ทุ่งใหญ่ : เทวดาหนาน และ ศาสนาผีท้องถิ่น

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กระแสยอดนิยมของสังคมออนไลน์คงหนีไม่พ้นเรื่องราวของสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างพระสยามเทวาธิราชและเรื่องเล่าหลอน ๆ จากทวิตเตอร์ที่ยังไม่ทราบเค้าโครงความจริง แต่ประเด็นของพระสยามเทวาธิราชทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์ในมิติของความเชื่อพื้นเมืองผ่านศาสนาดั้งเดิมที่เรียกกันว่า “ศาสนาผี” และเมื่อลองมองย้อนกลับมาในพื้นที่ของอำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็มีเรื่องเล่าตำนานมากมายซึ่งเกี่ยวเนื่องกับศาสนาผี ในที่นี้ขอกล่าวถึง “เทวดาหนาน” เป็นการเฉพาะ

เทวดาหนานเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำพื้นที่แถบตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยชาวบ้านบางท่านเชื่อกันว่าเทวดาหนานก็คือทวดงูบองหลา (จงอาง) ประกอบด้วยสององค์ คือ เทวดาฝ่ายชายทำหน้าที่ปกปักรักษาหนานรูปและหนานใหญ่ ส่วนเทวดาฝ่ายหญิงทำหน้าที่พิทักษ์ดูแลหนานนุ้ย  บางท่านเชื่อว่าเทวดาหนานทั้งสามถูกแยกออกเป็นเอกเทศ จึงได้มีการสร้างศาลไว้เฉพาะ กล่าวคือ ศาลเทวดาหนานใหญ่ประดิษฐานอยู่ใกล้กับถนนสายหลักหมายเลข ๔๑ เทวดาหนานนุ้ยประดิษฐานอยู่ใกล้กับวัดขนานทางด้านทิศตะวันตก และเทวดาหนานรูป ซึ่งไม่ได้มีการสร้างศาลเคารพ เนื่องจากชาวบ้านเชื่อกันว่าภาพสลักนั้นคือหนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเคยมีร่างทรงประทับเป็นสื่อแทนเทวดาหนานรูป เพื่อบ่งบอกว่าหากมีเรื่องบนบานสานกล่าวสามารถบนบานตนเองได้ แต่หากจะเชิญไปด้วยไกล ๆ นั้น คงเป็นไปไม่ได้ เพราะตนต้องอยู่พิทักษ์ทรัพย์สมบัติ ณ ที่แห่งนี้ และบางท่านเชื่อว่าเทวดาหนานทั้งสามเป็นองค์เดียวกัน เพียงแต่ถูกนับแยกเมื่อมีการแยกพื้นที่หินหนานออกเป็นหนานใหญ่ หนานนุ้ย และหนานรูป

แต่ไม่ว่าเทวดาหนานจะเป็นองค์เดียวกันหรือไม่ มันก็ทำให้เราได้มองเห็นภาพสะท้อนของความเชื่อของคนในพื้นที่ที่ยังคงนับถือ “ศาสนาผี” ซึ่งมีความเชื่อผูกพันกับ “ทวด” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอิทธิฤทธิ์ เดชานุภาพ สามารถให้คุณให้โทษได้

ความศักดิ์สิทธิ์ของเทวดาหนานถูกเล่าต่อกันมาหลายชั่วอายุคน โดยความเชื่อหนึ่งเล่าว่า หากสัตว์เลี้ยงเกิดล้มป่วย หรือผู้คนปรารถนาสิ่งอื่นใดในทางที่ดีเป็นประโยชน์ก็ให้บนถึงเทวดาหนาน ไม่นานสัตว์เลี้ยงเหล่านั้นก็จะหายเป็นปลิดทิ้ง และผู้คนก็มักจะสมหวังตามปรารถนา แต่หากผู้ใดลบหลู่ดูหมิ่น จะได้รับการลงโทษจนต้องรีบทำพิธีขอขมาเป็นการใหญ่ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดที่ว่าทวดจะให้คุณเมื่อบวงสรวงบูชาและเอาใจ และจะให้โทษเมื่อถูกกระทำการลบหลู่ดูหมิ่น ซึ่งเทวดาหนานน่าจะจัดอยู่ในรูปลักษณ์ของทวดแบบสัตว์

และหากพิจารณาต่อไปอีกจากงานเขียนของ อาจารย์สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่กล่าวว่า “ผีบรรพบุรุษอาศัยหลักฐานจากจารึกในท้องถิ่นที่มีการระบุถึงชื่อของเทวะ เดาว่าเป็นผีพื้นบ้าน แต่สะกดแบบบาลีสันสกฤต เช่นที่วัดภู สมัยชัยวรมันที่สอง มีเทพชื่อ Vrah Thkval เดาว่าเป็นเทพหรือผีท้องถิ่น” ดังนั้นเทวดากับผีท้องถิ่นก็คือสิ่งเดียวกัน เพียงแต่มีรากฐานของคำแตกต่างกัน

เพราะฉะนั้นเมื่อพระพุทธศาสนาได้เดินทางเข้ามาในพื้นที่ ก็จำต้องปะทะกับความเชื่อพื้นเมือง และเกิดการต่อรองอำนาจ เพื่อเชื่อมความเชื่อระหว่างศาสนา จนกระทั่งความเป็นพุทธและผี ถูกหลอมรวมจนเกือบจะเป็นเนื้อเดียวกัน ก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมและอัตลักษณ์เฉพาะพื้นที่มาจวบจนทุกวันนี้

“พระพุทธสิหิงค์” ท่ามกลางความจริง – ความปลอม คติและความทรงจำของชาวนครศรีธรรมราช

            พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองนครศรีธรรมราชมาแต่ครั้งใดนั้น ยังไม่ปรากฏจุดเริ่มต้นที่เป็นข้อสรุป ทั้งนี้ เพราะทางโบราณคดี คติชนวิทยา ประวัติศาสตร์ศิลป์ และอีกหลายวิทยาการให้คำตอบต่างกัน ทว่าชาวนครศรีธรรมราช ก็ยังยืนยันถึงความเป็นตัวแทนของพระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เฝ้าคำนึงและระลึกถึงคุณอันประเสริฐในฐานะศูนย์รวมศรัทธาอยู่ตาปีตาชาติ”

            แม้จะมีการออกชื่อแตกต่างกันไป เป็นต้นว่า พระสยิง หระหึง พระสีหิงค์ และพระสิหึง แต่ในความรับรู้ของชาวนครศรีธรรมราช กล่าวกันเป็นความเดียวว่าพระพุทธสิหิงค์องค์นี้ ถูกอัญเชิญมาจากลังกา ตามป้ายนิทัศน์ซึ่งสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช จัดทำไว้หน้าหอพระพุทธสิหิงค์ ความว่า “…พระมหากษัตริย์ลังกา โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๗๐๐ และมาอยู่ประเทศไทยในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช…” ในขณะที่ป้ายติดกันของสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช ไม่กล่าวถึงที่มา โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับพุทธลักษณะว่า “…เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร หล่อด้วยสำริด หน้าตักกว้าง ๓๒ เซนติเมตร กางกั้นด้วยฉัตรหักทองขวางทำด้วยโลหะปิดทองฉลุลาย…”

            การระบุศักราชของการสร้างที่ พ.ศ. ๗๐๐ อาจเป็นมูลเหตุตั้งต้นให้มีการตั้งคำถามถึงความจริง – ความปลอม เพราะนักประวัติศาสตร์ศิลปะหลายท่านกำหนดอายุของงานพุทธศิลป์ชิ้นนี้ไว้ไม่เกินพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ประกอบกับหลายพื้นที่ในเมืองนครศรีธรรมราช รวมไปถึงท้องถิ่นภาคใต้ มีการกล่าวถึงพระพุทธสิหิงค์ซึ่งเป็นสมบัติของตนในลักษณะตำนาน ว่าเป็นองค์จริงแท้ ดั้งเดิม อาทิ พระพุทธสิหิงค์ เมืองตรัง พระพุทธสิหิงค์ วัดอินทคีรี เป็นต้น เหล่านี้ไม่รวมถึงพระพุทธสิหิงค์ของภูมิภาคอื่นซึ่งเป็นที่สักการะโดยทั่วไป ทั้งพระพุทธสิหิงค์ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ และพระพุทธสิหิงค์ พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ดังนั้น นอกจากการถามหาความจริง – ความปลอม ซึ่งเป็นเป้าประสงค์หลักของบทความฉบับนี้แล้ว การวิเคราะห์ให้เห็นมูลเหตุและตั้งข้อสังเกตกับบริบทที่เกี่ยวข้องจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจควบคู่กันไป ซึ่งข้อค้นพบเหล่านั้นอาจคลี่คลายไปสู่องค์ความรู้หรือทฤษฎีทางวัฒนธรรมใหม่ก็ได้

            ทั้งนี้แต่ไม่ทั้งนั้น เพื่อไม่ให้บทความเยิ่นเย้อไร้หลัก จึงกำหนดขอบเขตที่จะกล่าวถึงเอาไว้เฉพาะสิ่งที่เป็นคติและความทรงจำของชาวนครศรีธรรมราช ซึ่งอาจมีการกล่าวถึงของชาวนอกบ้าง แต่ก็เป็นเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยง 

         พระพุทธสิหิงค์ในตำนาน

            อย่างไรก็ดี เรื่องที่มาของพระพุทธสิหิงค์องค์นี้ เป็นสาระสำคัญที่ผู้คนให้ความสนใจมากกว่าสิ่งอื่น ซึ่งบริบทของเมืองนครศรีธรรมราชได้สื่อสารที่มาเหล่านั้นด้วย “ตำนาน” ทั้งที่เป็นมุขปาฐะและลายลักษณ์อักษร

            ตำนานกระแสหลักถูกเล่าสืบต่อกันเป็นมุขบาฐ กล่าวกันตามข้อความในป้ายนิทัศน์แรกดังที่ได้ยกมาแล้ว ใจความสำคัญอยู่ที่การสร้างเมื่อพุทธศักราช ๗๐๐ และ เชิญมาในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช จะมีเพิ่มเติมก็ส่วนที่เกี่ยวข้องกับเมืองนครศรีธรรมราช กล่าวคือพ่อขุนรามคำแหงฯ มิได้ไปเชิญด้วยพระองค์เอง แต่ตรัสขอกับพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชให้ช่วยเป็นธุระ ความทรงจำของชาวนครศรีธรรมราชโดยทั่วไปมีแต่เพียงเท่านี้ ทั้งที่มีเอกสารสำคัญประจำเมืองกล่าวถึงไว้อย่างชัดเจน

            ตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับกระดาษฝรั่ง (พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงพิมพ์ตามต้นฉบับหนังสือเก่ากระดาษฝรั่งเขียนเส้นหมึก ในหอพระสมุดวชิรญาณ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๑)  มีการกล่าวถึงพระพุทธสิหิงค์เอาไว้ ความว่า “…แลพระสิหิงค์มาประทักษิณพระธาตุแล้วอยู่ ๗ วันก็จากเมืองนครไปเมืองเชียงใหม่…” ต้นย่อหน้าของข้อความนี้บอกมหาศักราชไว้ว่าตรงกับ ๑๑๙๖ ซึ่งคือพุทธศักราช ๑๘๑๗ ในขณะที่เมืองนครศรีธรรมราชมีพญาศรีไสณรงค์เป็นเจ้าเมือง

            ส่วนตำนานเมืองนครศรีธรรมราช กล่าวว่า “เมื่อมหาศักราชได้ (ต้นฉบับลบ) ปีนั้นพระยาศรีธรรมโศกราชสร้างสถานลหาดซายนั้นเป็นกรงเมืองชื่อเมืองศรีธรรมราชมหานคร ผู้อัครมเหสีชื่อสังคเทวี จึงพญาศรีธรรมโศกราชแลพญาพงศากษัตริย์แลบาคูตริริด้วยมหาพุทธเพียร ซึ่งจำทำอิฐปูนจะก่อพระมหาธาตุ จึงรู้ข่าวว่าพระสิหิงค์เสด็จออกแต่เมืองลังกาก็ล่องน้ำทะเลมา แลว่ามีผีเสื้อผีพรายเงือกงูชลามพิมทองตามหลังรัศมีพระพุทธสิหิงค์ๆ ลอยมาเถิงเรียกชื่อเกาะปีนัง แล้วก็คืนมาเห็นเกาะแก้ว…”

            ดังจะเห็นว่า

            ตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช บอกที่ไปโดยไม่บอกที่มา

            ส่วนตำนานเมืองนครศรีธรรมราช บอกที่มาแต่ไม่บอกที่ไป

            ทั้ง ๒ ตำนานจึงถูกประติดประต่อสวมกันจนลงรอย แน่นอนว่าตำนานเหล่านี้ย่อมมีต้นเค้า ซึ่งในที่นี้อาจสันนิษฐานได้ว่ามาจากเรื่องพระสีหลปฏิมาหรือพระพุทธสิหิงค์ ในพระคัมภีร์ชิณกาลมาลีปกรณ์

            เพื่อให้เห็นภาพกว้างเกี่ยวกับที่มาของพระพุทธสิหิงค์ จึงจำเป็นต้องเชื่อมโยงข้อมูลจากแหล่งที่มีการกล่าวถึง ซึ่งก็คือต้นเค้าของชุดความรู้ในการสร้างความทรงจำร่วมกันของชาวนครศรีธรรมราช ดังจะได้ขมวดความต่อไป

            ชิณกาลมาลีปกรณ์ แต่งโดยมหาเถรรัตนปัญญา ชาวเมืองเชียงใหม่ เสร็จสมบูรณ์ทั้งฉบับเมื่อพุทธศักราช ๒๐๗๑ แรกแต่งนั้นเป็นภาษาบาลี จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้ราชบัณฑิต ได้แก่ พระวิเชียรปรีชา พระยาพจนพิมล หลวงอุดมจินดา หลวงราชาภิรมย์ และหลวงธรรมาภิมณฑ์ ร่วมกันแปลเป็นภาษาไทยครั้งแรก เมื่อพุทธศักราช ๒๓๓๑ ใช้ชื่อว่า “ชินกาลมาลินี” ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ ได้ตีพิมพ์ขึ้นเป็นเล่ม ทั้งฉบับภาษาบาลีและฉบับแปล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ โดยเรียกชื่อตามฉบับแปลนั้น และใน พ.ศ. ๒๕๐๓ กรมศิลปากรได้ให้ศาสตราจารย์ ร.ต.ท.แสง มนวิทูร แปลแล้วเรียบเรียงโดยใช้ชื่อยืนตามต้นฉบับว่า “ชิณกาลมาลีปกรณ์”

            ในชั้นแรก เหตุที่ได้ยกพระคัมภีร์ฉบับนี้ขึ้นประกอบ ก็ด้วยมีข้อสังเกตบางประการ อาทิ

            ๑. ผู้รจนาเป็นชาวเชียงใหม่ ซึ่งในตำนานพระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช กล่าวถึงที่ไปขององค์พระพุทธสิหิงค์ว่าประดิษฐานอยู่ ณ ที่นั่น

            ๒. การแปลมีขึ้นเมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนพระคัมภีร์ถูกแต่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งอาจเป็นมรดกตกทอดมาแต่ครั้งกรุงธนบุรี ในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระพรหมมุนีไปเมืองนครศรีธรรมราชถึง ๒ หน หนแรกเมื่อพุทธศักราช ๒๓๑๙  “…ไปรับพระไตรปิฎกเมืองนคร…” ภายหลังจากที่ได้ทรงอัญเชิญไปด้วยแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๒ กับหนหลังเมื่อปี ๒๓๒๐ ซึ่งโปรดฯ ให้ “…ค้นพระคัมภีร์วิสุทธิมรรค…”

            รวมความว่า พระคัมภีร์เมืองนครศรีธรรมราช ถูกเชิญขึ้นไปกรุงธนบุรีนั้นทั้งสิ้น ๓ ครั้ง (เฉพาะครั้งสำคัญที่มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร) ก็อาจเป็นไปได้ว่าครั้งใดครั้งหนึ่ง จะติดพระคัมภีร์ชิณกาลมาลีปกรณ์ไปในสำรับเหล่านั้นด้วย ทว่าอาจต้องศึกษาเพิ่มเติมในประเด็นของความแพร่หลายและการเป็นที่ยอมรับ ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างเมืองนครศรีธรรมราชกับลานนานั้น ในสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระราเมศวร (ครองราชย์ ๑๙๑๒ และ ๑๙๓๑ – ๑๙๓๘) พระองค์เสด็จขึ้นไปทำศึกกับแคว้นลานนาไทยมีชัยชนะ โปรดฯ ให้อพยพครัวชาวลานนาลงมาไว้เมืองนครศรีธรรมราช ความสัมพันธ์ในขั้นการไปมาหาสู่กันของชาวเมืองในชั้นหลังจึงอาจเริ่มต้นขึ้นแต่นั้น

            ๓. อย่างไรก็ตาม ชิณกาลมาลีปกรณ์มิได้เกิดขึ้นจากการประพันธ์อย่างสยมภู เพราะอาศัยข้อความจากพระคัมภีร์ต่างๆ คือ บาลีอปทานสูตร วิสุทธชนวิลาสีนี พุทธวงศ์ มธุรัตถวิลาสีนีอรรถกถาพุทธวงศ์ จริยาปิฎกอรรถบาลีอังคุตรนิกาย มหาปทานสูตร มหาปรินิพพานสูตร สุมังคลวิลาสินี ปปัญจสูทนี อรรถกถามหาวรรคทีฑนิกาย ชาตกัฏฐกถา สมันปาสาทิกา มิลินทปัญหา มหาวงศ์ วังสมาลินีปกรณ์ ทีปวงศ์ ชินาลังการ

