ความเชื่อเรื่อง พระห้ามสมุทรเมืองนครศรีธรรมราช

พระห้ามสมุทร

พระห้ามสมุทรเมืองนครศรีธรรมราชนั้น มีความเชื่อที่สืบต่อกันมาแต่โบราณ ว่าสามารถขจัดภยันตรายที่เกิดจากวาตภัยในท้องสมุทรได้อย่างพิศดาร และมักประดิษฐานให้หันพระพักตร์ออกสู่ทะเลหลวงในทิศบูรพา เป็นต้นว่า

พระเหมชาลา

ภาพที่ ๑ พระพุทธรูปทรงเครื่องเจ้าฟ้าหญิงเหมชาลา ทางห้ามสมุทร
ประดิษฐานในวิหารท้ายจรนำ พระวิหารพระธรรมศาลา วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

พระอัฏฐารสปางห้ามสมุทร ประดิษฐานในวิหารท้ายจรนำพระวิหารพระธรรมศาลา วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร ซึ่งพระวิหารหลังนี้หากเทียบกับตำนานพระบรมธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช ก็จะได้แก่ “เรือสำเภา” ที่เชิญพระบรมสารีริกธาตุมาแต่ลังกา ด้วยว่าพระวิหารได้ถูกแบ่งเป็น ๓ ส่วน คือ

๑.) เฉลียงด้านหน้า ประดิษฐาน “พระทนธกุมาร” พระพุทธรูปทรงเครื่องปางประทานอภัย ส่วนนี้แทนหัวเรือสำเภาอันมีเจ้าฟ้าชายธนกุมาร แห่งทันตบุรี ประทับอยู่

๒.) โถงประธานในพระวิหาร ประดิษฐาน “พระตาเขียว” พระพุทธรูปปางมารวิชัย นัยน์ตาประดับกระจกสีเขียว ส่วนนี้แทนพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งประดิษฐานมากลางลำเรือ

๓.) วิหารท้ายจรนำ ส่วนนี้ยื่นเข้าไปในเขตพุทธวาสคร่อมพระวิหารพระระเบียงคด ประดิษฐาน “พระเหมชาลา” พระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามสมุทร ส่วนนี้แทนท้ายเรือสำเภาอันมีเจ้าฟ้าหญิงเหมชาลา แห่งทันตบุรี ประทับอยู่ 

พระพิงเสาดั้ง

ภาพที่ ๒ พระพิงเสาดั้ง พระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามสมุทร
ประดิษฐานภายในพระวิหารทับเกษตร (ด้านทิศตะวันออก) วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

มีเพลงกล่อมเด็กบทหนึ่งว่า

ไปคอนเหอ…

ไปแลพระนอนพระนั่ง

พระพิงเสาดั้ง

หลังคามุงเบื้อง

เข้าไปในห้อง

ไปแลพระทองทรงเครื่อง

หลังคามุงเบื้อง

ทรงเครื่องดอกไม้ไหวเหอ…

คำว่า “พระพิงเสาดั้ง” นั้น ได้แก่พระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามสมุทร ๒ องค์ ที่ด้านหลังมี “เสาดั้ง” ค้ำยันให้มั่นคงเอาไว้ ปัจจุบันประดิษฐานในพระวิหารทับเกษตร สันนิษฐานว่าเสาดั้งนี้นำมาค้ำไว้เมื่อครั้งพระครูเทพมุนีศรีสุวรรณถูปาภิบาล (พ่อท่านปาน) บูรณะครั้งใหญ่พระบรมธาตุเจดีย์ ในสมัยรัชกาลที่ ๕

เป็นที่น่าสังเกตว่า พระพุทธรูปปางห้ามสมุทรทุกพระองค์จะประดิษฐานให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออกสู่ทะเลหลวง แม้พระพิงเสาดั้งเองที่สามารถเลือกมุมประดิษฐานได้โดยรอบฐานพระบรมธาตุเจดีย์ก็ตามที

เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๙ คราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปนั้น มิได้ทรงอัญเชิญพระพุทธรูปอื่นใดนอกจาก “พระห้ามสมุทรเมืองนคร” ที่ทรงประดิษฐานไว้ประจำห้องพระบรรทม บนเรือพระที่นั่งนอร์ทเยอรมันลอยด์ (ซักเซน) ด้วยพระราชศรัทธาหวังเป็นเครื่องปัดเป่าภยันตรายในท้องทะเล คู่กับพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชบิดา ตามความในพระราชหัตถเลขาที่มีถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล ลงวันพุธ ที่ ๓ เมษายน ร.ศ.๑๒๖ ความว่า “…พ่อจัดหลังตู้ตั้งพระห้ามสมุทเมืองนครมุมหนึ่ง ต้นไม้ยี่ปุ่นปลูกกระถางกราบเขาจัดสำหรับเรือ ๒ กระถาง กับพระรูปทูลกระหม่อมปู่…”

ส่วนพระห้ามสมุทรเมืองนครที่ทรงเชิญไปนั้น อาจได้รับการทูลเกล้าถวายเมื่อคราวเสด็จประพาสเมืองนครศรีธรรมราชไม่คราวใดก็คราวหนึ่ง เพราะเสด็จประพาสเมืองนครศรีธรรมราช ถึง ๕ ครั้ง

นอกจากนี้ยังพบว่าพระห้ามสมุทร มีการเขียนในเอกสารโบราณเป็นห้าม “สมุทย” ซึ่งคนละความหมายกับ “สมุทร” คำโบราณในดังกล่าวคือสมุทัย องค์หนึ่งในอริยสัจจ์ ๔ หมายถึงเหตุให้เกิดทุกข์ ห้ามสมุทัยจึงคือห้ามเหตุให้เกิดทุกข์ เหตุดับทุกข์ก็ไม่เกิด อีกนัยหนึ่งพระห้ามสมุทรเมืองนครศรีธรรมราช จึงอาจคือตัวแทนคำสอนโดยย่อของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ที่ว่า “ธรรมใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะทรงสั่งสอนอย่างนี้

10 ร้านอาหารดังเมืองนคร หรอยจนต้องบอกต่อ

ร้านอาหารเมืองนคร มีของอร่อย เมนูเด็ดมากมาย วันนี้ นครศรีสเตชั่นขอแนะนำ 10 ร้านอาหารที่ใครมาถึงนครแล้วหากไม่ได้ลองชิมถือว่าท่านพลาด

Continue reading

ขนมจีนดารา ชื่อนี้มีอะไรมากกว่าฉายาในวงการ

ขนมจีนดารา

เรื่องอาหารการกิน คงเป็นคำถามแรกๆ ของนักท่องเที่ยวเมื่อตัดสินใจเดินทางไปในสถานที่ต่าง ๆ หลายคนมองหาร้านที่เป็น Signature ของสถานที่นั้น ๆ ในขณะที่อีกหลายคนต้องการจะเข้าถึงในระดับ Local การมาเยือนนครศรีธรรมราชของสมาชิกครอบครัว Nakhonsistation.com ในวันนี้ เราขอเสนออาหารท้องถิ่น ร้าน Original สัญชาตินครศรีธรรมราชแท้ ๆ แถมยังมีชื่อสะดุดตาสะกิดใจอย่างร้าน “ขนมจีนดารา”

ขนมจีนดารา ชื่อนี้มีอะไรมากกว่าฉายาในวงการ

หลายคนอาจคิดว่า เจ้าของร้านคงเป็นดารา หรือไม่ก็ต้องมีคนในวงการบันเทิงมาเกี่ยวข้องกับร้านนี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เฉลยไว้เลยว่าไม่เกี่ยวอะไรกับคนในวงการทั้งนั้น เพราะ “ดารา” เป็นชื่อของเจ้าของร้าน

พี่ดารา เจ้าของร้านขนมจีนดารา
ย่านถนนท่าชี ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

“ขนมจีนดารา” เปิดกิจการอยู่ในเรือนหลังคากระเบื้องโบราณทรงปั้นหยา ๒ ชั้น ย่านถนนท่าชี ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้กลิ่นอายความเป็นพื้นถิ่นปักษ์ใต้ทั้งร้านซึ่งก็คือที่เดียวกันกับที่ “พี่ดารา” ใช้เป็นบ้าน ร้านเปิดตั้งแต่ ๖ โมงเช้าเรื่อยไปจนถึงบ่ายแก่ๆ จนกว่าเส้นขนมจีนหรือน้ำแกงจะหมด ที่นี่ถือเป็นจุดนัดพบของนักเลงขนมจีนในท้องที่ ซึ่งจะใช้เวลาหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจตักบาตร หรือจับจ่ายซื้อของที่ตลาดท่าชีมารองท้องก่อนอาหารมื้อหลัก

