เจ้าแม่อ่างทอง วัดเสมาชัย เมืองนครศรีธรรมราช

เจ้าแม่อ่างทอง
วัดเสมาชัย เมืองนครศรีธรรมราช

ทั้งชื่อเจ้าแม่และวัดนี้ มีนัยยะสำคัญอย่างมาก น่าเสียดายที่ความทรงจำได้จางเคลื่อนเลือนหายไปแล้วเกือบหมดสิ้น ทิ้งไว้เพียงรอยจางๆ ที่พอจะใช้คลี่มองภาพสะท้อนความคิดและความเชื่อของชาวนครศรีธรรมราชได้อยู่บ้าง

อ่างทอง

แรกได้ยินว่า “อ่างทอง” หลายคนคงคิดไปถึงจังหวัดอ่างทองในภาคกลางของประเทศไทย หรือไม่ก็คงคุ้นหูกับหมู่เกาะอ่างทอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี กับอีกอ่างทองที่เป็นตำบลหนึ่ง ในอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ทุกที่ที่กล่าวมามีสถานะเป็นพื้นที่ทั้งสิ้น เว้นแต่จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มาปรากฏเป็นชื่อ “เจ้าแม่” แต่ยังไม่เคยผ่านตาว่าจะมีบ้านอ่างทองในละแวกศาลาที่ประดิษฐาน

 

“อ่าง” ให้ความรู้สึกว่าเป็นของ “ลุ่ม” และ “ราบ”

“ทอง” ชี้ไปในช่อง “ของมีค่า”

 

เกี่ยวกับ “อ่างทอง” ในมิติของพื้นที่ อาจคือคำอุปมาไปว่า ณ ตำแหน่งนั้น ๆ เป็นทำเลอันอุดมไปด้วยทรัพยากรมีค่า หากเป็นพื้นดินคงหนีไม่พ้นภาพของการเป็นอู่ข้าว อู่น้ำ ที่ช่อชวงรวงทองจะผลิออกสุกใสเหลืองอร่ามไปทั้งลุ่ม ในขณะที่หากเป็นผืนน้ำ คงให้ภาพของความสมบูรณ์ทางทะเลทั้งจากสัตว์น้ำ และเกาะแก่งแง่งผา

 

เจ้าแม่อ่างทอง

ตานี้พอเป็น “เจ้าแม่อ่างทอง” ก็เป็นไปได้ว่าจะเป็นผลจากความเชื่อในคติ “อารักษ์” ที่แสดงสถานะของ “สตรี” ใน “พื้นถิ่น” อาจเป็นความคิดและความเชื่อในชั้น Primitive ของพื้นที่ก่อนการรับเข้าพระพุทธศาสนา ที่เชื่อว่าผลจากความอุดมสมบูรณ์จนทำให้บริเวณนี้เสมือนหนึ่งอ่างทอง ก็ด้วยความศักดิ์สิทธิ์และแรงบันดาลของเจ้าแม่อ่างทองผู้มีฐานะเป็นทั้งผู้บริบาลและอารักษ์ผลอาสิน

 


ที่น่าสนใจคือ ปฏิบัติการของการต่อสู้ต่อรองที่ปรากฏบนพุทธลักษณะของพระพุทธรูปองค์ประธาน เข้าใจว่าเดิมเป็นหมู่พระพุทธรูปสามองค์ ตามหลักอดีต-ปัจจุบัน-อนาคตพุทธเจ้า (องค์เล็กตรงกลางหน้าสุดน่าจะสร้างขึ้นสมัยหลัง) ในที่นี้ องค์ประธานซึ่งคือพระปัจจุบันพุทธเจ้ากลับถูกปรับแปลงส่วนของอุษณีษะให้คล้ายเป็นมุ่นมวยผมของสตรีพร้อมป้ายจารึกไว้อย่างชัดเจนว่า “เจ้าแม่อ่างทอง” ในขณะที่ยังคงประทับนั่งปางมารวิชัยตามอย่างพระพุทธรูปองค์อื่น

 

ก่อนจะเป็นหลาเจ้าแม่อ่างทองในปัจจุบัน ณ ตำแหน่งเดียวกันนี้เคยทำหน้าที่พระอุโบสถของวัดเสมาชัย มีใบเสมาหินชนวนปักอยู่โดยรอบเป็นเขตแดน ดูเหมือนว่าจะเป็นวัดเดียวในเขตกำแพงเมืองนครศรีธรรมราชที่มีใบเสมาทำด้วยหินชนิดนี้และเป็นเสมาคู่

วัดเสมาชัย

ขยับมาคลี่ที่ชื่อวัด “เสมาชัย” ก็ให้ความหมายไปถึงเขตแดนหรือหมุดหมายแห่ง “ชัย” สำหรับเมือง ดังนั้น การที่เจ้าแม่อ่างทองได้เข้ามามีความหมายเหนือพระปัจจุบันพุทธเจ้าในที่ที่เป็นหมุดหมายแห่งชัยชนะของเมืองได้สำเร็จเช่นนี้ ย่อมแสดงถึงพลังแห่งความคิดและความเชื่อของพื้นถิ่น ที่ยังคงมีอำนาจต่อรองและแสดงผลของอำนาจเหล่านั้นแทรกอยู่ภายใต้ความคิดและความเชื่อใหม่ อย่างน้อยก็เป็นเค้าเป็นรอยให้พอจะคลี่มองได้บ้าง

 

กุหลาบมอญ

ปัจจุบันยังได้ยินว่า หากใครหรือหน่วยงานใด ประสงค์จะจัดกิจกรรมบริเวณหน้าเมือง สวนศรีธรรมาโศกราช หรืออาณาเขตรอบวัดเสมาชัยนี้ จะต้องไปขอพร ขอชัย ขอให้ปัดเป่าฝนและอุปัทวภัยอยู่สืบเนื่อง รวมถึงแต่ละปีช่วงเดือนกันยายน โรงเรียนเทศบาลวัดเสมาเมืองผู้ดูแลพื้นที่ก็จะจัดให้มีพิธีสมโภชบวงสรวงเป็นประจำ สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ เล่าว่าเจ้าแม่อ่างทองนี้ ท่านโปรด “กุหลาบมอญ”ฯ

 

ตำนานพระธาตุเมืองนคร ฉบับจิตรกรรมศาลาประโชติศาสนกิจ

ตำนานพระธาตุเมืองนคร
ฉบับจิตรกรรมศาลาประโชติศาสนกิจ

 

ไม้คู่หนึ่งเกลียว ส่วนที่เหลือเป็นต้นเดี่ยวแบ่งฉาก

ว่าด้วยเรื่องทำพระธาตุ ที่ศรีธรรมราชมหานคร

.

วัดวังตะวันตก

วัดวังตะตก มีนานาเรื่องเล่าสำคัญเป็นของตัวเองอยู่ในมือ แต่เหตุใดไม่ร่ายเพิ่มเป็นตำนานประวัติศาสตร์ห้อยท้ายตำนานปรัมปราตามอย่างขนบการแต่งตำนานเหมือนสำนวนอื่นๆ ในท้องถิ่น เรื่องทำพระธาตุฉบับใดและเพราะเหตุใดที่จิตรกรเลือกใช้เป็นตัวแบบ สิ่งละอันพันละน้อยที่ปรากฎในภาพ แสดงสัญลักษณ์หรือเข้ารหัสความคิด-ความรู้ใดเอาไว้บ้าง

.

เหล่านี้ เป็นคำถาม

เพื่อกระตุ้นความสนใจส่วนตัว

.

ฟังว่าเป็นภาพวาดสีพาสเทลเมื่อราว 40 ปีก่อน ฝีมือครูอุดร มิตรรัญญา ได้ต้นเค้ามาจากคัมภีร์พระนิพพานโสตรไม่สำนวนใดก็สำนวนหนึ่ง ฉากต้นยกเมื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระขึ้นแสดง ฉากปลายทำรูปสองกษัตริย์ (พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชกับพระเจ้าอู่ทอง) ปันแดนที่ไม้แกวก

.

ตำนานพระบรมธาตุ

ถ้าไม่นับบทละครตำนานพระบรมธาตุและเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับพุทธศักราช 2513 บทประกอบการแสดงแสงเสียง เรื่อง ตำนานพระบรมธาตุ ประจำปี 2537 และบทพากษ์ประกอบแสง สี เสียง มินิไลท์ แอนด์ ซาวด์ ในห้วงทศวรรษ 2550 แล้ว จิตรกรรมชิ้นนี้ถือเป็น “ภาคแสดง” ของทั้งเรื่องราวและเรื่องเล่าที่ว่าด้วยการ “ทำพระธาตุ” ผ่านภาพวาดที่น่าศึกษา และสำหรับเรื่องนี้ คงเป็นหนึ่งเดียวในนครศรีธรรมราช จึงไม่พักจะพรรณนาว่าล้ำค่าสักปานใด

.

กราบอนุโมทนากับจิตรกรผู้ล่วงลับอย่างที่สุด เสียดายที่ไม่มีโอกาสได้สนทนา-สัมภาษณ์ จึงถือเป็นหน้าที่ส่วนที่เหลือของผู้ชมโดยสมบูรณ์ ตามว่า The Death of the Author (แต่อันนี้ Death จริงใช่เพียงแค่เปรียบเปรย)

.

ในฉากมีอะไรให้ตื่นตาอยู่มาก จึงละเสียมาสังเกตของกั้นฉากทั้ง 27 ที่ทำเป็นไม้ยืนต้น ยังดูไม่ค่อยออกว่าเป็นต้นอะไร ในหนังสือ “คัมภีร์พระนิพพานโสตร ตำนานแห่งพระธาตุเมืองนคร นานาของดีกลางเมืองนคร” ยกว่ามี สะตอ ทุเรียน ขนุน เป็นพื้น

.

ไม้คู่เกลียวหนึ่ง

สังเกตเห็นไม้คู่เกลียวหนึ่ง ในท่ามกลางของกั้นอื่นๆ ที่เป็นต้นเดี่ยวทั้งหมด ฉากซ้ายมือหนังสือนั้นว่าเป็น “ฉากที่ 6 พระนางเหมชาลา พระทนธกุมารขึ้นฝั่งที่หาดทรายแก้ว” ส่วนทางขวาเป็น “ฉากที่ 7 พระนางเหมชาลา พระทนธกุมารได้รับความช่วยเหลือจากเรือพ่อค้า”

.