และอรรถกถาชินาลังการ ธาตุวงศ์ ทาฐาธาตุวงศ์ ถูปวงศ์ โพธิ์วงศ์ และมหาวัคค์แห่งพระวินัย เหล่านี้มาอาศัยเป็นคู่มือเพื่อเรียบเรียง จึงอาจต้องมีการสอบทวนว่าเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธสิหิงค์ที่มีกล่าวถึงในชิณกาลมาลีปกรณ์นี้ ในพระคัมภีร์ต้นฉบับนั้นมีกล่าวไว้อย่างไร

            ทีนี้จะได้กล่าวถึง เรื่องพระพุทธสิหิงค์ที่มีในชิณกาลมาลีปกรณ์ ฉบับแปลและเรียบเรียงโดย ศาสตราจารย์ ร.ต.ท.แสง มนวิทูร โดยจะคงรูปลักษณ์ตามการเขียนจากต้นฉบับต่อไป

            “ได้ยินว่า เมื่อพระศาสดาปรินิพพานล่วงแล้วได้ ๗๐๐ ปี พระเถระที่เป็นขีณาสพยังมีอยู่ในลังกาทวีป ๒๐ องค์ ครั้งนั้น พระเจ้าสีหลใคร่จะทอดพระเนตรรูปของพระพุทธ จึงเสด็จไปยังวิหาร ตรัสถามพระสังฆเถระว่า เขาว่าพระพุทธของเราทั้งหลาย เมื่อทรงพระชนม์อยู่ ได้เสด็จมาลังกาทวีปนี้ถึง ๓ ครั้ง ผู้ที่ได้เห็นพระพุทธนั้น เดี๋ยวนี้ยังมีอยู่หรือหามิได้ ทันใดนั้น ด้วยอานุภาพของพระขีณาสพ ราชาแห่งนาคได้แปลงรูปมาเป็นคน แล้วเนรมิตตนเป็นรูปพระพุทธ เพื่อจะเปลื้องความสงสัยของพระเจ้าสีหล พระราชาทรงบูชาพระพุทธรูป ๗ คืน ๗ วัน ครั้งนั้น พระราชาตรัสสั่งให้หาช่างปฏิมากรรมชั้นอาจารย์มาแล้ว โปรดให้เอาขี้ผุ้งปั้นถ่ายแบบพระพุทธ มีอาการดั่งที่นาคราชเนรมิต และให้ทำแม่พิมพ์ถ่ายแบบพระพุทธนั้นด้วยเป็นอย่างดี แล้วให้เททองซึ่งผสมด้วยดีบุก ทองคำ และเงิน อันหลอมละลายคว้างลงในแม่พิมพ์นั้น พระพุทธปฏิมานั้น เมื่อขัดและชักเงาเสร็จแล้วงามเปล่งปลั่งเหมือนองค์พระพุทธยังทรงพระชนม์อยู่

            ฝ่ายพระเจ้าสีหล ทรงบูชาด้วยเครื่องสักการบูชาและด้วยความนับถือเป็นอันมาก โดยเคารพ แม้พระราชบุตร พระราชนัดดา พระราชปนัดดา ของพระองค์ ก็ได้ทรงบูชาพระสีหลปฏิมาสืบๆ กันมา ต่อจากนั้น เมื่อพระสัมมาสัมพุทธปรินิพพานได้ ๑๘๐๐ ปี จุลศักราช ๖๑๘ มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า โรจราช ครองราชย์สมบัติอยู่ในเมืองสุโขทัยประเทศสยาม ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของชมพูทวีป

            ได้ยินว่า ที่ตำบลบ้านโค ยังมีชายคนหนึ่งรูปงาม มีกำลังมาก ท่องเที่ยวอยู่ในป่า มีนางเทพธิดาองค์หนึ่ง เห็นชายคนนั้นแล้ว ใคร่จะร่วมสังวาสด้วย จึงแสดงมารยาหญิง ชายคนนั้นก็ร่วมสังวาสกับนางเทพธิดาองค์นั้น เนื่องจากการร่วมสังวาสของเขาทั้งสองนั้น จึงเกิดบุตรชายคนหนึ่ง และบุตรชายคนนั้นมีกำลังมาก รูปงาม เพราะฉะนั้น ชาวบ้านทั้งปวงจึงพร้อมใจกันทำราชาภิเษกบุตรชายคนนั้น บุตรชายซึ่งครองราชย์สมบัติในเมืองสุโขทัยนั้น ปรากฏพระนามในครั้งนั้นว่า โรจราช ภายหลังปรากฏพระนามว่า พระเจ้าล่วง ได้ยินว่าครั้งหนึ่ง พระเจ้าโรจใคร่จะทอดพระเนตรมหาสมุทร แวดล้อมด้วยทหารหลายหมื่น เสด็จล่องใต้ตามลำแม่น้ำน่านจนกระทั่งถึงสิริธรรมนคร ได้ยินว่า พระเจ้าสิริธรรม ครองราชสมบัติอยู่ในเมืองนั้น พระองค์ทรงทราบว่าพระเจ้าโรจเสด็จมา จึงเสด็จออกไปต้อนรับ ทรงรับรองเป็นอย่างดีแล้ว ตรัสเล่าให้พระเจ้าโรจฟังถึงความอัศจรรย์ของพระสีหลปฏิมาในลังกาทวีปตามที่ได้ทรงสดับมา พระเจ้าโรจทรงสดับเรื่องนั้นแล้ว ตรัสถามว่า เราจะไปที่นั่นได้ไหม พระเจ้าศิริธรรมตรัสตอบว่า ไปไม่ได้ เพราะมีเทวดาอยู่ ๔ ตน ชื่อสุมนเทวราช ๑ รามเทวราช ๑ ลักขณเทวราช ขัตตคามเทวราช ๑ มีฤทธิ์เดชมากรักษาเกาะลังกาไว้เป็นอย่างดี เมื่อเป็นดั่งนั้น สองกษัตริย์จึงส่งทูตไป ครั้นแล้ว พระเจ้าโรจก็เสด็จกลับเมืองสุโขทัย

            ราชทูตไปถึงลังกาทวีปแล้ว กราบทูลเรื่องราวทั้งหมดนั้นแก่พระเจ้าสีหล พระเจ้าสีหลทรงทราบเรื่องราวนั้นแล้ว ทรงบูชาพระสีหลปฏิมา ๗ คืน ๗ วัน แล้วพระราชทานให้แก่ราชทูต ราชทูตอัญเชิญพระสีหลปฏิมาลงเรือแล้วกลับมา แต่เรือนั้นแล่นด้วยกำลังพายุ พัดกระทบกับหินในท้องทะเลเข้าก็แต่ไป ส่วนพระพุทธปฏิมาประดิษฐานอยู่บนกระดานแผ่นหนึ่ง กระดานแผ่นนั้นลอยไปได้ ๓ วัน ถึงสถานที่แห่งหนึ่งใกล้สิริธรรมนครด้วยอานุภาพนาคราช ครั้งนั้นเทวดามาเข้าฝันพระเจ้าสิริธรรมในเวลากลางคืนให้เห็นพระสีหลปฏิมาเสด็จมาอย่างชัดเจน รุ่งเช้าจึงส่งเรือหลายลำไปในทิศต่างๆ แม้พระองค์เองก็ทรงเรือพระที่นั่งเสด็จไปทรงค้นหาพระสีหลปฏิมา ด้วยการอธิษฐานของพระอินทร์ พระเจ้าสิริธรรมทรงพบพระสีหลปฏิมาประดิษฐานบนกระดานนั้นเข้าแล้วทรงนำมาสักการบูชา ครั้งแล้ว พระเจ้าสิริธรรมจึงส่งพระราชสาส์นถึงพระเจ้าโรจ แจ้งว่าได้พระพุทธปฏิมาแล้ว พระเจ้าโรจจึงเสด็จไปสิริธรรมนคร แล้วอัญเชิญพระสีหลปฏิมา มาเมืองสุโขทัย ทรงสักการบูชา แล้วโปรดให้สร้างพระปรางค์ขึ้นองค์หนึ่ง ในเมืองสัชชนาลัย ล้วนแล้วด้วยศิลาแลงและอิฐ โบกปูนขาวหุ้มแผ่นทองแดงแน่นหนา ปิดทอง ไม่ใช่แลเห็นเป็นหิน งามดั่งรูปทิพยพิมาน

            ครั้นสร้างเสร็จแล้ว โปรดให้ฉลองมหาวิหารเป็นการใหญ่พร้อมกับมหาชนที่มาประชุมกันจากนครต่างๆ มีสัชชนาลัย, กำแพงเพชร, สุโขทัย และชัยนาท เป็นต้น และพระเจ้าโรจทรงสะสมบุญเป็นอเนกแล้วสวรรคต 

            เมื่อพระเจ้าโรจล่วงลับไปแล้ว พระเจ้าราม พระราชโอรสของพระเจ้าโรจครองราชย์สมบัติในเมืองสุโขทัย พระเจ้ารามนั้นทรงบูชาพระสีหลปฏิมาเช่นเดียวกัน เมื่อพระเจ้ารามล่วงลับไปแล้ว พระเจ้าปาล ได้รับราชสมบัติในเมืองสุโขทัยนั้นแล้ว ทรงบูชาพระสีหลปฏิมา เมื่อพระเจ้าปาลล่วงลับไปแล้ว พระเจ้าอุทกโชตถตะ พระโอรสของพระเจ้าปาลได้ราชสมบัติในเมืองสุโขทัยนั้นแล้ว ทรงสักการะพระสีหลปฏิมา เมื่อพระเจ้าอุทกโชตถตะล่วงลับไปแล้ว พระเจ้าลีไทย ทรงครอบครองราชย์สมบัติในเมืองสุโขทัยนั้น และพระเจ้าลีไทยนั้น มีชื่อเสียงปรากฏว่า พระเจ้าธรรมราชา ทรงศึกษาเล่าเรียนพุทธวจนะคือ ไตรปิฎก เล่ากันว่าครั้งหนึ่ง เมืองชัยนาทเกิดทุกภิกขภัย พระเจ้ารามาธิบดี กษัตริย์อโยชชปุระ เสด็จมาจากแคว้นกัมโพช ทรงยึดเมืองชัยนาทนั้นได้โดยทำทีเป็นว่าเอาข้าวมาขาย ครั้นยึดได้แล้ว ทรงตั้งมหาอำมาตย์ของพระองค์ชื่อว่าวัตติเดช ซึ่งครองเมืองสุวรรณภูมิ ให้มาครองเมืองชัยนาท ส่วนพระองค์เสด็จกลับไปอโยชชปุระ ต่อแต่นั้นมาพระเจ้าธรรมราชก็ส่งบรรณาการเป็นอันมากไปถวายพระเจ้ารามาธิบดีทูลขอเมืองชัยนาทนั้นคืน ฝ่ายพระเจ้ารามาธิบดีก็ทรงประทานคืนแก่พระเจ้าธรรมราชา วัตติเดชอำมาตย์ก็กลับไปเมืองสุวรรณภูมิอีก พระเจ้าธรรมราชา ครั้งได้เมืองชัยนาทคืนแล้ว ทรงตั้งพระมหาเทวีผู้เป็นกนิษฐา ของพระองค์ให้ครองราชย์สมบัติในเมืองสุโขทัย ทรงตั้งอำมาตย์ชื่อติปัญญา ให้ครองราชย์สมบัติในเมืองกำแพงเพชร ส่วนพระองค์เชิญพระสีหลปฏิมาไปบูชาที่เมืองชัยนาท เมื่อพระเจ้ารามาธิบดีผู้เป็นใหญ่แก่แคว้นกัมโพชและอโยชชปุระสวรรคตแล้ว วัตติเดชอำมาตย์มาจากเมืองสุวรรณภูมิยุดแคว้นกัมโพชได้ ครั้นพระเจ้าธรรมราชาเมืองชัยนาทสวรรคตแล้ว วัตติเดชอำมาตย์มาจากอโยชชปุระยึดเมืองชัยนาทแล้วอัญเชิญพระสีหลปฏิมาไปบูชาที่อโยชชปุระ และมหาอำมาตย์ชื่อพรหมไชยก็ยึดเมืองสุโขทัยได้

            อนึ่ง ติปัญญาอำมาตย์ ครองสมบัติอยู่ในเมืองกำแพงเพชร ท่านได้ส่งมารดาของท่านถวายแก่พระเจ้าอโยชชปุระ และมารดาของท่านนั้น ได้เป็นที่รักใคร่โปรดปรานของพระเจ้าอโยชชปุระ ครั้งหนึ่ง นางได้ทูลด้วยถ้อยคำเป็นที่รัก ทำทีเป็นทูลขอพระพุทธรูปทองแดงธรรมดา แล้วอัญเชิญเอาพระสีหลปฏิมาส่งมาเมืองกำแพงเพชรโดยเรือเร็ว ฝ่ายติปัญญาอำมาตย์ดีใจยิ่งนัก บูชาพระสีหลปฏิมาด้วยเครื่องสักการะอันวิเศษเป็นอันมากด้วยความเคารพ

            อยู่มาวันหนึ่ง เจ้ามหาพรหมผู้เป็นใหญ่ในเชียงราย ทรงทราบความอัศจรรย์ของพระพุทธรูปสีหลจากสำนักพระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งมาจากแคว้นใต้ ทั้งได้ทอดพระเนตรเห็นรูปขี้ผึ้งซึ่งพระภิกษุนั้นปั้นไว้มีลักษณะเหมือนพระสีหลปฏิมา ทรงดีพระทัย แต่แล้วก็กลับเสียพระทัย ใคร่จะทอดพระเนตรพระสีหลปฏิมาองค์จริง จึงตระเตรียมพลนิกายเสด็จมาเมืองเชียงใหม่ ทูลขอพลนิกายจากพระเจ้ากือนา พระเชษฐา แล้วพาทหาร ๘๐,๐๐๐ เสด็จไปโดยลำดับบรรลุถึงสถานที่ใกล้เมืองกำแพงเพชร ตรัสสั่งให้พักกองทัพแล้วส่งทูตเข้าไปเฝ้าพระเจ้าติปัญญาลำดับนั้น ฝ่ายพระเจ้าติปัญญาก็ส่งราชสาส์นไปสำนักพระเจ้าอโยชชปุระ พระเจ้าวัตติเดชรีบตระเตรียมพลนิกายเสด็จมาแค่ปากน้ำโพ พระเจ้ามหาพรหมได้ส่งอำมาตย์ทูตกับพระมหาสุคนธเถระไปพร้อมด้วยเครื่องบรรดาการ อำมาตย์ทูตและพระมหาสุคนธเถระทั้งสองนั้นเข้าไปถึงนครแล้ว ได้กระทำปฏิสันถารด้วยถ้อยคำสุภาพไพเราะ พระมหาสุคนธเถระในเรือท่ามกลางกษัตริย์ทั้งสองเพื่อเป็นพยาน กษัตริย์ทั้งสองประทับอยู่ในเรือ ๒ ข้าง พระมหาสุคนธเถระได้กล่าวคำดังต่อไปนี้ เพื่อให้กษัตริย์ทั้งสองมีความสามัคคีต่อกัน

            กษัตริย์ทั้งสองพระองค์ได้ทรงสดับฟังคำของมหาเถระสุคนธนั้นความว่า “มหาบพิตรทั้งสองทรงมีบุญมาก มีปัญญามาก มีกำลังรี้พลมาก ทรงตั้งอยู่ในความสัตย์แน่วแน่อยู่ในความสัตย์ ทรงนับถือพระพุทธศาสนา ทรงดำรงอยู่ในฐานะเป็นบิดาของราษฎรทั้งหลาย ทรงเป็นผู้มีศีลเป็นที่รักใคร่ของประชาชนทั้งหลาย ขอมหาบพิตรทั้งสองพระองค์จงสามัคคี อย่าทรงพิโรธแก่กันเลย นี่ก็เมืองกำแพงเพชร โน่นก็นครเชียงใหม่ ขอให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่าแบ่งแยกกันเลย ขอให้นครทั้งสองนั้นจงมัดไว้ด้วยเชือก คือพระราชไมตรีเถิด” แล้วต่างก็นอบน้อมรับไว้เป็นอันดี พระเจ้าติปัญญาได้ประทานเครื่องบรรณาการมีพญาช้างอันเป็นของกำนัลเป็นต้นแก่อุปราชของพระเจ้ามหาพรหม พระเจ้ามหาพรหมก็ประทานม้าเป็นต้นกับเครื่องราชาภิเษกแก่พระเจ้าติปัญญา พระเจ้ามหาพรหมครั้งประทานเสร็จแล้ว จึงทูลขอพระสีหลปฏิมาต่อพระเจ้าติปัญญา พระเจ้าติปัญญาก็ประทานพระสีหลปฏิมาแก่พระเจ้ามหาพรหมตามพระประสงค์

            ฝ่ายพระเจ้าวัตติเดชส่งทูตไปเฝ้าพระเจ้าติปัญญา ให้ทูลถามว่า ขณะนั้น พระเจ้ามหาพรหมถอยกลับไปแล้วหรือยัง เรายกขึ้นมาจักรบกับพระเจ้ามหาพรหม พระเจ้าติปัญญาทรงทราบความนั้นแล้ว จึงบอกพระมหาเถระสุคนธว่า ข้าแต่พระพุทธเจ้า กษัตริย์ทั้งสองนี้กล้าหาญ มีกำลังรี้พลมาก ไม่มีใครที่จะสามารถห้ามได้ ขอพระคุณเจ้าได้โปรดให้พระเจ้ามหาพรหมถอยไปให้ไกล ให้ไปตั้งอยู่ที่เมืองตาก พระมหาเถระจึงส่งทูตไปทูลเนื้อความนั้นแก่พระเจ้ามหาพรหม พระเจ้ามหาพรหมได้ทรงฟังคำทูลนั้น จึงตรัสว่า พระเจ้าวัตติเดชขืนตามเรามา เราจะสู้รบกับพระองค์ แล้วก็ถอยไปจากเมืองกำแพงเพชร ตระเตรียมการรบอยู่ที่เมืองตาก พระเจ้าติปัญญาได้กราบทูลการถอยของพระเจ้ามหาพรหมให้พระเจ้าวัตติเดชทรงทราบ และพระเจ้าติปัญญาได้