“ขนมจีน” และ “ผักเหนาะ” คำมอญในภาษาถิ่นใต้

“ขนมจีน” ไม่มีในประเทศจีน นั่นก็เพราะคำว่า “จีน” ไม่ได้หมายถึงชื่อประเทศ แต่มาจากคำในภาษามอญว่า “จิน” แปลว่า “สุก” ส่วน “ขนม” ก็มาจากคำว่า “คนอม” แปลว่า จับเป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นที่มาให้ บำรุง คำเอก จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร สันนิษฐานว่าขนมจีนนั้น เดิมเป็นอาหารของชาวมอญ ซึ่งก็มาประจวบเหมาะกับที่เมืองนครศรีธรรมราชในอดีตเป็นเมืองสิบสองชาติสิบสองภาษา มีชุมชนนานาชาติตั้งรกรากกระจายตัวรอบเขตเมือง ทั้งตลาดแขก คลองลาว บ้านท่าจาม และที่ตรงตัวสุดเห็นจะเป็น “ท่ามอญ” ถัดลงไปจากคลองท่าวังตรงที่เป็น “วัดศรีทวี” เดี๋ยวนี้

ขนมจีน ที่มาจาก “คนอม” และ “จิน” ในภาษามอญ

ขนมจีนไม่ได้มีเฉพาะปักษ์ใต้ แต่เป็นวัฒนธรรมร่วมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเภทอาหาร แต่ที่มาขึ้นชื่อและเป็นที่รู้จักในนครศรีธรรมราชอาจด้วยเพราะเอกลักษณ์ของ “น้ำแกง” ที่หลายคนคงคุ้นหูว่า “น้ำยา” นั้น ให้รสชาติจัดจ้าน เด็ด ดี ด้วยเครื่องเทศพื้นถิ่น เฉพาะขนมจีนดารามีน้ำแกงให้เลือก ๓ อย่าง ๓ Levels ความเผ็ด

“น้ำพริก” เผ็ดน้อย หลายคนอาจรู้จักกันในชื่อ “น้ำพริกหวาน”
“น้ำทิ” เผ็ดกลาง น้ำทิ คือน้ำแกงเนื้อปลาป่นใส่กะทิ
“น้ำเผ็ด” เผ็ดมาก คือน้ำแกงปลาป่นไม่ใส่กะทิ น้ำเผ็ดนี้ เด็กๆ หรือใครๆ ที่ชอบความหอมของน้ำแกงแต่ไม่สันทัดในความเผ็ด สามารถสั่งเป็น “น้ำใส” ได้ พี่ดาราก็จะช้อนเอาเฉพาะความใสด้านบนราดลงจนฉ่ำเส้น เหยาะน้ำปลานิดหน่อย หอมอร่อยอย่าบอกใครเลยทีเดียว

น้ำพริก” = “เผ็ดน้อย”
“น้ำทิ” = “เผ็ดกลาง”
“น้ำเผ็ด” = “เผ็ดมาก”

มาถึงสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ของการทานขนมจีน นั่นคือ “ผักเหนาะ” คำนี้ก็เช่นกันที่มาจากคำว่า “กะน่อบ” ในภาษามอญ ให้ความหมายเดียวกันกับผักจิ้มหรือผักแนม ซ้ำ Admin อาโด๊ด จากเพจ รามัญคดี – MON Studies ยังให้ความเห็นว่านอกจากคำที่ยืมมาแล้ว ร้านอาหารใต้ของไทยและใต้ของพม่าแถบเมาะลำเลิง (มะละแหม่ง) รี (เย) ย่างกุ้ง หงสาวดี ซึ่งก็คืออาณาจักรมอญเดิม เมื่อเข้าไปนั่งปุ๊บ บนโต๊ะจะมีผักจิ้มหรือผักเหนาะให้ลูกค้าแบบเติมฟรีไม่อั้น จะต่างกันตรงที่ทางใต้ของไทยแกล้มน้ำพริกมะนาว แต่ทางใต้ของพม่าหรือเมืองมอญนั้นแกล้มปลาร้าอย่างเมื่อพันปีที่ผ่านมายังไงยังงั้น

ผักเหนาะร้านขนมจีนดารา

ผักเหนาะร้านขนมจีนดารา มีทั้งที่เป็นผักพื้นบ้านสดๆ อย่างสะตอเบา ยอดหมุย ยอดยาร่วง ใบแมงลัก ถั่ว แตงกวา มะเขือ ถั่วงอก ฯลฯ ที่อร่อยและแนะนำคือเมนูผักลวกอย่างผักบุ้งลวกกะทิ แนมด้วยไข่ต้ม ส่วนผักผักดองก็มีทั้งมะละกอดองน้ำส้มสายชู ผักกาดดอง ทั้งใครที่ยังเผ็ดไม่จุใจ ก็มีแกงพุงปลาแถมให้เติมเผ็ดกันได้ตามใจชอบ

ขนมหวานลบเผ็ดประจำการร้านขนมจีนดารา
ได้แก่ วุ้นดำ ขนมซั้ง และบวดคง

“ลบเผ็ด” กันด้วยขนมหวาน

เมนูล้างปาก หรือที่ชาวนครศรีธรรมราชเรียกกันว่า “ลบเผ็ด” ที่คอยถ้าประจำการอยู่หน้าร้านทุกวันได้แก่ “วุ้นดำ” “ขนมซั้ง” และ “บวดคง” แล้วเช็คบิลกันได้เลย ที่ร้านขนมจีนดารา เริ่มต้นที่จานละ ๒๐ บาททุกน้ำแกง ขนมจีนเปล่าจานละ ๑๐ บาท เท่ากับราคาขนมหวาน ส่วนถ้าใครอยากสั่งเป็นชุดยกกิโลกรัม ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ ๑๔๐ บาทพร้อมน้ำแกงครบชุด ผักเหนาะชุดใหญ่กันเลยทีเดียว

วันเจ้าเมืองเก่า วันเจ้าเมืองใหม่ รอยสงกรานต์เมืองนคร

วันเจ้าเมืองเก่า วันเจ้าเมืองใหม่ รอยสงกรานต์เมืองนคร

หมุดหมายของประเพณีสงกรานต์คือการเฉลิมฉลองการเปลี่ยนผ่านประจำปี โดยกำหนดเอาวันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนออกจากราศีมีนสู่ราศีเมษเป็นวันมหาสงกรานต์ ที่ต้องให้เป็น “มหา” เพราะอินเดียมีสงกรานต์ทุกเดือน ด้วยว่าราศีมีปกติย้ายไปตามวาระ แต่ที่ยิ่งสุดคือจากมีนสู่เมษเพราะต้องเปลี่ยนทั้งเดือนและปี ในที่นี้ให้ความสำคัญเฉพาะการเปลี่ยนศกที่เป็นจุลศักราช เพราะปีนักษัตรจะเปลี่ยนในเดือนห้าขึ้นค่ำหนึ่ง ข้อนี้น่าสนใจเพราะอินเดียไม่มีปีนักษัตร ไทยรับสิ่งนี้มาจากวัฒนธรรมจีน[1] หากจะให้ถูก ก็ต้องถือปฏิบัติตามอย่างปฏิทินหลวง คือเปลี่ยนปีนักษัตรในเดือนอ้าย (แปลว่า ๑ หมายถึงเดือนแรก) ตามจันทรคติ

มีต้นเค้าจากตำรา ๑๒ เดือน คัดแต่สมุดขุนทิพมนเทียรชาววังไว้ ระบุถึงพระราชพิธีหลายประการที่ปัจจุบันเป็นวิถีปฏิบัติในประเพณีสงกรานต์ของเมืองนครศรีธรรมราช พระราชพิธีสรงน้ำพระในพระบรมมหาราชวัง          =          พิธีขึ้นเบญจาสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์
พระราชพิธีสรงมุรธาภิเษก                    =          พิธีขึ้นเบญจาสรง/รดน้ำปูชนียบุคคล
การพระราชกุศลก่อพระทราย                 =          ก่อพระเจดีย์ทราย
การพระราชกุศลตีข้าวบิณฑ์                  =          ตีข้าวบิณฑ์ (ปัจจุบันพบในเกาะสมุย)

เบญจาสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ วันว่างพุทธศักราช ๒๕๖๒

มองทั่วไปอาจดูเหมือนพระราชพิธีของศูนย์กลางอำนาจ ส่งอิทธิพลต่อประเพณีของเมืองนครศรีธรรมราช แต่กลับกันเมื่อพบข้อความในตำรา ๑๒ เดือน คัดแต่สมุดขุนทิพมนเทียรชาววังไว้ เอกสารโบราณสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (ลงวันจันทร์ เดือน ๘ หลัง แรม ๑๔ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๕ ตรงกับวันที่ ๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๓๓๖) ระบุว่า “…พระพุทธองค์เจ้ามีพระประสงค์ตำราพระราชพิธีตรุษสาร์ทสำหรับเมืองนคร…ข้าฯ คณะลังกาแก้วได้ทำการพิธีมาจำได้เป็นมั่นคง…” ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีรอยบางประการใช้คติเดียวกันเป็นคู่ขนาน รับ-ส่ง เกื้อกูลกัน ในขณะที่หลายอย่างยังคงเอกลักษณ์เฉพาะอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชกระทั่งปัจจุบัน

ลักษณะการปฏิบัติ  พิธีกรรม ความเชื่อ และคุณค่า

 เมืองนครศรีธรรมราชมีการกำหนดเรียกวันในห้วงของสงกรานต์ไว้เป็นลักษณะเฉพาะ ๓ วันดังนี้

