำบลนี้ลำบากอยู่แต่ด้วยน้ำ ถ้าขุดบ่อในที่ซึ่งเป็นดินเลนใกล้แม่น้ำ ๆ เปรี้ยวใช้ไม่ได้ ถ้าออกไปขุดริมชายทะเล ห่างทะเลขึ้นมาสัก 30 เส้น กลับได้น้ำจืด แต่ระยะทางไกล เดี๋ยวนี้ราษฎรได้อาศัยน้ำในคลองสุขุม แต่น้ำคลองบางจากมักทำให้เค็ม จึงอยากขอปิดคลองบางจากนั้น

.

การปิดคลองบางจาก นึกมีบ้านที่จะต้องลำบากอยู่ตำบลเดียว เพราะอยู่ปากคลองสุขุมออกมา เขากล่าวติเตียนกันอยู่ว่า จีนที่มาอยู่แต่ก่อนเป็นพวกไหหลำมาก มักไม่ใคร่จะคิดทำการหาเงินใหญ่โต ได้ประมาณพันหนึ่งสองพันเหรียญก็กลับบ้าน แต่บัดนี้จีนแต้จิ๋วกำลังรู้ว่าที่นี้ดี เห็นจะมีมาอีกมาก ไม่ช้าตำบลนี้จะเจริญใหญ่โตสู้เมืองสงขลาได้ในทางผลประโยชน์ ทุกวันนี้มีแต่โทรศัพท์ พวกลูกค้าจีนต้องการจะให้มีโทรเลข ถ้าจะมีผู้อื่นใช้โทรเลขนอกราชการแล้ว จะมีที่นี่มากกว่ากลางเมือง

.

ดิน

อนึ่งดินที่นี่ดี เผาอิฐแกร่งเหมือนอิฐสงขลา ที่ว่าการอำเภอหลังใหญ่ ซึ่งทำใหม่ได้ใช้เงินงบประมาณ 2,000 บาท นอกนั้นใช้แรงคนโทษซึ่งจ่ายมาแต่เมืองนครศรีธรรมราชทำอิฐ ราษฎรพากันมาแลกสิ่งของซึ่งต้องการเป็นไม้เป็นเหล็ก แรงที่ทำใช้แรงคนโทษ พื้นล่างเสาก่ออิฐ ข้างบนเป็นไม้มึงจาก ยังขาดแต่ฝาไม่แล้วเสร็จ แต่ถึงว่ามีสิ่งที่ดีอยู่หลายอย่างเช่นนี้ ก็มีสิ่งที่ไม่ดีคือยุงชุมเกินประมาณ”

.

ที่ว่าการอำเภอดังกล่าวนี้ปรากฏว่าได้เกิดไฟไหม้ 2 ครั้ง ครั้งหลังสุดเกิดไฟไหม้เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2494 จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปสร้างในที่ใหม่คือที่ตั้งที่ว่าการอำเภอปัจจุบัน ริมถนนสายปากพนัง – ชายทะเล หมู่ที่ 3 ตำบลปากพนังฝั่งตะวันออก เขตการปกครองของอำเภอปากพนัง เมื่อตั้งเป็นอำเภอครั้งแรกได้รวมท้องที่อำเภอเชียรใหญ่ด้วย

.

ช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงเขตการปกครอง

กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศเปลี่ยนชื่อ “อำเภอเบี้ยซัด” เป็น “อำเภอปากพนัง” เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2460

.

พ.ศ. 2467 ลดฐานะอำเภอเขาพังไกร ลงเป็นกิ่งอำเภอ เรียกว่า “กิ่งอำเภอหัวไทร” ให้ขึ้นอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอปากพนัง

.

พ.ศ. 2480 แบ่งท้องที่ด้านทิศใต้ของอำเภอปากพนังตั้งเป็นกิ่งอำเภอเรียกชื่อว่า “กิ่งอำเภอเชียรใหญ่” ในเขตการปกครองของอำเภอปากพนัง

.

พ.ศ. 2481 ยกฐานะกิ่งอำเภอหัวไทรเป็น “อำเภอหัวไทร” แยกออกจากการปกครองของอำเภอปากพนัง

.

พ.ศ. 2490 ยกฐานะกิ่งอำเภอเชียรใหญ่เป็น “อำเภอเชียรใหญ่” แยกออกจากการปกครองของอำเภอปากพนัง

.

กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศเปลี่ยนชื่อ “อำเภอเบี้ยซัด” เป็น “อำเภอปากพนัง” เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2460

___

นครศรีธรรมราช, จังหวัด. (2527). ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช: จังหวัดนครศรีธรรมราช.

ประวัติอำเภอทุ่งสง ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

ประวัติอำเภอทุ่งสง
ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

 

เหตุที่ได้จั่วหัวว่าเป็น “ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค” นั้น ด้วยคัดมาจากหนังสือ “ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช” ซึ่งเข้าใจเอาจากคำนำในเล่มว่าเป็นข้อสั่งการจากกระทรวงมหาดไทยถึงจังหวัดทุกจังหวัด ให้รวบรวมและเรียบเรียงเหตุการณ์สำคัญ เอกสาร ความเป็นมา ภูมิประเทศ สถานที่และบุคคลสำคัญของจังหวัดต่าง ๆ เป็นสารบบ มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการท้องถิ่น ได้แก่ วิมล ดำศรี, วิเชียร ณ นคร, ประหยัด เกษม, สมพุทธ ธุระเจน และฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ เป็นคณะทำงาน โดยที่ น้อม อุปรมัย, กระจ่าง คีรินทร์นนท์ และขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นที่ปรึกษา

.

หนังสือดังกล่าว แบ่งเป็น 8 บท ได้แก่ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ลักษณะการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติความเป็นมา ประวัติเทศบาลในจังหวัดนครศรีธรรมราช บุคคลสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และทำเนียบนามผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

.

ส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำเภอทุ่งสงนั้น ปรากฏอยู่ในบทที่ 3 “ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช” โดยจะได้คัดมาเผยแพร่ดังต่อไปนี้ (แบ่งวรรคตอนและย่อหน้าใหม่รวมถึงปรับคำบางช่วงตอนเพื่อสะดวกต่อการอ่าน แต่ยังคงสาระสำคัญไว้ตามต้นฉบับทุกประการ ประกอบกับในชั้นนี้จะยังไม่มีบทวิเคราะห์ข้อมูลใดๆ)

.

ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช

ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชระบุว่า ประมาณศักราช 1588 ปีมะเมีย เจ้าศรีราชา บุตรพระพนมวังและนางเสดียงทอง เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ขณะนั้นเมืองนครร้างอยู่เนื่องจากเกิดไข้ยมบนในเมือง คนหนีออกจากเมืองไปอยู่ป่า เมื่อเจ้าศรีราชาได้เป็นเจ้าเมืองแล้วก็ได้ยกช้าง ม้า รี้พลมาจากเมืองเวียงสระเข้ามาตั้งอยู่ในเมืองนครฯ จัดการซ่อมแซมบ้านเมืองพระบรมธาตุและวัดวาอาราม จึงแต่งคนออกไปสร้างป่าเป็นนา ในตำบลพระเขาแดงชะมาย (ตำบลชะมายปัจจุบัน) เข้าใจว่าคงตั้งเป็นบ้านเมืองมาแต่สมัยนั้น

.

นายที่

จนถึงแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ครั้งพระยาสุธหทัยออกมาเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ก็ได้จัดการปกครองบ้านเมือง ตั้งทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งชำระใหม่ครั้งรัชกาลที่ 2 ได้ความว่าพื้นที่อำเภอนี้เคยเป็นแขวงขึ้นอยู่ในปกครองของเมืองนครศรีธรรมราชตั้งแต่สมัยแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ 4 แขวง มี 4 นายที่ปกครอง ได้แก่ ขุนวังไกร นายที่แก้ว หมื่นอำเภอ นายที่ทุ่งสง ขุนกำแพงธานี นายที่ชะมาย หมื่นโจมธานี นายที่นาบอน

.

อำเภอทุ่งสง

ครั้นต่อมาจึงได้รวบรวมพื้นที่ 4 แขวง และพื้นที่ใกล้เคียง รวมตั้งเป็นอำเภอหนึ่งเมื่อ พ.ศ.2440 เรียกว่าอำเภอทุ่งสง แบ่งการปกครองออกเป็น 22 ตำบลขึ้นอยู่ในเขตการปกครองของเมืองนครศรีธรรมราช

.

อำเภอทุ่งสงมีพื้นที่ปกครองกว้างขวางมาก ไม่สะดวกในการปกครอง จึงได้แยกตำบลลำทับ ให้ไปขึ้นอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ และแยกตำบลท่ายาง ตำบลกุแหระ ตำบลทุ่งสัง ไปตั้งเป็นกิ่งอำเภอขึ้นชื่อ “กิ่งอำเภอกุแหระ” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “กิ่งอำเภอท่ายาง” แล้วยกฐานะเป็นอำเภอชื่อ “ทุ่งใหญ่” อำเภอทุ่งสงจึงเหลือการปกครองเพียง 16 ตำบล

.

พ.ศ. 2518 ได้แยกตำบลนาบอน ตำบลทุ่งสง และตำบลนาโพธิ์บางส่วนตั้งเป็น “กิ่งอำเภอนาบอน”

.

นายอำเภอคนแรก

ที่ว่าการอำเภอทุ่งสง แต่เดิมตั้งสำนักงานอยู่ที่เทศบาลตำบลปากแพรก แล้วย้ายไปอยู่ ณ ที่ปัจจุบันเมื่อ 2474 โดยมีหลวงพำนักนิคมคาม (เที่ยง ณ นคร) เป็นนายอำเภอคนแรก (พ.ศ.2441 – 2443)

.

เสด็จฯ ทุ่งสง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จประพาสอำเภอทุ่งสงสองครั้ง ครั้งแรกเมื่อทรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระยุพราช เสด็จจากเมืองตรังโดยกระบวนช้าง ผูกเครื่อง จัดริ้วขบวนตามธรรมเนียมเก่าของเมืองนครศรีธรรมราช ผ่านตำบลกะปาง ตำบลที่วัง ไปยังอำเภอร่อนพิบูลย์ และครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2458 เสด็จเยี่ยมมณฑลปักษ์ใต้ ทรงให้ข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราชถือน้ำพิพัฒน์สัตยา พระราชทานพระแสงราชศัสตราสำหรับเมือง และจัดตั้งกองเสือป่ามณฑลนครศรีธรรมราช เสด็จประพาสน้ำตกโยง และทอดพระเนตรการจับช้างป่าที่อำเภอทุ่งสง

___

นครศรีธรรมราช, จังหวัด. (2527). ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช: จังหวัดนครศรีธรรมราช.