อนุญาตพระสีหลปฏิมาแก่พระเจ้ามหาพรหมด้วยวาจาละมุนละม่อมของพระมหาสุคนธเถระ พระมหาเถระนั้นได้อัญเชิญพระสีหลปฏิมาลงเรือมาทางเหนือถึงเมืองตาก ฝ่ายพระเจ้ามหาพรหมดีพระทัยดั่งว่าสรงน้ำอมฤต ทรงอัญเชิญพระสีหลปฏิมาด้วยวอทองมาถึงเมืองเชียงใหม่โดยลำดับ ประดิษฐานพระสีหลปฏิมาในวิหารหลวงภายในนคร

            ครั้งนั้น กษัตริย์ผู้เป็นพระเชษฐาของพระองค์ ทรงปรารภจะสร้างซุ้มจรนำขึ้นใหม่ให้เป็นที่ประดิษฐานพระสีหลปฏิมาที่มุขด้านทิศใต้เจดีย์หลวง ในวิหารหลวงนั้น แต่เมื่อซุ้มจระนำทำไม่เสร็จ พระเจ้ามหาพรหมได้อัญเชิญพระสีหลปฏิมาไปเมืองเชียงรายโดยพระประสงค์จะเอาไปทำแบบสร้างอีกองค์หนึ่งด้วยทองสัมฤทธิ์ให้เหมือนองค์นั้น แล้วเลยอัญเชิญพระสีหลปฏิมานั้นไปถึงนครเชียงแสน ทรงกระทำอภิเษกพระปฏิมาองค์นั้นที่เกาะดอนแท่น ด้วยสักการะเป็นอันมากแล้วอัญเชิญมาเมืองเชียงรายอีก ประดิษฐานในวิหารหลวงที่ไว้พระพุทธรูป แล้วเอาทองเหลือง ดีบุก ทองคำ เงิน ผสมกันหล่อพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่ง มีขนาดและรูปร่างเท่าและเหมือนพระสีหลปฏิมาแล้วทรงทำการฉลองพระพุทธรูปเป็นการใหญ่

            ความในชิณกาลมาลีปกรณ์จบแต่เพียงเท่านี้ ย่อหน้าที่ขีดเส้นใต้คือปลายทางของพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งระบุว่า ในท้ายที่สุดแล้ว องค์ที่กล่าวถึงมาแต่ต้นพระคัมภีร์นั้นประดิษฐานอยู่ที่วิหารหลวง เมืองเชียงราย ก่อนที่จะจำลองขึ้นไว้อีกองค์หนึ่ง ส่วนจะส่งกลับไปเมืองเชียงใหม่หรือไม่ หรืออัญเชิญไปสถิต ณ ที่ใดต่อนั้น ในพระคัมภีร์ฉบับนี้ไม่ได้ขยายความ

(มีต่อตอน ๒)

ภาพปก : กระบวนแห่พระพุทธสิหิงค์ เมืองนครศรีธรรมราช จากสารนครศรีธรรมราช

หนานรูปทุ่งใหญ่ ที่กำลังถูกพูดถึงในติ๊กต็อก

ค่ำวันก่อน ครูแอนส่งลิงก์ติ๊กต็อกมาทางเมสเซนเจอร์
หลังจากดูจบผมตอบไปทันทีว่า “กรมศิลป์เคยลงพื้นที่แล้วครับ” ในนั้นเป็นคลิปความยาวไม่ถึงนาทีแต่ดูเหมือนว่ากำลังเป็นที่กล่าวถึงและส่งต่อกันในสังคมออนไลน์ ถัดนั้นในวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๔ เพจสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราชก็ได้เผยแพร่องต์ความรู้เกี่ยวกับสถานที่ดังกล่าว
.
ผมผ่านตาเรื่องนี้ครั้งหนึ่งเมื่อครูแพน ธีรยุทธ บัวทอง เคยส่งบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ลงตีพิมพ์ในสารนครศรีธรรมราช โดยใช้ชื่อ “จากพื้นที่รกร้างบนลานหินหนาน สู่เส้นทางประวัติศาสตร์ตำบลทุ่งใหญ่” ก่อนผมจะปรับเป็น “หนานใหญ่ • หนานนุ้ย • หนานรูป: เรื่องเล่าและเรื่องราวของชาวทุ่งใหญ่” แล้วนำลงเผยแพร่ในเพจสารนครศรีธรรมราชเมื่อวันที่ ๔​ พฤษภาคม ปีก่อน
.
ดังจะได้ยกมารีโพสต์ผ่านนครศรีสเตชั่นอีกคำรบ ดังนี้
.
วัดขนานตั้งอยู่ในพื้นที่ของตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเรื่องราวของพื้นที่แห่งนี้เป็นที่รู้จัก (สำหรับผม) ก็เมื่อช่วงปี พ.ศ. ๒๕๖๐ เนื่องจากมีการค้นพบภาพสลักบนหิน และได้ออกข่าวหลายสำนักจนทำให้กระผมใคร่อยากเดินทางมาเห็นด้วยตาของตนเอง แต่ทว่าด้วยเวลาและระยะทางจึงไม่มีโอกาสเดินทางมาเยี่ยมชม
.
จนเวลาล่วงเลยผ่านไปนานกว่า ๒ ปี การสอบบรรจุครูผู้ช่วยสำเร็จก็ชักนำให้กระผมขยับเข้ามาสู่พื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้ และกระทำการลงพื้นที่ เก็บรวบรวมข้อมูล พร้อมบันทึกเรื่องราวเพื่อเผยแพร่ให้ผู้คนภายนอกได้รับทราบมากยิ่งขึ้น
.
สำหรับบทความครั้งนี้กระผมจะขอนำเสนอข้อมูลอันประกอบด้วย ๕ ประเด็น คือ
๑. ลักษณะทางธรณีวิทยา
๒. ประวัติความเป็นมา
๓. ความเชื่อและมุขปาฐะ
๔. ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิต
๕. แนวทางในการอนุรักษ์
.

๑. ลักษณะทางธรณีวิทยา

วัดขนาน ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นหินทราย หรือที่ชาวบ้านมักเรียกกันว่า “หินหนาน” อันหมายถึงพื้นที่ต่างระดับที่มีทางน้ำไหลผ่าน ซึ่งตามหลักธรณีวิทยานั้น หินแถบนี้จัดอยู่ในหมวดหินพุนพิน (Kpp) ประกอบไปด้วยหินทรายอาร์โคส (Arkosic Sandstone) สีแดงม่วง ชั้นหนา มีหินดินดานและหินทรายแป้งสลับเป็นชั้นบาง ๆ เนื้อของหินทรายค่อนข้างร่วนและมีไมกา (Mica) อยู่บ้าง มีชั้นเฉียงระดับแบบ Trough Cross Bedding อยู่ด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการสะสมตัวในลำน้ำแบบ Braided Stream ความหนาไม่เกิน ๕๐ เมตร ไม่พบซากบรรพชีวิน
.
และมีความสัมพันธ์กับหมวดหินเขาสามจอม (JKsc) ซึ่งมีลักษณะเป็นหินกรวดมน วางตัวอย่างต่อเนื่องอยู่บนหมวดหินลำทับ ตอนล่างของหมวดหินนี้เป็นหินทรายสลับหินกรวดมนและหินโคลน ปริมาณของหินกรวดมนเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นชั้นหนา แล้วค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นหินทรายอาร์โคสเนื้อหยาบ ร่วนมาก ความหนาทั้งหมดประมาณ ๑๐ เมตร คาดว่าเกิดจากการสะสมตัวของตะกอนแม่น้ำในยุค Jurassic-Cretaceous
.
และจากการทับถมรวมกันจนกลายเป็นหินทรายที่มีความเปราะบาง ง่ายต่อการผุพังสลายอันเนื่องมาจากการกัดเซาะของน้ำ ดังนั้นเราจึงมักเห็นพื้นที่ด้านล่างของหินมีลักษณะเป็นโพรง (บางแห่งเชื่อมต่อกัน) คล้าย ๆ ถ้ำ โพรงเหล่านี้เป็นทางไหลผ่านของน้ำ และบางแห่งก็ตื้นเขินจนสามารถใช้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ได้

๒. ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมาของการตั้งถิ่นฐานของผู้คนในพื้นที่แห่งนี้ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่จากการพบภาพสลักบนหินทราย (หินหนาน) ก็ช่วยไขอดีตได้ในระดับหนึ่ง
.
โดยภาพสลักที่ถูกค้นพบและเป็นข่าวออกไปในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ นั้น แท้ที่จริงคือการค้นพบซ้ำบนพื้นที่เดิม เนื่องจากในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ เจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรได้เข้าไปสำรวจ และมีรายงานระบุว่า
“อำเภอทุ่งใหญ่รับแจ้งจากนายสมชาย ศรีกาญจน์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ ๔ ตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ว่าได้พบภาพแกะสลักบนเพิงผามีลักษณะเป็นรูปพญาครุฑจับนาค ทางอำเภอจึงมีหนังสือที่ นศ.๑๑๒๗/๒๔๔๗ ลงวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๓๘ แจ้งให้หน่วยศิลปากรที่ ๘ (ปัจจุบันคือสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช) ดำเนินการตรวจสอบ
.
วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๓๘ สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๑๑ นครศรีธรรมราช ส่งเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการสำรวจพบว่าตัวแหล่งอยู่บริเวณเนินดินตั้งอยู่เชิงเนินเขาหินทรายซึ่งลาดลงสู่ลำน้ำเก่า มีลักษณะเป็นถ้ำลึกเข้าไปในเพิงผาหินทรายแดง ซึ่งตัดตรงเกือบจะตั้งฉากกับพื้น (ลักษณะนี้ท้องถิ่นเรียกว่า หนาน)
.
ปากถ้ำถูกดินปิดทับเหลือช่องว่างประมาณ ๒๐ เซนติเมตร บริเวณด้านบนของปากถ้ำมีการสลักลักษณะคล้ายซุ้มประตูด้านซ้ายและขวาของปากถ้ำมีร่องรอยการสกัดหินทรายให้มีลักษณะเป็นเกล็ดยกออกมา แต่มองเห็นได้ไม่ชัดเจนเนื่องจากถูกพงไม้ปกคลุมอยู่เกือบทั้งหมด
.
รายละเอียดของรูปแกะสลักจากด้านซ้ายมือแกะสลักเป็นรูปกลีบบัว ๒ กลีบ ระหว่างกลีบเจาะช่องเป็นรูปสี่เหลี่ยมคล้ายเลียนแบบเครื่องไม้ ขอบบนและขอบล่างของกลีบบัวแกะสลักเป็นเส้นลวดคาดไว้ เหนือเส้นลวดขอบบนแกะสลักเป็นรูปกลีบบัวขนาดเล็กหรือกระจังสามเหลี่ยม ถัดมาเกือบตรงกลางแผ่นหินสลักเป็นรูปบุคคลเคลื่อนไหวคล้ายกำลังเต้นรำ ยกมือทั้งสองจับคันศร หรือพญานาคไว้เหนือศีรษะ ถัดจากภาพบุคคลไปทางขวาแกะสลักเป็นรูปคล้ายเศียรพญานาค ส่วนลำตัวเห็นไม่ชัดเจน และจากการสำรวจที่วัดขนานยังได้พบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง เครื่องถ้วยยุโรปผลิตในประเทศเนเธอแลนด์ และเครื่องทองเหลืองจำนวนมากด้วย”
.
และผลการสำรวจเพิ่มเติมเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๐ มีรายละเอียดระบุไว้ว่า
“…ภาพสลักบนผนังหินทราย มีความยาวประมาณ ๑.๔ เมตร สูงประมาณ ๘๐ เซนติเมตร สันนิษฐานว่าเป็นแท่นสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป เนื่องจากส่วนบนปรากฏลักษณะเป็นรูปกลีบบัวขนาดเล็กเรียงกันจำนวน ๑๑ กลีบ… อาจตีความว่าเป็นช่องหน้าต่าง ส่วนด้านล่างเป็นขาโต๊ะ และตรงกลางเป็นลายผ้าทิพย์…(ส่วนภาพสลักที่เคยระบุว่าเป็นรูปบุคคลนั้น อาจไม่ใช่) หากพิจารณาจากเท้าซ้าย พบว่าเป็นลักษณะของสัตว์ประเภทลิง… ทำให้นึกถึงภาพของตัวละครในหนังใหญ่ เช่น วานรยุดนาค… ในเบื้องต้นกำหนดอายุภาพสลักจากลวดลายที่ปรากฏ สันนิษฐานว่าน่าจะทำขึ้นในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย หรือต้นรัตนโกสินทร์…”
.
ดังนั้นจึงสามารถตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่าพื้นที่ของหินหนาน (บริเวณวัดขนาน) คงมีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของผู้คนอย่างน้อยในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยมีลักษณะเป็นชุมชนโบราณขนาดเล็ก อาศัยเส้นทางคมนาคมหลัก คือ คลองวัดขนาน ซึ่งเชื่อมต่อไปยังคลองเหรียง พื้นที่ของท่าเรือโบราณ และออกสู่แม่น้ำตาปีในที่สุด ตลอดจนผู้คนที่อาศัยอยู่คงมีความรู้ความสามารถด้านศิลปกรรมประเภทประติมากรรมบนแผ่นหิน และมีความศรัทธาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่มาแต่ดั้งแต่เดิม
.
แต่ภาพสลักวานรยุดนาคนั้นยังคงไม่ชัดเจนมากนัก เพราะบางคนเชื่อว่าเป็นอสูรตามคติความเชื่อของพราหมณ์ และบางคนก็เชื่อว่าเป็นอาฬวกยักษ์ตามเรื่องราวพุทธประวัติ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง จนผมตั้งความเป็นไปได้ไว้ ๓ ประการ (ให้ช่วยกันพิจารณา) ด้วยกันดังนี้
.
หากเป็นภาพสลักรูปอสูรยุดนาค อันเป็นเรื่องราวเหตุการณ์ตอนเกษียรสมุทร (กูรมาวตาร) ก็จะมีความคล้ายคลึงกับภาพที่ปรากฏหลักฐานอยู่ ณ ซุ้มประตูเมืองนครธมแห่งอาณาจักรขอม ฉะนั้นผู้สร้างคงเป็นชาวขอมหรือไม่ก็ได้รับอิทธิพลมาจากขอม ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ อีกทั้งยังช่วยระบุถึงลักษณะของผู้คนแรกเริ่มในบนลานหินหนานได้อีกด้วย
.
แต่หากเป็นภาพสลักรูปอาฬวกยักษ์ ก็จะสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของพุทธศาสนาในท้องถิ่นแห่งนี้ ซึ่งได้รับมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย (สอดคล้องกับเหตุการณ์ภายหลังสร้างเจดีย์ศรีวิชัยขึ้นที่เขาหลัก)
.
และหากเป็นภาพวานรยุดนาค ซึ่งเป็นการแสดงมหรสพที่ปรากฏหลักฐานค่อนข้างชัดเจนในสมัยอยุธยาตอนต้น ก็จะสะท้อนให้เราเห็นถึงอิทธิพลของหนังใหญ่ในพื้นที่แห่งนี้ได้เฉกเช่นเดียวกัน
.
แต่ไม่ว่าภาพสลักนั้นจะเป็นรูปแสดงถึงสิ่งใด ความชัดเจนในเรื่องความรู้ความสามารถด้านประติมากรรมบนแผ่นหินอันเกี่ยวเนื่องกับศาสนาก็ยังคงเด่นชัดอยู่เสมอ แม้การสรรสร้างอาจไม่แล้วเสร็จ และยังคงเป็นปริศนาที่รอการค้นคว้าก็ตาม
.
นอกจากนี้การค้นพบเครื่องถ้วยยังช่วยยืนยันประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์กับโลกภายนอกได้อีกด้วย โดยเครื่องถ้วยซึ่งกระผมได้เห็นมากับดวงตาตัวเองนั้น มีอยู่ ๓ ใบ (ของเก่า ๒ ของใหม่ ๑) ใบหนึ่งเป็นเครื่องถ้วยจีน เพราะปรากฏอักษรจีนอยู่ภายนอก ส่วนอีกใบเป็นของสกอตแลนด์ ซึ่งภายนอกใต้ก้นชามได้มีข้อความเขียนไว้ว่า
.
WILD ROSE
COCHRAN GLASGOW
D
.
พร้อมมีตราประจำแผ่นดินสกอตแลนด์ รูปราชสีห์ & ยูนิคอร์น (Dieu Et Mon Droit) ประทับอย่างสวยงาม
.
จากหลักฐานประเภทเครื่องถ้วยข้างต้น จึงสอดรับกับการตั้งถิ่นฐานของผู้คนในชุมชนโบราณแถบหินหนาน และยืนยันความสัมพันธ์ทางด้านการค้ากับผู้คนภายนอกในพื้นที่ริมคลองเหรียง ซึ่งเป็นเขตของท่าเรือโบราณในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา
.
ต่อมาด้วยเหตุใดมิอาจทราบได้แน่ชัด จึงเกิดการร้างของผู้คน จนทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นป่ารก เหมาะแก่การธุดงค์ของเหล่าพระภิกษุสงฆ์และนักปฏิบัติธรรม จนกระทั่งปีใน พ.ศ. ๒๔๕๙ หลวงพ่อนาค (พระครูอานนท์สิกขากิจ) ได้เข้ามาจัดสร้างเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมขึ้น
.
ถัดจากนั้นอีก ๑๐ ปี หลวงพ่อหมื่นแผ้ว ได้เดินทางมาจากสถานที่อื่น และเข้ามาจำพรรษา พร้อมทั้งชักชวนชาวบ้านให้ช่วยกันหักร้างถางพงบริเวณริมคลองบ้านหัวสะพาน (คลองวัดขนาน) เพื่อก่อสร้างเป็นวัดหนาน (วัดขนาน) ขึ้น ตลอดจนได้สร้างโรงเรียนขึ้นอีกด้วย ซึ่งสถานที่ดังกล่าวในปัจจุบันชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดเก่า โรงเรียนเก่า”
.
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ หลวงพ่อรื่นได้เข้ามาจำพรรษาปฏิบัติธรรม และชอบพอสถานที่ทางด้านทิศตะวันออกของสถานที่ตั้งโรงเรียนวัดหนานเก่า ซึ่งเป็นที่เนินสูงและเป็นสถานที่สถิตของเทวดาหนานนุ้ย โดยทางด้านทิศตะวันออกของเนินสูงมีลักษณะเป็นตาน้ำซึ่งผุดขึ้นมาจากหินหนาน และมีความแรงของน้ำตลอดทั้งปี
.
ถัดจากนั้นก็ได้มีพระภิกษุสงฆ์หลายรูปเข้ามาจำพรรษา ได้แก่ หลวงพ่อเลื่อน ศรีสุขใส (พระครูไพศาลธรรมโสภณ) หลวงพ่อแสง ชูชาติ อดีตพระภิกษุสงฆ์แห่งวัดภูเขาหลัก หลวงพ่อส้วง ดาวกระจาย หลวงพ่อเริ่ม แสงระวี หลวงสวาท อโสโก ผู้สร้างโรงธรรมไม้หลังเก่า พระสมุห์ประสิทธ์ จิตตฺโสภโณ ตามลำดับ
.
และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ และได้เปลี่ยนชื่อจากวัดหนานมาเป็นวัดขนาน
.
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ทางวัดขนานได้อนุญาตให้โรงเรียนทุ่งใหญ่เฉลิมราชอนุสรณ์ รัชมังคลาภิเษก ใช้พื้นที่ทางด้านทิศเหนือเป็นโรงเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาคู่วัดคู่บ้านตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ส่วนเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน คือ พระครูพิศาลเขตคณารักษ์
.