วันเจ้าเมืองเก่า 
ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน เชื่อกันว่าเป็นวันสุดท้ายที่เทวดาผู้รักษาเมืองได้พิทักษ์รักษา เป็นวันเดียวกันกับที่เทวดาพระองค์นั้นๆ จะขึ้นไปชุมนุมกันยังเทวสภาบนสวรรค์

วันว่าง 
ตรงกับวันที่ ๑๔ เมษายน เชื่อกันว่าเป็นวันที่ปราศจากเทวดารักษาเมือง

วันเจ้าเมืองใหม่ 
ตรงกับวันที่ ๑๕ เมษายน เชื่อกันว่าเป็นวันต้อนรับเทวดาผู้รักษาเมืองพระองค์ใหม่ ที่จะเสด็จมาพิทักษ์รักษาต่อไปจนตลอดศักราช

คำว่าวันสงกรานต์ ชาวนครศรีธรรมราชเรียกแทนด้วยคำว่า “วันว่าง” และมักเข้าใจว่าคือทั้ง ๓ วัน ในความเป็นจริงปีหนึ่งมีกิจใหญ่สำคัญ ๒ ครั้ง คือบุญเดือนห้าและบุญเดือนสิบ บุญเดือนห้า หมายถึงสงกรานต์ กิจส่วนใหญ่มุ่งไปที่การแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณที่ยังคงมีชีวิตอยู่ ส่วนบุญเดือนสิบ (สารทเดือนสิบ) ก็มีนัยยะเดียวกันแต่เพื่ออุทิศถึงบรรพชนผู้ล่วงลับไปแล้ว 

แต่เดิมก่อนที่จะถึงวันว่างจะมีคณะเพลงบอกออกขับกลอนตามบ้านเรือนต่างๆ ถึงบันไดบ้านเพื่อบอกศักราช บอกกำหนดวาระวันทั้งสาม บอกวันใดเป็นวันวันดี – วันอุบาทว์ นางสงกรานต์ ตลอดจนสรรเสริญเยินยอเจ้าของบ้าน และการชาขวัญหรือสดุดีพระแม่โพสพ เรียกกันว่า “เพลงบอกทอกหัวได”

ในส่วนของห้วงสงกรานต์ทั้ง ๓ วัน มีระเบียบปฏิบัติต่างกัน ดังนี้

วันเจ้าเมืองเก่า

ทุกครัวเรือนจะเร่งรัดการทำงานที่ยังคั่งค้างอยู่ให้แล้วเสร็จ ไม่เช่นนั้นจะถูกตำหนิจากเพื่อนบ้านและญาติมิตร ถือเป็นการฝ่าฝืนจารีตไม่เป็นมงคลแก่ตนเอง และจะต้องตระเตรียมอาหารสำรองสำหรับสามวันให้พร้อม ทั้งข้าวเหนียว น้ำตาม และมะพร้าวใช้สำหรับทำขนม บิดามารดาก็ต้องเตรียมเสื้อผ้าชุดใหม่สำหรับตนเองและลูกหลานสำหรับสวมใส่ในวันว่าง รวมถึงน้ำอบน้ำหอมไว้สำหรับสระหัวอาบน้ำผู้อาวุโส ทำความสะอาดบ้านเรือนให้สะอาด ตลอดจนตัดเล็บ ตัดผมให้เรียบร้อย

นอกจากนี้ยังมีพิธีลอยเคราะห์หรือสะเดาะเคราะห์ เพื่อให้เคราะห์กรรมต่างๆ ลอยตามเจ้าเมืองเก่าที่กลับไปชุมนุมบนสวรรค์ บางท้องถิ่นมีพิธีกรรมเฉพาะเรียกว่า “เกิดใหม่”

วันว่าง

ชาวบ้านชาวเมืองจะงดเว้นการตระเตรียมเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อวันข้างหน้า งดเว้นการทำงานต่างๆ งดเว้นการสีข้าวสาร การออกหาปูปลาอาหาร ห้ามไม่ให้อาบน้ำในแม่น้ำลำคลอง ห้ามตัดผมตัดเล็บ ห้ามตัดต้นไม้กิ่งไม้ ห้ามฆ่าสัตว์ทุกชนิด ไม่กล่าวคำหยาบคายหรือดุด่าใครทั้งสิ้น ห้ามขึ้นต้นไม้ 

นอกจากข้อห้ามแล้วก็ยังมีข้อปฏิบัติ เช่นว่า ให้ปล่อยสัตว์เลี้ยงออกหากินอย่างเสรีไม่มีการผูกล่ามให้ออกหากินได้ตามอิสระ มีการละเล่นกันอย่างสนุกสนานทั้งของเด็กเล็กและผู้ใหญ่ อาทิ ตี่ เตย สะบ้า ชนวัว ฯลฯ ซึ่งเรียกกันว่า “เล่นว่าง”

วันเจ้าเมืองใหม่

ในหนังสือปกิณกศิลปวัฒนธรรม เล่ม ๒๒ จังหวัดนครศรีธรรมราช ของกรมศิลปากร กำหนดชื่อเรียกวันนี้ไว้อีกชื่อว่า วันเบญจา เนื่องมาจากในวันนี้จะมีการปลูกโรงเบญจา เป็นพลับพลามีหลังคา ๕ ยอด เป็นเรือนไม้ประดับด้วยการฉลุลายกาบต้นกล้วยหรือที่เรียกเฉพาะว่าการ “แทงหยวก” อย่างวิจิตรงดงาม แทรกม่านผ้าและกลไกการไขน้ำจากฝ้าเพดาน โดยสมมติเอาโรงเบญจาเป็นโลกทั้ง ๓ เหนือเพดานผ้าเป็นสวรรคโลก โถงเบญจาเป็นมนุษยโลก และใต้พื้นโรงพิธีเป็นบาดาล กราบนิมนต์พระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่หรือปูชนียบุคคลนั่งในโถงเบญจาเพื่อรับน้ำคล้ายอย่างการสรงมุรธาภิเษก อาจารย์ประทุม ชุมเพ็งพันธุ์ กล่าวในหนังสือวิถีชีวิตชาวใต้ ประเพณีและวัฒนธรรมว่าอาการอย่างนี้เรียก “พิธีขึ้นเบญจา” ซึ่งจะกระทำโดยลูกหลานที่รู้จักบุญคุณของพ่อแม่ปู่ย่าตายายในฐานะผู้หลักผู้ใหญ่ของวงศ์ตระกูล

ซ้าย เบญจาสรงน้ำพระรัตนธัชมุนี (๒๕๑๙) ขวา เบญจาสรงน้ำพระเทพวินยาภรณ์ (๒๕๖๒)
ณ วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร

ในการขึ้นเบญจานั้น ถือเป็นหัวใจสำคัญของสงกรานต์เมืองนครศรีธรรมราช เพราะเป็นสิ่งที่สามารถแสดงออกถึงความกตัญญูต่อบรรพชนผู้ยังมีชีวิตอยู่ของตนดังกล่าวแล้วได้อย่างเห็นชัดแจ้ง แต่ละพื้นที่คงมีความแตกต่างกันเฉพาะรายละเอียดปลีกย่อย ส่วนหลักการนั้นเหมือนกัน คือการใช้น้ำเป็นสื่อกลาง ครอบครัวที่มีฐานะก็ปลูกโรงเบญจาให้วิลิศมาหราอย่างไรก็ตามแต่จะมี แล้วลดหลั่นกันไปตามอัตภาพ อย่างง่ายก็นุ่งกระโจมอก อาบน้ำ ประทินผิว เปลี่ยนผ้าใหม่ เป็นจบความ สาระสำคัญอยู่ที่การรวมลูกหลานญาติมิตร โดยอ้างเอาผู้อาวุโสที่สุดอันเป็นที่เคารพสักการะเป็นประมุขในพิธี

เบญจาสรงน้ำพระเดชพระคุณพระเทพวินยาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร
วันเจ้าเมืองใหม่ พุทธศักราช ๒๕๖๒

อย่างไรก็ดี แม้จะแตกต่างกันตามมีตามเกิด ก็พบว่ามีขั้นตอนและวิธีการร่วมกันเป็นลำดับดังนี้

๑. นัดหมายรวมญาติ กำหนดพื้นที่พิธี และเชิญผู้อาวุโสซึ่งควรแก่การสักการะ

๒. กล่าวคำขอขมา

๓. สรง / อาบน้ำ (ในระหว่างนี้จะมีส่วนของพิธีสงฆ์ที่จะสวดพระปริตรทำน้ำพระพุทธมนต์ก่อนสรง/อาบ และขณะสรง/อาบพระสงฆ์จะสวดชัยมงคลคาถา)

๔. เปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นเสื้อผ้าชุดใหม่

๕. รับพร

นอกจากนี้ ชาวทั่วไปจะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่ แล้วเตรียมสำรับกับข้าวไปวัดที่บรรพชนของตนเคยไปทำบุญเป็นประจำสืบมา หรือไม่ก็วัดที่เผาศพและเก็บอัฐิเอาไว้ และจะมัดเอารวงข้าวที่จะนำไปทำขวัญข้าวประจำลอมข้าวโดยใช้ด้านสีแดงสีขาวมัดรวบอย่างสวยงามวางไว้บนพานหรือถาด นำไปทำขวัญข้าวร่วมกันที่วัด เรียกว่า “ทำขวัญใหญ่” เพื่อเป็นสิริมงคลแก่การทำนาเพาะปลูกสืบไป 