 

ประวัติอำเภอสิชล ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

ประวัติอำเภอสิชล
ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

 

เหตุที่ได้จั่วหัวว่าเป็น “ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค” นั้น ด้วยคัดมาจากหนังสือ “ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช” ซึ่งเข้าใจเอาจากคำนำในเล่มว่าเป็นข้อสั่งการจากกระทรวงมหาดไทยถึงจังหวัดทุกจังหวัด ให้รวบรวมและเรียบเรียงเหตุการณ์สำคัญ เอกสาร ความเป็นมา ภูมิประเทศ สถานที่และบุคคลสำคัญของจังหวัดต่าง ๆ เป็นสารบบ มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการท้องถิ่น ได้แก่ วิมล ดำศรี, วิเชียร ณ นคร, ประหยัด เกษม, สมพุทธ ธุระเจน และฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ เป็นคณะทำงาน โดยที่ น้อม อุปรมัย, กระจ่าง คีรินทร์นนท์ และขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นที่ปรึกษา

.

หนังสือดังกล่าว แบ่งเป็น 8 บท ได้แก่ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ลักษณะการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติความเป็นมา ประวัติเทศบาลในจังหวัดนครศรีธรรมราช บุคคลสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และทำเนียบนามผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

.

ส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำเภอสิชลนั้น ปรากฏอยู่ในบทที่ 3 “ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช” โดยจะได้คัดมาเผยแพร่ดังต่อไปนี้ (แบ่งวรรคตอนและย่อหน้าใหม่รวมถึงปรับคำบางช่วงตอนเพื่อสะดวกต่อการอ่าน แต่ยังคงสาระสำคัญไว้ตามต้นฉบับทุกประการ ประกอบกับในชั้นนี้จะยังไม่มีบทวิเคราะห์ข้อมูลใดๆ)

.

จอมเมืองหาญ และ จอมเมืองศรีศาสนา

เมื่อราว พ.ศ. 2300 ตัวเมืองเดิมคือบริเวณตั้งอำเภอในปัจจุบันในครั้งโบราณ หัวหน้าผู้นำชุมชนของท้องถิ่นมีอยู่ด้วยกันสองคน คือ “จอมเมืองหาญ” และ “จอมเมืองศรีศาสนา” บุคคลทั้งสองมีความนิยมนับถือทางไสยศาสตร์อย่างเคร่งครัด และเป็นที่ยำเกรงของคนทั่วไป

.

ครั้งหนึ่งเมื่อกองทัพพม่าเดินทางมาถึงเขาหัวช้าง และได้เข้ามาจับกุมบุคคลในปกครองของสองจอมเมืองทั้งชายและหญิงไว้เป็นเชลยจำนวนหนึ่ง เชลยที่เป็นชายนั้นแม่ทัพพม่าก็ได้สั่งให้นำไปฆ่าเสีย โดยใช้วิธีการจับโยนบ่อ ห้วย และเหว ทำให้ราษฎรในชุมชนนั้นตกใจแตกตื่นหลบหนีเพื่อเอาตัวรอดไปคนละทิศคนละทาง ทิ้งทรัพย์สมบัติไว้ให้แก่พม่าเป็นจำนวนมาก

.

ต่อมาพม่าได้สืบทราบว่า ในชุมชนนี้จอมเมืองหาญและจอมเมืองศรีศาสนาเป็นหัวหน้า จึงได้สั่งให้ทหารติดตามจับกุมบุคคลทั้งสอง ทหารพม่าที่ติดตามจับกุมได้ฆ่าคนของจอมเมืองทั้งสองเสียเป็นจำนวนมาก และเกิดการรบพุ่งขึ้น ในที่สุด พม่าก็สามารถจับกุมทั้งสองจอมเมืองได้ และนำตัวไปประการชีวิตโดยวิธีใช้เหล็กตอกขมับจนตาย

.

ทุ่งหัวนา

แม่ทัพพม่าได้สั่งให้ทหารตั้งทัพอยู่ที่นั้น และให้ทหารทำนาเป็นเสบียงสำหรับส่งให้กองทัพหลวงต่อไป เรียกที่ตั้งทัพว่า “ทุ่งหัวนา” ซึ่งยังมีที่นาและคันนาปรากฏเป็นหลักฐานอยู่จนบัดนี้ (ปัจจุบันอยู่ในตำบลสี่ขีด)

.

ทุ่งพลีเมือง

ต่อมามีชายคนหนึ่งชื่อเจ้าจอมทอง ได้ทำการรวบรวมพวกที่หลบหนีหม่ากระจัดกระจายทั่วไป เมื่อได้สมัครพรรคพวกพอสมควรแล้ว ได้จัดตั้งชุมชนขึ้นใหม่ที่ทุ่งพลีเมือง (ปัจจุบันคือบ้านห้วยถ้ำ) เจ้าจอมทองได้ตั้งตัวเป็นหัวหน้าชุมชน ทำการรวมผู้คนได้จำนวนหนึ่ง จึงได้ทำพิธีปลูกศาลเจ้าและทำพิธีบนบานว่าหากกองทัพพม่าแตกพ่าย ได้อิสรภาพและราษฎรอยู่อย่างสงบสุขแล้วจะสร้างวัดถวายให้อยู่

.

ฝ่ายพม่าเมื่อได้สืบทราบว่าคนไทยจัดตั้งสมัครพรรคพวกขึ้นต่อต้าน ก็นำทหารมาปิดล้อมและได้ต่อสู้กันเป็นสามารถ ผลคือทัพทหารพม่าแตกกระจัดกระจายไป เจ้าจอมทองจับเชลยและอาวุธได้จำนวนมาก กองทัพพม่าถอยร่นไปทางบ้านยางโพรง ผ่านตำบลฉลอง ไปสมทบกับกองทัพหลวงที่เมืองนครศรีธรรมราช

.

วัดจอมทอง

ต่อมาอีกประมาณสองปี พม่าได้ยกทัพมาทางทะเลถึงปากน้ำสุชน ได้ส่งทหารขึ้นไปเจรจากับเจ้าจอมทองให้เป็นเมืองขึ้นโดยดี แต่เจ้าจอมทองไม่ยอม จึงได้รบกันทางเรือที่ปากน้ำสุชนเป็นสามารถ ก่อนการสู้รบต่อกันเจ้าจอมทองได้บวงสรวงเทพเจ้าขอความช่วยเหลือและคุ้มครอง พอดีกับขณะที่รบกันนั้นเกิดคลื่นลมจัดขึ้นทันที ทำให้ทัพพม่าแตกกระจายไม่เป็นกระบวน เจ้าจอมทองจึงได้ยกทัพและกำลังเข้าโจมตี จับกุมเชลยและอาวุธได้เป็นจำนวนมาก เมื่อสงบศึกกับพม่าเรียบร้อยแล้ว ทางเจ้าจอมทองจึงได้สร้างวัดตามที่ได้บนบานไว้ เรียกว่า “วัดจอมทอง”

.

เมื่อได้มีการปกครองบ้านเมือง โดยแบ่งการปกครองเป็นมณฑลและมีเทศาภิบาลปกครอง จึงได้ตั้งเป็นอำเภอขึ้น เรียกว่า “อำเภอสุชน” มีตำบลขึ้นอยู่กับอำเภอนี้ 9 ตำบล คือ สุชน ทุ่งปรัง ฉลอง เสาเภา เปลี่ยน ขนอม ท้อนเนียน ไชยคราม และดอนสัก

.

ต่อมาในปี พ.ศ.2502 ได้มีการโอนตำบลดอนสักและไชยคราม ไปขึ้นกับอำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และโอนตำบลขนอมและท้อนเนียน มาจัดตั้งเป็นอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช

.

จากสุชน เป็นสิชล

ชื่อ “สุชน” นั้น เมื่อสมัยท่านเจ้าคุณรัตนธัชมุนีศรีธรรมราช เป็นเจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ไปตรวจราชการฝ่ายสงฆ์ที่อำเภอนี้ ได้พิจารณาเห็นว่าที่สุชนนี้น้ำดี ใสสะอาด บริสุทธิ์ และจืดสนิท จึงได้เปลี่ยนชื่อจาก “สุชล” เป็น “สิชล” และทางราชการก็ได้ใช้ชื่อว่าอำเภอสิชลตั้งแต่นั้นมา โดยมีหลวงอนุสรสิทธิกรรม (บัว ณ นคร) เป็นนายอำเภอคนแรกฯ

___

นครศรีธรรมราช, จังหวัด. (2527). ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช: จังหวัดนครศรีธรรมราช.

ต้นฉบับภาพเก่าโนรา ณ วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

ต้นฉบับภาพเก่าโนรา

ณ วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช

 

โนรา : มรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ

ท่ามกลางการร่วมเฉลิมฉลองและชื่นชมยินดีในโอกาสที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 16 ณ สำนักงานใหญ่ยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้ประกาศขึ้นทะเบียน“โนรา : Nora, dance drama in southern Thailand” เป็นรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity)หลายส่วนฝ่ายต่างแสดงบทบาทเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเหตุการณ์ได้อย่างน่าสนใจ

.

เมื่อราว 2 ปีก่อน บังเอิญมีโอกาสได้รับมอบหมายจาก ผศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ คณะกรรมการนำเสนอวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร สู่มรดกโลก ให้เป็นผู้ประสานงานกับสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เพื่อขอคัดสำเนาภาพถ่ายเก่าที่เกี่ยวข้องกับเมืองนครศรีธรรมราช ได้ความกรุณาไว้หลายรายการ หนึ่งในนั้นเป็นสำเนาต้นฉบับที่บันทึกกิจกรรมภายในวัดของคณะบุคคลไว้ วาระนี้จะคัดออกเผยแพร่เฉพาะที่เห็นว่าเป็นภาพ “โนรา” ในวันสมโภชพระบรมธาตุเจดีย์ เมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสปักษ์ใต้ และดังระบุแล้วว่าได้คัดสำเนาแบบดิจิทัลจากต้นฉบับโดยตรง แม้หลายท่านจะเคยเห็นภาพเหล่านี้บ้างแล้ว แต่เชื่อว่าการเมื่อคลี่ขยายออกดูรายละเอียดจากต้นฉบับนี้ จะทำให้สามารถเห็นหรือเป็นประเด็นศึกษาต่อได้มากขึ้น

หมายเลขกำกับภาพของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ 59M00005
เมื่อลองขยายดูส่วนประกอบต่าง ๆ
   
พราน ถ้าเป็นภาพสีแล้วเห็นเป็นหน้าขาวเสียหนึ่ง คงพอจะชี้ลงได้ว่าเป็นทาสีหนึ่ง พรานหนึ่ง
แต่อนุมานเอาก่อนจากสีพรานผู้ถอดเสื้อว่าคงเป็นพรานทั้งสอง ถอดเสื้อหนึ่ง ใส่หนึ่ง
 