๓. ความเชื่อและมุขปาฐะ

ผู้คนซึ่งอยู่อาศัยในบริเวณหินหนานล้วนมีความเชื่อที่สืบต่อกันมาในเรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เรียกกันว่า “เทวดาหนาน” ชาวบ้านเชื่อกันว่าเทวดาหนาน คือ ผู้พิทักษ์รักษาประจำท้องถิ่น จึงได้สร้างศาลเคารพบูชา โดยแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ

เทวดาหนานใหญ่

ตั้งอยู่ใกล้กับถนนสายหลักหมายเลข ๔๑

เทวดาหนานนุ้ย

ตั้งอยู่ใกล้กับวัดขนาน ทางด้านทิศตะวันตก

เทวดาหนานรูป

ซึ่งพบภาพสลักข้างต้น แต่หนานรูปไม่ได้มีการสร้างศาลเคารพ เนื่องจากชาวบ้านเชื่อกันว่าภาพสลักนั้นคือหนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเคยมีร่างทรงประทับเป็นสื่อแทนเทวดาหนานรูป เพื่อบ่งบอกว่าหากมีเรื่องบนบานสานกล่าวสามารถบนบานตนเองได้ แต่หากจะเชิญไปด้วยไกล ๆ นั้น คงเป็นไปไม่ได้ เพราะตนต้องอยู่พิทักษ์ทรัพย์สมบัติ ณ ที่แห่งนี้
.
ความศักดิ์สิทธิ์ของเทวดาหนานทั้งสามถูกเล่าต่อกันมาหลายชั่วอายุคน โดยความเชื่อหนึ่งเล่าว่า หากสัตว์เลี้ยงเกิดล้มป่วย หรือผู้คนปรารถนาสิ่งอื่นใดในทางที่ดีเป็นประโยชน์ก็ให้บนถึงเทวดาหนาน ไม่นานสัตว์เลี้ยงเหล่านั้นก็จะหายเป็นปลิดทิ้ง และผู้คนก็มักจะสมหวังตามปรารถนา แต่หากผู้ใดลบหลู่ดูหมิ่น จะได้รับการลงโทษจนต้องรีบทำพิธีขอขมาเป็นการใหญ่
.
นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีความเชื่อเรื่องพญานาค (งูใหญ่) เพราะถือว่าเป็นยานพาหนะของเทวดา และเนื่องด้วยลักษณะที่เป็นแอ่งหินและโพรงถ้ำขนาดใหญ่ อีกทั้งยังเป็นที่รองรับน้ำ จึงช่วยเสริมความเชื่อเรื่องที่อยู่อาศัยของพญานาคมากยิ่งขึ้น โดยเชื่อกันว่าพญานาคจะโผล่ขึ้นมาเหนือผิวน้ำในบางครั้งบางครา และปรากฏแก่สายตามผู้มีบุญญาธิการ
.
นอกจากนั้นเรื่องพญานาคยังคงปรากฏให้เห็นในนิทานพื้นบ้านเรื่อง “พระลอตามไก่” แต่เอ๊ะ ! นี่มันคือนิทานพื้นบ้านของเมืองแพร่ ซึ่งเราเคยร่ำเคยเรียนกันมา แต่เหตุไฉนจึงมาปรากฏ ณ ที่แห่งนี้
.
ไม่แน่ชัดว่าพระลอตามไก่ของทุ่งใหญ่มีที่มาที่ไปเช่นไร แต่สันนิษฐานว่าคงได้รับอิทธิพลบางส่วนมาจากคนภาคเหนือหรือลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งได้เข้ามาอาศัยอยู่ในช่วงสมัยอยุธยา (อาจจะถูกกวาดต้อนหรืออพยพเข้ามาเองก็มิอาจทราบได้) ส่วนเรื่องราวของพระลอตามไก่ฉบับทุ่งใหญ่ จะมีความแตกต่างกับของเมืองสรองอย่างชัดเจน ดังมีเรื่องราวดังต่อไปนี้
.
“พระลออาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ของหินหนาน พระองค์มียศเป็นพระยา ชอบเลี้ยงไก่ป่าเป็นกิจวัตรประจำวัน อยู่มาวันหนึ่งท่านได้ออกล่าไก่ป่า โดยใช้วิธีการต่อไก่ให้มาติดกับดักสำหรับจับไก่ป่า และได้แอบซ่อนตัวอยู่ใกล้ ๆ เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ซึ่งยังไม่ท่าที่ที่ไก่ป่าจะผ่านมา ก็ปรากฏว่าได้มีมูสัง เข้ามาหมายจะกินไก่เป็นอาหาร พระลอเห็นดังนั้นก็โกรธมาก จึงหยิบเอาไม้ทัง (ไม้ลำทัง ) ขว้างไปถูกมูสัง จนทำให้มันชักดิ้นกระเสือกกระสนด้วยความเจ็บปวด ซึ่งการดิ้นของมูสังในครั้งนั้นทำให้ป่าแถบนั้นเตียนโล่งเป็นเนื้อที่กว้างขวางกลายเป็นทุ่งนา เรียกกันว่า ทุ่งสัง
.
ส่วนไม้ทังนั้นได้กระเด็นกระดอนออกไปจนกลายเป็นภูเขา เรียกว่า เขาลำทัง ส่วนเจ้าตัวมูสังที่ตายได้กลายมาเป็นเขา(มู)สัง และไก่ต่อของพระยาลอซึ่งผูกติดอยู่กับหลัก ก็ตายและกลายเป็นภูเขาเรียกว่า เขาหลัก ตามตำนานเล่าขานสืบต่อกันมา”
.

๔. ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิต

จากความเชื่อความศรัทธาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ท้องถิ่นในข้างต้น ทำให้ผู้คนรู้สึกผูกพันและเคารพนอบน้อมโดยผ่านการแสดงออกเชิงพฤติกรรม และพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น การทำพิธีขอขมาเทวดาหนาน การสร้างศาลเคารพบูชา การทำพิธีบนบานสานกล่าวและแก้บนเทวดา เป็นต้น
.
อีกทั้งการเลี้ยงไก่แจ้ของชาวบ้านในพื้นที่ก็ยังสอดคล้องกับนิทานพื้นบ้านเรื่องพระลอตามไก่อีกด้วย ถึงแม้การเลี้ยงไก่เหล่านี้อาจจะเข้ามาภายหลังก็ตาม แต่ทว่าไก่แจ้ก็ได้กลายเป็นอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่นทุ่งใหญ่ไปเสียแล้ว
.
นอกจากนี้ในพื้นที่ของตำบลทุ่งใหญ่ยังได้มีประเพณีอีกอย่างหนึ่งซึ่งมีลักษณะเฉพาะถิ่น คือ ประเพณีแห่จาดสารทเดือนสิบ ซึ่งมีความแตกต่างจากประเพณีสารทเดือนสิบที่อื่นตรงที่ชาวบ้านจะนำไม้มาประกอบกันให้มีลักษณะเหมือนบ้านหรือปราสาท โดยขึ้นโครงด้วยไม้เนื้ออ่อนน้ำหนักเบา ประดับประดาด้วยกระดาษสีที่แกะเป็นลวดลายต่างๆสลับกัน ตกแต่งด้วยดอกไม้ประดิษฐ์หลากสีหลายรูปแบบ ส่วนพื้นที่ภายในจาดจะมีที่ว่างไว้สำหรับใส่ของเซ่นไหว้บรรพบุรุษ เช่น ขนมลา ขนมพอง ขนมบ้า ขนมดีซำ ขนมบ้า ขนมกง (ขนมไข่ปลา) รวมทั้งผลไม้ตามฤดู และข้าวสารอาหารแห้งทั้งหลาย ไม่เว้นแม้แต่เงิน
.
ซึ่งการทำจาดมิได้มีเพียงพื้นที่ของตำบลทุ่งใหญ่เท่านั้น หากแต่สามารถพบได้ทั่วไปในเขตอำเภอทุ่งใหญ่ อำเภอฉวาง และอำเภอใกล้เคียง ตลอดจนพื้นที่ของจังหวัดกระบี่ ซึ่งบางแห่งก็อ้างว่าต้นฉบับความคิดเรื่องการทำจาดมาจากพื้นที่ของตน ซึ่งนั้นมิใช่สิ่งสำคัญเลย เพราะวัฒนธรรมมันสามารถถ่ายทอดและผสมผสานจนกลายมาเป็นวัฒนธรรมร่วมกันได้ ความภูมิใจและความร่วมไม่ร่วมมือเพื่อร่วมสืบสานประเพณีอันดีงามเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า
.

๕. แนวทางในการอนุรักษ์

ข้อเสนอแนะในการอนุรักษ์เป็นแนวทางสำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ และชาวบ้านในพื้นที่ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระผมได้ลองนั่งใคร่ครวญและพิจารณาถึงหนทางซึ่งจะนำไปสู่การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่นในอนาคต ๔ ประการ ดังนี้
.

ประการแรก

คงต้องเริ่มจาก “การศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูล” ให้เยอะ (มากกว่าบทความนี้) โดยข้อมูลที่ได้อาจมาจากเอกสารหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร คำบอกเล่า หรือหลักฐานทางโบราณคดี แต่ก็ต้องไม่ลืมวิเคราะห์และประเมินความน่าเชื่อถือของหลักฐานด้วย
.

ประการที่สอง

“เผยแพร่ข้อมูล” การเผยแพร่ข้อมูลเป็นการนำเสนอเรื่องราวให้บุคคลภายนอกได้รับทราบ และป้องกันการสูญหายของข้อมูลเชิงลายลักษณ์อักษร โดยในปัจจุบันเราสามารถเลือกนำเสนอข้อมูลได้หลากรูปแบบหลายช่องทาง เช่น บทความ หนังสือเล่มเล็ก Videos แผนที่ โมเดลจำลอง เป็นต้น
.

ประการที่สาม

“ปรับปรุงพื้นที่และสร้างแหล่งเรียนรู้” พื้นที่บางพื้นที่เหมาะแก่การปรับปรุงทัศนียภาพโดยรอบ และสร้างเป็นศูนย์การเรียนรู้ขนาดเล็ก เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในพื้นที่ และให้ความรู้แก่บุคคลภายนอก อีกทั้งยังสามารถรองรับการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ได้ในอนาคต
.

ประการที่สุดท้าย

“สร้างเยาวชนผู้สืบสาน” การดำเนินงานด้านการอนุรักษ์และสืบสานที่สำคัญลำดับต้น ๆ คือ การสร้างเยาวชนผู้สืบสานขึ้นมา เสมือนมัคคุเทศก์น้อยในพื้นที่ ซึ่งอาจจะรวมตัวกันในรูปแบบของชมรม องค์กร หรือคณะอื่นใด เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และเป็นสื่อกลางระหว่างชุมชนกับบุคคลภายนอก โดยใช้วิธีการถ่ายทอดชุดความรู้ของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้แก่บุคคลที่สนใจผ่านช่องทางต่าง ๆ
.
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการดำเนินการดังกล่าวไว้ข้างต้นจะสำเร็จได้นั้น คงต้องอาศัยความร่วมไม้ร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้นำชุมชน ผู้นำทางศาสนา หน่วยงานรัฐในท้องถิ่น เจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากร หน่วยงานรัฐอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนชาวบ้านและเยาวชนในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนการอนุรักษ์และสืบสานประวัติศาสตร์ของตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราชในอนาคตอย่างยั่งยืน
ภาพจากปก : เพจสำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช

ชมรายการ Live สด  “รวมเรื่องเมืองนคร” ได้ทุกวันพฤหัสบดี เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ 092-6565-298 คุณ เกียรติ

ลาวหลังพระธาตุ ความทรงจำที่กำลังถูกถมไปพร้อมสายคลอง

คลองลาว

ถมในที่นี้ชี้ไปในความหมายเดียวกับคำว่า “ลืม” ก็ถ้าไม่ได้คุยกับบังยมและคุณลุงชาวมะม่วงสองต้นอีกท่านที่มานั่งรอ “ปลาดุกคลองลาว” ตรงท่อระบายน้ำของร่องถนนพุทธภูมิ ผมเองก็คงไม่คิดว่าลาวจะมามีชื่อมีชุมชนอยู่ในเมืองนครไปอย่างไรได้
.
ความจริงเช้าวันนั้นไปเดินตามหาความสุขที่อาจจะหล่นหายเสียรายทาง เพราะความอยากได้ มี เป็น เที่ยวไปเห็นอะไรๆ ที่เขาสุกๆ กันแล้วอยากจะสุกขึ้นเองบ้าง ลืมนึกไปว่าของจริงอันแท้ต้องสุข ที่เห็นๆ อยู่คร่ำไปนี้ มันแค่สุก
.
ข้อคิด ข้อธรรม ไม่ใช่สาระหลักที่จะเขียนถึง แต่เป็นเหตุตั้งต้นให้เกิดเรื่อง จึงจั่วหัวไว้แต่น้อย
.
“ถ้าปลาดุกคลองลาวไม่ขึ้นกะเปลา”
คุณลุงท่านหนึ่งตอบผมด้วยท่าทางจริงจัง ในมือกำและสะพายแหไว้ในท่าเตรียมพร้อม ปากคีบใบจากไว้มวนหนึ่ง ควันละลอกลอดออกมาผุยๆ ตามจังหวะพูด
.
“คลองลาว อยู่ไหนหล่าวลุง ?”
ตานี้ บังยมที่ตามมาสมทบได้สักพักเป็นฝ่ายตอบแทน แกชี้โพล้งไปที่หน้าศาลาแม่ตะเคียน ตรงนั้นมีสระอยู่อันหนึ่ง แล้วตอบว่า “เขาถมเหลือหิดเดียวเท่านั้นแล้ว เป็นเขตอภัยทาน ปลาดุกจังเสีย พอน้ำขึ้นมันล่องออกมาอยู่ปล้องนี้”
.
“ถึงลาวนี้พันพรือครับ ? โหมลาวงั้นหึลุง ?”