เมื่อประกอบศาสนพิธีเรียบร้อยแล้ว ก็จะนิมนต์พระสงฆ์บังสุกุลแก่บรรพชนผู้ล่วงลับ แล้วแยกย้ายกันไปสักการะบัว (ที่บรรจุอัฐิของบรรพชน) จากนั้นก็จะแยกย้ายกันสรงน้ำพระพุทธรูป หรือทำบุญอื่นๆ กันตามอัธยาศัย คล้ายกับว่าเป็นการทำบุญปีใหม่นั่นเอง

ในท้ายที่สุดภาคกลางคืน มีกิจกรรมเฉลิมฉลองเถลิงศก เช่น มหรสพพื้นบ้าน การจุดดอกไม้เพลิง รับเจ้าเมืองใหม่ การก่อ – เฉลิมฉลอง – และถวายพระเจดีย์ทราย เป็นต้น


[1] เมืองนครศรีธรรมราช ปรากฏในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ว่ามีสถานะเป็นเมือง ๑๒ นักษัตร บรรดาเมืองรายล้อมทั้ง ๑๒ เมือง ใช้ตรานักษัตรแต่ละปีเป็นดวงตราประจำเมือง หากปีนักษัตรเป็นการรับมาจากจีนแล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือการตั้งข้อสังเกตว่า เมืองนครศรีธรรมราชในอดีต มีการติดต่อโดยตรงกับจีนหรือรับผ่านพันธมิตรจากเมืองใด

10 พระเครื่องนครศรีธรรมราช เชิญมากราบไหว้บูชา ขอพร สัมฤทธิ์ผลหน้าที่การงาน ค้าขายร่ำรวย

เอาใจสายมู กับของขลัง กับ 10 พระเครื่องชื่อดังเมืองนครฯ  หากเราพูดถึงจังหวัดนครศรีธรรมราช นอกจากอาหารอร่อย ของพื้นเมืองขึ้นชื่อ และที่ท่องเที่ยวสุดชิคแล้ว ก็ต้องไม่พลาด เครื่องรางของขลัง ที่ขึ้นชื่อไม่แพ้กัน และวันนี้ เราก็จะพาไปรู้จักกับ 10 พระเครื่องนครศรีธรรมราชกัน

1.องค์จตุคราม รามเทพ

องค์จตุคาม รามเทพ วัดพระธาตุ

            ชาวนครฯเชื่อกันว่าองค์จตุคราม รามเทพนั้น คือองค์ที่คอยปกปักรักษาบ้านเมืองและผู้ศรัทธาให้มีแต่ความสุข ความเจริญ เพราะเป็นองค์สมมติเทพคือ พระนารายณ์อวตาร นั่นเอง ตามจารึกของชาวศรีวิชัยได้บอกว่า

“มีอานุภาพดุจดังพระอาทิตย์และพระจันทร์ ที่ขจัดความมืดมัวในโลก” การขออธิษฐานจากพระองค์นั้นทำได้โดยมีเงื่อนไขต้องไม่ผิดศีลธรรม

2.พ่อท่านคล้ายวัดสวนขัน

พ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ วัดสวนขัน

            พระครูพิศิษฐ์อรรถการ หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์”  ประชาชนและลูกศิษย์ต่างเคารพนับถือพ่อท่านคล้าย ด้วยพ่อท่านจะพูดจาด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม แจ่มใส อารมณ์เยือกเย็น พร้อมให้พรทุกคนอยู่เสมอ เนื่องจากท่านขึ้นชื่อเรื่องวาจาศักดิ์สิทธิ์ทุกคนจึงกลัวท่านตำหนิมาก เพราะเชื่อว่าทุกคนที่ถูกตำหนิจะพบกับสิ่งวิบัติ ดังนั้นคนส่วนใหญ่จึงหวังจะได้รับคำอวยพรจากท่านกันแทบทั้งสิ้น และนอกจากคำอวยพรแล้ว วัตถุมงคลจากพ่อท่านคล้ายก็เป็นสิ่งที่ทุกคนต่างเสาะแสวงหาเพื่อนำมาบูชาเช่นเดียวกัน

3.หัวนะโม

หัวนะโม

            หัวนะโม เครื่องรางของขลังที่ชาวนครฯรู้จักดี  ที่เรียกว่า “หัวนะโม” มีลักษณะเป็นเม็ดกลมๆ มีอักษรปัลลวะหรืออักษรอินเดียโบราณจารึกไว้บนเหรียญ ตอนที่เกิดโรคห่าระบาด กษัตริย์แห่งอาณาจักรได้นำหัวนะโมที่ปลุกเสกไปโรยไว้รอบๆเมือง ปรากฎว่าโรคห่าได้หายไป จึงเป็นที่มาของการบูชานับถือจนถึงปัจจุบันนี้  โดยในปัจจุบันนิยมนำไปทำเป็นเครื่องประดับ ตกแต่งเพื่อความสวยงามในการพกพา

4.พระแม่เศรษฐี วัดร่อนนา

พระแม่เศรษฐี วัดร่อนนา

            ว่ากันว่าเมื่อ 800ปีก่อนมีครอบครัวเศรษฐีที่มีลูกสาว 1คน แต่เกิดอุบัติเหตุทำให้นางพลัดตกน้ำไป และไม่ว่าจะหายังไงก็หาไม่พบ ด้วยความรักที่มีต่อบุตรสาว เศรษฐีจึงให้สร้างรูปปั้นลูกสาวของตน แต่ไม่ว่าจะสร้างยังไงก็ไม่เหมือน จนรู้ถึงหูพระอินทร์จึงให้พระวิษณุแปลงกายมาเป็นพราหมณ์เฒ่าลงมาช่วยจนสำเร็จ จึงกลายเป็นตำนานมาจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันนี้องค์แม่เศรษฐีขึ้นชื่อเรื่องการขอบุตร หากใครต้องการมีบุตรธิดาก็ต่างมาขอที่นี้ และสมหวังก็จะนำรูปถ่ายของลูกมาไว้ที่ศาลเจ้าของเจ้าแม่นั่นเอง

5.ไอ้ไข่

ไอ้ไข่ วัดเจดีย์

              นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก “ไอ้ไข่” เพราะขึ้นชื่อเรื่องโชคลาภ เลขเด็ด ทำมาค้าขึ้น โดยผู้ที่บูชาต่างก็ได้รับโชคดีกันไปตามๆกัน จึงทำให้ผู้คนหลั่งไหลมาที่วัดดอนเจดีย์ ไม่ขาดสายนั้นเอง  โดยตามตำนาน ไอ้ไข่ นั้น มีมากมายหลายเรื่องด้วยกัน

อาทิ เช่น ไอ้ไข่คือวิญญาณเด็กที่ติดตามหลวงพ่อทวด เมื่อหลวงพ่อทวดธุดงค์มาที่วัดร้างแห่งนี้ และให้วิญญาณดวงนี้เฝ้าดูแลปกปักษ์รักษาทรัพย์สินของแผ่นดินที่อยู่ภายในวัดไว้ เป็นต้น

6.พ่อท่านคลิ้ง วัดถลุงทอง

พ่อท่านคลิ้ง วัดถลุงทอง

            พ่อท่านคลิ้ง พระอริยสงฆ์แห่งเมืองนครฯ ที่มีอายุถึง 104ปี และสังขารไม่เน่าเปื่อย โดยท่านออกบวชตั้งแต่อายุ 8 ขวบ และครองเพศบรรพชิตมาตลอดจนกระทั่งละสังขาร พ่อท่านคลิ้งขึ้นชื่อเรื่องคาถาอาคม ท่านยังปลุกเสกวัตถุมงคลไว้มากมาย อาทิ ลูกอมชานหมาก พระปิดตาเนื้อผงผสมหว่าน เป็นต้น โดยวัตถุมงคลท่านพ่อคลิ้งนั้นเด่นไปทาง เมตตามหานิยม โภคทรัพย์ แคล้วคลาด ปลอดภัย นั่นเอง

7.พ่อท่านซัง วัดวัวหลุง

.พ่อท่านซัง วัดวัวหลุง

            ไม่มีเกจิใดไม่รู้จักเหรียญของพ่อท่านซัง แห่งวัดวัวหลุง เพราะเป็นเหรียญที่มีราคาแพงที่สุดในเมืองนครฯ  ด้วยเป็นพระคณาจารย์ในยุคเก่าที่มีบารมีสูง ว่ากันว่า ท่านไม่เคยสร้างเหรียญหรือรูปถ่ายใดใด จะมีก็แต่เครื่องรางประเภทตะกรุด เสื้อยันต์ ผ้ายันต์ ไม่มากนัก ทำให้มีราคาสูงมาก ซึ่งเหรียญถูกสร้างมาภายหลัง ขึ้นชื่อเรื่องอยู่ยงคงกระพัน ทำให้เป็นที่หมายปองของคนที่ชอบสะสมของเหล่านี้เป็นอย่างมาก