โนรา เสียดายก็แต่ไม่ได้เห็นเครื่องทรงเต็มองค์ แต่พอจะสังเกตเห็นเล็บทั้ง 4 ที่ดูเหมือนจะสอดลูกปัดไว้เล็บละเม็ดสองเม็ด
  ดูเหมือนว่าท่าจับในลักษณะนี้จะพบเห็นได้ยากแล้วในปัจจุบัน อาการที่หัวจุกใช้ร่องศอกขวาเกี้ยวขาขวาขึ้นเป็นท่าขี้หนอน
ในขณะที่มือกำกระบองสั้นไว้ ส่วนมือซ้ายก็ยื้อยุดกับหัวจุกอีกคนในท่าเดียวกัน
โนรา เป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่าถ้าโนราเกี้ยวขาขึ้นแล้วเป็นอันรับรู้ร่วมกันว่าคือท่าขี้หนอน
ขี้หนอนนี้เป็นชื่อเรียกกินนรอย่างทางใต้ ขี้หนอนจึงอาจคือท่าเอกลักษณ์ของโนรา
โดยส่วนตัวตรึงตากับโนรานายนี้มาก
จะติดก็แต่จินตนาการไม่ออกว่าท่าส่งขึ้นขี้หนอนนี้มาอย่างไรและจะเยื้องท่าไปอย่างไรต่อ
ภาพนี้เห็นส่วนสนับเพลา คือส่วนที่ครูมโนห์รารุ่นก่อนมักเรียกว่า “ขากางเกง”
มีเฉพาะส่วนขา ปลายสุดสอดเชือกไว้สำหรับรูดคล้ายปลอกหมอนข้างในปัจจุบัน
มีของโบราณอย่างที่ว่าอยู่ในพิพิธภัณฑ์วิหารคด วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช
ตรงนี้น่าสนใจ เพราะอาจสะท้อนความเชื่อโบราณว่าหากยังเป็นหัวจุกอยู่จะสวมเทริดไม่ได้
ต้องผ่านพิธีตัดจุกผูกผ้าครอบเทริดเสียก่อน ในภาพนี้ดูจะเป็นโนราที่เยาว์นักเมื่อเทียบกับนายขี้หนอนก่อนหน้า
อาจเป็นไปได้ว่าจะตัดจุกตามคติโบราณฝ่ายนครเหมือนที่เคยคุยกับบุตรสาวขุนพันธรักษ์ราชเดช ว่าเด็กชายตัด 13 เด็กหญิงตัด 11
คิดว่าคงเพิ่งผ่านพิธีกรรมตัดจุกผูกผ้าครอบเทริดมาหมาดๆ
ส่วนพรานผู้นั่งมหาราชลีลาในท่าประนมมือพร้อมผ้าพาดบ่านั้น ไม่ตีบทอยู่ ก็กำลังอัญชลีผู้อยู่หลังกล้อง
ลูกคู่ สังเกตจากภาพแล้วดูเหมือนจะนั่งล้อมวงกันมุมนี้เห็นหลังนายโหม่ง
สวมเสื้อแพร นั่งเสื่อท่าพับเพียบเก็บปลายเท้าเสียด้วย
โนราประกอบขึ้นได้ด้วยหลายองค์ประกอบ ทั้งผู้แสดง เครื่องแต่งกาย นักดนตรี เครื่องดนตรี ผู้ชม เจ้าภาพ วาระและโอกาส รวมถึงองค์ความรู้ในองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง อาจกล่าวได้ว่า โนราเป็นผลรวมของสหวิทยากรที่ผ่านการสั่งสมภูมิปัญญาและมีพลวัตอย่างต่อเนื่องยาวนาน โนราจึงไม่อาจมองหรืออธิบายได้โดยสรุปเพียงแค่แง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง และเชื่อว่าหลังจากนี้ เมื่อยูเนสโก้ได้ประกาศรับรองอย่างเป็นทางการให้โนราเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติแล้ว เราจะได้ศึกษาและคลี่มองโนรากันอย่างรอบขึ้นฯ
___
ภาพปก หมายเลขกำกับภาพของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ 74M00036
ภาพในเรื่องและภาพส่วนขยาย หมายเลขกำกับภาพของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ 59M00005
ปล. ท่านผู้ประสงค์จะนำภาพไปใช้เพื่อกิจใด ๆ ขอความกรุณาศึกษาวิธีการใช้ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติให้ถี่ถ้วนก่อนนะครับ

ประวัติวัดหน้าพระลาน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ประวัติวัดหน้าพระลาน
ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

 

หน้าพระลาน

“หน้าพระลาน” ภูมินามนี้ สอดคล้องกับผังเมืองโบราณ ที่เมืองสำคัญย่อมมี “พระลาน” ไว้สำหรับประกอบพระราชพิธี แต่เมื่อเปรียบเทียบระหว่างเมืองโบราณอื่นในภาคกลาง ได้แก่ กรุงศรีอยุธยาและกรุงเทพฯ กลับพบว่า นครศรีธรรมราชมีตำแหน่งแห่งที่ของพระลานในทิศตรงกันข้าม กล่าวคือ หน้าพระลานของกรุงเทพฯ ปัจจุบันคือถนนหน้าพระลาน ด้านทิศเหนือของพระบรมมหาราชวัง เช่นเดียวกันกับอยุธยา ที่มีวัดหน้าพระเมรุราชิการามวรวิหารเป็นอนุสรณ์ของรอยพระราชพิธี ก็มีตำแหน่งอยู่ทางทิศนี้ ในขณะที่หน้าพระลานของนครศรีธรรมราชกลับอยู่ทางทิศใต้ของเมือง

.

ประเด็นนี้ อาจนำไปสู่ข้อสังเกตได้ ๒ ประการคือ ประการแรก หากอ้างอิงตามหลักการที่หน้าพระลานควรอยู่ทางทิศเหนือ หน้าพระลานของนครศรีธรรมราช จึงไม่ใช่หน้าพระลานที่เป็นของเมืองในยุคกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีกำแพงล้อมเอาพระบรมธาตุเจดีย์เอาไว้ภายในเมือง แต่ควรเป็นของเมืองโบราณพระเวียง ที่อยู่ทางทิศใต้ลงไป ประการต่อมา หากอ้างอิงตามคติทิศสำคัญในพระพุทธศาสนา ที่ว่าทิศใต้เป็นทิศแสดงปฐมเทศนา ข้อนี้สอดคล้องกับตำแหน่งของธรรมมาสน์ด้านทิศใต้ในพระวิหารทับเกษตร อันเป็นจุดรวมศูนย์ของเหล่าภาพจิตรกรรมคอเสา ที่ต่างกระทำอัญชลีหันหน้าไปสู่ คล้ายกับการจำลองฉากพระบรมศาสดาประทับนั่งใต้ร่มพระศรีมหาโพธิ์ทักษิณสาขา แล้วเหล่าพุทธสาวกมาประชุมพร้อมกันที่ลานเบื้องหน้าพระพุทธองค์ หากเป็นไปตามข้อนี้ ก็จะเป็น “หน้าพระลาน” ได้ เหตุและปัจจัยดังกล่าวจึงอาจแสดงลักษณะเฉพาะของเมืองนครศรีธรรมราช

.

วัดหน้าพระลาน

วัดหน้าพระลาน สร้างขึ้นเมื่อปี พุทธศักราช ๑๘๐๐ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี ๒๔๙๓ เดิมเป็นวัดสำหรับพระราชาคณะที่ “พระสังฆราชาลังการาม” มีหน้าที่ดูแลรักษาองค์พระบรมธาตุเจดีย์ทางทิศใต้ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีวัดในการปกครอง ๙๐ วัด เจ้าคณะแขวงขึ้นตรง ๗ แขวง

.

แต่เดิมเนื่องจากวัดพระมหาธาตุฯ เป็นเขตพุทธาวาสไม่มีพระสงฆ์ เพิ่งเริ่มมีการปลูกกุฎีในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) เมื่อทรงนิมนต์พระครูวินัยธร (นุ่น) จากวัดเพชรจริกมาปกครองวัดพระมหาธาตุฯ วัดหน้าพระลานจึงเป็นวัดสำหรับคณะสงฆ์จะได้พำนักเพื่อรักษาองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ทำให้เป็นเสมือนเป็นแหล่งตักศิลาเพราะเป็นที่อันรวมพระภิกษุสงฆ์ผู้มีความรู้ความสามารถในเชิงช่างต่าง ๆ อาทิ ช่างหล่อ, ช่างปั้น, ช่างเขียน, ช่างไม้ แม้กระทั้งช่างทำเรือ จำพรรษาอยู่เป็นอันมาก

.

มีเกร็ดเรื่องเล่าในหมู่ชาวนครศรีธรรมราชว่า ครั้นถึงฤดูลมว่าว ราวเดือนสามเดือนสี่ ช่วงนั้นลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจะหอบเอาความหนาวเย็นมาจากไซบีเรียและจีนแผ่ลงมา ลมบนแรงเหมาะแก่การเล่นว่าวจนเป็นชื่อเรียกลมท้องถิ่น สมัยก่อนมีคนเล่นว่าวกันทั่วไปแม้พระทั่งพระสงฆ์ โดยเฉพาะวัดหน้าพระลาน มีชื่อเสียงในการทำว่าวมาก จนครั้งหนึ่ง สายป่านพานไปถูกยอดพระบรมธาตุเจดีย์เข้าทำให้เอียงมากระทั่งทุกวันนี้

.

ดูเหมือนว่าคณะสงฆ์วัดหน้าพระลานแต่ก่อน จะมีบทบาทอย่างมากในเมืองนครศรีธรรมราช ความตอนหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงไว้ในพระราชพิธี ๑๒ เดือน เกี่ยวกับการสวดภาณวารและภาณยักษ์ไว้อย่างน่าสนใจว่า “…ข้าพเจ้าไปเมืองนครศรีธรรมราชคราวนี้ก็ได้ลองให้พระสงฆ์ที่วัดหน้าพระลานสวดภาณวารและภาณยักษ์ฟังดู ทํานองภาณวารมีเสียงเม็ดพราย ทํานองครุคระมากขึ้นกว่าทํานองภาณวารในกรุงเทพฯ นี้มาก นโมขึ้นคล้ายๆ ภาณยักษ์ แต่ภาณยักษ์เองนั้นสู้ที่กรุงเทพฯ ไม่ได้ ที่กรุงเทพฯ เอามาตกแต่งเพิ่มเติมเล่นสนุกสนานกว่ามาก แต่คงยังได้เค้าคล้ายๆ กันทั้งสองอย่าง…”

.

นอกจากนี้ ความในความในตำรา ๑๒ เดือน คัดแต่สมุดขุนทิพมนเทียรชาววังไว้ ก็ระบุเค้ารอยบางประการไว้เป็นสำคัญว่า “พระตำราพระราชพิธีสำหรับเมืองนครฯ ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชา วัดหน้าพระลานเมืองนครฯ คัดส่งเข้ามาถวายพระสังฆราช วัดบางหว้าใหญ่”

.

