บ้านสวนอาย ประวัติ เรื่องราว และเรื่องเล่า

บ้านสวนอาย
ประวัติ เรื่องราว และเรื่องเล่า

 

ยอมแลกกับชั้นเรียนการวิเคราะห์ข้อมูลทางวัฒนธรรมศึกษาในภาคเช้า และวัฒนธรรมกับโลกาภิวัตน์ของช่วงบ่าย คิดเอาเองว่ากิจกรรมนี้จะเป็นภาคปฏิบัติของทั้งสองรายวิชา ตามและเห็นกำหนดการจากเฟซบุ๊คพี่เจี๊ยบว่าเป็นกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่ง “เรื่องเล่าชุมชน” ให้สมชื่อโครงการว่า “การจัดการความรู้เรื่องเล่าบ้านสวนอาย” (วันเสาร์ ที่ 22 มกราคม 2565 ณ ศาลาการเปรียญวัดสวนอาย ตำบลละอาย อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช)

.

อาจารย์ ดร. จิตติมา ดำรงวัฒนะ จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช นำเวทีด้วย 4 เครื่องมือ ผังเครือญาติ แผนที่ทรัพยากรชุมชน เรื่องเล่าชุมชน และปฏิทินวิถีชีวิต

.

เท่าที่โน้ตไว้มีราว 22 เรื่องน่าสนใจ ที่ทั้งท่านคม ตาเล็น พี่ขลุด ตาพร้อม ครูกิต พี่ผา พี่เปี๊ยก ลุงทร ลุงฉุย ลุงกิ่ง พี่อ้น น้าเชษ ครูแอน พี่ทัย น้องที พี่ขวัญ และน้องๆ กศน.ตำบลละอาย ช่วยกันเล่าช่วยกันฟัง

.

ถัดนี้ทราบจากพี่เจี๊ยบคนต้นเรื่องว่าจะไปกันต่อ ส่วนตัวรีบขออนุญาตนำฉบับสังเขปลงเพจและเว็บไซต์ Nakhonsi Station ที่นี่นครศรีธรรมราช เสียในโอกาสเดียวกัน ในนั้นอธิบายว่า

.

บ้านสวนอาย

บ้านสวนอายเริ่มมีชาวบ้านเข้ามาอาศัยอยู่เมื่อประมาณ พ.ศ. 2469 โดยมี นายเกตุ-นางวิน องอาจ นายเลื่อม- นางแข เพชรชนะ สองพี่น้องเขามาอยู่ครั้งแรก จากการแนะนำของนายจูน-นางคง วงศ์สวัสดิ์ เป็นผู้ที่รู้สภาพของพื้นที่ป่าคลองอายเป็นอย่างดี คลองอายเป็นชื่อเรียกกันมาช้านานตามชื่อลำคลอง ที่ไหลผ่านหมู่บ้าน คือ คลองละอาย ต่อมามีนายทุ่ม นายเอื้อม วงศ์สวัสดิ์ นายเซี่ย นายซ่าน มัฏฐาพันธ์ สี่คนพ่อลูกได้เข้ามาอาศัยทำมาหากินด้วย ต่อมาจึงได้มีญาติพี่น้องตามกันมาอีก ได้แก่ นายทอง นางพัน จำนามสกุลไม่ได้ พร้อมด้วยนายฟุ้ง นางชื่น สิทธิสมบูรณ์ครอบครัวทั้งหมดได้มาอาศัยอยู่ร่วมกันในระยะแรก แล้วค่อยๆ ทยอยปลูกกระท่อมใกล้ๆ กันเป็นกลุ่มบ้าน เพราะพื้นที่ขณะนั้นเป็นป่าดงดิบจะมีสัตว์ร้ายชุกชุม เช่น เสือ ช้างป่า ซึ่งสามารถทำอันตรายได้

.

เครือญาติ

พี่น้องที่เข้ามาอาศัยในขณะนั้นจึงมีความรัก ความสามัคคีกันเป็นอย่างมาก รวมตัวกันอยู่ได้ประมาณ 5 ปีกว่า การทำมาหากินเริ่มสะดวกมั่นคงไม่ต้องนำข้าวปลาอาหารจากที่อื่น จึงได้แยกย้ายกันไปปลูกสร้างกระท่อม(ขนำ) บ้านเรือนในที่ของตนเอง ต่อมาก็มีการชักนำบุคคลญาติ พี่น้องเข้ามาอาศัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเวลาผ่านไปประมาณ 10 ปี เจ้าหน้าที่ป่าไม้จังหวัดชื่อ นายพร้อม พันเสือ ได้เข้ามาตัดแนวเขต โดยวางแนวเป็นที่บ้านนายม่วง นางเพียน ศรีเปารยะ ปรากฏว่าบ้านสวนอายได้ติดอยู่ในป่าสงวนทั้งหมด จึงทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน นายเกตุ นายเหลื่อม นายฟุ้ง ได้ปรึกษาหารือกัน แล้วจึงไปหา นายชาย สุมงคล หรือที่ชาวบ้านเรียก ครูช้อง จึงได้รับคำแนะนำให้ทำหนังสือเสนอกระทรวงเกษตร โดยนายชาย เป็นผู้ร่างหนังสือให้ พร้อมทำความเข้าใจในคำพูดของชาวบ้านสวนอายกับข้าราชการกระทรวง

.

ขอบเขตหมู่บ้าน

อยู่มาประมาณ 1 ปีเศษ (ประมาณปี 2480) หลังจากส่งหนังสือถึงกระทรวงเกษตรได้มีคำสั่งจากกระทรวงถึงจังหวัด ให้เลื่อนเขตป่าสงวนใหม่ เพราะ เขตเดิมราษฎรได้ทำมาหากินประกอบอาชีพ จึงได้มีเจ้าหน้าที่มาวางเขตป่าสงวนใหม่คือนายอรุณ รุจิกัญหะ โดยนายเกตุและนาย เลื่อม เป็นผู้นำในการตัดเขต พร้อมด้วยลูกจ้างตัดเขตป่าสงวนหลายคนเท่าที่จำได้ ได้แก่ 1.นายเลื่อน เพชรประพันธ์ 2.นายนบ วงศ์สวัสดิ์ 3. นายจำรัส นิยมกิจ คณะของเจ้าหน้าที่ตัดเขตป่าสงวน ได้มาพักแรมที่บ้านนายทอย-นางแอบ พิบูลย์ จนตัดแนวเขตออกไปถึงคลองเศลา เวลาผ่านไปชาวบ้านก็ทยอยเข้ามาอาศัยทำมาหากินในบ้านสวนอาย เพิ่มขึ้นอีก เท่าที่สามารถจำและลำดับเหตุการณ์ได้ ได้แก่ นายดาว นางทรัพย์ แวววงศ์ นายไข่ นางเขียด แกล้วกล้า นายเจริญ นางน้อง เลิศไกร นายบาย พิบูลย์ นายหีด สิทธิเชนทร์ นายประคอง นางตั้น หัตถิยา นายคล้าย นางเฟือง ฤทธิชัย ต่อมานางเฟือง เสียชีวิต นายคล้ายจึงได้สมรสกับนางรุ่ง นายเกื้อ นางแกล้ม จงจิต และยังมีพี่น้องชาวบ้านเข้ามาประกอบอาชีพในบ้านสวนอายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนมีครัวเรือนเเน่นหนา

.

พ่อท่านคล้ายกับถนนเส้นแรก

การสร้างถนนของพ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ เข้าบ้านสวนอาย ในปีนี้ (พ.ศ. 2484) มีการสร้างถนนซอยระหว่างหมู่บ้าน ในเขตตำบลละอายหลายสาย เช่น ถนนสายบ้านสวนอาย สายบ้านทอนวังปราง สายบ้านป่าพาด สายบ้านโคกยาง สายบ้านคลองระแนะ สายบ้านเสหลา เป็นต้น การสร้างถนน ในตำบลละอาย มีเรื่องเล่าของพระอ้วน เล่าไว้ว่า พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ “พูดไหรเป็นนั้น” และเป็นพระที่ชอบช่วยเหลือชาวบ้าน ทำสะพาน ทำถนน หนทาง สร้างวัด สร้างโรงเรียน ขุดบ่อน้ำ เมื่อหลายปีที่ผ่านมา ชาวบ้านทำถนนกับจอบ ไม่ว่าถนนสายไหนจะเป็นถนนของพ่อท่านคล้ายเกือบทั้งหมด

.

สะพานไม้ทุกแห่งจะเป็นสะพานของพ่อท่านคล้ายส่วนมาก การทำถนนสมัยนั้น ก่อนจะบุกเบิกทำถนน ชาวบ้านแถวนั้นต้องไปหามพ่อท่านคล้ายมาก่อน ทำที่พักอาศัยอย่างเรียบร้อย ชาวบ้านพอรู้ข่าวว่าพ่อท่านคล้ายมาทำถนนสายนั้น ก็ชวนกันมาทั้งคนหญิงชาย “ทั้งคนแก่ และลูกเด็ก” ต่างคนต่างเอาจอบและพร้า ขวาน พวกที่มีพร้า ขวานก็ถางไป พวกมีจอบก็ขุดกันไป ยืนเรียงแถวพอได้ระยะ แล้วขุดกันไปน่าดูเพลินสนุกสาน ไม่มีการขัดแย้งกันเลย ทั้งกลางวัน กลางคืน มีความร่มเย็นสบายใจของผู้ที่ไปช่วยงาน เพราะอำนาจบารมีของพ่อท่านคล้าย ช่วยคุ้มครองปกป้องผองภัยอยู่ตลอดเวลา ทำให้ผู้ที่มาร่วมทำถนนมีกำลังใจทั่วถึงกันหมด มีความสามัคคี ปรองดอง ช่วยเหลือกันและกัน ไม่ทอดทิ้งกัน

.

พ่อท่านคล้ายมีวาจาศักดิ์สิทธิ์มากในครั้งนั้น ได้ทำถนนเข้าบ้านสวนอาย สถานที่แห่งนั้นมีกอไม้ไผ่มากแต่ไม้ไผ่กอนั้นใหญ่และอยู่ตรงกลางถนนพอดี แต่ชาวบ้านก็ช่วยกันขุดโดยรอบและลึกมากจนรอบกอ พ่อท่านก็ใช้ให้คนไปหาเชือกเส้นใหญ่มาผูกรอบกอไผ่ เพื่อให้ชาวบ้านช่วยลากขึ้นจากหลุม แต่พอดีช่วงนั้นมีช้างเดินผ่านมา ชาวบ้านก็บอกควาญช้างให้ช่วยลากให้ ควาญช้างก็เอาโซ่ พันรอบกอไผ่นั้น แล้วให้ช้างลาก ปรากฏว่าโซ่ขาด ควาญช้างก็ชักโมโหรีบไล่ช้างไปให้พ้น

 

พ่อท่านคล้ายก็พูดกับนายหมี สิทธิเชนทร์ (ชาวบ้านสวนอายที่มาช่วยทำงาน) ว่า

“ขึ้นแล้วหรือยัง เณรหมี”

“ยังไม่ขึ้นทีพ่อท่าน” ลุงหมีแกก็บอกพ่อท่านคล้ายว่า “ช้างลากก็ไม่เลื่อน โซ่ขาด เจ้าของช้างโกรธไปเสียแล้ว”

 

พ่อท่านคล้ายก็ใช้นายหมี สิทธิเชนทร์ให้เอาเชือกหวายข้อลึกสองเส้นไปพันกอไผ่ ให้คนได้เข้ามาช่วยลาก

นายหมี สิทธิเชนทร์ก็ได้พูดขึ้นว่า

“ช้างก็ลากไม่เลื่อน คนลากก็ไม่ขึ้นนี่พ่อท่านแรงคนครึ่ง ของแรงช้างก็ไม่ได้”

“มึงลองลากแลทีลุงหมี”

นายหมีและนายแอน สิทธิเชนทร์สองคนพี่น้องไม่ขัดคำของพ่อท่าน จึงเอาหวายเข้าไปผูก ผูกเสร็จ แล้วลุงหมีก็เรียกคนให้ฉวยเชือก (จับเชือก) พร้อมกันหัวไผ่เลื่อนขึ้นจากหลุม ไม่น่าเชื่อ

 

พ่อท่านคล้ายก็พูดขึ้นทันที

“หนักไม่หนักละเณรหมี”

“ไม่หนักพ่อท่านเหอ” ลุงหมีกับลุงแอนนั่งหัวเราะ

“เชื่อแล้ว พ่อท่านเหอ ผมเองก็ไม่นึกว่ากอไผ่นั้นจะขึ้น

นับจำนวน คนแล้ว สิบสี่คนเท่านั้น”

 

นี่คือวาจาสิทธิ์ของพ่อท่านคล้าย พ่อท่านคล้ายได้สร้างสะพานที่ท่าต้นโพธิ์ บ้านใหม่ สะพานข้ามน้ำคลองใหญ่ (คลองตาปี) มีชาวบ้านที่นั่นชื่อลุงแดงหกเหลี่ยม เป็นคนชอบทำงานส่วนรวม ลุงแดงขึ้นไปติดไม้พยุง เพื่อจะมุงหลังคาสะพานบังเอิญพลาดตกลงมา ในคลองที่ไม่มีน้ำนอนนิ่ง ชาวบ้านตามไปบอกพ่อท่านคล้ายอย่างเร่งรีบ พ่อท่านคล้ายก็เอาน้ำมนต์มาพรมให้เสร็จแล้ว พ่อท่านคล้ายก็เรียกว่าเณรแดง พันพรือ เณรแดง ลุงแดงก็บอกว่า ไม่พรือพ่อท่านเหอ มีที่หัวเข่า ถลอกนิดเดียว ตกลงว่าลุงแดงไม่เจ็บตรงไหนนี่แสดงให้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพ่อท่านคล้ายให้ปรากฏ

.