หากไม้เกลียวคู่นี้ถูกเข้ารหัส

และมาแสดง ณ เหตุการณ์ที่สองกษัตริย์ขึ้นหาดทรายแก้ว

มีข้อพิจารณาใดที่พอจะถอดความได้บ้าง ?

.

ตั้งแต่ฉากแรกมาจนถึงฉากทางซ้ายของไม้คู่นี้ เป็นเรื่องเดียวกันกับที่มีกล่าวในมหาปรินิพพานสูตร แล้วมาต่อกับตำนานพระเขี้ยวแก้วหรือทาฐาวังสะฝ่ายลังกา ส่วนถัดแต่ฉากไม้คู่ไป ว่าด้วยเหตุการณ์เรือแตก ร่ายไปจนทำพระธาตุบนหาดทรายแก้ว แล้วตั้งนครศรีธรรมราชเป็นกรุงเมือง

.

ไม่เคยอ่านต้นฉบับตำนานพระเขี้ยวแก้วของลังกา ผ่านตาเฉพาะในหนังสือ “มหาธาตุ” ของ ดร.ธนกร กิตติกานต์ ที่สรุปไว้ในตอนที่เกี่ยวข้องนี้ว่า สองกษัตริย์ (พระเหมชาลากับพระทนธกุมาร) เดินทาง “นำพระเขี้ยวแก้วไปถวายแด่พระเจ้าสิริเมฆวรรณแห่งลังกา” ในนั้นปราศจากอนุภาค “เรือแตก”

.

“ไม้คู่” แบ่งฉากตรง “เรือแตก” นี้

ต้นหนึ่งจึงอาจสื่อว่าข้างซ้ายเป็นของรับปฏิบัติมา

อีกหนึ่งบอกว่าขวาคือของเราที่ขอเคล้าด้วย

อาการเกลียวนี้จึงกำลังบอกตำแหน่งเริ่ม “เกี่ยวพัน”

.

ตำแหน่งไม้คู่

จึงอาจเป็นความพยายามของจิตรกร

ที่จะแสดงให้เห็นว่า “ตำนาน” นี้ มีต้นทางมา

กับการแตกเรื่องออกไปเป็นของท้องถิ่น

ทำนอง Oicotypification

เพื่อสร้างและอธิบายความหมาย

ขององค์พระบรมธาตุเจดีย์

(ในที่นี้จะยังไม่ขอกล่าวเพิ่ม)

.

เรื่องหาด “ทรายแก้ว” นี้ก็น่าสนใจ เพราะเพิ่งรู้ว่าแปลมาจาก “รุวันเวลิ” ชื่อเรียกมหาสถูปแห่งเมืองอนุราธปุระฯ

 

สาวชุม-หนุ่มสุวรรณ ตำนานรักพระลากเมืองนคร

สาวชุม-หนุ่มสุวรรณ
ตำนานรักพระลากเมืองนคร

 

บ้านนาพรุ

ในครั้งเมื่ออดีตกาล บ้านนาพรุ มีเศรษฐีคนหนึ่งที่มั่งคั่ง ร่ำรวยเป็นอย่างมาก ชาวบ้านจึงขนานนามกันว่า “เศรษฐีบ้านพรุ” ท่านกับภรรยามีบุตรสาวที่รักปานแก้วตาดวงใจ มีนามว่า “ชุม” สาวชุม จึงเป็นที่ หมายปองของชายหนุ่มทั้งหลายโดยรอบบริเวณนั้นรวมถึง “หนุ่มสุวรรณ” บุตรชายของเศรษฐีบ้านท้ายสำเภา  ผู้มีฐานะทัดเทียมกับเศรษฐีบ้านนาพรุ หนุ่มสุวรรณได้เจอกับสาวชุมครั้งแรก  ก็ได้หลงรัก และ   มีใจให้สาวชุม วันเวลาผ่านไปหลังจากนั้นทั้งสองก็รักกัน ด้วยความรักที่มีให้หนุ่มสุวรรณกับสาวชุมจึงได้ตกลงคบหากัน โดยเป็นที่ทราบกันของเศรษฐีทั้งสองฝ่าย ด้วยความรักที่มีให้กันเป็นเวลานาน  หนุ่มสุวรรณ จึงบอกกับบิดา มารดาว่า จะขอหมั้นหมายแต่งงานกับสาวชุมลูกเศรษฐีนาพรุ  ทางฝ่ายสาวชุมเมื่อทราบข่าว ถึงวันที่หนุ่มสุวรรณจะมาขอหมั้นหมายแต่งงานกับลูกสาว อันเป็นที่รัก ก็ได้ตอนรับเป็นอย่างดี  ด้วยเหตุที่ว่าหนุ่มสุวรรณเป็นคนดี มีคุณธรรมนำชีวิต เศรษฐีนาพรุ บิดา มารดา ของสาวชุมจึงตกลงกันยกสาวชุมเป็นคู่หมั้น หนุ่มสุวรรณ ก่อนแต่งงานสมรส

.

ไข้น้ำระบาด

หลังจากนั้นวันเวลาผ่านไปไม่นาน ได้เกิดโรคระบาดอย่างหนัก “ ไข้น้ำ ” หรือ ไข้ทรพิษ ขึ้นในแถบบ้านนาพรุและบริเวณใกล้เคียง ปรากฏว่าสาวชุม ได้ล้มป่วยลงด้วยโรคระบาด จนสุดความสามารถ ที่หมอทั้งหลาย จะพยายาม เยียวยารักษาให้หายได้ แต่ในความทุกข์  ของสาวชุมนั้น  หนุ่มสุวรรณ ซึ่งเป็นคนรัก ก็ยังคงเคียงข้าง ไม่ทิ้งไปไหน ไม่รังเกลียดคนรัก   แม้คนรักจะมีแผลอันน่าเกลียด มีร่างกายที่ซีดผอมจากพิษของโรคร้าย หนุ่มสุวรรณก็ดูแลเคียงค้างจนวินาทีลมหายใจสุดท้ายที่สาวชุม ซึ่งเป็นคนที่รักมาก ของตัวเองจากไป  จนทำให้หนุ่มสุวรรณนั้นเกิดความเสียใจ  ซึมเศร้า เป็นอย่างมาก เพราะรักแท้ที่มีให้กับสาวชุม หนุ่มสุวรรณจึงตรอมใจลง จนร่างกายป่วยไข้   และสิ้นชีพตามสาวชุมคนรักในเวลาแค่ไม่กี่วัน

.

สาวชุม หนุ่มสุวรรณ

การจากไปของชายหนุ่ม และ หญิงสาว คู่นี้ ได้สร้างความเสียใจแก่บิดา มารดาทั้งสองฝ่ายเป็นอย่างมาก เศรษฐีนาพรุกับเศรษฐีท้ายสำเภา จึงยกที่ดินส่วนหนึ่งสร้างวัด และให้นายช่างหล่อพระลากกลุ่มหนึ่ง มาสร้างพระพุทธรูป เพื่ออุทิศบุญกุศลให้บุตรธิดาทั้งสอง โดยได้หล่อพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร พระเกศรัศมียอดเปลวเพลิงไว้องค์หนึ่ง แต้มปาก ทาเล็บทั้งหมดให้เป็นสีแดง เพื่อเป็นพระพุทธรูปแทนตนของ “ สาวชุม ” บุตรสาวเศรษฐีบ้านนาพรุ และได้สร้างพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรอีกองค์หนึ่ง ทรงเครื่อง เพื่อให้เป็นพระพุทธรูปแทนตัวของ “หนุ่มสุวรรณ” เมื่อช่างหล่อพระได้ขัดสีตบแต่งเรียบร้อยแล้วเศรษฐีทั้งสองก็ได้นิมนต์ พระภิกษุมารับถวายพระพุทธรูป พร้อมกับอุทิศผลานิสงส์ให้ไปถึงสาวชุม และ หนุ่มสุวรรณ บุตรธิดาผู้วายชนม์

.

พระแม่ชุม

ภายหลังจากทำพิธีอุทิศพลานิสงส์ พระลาก พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร ที่เศรษฐีนาพรุ ได้สร้างถวายวัดนั้น  ได้เกิดปาฏิหาริย์ขึ้น ในตอนนั้นต่อหน้าผู้คนเป็นจำนวนมาก ที่พระพุทธรูป มีพุทธลักษณะเป็นตำหนิ เหมือนรอยแผลเป็นก่อนที่สาวชุม  จะเสียชีวิต เศรษฐี และชาวบ้านทุกคนที่อยู่ตรงนั้นต่างตกตลึง เมื่อเห็นพระพุทธรูป  มีพุทธลักษณะ เหมือนสาวชุม ด้วยความศรัทธาของชาวบ้านนาพรุ-บ้านท่าช้าง-บ้านท้ายสำเภา หลังจากนั้นชาวบ้านจึงเรียกพระลากองค์นี้ว่า แม่ชุม หรือ พระแม่ชุม

.

พระลากแม่ชุมวัดท่าช้าง อยู่คู่กับชาวนาพรุ-ท่าช้าง เป็นเวลายาวนาน มีการเชิญลงมาสรงน้ำในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ และ ในช่วงเทศกาลออกพรรษาของทุกปี พระลากแม่ชุมได้รับความศรัทธา นับถือ จากผู้คนในย่านอำเภอพระพรหม ว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ใน

.

ด้านความรัก = ถ้าใครได้มากราบไหว้บูชา จะสมหวังในความรักที่มั่นคง มีศุภผลดลบันดาลให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข คนที่เป็นโสดอยู่ ก็จะมาบูชาเพื่อหาเนื้อคู่ที่ดี เหมาะกับตน เนื่องจากพระพุทธรูปองค์นี้ เป็นตัวแทนแม่ชุม-พ่อสุวรรณ ที่ทั้งสองมีรักแท้ ไม่ทอดทิ้งกัน จนวันตายจาก ก็ต้องไปด้วยกัน

.