“หมัน โหมฝ่ายนู้แหละ เขาเล่ากันมาพันนั้น ว่ามาช่วยทำพระธาตุ แล้วกะอยู่แถวนี้ เท่าฮั้นแหละ ถ้าเขาหก เรากะหกต่อเพ้อไปแหละ ไม่ที่ทำพรือ” แล้วก็ชวนกันหัวเราะยกใหญ่
.
ถ้าจะลองจับต้นชนปลายดูรอบกำแพงพระมหานครศรีธรรมราช ทิศเหนือมีตลาดแขก ทิศตะวันออกมีป่าขอม ทิศใต้มีวัดท้าวโคตร (มอญ) ทิศตะวันตกมีคลองลาว ก็นานาชาติพันธุ์ล้อมเราอยู่อย่างนี้ จะไม่ให้เป็นเมืองสิบสองชาติ สิบสองภาษา สิบสองนักษัตรไปอย่างไรไหว ?
.
แต่ลาวนี้ถูกลืม ลืมไปพร้อมกับการถมสายคลองเมื่อสมัยไหนก็ลืมถาม แต่ลาวมาแน่ มีแน่
.
ลองทวนความทรงจำดูเพลินๆ

๑. ถ้าลาวคือที่ราบสูงสองฝั่งแม่น้ำโขง

“กัจฉปะชาดก” อันที่เพิ่งรู้ใหม่บนองค์พระบรมธาตุเจดีย์นี้ก็มีแพร่หลายเป็นทั้งศิลปกรรมและคติชนที่แพร่อยู่มากในอีสานสอดคล้องกันดีอยู่ข้อหนึ่ง อีกอันที่พี่ กอก้าน ไม้เรียว เล่าไว้ว่า “ปลาใส่อวน ที่คลองลาวมีวิธีการหมักคล้ายๆ การหมักปลาร้านะคะ เพราะใส่ข้าวคั่วและหมักไว้ในไหจนเปรี้ยวด้วยค่ะ ไม่เหมือนการหมักปลาเค็มของทางใต้ที่เน้นการหมักเกลือ และตากแดดเก็บไว้นะคะ” อันนี้เป็นของตกค้างในวัฒนธรรมอาหารจำพวกเน่าแต่อร่อยกระเดียดไปข้างปลาแดกของทางนั้นสำทับได้ดีอยู่ข้อหนึ่ง

๒. ถ้าลาวคือฝ่ายเหนือ

อันนี้มีกล่าวในบันทึกประวัติศาสตร์ว่าสมเด็จพระราเมศวรเทครัวหัวเมืองลาวข้างฝ่ายเหนือลงมานครศรีธรรมราช ตรงนี้ยุคสมัยอาจแย้งกับที่ชาวมะม่วงสองต้นเล่ากันว่ามาช่วยทำพระธาตุเพราะเก่าก่อนยุคต้นกรุงศรีอยุธยาอยู่มาก แต่ก็ไม่ควรตัดทิ้ง เพราะนัยยะเกี่ยวกับโครงเรื่องทำพระธาตุนี้มีแพร่หลายอยู่ทั่วไป คล้ายกับว่าของสำคัญควรเมือง ใครๆ ก็อยากมีประสบการณ์ร่วม
.
ไม่ว่าจะเป็น ๑. หรือ ๒. ก็รวมความไว้ได้ก่อนว่าเป็นชาว “ข้างบน” ที่มาช่วยกันทำพระธาตุ ถ้าเราเอาพระธาตุเป็นศูนย์กลาง คราวนี้จะเห็นได้ชัดขึ้นว่าผู้มาช่วยสร้างบ้านแปงเมืองนั้นมาจาก “ทั่วสารทิศ” อย่างแท้ทรู
.
บนขวา มีรอยลาว ที่คลองลาว
บนซ้าย มีรอยมอญ ที่ท่ามอญ, วัดท้าวโคตร
ล่าง มีรอยมลายู ที่ตลาดแขก
.
แน่นอนว่าเมื่อลาวมาอยู่หลังพระธาตุในพื้นที่นานี้ ต้องเป็นอะไรเกี่ยวข้องเนื่องกันให้ตามต่อ แม้คลองลาวในปัจจุบันจะมีชื่อฝากอยู่แค่ในความทรงจำของชาวมะม่วงสองต้น แต่ก็น่าคิดว่า อะไรคือปัจจัยที่ไม่ทำให้คนท้องถิ่นถมประวัติศาสตร์สำคัญของตัวเองไปพร้อมคลองฯ

คำอธิษฐาน บนยอดพระธาตุเมืองนคร

ส่วนยอดของพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเป็นเครื่องมหัฆภัณฑ์ ประกอบด้วยวัตถุห้อยแขวนประเภทเครื่องประดับชนิดต่างๆ ปลายสุดประดิษฐ์อัญมณี แก้ว และหินสีธรรมชาติเป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ประดิษฐานไว้ ส่วนปลีสวมด้วยแผ่นทองคำร้อยรัดเข้าด้วยกันเป็นรูปทรงกรวย ทั้งมีจารึกและไม่มีจารึก
.
ในส่วนจารึกเท่าที่มีการพบและอ่าน-แปลมีทั้งหมด ๔๐ แผ่น น้ำหนักรวม ๔,๒๑๗.๖ กรัม มีลักษณะเป็นทองคำแผ่นบางรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่ละแผ่นมีขนาดและน้ำหนักไม่เท่ากัน บริเวณขอบจารึกทุกแผ่นมีรอยเย็บต่อไว้ด้วยเส้นด้ายทองคำรวมเป็นผืนใหญ่ ปนอยู่กับแผ่นทองพื้นเรียบ ไม่มีอักษรจารึก และแผ่นทองที่เขียนด้วยเหล็กแหลมเป็นลายเส้นพระพุทธรูปและรูปเจดีย์ทรงต่างๆ สภาพโดยทั่วไปชำรุด มีรอยปะเสริมส่วนที่ขาดด้วยแผ่นทองขนาดต่างๆ บางตอนมีรอยการเจาะรูเพื่อประดับดอกไม้ ทอง และอัญมณี เป็นต้น
.
นอกจากนี้ในบริเวณแกนปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ซึ่งเป็นโลหะก็มีจารึกอยู่ช่วงใต้กลีบบัวหงาย ต่ำลงไปประมาณ ๑.๘๐ เมตร เป็นการจารึกรอบแกนปลีจำนวน ๒ บรรทัด แต่ปัจจุบันถูกหุ้มด้วยแผ่นไฟเบอร์กลาส เพื่อเสริมความมั่นคงให้แก่โครงสร้างยอดเจดีย์ จารึกดังกล่าวจึงถูกปิดทับไปด้วย จึงมีการอ่าน-แปลจารึกในบริเวณดังกล่าวจากภาพถ่าย กลุ่มจารึกแผ่นทองหุ้มปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์นี้ มีการจารด้วยอักษรขอมและอักษรไทย ข้อความส่วนใหญ่บอกถึงวันเดือนปีที่ทำการซ่อม, สร้างแผ่นทอง ระบุน้ำหนักทอง และถิ่นที่อยู่ของผู้มีศรัทธาพร้อมทั้งการตั้งความปรารถนาซึ่งนิยมขอให้ตนได้พบพระศรีอาริย์ และถึงแก่นิพพาน (ข้อมูลจากฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน))
.
บรรดาจารึกที่ปรากฏความปรารถนาเหล่านี้ มีจารึกหนึ่งควรแก่การยกมาศึกษาในวาระปีใหม่นี้อยู่มาก ด้วยอาจถือเอาเป็นพรปีใหม่ที่กล่าวและอธิษฐานนำโดยบรรพบุรุษชาวนครศรีธรรมราช
.
“…ขอให้สำเร็จสมบัติสามประการ
คือมนุษยสมบัติ แลสวรรค์สมบัติ
มีพระนิพพานสมบัติเป็นที่สุด
ตามประเพณีพระอริยเจ้า แต่ก่อนนั้นแล”

ความตอนนี้พบบนจารึกแผ่นทองหุ้มปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช ๑๘ (จ. ๕๒) เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง ๑๑.๓ เซนติเมตร ยาว ๖๘.๓ เซนติเมตร ใช้อักษรขอมธนบุรี – รัตนโกสินทร์ มี ๑ ด้าน ๓ บรรทัด อ่านและปริวรรตโดย ก่องแก้ว วีระประจักษ์ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๗ ได้ความทั้งหมดว่า

“ ฯ ศุภมัสดุ พระพุทธศักราชล่วงแล้วได้ ๒๓๗๗ พระวัสสา
จุลศักราชขึ้น เป็น ๑๑๘๗ ปี
เจ้าคุณมารดา เป็นอุปถัมภก
รักษาพระศาสนา ประกอบไปด้วย
อุตสาห รักษาพระไตรสรณคมน์
ด้วยศีลห้าเป็นนิตย์แลอุโบสถศีลเป็นอดิเรก
แลได้รักษาพระสงฆ์ แลสามเณร แลชีพราหมณ์
บุคคลรักษาศีลแลมีน้ำจิตศรัทธา
ได้ทำนุบำรุงพระเจติยสถานอันบรรจุพระบรมธาตุ
และพระระเบียงล้อมพระบรมธาตุ
ให้บริบูรณ์เสร็จแล้วยังมิได้เต็มศรัทธา
จึงเอาทองคำเนื้อเจ็ดหนักสามตำลึงสามสลึง
ตราส่งแผ่นหุ้มยอดพระบรมธาตุ
ให้มีผลานิสงส์เป็นอันมาก
ขอให้สำเร็จสมบัติสามประการ คือ มนุษยสมบัติแล
สวรรค์สมบัติ มีพระนิพพานสมบัติเป็นที่สุด
ตามประเพณีพระอริยเจ้า แต่ก่อนนั้น แล”

.
เมื่อตรวจสอบรูปการณ์และศักราชที่ปรากฏบนจารึกลานทองนี้แล้ว “เจ้าคุณมารดา” ผู้ศรัทธาถวายและเป็นเจ้าของคำอธิษฐานนี้ น่าจะคือ เจ้าจอมมารดานุ้ยเล็ก ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ธิดาเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พัด) กับทูลกระหม่อมหญิงใหญ่ (นวล) พระนัดดาในพระเจ้านครศรีธรรมราชกับหม่อมทองเหนี่ยว
.
ดังจะเห็นว่า ความมุ่งหวังสูงสุดในที่นี้ คือการได้พระนิพพานสมบัติ ตามคติของพระพุทธศาสนา โดยเจ้าคุณมารดาได้อ้างเอาบุญกุศลที่บำเพ็ญมาทั้งส่วนการปฏิบัติบูชา มีการรักษาศีลเป็นอาทิ และอามิสบูชา เช่นว่า การบำรุงพระภิกษุ สามเณร เถรชี การบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์และพระระเบียง เป็นเหตุแห่งผล
.
ในวาระแห่งการเปลี่ยนพุทธศักราชใหม่อย่างสากลนี้ ผู้อ่านท่านใดประสงค์จะให้ผลแห่งชีวิตเจริญไปอย่างที่สุดเช่นไร ก็ขอให้สมดั่งเหตุที่สั่งสมไว้มาตลอดปีเถิดฯ

ตลาดท่าชี ที่ถูกชาวนครเรียกใหม่ว่า “ถนนตักบาตร”

“นครมีท่า-ตรังมีนา-สงขลามีบ่อ” สำนวนโบราณที่บอกเล่าความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งทรัพยากรธรรมชาติบนผืนแผ่นดินภาคใต้ฝั่งตะวันออกนี้ เป็นเครื่องชี้ชัดว่า “เรื่องปากท้อง” ของผู้คน เป็นหลักเกณฑ์สำคัญในการเลือกทำเลที่ตั้งเพื่อสร้างบ้านแปงเมือง ดังประกอบเข้ากับอีกสำนวนว่า “แค่บ่อ แค่ท่า แค่นา แค่วัด”

ท่าชี เป็นหนึ่งในหลายท่าน้ำที่ยังคงปรากฏชื่ออยู่ในปัจจุบัน แต่อาจเป็นเพียง ‘ท่า’ เดียว ที่หลงเหลือกลิ่นอายความเป็นอารยชนของเมืองนครศรีธรรมราช

ปัจจุบันแม้จะไม่มีร่องรอยความเป็นท่าน้ำแล้ว แต่ท่าชีก็ฝ่ากระแสโลกาภิวัตน์ประหนึ่งไม้ใหญ่ที่หยั่งรากลึกลงยืนต้นต้านลมแรง แม้โลกเปลี่ยนแปลงแต่นัยยะสำคัญของท่าชียังไม่เคยเปลี่ยนไป

ท่าชี แวดล้อมไปด้วยแหล่งโบราณสถานสำคัญ ซึ่งหากลำดับตามคติความเชื่อแล้วอาจถือได้ว่าเป็น ‘ใจเมือง’ ในชั้นแรกๆ ด้วยว่ามี ‘สถานพระเสื้อเมือง’ เป็นที่เคารพสักการะในฐานะเทวดาอารักษ์ ‘เสื้อ’ ภาษาโบราณแปลว่า ‘ผี’ พระเสื้อเมืองจึงหมายถึง ‘ผีบ้าน ผีเมือง’ ซึ่ง ‘ผี’ ในที่นี้ ดั้งเดิมมีความหมายเดียวกับ ‘เทวดา’

การนับถือผีนี้ เป็นความเชื่อแรกสุดของมนุษยชาติ เป็นระบบความคิดที่นักวิชาการหลายท่านยอมรับว่าเป็น ‘ศาสนา’ ของคนพื้นถิ่นก่อนรับศาสนาพราหมณ์-ฮินดูรวมถึงพระพุทธศาสนา ดังนั้น การเป็นสถานที่ที่มีการเคารพนับถือด้วยคติความเชื่อดั้งเดิม จึงอาจเชื่อได้ว่าต้องมีความสัมพันธ์กับความเป็นพื้นถิ่นก่อนการสถาปนาเมืองนครศรีธรรมราชในฐานะเมืองแห่งพระพุทธศาสนาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ท่าชี ยังมีแหล่งโบราณสถานสำคัญที่เนื่องในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ลัทธิไศวนิกาย คือ “ฐานพระสยมภูวนาถ” กรมศิลปากรกำหนดอายุสมัยอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ สันนิษฐานว่าละแวกดังกล่าว เคยเป็นแหล่งชุมชนพราหมณ์ดั้งเดิม โดยมีฐานพระสยมฯ เป็นเทวาลัยประกอบศาสนกิจ ปัจจุบันเป็นแหล่งโบราณสถานที่ประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษาแล้วตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๗๙

การเป็นชุมชนพราหมณ์ดั้งเดิมแต่โบราณนี้เอง เป็นที่มาของชื่อ ‘ท่าชี’ ด้วยว่า ‘ชี’ คำนี้ มาจาก ‘ชีพราหมณ์’ ผู้ถือพรตบวชในศาสนาพราหมณ์นั่นเอง

เดี๋ยวนี้ ท่าชีเป็นที่รู้จักกันในนาม ‘ตลาดท่าชี’ การเปลี่ยนรูปจากชุมชนศูนย์กลางทางศาสนาพราหมณ์มาเป็นชุมชนการค้าท้องถิ่น ไม่ได้ทำให้กลิ่นอายความเป็นท่าชีสูญสิ้นไป เพราะทุกเช้า เรายังสามารถเห็นวิถีชีวิตของผู้คนที่ทยอยกันเดินทางไปทำบุญตักบาตร สักการะขอพรพระเสื้อเมือง และบูชาพระสยมภูวนาถกันไม่ขาดสาย

ท่าชี จึงอาจเป็นภาพโดยย่อของคติไทยได้อย่างดี เพราะภายในสถานที่เดียวสามารถเห็นความสัมพันธ์กันของระบบความเชื่อทั้งศาสนาผี พราหมณ์ และพุทธฯ

ยอดพระธาตุหัก เหตุและปัจจัยแวดล้อมที่ไม่เคยถูกกล่าวถึง

ยอดพระธาตุ

“พระพุทธศักราชได้สองพันร้อยเก้าสิบพระพรรษาเศษได้สี่วัน

เมื่อยอดพระเจ้าหัก วันจันทร์ เดือนหก แรมสี่ค่ำ ปีมะเมีย

เพลาชายแล้วสองยาม สร้างตรหลบหกสู่ยอดพระเจ้าหั้นแล

เมื่อทำการนั้น เดือนสิบ วันศุกร์เพลาเช้าขึ้นถึงสิบชั้นเป็นสุดเอย[๑]

เมื่อยอดพระเจ้าหัก

ข้อความที่ยกมาข้างต้น เป็นการปริวรรตจารึกที่แกนปลีใต้กลีบบัวหงายพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช โดย ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และ เทิม มีเต็ม ก่อนที่จะวิเคราะห์เนื้อความในจารึก จะกล่าวถึงตำแหน่งที่พบจารึกตามการบันทึกไว้ในฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ว่าอยู่ในช่วงใต้กลีบบัวหงายต่ำลงไป ประมาณ ๑.๘๐ เมตร เป็นการจารึกรอบแกนปลีจำนวน ๒ บรรทัดแต่ปัจจุบันถูกหุ้มด้วยแผ่นไฟเบอร์กลาส เพื่อเสริมความมั่นคงให้แก่ โครงสร้างยอดเจดีย์ จารึกดังกล่าวจึงถูกปิดทับไปด้วย จึงมีการอ่านแปลจารึกในบริเวณดังกล่าวจากภาพถ่าย และตีพิมพ์ในวารสารศิลปากร ปีที่ ๓๗ ฉบับ ๔ (กรกฎาคม-สิงหาคม, ๒๕๓๗) ในบทความชื่อ “จารึกแผ่นทองหุ้มปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช[๒]

ต้นจารึกเป็นอักษรขอมอยุธยา ภาษาไทย มีด้านเดียว ๒ บรรทัด จารึกลงบนโลหะ กำหนดอายุสมัยในพุทธศักราช ๒๑๙๐ จัดเรียงบรรทัดใหม่เพื่อวิเคราะห์ความได้ ๔ บรรทัด ดังนี้

“พระพุทธศักราชได้สองพันร้อยเก้าสิบพระพรรษาเศษได้สี่วัน”

บรรทัดแรกบอกศักราชเป็นพุทธศักราช ถือเป็นประโยชน์อย่างมากในการกำหนดอายุของจารึก เพราะสามารถทำหน้าที่เป็นหลักฐานชั้นต้นอย่างดีหากเป็นจารึกที่ร่วมสมัย ศักราชที่ปรากฏนี้ยังสามารถใช้พิจารณาหาบริบทแวดล้อมอื่น เพื่อมาเติมเต็มภาพของเหตุการณ์ที่ขาดหายไปให้ชัดเจนขึ้น ผู้เขียนจึงใช้จุดเวลานี้ เป็นหลักในการศึกษาข้อมูลของประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในเมืองนครศรีธรรมราช เชื่อมโยงเหตุและความน่าจะเป็นที่นำไปสู่การทำให้ “ยอดเจ้าหัก” ทั้งสามารถใช้เทียบเคียงเพื่อลำดับเหตุการณ์ร่วมกับจารึกอื่นที่พบบนปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ ที่ระบุศักราชก่อนหน้า และภายหลัง ดังจะได้กล่าวต่อไป

ปีพุทธศักราช ๒๑๙๐ ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. ๒๑๗๓ – ๒๑๙๘) แห่งกรุงศรีอยุธยา ส่วนเมืองนครศรีธรรมราชนั้น เอกสารลายลักษณ์อักษรที่จะใช้เป็นข้อมูลหลักคือตำนานพระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช ขาดช่วงไปไม่มีการกล่าวถึงนามของผู้ครองเมือง 

แล้วใครครองเมืองนครตอนยอดพระธาตุหัก ?