การขยายหมู่บ้าน

 

กำนันในขณะนั้นคือ นายขาบ วงศ์สวัสดิ์ จึงได้ประสานกับอำเภอฉวางซึ่งมีนายแจ้ง ฤทธิเดช เป็นนายอำเภอ ของแบ่งแยกหมู่บ้าน จากหมู่ที่ 1 เป็นหมู่ที่9 ของตำบลละอาย โดยมีนายพัว วงศ์สวัสดิ์ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ต่อมาเมื่อนายพัว ได้ออกจากการเป็นผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านจึงได้เลือกนายกาจ องอาจ เป็นผู้ใหญ่บ้านแทน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2503 และได้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านมาเสมอต้นเสมอปลาย

.

จากการร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ มีอีกหลายเรื่องราวและเรื่องเล่าที่น่าสนใจ ซึ่งคณะทำงานจะได้รวบรวม เรียบเรียง เพื่อใช้สอยประโยชน์ตามเหตุตามปัจจัยต่อไป รวมถึงที่ยกมานี้ก็พอสังเขป ในฉบับร่างยังระบุเรื่องทับหรั่ง สถานการณ์คอมมิวนิสต์ วันคืนสู่เหย้า การรับเสด็จหม่อมเจ้าหญิงวิภาวดีรังสิต ศาลาประชาคมหลังแรกของหมู่บ้าน การขยายหมู่บ้านครั้งที่ 2 ลำดับผู้ใหญ่บ้าน ขุนพิปูน การทำนา และการทำสวนยางพาราอีกด้วย

 

 

ประวัติอำเภอลานสกา ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

ประวัติอำเภอลานสกา
ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

เหตุที่ได้จั่วหัวว่าเป็น “ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค” นั้น ด้วยคัดมาจากหนังสือ “ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช” ซึ่งเข้าใจเอาจากคำนำในเล่มว่าเป็นข้อสั่งการจากกระทรวงมหาดไทยถึงจังหวัดทุกจังหวัด ให้รวบรวมและเรียบเรียงเหตุการณ์สำคัญ เอกสาร ความเป็นมา ภูมิประเทศ สถานที่และบุคคลสำคัญของจังหวัดต่าง ๆ เป็นสารบบ มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการท้องถิ่น ได้แก่ วิมล ดำศรี, วิเชียร ณ นคร, ประหยัด เกษม, สมพุทธ ธุระเจน และฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ เป็นคณะทำงาน โดยที่ น้อม อุปรมัย, กระจ่าง คีรินทร์นนท์ และขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นที่ปรึกษา

.

หนังสือดังกล่าว แบ่งเป็น 8 บท ได้แก่ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ลักษณะการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติความเป็นมา ประวัติเทศบาลในจังหวัดนครศรีธรรมราช บุคคลสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และทำเนียบนามผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

.

ส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำเภอลานสกานั้น ปรากฏอยู่ในบทที่ 3 “ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช” โดยจะได้คัดมาเผยแพร่ดังต่อไปนี้ (แบ่งวรรคตอนและย่อหน้าใหม่รวมถึงปรับคำบางช่วงตอนเพื่อสะดวกต่อการอ่าน แต่ยังคงสาระสำคัญไว้ตามต้นฉบับทุกประการ ประกอบกับในชั้นนี้จะยังไม่มีบทวิเคราะห์ข้อมูลใดๆ)

.

ลานสกา จากเขาแก้ว

เดิมเป็นหมู่บ้านที่ขึ้นกับอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาเมื่อทางราชการได้แบ่งการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล บริเวณอำเภอลานสกานี้ก็ถูกกำหนดให้เป็นกิ่งอำเภอ เรียกว่า “กิ่งอำเภอเขาแก้ว” เพราะที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ในตำบลเขาแก้ว ต่อมาได้ยุบตำบลเขาแก้วมาขึ้นกับตำบลลานสกา ที่ว่าการอำเภอก็ติดอยู่ในตำบลลานสกา ถึงแม้ว่าจะแยกตำบลเขาแก้วออกจากตำบลลานสกาแล้วในปัจจุบัน และที่ว่าการอำเภอจะตั้งอยู่ในตำบลเขาแก้วก็ตาม ก็ยังคงเรียกว่า “กิ่งอำเภอลานสกา” ตามเดิมตลอดมา

.

อำเภอลานสกา

ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2500

ทางราชการได้ประกาศยกฐานะกิ่งอำเภอลานสกา

เป็น “อำเภอลานสกา” จนถึงทุกวันนี้

.

ลานสกา

คำว่า “ลานสกา” อธิบายได้เป็นสามนัย ดังนี้

 

1.

ชื่อมาจากภาษาของชาวหมู่เกาะทะเลใต้ ซึ่งได้นำศาสนาฮินดูและพุทธเข้ามาครั้งแรก เรียกว่า “แลงกา” แปลว่า “หุบเขา” “หว่างเขา” ซึ่งก็ตรงกับภูมิประเทศ แล้วก็เรียกเพี้ยนไปจนเป็น “ลานสกา”

 

2.

ชื่อนี้เป็นไทยแท้ คือ ลาน หมายถึง ที่ราบหรือที่เตียน เล่ากันว่าในครั้งก่อน ฝูงกาลงมารวมพวกพ้องส่งเสียงร้องกันสนุกสนานเป็นประจำ ชาวบ้านจึงเรียกสถานอันโล่งเตียนนั้นว่า “ลานสกา”

.

ในสมัยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชมาสร้างเมือง “ศิริธรรมนคร” ที่หาดทรายแก้วนั้น ช่วงหนึ่งได้เกิดไข้ห่าหรือโรคระบาดขึ้นในเมือง พระองค์จึงอพยพราษฎรไปตั้งชั่วคราวอยู่ในเขตตำบลลานสการาวห้าปี เมื่อโรคระบาดได้สงบลงแล้วจึงอพยพกลับมาอยู่ที่หาดทรายแก้วตามเดิม จากหลักฐานนี้อาจเป็นไปได้ที่ว่าฝูงกาลงมากินซากศพของคนตาย เมื่อครั้งที่เกิดโรคระบาด

 

3.

สกา เป็นเครื่องเล่นการพนันที่ใช้ลูกเต๋าทอด “ลานสกา” จึงมีความหมายไปในทางเล่นการพนันสกา

___
คัดจาก

นครศรีธรรมราช, จังหวัด. (2527). ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช: จังหวัดนครศรีธรรมราช.

วันเด็กของ “ไอ้ไข่” เด็กวัดเจดีย์ นครศรีธรรมราช

วันเด็กของ “ไอ้ไข่”

เด็กวัดเจดีย์ นครศรีธรรมราช

 

วันเด็ก-วัยเด็ก

วันเด็กในที่นี้

ไม่ได้หมายความว่าเป็นเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมอย่างทุกปี

แต่ตั้งใจจะให้กินความเดียวกันกับ “วัยเด็ก”

และ “เด็กนครศรีธรรมราช” ทั้งที่ “เด็กๆ” หรือไม่ “เด็ก” แล้วก็ต้องรู้จัก

เป็นใครไปไม่ได้ในยุคนี้ นอกจาก “ไอ้ไข่”

.

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เดี๋ยวนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก “ไอ้ไข่”

แต่จะด้วยสถานะใดหรือแง่ไหน

ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการที่จะเข้าถึงกันเฉพาะบุคคล

.

ขอได้ ไหว้รับ

ไอ้ไข่ ในความรับรู้ของผู้คนในปัจจุบัน ถูกอธิบายด้วยหลักคิดของความเชื่อเกี่ยวกับอำนาจเหนือธรรมชาติ กล่าวคือ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ให้คุณแก่ผู้เซ่นสรวงบูชา ดังคำกล่าวติดหูว่า “ขอได้ ไหว้รับ”

.

เล่ากันว่า ไอ้ไข่เป็นเด็กวัด ที่บ้างก็เท้าความไปผนวกกับตำนานหลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด โดยเป็นศิษย์ผู้อุปฐากใกล้ชิด แล้วมามีเหตุให้ต้องแยกกัน ณ ตำแหน่งที่ปัจจุบันเป็นวัดเจดีย์ ตำบลฉลอง อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อนที่ภายหลังจะเป็นไป แล้วเหลือแต่สภาพที่รู้จักกันในชื่อ “วิญญาณ” กับอีกแหล่งเชื่อว่า เป็นเด็กวัดที่นั่นมาแต่เดิม ส่วนครึ่งหลังกล่าวพ้องกัน

.

ในที่นี้ บรรดาอิทธิและปาฏิหาริย์ของไอ้ไข่ ไม่อยู่ในขอบเขตของบทความที่จะทำความเข้าใจไปถึง เพราะสามารถสืบความได้จากโซเชียลมีเดีย กับหาฟังโดยตรงได้จากผู้มีประสบการณ์ร่วม

.

มุมที่อยากชวนมองคือ “ไอ้ไข่” ในฐานะของการสะท้อนภาพของ “เด็ก” ชาว “นครศรีธรรมราช” อย่างน้อยก็ในทศวรรต ๒๕๒๐

.

รูปสลักดั้งเดิมของไอ้ไข่ เป็นฝีมือของผู้ใหญ่เที่ยง เมืองอินทร์ ผู้ได้นามว่า “เที่ยง หักเหล็ก” มีลักษณะเป็นรูปเด็กผู้ชายไว้จุก ตรงนี้เองเป็นที่มาของข้อสังเกตประการแรกสุดคือเรื่องอายุของไอ้ไข่ ธรรมเนียมการไว้จุกของไทยสำหรับเด็กผู้ชาย มีกำหนดจัดพิธีโกนจุกเมื่ออายุครบ ๑๓ ขวบปี ก็สอดคล้องกับเรื่องเล่าโดยประมาณว่า ไอ้ไข่เป็นเด็กชายอายุ ๑๐ ขวบ

.

สิ่งที่เด็กจะได้รับในวันโกนจุกพร้อมกับสถานะวัยรุ่นคือ “ชื่อ” ตรงนี้หมายความว่า “ไอ้ไข่” เป็นสรรพนามเรียกแทนตัวก่อนที่จะมีชื่อทางการ ซึ่งก็เป็นธรรมเนียมว่า เมื่อแรกเกิดจนถึงโกนจุก ทั้งเด็กหญิงและเด็กชายจะถูกเรียกแทนด้วยลักษณะตัว อวัยวะ รูปร่าง เช่นว่า ดำ เขียว แดง แห้ง อ้วน สั้น ยาว ตาดำ บ้างก็เรียกตามนิสัยในวัยเด็กเช่น ขี้ร้อง หรือบ้างก็อาศัยของใกล้ตัว ทั้งคน สัตว์ สิ่งของ เช่น เรือน แมว ทอง เป็นต้น

.

ไข่-นุ้ย

ไข่ ก็รวมอยู่ในนี้ ซึ่งเป็นชื่อแทนตัวที่ค่อนข้างจะได้รับความนิยมเนื่องจากแสดงเพศสภาพของผู้ถูกเรียกได้ชัดเจน กับทั้งอาจมีความสืบเนื่องจากคติเรื่อง “ลึงค์” ตามที่นักมานุษยวิทยาบางท่านพยายามอธิบายความก็เป็นได้ ทั้งนี้ “ไข่” มักจะคู่กับ “นุ้ย” โดยที่นุ้ยก็เป็นชื่อแทนตัวที่ได้รับความนิยมสำหรับใช้เรียกเด็กผู้หญิงก่อนโกนจุกเช่นเดียวกัน

.

คำว่า “นุ้ย” ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมด้านภาษาของนครศรีธรรมราช เป็นคำสำคัญที่มีใช้ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีเป็นอย่างต่ำ แถมยังสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มักใช้ใน ๒ กรณี กรณีเป็นชื่อตัว อาทิ เจ้าจอมมารดา “นุ้ยใหญ่” ในสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และ เจ้าจอมมารดา “นุ้ยเล็ก” ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ซึ่งทั้ง ๒ เจ้าจอมมารดานี้ เป็นธิดาในเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัด) กับเจ้าหญิงชุ่ม พระธิดาในพระเจ้านครศรีธรรมราช

.

ส่วนอีกกรณีคือการใช้เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๑ แทนตัวผู้พูดนั้น ยังคงได้ยินจนถึงปัจจุบัน คือ นุ้ยอย่างนั้น นุ้ยอย่างนี้ ดังที่หลายคนก็อาจจะยังคงใช้แทนตัวอยู่ จะพบว่า หลายครั้ง ชื่อเรียกแทนตัวเช่นว่า “นุ้ย” นี้ กลายมาเป็นชื่อตัวไปด้วยโดยปริยาย

.

ธรรมเนียมการตั้งชื่อเหล่านี้ค่อยคลี่คลายลงเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุลขึ้น และก็คงคลี่คลายไปพร้อมกับการตั้งพิธีโกนจุกทั้งของเด็กผู้ชายในวัย ๑๓ และเด็กผู้หญิงในวัย ๑๑ (ตามการสัมภาษณ์บุตรสาวขุนพันธรักษ์ราชเดช)ฯ

 

ประวัติอำเภอท่าศาลา ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

ประวัติอำเภอท่าศาลา
ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

 

เหตุที่ได้จั่วหัวว่าเป็น “ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค” นั้น ด้วยคัดมาจากหนังสือ “ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช” ซึ่งเข้าใจเอาจากคำนำในเล่มว่าเป็นข้อสั่งการจากกระทรวงมหาดไทยถึงจังหวัดทุกจังหวัด ให้รวบรวมและเรียบเรียงเหตุการณ์สำคัญ เอกสาร ความเป็นมา ภูมิประเทศ สถานที่และบุคคลสำคัญของจังหวัดต่าง ๆ เป็นสารบบ มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการท้องถิ่น ได้แก่ วิมล ดำศรี, วิเชียร ณ นคร, ประหยัด เกษม, สมพุทธ ธุระเจน และฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ เป็นคณะทำงาน โดยที่ น้อม อุปรมัย, กระจ่าง คีรินทร์นนท์ และขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นที่ปรึกษา

.

หนังสือดังกล่าว แบ่งเป็น 8 บท ได้แก่ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ลักษณะการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติความเป็นมา ประวัติเทศบาลในจังหวัดนครศรีธรรมราช บุคคลสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และทำเนียบนามผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

.