ด้านค้าขาย = พ่อค้า แม่ขาย ก็จะนิยมมาสักการะพระแม่ชุม เนื่องจากเชื่อว่า พระแม่ชุมเป็นบุตรีของเศรษฐี จึงมีความนิยมว่า ถ้าขอพรพระแม่ชุมแล้ว จะทำมาค้าขาย อะไรก็ดี และมีความมั่งคั่งมีอัตภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

.

ด้านเมตตา = ชาวบ้านจะมาบนบาน ขอให้พระแม่ชุมช่วยในด้านต่าง ๆ เช่น ขอโชคลาภ ขอให้สำเร็จในการงาน  ขอให้สอบผ่าน  ขอให้มีงานทำ ขอให้ของที่หาย ได้กลับคืนมา

.

ดังนั้นพระแม่ชุม แห่งวัดท่าช้าง จึงมีผู้ศรัทธาเข้ามาสักการะอยู่บ่อย ๆ เพราะเหมาะกับการบูชา แก่ผู้ที่ต้องการแสวงหาความมั่นคงในความรัก ผู้ที่ประกอบอาชีพค้าขาย รวมถึงผู้ที่ต้องการความอบอุ่นในครอบครัวให้บังเกิดผลประสบความสำเร็จดั่งปรารถนา เมื่อชีวิตส่วนตัว และชีวิตในหน้าที่การงานสมบูรณ์พร้อม ความสุขที่ยั่งยืนก็พร้อมที่จะบังเกิดขึ้น เป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่ที่ ปุถุชนพึงควรมี เพื่อจะก้าวหน้าไปทั้งทางโลก และ ทางธรรม ดั่งพระแม่ชุม วัดท่าช้าง และ พระพุทธเศรษฐีศรีสุวรรณ วัดท้ายสำเภา ซึ่งเป็นตำนาน พระลากคู่รัก เมืองนคร ที่อยู่คู่วัด คู่บ้าน คู่เมือง เสมอมา ถึงแม้ว่าจะอยู่คนละวัด แต่ดวงจิตที่ยังคงมั่นในรัก และผูกพัน ก็คงยังอยู่คู่กัน ให้เป็นที่กล่าวขวัญเป็นที่สักการบูชา ของลูกหลานชาวพระพรหมเป็นเวลาหลายร้อยปี สืบไป

ภาพและข้อมูลจาก Facebook : วัดท่าช้าง นครศรีธรรมราช

ภาษาช้างกลาง ความหมายและคุณค่าของท้องถิ่นนครศรีธรรมราช

ภาษาช้างกลาง
ความหมายและคุณค่า
ของท้องถิ่นนครศรีธรรมราช

โดย วรรณดี สรรพจิต

ภาษาเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่แสดงอัตลักษณ์ของคนแต่ละท้องถิ่น ซึ่งใช้แตกต่างกันไป บางคำใช้พูดเป็นสื่อให้เข้าใจกันระหว่างหมู่คณะ บางคำใช้พูดและเข้าใจกันเฉพาะในถิ่นหนึ่ง ๆ เท่านั้น สำเนียงใต้ของชาวช้างกลางก็ไม่ได้แตกต่างไปจากสำเนียงใต้ของคนอำเภออื่นในจังหวัดนครศรีธรรมราชเท่าใดนัก แต่ก็ถือได้ว่าอำเภอช้างกลางร่ำรวยทางภาษามาก ทั้งนี้เพราะในอดีตมีชนต่างชาติซึ่งส่วนมากเป็นคนจีนได้เข้ามาค้าขายทางน้ำ ได้นำภาษาจีนและมะลายูเข้ามาด้วย ประกอบกับในช่วงต่อมามีชาวปากพนัง หัวไทร เชียรใหญ่ย้ายถิ่นมาอยู่ร่วมมากที่สุด ได้นำเอาสำเนียงภาษาในถิ่นเดิมมาใช้ผสมกับสำเนียงของคนในถิ่น และที่สำคัญยังได้สมรสกันระหว่างคนต่างถิ่นด้วย ก่อให้เกิดภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ชองชาวช้างกลางโดยเฉพาะ ดังจะยกตัวอย่าง
.

คำที่แปลว่า “ตาย”

คำนี้ท้องถิ่นอื่นมีไม่มาก แต่ที่อำเภอช้างกลางมีมากมายได้แก่ “พลิกอีตุก, พลิกตุก, เพล้ง, แพล็ด,ปัดซิเหนียงเกียงกล้อง,ม่องเท่ง,ดับเกียง,เหมี่ยง, ปับปะชิค๊อง, พระยิ้ม (มักใช้พูดล้อเลียนกับคนที่ไม่ควรขึ้นต้นไม้ เช่น คนชราว่า เดี๋ยวตกลงมาพระยิ้มแหละ นั่นหมายถึงตายพระได้สวด)
.

คำที่แปลว่า “หมด”

พวกเราพูดกันหลายคำ เช่นว่า แหม็ด, เกลี้ยงแผ็ก, แวววับ แหม็ดฉ๊าดคือหมดไม่เหลือ
.

คำที่หมายถึง ยุยง, แหย่, แยง,แทง, ทิ่ม, ยุให้รำตำให้รั่ว พูดให้สองฝ่ายทะเลาะกัน

คนช้างกลางพูดคำเดียวว่า “ยอน” เช่นประโยคว่า “แกอย่ายอนให้เขาแตกกัน” นั่นหมายความว่า อย่ายุยง แต่ถ้าพูดว่า “วันนี้ไปยอนบึ้ง” หมายถึงว่า ไปแยงในรูของตัวบึ้งเพื่อดึงไข่บึ้งมากิน (บึ้งคือแมงมุมชนิดหนึ่งที่ชื่อ ทารันทูล่า ภาษาไทยเรียกว่า บึ้ง ตัวโตมาก เป็นสัตว์มีพิษ แต่ไม่ร้ายแรงนัก ยกเว้นคนแพ้พิษมีมากในอำเภอช้างกลาง )

.

คำที่หมายถึง “สวยมาก”

เช่น “เฉ้งวับ สวยเฉ้ง”
.

คำนามที่ไม่ค่อยมีพูดในท้องถิ่นอื่น เช่น

“นายหมรูน” (อ่านว่า หมฺรูน)
คือคนที่ขึ้นไปตีผึ้งบนต้นไม้ หรือหน้าผา เรียกว่า นายหมรูน
.

“ม็อง”

คือคบเพลิงที่ทำด้วยต้นลังตังช้าง(ตะรังตังช้างเป็นภาษามลายู) สำหรับใช้ควันไล่ตัวผึ้งออกจากรัง
.

“โคร๊ะ”

คือภาชนะใส่รังผึ้ง
.

“ไม้ตรี”

คือไม้กวาดตัวผึ้งและใช้สำหรับแซะรังผึ้ง
.

“ชะนั่งได้”

คือเครื่องมือดักปลาที่ด้านในมีเงี่ยงดัก ปลาเข้าแล้วออกไม่ได้
.

“หนะหวายพวน”

คือส่วนที่เป็นหนามยาวของหวายพวน บางเส้นยาวถึง ๒ เมตร เป็นหนามแหลมทวนทางปลาย ถ้าแหย่เข้าไป เวลาดึงออกตัว “หนะหวาย” จะกระชากสิ่งกีดขวางขาดกระจุยได้ หวายพวนเป็นหวายป่าขนาดใหญ่และยาวมาก ในเพลงยาวเรื่องโองการขับผีของนายเอียด สันตจิต ใช้ “หนะหวายพวนขับผี” ตอนหนึ่งว่า “….กูจะคุ้ย กูจะควัก กูจะชักเอาหัวใจ แล้วเอาหนะหวายพวนเส้นใหญ่ยอนเข้าไปในปาก กูจะชากเอาลิ้น กูจะกินเอาตับ กูจะสับเอาฟัน….”
.

“เหล็กดอกบอน”

คือเครื่องมือเจาะฝีมือภูมิปัญญาท้องถิ่น
.

“ขวานถาจีน”

ขวานของพวกคนจีนที่ใช้สับกระดูกชิ้นใหญ่ของวัว ควาย หมูที่แล่เนื้อแล้ว
.

“เอ็นหมายุก”

คือเอ็นร้อยหวาย หลังข้อเท้า
.

“เฌอ”

ภาชนะใส่ของหนัก
.

“แสก”

คือ สาแหรกที่ทำจากหวาย มี ๔ สาย ด้านบนรวบปลายหวายเป็นหูสำหรับสอดไม้คาน ด้านล่างขัดกันเป็นสี่เหลี่ยมสำหรับวางกระจาด มี ๒ ชุด เพื่อให้สมดุลย์เวลาหาบหาม
.

“ม่า”

ภาชนะใช้ตักน้ำจากบ่อซึ่งทำด้วยกาบหมาก มาจากคำว่า “ทิม่า”ในภาษามลายู เดี๋ยวนี้ไม่มีให้เห็นแล้ว
.

“ตูด”

เครื่องมือเป่าที่ทำด้วยเขาควาย ใช้สำหรับเป่าเป็นสัญญาณบอกเวลา หรือเหตุการณ์ต่าง ๆบ่งหมายให้มาร่วมประชุม เวลาเป่าจะออกเสียง ปูด ๆ ดังกังวานออกไปไกล
.

“ครกบด”

เครื่องมือสำหรับโม่แป้ง ทำด้วยหินหรือปูนซีเมนต์ รูปทรงกลม ฐานข้างมีรางโดยรอบ ฝาบนเจาะเป็นรูใส่ไม้แขนไว้เพื่อใช้จับขณะบด ครกบดโดยทั่วไปมีขนาด ฐานครกประมาณ ๑.๕ – ๕.๕ ฟุต
.

“ลูกประ”

หรือลูกกระเกิดจากไม้ประ นำมาแปรรูปเป็นลูกประดอง ลูกประคั่ว เคยลูกประ มีมากที่เทือกเขาเหมน เขาหลวง รสออกหวานมันอร่อยลิ้น
.

“ไม้ตราด”

คือไม้กวาดที่ทำจากไม้ไผ่แก่จัด ตัดยาว ๒ เมตร ด้านโคนผ่าเป็นซีกเล็ก ๆ แล้วกรองด้วยหวาย ใช้สำหรับกวาดใบไม้ ใบหญ้า
.