หากพิจารณาช่วงเวลาใกล้เคียงกันก่อนหน้านี้ คือในรัชสมัยสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ (พ.ศ. ๒๑๗๒) มีการส่งขุนนางจากส่วนกลางคือออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นางามาซะ) มาเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช แล้วเกิดเหตุความขัดแย้งภายในระหว่างกลุ่มอำนาจท้องถิ่นกับกองอาสาญี่ปุ่น นำมาซึ่งการสู้รบระหว่างชาวเมืองกับทหารญี่ปุ่น จนผู้คนล้มตายและหลบหนีออกจากเมืองไปเป็นจำนวนมากจนเกือบจะเป็นเมืองร้าง ท้ายที่สุดเมืองนครศรีธรรมราชเป็นฝ่ายชนะและแข็งเมืองในปีพุทธศักราช ๒๑๗๕ จดหมายเหตุวันวลิต บันทึกว่า “ฝ่ายชาวนครศรีธรรมราช เห็นว่าตนเองหลุดพ้นจากชาวญี่ปุ่นแล้ว ก็ต้องการสลัดแอกจากการปกครองของสยาม จึงลุกฮือขึ้นเป็นกบฏและปฏิเสธไม่ยอมเคารพนับถือพระเจ้าแผ่นดินโดยฐานะกษัตริย์และเจ้านายที่ถูกต้องตามกฎหมาย[๓]” นำมาซึ่งการปราบปรามจากกรุงศรีอยุธยา ผลในครั้งนั้นอาจนำมาซึ่งการแต่งตั้งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชที่เป็นคนในอาณัติของกรุงศรีอยุธยา เพื่อให้เมืองนครศรีธรรมราชเสมือนตัวแทนของกรุงศรีอยุธยา ในการควบคุมดูแลหัวเมืองฝ่ายใต้ทั้งหมด

ปัญหาคือ ขณะนี้ยังไม่พบหลักฐานที่ระบุชื่อของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ที่เป็นผู้สืบทอดอำนาจของอาณาจักรอยุธยาในยุคดังกล่าว พบเฉพาะส่วนก่อนหน้าและตอนหลัง คือ ออกญาเสนาภิมุข (พ.ศ. ๒๑๗๒ – ๒๑๗๕) แล้วกล่าวถึงบุตรชายที่ตั้งตัวเองเป็นเจ้าเมืองในนามออกขุนเสนาภิมุข ภายหลังได้ตกล่องปล่องชิ้นไปเป็นเขยของเจ้าพระยานครคนเก่า ทั้งที่กินแหนงแคลงใจด้วยเหตุสงสัยในการเสียชีวิตของบิดา จนมีเหตุจลาจลให้ต้องหนีลงเรือไปอยู่เมืองเขมร ในพุทธศักราช ๒๑๗๖[๔] เจ้าพระยานครคนเก่านี้ อาจได้แก่พระยาแก้ว ผู้เป็นหลานพระรามราชท้ายน้ำ เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช (พ.ศ. ๒๑๔๔ – ๒๑๗๑) ซึ่งเป็นบุคคลสุดท้ายที่ตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวถึง ก่อนจะข้ามช่วงเหตุการณ์ยอดพระธาตุหัก ไปที่พระยาบริบาลพลราช เจ้าเมืองตะนาวศรี มาเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ในปีพุทธศักราช ๒๑๙๗[๕]

ดูเหมือนว่าตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช จะละความเอาไว้ถึง ๒๖ ปี คือระหว่างพุทธศักราช ๒๑๗๑ – ๒๑๙๗ ทั้งที่ในระหว่างนั้น มีเหตุการณ์เรื่องยอดพระธาตุหัก ซึ่งเกี่ยวข้องกับชื่อของตำนานโดยตรงแต่กลับไปปรากฏอยู่ในบันทึกอื่น 

“เมื่อยอดพระเจ้าหัก วันจันทร์ เดือนหก แรมสี่ค่ำ ปีมะเมีย

ก่อนจะกล่าวถึงรายละเอียดของบรรทัดนี้ ขอย้อนกลับไปวรรคก่อนหน้าที่ว่า “พระพุทธศักราชได้สองพันร้อยเก้าสิบพระพรรษาเศษได้สี่วัน” ซึ่งเศษของสี่วันนั้นตรงกับวันจันทร์ เดือนหก แรมสี่ค่ำ ปีมะเมีย ตามที่ปรากฏในวรรคนี้ ประเด็นคือ มีข้อพิจารณาอย่างหนึ่งเกี่ยวกับวิธีนับพุทธศักราช ในที่นี้จะเห็นว่าหากย้อนหลับไปสี่วัน วันขึ้นปีใหม่จะตรงกับ “วันขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนหก” ซึ่งตรงกับวัน “วิสาขปุรณมีบูชา”

“วิสาขปุรณมีบูชา” วันขึ้นปีใหม่ของเมืองนครศรีธรรมราช

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า “วันวิสาขบูชา” ถูกยกย่องให้เป็นวันสำคัญสากลมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ ตามมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา ทั้ง ๓ เหตุการณ์ของพระโคตมพุทธเจ้า คือการประสูติ ณ สวนลุมพินีวัน, ตรัสรู้  ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ เมื่อพระชนมายุ ๓๕ พรรษา และดับขันธปรินิพพาน ณ ควงไม้สาละ ในสาลวโนทยาน เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ เมื่อพระชนมายุ ๘๐ พรรษา ซึ่งทุกเหตุการณ์ล้วนเกิดขึ้นในวันเพ็ญ เดือน ๖ ทว่าต่างปีกัน ดังนั้น การรำลึกถึงความสำคัญเหล่านี้จึงเรียกให้พ้องไปตามกาลว่า “วิสาขปุรณมีบูชา” ซึ่งแปลว่าการบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ หรือเดือน ๖

ดังนั้น หากพุทธศักราชเป็นการสมมตินับเอาวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานเป็น พ.ศ. ๑ ตามอย่างประเทศศรีลังกาและพม่า หรือหลังจากเหตุการณ์นั้นแล้ว ๑ ปีตามอย่างประเทศไทย วันซึ่งจะเป็นหมุดหมายเปลี่ยนศักราช จึงควรเป็นวันวิสาขบูชา และใช้สืบเนื่องมาแต่โบราณก่อนจะปรับเปลี่ยนไปตามสากล

แล้วเมืองนครศรีธรรมราชเอาอย่างใคร ?

จารึกที่ฐานพระลาก วัดศรีทวี อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีข้อความระบุว่า “…วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ ปีกุน สัตตศก เพลาชาย ๓ ชั้น พุทธศักราชได้ ๒๒๗๗…”[๖] เมื่อสอบพุทธศักราชกับจุลศักราชแล้วพบว่า เป็นการนับศักราชมากกว่าพุทธศักราชปัจจุบัน ๑ ปีอย่างศรีลังกา ข้อนี้อาจแสดงให้เห็นการยึดถือระเบียบวิธีดั้งเดิมของแหล่งซึ่งเป็นต้นทางของพระพุทธศาสนาที่ประดิษฐานอยู่ ณ เมืองนครศรีธรรมราชและสยามประเทศ

อย่างไรก็ดี เมื่อย้อนไปสอบทานปีพุทธศักราชและปีนักษัตรกลับพบว่า พุทธศักราช ๒๑๙๐ ไม่ตรงกับปีมะเมีย ดังที่ระบุในจารึก

เหตุและปัจจัยที่นักษัตรกับปีเคลื่อนกัน

เหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองที่ระบุไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) คือเมื่อ จุลศักราช ๑๐๐๐ ปีขาล (พุทธศักราช ๒๑๘๑) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีลบศักราช เพื่อเสี่ยงพระบารมีแก้กลียุค แม้ในพระราชพงศาวดารจะระบุว่าพระเจ้าอังวะปฏิเสธที่จะใช้ตามพระราชสาส์นที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองส่งไป ในส่วนของเมืองนครศรีธรรมราช มีจารึกที่ระฆังวัดท้าวโคตร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุว่า “พุทธศักราชได้ ๒๑๘๓ ปีมะโรง เลิกว่าฉลู ตรีนิศก วันศุกร์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๔”[๗] คำว่า “ปีมะโรง เลิกว่าฉลู” เป็นหลักฐานยืนยันว่า เมืองนครศรีธรรมราชยอมรับอำนาจของกรุงศรีอยุธยาโดยสมบูรณ์ในฐานะเป็นขอบขัณฑสีมา จึงได้ย้อนปีนักษัตรขึ้นปี ๒ ปีตามพระราชประสงค์

ส่วนจารึกแกนปลีใต้กลีบบัวหงายพระบรมธาตุเจดีย์ ระบุว่า “พระพุทธศักราชได้สองพันร้อยเก้าสิบ…วันจันทร์ เดือนหก แรมสี่ค่ำ ปีมะเมีย…” กลับมีปัญหาเพราะเมื่อคำนวณทั้งตามการนับศักราชธรรมดาและลบศักราช กลับไม่ตรงทั้ง ๒ วิธี กล่าวคือ

ธรรมดา            : พุทธศักราช ๒๑๙๐ ตรงกับจุลศักราช ๑๐๐๙ ปีกุน
ลบศักราช         : พุทธศักราช ๒๑๙๐ ตรงกับจุลศักราช ๑๐๐๙ ปีวอก

จึงดูเหมือนว่า ศักราชที่ปรากฏที่แกนปลีนี้ ใช้หลักการลบศักราชถึง ๒ ครั้ง คือย้อนกลับขึ้นไปถึง ๔ ปีนักษัตร ความคลาดเคลื่อนข้อนี้เป็นปัญหาที่ยังไม่พบข้อสรุป นอกจากการสันนิษฐานว่า อาจเป็นเพราะผู้จารึกที่รับข้อความให้จารึกซึ่งระบุศักราชที่ลบแล้ว แต่กลับลบซ้ำเป็นกำลัง

“เมื่อยอดพระเจ้าหัก” คำสำคัญที่ปราศจากการชี้เหตุ

ในบรรทัดที่สองซึ่งแยกออกมาใหม่นี้ มีเค้ามูลหลักที่ทำให้ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีนัยยะบางประการเร้นอยู่ คือการไม่ระบุสาเหตุที่ทำให้องค์พระบรมธาตุเจดีย์หักลง ทั้งส่วนของข้อเท็จจริงหรือแม้แต่จะตกค้างอยู่ในนิทานมุขปาถะเหมือนเรื่องเล่า “เจดีย์ยักษ์” ที่มีลักษณาการเดียวกัน แน่นอนว่าในชั้นนี้ อาจเพราะเจดีย์ยักษ์ไม่ได้ถูก “สร้างตรหลบหกสู่ยอด” อย่างองค์พระบรมธาตุเจดีย์ที่ได้รับการปฏิสังขรณ์ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา ๔ เดือน จึงดูเหมือนว่านิทานยักษ์สร้างพระเจดีย์แข่งกับชาวเมืองจะยังคงมีอิทธิพลต่อความรับรู้ของผู้คน ตลอดไปจนส่งผลให้การพิจารณาบูรณะเจดีย์ยักษ์จำต้องดำเนินการไปเสมือนหนึ่งไม่มีส่วนปลียอดมาแล้วแต่เดิม

แม้ว่าเหตุผลที่ทำให้เจดีย์ยักษ์ยอดหักจะเป็นเพียงนิทานปรัมปรา แต่ก็ได้ทิ้งร่องรอยประหนึ่งลายแทงแฝงไว้จนอาจเชื่อได้ว่า ยักษ์ที่เตะยอดเจดีย์นี้ น่าจะเป็นตัวแทนของคนหรือกลุ่มคนฝ่ายตรงข้ามกับคนพื้นเมือง

พระธาตุเคยทลายลงแล้วหนหนึ่งก่อนหน้าครั้งที่กำลังกล่าวถึงนี้

ในตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับกระดาษฝรั่ง[๘] เมื่อกล่าวถึงที่มาของพระบรมสารีริกธาตุแล้ว ก็ยกฉากการก่อ“พระเจดีย์” ครั้งแรกเพื่อสรวมพระบรมสารีริกธาตุ ถัดไปหลังที่สร้าง “เมืองนครศรีธรรมราชมหานคร” ณ หาดทรายแก้วแล้ว พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้มีรับสั่งให้ทำอิฐทำปูนก่อ “พระธาตุ” เป็นครั้งที่ ๒ หากเหตุการณ์ลำดับไปตามที่ตำนานระบุ ก็จะหมายความว่าองค์พระบรมธาตุเจดีย์ มีการประดิษฐานอยู่แล้วก่อนสร้างเมืองแต่อาจจะยังไม่แล้วเสร็จ พระมหากษัตริย์ผู้สถาปนาเมืองจึงได้ทำต่อ  จากนั้นพระองค์ถัดๆ ไปก็รับเป็นธุระ ดูเหมือนว่าในตำนานจะระบุถึงการก่อ “พระมหาธาตุ” ถึง ๕ ครั้งจึงแล้วเสร็จ 

“พระเจดีย์”“พระธาตุ” และ “พระมหาธาตุ” ทั้ง ๓ คำนี้เป็นการเรียกองค์พระบรมธาตุเจดีย์จากตำนานฉบับข้างต้น ส่วนปัจจุบันตกค้างเป็นภาษาพูดของชาวนครศรีธรรมราชเฉพาะคำว่า “พระธาตุ” ซึ่งหากเป็นไปตามพระวินิจฉัยของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ที่ว่าตำนานฉบับนี้เขียนขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พุทธศักราช ๒๑๙๙ – ๒๒๓๑) ก็เท่ากับว่าคำนี้ มีเรียกมาตั้งแต่ครั้งนั้นแล้วเป็นอย่างต่ำ

ตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อพระธาตุทลายลงว่า “ยังมีนายไทยผู้หนึ่งชาวกรุงศรีอยุธยา ใช้เรือมาทอดอยู่ปากน้ำนครศรีธรรมราช นายไทยวางว่าว ๆ นั้นก็ขาด นายไทยตามว่าวมาพบพระเจดีย์เดิม แล้วพบเจ้าไทยสององค์ องค์หนึ่งชื่อมหาเถรพุทธสาท องค์หนึ่งชื่อมหาเถรพรหมสุรีย์เที่ยวโคจรมา นายไทยก็เล่าความแก่เจ้าไทย ๆ ให้นำไปดูที่พระเจดีย์เดิม แล้วนายไทยก็ลงเรือไป ภายหลังเจ้าไทยทั้งสองพบพระมหาธาตุทลายลงเทียมพระบรรลังก์ รอยเสือเอาเนื้อขึ้นกินที่นั้น เจ้าไทยก็กลับไปอยู่อารามดังกล่าวเล่า”[๙]   ความตอนนี้ไม่ระบุศักราช แต่มีข้อกำหนดช่วงอายุสมัยในวรรคต้นว่านายไทยเป็นชาวกรุงศรีอยุธยา เหตุการณ์จึงน่าจะเกิดในยุคกรุงศรีอยุธยา คือระหว่างพุทธศักราช ๑๘๙๓ – ๒๓๑๐

เพื่อกำหนดจุดเวลาให้แคบลง จึงต้องพิจารณาศักราชที่ปรากฏอยู่ตำแหน่งก่อนที่จะกล่าวถึงเหตุการณ์นี้ พบว่าตกอยู่ในมหาศักราช ๑๒๐๐ ซึ่งคือพุทธศักราช ๑๘๒๑ ส่วนตำแหน่งหลังบันทึกว่าเป็นพุทธศักราช ๑๘๑๕ ชั้นแรกจึงสรุปเป็นเบื้องต้นว่า ศักราชในตำนานฉบับนี้ อาจมีความคลาดเคลื่อนสับสน คือกระโดดไปมาไม่ลำดับ กับทั้งเหตุการณ์ “พระมหาธาตุทลายลง” ซึ่งอยู่ในระหว่าง พ.ศ. ๑๘๑๕ – ๑๘๒๑ นี้ มีคำชี้จุดเวลาคือ “นายไทยผู้หนึ่งชาวกรุงศรีอยุธยา” ทั้งที่จริงช่วงเวลาดังกล่าว กรุงศรีอยุธยายังไม่ได้สถาปนาขึ้น จึง       ชวนให้ส่อเค้าคิดไปว่าเป็นไปได้ที่การทลายลงครั้งนี้ อาจเป็นครั้งเดียวกันกับที่มีจารึกไว้รอบแกนปลี

สถานการณ์ภายในเมืองนครศรีธรรมราช

ก่อน “ยอดพระเจ้าหัก” ในปีพุทธศักราช ๒๑๙๐ 

ตอนท้ายของตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับกระดาษฝรั่ง มีการลำดับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในลักษณะย่อหน้าละใจความ ต้นย่อหน้าระบุปีพุทธศักราชกำกับไว้ ดังนี้

เมื่อศักราชได้ ๑๙๑๙ ปี โปรดให้หลวงศรีวรวงษมาเป็นเจ้าเมือง มาทำวิหารฝ่ายอุดรพระธาตุ ทักษิณพระโพธิมณเฑียร ก่อพระสูง ๗ ศอก หล่อพระสำมฤฐองค์หนึ่งไว้ปัจฉิม เมียหล่อองค์หนึ่งไว้ฝ่ายบูรรพ์ ชื่อว่าเพหารเขียน แล้วอุทิศข้าหญิงชายไร่นาไว้สำหรับรักษาพระ โปรดให้หลวงพิเรนทรเทพมาเป็นเจ้าเมือง พระทิพยราชาน้องพระญาสุพรรณเป็นปลัด ศึกอารู้ยกมาตีเมืองแล้วไปตีเมืองพัทลุงได้ ทิพยราชาเป็นแม่ทัพไปตีได้คืนเล่า

เมื่อศักราช ๒๐๓๙ ปี โปรดให้พระยาพลเทพราชมาเป็นเจ้าเมือง เกนให้ตกแต่งทำกำแพงกำชับไว้ แล้วเข้าไปกรุงไปทางเมืองสระ

เมื่อศักราช ๒๑๔๑ โปรดให้พระยาศรีธรรมราชะเดชะมาเป็นเจ้าเมือง อุชงคนะให้ลักปหม่าหนาเป็นแม่ทัพเรือมารบ เสียขุนคำแหงปลัด ณ รอปากพระญา ข้าศึกรุกเข้ามาถึงตีนกำแพงฝ่ายอุดร พระยาศรีธรรมราชออกรบศึกหนีไป

เมื่อศักราช ๒๑๔๔ โปรดให้พระรามราชท้ายน้ำมาเป็นเจ้าเมือง เอาขุนเยาวราชมาเป็นปลัด รู้ข่าวศึกอุชงคนะ จึงพระยาให้ขุดฝ่ายบูรรพ์ แต่ลำน้ำท่าวังมาออกลำน้ำฝ่ายทักษิณ