บ่อน้ำศักสิทธิ์ วัดหน้าพระลาน

วัดหน้าพระลาน เป็นวัดเดียวที่ตั้งอยู่ปละหัวนอนหรือทิศใต้ขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ ทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดปากประตูชัยสิทธิ์ เข้าใจว่าแต่โบราณนั้น ปากประตูทางเข้า – ออกหลักของเมืองนครศรีธรรมราช จะมีวัดที่มีแหล่งน้ำสำคัญไว้ทำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมและดื่มกินสำหรับเหล่าทแกล้วทหาร โดยที่ประตูชัยศักดิ์ด้านทิศเหนือเป็นทางออกมีบ่อน้ำวัดเสมาชัย ดังกวีประพันธ์กลอนไว้ความว่า “ดื่มกินครั้งใด มีชัยอำนาจ” ถือเป็นฤกษ์เป็นชัยและขวัญกำลังใจ ส่วนเมื่อกลับจากการศึกก็เข้าเมืองทางประตูชัยสิทธิ์แล้วต้องดื่มกินน้ำจากบ่อน้ำวัดหน้าพระลานเสียเพื่อแก้กฤติยาซึ่งถูกฝังเป็นอารรพ์กำกับไว้กับประตู ด้วยการ “กลบบัตร” ด้วยน้ำ จะเรียก “กลบบัตรรดน้ำ” เพื่อให้เข้ากันกับ “กลบบัตรสุมไฟ” ด้วยหรือไม่อย่างไรไม่ทราบ

.

แต่โบราณนั้นปรากฏว่ามี “พระราชพิธีนครถาน” ที่ว่าด้วยเมื่อพราหมณาจารย์ลงยันต์ถมเวทย์อาถรรพ์แผ่นเงิน แผ่นทองแดง แผ่นศิลา ตุ๊กตารูปราชสีห์ ช้าง และเต่า ตั้งศาลบูชาเทวดาตามลัทธิ เจริญพระเวทย์ครบพิธีฝ่ายพราหมณ์แล้ว ฝ่ายพุทธจะต้องเชิญเครื่องอาถรรพ์เหล่านี้เข้าสู่ปริมณฑลในโรงพิธี ให้สงฆ์ผู้ใหญ่นั่งปรกและเจริญพระพุทธมนต์ถึงสามวันสามคืน รุ่งขึ้นวันที่สี่ ซึ่งเป็นวันกำหนดฤกษ์จึงเชิญเครื่องอาถรรพ์ลงหลุมตั้งเสาประตู พราหมณ์ร่ายเวทย์ สงฆ์สวดมหาชัยปริตร ประโคมปี่พาทย์ ฆ้องชัย แตรสังข์ โห่ร้องยิงปืนเป็นฤกษ์ พร้อมกันนั้นพระสงฆ์จะเชิญน้ำพระพุทธมนต์ และทรายซึ่งนำเข้าปริมณฑลเจริญพระเวทย์และสวดพระปริตรพร้อมกับแผ่นอาถรรพ์และตุ๊กตาโปรยปรายไปตามแนวที่จะสร้างกำแพงเมืองโดยรอบทั้งสี่ทิศแล้วขุดวางรากสร้างกำแพงเมืองแล้ววางเสาประตู ข้างฝ่ายเมืองนครศรีธรรมราชก็มีพิธีที่เนื่องด้วยการโปรย “เงินเล็กปิดตรานะโม” และพรมน้ำพระพุทธมนต์รอบขอบเขตพระนครในสมัยพระเจ้าศรีธรรมโศกราชซึ่งน่าจะเข้าเค้า

.

ประตูชัยเมืองนครศรีธรรมราช มีมุขปาถะว่าอาถรรพ์ประตูเมืองนครศรีธรรมราชนั้น นอกจากฝังอยู่ตรงเสาสองข้างและใต้ธรณีประตูเป็นแนวยาวแล้วยังฝังไว้เหนือประตูด้วย คนเฒ่าคนแก่ยืนยันว่าอาถรรพ์ประตูชัยเมืองนครศรีธรรมราชนั้น แม้ใครจะเรืองฤทธิ์ขมังเวทย์อยู่ยงคงกระพันอย่างไร ถ้าลอดผ่านประตูนี้แล้ว ก็เป็นอันสิ้นเวทย์เสื่อมฤทธิ์ทันที ไม่เว้นแม้แต่คนเมืองนครศรีธรรมราชเอง แต่ก็มีของแก้ นั่นคือน้ำบ่อวัดหน้าพระลานนี้ คนเมืองนครศรีธรรมราชสมัยโบราณจะมีน้ำจากบ่อวัดหน้าพระลานติดตัวสำหรับล้างหน้าสระเกล้าแก้อาถรรพ์ติดตัวอยู่เสมอ

.

ความศักดิ์สิทธิ์ของบ่อน้ำวัดหน้าพระลานหาได้รู้จักกันแต่ในหมู่ชาวบ้านเมืองนครศรีธรรมราชแห่งเดียวไม่ ยังถูกเล่าเป็นที่เชื่อถือของชาวต่างบ้านต่างเมืองด้วย ปรากฏว่าเมื่อมาเยือนเมืองนครศรีธรรมราชก็ต้องเอาน้ำบ่อวัดหน้าพระลานติดตัวกลับเสมอ ผู้ที่ไม่มีโอกาสมาก็ไหว้วานให้นำไปเป็นของฝาก เพราะนอกจากเรื่องการแก้อาถรรพ์แล้ว บ่อน้ำวัดหน้าพระลานนี้ เชื่อสืบกันมาว่าหากใครได้ดื่มกินจะมีปัญญาเฉียบแหลม มีบุญวาสนาสูง และมีโอกาสได้เป็นขุนน้ำขุนนาง แม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อวันอังคาร เดือน ๑๐ ขึ้น ๖ ค่ำ รัตนโกสินทร์ศก ๑๐๗ (๑๑ กันยายน ๒๔๓๑) ในสมัยเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีศรีธรรมราช (หนูพร้อม) เป็นเจ้าเมือง พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดหน้าพระลาน ทรงใช้หมาจากเป็นภาชนะสำหรับตักน้ำมาเสวยด้วยพระองค์เอง แล้วทรงรับสั่งถามสมภารศรีจันทร์ เจ้าอาวาสวัดหน้าพระลานขณะนั้นว่า ศิษย์วัดหน้าพระลานเมื่อได้ดื่มกินน้ำในบ่อนี้แล้วจะได้เป็นใหญ่เป็นโตจริงหรือ สมภารฯ ได้ถวายพระพรตอบว่า ศิษย์วัดหน้าพระลาน ถ้าได้ดื่มน้ำในบ่อนี้แล้ว อย่างเลวก็สามารถที่จะคาดว่าวขึ้น

.

คำเปรียบเปรยเพื่อให้เห็นภาพที่ว่า แม้เด็กวัดอย่างเลวก็ “คาดว่าวขึ้น” นี้ การคาดว่าวคือการผูกสายซุงที่อกว่าว ซึ่งต้องใช้ความชำนาญส่วนบุคคล จัดว่าเป็นทักษะเฉพาะด้านที่ต้องผ่านการฝึกฝน ในที่นี้เด็กวัดอย่างเลว หมายถึงเด็กวัดทั่วไปที่ไม่สันทัดในเรื่องนี้ เมื่อได้กินน้ำในบ่อนี้แล้วก็สามารถที่จะทำได้ ทั้งนี้ก็มีข้อปฏิบัติเป็นเคล็ดคือต้องตักทางทิศอีสานของบ่อจึงจะถือว่าดีและได้ผล

.

เรื่องเล่า ขุนอาเทศคดี

มีเรื่องเล่ากันมาว่า ครั้งหนึ่ง เจ้าพระยาสุธรรมมนตรีศรีธรรมราช (หนูพร้อม) เคยสั่งให้ถมบ่อแล้วสร้างหอไตรทับไว้ เพราะเห็นว่าชาวบ้านไปอาบ – กินน้ำบ่อนี้กันมาก เกรงว่าจะมีผู้มีปัญญามีบุญวาสนาขึ้นจนเป็นภัยต่อการปกครอง เรื่องนี้ ขุนอาเทศคดี (กลอน มัลลิกะมาส) ได้กล่าวถึงในบทความเรื่อง “น้ำศักดิ์สิทธิ์ในจังหวัดนครศรีธรรมราช” ในหนังสือจุฬาฯ นครศรีธรรมราช ๒๓ ตุลาคม ๒๕๑๔ ว่า “…เมื่อประมาณ ๕๐ กว่าปีมานี้ ข้าพเจ้าได้ไปดูหอไตรที่วัดหน้าพระลาน เห็นหอไตรที่ว่านั้นมีอยู่จริง อยู่ทางทิศอีสานของวัด แต่ชำรุดทรุดโทรมด้วยความเก่าแก่คร่ำคร่า คงมีแต่ฐานกับเสาอิฐปูนหักๆ ส่วนเรื่องที่เล่าลือกันไม่ปรากฏว่ามีใครเชื่อถือเป็นจริงเป็นจังนัก เพราะยังมีชาวบ้านชาวต่างเมืองไปอาบกินลูบตัวลูบหน้าประพรมศีรษะด้วยความนิยมนับถือกันอยู่ ครั้นเมื่อประมาณ ๓๐ ปีมานี้ พระครูการาม (ดี สุวณฺโณ) เจ้าอาวาส ได้ขุดรื้อฐานหอไตร ถามถึงการถมบ่อ ท่านบอกว่าท่านก็ได้ขุดค้นหาซากบ่อน้ำเพื่อพิสูจน์ความจริงกัน แต่ก็ไม่พบร่องรอยเลย ท่านเข้าใจว่าเป็นเรื่องใส่ร้ายป้ายสีทับถมกันมากกว่า และบัดนี้ ท่านได้ก่อปากบ่อให้สูงขึ้น ทำกำแพงล้อม ถมพื้นคอนกรีตข้างๆ บ่อ บำรุงรักษาทำความสะอาดอย่างดีแล้ว บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้อยู่ทางทิศตะวันออกพระอุโบสถ…”

.

ที่เล่าลือกันไปนี้ มีข้อปลีกย่อยที่หนักเข้าถึงขั้นบ้างว่าเป็นพระประสงค์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่รับสั่งให้ถมก็มี อย่างที่ชาวนครศรีธรรมราชบางจำพวกพยายามทำหน้าที่เป็นศาลเตี้ย โยนความและตั้งแง่เป็นเรื่องซุบซิบโปรยไปประกอบรูปการณ์ของบ้านเมืองจนคล้ายกับว่าเป็นเรื่องจริงใส่ความผู้มีอำนาจเพื่อแสดงความชอบธรรมบางประการของตนในฐานะผู้เป็นเจ้าของพื้นที่อยู่เนืองๆ

.