ส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำเภอปากท่าศาลานั้น ปรากฏอยู่ในบทที่ 3 “ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช” โดยจะได้คัดมาเผยแพร่ดังต่อไปนี้ (แบ่งวรรคตอนและย่อหน้าใหม่รวมถึงปรับคำบางช่วงตอนเพื่อสะดวกต่อการอ่าน แต่ยังคงสาระสำคัญไว้ตามต้นฉบับทุกประการ ประกอบกับในชั้นนี้จะยังไม่มีบทวิเคราะห์ข้อมูลใดๆ)

 

ท่าศาลา จากตำนานเมืองนครศรีธรรมราช

ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชระบุว่า เจ้าศรีมหาราชาบุตรพระพนมวังและนางเสดียงทอง เจ้าเมืองเวียงสระได้เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อยกไพร่พลเข้าตั้งอยู่ในเมืองเรียบร้อยแล้ว คิดจำทการซ่อมแซมพระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช จึงได้ส่งคนออกมาทำนาที่ทุ่งกระโดน (ตำบลท่าศาลา) ทุ่งหนองไผ่ (ตำบลท่าขึ้น) และทำนารักษาพระที่วัดนางตรา (ตำบลท่าศาลา) และให้คนเข้าไปอยู่บ้านกรุงชิง

.

ส่วนในทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราช ครั้งรัชกาลที่ 2 ระบุถึงท้องที่ต่าง ๆ ในอำเภอนี้ ได้ตั้งเป็นบ้านเมืองมาตั้งแต่สมัยแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา มีนายที่ปกครองหลายตำบล คือที่ตำบลไทยบุรี ออกหลวงไทยบุรีศรีมหาสงคราม ศักดินา 1,200 ไร่ ฝ่ายซ้ายที่ตำบลนบพิตำ นายที่ชื่อขุนเดชธานี ที่กลาย นายที่ชื่อขุนสัณห์ธานี

.

บรรดานายที่เหล่านั้น ปรากฏว่าที่ไทยบุรีเป็นแขวงใหญ่กว่าที่อื่น นายที่มีตราประจำตำแหน่งเป็นรูปโค เครื่องยศมีช้างพลาย 1 จำลอง 1 ทวน 1 ขวด 1 แหลน 20 ปืนนกสับหลังช้าง 1 กระบอก ปืนนกสับเชลยศักดิ์ 6 กระบอก ปืนกระสุนนิ้วกึ่งเชลยศักดิ์ 1 กระบอก หอกเขต 15 ทวนเท้า 6 และได้รับพระราชทานไพร่เลวที่ไทยบุรี ได้รับพระราชทานค่าคำนับฤชาภาษีส่วย มีกรมการคือขุนราชบุรี เป็นรองนายที่ หมื่นเทพบุรี เป็นสมุห์บัญชี หมื่นบาลบุรี เป็นสมุห์บัญชี หมื่นสิทธิสารวัด เป็นสารวัตร เมืองท่าสูง เมืองเพ็ชรชลธี ขึ้นไทยบุรี และบ้านเปียน บ้านปากลง บ้านกรุงบาง ซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขาตำบลนบพิตำ ชาวบ้านได้หนีสักเมื่อครั้งรัชกาลที่ 2 เข้าไปตั้งบ้านเรียนหลบซ่อนอยู่ บัดนี้กลายเป็นหมู่บ้านและตำบลนบพิตำ

.

เมื่อครั้งรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แขกเมืองไทรบุรีเป็นขบถตั้งแข็งเมือง เจ้าเมืองนครต้องยกทัพออกไปทำการปราบปราม ออกหลวงไทยบุรีศรีมหาสงคราม นายที่ไทยบุรี ได้ยกกองทัพไปช่วยเมืองนครทำการปราบปรามด้วย เดินทัพจากไทยบุรีไปยังนครศรีธรรมราช ทางที่ออกหลวงไทยบุรีเดินทัดนี้ ต่อมาชาวบ้านเรียกว่าทางทัพหลวงไทย เป็นทางด่วนสาธารณะกั้นเขตแดนระหว่างตำบลไทยบุรีกับตำบลกะหรอปัจจุบัน

.

นอกจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ความเป็นมาดังกล่าวข้างต้น อาจทราบได้จากโบราณสถาน วัดวาอารามต่าง ๆ ในท้องที่ เช่น วัดนางตรา และวัดโมคลาน ซึ่งเป็นโบราณสถานที่นักโบราณคดีประมาณอายุว่าสร้างในราว พ.ศ.1400 – 1800 เป็นวัดร้างไประยะหนึ่ง เนื่องจากภัยสงครามเมื่อครั้งพม่ามาตีเมืองนครศรีธรรมราชในสมัยรัชกาลที่ 1 เพราะที่ตั้งวัดอยู่ใกล้เส้นทางเดินทัพพม่า

.

อำเภอกลาย

พุทธศักราช 2430 ได้รวบรวมท้องที่ต่าง ๆ ตั้งเป็น “อำเภอกลาย” มี 10 ตำบล ได้แก่ ตำบลท่าศาลา ท่าขึ้น สระแก้ว กลาย ไทยบุรี กะหรอ นบพิตำ หัวตะพาน โมคลาน ดอนตะโก นายอำเภอคนแรกชื่อนายเจริญ ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ริมทะเลบ้านปากน้ำท่าสูง และย้ายไปตั้งที่วัดชลธาราม (วัดเตาหม้อ) ครั้งสุดท้ายย้ายมาตั้งที่ตลาดท่าศาลา ต่อมาในปี 2459 ได้เปลี่ยนชื่ออำเภอกลายเป็น “อำเภอท่าศาลา”

.

ท่าศาลา

ชื่ออำเภอนั้น ตั้งตามชื่อหมู่บ้านที่ตั้งที่ว่าการอำเภอท่าศาลา คือบ้านท่าศาลา บ้านท่าศาลานี้ตั้งอยู่ริมคลองท่าศาลา ซึ่งเป็นคลองเล็กแยกมาจากคลองท่าสูง เป็นท่าจอดเรือสินค้าจากต่างเมือง ที่ท่าเรือมีศาลาพักร้อนปลูกอยู่หนึ่งหลัง เดิมเป็นศาลาชั่วคราวมุงจาก ต่อมาปลูกเป็นเรือนไม้ทรงปั้นหยา มุงสังกะสี ครั้น พ.ศ.2510 ได้รื้อศาลานี้ปลูกใหม่เป็นทรงไทย มุงกระเบื้อง พื้นคอนกรีตเสริมเหล็กหินขัด กว้าง 6 เมตร ยาว 12 เมตร โดยบริษัท ท่าศาลาเหมืองแร่ จำกัด เป็นผู้อุทิศเงินในการก่อสร้างจำนวน 70,000 บาท ชาวบ้านเรียกว่า “ศาลาน้ำ” ตั้งอยู่ริมคลองท่าศาลาใกล้ท่าจอดเรือในสมัยก่อน แต่เดียวนี้ลำคลองตื้นเขินใช้เป็นท่าเรือไม่ได้แล้ว แต่ยังมีศาลาเป็นอนุสรณ์อยู่

___
คัดจาก

นครศรีธรรมราช, จังหวัด. (2527). ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช: จังหวัดนครศรีธรรมราช.

โนรามดลิ้น ผู้รับพระราชทานนามสกุล “ยอดระบำ”

โนรามดลิ้น
ผู้รับพระราชทานนามสกุล “ยอดระบำ”

 

โนรา : มรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ

ท่ามกลางการร่วมเฉลิมฉลองและชื่นชมยินดีในโอกาสที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 16 ณ สำนักงานใหญ่ยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้ประกาศขึ้นทะเบียน“โนรา : Nora, dance drama in southern Thailand” เป็นรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity)หลายส่วนฝ่ายต่างแสดงบทบาทเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเหตุการณ์ได้อย่างน่าสนใจ

.

โนราประกอบขึ้นได้ด้วยหลายองค์ประกอบ ทั้งผู้แสดง เครื่องแต่งกาย นักดนตรี เครื่องดนตรี ผู้ชม เจ้าภาพ วาระและโอกาส รวมถึงองค์ความรู้ในองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง อาจกล่าวได้ว่า โนราเป็นผลรวมของสหวิทยากรที่ผ่านการสั่งสมภูมิปัญญาและมีพลวัตอย่างต่อเนื่องยาวนาน โนราจึงไม่อาจมองหรืออธิบายได้โดยสรุปเพียงแค่แง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง และเชื่อว่าหลังจากนี้ เมื่อยูเนสโก้ได้ประกาศรับรองอย่างเป็นทางการให้โนราเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติแล้ว เราจะได้ศึกษาและคลี่มองโนรากันอย่างรอบขึ้น

.

หอสมุดแห่งชาติ นครศรีธรรมราช เปิดให้บริการภายใต้ภาพลักษณ์และรูปโฉมใหม่ หลายวันก่อนมีโอกาสเข้าไปเยี่ยมเยียน โดยเฉพาะห้องศรีวิชัย ที่รวบรวมข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้ไว้อย่างหลากหลาย หนึ่งในนั้นมีหนังสือชื่อ “นครศรีธรรมราช” ที่ประกอบด้วยหัวข้อเรื่องเกี่ยวกับเมืองนครศรีธรรมราชไว้ในหลายมิติ ทั้งสังคม ภูมิศาสตร์ และวัฒนธรรม เพื่อให้สอดคล้องกับบรรยากาศที่ชุดความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับโนรามีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการศึกษาอย่างเป็นระบบ จึงจะขอคัดที่เกี่ยวข้องกับอัตชีวิประวัติของโนรารุ่นเก่าของนครศรีธรรมราช นาม “มดลิ้น ยอดระบำ” มาให้ได้อ่านกันในที่นี้ (โดยจะขอปรับคำเรียกให้พ้องตามสากลว่า “โนรา” กับทั้งชั้นนี้จะเว้นการวิเคราะห์และตีความใด ๆ ไว้ เว้นแต่ข้อสังเกตเกี่ยวกับข้อมูลเกี่ยวกับการถ่ายทำท่ารำในหนังสือตำรารำไทย ที่ระบุว่าโนราที่ปรากฏรูปคู่กับหมื่นระบำบรรเลงนั้น อาจคือ “โนราเย็น” ดังจะได้สืบความต่อไป)

.

“โนรามดลิ้น เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงมาก เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วไปทั้งที่เมืองนครศรีธรรมราชและจังหวัดอื่น ๆ แม้แต่ในกรุงเทพมหานคร โนรามดลิ้นก็เคยเข้าไปรำเผยแพร่หน้าพระที่นั่งหลายครั้งหลายคราวจนเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป และเนื่องจากความสามารถในการรำโนรานี้เอง ท่านผู้นี้จึงได้รับพระราชทานพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “ยอดระบำ”

.

ชาตกาล

โนรามดลิ้น ยอดระบำ เกิดเมื่อวันเสาร์ ที่ 11 พฤษภาคม 2421 ตรงกับเดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ปีขาล เป็นบุตรนายทอง นางนุ่ม เป็นหลานปู่ของนายบัวจันทร์ และย่าชุม เกิดที่บ้านหัวสะพานขอย หมู่ที่ 4 ตำบลควนเกย อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน 4 คน คือ นางบึ้ง นายมดลิ้น นางลิบ และนางลม

.

เรียนขอม

เมื่ออายุประมาณ 7 ขวบ พ่อท่านทวดด้วงได้พาให้ไปศึกษาหนังสือไทยสมัยเรียน นอโม-พุท-ท่อ และเรียนเวทมนต์คาถากับพ่อท่านคงที่วัดเนกขัมมาราม (หน้ากาม) อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อเรียนหนังสืออ่านออกเขียนได้ดีแล้ว ท่านอาจารย์คงได้ฝากให้ไปเล่าเรียนวิชาไสยศาสตร์เพิ่มเติมกับท่านอาจารย์เกิดที่วัดป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง กระทั่งมีความรู้อ่านออก เขียนหนังสือขอมได้

.

อุปสมบท

ครั้นอายุ 20 ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ จำพรรษาอยู่ที่วัดมัชฌิมภูผา อำเภอร่อนพิบูลย์ 1 พรรษา สมัยพระอาจารย์ภู่เป็นสมภาร และได้ศึกษาเล่าเรียนเวทมนต์คาถาเพิ่มเติมด้วย ต่อมาอายุ 22 ปี ได้สมรสกับนางทิม บุตรโนราปลอด-นางศรีทอง บ้านวังไส ตำบลสามตำบล มีบุตรด้วยกัน 7 คน คือ นายกลิ้ง นายคล่อง นายสังข์ นายไว นางพิน นางพัน และนายเจริญ

.

โนรามดลิ้น

โนรามดลิ้นได้ฝึกหัดรำโนราเมื่ออายุ 14 ปี โดยฝึกหัดกับโนราเดช บ้านหูด่าน อำเภอร่อนพิบูลย์ ซึ่งเป็นอาจารย์เดียวกันกับโนราหมื่นระบำบรรเลง (คล้าย พรหมเมศ หรือ คล้ายขี้หนอน) เมื่อรำเป็นแล้วได้เที่ยวรำกับอาจารย์ หมื่นระบำบรรเลง และโนราเถื่อน บ้านทุ่งโพธิ์ อำเภอร่อนพิบูลย์ ในสมัยก่อนโนราส่วนมากไม่ค่อยมีสตรีร่วมแสดงเหมือนอย่างทุกวันนี้ เมื่อจะแสดงเรื่องก็ใช้ผู้ชายแสดงแทน โนรามดลิ้นซึ่งกล่าวได้ว่าสมัยนั้นรูปหล่อ สุภาพ อ่อนโยน ก็ทำหน้าที่แสดงเป็นตัวนางเอกแทบทุกครั้ง และแสดงได้ถึงบทบาทจนกระทั่งคนดูสงสารหลั่งน้ำตาร้องไห้เมื่อถึงบทโศก

.

โนรามดลิ้นเที่ยวแสดงในงานต่าง ๆ แทบทั่วทั้งภาคใต้ จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย นอกจากนี้เคยไปแสดงในงานสำคัญ ๆ ในกรุงเทพฯ หลายครั้ง ได้แก่

.