8.พ่อท่านเขียว วัดหรงบล

พ่อท่านเขียว วัดหรงบล

            ชื่อเสียงของพ่อท่านเขียว เกิดจาก ลูกศิษย์ต้องการของดีจากอาจารย์เป็นที่ระลึก จึงนำผ้าขาวแล้วนำผผงขมิ้นมาทาฝ่าเท้าของพ่อท่าน ประทับลงบนผ้าขาวและให้ท่านอธิษฐานจิตลงบนผ้าขาวนั้นจึงนับเป็นผ้ายันต์ ต่อมามีคนลองนำไปทดลองใช้ปืนยิง ปรากฎว่าปืนด้าน ยิงไม่ออก จนทำให้เลื่องลือเป็นที่กว้างขวางนับแต่นั้นมา  ต่อมาก็มีชาวบ้านนำชานหมากของท่านมาปั้นเป็นลูกอม ได้ผลชะงักในการป้องกันสัตว์มีพิษนักแล ต่อมาเมื่อมีผู้ต้องการมากขึ้นท่านก็ได้ทำสิ่งอื่นออกมา ต่างก็ปรากฎปาฎิหาริย์ต่างๆ เสมอๆ นั่นเอง

9.พ่อท่านมุ้ย วัดป่าระกำเหนือ

พ่อท่านมุ้ย วัดป่าระกำเหนือ

            พ่อท่านมุ้ย หรือพระครูนิโครธจรรยานุยุต พระเกจิชื่อดังแห่งเมืองนครฯ เป็นพระเถระที่เปี่ยมไปด้วยเมตตา โดยพ่อท่านมุ้ยเป็นพระวิปัสสนา ที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย และยังมีความรู้ทั้งด้านหมอยาสมุนไพร ว่ากันว่ายุคก่อนที่หมอจะมีความรู้ พ่อท่านก็ได้ช่วยเหลือชาวบ้านทั้งหญิงที่คลอดยาก ให้คลอดลูกได้ง่ายขึ้น ต่อมาเมื่อชราภาพจึงหยุดไป แต่ก็ยังทำลูกอมให้ เพื่อชาวบ้านที่มาขอไปแช่น้ำให้หญิงที่จะคลอดดื่มและนึกถึงพ่อท่าน ก็จะคลอดง่าย ปลอดภัยทั้งแม่ทั้งลูกเช่นเดียวกัน

10.พ่อท่านกล่ำ วัดศาลาบางปู

พ่อท่านกล่ำ วัดศาลาบางปู

            พ่อท่านกล่ำ แห่งวัดศาลาบางปู พระอริยสงฆ์ที่ให้กำเนิดยันต์ 8ทิศ ราหู 8 ตน พระครูวิสุทธิจารี หรือพ่อท่านกล่ำถือพรมจรรย์ บวชเรียนตั้งแต่สามเณรจนละสังขารตอนอายุได้ 96 ปี และร่างของท่านยังเก็บอยู่ในมณฑป โดยที่เส้นเกศา หรืออวัยวะต่างๆ ต่างไม่เสื่อมสลายไป นับเป็นอีกหนึ่งพระเกจิที่ชาวบ้านต่างเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างมากเลยทีเดียว

            เมืองนครศรีธรรมราช ไม่ได้ขึ้นชื่อเพียงด้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว รวมไปถึงของพื้นเมืองต่างๆ และก็ยังมีพระเกจิชื่อดังที่เป็นที่เลื่อมใส ศรัทธา ของชาวบ้าน และผู้คนมากมาย ถือเป็นเมืองที่เราทุกคนควรไปเยือนสักครั้งในชีวิตเลยทีเดียว

ชาวนครโบราณ จัดการ “โรคระบาด” กันอย่างนี้

“…เสด็จออกไปตรวจราชการเมืองนครศรีธรรมราช…
ได้ทรงสืบสวนได้ความว่า ราษฎรแถวนั้น
เขามีธรรมเนียมป้องกันโรคติดต่อเช่นนี้มาเป็นอย่างหนึ่ง
คือถ้าบ้านใดเกิดไข้ทรพิศม์ก็ดี เกิดอหิวาตกะโรคก็ดี
เจ้าของบ้านปักเฉลวที่ประตูบ้าน
แลไม่ไปมาหาสู่ผู้หนึ่งผู้ใด
ส่วนเพื่อนบ้านเมื่อเห็นเฉลวแล้วก็ไม่ไปมาหาสู่จนกว่าโรคจะสงบ
ต่อเมื่อทำเช่นนี้ไม่มีผลแล้ว
ชาวบ้านจึงได้อพยพไปอยู่อื่นเสียชั่วคราว
เป็นธรรมเนียมมาอย่างนี้…”

รายงานประชุมเทศาภิบาล ร.ศ. ๑๓๑

จากวิธีปฏิบัติสู่ “ธรรมเนียม” ชาวนคร

ความตอนหนึ่งจากรายงานข้างต้น ทำให้ทราบ “ธรรมเนียม” ของชาวนครศรีธรรมราชว่า เจ้าบ้านต้องปัก “เฉลว” ไว้ที่ประตูบ้านประการหนึ่ง กับ “ไม่ไปมาหาสู่ผู้ใด” อีกหนึ่งประการ ทั้งสองเป็นวิธีปฏิบัติที่อาจได้ผลในยุคนั้น จึงถูกยอมรับและใช้เป็นธรรมเนียมสำหรับการจัดการสังคมทั้งในระดับปัจเจกและส่วนรวมท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ซึ่งห้วงพุทธศักราช ๒๔๕๕ ในรายงานนั้น โรคที่เป็นที่รู้จักและมักแพร่ระบาดคือ “ไข้ทรพิษ” กับ “อหิวาตกโรค”

“…เจ้าของบ้าน
ปักเฉลวที่ประตูบ้าน…”

เฉลว อ่านว่า ฉะเหฺลว พจนานุกรมศัพท์แพทย์และเภสัชกรรมแผนไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า เฉลวเป็นเครื่องจักสานชนิดหนึ่ง ทำด้วยตอกหรือหวายหักขัดกันเป็นมุม ตั้งแต่ ๓ มุมข้ึนไป แพทย์แผนไทยใช้เป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์สำหรับปักหม้อยา เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ และป้องกันการละลาบล้วงเครื่องยาในหม้อ มักทำกัน ๔ แบบ คือ

เฉลว ๓ มุม หมายถึง ไตรสรณคมน์ (มะ-มหาปุริสะ, อะ-อะโลโก, อุ-อุตมปัญญา) 
เฉลว ๔ มุม หมายถึง ธาตุทั้ง ๔ (ปถวี อาโป วาโย และเตโช)
เฉลว ๕ มุม หมายถึง พระเจ้าห้าพระองค์ (นะโมพุทธายะ)
และเฉลว ๘ มุม หมายถึง ทิศแปด (อิติปิโสแปดทิศ – บูรพา อาคเณย์ ทักษิณ หรดี ประจิม พายัพ อุดร อีสาน)

นอกจากนี้ แต่โบราณยังใช้เฉลวหรือในบางท้องที่เรียก “ฉลิว” หรือ “ตาเหลว” ปักเป็นเครื่องหมายที่สิ่งของซึ่งจะขาย ปักบอกเขต หรือด่านเสียค่าขนอน จึงเป็นที่รู้กันว่าเฉลวคือสัญลักษณ์ในการสื่อความอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นกับบริบทของที่อยู่แห่งเฉลว เช่นว่า ถ้าอยู่ที่หม้อยา ก็หมายถึงยาหม้อนั้นปรุงสำเร็จแล้ว ห้ามมิให้ผู้ใดปรับแปลงอีกต่อไป กับทั้งเป็นเครื่องกันคุณไสยด้วยพุทธานุภาพตามพระคาถาที่แสดงอยู่ด้วยจำนวนแฉก และที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คือ เฉลว เป็นสัญลักษณ์บอกว่าในบ้านนั้นมีคนป่วยเป็นโรคใดโรคหนึ่งที่กำลังรักษาและอาจแพร่ระบาดกับผู้ไปมาหาสู่

“…ไม่ไปมาหาสู่ผู้ใด…”

เมื่อเป็นที่เข้าใจร่วมกันแล้วถึง “สัญญะ” ของ “เฉลว” จึงอาจตีความได้ว่า “เฉลว” คือนวัตกรรมอย่างหนึ่งของคนในยุคโบราณ เพื่อแสดงเขตกักกันผู้ติดเชื้อ การไปมาหาสู่ซึ่งอาจทำให้เป็นเหตุของการติดเชื้อเพิ่มจึงเป็นข้อห้ามไว้ใน “ธรรมเนียม” เมื่อ “มาตรการทางสังคม” มีพื้นฐานบนความเชื่อทางไสยศาสตร์ แล้วเชื่อมโยงกับหลักคิดทางพระพุทธศาสนา สิ่งนี้อาจเป็นคำตอบของประสิทธิภาพในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคระบาดในอดีตของชาวนครศรีธรรมราชได้อย่างดี