น้ำบ่อหน้าพระลานนี้ ตรี อมาตยกุล ได้พรรณนาไว้ในบทความ “นครศรีธรรมราช”จากหนังสือรวมเรื่องเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๕ ว่า “…เป็นบ่อที่ขุดมาช้านานแล้ว น้ำในบ่อนั้นใสสะอาด รับประทานดีมีรสจืดสนิท ชาวนครศรีธรรมราชพากันมาตักไปรับประทานกันเสมอ…” ซึ่งในปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนั้นหากแต่ลดวิถีของการบริโภคน้ำบ่อลงไปตามยุค ส่วนการอุปโภคก็ด้วยเหตุเดียวคือเพื่อความเป็นสิริมงคลแก้อาอรรพ์คุณไสยและเสริมปัญญาบารมี

.

มากไปกว่านั้นทั้งหมด บ่อนี้เป็นบ่อเดียวในทุกแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ปรากฏประวัติว่า พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินมาเพื่อพิสูจน์ความศักดิ์สิทธิ์ด้วยพระองค์เอง จึงควรค่าแก่การจารึกไว้เป็นอนุสรณ์เป็นที่ยิ่ง

.

พระพุทธรูปสำริดประทับยืน ปางประทานอภัย

พระพุทธรูปยืนปางประธานอภัย ทรงเครื่อง เนื้อสำริด ศิลปะอยุธยา สูงรวมฐาน ๒๖๒ เซนติเมตร องค์พระและฐานสามารถถอดแยกออกจากกันได้ กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๑๐๖ หน้าที่ ๗๒๙ วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๓๒ และบริเวณรอบขอบฐานพระพุทธรูปซึ่งเป็นฐานแปดเหลี่ยมมีจารึกอักษรไทย ภาษาไทยด้านละ ๒บรรทัดเว้นด้าน ๗ และ ๘ มีด้านละ ๑ บรรทัด การอ่านจารึกนี้จะต้องอ่านบรรทัดบนจะมีอักษรจารึกอยู่ ๖ ด้าน บรรทัดล่างมีอักษรจารึกอยู่ ๘ ด้านมีการจารึกเรียงตามลักษณะการอ่านดังนี้

 

ด้านที่ ๑ บรรทัดบน             พุทศกราชใด ๒๒๔๐ พระพรณสา

ด้านที่ ๒ บรรทัดที่บน           เสคสังยา ๓ เดือน ๕ วัน ณ วัน ๔+๙

ด้านที่ ๓ บรรทัดบน             คำ ฉลู นพศก ออกขุนทิพภักดีศีรสำพุด

ด้านที่ ๔ บรรทัดบน             มีไจโสมนัด………………………………………

ด้านที่ ๕ บรรทัดบน             …………………พระพุทธเจ้าไวไนสาศนาจวน

ด้านที่ ๖ บรรทัดบน             ๕๐๐๐ พระพรณสา เปน ๕๐๐ ชั่ง ทั้งถาน

ด้านที่ ๑ บรรทัดล่าง            นางคงจันเป็นช่าง และพระพุทธรูปอ่ง

ด้านที่ ๒ บรรทัดล่าง            นิง สูง ๕ ศอกเสด เปนดีบุก ๒๘๐ ชั่ง พระ

ด้านที่ ๓ บรรทัดล่าง            อรหัน ๒ รูป เปนดีบุก ๑๖๐ ชั่ง เทกบเปน

ด้านที่ ๔ บรรทัดล่าง            ดีบุก ๔๔๐ ชั่ง……………………………………….

ด้านที่ ๕ บรรทัดล่าง            ………………………………ไว้ด้วยกันเป็นดุจนี้

ด้านที่ ๖ บรรทัดล่าง            ไสชร ไวตราบเทานิภภาร แลแผ่บุนนี้ไปแดมา

ด้านที่ ๗ บรรทัดล่าง            ดาบิดาลูกหลานภรรญายาดิทั้งหลายให้

ด้านที่ ๘ บรรทัดล่าง            พ้นทุกเถิด

.

พระพุทธรูปสำริดประทับยืน ปางประทานอภัย (ห้ามญาติ)

พระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย (ห้ามญาติ) เนื้อสำริด ศิลปะอยุธยา สูง ๑๘๒ เซนติเมตร กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๑๐๖ ตอนที่ ๑๖ หน้า ๗๒๙ วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๓๒

.

พระพุทธรูปสำริดประทับนั่ง

 ฐานพระพุทธรูปนั่ง เนื้อสำริด ลักษณะฐานสิงห์แบบย่อมุมไม้สิบสอง ซ้อนกันสองชุด ต่อด้วยท้องไม้ประดับลายกระจัง กึ่งกลางด้านหน้าฐานพระ มีผ้าทิพย์ทำเป็นชายผ้าซ้อนกันสองชั้น มีลายอย่างกากบาท อยู่กลาง และลายเฟื่องอุบะอยู่ใกล้ชายผ้า ด้านหน้ามีอักษรจารึกอยู่ ๑ แถว โดยจารึกไปตามลักษณะของพื้นที่เป็นฐานย่อมุม  ด้านหลังเป็นฐานโค้งอย่างพระพุทธรูปทั่วไปตอนบนมีจารึก ๕ บรรทัด ใต้ฐานนั้นเป็นลายพรรณ พฤกษา อักษรจารึกมีดังนี้

 

จารึกบริเวณด้านหน้า

          พุท ศักราช…หไ… ….แล้ว ใด้ ๒๒๕๓ พระพรร ณี สาจุล ศักราช…๑๐๗๒…กุน

 

จารึกบริเวณด้านหลัง

บรรทัดที่ ๑    คำ ปีขาน โทศก บาทเจาพระเชนเปนประทานโดยคชาปิฎก

บรรทัดที่ ๒    แลสำเมร็จผ่านปีชวด อนุโมทนา ทอง…ชั่ง แลนิมนบาดเจา

บรรทัดที่ ๓    พระพร แลบาทเจ้าจึงให้…เปนช่างสทำพระพุทปักติมากรเปนทอง

บรรทัดที่ ๔    ๒๒๐ ชั่ง เปนฃี้ผิง ๖๒๐ ชั่ง อุทิศไว้ในพระสาศนาตราบเทา ๕๐๐๐ พระ

บรรทัดที่ ๕    พรัมสาฃอใหสำเมร็จบุญตราบเท่านิพานเถิด

***ในส่วนของคำอธิบายเกี่ยวกับจารึกยังคงเป็นกระทู้สำคัญที่รอการค้นคว้าศึกษาเพิ่มเติมกันต่อไป

เปิดจดหมายจากเด็กชายบ้านศรีธรรมราช ถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

เปิดจดหมายจากเด็กชายบ้านศรีธรรมราช
ถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

จากแหลมตะลุมพุก
ถึงบ้านศรีธรรมราช

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรที่ประสบวาตภัยจากพายุโซนร้อนแฮเรียต เมื่อปีพุทธศักราช 2505 ซึ่งเป็นภาพจำสำคัญของ “แหลมตะลุมพุก” อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช พระองค์ทรงมีความห่วงใยในความเดือดร้อนของราษฎรผู้ประสบภัยในครั้งนี้เป็นอย่างมาก จึงพระราชทานทุนทรัพย์จากเงินโดยเสด็จพระราชกุศล จำนวน 910,000.-บาท ให้กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย เพื่อใช้เป็นทุนจัดตั้งสถานสงเคราะห์เด็กขึ้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ในการให้การอุปการะเด็กที่บิดามารดาหรือผู้ปกครองเสียชีวิต หรือได้รับความเดือดร้อนจากวาตภัยครั้งนั้น

.

หมายความว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช คือผู้พระราชทานกำเนิดสถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านศรีธรรมราชนั่นเอง จึงทำให้ทุกคนที่ผ่านการดูแลอุปการะจากบ้านหลังนี้ ต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นเหลือจะประมาณและพรรณนา เพราะตระหนักดีว่า ถ้า “ไม่มีพ่อ ก็ไม่มีบ้าน”

.

จนเมื่อเสด็จสู่สวรรคาลัย ยังความโศกเศร้ามาสู่พสกนิกรถ้วนไทยประเทศ กลุ่มนักเรียนทุนพระราชทาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จึงได้เชื้อเชิญชาวนครศรีธรรมราชจัด“พิธีจุดเทียนศรัทธาถวายความอาลัย” เพื่อร่วมน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ กับทั้งรวมใจชาวนครศรีธรรมราชน้อมส่งเสด็จพระธรรมราชาสู่สวรรคาลัย ในวันเสาร์ ที่ 5 พฤศจิกายน 2559 เวลา 18.00 น.

.

พิธีดังกล่าวเป็นไปตามกำหนดการ จนดำเนินมาถึงช่วงที่ผู้แทนเด็กจากสถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านศรีธรรมราช จะออกมาอ่าน “จดหมายถึงพ่อ” ดูเหมือนว่าเนื้อความในจดหมายจะเป็นบทสนทนาจาก “ลูก” ถึง “พ่อ” ที่สื่อสารบางอย่างถึงกัน และผู้ร่วมพิธีทั้งหมดก็ต่างรู้สึกร่วม ในจดหมายฉบับนั้น เขียนไว้สั้น ๆ แต่มันมากพอที่จะทำให้ทุกคนที่ได้ยิน ณ ขณะนั้นใจสั่นเครือ ในนั้นเขียนว่า…

 

“พ่อครับ
ผมยังจำได้ดีว่าพ่อเคยบอกกับผมและน้องๆ ในบ้าน ว่าพ่อจะอยู่ถึงอายุ 120 ปี
ในตอนนั้นผมคงจะโตเป็นหนุ่ม เรียนจบ มีงานทำและคงแบ่งเบาภาระของพ่อได้บ้างแล้ว

พ่อครับ
ตั้งแต่ผมเกิดมา ทั้งที่คนอื่นมองว่าผมกำพร้า ขาดความอบอุ่น และด้อยโอกาส
แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่เลย

พ่อครับ
ทุกคนในบ้าน ทั้งพ่อใหญ่ แม่บ้าน พ่อบ้าน บอกผมและน้องๆ เสมอ
ว่าบ้านนี้พ่อสร้างให้ พ่อคือคนที่คอยดูแลเอาใจใส่ในความเป็นอยู่ อาหารการกิน การศึกษา พ่อห่วงแม้กระทั่งชีวิตในอนาคตเมื่อเราโตเป็นหนุ่ม