รำถวายหน้าพระที่นั่ง

ครั้งแรก ได้ไปรำถวายในพระบรมมหาราชวังเนื่องในงานราชพิธีหน้าพระที่นั่ง มีโนราคล้าย ขี้หนอน เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปทางเรือรวมทั้งหมด 13 คน ในการรำถวายครั้งนี้ โนราคล้าย ขี้หนอน แสดงเป็นตัวพระ ส่วนโนรามดลิ้น แสดงเป็นตัวนาง หลังจากแสดงแล้วเสร็จ โนราคล้าย ขี้หนอน ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหมื่นระบำบรรเลง โนรามดลิ้นได้รับพระราชทานนามสกุล “ยอดระบำ” และในโอกาสเดียวกันเจ้าหน้าที่ฝ่ายศิลปินในสำนักพระราชวัง ได้จดบทกลอนท่ารำโนราและบทต่าง ๆ ไว้หลายบท เพื่อถือเป็นแบบฉบับสำหรับการศึกษาต่อไป

.

ครั้งที่สอง เมื่อ พ.ศ.2466 ได้ไปรำในงานพระราชพิธีที่ในพระบรมมหาราชวัง สมัยรัชกาลที่ 6 โดยหมื่นระบำบรรเลงเป็นหัวหน้า พร้อมด้วยโนรามดลิ้น ยอดระบำ โนราเสือ (ทุ่งสง) โนราพรัด (ทุ้งไห้ฉวาง) โนราคลิ้ง ยอดระบำ โนราไข่ร็องแร็ง (สามตำบล) พรานทองแก้ว พรานนุ่น กับลูกคู่รวม 14 คน

.

เมื่อกลับจากการแสดงครั้งนี้ชั่วระยะไม่ถึง 2 เดือน ทางราชการได้เรียกโนราให้ไปแสดงอีก แต่เนื่องจากครั้งนั้นโนรามดลิ้นได้นำคณะโนราส่วนหนึ่งเดินทางไปแสดงที่จังหวัดกระบี่ พังงา และอำเภอตะกั่วป่า (เดินเท้า) จึงไม่สามารถกลับมาและร่วมไปแสดงได้ หมื่นระบำบรรเลง จึงรวบรวมบรรดาศิษย์ไปแสดงเอง การแสดงครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายศิลปากรได้ถ่ายรูปท่ารำโนราต่าง ๆ ของหมื่นระบำบรรเลงกับโนราเย็นไว้เป็นแบบฉบับเพื่อการเผยแพร่และการศึกษาของอนุชนรุ่นหลัง ดังปรากฎในหนังสือว่าด้วยตำรารำไทยในหอสมุดแห่งชาติ

.

ครั้งที่สาม เมื่อ พ.ศ. 2473 ได้ไปรำถวายในพระบรมมหาราชวังเนื่องในงานพระราชพิธีหน้าพระที่นั่งรัชกาลที่ 7 ครั้งนี้หมื่นระบำบรรเลงแก่ชรามาก จึงไม่ได้เดินทางไป มอบให้โนรามดลิ้น ยอดระบำ เป็นหัวหน้าคณะ นำโนรา 12 คนไปรำถวายแทน

.

เข้ากรมศิลปากร

ปลายปี พ.ศ. 2479 ครั้งหลวงวิจิตวาทการเป็นอธิบดีกรมศิลปากร ได้ริเริ่มปรับปรุงฟื้นฟูมหรสพพื้นเมืองทั่วไป ถึงได้เดินทางมาขอชมการรำโนราแบบโบราณที่เมืองนครศรีธรรมราช โนรามดลิ้น ยอดระบำ ได้นำคณะแสดงให้ชมที่เรือนรับรองของข้าหลวงประจำจังหวัดในสมัยนั้น ผู้แสดงมีโนราคลิ้ง อ้น เจริญ ปุ่น และพรานบก การแสดงเป็นที่พึงพอใจของอธิบดีเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ขอตัวโนราเจริญและปุ่นไปอยู่ที่กรมศิลปากร เพื่อถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับโนราแบบโบราณให้แก่นักเรียนของโรงเรียนนาฏศิลป์ กรมศิลปากรได้ศึกษา และได้ให้โนราทั้งสองได้เล่าเรียนหนังสือไทยเพิ่มเติม พร้อมทั้งศึกษาท่ารำแบบต่าง ๆ ของกรมศิลปากรให้มีความรู้ความชำนาญยิ่งขึ้น โนราเจริญและปุ่น ศึกษาอยู่ที่กรมศิลปากรเป็นเวลา 1 ปี จึงได้กลับมายังนครศรีธรรมราช

.

ครั้งที่สี่ เมื่อ พ.ศ. 2480 ได้ไปรำในงานวันชาติที่ท้องสนามหลวงอีกครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้ โนรามดลิ้นไปในฐานะหัวหน้าคณะเท่านั้น เพราะแก่ชรามากแล้ว รำไม่ได้ จึงให้โนราคลิ้ง ยอดระบำ ซึ่งเป็นบุตร แสดงแทน

.

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว โนรามดลิ้น ยอดระบำ ได้เคยนำคณะไปรำในงานของทางราชการบ้านเมืองอีกหลายครั้ง ที่สำคัญ เช่น รำถวายรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จประพาสภาคใต้ ซึ่งได้ทรงเสด็จในงานยกช่อฟ้าพระวิหารหลวง วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช และรำในงานต้อนรับพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งเดินทางมาตรวจเยี่ยมราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช

.

ส่วนงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับงานของเพื่อนฝูงและญาติพี่น้อง ในอำเภอหรือในจังหวัดใกล้เคียง โนรามดลิ้นได้นำคณะไปช่วยเหลืออยู่เป็นประจำเสมอ ในชีวิตของท่านจึงนับได้ว่าท่านใช้ความสามารถได้เกิดประโยชน์อย่างมาก

.

แพทยศาสตร์

นอกจากความสามารถของการรำโนราแล้ว โนรามดลิ้นยังสามารถบริการประชาชนในเรื่องยากลางบ้านอีกด้วย กล่าวคือท่านได้ศึกษาหาความรู้ทางแพทย์แผนโบราณ เป็นหมอรักษาผู้ที่ถูกยาสั่ง ถูกคุณไสยต่าง ๆ ตามหลักวิชาไสยศาสตร์อีกด้วย จึงนับได้ว่าท่านผู้นี้เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมอย่างกว้างขวางจนตลอดชีวิต

.

โนรามดลิ้น ยอดระบำ ถึงแก่กรรมเมื่อวันอังคารที่ 9 มกราคม 2511 เวลา 10.00 น. ด้วยโรคชรา ที่บ้านเลขที่ 181 หมู่ที่ 7 ตำบลร่อนพิบูลย์ อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช สิริอายุได้ 92 ปี”

____

คัดจาก
วิเชียร ณ นคร. (2521). นครศรีธรรมราช. กรุงเทพมหานคร: อักษรสัมพันธ์.

ภาพปก
ถ่ายโดย KARPELÈS Suzanne ช่างภาพชาวฝรั่งเศษ
เมื่อเดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๖๗
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖)

ประวัติอำเภอปากพนัง ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

ประวัติอำเภอปากพนัง
ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

เหตุที่ได้จั่วหัวว่าเป็น “ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค” นั้น ด้วยคัดมาจากหนังสือ “ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช” ซึ่งเข้าใจเอาจากคำนำในเล่มว่าเป็นข้อสั่งการจากกระทรวงมหาดไทยถึงจังหวัดทุกจังหวัด ให้รวบรวมและเรียบเรียงเหตุการณ์สำคัญ เอกสาร ความเป็นมา ภูมิประเทศ สถานที่และบุคคลสำคัญของจังหวัดต่าง ๆ เป็นสารบบ มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการท้องถิ่น ได้แก่ วิมล ดำศรี, วิเชียร ณ นคร, ประหยัด เกษม, สมพุทธ ธุระเจน และฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ เป็นคณะทำงาน โดยที่ น้อม อุปรมัย, กระจ่าง คีรินทร์นนท์ และขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นที่ปรึกษา

.

หนังสือดังกล่าว แบ่งเป็น 8 บท ได้แก่ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ลักษณะการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติความเป็นมา ประวัติเทศบาลในจังหวัดนครศรีธรรมราช บุคคลสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และทำเนียบนามผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

.

ส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำเภอปากพนังนั้น ปรากฏอยู่ในบทที่ 3 “ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช” โดยจะได้คัดมาเผยแพร่ดังต่อไปนี้ (แบ่งวรรคตอนและย่อหน้าใหม่รวมถึงปรับคำบางช่วงตอนเพื่อสะดวกต่อการอ่าน แต่ยังคงสาระสำคัญไว้ตามต้นฉบับทุกประการ ประกอบกับในชั้นนี้จะยังไม่มีบทวิเคราะห์ข้อมูลใดๆ)

.

หลักฐานตามทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราชสมัยรัชกาลที่ 2 ระบุว่าท้องที่ปากพนังก่อนตั้งเป็นอำเภอมีสถานะเป็นหัวเมืองฝ่ายขวา ขึ้นอยู่ในเขตการปกครองของเมืองนครศรีธรรมราช

.

อำเภอปากพนัง

หัวเมืองที่มารวมตั้งเป็นอำเภอปากพนังนั้น ได้แก่ เมืองพนัง เมืองพิเชียร ที่เบี้ยซัด และที่ตรง

.

ในสมัยปฏิรูปการปกครอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชวินิจฉัยเห็นว่า ภายหลังที่เจ้าพระยานคร (น้อย) ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว เจ้าเมืองนครถัดมาไม่เข้มแข็งในการปกครองเท่าที่ควร เป็นเหตุให้หัวเมืองมลายูอันเป็นประเทศราชกระด้างกระเดื่อง ขณะเดียวกันอังกฤษก็เข้ามามีเมืองขึ้นประชิดพรมแดน และได้ดำเนินการแทรกแซงกิจการภายในเมืองไทรบุรีมากขึ้น พระองค์ทรงเห็นว่าลักษณะและเหตุการณ์เช่นนี้ ย่อมจะเป็นอันตรายต่อสยามอย่างแน่นอน จึงมีพระราชดำรัสให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ ในฐานะเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จัดการแก้ไขการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้โดยรีบด่วน

.

มณฑลนครศรีธรรมราช

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ เสนอให้รวมเมืองนครศรีธรรมราชกับเมืองสงขลาเข้าเป็นมณฑลเดียวกัน เรียกว่า “มณฑลนครศรีธรรมราช” ที่ว่าการมณฑลตั้งอยู่ที่เมืองสงขลา พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลได้จัดการปกครองเมืองนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา เข้าสู่ระเบียบแบบแผนสมัยใหม่ ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. 116

.

การจัดการปกครองท้องที่ในสมัยนั้น ได้ตั้งกรมการอำเภอ ให้มีการเลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทุกตำบล หมู่บ้าน เมืองนครศรีธรรมราชแบ่งการปกครองออกเป็น 9 อำเภอ คือ อำเภอกลางเมือง เบี้ยซัด ร่อนพิบูลย์ กลาย สิชล ลำพูน ฉวาง ทุ่งสง และเขาพังไกร

.

อำเภอเบี้ยซัด

อำเภอเบี้ยซัด ตั้งขึ้นโดยรวบรวมหัวเมืองฝ่ายขวา 4 ตำบล คือเมืองพนัง พิเชียร ที่ตรง และที่เบี้ยซัด ตั้งเป็นอำเภอเมื่อพุทธศักราช 2440 นายอำเภอคนแรกคือหลวงพิบูลย์สมบัติ ที่ว่าการอำเภอชั่วคราวตั้งที่โรงสีเอี่ยมเส็ง ตำบลปากพนัง แล้วย้ายไปตั้งที่ตลาดสด ครั้งที่ 3 ย้ายมาตั้งที่กองกำกับตำรวจน้ำปากพนัง

.

ความในพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ 9 กรกฎาคม ร.ศ.124 ว่า

.

วันที่ 9 กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก 124 ถึงมกุฎราชกุมาร ในที่ประชุมรักษาพระนคร เพื่อจะให้รายงานการที่มาเที่ยวครั้งนี้ให้สำเร็จบริบูรณ์ตามที่ควรจะบอก จึงเขียนบอกฉบับนี้อีกฉบับหนึ่ง

.

แม่น้ำปากพนังใหญ่เท่าเจ้าพระยา

วันที่ 8 เวลาเช้า 3 โมง ได้ลงเรือมาด (ไม่ใช่เพราะน้ำตื้น แต่เพราะเพื่อจะหาความสุข) เรือไฟเล็กลากออกมาจากเรือมหาจักรี ที่จอดอยู่ในเมืองปากพนัง ซึ่งอยู่ท้ายอ่าวตะลุมพุกนี้ 3 ชั่วโมงหย่อน ถึงปากพนัง แม่น้ำโตราวสักแม่น้ำเจ้าพระยากรุงเทพฯ บ้านนายอำเภอตั้งอยู่ใกล้ปากน้ำ ต่อนั้นขึ้นไปเป็นบ้านเรือนทั้งสองฟากแน่นหนา เพราะมีพลเมืองถึง 46,000 คนเศษ มีจีนมาก เป็นจีนไหหลำเป็นพื้น รองจำนวนจีนไหหลำเป็นจีนฮกเกี้ยน แต้จิ๋วมีน้อย เสียงจุดประทัดสนั่นไป

.

ที่ว่าการอำเภอหลังเก่า

มีเรือยาวสำปั้นราษฎรลงมารับที่ปากอ่าวประมาณสัก 80 ลำ โห่ร้องตามมาสองข้าง ได้ขึ้นไปตามลำน้ำหลายเลี้ยว จึงถึงโรงสีไฟจีนโค้วหักหงี ซึ่งตั้งชื่อใหม่ (คือโรงสีไฟยี่ห้อเตาเซ้ง) มีความปรารถนาจะให้เปิดโรงสีนั้น เมื่อไปถึงจีนหักหงี น้อง แลบุตรหลายคนและราษฎรซึ่งอยู่ในคลองริมโรงสีนั้นเป็นอันมาก ได้ต้อนรับโดยแข็งแรง ตั้งแต่ไปจากเรือมหาจักรีจนถึงโรงสีนั้นกินเวลาเกือบ 4 ชั่วโมง ได้ขึ้นเดินดูโรงสีทั่วไป และไต่ถามถึงการงานที่ค้าขายแล้ว กลับมาขึ้นที่บ้านนายอำเภอ เพราะที่ว่าการอำเภอเก่าตั้งอยู่เหนือน้ำขึ้นไป ที่ว่าการอำเภอใหม่ทำยังไม่แล้ว หลังที่ทำใหม่นี้เท่ากับที่ว่าการอำเภอเมืองตานี กินข้าวบนเรือนนั้น จีนหักหงีเลี้ยงเกาเหลาอย่างจีน ข้าหลวงเทศาภิบาลเลี้ยงอย่างไทย

.