“กุนหยี” คือดอกบานมิรู้โรย มาจากภาษามะลายูในคำว่า “เบอระกุนี”

ส่วนคำนามที่มาจากภาษาจีนก็มี โกปี้ เล่าเต้ง โอยั๊วะ ฯลฯ ที่มาจากภาษามลายู ได้แก่ ลังตัง ภาษามลายูว่า “ตะรังตัง” มี ๓ ชนิด คือลังตังไก่ ลังตังกวาง ลังตังช้าง
.

“มะม่วงหิมพานต์”

ที่นี่พูดได้หลายคำ เช่นว่า เม็ดท้ายล่อ, ย่าหมู,ย่าโห้ย, ยาร่วง,เม็ดม่องล่อ
.
ส่วนที่มาจากภาษาเขมร ก็มี เช่นชื่อปี ชวด ฉลู ขาล เถาะ มะโรง มะเส็ง มะเมีย มะแม วอก กา จอ กุน ชาวช้างกลางเรียกชื่อ ชวด หลู ขาล โถง โรง สิง เมีย แม วอก กา จอ กุน
.
คำกริยาที่ใช้พูดเฉพาะในถิ่น ตัวอย่างได้แก่

“สีน”

คือ ตัด หรือ หั่น เป็นชิ้น เช่นประโยคว่า “กูจะสีนด้วยมีดโต้” หรือบทโนราโกลนที่ว่า “ นั่ง ๆ ผันหน้าไปปลากออก แกงคั่วรอกสับให้เนียน ตัดตีนสีนเศียรผ่าหลอดท้าย เอาใส้โยน”
.

“กาศ”

คำกล่าวประกาศ อัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์
.

“แหม็ด”

คือ กด หรือหยิก เช่น “ฉันจะแหม็ดแกให้เจ็บจนตาย”
.

“แหม๊ด”

หมดเกลี้ยงไม่เหลือ เช่น “แกงนี้หรอยเกินกินจนแหม๊ดฉาด”
.

“ขบ”

กัด
.

“สี”

ทา หรือขยี้
.

“ชังกั้ง”

คำพูดแผลง ๆ เรียกว่าพูดชังกั้ง
.

“ล้มยักหาย”

คือล้มหงายหลัง
.

“น้ำพ่ะ”

ฝนตกติดต่อกันนาน ๆ จนน้ำนองตลิ่ง เรียกว่า “น้ำพ่ะ” คำนี้มาเพี้ยนมาจากภาษามลายูว่า ““เบอรฺพะ”
.
คำพูดแสดงคุณลักษณะ เรามักใช้คำพูดของชาวกะเหรี่ยงเข้าประกอบ เช่น

“จั๊วะ”

ขาว เรามักพูดว่าขาวจั๊วะ คำว่าจั๊วะ เป็นภาษากะเหรี่ยง
.

“ปื๊ด”

ดำ คือดำปื๊ด
.

“แจ๊ด”

แดง
.

“จ๋อย”

คือสี เหลือง
.

“ปื๋อ”

คือสีเขียว
.

“ปี๋”

คือเค็ม ถ้าพูดว่าเค็มปี๋ หมายถึงเค็มมาก
ห้าคำนี้ที่จริงเป็นภาษากะเหรี่ยง ใช้พูดกันทุกภาค ชาวช้างกลางนำมาใช้พูดด้วย เพื่อเป็นการเน้นในลักษณะนั้น ๆ เช่น แดงแจ๊ด เหลืองจ๋อย เค็มปี๋ฯลฯ เป็นต้น
.
นอกจากตัวอย่างที่ยกมาแสดงนี้แล้ว
ยังมีคำอื่น ๆ อีกมากมายที่ใช้พูด
ซึ่งสามารถประมวลเป็นพจนานุกรมภาษาถิ่นช้างกลางได้

ประตูผีเมืองนคร เรื่องเล่าจากปากคำยายจัน

ประตูผีเมืองนคร
เรื่องเล่าจากปากคำยายจัน

ถ้าเป็นอย่างยายจันว่า
ตรงหรือไม่ไกลจากในภาพปกนี้นี่แหละ คงคือ “ประตูผี”
.
ราว 10 ปีก่อน มุมพายัพของทางสี่แพร่งนี้ (แยกถนนพระอิศวรตัดถนนศรีธรรมราช) เป็นเพียงเพิงอย่างกำมะลอ ยายจันใช้สอยร่มหลังคาเป็นร้านขายหนมจีน หนมหวาน และข้าวราดแกงที่มีให้เลือกไม่กี่หม้อ
.
บทสนทนาของเราเริ่มขึ้นหลังจากแกแน่ใจแล้วว่าผมมีความสนใจบางอย่าง อาจด้วยอาการพิรุธที่มือซ้ายถือหนังสือ มือขวากุมช้อนไว้หลวมๆ
.
พลความเป็นด้วยเรื่องสารทุกข์สุขดิบ
ใจเรื่องคงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังคำถามว่า
ตรงนี้ เค้าเรียกไอไหร่นิยาย ?
.

พบอะไรที่ประตูผี

“ตูผี ตรงนี้ตูผี
เขาขุดพบเหล็กกรอบตูใหญ่โต ขึ้นเขียวหึม”
ยายจันยังเล่าต่อไปว่า
“เขาเอาศพออกนอกเมืองกันทาง “ปากตู” นี้”
.
แล้วก็รู้และจำไว้แค่นั้น มาเอะใจก็ตรงที่ นครศรีธรรมราชเคยเป็นรัฐจารีต จึงเช่นเดียวกันกับรัฐโบราณอื่นที่ต้องมีจารีตนิยม ซึ่ง “ประตูผี” เป็นหนึ่งในบรรดาสารพัน
.

ชาวโพธิ์เสด็จ คือลูกหลานแม่มด

เหมือนจะเคยผ่านตาว่า นอกจากใช้เคลื่อนศพออกแล้ว ในคราวมีพิธีไล่แม่มด เหล่าผู้ถูกอุปโลกน์ทั้งหลายก็ถูกขับออกทางประตูนี้ไปสู่นอกท่องปละตกเมือง ที่ก็ช่างไปคล้องกับเรื่องเล่าพื้นถิ่นตำบลนั้น ว่า “ชาวโพธิ์เสด็จ ต่างมีนิสัยสงบเสงี่ยมเจียมตัว ด้วยเพราะเป็นลูกหลานแม่มด”
.
ประตูผีเป็นประตูเดียวที่ปราศจากกฤติยาคุณ จึงมักพบว่ามีศาสนสถานศักดิ์สิทธ์หันไปประจันตรงปากประตูเพื่อกำราบสภาวะอื่นใดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเมือง
.
สำหรับเมืองนครศรีธรรมราช หากประตูผีอยู่ตรงนี้จริงตามปากคำยายจัน ก็คงเป็นหน้าที่ของ “พระนารายณ์” ในเทวสถานริมทางหลวง ที่แต่เดิมคิดว่าตั้งตรงข้ามเป็นแกนเดียวกันกับหอพระอิศวร ทั้งที่อยู่เยื้องหนึ่งว่าผินมาชำเลืองสะกดเอาปากประตูต้นเรื่องที่ว่านี้ไว้

.

ประตูพานยม ประตูลัก ก็ต่างคือประตูผี

นอกจากประตูพี่ที่ยายจันเล่าแล้ว ยังมีอีกประตูที่ชื่อออกไปทำนองผีๆ ด้วยคือ “พานยม” ก็ว่ากันว่าประตูนี้เป็นประตูผี กับอีกประตูที่ชื่อไม่ผี แต่พอเห็นรอยในพิธีกรรมผีคือ “ประตูลัก” ที่เล่าและลือกันว่าเป็นประตู “ลักศพ” ออกนอกเมืองนครศรีธรรมราช

.

ก็เท่ากับว่า เมืองนครศรีธรรมราชมีประตูผีมากกว่าประตูหนึ่ง ส่วนเหตุที่มากกว่าเมืองอื่น ๆ นี้อาจต้องสืบความต่ออีกสักน้อยฯ

 

จาก “วัดใหม่กาแก้ว” สู่ “วัดสวนป่าน” ประวัติวัดฉบับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

จาก “วัดใหม่กาแก้ว” สู่ “วัดสวนป่าน”

ประวัติวัดฉบับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

 

เป็นเรื่องชวนให้ตั้งข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า

บ่อยครั้งที่ผู้เขียนจะได้รับการทาบทามหรือการตั้งคำถามทำนองว่า

“พอจะทราบประวัติตั้งนั้น ตรงนี้ไหม ?”

ทั้งที่จริงแล้ว ผู้ถามก็เป็น “คนในนั้น”

.

ข้อสังเกตอันแรก คงเป็นความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า “ประวัติ” ที่เราถูกหล่อหลอมผ่านระบบการศึกษาว่ามักจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสงคราม ราชวงศ์ และราชการ ทำให้ “ความทรงจำ” ของ “คนใน” ถูกกีดออกจากคำว่า “ประวัติ” ทั้งที่จริงแล้วล้วนเป็น “ประวัติศาสตร์สังคม” ที่สำคัญมาก และส่วนใหญ่มักสะท้อนให้เห็น “วิถี” และ “ชีวิต” ของผู้คนอีกด้วย

.

ข้อสองคงเป็นเพราะความเกร็งและเกรงใจภาษาราชการ ทำให้เมื่อจำเป็นต้องถ่ายทอดออกเป็นลายลักษณ์อักษร ประเด็น นัยและใจความสำคัญมักหล่นหาย เพราะติดกับดักโครงสร้างการเขียนประวัติศาสตร์อย่างทางการ

.