พ่ออาจจะไม่รู้
ว่าทุกครั้งก่อนกินข้าว คนแรกที่พวกเราคิดถึงคือพ่อ
เราขอบคุณพ่อทุกครั้งก่อนที่จะตักข้าวคำแรกเข้าปาก
เราพูดว่า “อาหารมื้อนี้ ที่อยู่ตรงหน้าของข้าพเจ้า ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”
ไม่มีน้องๆ ในบ้านคนไหนไม่รู้จักพ่อ ทุกหอพักมีรูปของพ่อ เกือบทุกมุมในบ้านมีรูปของพ่อ

พ่อครับ
ลูกรู้ว่าพ่อแค่อยากทำให้ลูกสบายใจว่าพ่อจะอยู่กับลูกตลอดไป สัญญาที่พ่อบอกมันมีคุณค่า พ่อไม่ได้อยู่กับลูกเพียงแค่ 120 ปีหรอกครับ พ่อจะอยู่กับลูก และน้องๆ ในบ้านตลอดไป

รักพ่อเท่าชีวิต
ลูกของพ่อ”

น้ำท่วมเมืองนครบอกอะไร ? เมื่อประวัติศาสตร์สามารถใช้เป็นเครื่องมือจัดการภัยพิบัติ

น้ำท่วมเมืองนครบอกอะไร ?
เมื่อประวัติศาสตร์สามารถใช้เป็นเครื่องมือจัดการภัยพิบัติ

 

น้ำขึ้นเหอ

ขึ้นมาคลักคลัก

อย่าเล่นน้ำนัก

น้ำเหอมันอิพาเจ้าไป

 

ถ้าเข้ขบเจ้า

ร้องเร่าหาใคร

น้ำเหอมันอิพาเจ้าไป

ตอใดได้มาเล่าเหอฯ

 

เช้านี้ หลายคนคงง่วนอยู่กับการติดตามสถานการณ์ “น้ำ” ในพื้นที่นครศรีธรรมราชอย่างใจจดใจจ่อ พี่น้องข้างเหนือ(ลานสกา)ก็อัพเดทน้ำเหนือที่บ่าลงมา “คลัก ๆ” โหมในพระ(เมืองนครศรีธรรมราช)ทางน้ำผ่าน ก็ติดตามระดับน้ำจากกล้อง CCTV ชนิดนาทีต่อนาที ในขณะที่ชาวนอก(ปากพนัง)กำลังกุลีกุจอยกข้าวของขึ้นที่สูงเพราะน้ำใหญ่(น้ำทะเลหนุนสูง)

.

ราวสิบปีให้หลังมานี้ เราจะสังเกตเห็นว่า เมื่อน้ำท่วมภาคเหนือและอีสาน มันหมายถึงการส่งสัญญาณมาถึงภาคใต้ไปโดยปริยาย ไม่ได้หมายความว่าน้ำก้อนเดียวกันจะไหลต่อเนื่องเรื่อยลงมา แต่คือความ “ปกติใหม่” ที่แปลจากภาษาหรั่งว่า New Normal ของธรรมชาติที่เราอาจไม่ทันได้ทำความเข้าใจ

.

เราซ้อมหนีไฟ

แต่ไม่เคยมีการทำความเข้าใจน้ำ

.

ดูเหมือนว่าอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ จะทำให้ฝนเริ่มตั้งเค้าตกแล้วท่วมจากภาคเหนือก่อน ไล่มาภาคกลาง แล้วค่อยเป็นคิวของภาคใต้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน หรือไม่ก็ธันวาคม

.

มันสอดคล้องต้องกันกับฤดูกาลเก็บเกี่ยวและบรรดาวัฒนธรรมที่เนื่องกับน้ำ ที่เห็นว่ามักจะมีลำดับตั้งแต่ เหนือ อีสาน กลาง แล้วมาสู่ใต้

.

การศึกษาธรรมชาติของน้ำ

ความสามารถในการรักษาพื้นที่ไว้ไม่ให้ท่วม

หรือท่วมในระดับที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

จึงคือการจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ

แม้ว่าจะท่วม แต่ก็พอจะรับมือได้

.

ความจริง ชาวเราผูกพันกับสายน้ำมาแต่ไหนแต่ไร “ฤดูน้ำหลาก” หรือที่ชาวนครเรียกกันว่า “น้ำพะ” หรือ “น้ำพ่า” จึงไม่ใช่เรื่องน่าตระหนกตกใจเช่นทุกวัน เพราะบ้านในที่ราบที่ลุ่มแต่แรกมักทำใต้ถุนสูง ที่สำคัญคือเราเตรียมซ่อมแซมเรือประจำบ้านของเราแล้วตั้งแต่เข้าพรรษา

.

ข้าวซังลอย

ผลิตผลทางการเกษตรก็ดูใช่ว่าจะน่าห่วงเพราะข้าวพันธุ์ “ซังลอย” ทนน้ำท่วมสูงได้ดี น้ำมากก็พายเรือชมทุ่ง พายละล่องท่องไปเยี่ยมเรือกสวนของเพื่อนบ้าน เจอเรือสาวฟากหัวนอน ก็ขยับลูกกระเดือกกระเอมเกรียวเกี้ยวกัน น่ามองก็ตอนพระท่านพายเรือรับบาตรแทนการเดินบนหัวนาเมื่อคราวหน้าแล้ง นี่ยังไม่ได้พูดถึงปลาแปลกที่เที่ยวแหวกว่ายมาล้อเรือ น้ำนี่ใสแจ๋วจนมองเห็นความแวววาวของเกล็ดปลาเลยจริงเทียว

.

อย่างเพลงช้าน้องที่ยกมาจั่วหัว ก็สะท้อนภาพการ “เข้าใจธรรมชาติ” ของคน ในลักษณะแสดงความรู้สึกร่วมมากกว่าความเป็นปฏิปักษ์ น้ำขึ้นคลัก ๆ นัยว่าน้ำแรงน้ำเชี่ยว ก็อย่าลงไปเล่นน้ำ ทั้งแรงน้ำและสัตว์ร้ายจะหมายเอาชีวิตเสีย นอกจากนี้ยังมีคติโบราณที่สะท้อนการเข้าใจธรรมชาติของคนยุคก่อนอีกมาก เช่นในสวัสดิรักษาคำกลอนตอนหนึ่งว่า

 

“อนึ่งอย่าด่าว่าแดดแลลมฝน

อย่ากังวลเร่งวันให้พลันดับ

เมื่อเช้าตรู่สุริยงจะลงลับ

จงคำนับสุริยันพระจันทรฯ”

.

กำแพงเมืองนครศรีธรรมราช

ถ้าเว้นเสียจากอาการที่น้ำฝนปริมาณมาก ถูกถนน บ้านเรือน และอาคารสถานที่ขวางกั้นทางไหลตามธรรมชาติ กับปฏิกูลมูลฝอยดักร่องรูท่อจนทำให้ต้องเจิ่งนองรอการระบายตามระบบของมนุษย์แล้ว เราจะไม่เคยเห็นสภาพของพื้นที่ภายในเขตกำแพงเมืองนครศรีธรรมราชอยู่ในสถานะน้ำท่วมเลย พื้นที่ที่ว่านี้ ในปัจจุบันมีแนวถนนศรีธรรมโศกด้านทิศตะวันออก ถนนศรีธรรมราชด้านทิศตะวันตก แนวกำแพงริมคลองหน้าเมืองด้านทิศเหนือ และซอยราชดำเนิน ๕๔ ต่อ ๗๕ ด้านทิศใต้ เป็นขอบเขต

.

เคยตั้งข้อสังเกตไว้ครั้งหนึ่งจากปัจจัยการเลือกภูมิสถานข้อสำคัญในการสร้างบ้านแปงเมือง คือเรื่องการจัดการน้ำ เพราะน้ำ เป็นตัวแปรที่สื่อแสดงถึงความมั่งคั่งด้านทรัพยากรธรรมชาติของบ้านเมือง อาจกล่าวได้ว่า ถ้าน้ำดี บ้านเมืองก็จะดี ประชากรก็อยู่ดีมีสุข ดังจะเห็นได้จากพงศาวดารโยนก เมื่อพญาเม็งรายเชิญพญาร่วงแห่งสุโขทัยกับพญางำเมืองแห่งพะเยามาช่วยหาที่ตั้งเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ก็ได้อาศัยศุภนิมิตชัยมงคลประการที่ ๕ (จากทั้งหมด ๗ ประการ) มาเป็นข้อพิจารณา ดังว่า “…อนึ่ง อยู่ที่นี่เห็นน้ำตกแต่เขาอุสุจบรรพต คือดอยสุเทพไหลลงมาเป็นลำน้ำ…เป็นชัยมงคลประการที่ ๕…” ส่วนเมืองสุโขทัยของพญาร่วงเองก็สร้างโดยศุภนิมิตชัยมงคลเช่นเดียวกันนี้ เพราะมีเขาหลวงเป็นแหล่งต้นน้ำใกล้ตัวเมือง เพียงแต่ทำสรีดภงค์กั้นระหว่างซอกเขา ก็ทำให้มีน้ำกินน้ำใช้บริบูรณ์ตลอดปี ข้อนี้ชี้ให้เห็นว่าการสร้างเมืองทางภาคเหนือนั้นต้องอิงภูเขาเป็นภูมิศาสตร์สำคัญ ส่วนการสร้างเมืองในภาคกลางซึ่งเป็นที่ราบลุ่มห่างไกลจากภูเขานั้น ก็ต้องอิงแม่น้ำและลำคลองเป็นเครื่องประกันความอุดมสมบูรณ์

.

แต่ภายในเขตเมืองนครศรีธรรมราชโบราณ กลับไม่มีสายคูคลองที่จะใช้สอยเพื่อประโยชน์ในการอุปโภค บริโภค ตลอดจนการเป็นเส้นทางคมนาคม นั่นก็เพราะว่าเมืองนครศรีธรรมราชมีแหล่งน้ำธรรมชาติซึ่งมีคุณลักษณะพิเศษอย่าง “น้ำซับ” จากตาน้ำและเป็นแหล่งน้ำใต้ดินที่มีตลอดสันทรายนี้ คือตั้งแต่ตำบลการะเกด อำเภอเชียรใหญ่ เรื่อยขึ้นไปทางทิศเหนือจนถึงอำเภอสิชล

.