ไทย จีน แขก

แล้วเดินไปดูร้านซึ่งข้าราชการและราษฎรมาตั้งอย่างขายของ แต่ที่แท้เป็นของถวายทั้งนั้น มีพันธุ์ข้างต่าง ๆ น้ำตามต่าง ๆ เครื่องสาน ผลไม้ ขนม ยา เลี้ยงขนเรือที่ไป พวกราษฎรเฝ้าพร้อมกันทั้งบกทั้งน้ำแน่นหนามาก บรรดาการเล่นอันมีอยู่ในตำบลนั้นได้มาเล่นทั้งไทย จีน แขก เวลาบ่าย 3 โมงเครึ่ง จึงได้ลงเรือมหาจักกรีเกือบจะ 2 ทุ่ม

.

ปากแพรก

อำเภอปากพนังนี้ ได้ทราบดีอยู่แล้วว่าเป็นที่สำคัญอย่างไร แต่เมื่อไปถึงที่ยังรู้สึกว่าตามที่คาดคะเนนั้นผิดไปเป็นอันมาก ไม่นึกว่าจะใหญ่โตมั่งมีถึงเพียงนี้ น้ำตื้นมีอยู่แต่ที่ตอนปากน้ำประมาณ 200 เส้น เข้าข้างในน้ำลึกตลอด จนถึงหน้าโรงสีน้ำยังลึกถึง 3 วา ถ้าเวลาน้ำมากเรือขนาดพาลีและสุครีพเข้าไปได้ ต่อโรงสีขึ้นไปไม่มากถึงปากแพรก ซึ่งเป็นแม่น้ำสองแยก ๆ หนึ่งเลียบไปตามทะเลถึงตำบลทุ่งพังไกร ซึ่งเป็นที่นาอุดมดี ข้างจีนกล่าวกันว่าดีกว่านาคลองรังสิต และมีที่ว่างเหลืออยู่มาก จะทำนาขึ้นได้ใหม่กว่าที่มีอยู่แล้วเดี๋ยวนี้อีก 10 เท่า เขากะกำลังทุ่งนั้นว่า ถ้ามีนาบริบูรณ์จะตั้งโรงสีได้ประมาณ 10 โรง ขาดแต่คนเท่านั้น นาทั้งมณฑลนครศรีธรรมราชไม่มีที่ไหนสู้ ลำน้ำนั้นเรือกลไฟขนาดศรีธรรมราชขึ้นไปได้ตลอดถึงพังไกรเวลาหน้าแล้ง ต่อพังไกรไปเป็นลำคลองเล็ก แต่ถ้าหน้าน้ำเรือศรีธรรมราชไปได้ถึงอำเภอระโนด แขวงสงขลา ตกทะเลสาบ

.

คลองอีกแยกหนึ่งแต่ปากแพรกนั้น ไปทิศตะวันตกถึงอำเภอปราน ที่อำเภอปรานนี้มีไม้เคี่ยม ไม้ตะเคียน และไม่กระยาเลยต่าง ๆ จีนหักหงีได้ขออนุญาตตั้งโรงเลื่อยจักรขึ้นที่ริมโรงสีไฟใช้หม้ออันเดียวกัน แต่ยังไม่ได้ตั้งเครื่อง มีไม้จอดอยู่ริมตลิ่งมาก

.

ไม่มีแห่งใดดีเท่าปากพนัง

ทางไปอำเภอกลางเมือง มาตามคลองปากพญาแล้วมาคลองบางจาก ออกทะเลหน่อยหนึ่งจงเข้าปากพนัง แต่พระยาสุขุมฯ ได้ขุดคลองตั้งแต่ระหว่างหมู่บ้านคนไปถึงคลองบางจาก เดินทางในมีเรือลูกค้ามาแต่กลางเมืองและร่อนพิบูลย์จอดอยู่หลายร้อยลำ ในลำนั้นมเรือกำปั่นแขก สำเภาจีนค้าขายทอดอยู่กลางน้ำเกือบ 30 ลำ เหล่านี้มาแต่เมืองสิงคโปร์และเมืองแขกโดยมาก ห้างอีสต์อินเดียตั้งเอเย่นไว้สำหรับรับสินค้าไปบรรทุกลงเรือเมล์ด้วยเหมือนกัน ข้าวกลับไปเข้ากรุงเทพฯ ก็มี เพราะเหตุแต่ก่อนมีแต่ลำฝั่งน้ำตลอดมีหลายสิบโรง เมื่อจะคิดว่าตำบลนี้มีราคาเท่าใด เทียบกับเมืองสงขลา เงินผลประโยชน์แต่อำเภอเดียวนี้ น้อยกว่าเมืองสงขลาอยู่ 20,000 บาทเท่านั้น บรรดาเมืองท่าในแหลมมลายูฝั่งตะวันออก เห็นจะไม่มีแห่งใดดีเท่าปากพนัง

.

มีขัดก็แต่ปากอ่าวตื้นเรือใหญ่เข้าไม่ได้ พวกลูกค้ามีความประสงค์ที่จะให้ขุดมาก จีนหักหงีนี้เองได้ยื่นเรื่องราวว่า ถ้าจะขุด ตัวจะขอออกเงินให้ 80,000 บาท พวกจีนลูกค้าที่นี่เห็นพร้อมกันว่าจะต้องขุดทุกปียอมให้เก็บค่าขุดตามกำลังเรือ เพราะเหตุว่าเวลานี้ลำบากด้วย เครื่องลำเลียงข้าวมาบรรทุกเรือใหญ่เสียค่าจ้างเป็นอันมาก โดยจะต้องเสียค่าขุดยังจะถูกกว่าค่าจ้างเรือลำเลียง และขอให้ปิดคลองบางจากซึ่งเป็นทางน้ำเค็มเข้าคลองสุขุมนั้นเสีย น้ำในคลองนั้นจะแรงขึ้นอีก และจะได้น้ำจืดมาใช้ในปากพนัง ตำบลปากพนังนี้คงเป็นท่าเรือของเมืองนครศรีธรรมราช ปากอื่น ๆ ปิดหมดอยู่เองเพราะเข้าออกลำบาก

.

น้ำ

ตำบลนี้ลำบากอยู่แต่ด้วยน้ำ ถ้าขุดบ่อในที่ซึ่งเป็นดินเลนใกล้แม่น้ำ ๆ เปรี้ยวใช้ไม่ได้ ถ้าออกไปขุดริมชายทะเล ห่างทะเลขึ้นมาสัก 30 เส้น กลับได้น้ำจืด แต่ระยะทางไกล เดี๋ยวนี้ราษฎรได้อาศัยน้ำในคลองสุขุม แต่น้ำคลองบางจากมักทำให้เค็ม จึงอยากขอปิดคลองบางจากนั้น

.

การปิดคลองบางจาก นึกมีบ้านที่จะต้องลำบากอยู่ตำบลเดียว เพราะอยู่ปากคลองสุขุมออกมา เขากล่าวติเตียนกันอยู่ว่า จีนที่มาอยู่แต่ก่อนเป็นพวกไหหลำมาก มักไม่ใคร่จะคิดทำการหาเงินใหญ่โต ได้ประมาณพันหนึ่งสองพันเหรียญก็กลับบ้าน แต่บัดนี้จีนแต้จิ๋วกำลังรู้ว่าที่นี้ดี เห็นจะมีมาอีกมาก ไม่ช้าตำบลนี้จะเจริญใหญ่โตสู้เมืองสงขลาได้ในทางผลประโยชน์ ทุกวันนี้มีแต่โทรศัพท์ พวกลูกค้าจีนต้องการจะให้มีโทรเลข ถ้าจะมีผู้อื่นใช้โทรเลขนอกราชการแล้ว จะมีที่นี่มากกว่ากลางเมือง

.

ดิน

อนึ่งดินที่นี่ดี เผาอิฐแกร่งเหมือนอิฐสงขลา ที่ว่าการอำเภอหลังใหญ่ ซึ่งทำใหม่ได้ใช้เงินงบประมาณ 2,000 บาท นอกนั้นใช้แรงคนโทษซึ่งจ่ายมาแต่เมืองนครศรีธรรมราชทำอิฐ ราษฎรพากันมาแลกสิ่งของซึ่งต้องการเป็นไม้เป็นเหล็ก แรงที่ทำใช้แรงคนโทษ พื้นล่างเสาก่ออิฐ ข้างบนเป็นไม้มึงจาก ยังขาดแต่ฝาไม่แล้วเสร็จ แต่ถึงว่ามีสิ่งที่ดีอยู่หลายอย่างเช่นนี้ ก็มีสิ่งที่ไม่ดีคือยุงชุมเกินประมาณ”

.

ที่ว่าการอำเภอดังกล่าวนี้ปรากฏว่าได้เกิดไฟไหม้ 2 ครั้ง ครั้งหลังสุดเกิดไฟไหม้เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2494 จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปสร้างในที่ใหม่คือที่ตั้งที่ว่าการอำเภอปัจจุบัน ริมถนนสายปากพนัง – ชายทะเล หมู่ที่ 3 ตำบลปากพนังฝั่งตะวันออก เขตการปกครองของอำเภอปากพนัง เมื่อตั้งเป็นอำเภอครั้งแรกได้รวมท้องที่อำเภอเชียรใหญ่ด้วย

.

ช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงเขตการปกครอง

กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศเปลี่ยนชื่อ “อำเภอเบี้ยซัด” เป็น “อำเภอปากพนัง” เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2460

.

พ.ศ. 2467 ลดฐานะอำเภอเขาพังไกร ลงเป็นกิ่งอำเภอ เรียกว่า “กิ่งอำเภอหัวไทร” ให้ขึ้นอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอปากพนัง

.

พ.ศ. 2480 แบ่งท้องที่ด้านทิศใต้ของอำเภอปากพนังตั้งเป็นกิ่งอำเภอเรียกชื่อว่า “กิ่งอำเภอเชียรใหญ่” ในเขตการปกครองของอำเภอปากพนัง

.

พ.ศ. 2481 ยกฐานะกิ่งอำเภอหัวไทรเป็น “อำเภอหัวไทร” แยกออกจากการปกครองของอำเภอปากพนัง

.

พ.ศ. 2490 ยกฐานะกิ่งอำเภอเชียรใหญ่เป็น “อำเภอเชียรใหญ่” แยกออกจากการปกครองของอำเภอปากพนัง

.

กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศเปลี่ยนชื่อ “อำเภอเบี้ยซัด” เป็น “อำเภอปากพนัง” เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2460

___

นครศรีธรรมราช, จังหวัด. (2527). ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช: จังหวัดนครศรีธรรมราช.

ประวัติอำเภอทุ่งสง ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

ประวัติอำเภอทุ่งสง
ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

 

เหตุที่ได้จั่วหัวว่าเป็น “ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค” นั้น ด้วยคัดมาจากหนังสือ “ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช” ซึ่งเข้าใจเอาจากคำนำในเล่มว่าเป็นข้อสั่งการจากกระทรวงมหาดไทยถึงจังหวัดทุกจังหวัด ให้รวบรวมและเรียบเรียงเหตุการณ์สำคัญ เอกสาร ความเป็นมา ภูมิประเทศ สถานที่และบุคคลสำคัญของจังหวัดต่าง ๆ เป็นสารบบ มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการท้องถิ่น ได้แก่ วิมล ดำศรี, วิเชียร ณ นคร, ประหยัด เกษม, สมพุทธ ธุระเจน และฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ เป็นคณะทำงาน โดยที่ น้อม อุปรมัย, กระจ่าง คีรินทร์นนท์ และขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นที่ปรึกษา

.

หนังสือดังกล่าว แบ่งเป็น 8 บท ได้แก่ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ลักษณะการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติความเป็นมา ประวัติเทศบาลในจังหวัดนครศรีธรรมราช บุคคลสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และทำเนียบนามผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

.

ส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำเภอทุ่งสงนั้น ปรากฏอยู่ในบทที่ 3 “ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช” โดยจะได้คัดมาเผยแพร่ดังต่อไปนี้ (แบ่งวรรคตอนและย่อหน้าใหม่รวมถึงปรับคำบางช่วงตอนเพื่อสะดวกต่อการอ่าน แต่ยังคงสาระสำคัญไว้ตามต้นฉบับทุกประการ ประกอบกับในชั้นนี้จะยังไม่มีบทวิเคราะห์ข้อมูลใดๆ)

.

ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช

ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชระบุว่า ประมาณศักราช 1588 ปีมะเมีย เจ้าศรีราชา บุตรพระพนมวังและนางเสดียงทอง เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ขณะนั้นเมืองนครร้างอยู่เนื่องจากเกิดไข้ยมบนในเมือง คนหนีออกจากเมืองไปอยู่ป่า เมื่อเจ้าศรีราชาได้เป็นเจ้าเมืองแล้วก็ได้ยกช้าง ม้า รี้พลมาจากเมืองเวียงสระเข้ามาตั้งอยู่ในเมืองนครฯ จัดการซ่อมแซมบ้านเมืองพระบรมธาตุและวัดวาอาราม จึงแต่งคนออกไปสร้างป่าเป็นนา ในตำบลพระเขาแดงชะมาย (ตำบลชะมายปัจจุบัน) เข้าใจว่าคงตั้งเป็นบ้านเมืองมาแต่สมัยนั้น

.