เมื่อวันอังคาร ที่ 18 มกราคม 2565 มีเหตุให้เจดีย์อนุสรณ์พระสหชาติ พ.ศ. 2487 แห่งวัดสวนป่านทลายลง ผู้เขียนมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับท่านสมภารเจ้าวัด นอกจากการฟื้นคืนสภาพของเจดีย์อนุสรณ์ดังกล่าวแล้ว ยังอาจต้องมีแผนสำหรับการจัดการข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนสถาน โดยได้เสนอไป 3 ประเด็นอย่างคร่าว ๆ ว่า

 

ส่วนอดีต

ควรมีแผนการจัดการข้อมูลเกี่ยวกับศาสนสถาน-วัตถุ

โดยอาจเริ่มที่การรวบรวมแล้วเรียบเรียงเป็นฐานทำสารบบ

รวมถึงการประเมินสภาพและความเสี่ยง

 

ส่วนปัจจุบัน

ควรมีแผนการพัฒนาพื้นที่โดยคำนึงถึงแผนแรก

ควบคู่ไปกับแผนการบริหารจัดการพื้นที่โดยอาจจัดแบ่งเป็นเขตตามความสำคัญหรือลักษณะการใช้สอย

 

ส่วนอนาคต

ควรมีแผนจัดการความเสี่ยง

การทบทวนและประเมินสภาพรอบปี

 

ประวัติวัด ทั่วราชอาณาจักร

มีคู่มือเบื้องต้นสำหรับการศึกษาประวัติวัดต่าง ๆ ในประเทศไทย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติดำเนินการจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 ในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช มีในเล่มที่ 23 ฉบับพิมพ์ ปี พ.ศ. 2547 ข้อมูลที่ได้ส่วนใหญ่มาจากการรวบรวมจากเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ และเจ้าคณะตำบล ในส่วนของวัดสวนป่านปรากฏอยู่ในหน้าที่ 510 โดยจะขอคัดมาเพื่อจะได้เป็นประโยชน์ในการสืบความกันต่อไป ดังนี้

 

วัดสวนป่าน ตั้งอยู่เลขที่ 153 ถนนพระบรมธาตุ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุต ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 15 ไร่ 2 งาน 47 ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ 2100 มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 1 งาน 9 ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ 990

 

อาณาเขต

ทิศเหนือจดถนนโรงช้าง

ทิศใต้จดซอยเหมชาลา

ทิศตะวันออกจดถนนพระบรมธาตุ

ทิศตะวันตกจดถนนวัดสวนป่าน

 

อาคารเสนาสนะ

อุโบสถ

กว้าง 23 เมตร ยาว 39 เมตร

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2514

เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก

 

พระประธานประจำอุโบสถ

ปางสะดุ้งมาร

หน้าตักกว้าง 58 นิ้ว

สูง 79 นิ้ว

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2525

 

ศาลาการเปรียญ (อาคารทรงไทย ชั้นเดียว)

กว้าง 13.50 เมตร

ยาว 18.25 เมตร

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2507

 

พระประธานประจำศาลาการเปรียญ

ปางสมาธิ

หน้าตักกว้าง 35.50 นิ้ว

สูง 51 นิ้ว

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2507

พระพุทธรูปเนื้อเงิน 2 องค์

สูง 65 นิ้ว และ 45 นิ้ว

 

กุฏิสงฆ์ จำนวน 10 หลัง

เป็นอาคารไม้ 4 หลัง

ครึ่งตึกครึ่งไม้ 3 หลัง

และตึก 3 หลัง

 

วิหาร (อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก)

กว้าง 14.60 เมตร

ยาว 21 เมตร

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2480

 

ศาลาอเนกประสงค์ (อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ชั้นเดียว)

กว้าง 6.30 เมตร

ยาว 12.50 เมตร

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2540

 

ศาลาบำเพ็ญกุศล

จำนวน 1 หลัง

เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้

 

นอกจากนี้มี หอระฆัง โรงครัว กุฏิเจ้าอาวาส และเรือนรับรอง

.

จาก “วัดใหม่กาแก้ว” สู่ “วัดสวนป่าน”

วัดสวนป่าน ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2452 วัดตั้งมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ในช่วงเปลี่ยนการปกครองเป็นสมุหเทศาภิบาล ต่อมาเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีศรีธรรมราช ได้ยกถวายให้ท่านเจ้าคุณพระรัตนธัชมุนี (ม่วง) และได้ตั้งวัดให้ชื่อว่า “วัดใหม่กาแก้ว” แต่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดสวนป่าน” เพราะเรียกตามชื่อคนดูแลสวนของท่านเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีเดิม

.

ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2525

เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 23 เมตร ยาว 39 เมตร

.

ลำดับเจ้าอาวาส

พ.ศ. 2442 – 2449 พระครูกาแก้ว

พ.ศ. 2449 – 2460 พระญาณเวที

พ.ศ. 2460 – 2478 พระครูโภธาภิรามมุนี

พ.ศ. 2478 – 2489 พระครูวินัยธร

พ.ศ. 2489 – 2500 พระปลัดส่อง โชติกโร

พ.ศ. 2500 – ไม่ระบุ พระครูจิตรการประสาท

 

เดิมตั้งแต่ พ.ศ.2505 เปิดเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมด้วย

.

จะเห็นว่ายังมีศาสนสถานและวัตถุอีกหลายรายการที่ไม่ได้ระบุไว้ในเล่มนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจดีย์อนุสรณ์พระสหชาติที่เพิ่งทลายลงไปนี้ด้วย กับทั้งข้อวิเคราะห์ต่าง ๆ เช่นว่า ความสำคัญและบทบาทต่อชุมชน เส้นเวลา ภูมินาม ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้อาจเป็นเรื่องที่ต้องรอผู้สนใจใฝ่รู้เติมเต็มต่อในอนาคต

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บ้านสวนอาย ประวัติ เรื่องราว และเรื่องเล่า

บ้านสวนอาย
ประวัติ เรื่องราว และเรื่องเล่า

 

ยอมแลกกับชั้นเรียนการวิเคราะห์ข้อมูลทางวัฒนธรรมศึกษาในภาคเช้า และวัฒนธรรมกับโลกาภิวัตน์ของช่วงบ่าย คิดเอาเองว่ากิจกรรมนี้จะเป็นภาคปฏิบัติของทั้งสองรายวิชา ตามและเห็นกำหนดการจากเฟซบุ๊คพี่เจี๊ยบว่าเป็นกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่ง “เรื่องเล่าชุมชน” ให้สมชื่อโครงการว่า “การจัดการความรู้เรื่องเล่าบ้านสวนอาย” (วันเสาร์ ที่ 22 มกราคม 2565 ณ ศาลาการเปรียญวัดสวนอาย ตำบลละอาย อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช)

.

อาจารย์ ดร. จิตติมา ดำรงวัฒนะ จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช นำเวทีด้วย 4 เครื่องมือ ผังเครือญาติ แผนที่ทรัพยากรชุมชน เรื่องเล่าชุมชน และปฏิทินวิถีชีวิต

.

เท่าที่โน้ตไว้มีราว 22 เรื่องน่าสนใจ ที่ทั้งท่านคม ตาเล็น พี่ขลุด ตาพร้อม ครูกิต พี่ผา พี่เปี๊ยก ลุงทร ลุงฉุย ลุงกิ่ง พี่อ้น น้าเชษ ครูแอน พี่ทัย น้องที พี่ขวัญ และน้องๆ กศน.ตำบลละอาย ช่วยกันเล่าช่วยกันฟัง

.

ถัดนี้ทราบจากพี่เจี๊ยบคนต้นเรื่องว่าจะไปกันต่อ ส่วนตัวรีบขออนุญาตนำฉบับสังเขปลงเพจและเว็บไซต์ Nakhonsi Station ที่นี่นครศรีธรรมราช เสียในโอกาสเดียวกัน ในนั้นอธิบายว่า

.

บ้านสวนอาย

บ้านสวนอายเริ่มมีชาวบ้านเข้ามาอาศัยอยู่เมื่อประมาณ พ.ศ. 2469 โดยมี นายเกตุ-นางวิน องอาจ นายเลื่อม- นางแข เพชรชนะ สองพี่น้องเขามาอยู่ครั้งแรก จากการแนะนำของนายจูน-นางคง วงศ์สวัสดิ์ เป็นผู้ที่รู้สภาพของพื้นที่ป่าคลองอายเป็นอย่างดี คลองอายเป็นชื่อเรียกกันมาช้านานตามชื่อลำคลอง ที่ไหลผ่านหมู่บ้าน คือ คลองละอาย ต่อมามีนายทุ่ม นายเอื้อม วงศ์สวัสดิ์ นายเซี่ย นายซ่าน มัฏฐาพันธ์ สี่คนพ่อลูกได้เข้ามาอาศัยทำมาหากินด้วย ต่อมาจึงได้มีญาติพี่น้องตามกันมาอีก ได้แก่ นายทอง นางพัน จำนามสกุลไม่ได้ พร้อมด้วยนายฟุ้ง นางชื่น สิทธิสมบูรณ์ครอบครัวทั้งหมดได้มาอาศัยอยู่ร่วมกันในระยะแรก แล้วค่อยๆ ทยอยปลูกกระท่อมใกล้ๆ กันเป็นกลุ่มบ้าน เพราะพื้นที่ขณะนั้นเป็นป่าดงดิบจะมีสัตว์ร้ายชุกชุม เช่น เสือ ช้างป่า ซึ่งสามารถทำอันตรายได้

.

เครือญาติ

พี่น้องที่เข้ามาอาศัยในขณะนั้นจึงมีความรัก ความสามัคคีกันเป็นอย่างมาก รวมตัวกันอยู่ได้ประมาณ 5 ปีกว่า การทำมาหากินเริ่มสะดวกมั่นคงไม่ต้องนำข้าวปลาอาหารจากที่อื่น จึงได้แยกย้ายกันไปปลูกสร้างกระท่อม(ขนำ) บ้านเรือนในที่ของตนเอง ต่อมาก็มีการชักนำบุคคลญาติ พี่น้องเข้ามาอาศัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเวลาผ่านไปประมาณ 10 ปี เจ้าหน้าที่ป่าไม้จังหวัดชื่อ นายพร้อม พันเสือ ได้เข้ามาตัดแนวเขต โดยวางแนวเป็นที่บ้านนายม่วง นางเพียน ศรีเปารยะ ปรากฏว่าบ้านสวนอายได้ติดอยู่ในป่าสงวนทั้งหมด จึงทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน นายเกตุ นายเหลื่อม นายฟุ้ง ได้ปรึกษาหารือกัน แล้วจึงไปหา นายชาย สุมงคล หรือที่ชาวบ้านเรียก ครูช้อง จึงได้รับคำแนะนำให้ทำหนังสือเสนอกระทรวงเกษตร โดยนายชาย เป็นผู้ร่างหนังสือให้ พร้อมทำความเข้าใจในคำพูดของชาวบ้านสวนอายกับข้าราชการกระทรวง

.