เมื่อศักราช ๒๑๗๑ ศึกอุชงคนะยกมา พระญาก็ให้ตั้งค่ายคูฝ่ายอุดร แลแต่งเรือหุมเรือพายพลประมาณห้าหมื่นเศษรบกันเจ็ดวันเจ็ดคืนขุนพัญจาออกหักทัพกลางคืนศึกแตกลงเรือศึกเผาวัศท่าโพเสีย พระญาถึงแก่กรรม พระญาแก้วผู้หลานก่อพระเจดีย์บรรจุธาตุไว้ในพระธรรมศาลา”[๑๐]

ดังจะพิจารณาได้ว่า ศตวรรษก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุยอดพระเจ้าหักนั้น เมืองนครศรีธรรมราชต้องประสบกับภัยสงคราม ตั้งแต่ศึกอารู้จนถึงอุชงคนะ ยืดเยื้อกินเวลาหลายขวบปี มีผลจากสงครามครั้งนั้นต่อผังเมืองในปัจจุบันให้พอเป็นที่ประจักษ์อยู่บ้าง คือถนนพัฒนาการคูขวาง ถนนที่ทอดทับตำแหน่งเดียวกันกับคูที่ “…ขุดฝ่ายบูรรพ์ แต่ลำน้ำท่าวังมาออกลำน้ำฝ่ายทักษิณ” ขวางไม่ให้กำลังพลของข้าศึกยกขึ้นประชิดเมืองได้โดยง่าย แม้ตอนท้ายของตำนาน จะทำหน้าที่คล้ายพงศาวดารเมือง แต่ก็ไม่ได้ระบุว่าข้าศึกเข้าเมืองแล้วกระทำอันตรายอย่างไรต่อทรัพยากรภายใน กับทั้งกระโดดไป ๒๖ ปี ข้ามเหตุการณ์ยอดพระเจ้าหักที่เป็นโจทย์นี้ไปกล่าวถึง “…เมื่อศักราช ๒๑๙๗ มีพระบรรทูลโปรดให้พระญาบริบาลพลราชเจ้าเมืองตะนาวศรีมหานครมาเป็นเจ้าพระญานครศรีธรรมราช เดชไชยอภัยพิรีบรากรมพาหุเจ้าพระญานครศรีธรรมราช…”

อย่างไรก็ดี ศึกครั้งนี้เป็นศึกติดพัน เพราะความมุ่งหมายของแขกสลัดมีมากกว่าการปล้นเอาสมบัติพัสถาน การจงใจเลียบชายฝั่งผ่านเมืองท่าที่มั่งคั่งอย่างปัตตานีและมะละกา อาจเป็นสัญญาณว่า นครศรีธรรมราชคือเป้าหมายเดียวที่พอพร้อมสำหรับความต้องการบางอย่าง และเป็นไปได้ว่าปัตตานีคือหนึ่งในพันธมิตรของแขกสลัด ดังที่เริงวุฒิ มิตรสุริยะ อธิบายไว้ว่า “…พ.ศ. ๒๑๗๓ ปัตตานีก็ทำการรุกรานเมืองพัทลุงและนครศรีธรรมราชโดยทันใด โดยเว้นไม่ยุ่งเกี่ยวกับเมืองสงขลา ที่ดูเหมือนจะประกาศตัวว่าขอออกจากพระราชอำนาจและอาณาจักรของอยุธยาไปแล้วด้วยเมืองหนึ่ง ในขณะที่นครศรีธรรมราชอ่อนแอนี้ ปัตตานีได้พันธมิตรจากยะโฮร์และโปรตุเกสร่วมด้วย อยุธยาจำต้องเกณฑ์ผู้คนจากนครศรีธรรมราชและพัทลุงออกต่อต้าน แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะปัตตานีได้…”[๑๑]

สภาพของนครศรีธรรมราชขณะนั้นคงไม่ต่างไปจากสภาพของกรุงศรีอยุธยาก่อนเสียแก่พม่าเมื่อพุทธศักราช ๒๓๑๐ กลับกันเมื่อเมืองสงขลากลับมีอิทธิพลมากขึ้น ในปีพุทธศักราช ๒๑๘๕ สงขลาจึงเป็นกบฏต่อกรุงศรีอยุธยา แม้ว่าจะปราบปรามลงได้ แต่ก็เป็นกบฏอีกครั้ง พ.ศ. ๒๑๙๒ ได้บุกยึดเมืองนครศรีธรรมราชไว้เป็นการชั่วคราว และดึงเอาปัตตานี พัทลุง และไทรบุรีเข้าเป็นพันธมิตร[๑๒]

ทั้งนี้แต่ไม่ทั้งนั้น สถานการณ์ร่วมสมัยกับที่ระบุในจารึกแกนปลีว่ายอดพระบรมธาตุเจดีย์หักลงในพุทธศักราช ๒๑๙๐ ที่ยกมานี้ อาจเป็นเพียงข้อสังเกตหนึ่ง ที่จะทำให้พลอยโน้มเอียงใช้เป็นคำตอบถึงเหตุของการหักลงได้ จากที่โดยทั่วไป ความรู้สึกแรกเมื่อได้อ่านจารึกมักคิดอ่านไปเองเป็นเบื้องต้นว่าอาจเพราะถูกฟ้าผ่าตามธรรมชาติ จะได้มีความลังเลสงสัยเพิ่มขึ้นเป็นตัวเลือก เพราะหากพระบรมธาตุเจดีย์เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นนครศรีธรรมราช ปูชนียสถานมีชื่อนี้ก็ถือเป็นหมุดหมายเดียวของศัตรูที่จะเข้ายึดหรือทำลายเพื่อชัยชนะที่สมบูรณ์

ทว่าเมื่อตรวจสอบแผ่นทองคำที่มาจารึกในระบบฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย จากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) แล้ว พบว่าแทนที่เมื่อยอดหักแล้วศักราชในจารึกจะลำดับต่อไปจาก ๒๑๙๐ กลับมีแผ่นจารึกระบุปีก่อนหน้านั้น ๒ รายการ ได้แก่

“ศุภมัสดุ ศักราชได้เก้าร้อยเจ็ดสิบสี่ เดือนห้า ขึ้นเก้าค่ำ ปีชวด เถลิงศก วันจันทร์ชวด จัตวา พระมหาศรีราชปรีชญา เอาทองห้าตำลึงแลญาติอีกด้วยสัปปุรุษทั้งหลายช่วยอนุโมทนา เป็นทองหกตำลึง สามบาท สามสลึง ตีเป็นแผ่นสรวมพระธาตุเจ้า ในขณะออกญาพัทลุงมาเป็นพระยานครแลพระเจ้าพระครูเทพรักษาพระธาตุ”[๑๓]

รายการแรก ศักราชเก้าร้อยเจ็ดสิบสี่ ตรงกับพุทธศักราช ๒๑๕๕ ถัดไปอีก ๔ ปีปรากฏในรายการที่ ๒ คือ พ.ศ. ๒๑๕๙ ซึ่งทั้ง ๒ รายการร่วมสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พุทธศักราช ๒๑๕๔ – ๒๑๗๑) จึงดูเหมือนว่าเป็นไปไม่ได้ที่เมื่อข้าศึกยึดเอาสัญลักษณ์ประจำเมืองได้แล้วจะไม่ฉกฉวยเอาทรัพย์สินมีค่าไปใช้สอยประโยชน์ ข้อนี้สันนิษฐานต่อไปได้ว่า อาจเป็นอุบายเพื่อประโลมขวัญชาวเมืองในการสร้างความยอมรับให้มีแก่กลุ่มผู้ปกครองใหม่ โดยกระทำการปฏิสังขรณ์อย่างรวดเร็วแล้วเสร็จภายในระยะเวลาเพียงแค่ ๔ เดือนดังจะได้กล่าวต่อไป

            ข้อพินิจสำคัญอีกประการคือ จารึกแผ่นทองหุ้มปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราชอีกรายการหนึ่ง ปรากฏ ๒ ศักราชในลายมือที่ใกล้เคียงกัน

            ก่องแก้ว วีระประจักษ์ ปริวรรตแยกบรรทัดยกมาเฉพาะศักราชได้ว่า

            บรรทัดบนซ้ายจารึก (มหาศักราช) ๑๖๒๘” เท่ากับพุทธศักราช ๒๒๔๙

            บรรทัดล่างขวาจารึก “ศกพระแต่พ้นไปแล้ว ๒๑๕๙”[๑๕]

ความใกล้เคียงกันของตัวอักษรที่แม้ว่าจะมีระยะระหว่างจารึกถึง ๙๐ ปี แถมยังปรากฏบนแผ่นเดียวกันนี้ เป็นพิรุธบางประการที่อาจเชื่อได้ว่าการระบุศักราชก่อนหน้าเหตุการณ์ยอดหักซึ่งปรากฏอยู่เพียง ๓ รายการจากทั้งหมด ๔๐ รายการนี้ เป็นเพียงการบันทึกย้อนความทรงจำ ทั้งนี้เพื่อยืนยันสมมติฐานนี้ อาจต้องพึ่งการตรวจพิสูจน์ทางด้านอักษรศาสตร์ ซึ่งผู้เขียนไม่มีความสามารถในด้านนั้นเป็นการเฉพาะ

 “เพลาชายแล้วสองยาม สร้างตรหลบหกสู่ยอดพระเจ้าหั้นแล

เมื่อทำการนั้น เดือนสิบ วันศุกร์เพลาเช้าขึ้นถึงสิบชั้นเป็นสุดเอย

จากเหตุการณ์ยอดหักเมื่อต้นปีใหม่เดือนหก ถึงเมื่อสร้างแล้วเสร็จเดือนสิบ ระยะเวลาเพียงแค่ ๔ เดือนกับการปฏิสังขรณ์ครั้งยิ่งใหญ่นี้ แสดงให้เห็นถึงความมานะอย่างยิ่งยวดของผู้ได้รับหน้าที่ เพราะเสมือนการก่อขึ้นใหม่ตั้งแต่ตำแหน่งพระเวียนขึ้นไปจนถึงยอด ตามที่ ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ ได้สันนิษฐานว่า ตรงก้านฉัตรขององค์พระบรมธาตุแต่เดิมไม่มีเสาหานเช่นเดียวกับเจดีย์สุโขทัยและล้านนา แต่เมื่อส่วนยอดพังทลายลงมาถึงชั้นบัลลังก์ และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ จึงไม่ทำก้านฉัตรแบบเดิมแต่ออกแบบให้มีเสาหานช่วยพยุงตัวปล้องไฉนที่อยู่เหนือขึ้นไป แต่ก็ไม่ทำเสาหานทรงกระบอกแบบที่แพร่หลายในอยุธยา[๑๖]

การเร่งปฏิสังขรณ์ขึ้นไปใหม่อย่างรวดเร็วนี้ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ต่อสภาพจิตใจของผู้คนประการได้เป็นอย่างดี อาจเป็นการบูรณะครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดและเสร็จสิ้นด้วยระยะเวลาอันสั้นที่สุดเท่าที่เคยมีมาเมื่อเทียบกับระยะเวลาของการบูรณะในชั้นหลัง

พระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช เป็นวัตถุธาตุในโลกที่เป็นไปตามสามัญลักษณะทั้ง ๓[๑๗] ซึ่งคือกฎธรรมดาของสรรพสิ่งทั้งปวง แม้จะพยายามเฝ้าหวงแหนและพิทักษ์รักษาสักปานใด ก็ไม่มีเครื่องยืนยันว่าจะสามารถอยู่ยั่งมั่นคงสวนกระแสธรรมดาที่ว่านี้ได้ ฉันใดที่มนุษย์รู้จักดูแลสุขภาพกายและจิตเพื่อยืดอายุขัย พลังแห่งศรัทธาปสาทะ[๑๘]ของสาธารณชน ผนวกด้วยความรับผิดชอบขององค์กรภาครัฐทั้งองคาพยพ[๑๙] จึงเสมือนยาอายุวัฒนะแก้สรรพ[๒๐]โรค พร้อมไปกับการบำรุงกำลังแห่งองค์พระบรมธาตุเจดีย์ตราบเท่าที่วิทยาการทางเทคโนโลยีจะก้าวล้ำไปถึงก็ฉันนั้น


[๑] ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และเทิม มีเต็ม. (๒๕๓๗). “จารึกแผ่นทองหุ้มปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช”. ใน ศิลปากร ๓๗. ๔ (กรกฎาคม-สิงหาคม ๒๕๓๗) : ๒๐-๑๑๘.

[๒] https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/1321 สืบค้นเมื่อ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๒

[๓] ภัคพดี อยู่คงดี. “นครศรีธรรมราช ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๓ (ร่วมสมัยสุทัย – อยุธยา)”. ใน ประวัติศาสตร์ โบราณคดี นครศรีธรรมราช : น. ๙๓ – ๙๔

[๔] มานิจ ชุมสาย. ม.ล.. (๒๕๒๑). “เมื่อญี่ปุ่นมาเป็นเจ้าพระยานคร ใน พ.ศ.๒๑๗๒”. ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช :น. ๕๕๐ – ๕๕๑.

[๕] “ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช”. ใน รวมเรื่องเมืองนครศรีธรรมราช : น. ๙๕.

[๖] พระครูเหมเจติยาภิบาล. (๒๕๖๒). “คำอ่านจารึกฐานพระลาก (ปางอุ้มบาตร) วัดศรีทวี อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช”.

[๗] สุรเชษฐ์ แก้วสกุล. (๒๕๖๒) . “คำอ่านจารึกระฆังวัดท้าวโคตร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช”.

[๘] พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๑ ตามหนังสือกระดาษฝรั่งเขียนเส้นหมึก ต้นฉบับอยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณ (ปัจจุบันคือสำนักหอสมุดแห่งชาติ)

[๙] “ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช”. ฉบับกระดาษฝรั่ง.

[๑๐] เรื่องเดียวกัน

[๑๑] เริงวุฒิ มิตรสุริยะ. (๒๕๕๕). “สุลต่านลุ่มทะเลสาบสงขลา : ปฏิสัมพันธ์ของอำนาจจากท้องถิ่นถึงราชอาณาจักร จากสมัยอยุธยาตอนกลางถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น”. รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช ครั้งที่ ๖ (พ.ศ.๒๕๕๕). (นครศรีธรรมราช : มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช, ๒๕๕๕). หน้า ๑๒๙. 

[๑๒] ภัคพดี อยู่คงดี. “นครศรีธรรมราช ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๓ (ร่วมสมัยสุโขทัย – อยุธยา)”. ประวัติศาสตร์ โบราณคดี นครศรีธรรมราช. กรมศิลปากร.

[๑๓] ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และเทิม มีเต็ม. (๒๕๓๗). “คำปริวรรตจารึกแผ่นทองหุ้มปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช”. 

[๑๔] เรื่องเดียวกัน

[๑๕] ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และเทิม มีเต็ม. (๒๕๓๗). “คำปริวรรตจารึกแผ่นทองหุ้มปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช”.

[๑๖] เกรียงไกร เกิดศิริ. (๒๕๖๑). “พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช มรดกพุทธศาสนาสถาปัตยกรรม ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาเถรวาทแห่งคาบสมุทรภาคใต้”. กรุงเทพ. หน้า ๘๕.

[๑๗] คือไตรลักษณ์ ได้แก่ อนิจจลักษณะ ลักษณะไม่เที่ยง มีการแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา ทุกขลักษณะ ลักษณะทนอยู่ตลอดไปไม่ได้ ถูกบีบคั้นด้วยอำนาจของธรรมชาติทำให้ทุกสิ่งไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดไป และ อนัตตลักษณะ ลักษณะไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามต้องการได้

[๑๘] ปสาทะ หมายถึงความผ่องใส เป็นลักษณะของศรัทธา ในพระสุตตันตปิฎก ทีฑนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ หน้าที่ ๓๕๕ ยกแยกศรัทธาไว้ ๔ อย่าง หนึ่งในนั้นคือ ปสาทศรัทธา หมายถึง ความเชื่อ ศรัทธาที่เกิดจากการบรรลุธรรม

[๑๙] แปลว่า อวัยวะน้อยใหญ่ ในที่นี้หมายถึงทุกภาคส่วน

[๒๐] อ่านว่า สับ-พะ เป็นคำอุปสรรค มีสำเนียงอ่านอย่างใต้อีกอย่างหนึ่งว่า สอ – หรบ อาจเป็นที่มาของวัดสพ ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับวัดท้าวโคตรปัจจุบัน ด้วยว่าพระประธานในร่วมพื้นที่นั้น องค์หนึ่งพระนามว่า “พระสัพพัญญุตญาณมุนี” แต่ก่อนมักเขียนโดยให้พ้องเสียงอาจเขียนเป็น สรรพ แล้วมีผู้ออกเสียงว่า สอ – หรบ จนเป็นสพในที่สุด


จากปก : ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หมายเลขกำกับ CFNA๐๑-P๐๐๑๙๒๒๒-๐๐๒๑

นครศรีธรรมราชแปลว่าอะไร ? มีนัยยะอย่างไรแฝงอยู่ ?

นครศรีธรรมราช แปลว่าอะไร ?