นายที่

จนถึงแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ครั้งพระยาสุธหทัยออกมาเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ก็ได้จัดการปกครองบ้านเมือง ตั้งทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งชำระใหม่ครั้งรัชกาลที่ 2 ได้ความว่าพื้นที่อำเภอนี้เคยเป็นแขวงขึ้นอยู่ในปกครองของเมืองนครศรีธรรมราชตั้งแต่สมัยแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ 4 แขวง มี 4 นายที่ปกครอง ได้แก่ ขุนวังไกร นายที่แก้ว หมื่นอำเภอ นายที่ทุ่งสง ขุนกำแพงธานี นายที่ชะมาย หมื่นโจมธานี นายที่นาบอน

.

อำเภอทุ่งสง

ครั้นต่อมาจึงได้รวบรวมพื้นที่ 4 แขวง และพื้นที่ใกล้เคียง รวมตั้งเป็นอำเภอหนึ่งเมื่อ พ.ศ.2440 เรียกว่าอำเภอทุ่งสง แบ่งการปกครองออกเป็น 22 ตำบลขึ้นอยู่ในเขตการปกครองของเมืองนครศรีธรรมราช

.

อำเภอทุ่งสงมีพื้นที่ปกครองกว้างขวางมาก ไม่สะดวกในการปกครอง จึงได้แยกตำบลลำทับ ให้ไปขึ้นอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ และแยกตำบลท่ายาง ตำบลกุแหระ ตำบลทุ่งสัง ไปตั้งเป็นกิ่งอำเภอขึ้นชื่อ “กิ่งอำเภอกุแหระ” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “กิ่งอำเภอท่ายาง” แล้วยกฐานะเป็นอำเภอชื่อ “ทุ่งใหญ่” อำเภอทุ่งสงจึงเหลือการปกครองเพียง 16 ตำบล

.

พ.ศ. 2518 ได้แยกตำบลนาบอน ตำบลทุ่งสง และตำบลนาโพธิ์บางส่วนตั้งเป็น “กิ่งอำเภอนาบอน”

.

นายอำเภอคนแรก

ที่ว่าการอำเภอทุ่งสง แต่เดิมตั้งสำนักงานอยู่ที่เทศบาลตำบลปากแพรก แล้วย้ายไปอยู่ ณ ที่ปัจจุบันเมื่อ 2474 โดยมีหลวงพำนักนิคมคาม (เที่ยง ณ นคร) เป็นนายอำเภอคนแรก (พ.ศ.2441 – 2443)

.

เสด็จฯ ทุ่งสง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จประพาสอำเภอทุ่งสงสองครั้ง ครั้งแรกเมื่อทรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระยุพราช เสด็จจากเมืองตรังโดยกระบวนช้าง ผูกเครื่อง จัดริ้วขบวนตามธรรมเนียมเก่าของเมืองนครศรีธรรมราช ผ่านตำบลกะปาง ตำบลที่วัง ไปยังอำเภอร่อนพิบูลย์ และครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2458 เสด็จเยี่ยมมณฑลปักษ์ใต้ ทรงให้ข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราชถือน้ำพิพัฒน์สัตยา พระราชทานพระแสงราชศัสตราสำหรับเมือง และจัดตั้งกองเสือป่ามณฑลนครศรีธรรมราช เสด็จประพาสน้ำตกโยง และทอดพระเนตรการจับช้างป่าที่อำเภอทุ่งสง

___

นครศรีธรรมราช, จังหวัด. (2527). ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช: จังหวัดนครศรีธรรมราช.

 

ประวัติอำเภอสิชล ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

ประวัติอำเภอสิชล
ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

 

เหตุที่ได้จั่วหัวว่าเป็น “ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค” นั้น ด้วยคัดมาจากหนังสือ “ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช” ซึ่งเข้าใจเอาจากคำนำในเล่มว่าเป็นข้อสั่งการจากกระทรวงมหาดไทยถึงจังหวัดทุกจังหวัด ให้รวบรวมและเรียบเรียงเหตุการณ์สำคัญ เอกสาร ความเป็นมา ภูมิประเทศ สถานที่และบุคคลสำคัญของจังหวัดต่าง ๆ เป็นสารบบ มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการท้องถิ่น ได้แก่ วิมล ดำศรี, วิเชียร ณ นคร, ประหยัด เกษม, สมพุทธ ธุระเจน และฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ เป็นคณะทำงาน โดยที่ น้อม อุปรมัย, กระจ่าง คีรินทร์นนท์ และขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นที่ปรึกษา

.

หนังสือดังกล่าว แบ่งเป็น 8 บท ได้แก่ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ลักษณะการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติความเป็นมา ประวัติเทศบาลในจังหวัดนครศรีธรรมราช บุคคลสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และทำเนียบนามผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

.

ส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำเภอสิชลนั้น ปรากฏอยู่ในบทที่ 3 “ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช” โดยจะได้คัดมาเผยแพร่ดังต่อไปนี้ (แบ่งวรรคตอนและย่อหน้าใหม่รวมถึงปรับคำบางช่วงตอนเพื่อสะดวกต่อการอ่าน แต่ยังคงสาระสำคัญไว้ตามต้นฉบับทุกประการ ประกอบกับในชั้นนี้จะยังไม่มีบทวิเคราะห์ข้อมูลใดๆ)

.

จอมเมืองหาญ และ จอมเมืองศรีศาสนา

เมื่อราว พ.ศ. 2300 ตัวเมืองเดิมคือบริเวณตั้งอำเภอในปัจจุบันในครั้งโบราณ หัวหน้าผู้นำชุมชนของท้องถิ่นมีอยู่ด้วยกันสองคน คือ “จอมเมืองหาญ” และ “จอมเมืองศรีศาสนา” บุคคลทั้งสองมีความนิยมนับถือทางไสยศาสตร์อย่างเคร่งครัด และเป็นที่ยำเกรงของคนทั่วไป

.

ครั้งหนึ่งเมื่อกองทัพพม่าเดินทางมาถึงเขาหัวช้าง และได้เข้ามาจับกุมบุคคลในปกครองของสองจอมเมืองทั้งชายและหญิงไว้เป็นเชลยจำนวนหนึ่ง เชลยที่เป็นชายนั้นแม่ทัพพม่าก็ได้สั่งให้นำไปฆ่าเสีย โดยใช้วิธีการจับโยนบ่อ ห้วย และเหว ทำให้ราษฎรในชุมชนนั้นตกใจแตกตื่นหลบหนีเพื่อเอาตัวรอดไปคนละทิศคนละทาง ทิ้งทรัพย์สมบัติไว้ให้แก่พม่าเป็นจำนวนมาก

.

ต่อมาพม่าได้สืบทราบว่า ในชุมชนนี้จอมเมืองหาญและจอมเมืองศรีศาสนาเป็นหัวหน้า จึงได้สั่งให้ทหารติดตามจับกุมบุคคลทั้งสอง ทหารพม่าที่ติดตามจับกุมได้ฆ่าคนของจอมเมืองทั้งสองเสียเป็นจำนวนมาก และเกิดการรบพุ่งขึ้น ในที่สุด พม่าก็สามารถจับกุมทั้งสองจอมเมืองได้ และนำตัวไปประการชีวิตโดยวิธีใช้เหล็กตอกขมับจนตาย

.

ทุ่งหัวนา

แม่ทัพพม่าได้สั่งให้ทหารตั้งทัพอยู่ที่นั้น และให้ทหารทำนาเป็นเสบียงสำหรับส่งให้กองทัพหลวงต่อไป เรียกที่ตั้งทัพว่า “ทุ่งหัวนา” ซึ่งยังมีที่นาและคันนาปรากฏเป็นหลักฐานอยู่จนบัดนี้ (ปัจจุบันอยู่ในตำบลสี่ขีด)

.

ทุ่งพลีเมือง

ต่อมามีชายคนหนึ่งชื่อเจ้าจอมทอง ได้ทำการรวบรวมพวกที่หลบหนีหม่ากระจัดกระจายทั่วไป เมื่อได้สมัครพรรคพวกพอสมควรแล้ว ได้จัดตั้งชุมชนขึ้นใหม่ที่ทุ่งพลีเมือง (ปัจจุบันคือบ้านห้วยถ้ำ) เจ้าจอมทองได้ตั้งตัวเป็นหัวหน้าชุมชน ทำการรวมผู้คนได้จำนวนหนึ่ง จึงได้ทำพิธีปลูกศาลเจ้าและทำพิธีบนบานว่าหากกองทัพพม่าแตกพ่าย ได้อิสรภาพและราษฎรอยู่อย่างสงบสุขแล้วจะสร้างวัดถวายให้อยู่

.

ฝ่ายพม่าเมื่อได้สืบทราบว่าคนไทยจัดตั้งสมัครพรรคพวกขึ้นต่อต้าน ก็นำทหารมาปิดล้อมและได้ต่อสู้กันเป็นสามารถ ผลคือทัพทหารพม่าแตกกระจัดกระจายไป เจ้าจอมทองจับเชลยและอาวุธได้จำนวนมาก กองทัพพม่าถอยร่นไปทางบ้านยางโพรง ผ่านตำบลฉลอง ไปสมทบกับกองทัพหลวงที่เมืองนครศรีธรรมราช

.

วัดจอมทอง

ต่อมาอีกประมาณสองปี พม่าได้ยกทัพมาทางทะเลถึงปากน้ำสุชน ได้ส่งทหารขึ้นไปเจรจากับเจ้าจอมทองให้เป็นเมืองขึ้นโดยดี แต่เจ้าจอมทองไม่ยอม จึงได้รบกันทางเรือที่ปากน้ำสุชนเป็นสามารถ ก่อนการสู้รบต่อกันเจ้าจอมทองได้บวงสรวงเทพเจ้าขอความช่วยเหลือและคุ้มครอง พอดีกับขณะที่รบกันนั้นเกิดคลื่นลมจัดขึ้นทันที ทำให้ทัพพม่าแตกกระจายไม่เป็นกระบวน เจ้าจอมทองจึงได้ยกทัพและกำลังเข้าโจมตี จับกุมเชลยและอาวุธได้เป็นจำนวนมาก เมื่อสงบศึกกับพม่าเรียบร้อยแล้ว ทางเจ้าจอมทองจึงได้สร้างวัดตามที่ได้บนบานไว้ เรียกว่า “วัดจอมทอง”

.

เมื่อได้มีการปกครองบ้านเมือง โดยแบ่งการปกครองเป็นมณฑลและมีเทศาภิบาลปกครอง จึงได้ตั้งเป็นอำเภอขึ้น เรียกว่า “อำเภอสุชน” มีตำบลขึ้นอยู่กับอำเภอนี้ 9 ตำบล คือ สุชน ทุ่งปรัง ฉลอง เสาเภา เปลี่ยน ขนอม ท้อนเนียน ไชยคราม และดอนสัก

.

ต่อมาในปี พ.ศ.2502 ได้มีการโอนตำบลดอนสักและไชยคราม ไปขึ้นกับอำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และโอนตำบลขนอมและท้อนเนียน มาจัดตั้งเป็นอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช

.

จากสุชน เป็นสิชล

ชื่อ “สุชน” นั้น เมื่อสมัยท่านเจ้าคุณรัตนธัชมุนีศรีธรรมราช เป็นเจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ไปตรวจราชการฝ่ายสงฆ์ที่อำเภอนี้ ได้พิจารณาเห็นว่าที่สุชนนี้น้ำดี ใสสะอาด บริสุทธิ์ และจืดสนิท จึงได้เปลี่ยนชื่อจาก “สุชล” เป็น “สิชล” และทางราชการก็ได้ใช้ชื่อว่าอำเภอสิชลตั้งแต่นั้นมา โดยมีหลวงอนุสรสิทธิกรรม (บัว ณ นคร) เป็นนายอำเภอคนแรกฯ

___

นครศรีธรรมราช, จังหวัด. (2527). ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช: จังหวัดนครศรีธรรมราช.

ต้นฉบับภาพเก่าโนรา ณ วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

ต้นฉบับภาพเก่าโนรา

ณ วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช

 

โนรา : มรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ

ท่ามกลางการร่วมเฉลิมฉลองและชื่นชมยินดีในโอกาสที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 16 ณ สำนักงานใหญ่ยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้ประกาศขึ้นทะเบียน“โนรา : Nora, dance drama in southern Thailand” เป็นรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity)หลายส่วนฝ่ายต่างแสดงบทบาทเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเหตุการณ์ได้อย่างน่าสนใจ

.