ขอบเขตหมู่บ้าน

อยู่มาประมาณ 1 ปีเศษ (ประมาณปี 2480) หลังจากส่งหนังสือถึงกระทรวงเกษตรได้มีคำสั่งจากกระทรวงถึงจังหวัด ให้เลื่อนเขตป่าสงวนใหม่ เพราะ เขตเดิมราษฎรได้ทำมาหากินประกอบอาชีพ จึงได้มีเจ้าหน้าที่มาวางเขตป่าสงวนใหม่คือนายอรุณ รุจิกัญหะ โดยนายเกตุและนาย เลื่อม เป็นผู้นำในการตัดเขต พร้อมด้วยลูกจ้างตัดเขตป่าสงวนหลายคนเท่าที่จำได้ ได้แก่ 1.นายเลื่อน เพชรประพันธ์ 2.นายนบ วงศ์สวัสดิ์ 3. นายจำรัส นิยมกิจ คณะของเจ้าหน้าที่ตัดเขตป่าสงวน ได้มาพักแรมที่บ้านนายทอย-นางแอบ พิบูลย์ จนตัดแนวเขตออกไปถึงคลองเศลา เวลาผ่านไปชาวบ้านก็ทยอยเข้ามาอาศัยทำมาหากินในบ้านสวนอาย เพิ่มขึ้นอีก เท่าที่สามารถจำและลำดับเหตุการณ์ได้ ได้แก่ นายดาว นางทรัพย์ แวววงศ์ นายไข่ นางเขียด แกล้วกล้า นายเจริญ นางน้อง เลิศไกร นายบาย พิบูลย์ นายหีด สิทธิเชนทร์ นายประคอง นางตั้น หัตถิยา นายคล้าย นางเฟือง ฤทธิชัย ต่อมานางเฟือง เสียชีวิต นายคล้ายจึงได้สมรสกับนางรุ่ง นายเกื้อ นางแกล้ม จงจิต และยังมีพี่น้องชาวบ้านเข้ามาประกอบอาชีพในบ้านสวนอายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนมีครัวเรือนเเน่นหนา

.

พ่อท่านคล้ายกับถนนเส้นแรก

การสร้างถนนของพ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ เข้าบ้านสวนอาย ในปีนี้ (พ.ศ. 2484) มีการสร้างถนนซอยระหว่างหมู่บ้าน ในเขตตำบลละอายหลายสาย เช่น ถนนสายบ้านสวนอาย สายบ้านทอนวังปราง สายบ้านป่าพาด สายบ้านโคกยาง สายบ้านคลองระแนะ สายบ้านเสหลา เป็นต้น การสร้างถนน ในตำบลละอาย มีเรื่องเล่าของพระอ้วน เล่าไว้ว่า พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ “พูดไหรเป็นนั้น” และเป็นพระที่ชอบช่วยเหลือชาวบ้าน ทำสะพาน ทำถนน หนทาง สร้างวัด สร้างโรงเรียน ขุดบ่อน้ำ เมื่อหลายปีที่ผ่านมา ชาวบ้านทำถนนกับจอบ ไม่ว่าถนนสายไหนจะเป็นถนนของพ่อท่านคล้ายเกือบทั้งหมด

.

สะพานไม้ทุกแห่งจะเป็นสะพานของพ่อท่านคล้ายส่วนมาก การทำถนนสมัยนั้น ก่อนจะบุกเบิกทำถนน ชาวบ้านแถวนั้นต้องไปหามพ่อท่านคล้ายมาก่อน ทำที่พักอาศัยอย่างเรียบร้อย ชาวบ้านพอรู้ข่าวว่าพ่อท่านคล้ายมาทำถนนสายนั้น ก็ชวนกันมาทั้งคนหญิงชาย “ทั้งคนแก่ และลูกเด็ก” ต่างคนต่างเอาจอบและพร้า ขวาน พวกที่มีพร้า ขวานก็ถางไป พวกมีจอบก็ขุดกันไป ยืนเรียงแถวพอได้ระยะ แล้วขุดกันไปน่าดูเพลินสนุกสาน ไม่มีการขัดแย้งกันเลย ทั้งกลางวัน กลางคืน มีความร่มเย็นสบายใจของผู้ที่ไปช่วยงาน เพราะอำนาจบารมีของพ่อท่านคล้าย ช่วยคุ้มครองปกป้องผองภัยอยู่ตลอดเวลา ทำให้ผู้ที่มาร่วมทำถนนมีกำลังใจทั่วถึงกันหมด มีความสามัคคี ปรองดอง ช่วยเหลือกันและกัน ไม่ทอดทิ้งกัน

.

พ่อท่านคล้ายมีวาจาศักดิ์สิทธิ์มากในครั้งนั้น ได้ทำถนนเข้าบ้านสวนอาย สถานที่แห่งนั้นมีกอไม้ไผ่มากแต่ไม้ไผ่กอนั้นใหญ่และอยู่ตรงกลางถนนพอดี แต่ชาวบ้านก็ช่วยกันขุดโดยรอบและลึกมากจนรอบกอ พ่อท่านก็ใช้ให้คนไปหาเชือกเส้นใหญ่มาผูกรอบกอไผ่ เพื่อให้ชาวบ้านช่วยลากขึ้นจากหลุม แต่พอดีช่วงนั้นมีช้างเดินผ่านมา ชาวบ้านก็บอกควาญช้างให้ช่วยลากให้ ควาญช้างก็เอาโซ่ พันรอบกอไผ่นั้น แล้วให้ช้างลาก ปรากฏว่าโซ่ขาด ควาญช้างก็ชักโมโหรีบไล่ช้างไปให้พ้น

 

พ่อท่านคล้ายก็พูดกับนายหมี สิทธิเชนทร์ (ชาวบ้านสวนอายที่มาช่วยทำงาน) ว่า

“ขึ้นแล้วหรือยัง เณรหมี”

“ยังไม่ขึ้นทีพ่อท่าน” ลุงหมีแกก็บอกพ่อท่านคล้ายว่า “ช้างลากก็ไม่เลื่อน โซ่ขาด เจ้าของช้างโกรธไปเสียแล้ว”

 

พ่อท่านคล้ายก็ใช้นายหมี สิทธิเชนทร์ให้เอาเชือกหวายข้อลึกสองเส้นไปพันกอไผ่ ให้คนได้เข้ามาช่วยลาก

นายหมี สิทธิเชนทร์ก็ได้พูดขึ้นว่า

“ช้างก็ลากไม่เลื่อน คนลากก็ไม่ขึ้นนี่พ่อท่านแรงคนครึ่ง ของแรงช้างก็ไม่ได้”

“มึงลองลากแลทีลุงหมี”

นายหมีและนายแอน สิทธิเชนทร์สองคนพี่น้องไม่ขัดคำของพ่อท่าน จึงเอาหวายเข้าไปผูก ผูกเสร็จ แล้วลุงหมีก็เรียกคนให้ฉวยเชือก (จับเชือก) พร้อมกันหัวไผ่เลื่อนขึ้นจากหลุม ไม่น่าเชื่อ

 

พ่อท่านคล้ายก็พูดขึ้นทันที

“หนักไม่หนักละเณรหมี”

“ไม่หนักพ่อท่านเหอ” ลุงหมีกับลุงแอนนั่งหัวเราะ

“เชื่อแล้ว พ่อท่านเหอ ผมเองก็ไม่นึกว่ากอไผ่นั้นจะขึ้น

นับจำนวน คนแล้ว สิบสี่คนเท่านั้น”

 

นี่คือวาจาสิทธิ์ของพ่อท่านคล้าย พ่อท่านคล้ายได้สร้างสะพานที่ท่าต้นโพธิ์ บ้านใหม่ สะพานข้ามน้ำคลองใหญ่ (คลองตาปี) มีชาวบ้านที่นั่นชื่อลุงแดงหกเหลี่ยม เป็นคนชอบทำงานส่วนรวม ลุงแดงขึ้นไปติดไม้พยุง เพื่อจะมุงหลังคาสะพานบังเอิญพลาดตกลงมา ในคลองที่ไม่มีน้ำนอนนิ่ง ชาวบ้านตามไปบอกพ่อท่านคล้ายอย่างเร่งรีบ พ่อท่านคล้ายก็เอาน้ำมนต์มาพรมให้เสร็จแล้ว พ่อท่านคล้ายก็เรียกว่าเณรแดง พันพรือ เณรแดง ลุงแดงก็บอกว่า ไม่พรือพ่อท่านเหอ มีที่หัวเข่า ถลอกนิดเดียว ตกลงว่าลุงแดงไม่เจ็บตรงไหนนี่แสดงให้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพ่อท่านคล้ายให้ปรากฏ

.

การขยายหมู่บ้าน

 

กำนันในขณะนั้นคือ นายขาบ วงศ์สวัสดิ์ จึงได้ประสานกับอำเภอฉวางซึ่งมีนายแจ้ง ฤทธิเดช เป็นนายอำเภอ ของแบ่งแยกหมู่บ้าน จากหมู่ที่ 1 เป็นหมู่ที่9 ของตำบลละอาย โดยมีนายพัว วงศ์สวัสดิ์ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ต่อมาเมื่อนายพัว ได้ออกจากการเป็นผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านจึงได้เลือกนายกาจ องอาจ เป็นผู้ใหญ่บ้านแทน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2503 และได้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านมาเสมอต้นเสมอปลาย

.