สันทรายนครศรีธรรมราช

ลักษณะของดินปนทรายภายในเมืองนครศรีธรรมราช เป็นเครื่องมือกรองน้ำตามธรรมชาติได้เป็นอย่างดี ประกอบกับการมีเทือกเขาหลวงอยู่ทางทิศตะวันตกและมีทะเลอยู่ทางทิศตะวันออก ทำให้น้ำจากที่สูงซึ่งมีปกติไหลลงสู่ทะเลนี้ ผ่านเข้ามากรองด้วยสันทรายดังกล่าวแล้วสะสม ซึมซับ อุดมอยู่ในชั้นดินชั่วนาตาปี เราจึงเห็นบ่อน้ำที่ปัจจุบันถูกสถาปนาให้เป็นแหล่งน้ำสำคัญและศักดิ์สิทธิ์อยู่รายไปสองฟากถนนราชดำเนิน ทว่าหากขุดนอกสันทรายลงไปด้านทิศตะวันออกแล้วจะได้น้ำกร่อย เช่นครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสแหลมมลายู เมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๘ ได้พระราชทานพระราชหัตถเลขาถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งดำรงพระอิสริยยศที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ในที่ประชุมรักษาพระนคร ลงวันที่ ๙ กรกฎาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๔ ความว่า “…ที่ตำบลนี้ (ปากพนัง) ลำบากอยู่แต่ด้วยน้ำ ถ้าขุดบ่อในที่ซึ่งเป็นดินเลนใกล้แม่น้ำๆ เปรี้ยวใช้ไม่ได้ ถ้าออกไปขุดริมชายทะเล ห่างทะเลขึ้นมาสัก ๓๐ เส้น กลับได้น้ำจืด…”

.

บนสันทรายในเขตเมืองนครศรีธรรมราชโบราณ จึงเป็นชัยภูมิเหมาะสมที่สุด เพราะแหล่งน้ำสมบูรณ์ ทั้งนี้ นอกจากประเด็น “น้ำมี” แล้ว อีกข้อที่ต้องพิจารณาร่วมกันคือ เมื่อถึงคราว “น้ำมาก” หรือที่เรียกกันในท้องถิ่นว่า “น้ำพะ” เล่า จะจัดการอย่างไร ?

.

น้ำฝนหลั่งหล่นลงมาในเขตกำแพงเมืองก็ซึมซาบลงผิวดินไปสะสมเป็นน้ำซับ ถือเป็นการเติมเต็มส่วนที่พร่องลงจากการใช้สอยมาตลอดทั้งปี ส่วนน้ำเขาที่ไหลบ่าเข้ามาสมทบจากเหนือ โดยมีคลองท่าดีเป็นเส้นลำเลียงนั้น เมื่อถึงหัวท่าก็ถูกแยกออก แพรกหนึ่งขึ้นเหนือไปเป็นคูเมืองด้านทิศตะวันตกและเหนือ แพรกหนึ่งตรงไปเป็นคลองป่าเหล้า อีกแพรกแยกลงใต้ไปเป็นคลองสวนหลวง เมื่อพ้นรัศมีที่จะทำให้น้ำท่วมเมืองแล้ว ทั้งสามแพรกก็กลับมารวมกันเป็นหัวตรุดหมุดหมายของคลองปากนครก่อนจะไหลออกสู่ทะเลหลวง

.

สิ่งที่ต้องสังเกตใหม่กันใหญ่อีกครั้งคือ เมื่อปลายพฤศจิกายนต่อธันวาคม ๒๕๖๓ หลายคนหลายวัยต่างจำกัดเอาไว้ว่าเป็นสิ่งที่ “ไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบชีวิต” โดยเฉพาะในช่วงค่ำของวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๓ ที่มวลน้ำทั้งดันขึ้นจากท่อระบายน้ำ เม็ดฝน และล้นทะลักมาจากคลองท้ายวังชายกำแพงแพงตะวันตกเข้าท่วมถนนราชดำเนินซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตกำแพงเมืองแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด

.

น้ำท่วมเมืองนครศรีธรรมราช

พื้นที่ที่ชาวนครเพิ่งได้มีโอกาสร่วมทรงจำกันว่าน้ำท่วมไปถึงในครั้งนั้นมี บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดซึ่งน้ำใช้ถนนเทวบุรี ต่อนางงาม ไหลไปสู่ประตูลอด อีกจุดคือหอพระอิศวร ตรงนี้เส้นทางน้ำขาดช่วงไม่ต่อเนื่องจากคูเมืองทิศตะวันตก เข้าใจว่าเป็นน้ำฝนและที่ดันขึ้นจากท่อระบายน้ำ ส่วนสุดท้ายคือแยกพานยมอาการคล้ายตรงหอพระอิศวร จุดนี้ใกล้พระธาตุที่สุดซึ่งส่วนของในพระนั้น ยังคงรักษาความเป็น “โคกกระหม่อม” ไว้ได้

.

มาถึงบริเวณที่เรียกว่า “โคกกระหม่อม” นี้ มีทฤษฎีการให้ชื่อบ้านนามเมืองข้อหนึ่งว่าด้วยเรื่องทำเลที่ตั้งซึ่งมักบัญญัติให้สอดคล้องตามภูมินาม สังเกตได้จากชุมชนที่ออกชื่อขึ้นต้นด้วย เขา ป่า นา เล ห้วย หนอง คลอง บึง โคก สวน ควน ไร่ ฯลฯ แล้วตามด้วยความจำเพาะบางประการของภูมิประเทศนั้นๆ สิ่งอันบรรดามีในพื้นที่ หรือเหตุการณ์สำคัญที่มีอิทธิพลต่อสำนึกร่วมของผู้คน

.

ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างบ้าน “ตลิ่งชัน” อาจไม่อยู่ในกลุ่มคำขึ้นต้นที่ยกตัวอย่าง แต่ใช้ทฤษฎีเดียวกันคือว่าด้วยการกำหนดชื่อด้วยภูมิประเทศได้ โดยอรรถแล้ว ความชันของตลิ่งตามแนวคลองในจุดนี้ อาจเป็นที่สุดกว่าจุดอื่น จนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป จนถูกกำหนดใช้เป็นชื่อชุมชนรวมถึงเป็นแลนด์มาร์คของการคมนาคมทางน้ำในอดีต

.

ไม่ว่าตลิ่งจะชันเพราะเป็นที่สูงหรือระดับน้ำในสายคลองก็ตาม โดยนัยแล้วชื่อนี้สื่อชัดว่าตลิ่งชันเป็นที่ “พ้นน้ำ”

.

เมื่อมรสุมระลอกนั้น ตลิ่งชันกลับเป็นพื้นที่แรกๆ ของนครศรีธรรมราชที่ถูกน้ำท่วมถึง สภาพการณ์เช่นนี้อาจชี้ให้เห็นว่า คุณสมบัติดั้งเดิมของภูมิประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาอะไรบางอย่าง การพัฒนาสังคม เศรษฐกิจและการเมืองที่ละเลยต้นทุนและการดำรงอยู่ซึ่งตัวตน อาจส่งผลให้คุณค่าของภูมิสังคมถูกล็อคดาวน์ให้หลงเหลืออยู่เพียงแค่ชื่อท่ามกลางสภาพภูมิอากาศของโลกที่ไม่เคยหยุดเปลี่ยนแปลง

.

แล้วมรสุมระลอกนี้ รวมถึงระลอกต่อ ๆ ไป

เราจะเลือกถือและทิ้งเครื่องมือจัดการภัยพิบัติอะไรเป็นของสามัญประจำเมืองฯ

 

 

แม่ชีนมเหล็ก ตำนานท้องถิ่นโมคลาน

แม่ชีนมเหล็ก
ตำนานท้องถิ่นโมคลาน

 

ตำนานท้องถิ่น

ความสนุกของการได้ลงพื้นที่โมคลานอย่างหนึ่งคือ การได้ฟังเรื่องเล่าแบบไม่ซ้ำ แม้บางครั้งจะเป็นเรื่องเดียวกันแต่อนุภาคน้อยใหญ่ภายในกลับขยายบ้าง หดบ้าง ไปตามสิ่งแวดล้อมที่เรื่องเล่านั้น ๆ เข้าไปขออาศัย ความจริงอาจไม่ได้เป็นเฉพาะบ้านโมคลาน ตำบลโมคลาน อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราชนี้เท่านั้น แต่พื้นที่ใดที่เรื่องเล่าทำหน้าที่มากกว่าเรื่องที่ถูกเล่าแล้ว ก็เป็นอันจะได้เห็นอาการหดขยายที่ว่าไปตามกัน

.

ความจริงเคยได้ยิน “พระพวยนมเหล็ก” มาก่อน “แม่ชีนมเหล็ก” ตอนนั้นอาสาเป็นยุวมัคคุเทศก์อยู่ในวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช จำได้ว่าเป็นเรื่องกระซิบที่ผู้ใหญ่ท่านห้ามหยิบมาเล่าด้วยสรุปความไว้ตรงนั้นว่า “เหลวไหล”

.

ก็ไม่ได้สนใจอะไรต่อ จนมาได้สัมภาษณ์ชาวโมคลานจึงถึงบางว๊าว (ถัดจากบางอ้อไปหลายบาง) ว่าเรื่องกระซิบที่ “ในพระ” มามีมั่นคงในดง “โมก” เล่ากันว่า

.

เศรษฐีจีนนายหนึ่งพร้อมบริวารพร้อมพรั่ง

ลงสำเภาใช้ใบแล่นเข้าปากน้ำ

แล้วล่องมาตามคลองปากพยิงถึงแผ่นดินโมคลาน

สมัยนั้นมีลำน้ำสัญจรได้สองสายหนึ่งคือคลองปากพยิงที่ว่ากับอีกหนึ่งคือคลองท่าสูง

.

เศรษฐีจีนขึ้นฝั่งมาพบรักกับนางพราหมณีนาม “สมศักดิ์” หากนามนี้เป็นชื่อตัวก็คงชี้ความเป็นคนมีฐานะอันพอจะสมเหตุสมผลให้สามารถร่วมวงศ์วานเป็นเมียผัวกับเศรษฐีนายนั้นได้ นางพราหมณ์สมศักดิ์เป็นคนในตระกูลไวศยะ ทำค้าขายมีตั้งลำเนาอยู่ในท้องที่มาช้านาน ลือกันในย่านว่ารูปงามหานางใดเปรียบ ด้วยผูกพันฉันคู่ชีวิตประกอบกับกิจของทั้งสองครัวไม่ต่างกัน เศรษฐีจีนผู้รอนแรมมาจึงปักหลักตั้งบ้านขึ้นที่นี่

.

ขณะนั้น พระพุทธคำเภียร หัวหน้าสมณะทูตจากลังกา กำลังบวชกุลบุตรสถาปนาคณะสงฆ์ลังกาวงศ์อยู่ที่เมืองเวียงสระ แล้วเผยแผ่พระธรรมต่อมายังโมคลานสถานซึ่งขณะนั้นร้างอยู่ บังเกิดให้เศรษฐีจีนเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ประกาศจะบริจาคทรัพย์สร้างกุฎี โบสถ์ วิหาร และ ศาสนสถานอันควรแก่สงฆ์บริโภค กับมีใจจะบูรณะสิ่งปรักหักพังขึ้นให้งามตาอย่างแต่ก่อน

.
เหตุเกิดเมื่อนางพราหมณ์ไม่ยอม จะมีปากเสียงมากน้อยไม่ได้ยินเล่า แต่ผลคือเมื่อเศรษฐีจีนถูกขัดใจหนึ่งว่าเรือขวางน้ำที่กำลังเชี่ยว ก็ตัดสินใจทิ้งสมบัติพัสถาน ทั้งลูก เมีย บริวาร หนีลงสำเภาของสหายกลับไปเมืองจีนเสีย

.