เมื่อราว 2 ปีก่อน บังเอิญมีโอกาสได้รับมอบหมายจาก ผศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ คณะกรรมการนำเสนอวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร สู่มรดกโลก ให้เป็นผู้ประสานงานกับสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เพื่อขอคัดสำเนาภาพถ่ายเก่าที่เกี่ยวข้องกับเมืองนครศรีธรรมราช ได้ความกรุณาไว้หลายรายการ หนึ่งในนั้นเป็นสำเนาต้นฉบับที่บันทึกกิจกรรมภายในวัดของคณะบุคคลไว้ วาระนี้จะคัดออกเผยแพร่เฉพาะที่เห็นว่าเป็นภาพ “โนรา” ในวันสมโภชพระบรมธาตุเจดีย์ เมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสปักษ์ใต้ และดังระบุแล้วว่าได้คัดสำเนาแบบดิจิทัลจากต้นฉบับโดยตรง แม้หลายท่านจะเคยเห็นภาพเหล่านี้บ้างแล้ว แต่เชื่อว่าการเมื่อคลี่ขยายออกดูรายละเอียดจากต้นฉบับนี้ จะทำให้สามารถเห็นหรือเป็นประเด็นศึกษาต่อได้มากขึ้น

หมายเลขกำกับภาพของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ 59M00005
เมื่อลองขยายดูส่วนประกอบต่าง ๆ
   
พราน ถ้าเป็นภาพสีแล้วเห็นเป็นหน้าขาวเสียหนึ่ง คงพอจะชี้ลงได้ว่าเป็นทาสีหนึ่ง พรานหนึ่ง
แต่อนุมานเอาก่อนจากสีพรานผู้ถอดเสื้อว่าคงเป็นพรานทั้งสอง ถอดเสื้อหนึ่ง ใส่หนึ่ง
 
โนรา เสียดายก็แต่ไม่ได้เห็นเครื่องทรงเต็มองค์ แต่พอจะสังเกตเห็นเล็บทั้ง 4 ที่ดูเหมือนจะสอดลูกปัดไว้เล็บละเม็ดสองเม็ด
  ดูเหมือนว่าท่าจับในลักษณะนี้จะพบเห็นได้ยากแล้วในปัจจุบัน อาการที่หัวจุกใช้ร่องศอกขวาเกี้ยวขาขวาขึ้นเป็นท่าขี้หนอน
ในขณะที่มือกำกระบองสั้นไว้ ส่วนมือซ้ายก็ยื้อยุดกับหัวจุกอีกคนในท่าเดียวกัน
โนรา เป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่าถ้าโนราเกี้ยวขาขึ้นแล้วเป็นอันรับรู้ร่วมกันว่าคือท่าขี้หนอน
ขี้หนอนนี้เป็นชื่อเรียกกินนรอย่างทางใต้ ขี้หนอนจึงอาจคือท่าเอกลักษณ์ของโนรา
โดยส่วนตัวตรึงตากับโนรานายนี้มาก
จะติดก็แต่จินตนาการไม่ออกว่าท่าส่งขึ้นขี้หนอนนี้มาอย่างไรและจะเยื้องท่าไปอย่างไรต่อ
ภาพนี้เห็นส่วนสนับเพลา คือส่วนที่ครูมโนห์รารุ่นก่อนมักเรียกว่า “ขากางเกง”
มีเฉพาะส่วนขา ปลายสุดสอดเชือกไว้สำหรับรูดคล้ายปลอกหมอนข้างในปัจจุบัน
มีของโบราณอย่างที่ว่าอยู่ในพิพิธภัณฑ์วิหารคด วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช
ตรงนี้น่าสนใจ เพราะอาจสะท้อนความเชื่อโบราณว่าหากยังเป็นหัวจุกอยู่จะสวมเทริดไม่ได้
ต้องผ่านพิธีตัดจุกผูกผ้าครอบเทริดเสียก่อน ในภาพนี้ดูจะเป็นโนราที่เยาว์นักเมื่อเทียบกับนายขี้หนอนก่อนหน้า
อาจเป็นไปได้ว่าจะตัดจุกตามคติโบราณฝ่ายนครเหมือนที่เคยคุยกับบุตรสาวขุนพันธรักษ์ราชเดช ว่าเด็กชายตัด 13 เด็กหญิงตัด 11
คิดว่าคงเพิ่งผ่านพิธีกรรมตัดจุกผูกผ้าครอบเทริดมาหมาดๆ
ส่วนพรานผู้นั่งมหาราชลีลาในท่าประนมมือพร้อมผ้าพาดบ่านั้น ไม่ตีบทอยู่ ก็กำลังอัญชลีผู้อยู่หลังกล้อง
ลูกคู่ สังเกตจากภาพแล้วดูเหมือนจะนั่งล้อมวงกันมุมนี้เห็นหลังนายโหม่ง
สวมเสื้อแพร นั่งเสื่อท่าพับเพียบเก็บปลายเท้าเสียด้วย
โนราประกอบขึ้นได้ด้วยหลายองค์ประกอบ ทั้งผู้แสดง เครื่องแต่งกาย นักดนตรี เครื่องดนตรี ผู้ชม เจ้าภาพ วาระและโอกาส รวมถึงองค์ความรู้ในองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง อาจกล่าวได้ว่า โนราเป็นผลรวมของสหวิทยากรที่ผ่านการสั่งสมภูมิปัญญาและมีพลวัตอย่างต่อเนื่องยาวนาน โนราจึงไม่อาจมองหรืออธิบายได้โดยสรุปเพียงแค่แง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง และเชื่อว่าหลังจากนี้ เมื่อยูเนสโก้ได้ประกาศรับรองอย่างเป็นทางการให้โนราเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติแล้ว เราจะได้ศึกษาและคลี่มองโนรากันอย่างรอบขึ้นฯ
___
ภาพปก หมายเลขกำกับภาพของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ 74M00036
ภาพในเรื่องและภาพส่วนขยาย หมายเลขกำกับภาพของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ 59M00005
ปล. ท่านผู้ประสงค์จะนำภาพไปใช้เพื่อกิจใด ๆ ขอความกรุณาศึกษาวิธีการใช้ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติให้ถี่ถ้วนก่อนนะครับ

ประวัติวัดหน้าพระลาน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ประวัติวัดหน้าพระลาน
ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

 

หน้าพระลาน

“หน้าพระลาน” ภูมินามนี้ สอดคล้องกับผังเมืองโบราณ ที่เมืองสำคัญย่อมมี “พระลาน” ไว้สำหรับประกอบพระราชพิธี แต่เมื่อเปรียบเทียบระหว่างเมืองโบราณอื่นในภาคกลาง ได้แก่ กรุงศรีอยุธยาและกรุงเทพฯ กลับพบว่า นครศรีธรรมราชมีตำแหน่งแห่งที่ของพระลานในทิศตรงกันข้าม กล่าวคือ หน้าพระลานของกรุงเทพฯ ปัจจุบันคือถนนหน้าพระลาน ด้านทิศเหนือของพระบรมมหาราชวัง เช่นเดียวกันกับอยุธยา ที่มีวัดหน้าพระเมรุราชิการามวรวิหารเป็นอนุสรณ์ของรอยพระราชพิธี ก็มีตำแหน่งอยู่ทางทิศนี้ ในขณะที่หน้าพระลานของนครศรีธรรมราชกลับอยู่ทางทิศใต้ของเมือง

.

ประเด็นนี้ อาจนำไปสู่ข้อสังเกตได้ ๒ ประการคือ ประการแรก หากอ้างอิงตามหลักการที่หน้าพระลานควรอยู่ทางทิศเหนือ หน้าพระลานของนครศรีธรรมราช จึงไม่ใช่หน้าพระลานที่เป็นของเมืองในยุคกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีกำแพงล้อมเอาพระบรมธาตุเจดีย์เอาไว้ภายในเมือง แต่ควรเป็นของเมืองโบราณพระเวียง ที่อยู่ทางทิศใต้ลงไป ประการต่อมา หากอ้างอิงตามคติทิศสำคัญในพระพุทธศาสนา ที่ว่าทิศใต้เป็นทิศแสดงปฐมเทศนา ข้อนี้สอดคล้องกับตำแหน่งของธรรมมาสน์ด้านทิศใต้ในพระวิหารทับเกษตร อันเป็นจุดรวมศูนย์ของเหล่าภาพจิตรกรรมคอเสา ที่ต่างกระทำอัญชลีหันหน้าไปสู่ คล้ายกับการจำลองฉากพระบรมศาสดาประทับนั่งใต้ร่มพระศรีมหาโพธิ์ทักษิณสาขา แล้วเหล่าพุทธสาวกมาประชุมพร้อมกันที่ลานเบื้องหน้าพระพุทธองค์ หากเป็นไปตามข้อนี้ ก็จะเป็น “หน้าพระลาน” ได้ เหตุและปัจจัยดังกล่าวจึงอาจแสดงลักษณะเฉพาะของเมืองนครศรีธรรมราช

.

วัดหน้าพระลาน

วัดหน้าพระลาน สร้างขึ้นเมื่อปี พุทธศักราช ๑๘๐๐ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี ๒๔๙๓ เดิมเป็นวัดสำหรับพระราชาคณะที่ “พระสังฆราชาลังการาม” มีหน้าที่ดูแลรักษาองค์พระบรมธาตุเจดีย์ทางทิศใต้ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีวัดในการปกครอง ๙๐ วัด เจ้าคณะแขวงขึ้นตรง ๗ แขวง

.

แต่เดิมเนื่องจากวัดพระมหาธาตุฯ เป็นเขตพุทธาวาสไม่มีพระสงฆ์ เพิ่งเริ่มมีการปลูกกุฎีในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) เมื่อทรงนิมนต์พระครูวินัยธร (นุ่น) จากวัดเพชรจริกมาปกครองวัดพระมหาธาตุฯ วัดหน้าพระลานจึงเป็นวัดสำหรับคณะสงฆ์จะได้พำนักเพื่อรักษาองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ทำให้เป็นเสมือนเป็นแหล่งตักศิลาเพราะเป็นที่อันรวมพระภิกษุสงฆ์ผู้มีความรู้ความสามารถในเชิงช่างต่าง ๆ อาทิ ช่างหล่อ, ช่างปั้น, ช่างเขียน, ช่างไม้ แม้กระทั้งช่างทำเรือ จำพรรษาอยู่เป็นอันมาก

.

มีเกร็ดเรื่องเล่าในหมู่ชาวนครศรีธรรมราชว่า ครั้นถึงฤดูลมว่าว ราวเดือนสามเดือนสี่ ช่วงนั้นลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจะหอบเอาความหนาวเย็นมาจากไซบีเรียและจีนแผ่ลงมา ลมบนแรงเหมาะแก่การเล่นว่าวจนเป็นชื่อเรียกลมท้องถิ่น สมัยก่อนมีคนเล่นว่าวกันทั่วไปแม้พระทั่งพระสงฆ์ โดยเฉพาะวัดหน้าพระลาน มีชื่อเสียงในการทำว่าวมาก จนครั้งหนึ่ง สายป่านพานไปถูกยอดพระบรมธาตุเจดีย์เข้าทำให้เอียงมากระทั่งทุกวันนี้

.

ดูเหมือนว่าคณะสงฆ์วัดหน้าพระลานแต่ก่อน จะมีบทบาทอย่างมากในเมืองนครศรีธรรมราช ความตอนหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงไว้ในพระราชพิธี ๑๒ เดือน เกี่ยวกับการสวดภาณวารและภาณยักษ์ไว้อย่างน่าสนใจว่า “…ข้าพเจ้าไปเมืองนครศรีธรรมราชคราวนี้ก็ได้ลองให้พระสงฆ์ที่วัดหน้าพระลานสวดภาณวารและภาณยักษ์ฟังดู ทํานองภาณวารมีเสียงเม็ดพราย ทํานองครุคระมากขึ้นกว่าทํานองภาณวารในกรุงเทพฯ นี้มาก นโมขึ้นคล้ายๆ ภาณยักษ์ แต่ภาณยักษ์เองนั้นสู้ที่กรุงเทพฯ ไม่ได้ ที่กรุงเทพฯ เอามาตกแต่งเพิ่มเติมเล่นสนุกสนานกว่ามาก แต่คงยังได้เค้าคล้ายๆ กันทั้งสองอย่าง…”

.

นอกจากนี้ ความในความในตำรา ๑๒ เดือน คัดแต่สมุดขุนทิพมนเทียรชาววังไว้ ก็ระบุเค้ารอยบางประการไว้เป็นสำคัญว่า “พระตำราพระราชพิธีสำหรับเมืองนครฯ ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชา วัดหน้าพระลานเมืองนครฯ คัดส่งเข้ามาถวายพระสังฆราช วัดบางหว้าใหญ่”

.

บ่อน้ำศักสิทธิ์ วัดหน้าพระลาน

วัดหน้าพระลาน เป็นวัดเดียวที่ตั้งอยู่ปละหัวนอนหรือทิศใต้ขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ ทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดปากประตูชัยสิทธิ์ เข้าใจว่าแต่โบราณนั้น ปากประตูทางเข้า – ออกหลักของเมืองนครศรีธรรมราช จะมีวัดที่มีแหล่งน้ำสำคัญไว้ทำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมและดื่มกินสำหรับเหล่าทแกล้วทหาร โดยที่ประตูชัยศักดิ์ด้านทิศเหนือเป็นทางออกมีบ่อน้ำวัดเสมาชัย ดังกวีประพันธ์กลอนไว้ความว่า “ดื่มกินครั้งใด มีชัยอำนาจ” ถือเป็นฤกษ์เป็นชัยและขวัญกำลังใจ ส่วนเมื่อกลับจากการศึกก็เข้าเมืองทางประตูชัยสิทธิ์แล้วต้องดื่มกินน้ำจากบ่อน้ำวัดหน้าพระลานเสียเพื่อแก้กฤติยาซึ่งถูกฝังเป็นอารรพ์กำกับไว้กับประตู ด้วยการ “กลบบัตร” ด้วยน้ำ จะเรียก “กลบบัตรรดน้ำ” เพื่อให้เข้ากันกับ “กลบบัตรสุมไฟ” ด้วยหรือไม่อย่างไรไม่ทราบ

.

แต่โบราณนั้นปรากฏว่ามี “พระราชพิธีนครถาน” ที่ว่าด้วยเมื่อพราหมณาจารย์ลงยันต์ถมเวทย์อาถรรพ์แผ่นเงิน แผ่นทองแดง แผ่นศิลา ตุ๊กตารูปราชสีห์ ช้าง และเต่า ตั้งศาลบูชาเทวดาตามลัทธิ เจริญพระเวทย์ครบพิธีฝ่ายพราหมณ์แล้ว ฝ่ายพุทธจะต้องเชิญเครื่องอาถรรพ์เหล่านี้เข้าสู่ปริมณฑลในโรงพิธี ให้สงฆ์ผู้ใหญ่นั่งปรกและเจริญพระพุทธมนต์ถึงสามวันสามคืน รุ่งขึ้นวันที่สี่ ซึ่งเป็นวันกำหนดฤกษ์จึงเชิญเครื่องอาถรรพ์ลงหลุมตั้งเสาประตู พราหมณ์ร่ายเวทย์ สงฆ์สวดมหาชัยปริตร ประโคมปี่พาทย์ ฆ้องชัย แตรสังข์ โห่ร้องยิงปืนเป็นฤกษ์ พร้อมกันนั้นพระสงฆ์จะเชิญน้ำพระพุทธมนต์ และทรายซึ่งนำเข้าปริมณฑลเจริญพระเวทย์และสวดพระปริตรพร้อมกับแผ่นอาถรรพ์และตุ๊กตาโปรยปรายไปตามแนวที่จะสร้างกำแพงเมืองโดยรอบทั้งสี่ทิศแล้วขุดวางรากสร้างกำแพงเมืองแล้ววางเสาประตู ข้างฝ่ายเมืองนครศรีธรรมราชก็มีพิธีที่เนื่องด้วยการโปรย “เงินเล็กปิดตรานะโม” และพรมน้ำพระพุทธมนต์รอบขอบเขตพระนครในสมัยพระเจ้าศรีธรรมโศกราชซึ่งน่าจะเข้าเค้า

.