จากการร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ มีอีกหลายเรื่องราวและเรื่องเล่าที่น่าสนใจ ซึ่งคณะทำงานจะได้รวบรวม เรียบเรียง เพื่อใช้สอยประโยชน์ตามเหตุตามปัจจัยต่อไป รวมถึงที่ยกมานี้ก็พอสังเขป ในฉบับร่างยังระบุเรื่องทับหรั่ง สถานการณ์คอมมิวนิสต์ วันคืนสู่เหย้า การรับเสด็จหม่อมเจ้าหญิงวิภาวดีรังสิต ศาลาประชาคมหลังแรกของหมู่บ้าน การขยายหมู่บ้านครั้งที่ 2 ลำดับผู้ใหญ่บ้าน ขุนพิปูน การทำนา และการทำสวนยางพาราอีกด้วย

 

 

ประวัติอำเภอลานสกา ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

ประวัติอำเภอลานสกา
ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

เหตุที่ได้จั่วหัวว่าเป็น “ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค” นั้น ด้วยคัดมาจากหนังสือ “ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช” ซึ่งเข้าใจเอาจากคำนำในเล่มว่าเป็นข้อสั่งการจากกระทรวงมหาดไทยถึงจังหวัดทุกจังหวัด ให้รวบรวมและเรียบเรียงเหตุการณ์สำคัญ เอกสาร ความเป็นมา ภูมิประเทศ สถานที่และบุคคลสำคัญของจังหวัดต่าง ๆ เป็นสารบบ มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการท้องถิ่น ได้แก่ วิมล ดำศรี, วิเชียร ณ นคร, ประหยัด เกษม, สมพุทธ ธุระเจน และฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ เป็นคณะทำงาน โดยที่ น้อม อุปรมัย, กระจ่าง คีรินทร์นนท์ และขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นที่ปรึกษา

.

หนังสือดังกล่าว แบ่งเป็น 8 บท ได้แก่ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ลักษณะการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติความเป็นมา ประวัติเทศบาลในจังหวัดนครศรีธรรมราช บุคคลสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และทำเนียบนามผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

.

ส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำเภอลานสกานั้น ปรากฏอยู่ในบทที่ 3 “ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช” โดยจะได้คัดมาเผยแพร่ดังต่อไปนี้ (แบ่งวรรคตอนและย่อหน้าใหม่รวมถึงปรับคำบางช่วงตอนเพื่อสะดวกต่อการอ่าน แต่ยังคงสาระสำคัญไว้ตามต้นฉบับทุกประการ ประกอบกับในชั้นนี้จะยังไม่มีบทวิเคราะห์ข้อมูลใดๆ)

.

ลานสกา จากเขาแก้ว

เดิมเป็นหมู่บ้านที่ขึ้นกับอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาเมื่อทางราชการได้แบ่งการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล บริเวณอำเภอลานสกานี้ก็ถูกกำหนดให้เป็นกิ่งอำเภอ เรียกว่า “กิ่งอำเภอเขาแก้ว” เพราะที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ในตำบลเขาแก้ว ต่อมาได้ยุบตำบลเขาแก้วมาขึ้นกับตำบลลานสกา ที่ว่าการอำเภอก็ติดอยู่ในตำบลลานสกา ถึงแม้ว่าจะแยกตำบลเขาแก้วออกจากตำบลลานสกาแล้วในปัจจุบัน และที่ว่าการอำเภอจะตั้งอยู่ในตำบลเขาแก้วก็ตาม ก็ยังคงเรียกว่า “กิ่งอำเภอลานสกา” ตามเดิมตลอดมา

.

อำเภอลานสกา

ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2500

ทางราชการได้ประกาศยกฐานะกิ่งอำเภอลานสกา

เป็น “อำเภอลานสกา” จนถึงทุกวันนี้

.

ลานสกา

คำว่า “ลานสกา” อธิบายได้เป็นสามนัย ดังนี้

 

1.

ชื่อมาจากภาษาของชาวหมู่เกาะทะเลใต้ ซึ่งได้นำศาสนาฮินดูและพุทธเข้ามาครั้งแรก เรียกว่า “แลงกา” แปลว่า “หุบเขา” “หว่างเขา” ซึ่งก็ตรงกับภูมิประเทศ แล้วก็เรียกเพี้ยนไปจนเป็น “ลานสกา”

 

2.

ชื่อนี้เป็นไทยแท้ คือ ลาน หมายถึง ที่ราบหรือที่เตียน เล่ากันว่าในครั้งก่อน ฝูงกาลงมารวมพวกพ้องส่งเสียงร้องกันสนุกสนานเป็นประจำ ชาวบ้านจึงเรียกสถานอันโล่งเตียนนั้นว่า “ลานสกา”

.

ในสมัยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชมาสร้างเมือง “ศิริธรรมนคร” ที่หาดทรายแก้วนั้น ช่วงหนึ่งได้เกิดไข้ห่าหรือโรคระบาดขึ้นในเมือง พระองค์จึงอพยพราษฎรไปตั้งชั่วคราวอยู่ในเขตตำบลลานสการาวห้าปี เมื่อโรคระบาดได้สงบลงแล้วจึงอพยพกลับมาอยู่ที่หาดทรายแก้วตามเดิม จากหลักฐานนี้อาจเป็นไปได้ที่ว่าฝูงกาลงมากินซากศพของคนตาย เมื่อครั้งที่เกิดโรคระบาด

 

3.

สกา เป็นเครื่องเล่นการพนันที่ใช้ลูกเต๋าทอด “ลานสกา” จึงมีความหมายไปในทางเล่นการพนันสกา

___
คัดจาก

นครศรีธรรมราช, จังหวัด. (2527). ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช: จังหวัดนครศรีธรรมราช.

วันเด็กของ “ไอ้ไข่” เด็กวัดเจดีย์ นครศรีธรรมราช

วันเด็กของ “ไอ้ไข่”

เด็กวัดเจดีย์ นครศรีธรรมราช

 

วันเด็ก-วัยเด็ก

วันเด็กในที่นี้

ไม่ได้หมายความว่าเป็นเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมอย่างทุกปี

แต่ตั้งใจจะให้กินความเดียวกันกับ “วัยเด็ก”

และ “เด็กนครศรีธรรมราช” ทั้งที่ “เด็กๆ” หรือไม่ “เด็ก” แล้วก็ต้องรู้จัก

เป็นใครไปไม่ได้ในยุคนี้ นอกจาก “ไอ้ไข่”

.

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เดี๋ยวนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก “ไอ้ไข่”

แต่จะด้วยสถานะใดหรือแง่ไหน

ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการที่จะเข้าถึงกันเฉพาะบุคคล

.

ขอได้ ไหว้รับ

ไอ้ไข่ ในความรับรู้ของผู้คนในปัจจุบัน ถูกอธิบายด้วยหลักคิดของความเชื่อเกี่ยวกับอำนาจเหนือธรรมชาติ กล่าวคือ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ให้คุณแก่ผู้เซ่นสรวงบูชา ดังคำกล่าวติดหูว่า “ขอได้ ไหว้รับ”

.

เล่ากันว่า ไอ้ไข่เป็นเด็กวัด ที่บ้างก็เท้าความไปผนวกกับตำนานหลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด โดยเป็นศิษย์ผู้อุปฐากใกล้ชิด แล้วมามีเหตุให้ต้องแยกกัน ณ ตำแหน่งที่ปัจจุบันเป็นวัดเจดีย์ ตำบลฉลอง อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อนที่ภายหลังจะเป็นไป แล้วเหลือแต่สภาพที่รู้จักกันในชื่อ “วิญญาณ” กับอีกแหล่งเชื่อว่า เป็นเด็กวัดที่นั่นมาแต่เดิม ส่วนครึ่งหลังกล่าวพ้องกัน

.

ในที่นี้ บรรดาอิทธิและปาฏิหาริย์ของไอ้ไข่ ไม่อยู่ในขอบเขตของบทความที่จะทำความเข้าใจไปถึง เพราะสามารถสืบความได้จากโซเชียลมีเดีย กับหาฟังโดยตรงได้จากผู้มีประสบการณ์ร่วม

.

มุมที่อยากชวนมองคือ “ไอ้ไข่” ในฐานะของการสะท้อนภาพของ “เด็ก” ชาว “นครศรีธรรมราช” อย่างน้อยก็ในทศวรรต ๒๕๒๐

.

รูปสลักดั้งเดิมของไอ้ไข่ เป็นฝีมือของผู้ใหญ่เที่ยง เมืองอินทร์ ผู้ได้นามว่า “เที่ยง หักเหล็ก” มีลักษณะเป็นรูปเด็กผู้ชายไว้จุก ตรงนี้เองเป็นที่มาของข้อสังเกตประการแรกสุดคือเรื่องอายุของไอ้ไข่ ธรรมเนียมการไว้จุกของไทยสำหรับเด็กผู้ชาย มีกำหนดจัดพิธีโกนจุกเมื่ออายุครบ ๑๓ ขวบปี ก็สอดคล้องกับเรื่องเล่าโดยประมาณว่า ไอ้ไข่เป็นเด็กชายอายุ ๑๐ ขวบ

.

สิ่งที่เด็กจะได้รับในวันโกนจุกพร้อมกับสถานะวัยรุ่นคือ “ชื่อ” ตรงนี้หมายความว่า “ไอ้ไข่” เป็นสรรพนามเรียกแทนตัวก่อนที่จะมีชื่อทางการ ซึ่งก็เป็นธรรมเนียมว่า เมื่อแรกเกิดจนถึงโกนจุก ทั้งเด็กหญิงและเด็กชายจะถูกเรียกแทนด้วยลักษณะตัว อวัยวะ รูปร่าง เช่นว่า ดำ เขียว แดง แห้ง อ้วน สั้น ยาว ตาดำ บ้างก็เรียกตามนิสัยในวัยเด็กเช่น ขี้ร้อง หรือบ้างก็อาศัยของใกล้ตัว ทั้งคน สัตว์ สิ่งของ เช่น เรือน แมว ทอง เป็นต้น

.

ไข่-นุ้ย

ไข่ ก็รวมอยู่ในนี้ ซึ่งเป็นชื่อแทนตัวที่ค่อนข้างจะได้รับความนิยมเนื่องจากแสดงเพศสภาพของผู้ถูกเรียกได้ชัดเจน กับทั้งอาจมีความสืบเนื่องจากคติเรื่อง “ลึงค์” ตามที่นักมานุษยวิทยาบางท่านพยายามอธิบายความก็เป็นได้ ทั้งนี้ “ไข่” มักจะคู่กับ “นุ้ย” โดยที่นุ้ยก็เป็นชื่อแทนตัวที่ได้รับความนิยมสำหรับใช้เรียกเด็กผู้หญิงก่อนโกนจุกเช่นเดียวกัน

.