นครศรีธรรมราชแปลว่าอะไร ? มีนัยยะอย่างไรแฝงอยู่ ?
ตามหลักการตั้งชื่อบ้านนามเมืองแต่โบราณ มักใช้ลักษณะภูมิประเทศ ทรัพยากรในท้องถิ่น หรือจุดเวลาที่เกิดเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นเกณฑ์ตามธรรมชาติในการกำหนดเรียก ดังนั้น ชื่อบ้านนามเมืองจึงถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สามารถใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของพื้นที่นั้นๆ ได้ในขั้นต้น

นครศรีธรรมราช ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างโดดเดี่ยวโดยปราศจากการปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก ชื่อนี้อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารภาพลักษณ์เพื่อแสดงความเป็นตัวตนต่อชุมชนและเมืองอื่น ซึ่งมีทั้งความหมายและนัยยะบางประการแฝงอยู่

แปลว่าอะไร ?
นครศรีธรรมราช เป็น ๑ คำที่ประกอบด้วย ๔ พยางค์ คือ นคร + ศรี + ธรรม + ราช
นคร (น.) แปลว่า เมืองใหญ่
ศรี (น.) แปลว่า สิริมงคล, มิ่งขวัญ, ความรุ่งเรื่อง, ความงาม, ความเจริญ, ประเสริฐ
ธรรม (น.) หมายถึง พระธรรม แปลว่า คุณความดี
ราช (น.) แปลว่า พระเจ้าแผ่นดิน (รากศัพท์มาจากคำว่า รช แปลว่าพอใจ)

ทั้งนี้ คำว่า ศรี สามารถใช้เป็นคำนำหน้าคำนามอื่นเพื่อแสดงความยกย่อง เช่น (ศรี)ลังกา และพระยา(ศรี)สุนทรโวหาร เป็นต้น ในที่นี้จะเห็นว่าคำว่า “ศรี” ถูกวางไว้หน้าคำว่า “ธรรม” เพื่อต้องการชี้ว่าพระธรรมหรือคุณความดีที่สถิต ณ เมืองนี้ เป็นที่ยิ่ง เป็นมิ่งขวัญแก่เมือง จึงจัดกลุ่มคำใหม่เป็น นคร + (ศรี)ธรรม + ราช

แปลรวมความได้ว่า “เมืองใหญ่อันปกครองด้วยพระราชาผู้ทรงธรรมอันประเสริฐ”

มีนัยยะอะไรแฝงอยู่ ?
นคร = ชาติตามตำนานเมืองและตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช พบว่ามีการสถาปนาความเป็นเมืองขึ้นแล้ว สิ่งที่ให้ความสำคัญเป็นประการแรก คือการประดิษฐานสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาคือองค์พระบรมธาตุเจดีย์ก่อนจะขยายพระราชอาณาจักรเป็นเมือง ๑๒ นักษัตร ทั้งนี้อาจเพราะเพื่อการประกาศการเปลี่ยนผ่านจากพราหมณ์เป็นพุทธอย่างเป็นทางการของพระมหานครใหม่ ตามรูปแบบการปกครองและศาสนาที่กำลังได้รับความนิยมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพ (Unity) ภายใต้หลักคิดและความเชื่อเดียวกัน

(ศรี)ธรรม = ศาสนาหาก “ตามพรลิงค์” อันแปลว่าศิวลึงค์ทองแดง จะสื่อแสดงถึงสถานะของการที่มีศาสนาพราหมณ์ครอบครองแล้ว การสถาปนาเป็น “นครศรีธรรมราช” จึงให้นัยยะใหม่ของการเป็นเมืองแห่งพระพุทธศาสนา

ราช = พระมหากษัตริย์ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ – ๑๘ นั้น นอกจากพระพุทธศาสนา ลัทธิเถรวาท ลังกาวงศ์ จะเข้ามามีบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว รูปแบบการเมืองการปกครองและพระราชอำนาจของพระเจ้าอโศกมหาราชยังเป็นที่เลื่องลือและยอมรับนับถือกันโดยทั่วไป ทั้งมอญ ละโว้ สะเทิม และหริภุญไชย ดังนั้นการสถาปนาราชวงศ์ใหม่ขึ้นในพระราชอิสริยยศเฉพาะพระมหากษัตริย์ที่ “พระเจ้าศรีธรรมโศกราช” จึงเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้บ้านเมืองเป็นปึกแผ่นมั่นคงได้อย่างรวดเร็ว

ดังนั้น นัยยะที่แฝงอยู่ในชื่อเมืองนครศรีธรรมราช คือการประกาศความเป็นอาณาจักรที่ประกอบไปด้วยสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยสมบูรณ์

สาเหตุที่ตรงโน้น ตรงนี้ ต่างก็มีตำนานเท้าความถึงเมื่อแรกสร้างพระธาตุ

เรามักมองว่าการสถาปนาพระบรมธาตุเจดีย์จำลอง ณ สถานที่ใดในปากใต้ หรือโครงเรื่องทำนองที่ทรัพย์สมบัติเหล่าหนึ่งหมายมาสมทบทำพระธาตุแต่การเสร็จลงเสียก่อน จึงทำอนุสรณ์สถานไว้ตรงนั้นตรงนี้ เป็นสัญลักษณ์แสดงเครือข่ายความศรัทธาของผู้คนที่มีต่อองค์พระบรมธาตุเจดีย์ เมืองนครศรีธรรมราช ในฐานะศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนา

นั่นก็จริง แต่มีข้อสังเกตบางประการที่ควรมองเพิ่มคือ เจดียสถานเหล่านั้น ไม่ได้มีอายุร่วมสมัยกับองค์พระบรมธาตุเจดีย์เมืองนคร แต่มักจะถูกสร้างขึ้นในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เรื่อยมาจนปัจจุบันก็ยังเห็นมี.ในระยะเวลาตั้งแต่ขอบล่างดังกล่าว เป็นช่วงเดียวกันกับที่อำนาจจากรัฐลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่เดิมมีแต่เพียงในนาม พยายามเข้าแทรกแซงและมีอิทธิพลเหนือเมืองนครศรีธรรมราชภายหลังการประกาศตนเป็น “เมืองสิบสองนักษัตร” ปกครองเมืองน้อยใหญ่รายรอบได้เบ็ดเสร็จ

เมื่อพระบรมธาตุเจดีย์เป็นเครื่องมือสำคัญของการผนึกความรู้สึกของผู้คนให้เป็นปึกแผ่น การจะควบคุมศูนย์กลางได้สำเร็จ จึงต้องมุ่งไปที่การสลายผนึกนั้นลงอย่างแยบคายและอาศัยจังหวะที่เหมาะสม

การสถาปนาพระบรมธาตุเจดีย์จำลองและตำนานอนุสรณ์สถานที่เกี่ยวโยงกับองค์พระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครที่แพร่หลายในคาบสมุทรนี้ อีกมุมหนึ่งจึงอาจเป็นวิธีการตามนโยบายแยกแล้วปกครอง ที่กรุงศรีอยุธยาใช้ในการถ่ายโอนอำนาจจากเมืองใหญ่มาสู่ราชสำนัก

โดยจังหวะที่อาศัยนั้น น่าเชื่อว่าเป็นระลอกของการบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์แต่ละคราว อย่างครั้งเก่าสุดที่พบจารึกศักราชบนแผ่นทองคำหุ้มปลียอด ตกในพุทธศักราช ๒๑๕๕ ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ในแผ่นดินเดียวกันนี้ มาคู่ขนานกับเหตุการณ์การพระราชทานพระบรมราชูทิศเพื่อกัลปนาที่ภูมิทานเลณฑุบาตถวายข้าพระโยมสงฆ์เมืองพัทลุง

การกัลปนาครั้งนั้น ถือเป็นการกัลปนาวัดในหัวเมืองปักษ์ใต้ครั้งใหญ่ ที่ได้รวมเอาวัดทั้งหมดตั้งแต่หัวเขาแดงเรื่อยไปตามสันทรายจนถึงเขาพังไกรขึ้นกับวัดหลวง

ศาสนาและการเมืองจึงเป็นเครื่องมือให้แก่กัน เมื่อศาสนามีคุณวิเศษในการรวบรวมศรัทธา ผู้ปกครองที่ต้องการสิ่งเดียวกันนี้หรือประสงค์จะแยกออกจากศูนย์รวมในจุดใด ก็จำเป็นต้องผลิตซ้ำแล้วอาศัยความสัมพันธ์เพื่อให้เกิดศูนย์รวมศรัทธาในที่แห่งใหม่ โดยผู้คนแทบจะไม่รู้สึกแปลกแยกออกจากฐานคิดเดิมของตนฯ

ใครแต่ง ? ตำนานพระธาตุเมืองนคร

ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับที่ใช้ตั้งสมมติฐานว่าใครแต่งนี้ คือ “ฉบับกระดาษฝรั่ง” สำนวนนี้ถูกคัดมาจากหนังสือกระดาษฝรั่งเขียนเส้นหมึกในหอพระสมุดวชิรญาณ คัดมาจากหนังสือเก่าอีกทอดหนึ่งโดยถ่ายการสะกดคำตามต้นฉบับ และถูกพิมพ์ออกเผยแพร่หลายครั้ง ครั้งที่ได้เคยชวนอ่านและทบทวนกันแล้วทาง Nakhon Si sTation Platform (NSTP) เป็นฉบับที่คัดมาจากหนังสือรวมเรื่องเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๕ โปรดดู https://nakhonsistation.com/ต้นฉบับ-ตำนานพระธาตุเมื/

การตั้งคำถามว่า “ใครแต่ง ?” ต่อตำนานพระธาตุฯ ในฐานะสิ่งสืบทอดเป็นคติชนท้องถิ่น แน่นอนว่าไม่ได้มุ่งเป้าไปที่การชี้ตัวของผู้แต่งชนิดที่เค้นเอาว่าชื่อเสียงเรียงนามกระไร แต่คิดว่าจากโครงเรื่องและองค์ประกอบของเนื้อหาจะสามารถทำให้ภาพของผู้เขียนบีบแคบลงได้ในระดับหนึ่ง จนทำให้เห็นความจำเป็นบางประการที่อาจจะเป็นตัวกำหนดทิศทางในการแต่ง ดังจะลองยกข้อสังเกตมาชวนกันพิจารณา ดังนี้

ตำนานพระธาตุ มีวิธีการเริ่มเรื่องในแต่ละฉากคล้ายบทละคร คือตั้งนามเมือง ออกพระนามของกษัตริย์และชายา โดยตัวละครที่ปรากฏมาจากการยืมจากทั้งวรรณคดี ชาดก และบุคคลในประวัติศาสตร์ ในที่นี้เนื่องจากฝ่ายกษัตริย์ต่างออกพระนามคล้ายกันคือ “พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช” (ยกเว้นเมืองทนทบุรีและชนทบุรี) จึงยกเฉพาะฝ่ายสตรีเป็นข้อสังเกต เช่น

๑. เมืองทนทบุรี (เมืองที่ประดิษฐานพระธาตุ)

ระบุว่ามี “นางมหาเทวี” เป็นพระอัครมเหสีของท้าวโกสีหราช
น่าจะมีต้นเค้าจาก “นางมหาเทวี” ชื่อพี่สาวของพระเจ้าช้างเผือกแห่งเมืองเมาะตะมะ จากเรื่องราชาธิราช

๒. เมืองชนทบุรี (เมืองที่แย่งชิงพระธาตุ)

ระบุว่ามี “นางจันทเทวี” เป็นอัครมเหสีของอังกุศราช
น่าจะมีต้นเค้าจาก “นางมหาจันทเทวี” มเหสีพระยาอู่ กษัตริย์พระองค์ที่ ๘ ของหงสาวดี มีพระธิดาองค์เดียวคือ “ตะละแม่ท้าว” อัครมเหสีของราชาธิราช กษัตริย์พระองค์ที่ ๙ จากเรื่องราชาธิราช ในเรื่องนี้เรียกนามนี้ว่า “มุชีพ” ส่วนอีกประเด็นคือ “จันทเทวี” เป็นอิสริยยศด้วยอย่างหนึ่งของทางหงสาวดี

๓. เมืองมัธยมประเทศ (เมืองที่ขอแบ่งพระธาตุ)

ระบุว่ามี “นางสันทมิตรา” เป็นอัครมเหสีของพระยาธรรมโศกราช
น่าจะมีต้นเค้าจาก “นางอสันธิมิตรา” อัครมเหสีของพระเจ้าอโศกมหาราช

๔. ฝ่ายตะวันตก

ระบุว่ามี “นางจันทาเทวี” เป็นอัครมเหสีของพระยาศรีไสณรง 
น่าจะมีต้นเค้าจาก “นางจันทาเทวี” หนึ่งในมเหสีของบุเรงนองแห่งตองอู ยายของนัดจินหน่องประการหนึ่ง
“นางจันทาเทวี” ในสุวรรณสังขชาดกประการหนึ่ง และ “นางจันทาเทวี” ในสังข์ทองอีกประการหนึ่ง

๕. เมืองหงษาวดี

ระบุว่า “ท้าวเจตราช” เป็นพระราชบุตรของพญาศรีธรรมโศกราชกับนางสังขเทพ
น่าจะมีต้นเค้าจาก “เจ้าเจตราช” ผู้ครองเมืองเจตราช จากกัณฑ์ประเวศน์ เวสสันดรชาดก

ความจริงพิจารณาเท่านี้ก็น่าจะพออนุมานได้แล้ว
ว่าผู้แต่งควรมีความเกี่ยวเนื่องกับความเป็น “มอญ” จากรอยที่ทิ้งไว้

เพื่อคลี่ขยายให้ชัดขึ้น เราต้องลองมาพิจารณาเนื้อความของตำนานที่อาจจะเป็น “รอยมอญ” กันต่อไป ในที่นี้จะขอยก ๒ ตำแหน่งที่อาจส่งความเกี่ยวเนื่องกัน

ตอนต้น

“ยังมีเมืองหนึ่งชื่อหงษาวดี มีกำแพงสามชั้นอ้อมสามวันจึ่งรอบเมือง ประตูเมืองมีนาคราชเจ็ดหัวเจ็ดหางมีปราสาทราชมณเฑียร มีพระมหาธาตุ ๓๐๐๐ ยอดใหญ่ ๓๐ ยอด ต่ำซ้ายต่ำขวา กลางสูงสุดหมอก มีพระพุทธรูป ๔๐๐๐ พระองค์ เจ้าเมืองนั้นชื่อพระญาศรีธรรมาโศกราช มีพระอรรคมเหสีชื่อสังขเทพี มีบุตร์ชายสองคนๆ หนึ่งชื่อท้าวเจตราช อายุยืนได้ ๑๐๐ ปี ถัดนั้นชื่อเจ้าพงษ์กระษัตริย์ ยังมีบาคู ๔ คนบำรุงเจ้าเมืองนั้นอยู่ อยู่มาเกิดไข้ยุบลมหายักษ์มาทำอันตราย ไพร่พลล้มตายเป็นอันมาก พระยาก็พาญาติวงษ์และไพร่พลลงสำเภาใช้ใบมาตั้งอยู่ริมชเล

ตอนปลาย

“ศักราช ๒๑๙๗ ปี มีพระบรรทูลโปรดให้พระญาบริบาลพลราชเจ้าเมืองตะนาวศรีมหานครมาเป็นเจ้าพระญานครศรีธรรมราช เดชไชยอภัยพิรีบรากรมพาหุเจ้าพระญานครศรีธรรมราช”

ในตอนต้น ตำนานกล่าวว่าเมื่ออพยพไพร่พลและญาติวงศ์ออกมาจากหงษาวดีแล้วไปตั้งอยู่ที่ “ริมชเล” ก่อนไข้ยุบลมหายักษ์ระลอกใหม่จะระบาดจนต้องยกย้ายไปกระหม่อมโคกแล้วสร้าง “นครศรีธรรมราชมหานคร” “ริมชเล” ที่แวะพักนั้น ในตำนานระบุว่าเป็นสถานที่สำคัญที่ทำการวางแผนสร้างบ้านแปงเมือง น่าเชื่อได้ว่าจะคือส่วนหนึ่งของตะนาวศรีที่มาปรากฏอีกครั้งในตอนปลาย

ดังได้เคยตั้งข้อสังเกตไว้ใน “ตำนานพระธาตุเมืองนคร (ฉบับกระดาษฝรั่ง) เขียนขึ้นเมื่อไหร่ ?” แล้วที่ https://nakhonsistation.com/ตำนานพระธาตุเมืองนคร-เข/ ว่าตอนปลายของตำนานอาจเป็นข้อพินิจได้ด้วยว่า “ใครแต่ง ?”

จากที่ช่วงท้ายของตำนานตั้งแต่ พ.ศ.๑๘๖๑ เรื่อยไปจนถึง ๒๑๙๗ เป็นการเขียนในลักษณะเรียงลำดับเหตุการณ์ผู้ปกครอง ประหนึ่งแสดงทำเนียบเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช โดยมีข้อสังเกตคือ ในช่วงก่อนปีท้ายสุดที่มีการลงศักราชไว้นั้น มีเหตุการณ์สำคัญมากเกิดขึ้นในเมืองนครศรีธรรมราช นั่นคือ กรณียอดพระธาตุหักในปีพุทธศักราช ๒๑๙๐ แต่ไม่มีการระบุไว้ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับตำนานโดยตรง อาจเพราะในช่วงท้าย วัตถุประสงค์ของการเขียนตำนานเปลี่ยนไปจากเดิมเล่าความของพระธาตุมาเป็นการแสดงทำเนียบเจ้าเมือง หรือด้วยเพราะอาจจงใจอำพรางลางเมืองเพื่อต้องการดำรงพระเกียรติยศของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ผู้ซึ่งยังคงดำรงอำนาจเหนือนครศรีธรรมราชอย่างสมบูรณ์อยู่ในขณะนั้น

แน่นอนว่า การที่พระญาบริบาลพลราช เจ้าเมืองตะนาวศรีมาครองเมืองนครศรีธรรมราช จึงต้องส่งอิทธิพลต่อการแต่งและเขียนตำนานพระธาตุนครศรีธรรมราชฉบับนี้อย่างไม่พ้นได้ ดังได้ยกตัวอย่างการให้ชื่อบุคคลในข้างต้นและเนื้อหาส่วนชี้ความสำคัญของเมืองตะนาวศรีแล้วในข้างท้าย (ส่วนการยืมคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนามาสร้างประกาศิตในต้นตำนานจริงว่าอาจเป็นอีกประการร่วมพิจารณา แต่จะขอยกไว้ค้นคว้าต่อเพิ่มเติมด้วยเห็นว่าเพียงพอต่อการตั้งสมมติฐาน)

“มอญตะนาวศรี” จึงอาจคือพลังขับในการแต่งตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับนี้ 

____

ภาพจากปก :
สำเนาภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ 
หมายเลขกำกับ na๐๑d-img๐๐๐๐๑๓๒-๐๐๙