ประตูชัยเมืองนครศรีธรรมราช มีมุขปาถะว่าอาถรรพ์ประตูเมืองนครศรีธรรมราชนั้น นอกจากฝังอยู่ตรงเสาสองข้างและใต้ธรณีประตูเป็นแนวยาวแล้วยังฝังไว้เหนือประตูด้วย คนเฒ่าคนแก่ยืนยันว่าอาถรรพ์ประตูชัยเมืองนครศรีธรรมราชนั้น แม้ใครจะเรืองฤทธิ์ขมังเวทย์อยู่ยงคงกระพันอย่างไร ถ้าลอดผ่านประตูนี้แล้ว ก็เป็นอันสิ้นเวทย์เสื่อมฤทธิ์ทันที ไม่เว้นแม้แต่คนเมืองนครศรีธรรมราชเอง แต่ก็มีของแก้ นั่นคือน้ำบ่อวัดหน้าพระลานนี้ คนเมืองนครศรีธรรมราชสมัยโบราณจะมีน้ำจากบ่อวัดหน้าพระลานติดตัวสำหรับล้างหน้าสระเกล้าแก้อาถรรพ์ติดตัวอยู่เสมอ

.

ความศักดิ์สิทธิ์ของบ่อน้ำวัดหน้าพระลานหาได้รู้จักกันแต่ในหมู่ชาวบ้านเมืองนครศรีธรรมราชแห่งเดียวไม่ ยังถูกเล่าเป็นที่เชื่อถือของชาวต่างบ้านต่างเมืองด้วย ปรากฏว่าเมื่อมาเยือนเมืองนครศรีธรรมราชก็ต้องเอาน้ำบ่อวัดหน้าพระลานติดตัวกลับเสมอ ผู้ที่ไม่มีโอกาสมาก็ไหว้วานให้นำไปเป็นของฝาก เพราะนอกจากเรื่องการแก้อาถรรพ์แล้ว บ่อน้ำวัดหน้าพระลานนี้ เชื่อสืบกันมาว่าหากใครได้ดื่มกินจะมีปัญญาเฉียบแหลม มีบุญวาสนาสูง และมีโอกาสได้เป็นขุนน้ำขุนนาง แม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อวันอังคาร เดือน ๑๐ ขึ้น ๖ ค่ำ รัตนโกสินทร์ศก ๑๐๗ (๑๑ กันยายน ๒๔๓๑) ในสมัยเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีศรีธรรมราช (หนูพร้อม) เป็นเจ้าเมือง พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดหน้าพระลาน ทรงใช้หมาจากเป็นภาชนะสำหรับตักน้ำมาเสวยด้วยพระองค์เอง แล้วทรงรับสั่งถามสมภารศรีจันทร์ เจ้าอาวาสวัดหน้าพระลานขณะนั้นว่า ศิษย์วัดหน้าพระลานเมื่อได้ดื่มกินน้ำในบ่อนี้แล้วจะได้เป็นใหญ่เป็นโตจริงหรือ สมภารฯ ได้ถวายพระพรตอบว่า ศิษย์วัดหน้าพระลาน ถ้าได้ดื่มน้ำในบ่อนี้แล้ว อย่างเลวก็สามารถที่จะคาดว่าวขึ้น

.

คำเปรียบเปรยเพื่อให้เห็นภาพที่ว่า แม้เด็กวัดอย่างเลวก็ “คาดว่าวขึ้น” นี้ การคาดว่าวคือการผูกสายซุงที่อกว่าว ซึ่งต้องใช้ความชำนาญส่วนบุคคล จัดว่าเป็นทักษะเฉพาะด้านที่ต้องผ่านการฝึกฝน ในที่นี้เด็กวัดอย่างเลว หมายถึงเด็กวัดทั่วไปที่ไม่สันทัดในเรื่องนี้ เมื่อได้กินน้ำในบ่อนี้แล้วก็สามารถที่จะทำได้ ทั้งนี้ก็มีข้อปฏิบัติเป็นเคล็ดคือต้องตักทางทิศอีสานของบ่อจึงจะถือว่าดีและได้ผล

.

เรื่องเล่า ขุนอาเทศคดี

มีเรื่องเล่ากันมาว่า ครั้งหนึ่ง เจ้าพระยาสุธรรมมนตรีศรีธรรมราช (หนูพร้อม) เคยสั่งให้ถมบ่อแล้วสร้างหอไตรทับไว้ เพราะเห็นว่าชาวบ้านไปอาบ – กินน้ำบ่อนี้กันมาก เกรงว่าจะมีผู้มีปัญญามีบุญวาสนาขึ้นจนเป็นภัยต่อการปกครอง เรื่องนี้ ขุนอาเทศคดี (กลอน มัลลิกะมาส) ได้กล่าวถึงในบทความเรื่อง “น้ำศักดิ์สิทธิ์ในจังหวัดนครศรีธรรมราช” ในหนังสือจุฬาฯ นครศรีธรรมราช ๒๓ ตุลาคม ๒๕๑๔ ว่า “…เมื่อประมาณ ๕๐ กว่าปีมานี้ ข้าพเจ้าได้ไปดูหอไตรที่วัดหน้าพระลาน เห็นหอไตรที่ว่านั้นมีอยู่จริง อยู่ทางทิศอีสานของวัด แต่ชำรุดทรุดโทรมด้วยความเก่าแก่คร่ำคร่า คงมีแต่ฐานกับเสาอิฐปูนหักๆ ส่วนเรื่องที่เล่าลือกันไม่ปรากฏว่ามีใครเชื่อถือเป็นจริงเป็นจังนัก เพราะยังมีชาวบ้านชาวต่างเมืองไปอาบกินลูบตัวลูบหน้าประพรมศีรษะด้วยความนิยมนับถือกันอยู่ ครั้นเมื่อประมาณ ๓๐ ปีมานี้ พระครูการาม (ดี สุวณฺโณ) เจ้าอาวาส ได้ขุดรื้อฐานหอไตร ถามถึงการถมบ่อ ท่านบอกว่าท่านก็ได้ขุดค้นหาซากบ่อน้ำเพื่อพิสูจน์ความจริงกัน แต่ก็ไม่พบร่องรอยเลย ท่านเข้าใจว่าเป็นเรื่องใส่ร้ายป้ายสีทับถมกันมากกว่า และบัดนี้ ท่านได้ก่อปากบ่อให้สูงขึ้น ทำกำแพงล้อม ถมพื้นคอนกรีตข้างๆ บ่อ บำรุงรักษาทำความสะอาดอย่างดีแล้ว บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้อยู่ทางทิศตะวันออกพระอุโบสถ…”

.

ที่เล่าลือกันไปนี้ มีข้อปลีกย่อยที่หนักเข้าถึงขั้นบ้างว่าเป็นพระประสงค์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่รับสั่งให้ถมก็มี อย่างที่ชาวนครศรีธรรมราชบางจำพวกพยายามทำหน้าที่เป็นศาลเตี้ย โยนความและตั้งแง่เป็นเรื่องซุบซิบโปรยไปประกอบรูปการณ์ของบ้านเมืองจนคล้ายกับว่าเป็นเรื่องจริงใส่ความผู้มีอำนาจเพื่อแสดงความชอบธรรมบางประการของตนในฐานะผู้เป็นเจ้าของพื้นที่อยู่เนืองๆ

.

น้ำบ่อหน้าพระลานนี้ ตรี อมาตยกุล ได้พรรณนาไว้ในบทความ “นครศรีธรรมราช”จากหนังสือรวมเรื่องเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๕ ว่า “…เป็นบ่อที่ขุดมาช้านานแล้ว น้ำในบ่อนั้นใสสะอาด รับประทานดีมีรสจืดสนิท ชาวนครศรีธรรมราชพากันมาตักไปรับประทานกันเสมอ…” ซึ่งในปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนั้นหากแต่ลดวิถีของการบริโภคน้ำบ่อลงไปตามยุค ส่วนการอุปโภคก็ด้วยเหตุเดียวคือเพื่อความเป็นสิริมงคลแก้อาอรรพ์คุณไสยและเสริมปัญญาบารมี

.

มากไปกว่านั้นทั้งหมด บ่อนี้เป็นบ่อเดียวในทุกแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ปรากฏประวัติว่า พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินมาเพื่อพิสูจน์ความศักดิ์สิทธิ์ด้วยพระองค์เอง จึงควรค่าแก่การจารึกไว้เป็นอนุสรณ์เป็นที่ยิ่ง

.

พระพุทธรูปสำริดประทับยืน ปางประทานอภัย

พระพุทธรูปยืนปางประธานอภัย ทรงเครื่อง เนื้อสำริด ศิลปะอยุธยา สูงรวมฐาน ๒๖๒ เซนติเมตร องค์พระและฐานสามารถถอดแยกออกจากกันได้ กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๑๐๖ หน้าที่ ๗๒๙ วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๓๒ และบริเวณรอบขอบฐานพระพุทธรูปซึ่งเป็นฐานแปดเหลี่ยมมีจารึกอักษรไทย ภาษาไทยด้านละ ๒บรรทัดเว้นด้าน ๗ และ ๘ มีด้านละ ๑ บรรทัด การอ่านจารึกนี้จะต้องอ่านบรรทัดบนจะมีอักษรจารึกอยู่ ๖ ด้าน บรรทัดล่างมีอักษรจารึกอยู่ ๘ ด้านมีการจารึกเรียงตามลักษณะการอ่านดังนี้

 

ด้านที่ ๑ บรรทัดบน             พุทศกราชใด ๒๒๔๐ พระพรณสา

ด้านที่ ๒ บรรทัดที่บน           เสคสังยา ๓ เดือน ๕ วัน ณ วัน ๔+๙

ด้านที่ ๓ บรรทัดบน             คำ ฉลู นพศก ออกขุนทิพภักดีศีรสำพุด

ด้านที่ ๔ บรรทัดบน             มีไจโสมนัด………………………………………

ด้านที่ ๕ บรรทัดบน             …………………พระพุทธเจ้าไวไนสาศนาจวน

ด้านที่ ๖ บรรทัดบน             ๕๐๐๐ พระพรณสา เปน ๕๐๐ ชั่ง ทั้งถาน

ด้านที่ ๑ บรรทัดล่าง            นางคงจันเป็นช่าง และพระพุทธรูปอ่ง

ด้านที่ ๒ บรรทัดล่าง            นิง สูง ๕ ศอกเสด เปนดีบุก ๒๘๐ ชั่ง พระ

ด้านที่ ๓ บรรทัดล่าง            อรหัน ๒ รูป เปนดีบุก ๑๖๐ ชั่ง เทกบเปน

ด้านที่ ๔ บรรทัดล่าง            ดีบุก ๔๔๐ ชั่ง……………………………………….

ด้านที่ ๕ บรรทัดล่าง            ………………………………ไว้ด้วยกันเป็นดุจนี้

ด้านที่ ๖ บรรทัดล่าง            ไสชร ไวตราบเทานิภภาร แลแผ่บุนนี้ไปแดมา

ด้านที่ ๗ บรรทัดล่าง            ดาบิดาลูกหลานภรรญายาดิทั้งหลายให้

ด้านที่ ๘ บรรทัดล่าง            พ้นทุกเถิด

.

พระพุทธรูปสำริดประทับยืน ปางประทานอภัย (ห้ามญาติ)

พระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย (ห้ามญาติ) เนื้อสำริด ศิลปะอยุธยา สูง ๑๘๒ เซนติเมตร กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๑๐๖ ตอนที่ ๑๖ หน้า ๗๒๙ วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๓๒

.

พระพุทธรูปสำริดประทับนั่ง

 ฐานพระพุทธรูปนั่ง เนื้อสำริด ลักษณะฐานสิงห์แบบย่อมุมไม้สิบสอง ซ้อนกันสองชุด ต่อด้วยท้องไม้ประดับลายกระจัง กึ่งกลางด้านหน้าฐานพระ มีผ้าทิพย์ทำเป็นชายผ้าซ้อนกันสองชั้น มีลายอย่างกากบาท อยู่กลาง และลายเฟื่องอุบะอยู่ใกล้ชายผ้า ด้านหน้ามีอักษรจารึกอยู่ ๑ แถว โดยจารึกไปตามลักษณะของพื้นที่เป็นฐานย่อมุม  ด้านหลังเป็นฐานโค้งอย่างพระพุทธรูปทั่วไปตอนบนมีจารึก ๕ บรรทัด ใต้ฐานนั้นเป็นลายพรรณ พฤกษา อักษรจารึกมีดังนี้

 

จารึกบริเวณด้านหน้า

          พุท ศักราช…หไ… ….แล้ว ใด้ ๒๒๕๓ พระพรร ณี สาจุล ศักราช…๑๐๗๒…กุน

 

จารึกบริเวณด้านหลัง

บรรทัดที่ ๑    คำ ปีขาน โทศก บาทเจาพระเชนเปนประทานโดยคชาปิฎก

บรรทัดที่ ๒    แลสำเมร็จผ่านปีชวด อนุโมทนา ทอง…ชั่ง แลนิมนบาดเจา

บรรทัดที่ ๓    พระพร แลบาทเจ้าจึงให้…เปนช่างสทำพระพุทปักติมากรเปนทอง

บรรทัดที่ ๔    ๒๒๐ ชั่ง เปนฃี้ผิง ๖๒๐ ชั่ง อุทิศไว้ในพระสาศนาตราบเทา ๕๐๐๐ พระ

บรรทัดที่ ๕    พรัมสาฃอใหสำเมร็จบุญตราบเท่านิพานเถิด

***ในส่วนของคำอธิบายเกี่ยวกับจารึกยังคงเป็นกระทู้สำคัญที่รอการค้นคว้าศึกษาเพิ่มเติมกันต่อไป