คำว่า “นุ้ย” ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมด้านภาษาของนครศรีธรรมราช เป็นคำสำคัญที่มีใช้ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีเป็นอย่างต่ำ แถมยังสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มักใช้ใน ๒ กรณี กรณีเป็นชื่อตัว อาทิ เจ้าจอมมารดา “นุ้ยใหญ่” ในสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และ เจ้าจอมมารดา “นุ้ยเล็ก” ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ซึ่งทั้ง ๒ เจ้าจอมมารดานี้ เป็นธิดาในเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัด) กับเจ้าหญิงชุ่ม พระธิดาในพระเจ้านครศรีธรรมราช

.

ส่วนอีกกรณีคือการใช้เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๑ แทนตัวผู้พูดนั้น ยังคงได้ยินจนถึงปัจจุบัน คือ นุ้ยอย่างนั้น นุ้ยอย่างนี้ ดังที่หลายคนก็อาจจะยังคงใช้แทนตัวอยู่ จะพบว่า หลายครั้ง ชื่อเรียกแทนตัวเช่นว่า “นุ้ย” นี้ กลายมาเป็นชื่อตัวไปด้วยโดยปริยาย

.

ธรรมเนียมการตั้งชื่อเหล่านี้ค่อยคลี่คลายลงเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุลขึ้น และก็คงคลี่คลายไปพร้อมกับการตั้งพิธีโกนจุกทั้งของเด็กผู้ชายในวัย ๑๓ และเด็กผู้หญิงในวัย ๑๑ (ตามการสัมภาษณ์บุตรสาวขุนพันธรักษ์ราชเดช)ฯ

 

ประวัติอำเภอท่าศาลา ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

ประวัติอำเภอท่าศาลา
ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

 

เหตุที่ได้จั่วหัวว่าเป็น “ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค” นั้น ด้วยคัดมาจากหนังสือ “ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช” ซึ่งเข้าใจเอาจากคำนำในเล่มว่าเป็นข้อสั่งการจากกระทรวงมหาดไทยถึงจังหวัดทุกจังหวัด ให้รวบรวมและเรียบเรียงเหตุการณ์สำคัญ เอกสาร ความเป็นมา ภูมิประเทศ สถานที่และบุคคลสำคัญของจังหวัดต่าง ๆ เป็นสารบบ มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการท้องถิ่น ได้แก่ วิมล ดำศรี, วิเชียร ณ นคร, ประหยัด เกษม, สมพุทธ ธุระเจน และฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ เป็นคณะทำงาน โดยที่ น้อม อุปรมัย, กระจ่าง คีรินทร์นนท์ และขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นที่ปรึกษา

.

หนังสือดังกล่าว แบ่งเป็น 8 บท ได้แก่ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ลักษณะการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติความเป็นมา ประวัติเทศบาลในจังหวัดนครศรีธรรมราช บุคคลสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และทำเนียบนามผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

.

ส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำเภอปากท่าศาลานั้น ปรากฏอยู่ในบทที่ 3 “ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช” โดยจะได้คัดมาเผยแพร่ดังต่อไปนี้ (แบ่งวรรคตอนและย่อหน้าใหม่รวมถึงปรับคำบางช่วงตอนเพื่อสะดวกต่อการอ่าน แต่ยังคงสาระสำคัญไว้ตามต้นฉบับทุกประการ ประกอบกับในชั้นนี้จะยังไม่มีบทวิเคราะห์ข้อมูลใดๆ)

 

ท่าศาลา จากตำนานเมืองนครศรีธรรมราช

ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชระบุว่า เจ้าศรีมหาราชาบุตรพระพนมวังและนางเสดียงทอง เจ้าเมืองเวียงสระได้เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อยกไพร่พลเข้าตั้งอยู่ในเมืองเรียบร้อยแล้ว คิดจำทการซ่อมแซมพระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช จึงได้ส่งคนออกมาทำนาที่ทุ่งกระโดน (ตำบลท่าศาลา) ทุ่งหนองไผ่ (ตำบลท่าขึ้น) และทำนารักษาพระที่วัดนางตรา (ตำบลท่าศาลา) และให้คนเข้าไปอยู่บ้านกรุงชิง

.

ส่วนในทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราช ครั้งรัชกาลที่ 2 ระบุถึงท้องที่ต่าง ๆ ในอำเภอนี้ ได้ตั้งเป็นบ้านเมืองมาตั้งแต่สมัยแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา มีนายที่ปกครองหลายตำบล คือที่ตำบลไทยบุรี ออกหลวงไทยบุรีศรีมหาสงคราม ศักดินา 1,200 ไร่ ฝ่ายซ้ายที่ตำบลนบพิตำ นายที่ชื่อขุนเดชธานี ที่กลาย นายที่ชื่อขุนสัณห์ธานี

.

บรรดานายที่เหล่านั้น ปรากฏว่าที่ไทยบุรีเป็นแขวงใหญ่กว่าที่อื่น นายที่มีตราประจำตำแหน่งเป็นรูปโค เครื่องยศมีช้างพลาย 1 จำลอง 1 ทวน 1 ขวด 1 แหลน 20 ปืนนกสับหลังช้าง 1 กระบอก ปืนนกสับเชลยศักดิ์ 6 กระบอก ปืนกระสุนนิ้วกึ่งเชลยศักดิ์ 1 กระบอก หอกเขต 15 ทวนเท้า 6 และได้รับพระราชทานไพร่เลวที่ไทยบุรี ได้รับพระราชทานค่าคำนับฤชาภาษีส่วย มีกรมการคือขุนราชบุรี เป็นรองนายที่ หมื่นเทพบุรี เป็นสมุห์บัญชี หมื่นบาลบุรี เป็นสมุห์บัญชี หมื่นสิทธิสารวัด เป็นสารวัตร เมืองท่าสูง เมืองเพ็ชรชลธี ขึ้นไทยบุรี และบ้านเปียน บ้านปากลง บ้านกรุงบาง ซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขาตำบลนบพิตำ ชาวบ้านได้หนีสักเมื่อครั้งรัชกาลที่ 2 เข้าไปตั้งบ้านเรียนหลบซ่อนอยู่ บัดนี้กลายเป็นหมู่บ้านและตำบลนบพิตำ

.

เมื่อครั้งรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แขกเมืองไทรบุรีเป็นขบถตั้งแข็งเมือง เจ้าเมืองนครต้องยกทัพออกไปทำการปราบปราม ออกหลวงไทยบุรีศรีมหาสงคราม นายที่ไทยบุรี ได้ยกกองทัพไปช่วยเมืองนครทำการปราบปรามด้วย เดินทัพจากไทยบุรีไปยังนครศรีธรรมราช ทางที่ออกหลวงไทยบุรีเดินทัดนี้ ต่อมาชาวบ้านเรียกว่าทางทัพหลวงไทย เป็นทางด่วนสาธารณะกั้นเขตแดนระหว่างตำบลไทยบุรีกับตำบลกะหรอปัจจุบัน

.

นอกจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ความเป็นมาดังกล่าวข้างต้น อาจทราบได้จากโบราณสถาน วัดวาอารามต่าง ๆ ในท้องที่ เช่น วัดนางตรา และวัดโมคลาน ซึ่งเป็นโบราณสถานที่นักโบราณคดีประมาณอายุว่าสร้างในราว พ.ศ.1400 – 1800 เป็นวัดร้างไประยะหนึ่ง เนื่องจากภัยสงครามเมื่อครั้งพม่ามาตีเมืองนครศรีธรรมราชในสมัยรัชกาลที่ 1 เพราะที่ตั้งวัดอยู่ใกล้เส้นทางเดินทัพพม่า

.

อำเภอกลาย

พุทธศักราช 2430 ได้รวบรวมท้องที่ต่าง ๆ ตั้งเป็น “อำเภอกลาย” มี 10 ตำบล ได้แก่ ตำบลท่าศาลา ท่าขึ้น สระแก้ว กลาย ไทยบุรี กะหรอ นบพิตำ หัวตะพาน โมคลาน ดอนตะโก นายอำเภอคนแรกชื่อนายเจริญ ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ริมทะเลบ้านปากน้ำท่าสูง และย้ายไปตั้งที่วัดชลธาราม (วัดเตาหม้อ) ครั้งสุดท้ายย้ายมาตั้งที่ตลาดท่าศาลา ต่อมาในปี 2459 ได้เปลี่ยนชื่ออำเภอกลายเป็น “อำเภอท่าศาลา”

.

ท่าศาลา

ชื่ออำเภอนั้น ตั้งตามชื่อหมู่บ้านที่ตั้งที่ว่าการอำเภอท่าศาลา คือบ้านท่าศาลา บ้านท่าศาลานี้ตั้งอยู่ริมคลองท่าศาลา ซึ่งเป็นคลองเล็กแยกมาจากคลองท่าสูง เป็นท่าจอดเรือสินค้าจากต่างเมือง ที่ท่าเรือมีศาลาพักร้อนปลูกอยู่หนึ่งหลัง เดิมเป็นศาลาชั่วคราวมุงจาก ต่อมาปลูกเป็นเรือนไม้ทรงปั้นหยา มุงสังกะสี ครั้น พ.ศ.2510 ได้รื้อศาลานี้ปลูกใหม่เป็นทรงไทย มุงกระเบื้อง พื้นคอนกรีตเสริมเหล็กหินขัด กว้าง 6 เมตร ยาว 12 เมตร โดยบริษัท ท่าศาลาเหมืองแร่ จำกัด เป็นผู้อุทิศเงินในการก่อสร้างจำนวน 70,000 บาท ชาวบ้านเรียกว่า “ศาลาน้ำ” ตั้งอยู่ริมคลองท่าศาลาใกล้ท่าจอดเรือในสมัยก่อน แต่เดียวนี้ลำคลองตื้นเขินใช้เป็นท่าเรือไม่ได้แล้ว แต่ยังมีศาลาเป็นอนุสรณ์อยู่

___
คัดจาก

นครศรีธรรมราช, จังหวัด. (2527). ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช: จังหวัดนครศรีธรรมราช.