วันพระ สืบสกุลจินดา

๑๓ เมษายน ๒๕๖๔

กระเป๋ากระจูด งานหัตถกรรมเพิ่มมูลค่า เก๋ไก๋ทันสมัย ของดีเมืองนคร

“กระจูด” หรือ “จูด” เป็นเป็นพันธุ์ไม้จำพวก “กก” ลำต้นมีลักษณะกลม สีเขียวอ่อน สูงประมาณ 1-2 เมตร ออกดอกเป็นกระจุกแน่นคล้ายกับดอดกระเทียม เจริญเติบโตเป็นกลุ่มใหญ่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือในระบบนิเวศพื้นที่ตามแนวชายฝั่ง ชอบขึ้นในพื้นที่ที่มีน้ำขังหรือป่าพรุที่มีน้ำขังตลอดปีที่ระดับความลึกประมาณ 1-2 เมตร แพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว มีถิ่นกำเนิดมาจากเกาะมาดากัสการ์ ลังกา สุมาตรา มอริเซียส หมู่เกาะต่างๆ ในแหลมมลายู ฮ่องกง บอร์เนียว รวมไปถึงทวีปออสเตรเลียฝั่งตะวันออก ส่วนในประเทศไทยพบได้แถบภาคตะวันออกและภาคใต้

กระเป๋ากระจูดจากหญ้าไร้ราคา เพิ่มมูลค่าด้วยหัถศาสตร์ภูมิปัญญาชาวบ้าน

การสานกระจูด เครดิตภาพ smartsme.co.th

ประเทศไทยพบกระจูดมากในพื้นที่ป่าพรุของตำบลเคร็ง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นแหล่งของกระจูดที่มีคุณภาพดี เหนียวและทนทาน ชาวบ้านมักจะนำกระจูดมาจักสานเป็นข้าวของเครื่องใช้ภายในครัวเรือน โดยใช้ภูมิปัญญาที่ถูกถ่ายทอดมาจากรุ่นของปู่ย่าตายาย ซึ่งชาวบ้านสานกันเป็นแทบทุกคนอยู่แล้ว งานสานที่นิยมทำกันมากก็คือ “เสื่อกระจูด” ที่เอาไว้ใช้สำหรับปูนอน และทำขายด้วยแต่กลับไม่มีตลาดรองรับ

ทว่าในปัจจุบันได้มีการพัฒนาต่อยอดดัดแปลงจนกลายมาเป็นกระเป๋ากระจูดสานแฟชั่น ที่มีดีไซน์สวยเก๋ และมีลวดลายต่างๆ หลายแบบให้เลือกมากขึ้น รวมทั้งมีหลายสีให้เลือกด้วยเพราะมีการนำกระจูดมาย้อมสีด้วยสีย้อมจากธรรมชาติ เหตุผลที่ชาวบ้านเลือกใช้สีย้อมจากธรรมชาติแทนที่จะใช้สีย้อมจากสารเคมีนั้นก็เพราะว่าการใช้สีย้อมจากสารเคมีจะส่งกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและส่งผลร้ายต่อสุขภาพของชาวบ้านเองด้วย

นอกจากการสานกระจูดจะมีการพัฒนาในเรื่องของสีสันแล้ว ยังมีการพัฒนาในเรื่องของลวดลายที่สานอีกด้วย โดยการนำกระจูดที่ย้อมสีแล้วมาสานเพื่อทำให้เกิดลวดลายที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งลวดลายที่สานนั้นก็มีทั้งลายดั้งเดิม ได้แก่ ลายขัดหนึ่ง ลายขัดสอง และลายขัดสาม ซึ่งเป็นลายพื้นฐาน เมื่อสานลายพื้นฐานเหล่านี้จนชำนาญก็สามารถประยุกต์ไปเป็นลายขั้นสูงได้ เช่น ลายตอกคู่ ลายขัดตาหมากรุก ลายดอกพิกุล เป็นต้น

ลายขัดสอง หรือลายสอง เป็นลายที่นิยมมาสานเป็นลายของเสื่อมากที่สุด เพราะสานง่าย สร้างความแข็งแรงให้กับเสื่อ และสวยงามกว่า และยังสามารถดัดแปลงเป็นลายอื่นๆ  ได้อีกหลายลาย เช่น ลายลูกแก้ว ลายดาวล้อมเดือน ลายดาวกระจาย เป็นต้น

การสานกระจูด เครดิตภาพ kajood.com

ส่วนลายประยุกต์ หรือลายที่มีการพัฒนาเพื่อปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย และความต้องการของผู้บริโภคเพื่อทำการขยายตลาดเพิ่มนั้น ได้แก่ ลายตัวแอล ลายสก๊อต ลายฟันปลา ลายรองจาน เป็นต้น

ปัจจุบันนี้ชื่อเสียงของเครื่องจักสานกระจูดจากเมืองนครศรีธรรมราชเริ่มเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างมากขึ้นเนื่องจากเป็นแหล่งผลิตสินค้าจากต้นกระจูดแท้ๆ ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เพราะต้นกระจูดเป็นพืชที่ขึ้นเองตามธรรมชาติในท้องถิ่นและมีความชุกชุมมาก ทำให้หาได้ง่าย ไม่ต้องลงมือปลูกเองเลย ดังนั้นชาวบ้านจึงสามารถแปรรูปกระจูดตั้งแต่การเก็บกระจูดสดไปจนถึงขั้นตอนของการทำกระจูดสานโดยที่ยังใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมอยู่ได้ แค่ปรับจากการสานไว้ใช้งานเองในครัวเรือนมาเป็นการสานกระจูดในเชิงของธุรกิจแทน

ซึ่งนอกจากจะมีกระเป๋าสานกระจูดแล้ว ยังสามารถสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้มากยิ่งขึ้น เช่น พัด กระเป๋าสะพาย กระเป๋าถือ รองเท้าแตะ ที่ใส่โน้ตบุ้กหรือไอแพด หรือของตกแต่งบ้านต่างๆ เช่น ปลอกคลุมเก้าอี้ ที่รองแก้ว ที่รองจาน ที่ปูโต๊ะ เป็นต้น

และจุดเด่นของกระเป๋าสานจากกระจูดอยู่ที่ยิ่งใช้ก็ยิ่งทน และกระจูดยิ่งเก่าก็จะออกสีเหลืองทอง มีความเหนียว ทนทาน การเก็บรักษาก็ง่ายไม่ยุ่งยากเพียงแค่วางเก็บไว้ในที่ร่ม และถ้าเป็นไปได้ยิ่งใช้กระเป๋าได้บ่อยเท่าไหร่กระเป๋าก็จะยิ่งนิ่มขึ้นเท่านั้นอีกด้วย

กระเป๋ากระจูดหัตกรรมพื้นบ้าน ปรับตัวเฉิดฉายสร้างรายได้ออนไลน์เป็นกอบเป็นกำ

Live ขายกระเป๋ากระจูด เครดิตภาพ กระจูดไทย [Krajoodthai]

ปัจจุบันช่องทางในการจัดจำหน่ายก็มีมากมายหลากหลายช่องทางเพื่อให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อตามความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นช่องทางออฟไลน์ที่วางขายผ่านหน้าร้าน และที่ทำการไปรษณีย์ รวมไปถึงช่องทางออนไลน์ต่างๆ เช่น Shopee, Facebook Page, Lazada, Instagram โดยเฉพาะการไลฟ์สดขายของได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี เพราะสามารถสื่อสารโดยตรงกับลูกค้าได้ทันทีในขณะที่ทำการไลฟ์สด ทำให้การเปิดขายผ่านไลฟ์สดในแต่ละครั้งนั้นสามารถที่จะปิดการขายได้มากกว่า 100 ชิ้นเลยทีเดียว ส่งผลให้ในแต่ละเดือนมียอดจำหน่ายมากกว่าหนึ่งแสนบาทต่อเดือน และกลายเป็นช่องทางหลักในการกระจายสินค้าให้ส่งตรงถึงมือลูกค้าในช่วงที่โควิด-19 ระบาดด้วย

นอกจากจะจัดจำหน่ายในสถานที่ต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังส่งไปจำหน่ายแก่กลุ่มลูกค้าในจังหวัดเชียงใหม่ หนองคาย ภูเก็ต หน่วยงานต่างๆ เช่น โรงแรม รวมทั้งยังส่งออกไปยังประเทศจีนมาได้ 2-3 ปีแล้วด้วย ซึ่งรูปแบบผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดที่คนจีนนิยมคือ “กล่องตะกร้า” และ “กระเป๋าสาน” อีกทั้งลูกค้ายังมีทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา คนวัยทำงาน และข้าราชการ ซึ่งราคาของสินค้าก็เริ่มต้นที่ 100 บาทไปจนถึงราคาหลักพัน

ดังนั้นงานจักสานกระจูดจึงไม่ใช่แค่งานภูมิปัญญาที่ถูกถ่ายทอดมายังรุ่นต่อรุ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นงานหัตถกรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอดเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้อย่างยั่งยืนต่อไป