นางเมียผู้อยู่ข้างหลัง ครั้นเป็นหม้ายผัวหนีก็สำนึกผิด โศกเศร้า ตรอมใจ หนึ่งว่ามิ่งไร้ขวัญ ชีวิตไร้วิญญาณ พร่ำเพ้อ ละเมอเหม่อลอย ลางทีก็หวีดร้องขึ้นปานว่าชีวิตจะแหลกสลาย นางเฝ้าคอยทางที่ผัวจากไปและคอยถ้าฟังข่าวผัวอยู่ปีแล้วปีเล่าก็ยังไม่กลับมา

.

นางอ้อนวอนเทพเจ้าทุกองค์บรรดามีในลัทธิของนาง เพื่อหวังให้ช่วยดลจิตดลใจผู้ผัวให้คืนสู่ครัวแต่ก็เปล่าประโยชน์ แม้จะตั้งบัตรพลีบวงสรวงประกอบเป็นพิธีอย่างยิ่งอย่างถูกต้องบริบูรณ์ ทุกอย่างก็ว่างเปล่าดั่งสายลม

.

ในท้ายที่สุด นางก็ทิ้งลัทธิเดิมปลงผมบวชเข้าเป็นชีพุทธ คงด้วยหวังว่าจะเอารสพระธรรมมาเป็นที่พึ่ง สมบัติทั้งสิ้นถูกจัดสรรปันแบ่งให้ลูกไปตามส่วน เหลือนั้นเอามาทำกุฎี โบสถ์ วิหาร พระเจดีย์ตามอย่างเจตนาผัวแต่ก่อน

.
ใจหนึ่งก็หวังว่าแรงบุญจะหนุนส่งให้ได้ผัวกลับ ความอาลัยอาวรณ์ติดตามตัวนางเข้าไปเคล้าคลึงถึงในชีเพศ นางเฝ้าพะวงหลงคอยอยู่ชั่วนาตาปี จนจิตใจของนางวิปริตคลุ้มคลั่งเข้า จึงในที่สุด นางก็ผูกคอตาย

.

แม่ชีนมเหล็ก

สังขารของนางเมื่อเผา

ปรากฎเป็นอัศจรรย์ว่า

ส่วนอื่นไหม้เป็นจุลไปกับไฟ

เว้นแต่นมสองเต้าไฟที่ไม่ไหม้และกลับแข็งเป็นเหล็ก

.

แต่นั้น แม่ชีสมศักดิ์ก็ถูกเรียก “แม่ชีนมเหล็ก” และเรียกสืบมาจนทุกวันนี้

.

พระพวย

เล่าต่อว่า

ลูกและญาติพี่น้องของแม่ชีนมเหล็กได้หล่อพระพุทธรูปขึ้นองค์หนึ่ง

บรรจุอัฐิและนมเหล็กทั้งสองเต้าเข้าไว้ในองค์พระ

พระพุทธรูปองค์นี้ อยู่ในวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

คือองค์ที่เรียกว่า “พระพวย” สถิต ณ พระวิหารโพธิ์ลังกา

.

ความจริงเห็นอะไรหลายอย่างจากเรื่องนี้ ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างโมคลานกับเมืองนครที่คลี่ปากคำมามากกว่าลายแทง “ตั้งดินตั้งฟ้า” ที่เคยเขียนไว้ครั้งก่อน การเป็นเมืองท่าสำคัญที่รับอารยธรรมจากทั้งจีนและอินเดีย โดยมีเศรษฐีจีนและนางพราหมณีในเรื่องเป็นตัวแทนของความสัมพันธ์ทั้งสองฟากฝั่ง อีกอันคงเป็น “นมเหล็ก” ที่เหลือจากการเผา ดูเหมือนว่าจะเคยได้ยิน “ตับเหล็ก” ในทำนองคล้ายกันด้วย เหตุที่เหลือ เชื่อกันว่าด้วยคุณวิเศษของผู้ตาย แต่ก็เหมือนจะมีผู้รู้ท่านลองอนุมานอยู่กลาย ๆ ว่าน่าจะได้แก่ก้อนเนื้อร้ายพวกมะเร็งด้วยเหมือนกัน

.

จาก “แม่ชีนมเหล็ก” ถึง “พระพวย”

ชีหนึ่งเดี๋ยวนี้มีรูปหล่อให้ได้ระลึกถึงตำนาน

ประดิษฐานไว้ในศาลาการเปรียญวัดโมคลาน ตำบลโมคลาน อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช

ส่วนพระนั้น ปัจจุบันเป็นสรณะของผู้ไร้บุตรจะได้บนบานศาลกล่าวร้องขอ

ว่ากันว่าจะบันดาลให้ตามบุคลิกลักษณะในคำอธิษฐาน

.

จากนมเหล็กแม่ชี มาเป็นส่วนหนึ่งของพระพุทธรูป

แม้ว่า “ความจริง” คงเป็นสิ่งที่เค้นเอาได้ยากจาก “ความเชื่อ”

แต่ทุก “ความเชื่อ” ควรมีสิทธิ์ที่จะได้รับการเคารพ

เพราะอย่างน้อยที่สุด เขาก็ต่างเชื่อกันว่ามันจริงฯ

 

เรื่องเล่าชาวเชียรใหญ่ ว่าด้วย “กาบดำ” พันธุ์ข้าวพื้นเมือง

เรื่องเล่าชาวเชียรใหญ่
ว่าด้วย “กาบดำ” พันธุ์ข้าวพื้นเมือง

โดย ปรมัตถ์ แบบไหน

 

ข้าวกาบดำ

ข้าวกาบดำเป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่สามารถพบได้แพร่หลายแถบอำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช และพื้นที่ใกล้เคียงก็อาจจะพบได้ แต่ด้วยผมเป็นคนอำเภอเชียรใหญ่จึงรับรู้และสัมผัสกับข้าวพันธุ์นี้ตั้งแต่เด็ก

.

เชียรใหญ่

เรื่องราวความทรงจำของผมกับข้าวกาบดำคงจะเริ่มที่เห็นยายปลูกในตอนเด็ก ๆ และผู้คนละแวกบ้านก็ปลูกข้าวพันธุ์นี้ไว้กินกัน แต่ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจแบบเงินตราที่เน้นกำไรสูงสุดในระยะเวลาที่เร็วที่สุด ชาวนาแถวบ้านเลยต้องหันไปปลูกข้าว กข.15 , หอมปทุม ซึ่งเป็นข้าวไวแสงที่ใช้ระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวเพียงแค่ 100 – 120 วัน ที่กรมส่งเสริมวิชาการเกษตรสนับสนุน แทนการปลูกข้าวกาบดำ ซึ่งข้าวพันธุ์นี้เป็นข้าวนาปีที่ใช้เวลาในการปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวนานเกือบค่อนปี โดยอาศัยฤดูกาลเป็นตัวกำหนดการเพาะปลูก

.

จากประสบการณ์ที่เคยเห็นยายปลูกข้าวพันธุ์นี้ ยายจะเริ่มหวานข่าวช่วงเข้าพรรษา ยายจะบอกว่า “หว่านข้าวรับหัวษา” ความหมายคือหว่านข้าว ช่วงต้นของการเข้าพรรษา ซึ่งช่วงนี้จะเป็นช่วงที่จะมีฝนโปรยพอให้หน้าดินชุ่มชื้นหลังจากที่ฝนทิ้งช่วงมาหลายเดือน แต่จะเป็นฝนจากอิทธิพลมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดมาจากทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย ชาวบ้านละแวกนี้จะเรียกฝนที่ตกในช่วงนี้ว่า “ฝนพลัด” ผมสันนิฐานที่มาของชื่อฝนนี้ว่า เพราะเป็นฝนที่ตกเพียงเล็กน้อย และเป็นฝนที่หลงเหลือจากการตกในฝั่งภาคใต้ตะวันตกที่มีเทือกเขานครศรีธรรมราช เป็นตัวแบ่ง หรือเขตเงาฝนของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้นั้นแหละ

.

ฝนพลัด ฝนออก

เมื่อข้าวที่หวานไว้ได้ความชื้นจาก “ฝนพลัด” ก็เติบโตขึ้น แต่ในช่วง 1-2 เดือนแรก ข้าวจะสูงประมาณหัวเข่า ความสูงระดับนี้ถ้าเป็นข้าวไวแสงถือว่าสูงมากแล้วนะ แต่สำหรับข้าวกาบดำถือว่ายังเตี้ยมาก ๆ เพราะ หลังจากฝนพลัดหมดไป ทิศทางลมของภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะเปลี่ยนไป โดยในช่วงเดือน 11 เดือน 12 ชาวบ้านจะเรียกฝนที่ตกช่วงนี้ว่า “ฝนออก” ความหมายคือฝนที่มาทางทิศตะวันออกเป็นฝนจากอิทธิพลมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ฝนในช่วงนี้จะทำให้เกิดปริมาณน้ำที่มาก และท่วมได้แล้วแต่ปี

.

ถึงตอนนี้การที่ข้าวกาบดำจะทำตัวเองให้เตี้ยไม่ยอมสูงก็จะจมน้ำตายไป ข้าวกาบดำเลยยืดลำต้นสูงขึ้นสูงที่สุดอาจจะสูงถึง 150 ซม. ประมาณจากส่วนสูงของยายที่ต้นข้าวสูงถึงระดับศีรษะของท่าน ยายก็สูงประมาณ 150 – 160 ซม. ครับ

.

แกะ รวง เลียง ลอม

กว่าจะได้เก็บข้าวก็โน้นเดือน 4 กว่าจะเสร็จก็เดือน 5

เพราะยายเก็บกับ “แกะ”

เก็บที่ละ “รวง”

หลายๆรวงมัดรวมเป็น “เลียง”

หลายๆเลียงกองรวมกันเป็น “ลอม”

.

สุดท้ายนี้จะบอกว่า

ผมยุให้แม่ปลูกข้าวกาบดำ

แม่ใช้วิธีเพาะข้าวในที่ดอนก่อน

แล้วเอาไปดำ

แม่ดำนาเสร็จไปช่วงก่อนออกพรรษา

ตอนนี้ข้าวได้น้ำจาก “ฝนออก” คงกำลังเติบและโต

ปัญหาที่แม่บ่นให้ฟังคือ….

“มึงยอนให้กูปลูกข้าวกาบดำเวลาเก็บไม่รู้เก็บพรือเวทนาจัง”

___

ภาพปก
เพจ ไร่ ณ นคร – Na Nakhon Integrated Farming.