เจ้าแม่อ่างทอง
วัดเสมาชัย เมืองนครศรีธรรมราช
ทั้งชื่อเจ้าแม่และวัดนี้ มีนัยยะสำคัญอย่างมาก น่าเสียดายที่ความทรงจำได้จางเคลื่อนเลือนหายไปแล้วเกือบหมดสิ้น ทิ้งไว้เพียงรอยจางๆ ที่พอจะใช้คลี่มองภาพสะท้อนความคิดและความเชื่อของชาวนครศรีธรรมราชได้อยู่บ้าง
อ่างทอง
แรกได้ยินว่า “อ่างทอง” หลายคนคงคิดไปถึงจังหวัดอ่างทองในภาคกลางของประเทศไทย หรือไม่ก็คงคุ้นหูกับหมู่เกาะอ่างทอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี กับอีกอ่างทองที่เป็นตำบลหนึ่ง ในอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ทุกที่ที่กล่าวมามีสถานะเป็นพื้นที่ทั้งสิ้น เว้นแต่จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มาปรากฏเป็นชื่อ “เจ้าแม่” แต่ยังไม่เคยผ่านตาว่าจะมีบ้านอ่างทองในละแวกศาลาที่ประดิษฐาน
“อ่าง” ให้ความรู้สึกว่าเป็นของ “ลุ่ม” และ “ราบ”
“ทอง” ชี้ไปในช่อง “ของมีค่า”
เกี่ยวกับ “อ่างทอง” ในมิติของพื้นที่ อาจคือคำอุปมาไปว่า ณ ตำแหน่งนั้น ๆ เป็นทำเลอันอุดมไปด้วยทรัพยากรมีค่า หากเป็นพื้นดินคงหนีไม่พ้นภาพของการเป็นอู่ข้าว อู่น้ำ ที่ช่อชวงรวงทองจะผลิออกสุกใสเหลืองอร่ามไปทั้งลุ่ม ในขณะที่หากเป็นผืนน้ำ คงให้ภาพของความสมบูรณ์ทางทะเลทั้งจากสัตว์น้ำ และเกาะแก่งแง่งผา
เจ้าแม่อ่างทอง
ตานี้พอเป็น “เจ้าแม่อ่างทอง” ก็เป็นไปได้ว่าจะเป็นผลจากความเชื่อในคติ “อารักษ์” ที่แสดงสถานะของ “สตรี” ใน “พื้นถิ่น” อาจเป็นความคิดและความเชื่อในชั้น Primitive ของพื้นที่ก่อนการรับเข้าพระพุทธศาสนา ที่เชื่อว่าผลจากความอุดมสมบูรณ์จนทำให้บริเวณนี้เสมือนหนึ่งอ่างทอง ก็ด้วยความศักดิ์สิทธิ์และแรงบันดาลของเจ้าแม่อ่างทองผู้มีฐานะเป็นทั้งผู้บริบาลและอารักษ์ผลอาสิน
ที่น่าสนใจคือ ปฏิบัติการของการต่อสู้ต่อรองที่ปรากฏบนพุทธลักษณะของพระพุทธรูปองค์ประธาน เข้าใจว่าเดิมเป็นหมู่พระพุทธรูปสามองค์ ตามหลักอดีต-ปัจจุบัน-อนาคตพุทธเจ้า (องค์เล็กตรงกลางหน้าสุดน่าจะสร้างขึ้นสมัยหลัง) ในที่นี้ องค์ประธานซึ่งคือพระปัจจุบันพุทธเจ้ากลับถูกปรับแปลงส่วนของอุษณีษะให้คล้ายเป็นมุ่นมวยผมของสตรีพร้อมป้ายจารึกไว้อย่างชัดเจนว่า “เจ้าแม่อ่างทอง” ในขณะที่ยังคงประทับนั่งปางมารวิชัยตามอย่างพระพุทธรูปองค์อื่น
ก่อนจะเป็นหลาเจ้าแม่อ่างทองในปัจจุบัน ณ ตำแหน่งเดียวกันนี้เคยทำหน้าที่พระอุโบสถของวัดเสมาชัย มีใบเสมาหินชนวนปักอยู่โดยรอบเป็นเขตแดน ดูเหมือนว่าจะเป็นวัดเดียวในเขตกำแพงเมืองนครศรีธรรมราชที่มีใบเสมาทำด้วยหินชนิดนี้และเป็นเสมาคู่
วัดเสมาชัย
ขยับมาคลี่ที่ชื่อวัด “เสมาชัย” ก็ให้ความหมายไปถึงเขตแดนหรือหมุดหมายแห่ง “ชัย” สำหรับเมือง ดังนั้น การที่เจ้าแม่อ่างทองได้เข้ามามีความหมายเหนือพระปัจจุบันพุทธเจ้าในที่ที่เป็นหมุดหมายแห่งชัยชนะของเมืองได้สำเร็จเช่นนี้ ย่อมแสดงถึงพลังแห่งความคิดและความเชื่อของพื้นถิ่น ที่ยังคงมีอำนาจต่อรองและแสดงผลของอำนาจเหล่านั้นแทรกอยู่ภายใต้ความคิดและความเชื่อใหม่ อย่างน้อยก็เป็นเค้าเป็นรอยให้พอจะคลี่มองได้บ้าง
กุหลาบมอญ
ปัจจุบันยังได้ยินว่า หากใครหรือหน่วยงานใด ประสงค์จะจัดกิจกรรมบริเวณหน้าเมือง สวนศรีธรรมาโศกราช หรืออาณาเขตรอบวัดเสมาชัยนี้ จะต้องไปขอพร ขอชัย ขอให้ปัดเป่าฝนและอุปัทวภัยอยู่สืบเนื่อง รวมถึงแต่ละปีช่วงเดือนกันยายน โรงเรียนเทศบาลวัดเสมาเมืองผู้ดูแลพื้นที่ก็จะจัดให้มีพิธีสมโภชบวงสรวงเป็นประจำ สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ เล่าว่าเจ้าแม่อ่างทองนี้ ท่านโปรด “กุหลาบมอญ”ฯ