กินอะไรดี นครศรีธรรมราช 10 เมนูชวนชิม ไม่ได้ทานถือว่ายังมาไม่ถึงเมืองนคร

เดินทางมาถึงเมืองคอน ก็ต้องมาลิ้มลองความอร่อยกับสุดยอด อาหารยอดนิยมแห่งเมืองนครศรีฯ ถ้าไม่ได้ทาน ถือว่ายังมาไม่ถึงเมืองคอน เรามาลำดับความอร่อยของอาหารทางเมืองคอน ...กินอะไรดี นครศรีธรรมราช ตระเวนกินตามนี้ได้เลย

1.ข้าวแกงเมืองคอน

ข้าวแกงเมืองคร เครดิตภาพ แฟนเพจร้านอาหารครัวนายหนัง

ถือว่าเป็นอาหารพื้นบ้านปักษ์ใต้ ที่ขึ้นชื่อของที่นี่เลย ซึ่งคนภาคกลางคุ้นเคยกันดีอยู่เพราะส่วนใหญ่ก็จะมีร้านมาเปิดขายใน กทม. แต่รสชาติถ้าจะให้ถึงเครื่องปรุง ต้องมาเยือนถึงถิ่นคะ จะได้รสชาติของเครื่องแกงทางภาคใต้ แกงที่นิยมและรู้จักกันอย่างดีคงไม่พ้น แกงส้ม หรือแกงเหลือง ส่วนใหญ่จะใช้เนื้อปลาต่างๆ เช่นปลากุเลา ปลากระบอก กับหน่อไม้ดอง หรือยอดมะพร้าวอ่อน มาทำเป็นส่วนผสม คลุกเคล้ากับเครื่องแกงเหลืองของทางภาคใต้  ตามมาด้วย กุ้งต้มกะทิ ผัดใบเหลียงใส่ไข่ สะตอผัดกะปิกุ้ง ปลาทอดขมิ้น แกงเผ็ดปลาดุกใส่ใบยี่หรา หรือใบชะพลู  ร้านที่ขึ้นชื่อ ร้านครัวนายหนัง , ร้านป้าล้วน , ข้าวมันแกง ซอยราชเดช

2.กาแฟ โรตี ติ่มซำ ซาลาเปา

ติ่มซ้ำ เครดิตภาพ แฟนเพจ สมบูรณ์โอชา

อาหารเช้าที่ชาวนครชื่นชอบในการทานคือ การจิบกาแฟยามเช้า หรือชาโบราณรสเข้มข้น ซึ่งเป็นวัฒนธรรมในการจิบกาแฟ ของคนที่นี่ ตามด้วยการทานติ๋มซำ ไม่ว่าจะเป็นขนมจีบ ฮะเก๋า ซาลาเปา มีให้เลือกมากกว่า 50 รายการ ควบคู่กับการจิบชาร้อน  และที่ขาดไม่ได้นั่นคือปาท่องโก๋ จิ้มกับสังขยา หรือนม ให้ความอร่อยที่ลงตัว ร้านที่คนนิยมไปทานและขึ้นชื่อ ร้านโกปี๊ร้าน มีหลายสาขาให้เลือกทาน , ราชรสติ๋มซำ ,ตังเกี๋ย แต่เตี้ยม ,สมบูรณ์โอชา

3.ข้าวยำ ขนมจีน

ขนมจีน เครดิตภาพ แฟนเพจ นครศรีธรรมราช

หลังจากจิบกาแฟแล้ว ก็ต้องไม่พลาดที่จะมาลิ้มลองความอร่อยของข้าวยำ ขนมจีน ซึ่งอาหารเช้าแบบปักษ์ใต้ก็คือ ข้าวยำ  ในส่วนของขนมจีน ก็มีให้เลือกมากมายเช่น น้ำยาปลา น้ำยากะทิ แกงไตปลา น้ำพริก ซึ่งกินร่วมกับผักสด และผักพื้นบ้าน หรือจะเป็นผักดอง ก็อร่อยไม่แพ้กัน ร้านอาหารที่ขึ้นชื่อ..ร้านขนมจีนเส้นสดแม่แอ็ด , ร้านขนมจีนพี่นี สะพานยาว จัดเป็นร้านอาหารที่เก่าแก่ของเมืองนคร , ขนมจีนเมืองคอน

4.บะกุ๊ดเต๋

บะกุ๊ดเต๋ เครดิตภาพ เพจร้านโกปี้ 1942

จัดว่าเป็นอีกอาหารเช้าประเภทนึง ที่นิยมทานกับ ติ๋มซำ บะกุ๊ดเต๋ จะเข้มข้นด้วยน้ำซุปพะโล้ที่ตุ๋นกับกระดูกหมูใส่เครื่องปรุงยาจีน ตุ๋นจนกระดูกหมูเปื่อย ร้านที่แนะนำและมีหลายสาขาคือร้าน โกปี๊ เป็นร้านที่ขึ้นชื่อ และหาร้านทานได้ง่าย เพราะมีสาขากระจายอยู่ตามเมืองนคร

5.อาหารทะเล หรืออาหารซีฟู๊ด

อาหารทะเล เครดิตร้าน สิชลซีฟูด

 

ขึ้นชื่อว่ามาเมืองทะเล คงพลาดไม่ได้ที่ต้องทานอาหารทะเล โดยเฉพาะตามชายฝั่งสิชล ท่าศาลา ขนอม ก็จะมีร้านอาหารทะเลเรียงรายอย่างมาก อาหารก็คงไม่พ้นจำพวก กุ้ง หอย ปู ปลา นิยมนำมาปรุงกับเครื่องแกงสมุนไพรสดๆ คลุกเคล้าด้วยกะปิ ที่เลอรส จิ้มกับน้ำจิ้มซีฟู๊ด หรือจะนำมาต้มกับกะทิ    ในแบบครัวชาวใต้ก็ได้ กินกับผักสด และผักพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็น กุ้งราดซอสมะขาม แกงส้มปลากะพง ปลาหมึกทะเลย่าง หอยนางรมสด เป็นต้น ร้านที่จัดว่าเด็ด…ร้านซีนอล เรสเตอรองท์ , ริมเลซีฟู๊ด , สิชลซีฟู๊ด ,ขนมซีฟู๊ด ,ท่าศาลาซีฟู๊ด

6.ชาชัก

ชาชัก เครดิตภาพ แฟนเพจ ร้านน้ำชาบังบ่าว

ขึ้นชื่อกันทีเดียว สำหรับชาชักแห่งเมืองดังนคร จัดว่าชาที่นี่ให้ทีเด็ดของความเข้มข้น ของชา และความกลมกล่อมที่เข้ากัน ไม่ว่าจะเป็นชาร้อน ชาชักเย็น ใครมาก็ต้องไม่พลาดชิม ด้วยลีลาของท่าชง และสีสันของชา ก็ชวนให้หลงใหล ร้านชาชัก แทบจะมีอยู่ทุกมุมของเมืองนคร นับว่าเป็นเครื่องดื่มยอดนิยม ร้านที่แนะนำ..ร้านน้ำชาบังบ่าว , ร้านบังชา ,ร้านก๊งน้ำชา

7.โรตี

โรตีป้าหนอม เครดิตภาพ Wongnai

มีชาชักที่ขาดไม่ได้ก็คงต้องเป็นโรตี เป็นของคู่กัน โรตีที่ขึ้นชื่อดั่งเดิม โรตีมะตะบะ หอมไปด้วยเครื่องเทศผงกะหรี่ และโรตีภูเขาไฟ ทีทุกร้านต่างต้องมี นอกจากนี้ยังมี โรตีทิชชู่ ที่เป็นแป้งบางกรอบ  หรือโรตีที่สุดคลาสสิค ก็คือ โรตีใส่นมน้ำตาล ร้านที่ไม่ควรพลาด..ร้านโรตีบังบ่าว ,ร้านโรตีโกบัง ,ร้านโรตีป้าหนอม ,ร้านฟารีดาชาโรตี

8.มังคุดมังกัสโต้

มังคุดคัด เครดิดภาพ แฟนเพจมังกัสโต้

เป็นผลไม้ที่จะมีในช่วง กรกฎาคม มังคุดมังกัสโต้ ให้ความหวาน มัน กรอบ นิยมนำมาปลอก รับประทานสดๆ หรือเสียบไม้ขายเป็นแท่งๆ ให้ทันยุคสมัย เพราะสามารถรับประทานได้ทั้งเนื้อและเมล็ด  หรือจะนำมาทำเป็นแกงส้ม ส้มตำ ก็ได้ มีวางขายจำหน่ายตามร้านของฝากทั่วไป และ ร้านกาแฟ Take off coffee ในสนามบิน

9.ขนมลา

ขนมลา เครดิตภาพ แฟนเพจ ขนมลาบ้านแม่พริ้ม

เป็นขนมพื้นบ้านทางภาคใต้ ที่หากินได้ยาก ทำมาจากแป้งข้าวเจ้าขนมลาเป็น 1 ในขนม 5 ชนิดที่เป็นสัญลักษณ์แทน แพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม ในสมัยก่อน มีรสชาติหวานมันแบบธรรมชาติ ไม่ใส่วัตถุกันเสีย ปัจจุบันมีขนมลา 2 ชนิดคือลาเช็ด และลากรอบ ลาเช็ดจะใช้น้ำมันน้อย โรยแป้งหนา ส่วนลากรอบ นำลาเช็ดมาโรยน้ำตาลแล้วนำไปตากแดด แหล่งที่มีชื่อ รสชาติดีอร่อยที่สุดต้องที่ ขนมลาจากอำเภอปากพนัง

10.ส้มโอทับทิมสยาม

ส้มโอทับทิมสยาม เครดิตภาพ แฟนเพจส้มโอทับทิมสยาม

เป็นส้มโอแห่งลุ่มแม่น้ำปากพนัง มีสีสันชวนรับประทาน เนื้อส้มโอสีชมพูเข้มถึงแดง คล้ายทับทิม รสชาติหวาน แห้งกรอบ และหอมนุ่ม เปลือกนอกนุ่มดุจกำมะหยี่ เยี่ยมชมและเลือกซื้อได้ที่ ไร่สวัสดิ์สุข ,ร้านเพ็ญ ส้มโอทับทิมสยาม ,คุณจอย ส้มโอทับทิมสยาม

            กินอะไรดี นครศรีธรรมราช อาหารนานาชนิดให้เราได้เลือกทานกัน พูดได้เลยว่า มาถึงเมืองนครต้องได้กินของที่ขึ้นชื่อให้ครบ ไม่อย่างนั้นมาไม่ถึงเมืองนครแน่นอน

“เข็ดมอน” จากหญ้าดึกดำบรรพ์ สู่น้ำมันนวด KM Oil

“เข็ดมอน” เป็นหญ้าชนิดหนึ่ง เติบโตตามธรรมชาติ พบได้ทั่วไปบนดินทรายในพื้นที่ภาคใต้ โดยฉพาะตามแนวสันทรายโมคลาน ตำบลโมคลาน อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ปรากฏในสำนวนท้องถิ่นที่จดจำและเล่าต่อกันเป็นมุขปาฐะว่า “ตั้งดินตั้งฟ้า ตั้งหญ้าเข็ดมอน” การถูกทรงจำในลักษณะที่มีต้นกำเนิดมาพร้อมดินและฟ้า ทำให้หญ้าเข็ดมอนมีอีกสถานะคือการเป็น “หญ้าดึกดำบรรพ์”

หญ้าเข็ดมอนที่พบบนสันทรายโมคลานมี 2 ชนิด “ลุงชม” หรือ นายชม พันธิ์เจริญ ปราชญ์ท้องถิ่นตำบลโมคลานวัย 76 ปี อธิบายว่า “…หญ้าเข็ดมอนมี 2 ชนิดใหญ่ๆ คือหญ้าเข็ดมอนตัวผู้ และหญ้าเข็ดมอนตัวเมีย ทั้ง 2 นี้ มีสรรพคุณในทางยา…”

ลุงชม เล่าให้คณะทำงานโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) ภายใต้การสนับสนุนจากกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ซึ่งพื้นที่ตำบลโมคลานบ้านลุงชมอยู่ในความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยมี ผศ.ดร. รุ่งระวี จิตภักดี เป็นหัวหน้าโครงการ ฟังว่า ลุงชมได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรและการทำน้ำมันนวดมาจากคุณปู่ ในระยะแรกได้ทดลองทำน้ำมันจากสมุนไพร 3 ชนิด คือ ผักเสี้ยนผี ขมิ้นอ้อย และน้ำมันมะพร้าว เมื่อทดลองใช้เองแล้วได้ผลพอสมควรจึงแสวงหาสมุนไพรในท้องถิ่นเพิ่มเติมเพื่อสรรพคุณที่มากกว่า จนพบว่า “หญ้าเข็ดมอน” มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดเมื่อย ตามชื่อที่ชาวปักษ์ใต้เรียกอาการปวดเมื่อยว่า “เข็ด”

ลุงชมได้สืบสานภูมิปัญญาของบรรพบุรุษโดยการสกัดสรรพคุณจากสมุนไพรหญ้าเข็ดมอนออกมาใช้ประโยชน์ พร้อมกับส่วนประกอบต่าง ๆ อีก 19 ชนิด เป็นน้ำมันสมุนไพรที่สามารถใช้นวดบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ป้ายแผลเปื่อย แผลสด แผลน้ำร้อนลวก แผลในปากจากอาการร้อนใน ชโลมหนังศีรษะรักษาอาการผมร่วงเนื่องจากเชื้อรา

ในระยะแรก บรรจุภัณฑ์และแบรนด์ภายใต้ภาพและชื่อ “ลุงชม” สนนราคาอยู่ที่ขวดละเพียง 20 บาท มีจำหน่ายเฉพาะที่บ้านของลุงชมเท่านั้น ผศ.ดร. รุ่งระวีฯ และคณะทำงานจึงมีความเห็นร่วมกันว่า หญ้าเข็ดมอนคือของขวัญจากบรรพชน คือจุดเชื่อมร้อยระหว่างอดีตกับปัจจุบัน คือภูมิปัญญาที่สามารถพัฒนาสู่อาชีพ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ที่มีขึ้นเพื่อสร้างรายได้และอาชีพให้กับชุมชน หญ้าเข็ดมอนจึงควรได้รับการพัฒนาให้กลับมาทรงจำของคนในยุคปัจจุบันอีกครั้งในฟังก์ชันที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคและกระแสสังคม โดยเบื้องต้นได้วางแผนในการ Rename Repackeging และ Remarketing เพิ่มมูลค่าตลอดจนการขยายผลสู่การส่งเสริมอาชีพที่เกี่ยวเนื่องให้กับชุมชน เพื่อให้ “หญ้าเข็ดมอน” จากหญ้าดึกดำบรรพ์ จะได้ถูกพัฒนาสู่น้ำมันนวด KM Oil ลุงชมเคเอ็มออยล์ จึงเป็นการผสมสานศาสตร์ภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นฐานของศิลปวัฒนธรรมและการแพทย์พื้นบ้าน KM ที่มาจาก Khed Mon จึงคล้ายว่าเป็นคุณค่าและความหมายเดียวกันกับ Knowledge Management

ไผ่พาสเทล โมคลาน ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เป็นมากกว่าเครื่องจักสาน

ไผ่พาสเทล โมคลาน

โมคลาน” เป็นตำบลหนึ่งในอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพื้นที่ทอดตัวไปในแนวเหนือ-ใต้ ขนานไปกับชายฝั่งทะเลตะวันออก มีภูมิประเทศตั้งอยู่บนสันทรายระหว่างเทือกเขานครศรีธรรมราชและทะเลอ่าวไทย ทำให้ทั้งดินและน้ำอุดมสมบูรณ์เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงทั้งผู้คน สรรพสัตว์ และพืชพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ต้นไผ่” ซึ่งเป็นไม้ชั้นดีที่ต่างก็ยอมรับกันในเรื่องคุณภาพ ตั้งแต่หน่อไม้ถึงปลายลำ ถูกนำมาใช้สอยได้นานาประโยชน์ ไผ่ดีด้วยดินดี น้ำดี ดังกล่าวแล้วว่าโมคลานตั้งอยู่บนสันทรายอันอุดมสมบูรณ์ “ไผ่” จึงเป็นหนึ่งในห่วงโซ่การเกษตรที่สำคัญบนสันทรายนี้

โมคลานมีปราชญ์ท้องถิ่นคนสำคัญอย่าง “นายกิบหลี หมาดจิ” หรือ “ป๊ะกิบหลี” ทำให้ “ไผ่” ถูกประดิษฐ์ประดอยด้วยภูมิปัญญาอันสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น กระเชอ ชะลอม กระด้ง กระจาด ตะกร้า เป็นต้น นอกจากการสืบสานงานหัตถกรรมเหล่านี้แล้ว ป๊ะกิบหลียังพัฒนาฝีมือด้วยการประยุกต์สานกระบอกใส่แก้วน้ำแบบพกพา โคมไฟ และอีกสารพัด สุดแต่จะได้รับออเดอร์ คล้ายกับว่าทั้งผู้ทำและผู้ใช้ต่างก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์

มากไปกว่าการเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน ป๊ะกิบหลี ยังเปิดบ้านเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ของชุมชนและต้อนรับนักท่องเที่ยว เหมาะสำหรับใครที่กำลังมองหากิจกรรมสำหรับครอบครัวด้วยงาน DIY Handicraft ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ให้เด็กๆ ร่วมกันออกแบบบรรจุภัณฑ์สร้างสรรค์ของครอบครัว แถมยังฝึกทักษะการคิดเชื่อมโยง ทีมเวิร์ค และสมาธิหลักสูตรระยะสั้นกันได้ภายในระยะเวลา 1 วันก็ได้เลยทีเดียว

ไผ่จากป่า มาสู่งานฝีมือ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ความโดดเด่นจากการไล่สีของเปลือกไผ่ทำให้ได้โทนพาสเทลแบบออแกนิก ปลอดภัยสำหรับการใช้สอยที่ต้องสัมผัสกับอาหาร แถมยังได้ชื่นชมกับคุณค่าจากสีธรรมชาติของตอกไผ่บนผลิตภัณฑ์พื้นถิ่น ของที่นี่โมคลาน…